ประวัติเจ้าอาวาส วัดจันทาราม (ท่าซุง) ตอนที่ 4 (ตอนจบ)
ธนวิสุทธิ์ - 5/4/08 at 14:48
ประวัติท่านพระครูปลัดอนันต์ พทฺธญาโณ
เจ้าอาวาสวัดท่าซุงองค์ปัจจุบัน
บิดาชื่อ นายรอด มารดา นางจำรัส เสนสกุล มีบุตรธิดารวม 5 คน ดังนี้
1. พระครูปลัดอนันต์ เสนสกุล
2. นายวิมล เสนสกุล
3. น.ส.ราตรี เสนสกุล
4. นายวิจิตร เสนสกุล
5. นายวิจารณ์ เสนสกุล
อุปสมบทเมื่อปี 2516 ขณะมีอายุ 25 ปี ณ วัดปากคลองปลากด อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ออกพรรษาแล้วมาอยู่วัดท่าซุง ได้รับตำแหน่ง พระครูปลัด
เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2535
คติธรรมที่ประทับใจเป็นที่สุด
"สูทั้งหลาย จงมาดูโลกอันตระการดุจราชรถ ที่คนเขลายังหมกอยู่ แต่ท่านผู้รู้หาข้องอยู่ไม่"
เลื่อมใสปฏิปทาหลวงพ่อเป็นที่สุด
"ชอบใจว่าท่านเป็นผู้ที่พูดได้ และปฏิบัติของท่านเองได้"
เสียใจที่สุด
"คือวันที่หลวงพ่อจากไป เรายังไม่ได้มรรคผลอะไร"
ระหว่างเป็นเจ้าอาวาส
"ดีใจที่ได้รับใช้พระพุทธเจ้า รับใช้พระพุทธศาสนา"
ประวัติจากหนังสือ "ที่ระลึกงานกตัญญูกตเวทิตามงคล"
ท่านพระครูปลัดอนันต์ พทฺธญาโณ เกิดวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2491 ตรงกับวันพฤหัสบดี แรม 13 ค่ำ เดือน 10 ปีชวด เป็นบุตรคนแรกของ นายรอด และ
นางจำรัส เสนสกุล มีน้องชาย 3 คน และน้องสาว 1 คน
ท่านเกิดที่บ้านเลขที่ 101 หมู่ 3 ต.ทับกฤช อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ต่อมาทางกระทรวงมหาดไทย ได้จัดทำทะเบียนราษฎร์และเขตปกครองขึ้นใหม่
บ้านเดิมที่เกิดจึงเปลี่ยนบ้านเลขที่และเขตปกครองใหม่ เป็นบ้านเลขที่ 136 หมู่ 8 ต.โคกหม้อ อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ 60120 ซึ่งในปัจจุบันโยมแม่จำรัส
และน้องสาวของท่านยังอยู่ที่บ้านนี้
โยมแม่ของท่านเล่าว่า ท่านพระครูฯ เป็นคนขยัน สะอาดเรียบร้อยมาตั้งแต่เด็ก รู้เรื่องรู้ราว ไม่อ้อน ไม่โกง สมัยอายุ 5 ขวบ
แม่ไปทำนาก็รู้จักหิ้วน้ำหิ้วหมากไปส่ง แล้วบอกว่า แม่กินหมากกินน้ำหน่อย งานที่ไม่ชอบคือไกวเปลน้อง
เริ่มเข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดปากคลองปลากดนอก เมื่ออายุ 7 ขวบ จนจบชั้นประถมปีที่ 4 ไปโรงเรียนวัดปากคลองปลากดนอก ก็เดินไปจากบ้าน
แล้วไปลงเรือจ้างข้ามฟาก เพราะโรงเรียนอยู่คนละฝั่งกับบ้าน ริมแม่น้ำน่าน คนแจวเรือชื่อ "ตาอ๋อย" นิสัยโอบอ้อมอารีของท่านพระครูฯ
มีมาแต่เด็กเหมือนกัน เมื่อลงเรือแล้วก็ช่วยเกาะหัวเรือไม่ให้เรือถอยออกจากฝั่ง คนอื่น ๆ จะได้ลงได้
ตั้งแต่เล็กจนโต ท่านพระครูฯ ไม่เคยโดนโยมแม่ตี น้อง ๆ โดนตีทุกคน โยมพ่อใจดี ไม่เคยตีใครสักคน อย่างมากก็เสียงดัง ถ้าโยมแม่ตีลูก
โยมพ่อจะน้อยใจไม่กินข้าว ถึงรุ่นหลาน โยมพ่อก็ยังห้ามตี ถ้าตีหลานโยมพ่อจะไม่กินข้าวเหมือนกัน
ท่านพระครูฯ เรียนหนังสือเก่ง โยมแม่เล่าว่า ทั้งห้องเด่นกว่าเขาหมด น้องชายคนรองและน้องสาวคนที่สามไม่ชอบเรียนหนังสือ พอจบชั้นประถม 4
ก็ออกไถนากันหมด บอกว่าเลี้ยงควายดีกว่า ส่วนท่านพระครูฯ เมื่อจบชั้นประถมปีที่ 4 ก็ย้ายไปเรียนต่อชั้นมัธยมปีที่ 1 ที่โรงเรียนสหวิทยานุสรณ์
ในอำเภอชุมแสง ซึ่งพึ่งเปิดสอนปีแรกข้างวัดแสงธรรม
โดยไปอาศัยอยู่กับอาได้ 2 ปี โยมพ่อก็พาไปฝากไว้กับท่านเจ้าคุณพระชินวงศ์เวที วัดแสงธรรม (ท่านเจ้าคุณพระชินวงศ์เวที อยู่วัดราชบพิธ เป็นครั้งคราว)
เป็นลูกศิษย์พระ เย็นก็เล่นฟุตบอลทุกวันจนได้เป็นนักกีฬาฟุตบอลทีมโรงเรียน
โยมแม่เล่าว่า ท่านพระครูฯ ท่านเด่นเอี่ยมอ่องมาตั้งแต่แรก ไม่เหมือนพี่เหมือนน้อง เสี้อผ้าต้องเอี่ยม ไม่ซื้อเสื้อโหล ต้องตัด มี 2 ชุด
ก็ไม่เป็นไร เหล้ายาไม่กิน ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต โยมพ่ออยากให้ลูกเรียนสูง ๆ จะได้ไม่ลำบาก ใน 3 หมู่บ้าน คือ หมู่ 1 หมู่ 2 และหมู่ 3
มีท่านไปเรียนอยู่คนเดียว
ท่านพระครูฯ จบชั้นมัธยมปีที่ 6 (กระทรวงศึกษาธิการเริ่มเปิดมัธยมศึกษา ปีที่ 3 ปีแรก ) เมื่อ พ.ศ. 2508 ตอนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 6
บ้านถูกโจรปล้นครั้งที่ 2 ตอนนั้นเริ่มเป็นหนุ่มแล้ว คิดจะยิงสู้กับโจร ค่อย ๆ คลานไปหาโยมพ่อแล้วกระซิบว่า พ่อ ๆ ส่งปืนมา
โยมพ่อกดหัวให้ติดพื้นไว้ ไม่ให้สู้
เนื่องจากปู่ย่าตายาย ท่านเป็นคนทำมาหากินสุจริต ขยัน มีที่ทางมากพอสมควร จึงมีฐานะดีกว่าคนอื่น ลูกหลานแต่งงาน ยายจะแจกควาย 1 ตัว ไถ 1 คน
จึงเป็นที่หมายตาของโจร (บ้านท่านถูกปล้น 4 ครั้ง) ลูกหลานเกรงว่ายายจะไม่ปลอดภัย หลังจากถูกปล้นครั้งที่ 2 จึงให้ยายไปอยู่ในตลาดบางปลากด
เมื่อจบชั้นมัธยมปีที่ 6 แล้ว ท่านพระครูฯ ก็กลับมาอยู่ช่วยบ้าน ช่วยทำไร่ไถนามา 2 ปี จนถึง พ.ศ. 2510 ก็ไปสอบเข้าตำรวจ
สอบข้อเขียนได้แต่ไปตกตรวจสุขภาพ เนื่องจากตาบอดสี เพื่อน ๆ ที่เป็นนักฟุตบอลเขตก็มาชวนไปเรียนวิทยาลัยครู ท่านบอกว่าไม่เอาแล้ว
เพราะพื้นฐานการศึกษาไม่ได้ และห่างมานาน แต่อีกใจหนึ่งก็อยากเรียนหนังสืออยู่ เพราะอยากให้พ่อแม่สบาย
เมื่อกลับมาอยู่บ้านแล้วเพื่อนฝูงก็มากขึ้น รวมทั้งเพื่อนที่เป็นมือปืนด้วย เมื่อคบมือปืน บ้านก็ปลอดภัย แต่ท่านบอกว่าไม่ได้ไปปล้นกับเขานะ
ยังทำนา ทำไร่ ทำสวน ในที่ 100 ไร่เศษของโยมพ่อโยมแม่ ความอยากให้ครอบครัวมีฐานะดีขึ้น ให้พ่อแม่ได้สบาย
ทำให้ท่านครุ่นคิดพิจารณาถึงการพัฒนาชีวิตมาก หน้าน้ำน้ำท่วม สูง 2 เมตร แทบทุกปี ความอยากจะพัฒนามันสะสมก็ทำไม่ได้
เพราะดินฟ้าอากาศไม่ได้อำนวยอย่างต้องการ ก็ทนกันไป เคยปรารภกับโยมพ่อว่า ถ้าลงทุนทำนาตั้งแต่จ้างรถไถ 3 รอบ 4 รอบ ฝนจะตกเมื่อไรก็ไม่รู้ จะหว่านข้าว
จะเกี่ยวข้าว ก็ต้องจ้างหมด ทำไปแล้วเงินที่ลงทุนไปกับข้าวที่ขายได้ก็เท่ากัน อย่างนี้ต้องจนทั้งชาติ โยมพ่อก็บอกว่า
ถ้าคิดอย่างมึงก็ไม่ต้องทำมาหากิน
