ภาพ/คลิปวีดีโอ...งานฌาปนกิจ พระครูใบฎีกาสมพงษ์ สมจิตฺโต
webmaster - 24/8/11 at 17:09
01. กำหนดการฌาปนกิจ
02. ประวัติพระครูใบฎีกาสมพงษ์ สมจิตฺโต( สกุลเดิม แก้ววิมล )
03. บันทึก...ถึงพระครูใบฎีกาสมพงษ์ สมจิตฺโต
พระครูปลัดสุวัฒนสมาธิคุณ
พระครูสังฆรักษ์สุรจิต สุรจิตฺโต
พระอาจินต์ ธมฺมจิตฺโต
วศิน แก้ววิมล (บอล)
คณะศิษย์เก่าโรงเรียนพระสุธรรมยานเถระวิทยา
จากศิษย์เก่า พ.ส.ธ. รุ่น ๑-๙
04. ชมภาพหลากหลายอริยบท พระครูใบฎีกาสมพงษ์ สมจิตฺโต
05. ภาพงานสวดพระอภิธรรม พระครูใบฎีกาสมพงษ์ สมจิตฺโต
06. ภาพงานฌาปนกิจ พระครูใบฎีกาสมพงษ์ สมจิตฺโต
กำหนดการงานฌาปนกิจศพ พระครูใบฎีกาสมพงษ์ สมจิตฺโต
วันอังคารที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๔
เวลา ๒๐.๕๐ น.พระครูใบฎีกาสมพงษ์ สมจิตฺโตได้ถึงแก่มรณภาพที่ โรงพยาบาลจุฬา
วันพุธที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๔
เวลา ๑๔.๓๐ น. พระสงฆ์วัดท่าซุง นำโดย หลวงพ่อพระครูปลัดสุวัฒนสมาธิคุณ พระปลัดวิรัช โอภาโส
และพระอาคันตุกะ ได้ร่วมกันขอขมา ต่อศพ พระครูใบฎีกาสมพงษ์ สมจิตฺโต ณ ศาลา ๑๒ไร่
เวลา ๑๕.๐๐ น. หลวงพ่อพระครูปลัดสุวัฒนสมาธิคุณได้ นำพระสงฆ์วัดท่าซุง และพระอาคันตุกะ
สรงน้ำศพ ต่อด้วยบรรดา ญาติโยมที่มาได้ร่วมกันสรงน้ำศพ ณ ศาลา ๑๒ไร่
เวลา ๑๕.๒๕ น. พระสงฆ์วัดท่าซุง ร่วมกันเอาศพของพระครูใบฎีกาสมพงษ์ สมจิตฺโตลงสู่ โลงศพ
เวลา ๑๕.๓๐ น. พระสงฆ์วัดท่าซุง กราบพระครูใบฎีกาสมพงษ์ สมจิตฺโต ต่อด้วยญาติโยมที่มา ก็ร่วมกัน
กราบศพพระครูใบฎีกาสมพงษ์ สมจิตฺโต
กำหนดการฌาปณกิจ
วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๔ ถึง วันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๔
เวลา ๐๗.๐๐ น. ถวายภัตราหารเช้าทุกวัน
เวลา ๑๑.๐๐ น. ถวายภัตราหารเพลทุกวัน
เวลา ๑๙.๓๐ น. มีสวดอภิธรรมทุกคืนที่ "ณ ศาลา ๑๒ไร่"
วันอาทิตย์ที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๔
เวลา ๑๔.๐๐น. พระสงฆ์วัดท่าซุง สวดมาติกา
เจ้าภาพและญาติโยมทอดผ้า
พระพิจารณาผ้าบังสุกุล
เจ้าภาพและญาติโยม ถวายปัจจัยไทยทาน และสังฆทาน
เวลา ๑๔.๓๐น.อ่านประวัติ พระครูใบฎีกาสมพงษ์ สมจิตฺโต
เวลา ๑๔.๔๕น.อุทิศส่วนกุศล
พิธีขอขมา พระครูใบฎีกาสมพงษ์ สมจิตฺโต
เวลา ๑๕.๐๐น. เคลื่อนศพสู่ฌาปนกิจสถาน เมรุชั่วคราวลาน ๒๕ ไร่
เจ้าภาพทอดผ้าไตรบังสุกุล พระสงฆ์พิจารณาผ้า
เวลา ๑๕.๓๐น. ประชุมเพลิง
หมายเหตุ เวลาอาจเปลี่ยนแปลงใหม่ได้ ขอให้ติดตามข่าวสาร
รายนามเจ้าภาพสวดพระอภิธรรม
พระครูใบฎีกาสมพงษ์ สมจิตฺโต (สกุลเดิม แก้ววิมล)
วันพุธที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๔
- คุณจุฑาวรรณ โอฬารวัฒน์
- คุณสุมาลี อนันต์พลังใจ
- บริษัท สปีดเพรส จำกัด
