แจ้งข่าว..ท่านเจ้าคุณ "พระราชภาวนาโกศล" มรณภาพแล้ว เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2561
webmaster - 11/2/18 at 09:03

ท่านเจ้าคุณ "พระราชภาวนาโกศล" มรณภาพแล้ว

เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ เวลา ๐๔:๔๙ น.





กำหนดการบำเพ็ญกุศลศพ

พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชภาวนาโกศล

เจ้าอาวาสวัดจันทาราม(ท่าซุง) จ.อุทัยธานี




คลิปวิดีโอ...เคลื่อนพระศพจากโรงพยาบาลบำรุงราษฏร์
ไปยังวิหารแก้ว ๑๐๐ เมตร วัดท่าซุง



(ถ้าไม่ได้ยินเสียง กรุณาเปิด "ปุ่มเสียง" ที่เครื่องเล่นด้วย)



ประวัติหลวงพ่อพระราชภาวนาโกศล
(พระครูปลัดอนันต์ พทฺธญาโณ)
อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าซุง (รูปที่ ๒)


บิดา นายรอด มารดา นางจำรัส เสนสกุล มีบุตรธิดารวม ๕ คน ดังนี้

๑. พระครูปลัดอนันต์ เสนสกุล
๒. นายวิมล เสนสกุล
๓. น.ส.ราตรี เสนสกุล
๔. นายวิจิตร เสนสกุล
๕. นายวิจารณ์ เสนสกุล

อุปสมบทเมื่อปี ๒๕๑๖ ขณะมีอายุ ๒๕ ปี ณ วัดปากคลองปลากด อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ออกพรรษาแล้วมาอยู่วัดท่าซุง ได้รับตำแหน่ง "พระครูปลัด" เมื่อเดือนธันวาคม ปี ๒๕๓๕

คติธรรมที่ประทับใจเป็นที่สุด
"สูทั้งหลาย จงมาดูโลกอันตระการดุจราชรถ ที่คนเขลายังหมกอยู่ แต่ท่านผู้รู้หาข้องอยู่ไม่"

เลื่อมใสปฏิปทาหลวงพ่อเป็นที่สุด
"ชอบใจว่าท่านเป็นผู้ที่พูดได้ และปฏิบัติของท่านเองได้"

เสียใจที่สุด
"คือวันที่หลวงพ่อจากไป เรายังไม่ได้มรรคผลอะไร"

ระหว่างเป็นเจ้าอาวาส
"ดีใจที่ได้รับใช้พระพุทธเจ้า รับใช้พระพุทธศาสนา"

ประวัติจากหนังสือ "ที่ระลึกงานกตัญญูกตเวทิตามงคล"
...ท่านพระครูปลัดอนันต์ พทฺธญาโณ เกิดวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๑ ตรงกับวันพฤหัสบดี แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีชวด เป็นบุตรคนแรกของ นายรอด และ นางจำรัส เสนสกุล มีน้องชาย ๓ คน และน้องสาว ๑ คน

ท่านเกิดที่บ้านเลขที่ ๑๐๑ หมู่ ๓ ต.ทับกฤช อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ต่อมาทางกระทรวงมหาดไทย ได้จัดทำทะเบียนราษฎร์และเขตปกครองขึ้นใหม่ บ้านเดิมที่เกิดจึงเปลี่ยนบ้านเลขที่และเขตปกครองใหม่ เป็นบ้านเลขที่ ๑๓๖ หมู่ ๘ ต.โคกหม้อ อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ๖๐๑๒๐ ซึ่งในปัจจุบันโยมแม่จำรัส และน้องสาวของท่านยังอยู่ที่บ้านนี้

โยมแม่ของท่านเล่าว่า ท่านพระครูฯ เป็นคนขยัน สะอาดเรียบร้อยมาตั้งแต่เด็ก รู้เรื่องรู้ราว ไม่อ้อน ไม่โกง สมัยอายุ ๕ ขวบ แม่ไปทำนาก็รู้จักหิ้วน้ำหิ้วหมากไปส่ง แล้วบอกว่า “แม่กินหมากกินน้ำหน่อย” งานที่ไม่ชอบคือไกวเปลน้อง

เริ่มเข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดปากคลองปลากดนอก เมื่ออายุ ๗ ขวบ จนจบชั้นประถมปีที่ ๔ ไปโรงเรียนวัดปากคลองปลากดนอก ก็เดินไปจากบ้าน แล้วไปลงเรือจ้างข้ามฟาก เพราะโรงเรียนอยู่คนละฝั่งกับบ้าน ริมแม่น้ำน่าน คนแจวเรือชื่อ "ตาอ๋อย" นิสัยโอบอ้อมอารีของท่านพระครูฯ มีมาแต่เด็กเหมือนกัน เมื่อลงเรือแล้วก็ช่วยเกาะหัวเรือไม่ให้เรือถอยออกจากฝั่ง คนอื่น ๆ จะได้ลงได้

ตั้งแต่เล็กจนโต ท่านพระครูฯ ไม่เคยโดนโยมแม่ตี น้อง ๆ โดนตีทุกคน โยมพ่อใจดี ไม่เคยตีใครสักคน อย่างมากก็เสียงดัง ถ้าโยมแม่ตีลูก โยมพ่อจะน้อยใจไม่กินข้าว ถึงรุ่นหลาน โยมพ่อก็ยังห้ามตี ถ้าตีหลานโยมพ่อจะไม่กินข้าวเหมือนกัน

ท่านพระครูฯ เรียนหนังสือเก่ง โยมแม่เล่าว่า “ทั้งห้องเด่นกว่าเขาหมด น้องชายคนรองและน้องสาวคนที่สามไม่ชอบเรียนหนังสือ พอจบชั้นประถม ๔ ก็ออกไถนากันหมด บอกว่าเลี้ยงควายดีกว่า” ส่วนท่านพระครูฯ เมื่อจบชั้นประถมปีที่ ๔ ก็ย้ายไปเรียนต่อชั้นมัธยมปีที่ ๑ ที่โรงเรียนสหวิทยานุสรณ์ ในอำเภอชุมแสง ซึ่งพึ่งเปิดสอนปีแรกข้างวัดแสงธรรม

โดยไปอาศัยอยู่กับอาได้ ๒ ปี โยมพ่อก็พาไปฝากไว้กับท่านเจ้าคุณพระชินวงศ์เวที วัดแสงธรรม (ท่านเจ้าคุณพระชินวงศ์เวที อยู่วัดราชบพิธ เป็นครั้งคราว) เป็นลูกศิษย์พระ เย็นก็เล่นฟุตบอลทุกวันจนได้เป็นนักกีฬาฟุตบอลทีมโรงเรียน

โยมแม่เล่าว่า ท่านพระครูฯ ท่านเด่นเอี่ยมอ่องมาตั้งแต่แรก ไม่เหมือนพี่เหมือนน้อง เสี้อผ้าต้องเอี่ยม ไม่ซื้อเสื้อโหล ต้องตัด มี ๒ ชุด ก็ไม่เป็นไร เหล้ายาไม่กิน ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต โยมพ่ออยากให้ลูกเรียนสูง ๆ จะได้ไม่ลำบาก ใน ๓ หมู่บ้าน คือ หมู่ ๑ หมู่ ๒ และหมู่ ๓ มีท่านไปเรียนอยู่คนเดียว