พออายุ 21 ปี ก็ไปเกณฑ์ทหาร กำนันมาขูดรีดแต่ก็ไม่ยอมให้ ไปให้เขาคัดเลือกตามระเบียบจนผ่านพ้นมา ก็กลับมาทำนาต่ออีก 3-4 ปี พอถึงอายุ 24 ปี
คืนหนึ่งฝันไม่ดี ฝันว่าไฟไหม้ มีคนบอกว่าให้แก้ฝันกับน้ำ ให้หนักเป็นเบา ท่านตัดสินใจว่า 2 เดือนนี้จะไม่ไปไหน กำลังทำนาอยู่
เพื่อนก็มาเรียกชวนไปเที่ยว เขาทำบุญ 100 วันงานศพ ก็บอกว่าไม่ไป เพื่อนก็คะยั้นคะยอว่า ไปเถอะ ไปเอาเสื้อบ้านกู ก็ไปกับเขา ไปเอาเสื้อใส่ไปเที่ยว
ที่งานนั้นมือปืนมารวมญาติกันเลย มีการละเล่น มีรำวง พวกเราคนหนึ่งเรียกให้คนที่นั่นไปซื้อเหล้า แล้วเอามีดแทงเลย ตอนนี้ชุลมุนไปหมด
ยิงกันอย่างในหนัง พวกถูกแทงไส้ไหลตายไป 3 ศพ ท่านรีบไปบอกกับพ่อคนตายว่า อย่าเอาผมไปเข้ากับพวกหาเรื่องนั่นนะ เดี๋ยวประวัติผมเสีย เขาก็รับปาก
แต่พอกำนันมา กำนันจดชื่อทุกคนไปบอกตำรวจหมด ตอนนี้ก็มีการขู่จากพวกที่ตาย 3 ศพว่า ถ้าใครถูกจับ บ้านต้องถูกระเบิดหมด ท่านก็หนีเข้าป่า
โยมพ่อตามไปส่งข้าวอยู่ 2 วัน หลักจากนั้นก็หนีไปอยู่กับญาติที่โคกสำโรง จ.ลพบุรี อยู่ไม่ถึง 20 วัน ก็ขึ้นรถ บขส.กลับบ้าน พบพวกมือปืนอีก
ก็ชวนกันไปอีก เสื้อผ้าหายหมด ก็ไปกับเขา
หลังจากนั้นก็กลับมาบ้านทำมาหากิน ไม่มีเรื่องอะไร คุยกับบ้านคนตายก็ไม่มีปัญหาอะไร เราหากินโดยสุจริต แต่ความคิดอยากมีฐานะตั้งตัวได้
อยากพัฒนายังฝังใจอยู่ ท่านเล่าว่า จะไปชอบผู้หญิงก็ไม่มีสวรรค์จะให้เขา ไม่มีความรู้ ไม่มีเงิน
ตอนนั้นอายุ 25 ปี เห็นเข้าบวชกันมาก กลัวแม่จะเสียใจก็บอกแม่ว่า บวชแล้วผมไม่สึกนะแม่ โยมแม่ก็โมทนา เมื่อถูกน้องสาวแซวเรื่องบวช ท่านก็บอกว่า
ถ้ากูบวช มีงอย่ามาแค่นให้กูสึกเชียวนะ กูบวชแล้วกูไม่สึก
ความเข้าใจก่อนบวช
ท่านเล่าว่า มันเป็นบุพกรรมหรือไงไม่ทราบ เพราะเป็นคนเกลียดพระมาก่อน เกลียดเข้ากระดูก ถือว่าเป็นมารสังคม เป็นมิจฉาทิฎฐิมาเต็มขั้นเลย
อยู่บ้านนอกนี้ เวลาแม่ให้ไปทำบุญ ให้เอาปิ่นโตไปวัด เราก็ไปแต่ไม่ถึงวัดหรอก กินเสียเองกลางทาง
เพราะเราเจอสิ่งที่ไม่ดีมาก่อน นักบวชบางคนก็กินเหล้า บางคนก็ดูดกัญชา ก็คิดว่าไม่เห็นมันดีกว่าเราเลยนี่ เป็นมารศาสนาจริง ๆ
ก็เลยไม่นับถือมาโดยตลอด พออายุ 25 บวช คือบวชตามใจพ่อแม่ ตอนบวชก็ยังไม่ศรัทธา เอาผ้าเหลืองหุ้มไว้เฉย ๆ แต่ความที่เป็นมิจฉาทิฎฐิแรง ๆ
ทำให้ค้นคว้ามาก เขาคุยเรื่องกรรมฐาน เราก็ค้านเขาตลอด
เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์
ท่านพระครูฯ อุปสมบท เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2516 ณ วัดปากคลองปลากดนอก มี พระอธิการทองหยด เป็นพระอุปัชฌาย์
พระอาจารย์ชุบ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระครูนิยุตฺตธัมมสาร เป็นพระอนุสาวนาจารย์
การบวชตอนสงกรานต์ก่อให้เกิดปัญหาขึ้นอย่างหนึ่งเฉพาะท่านพระครู เนื่องจากช่วงสงกรานต์เป็นการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของจุลศักราช
ชาวบ้านนิยมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ พระทั้งวัดจึงต้องสวดมาติกาบังสุกุลทุกวัน ท่านนั่งอยู่ท้ายอาสน์สงฆ์ สวดไม่ได้ หน้าชาอยู่ 5 วัน
บวชแล้วก็ไม่ค่อยได้ทำอะไร ท่านเล่าว่า ไอ้เราก็อยู่วัดบ้านนอกใช่ไหม เช้าก็เอน เพลก็นอน ตอนนั้นไม่มีทีวี บ่ายก็พักผ่อน
เย็นก็ทำวัตรนิดหน่อยก็นอนอีก โยมแม่ท่านเล่าว่า สมัยอยู่วัดปากคลองปลากดนอก ท่านพระครูฯ อ้วน นอนกระดานตัวเหลือง ขาก็อ้วน
แต่แท้จริงแล้ว นับแต่วันที่บวช ท่านพระครูฯ ท่านเล่าว่า ท่านพบว่า สวรรค์อยู่ที่นี่เอง การคิดถึงอนาคตไม่ต้องมี อนาคตแค่นี้พอแล้ว
ที่เราทุกข์ทุกอย่างแค่นี้พอแล้ว พ่อแม่ให้เรา 25 ปีพอแล้ว ต่อแต่นี้ไปชีวิตเป็นของเรา สมองโปร่งโล่งเบาไปหมด มีความสุข
และจากความอายที่สวดมนต์ไม่ได้ ทำให้ท่านเร่งรัดท่องบทสวดมนต์ ทั้งพระอภิธรรม มาติกา ทำวัตรเช้า วัตรเย็น อนุโมทนาวิธี และเจ็ดตำนาน จนคล่อง
ที่นอนคือ นอนท่องบทสวดมนต์ และเรียนนักธรรมตรีด้วยตนเอง ก่อนออกพรรษาก็ไปสอบที่สนามสอบวัดแสงสวรรค์ อ.ชุมแสง ก็สอบได้นักธรรมตรี
ต่อมามีพ่อค้าเอาหนังสือมาแลกของที่วัด ท่านก็เอาของไม่ใช้ไปแลกได้หนังสือมาหนึ่งเล่มชื่อ ลีลาวดี แต่งโดย ธรรมโฆษ (อาจารย์แสง จันทร์งาม
หรืออดีตท่านเจ้าคุณพระภัทรมุนี วัดแก้วแจ่มฟ้า) อ่านแล้วติดใจเพราะถูกจริตท่าน
หลังจากนั้นท่านพระครูสุรินทร์ (ท่านพระครูวิจารณ์วิหารกิจ แห่งวัดสุขุมราม) ชวนมาปฏิบัติธรรม ท่านก็กลัวจะบ้า ท่านพระครูสุรินทร์บอกว่า ไม่เป็นไร
ไม่บ้าหรอก แล้วท่านพระครูสุรินทร์เอาหนังสือประวัติหลวงพ่อปานให้อ่าน ท่านเล่าว่า แต่เรายังไม่อ่านหรอก
(พระครูสุรินทร์กำลังจุดธูปเทียนบวงสรวง เพื่อสร้างพระนอน 50 เมตร ณ วัดสุขุมาราม จ.พิจิตร)
ถามพระครูสุรินทร์ว่า นรกสวรรค์มีจริงหรือ
ท่านบอกว่า มี
แล้วพระครูเห็นไหม
บอก ไม่เห็นหรอก แล้วท่านก็โยนหนังสือให้อ่าน
ถามว่า หนังสือนี่ใครเขียนล่ะ คนเขียนตายหรือยัง
บอกว่า ยังไม่ตาย แล้วท่านก็ให้อ่าน
พออ่านประวัติหลวงปู่ปาน โอ้โฮ..ในนั้นหลวงพ่อจวกพระไว้เยอะนี่ พระแบบนี้ไม่ใช่พระหรอก ก็นึก เออ...ถูกคอกับเรา พวกนี้พวกเดียรถีย์
ท่านก็บอกไปเรื่อย ๆ
พออ่านพรรษานั้นก็วางไม่ลง อ่านเร็วกลัวจะหมดก่อนออกพรรษา เปิดนิดหน่อยแล้วก็วาง เปิดไม่ให้หน้ามันติดต่อกัน อ่านรูดเดียวเดี๋ยวไม่มีอ่านอีก
เหมือนกับกินขนม กินนิด ๆ หน่อย ๆ แล้วก็เก็บไว้ กลัวจะหมด
พออ่านแล้วก็เร่าร้อนใจมาก อยากจะมาหาหลวงพ่อ ก็เตรียมการบอกให้น้องชาย (ชื่อวิจิตร) มาขอเงินแม่ 500 บาท บอกว่าจะไปเที่ยว พ่อไม่ให้
บอกให้มาเอาเอง จะสึกก็ให้มาพูดกันให้รู้เรื่องก่อน
ท่านก็มาบ้าน บอกทางบ้านว่า ไม่สึกหรอก จะไปวัดท่าซุง เมื่อได้เงินมาแล้วก็ไปขอร้องให้ท่านพระครูสุรินทร์พามาวัดท่าซุง ท่านพระครูสุรินทร์ก็บอกว่า
มาแล้วจะกลับวันเดียวไม่ได้นะ ไว้ออกพรรษาก่อน สมัยนั้นจะมาวัดท่าซุงต้องนั่งเรือจากวัดปากคลองปลากดนอก มาขึ้นที่นครสวรรค์ จากนครสวรรค์ก็นั่งรถบขส.
