หนังสืออ่านเล่น เล่มที่ 9 โดย.. ส. สังข์สุวรรณ
webmaster - 22/6/11 at 14:08

หนังสืออ่านเล่น
เล่มที่ ๙
(ฉบับอินเทอร์เน็ต : จัดพิมพ์โดย..พระเจ้าหน้าที่สำนักพิมพ์เวฬุวัน)
เนื้อหาของสารบัญ เล่มที่ ๙
1. คำปรารภ
2. จุไรกับป้าน้อย
3. พระปัจเจกพุทธเจ้า
4. หลวงพ่อปาน
5. จุไรกับคุณป้าน้อย
6. จุไรชมหอพักหญิง
7. จุไรชมหอพักหญิง (ต่อ)
8. จุไรชมบริเวณ
9. จุไรชมบริเวณ (ต่อ)
1
คำปรารภ เล่มที่ ๙
หนังสืออ่านเล่น ก็คงต้องการให้ท่านอ่านเล่นแก้เหงา บางเรื่องก็เป็นเรื่องจริง บางเรื่องก็เป็นนิทาน ขอให้ทุกท่านอ่านแบบนิทานนั้นดีกว่า ถ้าเรื่องนั้นเกี่ยวกับเรื่องสร้างวัด เรื่องนั้นเป็นเรื่องจริง ที่ต้องเขียนเป็นคำถาม คำตอบ และมีตัวผู้ถาม ผู้ตอบ
ก็เพราะมีความรู้สึกว่า ถ้าเล่าเรื่องไปเรื่อย ๆ ตามความเป็นจริง ผู้อ่านจะเหงาด้วยเรื่องราวยืดยาวมาก จึงยกตัวบุคคลในนิทานขึ้นและก็มีคำถามคำตอบ
เพื่อกันท่านผู้อ่านเหงา
เรื่องจริงที่เป็นนิทาน
เรื่องนี้ไม่มีในเล่มนี้ แต่ทว่า พ.อ.สถาพร พงษ์พิทักษ์ เธอเล่าให้ฟัง เธอเล่าว่า มีท่านผู้บังคับกองพันท่านหนึ่ง ท่านอ้วนมาก
วันหนึ่งท่านไปตรวจความเรียบร้อยของทหาร ท่านอาจจะไม่ได้แต่งเครื่องแบบไป ทหารใหม่จำท่านไม่ได้ ท่านอาจจะฉุนเล็กน้อย ท่านหันไปถามทหารว่า ฉันเป็นอะไร
ท่านชี้ไปที่พุงของท่าน ท่านเป็นคนอ้วนมาก
ทหารเธอตกใจ ไม่ทราบว่าท่านถามประสงค์อะไร ท่านก็ย้ำว่า ฉันเป็นอะไร ท่านชี้ไปที่พุงของท่านตามเดิม ทหารคนนั้นตอบว่า เป็นป้างครับ คำว่า ป้าง
หมายถึงโรคป้าง ใครเป็นแล้วท้องจะใหญ่มาก ท่านถามอีกว่า กูเป็นอะไรตอนนี้ ชักยั๊วะ ทหารตอบว่าเป็นป้างครับ ท่านถามต่อในคำเดิม
ท่านผู้บังคับหมวดอยู่หลังทหาร
พยายามบอกทหารให้ทราบว่า ท่านนั้นเป็นผู้บังคับกองพัน แต่บอกว่า ผู้บังคับกองพัน ทหารพอได้ ฟังว่า ผู้บังคับกองพัน เธอจึงตอบว่า
ท่านผู้บังคับกองพัน เป็นป้างครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง แต่ต้องเล่าสู่กันฟังแบบนิทาน เพราะท่านผู้เป็นป้างท่านทราบว่า
เอาเรื่องของท่านมาเล่าสู่กันฟัง
และนำชื่อท่านมาเล่าสู่กันฟัง ท่านอาจจะโกรธก็ได้ เป็นภัยแด่ผู้เล่าให้ฟัง ศัพท์นี้สมัยหนึ่งท่านเรียกว่า โอษฐ์ภัย คือภัยเกิดจากปาก
เรื่องของนิทานในหนังสือนี้ก็เช่นเดียวกัน ที่จริงก็มี ไม่จริงก็มี ขอให้อ่านแบบนิทานก็แล้วกัน จะได้ไม่กลุ้ม
ส.สังข์สุวรรณ
๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๓๒
ll กลับสู่สารบัญ
2
จุไรกับป้าน้อย
ท่านผู้อ่านทั้งหลาย ต่อไปนี้ก็ขอบรรดาท่านทั้งหลายโปรดพบกับ จุไร เพราะว่าจุไรกับป้าน้อยยังคุยกันไม่เสร็จ คงจะคุยกันนาน
เพราะว่าเรื่องสร้างวัดนี่นานมาก จะได้ทราบความเป็นมาของวัด แต่ว่าจุไรจะพูดว่าอย่างไรนั้น ก็อ่านต่อไปก็แล้วกัน
เป็นอันว่า วันนี้ วันอาทิตย์ที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๓๒ จุไรมีโอกาสมาพบกับคุณป้าน้อยที่วิหาร ๑๐๐ เมตร เพราะว่าเวลาตอนบ่ายหลังเที่ยงเศษ ๆ
คุณป้าน้อยก็ไปสอนกรรมฐาน จุไรก็มีโอกาสไปซักซ้อมกรรมฐานกับคุณป้าน้อย เมื่อซักซ้อมกันเสร็จ ทุกคนกลับ แต่ว่าจุไรเธอก็ยังไม่กลับ
ชวนคุณป้าน้อยคุยต่อไป ถ้อยคำที่เธอคุย เธอก็ถามคุณป้าน้อยว่า คุณป้าเจ้าคะ ทราบว่า วันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๒
หลวงปู่ท่านตั้งพระเป็นกรรมการจัดการเรื่องเงินของสงฆ์ เรื่องเงินของโรงเรียน แล้วก็ตั้ง ไวยาวัจกรร่วมกับพระ มีท่าน พล.ต.ท.สมศักดิ์ สืบสงวน
เป็นประธานไวยาวัจกร เป็นต้น
หนูอยากจะทราบว่า เมื่อแรกเริ่มเดิมที หลวงปู่ท่านก็ไม่เคยตั้งไวยาวัจกร คราวนี้ทำไมจึงตั้ง
และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลวงปู่เองก็ยังมีชีวิตอยู่ แต่ทำไมจึงต้องตั้งพระควบคุมทรัพย์สินของสงฆ์
คุณป้าน้อยฟังแล้วก็ยิ้ม คุณป้าก็บอกว่า เดี๋ยวก่อนหลาน ให้ป้านึกสักนิดหนึ่ง คำถามที่ถามว่า ป้าก็ไม่เคยคิดและเมื่อคืนวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๓๒
ป้าก็ไม่ได้เข้าประชุม เพราะว่าไม่อยู่ในฐานะไวยาวัจกรที่แต่งตั้ง แต่ว่าหลวงปู่ท่านเคยบอกไว้เสมอว่า
วัดนี้ไม่มีการแต่งตั้งไวยาวัจกร ทั้งนี้ก็เพราะว่า คนทุกคนที่มา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากกรุงเทพฯ เป็นส่วนใหญ่
และต่างจังหวัดก็มีมาก มาถึงก็ช่วยการช่วยงานกันทุกอย่าง ไม่มีใครรังเกียจใคร ไม่มีใครรอใคร ไม่มีใครต้องรับคำสั่งว่า เธอจงทำนั่น เธอจงทำนี่
เมื่อทราบว่างานมีอะไรบ้าง ถนัดทางไหน ต่างคนต่างช่วยกันทำ และหนูจงพยายามสังเกตดูว่า งานทุกอย่าง พอเริ่มงานปั๊บ
คนแต่ละจังหวัด หลาย ๆ จังหวัด เข้ามา และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส่วนใหญ่ก็ที่กรุงเทพฯ โดยมากท่านผู้มา จะเป็นผู้หลักผู้ใหญ่
เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ชั้นพิเศษก็มาก เป็นนายทหาร เป็นนายตำรวจก็เยอะ รวมความว่า ทุกคนไม่ถือยศฐาบรรดาศักดิ์
ทำงานรวมกันได้ ต่างคนต่างช่วยกัน พองานเลิก ต่างคน ต่างช่วยกันเก็บ ที่เป็นอย่างนี้นะ หลวงปู่ท่านบอกว่า นี่เป็น ไวยาวัจกร เต็ม ๑๐๐
เปอร์เซ็นต์
คำว่า ไวยาวัจกร ก็หมายความว่า การช่วยเหลือการงานเรื่องบุญกุศล แต่ว่าเท่าที่ท่านบอก ป้าฟังท่านพูดเมื่อตอนเช้า
ท่านบอกว่าการที่ตั้งไวยาวัจกรคราวนี้ ก็เกี่ยวกับทรัพย์สินของวัดโดยตรง และทรัพย์สินเกี่ยวกับโรงเรียน ที่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย
ช่วยกันเข้ามาเป็นทรัพย์สินที่มีค่าสูง
คำว่า มีค่าสูง หมายถึง มีค่าตามกำลังใจ ทุกคนให้มาด้วยการตัดสินใจทำบุญ ราคาของจะมาก ราคาของจะน้อย ไม่สำคัญ
สำคัญที่ค่าของน้ำใจ มีความสำคัญยิ่งกว่าอะไรทั้งหม ฉะนั้น จำเป็นต้องรักษา และต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามใจของบุคคลผู้ให้เข้ามา
เพราะท่านให้เข้ามาด้วยมีเจตนาดี มีจิตเป็นมหากุศล
จุไรก็ถามว่า แล้วกรรมการฝ่ายพระ กับกรรมการฝ่ายไวยาวัจกร ทำหน้าที่อะไร
คุณป้าน้อยก็บอกว่า ตามที่ป้าฟังมา ป้าเองก็ไม่ได้เข้าประชุม ฟังว่าท่านจัดเรื่องทรัพย์สินต่าง ๆ เป็นแผนก อันนี้แผนกของสงฆ์
นี่เป็นแผนกค่าภัตตาหารของสงฆ์ นี่บำรุงการก่อสร้างบำรุงวัด
ส่วนนี้เป็นค่ากระแสไฟฟ้าประจำเดือน ส่วนนี้เป็นส่วนของโรงเรียน ส่วนนี้เป็นการจ่ายเพื่อเด็กนักเรียน สงเคราะห์ค่าอาหารบ้าง ค่าอาหารเป็นหลักใหญ่
แล้วก็เสื้อผ้า อุปกรณ์การศึกษาทุกอย่าง รวมความว่า ทุกอย่างจัดไว้เรียบร้อยหมด
จุไรก็ถามว่า สมัยก่อนทำไมหลวงปู่ไม่จัดล่ะ ทำไมมาจัดคราวนี้ล่ะ
คุณป้าก็ตอบว่า สมัยก่อนท่านบอกว่า ท่านอยากจะจัดมานาน และเตรียมการมานาน แต่ทุกอย่างไม่พร้อมถึงเวลานี้ ก็ยังไม่พร้อมสมบูรณ์แบบ
แต่ก็จำเป็นต้องจัด
หนูจุไรก็ถามว่า คุณป้าเจ้าคะในเมื่อยังไม่พร้อม สมัยก่อนยังไม่พร้อม หลวงปู่ก็ยังไม่จัด แต่ว่าเวลานี้ยังไม่พร้อม