- กลุ่มตามรอยเท้าพ่อ
- คณะญาติ พระครูใบฎีกาสมพงษ์ สมจิตฺโต
- ครอบครัวอินทร์พรหม
วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๔
- บริษัท สปีดเพรส จำกัด
- คณะครู-นักเรียน โรงเรียนพระสุธรรมฯ
- พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระอุทัยธรรมานุวัตร รองเจ้าคณะ จ.อุทัยธานี
- คุณจิรายุ เกษมศิริบุญวัฒน์
วันศุกร์ที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๔
- คณะศิษย์เก่าโรงเรียนพระสุธรรมฯ รุ่นที่ ๑-๙
- Mr.Shake
วันเสาร์ที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๔
- คุณเยาวลักษณ์ มิตรศรัทธา
- คุณกิจจา กาญจนบรรณ
- คณะศิษย์เก่าโรงเรียนพระสุธรรมฯ รุ่นที่ ๓
- พ.ต.อ.ชาญวิทย์ กนกนาก
วันอาทิตย์ที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๔
- บริษัท สปีดเพรส จำกัด
- คุณจุฑาวรรณ โอฬารวัฒน์
- คุณสุขา อ่อนจิตต์-Mr.Shake-คุณสุมาลี อนันต์พลังใจ
คลิป วีดีโอ..."งานศพพระครูใบฎีกาสมพงษ์ สมจิตฺโต
รดน้ำศพพระครูใบฎีกาสมพงษ์ สมจิตฺโต
สวดพระอภิธรรม พระครูใบฎีกาสมพงษ์ สมจิตฺโต
การฌาปนกิจ พระครูใบฎีกาสมพงษ์ สมจิตฺโต ตอน ๑
การฌาปนกิจ พระครูใบฎีกาสมพงษ์ สมจิตฺโต ตอน ๒
การฌาปนกิจ พระครูใบฎีกาสมพงษ์ สมจิตฺโตตอน ๓
ภาพเหตุการณ์รดน้ำศพ พระครูใบฎีกาสมพงษ์ สมจิตฺโต
เตรียมสถานที่ ศาลา ๑๒ ไร่
ll กลับสู่สารบัญ
webmaster - 26/8/11 at 18:44
02
ประวัติพระครูใบฎีกาสมพงษ์ สมจิตฺโต( สกุลเดิม แก้ววิมล )
ชาติกำเนิด
เดิมชื่อ สมพงษ์ แก้ววิมล เป็นบุตรของพ่อสุนทร แก้ววิมล อดีตผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๒ ตำบลทองเอน อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี และแม่ผุน
แก้ววิมล(นามสกุลเดิม บัวพนัส) เกิดเมื่อ วันที่ ๒๕ เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๙๘ ตรงกับวันอาทิตย์ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๒ ปีมะแม ที่บ้านเลขที่
๓๘ หมู่ที่ ๒ ตำบลทองเอน อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี
มีพี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน รวมทั้งหมด ๑๒ คน ดังนี้
๑. นายละมูล แก้ววิมล อดีตนายอำเภอด่านขุนทด (ถึงแก่กรรมแล้ว)
๒.น.ส. คูณ แก้ววิมล
๓. นางใจพร พูลธัญญกิจ อดีตเสมียนตราอำเภอสิงห์บุรี(ถึงแก่กรรมแล้ว)
๔. น.ส. สำอาง แก้ววิมล อดีตข้าราชการกรุงเทพมหานคร(ถึงแก่กรรมแล้ว)
๕. นายเอี่ยม แก้ววิมลอดีตหัวหน้าชุมสายโทรศัพท์จังหวัดกำแพงเพชร(ถึงแก่กรรมแล้ว)
๖.นายเรียม แก้ววิมล ข้าราชการบำนาญอดีตพัฒนาการอำเภอแม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์
๗. นายจำเริญ แก้ววิมลที่ปรึกษาหุ่นส่วนผู้จัดการบริษัท ไฟศาลอินเตอร์ฟลาสติค จำกัด