ท่านพระครูฯ จบชั้นมัธยมปีที่ ๖ (กระทรวงศึกษาธิการเริ่มเปิดมัธยมศึกษา ปีที่ ๓ ปีแรก ) เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ ตอนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ ๖ บ้านถูกโจรปล้นครั้งที่ ๒ ตอนนั้นเริ่มเป็นหนุ่มแล้ว คิดจะยิงสู้กับโจร ค่อย ๆ คลานไปหาโยมพ่อแล้วกระซิบว่า “พ่อ ๆ ส่งปืนมา” โยมพ่อกดหัวให้ติดพื้นไว้ ไม่ให้สู้

เนื่องจากปู่ย่าตายาย ท่านเป็นคนทำมาหากินสุจริต ขยัน มีที่ทางมากพอสมควร จึงมีฐานะดีกว่าคนอื่น ลูกหลานแต่งงาน ยายจะแจกควาย ๑ ตัว ไถ ๑ งอน จึงเป็นที่หมายตาของโจร (บ้านท่านถูกปล้น ๔ ครั้ง) ลูกหลานเกรงว่ายายจะไม่ปลอดภัย หลังจากถูกปล้นครั้งที่ ๒ จึงให้ย้ายไปอยู่ในตลาดบางปลากด

เมื่อจบชั้นมัธยมปีที่ ๖ แล้ว ท่านพระครูฯ ก็กลับมาอยู่ช่วยบ้าน ช่วยทำไร่ไถนามา ๒ ปี จนถึง พ.ศ. ๒๕๑๐ ก็ไปสอบเข้าตำรวจ สอบข้อเขียนได้แต่ไปตกตรวจสุขภาพ เนื่องจากตาบอดสี เพื่อน ๆ ที่เป็นนักฟุตบอลเขตก็มาชวนไปเรียนวิทยาลัยครู ท่านบอกว่าไม่เอาแล้ว เพราะพื้นฐานการศึกษาไม่ได้ และห่างมานาน แต่อีกใจหนึ่งก็อยากเรียนหนังสืออยู่ เพราะอยากให้พ่อแม่สบาย

เมื่อกลับมาอยู่บ้านแล้วเพื่อนฝูงก็มากขึ้น รวมทั้งเพื่อนที่เป็นมือปืนด้วย เมื่อคบมือปืน บ้านก็ปลอดภัย แต่ท่านบอกว่าไม่ได้ไปปล้นกับเขานะ ยังทำนา ทำไร่ ทำสวน ในที่ ๑๐๐ ไร่เศษของโยมพ่อโยมแม่ ความอยากให้ครอบครัวมีฐานะดีขึ้น ให้พ่อแม่ได้สบาย

ทำให้ท่านครุ่นคิดพิจารณาถึงการพัฒนาชีวิตมาก หน้าน้ำน้ำท่วม สูง ๒ เมตร แทบทุกปี ความอยากจะพัฒนามันสะสมก็ทำไม่ได้ เพราะดินฟ้าอากาศไม่ได้อำนวยอย่างต้องการ ก็ทนกันไป เคยปรารภกับโยมพ่อว่า ถ้าลงทุนทำนาตั้งแต่จ้างรถไถ ๓ รอบ ๔ รอบ ฝนจะตกเมื่อไรก็ไม่รู้ จะหว่านข้าว จะเกี่ยวข้าว ก็ต้องจ้างหมด ทำไปแล้วเงินที่ลงทุนไปกับข้าวที่ขายได้ก็เท่ากัน อย่างนี้ต้องจนทั้งชาติ โยมพ่อก็บอกว่า “ถ้าคิดอย่างมึงก็ไม่ต้องทำมาหากิน”

พออายุ ๒๑ ปี ก็ไปเกณฑ์ทหาร กำนันมาขูดรีดแต่ก็ไม่ยอมให้ ไปให้เขาคัดเลือกตามระเบียบจนผ่านพ้นมา ก็กลับมาทำนาต่ออีก ๓ - ๔ ปี พอถึงอายุ ๒๔ ปี คืนหนึ่งฝันไม่ดี ฝันว่าไฟไหม้ มีคนบอกว่าให้แก้ฝันกับน้ำ ให้หนักเป็นเบา ท่านตัดสินใจว่า ๒ เดือนนี้จะไม่ไปไหน กำลังทำนาอยู่ เพื่อนก็มาเรียกชวนไปเที่ยว เขาทำบุญ ๑๐๐ วันงานศพ ก็บอกว่าไม่ไป เพื่อนก็คะยั้นคะยอว่า ไปเถอะ ไปเอาเสื้อบ้านกู ก็ไปกับเขา ไปเอาเสื้อใส่ไปเที่ยว

ที่งานนั้นมือปืนมารวมญาติกันเลย มีการละเล่น มีรำวง พวกเราคนหนึ่งเรียกให้คนที่นั่นไปซื้อเหล้า แล้วเอามีดแทงเลย ตอนนี้ชุลมุนไปหมด ยิงกันอย่างในหนัง พวกถูกแทงไส้ไหลตายไป ๓ ศพ ท่านรีบไปบอกกับพ่อคนตายว่า “อย่าเอาผมไปเข้ากับพวกหาเรื่องนั่นนะ เดี๋ยวประวัติผมเสีย” เขาก็รับปาก

แต่พอกำนันมา กำนันจดชื่อทุกคนไปบอกตำรวจหมด ตอนนี้ก็มีการขู่จากพวกที่ตาย 3 ศพว่า ถ้าใครถูกจับ บ้านต้องถูกระเบิดหมด ท่านก็หนีเข้าป่า โยมพ่อตามไปส่งข้าวอยู่ ๒ วัน หลักจากนั้นก็หนีไปอยู่กับญาติที่โคกสำโรง จ.ลพบุรี อยู่ไม่ถึง ๒๐ วัน ก็ขึ้นรถ บขส.กลับบ้าน พบพวกมือปืนอีก ก็ชวนกันไปอีก เสื้อผ้าหายหมด ก็ไปกับเขา

หลังจากนั้นก็กลับมาบ้านทำมาหากิน ไม่มีเรื่องอะไร คุยกับบ้านคนตายก็ไม่มีปัญหาอะไร เราหากินโดยสุจริต แต่ความคิดอยากมีฐานะตั้งตัวได้ อยากพัฒนายังฝังใจอยู่ ท่านเล่าว่า “จะไปชอบผู้หญิงก็ไม่มีสวรรค์จะให้เขา ไม่มีความรู้ ไม่มีเงิน” ตอนนั้นอายุ ๒๕ ปี เห็นเข้าบวชกันมาก กลัวแม่จะเสียใจก็บอกแม่ว่า “บวชแล้วผมไม่สึกนะแม่” โยมแม่ก็โมทนา เมื่อถูกน้องสาวแซวเรื่องบวช ท่านก็บอกว่า “ถ้ากูบวช มีงอย่ามาแค่นให้กูสึกเชียวนะ กูบวชแล้วกูไม่สึก”

ความเข้าใจก่อนบวช

ท่านเล่าว่า มันเป็นบุพกรรมหรือไงไม่ทราบ เพราะเป็นคนเกลียดพระมาก่อน เกลียดเข้ากระดูก ถือว่าเป็นมารสังคม เป็นมิจฉาทิฎฐิมาเต็มขั้นเลย อยู่บ้านนอกนี้ เวลาแม่ให้ไปทำบุญ ให้เอาปิ่นโตไปวัด เราก็ไปแต่ไม่ถึงวัดหรอก กินเสียเองกลางทาง

