หนังสืออ่านเล่น เล่มที่ 8 โดย.. ส. สังข์สุวรรณ
webmaster - 16/4/11 at 16:09
หนังสืออ่านเล่น
เล่มที่ ๘
โดย ส. สังข์สุวรรณ
(ฉบับอินเทอร์เน็ต : จัดพิมพ์โดย..พระเจ้าหน้าที่สำนักพิมพ์เวฬุวัน)
เนื้อหาของสารบัญ เล่มที่ ๘
1. คำปรารภ
2. วิหาร ๑๐๐ เมตร
3. จุไรท่องดวงพระจันทร์
4. จุไรท่องดวงจันทร์ (ตอนที่ ๒)
5. จุไรกับราคาวัดท่าซุงและถามสร้างวิหาร ๑๐๐ เมตร
6. จุไรถามสร้างวิหาร ๑๐๐ เมตร (ต่อ)
7. ความเป็นมาของมณฑปหน้าวิหาร ๑๐๐ เมตร
1
คำปรารภ
ท่านผู้อ่านโปรดทราบ หนังสืออ่านเล่นเล่ม ๘ นี้ ก็คงมีความมุ่งหมายให้เป็นหนังสืออ่านเล่นตามเดิม ไม่ใช่ตำราเรียน เรื่องราวต่าง ๆ ที่มี จุไร
เป็นตัวแสดง และมี คุณป้าน้อย เป็นตัวพี่เลี้ยง โปรดทราบว่า จุไร และ ป้าน้อย ก็เป็นบุคคลของนิทาน ไม่มีตัวตนจริง
เรื่องราวต่าง ๆ ที่เป็นเรื่องของดวงจันทร์ก็ดี เรื่องสวรรค์เทวดานางฟ้าก็ดี เป็นเรื่องของนิทาน แต่ทว่า
เรื่องของวิหารหรืออาคารต่าง ๆ เป็นเรื่องจริง ที่นำมาเป็นนิทานก็เพื่อให้ผู้อ่านไม่เครียดเกินไป
เพราะถ้าจะเล่าความเป็นมาของวัดเนื่องในการก่อสร้าง ผู้อ่านก็จะเบื่อและเครียด จึงนำมาร่วมกับนิทาน จะได้อ่านแบบอ่านนิทาน
ไม่หนักอารมณ์ เรื่องความเป็นมาของราคาก่อสร้าง รวมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เป็นเรื่องจริง
นอกนั้นเป็นเรื่องนิทานทั้งหมด ขอให้อ่านแบบอ่านนิทาน คือ อ่านแล้วก็ผ่านไป
ในที่สุดนี้ ขออวยพรให้ท่านผู้อ่าน จงร่ำรวย มีความสุขสมหวังตามที่
ตั้งใจไว้จงทุกประการเถิด
ส.สังข์สุวรรณ
๑๒ ตุลาคม ๒๕๓๒
ll กลับสู่สารบัญ
2
วิหาร ๑๐๐ เมตร
ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย ก่อนอื่นก็ขอแจ้งให้ทราบว่าตามธรรมดานิทาน ก็เป็นเรื่องจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง ถึงแม้จะเป็นเรื่องจริง แต่หาหลักฐานไม่ได้
ก็ต้องบอกว่าเป็นนิทาน คำว่า นิทาน โบราณท่านจะแปลว่าอะไรไม่ทราบ แต่อาตมาขอตีความหมายว่า เรื่องมาจากที่ไกล
นั่นก็หมายความว่า ทบทวนกันได้ยาก แต่ว่าต่อไปก็จะขอให้บรรดาพุทธบริษัทอ่านเรื่องจริง คือ มีเรื่องจริงในนิทาน ทั้งนี้ก็เพราะว่า
ในระยะนี้มีข่าวทางโทรทัศน์หลาย ๆ ช่อง มาขอถ่ายภาพที่วัด แต่ละท่านต่างก็ประกาศด้วยความหวังดี
มีบางรายหลายท่านประกาศบอกว่า เป็นวัดพันล้าน นั่นหมายความว่า การก่อสร้างวัดนี้ ใช้เงินถึงพันล้านบาท แต่บางแห่งท่านประกาศว่า เป็นวัด ๔ พันล้าน
ฟังแล้วก็น่าปลื้มใจ บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย เพราะว่า ราคาแพงดี และก็สามารถหาเงินสร้างได้อย่างดี
แต่ความจริงมันไม่ใช่อย่างนั้น เรื่องพันล้านก็ดี ๔ พันล้านก็ดี ที่พูดมานั้น ท่านประมาณตามราคาปัจจุบัน แต่ว่าวัดนี้นะ
สร้างกันมาตั้งแต่เริ่มต้น คือว่า จริง ๆ แล้ววัดนี้ อาตมามาอยู่ใหม่ ๆ มีกุฏิอยู่ ๓ หลัง มีสภาพผุพัง มีดีอยู่หลังเดียว คือ กุฏิเจ้าอาวาส
และเจ้าอาวาสก็ไม่ใช่อาตมาเป็นเจ้าอาวาส หอสวดมนต์เก่ามีอยู่ ก็โย้ใกล้จะล้ม ศาลาการเปรียญก็เย้ ใกล้จะล้ม วิหารก็พังโล่ หลังคาโปร่งฟ้า ไม่ใช่มองเฉย ๆ
ไม่ใช่มองทะลุฝา หมายความว่า หลังคาพังมาเลยด้านหนึ่ง โบสถ์ก็แตกร้าว
ถ้าพูดถึงว่า ค่าของวัตถุในเวลานั้น เกือบไม่มีค่า อาตมามาอยู่ที่วัดนี้ ตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๑ ก็มาเริ่มช่วยสร้างหอสวดมนต์
ซึ่งเจ้าอาวาสตั้งเสาไว้ ๘ ปี (มีเฉพาะเสานะ ๘ ปี) การก่อสร้างในช่วงแรก ๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ถึง พ.ศ. ๒๕๑๖ ก็ไม่ได้ทำอะไรมาก
ได้สร้างกระท่อมอยู่หลังหนึ่ง ที่โคนต้นโพธิ์ เวลานี้ รื้อแล้ว ไปสร้างแบบไว้ในสระ แต่ว่าแบบในสระนั่นสวยกว่ามาก ต่อมาก็สร้างกุฏิตึกชายน้ำ
ซึ่งความจริงก็สร้างหนีน้ำ เพราะทราบว่าน้ำจะท่วมสูง ถ้าขืนอยู่ในกระท่อมน้ำท่วมตาย
สร้างตึกหลังนั้นก็ไม่มีทุน ทำแบบลวก ๆ ให้มันทันกับเวลาที่น้ำจะท่วม ต่อมาก็สร้างศาลาที่หลวงพ่อ ๔ องค์อยู่ เห็นศาลาเก่ามันโย้เย้มาก
เกรงว่าจะพังลงมา ก็ทำแบบลวก ๆ อีกเหมือนกัน ราคาก็ไม่แพง และในช่วงหลังต่อมาก็สร้างห้องกรรมฐานข้างตึกชายน้ำ
และก็สร้างตึกขาวด้านนอก หมายความว่า ตึกชั้นเดียว ไม่ใช่ ๔ ชั้น และก็ทางเป๊ปซี่คือ คุณประสิทธิ์ ตัณฑเศรษฐี
เวลานั้นเป็น รองผู้จัดการใหญ่ เวลานี้เป็น ผู้จัดการใหญ่ นำผ้าป่ามาทอด มาขุดน้ำบาดาลให้แสนเศษ ประมาณแสนสาม
และต่อมาท่านก็นำผ้าป่ามาช่วยในการสร้างศาลาอีกแสนห้า แต่ยอดเงินไม่แน่นอนนะ จำไม่ค่อยได้ ไม่ได้เอาตำรามาอ่าน ก็รวมความว่า ใช้เวลา ๖ ปี ไม่เต็ม ๖
ปีนัก ก็ใช้เงินไปจริง ๆ ประมาณ ๔ แสนเศษ และก็สร้างอาคารเสริมศรีอีกหลังหนึ่ง
เนื้อที่ของวัดจริง ๆ เวลานั้นหรือเวลานี้ก็เหมือนกัน เป็นเนื้อที่ของวัดเดิม ๖ ไร่ แต่ว่าเวลานี้ญาติโยมซื้อถวายเข้ามาแล้ว ๒๐๐ ไร่เศษ
การก่อสร้างจริง ๆ มาเริ่มกันจริง ๆ พ.ศ. ๒๕๑๗ เพราะว่าเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๖
ท่าน ดร.เดือน บุนนาค อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ คุณหญิงเยาวมาลย์ บุนนาค สองสามีภรรยากับคณะ นำพระพุทธรูปองค์หนึ่งมาถวาย
เป็นพระประธานในพระอุโบสถปัจจุบัน และท่านก็ให้เงินไว้หมื่นบาท เป็นทุนเริ่มต้นสร้างพระอุโบสถ
และงานจริงจังที่จะทำการก่อสร้างจริง ๆ เป็นเงินเป็นทองขึ้นมา คือ ใช้เงินใช้ทองมาก ก็เริ่มจากปีนั้น แต่ทว่าบรรดาผู้ฟัง
หรือท่านผู้อ่านทั้งหลายโปรดทราบ ราคาของในระยะนั้น มันยังไม่แพง ความจริงมันก็แพงขึ้นมาก
อย่างไม้แป (ไม้ยางหน้าสามคูณหนึ่งนิ้วครึ่ง) เวลานั้นศอกละ ๙๐ สตางค์ แต่เดี๋ยวนี้ ศอกละ ๑๒ บาท เหล็ก ๔ หุน เวลานั้น เส้นละ ๒๐ บาท เวลานี้ เส้นละ
ร้อยกว่า ก็ลองเทียบราคากัน ฉะนั้น ราคาที่บรรดาท่านทั้งหลายประกาศออกไปว่า พันล้านบ้าง ๔ พันล้านบ้าง
ก็ถือว่า เป็นราคาประเมินปัจจุบัน แต่ความจริงไม่ตรง ค่าใช้จ่ายจริง ๆ จ่ายประเภทสร้างจริงจัง เริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๑๗ ถึงสิ้นเดือนสิงหาคม ๒๕๓๒
จ่ายไปทั้งหมด (ค่าใช้จ่ายนะ ไม่ใช่เฉพาะก่อสร้างนะ) เรียกว่า จ่ายทุกอย่าง ขึ้นชื่อว่า เป็นการจ่ายก็ลงบัญชีหมด
จะกินจะใช้ เครื่องมือเครื่องไม้ก็ตาม เดินทางก็ตามทั้งหมดชื่อว่า จ่าย จ่ายทุกประเภททั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะก่อสร้าง
รวมยอดที่จ่ายจริง ๆ ๓๕๓,๓๒๗,๔๖๙ บาท ๓๖ สตางค์ นี่บัญชี เขาจดเรียบร้อย
ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า จ่ายจริง ๆ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๗ ถึงเดือนสิงหาคม ๒๕๓๒ จ่ายไปแล้วทั้งสิ้น ในการก่อสร้างบ้าง กินบ้าง ใช้บ้าง เดินทางบ้าง
ป่วยไข้ไม่สบายบ้าง ทุกอย่าง ในการจ่ายค่าอาหารพระบ้าง กระแสไฟฟ้าบ้าง
ทั้งหมด ๓๕๓,๓๒๗,๔๖๙ บาท ๓๖ สตางค์ ก็เป็นอันว่า ไม่ถึงพันล้าน ทีนี้มาว่ากันถึง การรับเงิน เงินนี่ ได้มาจากไหน