๘. เด็กหญิงขวัญหล้า แก้ววิมล(ถึงแก่กรรมแล้ว)
๙. นายณรงค์ แก้ววิมล ข้าราชการบำนาญ อดีตปลัดอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา
๑๐.พระครูใบฎีกาสมพงษ์ สมจิตฺโต (เจ้าของประวัติ)
๑๑.นายประยรู แก้ววิมล เจ้าหน้าที่ดิน อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี
๑๒. นางเพ็ญนภา แฟงเอม ข้าราชการครู คส.๒ การศึกษาโรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์ สำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษา กรุงเทพมหานคร ฯ
การศึกษา
เนื่องจากครอบครัวของท่านเป็นครอบครัวใหญ่มีพี่น้อง หลายคน ท่านก็ช่วยครอบครัวทำงานตามปกติทั่วไป อาชีพของ บิดา มารดา คือการทำนา
ท่านก็ช่วยเหลือพ่อแม่ในการทำงานด้วย งานบ้านก็มี อาทิ ตักน้ำ ถูบ้าน เป็นต้น เมื่ออายุครบเกณฑ์ ๗ ขวบ ก็ได้เข้าศึกษาตามลำดับดังนี้
-จบประถมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียนวัดกลาง ตำบลทองเอน อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี
-จบประถมศึกษาปีที่ ๗ โรงเรียนวัดดงยาง ตำบลทองเอน อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี
-จบมัธยมศึกษาปีที่ ๓ โรงเรียนอุดมสิน ตำบลอินทร์บุรี อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี
-พ.ศ. ๒๕๑๗ จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) สาขาช่างก่อสร้าง ที่วิทยาลัยเทคนิค ลพบุรี จังหวัดลพบุรี
ประวัติการทำงาน
เริ่มทำงานโดยรับราชการเป็นครูที่โรงเรียนวัดโบสถ์ โดยสอนชั้นประถมศึกษา เป็นเวลา ๒ ปี จากนั้นย้ายไปเป็นครูประถม ที่โรงเรียนชุมชนวัดดงยาง ตำบลทองเอน
อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี อีกประมาณ ๗ ปี ในระหว่างที่ท่านรับราชการครู ก็ได้ศึกษาที่วิทยาลัยครูเทพสตรีลพบุรี ควบคู่ไปกับการทำงาน
จบหลักสูตรวิชาครูพิเศษมัธยม(พม.) และสำเร็จระดับปริญญาตรี คณะคุรุศาสตร์บัญฑิต(คม.) สาขาอุตสาหกรรมศิลป์ จากวิทยาลัยครูเทพสตรี โดยได้ใช้เวลาศึกษารวม
๓ ปี ในระหว่างรับราชการครูนั้น ประมาณ ปีพ.ศ. ๒๕๒๒ ท่านได้พบกับครูวิชัย มีสวย บิดาของอาจารย์ชัยศรี มีสวย ผู้อำนวยการโรงเรียนพระสุธรรมยานเถระวิทยา
ครูวิชัยได้มอบหนังสือประวัติหลวงปู่ปานให้กับท่าน หลังจากได้รับหนังสือเล่มนั้นแล้ว ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป
ท่านเริ่มศึกษาค้นคว้า และปฏิบัติอย่างจริงจัง ด้วยความที่เป็นคนมีวิริยะอุตสาหะ และเป็นคนที่เอาจริงเอาจังมาแต่เดิม ทำให้ท่านเปลี่ยนแปลงชีวิต
ของท่านจนญาติๆ และเพื่อนๆ แปลกใจ จนในที่สุดท่านก็ได้ตัดสินใจบวช
เข้าสู่ร่มเงาพระศาสนา
อายุ ๒๘ ปี ได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดจันทาราม(ท่าซุง) อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ โดยมีพระครูอุทัยธรรมโกศล