มาอุทัยธานี แล้วต่อรถสองแถวมาวัดท่าซุง
พอออกพรรษา พระครูขึ้นไปชวนท่านพระครูสุรินทร์ พระครูสุรินทร์ก็กลัวหลวงพ่อดุ รีบมากันแต่เช้า มาถึงก่อนเพล ท่านคุยอยู่กับมหาเปีย
วัดปากคลองมะขามเฒ่า ในกุฎิริมน้ำ (กุฎิที่คุณครูนนทา อนันตวงษ์ สร้างถวาย) เรื่องงานกฐินอยู่ ท่านบอกให้ไปฉันข้าวที่โรงครัวก่อน
พอท่านฉันเสร็จแล้ว ท่านมาเลี้ยงหมาของท่าน ข้าวเป็นกะละมัง ๆ เลย มาตักทำเองเลย ท่านบอกให้พระเลี้ยง นี่หมามันจะติดสีเหลือง อย่างน้อยก็เป็นเทวดา
เสร็จแล้วก็ไปล้างชามท่าน้ำนั่นนะ เลี้ยงปลาอีกที เรียกว่าปลาตะเพียนทอง มันก็มากิน ล้างกะละมัง เสร็จก็กลับ
เราไปใหม่ก็ไปนั่งรับท่านข้างใน โอ้โห ตาท่านคมกริบ มองเพ่ง... ไอ้คนสมัยนี้มันบวชเป็นพิธีกรรมเท่านั้นแหละ มันบวชมันกลัวมีเมียไม่ได้มันถึงบวช
ว่าเราหรือเปล่าวะเนี่ย ว่าเราหรือเปล่า แข็งปั๊กลงมาถึงใจเลยนะ ตอนหลังนี่บอกไม่ได้ เป็นความลับ พูดเป็นสาธารณะไม่ได้ โอ้...ท่านจวกปั๋ง ๆ ๆ มาเลย
พระครูสุรินทร์ท่านก็บอกว่าฝากด้วย พระท่านอยากจะมาปฏิบัติธรรม อยู่กับหลวงพ่อ ท่านถามว่า ระงับนิวรณ์ได้หรือยัง เราคิดว่านิวรณ์นี่อะไรว่ะ
ไม่ต้องรู้ว่ามีอะไรเลย คือไม่รู้เรื่องเลย ก็ตอบท่าว่า ยังครับ
ท่านบอกว่า จะมาอยู่กับข้าต้องเอาจริงเอาจังนะ ให้ตั้งใจปฏิบัติ ก็รับปากท่าน ท่านบอกว่า ให้ไปอยู่กุฎิพระโอก่อนนะ เขาไม่อยู่
เรากราบเรียนท่านว่า หลวงพ่อครับ ญาติผมที่อยู่ที่นครสวรรค์ แล้วก็แถว ๆ นี้ แถวมโนรมย์นี่มีญาติเยอะครับ มีพี่น้องอยู่แถวนี้ครับ ท่านบอก เออ
พี่น้งพี่น้องไม่สำคัญน่ะ ระวังนะ อย่าฟังเสียงนกเสียงกา หมาเห่าหมาหอนให้มากนักนะ
เราก็ เอ.... หมายความว่ายังไงวะ คิดไปคิดมาพี่น้องเราด่าหลวงพ่อทุกคนเลย ก็พี่น้องเราอยู่แถวนั้นใช่ไหม พี่น้องเกลียดหลวงพ่อทั้งนั้น
ท่านถึงบอกว่าอย่าฟังหมาเห่าหมาหอนมากนัก เมื่อท่านพูดแบบนั้นแล้ว ท่านก็คุยเรื่องอื่นต่อ แต่เราดูท่านแล้วนี่ ท่านเป็นผู้ที่น่าเกรงขาม
ไม่เหมือนพระทั่วไปที่เราเคยสัมผัสมา ท่านบอกให้ไปหาที่พักให้เรียบร้อย ตกเย็น ๆ จะมีการทำวัตร สวดมนต์ นั่งกรรมฐานกันเป็นปกติ
ทีนี้วันแรกก็ ไอ้เราก็ส่วนมากอาบน้ำแม่น้ำน่าน มาถึงที่นี่มันมีน้ำประปาใช่ไหม หลวงพ่อท่านทำไว้ไอ้ตรงพระฉันเก่ามันมีอยู่ห้องหนึ่ง เราก็อาบซู่ ๆ
เสร็จออกมา ท่านพูดว่า ฮื่อ... น้ำท่ามันก็มีอยู่ข้าง ๆ ไม่ใช่สำอางมาอาบน้ำนี่
อู้ฮู้ จวก... เขาให้คนอาบน้ำในแม่น้ำไงเล่า แถวนั้นเขาอาบน้ำในแม่น้ำกันทั้งนั้น ตั้งแต่นั้นเข็ดเลย ไม่อาบน้ำอีกแล้ว ต้องอาบน้ำที่แพ
ท่านประหยัด แถวนั้นไม่มีปลูกดอกไม้อะไรหรอก ตึกเสริมศรีนะ เพราะว่าท่านให้ตักน้ำในแม่น้ำมารดนี่ น้ำก๊อกอะไรนี่ท่านไม่ให้รดหรอก เพราะว่าเปลือง
มันต้องใช้คลอรีน ต้องใช้ไฟฟ้าสูบมา ใครจะขยันนักล่ะ
ขณะนั้นมันก็ใกล้จะหนาว ๆ แล้วนี่ ถึงเย็นๆ ก็ต้องไปนั่งฝึกกรรมฐานกันที่ตึกเขาเรียกว่า ตึกขาว ที่เขาป้ายข้างตึกเขาเขียนว่า ตึกอะไรล่ะ เรียกว่า
ตึกสุขุมวัฒนี นวพันธุ์นี่ ซึ่งตึกนี้เป็นตึกเจริญพระกรรมฐานของวัดรุ่น พ.ศ.2516
เมื่อตอนเย็นขึ้นไปนั่งพระกรรมฐานแล้ว จิตของเราที่ไม่เคยฝึกมันก็ดิ้นรนฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ของกิเลสทุกอย่างที่มีอยู่ในตัว ท่านสอนว่า
ต้องตัดความกังวลห่วงใยทั้งหมดที่มีอยู่ อย่าตามคิดถึง อย่าสนใจจริยาของผู้อื่น ให้สนใจจริยาของเรา
เมื่อท่านเทศน์จบ ท่านก็ให้แผ่พรหมวิหาร 4 ไปในทิศทั้งปวง ท่านก็บอกว่า ไม่ใช่เขียนหนังสือ แต่ว่า เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
ต้องทำจิตใจให้รักคนอื่นเหมือนรักตัวเรา มีเมตตาสงสารคนอื่น เหมือนสงสารตัวเรา ให้มีศีลบริสุทธิ์ผุดผ่อง
เมื่อท่านสอนเสร็จก็ให้นั่งกรรมฐาน จิตของเราก็ฟุ้งซ่านเต็มอัตราศึก สุดที่จะฟุ้งซ่านได้ เมื่อนั่งกรรมฐานเสร็จก็อุทิศส่วนกุศล
ก่อนที่จะอุทิศส่วนกุศล ท่านก็บอกว่า
พระใหม่เอ๊ย พระใหม่ที่มาใหม่ก็คือเรา ตอนนั้น มีพระนั่งกรรมฐานสัก 7-8 องค์ได้ บอกว่า พระใหม่เอ๊ย...พระมาบอกว่าให้เดินเข้ามหาสติปัฏฐานสูตรนะ
มีหนังสือไหม มีหนังสือมหาสติปัฏฐานสูตรไหม บอกว่า ไม่มีครับ
มหาสติปัฏฐานสูตร เราเองน่ะไม่เคยอยู่ในหัวในสมองเลย เพราะไม่เคยรู้จัก ไอ้ความที่เราไม่เคยสนใจมาก่อน จึงไม่รู้จักหนังสือธรรมะทุกอย่าง
ท่านบอกว่า ไม่มีให้ไปขอครูนนทาเขา ให้ครูนนทาเขาหยิบให้ เมื่อสั่งแล้วท่านก็เลิกกรรมฐาน
เราก็มาเอาหนังสือที่ครูนนทาให้มา ก็มาอ่าน อ่านแล้วก็รู้ว่าหนังสือเล่มนี้ ไม่มีฤทธิ์ ไม่มีเดชเลย เป็นหนังสือสุกขวิปัสสโก หาฤทธิ์หาเดชไม่ได้
ไม่ชอบใจในจิต เพราะเราอยากได้ฤทธิ์และเดช อยากมีตาทิพย์หูทิพย์ จะได้ไปคุยโม้อวดชาวบ้านเขาได้ว่า
เราก็เก่งเหมือนกัน สามารถมีหูทิพย์ตาทิพย์ได้ นี่มันเป็นกิเลสเต็มขั้น ท่านสาธุชนอย่าเอาเป็นเยี่ยงอย่าง เรื่องความอยากห้ามกันไม่ได้
แต่อย่าผิดทำนองคลองธรรมอย่างอาตมานะ ข้อควรอย่าก็ไปใกล้ มันเป็นทางแห่งการลงอบายภูมิทั้งนั้น
เมื่ออยู่กับท่านแต่บัดนั้นมา ก็นั่งกรรมฐานกันเกือบทุกวัน งานการทางวัดมีอยู่ก็ทำ ทำเป็นกิจวัตร คือ ทำวัตร ฉันเช้า แล้วก็ลงมือทำงาน
มีการก่อสร้าง ขณะที่มาตอนนั้นกำลังขัดหินขัดอยู่ที่พื้นที่วงศานุสรณ์นั้น ไปช่วยเขากวาดน้ำ ขัดพื้นเป็นงานที่ทำร่วมกัน ทั้งพระภิกษุและฆารวาส
ทีนี้ไอ้เราก็เคยนอนตอนบ่ายมา แหมอีตอนบ่ายมันง่วง เราก็ศิษย์ใหม่ด้วย มาใหม่ ไอ้จะนอนก็เกรงใจเขา เดี๋ยวเขาจะหาว่ามาใหม่แล้วเขาทำงานกันดันไปนอน
จะโดนไล่กลับเสียอีก อู๊ย กวาดน้ำหินขัดนี่นะ มันง่วงจริง ๆ เอ้า นอนไม่ได้ต้องทำกับเขาไปสัก 7 วัน มันก็คืน ก็ไม่ง่วงอยู่กับเขาได้
สมัยนั้นหลวงพ่อลงสอนกรรมฐานทุกวัน ทีนี้มีพี่สะใภ้ท่านคนหนึ่ง ท่านก็ เทศน์เรื่องคนในครัว เออ พระท่านบิณฑบาตมานะ ท่านก็ฉันอย่างนั้น
แต่อีแม่ครัวจัญไรนี่สิ มันต้องทำพิเศษกินอีก ท่านว่า เราก็คิด แหม มันต้องยายนี่แน่เต็มที่เลย
พอตกกลางคืนเอาใหม่ ท่านเทศน์อีก ให้ทุกคนมันดูตัวมันนั่นแหละ ไม่ใช่ไปดูตัวบุคคลอื่น ดูจิตของตัวเอง ไอ้ตัวมันเองดูตัวเองเสียบ้าง อู้ฮู้
ว่ากูนี่หว่า ไม่ต้องไปฟ้องนะ คิดในใจนะ ครูบาอาจารย์นี่รู้จริง ไม่มีโมเม
เมื่อก่อนนี้นะเรียกว่า พรรษาแรกพูดกันไม่รู้เรื่องว่า เอ๊ะ ทำไมหลวงพ่อถึง สั่งงานอย่างเดียวกันทีสามคนสี่คน พอเจอเราสั่ง เจอพี่โอสั่ง
แต่งานเดียวกัน มันเบลอเพราะกลัวกันนี่ เดี๋ยวมันไม่ทำ มันเบลอ มันกลัวกันจนลานเกินไป
พระฉันอาหารท่านดูว่า เออ พระฉันอาหารมีรสชาติอย่างไรบ้างเป็นห่วง แต่เมื่อฉันเสร็จแล้วสักพักหนึ่ง ท่านบอกว่า ได้ยินเสียงหมากัดกัน
กินข้าวดังจ๊วบ นี่มันไม่ใช่คน ไม่ใช่พระหรอก คนก็ยังเลวเกินไป นี่เขาเรียกว่า หมู หมูคือสัตว์ เดรัจฉาน อู้ฮู้
ขณะที่มาอยู่ตั้งแต่ พ.ศ.2516 นั้น ทางวัดไม่มีทองมาก ไม่มีพุทธบริษัทมาสงเคราะห์เหมือนสมัยนี้ ถือว่าอยู่กันตามอัตภาพ มีเงินก็ก่อสร้าง
ถ้าประหยัดแรงงานได้พระก็ทำกันทุกวันไม่ได้ขาด ไม่มีวันขาด ไม่มีวันพระ ไม่มีวันโกน อันที่จริง เรื่องทำงานนั้นเป็นงานที่สาธารณประโยชน์