หลวงปู่ทำไมจึงจัด
คุณป้าก็ตอบว่า ป้าฟังมา เพราะป้าเองก็เพิ่งมาเหมือนกัน มาจากกรุงเทพฯ แต่มาก็ได้ฟังจากหลวงปู่บอกว่า ในวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๓๒
คือก่อนหน้านี้ ๒-๓ วัน ตอนเย็น ประมาณ ๔ โมงครึ่งเศษ ๆ หลวงปู่ท่านเล่าให้ฟัง ตามธรรมดาท่านป่วยระยะเวลาบ่าย ๓ โมงครึ่งเศษ ๆ หรือบางที
อาการโรคของท่านเกิดขึ้นเวลาบ่าย ๓ โมง ๒๗ นาที ระยะนี้ อาการที่มันเป็นคือว่า เสมหะดันขึ้นมา ท้องอืด เสียดท้อง
และก็อาเจียนเป็นเสมหะ การอาเจียนเป็นเสมหะนี่ไม่ใช่เล็กน้อย ตอนเย็นเวลานั้น ต้องประมาณอย่างน้อยก็ ครึ่งกระโถน หรือค่อนกระโถน เหน็ดเหนื่อยมาก
ก็มีพระอนันต์ ที่อยู่วิหาร ๑๐๐ เมตร กับ พรนุช อาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนพระสุธรรมยานเถระวิทยา
๒ คนนี้เป็นผู้ปฏิบัติประจำทุกเย็น ถึงเวลาตอนเย็นเมื่อท่านกลับพระอนันต์ กับพรนุชก็ติดตาม พระอนันต์ติดตามไปทุกแห่ง เมื่อถึงที่พักแล้ว
อันดับแรกท่านพักหายเหนื่อย การรับแขกท่านก็เหนื่อย บางวันท่านก็บอกว่า วันนี้เหนื่อยมาก อาการเสียดท้องตลอดเวลา เสียดท้อง เสียดถึงหน้าอก
แต่ว่าอยู่ต่อหน้าแขก หน้าตาท่านแช่มชื่น บางครั้งแขกก็ถามว่า ตามข่าวเขาบอกว่าหลวงปู่ป่วย หลวงพ่อป่วย แล้วทำไมดูท่าทางแช่มชื่นมาก
ท่านก็ตอบเป็นทีเล่นทีจริงบอกว่า หน้าตาของพระหลอกชาวบ้าน และชาวบ้านเขาถามว่า หลอกอย่างไร
ท่านก็บอกว่า ทุกขเวทนามันมี เวลานี้ที่พูดกัน ทุกขเวทนาก็หนักมาก เสียดท้อง ร้อนในอก ร้อนในท้อง เสียดถึงหน้าอก
แต่ว่าที่มีหน้าตาแช่มชื่นได้ เพราะอาศัยการอดทน อดกลั้น เพราะเห็นใจทุกคนที่มาด้วยศรัทธา ทุกคนนี่มานี่ ไม่ได้เงิน ไม่ได้ทอง ไม่ได้ของแจก
ทุกคนตั้งใจมาทำบุญ เสียสละเวลาการงานจากบ้าน ผลที่ได้มีอยู่ เสียสละมาและประการที่สอง มาก็เสียค่าพาหนะ เสียค่าอาหาร
รวมความว่า ทุกคนที่มา มาด้วยความเสียสละ ด้วยศรัทธาแท้ ท่านก็จำจะต้องรับด้วยความเต็มใจ สำหรับหน้าตาแช่มชื่น หมายความว่า ท่านจะอดทนไหว
ท่านก็อดทนต่อไป เมื่อลงยิ้มไม่ไหว ก็ลงรับแขกไม่ได้เมื่อนั้น
จุไรก็บอกว่า โอ้โฮ หลวงปู่ทนจริงนะ และทำไมหลวงปู่ไม่ให้พระองค์อื่นรับแขกบ้างล่ะ แทนท่าน พระหนุ่ม ๆ ก็มีถมไป
คุณป้าก็บอกว่า พระหนุ่ม ๆ ท่านมี พระทุกองค์ท่านเต็มใจช่วยหลวงปู่ แต่ว่างานทุกอย่างที่ท่านทำกันได้ ท่านก็ทำกันหมด
หลวงปู่ไม่ต้องทำแม้แต่การบริหารภายในก็ดี และก็การคุมงานก่อสร้างก็ดี
ทุกอย่างนะ พระช่วยกันทำเป็นแผนก แต่ทว่าสิ่งที่พระตั้งใจจะช่วย แต่ช่วยไม่ได้นั่นคือ การรับแขก หลวงปู่ท่านเคยทดลองให้พระลงแทน
แต่คนไม่เห็นด้วย ไม่ศรัทธา แม้แต่การถวายสังฆทาน อย่างที่ซอยสายลม หลวงปู่ท่านป่วย ท่านให้พระลงไปแทน
ท่านก็ประกาศบอกไปว่า การถวายสังฆทานน่ะนะ ถวายกับพระองค์ไหนก็มีอานิสงส์เหมือนกัน เพราะสังฆทานไม่ใช่ส่วนบุคคล
พระผู้รับเป็นเพียงผู้แทนสงฆ์ แต่ก็ปรากฏว่า บรรดาญาติโยมทั้งหมด ท่านพุทธบริษัท นั่งกันเฉยเต็มห้องนับเป็นร้อย ไม่ยอมถวายพระ
แต่เมื่อหลวงปู่ลงมาจากชั้นบน จะมาสอนกรรมฐาน เพียงเท่านั้น ทุกคนจึงถวายกัน ก็เป็นอันว่า งานรับแขกให้แทนกันไม่ได้
แต่ต่อมา จุไรก็ถามคุณป้าน้อยต่อไปว่า เป็นอันว่า การตั้งกรรมการพระ และตั้งไวยาวัจกรก็ขอผ่านไป แต่อยากจะทราบว่าที่หลวงปู่บอกว่า
ทุกคนที่มาช่วยงานในวัดเป็น ไวยาวัจกร
อย่างนี้ไม่เป็นการแต่งตั้ง จะถูกแบบ ถูกแผนหรือ คุณป้าน้อยก็บอกว่า คำว่า ไวยาวัจกร แปลว่า ช่วยเหลือการงานของสงฆ์ และช่วยเหลือการงานที่เขาทำบุญกัน
และทุกคนที่มา หลวงปู่ท่านก็บอกว่า ทุกคนเป็นไวยาวัจกรเต็มขั้น เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะว่าด้วยศรัทธาแท้
สำหรับคณะที่ท่านตั้ง ท่านต้องการให้เป็นตัวบุคคลไว้ เวลาที่ท่านป่วยมากบริหารงานไม่ไหว หรือแก่มากลงไปหรือตายฉับพลัน จะได้เป็นที่ปรึกษากันกับพระ
ช่วยกันจัดการให้เป็นไปตามคำสั่ง
จุไรก็ถามไปบอกว่า หลวงปู่ท่านมั่นใจไหมว่า ท่านจะอยู่กี่ปี
คุณป้าน้อยก็บอกว่า ]ท่านบอกว่า คำพยากรณ์ต่างๆ บอกว่า อยู่หลายปี แต่ว่าตัวท่านเองท่านไม่เคยไว้ใจตัวเอง
ท่านเคยคิดอยู่เสมอว่า อาจจะตายวันนี้ อย่างวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๓๒ นี่เอง วานซืนนี้
ท่านบอกว่า หลังจาก ๔ โมงครึ่งไปแล้ว พอพระอนันต์ กับพรนุช คืนคงดี กลับไปที่ ตามปกติเมื่อให้ยาท่านเสร็จ ท่านสรงน้ำเสร็จ ให้ยาเสร็จ
หมายความว่าทั้งสองท่านนี้ รู้เรื่องการป่วยไข้ไม่สบายของหลวงปู่อย่างดีมาก เพราะปฏิบัติมาตลอด เป็นเจ้าหน้าที่ให้ยาแทนหมอ อย่างพรนุชนี่
หมอจรูญสั่งจัดยาอะไรก็ตาม
ก็ให้พรนุชจัดการถวายหลวงปู่ตามเวลา สำหรับพระอนันต์ก็เช่นเดียวกัน ถึงเวลาวาระกลับมาจากรับแขก ท่านก็ต้องรับ คอยระมัดระวัง เกรงจะล้ม
จะเดินไปไหนก็กางร่มให้ และก็เวลาเข้าที่ ก็เข้ามาเป็นเพื่อนที่พัก ให้การทายาขาบ้าง ทุกอย่าง เท่าที่มีความจำเป็น ช่วยทุกอย่าง สองคน พระคน ฆราวาสคน
จุไรก็ถามว่า แล้วพระอื่น ฆราวาสอื่นล่ะ
คุณป้าก็บอกว่า หลวงปู่ท่านบอกว่า ท่านไม่อยากจะกวนใคร เพราะเป็นเรื่องเล็กน้อย ยังไม่มีความจำเป็น พระทุกองค์ และฆราวาสทุกคนเต็มใจช่วยทุกอย่าง
และจุไรก็ถามว่า แล้วคุณป้าล่ะ อยากจะช่วยหลวงปู่ไหม
คุณป้าก็บอกว่า คุณป้าเองอยากจะช่วยใจจะขาด แต่โอกาสที่จะเข้าไปทำไม่มี เพราะว่า ท่านบอกว่า ที่เล็ก ๆ ยังป่วยไม่มาก ยังไม่มีความจำเป็น
จุไรก็ถามว่า วันที่ ๒๑ คุณป้ายังไม่ได้เล่าให้ฟังนะ พูดค้างไว้ เดี๋ยวพูดอย่างอื่นก็เลยไป
คุณป้าก็บอกว่า หนูก็ถามเรื่อยเปื่อยไปนี่ ป้าก็เฉื่อยเหมือนกัน เป็นอันว่า เมื่อวันที่ ๒๑ เวลา ๔ โมงครึ่งเศษ ๆ หลวงปู่ท่านบอกว่า ท่านนอนภาวนา
และก็กำลังพิจารณาว่า อะจีรัง วะตะยัง กาโย เป็นต้น ท่านนึกในใจ
ตามบาลีที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า อีกไม่นานนักหนอ ร่างกายนี้ก็จะมีวิญญาณออกจากร่างไปแล้ว ก็เป็นของที่ชาวบ้านเขาทอดทิ้ง คือ
ร่างกายมันไม่ดี เขาก็ทิ้ง มันเน่ามันเหม็น เหมือนกับท่อนไม้ที่ไร้ประโยชน์ ท่านก็พิจารณาร่างกายของท่านไปเรื่อย ๆ จิตก็เป็นสุข
เห็นว่า ไอ้นั่นมันก็ไม่ดี ไอ้นี่ก็ไม่ดี ไอ้นั่นก็จะพัง ไอ้นี่ก็จะพัง นั่นก็ร่อยหรอ นี่ก็ร่อยหรอ ก็เวลานั้นเองปรากฏว่า อาการตามนัด ปรากฏขึ้น
จุไรถามว่า หลวงปู่นัดกับใคร
ป้าน้อยก็บอกว่า ไม่ใช่หลวงปู่นัด เป็นแต่เพียงว่า เป็นการตกลงกันไว้ว่า สมัยก่อนโน้น เมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมาแล้ว ท่านมีอาการครั้งหนึ่ง
เหมือนจะตาย และก็ตายน้อยไปหลายชั่วโมง ต่อมากลับฟื้นขึ้นมา ท่านก็ตกลงกับท่านนายบัญชี ถามท่านนายบัญชีว่า ทำไมไม่ปล่อยให้ไปเลย
เพราะการไปเลยจะมีความสุขกว่ามีชีวิตอยู่ และการตายไปเลยคราวนั้น ไปเจอะสถานที่อยู่ มีความสุขสำราญ มีความสุขมาก ดีทุกอย่าง ไม่มีงาน ไม่มีการ