ก็ต้องขอบอกว่า บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายถวายมาเพื่อการก่อสร้างจริง ๆ ๑๙๗,๘๓๔,๙๙๓ บาท ๗๕ สตางค์
ถ้ารับตามนี้ จ่ายตามนี้ละก็ขาดดุลไป ๑๕๕,๔๙๒,๔๗๕ บาท ๖๑ สตางค์ แต่ความจริง เงินขาดดุลนี้ไม่ใช่เงินเอามาจากไหน
ก็เป็นเงินที่บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทผาติกรรมสังฆทานบ้าง บริจาคเรื่องวัตถุมงคลบ้าง และทำบุญไม่จำกัดประเภทบ้าง
คือวางเฉย ๆ มาถึงก็ใส่บาตรบ้าง มาถึงก็ประเคนบ้าง ใส่ซองประเคนบ้าง ไม่บอกว่า ทำบุญอะไร เอามารวมกัน และอีกส่วนหนึ่งก็คือ ถวายไว้ใช้ส่วนตัว
ว่า ส่วนนี้ขอถวายหลวงพ่อไว้ใช้ส่วนตัว
รวมเงิน ๔ ประเภท คือ
๑. สังฆทาน
๒. วัตถุมงคล
๓. ทำบุญไม่จำกัดประเภท ถวายเฉย ๆ
๔. ถวายไว้ใช้ส่วนตัว
รวมแล้วได้เงิน ๑๕๕,๔๙๒,๔๗๕ บาท ๖๑ สตางค์ ทั้งหมดนี้ว่ากันถึง สิ้นสิงหาคม ๒๕๓๒ ไม่มีหนี้สิน เป็นอันว่า
หนี้ในช่วงนี้ไม่มี ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่า อาตมาใกล้ตายเต็มที เวลานี้งานจริง ๆ ก็ทำแบบเรียกว่า พอไปได้
ค่อย ๆ พาย ค่อย ๆ แจว ค่อย ๆ ถ่อ บางครั้งก็ถึงขั้น ปักหลัก หยุดเฉย ๆ ก็มี ถ้าเงินไม่พอจ่าย จะมากเกินไปก็หยุดพักชั่วคราวบ้าง ผ่อนช่างเสียบ้าง
เวลานี้รู้สึกว่างานช้าลง เพราะเกรงว่า ถ้าตายในช่วงที่มีหนี้มาก ๆ
จะเป็นภาระหนักกับบรรดาพระสงฆ์ที่อยู่รับภาระเบื้องหลัง ทีนี้ก็มาคุยกันเรื่อง วิหาร ๑๐๐ เมตร วิหาร ๑๐๐ เมตรนี่ บรรดาญาติโยมพุทธบริษัท หรือหลาย
ๆ ท่านสงสัยกันเหลือเกินว่าสร้างขึ้นมาได้อย่างไร
มีหลายท่านพยากรณ์ราคา (เอา ราคาเยอะเสียอีกแล้ว) บางท่านถามว่า ถึง ๑๐๐ ล้าน ไหมครับ บางท่านถามว่า ถึง ๗๐ ล้าน ไหมครับ บางท่านก็ถามว่า ถึง ๓๐
ล้าน ไหมครับ แต่ท่านที่ถามว่า ๓๐ ล้าน บอกว่า สร้างไม่ได้แน่
แต่อาตมาก็ขอบอกว่า ทั้งหมดจริง ๆ ราคา ๑๐ ล้านเศษ ไม่ใช่ ๓๐ ล้าน ไม่ใช่ ๑๐๐ ล้าน ไม่ใช่กี่ร้อยล้าน ไม่ใช่อย่างนั้น
ราคาจริง ๆ ๑๐ ล้านเศษ ๆ เฉพาะตัวอาคารที่เป็นคอนกรีตทั้งหมด รวมช่อฟ้า หน้าบัน พระพุทธรูป
อะไรต่ออะไรหมดเสร็จ ไม่เกิน ๗ ล้านบาท และก็ค่าหินอ่อนอีก ๑,๒๖๔,๓๔๑ บาท ค่ากระจกที่ปิด ๔,๔๗๗,๗๘๕ บาท รวมค่าหินอ่อน กับค่ากระจกก็ ๕,๗๔๒,๑๒๖ บาท
และต่อไปก็ค่าแรงงานอีกไม่มากนัก เพราะแรงงานนี่ เอาคนใกล้ ๆ ตำบลนี้มาทำงานกัน
เป็นอันว่า ช่างก่อสร้าง ๓ ช่าง ๓ กลุ่ม หัวหน้าช่างจบ ดุษฎีบัณฑิตประถม คำว่า ดุษฎีบัณฑิตประถม ก็เพราะว่า
ในสมัยนั้นวิชาการที่บังคับให้เรียนในโรงเรียน บังคับจบกันแค่ ป.๔ ฉะนั้นทั้ง ๓ ช่างนี้จบ ป. ๔ ทั้งหมด
เรียกว่า เรื่องประถมนั้นไม่ต้องเรียนกันอีก เป็น ดุษฎีบัณฑิต ไปเลย เขาเรียกว่า ดุษฎีบัณฑิตประถม และสำหรับช่างปั้น ช่างทำความสวยงาม คือ นายประเสริฐ
แก้วมณี กับ นางจำเนียร แก้วมณี ภรรยา สามีเป็นช่างปั้น
ภรรยาเป็นช่างประดับ ทั้ง ๒ คนนี่ เก่งมาก ก็จบชั้นเดียวกัน คือ ป.๔ เหมือนกัน เป็นอันว่า ช่างที่นี่เป็น ช่าง ป.๔ และเจ้าอาวาสเองก็เป็นคน ป. ๔
เหมือนกัน
ทีนี้มาว่าถึงการเริ่มต้น ในการสร้างวิหาร ๑๐๐ เมตร ขอเล่าตามความจริง นั่นก็คือว่า เดิมทีเดียว ไม่ได้คิดจะสร้างวิหาร ๑๐๐ เมตร ใหญ่โตมโหฬารแบบนี้
การสร้างมีอย่างนี้ จะเล่าให้ฟัง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๘ กับ พ.ศ. ๒๕๒๙ สองปีนี่
อาตมาเกือบจะเอาชีวิตไม่รอดหลายครั้ง อยู่ในขั้นที่เรียกว่า เข้าตรีฑูต หรือดีไม่ดีก็เป็นจตุฑูต ตรีฑูต แปลว่า สาม จตุฑูต แปลว่า สี่ แต่ฑูต
ไม่ทราบว่าเขาเรียกว่าอะไร หมายความว่าอย่างไร อยู่ในสภาพที่เรียกว่าไม่ควรจะมีชีวิตอยู่
แต่ว่าเวลานั้น ได้คุณหมอ คือ ท่านศาสตราจารย์นายแพทย์ประสิทธิ์ ฟูตระกูล ท่านสงเคราะห์ให้การรักษาเป็นอย่างดี เมื่อมีทุกข์เมื่อไร
หมอประสิทธิ์ถึงเมื่อนั้น ขณะที่ปัสสาวะไม่ออก มันคั่งหนัก ท้องโป่ง คุณหมอประสิทธิ์ก็วิ่งมาจากกรุงเทพฯ อุตส่าห์สวนให้
ก็รวมความว่า ได้รับความเมตตาปรานีจากท่านมาก และก็อีกหลาย ๆ หมอ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๙ อาตมาก็มีความรู้สึกว่า เราคงไม่รอดในปีนี้แน่
เพราะสภาพของร่างกายอยู่ในสภาพที่ใช้อะไรไม่ได้เลย ดูด้านประสาททั้งหมด หมดสภาพ
จึงนั่งนึกถึงพระพุทธเจ้า แต่ความจริงเรื่องพระพุทธเจ้า นึกถึงท่านทุกวัน
นึกถึงภาพพระพุทธรูปที่แทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบ้าง บางครั้งก็ปรากฏเป็นนิมิตบ้าง ความชื่นใจก็ปรากฏ แต่มานึกในใจว่า เราอยากจะทำพระใหญ่ ๆ
แต่ไม่ใหญ่มากนัก พอเป็นนิมิตติดใจให้หนัก เพื่อเกิดความชุ่มชื่น พระยืนสัก ๓๐ ศอก และก็พระนั่ง หน้าตักสัก ๘ ศอก ช่วงนั้นพระยืน
๓๐ ศอก สร้างแล้วกำลังสร้าง ไปคิดถึงว่าพระนั่ง เราจะมีเงินที่ไหนไปสร้าง
ต่อมาก็มีท่านผู้มีศรัทธา คือ คุณสุชาดี มณีวงศ์ เจ้าของรายการกระจกหกด้าน ช่อง ๗ เวลาประมาณ ๑๙ นาฬิกาเศษ
เป็นเวลาของท่านทุกวัน คุณสุชาดีนี่มาทำบุญหลายอย่าง ศรัทธาสูงส่งมากมีกำลังใจสูง แต่ทว่ามีเงินก้อนหนึ่ง ซึ่งเป็นเงินก้อนใหญ่มาก คือ จำนวน ๑๐๐,๐๐๐
บาท
ท่านจัดเช็คมาถวาย ก็ถามเธอว่า ต้องการให้ทำอะไร คุณสุชาดีก็บอกว่า สุดแล้วแต่หลวงพ่อ ตามอัธยาศัย ทำอะไรก็ได้ ก็จึงบอกคุณสุชาดี ว่า
เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน อาตมาคิดจะสร้างพระหน้าตัก ๘ ศอก จะตั้งไว้ในเขตพื้นที่ ๑๐๐ เมตร ด้านหลัง จะทำแท่นสูง ๆ หน่อย
แล้วก็จะทำหลังคา ๔ เสา มีหลังคามุงเป็นสังกะสี คิดว่าเงินแสนบาทคงพอ คุณสุชาดีก็บอกว่า ตามใจอะไรก็ได้ทั้งนั้น ขอให้ทำก็แล้วกัน ต่อมา คุณจันทนา วีระผล ทราบข่าว ก็เซ็นเช็คให้อีก ๑๐๐,๐๐๐ บาท
เป็นเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท จะสร้างพระหน้าตัก ๘ ศอก อาตมาก็คิดว่า เอาละ ถ้าได้อีก ๑๐๐,๐๐๐ บาท แทนที่จะใช้หลังคาสังกะสี ก็ทำหลังคาให้มันดีสักหน่อย
มีช่อฟ้า หน้าบัน เอาเล็ก ๆ ราคาก็ไม่แพงมากนัก
ถ้าหากว่าไม่พอ มีญาติโยมทั้งหลายที่มีจิตเมตตาถวายเป็นส่วนตัว ก็จะร่วมด้วย คือ ต้องร่วมกันแน่ และขณะที่คิดว่าจะสร้างพระหน้าตัก ๘ ศอก และพระยืนสูง
๓๐ ศอก ก็นึกในใจว่า ขอพระได้โปรดเมตตา ถ้าร่างกายมันจะตายเวลานี้ ก็ให้มันตายไป
เพราะกำลังใจจริง ๆ ไม่อยากจะอยู่ เพราะร่างกายมันเต็มไปด้วยความทุกข์ แต่ถ้ามันยังไม่ตาย ก็ขอให้มีโอกาสได้สร้างพระหน้าตัก ๘ ศอก
องค์หนึ่ง จิตใจจะได้ชุ่มชื่น นึกถึงพระ ใจก็สบาย
ต่อมาเวลาไม่นานนัก ล่วงมา จำได้ว่า เดือนธันวาคม จะเป็น พ.ศ. ๒๕๒๙ หรือ ๒๕๓๐ จำไม่ได้แน่ มาดูป้ายที่หน้าวิหารก็แล้วกัน เวลานี้ที่กำลังพูดนี่
กำลังป่วย ก็หารือกับพระท่านว่า สำหรับพระ ๘ ศอก เราจะสร้างที่ไหนกันดี จึงจะเหมาะ
พระท่านก็บอกว่า ถ้าสร้างที่ร้อยไร่ มันลึกไปข้างหลัง และเป็นที่ลุ่ม ไม่ดี ทางที่ดีก็ซื้อที่ของ จ่าเพราะ ซึ่งติดกับหลังโรงพยาบาล เนื้อที่ติดกับวัด