เป็นงานการกุศล ทำแล้วก็ได้สบายใจ
ช่วยหลวงพ่อสร้างวัด
เมื่ออยู่กันไป พ.ศ. 2516 นั้น หลวงพ่อท่านจะสร้างโบสถ์เพิ่มขึ้นมาอีก 1 หลัง เพราะหลังเก่านั้นเป็นที่ทรุดโทรมมาก หลังคาก็รั่วโหว่ ฝาผนังก็ผุพัง
ก็ดำริว่า ท่านจะสร้างพระอุโบสถบูรณะของเก่า แต่ท่านเจ้าอาวาสผู้นิมนต์ท่านมานั้นยอมให้สร้างเหมือนกัน แต่ต้องควบคุมการเงินเอง
ฉะนั้น ก็เป็นสิ่งที่ผิดปกติ ผิดปกติคือ ไม่ได้หาเงินเอง แต่จะเอาเงินไปเก็บเอง ในฐานะตัวเองเป็นเจ้าอาวาส
การที่จะทำอะไรอย่างนี้เป็นการทำลายศรัทธาของคนผู้มีศรัทธา เพราะว่าผู้ที่จะเอาเงินมาให้คือ ผู้มีศรัทธานั้น เขาไม่ไว้ใจเจ้าอาวาส เพราะว่าเคยสร้าง
สั่งของมาแล้วเป็น 10 ปี ยังทำไม่ไปถึงไหน แต่ออกเงินให้ชาวบ้านเขากู้ บริษัทของตัวเองก็กินเหล้าเมายาเป็นที่ไม่ไว้วางใจของคนดี คนดีที่มีศีลมีธรรม
เมื่อท่านเจ้าอาวาสยืนยันมาอย่างนั้น หลวงพ่อท่านก็ไม่ตกลงด้วย เพราะว่า เจ้าของเงินที่บริจาคมานั้นเขาไม่ไว้ใจ
หลวงพ่อท่านจึงสั่งซื้อที่ตรงข้ามกับวัด คือฝั่งถนนที่ปัจจุบันเขียนว่า ศูนย์ศิษย์หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค นั่น 11 ไร่
ขณะนั้นยังเป็นป่า ป่ารกชัฏ เป็นป่าไผ่แถบหนึ่ง ที่ทำนาบ้างแถบหนึ่ง ตกลงมีโยมที่เป็นเจ้าของขายให้ในราคาถูก ไร่ละหมื่นบาท คือทำบุญด้วย
เมื่อท่านตกลงซื้อที่จะสร้างพระอุโบสถขึ้นมาใหม่โดยไม่ต้องผ่านเจ้าอาวาส เมื่อตกลงซื้อที่แล้ว ก็ต้องถากถางป่าที่รกชัฏอยู่
อันที่จริงสมัยก่อนนั้นเราก็ไม่ค่อยมีเงินมาก ไม่ใช่ไม่มีเงินมาก คือไม่มีเงิน คือทำก่อนผ่อนทีหลัง จะหารถแทรกเตอร์มาดันป่าก็ไม่มี
ฉะนั้น จึงต้องหาแรงงานชาวบ้าน ส่วนหนึ่งจ้างเอามาฟัน ส่วนหนึ่งพระฟัน คือฟันป่าไผ่ให้เตียน เมื่อฟันป่าให้ล้มลงแล้ว
ปล่อยให้แห้งสักช่วงหนึ่งก็จุดไฟเผาให้ลง เพื่อจะทำการวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถ
พระฟันป่าไผ่ ขุดดิน สมัยนั้นมีอยู่ 5-6 องค์ มีหลวงพี่โอ มีฉัน (พระอนันต์) มีหลวงตาเริญ พระวิเชียร (องค์นี้เป็นช่าง) แล้วก็พระน้อม
ดูเหมือนจะมีสามเณรสมศักดิ์อยู่ด้วย ก็ฟันไผ่กันไป ฟันก็ยาก หนามก็เยอะ ตอก็ลึก
ข้างโยมแม่จำรัส พอเกี่ยวข้าวเสร็จก็ไปกับโยมพ่อรอด ไปเยี่ยมพระลูกชาย พอไปถึง ท่านพระครูกำลังฟันป่าไผ่อยู่ตรงโบสถ์ปัจจุบันนี้
โยมแม่จำพระลูกชายไม่ได้เลย พระด้วยกันเขาบอกว่า โยมพ่อโยมแม่มา ให้หยุดฟันออกไปรับ โยมแม่เห็นเข้าร้องไห้โฮเลย สงสารลูก
โยมแม่เล่าว่า ตัวก็แดงยังกะลูกตำลึงสุก มือก็แดง โยมแม่เล่าว่า บุญหรือบาปก็ไม่รู้ แต่แม่ชวนให้กลับไปอยู่วัดปากคลองปลากดนอก
บอกว่า แม่เลี้ยงได้ กลับไปอยู่วัดบ้านเรากันเถอะ ท่านพระครูฯ ตอบโยมแม่ว่า ยังไม่กลับหรอก อยู่กับหลวงพ่อสบายดี
ส่วนหลวงตานา มีหน้าที่เผาถ่าน มีเศษไม้อะไรท่านก็เผาเลย เก่งในการเผาถ่าน ท่านเล่าว่า ทำงานกันอย่างนี้ พอตกค่ำก็หลับกันปุ๋ยเลย
อย่างนี้ได้บารมีดี การสร้างวิหารทานทำด้วยแรงกาย มีความเสียสละ ได้บารมีทุกอย่าง ขันติบารมีก็อยู่ในนี้ วิริยบารมีก็อยู่ในนี้ เมตตาบารมีก็อยู่ในนี้
และเป็นการหนุนกรรมฐานด้วย
จะว่าลำบากก็คงจะลำบากละ ที่ตรงโบสถ์นี่มันป่าเอง ทั้งนั้นนะ เป็นป่าไผ่ เราก็รอแทรกเตอร์ใช่ไหม รอรถไม่มาหลวงพ่อก็ให้ฟันเองเลย ฟันไผ่ฟันยาก
เพราะว่ารากลึก
ตอนนั้นเงินทองก็ไม่ค่อยมี อาหารการกินก็ไม่เหมือนสมัยนี้หรอก หลวงพ่อถวายองค์ละ 5 บาท หลวงพ่อก็บอก เออ พวกทำงานนี่นะ
หลวงพ่อไม่มีอะไรเลี้ยงนะ ให้เบี้ยเลี้ยงวันละ 5 บาท ไปซื้อกาแฟกินกันนะ ไปซื้อโอวัลตินกิน ข้าไม่มีกาแฟอะไรเลี้ยงพระ
ใครทำงานก็ให้ 5 บาท ถวายทีหนึ่ง 10 บาท 20 บาท อะไรอย่างนี้ ไอ้เราก็ไปซื้อนมมา ซื้อโอวัลตินมา ของใครของมัน ซื้อไว้ มีเบี้ยเลี้ยงแล้วนี่
มีเบี้ยเลี้ยงคนละ 5 บาท ทุกองค์นะ ใครทำงานมี 5 บาท ซื้อนมมา 2 กระป๋อง 3 กระป๋อง มันทำงานเหมือนกรรมการนี่แหละ
เมื่อป่าไผ่ได้เตียนลงแล้ว ท่านก็ดำริขึ้นมาว่า ก่อนจะวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถนั้น ให้สร้างกำแพงรอบวัดก่อน ให้จ้างคนมา พระส่วนหนึ่ง
ญาติโยมส่วนหนึ่ง มาทำกำแพงรอบวัด ทั้งหมด 11 ไร่ เมื่อทำกำแพงลงไปแล้ว ก็เริ่มสร้างกุฎิหลังแรกฝั่งพระอุโบสถ ปัจจุบันคือ ตึกเศรษฐี
อยู่ที่มุมเศรษฐีหลังแรกหลังใหญ่
ปัจจุบันตรงทางขึ้นไปศาลา 3 นา ศาลา 2 ไร่ ตอนนั้นเมื่อขุดหลุมเสาแล้ว อาตมาเองก็ไปช่วยเขา ตั้งแต่ถมดินทุกอย่าง ก่ออิฐ ฉาบปูน ขนอะไรทุกอย่าง
เมื่อสร้างหลังนั้นขึ้นมาแล้ว ก็สร้างกุฎิพร้อมกันทีเดียว 10 หลัง ตั้งเสา เสา เสา เสา เอาดินถมพื้น ขุดหลุม เทปูนทุกอย่าง ทำไปรวมกับช่างบางส่วน
ก่อสร้างโบสถ์นี่สร้างรั้วก่อน เดี๋ยวจะหาว่าไม่ละเอียดลออนะ สร้างรั้วแล้วก็สร้างกุฏิ เขาเรียกว่า กุฏิมุมมหาเศรษฐี
เจ้าอาวาสนี่ ถ้าไปอยู่วัดไหนก็ช่างเถอะนะ ไปดูกุฏิเจ้าอาวาสกับโบสถ์ มันจะมี มุมทุคตะ มุมโจร มุมปาราชิก มุมตายโหง อะไรอย่างนี้
เจ้าอาวาสอยู่มานั้นก็ต้องตาย แต่มันตายทุกองค์นั่นแหละ แต่ว่าอาจจะตายไว มุมมีชื่อเสียง มุมพระโมคคัลลาน์ พระสารีบุตร มันมีอยู่
นี่ตำราหลวงพ่อว่าไว้นะ
แต่ครั้งแรกเลย สร้างมุมเศรษฐีก่อน ก่อนจะสร้างวัดนี่ สร้างกุฎิเจ้าอาวาส เขาเรียกว่า มุมเศรษฐี
ทีนี้มันก็เกิดมุมที่หันหน้าตามพระประธาน เหมือนกับเรายืนอยู่ตรงพระประธานก็แล้วกัน ยืนปุ๊บ พระประธานอยู่ข้างหน้าเรา เรายืนอยู่ตรงกลาง
หลังพระประธานเลย มันจะมีทางซ้ายทางขวามือเราใช่ไหม มุมทางซ้ายมือเรานี้เรียกมุมเศรษฐี แล้วตรงหลังพระประธานออกมา
ถ้ากุฎิเจ้าอาวาสอยู่ตรงนั้นน่ะ เขาเรียกมุมปาราชิก ปาราชิกเรื่องเงินทองยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด ง่ายกว่าเรื่องผู้หญิงเยอะแยะ แต่ไม่มีใครรู้เท่านั้นเอง
มุมขวามือพระประธานนี่มุมทุคตะมั้ง เขาบอกว่ามุมทุคตะนี่ดีอยู่อย่าง เจ้าอาวาสขยัน มันทุกข์อยู่เรื่อย ต้องไปหาเรื่องสร้าง หาเรื่องทำอยู่เรื่อย
เหนื่อย
พอสร้างกุฎิมุมเศรษฐีสร้างก็ขึ้นกุฎิทีเดียว 10 หลังเลย ต่อพรืดมาเลย หลังโบสถ์ ที่รื้อทำใหม่นี่นะ
มันขึ้นโครงก่อนโบสถ์หน่อยหนึ่ง เสร็จก่อนโบสถ์ พอสร้างตรงนี้มีพวกพิสดาร ไอ้เรานี่มันคอยจะรู้เก่งกว่าครูเสียนี่
พอสร้างขึ้นเสาเสร็จจนกระทั่งเอาทรายขี้เป็ดมาโบก มาถมที่ให้มีเต็มสูงกว่าระดับน้ำ ท่านบอก เฮ้ย นันต์ แกเทเอาแค่ตามแปนอน ๆ นี่นะ
เอาหนาแค่นั้นพอ ให้มันเรียบ แปนอนมันหนาสักนิ้วครึ่งน่ะ เทนิดๆ หน่อย ๆ มันก็จะได้นิ้วแล้วใช่ไหม เอ๊ หลวงพ่อ เดี๋ยวมันก็ยุบนะ
อย่างนี้ก็เทแปขวางอย่างนี้ ให้แปนอน เราไปแปขวาง
โอ้โฮ ท่านมาบอก ไอ้พวกนี้สั่งมันเหมือนสั่งขี้มูก ระยำแท้ ๆ ไปปูตามแนวนี้ให้มันเรียบก่อน เดินจะได้ไม่ติดเท้า
เราไปอวดเก่งกว่าครูบาอาจารย์ ปรารถนาดี
ทีนี้ก็เท พอพื้นยังไม่ทันเรียบดี ก็วางศิลาฤกษ์โบสถ์ พวกฉันนี้ก็พระพวกกลัวหลวงพ่ออยู่แล้ว ไม่ค่อยมาเข้าในพิธีหรอก
เขาเลิกกันหมดแล้วเราถึงมาดูหลุมวางศิลาฤกษ์ เพราะว่าแขกผู้ใหญ่ก็ไป เมื่อก่อนทำไมกลัวหลวงพ่อกันจัง มีหลวงพี่โอ ฉัน หลวงตาเริญ หลวงพ่อผ่อง หลวงตานา