ไม่มีความหิว ไม่มีความกระหาย ไม่มีความลำบากทุกอย่าง ความหนักใจนิดหนึ่งก็ไม่มี ท่านก็เห็นว่า มันมีความสุขกว่ามีร่างกายเป็นมนุษย์
ท่านนายบัญชีก็บอกว่า ในเมื่อวาระยังมาไม่ถึง ใครก็จัดให้ตายไม่ได้ แต่ที่มันไปประเดี๋ยวเดียว มันเป็นเพราะ กฎของกรรม
มันริดรอนชั่วขณะหนึ่ง ใครก็ห้ามไม่ได้ กฎของกรรม
และหลวงปู่ก็เลยถามนายบัญชีว่า ถ้าจะตายจริง ๆ อาการมันจะเป็นอย่างไร
นายบัญชีท่านก็เปิดบัญชี ท่านก็บอกว่า มันอืดนิด เสียดหน่อย แล้วก็อาการไม่หนัก จิตใจจะเป็นสุข แล้วก็ไป การไปของจิต
หรือวิญญาณ เมื่อจิตวิญญาณออกจากร่างไป ประมาณหนึ่งชั่วโมงลมในร่างกายจึงดับสนิท ขณะที่ไปใหม่ ๆ จะมีความรู้สึกว่า ร่างกายยังไม่ดับ
ประสาทยังทำงานอยู่บ้าง แต่อ่อนระรวยเต็มที
แล้วจุไรจึงถามว่า วันที่ ๒๑ อาการเป็นอย่างไรเจ้าคะ
คุณป้าก็บอกว่า หลวงปู่ท่านบอกให้ฟัง อาการตามนัดปรากฏ นั่นหมายความว่า อาการที่จะตายปรากฏ นั่นก็คือว่า มีอาการอึดอัดนิดหน่อย ไม่ถึงขั้นเสียด แต่ว่า
มีอาการเหนื่อยมากหายใจถี่ขึ้นมา ระยะการหายใจ ลมหายใจไม่ยาว สั้น
คือ เคลื่อนขึ้นมา เคลื่อนขึ้นมา จนถึงขั้นไม่เต็มท้อง ลมหายใจไม่ถึงสะดือ กระชั้นเต็มที ปอดทำงานเร็วมาก และก็มีอาการเหนื่อย แต่เมื่อเหนื่อย
ท่านก็พิจารณาว่าอาการอย่างนี้ เป็นอาการดับของประสาท เมื่อรูปแตก นามก็ดับไม่เป็นไร ท่านว่าอย่างไร
ท่านบอกว่า ไม่เป็นไร รูปแตก นามดับเป็นของธรรมดา ในเมื่อมันเป็นอย่างนั้น เรามีบ้านเป็นที่อยู่ เราไปบ้านของเราก่อนดีกว่า
ถ้าร่างกายนี่มันเลิกหายใจเมื่อไร เราก็ไม่กลับ ถ้าร่างกายมันหายใจดีขึ้นเมื่อไร เราก็กลับใช้งานมันได้ เมื่อตัดสินใจอย่างนั้น
ก็ออกจากร่าง
ขณะที่ออกไปจากร่าง ก็เจอะท้าวมหาราช คือ ท้าวธตรฐ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักข์ ท้าวเวสสุวัณ และคณะท่านอินทกะมากมาย
พร้อมทั้งลุงทั้งสอง ท่านทั้งหมดก็ถามว่า จะไปไหน แล้วท่านก็บอกว่า ยังไปไม่ได้นะครับ ยังไม่ถึงเวลาจะไป หลวงปู่ก็ตอบว่า ถึงเวลาหรือไม่ถึงเวลา
มันไม่สำคัญ เวลานี้ร่างกายมีทุกขเวทนามาก ฉันจะหลบไปชั่วคราว
แต่จะไม่ไปเลย ฉันจะสังเกตการณ์ ถ้าร่างกายมันยังทรงตัวดี ใช้งานได้ ฉันก็กลับ ถ้าร่างกายมันดับ ฉันก็ไม่มา
ในที่สุดท่านทั้งหมดก็บอกว่ายังไม่ควรจะไป อยู่ตรงนี้ก่อน หลวงปู่ท่านบอกว่า ไม่อยู่แล้ว จะห้ามฉันอย่างไร ฉันก็ไม่อยู่ ท่านก็ไป ไปทีแรก ท่านบอกว่า
จะเลยไปให้สุดทาง แต่มานึกขึ้นมาได้ว่าพระจุฬามณีเจดีย์สถาน เป็นสถานที่นมัสการเป็นประจำ ควรจะเข้าไปที่นั่น
เมื่อเข้าไปที่นั่น ตามนิมิตในเวลานั้น ท่านก็บอกว่า พบพระพุทธเจ้างามสง่ามาก เด่นอยู่ท่ามกลางบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย
มีพระอรหันต์แวดล้อมนับจำนวนไม่ได้ มีเทวดา กับพรหมเยอะ เจอะญาติผู้ใหญ่ที่มีพระคุณอย่างยิ่ง ท่านมีคุณเยอะแยะ ก็เข้าไปกราบพระพุทธเจ้า และก็กราบทุกองค์
คำว่ากราบทุกองค์ ไม่ใช่กราบทีละองค์ กราบทีเดียวหมดทุกองค์ กราบพระพุทธเจ้าก่อน หันมากราบพระอรหันต์
นอกนั้นกราบท่านผู้มีคุณทั้งหมด นี่หลวงปู่ท่านเล่าให้ฟังนะ ท่านบอกว่า กราบเสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าก็ถามว่า เธอจะไปไหน หลวงปู่ท่านก็ตอบว่า
ร่างกายมันทนไม่ไหว มันทรงตัวไม่ได้ ก็มีความจำเป็นต้องละร่างกาย เพื่อประโยชน์สุขตามสมควร ตามกำลังที่พึงมีพึงได้
ท่านก็เลยบอกว่า ถ้าอย่างนั้นเธออยู่ตรงนี้ก่อน ยังไม่ควรจะไปไหน อาการทั้งหมดของร่างกาย ไม่เกินวิสัยของพระโมคคัลลาน์ และตามนิมิตท่านก็บอกว่า
สั่งพระโมคคัลลาน์ให้ลงมาช่วย พระโมคคัลลาน์ก็มายืนที่ตรงศีรษะ ประเดี๋ยวเดียว ปรากฏว่า ร่างกายหายใจยาวขึ้น ๆ ๆ
หายใจทั่วท้อง มีอาการดี ตอนนั้นได้ยินเสียงพระโมคคัลลาน์เรียก บอกว่า ท่านสหัมบดีพรหมกับพระอินทร์ ช่วยกัน ไปอยู่คนละข้าง ข้างขา ช่วยกันด้านขา
เวลาผ่านไปประมาณครึ่งชั่วโมง ก็เสียงพระท่านบอกว่า เธอจงกลับร่างกายเริ่มใช้งานได้แล้ว แต่ถึงแม้ยังไม่ปกติ ก็ไม่เป็นไร
จุไรจึงถามว่า คุณป้าเจ้าคะ หลวงปู่บอกหรือเปล่าว่า ขณะที่ไปที่พระจุฬามณี ไปพบพระใหญ่ท่าน เวลานั้นท่านคุยว่าอย่างไร
คุณป้าก็บอกว่า หลวงปู่ท่านบอก ท่านบอกว่า เวลาที่ท่านนั่งที่นั่น พระใหญ่ท่านไม่ได้คุยเรื่องอะไรทั้งหมด
ท่านพูดเรื่องงานของวัด
ท่านบอกว่า เธอยังไปไหนไม่ได้หรอก เรื่องการเงินการทองของวัดยังไม่เรียบร้อย ทำให้มันเรียบร้อยเสียก่อน เงินอะไรส่วนไหน จะหาทุนหารอนที่ไหน
หนึ่งค่ากระแสไฟฟ้าก็แพง ต้องหาทุนให้พอ เป็นทุนสำรอง อาหารขบฉันประจำวันของพระให้มีทุนสำรอง
และการช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียน ทุกอย่างให้ครบถ้วนบริบูรณ์เสียก่อนจึงจะไปได้ หลังจากนั้นแล้ว ท่านก็มีบัญชาให้กลับ พอท่านมีบัญชาให้กลับ
หลวงปู่บอกว่า พอถึงร่างกาย ก็ปรากฏว่า ร่างกายหายใจสบาย แต่ก็เพลียมาก ท่านก็มานั่งนึกคิดว่า
ขึ้นชื่อว่าชีวิต คือ ความเป็นอยู่ เป็นของที่ไม่เที่ยง วันนี้มีลมหายใจ พรุ่งนี้อาจไม่มีลมหายใจก็ได้ ตอนเช้ายังมีลมหายใจ
ตอนสายอาจหมดลมหายใจก็ได้ ฉะนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นสมบัติของสงฆ์ หรือว่าเป็นทุนรอนของโรงเรียน
ที่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนให้มา จำต้องทำให้เรียบร้อย ต้องมอบหมายการงานให้พระรู้ ให้ไวยาวัจกรรู้ และสั่งงานไว้ให้แน่นอนว่า
ทุกสิ่งทุกอย่างต้องปฏิบัติตามนี้ เมื่อฉันตายแล้ว ห้ามเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ห้ามเปลี่ยนแปลงยุทธ คือ วิธีการใช้ต่างๆ ทั้งหมด อะไรจะใช้ อะไร
ต้องเป็นไปตามนั้นทั้งหมดทุกอย่าง คือว่า เขียนไว้หมด โดยไม่ต้องคิดใหม่ เป็นแต่เพียงใช้สมองว่า
อันนี้ถึงเวลานี้ต้องใช้แล้ว และก็ต้องใช้ตามนั้น และทุกคนถ้าใครเปลี่ยนแปลง หรือดัดแปลงแก้ไขอันนี้ อีกหลายคน ๆ จะได้ค้านกันว่า
นั่นนอกเหนือจากคำสั่ง
จุไรก็ถามว่า ถ้าอย่างนั้น หลวงปู่ก็ทำไว้เสร็จเรียบร้อยทุกอย่าง
ป้าน้อยก็บอกว่า เสร็จเรียบร้อยทุกอย่างลูก ท่านรีบเขียน ท่านก็บ่นตัวเองว่า ท่านเขียนเอง ท่านก็อ่านไม่ออก ท่านก็ต้องนั่งเคาะ ๆ พิมพ์ดีด
เคาะไปก็ผิดบ้าง ขีดบ้าง ฆ่าบ้าง เยอะแยะ ต่อมาก็อาจารย์พรนุชคัดลอก
แล้วท่านก็บอกว่า มีจุดหนึ่ง ทุนมันยังไม่ครบ ยังไม่ครบตามพระใหญ่ท่านกำหนด ทั้งนี้ก็ ทุนการศึกษาของเด็กขั้นมหาวิทยาลัย
แต่ทุนนี้ต้องเป็นทุนสำรอง ต้องหามาสะสมเป็นทุนสำรอง ไม่ใช่ใช้หมด ไม่ใช้ต้น ใช้ผลของทุน ยังไม่ครบ แต่พระท่านบอกว่า ท่านพยายามช่วยหาให้ครบ
ก็เป็นอันว่า การที่หลวงปู่ท่านต้องตั้งพระเป็นกรรมการฝ่ายทรัพย์สิน และก็ตั้งคณะบุคคลเป็นไวยาวัจกร มี พล.ต.ท.สมศักดิ์
สืบสงวน เป็นประธานไวยาวัจกร ก็เรื่องก็มีอยู่ว่า ท่านไม่ไว้ใจในชีวิตของท่าน
จุไรก็ถามว่า ตามที่พูดเมื่อกี้นี้ บอกว่า คำพยากรณ์ที่บอกว่า จะอยู่นาน แล้วหลวงปู่จะตายก่อนได้อย่างไร