ถ้าซื้อที่ตรงนั้น และสร้างตรงนั้นจะเหมาะดีมาก ในเวลานั้นก็ปรากฏว่า จ่าเพราะท่านกำลังขายกันอยู่
เลยกราบเรียนกับพระท่านบอกว่า เขากำลังขายกัน มีคนมาขอซื้อ เขาขายกันไร่ละสี่หมื่น ถ้าคิดเป็นงานก็งานละหนึ่งหมื่น พระท่านก็บอกว่า ไม่เป็นไรหรอก
ไปเรียกเขามาถามเถิด ฉันจะแนะนำให้เขาช่วย ให้ขายให้
ก็ไปเชิญจ่าเพราะมา ท่านก็ดี ท่านบอก ไอ้เรื่องจะขายไม่เป็นไรครับ ถ้าหลวงพ่อต้องการผมก็จะให้ทั้งหมด คือ ขายให้
และลดราคาลงจากไร่ละสี่หมื่นลงมาบ้าง และก็แถมถวายพิเศษ เนื้อที่ประมาณ ๓ ไร่เศษ ให้อีกด้วยในพื้นที่นั้น
ก็เป็นอันว่า เนื้อที่ ๒๗ ไร่ จ่าเพราะคิดจริง ๆ ประมาณ ๒๔ ไร่ ก็ถือว่า ท่านเป็นนักบุญ
เมื่อได้ที่มาแล้ว ในระหว่างนั้นเป็นระหว่างเข้าพรรษา ต่อมาถึงเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. นั้น (พ.ศ. ไปดูที่หน้าวิหารนะ ถ้าใครสงสัย) ก็ปรึกษาพระท่านอีก
พระท่านบอกว่า ถึงวาระที่จะทำได้แล้ว ก็บอกว่า ผมป่วยมาก เดินไม่ค่อยจะไหว ท่านบอกว่า ไม่เป็นไร นั่งรถไป ไปถึงที่ตรงนั้นก็ลง ฉันจะแนะนำให้
เมื่อท่านว่าอย่างนั้นก็ไปตามท่านสั่ง ในเมื่อเป็นความประสงค์ของพระ พระองค์นี้เป็นพระวัดไหน ไม่ต้องถามนะ
ถ้าขืนถามเข้า เดี๋ยวจะไปกวนใจท่าน ท่านเป็นพระที่มีความสำคัญมาก มีความรู้มากจริง ๆ และพูดอะไรไม่เคยผิด เมื่อไปถึงที่ตรงนั้น ก็เลยถามท่านว่า
พระจะสร้างตรงไหนครับ ท่านก็บอกว่า เอาตรงนี้ก็แล้วกัน พระอยู่ตรงนี้นะ และถามว่าอาคารจะทำอย่างไรครับ
ปักเสา ๔ เสา หรือปักเสา ๘ เสา คือเสาร่วมใน กับเสาระเบียง ท่านบอกว่า ไม่ควรหรอก เพราะว่าเวลานี้คุณมีทุน ๒๓๐,๐๐๐ บาทเศษ มีคนทำบุญเข้ามาอีก
แต่ว่าต่อไปข้างหน้า เมื่อเริ่มทำเข้า พระองค์นี้มีความสำคัญมาก (ท่านหมายถึง พระพุทธรูปนะ ที่จะทำ) ให้ตั้งตรงนี้นะ
เพราะตรงนี้ แต่เดิมทีเดียวโบราณเขาฝังพระบรมสารีริกธาตุไว้ มีพระบรมสารีริกธาตุเก่าอยู่ทับลงไป
คนจะได้ไม่ทำลายพระบรมสารีริกธาตุ และไม่เดินข้ามไปข้ามมา เอาห้องพระอยู่ตรงนี้ และกำหนดตัวอาคาร ไม่ใช่โรงเฉย ๆ ทำยกพื้นขึ้นมาประมาณ ๑ เมตร
ยกเสาขึ้นมาประมาณ ๑ เมตร แล้วก็ทำพื้น เอากว้าง ๒๘ เมตร เอายาว ๑๐๐ เมตร พอท่านบอกอย่างนี้ก็ลมขึ้นเลย (ลมขึ้น คือ ลมหายใจออก ลมลง คือ ลมหายใจเข้า)
ก็เป็นอันว่า งง พอท่านบอกอย่างนี้ ก็ งงติ้ว คิดอย่างไรกันแน่ จะไปได้หรือ
แต่ว่า ก็ลองฟังท่านดู ท่านอธิบายให้ฟังว่าทำอย่างนี้นะ ยังไม่ต้องใช้เงินมาก เรามีเงิน ๒๓๐,๐๐๐ บาทเศษ เอาแค่เงินที่มีอยู่ก่อน อันดับแรก
เรียกช่างมาตีผัง กำหนดอาคารแบบนี้ เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตั้งต้นจากทิศตะวันตกหันทางยาวไปทางทิศตะวันออก
ตอนที่ตั้งปกตินี่ เดิมทีเดียวอาตมาจะเอายาวจากเหนือไปใต้ จากใต้ไปเหนือ แต่ท่านบอกว่า อย่างนั้นไม่ควร ต้องเอายาวไปทิศตะวันออก ตั้งต้นทางทิศตะวันตก
และตรงนี้สร้างพระพุทธรูปหน้าตัก ๘ ศอก
อันดับแรก ยังไม่ต้องทำอะไรมาก ให้ช่างเขาตั้งตอหม้อก่อน และก็ทำพื้น เฉพาะจริง ๆ ที่พระพุทธรูปจะตั้ง หลังจากนั้นก็ให้ช่างปั้นพระพุทธรูปเริ่มทำ
เราก็ยกเสาตรงนี้ ตรงที่มีพระพุทธรูป ยกเสาขึ้น และก็เทพื้นแบน ๆ ชั้นบน แทนที่จะเป็นหลังคา
ก็เป็นพื้นอีกชั้นหนึ่งไม่เอามาก เอาห้องสั้น ๆ และเสาที่ตั้งไปนั่น ถ้าใครยังไม่ให้สตางค์มาเรายังไม่สร้างต่อ เมื่อท่านบอกอย่างนั้น ก็ตัดสินใจว่า
โอ
ถ้าอย่างนี้ไปรอด เราไม่ทำวู่วาม ไม่หักโหมเกินไป ในที่สุด ก็สั่งช่างตีผังทำตามนั้น
ต่อมา เมื่อญาติโยมพุทธบริษัททราบเข้า ต่างคนต่างก็ช่วยกันคนนั้นก็ทำบุญ คนนี้ก็ทำบุญ ทำบุญสร้างพระหน้าตัก ๘ ศอก
ทำบุญสร้างวิหารพระ ๘ ศอก ต่างคนต่างทำบุญ เงินก็ค่อย ๆ มา พื้นก็ค่อย ๆ ขยายไป ๆ
ในที่สุด ภายใน ๒ เดือน พื้นของอาคาร ๑๐๐ เมตรก็เต็ม เป็นตัวอาคารภายในก่อน ยังไม่มีเฉลียง หลังจากนั้นญาติโยมพุทธบริษัทไป ๆ มา ๆ เมื่อเห็นเข้าก็ชอบใจ
ต่างคนต่างให้ต่างคนต่างถวาย ก็ค่อย ๆ สร้างตั้งเสาสูงขึ้น
จะเห็นว่า ในช่วงแรกจะมีช่างไม่กี่คน เพราะ ถ้าช่างมากจริง ๆ หาสตางค์ไม่ทัน
อาศัยที่บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทเมตตาเรื่อย ๆ ก็ทำไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งการตั้งเสาเสร็จ และกำแพงก็ก่อ พื้นชั้นบนก็ก่อ
ต่อมา พระที่เคยแนะนำ ท่านก็มาหา เมื่อท่านมีเวลาว่าง ก็มาเยี่ยม แล้วท่านก็บอกว่า คุณ เป็นอย่างไร พอหาทันไหม ก็บอกว่า ถ้าสร้างเบา ๆ แบบนี้พอไหวครับ
ญาติโยมก็มีเมตตามาก ช่วยกัน และต่างคนต่างก็ช่วย ความจริงเงินทองไม่ได้มีมามากนัก
บางคนก็ ๕ บาท ๑๐ บาท ๒๐ บาท ๓๐ บาท ๑๐๐ บาทบ้าง ๑,๐๐๐ บาท นาน ๆ ที นาน ๆ มี ๑๐,๐๐๐ บาทครั้ง ก็รวมความว่า ของใหญ่ มาจากของเล็ก ของมาก มาจากของน้อย
ต่อไปก็ค่อย ๆ ทำดาดฟ้าเสร็จ ทำกำแพงเสร็จ
ท่านก็บอกว่า ข้างบนทำทรงไทยนะ เอาเล็ก ๆ สร้างแบบธรรมดา ๆ อย่าให้วิจิตรพิสดารนัก เอาแบบหลังคาชั้นเดียว คือว่า
ไม่ต้องสวยสดงดงามอะไร ใช้สัดส่วนตามนี้ ท่านก็บอกสัดส่วนให้
บอกว่า ทำเป็นมุข ๓ มุข เป็นยอด ๓ ยอด หมายถึง เป็นการบูชาพระไตรสรณาคมน์ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
เมื่อสร้างหลังคาเสร็จ เรื่อย ๆ มา ทีนี้เพิ่มช่างอีกนิดหนึ่ง รู้สึกว่าญาติโยมให้มากขึ้น พออาคารโตขึ้นญาติโยมก็ให้มากขึ้น
ต่อมา ท่านก็บอกว่า คนที่มาที่นี่ ไม่มีใครเขานั่งแต่ในวิหารอย่างเดียวนะ เขาจะต้องมีที่โปร่งให้ด้วย ควรทำเฉลียงออกไปอีก ๖ วา
(กว้าง ๑๒ เมตร) ยาวเท่าตัวอาคาร เพราะคนไปคนมา เขาอยากโปร่ง เขาจะได้พักข้างนอก
หรือบางคนเสร็จภารกิจบ้าง แต่เพื่อนยังไม่เสร็จภารกิจ คนที่เสร็จแล้ว ก็ไปพักคอยข้างนอก จะได้มีความสุข หลังจากนั้น เมื่อท่านสั่ง ก็ทำ ค่อย ๆ ทำไป
เวลาทำไม่รุกรานนัก เพราะถ้ารุกราน หาเงินไม่ทัน เพราะหลังนี้คิดในใจแล้ว ไม่อยากเป็นหนี้
เพราะเป็นหนี้มาก อาการใกล้ตายเต็มที ถ้าตายลงไปเวลานั้นเสร็จ พระเจ้าที่อยู่เบื้องหลังลำบากหมด เขาก็จะมาทวงสตางค์พวกเธอ พวกเธอก็จะหาให้ไม่ได้
ก็จะลำบาก เลยทำแบบทะนุถนอมงานช้า ๆ เมื่อสร้างเฉลียงเสร็จ
ท่านก็บอกว่า เอาอย่างนี้ดีไหม พระพุทธรูป เป็นพุทธบูชา เราบูชา ท่านเป็นองค์แทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
พระพุทธรูป ให้เป็นพระพุทธชินราช ดีไหม
เป็นอันว่า ท่านสั่งแบบปรึกษา ความจริงเป็นคำสั่งของท่าน แต่ฟังแล้ว ลีลาเหมือนกับปรึกษา ก็เลยกราบเรียนท่านบอกว่า ดี ท่านบอกว่า
ถ้าอย่างนั้นให้ช่างเขาทำเป็นพระพุทธชินราช จะสวยงามดี เอ้า
ว่าอะไรก็ว่าตามกัน
เพราะว่า ท่านพูดมา ท่านบอกมาไม่ผิดจริง ๆ พระองค์นี้ ถ้าใครไปพบเข้านะ อย่าบอกว่า อาตมาบอกนะ แต่ว่าอยู่ที่ไหนไม่ยืนยัน
เพราะว่า ท่านห้ามบอกสถานที่ของท่าน แต่บังเอิญโชคดี ไปพบท่านละก็ ทุกอย่าง ท่านบอกไม่ผิด ถ้าเราถวายความเคารพด้วยความจริงใจ