เป็นพระอุปัชฌา พระชัยวัฒน์ อชิโต เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระมนู โชติปญฺโญ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ท่านบวชแล้วก็อยู่จำพรรษาที่วัดท่าซุงแห่งเดียว
จนมรณภาพในปี พ.ศ.๒๕๕๔ รวมพรรษา๒๙ พรรษา
ตำแหน่ง
ปีพุทธศักราช ๒๕๒๗ ได้รับเลือกและแต่งตั่งเป็นคณะกรรมการสงฆ์ ของวัดจันทาราม(ท่าซุง)
ปีพุทธศักราช ๒๕๓๒ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระฐานานุกรมที่ พระครูใบฎีกา ของพระราชพรหมยานเถระ
ปีพุทธศักราช ๒๕๓๔ ได้รับแต่งตั้งเป็น ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดจันทาราม (ท่าซุง) ตำบลน้ำซึม อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี
งานสาธารณูปการ
เนื่องด้วยได้เคยรับราชการเป็นครูมาก่อน ประกอบกับที่สนใจในงานศิลป์ ในระหว่างเป็นฆราวาส ยังได้มีโอกาศมาช่วยงานหนังสือธัมมวิโมกข์
เมื่อราวปีพุทธศักราช ๒๕๒๕
เมื่อโรงเรียนพระสุธรรมยานเถระวิทยา ได้ก่อตั้งในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ พระเดชพระคุณหลวงพ่อ มีความมุ่งหมายจะอบรมสั่งสอนเด็กโดยเน้นครู- อาจารย์ ที่มีคุณธรรม
พระครูใบฎีกาสมพงษ์ฯ จึงได้เน้นมารับใช้งานเกี่ยวกับโรงเรียนและหนังสือธัมมวิโมกข์ ตามความถนัดของท่าน
สำหรับประวัติการทำงานในช่วงเวลาต่าง ๆ พอสรุปเป็นสังเขป ได้ดังนี้.-
ปีพุทธศักราช ๒๕๒๕-๒๕๕๔ ทำงานหนังสือธัมมวิโมกข์
ปีพุทธศักราช ๒๕๒๙-๒๕๓๗ เป็นครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ ของโรงเรียนพระสุธรรมยานเถระ
ชีวิตบั้นปลาย
วันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๕๔ ท่านมีอาการชาที่แขน ขา พูดด้วยอาการลำบาก ลูกศิษย์ได้นำส่งโรงพยาบาลค่ายจิระประวัติ
จังหวัดนครสวรรค์ แพทย์ได้ตรวจก้อนเนื้อร้ายในสมอง ซึ่งจำเป็นต้องนำส่งกรุงเทพฯ เพื่อตรวจสอบด้วยเครื่องมือพิเศษอีกครั้ง โรงพยาบาลค่ายจิรประวัติ
จึงส่งท่านไปรักษาที่โรงพยาบาลพญาไท ๒ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตามลำดับ
แพทย์ได้ผ่าก้อนเนื้องงอกขนาดใหญ่ที่สมองของท่านออกมา เมื่อราวกลางเดือน มิถุนายน ๒๕๕๔ เมื่อผ่าแล้วท่านอยู่รักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ประมาณ ๑
สัปดาห์ ก็กลับมารักษาตัวต่อที่วัดท่าซุง วันที่๒ เดือนกรกฎาคม ๒๕๕๔ และแพทย์ไดนัดท่านกลับไปยังโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ วันที่๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๔
เพื่อฉายแสงและให้เคมีบำบัด
ท่านได้เดินทางออกจากวัดในวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๔ และเริ่มให้เคมีบำบัดครั้งแรก ช่วงต้นเดือนสิงหาคม ๒๕๕๔ หลังจากนั้นประมาณ ๓วัน เกิดมีลิ่มเลือด