ห้าหกองค์เท่านั้น
ท่านก็บอกต่อไปนี่คนจะเยอะ คนเป็นแสน เราก็ เออ เชื่อสัก 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นน่ะ ลูกศิษย์ที่ดีมันอย่างนี้แหละ ก็คนมันยังไม่มานี่ใช่ไหม
ก็ยังไม่มาเป็นแสนนี่
โบสถ์นี่ทำปีเศษ ๆ กว่าโบสถ์จะเสร็จนี่คนงานแต่งงานกันไปหลายคู่ พอทำโบสถ์ท่านขึ้นธรรมสถิตด้วยเลย ขึ้นธรรมสถิตกับกุฎิสิบหลังทำพร้อมกันหมดเลย
พอขึ้นธรรมสถิตจะเสร็จนี่ขึ้นนวราชแล้ว พอนวนาชจะเสร็จปุ๊บ ขึ้นพระพินิจอักษรอีก
ช่วงหลังอาคารพระพินิจเป็นที่ลุ่ม ไม่เหมือนปัจจุบันนี้หรอก เป็นที่ลุ่มเพราะทำนา หลวงพ่อก็บอกว่า เออ พวกแกไปขุดบ่อกันไป ไปขุดบ่อ
น้ำจะได้ขังตรงที่ลุ่ม ขุดไปได้สักศอกหนึ่งได้น่ะ หน้าดินก็ขุดมาได้ ฟันแล้วก็หาบกันมา หน้าดินเป็นมัน เช้าก็เอากันพักหนึ่งก่อน
บ่ายสองโมงก็เอาอีกรอบหนึ่ง
วัดเราไม่ตอกเข็มเลยนี่ พอขุดไปได้สักเมตรหนึ่งนี่ ดินนี่มันไม่ลงแล้ว เอาน้ำหล่อเข้าไว้ จะขุดพรุ่งนี้เช้าก็เอาน้ำหล่อไว้ จะได้นิ่ม
นิ่มประมาณสักแค่นิ้วหนึ่ง ก็หมดนิ่มแล้ว เราฟัน โอ้โฮ.. เป็นมันน่ะ ฟันไม่ลงแล้ว เป็นมันปูแล้ว ห
ลวงพ่อมาดูบอก โอ้โหเว้ย... นี่ข้าว่าแล้ว ถึงไม่ตอกเข็มวัดท่าซุงก็เพราะอย่างนี้ ดินเป็นมันปูเลย ฟันไม่ลง ทำไม่ไหวแล้วต้องไปล่อแทรกเตอร์กันเลย
แทรกเตอร์ก็ดันให้มันเป็นบ่อ เลยเป็นเรือนกะเหรี่ยงในปัจจุบัน
พอทำถึง พ.ศ. 2520 นี่เลิก ท่านออกปากว่าเลิกทำแล้วน่ะ กระเบื้องที่เขาให้มาสักประมาณ 2 คนรถบรรทุก 10 ล้อนี่ ปูในวัดหมดแล้วเหลืออีกเป็นคันรถ
ท่านก็บอก นันต์ พอเราสร้างวัดเสร็จก็หยุดสักทีเรา พักผ่อน ต่อไปถ้าใครเขานับถือเราที่ไหนก็จะไปช่วยเขาเป็นคราว ๆ ไป เอากระเบื้องทั้งหมดนี่นะ
ไปให้พระครูสุรินทร์ไป เราก็จัดแจงเอารถบรรทุกมาขนไปเลย
พอตัดลูกนิมิตเสร็จสักนิดหน่อยก็ พระมาสั่งให้หลวงพ่อทำอีกแล้ว ก่อนจะตัดลูกนิมิตนี่มีงาน ท่านจะนิมนต์พระสุปฏิปันโนมาใช่ไหม โบสถ์ก็ยังไม่เสร็จ
ก็ถมลูกรังรอบโบสถ์ ก่อนจะตัดลูกนิมิตก็มีงานทำบุญครบรอบ 100 ปี หลวงปู่ปาน พ.ศ.2518 แล้วก็หล่อรูปหลวงปู่ปาน
ขอย้อนกลับไปถึงตอนอยู่กับหลวงพ่อใหม่ ๆ ฉันมาอยู่วัดท่าซุงสักสองสามวันแรก พระเขาก็สึกกันหมด เหลือพระอยู่ 4-5 องค์เท่านั้น พระก็เหลือน้อย
หลวงพ่อนี่ศัตรูรอบวัด รอบวัดเลย ไม่ใช่มีมิตรรอบวัดนะ เจ้าอาวาสก็เป็นศัตรู ลูกน้องเจ้าอาวาสก็เป็นศัตรู
ที่นี่ก็ศัตรูมาก ฉันมาอยู่ใหม่ ๆ ด้วย ตำรวจทหารก็มี ดาบตระกูล เปาริก มาอยู่ตอนกลางคืน กลางวันก็ไม่มี
หลวงพ่อนี่ถ้าคนจะฆ่าก็ฆ่าได้ทุกเวลาเหมือนกัน มีอยู่คราวหนึ่งมันก็เมามา มันก็ควักปืนมาหน้ากุฏิท่านน่ะ ท่านมีรั้วอยู่ตรงนั้น ตรงต้นมะม่วงนั่นน่ะ
เราก็เข้าไปหาหลวงพ่อบอก
หลวงพ่อครับ ไอ้นี่มันเมามาครับ มันจะเข้ามาข้างใน เราก็ไปหยิบกระบองแป๊บน้ำมา หลวงพ่อครับ เดี๋ยวผมช่วย หลวงพ่อครับ
จะช่วยหลวงพ่อ ทีนี้ตอนหลังเราก็บอก หลวงพ่อครับ ถ้ามีอะไรผมจะช่วยหลวงพ่อ ท่านก็เอาเราไปไว้ตึกเสริมศรี บอก ไอ้นี่มันแปลกว่ะ
มันกตัญญู มันจะช่วย
คือยังไงล่ะ วัดเรานี่เพิ่งมาเย็นตอนคอมมิวนิสต์มันหมดนี่หรอก ตอนที่คอมมิวนิสต์มันเยอะ ๆ นี่มัน... เขาก็หาว่าเราเป็นคอมมิวนิสต์ ด้วยสารพัดน่ะ
สร้างวัดได้ไว มันเอาเงินที่ไหนมา วัดอย่างนี้ มันก็ต้องเอาเงินคอมมิวนิสต์มานั่นน่ะ เอาสร้างมาอีกแล้ว เดี๋ยวหลวงพ่อเป็นคอมมิวนิสต์อีกแล้ว โอ๊ย
สารพัด ถ้าคนกำลังใจธรรมดาอยู่ไม่ได้หรอกตรงนั่นน่ะ
การภาวนาตอนนั้น พระสนใจน้อยเหมือนกัน คือตอนเย็นก็นั่งกรรมฐาน เช้าก็บิณฑบาต บิณฑบาตฉันแล้วก็ทำงาน มีจอบ มีอะไรก็ทำ
คุณโยมด๊อกเตอร์ปริญญายังไป่วยเลย โยมดำรงน่ะไปช่วยท่าน อยู่ด้วยกันนี่นะ
ไอ้เราก็ เอ้อ บอก หลวงพ่อครับ ผมยังไงผมก็ต้องทนอยู่จนได้ครับ ตอนนั้นมันกล้า ๆ กลัว ๆ เหมือนกัน เออดี ศรัทธาแท้
ท่านว่า
ปลื้มไม่เท่าไรหรอก กลัวท่าน พอกลางคืนก็นั่งอย่างนี้น่ะ เราทำไม่ดีท่านก็เอาอีกล่ะ แต่ท่านไม่ได้ผูกอะไรนะ ด่าแล้วก็ด่าไป เราทีนี้ก็
ท่านไม่ว่าแต่เรากลัวท่านน่ะสิ กลัวทีนี้ไม่ต้องเห็นกันแล้ว เห็นหลวงพ่อมามุนนู้นเราหลบมุมนี้แล้ว ไม่ใช่หลวงพ่อเจ้าขาเจ้าเขอ ไปหาอย่างนี้ไม่ได้
พอเห็นมานู่น เราหลบมุมนี้แล้ว มันกลัวเสียจริง ๆ เลย กลัวจนพูดกันไม่รู้เรื่องน่ะ พูดไม่รู้เรื่องเลย
ท่านมีวิธีสอนอีกแบบหนึ่ง คือ จวกต่อหน้าคนเยอะ ๆ จิตมันจะจำ จะอายจำแม่น ท่านไม่กลัวเสียคน เพราะเวลาปลงอาบัติต้องไม่มีอนุปสัมบัน คือเป็น
เณรก็ดี ฆารวาสก็ดี ไม่มีใช่ไหม ปลงอาบัติ คือสารภาพว่าวันนี้ไปทำผิดอะไรมา ตามพระวินัยไม่ให้ทำ แต่ท่านให้มีคนญาติโยมของท่าน ท่านต้องการให้พระอาย
จะได้จำ ไม่ทำอีก เรียกว่าจำจนวันตาย
อย่างอาตมานี่มีอาบัติอยู่ตัวหนึ่ง จะเล่าถึงความชั่วของตนเอง ปลงอาบัติไปหลายตัวแล้ว มาถึงตัวหนึ่ง อาตมานี่ปลงกับหลวงพ่อตัวต่อตัวเลยนะ
เป็นองค์แรกที่กล้าปลงกับท่าน จดมาเลย อาตมาก็บอก ข้าแต่หลวงพ่อผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้ยืนปัสสาวะ... พูดยังไม่ทันจบ หลวงพ่อบอก
หยุด ๆ ๆ ๆ แกปลงไม่ตกหรอก แกต้องไปยกขาข้างหนึ่ง ด่าเราแสบเสียอีก แหม ... จำจนตายเลย
พอปลงอย่างนี้ไม่กี่วัน มันก็มีงานอยู่งานหนึ่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นิมนต์หลวงพ่อไปอยุธยา ให้อาตมาไปด้วย พระก็ไปหลายองค์
ไอ้เราก็ไปเที่ยววัดมงคลบพิตร ฝนมันก็ตก ก็ปวดปัสสวะก็หาที่ไม่ได้ ที่ปัสสาวะที่วัดมงคลบพิตรมีที่ยืนทั้งนั้นนี่ เราปลงอาบัติมาใหม่ ๆ ก็นึก
เอ.. กูจะทำยังไงโว้ย คิดดูจะทำยังไง ก็เลยตัดสินใจไปบอกหลวงพ่อ ท่านบอก ไอ้ระยำ ทียืนก็ต้องยืนซิ ที่ยืนจะไปนั่งมันงามที่ไหนล่ะ
ที่ยืนก็ยืน เขาไม่ปรับหรอก แหม... เราเถรตรงนี่ลำบากเหมือนกัน กลัวก็กลัวท่าน แต่ก็ต้องเอาเพราะมันไม่สบายใจ จำไปตลอดชีวิต
มาตอนหลังนี้ได้มาอยู่ใกล้หลวงพ่อ เมื่อ พ.ศ 2525 ตอนนั้นท่านป่วยด้วย ตอนที่ท่านปัสสาวะไม่ออก กล้าตั้งแต่ตอนนั้น ตอนหลวงพ่อท่านจะกินยา
ท่านจะปล่อยทุกอย่าง มีอะไรก็คุยได้ ดีทุกอย่าง คุยแบบเป็นตัวของท่านเองเลย ท่านมีเมตตาทุกอย่าง จะทำอะไรให้ก็ ขอบใจนะลูกนะ
พูดเพราะ
เรานี่พูดเลียนแบบไม่ได้ ท่านพูดเพราะมาก เป็นธรรมชาติของท่านจริง ๆ แม้แต่พระพุทธเจ้าพูดกับหลวงพ่อ พูดลูกทุกคนเลย ดูท่านเขียนหนังสือซิ
เขียนกับลูกดูซิ และหนังสือของท่านทุกตัวอักษรนะ มีความหมายหมด เพราะว่าท่านเขียนด้วยสติสมบูรณ์ ไม่เขียนลื่นไปลื่นมา
<<< โปรดติดตามตอนต่อไป ตอน ความดำริ >>>
webmaster - 13/5/09 at 08:27
ความดำริ
เมื่ออยู่กับพระเดชพระคุณท่าน ท่านสอนให้เราละความชั่วทุกอย่าง โดยท่านไม่ปรานีคนชั่ว ท่านลงสอนกรรมฐานทุกคราว ท่านจะตำหนิพระที่ทำไม่ดี
ทำตัวเป็นเดียรถีย์ในพุทธศาสนา จะเรียกว่าเป็นพระไม่ได้
ท่านบอกพวกนี้เป็นโจร อาศัยผ้าเหลืองหุ้มห่อกายมาหากินในพุทธศาสนา เมื่อท่านปรารถนาอย่างนี้ทุกวัน เราเองก็ไม่ใช่พระที่ดี
ก็ยังมีนิวรณ์เต็มอัตราคือ คิดชั่วอยู่ประจำ คิดชั่วในที่นี้คือ นิวรณ์คุมใจอยู่ประจำ ก็คือ
1. ชอบเสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสที่นิ่มนวล นึกถึงคนสวย คนงาม ก็ตามคิดถึงอยู่เป็นนิจ อย่างนี้คือ นิวรณ์ตัวที่ ๑
2. นิวรณ์ที่ ๒ คือมักโกรธ ใครทำไม่ถูกใจก็โกรธ มีใครทำไม่ถูกใจก็นึกถึงว่า คนนั้นมันด่าเราวันนั้นวันนี้ อารมณ์ก็เร่าร้อน
3. ง่วงเหงาหาวนอน
4. อารมณ์ฟุ้งซ่าน คิดนอกลู่นอกทางเป็นประจำ
5. สงสัยไม่หยุดหย่อน
แล้วก็เมื่อท่านสอน ท่านตำหนิอย่างนี้ทุกวัน จิตเราก็ชั่วอยู่เป็นประจำ อย่างนี้ก็ละอายใจ เมื่อเห็นครูบาอาจารย์ก็หลบ เพราะจิตเราชั่ว
ท่านบอกคนก็ดี พระก็ดี ถ้านิวรณ์คุมใจ เป็นทาสของนิวรณ์นั้น จะเอาอะไรมาดี ความดีก็ไม่มีในตัว ห่มผ้าเหลืองก็ไม่ใช่พระ
เป็นเปรตอาศัยพุทธศาสนาหากิน
เราก็นึกอยู่ในใจเพียงว่า เราเป็นเปรตทุกวัน เป็นเปรตอยู่ทุกวัน ครูบาอาจารย์ก็สอนให้เราระงับความชั่ว เราก็ระงับไม่ได้สักที
อย่างนี้ก็อาศัยผ้าเหลืองเขาหลอกชาวบ้านหากินไปวัน ๆ
แล้วความอายใจ ที่ท่านตำหนิอยู่อย่างนี้ทุกวัน คือ นึกว่าชาตินี้จะพ้นนรกหรือเปล่าก็ยังไม่ทราบ แต่ก็นึกว่า เอา..เอาล่ะ คนเราน่ะเกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่มันจะดีเลยไม่ได้ ก็ต้องมาฝึกทำความดีกันต่อไป ถ้าจะลงนรกก็ยอมละ
แต่ข้าขอปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ นึกเข้าข้างตัวเองว่า
พระพุทธเจ้า ท่านก็บำเพ็ญบารมีมามาก ๖ ปีกว่า ท่านจะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าได้ เราก็พึ่งบวชมาพรรษาเดียว ๒ พรรษา
จะให้เป็นอย่างนั้นก็จะเก่งเกินพระพุทธเจ้าไป ก็นึกเข้าข้างตัวเอง ก็ฝืนทนมาว่า ๖ ปีนี้ ถ้าเราปฏิบัติแล้วไม่ได้มรรคได้ผลอะไรเลย
ก็จะสึกเหมือนกัน
สึกแล้วก็คงจะไปหาสิ่งที่ปรารถนา จะได้ของสวยงาม ๆ อ่อน ๆ นิ่ม ๆ ที่ทุกคนปรารถนา คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส สิ่งที่ถูกใจ
เมื่อบวชอยู่กับท่านต้น ๆ พรรษา ๑ พรรษา ๒ พรรษา ๓ พรรษา ก็ทำไปทำมาเป็นปกติ มองดูแล้วตัวเองไม่มีความเจริญทางด้านสมาธิ หรือปัญญาอะไรเลย
มีแต่ความฟุ้งซ่านเข้าประทับจิตอยู่เสมอ
ท่านทั้งหลายที่ยังไม่ได้บวช อยากจะบวชก็จงจำไว้ว่า ความตั้งใจนั้นเป็นสิ่งที่ดี การปฏิบัติธรรมนั้น แม้จะไม่ได้วันนี้
วันหนึ่งก็ต้องเป็นวันของเรา เมื่อบวชมาได้สัก ๓ พรรษาได้ ก็นึกเข้าใจ
เอ๊ ! เรานี่บวชมาแล้ว ไม่มีความเจริญเลย สมาธิก็ไม่เคยทรงตัว เป็นภาพนิวรณ์ปกติหาความเจริญใส่จิตไม่ได้ ปกติเป็นคนขี้เกียจ
อยากได้อย่างเดียวก็คือ สำเร็จโดยไม่ต้องออกแรง คิดอยู่อย่างนั้นก็เกิดความละอายใจ
พอเราบวชมาแล้วก็โกหกชาวบ้านเขาหากินอยู่เป็นประจำ มีอยู่วันหนึ่งคิดอย่างนี้ก็ออกบิณฑบาตสายเรือ เรียกว่า ไปทางน้ำ ต้องพายกันไป ๒ องค์ ระยะทางประมาณ
๓ กิโลเมตรได้ ไปกลับเป็นสายเรือประจำของทางสายแม่น้ำสะแกกรัง
เมื่อพายไปก็คิดไปว่า เรานี้ไม่อยากจะอยู่แล้ว คิดว่าจะไม่หลอกลวงชาวบ้าน จะไม่โกหกชาวบ้านหากินแล้ว ก็คิดไป เอ!
บิณฑบาตเขาก็หาว่าเป็นพระ หาว่าเราเป็นผู้ประเสริฐ ยกมือไหว้ เมื่อให้ยกมือไหว้ เมื่อให้แล้วก็ยกมือไหว้ เราก็ยังเลวเต็มอัตราศึก
ปกตินึกละอายใจก็พายเรือไป ก็นึก ก็มองเห็นแพผักตบชวาลอยน้ำไป มีเรือวิ่งสวนมา มีคลื่นกระทบแรง ๆ เรือเราก็เรือเล็ก
พอเรือเครื่องเรือเร็วสวนมา เราก็ปรับเรือให้รับคลื่น ไม่ให้เรือเราล่ม ก็เอาสิ่งที่เห็นด้วยตานั้น มาคิดปรับกับตัวเองว่า
ชีวิตตัวเราเองนั้นน่ะจะเปรียบเหมือนกับกองสวะที่ลอยตามน้ำไปนี่ เพราะกอสวะมันไม่มีหางเสือ มันไม่มีสมอง
มันก็ลอยไปตามยถากรรมของมัน มันอาจจะแปะตรงนั้นก็ได้
มันอาจจะแปะตลิ่งตรงนี้ก็ได้ พอลอยไปตามยถากรรมหาจุดหมายปลายทางไม่ได้ ชีวิตของตัวเราเองนั้นน่ะ เมื่อมีมันสมองแล้วนี้ จะปล่อยให้ชีวิต
ล่องลอยเหมือนกอผักตบชวาอย่างนั้นรึ
ใจก็มาตามคิด ไม่ใช่ เมื่อเรามีมันสมองแล้วนี่ ก็ต้องบังคับมันให้เข้าตามทิศตามทางสิ่งที่ดีได้ ไม่ใช่ปล่อยชีวิตเหมือนแพสวะ
ลอยตามน้ำไปหาจุดหมายปลายทางไม่ได้ เมื่อเรามีมันสมอง มีปัญญา เกิดมาเพื่อปรารถนาพระนิพพาน ปรารถนาพระนิพพาน
เมื่อตั้งจิตปรารถนาอย่างนี้แล้ว ก็ต้องใช้ปัญญาของตัวเอง การจะไปพระนิพพานได้ทำอย่างไร ก็ต้องมีศีลบริสุทธิ์
มีจิตตั้งมั่น ตัดสังโยชน์ ๓ ได้ ก็จะเป็นพระอริยเจ้าเบื้องต้น เมื่อมีแบบแผนอย่างนี้แล้ว เมื่อมีปัญญา
ก็ต้องหัดจิตของเราให้เข้าตามแบบแผนที่พระพุทธเจ้าวางไว้
พอคิดได้อย่างนั้นก็นึกว่า เอาล่ะ..อดทน เมื่อเห็นแพสวะอย่างนี้แล้ว เราก็จะไม่เป็นแพสวะ เราต้องตั้งมั่นเป้าหมายของชีวิตว่า ชาตินี้ที่ปรารถนาคือพระนิพพาน แต่การปฏิบัติธรรมนั้นก็ต้องมีอุปสรรค มีสิ่งกระทบกระเทือนกระทั่งใจ มีความเบื่อหน่าย
มีอุปสรรคนานาประการ ไม่เหมือนกันทุกคน อุปสรรคนั้น
ก็เหมือนเรือที่เราพายลอยตามน้ำไปตามนั้น ก็ต้องมีเรือที่เป็นเรือใหญ่กว่า มีลูกคลื่นกระทบมาที่เรือเรา
เมื่อมีอุปสรรคกระทบกระแทกเรือเราอย่างนั้น เราก็ต้องมีความสามารถในการเอาตัวรอด ไม่ให้เรือล่มได้ โดยใช้ความสามารถพิเศษที่มีอยู่
ฉะนั้นการปฏิบัติก็เหมือนกัน ก็ต้องมีอุปสรรคในการกระทำความดี ก็ต้องต่อสู้เหมือนกับเรือกระทบกับคลื่นใหญ่
เมื่อคิดอย่างนั้นแล้ว ก็ เออ! มีความชื่นใจขึ้นมาอีก พอพายเรือต่อไปเรื่อย ๆ ก็จะถึงปลายทางก็คิดว่า การพายเรือนั้นไม่ใช่พายทีเดียว
จ้ำทีเดียวถึงจุดหมายปลายทาง มันต้องพายบ่อย ๆ พายถูกทาง พายโดยความอุตสาหะ ก็จะถึงจุดหมายปลายทาง
ก็คิดมาเปรียบเทียบกับชีวิตตัวเองว่า เมื่อพายเรือไปบ่อยๆ แล้ว ก็จะถึงจุดหมายปลายทาง ชีวิตเราก็ยังมีเวลาหลายปีอยู่
การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน ถ้าเราปฏิบัติไม่หยุดไม่หย่อน ปฏิบัติไปตามกำลังของเราเรื่อย ๆ โดยไม่ผิดทาง
ก็จะถึงจุดหมายปลายทางเหมือนเราที่กำลังพายเรือนี้เหมือนกัน ฉะนั้น เมื่อพายเรือกลับมาถึงวัด ก็มีความคิดว่า เออ เราจะอดทนต่อไป
เมื่อฉันเช้าเสร็จแล้วก็เข้ามาที่กุฏิ ก็อธิษฐานต่อหน้าพระว่า เราจะบวชต่อไปอีกดีหรือเปล่า ถ้าจะบวชต่อไปอีก
ก็ขอให้หลวงพ่อปาน หลวงพ่อช่วยตอบให้ด้วย ก็ไปเปิดประวัติหลวงพ่อปาน อ่าน คือเปิดไม่ได้เปิดเรียงหน้า ๑ หน้า ๒ เปิดหน้าไหนก็อ่านหน้านั้น
เมื่ออธิษฐานเสร็จก็เปิด
หลวงปู่ปานก็ตอบบอกมาเลยว่า ถ้าอยากดี ก็อย่าใจร้อน จะเสียผล ให้ปฏิบัติไปเรื่อย ๆ มักได้ผลเอง
ตรงนี้เป็นคำตอบที่ว่า ชื่นใจ เราก็ปิดหนังสือ เราไม่อ่านต่อ มีกำลังใจปฏิบัติต่อไปอีก เมื่ออยู่กันต่อไปก็ทำงานกันเป็นปกติ
ก็ขอวกมาเล่าถึง ตอนที่วางศิลาฤกษ์พระอุโบสถแล้ว พวกเราก็ทำงานสิ่งที่ทำได้คือ ทำกุฏิ ๑๐ หลัง หลังพระอุโบสถ ซึ่งขณะนี้ พ.ศ. ๒๕๓๘
นั้น ได้รื้อหลังเก่าออกทั้งหมด ได้สร้างเข้ามาแทนที่ใหม่ ช่วงหลัง ๑๐ หลังตอนนั้น แต่ละหลังข้างบนเป็นไม้ ไม้ยาง
ข้างล่างเป็นคอนกรีตฉาบปูน แต่ขณะนี้ได้รื้อแล้วทั้ง ๑๐ หลังนั้น ได้สร้างเป็นคอนกรีตทั้งบนทั้งล่างหมด ขอให้ญาติโยมทั้งหลายทราบไว้ด้วย
webmaster - 31/8/09 at 11:06
ภารกิจขณะเป็นเจ้าอาวาส