หลังจากท่านสั่งทำพระพุทธรูปแล้ว คือ กำลังทำพระ ท่านก็บอกว่า ห้องพระนี่ เฉพาะเพดานที่พระพุทธรูปอยู่ คือ ตั้งพระพุทธรูป เราปิดกระจกหน่อยดีไหม
จะได้เป็นเงาสะท้อนขึ้น มองสูง ๆ
ในเมื่อท่านแนะนำแบบนั้นก็บอกว่า เอ้า
กระจก ก็ติดเป็นกระจก เพราะท่านบอกให้ปิดกระจกก็ปิด ซื้อกระจกเขามา ในตอนต้น กระจกเงาไม่ค่อยจะดีนัก ก็พบอย่างไร
ก็ซื้ออย่างนั้น เพราะคนไม่มีสตางค์
ซื้อเขามากล่องละ ๗,๕๐๐ บาท ต่อมา ก็มาพบกระจกที่มีเงาดีมาก กล่องละ ๘,๕๐๐ บาท เมื่อพบเข้าแล้ว ก็สั่งซื้อกระจก ซื้อแบบ ๘,๕๐๐ บาท เป็นพื้นฐาน
เอามาทีละกล่อง ค่อย ๆ ปิดไปทีละน้อย ๆ
ในที่สุด ตรงเพดานพระก็มีกระจกแพรวพราว เป็นเงาดี ท่านก็บอกว่า เอาอย่างนี้ดีไหม ห้องพระที่เป็นผนังนี่ ปิดกระจกเสียให้รอบตัว เต็มห้อง
ก็เลยกราบเรียนท่านว่า ถ้ามีคนเขามาทำบุญเงินไม่คั่น งานก็ไม่หยุด
ท่านก็เลยบอกว่า เอาอย่างนี้ซิ การจะทำงานนะ ต้องบอกราคาของเขา เราทำงุบงิบอย่างนี้ ก็ไม่มีใครเขารู้ เขาก็หนักใจ กระจกเวลานี้เราใช้อย่างดี กล่องละ
๘,๕๐๐ บาท ในกล่องใหญ่ ก็มีกล่องเล็กอยู่ ๑๐๐ กล่อง
ก็เป็นอันว่า ราคากระจกกล่องเล็ก คือ กล่องละ ๘๕ บาท บอกญาติโยมเขาอย่างนี้ ใครจะรับคนละกี่กล่องก็ได้ ตามใจชอบ คนละกล่อง คนละ ๒ กล่อง หรือ ๔ คน ๑
กล่องก็ใช้ได้ เมื่อได้บทอย่างนี้ ท่านเตือนให้ เวลานั้นก็ป่วยคิดอะไรไม่ออก
ก็เป็นอันว่า ตกลงตัดสินใจตามนั้น ก็จัดบอกบุญเป็นกล่อง ๆ คราวนี้รู้สึกว่า ญาติโยมดีใจมาก รับกันทั่วฐานะ ไม่ว่าใคร ต่างคนต่างก็รับ
เห็นที่ปิดแล้วก็ชอบอกชอบใจ ต่างคนต่างรับ แล้วต่อมามีญาติโยมพุทธบริษัทถามว่า เสาที่ปิด คือ ท่านบอกว่า ปิดห้องพระแล้ว ลองปิดเสาดูซิ มันสวยไหม
ก็เลยนึกขึ้นมาได้ว่า เห็นที่เชียงใหม่กับลำพูน เขาปิดเสาโบสถ์เสาวิหาร สวย ๆ แวววาวดี นึกชอบใจมานาน พอท่านพูดขึ้นมาก็นึกออก บอกว่า ดีด้วยครับ
เมื่อขณะที่ปิดไปแล้ว ๒-๓ ต้น ก็มีญาติโยมพุทธศาสนิกชนช่วย
ร่วมกันซื้อกระจก ก็ให้คุณนิรัตน์ช่วยคิดราคา คุณนิรัตน์ เลาหะสุรโยธิน คนนี้ช่วยงานก่อสร้าง ตอนหลังช่วยมาก งานประดับประดาปิดกระจก
การซื้อของก็ถูกลง เพราะ พ่อค้า ซื้อของพ่อค้า ถูกลงมาก
แกช่วยวัดได้ดีมากช่วยวัดจริง ๆ หลายล้าน ลดไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศาลา ๔ ไร่ลดไปล้านกว่า ศาลา ๑๒ ไร่ นี่ลดค่าของไปได้
ความจริงไม่ใช่ให้ลด แต่ว่าการซื้อของ เขาทำอย่างนี้ อย่างพวกเรา ก็ไปเจอะกับตัวแทนของบริษัท ของเขาพบตัวแทนบริษัท
ลดราคาแล้วยังไม่พอใจ ไปหาผู้จัดการ เขาจะซื้อด้วยเงินสด ในเมื่อผู้จัดการบอกราคาลดแล้ว ยังไม่พอใจ ไปหาเจ้าของบริษัทห้างร้านจริง ๆ เลย
ทางนั้นก็ลดลงมาให้อีก ก็รวมความว่า ได้ลดลงมาก
ตอนนี้ให้คุณนิรัตน์ลองคิดราคาเสา ค่าเหล็ก ค่าปูน ค่าทราย ค่าแรงงาน ค่ากระจก ค่าแรงงานปิด ทั้งหมด ต้นละเท่าไร คุณนิรัตน์ก็คำนวณตามความเป็นจริงว่า
ต้นละ ๑๒,๐๐๐ บาท พอทราบว่าต้นละ ๑๒,๐๐๐ บาท
บรรดาญาติโยมพุทธบริษัท ทีนี้ต่างคน ต่างก็เป็นเจ้าของเสากัน หลายคนเป็น ๑ ต้นก็ได้ ไม่จำกัด ก็รวมความว่า เมื่อเสาแพรวพราวขึ้น ตอนนี้ก็มาถึงข้างฝา
ปิดบ้างแล้วบางฝา หลัง ๆ พระพุทธรูป คนนั้นก็ชอบ คนนี้ก็ชอบต่างคนต่างซื้อให้ ต่อมาฝาก็เสร็จ ภายในเสร็จ
ก็ภายนอก ทีแรกจะปิดแค่เล็กน้อย ปิดแค่มณฑปบนหลังคา และช่อฟ้า หน้าบันนิดหน่อย แต่ทว่าเมื่อทำเข้าแล้ว บรรดาท่านพุทธบริษัท ต่างคนต่างเห็นชอบ
ต่อคนละนิด ต่อคนละหน่อย ผลที่สุด เต็มหลัง
รวมความว่า วิหาร ๑๐๐ เมตร ที่แพรวพราวเป็นระยับขึ้นมา การสร้างจริง ๆ มาจากการเริ่มต้นนิดเดียวคือจากเงินของ คุณสุชาดี
มณีวงศ์ เจ้าของรายการกระจกหกด้าน ช่อง ๗ สี และของคุณจันทนา วีระผล สองท่านนี้ให้คนละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท เริ่มต้น
แต่ความจริง ตอนแรกไม่คิดว่าเริ่มต้น คิดว่า ทำกันจบแค่ ๒๐๐,๐๐๐ บาท คือ ปั้นแท่นแล้ว ก็ปั้นพระ เมื่อปั้นพระเสร็จ ก็ทำอาคาร ๔ เสาปักขึ้นไป
เป็นเสาร่วมใน และก็ปักอีก ๔ เสา เป็นเสาร่วมนอก ทำหลังคาให้มีช่อฟ้า หน้าบันเล็กน้อย เท่านั้นพอ
แต่ ไป ๆ มา ๆ ด้วยบุญบารมีของบรรดาญาติโยมพุทธบริษัท ต่างคนต่างก็คิด ต่างก็ช่วยกัน จนกระทั่งวิหารหลังนี้เสร็จ ราคาจริง ๆ ไม่แน่นอนนัก
กะโดยประมาณว่า เฉพาะตัวอาคารที่ยังไม่ประดับรวมช่อฟ้า หน้าบัน พระพุทธรูป เสร็จทั้งหมดคงไม่เกิน ๗,๐๐๐,๐๐๐ บาท
แล้วก็ราคาหินอ่อนที่ปูทั้งหมด เป็นเงิน ๑,๒๖๔,๓๔๑ บาท ค่ากระจกทั้งหมด ๔,๔๗๗,๗๘๕ บาท รวมค่ากระจกและค่าหินอ่อนแล้วเป็นเงิน ๕,๗๔๒,๑๒๖ บาท
กับค่าแรงงานอีกบ้างพอสมควรที่ยังขาดไป
เป็นอันว่า วิหารหลังนี้ เสร็จด้วยความดีของบรรดาญาติโยมพุทธบริษัท ฉะนั้น ของที่บรรดาท่านทั้งหลายที่รวมกันคนละนิดคนละหน่อย
อย่างกระจกนี่ บางท่านก็ช่วย ๑ กล่อง บางท่านก็ช่วย ๒ คน ๑ กล่อง อย่างนี้เป็นต้น
กล่องเล็กนะ กล่องละ ๘๕ บาท ท่านก็ช่วยมากบ้าง น้อยบ้าง ส่วนใหญ่ก็คนละกล่อง ๒ กล่อง ไม่มาก ไม่หนักใจ ไม่หนักทรัพย์สิน แต่อย่าลืมว่า
คนที่มาที่นี่มาก ไม่ใช่มาวันละมาก คือ มากันทุกวัน
วันละน้อยบ้าง มากบ้าง วันละ ๒๐ คนบ้าง ๓๐ คนบ้าง ๒-๓ คนบ้าง บางทีก็เป็นร้อยคนบ้าง ทีนี้เวลามีงานหนัก ๆ อย่างงานเป่ายันต์เกราะเพชร งานกฐิน
งานเข้าพรรษา ออกพรรษา งานสงกรานต์ ญาติโยมรู้กัน ต่างคนต่างก็คนละกล่อง ๒ กล่อง
เป็นเจ้าของกระจกกันบ้าง เป็นเจ้าของทองบ้าง ทุกอย่างต่างคนต่างช่วยกัน วิหารหลังนี้เกิดขึ้นมาได้ สำเร็จรูปตามกำลังศรัทธาของบรรดาญาติโยมพุทธบริษัท
ทีนี้มาว่าถึงว่า มีอะไรบ้าง จากวิหารนี้
ความจริงเมื่อตอนก่อนพระที่แนะนำท่านก็บอกว่า มีพระบรมสารีริกธาตุตรงนี้ และให้สร้างพระพุทธรูปทับ ก็ทำตามท่าน ขณะที่ทำ ในระยะนั้น วิหารยังไม่มีหลังคา
มีแต่พื้นล่าง มีแต่เสาบน เสาพื้นบนตั้งแล้ว แต่ยังไม่เทพื้น
ในเวลากลางคืน ปรากฏว่า มีดาวขึ้นจากดิน คนที่เห็นคนแรกคือ พ.ต.พงษ์เทพ แกมานอนเป็นเพื่อนในเวลาว่าง พ.ต.พงษ์เทพเห็นก็คิดว่า
ไฟอะไรนะ แต่ไฟนี้สีน่ารัก
สีสวย สีขาวนวล ๆ โตมาก โตกว่าบาตรพระ ๒-๓ เท่า
ลอยไม่สูงนัก ไล่ ๆ กับยอดไม้ ลอยวนไปวนมาทางร้อยไร่ เธอก็ขี่มอเตอร์ไซค์ไป ค่อย ๆ ตามไป กลางคืนค่อนข้างดึก ในทัศนะแบบนี้ บรรดาท่านพุทธบริษัท
เท่าที่เคยปรากฏมา เป็นพระบรมสารีริกธาตุ และแสงโคมที่ลอยนั้น ไม่ใช่ลอยสีด้าน ๆ ธรรมดา สว่างมาก
และอาการอย่างนี้ย่อมปรากฏกับคนเยอะ คนเห็นกันมาก ที่พูดนี่ไม่ใช่โฆษณานะโยมนะ พูดกันตามความเป็นจริงว่าเขาเห็นกัน และก็การสร้างวิหารหลังนี้
ความจริงไม่ใช่สร้างแต่วิหาร ก็ต้องสร้างอาคารรอบ ๆ หลังวิหารออกมา เป็นหอพักนักเรียนสตรี
เพราะนักเรียนสตรีเธอไม่ยอมไปพักหอพักข้างนอก มันไปพักใกล้กับผู้ชาย บางคนเขาอาจจะมองในด้านไม่ดีนัก เธอขอพักข้างใน และแยกมาจากพระ นี่ไกลกัน