คุณป้าน้อยก็บอกว่า หลาน เรื่องของคำพยากรณ์ ก็เป็นเรื่องของคำพยากรณ์ ไม่มีใครเถียงคำพยากรณ์ได้
แต่ถ้าบุคคลที่ถูกพยากรณ์นั้นจะตายเสียจริง ๆ คำพยากรณ์ก็ค้านไม่ได้เหมือนกัน
จุไรก็ถามว่า เจ้าของชีวิตอยากจะตาย หรือมันจะตายเอง
คุณป้าน้อยก็บอกว่า ถ้าเจ้าของชีวิตอยากจะตาย อย่างนี้สามารถกลับสัจจะได้ คือ กลับความจริงใจได้ เราไม่อยากตายก็ได้
แต่เมื่อวาระของชีวิตมันหมดจริง ๆ เราจะอยากตาย หรือไม่อยากตาย มันก็ต้องตาย ปฏิเสธกันไม่ได้
จุไรก็ถามว่า เรื่องนี้คุณป้าทราบมาได้อย่างไร
คุณป้าก็บอกว่า ทราบมาจากคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และบรรดาสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ก็พูดอย่างนี้เหมือนกันทุกองค์ และความจริงก็เป็นอย่างนั้น
อย่างคนที่เขามีอายุน้อยกว่าป้าเยอะแยะ เป็นเด็ก ๆ คราวหนูก็เยอะ เขาเกิดมาทีหลัง ถ้าตามความเป็นจริงแล้ว เขาไม่น่าจะตาย
เขาก็ตายไปเยอะแยะ ขึ้นชื่อว่า ความตาย นี่ หลานรักไม่มีนิมิต ไม่มีเครื่องหมาย ไม่มีการประกาศวาระแน่นอน
ฉะนั้น บุคคลทั้งหลายพระพุทธเจ้าตรัสว่า จงอย่าประมาทในชีวิต คิดว่า เราอาจจะตายวันนี้ไว้เสมอ เมื่อเราคิดว่าเราอาจจะตาย
เราก็พยายามสร้างความดี เช่น
๑. การให้ทาน
๒. การรักษาศีล
๓. การเจริญภาวนา และ
๔. ความกตัญญูรู้คุณ นี้เป็นเรื่องใหญ่
เอาละ หลานรัก เวลานี้สัญญาณบอกหมดเวลาก็ประกาศแล้ว พูดมากไป ประเดี๋ยวเจ้าหน้าที่จะไล่เราออกจากวิหาร ต่อนี้ไปเราก็หยุดกันก่อนนะ
เดี๋ยวคุยกันใหม่
สวัสดี
ll กลับสู่สารบัญ
webmaster - 29/6/11 at 16:00
3
ตอน พระปัจเจกพุทธเจ้า
ตอนนี้เป็นตอน พระปัจเจกพุทธเจ้า ตอนนี้หลังจากคุยกันมาครู่หนึ่ง พอพระเจ้าหน้าที่ปิดวิหารภายใน สองป้าหลานก็ขยับมานั่งที่ชานวิหารภายนอก
ที่มีพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นประธาน หนูจุไรก็เดินเข้าไปกราบพระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วก็นั่งพับเพียบทำสมาธิหลับตาอยู่ชั่วครู่ แล้วก็ลืมตามา
มองเห็นที่เกศพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นแฉกไปเบื้องหลัง เธอก็ถามคุณป้าน้อยบอกว่า คุณป้าน้อยเจ้าขา
พระปัจเจกพุทธเจ้ากับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ ต่างกันอย่างไรเจ้าคะ ทำไมจึงมีเกศไม่เหมือนกัน พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีเกศแหลมขึ้นไปอย่างเดียว
แต่พระปัจเจกพุทธเจ้ามีเกศแหลม แล้วก็มีแฉกไปเบื้องหลัง
คุณป้าน้อยก็ตอบคุณหลานว่า หลานรัก เรื่องรูปพระปัจเจกพุทธเจ้านี่ หลวงปู่ท่านทำเพราะว่า
หลวงปู่นอกจากเคารพสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็เคารพพระปัจเจกพุทธเจ้าด้วย ทั้งนี้ ก็สืบเนื่องมาว่า หลวงพ่อปานไปเรียนคาถา วิระทะโย จากครูผึ้ง
จังหวัดนครศรีธรรมราช
แล้วก็นำมาแจกบรรดาลูกศิษย์ลูกหา ทุกคนปฏิบัติตามคาถานี้ ต่างคนก็มีความเป็นอยู่ เป็นสุขไปตาม ๆ กัน คือ ไม่หนักใจในเรื่องทรัพย์สิน
ถึงแม้จะไม่รวย ก็มีพอกินพอใช้ แต่รวยกันจริง ๆ ก็มาก ฉะนั้น ท่านจึงมีความเคารพในพระปัจเจกพุทธเจ้าด้วย
หนูจุไรก็ถามค้านบอก คุณป้าเจ้าคะ หนูอยากจะถามคุณป้าว่า ทำไมเกศจึงไม่เหมือนกัน
คุณป้าก็บอกว่า ป้าก็ต้องเล่าประวัติมาก่อนสิว่า ทำไมหลวงปู่จึงเคารพพระปัจเจกพุทธเจ้า ก็เป็นอันว่า ประวัติความเป็นมาของพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นมีมาก
ขอเล่าเรื่องเก่าก่อน
คือ ตอนที่ท่านจะทำวิหารหลังนี้ หลานจำได้ไหมว่า ในคราวก่อนโน้น ป้าเคยบอกว่า มีท่านปู่ใหญ่ หรือหลวงปู่ใหญ่องค์หนึ่ง
ซึ่งเป็นหลวงปู่ใหญ่ที่หลวงปู่ของเราเคารพมาก เวลาจะทำอะไรขึ้นมา หลวงปู่ของหลาน ก็ไปปรึกษาหลวงปู่ใหญ่ ไปหาหลวงปู่ใหญ่บ้าง
หลวงปู่ใหญ่ท่านมาเองบ้าง เวลานั้นท่านก็บอกว่า ที่ตรงนี้ควรจะมีพระปัจเจกพุทธเจ้าไว้บูชา แล้วหลวงปู่ของเรา ก็ถามหลวงปู่ใหญ่ว่า
พระปัจเจกพุทธเจ้าจะปั้นอย่างไร ท่านก็บอกว่า พระปัจเจกพุทธเจ้า ก็เป็นพระพุทธเจ้าประเภทหนึ่งที่บรรลุเอง คือ ปราศจากครูสอนเบื้องปลาย
หมายความว่า ตอนปลาย ตอนที่บรรลุนะ ไม่มีใครสอน บรรลุเองเหมือนกัน ไม่เหมือนพระสาวก พระสาวกต้องรับฟังคำสอน จึงจะบรรลุ
พระปัจเจกพุทธเจ้านี่บรรลุเอง แต่ว่าสมัยพระปัจเจกพุทธเจ้า ไม่เหมือนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรรลุขึ้นมาแล้วมีองค์เดียว แต่พระปัจเจกพุทธเจ้านี่ บรรลุเป็นแสน สมัยนั้นนับเป็นแสน และตามบาลีบอกว่า
อยู่ที่ภูเขาคัณธมาธน์ เมื่อถึงเวลาออกพรรษา ท่านก็มาตามเขานิมนต์ ใครนิมนต์ท่าน ท่านก็ไป ใครถวายภัตตาหารท่านก็รับ ใครอยากจะฟังเทศน์
ท่านก็เทศน์โปรด
แต่ว่าไม่เหมือนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ตอนหนึ่ง คือว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ เวลาเช้ามืดก็ดี หรือตอนค่ำก็ดี
ท่านจะตรวจอุปนิสัยของสัตว์ว่า วันนี้จะมีใครบรรลุมรรคผลไหม และจะไปเทศน์อย่างไรเขาจึงเข้าใจ จึงได้บรรลุมรรคผล
แต่ว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าท่านไม่ใช้ญาณนี้ ญาณนี้จึงเรียกว่า พุทธญาณ มีเฉพาะพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าไม่มี
และพระปัจเจกพุทธเจ้านี่ก็สงเคราะห์คน ส่วนใหญ่คนถือกันว่า พระปัจเจกพุทธเจ้า เป็นพระมีลาภ
นี่ประวัติความเป็นมาของพระปัจเจกพุทธเจ้าโดยย่อตามนี้นะ
จุไรก็ถามต่อไปว่า เกศที่แยกออกมานี่เพราะอะไร ป้ายังไม่ตอบเลย
คุณป้าก็ตอบว่า เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ขณะที่ท่านปู่ใหญ่ท่านมาบอกหลวงปู่ของหลานบอกว่า ตรงนี้ควรเป็นที่ตั้งพระปัจเจกพุทธเจ้า
เพื่อให้ทุกคนเคารพสักการะ พระปัจเจกพุทธเจ้านี่มีกำลังลาภมาก เป็นพระที่มีลาภ ลาภสูง
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ลาภสูง พระปัจเจกพุทธเจ้าก็มีลาภสูง ทีนี้คนที่บูชาท่านผู้มีลาภจะได้มีลาภไปด้วย
และก็เป็นความจริงมามากมายแล้ว ที่เขาใช้คาถาพระปัจเจกพุทธเจ้าไปทำ ทีนี้หลวงปู่ใหญ่ก็บอกว่า นี่เดี๋ยวป้าก็ไถลไปอีกแล้ว หลวงปู่ใหญ่ท่านบอกว่า
พระปัจเจกพุทธเจ้า ควรทำเกศให้ต่างจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านิดหน่อย คือ ทำเป็นแฉกออกไปจะได้สังเกต คนจะได้รู้ว่า นี่คือ
พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์นี้ คือ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เท่านั้นเอง
จุไรก็ถามว่า พระปัจเจกพุทธเจ้านี่ ราคาเท่าไร
คุณป้าก็ยิ้มบอกว่า หลานจะเอาราคาพระปัจเจกพุทธเจ้ามาถามกันได้อย่างไร ขึ้นชื่อว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ดี พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ดี พระอรหันต์ก็ดี
หาค่าบ่มิได้ นั่นหมายความว่า หาราคาเท่าไรก็ไม่ได้