1. มีการสอนพระกรรมฐานด้านมโนมยิทธิ ตามปกติตลอดทั้งปี ทั้งที่วัดท่าซุงและ บ้าน พล.อ.ท. ม.ร.ว.เสริม
ศุขสวัสดิ์ คือ บ้านซอยสายลม เป็นประจำทุกเดือน และเดินทางไปสอนคณะญาติโยมที่มีความศรัทธาในต่างจังหวัด เช่นเดียวกับที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ
ได้ปฏิบัติมาก่อน
นอกจากนี้ ท่านพระครูเจ้าอาวาส ยังเดินทางไปสอนกรรมฐานที่ประเทศสหรัฐ อเมริกาทุกๆ 2 ปี ส่วนประเทศเยอรมัน ได้ส่งพระอาจินต์และพระสงฆ์อีก 4
รูปไปสอนกรรมฐานทั้งหมดนี้ ทำให้คนไทยในต่างแดนและชาวต่างชาติ ที่สนใจพระพุทธศาสนา และสนใจในการปฏิบัติกรรมฐาน ได้รับผลดี
2. สำหรับกิจกรรมพิเศษภายในวัดท่าซุง มีการจัดบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน โดยนักเรียนโรงเรียนพระสุธรรมยานเถระวิทยา
เพื่อปฏิบัติธรรมในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เดือนเมษายน เป็นประจำทุกๆ ปี
และในเดือนธันวาคมทุกๆ ปี มีการอุปสมบทหมู่นับร้อยรูป และบวชเนกขัมมะ พราหมณ์ชาย-หญิง จำนวนปีละหลายพันคน
และรับพระอาคันตุกะมาร่วมกิจกรรมอีกหลายร้อยรูป เพื่อปฏิบัติธรรมในด้านธุดงควัตรปีละ 10 วัน ติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 16 ปี
3. ด้านการศึกษา ท่านได้พัฒนาโรงเรียนพระสุธรรมยานเถระวิทยาสืบต่อจาก พระเดชพระคุณหลวงพ่อ และได้ส่งเสริมหาทุนการศึกษาเพิ่มเติมทุกๆ ปี
เพื่อมอบเป็นทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่เรียนดีและความประพฤติดี ให้ได้เรียนต่อขั้นมหาวิทยาลัย
4. ด้านถาวรวัตถุวิหารทาน ท่านได้พัฒนาสิ่งก่อสร้างในวัดมากมาย เช่น สร้าง ปราสาททองคำ ตึกขาวบริเวณ 25 ไร่ มณฑปพระศรีอาริยเมตไตรย มณฑปพระยืน
ตึกหอฉันใหม่ ห้องพักผู้มาปฏิบัติธรรม 17 ห้องและอาคารกุฏิ 20 หลังบริเวณหลังพระอุโบสถ
สร้างสวนสมเด็จ สร้างตึกพระเถระ 2 หลัง ศาลามิตรศรัทธา ร้านมินิมาร์ต ร้านอาหารหลวงพ่อ ศาลาหลวงพ่อ 5 พระองค์และโรงครัวใหม่
สร้างอาคารเก็บวัสดุสิ่งของบริเวณสวนไผ่ สร้างพิพิธภัณฑ์สมบัติพ่อให้ เพื่อบูชาคุณครูบาอาจารย์คือพระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ และหลวงปู่ปาน
นอกจากนั้น ได้บูรณะสิ่งก่อสร้างในวัดที่ชำรุดทรุดโทรมมากมาย กล่าวโดยย่อคือ ได้ซ่อมแซมหลังคาวิหาร 100 เมตร หลังคามณฑปหลวงปู่ปาน
หลังคามณฑปพระปัจเจกพุทธเจ้า มณฑปพระจุฬามณี ทำถนนเทพื้นคอนกรีตและทำระบบระบายน้ำมาตรฐานบริเวณลานหน้าวิหาร 100 เมตรใหม่ทั้งหมด ได้บูรณะรากฐานอาคาร 3 ไร่
และได้ขยายระบบไฟฟ้าหลวงในวัดอีกด้วย
5. ท่านพระครูได้ขยายเนื้อที่วัดออกไปจากเดิม 289 ไร่ ในปัจจุบันมีเกือบ 600 ไร่ เพื่อจัดเป็นสถานที่ป่าสำหรับปฏิบัติธรรมและปฏิบัติธุดงค์
ตามดำริของพระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ และท่านยังได้ปรับปรุงพื้นที่ป่า ปลูกป่า ทำระบบระบายน้ำ และทำถนนกันน้ำท่วมรอบวัด
สร้างกำแพงและอาคารพระชำระหนี้สงฆ์รอบที่ดินใหม่ 200 ไร่
อีกทั้งในขณะนี้ ยังมีโครงปลูกต้นไม้ในป่าเก่าธุดงค์ (ใกล้ที่นา 30 ไร่) ทำเป็นแปลงสาธิต ปลูกผักต่างๆ และปลูกมะละกอ เป็นต้น
โดยพัฒนาแหล่งน้ำให้หมุนเวียน เพื่อสร้างความร่มเย็นให้แก่พื้นที่โดยรอบ โดยเฉพาะเวลาหน้าน้ำหลาก สามารถที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้แบบยั่งยืน
6. และได้สร้างพระพุทธรูปที่สำคัญหลายองค์ อาทิ สมเด็จองค์ปฐมทองคำ หน้าตัก 9 นิ้ว จำนวน 2 องค์ พระพุทธรูปปางชมพูบดี (ปางพระเจ้าจักรพรรดิ)
หน้าตัก 7 ศอก และท่านได้เป็นประธานสร้างพระพุทธไสยาสน์ 50 เมตร ที่ วัดใหม่สุขุมาราม ต.วังตะกู อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร
7. ได้สร้างสำนักสาขานอกวัดท่าซุงอีก มี สำนักวัดป่าละอู อ.หัวหิน จ.ประจวบฯ และสำนักที่โคราช อีกทั้งมีการบูรณะ "วิหารน้ำน้อย"
ที่หลวงพ่อเคยสร้างไว้ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และสร้างวิหารที่ "วัดคลองปลากด" จ.นครสวรรค์ ซื้อที่ดินและสร้างอาคารมูลนิธิ เพื่อพระกรรมฐานในซอยสายลม 1/1
เขตสามเสน กทม. เป็นต้น
8. ด้านสาธารณประโยชน์ ท่านพระครูได้ดำเนินงานศูนย์สงเคราะห์ผู้ยากจนในถิ่นทุรกันดาร ตามที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อได้มอบหมายอย่างจริงจัง
เต็มกำลังความสามารถมาโดยตลอด มีการมอบวัตถุสิ่งของให้แก่ราษฎรผู้ยากไร้เป็นประจำทุกปี บริเวณชุมชนใกล้วัดท่าซุงอีกด้วย
webmaster - 10/9/09 at 08:26
ช่วยหลวงพ่อสร้างวัด (ต่อ)
เมื่อผ่าน พ.ศ. ๒๕๒๐ มาแล้ว หลวงพ่อก็ดำริกับอาตมาว่า นันต์ ต่อไปนี้เราก็ควรจะหยุดสร้างกันแล้ว เบากัน
ที่เหนื่อยพักผ่อนไว้ ไปช่วยเยี่ยมเขาวัดโน่นวัดนี่ที่เขาเคารพนับถือดีกว่า ไม่เหนื่อย
การก่อสร้างของเราจึงทุเลาลง ท่านจึงให้อาตมาเอากระเบื้องที่โรงงานสระบุรีถวายมาจำนวนมาก ให้เอาไปถวาย วัดสุขุมาราม ที่
อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร จำนวน ๑ คันรถหกล้อ เพราะว่าวัดเราหมดความจำเป็นที่จะสร้างแล้ว
เมื่ออาตมาเอาสิ่งก่อสร้างบางส่วนไปถวายวัดอื่นเสร็จไม่กี่เดือน หลวงพ่อก็มีดำริว่า พระพุทธเจ้าท่านให้ลงมือสร้างต่อไป
โดยขยายที่ไปทางข้างโรงพยาบาลซื้อที่ข้างนั้นกว่า ๓๐ กว่าไร่ และชื้อที่รอบศาลา ๓ ไร่ปัจจุบัน ศาลา ๒ ไร่
ชื้อที่ครบไปเลยตอนนี้เองเมื่อลงมือก่อสร้างรุ่นหลังนี้ ท่านสร้างคราวเดียวพร้อมกัน ใช้ช่างหรือคนงานประมาณ ๓๐๐ คนเห็นจะได้ เพราะขึ้นทีเดียวพร้อม ๆ กัน
ท่านเล่าว่า สมเด็จ คือ พระพุทธเจ้าให้ท่านสร้างให้ลุยงานไปเลย ท่านบอกเรื่องเงินท่านจะหาให้ หลวงพ่อก็สั่งเกรดที่ ปรับที่
คือตัดต้นไม้ที่ไม่มีความจำเป็นออก ใช้รถแทรกเตอร์ไถลุยสิ่งที่ไม่จำเป็นออก เหลือไว้แต่ต้นไม้ใหญ่ ๆ ตรงที่ศาลา ๓ ไร่
ปัจจุบันก็ดี ตึกอำนวยการและพระจุฬามณีก็ดี ตึกกลางน้ำก็ดี แถวนั้นเป็นที่ลุ่มบ้าง ท่านก็สั่งแทรกเตอร์ขุดลานดินไปถมเป็นเนิน
ทำเป็นสระแล้วปลูกอาคารในสระที่ท่านเรียกว่า ตึกกลางน้ำก็ดี ตึกธัมมวิโมกข์ก็ดี ตึกอำนวยการก็ดี พระจุฬามณีก็ดี ศาลาพระนอนก็ดี ขึ้นพร้อมกันเลย
ใช้คนงานมากหลายช่าง ท่านลุยงานใหญ่ทำพร้อมกันเลยทีเดียว เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์มาก
เมื่อทำงานอย่างนั้นแล้ว ลูกศิษย์เข้ามารายงานตัวก็มาก คนเริ่มสนใจพระกรรมฐานเพิ่มขึ้น คนปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเพิ่มขึ้น
จนการทำงานกฐินแต่ละคราวที่พระพินิจอักษรปัจจุบันนั้นเต็ม ไม่พอต้อนรับญาติโยม ท่านเลยดำริสร้างศาลา ๒ ไร่ขึ้นอีก ๑ หลัง คือใช้เนื้อที่ ๒ ไร่เพิ่มขึ้น
เมื่อการก่อสร้างเพิ่มขึ้นคนปฏิบัติธรรมเพิ่มขึ้น ก็จำเป็นต้องก่อสร้างสาธารณประโยชน์ ห้องพักเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อหลวงพ่อสร้างเพิ่มขึ้นอย่างนั้น
ก็เริ่มสร้างพระขึ้นมา เรียกว่า พระชำระหนี้สงฆ์ คือสร้างไว้ตามกำแพงที่วัด เริ่มแรกข้างศาลา ๓ ไร่ก่อน
เรื่องพระชำระหนี้สงฆ์นั้น เป็นพระที่สร้างชำระหนี้สงฆ์ในอดีตทั้งหมดของตัวเองคือคนเราเกิดมานั้น ไม่ทราบว่าจะมีกรรมอะไรมาบดบัง