และต้องทำรอบ ๆ อาคาร
ทีนี้ พระพุทธรูป ที่ตั้งรอบวิหาร ๑๐๐ เมตร ด้านหน้า ถ้าถามว่า พระพุทธรูป ทำทำไมเยอะแยะนัก พระพุทธรูป ๔ ศอก ก็ต้องตอบว่า
ทุกอย่างที่วัดนี้ ทำตามความประสงค์ของญาติโยม
ถ้าเจตนาเต็มจริง ๆ เนื่องในการหยุดสร้าง อาตมารู้สึกเต็มมาตั้งแต่สร้างพระอุโบสถเสร็จ เมื่อสร้างพระอุโบสถแล้ว
ขณะที่สร้างพระอุโบสถ ก็สร้างโรงพยาบาลขั้นต้นด้วย พร้อม ๆ กันนั้นก็สร้างอาคารรอบ ๆ พระอุโบสถ
พอสร้างช่วงนั้นเสร็จ ก็มีความรู้สึกเต็มแล้ว พอใจอย่างยิ่ง ตั้งใจอยากจะหยุดตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา งานก่อสร้างนี่เบื่อมานานแล้ว คือ เบื่อ เบื่อจริง
ๆ มันหนัก หนักอกหนักใจ หนักทรัพย์สิน หนักทุกอย่าง มันหนักหมด
ถ้าช่างเป็นคนดีก็ดีไป ถ้าช่างเลว ๆ ก็กลุ้มใจจากช่างอีก มันก็วุ่นวายไปหมด ที่ทำไปทำไป ก็ถือว่า วัตถุ ไม่ใช่สมบัติของเรา แต่ว่า อานิสงส์
มันเป็นสมบัติของเรา และก็เป็นสมบัติของทุกคน ที่เขาทำบุญมา พระท่านก็เตือน บอกว่า ทำเพื่อเป็นการแนะนำเขา
หลังจากนั้นมา ก็มีญาติโยมพุทธบริษัท ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๑ ท่านนั้นก็จะสร้างห้องกรรมฐาน ท่านนี้ก็จะสร้างห้องกรรมฐาน
จะสร้างกุฏิกรรมฐาน อาตมาก็มีความรู้สึกว่า ถ้าหากว่าจะสร้างเฉพาะห้องกรรมฐาน คือ กุฏิเป็นไม้ ไม่ช้าปลวกก็กินหมด
ในเมื่อปลวกกินหมด มันก็เสียสตางค์กันเปล่า ๆ ก็มาคิดในใจ บอกว่า เอาอย่างนี้ก็แล้วกันนะญาติโยม ถ้าทำอาคารเป็นไม้ กับทำอาคารเป็นตึก
ตึกมีความมั่นคงกว่า แต่ราคาเท่ากัน จะเอาอะไร ญาติโยมก็สละเป็นห้องมา ตึกหรือไม้ เอาทั้งนั้น
อาตมาก็ทำเป็นตึก เพราะมันพังยาก พระพุทธรูปหน้าตัก ๔ ศอกก็เหมือนกัน ที่เรียกว่า พระชำระหนี้สงฆ์ จริง ๆ แล้ว เดิมทีเดียวไม่คิดว่าเป็น
พระชำระหนี้สงฆ์ เพราะ อาตมานึกอยากจะสร้างพระพุทธรูปหน้าตัก ๔ ศอก มาตั้งแต่เด็ก
เวลานั้นเข้าไปโบสถ์หลังไหนก็ตาม ถ้าโบสถ์หลังนั้นมีพระพุทธรูปหน้าตัก ๔ ศอกละก็ ชื่นอกชื่นใจมาก ตั้งแต่อายุ ๑๐
ปีกว่านิดหน่อย นั่งมองพระ จำภาพพระ ไม่อยากจะเลิก ก็นั่งนึกมาตั้งแต่เด็กว่า ในชีวิตของเรา จะมีโอกาสได้สร้างพระพุทธรูปหน้าตัก ๔
ศอกสักองค์ไหม
ต่อมา มาเจอะหลวงพ่อปานเข้า ท่านก็บอกว่า พระประธานหน้าตัก ๔ ศอก เขาถือว่า เป็นพระมาตรฐาน ในเมื่อมีบริเวณสถานที่อยู่ ก็ลองให้ช่างวัดดู ว่าตรงนี้
ฉันจะสร้างพระพุทธรูปหน้าตัก ๔ ศอก จะได้สักกี่องค์ ทีแรก ตั้งใจจะสร้างสัก ๒ องค์ก็พอ
แต่ช่างวัดดูแล้ว บอก ตรงนี้สร้างได้ ๒๘ องค์ ก็สั่งช่างทำ ราคาเท่าไร ช่างอย่าเพิ่งทวงสตางค์กันนะ ปูน ทราย หิน ฉันมีเสร็จ แต่เงินค่าจ้างรอ ๆ ก่อน
ช่างประเสริฐนี่เป็นคนทำ ช่างเขาบอก ไม่เป็นไรครับ หลวงพ่อมีเมื่อไร ก็ให้เมื่อนั้น
แต่ในช่วงทำ ให้ผมมีข้าวกินก็แล้วกัน เป็นอันว่า เขาก็ทำ อาตมาก็ให้ทำ
เมื่อทำไป และสร้างพระขึ้นมา ๒๘ องค์ ต่อมาญาติโยมพุทธบริษัทรู้เข้า คนนั้นก็ขอเป็นเจ้าของ คนนี้ก็ขอเป็นเจ้าของ
ตอนนี้ราคาพระแต่ละองค์ จะตั้งราคาเท่าไร
เรื่องการตั้งราคานี่ทุกอย่าง อาตมาก็ไม่ได้ตัดสินใจเอง ถ้ามีอะไรข้องใจ ก็ถามพระที่มีความเคารพ ท่านก็คิด คิดไปคิดมา ท่านก็บอกว่า ถ้าไม่ปิดทององค์ละ
๑๐,๐๐๐ บาท อาตมาก็เสียววาบ ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่า ๑๐,๐๐๐ บาท จริง ๆ แล้ว มันก็ไม่เหลืออะไรเลย
คือ ไม่ได้พูดว่าการค้ากำไรนะ เวลานั้นต้องปั้นกันขึ้นมาเอง ไม่ใช่ว่าหล่อแบบไว้ ทั้งค่าจ้างช่าง ค่าอะไรต่ออะไรเสร็จ ก็หมด ท่านบอก หมดก็หมดไป ไม่ต้องมีกำไร เป็นอันว่า คิดในใจว่า ไม่ขาดทุนบุญตัวแล้ว ก็ยอมรับ บอกญาติโยมว่า ถ้าหากว่าไม่ปิดทององค์ละ ๑๐,๐๐๐ บาท
คราวนี้เขาถามว่า ปิดทอง ก็ถามท่านอีกส่งข่าวไปหาท่าน แล้วท่านก็มาบอก ถ้าปิดทององค์ละ ๕๐,๐๐๐ บาท ทั้งค่าแรงงาน ค่าทอง ค่าสี
เสร็จ ก็อยู่ในเกณฑ์นั้น นั่นราคาในช่วงนั้นนะ บรรดาญาติโยมพุทธบริษัท แต่ในช่วงนี้ ๕๐,๐๐๐ บาท มันตึงตัวมาก ไม่ใช่ตึงอย่างเดียว มันปริ ปริไปเลย
เป็นอันว่าพระ ๒๘ องค์ เพียงไม่ถึง ๒ เดือน มีเจ้าภาพหมด อาตมาก็ เอ้า
มีเจ้าภาพแล้ว ก็แล้วกันไป เราก็ทำเท่านั้นแหละ ต่อมา เมื่อทำศาลา ๓ ไร่ขึ้น
ก็สร้างพระเพื่อตัวเองขึ้นมาอีก ในเมื่อสร้างพระเพื่อตัวเองอีก ญาติโยมรู้
ลูกสาวคุณหญิงเยาวมาลย์ทราบ ก็ขอเป็นเจ้าภาพ เพื่ออุทิศให้คุณพ่อ คุณแม่ เอาเข้าแล้ว ที่ศาลา ๔ ไร่ ก็เช่นเดียวกัน
ต่อมาญาติโยมส่งสตางค์กันมาเลยคราวนี้ ฉันขอสร้างพระ ๔ ศอก ๑ องค์ ผมขอสร้างพระ ๔ ศอก ๑ องค์ ว่ากันไปว่ากันมา มากันอีก ๑๐๙ องค์
ไม่มีที่จะสร้าง ต้องไปสร้างที่หน้าอาคาร ๑๒ ไร่ ที่หน้าอาคาร ๑๒ ไร่ จริง ๆ เกือบจะไม่พอ ในเมื่อสร้างที่นั่นแล้ว ก็ยังไม่จบ
ก็มีญาติโยมส่งสตางค์มาอีก ขอสร้างอีก เวลานี้ก็ยังมี จึงมาสร้างกันที่หน้า ๑๐๐ เมตร อีก ๖๔ องค์
ก็ยังไม่แน่ว่า จะพอเหมือนกัน ยังไม่ทราบเลย ยังไม่ได้ถามบัญชีเขาว่า เงินที่ญาติโยมที่เขาส่งมาสร้างพระนี่ กี่องค์กันแน่ ที่ยังไม่ได้สร้าง
ก็รวมความว่า ที่วัดนี้ทั้งหมด ที่ว่า ใหญ่โตมโหฬารนี่
ความจริงไม่ใช่กำลังใจของอาตมาโดยตรง กำลังใจอาตมาโดยตรง ก็แค่สร้างแค่บริเวณพระอุโบสถ กับโรงพยาบาลที่ว่า ราคาทั้งหมด
ผ่านมาแล้ว ทั้งหมด ๓๕๓,๓๒๗,๔๖๙ บาท ๓๖ สตางค์
ว่า สร้างทั้งหมด รวมสร้างตรงโรงพยาบาลด้วย รวมสร้างโรงเรียนด้วย ซื้อพื้นที่ด้วยเสร็จหมดทุกอย่าง ก็เป็นเงินแค่ ๓๕๓,๓๒๗,๔๖๙ บาท ๓๖ สตางค์
ก็มากสำหรับอาตมา ทีนี้เงินที่ถวายมาเพื่อการก่อสร้างจริง ๆ เป็นเงิน ๑๙๗,๘๓๔,๙๙๓ บาท ๗๕ สตางค์
ถ้าลบกันออกมาแล้วก็ขาดไป ๑๕๕,๔๙๒,๔๗๕ บาท ๖๑ สตางค์ ความจริง เงินนี่ไม่ได้มาจากไหน ไม่ใช่งอกเอง ที่จ่ายไปได้ทั้งหมด เพราะเป็นเงิน ๑. ผาติกรรม
สังฆทาน อันนี้ไม่น้อยเลย วัตถุมงคลก็มาก และท่านที่ทำบุญไม่จำกัดประเภท อันนี้เยอะ
และก็มีมากที่ท่านถวายไว้ใช้ส่วนตัว เดือนละหลายแสน บางเดือน ๑๐๐,๐๐๐ บ้าง ๒ แสน ๔ แสน บางเดือนถึง ๘ แสนก็มี ทุกท่านเป็นห่วง เพราะว่าสตางค์ที่ได้มา
ไม่ค่อยจะเก็บไว้ใช้ เพราะว่า ใช้ในการก่อสร้างหมด
อาตมาก็คิดเหมือนกัน ถ้าเราจะเก็บไว้ใช้ มันก็ได้ มีสิทธิ์ แต่ทว่ามันเก็บไว้มากเกินไป ก็ไม่เป็นเรื่อง นอกจากจะเก็บไว้ยืนยัน
ป้องกันทรัพย์เบื้องหลัง พระเบื้องหลังที่อาตมาตายไปแล้ว พอมีผลเลี้ยงพระต่อไปได้เท่านั้นเอง ที่หวังอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ทุนอีกประเภทหนึ่ง คือ ทุนสงเคราะห์นักเรียนอันนี้มาก บรรดาท่านทั้งหลายที่นิยมสงเคราะห์นักเรียนนี้มาก ไม่ใช่น้อย
เป็นอันว่า เริ่มสบายใจ หากว่าอาตมาจะตายเวลานี้ พระเณรก็ไม่อด คนงานของวัดก็ไม่อด
อย่างค่ากระแสไฟฟ้านี่ เดือนที่แล้วมาที่พูดนี่ เดือนกันยายน เดือนสิงหาคมนี่ จ่ายไปแล้ว ๗๐,๐๐๐ บาทเศษ ที่จริงค่ากระแสไฟฟ้านี่ก็ไม่แพง เพราะเมื่อ