ไปอุดตันในปอด จนคณะแพทย์ต้องตัดสินใจ เปิดหน้าอกท่านเพื่อแก้ปัญหาลิ่มเลือดในวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๔
หลังจากผ่าตัดปอดยังไม่ค่อยตอบสนองเท่าที่ควร ต้องอาศัยเครื่องช่วยหายใจตลอดเวลา จนเกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด จนปอดไม่สามารถทำงานได้ต่อไป
ในที่สุดก็ถึงกาลมรณภาพ เมื่อวันอังคารที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๒๑.๐๐ น. ด้วยอาการสงบ รวมอายุได้ ๕๖ ปี พรรษา ๒๙
ll กลับสู่สารบัญ
webmaster - 27/8/11 at 16:38
3
ความเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวอดทน ของพระครูใบฏีกาสมพงษ์ สมจิตฺโต
อาตมาจะกล่าวถึงพระครูใบฏีกาสมพงษ์ สมจิตฺโต เพื่อนภิกษุรุ่นน้องของอาตมาได้ถึงการมรณภาพลง ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
กรุงเทพมหานคร ท่านเป็นพระที่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนามั่นคง ได้อุทิศตนบวชด้วยความเคารพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และครูบาอาจารย์ พระธรรม พระสงฆ์
ด้วยความจริงใจ
การที่ท่านได้มาอยู่วัดท่าซุงนั้น อาตมากับพระครูใบฏีกาสมพงษ์ฯ เคยอยู่ร่วมใกล้ชิดกันเป็นพิเศษ สมัยเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕
อาตมาอยู่กับตึกเดียวกับหลวงพ่อพระราชพรหมยานฯ ที่ตึกกลางนํ้า ส่วนท่านพระครูใบฏีกาสมพงษ์ฯ นั้น พักอาคารติดกันที่ตึกธัมมวิโมกข์
ตอนเช้าเราก็ฉันภัตตาหารเช้าร่วมกันที่ตึกธัมมวิโมกข์
พระครูใบฎีกาสมพงษ์ฯ มีความรู้ดี และมีความสนใจในธรรมะดี ก็มาทำหนังสือธัมมวิโมกข์ ทำต้นฉบับอาร์ตเวิร์ค เข้ารูปเล่มกันที่ตึกนี้
หูของท่านจะต้องเสียบหูฟัง ฟังเทปของหลวงพ่อตลอด มีความรู้แน่น มีความเข้าใจในธรรมะดี ท่านก็จะมีโอกาสรับใช้หลวงพ่อ พระราชพรหมยานฯ ทุกวาระ
แม้จะอยู่เมืองไทย อยู่ที่ต่างประเทศ หรืออยู่ที่สถานที่ต่าง ๆ ก็ดี หลวงพ่อก็จะนำท่านไปด้วยเสมอ ๆ
มีการเล่าสู่กันเป็นการภายในคณะศิษย์ของหลวงพ่อว่า ท่านเคยเกิดในสมัยฮิตเลอร์ เป็นทหารคนสำคัญในการจัดการรบสมัยนั้น
โดยหลวงพ่อเป็นผู้เล่าให้ฟัง ท่านจึงเป็นคนที่มีระเบียบวินัยเข้มแข็ง ทำงานแล้วต้องทำงานอย่างดี
สมัยท่านสอนลูกศิษย์ของท่านที่อยู่โรงเรียนพระสุธรรมฯนั้น ท่านมีความเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวอดทน มีความจริงใจต่อลูกศิษย์
มีความปรารถนาดี จิตใจกว้างขวาง กับลูกศิษย์ทุกคน ถ้ามีสิ่งใดที่เป็นความรู้เป็นประโยชน์กับลูกศิษย์ ท่านจะให้หมดเลย
อุทิศทั้งตัวทั้งใจทั้งกายทั้งทรัพย์ทั้งสิน จะสงเคราะห์ด้วยให้ด้วยความจริงใจ