เพราะเราเจอสิ่งที่ไม่ดีมาก่อน นักบวชบางคนก็กินเหล้า บางคนก็ดูดกัญชา ก็คิดว่าไม่เห็นมันดีกว่าเราเลยนี่ เป็นมารศาสนาจริง ๆ ก็เลยไม่นับถือมาโดยตลอด พออายุ ๒๕ บวช คือบวชตามใจพ่อแม่ ตอนบวชก็ยังไม่ศรัทธา เอาผ้าเหลืองหุ้มไว้เฉย ๆ แต่ความที่เป็นมิจฉาทิฎฐิแรง ๆ ทำให้ค้นคว้ามาก เขาคุยเรื่องกรรมฐาน เราก็ค้านเขาตลอด

เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์

ท่านพระครูฯ อุปสมบท เมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๑๖ ณ วัดปากคลองปลากดนอก มี พระอธิการทองหยด เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ชุบ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระครูนิยุตฺตธัมมสาร เป็นพระอนุสาวนาจารย์ การบวชตอนสงกรานต์ก่อให้เกิดปัญหาขึ้นอย่างหนึ่งเฉพาะท่านพระครู เนื่องจากช่วงสงกรานต์เป็นการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของจุลศักราช ชาวบ้านนิยมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ พระทั้งวัดจึงต้องสวดมาติกาบังสุกุลทุกวัน ท่านนั่งอยู่ท้ายอาสน์สงฆ์ สวดไม่ได้ หน้าชาอยู่ ๕ วัน

บวชแล้วก็ไม่ค่อยได้ทำอะไร ท่านเล่าว่า “ไอ้เราก็อยู่วัดบ้านนอกใช่ไหม เช้าก็เอน เพลก็นอน ตอนนั้นไม่มีทีวี บ่ายก็พักผ่อน เย็นก็ทำวัตรนิดหน่อยก็นอนอีก “โยมแม่ท่านเล่าว่า “สมัยอยู่วัดปากคลองปลากดนอก ท่านพระครูฯ อ้วน นอนกระดานตัวเหลือง ขาก็อ้วน”

แต่แท้จริงแล้ว นับแต่วันที่บวช ท่านพระครูฯ ท่านเล่าว่า ท่านพบว่า “สวรรค์อยู่ที่นี่เอง การคิดถึงอนาคตไม่ต้องมี อนาคตแค่นี้พอแล้ว ที่เราทุกข์ทุกอย่างแค่นี้พอแล้ว พ่อแม่ให้เรา ๒๕ ปีพอแล้ว ต่อแต่นี้ไปชีวิตเป็นของเรา สมองโปร่งโล่งเบาไปหมด มีความสุข”

และจากความอายที่สวดมนต์ไม่ได้ ทำให้ท่านเร่งรัดท่องบทสวดมนต์ ทั้งพระอภิธรรม มาติกา ทำวัตรเช้า วัตรเย็น อนุโมทนาวิธี และเจ็ดตำนาน จนคล่อง ที่นอนคือ นอนท่องบทสวดมนต์ และเรียนนักธรรมตรีด้วยตนเอง ก่อนออกพรรษาก็ไปสอบที่สนามสอบวัดแสงสวรรค์ อ.ชุมแสง ก็สอบได้นักธรรมตรี

ต่อมามีพ่อค้าเอาหนังสือมาแลกของที่วัด ท่านก็เอาของไม่ใช้ไปแลกได้หนังสือมาหนึ่งเล่มชื่อ “ลีลาวดี” แต่งโดย “ธรรมโฆษ” (อาจารย์แสง จันทร์งาม หรืออดีตท่านเจ้าคุณพระภัทรมุนี วัดแก้วแจ่มฟ้า) อ่านแล้วติดใจเพราะถูกจริตท่าน หลังจากนั้นท่านพระครูสุรินทร์ (ท่านพระครูวิจารณ์วิหารกิจ แห่งวัดสุขุมราม) ชวนมาปฏิบัติธรรม ท่านก็กลัวจะบ้า ท่านพระครูสุรินทร์บอกว่า ไม่เป็นไร ไม่บ้าหรอก แล้วท่านพระครูสุรินทร์เอาหนังสือประวัติหลวงพ่อปานให้อ่าน ท่านเล่าว่า “แต่เรายังไม่อ่านหรอก”

ถามพระครูสุรินทร์ว่า นรกสวรรค์มีจริงหรือ
ท่านบอกว่า มี
แล้วพระครูเห็นไหม
บอก ไม่เห็นหรอก แล้วท่านก็โยนหนังสือให้อ่าน
ถามว่า หนังสือนี่ใครเขียนล่ะ คนเขียนตายหรือยัง
บอกว่า ยังไม่ตาย แล้วท่านก็ให้อ่าน

พออ่านประวัติหลวงปู่ปาน โอ้โฮ..ในนั้นหลวงพ่อจวกพระไว้เยอะนี่ “พระแบบนี้ไม่ใช่พระหรอก” ก็นึก เออ...ถูกคอกับเรา “พวกนี้พวกเดียรถีย์” ท่านก็บอกไปเรื่อย ๆ
พออ่านพรรษานั้นก็วางไม่ลง อ่านเร็วกลัวจะหมดก่อนออกพรรษา เปิดนิดหน่อยแล้วก็วาง เปิดไม่ให้หน้ามันติดต่อกัน อ่านรูดเดียวเดี๋ยวไม่มีอ่านอีก เหมือนกับกินขนม กินนิด ๆ หน่อย ๆ แล้วก็เก็บไว้ กลัวจะหมด

พออ่านแล้วก็เร่าร้อนใจมาก อยากจะมาหาหลวงพ่อ ก็เตรียมการบอกให้น้องชาย (ชื่อวิจิตร) มาขอเงินแม่ ๕๐๐ บาท บอกว่าจะไปเที่ยว พ่อไม่ให้ บอกให้มาเอาเอง จะสึกก็ให้มาพูดกันให้รู้เรื่องก่อน

ท่านก็มาบ้าน บอกทางบ้านว่า ไม่สึกหรอก จะไปวัดท่าซุง เมื่อได้เงินมาแล้วก็ไปขอร้องให้ท่านพระครูสุรินทร์พามาวัดท่าซุง ท่านพระครูสุรินทร์ก็บอกว่า มาแล้วจะกลับวันเดียวไม่ได้นะ ไว้ออกพรรษาก่อน สมัยนั้นจะมาวัดท่าซุงต้องนั่งเรือจากวัดปากคลองปลากดนอก มาขึ้นที่นครสวรรค์ จากนครสวรรค์ก็นั่งรถบขส. มาอุทัยธานี แล้วต่อรถสองแถวมาวัดท่าซุง

พอออกพรรษา พระครูขึ้นไปชวนท่านพระครูสุรินทร์ พระครูสุรินทร์ก็กลัวหลวงพ่อดุ รีบมากันแต่เช้า มาถึงก่อนเพล ท่านคุยอยู่กับมหาเปีย วัดปากคลองมะขามเฒ่า ในกุฎิริมน้ำ (กุฎิที่คุณครูนนทา อนันตวงษ์ สร้างถวาย) เรื่องงานกฐินอยู่

ท่านบอกให้ไปฉันข้าวที่โรงครัวก่อน พอท่านฉันเสร็จแล้ว ท่านมาเลี้ยงหมาของท่าน ข้าวเป็นกะละมัง ๆ เลย มาตักทำเองเลย ท่านบอกให้พระเลี้ยง นี่หมามันจะติดสีเหลือง อย่างน้อยก็เป็นเทวดา เสร็จแล้วก็ไปล้างชามท่าน้ำนั่นนะ เลี้ยงปลาอีกที เรียกว่าปลาตะเพียนทอง มันก็มากิน ล้างกะละมัง เสร็จก็กลับ