ตามบาลีท่านกล่าวว่า พุทโธ อัปปมาโณ คุณพระพุทธเจ้าหาประมาณมิได้ฉันใด คุณพระปัจเจกพุทธเจ้าก็หาประมาณมิได้ฉันนั้น
จุไรก็ถามว่า เท่าที่หนูถาม หนูถามว่า ราคาปั้นนี่ ราคาเท่าไร
คุณป้าก็บอกว่า เออ ป้าก็แก่แล้วนะ นึกว่าหลานถามถึง คุณค่าพระปัจเจกพุทธเจ้า แต่ราคาจริง ๆ ก็ไม่รู้เหมือนกัน
เพราะป้าก็ถามหลวงปู่ของหลานแล้วว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ พระพุทธชินราชก็ดี แท่นก็ดี พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ดี ทั้งหมดนี้ ราคาเท่าไร
หลวงปู่ท่านก็บอกว่า ถ้าจะนับราคาจริง ๆ ทั้งหมดนั่นก็เกินแสน แต่ว่านายช่างประเสริฐ กับช่างจำเนียร สองสามีภรรยา ช่างประเสริฐ
ก็ ป. ๔ ช่างจำเนียร ก็ ป. ๔ รวมแล้ว สองช่างเป็น ป. ๘ ทั้งสองช่างนี่ ไม่คิดราคาเลย ถวายค่าแรงงานทั้งหมด ทั้ง ๆ ที่เขาเองก็ต้องจ้างลูกจ้างมาช่วยทำ
เงินค่าลูกจ้างทั้งหมด ไม่ใช่แต่จะเว้นตัวเขา เขาออกเงินค่าลูกจ้างด้วยเสร็จ ศรัทธาเขาดีมาก
จุไรก็ถามว่า คุณป้าเจ้าคะ การปั้นรูปพระก็ดี ปั้นรูปต่าง ๆ ก็ดี ลวดลายต่าง ๆ ก็ดี ทั้งหมดนี้เขาบอกว่า จะต้องเรียนในที่สูง
มีความรู้สูงมาก ๆ จึงทำได้ใช่ไหม
คุณป้าก็บอกว่า ใช่ลูก อย่างช่างจำเนียรก็ดี อย่างช่างประเสริฐก็ตาม และช่างก่อสร้างทั้งหมด เป็น ช่างชิตก็ตาม
ช่างวิเชียรก็ตาม ช่างพรก็ตาม ทั้งหมดนี้มีความรู้ขั้น ดุษฎีบัณฑิต
จุไรก็ถามว่า ดุษฎีบัณฑิตเป็นอย่างไรเจ้าคะคุณป้า
คุณป้าก็บอกว่า ดุษฎี แปลว่า เงียบ มีความรู้ขั้นเงียบ นั่นหมายความว่า ไม่ต้องรู้ต่อไปอีก
เธอก็ถามคุณป้าว่า คุณป้า ดุษฎีบัณฑิตนี่ เขาเรียนกันกี่ปี
คุณป้าก็บอกว่า ตามบ้านนอกสมัยก่อน เขาเรียนกัน ๔ ปี
จุไรก็ถามว่า ที่โรงเรียนไหน อย่างหนูเรียนได้ไหม
คุณป้าก็ถามว่า หนูเรียนจบหรือยัง
จุไรก็บอกว่า เวลานี้หนูอยู่ ป. ๔ แต่ครูบอกว่า ยังไม่จบ ต้องเรียนถึง ป. ๖
คุณป้าก็บอกว่า การศึกษาสมัยนี้ยาวมาก สมัยที่ช่างต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ทั้งหมด เขาเรียนกันไม่มากแค่ ๔ ปี คือ ป. ๔ ที่เรียกว่า ดุษฎีบัณฑิต
หมายความว่า เขาจบ ประถมปีที่ ๔ คำว่า ประถม สมัยนั้นไม่ต้องเรียนต่อไปอีก เงียบเลย เลิกกันเลย
จุไรฟังคุณป้าพูดแล้วก็ยิ้ม ก็เลยบอกว่า คุณป้าเจ้าขา เอาละเราคุยกันเรื่องนี้นะ ตอนบริเวณนี้เราก็คุยกันแล้ว ป้าเดินไปนิดดีไหมเจ้าคะ
ป้าก็เดินตามหลานไป คุณหลานเล็กคุณป้าใหญ่ เดินไปถึงถังสเตนเลสลูกหนึ่ง ตั้งอยู่เฉย ๆ มีท่อน้ำต่อเข้า มีสายไฟฟ้า
จุไรก็ถามว่า คุณป้าเจ้าคะ นี่มันถังอะไร เขาใส่อะไรกัน
คุณป้าก็บอกว่า นี่ถังน้ำเย็น เวลาที่มีแขกมามาก ๆ อย่างมีงาน เขาก็สับกระแสไฟฟ้าเข้า เครื่องไฟฟ้าก็ทำงาน ให้น้ำในถังนี่เย็นเฉียบ
เหมือนน้ำแช่น้ำแข็ง เหมือนน้ำในตู้เย็น ทุกคนดื่มได้ฟรี ไม่มีใครเสียสตางค์
หนูจุไรก็ถามว่า ใครถวายหลวงปู่
คุณป้าก็บอกว่า คนทุกคนที่ทำบุญวัดนี้ถวายหลวงปู่
จุไรก็บอกว่า ถังลูกนี้ไม่โตนัก คนที่มาทำบุญกับหลวงปู่เป็นหมื่นเป็นแสน แล้วทำไมจะจ่ายสตางค์ค่าถังลูกนี้คนละเท่าไร
คุณป้าก็บอกว่า ไม่ได้คิดอย่างนั้น คือว่า หลวงปู่ท่านเอาเงินของคนทุกคน ทำทุก ๆ อย่างในวัด แล้วท่านเห็นว่า คนทุกคน
เป็นผู้มีคุณกับวัด เป็นคนที่หวังดีกับวัด ตั้งใจเป็นบุญกุศล ท่านก็เลยเอาสตางค์ส่วนนี้แหละ ไปซื้อถังน้ำเย็น ซื้อหลายลูกนะ
แล้วก็เครื่องทำน้ำแข็งสำเร็จรูป เป็นก้อน ๆ มาตั้งไว้ให้คนบริโภค คนรับประทานกัน พระก็ดี ชาวบ้านก็ดี และคนที่มาในวัด คำว่า ชาวบ้าน หมายถึง
คนที่มาในวัด นักเรียนก็ดี มีน้ำแข็งกิน มีน้ำเย็นกินตลอดเวลา ทั้งนี้ก็เพราะอาศัยเป็นความดีของท่านที่มีศรัทธาทุกคน
จุไรฟังแล้วก็ยิ้ม ก็เลยถามว่า ถ้าอย่างหนูล่ะ จะร่วมหุ้นกับเขาได้ไหม จะสร้างตู้น้ำเย็น ๆ ตู้ทำน้ำแข็งย่อม ๆ
คุณป้าก็บอกว่า ได้
จุไรก็ควักสตางค์ออกมา มีแบงค์สิบบาทอยู่สองใบ
เธอก็ถามคุณป้าว่า จะทำเท่าไรดี
คุณป้าก็ตอบว่า ถ้ามีเงินปลีก มีบาทเดียว ทำบาทเดียวก็ใช้ได้ลูก เพราะว่า เราทำบุญรวม ถือว่า ทำทั้งวัด ทุกอย่างที่มีในวัด เรามีบาทเดียว
ทำได้เลย
จุไรก็ถามว่า ถ้าอย่างนั้นอานิสงส์จะเป็นอย่างไร ถ้าตั้งใจทำบุญวัดนี้ทั้งวัด แต่ว่า มีบาทเดียว
ตั้งใจด้วยความจริงใจ
คุณป้าก็บอกว่า เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน หนูนั่งตรงนี้นิดหนึ่ง หลับตาหน่อย นึกถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกทำจิตให้เป็นสุข ยกจิตขึ้นไปตามพระท่านเลยว่า ผลจะเป็นอย่างไรหรือว่าถ้าทำอย่างนี้ จะมีผลอย่างไร ขอภาพนั้นจงปรากฏ
จุไรก็ทำตามนั้น ประเดี๋ยวเดียว สองนาที เธอก็ลืมตามา เธอก็ตอบว่า เจตนาอย่างนี้เห็นแล้วคุณป้า สวยอร่ามเลย
บ้านที่คอยท่าอยู่ ถ้าอย่างนั้น หนูขอทำ ๒๐ บาท เพราะจะได้สวยมาก ๆ คุณป้าก็รับบอกว่า ป้าจะนำไปถวายหลวงปู่ท่าน บอกว่า หนูถวายสร้างวัด ๒๐ บาท
หมดทั้งวัด
หลังจากนั้น ป้ากับหลานก็เดินเตาะแตะ ๆ หลานน่ะไม่เตาะแตะนะ หลานเดินปรูดปราด คุณป้าก็เตาะแตะ ๆ ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าคุณป้าน่ะอ้วน
และก็อายุน้อยแล้ว เหลืออยู่ไม่เท่าไร สำหรับคุณหลานยังอายุน้อย เพียงแค่ ๙ ปี วิ่งคล่องตัว ก็เดินออกไปเลี้ยวขวา ไปดูมณฑป
มณฑปนี่เขาเรียกว่า มณฑปพระปัจเจกพุทธเจ้า มีเถ้าแก่สุวรรณ วีระผล พร้อมกับบรรดาลูกหลาน ลูกเขยลูกสะใภ้ ร่วมกันสร้าง ๒ หลัง
เป็นมณฑปพระปัจเจกพุทธเจ้าหลังหนึ่ง ด้านทิศตะวันออก มณฑปหลวงพ่อปานหลังหนึ่งด้านทิศตะวันตก แล้วก็มณฑปทิศตะวันออกนี่
มีพระปัจเจกพุทธเจ้าประจำอยู่เป็นรูปของท่าน
จุไรก็มองดูรูปของท่านที่เขาปั้นจำลองไว้ รูปเล็ก ๆ หน้าตักประมาณ ๑ เมตร ก็ถามคุณป้า บอกคุณป้าเจ้าคะ พระปัจเจกพุทธเจ้าใช่ไหมองค์นี้
เธอเห็นที่เขียนไว้ที่แท่นว่า พระปัจเจกพุทธเจ้า คุณป้าก็บอกว่าใช่ลูก นี่คือพระปัจเจกพุทธเจ้า
จุไรเธอก็ถามว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์นี้ รูปร่างหน้าตาลีลาต่าง ๆ เหมือนกับพระสงฆ์ธรรมดา ถ้าพูดตามภาษาชาวบ้าน ก็เหมือนกับ
คนธรรมดาที่บวชพระ แต่ว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าในวิหาร ๑๐๐ เมตร ที่ชานออกมา ปรากฏว่า มีรูปเหมือนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มียอดแหลม
องค์นี้ไม่มียอดแหลม มีลักษณะการห่มคลุม ไม่ห่มเฉียง
จุไรเธอก็ถามคุณป้าว่า ทำไมจึงเป็นอย่างนี้เจ้าคะ ทำไมจึงไม่เหมือนองค์โน้น พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์โน้น กับพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์นี้
ทำไมจึงไม่เหมือนกัน
คุณป้าก็ตอบว่า ป้าจะตอบยาวสักนิดนะลูกนะ คือ อาจจะยาวสักหน่อย
สำหรับพระปัจเจกพุทธเจ้าที่ในวิหารนั่น หลวงปู่ท่านทำตามคำสั่งหลวงปู่ใหญ่ เพราะท่านบอกว่า หลวงปู่ใหญ่บอกให้ทำอย่างนี้ เป็นภาพรวม คือว่า
เป็นภาพเหมือน ความจริงก็ไม่เหมือน