ฉะนั้นก็จะถือว่าทางวัดท่าซุง ได้ขาดพระที่มีความมั่นคงในพระพุทธศาสนาไปอีกหนึ่งองค์ ส่วนตัวแล้วอาตมากับท่านคุยกันเสมอ บ้านเกิดท่านอยู่ที่ตำบลทองเอน
อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ท่านมีพี่น้องหลายคนอาตมารู้แต่คร่าว ๆ ว่าท่านมีพี่ชาย เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เป็นนายอำเภออยู่ท่านหนึ่ง
ท่านเล่าให้ฟังว่า พี่ชายนั้นไปเรียนหนังสือที่ในกรุงเทพฯ เรียนหนังสือนั้นไม่ไหวกลับมาอยู่บ้าน คุณพ่อท่านเป็นผู้ใหญ่บ้าน ก็เรียกพี่ชายว่า "ลูกเรียนหนังสือไม่ไหวหรือ ลูกก็บอกว่าไม่ไหว เมื่อไม่ไหวก็ดีแล้วลูกเอาควายไปเลี้ยง" เพราะสมัยโบราณเมื่อ ๖๐-๗๐ ปีก่อนนั้น
เครื่องยนต์กลไกไม่ค่อยมี เอาควายไปเลี้ยง เมื่อเอาควายไปเลี้ยงแล้ว ร้อนหนักๆเข้า ก็เอาควายเข้าร่ม ทำๆอย่างนี้หลายๆวัน
พ่อก็รู้แล้วว่าลูกให้เรียนหนังสือก็ไม่เอา เลี้ยงควายก็ไม่เอา จับลูกชายคนโตมัดมือแล้วเอากิ่งมะขามเฆี่ยน แล้วสั่งสอนไปด้วยว่า
"กูให้มึงไปเรียนหนังสือ ให้มีความรู้ จะได้ไม่ต้องมาลำบากเหมือนกู แต่มึงก็ไม่เอา" ตีไปสั่งสอนไป ลูกชายก็รับปากว่าต่อไปจะไปเรียนหนังสือ
ผลสุดท้ายก็ต้องไปเรียน จบเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่
ก็ได้ส่งเสียน้อง ๆ ให้มีการศึกษาดีทุกคน เป็นครูบาอาจารย์ เป็นวิศวกร และอีกหลาย ๆ คนมีอาชีพที่มั่นคง มีฐานะ มีความเป็นอยู่ดี มีความรู้ในหมู่ชน
ท่านพระครูใบฎีกาสมพงษ์ฯ ก็เล่าให้ฟังอยู่
อาตมากับท่านพระครูใบฎีกาสมพงษ์ฯ สนิทกันปัญหาส่วนตัวหรือเรื่องต่างๆ ก็ถือว่าเราได้คุยกันอย่างใกล้ชิดเสมอมา ในขณะนี้ท่านกาลมรณภาพลง
ทำให้อาตมาเศร้าใจว่าคนที่ใกล้ชิดสนิท ได้จากเราไปอีกท่านหนึ่ง ปีนี้ที่วัดท่าซุงเป็นปีที่เศร้าพอสมควร เพราะว่าเมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๔ พระใบฏีกาประทีป อตฺถทสฺสี มรณภาพ และฌาปนกิจ
วันเสาร์ที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๔ มาวันนี้วันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๔ เป็นวันที่พระครูใบฏีกาสมพงษ์ฯ มรณภาพลง
ในเดือนเดียวกับพระใบฏีกาประทีปฯ ทำให้อาตมาเศร้าใจ นึกถึงตัวเองว่า "ก็วันหนึ่งก็คงจะได้เป็นงานของตัวเองบ้าง"
ก็หวังว่าญาติโยมทั้งหลายที่อ่านบ้าง หรืออ่านแล้วก็คงสะดุดนึกถึงตัวเองบ้าง เพื่อจะได้ไม่ประมาทในชีวิต เตรียมความตายได้มากันทุกคน
ฉะนั้นเมื่อมีสติดี ๆ มีปัญญาดี ๆ มีสมองดี ๆ ก็ควรขวนขวายทำความดีเสียให้ทรงตัว เมื่อความดีทรงตัว เมื่อสิ้นอายุขัยก็จะไปสู่สุคติ
ถ้าเราไม่เตรียมตัวไว้ปัญหาภายภาคหน้าเมื่อสิ้นชีวิตแล้วก็จะเป็นที่ไม่แน่นอน หวังว่าญาติโยมและเพื่อนพระภิกษุก็คงจะมีสติ ไม่ประมาทในชีวิต
ก็ขออำนวยพรให้แก่ทุกท่านจงประสพแต่สุข พ้นทุกข์ในวัฏฏะสงสารทุกท่านทุกคนเทอญ.