เราไปใหม่ก็ไปนั่งรับท่านข้างใน โอ้โห ตาท่านคมกริบ มองเพ่ง... “ไอ้คนสมัยนี้มันบวชเป็นพิธีกรรมเท่านั้นแหละ มันบวชมันกลัวมีเมียไม่ได้มันถึงบวช” ว่าเราหรือเปล่าวะเนี่ย ว่าเราหรือเปล่า แข็งปั๊กลงมาถึงใจเลยนะ ตอนหลังนี่บอกไม่ได้ เป็นความลับ พูดเป็นสาธารณะไม่ได้ โอ้...ท่านจวกปั๋ง ๆ ๆ มาเลย

พระครูสุรินทร์ท่านก็บอกว่าฝากด้วย พระท่านอยากจะมาปฏิบัติธรรม อยู่กับหลวงพ่อ ท่านถามว่า “ระงับนิวรณ์ได้หรือยัง” เราคิดว่านิวรณ์นี่อะไรว่ะ ไม่ต้องรู้ว่ามีอะไรเลย คือไม่รู้เรื่องเลย ก็ตอบท่าว่า “ยังครับ”
ท่านบอกว่า “จะมาอยู่กับข้าต้องเอาจริงเอาจังนะ ให้ตั้งใจปฏิบัติ” ก็รับปากท่าน ท่านบอกว่า “ให้ไปอยู่กุฎิพระโอก่อนนะ เขาไม่อยู่”

เรากราบเรียนท่านว่า “หลวงพ่อครับ ญาติผมที่อยู่ที่นครสวรรค์ แล้วก็แถว ๆ นี้ แถวมโนรมย์นี่มีญาติเยอะครับ มีพี่น้องอยู่แถวนี้ครับ” ท่านบอก “เออ พี่น้งพี่น้องไม่สำคัญน่ะ ระวังนะ อย่าฟังเสียงนกเสียงกา หมาเห่าหมาหอนให้มากนักนะ”

เราก็ เอ.... หมายความว่ายังไงวะ คิดไปคิดมาพี่น้องเราด่าหลวงพ่อทุกคนเลย ก็พี่น้องเราอยู่แถวนั้นใช่ไหม พี่น้องเกลียดหลวงพ่อทั้งนั้น ท่านถึงบอกว่าอย่าฟังหมาเห่าหมาหอนมากนัก

เมื่อท่านพูดแบบนั้นแล้ว ท่านก็คุยเรื่องอื่นต่อ แต่เราดูท่านแล้วนี่ ท่านเป็นผู้ที่น่าเกรงขาม ไม่เหมือนพระทั่วไปที่เราเคยสัมผัสมา ท่านบอกให้ไปหาที่พักให้เรียบร้อย ตกเย็น ๆ จะมีการทำวัตร สวดมนต์ นั่งกรรมฐานกันเป็นปกติ

ทีนี้วันแรกก็ ไอ้เราก็ส่วนมากอาบน้ำแม่น้ำน่าน มาถึงที่นี่มันมีน้ำประปาใช่ไหม หลวงพ่อท่านทำไว้ไอ้ตรงพระฉันเก่ามันมีอยู่ห้องหนึ่ง เราก็อาบซู่ ๆ เสร็จออกมา ท่านพูดว่า “ฮื่อ... น้ำท่ามันก็มีอยู่ข้าง ๆ ไม่ใช่สำอางมาอาบน้ำนี่”

อู้ฮู้ จวก... เขาให้คนอาบน้ำในแม่น้ำไงเล่า แถวนั้นเขาอาบน้ำในแม่น้ำกันทั้งนั้น ตั้งแต่นั้นเข็ดเลย ไม่อาบน้ำอีกแล้ว ต้องอาบน้ำที่แพ ท่านประหยัด แถวนั้นไม่มีปลูกดอกไม้อะไรหรอก ตึกเสริมศรีนะ เพราะว่าท่านให้ตักน้ำในแม่น้ำมารดนี่ น้ำก๊อกอะไรนี่ท่านไม่ให้รดหรอก เพราะว่าเปลือง มันต้องใช้คลอรีน ต้องใช้ไฟฟ้าสูบมา ใครจะขยันนักล่ะ

ขณะนั้นมันก็ใกล้จะหนาว ๆ แล้วนี่ ถึงเย็นๆ ก็ต้องไปนั่งฝึกกรรมฐานกันที่ตึกเขาเรียกว่า ตึกขาว ที่เขาป้ายข้างตึกเขาเขียนว่า ตึกอะไรล่ะ เรียกว่า ตึกสุขุมวัฒนี นวพันธุ์นี่ ซึ่งตึกนี้เป็นตึกเจริญพระกรรมฐานของวัดรุ่น พ.ศ.2516

เมื่อตอนเย็นขึ้นไปนั่งพระกรรมฐานแล้ว จิตของเราที่ไม่เคยฝึกมันก็ดิ้นรนฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ของกิเลสทุกอย่างที่มีอยู่ในตัว ท่านสอนว่า ต้องตัดความกังวลห่วงใยทั้งหมดที่มีอยู่ อย่าตามคิดถึง อย่าสนใจจริยาของผู้อื่น ให้สนใจจริยาของเรา เมื่อท่านเทศน์จบ ท่านก็ให้แผ่พรหมวิหาร 4 ไปในทิศทั้งปวง ท่านก็บอกว่า “ไม่ใช่เขียนหนังสือ แต่ว่า เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ต้องทำจิตใจให้รักคนอื่นเหมือนรักตัวเรา มีเมตตาสงสารคนอื่น เหมือนสงสารตัวเรา ให้มีศีลบริสุทธิ์ผุดผ่อง”

เมื่อท่านสอนเสร็จก็ให้นั่งกรรมฐาน จิตของเราก็ฟุ้งซ่านเต็มอัตราศึก สุดที่จะฟุ้งซ่านได้ เมื่อนั่งกรรมฐานเสร็จก็อุทิศส่วนกุศล ก่อนที่จะอุทิศส่วนกุศล ท่านก็บอกว่า

“พระใหม่เอ๊ย” พระใหม่ที่มาใหม่ก็คือเรา ตอนนั้น มีพระนั่งกรรมฐานสัก 7-8 องค์ได้ บอกว่า “พระใหม่เอ๊ย...พระมาบอกว่าให้เดินเข้ามหาสติปัฏฐานสูตรนะ มีหนังสือไหม มีหนังสือมหาสติปัฏฐานสูตรไหม” บอกว่า “ไม่มีครับ”

มหาสติปัฏฐานสูตร เราเองน่ะไม่เคยอยู่ในหัวในสมองเลย เพราะไม่เคยรู้จัก ไอ้ความที่เราไม่เคยสนใจมาก่อน จึงไม่รู้จักหนังสือธรรมะทุกอย่าง ท่านบอกว่า “ไม่มีให้ไปขอครูนนทาเขา ให้ครูนนทาเขาหยิบให้” เมื่อสั่งแล้วท่านก็เลิกกรรมฐาน