เป็นรูปแทนพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหมด
หมายความว่า ไหว้พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์นั้น ก็หมายความว่าไหว้พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกองค์ หรือบูชาองค์นั้น
ก็บูชาพระปัจเจกพุทธเจ้าทุกองค์ที่ผ่านมาแล้วทั้งหมด เป็นรูปเปรียบ รูปแทน แต่ว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์นี้ ตามที่หลวงปู่ท่านเล่าให้ฟัง
คือว่า ป้าพอจะนึกได้เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๓๒ วันนั้นถ้าจำไม่ผิดก็เป็นวันที่ ๑๐ เมษายน ป้าได้มีโอกาสเข้าไปใกล้หลวงปู่ของหลาน
ท่านก็เล่าให้ฟังว่า เมื่อคืนวันที่ ๔ เมษายน เวลาประมาณ ๒ ทุ่มเศษ ๆ วันนั้นหลวงปู่ท่านป่วยมาก ท่านอยู่ที่กุฏิกลางน้ำ
ตามปกติท่านจะอยู่ของท่านองค์เดียว ไม่มีใครในห้อง ทั้งหมดอยู่ชั้นล่าง ท่านอยู่ชั้นบนแต่ผู้เดียว เวลานั้นอาการเครียดขึ้นมา ท่านก็นอนภาวนาบ้าง
พิจารณาบ้าง ตามลีลาของพระ ตามที่ท่านบอก ขณะนั้นเมื่อจิตสงบ อารมณ์เริ่มสบาย ก็ปรากฏว่า
เห็นรูปพระสงฆ์องค์หนึ่ง ห่มจีวรสีกรัก ดูอายุถ้าจะเปรียบเทียบกันคนธรรมดา ก็ประมาณอายุ ๔๐ ปี มานั่งอยู่บนเตียง
ทางด้านขวาของท่านใกล้องค์ท่าน แต่ท่านก็บอกว่า ท่านมีความรู้สึกว่า เวลานี้เรากำลังเพลียมาก และอยากจะสงบ ไม่อยากจะพบใครทั้งหมด
ในเมื่อมีพระท่านมา ท่านมาเยี่ยม ก็เป็นความดีของท่าน ขอบคุณท่าน แล้วท่านก็เลยไม่สนใจกับพระองค์นั้น
ปล่อยให้ภาพพระองค์นั้นอยู่เฉย ๆ แล้วต่อมาท่านภาวนาเคลิ้มไปสักพักหนึ่ง ท่านบอกว่า เวลานั้นเป็นเวลาประมาณ ๒ ยามเศษ ๆ ท่านก็ขยับตัว
เห็นพระสงฆ์องค์นั้นยังอยู่
แต่ว่ามาอยู่ด้านซ้ายมือ ท่านก็ถามว่า หลวงปู่ของเรานะ ท่านยกมือไหว้ แล้วก็ถามว่า พระคุณเจ้าเป็นใครขอรับ
ที่ตอนหัวค่ำไม่ไหว้ ไม่พูดเพราะท่านเพลียมาก ไม่อยากจะพูด ตอนนี้เคลิ้มไปพักหนึ่ง รู้สึกมีแรงขึ้นก็พูด ท่านก็ตอบว่า ฉันคือ
พระปัจเจกพุทธเจ้า
ที่ช่วยสงเคราะห์เธอตลอดมา แล้วท่านก็ถามต่อไปว่า มีเรื่องเกี่ยวเนื่องอะไรกัน ที่ปรากฏมาที่นี่ มีความประสงค์อะไรครับ
ท่านบอกว่าต้องการมาช่วยเธอ อย่าลืมว่า ฉันช่วยเธอมานาน หลวงปู่ก็ถามว่า มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรครับ ในสมัยในอดีต
ท่านก็เลยบอกว่า ฉันนี่เคยเป็นพ่อเธอมา ๗ ชาติ ท่านก็ทำภาพให้ดู ในสมัยที่เธอเป็นลูกฉัน เธอมีความดี ปฏิบัติฉันตามนี้
ท่านก็ทำภาพสมัยนั้น ๆ ๗ ชาติ ในสมัยที่ท่านแก่ลงท่านก็บอกว่า ท่านทำภาพหลวงปู่ให้ดู หลวงปู่นี่ได้ปฏิบัติท่าน อย่างดี ทุกอย่าง
ถ้าอะไรเป็นการงานทั้งหมด ไม่ยอมให้พ่อทำ ทุกอย่างที่พ่อจะต้องทำ หลวงปู่ท่านก็ทำเสียเอง แม้แต่อาหารการบริโภค ก็จัดหาได้ ต้องการอะไร ขอให้บอก
ทำทุกอย่าง ที่ไม่เกินความสามารถ ถ้าสิ่งใดเกินความสามารถตัวเอง ก็ไปหาคนที่มีความสามารถ
แต่ความจริง ท่านพ่อก็ไม่จุกไม่จิก อะไรก็ได้ อย่างการบริโภคอาหารนี่ อะไรก็ได้ตามชอบใจ แต่ต้องสังเกตว่า ท่านชอบอะไร หลวงปู่ก็จัดอย่างนั้นมาหา
เวลาที่ท่านป่วยไข้ไม่สบายก็ปฏิบัติพยาบาล ถึงขั้นสุดท้าย ถึงวาระที่ท่านตาย ก็ยังพยาบาลอยู่
บางชาติก็เอาศีรษะท่านพาดบนตัก นวดไปบ้าง อะไรไปบ้าง ท่านก็ตายในระหว่างที่ศีรษะพาดตัก เมื่อท่านทำภาพให้ดู ท่านก็บอกว่า
อาศัยที่เธอดีกับพ่ออย่างนี้มานาน ฉะนั้นในชาตินี้ เธอมีภาระมากพ่อก็ต้องช่วย พยายามช่วยการเงินทุกอย่างที่หาคล่อง ให้หาคล่องขึ้น และความจริงนี่
เธอก็มีบารมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์ พรหมเทวดาทั้งหมด นางฟ้าทั้งหมด ช่วยกันอยู่แล้ว แต่ว่าฉัน
ในฐานะที่เคยเป็นพ่อของเธอ ฉันก็ช่วยอีกแรงหนึ่ง หลวงปู่ก็ลุกขึ้นกราบ กราบ ๆ ก็บอกว่า ผมง่วงขอรับ ขอนอนต่อไป
ท่านบอกว่า ดีมาก จิตจะได้สงบ จะได้มีอารมณ์สบาย ท่านก็บอกว่า ฉันจะไม่ไปไหน ฉันจะอยู่ตรงนี้ อยู่เฝ้าเธอ ช่วยเธอ
พอหลวงปู่เอนกายลงมาท่านก็เอามือลูบ ๆ ลูบครั้งที่สามก็หลับป๋อย
หลังจากหลับไปแล้ว ก็ประมาณ ตีสี่เศษ ตื่นขึ้นมาอีก ท่านก็อยู่ที่นั่น ตอนนี้ท่านมองหน้า แล้วท่านก็ยิ้ม
หลวงปู่ก็สงสัย ก็ถามท่านว่า การที่มาแสดงองค์ให้ปรากฏอย่างนี้ จะให้ปั้นรูปบูชาใช่ไหม ท่านบอกว่า ใช่ ขอให้ปั้นตามนี้นะ
ปั้นห่มคลุมแบบนี้ ถามท่านว่า เนื้อสีขาว หรือสีดำแดง ท่านบอกว่า ฉันเป็นคนสีเนื้อค่อนข้างขาว คือ ขาวก็แล้วกัน ไม่ขาวจั๊วะ ลักษณะท่าทางแบบนี้
ท่านก็นั่งให้ดู
ก็ถามว่า ถ้าเวลาช่าง ช่างที่นี่ก็เป็นช่างชั้น ป. ๔ เป็นช่างที่เรียกว่า ช่างชั้นดี เขาอาจจะเหยียดหยามก็ได้ แต่บางคนเขาบอกว่า ป. ๔ ทำอะไรไม่ได้
แต่ว่า ป. ๔ คนนี้ ก็ทำได้ทุกอย่าง และอยากจะถามว่า ถ้าเขาจะปั้นนะ ช่วยได้ไหม ให้คล้ายคลึงจริง ๆ ท่านบอกว่า ได้
พอรุ่งขึ้นเช้าหลวงปู่ก็บอกว่า เรียก ช่างประเสริฐมาบอกลักษณะให้ทราบ ให้ช่างประเสริฐเขาเอาดินเหนียวปั้นก่อน เอามาให้ดู ก็ปรากฏว่า
ช่างประเสริฐนี่ เขาก็ได้กรรมฐาน เขาก็ใช้สมาธิตามที่เขาจะพึงได้ เขาก็ปั้นรูปท่าน ปั้นแล้วเขาก็บอกว่า
ฝืนมือคือว่า มือจะทำอย่างนี้ ลากไปทำอย่างโน้น ปั้นไปปั้นมา ได้รูปแบบนี้ ก็นำให้หลวงปู่ดู หลวงปู่เห็นเข้า
ก็ลุกขึ้นกราบ ก็บอก เหมือนแล้ว ๆ บอกว่า ใช้ได้ ๆ เอารูปอย่างนี้ รูปใหญ่ขอให้ปั้นตามนี้ก็แล้วกัน อันนี้ความเป็นมาของพระปัจเจกพุทธเจ้า
ถ้าอย่างนั้นหลานมีความเคารพในหลวงปู่ ก็ต้องเคารพในพระปัจเจกพุทธเจ้าด้วยนะ
จุไรก็ถามว่า พระปัจเจกพุทธเจ้านี่ ช่วยเฉพาะหลวงปู่องค์เดียวหรือ
คุณป้าก็บอกว่า ท่านช่วยทุกคนที่บูชาท่าน แม้แต่หลวงพ่อปานเอง ก็มีการบูชาพระปัจเจกพุทธเจ้ามาก่อนเหมือนกัน
จะเห็นว่าหลวงพ่อปาน ท่านจะสร้างอะไร ก็สำเร็จทุกอย่าง
ทีนี้มาหลวงปู่ก็เช่นเดียวกัน เวลานี้หลวงปู่จะทำอะไร ก็ทำได้ตามกำลังเท่าที่ท่านกำหนดจะเห็นว่า การได้ลาภสักการะ การนำมาซึ่งทรัพย์สินต่าง ๆ
เนื่องในการก่อสร้างก็ดี ความเป็นอยู่ก็ดี ของท่านมีการคล่องตัว ก็เพราะอาศัยท่านบูชาครบ
คือ บูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย พระปัจเจกพุทธเจ้าด้วย พระอรหันต์ทั้งหลาย พระอริยเจ้าทั้งหลายด้วย และพรหม
กับเทวดาด้วย เพราะทุกท่านมีคุณทั้งหมด
จุไรก็ถามคุณป้าว่า ถ้าหนูจะบูชาพระปัจเจกพุทธเจ้าจะทำอย่างไร
คุณป้าก็บอกว่า บูชาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างไร ก็บูชาพระปัจเจกพุทธเจ้าแบบนั้น แต่ว่าคาถาบูชาของท่าน มีบทหนึ่ง
ที่ขึ้นว่าวิระทะโย วิระโคนายัง เป็นต้น ที่หลวงปู่ท่านพิมพ์แจก และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลวงปู่เองได้รับจากหลวงปู่ใหญ่ ท่านนำคาถามาให้หลายตอน
สมัยที่เริ่มทำการก่อสร้างใหม่ ๆ สตางค์หลวงปู่ท่านไม่มี ท่านมีมา ๑๐๐ บาท แล้วท่านก็ซื้อกับข้าว ซื้อข้าวสารฉันเสียหมด