เดือนตุลาคม ๒๕๓๑ องค์การไฟฟ้ามาเก็บ ซึ่งกระแสไฟต่ำกว่านี้เยอะ ๑๒๐,๐๐๐ บาทเศษ
ต่อมาปั่นไฟใช้เอง ก็เสียไปจริง ๆ ระยะต้น เดือนละ ๕๐,๐๐๐ บาทเศษ ต่อมาก็เพิ่มกระแสไฟเข้ามา อันนี้ไม่แน่นอน กำลังเพิ่มกระแสไฟให้เต็มอัตรา
เพราะอาคารที่สร้างใหม่อีกมาก ก็คิดในใจว่าจะต้องเสียค่ากระแสไฟฟ้าจริง ๆ เดือนละประมาณ แสนเศษ ๆ
อันนี้พระที่ท่านเมตตา ท่านบอกว่า เงินส่วนนี้ ที่เขาทำบุญมา เป็นเงินที่มีไว้ เพื่อยืนยันความเป็นอยู่ของพระเบื้องหลัง ท่านแนะนำอย่างไร
ก็ว่ากันไปตามนั้น หมายถึง ว่าอะไร ว่าตามกัน ถ้าถามว่า พระองค์นี้อยู่วัดไหน ก็ตอบไม่ได้เลย
เพราะท่านสั่งปิด ก็มีคนหลาย ๆ คนที่พบท่าน แต่บางทีอาจจะไม่เข้าใจในท่าน เอาละ บรรดาญาติโยมพุทธบริษัททุกท่าน วันนี้พูดไปพูดมา
ได้เรื่องได้ราวบ้างหรือเปล่า ก็ไม่ทราบ ก็สรุปแล้วรวมความว่า
ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในวัดท่าซุง ไม่ใช่กำลังใจของเจ้าอาวาสโดยเฉพาะ เป็นน้ำใสใจจริงของบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทชายหญิง
ตั้งใจทำบุญกันโดยตรง
เอาละเวลานี้ก็หมดเวลาแล้ว ขอลาก่อน ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล สมบูรณ์พูนผล จงมีแด่พุทธศาสนิกชนผู้อ่าน และผู้ฟังทุกท่าน
สวัสดี
ll กลับสู่สารบัญ
webmaster - 29/4/11 at 13:40
3
จุไรท่องดวงพระจันทร์
ท่านผู้อ่านทั้งหลาย ตอนนี้ก็ขอพาบรรดาท่านทั้งหลายมาพบกับ จุไร เพราะว่าจุไร หายหน้าหายตาไปนาน ทั้งนี้ก็เพราะว่า
เธอกำลังเร่งรัดในการทำกรรมฐาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กำลังเรียนหนังสือ ทั้ง ๒ อย่างนี้ควบคู่กัน โอกาสจึงไม่ค่อยจะมีมาคุยกัน แต่ว่าวันนี้จุไรว่าง
พอมีโอกาส ก็ขอนำเรื่องราวของจุไรมาเล่าสู่กันฟังดังนี้
เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๓๒ จุไร พร้อมกับ บิดาและมารดาได้พากันไปที่วัดท่าซุง อ.เมือง จ.อุทัยธานี วันนั้นเป็นวันแรก ที่วัดท่าซุงทำการเปิดวิหาร
๑๐๐ เมตร เพื่อฝึกพระกรรมฐาน เธอกับมารดาและบิดา ทั้ง ๓ คน เมื่อได้มีโอกาสบำเพ็ญกุศลเบื้องต้นในห้องรับแขกแล้ว ก็ตามพระไปที่วิหาร ๑๐๐ เมตร
ครั้นถึงวิหาร ๑๐๐ เมตร ก็นึกเอะใจว่า เอ วิหารทุก ๆ แห่ง เขาไม่มีกระจก และก็พื้น แต่ความจริง ถ้าพื้นเป็นหินอ่อน ก็เป็นของธรรมดา แต่ว่าวิหารหลังนี้ก็แปลก ใช้หินอ่อนแผ่นเล็ก ๆ เธอทราบจากพระบอกว่า หินอ่อนแผ่นเล็ก ๆ ก็เป็นเศษจากหินอ่อนแผ่นใหญ่ แต่ว่าราคาถูกลงมา
ทั้งนี้เพราะมีเนื้อที่หลายพันตารางเมตร ในเมื่อมีเนื้อที่มาก ก็มีความจำเป็นอยู่เอง ต้องใช้ของที่ราคาถูก ทั้ง ๆ ที่คิดว่าถูก ราคาก็ ล้านเศษ
ก็เป็นอันว่า เธอได้เข้าไปภายในวิหาร ๑๐๐ เมตร อันดับแรกก็ตกตะลึง เพราะภายในมีไฟช่อเต็มราว สว่างไสวมาก และทั้งเสาก็ดี ฝาก็ดี เพดานก็ดี
แพรวพราวเป็นระยับ ซึ่งไม่เคยเห็นที่อื่นมาก่อน ต่อไป ก็มีโอกาสไปมนัสการพระพุทธชินราช เป็นพระประธาน หน้าตัก ๘ ศอก
และข้าง ๆ นั้น ก็เป็นห้องพระบรมสารีริกธาตุ ก็มนัสการด้วย ขณะที่ไหว้พระพุทธชินราชก็ดี ไหว้พระบรมสารีริกธาตุก็ดี จิตใจก็ปลื้มปีติ มีความอิ่มเอิบ
ซึ้งใจ
ต่อมา เวลานั้น ก็ถึงเวลาแนะนำกรรมฐานพอดี ทว่าท่านที่มาทั้งหลายพากันถวายสังฆทานเสร็จ เธอก็บอกกับแม่ บอกว่า คุณแม่เจ้าขา
เวลานี้หลวงปู่จะสอนกรรมฐานแล้ว
ในขณะที่แม่กับพ่อได้ฟังก็ต่างคนต่างมารวมกันที่เขาเจริญพระกรรมฐาน วันนั้นจุไรเธอเลยแปลกใจอยู่เรื่องหนึ่ง ในเรื่องของกรรมฐาน เธอบอกว่า
หลวงปู่สอนพระกรรมฐานวันนี้แปลก เพราะการสอนพระกรรมฐานวันก่อน ๆ เท่าที่เคยฟังมา ไม่มีพระสูตรแทรก
แต่ว่าวันนี้ มีพระสูตรแทรก และเป็นพระสูตรที่มีความสำคัญแปลกไปกว่าอย่างอื่น อ้างอิงถึงว่า ทาน
เป็นปัจจัยให้ได้อรหันต์ในเบื้องหน้า หมายความว่า ชาติก่อนโน้นเคยให้ทานมา ผลของทาน เป็นปัจจัยให้สำเร็จพระอรหันต์ในชาตินี้
แต่ว่าท่านผู้นั้นในท้องเรื่องของนิทาน ก็มีความเป็นว่า
ท่านเป็นคนฆ่าสัตว์ คือ ฆ่านก ดักนก ยิงนก ต่อนก เอามาขาย ถ้าวันไหนเหลือ ก็เก็บไว้วันพรุ่งนี้ ย่างไว้ ถ้าเหลือมาก ๆ ย่างบ้าง
เก็บเป็นบ้าง เวลาเก็บเป็น ๆ ก็เกรงว่านกจะบินหนีไป หักแข้งนกเสียบ้าง หักกระดูกปีกบ้าง ปล่อยให้นกได้รับความทรมานเจ็บปวด ท่านก็ไม่คำนึง
เป็นแต่เพียงว่า ท่านต้องการว่า วันพรุ่งนี้ยังมีเนื้อสดของนกขายก็แล้วกัน บาปของท่านขนาดนี้ ความจริงแล้วก็ต้องลงอบายภูมิ
ในเมื่อจุไรเธอฟังไป เธอก็คิด ต่อไป พระ คือ หลวงปู่ ท่านก็บอกว่า โดยเฉพาะบุคคลคนนี้ ขอออกชื่อ นึกชื่อออกว่า ท่านติสสะ
ต่อมามีชื่อต่อข้างหน้าว่า ปูติคัต ก็รวมชื่อเดียวกันว่า ปูติคัตติสสะ ซึ่งแปลเป็นใจความว่า ท่านติสสะที่มีร่างกายเน่า
เมื่อท่านติสสะมีร่างกายเน่า ขณะที่เป็นพรานนก ฆ่านกทุกวันเป็นประจำ เพราะเป็นอาชีพ แต่ว่ามาวันหนึ่ง มีพระอรหันต์มาบิณฑบาต ท่านก็ไม่รู้ว่า
พระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ แต่มีความรู้สึกว่า เราเป็นคนมีบาป สร้างบาปทุกวัน แต่ว่าวันนี้ พระท่านมาโปรด ก็ขอทำบุญสักครั้งหนึ่ง
จึงนิมนต์พระท่านหยุด แล้วก็รับบาตรท่านมา สั่งคนในบ้าน บอกว่า ให้ทำแกง ทำกับข้าวให้อร่อยที่สุด ด้วยเนื้อนกเมื่อทำเสร็จแล้ว ก็ใส่บาตรพระไป
ตามที่รับคำแนะนำมานั้น บอกว่า สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส ที่พระถามว่า ท่านปูติคัตทำบาปอะไรมาไว้ ร่างกายของปูติคัตจึงเน่า กระดูกก็แตก
เดิมทีเป็นตุ่มเล็ก ๆ ทั่วตัว
หลังจากนั้น ตุ่มเล็ก ๆ ก็โตเท่าเมล็ดถั่วเขียว ทุกหัวเหมือนกัน หลังจากนั้น ก็โตเท่าเมล็ดถั่วเหลือง โตเท่าผลมะตูม หรือโตเท่าผลส้ม
ก็รวมความว่าโตเต็มที่ แล้วก็แตกเป็นน้ำเหลืองทั้งตัว เน่า ลุกไม่ขึ้น ต่อมา กระดูกของร่างกายก็แตก ได้รับทุกขเวทนามาก พระถามว่า ท่านปูติคัตทำบาปอะไรไว้
จึงได้รับทุกขเวทนาอย่างนี้
ตอนนั้น ตามคำสอนของพระ ท่านก็บอกว่า ปูติคัตเดิมทีเป็นพรานนก ตามที่กล่าวมาแล้ว เพราะบาปฆ่านก บาปหักกระดูกนก หักแข้ง หักขา
หักกระดูกปีก ฉะนั้น บาปฆ่านก เป็นเหตุให้เป็นหนองทั้งตัว บาปหักกระดูกแข้ง กระดูกขา เป็นเหตุให้กระดูกในร่างกายแตก ลุกไม่ขึ้น มีทุกขเวทนามาก
จนกระทั่ง พระพุทธเจ้าต้องไปรักษาพยาบาลเอง แต่ขณะที่พระพุทธเจ้าทรงเช็ดร่างกายที่เปื้อนไปด้วยน้ำเลือด น้ำเหลือง แห้งดีแล้ว ร่างกายเธอก็เบา จุไร
ได้ยินพระท่านแนะนำ หลวงปู่ท่านแนะนำว่า
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ติสสะ ร่างกายของเธอนี้ ไม่นานนัก ก็จะมีวิญญาณไปปราศแล้ว ร่างกายนี้จะเป็นของทับแผ่นดิน
ซึ่งไม่มีใครเขาต้องการ เหมือนกับท่อนไม้ที่ไร้ประโยชน์
พอท่านปูติคัตฟังอย่างนี้ จิตก็จับ คือ ร่างกายของเรา ไร้ประโยชน์ อีกไม่ช้าไม่นานก็มีวิญญาณไปปราศแล้ว คือ วิญญาณออกแล้ว