เราก็มาเอาหนังสือที่ครูนนทาให้มา ก็มาอ่าน อ่านแล้วก็รู้ว่าหนังสือเล่มนี้ ไม่มีฤทธิ์ ไม่มีเดชเลย เป็นหนังสือสุกขวิปัสสโก หาฤทธิ์หาเดชไม่ได้ ไม่ชอบใจในจิต เพราะเราอยากได้ฤทธิ์และเดช อยากมีตาทิพย์หูทิพย์ จะได้ไปคุยโม้อวดชาวบ้าน เขาได้ว่า เราก็เก่งเหมือนกัน สามารถมีหูทิพย์ตาทิพย์ได้ นี่มันเป็นกิเลสเต็มขั้น ท่านสาธุชนอย่าเอาเป็นเยี่ยงอย่าง เรื่องความอยากห้ามกันไม่ได้ แต่อย่าผิดทำนองคลองธรรมอย่างอาตมานะ ข้อควรอย่าก็ไปใกล้ มันเป็นทางแห่งการลงอบายภูมิทั้งนั้น

เมื่ออยู่กับท่านแต่บัดนั้นมา ก็นั่งกรรมฐานกันเกือบทุกวัน งานการทางวัดมีอยู่ก็ทำ ทำเป็นกิจวัตร คือ ทำวัตร ฉันเช้า แล้วก็ลงมือทำงาน มีการก่อสร้าง ขณะที่มาตอนนั้นกำลังขัดหินขัดอยู่ที่พื้นที่วงศานุสรณ์นั้น ไปช่วยเขากวาดน้ำ ขัดพื้นเป็นงานที่ทำร่วมกัน ทั้งพระภิกษุและฆารวาส

ทีนี้ไอ้เราก็เคยนอนตอนบ่ายมา แหมอีตอนบ่ายมันง่วง เราก็ศิษย์ใหม่ด้วย มาใหม่ ไอ้จะนอนก็เกรงใจเขา เดี๋ยวเขาจะหาว่ามาใหม่แล้วเขาทำงานกันดันไปนอน จะโดนไล่กลับเสียอีก อู๊ย กวาดน้ำหินขัดนี่นะ มันง่วงจริง ๆ เอ้า นอนไม่ได้ต้องทำกับเขาไปสัก 7 วัน มันก็คืน ก็ไม่ง่วงอยู่กับเขาได้

สมัยนั้นหลวงพ่อลงสอนกรรมฐานทุกวัน ทีนี้มีพี่สะใภ้ท่านคนหนึ่ง ท่านก็ เทศน์เรื่องคนในครัว “เออ พระท่านบิณฑบาตมานะ ท่านก็ฉันอย่างนั้น แต่อีแม่ครัวจัญไรนี่สิ มันต้องทำพิเศษกินอีก”

ท่านว่า เราก็คิด แหม มันต้องยายนี่แน่ เต็มที่เลย พอตกกลางคืนเอาใหม่ ท่านเทศน์อีก “ให้ทุกคนมันดูตัวมันนั่นแหละ ไม่ใช่ไปดูตัวบุคคลอื่น ดูจิตของตัวเอง

ไอ้ตัวมันเองดูตัวเองเสียบ้าง” อู้ฮู้ ว่ากูนี่หว่า ไม่ต้องไปฟ้องนะ คิดในใจนะ ครูบาอาจารย์นี่รู้จริง ไม่มีโมเม

เมื่อก่อนนี้นะเรียกว่า พรรษาแรกพูดกันไม่รู้เรื่องว่า เอ๊ะ ทำไมหลวงพ่อถึง สั่งงานอย่างเดียวกันทีสามคนสี่คน พอเจอเราสั่ง เจอพี่โอสั่ง แต่งานเดียวกัน มันเบลอเพราะกลัวกันนี่ เดี๋ยวมันไม่ทำ มันเบลอ มันกลัวกันจนลานเกินไป

พระฉันอาหารท่านดูว่า เออ พระฉันอาหารมีรสชาติอย่างไรบ้างเป็นห่วง แต่เมื่อฉันเสร็จแล้วสักพักหนึ่ง ท่านบอกว่า “ได้ยินเสียงหมากัดกัน กินข้าวดังจ๊วบ นี่มันไม่ใช่คน ไม่ใช่พระหรอก คนก็ยังเลวเกินไป นี่เขาเรียกว่า หมู หมูคือสัตว์ เดรัจฉาน” อู้ฮู้

ขณะที่มาอยู่ตั้งแต่ พ.ศ.2516 นั้น ทางวัดไม่มีทองมาก ไม่มีพุทธบริษัทมาสงเคราะห์เหมือนสมัยนี้ ถือว่าอยู่กันตามอัตภาพ มีเงินก็ก่อสร้าง ถ้าประหยัดแรงงานได้พระก็ทำกันทุกวันไม่ได้ขาด ไม่มีวันขาด ไม่มีวันพระ ไม่มีวันโกน อันที่จริง เรื่องทำงานนั้นเป็นงานที่สาธารณประโยชน์ เป็นงานการกุศล ทำแล้วก็ได้สบายใจ
ช่วยหลวงพ่อสร้างวัด

เมื่ออยู่กันไป พ.ศ. 2516 นั้น หลวงพ่อท่านจะสร้างโบสถ์เพิ่มขึ้นมาอีก 1 หลัง เพราะหลังเก่านั้นเป็นที่ทรุดโทรมมาก หลังคาก็รั่วโหว่ ฝาผนังก็ผุพัง ก็ดำริว่า ท่านจะสร้างพระอุโบสถบูรณะของเก่า แต่ท่านเจ้าอาวาสผู้นิมนต์ท่านมานั้นยอมให้สร้างเหมือนกัน แต่ต้องควบคุมการเงินเอง

ฉะนั้น ก็เป็นสิ่งที่ผิดปกติ ผิดปกติคือ ไม่ได้หาเงินเอง แต่จะเอาเงินไปเก็บเอง ในฐานะตัวเองเป็นเจ้าอาวาส การที่จะทำอะไรอย่างนี้เป็นการทำลายศรัทธาของคนผู้มีศรัทธา เพราะว่าผู้ที่จะเอาเงินมาให้คือ ผู้มีศรัทธานั้น เขาไม่ไว้ใจเจ้าอาวาส เพราะว่าเคยสร้าง สั่งของมาแล้วเป็น 10 ปี ยังทำไม่ไปถึงไหน แต่ออกเงินให้ชาวบ้านเขากู้ บริษัทของตัวเองก็กินเหล้าเมายาเป็นที่ไม่ไว้วางใจของคนดี คนดีที่มีศีลมีธรรม

เมื่อท่านเจ้าอาวาสยืนยันมาอย่างนั้น หลวงพ่อท่านก็ไม่ตกลงด้วย เพราะว่า เจ้าของเงินที่บริจาคมานั้นเขาไม่ไว้ใจ หลวงพ่อท่านจึงสั่งซื้อที่ตรงข้ามกับวัด คือฝั่งถนนที่ปัจจุบันเขียนว่า ศูนย์ศิษย์หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค นั่น 11 ไร่

ขณะนั้นยังเป็นป่า ป่ารกชัฏ เป็นป่าไผ่แถบหนึ่ง ที่ทำนาบ้างแถบหนึ่ง ตกลงมีโยมที่เป็นเจ้าของขายให้ในราคาถูก ไร่ละหมื่นบาท คือทำบุญด้วย เมื่อท่านตกลงซื้อที่จะสร้างพระอุโบสถขึ้นมาใหม่โดยไม่ต้องผ่านเจ้าอาวาส เมื่อตกลงซื้อที่แล้ว ก็ต้องถากถางป่าที่รกชัฏอยู่ อันที่จริงสมัยก่อนนั้นเราก็ไม่ค่อยมีเงินมาก ไม่ใช่ไม่มีเงินมาก คือไม่มีเงิน คือทำก่อนผ่อนทีหลัง จะหารถแทรกเตอร์มาดันป่าก็ไม่มี