หลวงปู่ใหญ่ก็ให้คาถาบอกว่า คาถาบทนี้หาเงินคล่องนะ เพื่อการก่อสร้าง แล้วต่อมา ท่านบอกว่า คาถาบทนี้เป็นคาถาเงินแสน บูชาภาวนาไว้ทุก ๆ วัน
บอก เงินก็คล่องตัวขึ้น เวลาทอดกฐิน เวลานั้นได้แสนเศษ แล้วต่อมาเมื่อเริ่มสร้างโบสถ์ ท่านบอกคาถาบทนี้เป็นคาถาเงินล้านนะ เป็นอันว่า
หลวงปู่ท่านบูชาคาถาพระปัจเจกพุทธเจ้าอยู่แล้ว ในเมื่อหลวงปู่ใหญ่ท่านให้มาอีก ก็เลยประสานกัน เอารวมกันไปเป็นบทเดียวกัน บูชาครบถ้วน
ถ้าหนูอยากจะมีเงินคล่องตัว อยากจะมีความเป็นอยู่เป็นสุขจากทรัพย์สินเท่าที่จะพึงพอมีกันได้ ไม่ใช่ร่ำรวยใหญ่
ก็ใช้คาถาบทที่หลวงปู่ท่านแจก เวลาเจริญกรรมฐาน หากว่าเจริญกรรมฐานเป็นที่พอใจแล้ว ก็ใช้คาถาบทนั้นภาวนา เป็นการเจริญกรรมฐานต่อไป อย่างนี้
หลานจะมีการคล่องตัวเหมือนหลวงปู่
จุไรก็บอกว่า คุณป้าเจ้าคะ มองดูเวลา เวลานี้ หลวงลุงอนันต์ท่านกำลังจะมาปิดประตูข้างนอก เราสองคนไปกันดีกว่า คุณป้าเจ้าคะ
เวลานี้คุณแม่กำลังยืนอยู่ที่หลวงปู่โน้น เดี๋ยวไปรวมกับแม่ที่หลวงปู่ แต่ว่าคืนนี้หนูจะค้างหนึ่งคืน แล้ววันพรุ่งนี้จะกลับ
วันหลังต่อไปถ้ามีโอกาสหนูขออนุญาตคุณป้าต่อไปนะเจ้าคะ ในเมื่อคุณป้าอนุญาต ป้า กับ หลานต่างคนต่างกลับไป
ในเมื่อทุกคนกลับไปหมด หมดเวลาพอดี ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล สมบูรณ์พูนผล จงมีแด่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนผู้อ่านทุกท่าน
สวัสดี
ll กลับสู่สารบัญ
4
ตอน หลวงพ่อปาน
ท่านผู้อ่านทั้งหลาย สำหรับตอนนี้ ก็ให้พบกับจุไรตามเดิม เป็นอันว่า ตอนนี้ จุไรนอนค้างที่วัดท่าซุง เพราะว่าวันก่อน คือ เมื่อวันวานนี้ คำว่า
วานนี้ ก็หมายความว่า วันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๓๒ เมื่อเธอกลับไปถึงที่รับแขก ไปหาคุณแม่
คุณแม่ก็ถามว่า ลูกทำไมจึงมาช้า เธอก็ตอบว่า วันนี้หลังจากเจริญกรรมฐานแล้ว ก็คุยกับคุณป้าน้อย คุณป้าน้อยรู้ประวัติความเป็นมาต่าง ๆ
เยอะก็เลยช้าไป ก็ขออภัยคุณแม่ คุณแม่ก็ให้อภัย ตอนนี้ก็มาคุยกันถึงเรื่อง หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค เป็นอันว่า คุยกันตอน หลวงพ่อปาน ก็แล้วกัน
เมื่อจุไรพบคุณป้าน้อย เวลาหลังเที่ยง ประมาณเที่ยงสิบนาที ที่วิหาร ๑๐๐ เมตร ขณะนั้นเธอเข้าไปกระซิบคุณป้า บอกว่า คุณป้าเจ้าคะ
หนูต้องขอประทานอภัย เมื่อวานนี้ลาคุณป้าแล้ว แต่บังเอิญคุณแม่ไม่กลับ ค้างอีกคืนหนึ่ง เมื่อคืนนี้หนูนอนหลับสนิท สบายใจ แต่ว่าตอนเช้ามืด
เวลาประมาณห้านาฬิกา เห็นคุณแม่ตื่นขึ้นบูชาพระ หนูก็กำลังลุกขึ้นบูชาพระ พอลืมตาขึ้นมา
ก็เห็นลุงสองคนท่านมายืนอยู่ใกล้ ๆ แต่ทว่าท่านลุงสองคนนี่ ท่านแต่งตัวไม่เหมือนกับชาวบ้านธรรมดา รูปร่างหน้าตาใหญ่โตมาก
นุ่งผ้าหยักรั้ง และก็ถือกระบองทั้งคู่
หนูก็ถามว่า คุณลุงเจ้าคะประตูเขาใส่กลอน คุณลุงเข้ามาได้อย่างไร
คุณลุงก็ตอบว่า คนอย่างลุง ถึงแม้จะใส่กลอน ใส่กุญแจ อยู่ในตู้เซฟ ลุงก็เข้าได้
เธอก็ถามว่า คุณลุงเข้ามาอย่างไร
คุณลุงก็ตอบว่า ลุงไม่ใช่คน
จุไรก็กราบเรียนกับคุณป้าน้อยบอกว่า เมื่อท่านบอกว่าไม่ใช่คนก็แปลกใจ ก็ถามว่า คุณลุงเป็นผีหรือ
คุณลุงก็ตอบว่า ไม่ใช่ แล้วก็ถามท่านต่อไปว่า เมื่อไม่ใช่คน ไม่ใช่ผี แล้วท่านเป็นอะไร สำหรับคุณลุงคนแรก ผิวเนื้อขาว ๆ
ร่างกายใหญ่โตมาก รูปร่างใหญ่โตท่าทางเป็นคนใจดียิ้ม ๆ ท่านก็ตอบว่า คนอย่างลุง เขาเรียก เทวดาชั้นจาตุมหาราช
แล้วจุไรก็บอกคุณป้าน้อยบอกว่า หนูก็ถามว่าคุณลุง เทวดานะ ตามปกติ เทวดาเห็นใส่ชฎา แล้วก็นุ่งผ้าผืน และก็ใช้สังวาลย์ แต่เทวดาอย่างลุง
ทำไมจนมากนักล่ะ เพราะมีแต่ผ้าหยักรั้งนุ่งผืนเดียว และก็มีกระบองหนึ่งอัน
ลุงก็ยิ้มแล้วก็ตอบว่า ลุงเองน่ะไม่จน แต่เวลานี้กำลังเป็นหัวหน้ายาม ต้องแต่งตัวในเครื่องแบบหัวหน้ายาม ยามปกติ
ลุงก็แต่งตัวเหมือนคนธรรมดา แต่ยามที่จะประชุมขึ้นมา ขั้นมีเกียรติ ก็หมายความว่าเวลาที่ต้องรักษาศักดิ์ศรีให้เป็นไปตามยศฐาบรรดาศักดิ์
ลุงก็แต่งตัวเป็นเทวดา
หลังจากนั้นภาพของลุงทั้งสองก็กลายเป็นเทวดา สวยสดงดงามมาก เสื้อแสงแพรวพราวเป็นระยับไปด้วยเพชร แล้วจุไรก็บอกคุณป้าน้อยบอกว่า
หนูก็ถามว่า แล้วคุณลุงมาทำไม
คุณลุงก็ตอบว่า ในฐานะที่หนูเป็นคนเคารพพระพุทธศาสนา แล้วก็เป็นลูกของหลวงปู่ ลุงก็ให้การอารักขา
เธอก็ถามว่า ในเมื่อลุงมีแค่สองคน ในวัดนี่มีทั้งคนมาพัก และคนในวัดและก็พระมากมาย ลุงสองคนจะอยู่ยามไหวหรือ
ท่านลุงองค์แรกก็บอกว่า ลุงเป็นหัวหน้ายาม สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทั้งหมด ให้การอารักขาทุกคนถ้าไม่เกินวิสัย
แล้วก็จุไรก็บอกว่า หนูก็ถามท่านต่อไปว่า ลุงอยู่ที่ไหน
ท่านบอกว่า ลุงน่ะพักอยู่ด้านทิศเหนือใกล้ ๆ ที่หลวงปู่พัก
แล้วหนูก็ถามว่า แล้วลุงชื่ออะไร
ลุงคนขาว ๆ รูปร่างยิ้ม ๆ ก็ตอบว่า สมัยเป็นมนุษย์ เขาเรียกลุงว่า เป็นแม่ทัพสมัยหนึ่ง และอีกสมัยหนึ่ง เขาเรียกลุงว่า เป็นพระราชา
แล้วหนูก็ถามว่า สมัยเป็นแม่ทัพก็ดี พระราชาก็ดี ชาวบ้านเรียกว่าอย่างไร ลุงคนนั้นตอบยิ้ม ๆ
ท่านบอกว่า ชาวบ้านเขาเรียกลุงว่า บุเรงนอง
เธอก็ถามว่า บุเรงนอง เป็นพม่าใช่ไหม
ลุงก็ตอบว่า ใช่
แล้วเธอก็ถามว่า เมื่อเป็นเทวดาแล้ว ทำไมจึงมารักษาประเทศไทย
ลุงท่านก็ตอบว่า คำว่า ประเทศ ไม่มีความหมายสำหรับเทวดา จะเป็นประเทศไหนก็ได้ ถ้าบุคคลนั้นเคารพพระพุทธศาสนา
ลุงก็มีหน้าที่อารักขาทั้งโลก ก็รวมความว่า เมื่อลุงพูดจบ
หันมาถามอีกลุง ถามว่าลุงชื่ออะไร
ลุงคนนั้นก็บอกว่า เขาเรียกลุงสั้น ๆ ว่า ปิยะเทวดา หรือ ปิยะเทวา
ก็ถามท่านว่า ถ้าเรียกยาว ๆ เรียกอย่างไร
ยาว ๆ ก็เรียกว่า ปิยะยาวีเทวา คือ เทวดาชื่อว่า ปิยะยาวี
แล้วหนูก็ถามท่านบอกว่า ท่านมีหน้าที่อะไร
ท่านก็บอกว่า มีหน้าที่เหมือนบุเรงนอง เหมือนกัน แต่รักษากันคนละทิศ
หลังจากนั้นลุงก็บอกว่า ต่อนี้ไป ถ้ามาที่นี่จำชื่อลุงทั้งสองไว้ ลุงนี่ชื่อ บุเรงนอง และอีกลุงหนึ่งชื่อว่า ปิยะยาวี
มาถึงก็นึกในใจบอกว่า ขอลุงทั้งสองมาหาหนู หรือว่ามีภาระอะไรอยากจะทราบ ถ้าไม่เกินวิสัยของลุง ลุงจะช่วยทุกอย่าง ทั้งนี้ก็เพราะว่า
หลานเป็นคนมีศีลบริสุทธิ์ และเป็นคนมีสมาธิแจ่มใส วิปัสสนาญาณก็ดี อย่างนี้ลุงขอยอมรับนับถือ ท่านพูดแล้วท่านก็ลากลับ
และจุไรก็ถามคุณป้าน้อย บอก คุณป้าเจ้าคะ สองลุงนี่ คุณป้าเคยเห็นบ้างไหม คุณป้าก็บอกว่า ได้ยินหลวงปู่ท่านพูด เมื่อหลวงปู่ท่านพูด
ป้าก็อยากจะเห็น ท่านก็ปรากฏตัวให้เห็น แต่การปรากฏตัวของท่านแต่ละคราว ท่านเป็นคนหนุ่ม ท่านไม่ได้เป็นคนแก่ ฉะนั้นป้าจึงไม่ได้เรียก ลุง
ป้าเรียกท่านว่า พี่ ในฐานะที่เกิดก่อน และก็ตายก่อน
หนูจุไรจึงถามว่า คุณป้าเจ้าคะ ขณะที่คุณลุงมา คุณลุงคุยอะไรบ้าง คุณป้าก็บอกว่า ไม่ได้คุยเรื่องอะไร นอกจากบอกว่า มาเยี่ยม
ถ้ามีอะไรก็ขอให้บอกท่าน เท่านั้นเอง แล้วท่านก็กลับ หลังจากนั้นจุไรจึงบอกคุณป้า บอกว่า เอาอย่างนี้ก็แล้วกันคุณป้า ปัญหาเมื่อวันวานนี้ (เมื่อ
วันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๓๒) มันยังไม่หมด
หนูก็ยังมีข้อข้องใจ อยากจะถามว่า มณฑปทั้งสองหลัง ที่หลวงปู่ท่านเอามาสร้างที่หน้าวิหารร้อยเมตร และประดับประดาไปด้วยกระจก
คล้ายวิหารร้อยเมตรแพรวพราวเป็นระยับ ท่านสร้างทำไม
คุณป้าน้อยก็ตอบหลานรักว่า หลานรัก อันนี้ป้าก็ฟังหลวงปู่ท่านเล่าให้ฟัง ท่านบอกว่า การสร้างที่วัดนี้ ไม่มีแผนของท่านเลย
การที่ท่านกำหนดอะไรตามใจชอบไม่เคยมี เพราะว่าท่านเบื่อในการสร้าง ท่านคิดว่า ท่านสร้างโบสถ์เสร็จ สร้างอาคารรอบโบสถ์เสร็จ สร้างโรงพยาบาลเสร็จ
ท่านพอใจ ท่านจะเลิก
แต่ทว่าหลังจากนั้นหลวงปู่ใหญ่ท่านมา ท่านขอให้สร้าง ฉะนั้น มณฑปทั้งสองหลังนี้ ตอนสร้างตอนแรกป้าก็ถามหลวงปู่ท่านว่า สร้างเพื่ออะไร
ท่านก็ตอบว่า ยังไม่รู้เหมือนกัน เพราะว่าหลวงปู่ใหญ่ท่านให้สร้าง ก็สร้างตามคำสั่งของท่าน
มาตอนหลังท่านจึงทราบว่า หลังนี้เป็นที่ประทับของพระปัจเจกพุทธเจ้า หลังโน้นเป็นที่ประทับของหลวงพ่อปาน
ซึ่งเป็นอาจารย์ของหลวงปู่ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
จุไรจึงได้บอกว่า ถ้าอย่างนั้น คุณป้าเจ้าคะ เวลานี้ เรื่องมณฑปหลังนี้ก็ผ่านไปแล้ว
แต่ทว่าหนูก็ยังสงสัยว่ามณฑปหลังนี้คนจะทำบุญด้วยยังได้ไหม
คุณป้าก็บอกว่า เรื่องทำบุญ เป็นของไม่ขัดข้อง เพราะราคามันก็ไม่แน่นอนนัก เวลานี้ คณะท่านสุวรรณ วีระผล
ท่านก็บริจาคกันมาล้านสามแสนเศษแล้ว
แล้วก็ยังจะแถมมาอีกห้าแสนในภายหลัง หลังจากที่เราพูดกัน เพราะท่านปรารภกับหลวงปู่บอกว่า มณฑปแพรวพราวเป็นระยับ ท่านของถวายอีก ห้าแสน
เพื่อหลวงปู่จะได้สร้างสะดวกขึ้น หนูจุไรจึงถามว่า คุณป้าเจ้าคะ แล้วหลวงปู่ของเรานะ เวลาที่ท่านสร้างท่านมีสตางค์หรือเปล่า
คุณป้าน้อยก็ตอบหลานสาวว่า หลานรัก หลวงปู่ไม่เคยมีทุนมาก่อน จะทำอะไรก็ตามที อาศัยที่ร้านค้าเขาเชื่อท่าน
ท่านก็นำของที่ไม่มีสตางค์จะซื้อ นั่นก็หมายความว่า ซื้อเชื่อมาก่อน เขาให้มาก่อน ท่านก็ทำ ทั้งนี้เว้นไว้แต่ค่าแรงงาน
ท่านมีความจำเป็นต้องหามาให้ทันเวลา จ่ายเดือนละสองครั้ง คือ กลางเดือนครั้งหนึ่ง สิ้นเดือนครั้งหนึ่ง สำหรับค่าวัตถุก่อสร้าง และของต่าง ๆ ทั้งหมด
อาหารการบริโภคก็ตาม เป็นการจ่ายรวม สิ้นเดือนจ่ายที ทั้งนี้เว้นไว้แต่อาหารประจำวัน อันนี้แม่ครัวเขาต้องจ่ายทุกวัน คือ ไม่เป็นหนี้ร้านค้า
รวมความว่า หลวงปู่ของหลาน นะ ท่านไม่มีทุนมาก่อน
จุไรจึงได้ถามว่า ถ้าอย่างนั้นคณะท่านสุวรรณ วีระผล ที่ให้มาแล้ว และที่ยังไม่ให้เกือบ ๒ ล้านบาทกว่า ท่านจะให้จริง ๆ อาจจะเกิน ๒ ล้านบาท
ก็อยากจะทราบว่า พอในการสร้างไหม
ป้าน้อยก็ตอบหลานสาวบอกว่า ทั้งนี้ป้าก็ถามหลวงปู่แล้ว หลวงปู่ท่านบอกว่าใครให้เท่าไรท่านก็พอถ้าไม่พอ
ท่านก็เอาเงินประเภทที่เขาทำบุญไม่จำกัดประเภท มาร่วมในการสร้าง
และเงินที่เขาถวายมาเป็นส่วนตัวของท่าน ท่านก็มาร่วมสร้างด้วย ก็ถือว่า พอ
จุไรก็ถามต่อไปว่าทราบว่า มณฑปที่ประทับประดิษฐานพระปัจเจกพุทธเจ้า จะมีรูปท่านสุวรรณ วีระผล อยู่ด้วยใช่ไหม
เขาจะหล่อรูปมาใส่
คุณป้าน้อยก็ตอบว่า ใช่ เห็นหลวงปู่ท่านบอกว่า บอกกับท่านสุวรรณ วีระผล ขอให้หล่อรูปเอามาตั้งที่มณฑปนี้เป็นสัญลักษณ์ว่า
เป็นเจ้าของมณฑป
เพราะว่า มณฑปทั้งสองหลังนี้ ยังไม่มีใครทำบุญร่วมมาเลย และหลังของหลวงพ่อปาน ก็มีรูปท่านจันทนา วีระผล ภรรยา ท่านสุวรรณ
วีระผล ประดิษฐานที่นั้นด้วย เพราะว่าตระกูลนี้ช่วยกันสร้าง เพราะว่ายังไม่มีใครร่วมเป็นเจ้าของ
จุไรจึงได้ชวนคุณป้าน้อย บอกคุณป้าน้อยว่าคุณป้าเจ้าคะ ถ้าอย่างนั้น ไปมณฑปโน้นกันดีกว่า สองป้าหลานก็ชวนกันไป เมื่อไปถึงแล้วเธอก็มองดูรอบ ๆ
ทั้งข้างล่าง ทั้งข้างบน ทั้งข้างใน ทั้งข้างนอก เห็นแพรวพราวเป็นระยับไปด้วยกระจก ติดกระจกเงาเหมือนกัน ทั้งข้างนอก ข้างใน และแพรวพราว
สวยสดงดงามเหมือนกันทั้งสองมณฑป รับกับวิหาร ๑๐๐ เมตร
เธอก็ถามว่า คุณป้าเจ้าคะ วิหารนี้เป็นที่ประดิษฐานรูปหลวงพ่อปานใช่ไหม
คุณป้าก็บอกว่า ใช่
เธอก็ถามว่า หลวงปู่นี่ กับหลวงพ่อปาน มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกันมาหรือ
หนูได้ฟังแต่เพียงว่า หลวงปู่บอกว่า หลวงพ่อปานเป็นครูสอนกรรมฐานท่าน
คุณป้าน้อยก็บอกว่า ไม่ใช่หลาน ความจริง เป็นอย่างนี้ หลวงปู่ของเรานี่ เมื่อก่อนจะบวช ก็เรียกว่า เขาหาฤกษ์กันต่าง ๆ เวลาจะบวช
สำหรับหลวงปู่ของเรานี่ หลวงพ่อปานเป็นคนให้ฤกษ์ และก็เป็นคู่สวดให้ จัดการอุปสมบทเสร็จเรียบร้อย
ทุกอย่างเป็นภาระของท่าน แต่ใครจะช่วยเข้ามาอย่างไรก็ช่วย แต่ท่านถือว่าเป็นเจ้าภาพ ถ้าไม่มีใครช่วย อะไรบกพร่องเป็นเรื่องของท่าน
เมื่อหลังจากบวชแล้วนี่ วันนั้นก็นำหลวงปู่ไปที่กุฏิ ท่านก็ไปอบรมหลวงปู่ของเรา บอกว่า ขึ้นชื่อว่า
เงินที่เขาทำบุญมาจงอย่าให้เจ้าของเงินได้เพียงอย่างเดียว คือ เขาถวายมาเป็นส่วนตัว และก็ใช้เองหมดอย่างนี้ชื่อว่า ได้บุญอย่างเดียว
มีอานิสงส์เป็นการถวายทานส่วนตัว
และท่านก็แยกบอกว่าเงินเขามาให้แต่ละคราว ควรจะแยกไป
๑. ได้บุญส่วนตัว
๒. เข้าไปร่วมในเรื่องอาหารของวัด เป็น สังฆทาน
๓. เอาแบ่งไปช่วยงานก่อสร้างของวัด เป็น วิหารทาน และ
๔. เอาไปช่วยฝ่ายธรรมะ เป็น ธรรมทาน ฝ่ายธรรมะก็คือว่าซื้อตำราเรียน หรือช่วยในการสอนพระ เรียนนักธรรมหรือบาลี
และต่อมาท่านก็สอนอีกว่า เงินปีนี้จงอย่าเหลือให้ถึงปีหน้า ตอนนั้นหลวงปู่ของเราท่านก็ถามว่า ถ้าบังเอิญเงินในวันนั้น
เป็นวันสิ้นปี ก่อนเวลาสองยาม ถ้าถึงเวลาสองยามนาฬิกาตีหกทุ่มเป๊ง ถือว่าเป็นวันใหม่ ถ้าบังเอิญมีคนเขาถวายวันนั้น และยังไม่ทันจะใช้มันก็ต้องข้ามปี
อย่างนี้จะทำอย่างไร
หลวงพ่อปานท่านก็แนะนำบอกว่า เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ถ้าหากว่า มันเป็นอย่างนั้น ก่อนหน้าจากวันนั้นก็คิดไว้ก่อนว่า ปีหน้าเราจะทำอะไร สมมติว่า
ถ้าเราจะสร้างส้วมสักหลังหนึ่ง มันก็ราคาก็แพงกว่าเงินที่เรามีอยู่ จำนวนเงินต้องใช้มากกว่า ถึงแม้เงินยังไม่ได้ใช้ แต่ความจำเป็นจะต้องใช้มีอยู่แล้ว
ถือว่าเงินไม่ข้ามปี
และหลังจากนั้นท่านก็อบรมกรรมฐาน พออบรมกรรมฐานเสร็จ ท่านก็พาเข้าไปอยู่ป่าช้า ให้ฝึกสมาธิจิตในป่าช้า และขณะที่อยู่ในป่าช้านี่ อยู่เงียบสงัด
อยู่ด้วยกันจริง ๆ ๔ องค์ แต่ว่า ๔ องค์ ก็ไม่ได้อยู่ใกล้กัน อยู่ไกลกัน ป่าช้านะเป็นดงไผ่ เดินเข้าหากันไม่ได้ อยู่ตรงนี้จุดหนึ่ง
ตรงโน้นจุดหนึ่ง ตรงโน้นจุดหนึ่ง ตรงโน้นอีกจุดหนึ่ง ๔ จุด
แต่ละจุดที่อยู่ก็เป็นกระท่อมที่เขาเคยเก็บศพ แต่ว่านำศพไปเผาแล้ว ต่างคนต่างอยู่ เงียบสงัด เวลานั้นไฟฟ้าก็ไม่มี ใช้แต่ตะเกียง กระจกบ้าง
ตะเกียงรั้วบ้าง ใช้เทียนบ้าง
จุไรก็ถามว่า คุณป้าเจ้าคะ แล้วหลวงปู่ท่านเคยบอกหรือเปล่าว่า อยู่ในป่าช้า ท่านกลัวผีไหม
คุณป้าก็บอกว่า หลวงปู่เคยบอกว่า กลัวผี