เมื่อวิญญาณออกไป ร่างกายนี้ไม่มีใครเขาต้องการ ไม่ว่าศพไหนทั้งหมด เธอก็คิดต่อศพทุกศพ ขณะที่มีชีวิตอยู่ จะรักกันแสนรักขนาดไหนก็ตาม
แต่เมื่อกลายเป็นศพแล้วทุกคนก็ส่งศพเข้าวัดบ้าง ส่งศพเข้าโรงพยาบาลบ้าง ส่งศพเข้าหลุมฝังศพบ้าง ส่งศพไปเผาเสียบ้าง
รวมความว่าความรักเดิม ไม่มีความหมาย เธอก็คิดตาม ในเมื่อท่านปูติคัตคิดตามอย่างนั้นแล้ว ในที่สุด ท่านก็บรรลุอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ
และในเวลาเดียวกันนั้นเอง ก็นิพพาน
ต่อมา พระก็ถามพระพุทธเจ้าว่าปูติคัตที่มีกระดูกแตก เน่า เพราะฆ่านก เพราะหักกระดูกนก
พระก็ถามต่อไปว่า เพราะอะไร เวลานี้พระปูติคัตไปไหน
พระพุทธเจ้าก็ตอบว่า ท่านปูติคัตไปนิพพาน
พระก็ถามว่า ปูติคัตป่วยขนาดนี้ และก็ไปนิพพาน ได้อาศัยกรรมอะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัย สมัยชาติก่อนทำอะไรไว้ พระเจ้าข้า
พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในสมัยชาติก่อน เมื่อปูติคัตเป็นพรานฆ่านก
เวลานั้นได้ถวายอาหารกับพระสงฆ์จริง ครั้งหนึ่งในชีวิต คือ ในชีวิตของเขา ถวายครั้งเดียว อาศัยที่ถวายทานแก่พระอรหันต์ครั้งนั้น
เป็นปัจจัยให้ปูติคัตได้เป็นพระอรหันต์ในชาตินี้ แล้วก็ไปนิพพาน
เมื่อจุไรเธอฟัง ก็หนักใจ เพราะว่า คำว่า ทาน เคยได้ยินพระเทศน์ หรือว่าทายกตามวัด หรือคนที่มีความรู้ธรรมะทั้งหลาย เคยพูดกัน บอกว่า ขึ้นชื่อว่า
ทานอย่างเดียว ไม่สามารถจะไปนิพพานได้ แต่ว่าพระสูตรนี้ พระพุทธเจ้าทรงยืนยันว่า อาศัยอานิสงส์ของทาน ไปนิพพานได้
แต่ในเมื่อเธอคิดตามแล้ว ก็คิดว่า เราเป็นเด็ก นั่นเป็นเรื่องของผู้ใหญ่เขาคิดว่า ทานไปนิพพานไม่ได้ ทีนี้พระท่านบอกว่า พระพุทธเจ้ายืนยันว่า
อานิสงส์ของทานไปนิพพานได้ หลังจากฟังแล้ว เธอก็เล่าให้แม่ฟังตามความคิดเห็น
ต่อมา ก็ถึงเวลาเจริญพระกรรมฐาน ในเมื่อพระท่านให้สัญญาณบอกว่า เวลานี้เป็นเวลาเจริญพระกรรมฐานแล้ว ทุกคนที่มาฝึกใหม่ก็เข้าห้องฝึก คนที่ฝึกเก่าได้แล้ว
ยังไม่คล่องตัว ก็เข้าห้องซ้อม คนที่ได้แล้ว รู้สึกว่ามีการคล่องตัว ก็อยู่ห้องโถง นั่งกันตามแบบสบาย ๆ เสาเยอะ ตอนโคนเสาเป็นหินอ่อน ๘ เหลี่ยม
ต่อโคนเข้าไปก็เป็นกระจกเงาแพรวพราวเป็นระยับ
แต่ทว่าจุไรเธอเป็นเด็ก เป็นเด็กอายุเพียง ๕ ปีเศษ ๆ หรือ ๗ ปี มองหน้ากันแล้ว ก็ไม่แน่ใจนักในอายุ เธอก็คิดว่า คนอย่างเรา ถ้าจะพิงเสา
เดี๋ยวเขาจะหาว่าเป็นคนแก่ ในที่สุด ก็ไม่พิงเสา หันหน้าไปตรงพระพุทธชินราช ลืมตาจับภาพพระพุทธชินราช ชื่นใจ สบายจิต หลับตานึกถึงภาพพระพุทธชินราชติดตา
เห็นสภาพชัดเจน แจ่มใสมาก แล้วก็หลับตา ภาวนา คาถาภาวนาก็ไม่จำกัด แต่วันนั้นรู้สึกว่า จุไรเธอจะภาวนาว่า นะ มะ พะ ธะ
เพราะเป็นคำภาวนาของ มโนมยิทธิ ความจริงมโนมยิทธินี้หลวงปู่ของจุไรเคยบอกว่า คำภาวนานั้นมีเยอะ ไม่มีคำจำกัดเฉพาะ นะ มะ พะ ธะ แต่ว่าท่านพิสูจน์แล้ว
เห็นว่า นะ มะ พะ ธะ มีความคล่องตัว และแจ่มใส
จึงนำมาสอนพุทธบริษัท ความจริงคาถาภาวนาอย่างอื่นก็ใช้ได้ มีเยอะ หลายสิบอย่างเมื่อเธอจับลมหายใจเข้าออก และก็ภาวนาตาม และคิดตามว่า ตามปกติธรรมดา
พระบังสุกุลคนตายว่า
อนิจฺจา วต สงฺขารา ซึ่งแปลว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ
อุปฺปาทวยธมฺนิโม เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมไป
อุปฺปชฺชิตวา นิรุชฺฌนฺติ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป คือตาย
เตสํ วูปสโม สุโข การเข้าไปสงบกาย ชื่อว่า เป็นสุข
อันนี้เป็นคาถาภาวนาสำหรับคนที่ตายแล้ว ที่เรียกว่า ผี แต่ว่าคาถาบังสุกุลคนเป็น อจีรํ วตยํ กาโย
ทว่าเมื่อแปลตามความหมายเข้าจริง ๆ คือว่า อีกไม่นานนัก ร่างกายนี้จะมีวิญญาณไปปราศแล้ว ก็เหมือนกับของที่เขาทิ้ง เป็นของที่บุคคลพึงทอดทิ้ง ไม่ต้องการ
เหมือนกับท่อนไม้ ที่ไร้ประโยชน์ (ถือเอาใจความ)
เธอก็แปลกใจว่า บังสุกุลเป็น ก็น่าจะบังสุกุล ให้บุคคลนี้มีความสุข มีความเจริญ มีความร่ำรวย มีความปรารถนาสมหวัง ปลอดภัยอันตรายอย่างใดอย่างหนึ่ง
แต่พระกลับบอกว่า อีกไม่นานนัก เธอจะตายแล้ว แต่ในฐานะที่เป็นเด็กก็ไม่อยากจะคิดค้านพระ ก็เลยน้อมมาคิดถึงว่า ใครบ้าง ที่เกิดแล้วไม่ตาย มีไหม
เธอก็นึกว่า เธอยังไม่ตาย จุไรยังไม่ตาย คุณพ่อยังไม่ตาย คุณแม่ยังไม่ตาย คุณปู่คุณย่ายังไม่ตาย คุณยายคุณตายังไม่ตาย
แต่ว่าคุณทวดตาย และไปดูเด็กรุ่นน้อง ข้างๆ บ้าน เขาตายไปก่อนหลายคน ก็เลยคิดตามความเป็นจริงว่า เราก็จะตายเหมือนกัน ถ้าเราจะตายจริง ๆ
เราจะไปสวรรค์ชั้นไหน
ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ก็มีสนุกสนานมาก น่าไป ชั้นยามา ก็นั่งสวดมนต์บ้าง เจริญกรรมฐานบ้าง ชั้นดุสิต เป็นเรื่องของพระโพธิสัตว์ ชั้นนิมมานรดี
ก็เป็นหน้าที่ของเทวดาที่เนรมิตต่าง ๆ ชั้นปรนิมฯ ก็มีอำนาจมาก แต่ทว่าจริง ๆ แล้ว ก็ไม่น่าไป คือว่า ทุกคนที่เกิดมาแล้วก็ตาย
เทวดาก็จุติ น่าจะไปนิพพานมากกว่า เธอก็คิดว่า นิพพานจะไปได้หรือไม่ได้ หลวงปู่เคยบอกว่า ให้ตั้งใจไว้ก็แล้วกันว่า จะไปนิพพาน
เวลานั้นเธอก็ตั้งใจคิดว่า ถ้าตายเมื่อไร ไปนิพพานเมื่อนั้น เพียงเท่านี้ ก็ปรากฏว่า ในเวลานั้น ภาพพระพุทธรูปที่เห็นเป็นพระพุทธชินราช เป็นปูนอยู่
เวลาที่เธอภาวนา และคิดอย่างนี้ ใจก็จับ นึกถึงภาพพระพุทธชินราชไปด้วย เป็นอันว่า พระพุทธชินราชองค์นั้นค่อย ๆ มีเนื้อปรากฏขึ้น
เหมือนกับคนธรรมดา แต่ว่าเป็นพระที่สวยมาก ผิวพรรณผ่องใส จีวรก็สวย รัศมีกายก็สวย ลุกขึ้นจากแท่น แล้วบอกกับเธอว่า ให้ออกมาจากอก ตามความรู้สึกของเธอว่า
ออกไปจากอก
เมื่ออกมันแหวกขึ้น ออกไป พอไปยืนข้าง ๆ ท่าน ท่านก็บอกว่า ร่างกายเดิมมันนั่งตรงนี้นะ ร่างกายที่มีเนื้อ มีหนังที่เราคิดว่า ไม่ช้ามันจะตาย
มันนั่งตรงนั้น เวลาที่เราออกมาแล้วมายืนตรงนี้ ร่างกายมีสภาพเหมือนร่างกายตาย ต่อไปนี้ ร่างกายมันจะเป็นอย่างไรก็เป็นเรื่องของร่างกาย
เราไปเที่ยวกันดีกว่า ดีกว่ามานั่งเฉย ๆ ในที่นี้ จุไร ก็กราบท่าน บอกว่า ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าจะไปทางไหน จุไรไปด้วยเจ้าค่ะ ก็เป็นอันว่า
พระท่านก็ค่อย ๆ พาลอยขึ้นไปอย่างช้า ๆ (คำว่า ช้า ๆ ก็ใช้เวลาไม่ถึง ๒ นาที ถ้าคำว่า ไปเร็ว ๆ พอนึกปั๊บ ก็ถึงปุ๊บ) ค่อย ๆ ลอยขึ้นไปบนอากาศ
เข้าไปใกล้ดวงจันทร์เข้าไปทุกที ๆ ผลที่สุด ก็ถึงดวงจันทร์ จุไรเธอก็สงสัยว่า พระท่านจะพามาดวงจันทร์ทำไม ดวงจันทร์นี่มันของเก่าเต็มที่แล้ว
เวลานี้ใคร ๆ เขาก็มากันได้ ฝรั่งมาตั้งสถานที่ต่าง ๆ มาเที่ยวกัน เป็นอันว่า ฝรั่งที่มาเที่ยวกันก่อน เขาถ่ายอุจจาระ
ปัสสาวะไว้ที่ดวงจันทร์กันบ้างหรือเปล่า ก็ไม่ทราบ
ก็คิดว่า มันเป็นของเก่า แต่ว่าไม่กล้าฝืน พระต้องเป็นพระ เพราะเธอมีความเคารพ ในที่สุด พระท่านก็พาลงไปหยุดที่พื้นผิวของดวงจันทร์
ท่านถามจุไรว่า หลานรัก ดวงจันทร์นี่มีอะไรแปลกประหลาดบ้างไหม