ฉะนั้น จึงต้องหาแรงงานชาวบ้าน ส่วนหนึ่งจ้างเอามาฟัน ส่วนหนึ่งพระฟัน คือฟันป่าไผ่ให้เตียน เมื่อฟันป่าให้ล้มลงแล้ว ปล่อยให้แห้งสักช่วงหนึ่งก็จุดไฟเผาให้ลง เพื่อจะทำการวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถ

พระฟันป่าไผ่ ขุดดิน สมัยนั้นมีอยู่ 5-6 องค์ มีหลวงพี่โอ มีฉัน (พระอนันต์) มีหลวงตาเริญ พระวิเชียร (องค์นี้เป็นช่าง) แล้วก็พระน้อม ดูเหมือนจะมีสามเณรสมศักดิ์อยู่ด้วย ก็ฟันไผ่กันไป ฟันก็ยาก หนามก็เยอะ ตอก็ลึก

ข้างโยมแม่จำรัส พอเกี่ยวข้าวเสร็จก็ไปกับโยมพ่อรอด ไปเยี่ยมพระลูกชาย พอไปถึง ท่านพระครูกำลังฟันป่าไผ่อยู่ตรงโบสถ์ปัจจุบันนี้ โยมแม่จำพระลูกชายไม่ได้เลย พระด้วยกันเขาบอกว่า โยมพ่อโยมแม่มา ให้หยุดฟันออกไปรับ

โยมแม่เห็นเข้าร้องไห้โฮเลย สงสารลูก โยมแม่เล่าว่า “ตัวก็แดงยังกะลูกตำลึงสุก มือก็แดง” โยมแม่เล่าว่า บุญหรือบาปก็ไม่รู้ แต่แม่ชวนให้กลับไปอยู่วัดปากคลองปลากดนอก บอกว่า

“แม่เลี้ยงได้ กลับไปอยู่วัดบ้านเรากันเถอะ” ท่านพระครูฯ ตอบโยมแม่ว่า “ยังไม่กลับหรอก อยู่กับหลวงพ่อสบายดี”

ส่วนหลวงตานา มีหน้าที่เผาถ่าน มีเศษไม้อะไรท่านก็เผาเลย เก่งในการเผาถ่าน ท่านเล่าว่า “ทำงานกันอย่างนี้ พอตกค่ำก็หลับกันปุ๋ยเลย อย่างนี้ได้บารมีดี การสร้างวิหารทานทำด้วยแรงกาย มีความเสียสละ ได้บารมีทุกอย่าง

ขันติบารมีก็อยู่ในนี้ วิริยบารมีก็อยู่ในนี้ เมตตาบารมีก็อยู่ในนี้ และเป็นการหนุนกรรมฐานด้วย
จะว่าลำบากก็คงจะลำบากละ ที่ตรงโบสถ์นี่มันป่าเอง ทั้งนั้นนะ เป็นป่าไผ่ เราก็รอแทรกเตอร์ใช่ไหม รอรถไม่มาหลวงพ่อก็ให้ฟันเองเลย ฟันไผ่ฟันยาก เพราะว่ารากลึก

ตอนนั้นเงินทองก็ไม่ค่อยมี อาหารการกินก็ไม่เหมือนสมัยนี้หรอก หลวงพ่อถวายองค์ละ 5 บาท หลวงพ่อก็บอก “เออ พวกทำงานนี่นะ หลวงพ่อไม่มีอะไรเลี้ยงนะ” ให้เบี้ยเลี้ยงวันละ 5 บาท “ไปซื้อกาแฟกินกันนะ ไปซื้อโอวัลตินกิน ข้าไม่มีกาแฟอะไรเลี้ยงพระ”

ใครทำงานก็ให้ 5 บาท ถวายทีหนึ่ง 10 บาท 20 บาท อะไรอย่างนี้ ไอ้เราก็ไปซื้อนมมา ซื้อโอวัลตินมา ของใครของมัน ซื้อไว้ มีเบี้ยเลี้ยงแล้วนี่ มีเบี้ยเลี้ยงคนละ 5 บาท ทุกองค์นะ ใครทำงานมี 5 บาท ซื้อนมมา 2 กระป๋อง 3 กระป๋อง มันทำงานเหมือนกรรมการนี่แหละ

เมื่อป่าไผ่ได้เตียนลงแล้ว ท่านก็ดำริขึ้นมาว่า ก่อนจะวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถนั้น ให้สร้างกำแพงรอบวัดก่อน ให้จ้างคนมา พระส่วนหนึ่ง ญาติโยมส่วนหนึ่ง มาทำกำแพงรอบวัด ทั้งหมด 11 ไร่

เมื่อทำกำแพงลงไปแล้ว ก็เริ่มสร้างกุฎิหลังแรกฝั่งพระอุโบสถ ปัจจุบันคือ ตึกเศรษฐี อยู่ที่มุมเศรษฐีหลังแรกหลังใหญ่ ปัจจุบันตรงทางขึ้นไปศาลา 3 นา ศาลา 2 ไร่ ตอนนั้นเมื่อขุดหลุมเสาแล้ว

อาตมาเองก็ไปช่วยเขา ตั้งแต่ถมดินทุกอย่าง ก่ออิฐ ฉาบปูน ขนอะไรทุกอย่าง เมื่อสร้างหลังนั้นขึ้นมาแล้ว ก็สร้างกุฎิพร้อมกันทีเดียว 10 หลัง ตั้งเสา เสา เสา เสา เอาดินถมพื้น ขุดหลุม เทปูนทุกอย่าง ทำไปรวมกับช่างบางส่วน

ก่อสร้างโบสถ์นี่สร้างรั้วก่อน เดี๋ยวจะหาว่าไม่ละเอียดลออนะ สร้างรั้วแล้วก็สร้างกุฏิ เขาเรียกว่า กุฏิมุมมหาเศรษฐี

เจ้าอาวาสนี่ ถ้าไปอยู่วัดไหนก็ช่างเถอะนะ ไปดูกุฏิเจ้าอาวาสกับโบสถ์ มันจะมี มุมทุคตะ มุมโจร มุมปาราชิก มุมตายโหง อะไรอย่างนี้ เจ้าอาวาสอยู่มานั้นก็ต้องตาย แต่มันตายทุกองค์นั่นแหละ แต่ว่าอาจจะตายไว

มุมมีชื่อเสียง มุมพระโมคคัลลาน์ พระสารีบุตร มันมีอยู่ นี่ตำราหลวงพ่อว่าไว้นะ แต่ครั้งแรกเลย สร้างมุมเศรษฐีก่อน ก่อนจะสร้างวัดนี่ สร้างกุฎิเจ้าอาวาส เขาเรียกว่า มุมเศรษฐี

ทีนี้มันก็เกิดมุมที่หันหน้าตามพระประธาน เหมือนกับเรายืนอยู่ตรงพระประธานก็แล้วกัน ยืนปุ๊บ พระประธานอยู่ข้างหน้าเรา เรายืนอยู่ตรงกลาง หลังพระประธานเลย มันจะมีทางซ้ายทางขวามือเราใช่ไหม

มุมทางซ้ายมือเรานี้เรียกมุมเศรษฐี แล้วตรงหลังพระประธานออกมา ถ้ากุฎิเจ้าอาวาสอยู่ตรงนั้นน่ะ เขาเรียกมุมปาราชิก ปาราชิกเรื่องเงินทองยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด ง่ายกว่าเรื่องผู้หญิงเยอะแยะ แต่ไม่มีใครรู้เท่านั้นเอง