พระครูปลัดสุวัฒนสมาธิคุณ (อนันต์ พทฺธญาโณ)
เจ้าอาวาสวัดจันทาราม (ท่าซุง)
๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๔
ll กลับสู่สารบัญ
คุณความดีของพระครูใบฎีกาสมพงษ์ สมจิตฺโต
พระครูใบฎีกาสมพงษ์ สมจิตฺโต ท่านเป็นคนร่าเริง เอาจริงเอาจัง มีความมุ่งมั่นในการทำงานสูง
เมื่อครั้งที่หลวงพ่อพระราชพรหมยานเถระได้ตั้งศูนย์สงเคราะห์ผู้ยากจนในถิ่นทุรกันดาร การนำของไปแจกผู้ยากจน ทำให้เห็นเด็กๆ
ลูกหลานของผู้ยากจนไม่ค่อยมีโอกาสได้เรียนหนังสือสูงเหมือนคนในเมือง เพราะต้องช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน
ซึ่งเด็กเหล่านี้โตขึ้นจะเป็นอนาคตของชาติ หลวงพ่อจึงดำริจะสร้างโรงเรียนขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือลูกหลานผู้ยากจนเหล่านี้ ตอนนั้นยังไม่มีอาคารเรียน
ต้องอาศัยเรียนตามอาคารของวัด ระยะแรกรับแต่เด็กผู้ยากจนจริงๆ ให้เรียนฟรี โดยหลวงพ่อรับภาระค่าเล่าเรียน ค่าหนังสือ ค่าเสื้อผ้า และค่าอาหารไว้เอง ส่วนครู
หลวงพ่อต้องการให้ครูเป็นคนมีคุณธรรม ท่านบอกว่า ถ้าครูไม่ดี จะสอนเด็กให้เป็นคนดีไม่ได้
ท่านจึงเน้นรับครูที่เป็นนักปฏิบัติธรรม
พระครูใบฎีกาสมพงษ์ฯ ท่านเป็นครูมาตั้งแต่ก่อนบวช เมื่อรับหน้าที่เข้ามาสอน ได้ทุ่มเทการสอนให้แก่ศิษย์อย่างมุ่งมั่น
พยายามเคี่ยวเข็ญเด็กให้มีความรู้ดี มีความประพฤติดี และสามารถสอบแข่งขันเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้ ส่วนเด็กที่การเรียนอ่อน ก็ให้ได้เรียนต่อในระดับอาชีวะ
มีการส่งเด็กไปกวดวิชาตามโรงเรียนกวดวิชาที่กรุงเทพฯ เพื่อสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ทั้งๆ ที่การส่งเด็กไปกวดวิชาแต่ละคนต้องใช้เงินมาก
ทั้งค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าที่พัก และค่ากวดวิชา ท่านก็รับภาระค่าใช้จ่ายเอง จากการทุ่มเทอย่างจริงจังของท่าน ทำให้เด็กยากจนซึ่งมาจากโรงเรียนต่างๆ
ที่มีการเรียนอ่อน กลายเป็นเด็กที่มีความรู้ความสามารถ เป็นการมอบชีวิตใหม่ และอนาคตอันสดใสให้แก่ศิษย์เหล่านี้
ได้เป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติต่อไปในภายภาคหน้า
งานอีกอย่างหนึ่งที่ท่านทำ คือการทำต้นฉบับธัมมวิโมกข์ พระพุทธเจ้าตรัสว่า การให้ธรรมเป็นทาน เป็นทานที่มีอานิสงส์มากที่สุด
ท่านสมพงษ์ฯ ก็พยายามทำให้ดีที่สุด จากการทำหนังสือ ทำให้ได้ฟังธรรมมาก เพราะต้องค้นคว้าเรียบเรียง
ให้หนังสือออกมาเป็นรูปเล่มที่สมบูรณ์ การศึกษาธรรมมาก ก็เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติธรรมของท่าน ทำให้ปฏิบัติได้ถูกทางไม่หลงทาง
การปฏิบัติก็เจริญก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ
เวลานี้พระครูใบฎีกาสมพงษ์ฯ ก็ไปดีแล้ว ขอพวกเราอย่าได้ประมาทในชีวิต อย่าคิดว่าเรายังแข็งแรง เรายังไม่ตาย