จุไรเธอก็ดูไปรอบ ๆ เธอก็บอกว่า ตามปกติที่มาดวงจันทร์ ก็ไม่เคยไปเที่ยวครบบริเวณของดวงจันทร์ ไปเฉพาะจุด
แต่ว่าสำหรับสถานที่นี้ไม่เคยมา
ท่านก็บอกว่า ใช่ ที่ตรงนี้ หลานไม่เคยมาจริง ขอหลานจุไรตามหลวงปู่มา
ท่านใช้ศัพท์ว่า หลวงปู่ เหมือนกัน จุไรก็เดินตามท่านไปประเดี๋ยวเดียว การเดิน เป็นการเดินผิดปกติ คือ เท้าไม่ถึงพื้น รู้สึกว่า เดินช้า ๆ
แต่มันไปเร็ว ก็ไปหยุดอยู่ที่จุดหนึ่ง ปรากฏว่า ในสถานที่นั้น มีอาคารย่อม ๆ แต่ความจริง ถ้าคิดตามของโลกมนุษย์มันก็ไม่ย่อม
มีความกว้างประมาณ ๑๐ เมตร มีความยาวประมาณ ๑๗ เมตร และมีความสูงประมาณ ๗ เมตร และก็มีเสาอะไรต่ออะไรต่อที่ยอดอีกเยอะแยะ อีกหลายเสา
และก็ไปดูอาคารหลังนั้น มันไม่มีคนเลย มันมีแต่เครื่องจักรกล ที่ไม่รู้เรื่องจริง ๆ แถมมีลูกตา คำว่ามีลูกตา คือ มีกล้อง มีกล้องส่องไปข้างหน้า
แล้วก็มีจออยู่ข้างหลังแต่ละกล้อง ๆ ก็มีจอทั้งหมด เธอก็ไปดู จอเขาเขียนว่า ที่นั่น ที่นี่ ที่นี่ ที่โน่น ก็รวมความว่า
อาคารหลังนี้ เป็นลูกตาดู สำหรับดูมนุษย์โลกหรือโลกชมพู ดูทั้งตะวันออกกลาง ตะวันออกไกล เอเชีย ดูหมด ภาพเห็นชัดเจนแจ่มใสมาก แต่เธอก็แปลกใจว่า ไม่มีคน
แล้วก็ทำไว้ทำไม ทำไว้ให้ใครดู
จึงได้กราบทูลถามองค์สมเด็จพระบรมครูว่า อาคารหลังนี้ เขาเรียกว่าอะไรเจ้าค่ะ ท่านก็บอกชัดเจนแจ่มใสหมด อธิบาย
เธอก็เข้าใจ ในที่สุด เธอก็มาดูภาพที่จอ เห็นชัดเจนแจ่มใส การเคลื่อนไหวทั้งหมดก็เป็นอันว่า รู้การเคลื่อนไหวของโลก ทั้งโลก ก็แปลกใจ แต่เพียงว่า
ไม่มีคน แล้วเขาจะให้ใครดู
ก็ถามพระท่านว่า เขาทำไว้ทำไม
พระท่านก็บอกว่า ที่นี้คนทำท่านไม่บอก ว่า จะเป็นคนในโลกชมพูไปทำ หรือชาวโลกพระจันทร์ทำ ท่านไม่บอก
ท่านบอกว่า กล้องอยู่ตรงนี้จออยู่ตรงนี้ แต่ทว่ายังมีจออีกจอหนึ่ง ซึ่งอยู่ไกลไปจากนี้มาก คือว่า ไกลจากนี้เยอะ
จะมีเจ้าหน้าที่คอยดูอยู่
จุไรเธอจึงถามท่านว่า แล้วมันจะไปได้อย่างไร เพราะมันไกลแสนไกล
จุไรถามพระท่านบอกว่า คนที่ดูจอที่สองต่อไป หรือต้นจอ นั่นเขาอยู่โลกนี้หรือโลกอื่น
ท่านก็ยิ้ม ท่านบอกว่า เรื่องนี้ ไม่ใช่หน้าที่ของเธอที่จะรู้ เป็นแต่เพียงพามาให้ดูว่า
ความศิวิไลซ์ในด้านปัญญาของมนุษย์ไม่ใช่เรื่องเล็ก
ขนาดโลกพระจันทร์มายังโลกชมพู เป็นของไม่ยาก สำหรับการดู และเวลานี้ การไปการมา ของโลกมนุษย์ และโลกพระจันทร์ ก็เป็นของไม่หนัก ฝรั่งเขามาได้แบบสบาย
ๆ ท่านก็ให้ดูภาพข้าง ๆ จอ ซึ่งเป็นภาพเล็ก ๆ จะว่าเป็นภาพถ่าย ก็ไม่เชิง เธอก็ดูแล้วเห็นว่า เอ๊
คนโลกพระจันทร์นี่ เขาจมูกโด่ง ๆ เหมือนกันนะ เหมือนกับ
ชาวยุโรป ชาวอเมริกา ในโลกชมพู
ก็ถามท่านว่า คนที่ทำพวกนี่มีจมูกโด่ง ๆ ก็อยากจะทราบว่า เขาเป็นฝรั่งใช่ไหม
ท่านบอกว่า ที่โลกพระจันทร์เขาไม่เรียกว่า ฝรั่ง ที่โลกพระจันทร์นี้ เขาก็เรียกกันตามธรรมดา ๆ ว่า คน ท่านก็ยิ้ม ๆ
แล้วก็ถามท่านว่า อานุภาพของอาคารหลังนี้ ตาต่าง ๆ มีอานุภาพประเภทใดบ้าง
ท่านก็บอกว่า เฉพาะอานุภาพของสถานี สถานีนี้ไม่มีอะไรอย่างอื่น นอกจากดู อย่างเดียว เป็นกล้องส่งรายงานไปให้กับต้นทางว่า
อะไรจะเกิดที่ไหนบ้าง มุมไหนของโลกชมพู ใครจะทำอะไร มีการเคลื่อนไหวแบบไหน และภาพที่ปรากฏก็มีการบันทึกภาพไว้ด้วย
นั่นก็หมายความว่า จุไรก็เข้าใจ เพราะที่บ้านเธอมี วิดีโอเทป ก็คล้าย ๆ กับวิดีโอเทป แต่ความจริงอาจจะไม่ใช่ นักวิทยาศาสตร์เขาเก่ง
เธอก็มองต่อไปถามพระท่านบอกว่า อานุภาพแห่งการใช้อาวุธมีไหม
ท่านบอกว่า สถานีนี้ไม่มี เพราะว่า สถานีนี้ มีความต้องการอย่างเดียวคือการเคลื่อนไหว
แล้วท่านก็ชี้ให้ดูไกล ๆ ออกไปในอากาศ ก็จะมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ลอยไปตามกระแสของโลก ลอยเร็วมาก
ก็ถามท่านว่า นั่นอะไร
ท่านก็บอกว่า สิ่งสภาพใหญ่มีทางเกะกะนิดหน่อย อันนี้เป็น จรวด มีความเร็วสูง แต่อันนั้นเป็น ดาวเทียม
ท่าทางเก้งก้างมาก ความจริง สภาพของจรวดก็ดี สภาพของดาวเทียมก็ดี รู้สึกว่า มีเยอะแยะ มีสภาพแตกต่างกัน
ก็ถามท่านว่า จรวดก็ดี ดาวเทียมก็ดี เป็นของใคร
พระท่านก็ตอบว่า เป็นชาวโลกชมพู โลกที่หนูอยู่
แล้วเธอก็ถามท่านว่า ชาวโลกชมพู จะมีสิทธิ์มาจับจองสถานที่แห่งนี้ ในโลกพระจันทร์ เป็นที่อยู่ได้ไหม
พระท่านก็ยิ้ม ท่านก็บอกว่า นั่นเป็นความสามารถของนักวิทยาศาสตร์
หลังจากนั้นท่านก็บอกว่า ประเดี๋ยวก่อนนะ เราหยุดกันตรงนี้ก่อน มาสังเกตความวิจิตรพิสดารของเครื่องประดับ ในการสร้างอาคารหลังนี้ จะดูซิว่า
มันเหมือนอะไรในโลกมนุษย์
จุไรก็เข้าไปดูมันก็มีเหล็ก มีอะไรต่ออะไร เหมือนกับที่ข้างบ้านเขาทำกัน นั่นหมายความว่า เขาไม่ได้ทำจรวด ทำอาคารด้วยเหล็ก แต่ว่าทุกสิ่งทุกอย่าง
มันก็เป็นของแข็งคล้ายคลึงกัน และไปดูจอ ก็คล้าย ๆ จอโทรทัศน์ที่บ้าน แต่ว่าไม่เหมือนจริง ๆ มันมีสภาพคล้ายคลึงกัน
ก็กราบเรียนท่านว่า อันนี้มันเหมือนกับโลกที่อยู่จริง ๆ
ท่านก็บอกว่า ใช่ ที่ไหนมีคน ที่นั่นความสามารถย่อมมีเสมอกัน
แต่ชาวโลกพระจันทร์จริง ๆ อาจจะมีความสามารถมากกว่าโลกชมพูก็ได้ แต่ว่าถ้าเราถือว่า ชาวโลกพระจันทร์มีความสามารถยิ่งกว่าชาวโลกชมพู ก็ไม่แน่นัก
ถ้าคิดอย่างนี้ มันอาจจะเป็นความโง่ของเราก็ได้ เพราะชาวโลกชมพู ถ้าไม่เก่งจริง ก็ไม่สามารถมาโลกพระจันทร์ได้ ก็รวมความว่า
วันนี้ก็อยู่กันแค่สถานีแรก เพราะว่ายังเคลื่อนย้ายไปไม่ไหว เวลามันจะหมด
สวัสดี
ll กลับสู่สารบัญ
4
จุไรท่องดวงจันทร์ (ตอนที่ ๒)
ท่านผู้อ่านทั้งหลาย เรื่องราวต่าง ๆ ของจุไร ขอได้โปรดทราบว่าเป็นนิทาน อย่าถือว่า เป็นเรื่องจริงจัง ก็มาคุยกันต่อไป ในเมื่อจุไรไปกับพระแล้ว
พระท่านก็แนะนำให้รู้จักสถานีหมายถึงว่า กล้องส่องทางไกล ส่องมายังมนุษยโลก แต่ว่าจุไรเองก็ยังไม่ทราบว่า เป็นมนุษย์ชาวโลกชมพูทำ
หรือว่าเป็นมนุษย์ในโลกพระจันทร์ทำ
เธอก็มารำพึงในใจว่า นี่เรามาคนเดียว พระท่านก็นำมา และก็ไม่ได้ชวนใครมาด้วย ถ้ารู้ตัวอยู่ก่อน ก็จะชวนคุณแม่มาด้วย
แต่ว่ามองดูคุณแม่ เห็นว่านั่งสงบ มีอารมณ์สงัด มองดูไปอีกคนหนึ่ง คือ คุณป้าน้อย นามสกุล กานดา (สำหรับชื่อนี่ ท่านผู้ฟัง ท่านผู้อ่านได้โปรดทราบว่า
ไม่มีเจตนาจะนำใคร มาเป็นตัวเรื่องในนิทาน ด้วยเป็น ชื่อที่ตั้งขึ้น และนามสกุลที่ตั้งขึ้น ถ้าบังเอิญไปชนกับชื่อของใคร นามสกุลของใครเข้า
ก็ขอได้โปรดอภัยด้วย ไม่มีเจตนาเป็นอย่างอื่น)
ก็รวมความว่า มองเห็นป้าน้อย ก็คิดในใจว่า ถ้าบารมีของพระมีความเข้มข้น และไม่เกินวิสัยที่จะสงเคราะห์ได้ ขอให้ป้าน้อยขึ้นมาที่นี่ เพียงคิดเท่านี้
ก็ปรากฏว่ามีแสงสว่างเป็นสาย ๖ สีพุ่งลงมาที่ป้าน้อย แล้วป้าน้อยก็ลอยขึ้นไปตามแสง ก็เป็นอันว่า ป้าน้อย นามสกุล กานดา จุไรก็พบ ได้เป็นเพื่อนคุยกัน
ในเมื่อพระท่านกำลังจะพาไปสถานที่อื่น
จุไรก็ถามป้าน้อยว่า ป้าเคยมาที่นี่ไหม
ป้าน้อยก็บอกว่า ป้าไม่เคยมาจ้ะ
จุไรก็ชี้ให้ดูว่า