มุมขวามือพระประธานนี่มุมทุคตะมั้ง เขาบอกว่ามุมทุคตะนี่ดีอยู่อย่าง เจ้าอาวาสขยัน มันทุกข์อยู่เรื่อย ต้องไปหาเรื่องสร้าง หาเรื่องทำอยู่เรื่อย เหนื่อย

พอสร้างกุฎิมุมเศรษฐีสร้างก็ขึ้นกุฎิทีเดียว 10 หลังเลย ต่อพรืดมาเลย หลังโบสถ์ ที่รื้อทำใหม่นี่นะ
มันขึ้นโครงก่อนโบสถ์หน่อยหนึ่ง เสร็จก่อนโบสถ์ พอสร้างตรงนี้มีพวกพิสดาร ไอ้เรานี่มันคอยจะรู้เก่งกว่าครูเสียนี่

พอสร้างขึ้นเสาเสร็จจนกระทั่งเอาทรายขี้เป็ดมาโบก มาถมที่ให้มีเต็มสูงกว่าระดับน้ำ ท่านบอก “เฮ้ย นันต์ แกเทเอาแค่ตามแปนอน ๆ นี่นะ เอาหนาแค่นั้นพอ ให้มันเรียบ” แปนอนมันหนาสักนิ้วครึ่งน่ะ เทนิดๆ หน่อย ๆ มันก็จะได้นิ้วแล้วใช่ไหม

เอ๊ หลวงพ่อ เดี๋ยวมันก็ยุบนะ อย่างนี้ก็เทแปขวางอย่างนี้ ให้แปนอน เราไปแปขวาง โอ้โฮ ท่านมาบอก “ไอ้พวกนี้สั่งมันเหมือนสั่งขี้มูก ระยำแท้ ๆ ไปปูตามแนวนี้ให้มันเรียบก่อน เดินจะได้ไม่ติดเท้า” เราไปอวดเก่งกว่าครูบาอาจารย์ ปรารถนาดี

ทีนี้ก็เท พอพื้นยังไม่ทันเรียบดี ก็วางศิลาฤกษ์โบสถ์ พวกฉันนี้ก็พระพวกกลัวหลวงพ่ออยู่แล้ว ไม่ค่อยมาเข้าในพิธีหรอก เขาเลิกกันหมดแล้วเราถึงมาดูหลุมวางศิลาฤกษ์ เพราะว่าแขกผู้ใหญ่ก็ไป

เมื่อก่อนทำไมกลัวหลวงพ่อกันจัง มีหลวงพี่โอ ฉัน หลวงตาเริญ หลวงพ่อผ่อง หลวงตานา ห้าหกองค์เท่านั้น ท่านก็บอกต่อไปนี่คนจะเยอะ คนเป็นแสน เราก็ เออ เชื่อสัก 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นน่ะ ลูกศิษย์ที่ดีมันอย่างนี้แหละ ก็คนมันยังไม่มานี่ใช่ไหม ก็ยังไม่มาเป็นแสนนี่

โบสถ์นี่ทำปีเศษ ๆ กว่าโบสถ์จะเสร็จนี่คนงานแต่งงานกันไปหลายคู่ พอทำโบสถ์ท่านขึ้นธรรมสถิตด้วยเลย ขึ้นธรรมสถิตกับกุฎิสิบหลังทำพร้อมกันหมดเลย พอขึ้นธรรมสถิตจะเสร็จนี่ขึ้นนวราชแล้ว พอนวนาชจะเสร็จปุ๊บ ขึ้นพระพินิจอักษรอีก

ช่วงหลังอาคารพระพินิจเป็นที่ลุ่ม ไม่เหมือนปัจจุบันนี้หรอก เป็นที่ลุ่มเพราะทำนา หลวงพ่อก็บอกว่า “เออ พวกแกไปขุดบ่อกันไป ไปขุดบ่อ น้ำจะได้ขังตรงที่ลุ่ม” ขุดไปได้สักศอกหนึ่งได้น่ะ หน้าดินก็ขุดมาได้ ฟันแล้วก็หาบกันมา หน้าดินเป็นมัน เช้าก็เอากันพักหนึ่งก่อน บ่ายสองโมงก็เอาอีกรอบหนึ่ง

วัดเราไม่ตอกเข็มเลยนี่ พอขุดไปได้สักเมตรหนึ่งนี่ ดินนี่มันไม่ลงแล้ว เอาน้ำหล่อเข้าไว้ จะขุดพรุ่งนี้เช้าก็เอาน้ำหล่อไว้ จะได้นิ่ม นิ่มประมาณสักแค่นิ้วหนึ่ง ก็หมดนิ่มแล้ว เราฟัน โอ้โฮ.. เป็นมันน่ะ ฟันไม่ลงแล้ว เป็นมันปูแล้ว หลวงพ่อมาดูบอก “โอ้โหเว้ย... นี่ข้าว่าแล้ว ถึงไม่ตอกเข็มวัดท่าซุงก็เพราะอย่างนี้ ดินเป็นมันปูเลย ฟันไม่ลง” ทำไม่ไหวแล้วต้องไปล่อแทรกเตอร์กันเลย แทรกเตอร์ก็ดันให้มันเป็นบ่อ เลยเป็นเรือนกะเหรี่ยงในปัจจุบัน

พอทำถึง พ.ศ. 2520 นี่เลิก ท่านออกปากว่าเลิกทำแล้วน่ะ กระเบื้องที่เขาให้มาสักประมาณ 2 คนรถบรรทุก 10 ล้อนี่ ปูในวัดหมดแล้วเหลืออีกเป็นคันรถ ท่านก็บอก “นันต์ พอเราสร้างวัดเสร็จก็หยุดสักทีเรา พักผ่อน ต่อไปถ้าใครเขานับถือเราที่ไหนก็จะไปช่วยเขาเป็นคราว ๆ ไป เอากระเบื้องทั้งหมดนี่นะ ไปให้พระครูสุรินทร์ไป” เราก็จัดแจงเอารถบรรทุกมาขนไปเลย

พอตัดลูกนิมิตเสร็จสักนิดหน่อยก็ พระมาสั่งให้หลวงพ่อทำอีกแล้ว ก่อนจะตัดลูกนิมิตนี่มีงาน ท่านจะนิมนต์พระสุปฏิปันโนมาใช่ไหม โบสถ์ก็ยังไม่เสร็จ ก็ถมลูกรังรอบโบสถ์ ก่อนจะตัดลูกนิมิตก็มีงานทำบุญครบรอบ 100 ปี หลวงปู่ปาน พ.ศ.2518 แล้วก็หล่อรูปหลวงปู่ปาน

ขอย้อนกลับไปถึงตอนอยู่กับหลวงพ่อใหม่ ๆ ฉันมาอยู่วัดท่าซุงสักสองสามวันแรก พระเขาก็สึกกันหมด เหลือพระอยู่ 4-5 องค์เท่านั้น พระก็เหลือน้อย หลวงพ่อนี่ศัตรูรอบวัด รอบวัดเลย ไม่ใช่มีมิตรรอบวัดนะ เจ้าอาวาสก็เป็นศัตรู ลูกน้องเจ้าอาวาสก็เป็นศัตรู

ที่นี่ก็ศัตรูมาก ฉันมาอยู่ใหม่ ๆ ด้วย ตำรวจทหารก็มี ดาบตระกูล เปาริก มาอยู่ตอนกลางคืน กลางวันก็ไม่มี หลวงพ่อนี่ถ้าคนจะฆ่าก็ฆ่าได้ทุกเวลาเหมือนกัน