ขอให้ทุกคนพยายามทำความดี ปฏิบัติอยู่ใน ศีล สมาธิ ปัญญา พยายามทำความดีทุกอย่าง เพื่อจะได้ไปดีอย่างท่าน
พระครูสังฆรักษ์สุรจิต สุรจิตฺโต
๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๔
ll กลับสู่สารบัญ
อาลัยแต่ไม่อาวรณ์
วันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๔ ได้ทราบข่าวจากสุรัตน์ บัวประเสริฐ (แหม่ม) ลูกศิษย์ที่ประเทศเยอรมัน ว่า ได้คุยกับหลวงพ่อสมพงษ์ฯวันนี้
รู้สึกฟังเสียงไม่ค่อยดี พูดไม่ค่อยชัด จึงโทรศัพท์บอกอาจารย์อุ่นเรือนฯ ให้มารับหลวงพ่อสมพงษ์ฯ ไปโรงพยาบาลหน่อย อาจารย์อุ่นเรือนฯ
ก็นำส่งโรงพยาบาลค่ายจิรประวัติ
ต่อมาก็ได้ทราบว่าแพทย์ได้ตรวจวินิจฉัยว่า เป็นเนื้องอกในสมอง และไม่แน่ใจว่าจะเป็นมะเร็งหรือไม่ วันต่อมาก็ทราบว่า
น้องสาวท่านสมพงษ์ฯนำส่งโรงพยาบาลพญาไท ๒ ที่กรุงเทพฯ อยู่ได้ ๑ วัน ค่ารักษาแพงมาก ดร. อัจฉรา เสาว์เฉลิม (ดร.เอ) ติดต่อเตียงได้ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
จึงย้ายท่านสมพงษ์ฯ เข้าโรงพยาบาลจุฬา ฯ ต่อมาแพทย์ก็ได้ผ่าตัดเนื้องอกในสมอง และได้ทราบว่าเป็นมะเร็งขั้นสุดท้าย
โอหนอ..ท่านสมพงษ์ฯ ยังดูแข็งแรงดีแท้ ๆ แต่เป็นมะเร็งในสมองไปแล้ว ร่างกายไม่เที่ยงจริง ๆ หนอ หลังจากผ่าตัดแล้วอยู่พักรักษาพักหนึ่ง
แพทย์ก็อนุญาตให้กลับวัดท่าซุง ทราบข่าวว่า ท่านสมพงษ์ฯเดินจงกรมได้ ก็รู้สึกดีใจ นึกชมเชยแพทย์ว่าเก่งจริง ๆ
แต่อยู่วัดได้ไม่นาน แหม่มก็โทรศัพท์มาบอกอีกว่า ต้องนำหลวงพ่อสมพงษ์ฯ ส่งโรงพยาบาลอีกแล้ว
แพทย์อาจจะผ่าตัดอีก โอ..กรรมหนอกรรม ตามจี้ไม่หยุดเลย แหม่มก็ช่วยกันทำบุญสังฆทาน ปล่อยปลากันหลายกิโล
ทางนี้ก็ช่วยถวายสังฆทานให้เจ้ากรรมนายเวรท่านสมพงษ์ฯ เพราะในอดีตนานมาแล้ว ท่านสมพงษ์ฯมาสร้างกรรมไว้ที่เยอรมันเยอะ
(ตามที่ท่านเคยเล่าให้ฟัง)
มาเยอรมันครั้งแรก นอนที่วัดพุทธไทยเนอร์นแบร์กคืนแรกก็ฝันเห็นมือจะมาจับตัวกันยั้วเยี้ยะไปหมด แต่ท่านสมพงษ์ฯก็กลัว
สามารถอยู่เยอรมันได้ถึง ๓ เดือน แล้วก็เดินทางกลับไทย ญาติโยมชวนให้มาอีก ท่านก็บอกไม่มาแล้ว (คงขยาดแล้ว) ก็นึกว่าจะหนีรอดแล้ว แต่จู่ ๆ
ก็ตามมาเล่นงานถึงเมืองไทย
วันที่ ๒๓ สิงหาคม เวลา ๒๐.๓๐ น. ท่านสมพงษ์ฯ ได้ใช้หนี้กรรมพอสมควรแล้ว แล้วท่านก็ได้จากไปแล้ว แต่ร่างกายท่านทิ้งไว้เป็นอนุสรณ์ ให้เพื่อนพระภิกษุ
ลูกศิษย์ พี่น้อง ลูกหลาน ได้พิจารณาและจัดการฌาปนกิจกับร่างกายที่ท่านทิ้งแล้วต่อไป ท่านคงไปสบายแล้ว และคงไม่กลับมาที่โลกนี้อีกแล้ว
พระเดชพระคุณหลวงพ่อคงรับไปแล้ว คงมีความสุขอย่างที่สุดแล้ว
โดยทิ้งหลักฐานเป็นเครื่องยืนยันถึงความสุขของท่านด้วยรอยยิ้มที่แจ่มใสที่ฝากไว้ที่เรือนร่างที่ได้ทนทรมานมานาน
ด้วยความอาลัยแต่ไม่อาวรณ์
พระอาจินต์ ธมฺมจิตฺโต