มีอยู่คราวหนึ่งมันก็เมามา มันก็ควักปืนมาหน้ากุฏิท่านน่ะ ท่านมีรั้วอยู่ตรงนั้น ตรงต้นมะม่วงนั่นน่ะ เราก็เข้าไปหาหลวงพ่อบอก “หลวงพ่อครับ ไอ้นี่มันเมามาครับ มันจะเข้ามาข้างใน”

เราก็ไปหยิบกระบองแป๊บน้ำมา “หลวงพ่อครับ เดี๋ยวผมช่วย หลวงพ่อครับ” จะช่วยหลวงพ่อ ทีนี้ตอนหลังเราก็บอก “หลวงพ่อครับ ถ้ามีอะไรผมจะช่วยหลวงพ่อ” ท่านก็เอาเราไปไว้ตึกเสริมศรี บอก “ไอ้นี่มันแปลกว่ะ มันกตัญญู มันจะช่วย”

คือยังไงล่ะ วัดเรานี่เพิ่งมาเย็นตอนคอมมิวนิสต์มันหมดนี่หรอก ตอนที่คอมมิวนิสต์มันเยอะ ๆ นี่มัน... เขาก็หาว่าเราเป็นคอมมิวนิสต์ ด้วยสารพัดน่ะ สร้างวัดได้ไว มันเอาเงินที่ไหนมา วัดอย่างนี้ มันก็ต้องเอาเงินคอมมิวนิสต์มานั่นน่ะ เอาสร้างมาอีกแล้ว เดี๋ยวหลวงพ่อเป็นคอมมิวนิสต์อีกแล้ว โอ๊ย สารพัด ถ้าคนกำลังใจธรรมดาอยู่ไม่ได้หรอกตรงนั่นน่ะ

การภาวนาตอนนั้น พระสนใจน้อยเหมือนกัน คือตอนเย็นก็นั่งกรรมฐาน เช้าก็บิณฑบาต บิณฑบาตฉันแล้วก็ทำงาน มีจอบ มีอะไรก็ทำ คุณโยมด๊อกเตอร์ปริญญายังไปช่วยเลย โยมดำรงน่ะไปช่วยท่าน อยู่ด้วยกันนี่นะ

ไอ้เราก็ เอ้อ บอก “หลวงพ่อครับ” ผมยังไงผมก็ต้องทนอยู่จนได้ครับ” ตอนนั้นมันกล้า ๆ กลัว ๆ เหมือนกัน “เออดี ศรัทธาแท้” ท่านว่า

ปลื้มไม่เท่าไรหรอก กลัวท่าน พอกลางคืนก็นั่งอย่างนี้น่ะ เราทำไม่ดีท่านก็เอาอีกล่ะ แต่ท่านไม่ได้ผูกอะไรนะ ด่าแล้วก็ด่าไป เราทีนี้ก็ ท่านไม่ว่าแต่เรากลัวท่านน่ะสิ กลัว

ทีนี้ไม่ต้องเห็นกันแล้ว เห็นหลวงพ่อมามุนนู้นเราหลบมุมนี้แล้ว ไม่ใช่หลวงพ่อเจ้าขาเจ้าเขอ ไปหาอย่างนี้ไม่ได้ พอเห็นมานู่น เราหลบมุมนี้แล้ว มันกลัวเสียจริง ๆ เลย กลัวจนพูดกันไม่รู้เรื่องน่ะ พูดไม่รู้เรื่องเลย

ท่านมีวิธีสอนอีกแบบหนึ่ง คือ จวกต่อหน้าคนเยอะ ๆ จิตมันจะจำ จะอายจำแม่น ท่านไม่กลัวเสียคน เพราะเวลาปลงอาบัติต้องไม่มีอนุปสัมบัน คือเป็น เณรก็ดี ฆารวาสก็ดี ไม่มีใช่ไหม ปลงอาบัติ คือสารภาพว่าวันนี้ไปทำผิดอะไรมา ตามพระวินัยไม่ให้ทำ แต่ท่านให้มีคนญาติโยมของท่าน ท่านต้องการให้พระอาย จะได้จำ ไม่ทำอีก เรียกว่าจำจนวันตาย

อย่างอาตมานี่มีอาบัติอยู่ตัวหนึ่ง จะเล่าถึงความชั่วของตนเอง ปลงอาบัติไปหลายตัวแล้ว มาถึงตัวหนึ่ง อาตมานี่ปลงกับหลวงพ่อตัวต่อตัวเลยนะ เป็นองค์แรกที่กล้าปลงกับท่าน จดมาเลย อาตมาก็บอก

“ข้าแต่หลวงพ่อผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้ยืนปัสสาวะ...” พูดยังไม่ทันจบ หลวงพ่อบอก “หยุด ๆ ๆ ๆ แกปลงไม่ตกหรอก แกต้องไปยกขาข้างหนึ่ง” ด่าเราแสบเสียอีก แหม ... จำจนตายเลย

พอปลงอย่างนี้ไม่กี่วัน มันก็มีงานอยู่งานหนึ่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นิมนต์หลวงพ่อไปอยุธยา ให้อาตมาไปด้วย พระก็ไปหลายองค์ ไอ้เราก็ไปเที่ยววัดมงคลบพิตร ฝนมันก็ตก ก็ปวดปัสสวะก็หาที่ไม่ได้ ที่ปัสสาวะที่วัดมงคลบพิตรมีที่ยืนทั้งนั้นนี่ เราปลงอาบัติมาใหม่ ๆ ก็นึก เอ.. กูจะทำยังไงโว้ย คิดดูจะทำยังไง ก็เลยตัดสินใจไปบอกหลวงพ่อ ท่านบอก “ไอ้ระยำ ทียืนก็ต้องยืนซิ ที่ยืนจะไปนั่งมันงามที่ไหนล่ะ ที่ยืนก็ยืน เขาไม่ปรับหรอก” แหม... เราเถรตรงนี่ลำบากเหมือนกัน กลัวก็กลัวท่าน แต่ก็ต้องเอาเพราะมันไม่สบายใจ จำไปตลอดชีวิต

มาตอนหลังนี้ได้มาอยู่ใกล้หลวงพ่อ เมื่อ พ.ศ 2525 ตอนนั้นท่านป่วยด้วย ตอนที่ท่านปัสสาวะไม่ออก กล้าตั้งแต่ตอนนั้น ตอนหลวงพ่อท่านจะกินยา ท่านจะปล่อยทุกอย่าง มีอะไรก็คุยได้ ดีทุกอย่าง คุยแบบเป็นตัวของท่านเองเลย ท่านมีเมตตาทุกอย่าง จะทำอะไรให้ก็ “ขอบใจนะลูกนะ” พูดเพราะ

เรานี่พูดเลียนแบบไม่ได้ ท่านพูดเพราะมาก เป็นธรรมชาติของท่านจริง ๆ แม้แต่พระพุทธเจ้าพูดกับหลวงพ่อ พูดลูกทุกคนเลย ดูท่านเขียนหนังสือซิ เขียนกับลูกดูซิ และหนังสือของท่านทุกตัวอักษรนะ มีความหมายหมด เพราะว่าท่านเขียนด้วยสติสมบูรณ์ ไม่เขียนลื่นไปลื่นมา


<<< โปรดติดตามตอน "ความดำริ" คลิก >>>

◄ll กลับสู่สารบัญ