ทำให้เกิดความขัดข้องหมองใจ ความขัดข้องในการทำธุรกิจ ความขัดข้องใจอยู่ไม่เป็นสุขก็ดี อาจเนื่องมาจากเคยหยิบเอาของสงฆ์มาใช้ในอดีต
องค์สมเด็จพระบรมครูจึงแนะนำหลวงพ่อให้สอนวิธีชำระหนี้สงฆ์ให้แก่ลูกศิษย์
เมื่อท่านสร้างศาลา ๒ ไร่เสร็จ ก็มาสร้างศาลา ๓ ไร่ เมื่อสร้างศาลา ๓ ไร่เสร็จก็มาจบที่ป่าไผ่ เป็นที่โรงอาหารแถวนั้น ให้สร้างกุฏิรอบนอกเสร็จ
ก็ชื้อที่หลังวัดไปอีกเป็น ๑๐๐ ไร่ เรียกว่าเป็นป่า ๑๐๐ ไร่ ท่านก็สั่งให้สร้างหอไตร มีพระยืน ๓๐ ศอก
เมื่อช่างสร้างผนังแล้ว ก็ให้สร้างอาคารใช้พื้นที่ ๒๕ ไร่ ๓ แถวขึ้น และสั่งทำกำแพงล้อมรอบวัด การสร้างกำแพงวัดมีประวัติว่า รอบวัดด้านนอกนี่ยาวประมาณร่วม
๒ กิโลเมตรละมัง ประมาณนั้น เพราะที่คด ๆ เคี้ยว ๆ ที่ชื้อหลายเจ้าของไม่ติดไม่ต่อกัน แต่เมื่อติดต่อกันแล้วก็เป็นที่คด ๆ เคี้ยว ๆ ก็สร้างกำแพงรอบนอก
หลวงพ่อเล่าให้ฟังว่า ที่สร้างกำแพงรอบนอกเป็นเขตของวัดนั้น ท่านว่าภายภาคหน้าจะมีปัญหา พระท่านมาสั่งให้สร้าง
เมื่อสร้างเสร็จก็สร้างรอบนอกชั้นเดียวไปก่อน ก็ให้สร้างเลาะพื้นที่ไปเลย เทลาดยาวรอบนอก รอบที่รอบรั้วกำแพงวัด
ท่านเล่าให้ฟังภายหลังว่า เมื่อสร้างเสร็จ เทวดาที่ปกปักรักษาสมบัติของพระเจ้าจักรพรรดิ จะขนสมบัติเข้ามาในพื้นที่วัดทั้งหมด เพื่อจะให้ฝากไว้ในเขตของสงฆ์
จะได้ดูแลง่าย ไม่ต้องดูแลว่าใครจะมาเอาสมบัติพระเจ้าจักรพรรดิไปใช้ ท่านจะช่วยหาเงินด้วย
เมื่อท่านทำกำแพงรอบนอกเสร็จชั้นเดียว คือสูงประมาณ ๒-๓ เมตร เสร็จแถวเดียวก่อน หลวงพ่อท่านบอกว่า พระมาบอกให้สร้าง ๒ ชั้น ให้ทำทางเดินรอบ
หลวงพ่อท่านก็บอกว่า เหนื่อย ไม่อยากทำ ท่านก็ทำชั้นเดียวไปก่อน เมื่อทำช่วงนั้นเสร็จ ท่านก็มาเทพื้นคอนกรีตทั้งหมดในวัดที่มีส่วนอยู่ สร้างศาลา ๑๒
ไร่ขึ้นมา สร้างศาลา ๔ ไร่ ติดกับ ๒ ไร่ เพิ่มขึ้นมา สร้างอาคารรอบ สร้างรั้ว สร้างรอบหมด
เมื่อหลวงพ่อท่านสร้าง ส่วนศาลา ๒๕ ไร่ยังไม่สร้าง ท่านก็สร้างโรงเรียนฝั่งตรงข้ามพระจุฬามณี มีหอพักรับนักเรียนมาอยู่ประจำ มีการให้ทุนการศึกษา
เมื่อจบมัธยม ๖ แล้ว ถ้าเด็กสอบติดมหาวิทยาลัยของรัฐ ก็จะให้ทุนเด็กนั้นคนละ ๗ หมื่น ๒ พันบาท จนจบปริญญาตรี ๔ ปี แต่ทยอยให้เดือนละ ๑,๕๐๐ ตลอดไป
แต่เด็กนั้นจะต้องประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ตั้งใจเล่าเรียน
เมื่อสร้างโรงเรียนยังไม่ทันเสร็จ ก็ชื้อที่หลังโรงพยาบาลประมาณ ๒๗ ไร่ สร้างมหาวิหาร ๑๐๐ เมตรขึ้นปัจจุบันนี้ โดยสร้างใช้เวลา ๒ ปีเสร็จ
มีกำแพงล้อมรอบ มีพระพุทธรูป มีวิหาร มีมณฑปแก้วหน้าพระวิหาร ๒ หลัง เทพื้นคอนกรีตทั้งหมดหน้าพระวิหารใช้เวลา ๒ ปี โดยช่าง ๓- ช่างรวมกัน ใช้คนงานประมาณ
๑๐๐ คน
เมื่อสร้างมหาวิหาร ๑๐๐ เมตรเสร็จ ก็มีดำริจะสร้างมณฑปวิหารสมเด็จองค์ปฐม มีการหล่อรูปสมเด็จองค์ปฐม
คราวหนึ่งเมื่อสร้างมหาวิหาร ๑๐๐ เมตรเสร็จ พ.ศ. ๒๕๓๒ ก็เป็นสิ่งที่จะต้องจำกันว่าในวัดทั้งหมดนั้น หลวงพ่อท่านเป็นผู้ชี้แนะให้สร้างทำทั้งหมด
พวกเราเป็นผู้ช่วยสนับสนุนท่าน สนับสนุนหมายความว่า เป็นผู้ดูแลช่างบ้าง เป็นผู้เช็คงานที่ท่านสั่งทำบ้าง เป็นผู้ช่วยงานที่เราทำได้บ้าง
แต่คำสั่งนั้นหลวงพ่อท่านเป็นผู้สั่งแต่เพียงผู้เดียว
มีอยู่คราวหนึ่ง อยู่ตึกกลางน้ำกันก็จะไปทำบุญ หลวงพ่อท่านลงฉันแล้ว เราก็ต้องออกผ่านท่าน ไปถึงบอก หลวงพ่อครับ เขานิมนต์ผมเปิดร้าน
เขาเจิมกันยังไงครับ เราไม่รู้เรื่องเลยนี่ ถามอีก หลวงพ่อครับ เจิมกี่จุดครับ เห็นเขาเจิมกันหลายจุด ใช่ไหม...
ท่านบอก เออ...เจิม ๓ จุดเท่านั้นนะ นึกถึง พระรัตนตรัยมี พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถามอีก
แล้วไอ้ที่ขมวด ๆ ข้างบนน่ะอะไรครับ ท่านก็บอก พอจุด ๓ จุดแล้วเขียนอุณาโลม ก็ว่า อุณาโลมา ปะชานะเต
แล้วว่าคาถา สัมปจิตฉามิ จะถามอีกว่า แล้วจะม้วนข้างหน้า หรือม้วนข้างหลังครับ ก็กลัวโดนดุเลยไม่ถาม
แล้วตอนที่แต้มจุด ให้ว่าคาถาอะไรครับ
นะโมพุทธายะ ตอนครูบาอาจารย์อยู่ไม่เคยสนใจพวกนี้ เพราะไม่คิดจะเลียนแบบครูบาอาจารย์ ใช่ไหม...
<<< โปรดติดตามตอนต่อไป เรื่อง ถูกให้นับกระดาษห่อทองคำเปลว>>>
webmaster - 16/9/09 at 08:30
ถูกให้นับกระดาษห่อทองคำเปลว
โอ...เรื่องเปลือกทองนี่โหดร้ายมาก หลวงพ่อสั่งให้นับ เวลาปิดทอง โบสถ์ต้องใช้ทองเป็นหมื่นเป็นแสนเหมือนกันนี่ ปิดแล้วเอาเปลือกทองมา ทีละห้าหมื่น
ๆ เราก็ต้องมานั่งนับเปลือกทอง เวลาช่างมาส่งต้องนับต่อหน้าช่างด้วยนะ นับไปก็นึก เอ๋...หลวงพ่อให้นับทำไมนะ จะขายได้สักเท่าไรนะ
ไอ้เปลือกทองนี่ให้นับอยู่เรื่อย มารู้ตอนหลังว่าท่านกันไม่ให้ช่างปิดทองลักทอง สมัยก่อนทองแผ่นละบาท แรงงานวันละ ๒๐ บาท มันลักไปวันละ ๑๐ แผ่น ๑๐
วันก็ ๑๐๐ แผ่นแล้ว ที่ให้นับมันจะได้โกงไปไม่ได้ มารู้ตอนหลัง มีอยู่ที หัวใจจะวายตาย ไปยกเมฆท่าน
คิดว่าตัวเราฉลาดมาก ยกเมฆหลวงพ่อ หลวงพ่อสั่งบอกว่า เวลาเขาเบิกกลอนไปกี่ตัว แกทำบัญชีไว้นะ แล้วแกไปดูด้วยเขาใส่กลอน ตามหน้าต่างถูกไหม
ตะปูเบิกไปเท่าไรจดไว้ ไอ้เราก็ทำบ้าง ไม่ทำบ้าง ถามบ้าง ไม่ถามบ้าง ขี้เกียจทำ ยกเมฆบ้าง
วันหนึ่งก็ไปกราบตอนเช้า ๆ หลวงพ่อถาม นันต์ แกทำบัญชีเบิกหรือเปล่า ทำครับ แกทำไว้เรียบร้อยใช่ไหม ครับ ท่านมองลอดแว่นมาหาเลย
เดี๋ยวข้าจะขอดูบัญชีแกสักหน่อย โอ้โฮ... หัวใจจะวายให้ได้ เวลาท่านดุนี่ ด่า ๓ วัน ๓ คืน ถ้าลงเทปด้วยละก็ไม่ต้องแล้ว ประจานกันทุกวัน
เทปเปิดตอนเย็นนี่ เปิดเทปทีก็แปล๊บ
ความคิดคำนึงและคำสั่งหลวงพ่อ
มีอยู่คราวหนึ่ง ปลายๆ ประมาณ พ.ศ. 2530 ได้ อาตมาเดินบิณฑบาตอยู่คิดในใจว่า ถ้าหลวงพ่อมรณภาพแล้วนี่ จะมีเงินบูรณะวัดหรือเปล่า แล้วจะอยู่กันอย่างไร
คิดเสมอ คิดฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ของตัวเราเอง ก็คิดว่า ลูกศิษย์หลวงพ่อนี่มีเป็นร้อยเป็นพัน อาจจะถึงหมื่น อาจจะถึงแสน แม้อยู่ใกล้อยู่ไกลก็ดี
แต่ปกติ ถ้าเราบอกบุญกึ่งบังคับ เมื่อหลวงพ่อมรณภาพไปแล้วนี้ คิดในใจว่า อยากจะขอร้องญาติโยมที่เคารพรักนี่ ทำเป็นสมาชิกของวัดที่อุปการะวัดเลย
เป็นผู้ที่บำรุงวัดว่า ปีหนึ่งจะขอเขาคนละ ๑๐๐ บาท ๑๐๐ คน ก็ได้หมื่นบาท ๓๐๐ คน ก็ได้ ๓๐,๐๐๐ บาท ต่อปี พันคนก็ได้แสนบาท หมื่นคนก็ได้ล้านบาทต่อปี
แสนคนก็ได้ ๑๐ ล้านบาทต่อปี ให้เขาส่งเงินมาปีละ ๑๐๐ บาทต่อปี ต่อทุน เป็นสมาชิกจนกว่าจะตายจากกัน
ก็เราทำอย่างนี้ก็จะมีเงินมาบำรุงวัดโดยแน่นอน ถ้าปีละ ๑๐๐ ต่อคนเขาก็ไม่หนักใจ เมื่อคิดอย่างนี้ก็อยู่ในใจตลอด ก็คิดไปเรื่อยก็หมื่นคนก็ได้ปีละตั้ง ๑
ล้าน แสนคนก็อาจจะปีละ ๑๐ ล้าน สมาชิกอย่างนี้นะ ถ้ามีอย่างนี้ปีละ ๑๐ ล้าน เราก็ทราบว่ามีเงินพอจะดูแลวัดไม่ให้สลายตัวง่าย
เมื่อคิดอย่างนี้ก็อยู่ในใจ ไม่ได้บอกใคร อยู่ในใจเสมอ เวลาผ่านไปตั้งเป็นเดือน ท่านก็คุยมาลอย ๆ ว่า เฮ้ย! คนเราถ้าคิดจะทำอะไรที่คิดไว้น่ะ
ไม่ต้องไปทำหรอกนะ รบกวนเขาเกินไป ท่านพูดลอย ๆ ไม่ได้พูดกับเรา พูดลอยๆ เราก็นึกว่า โอย! นี่ถูกต้องแล้ว ครูบาอาจารย์ก็รู้ว่าเราคิด
ห้ามเราทำเป็นการรบกวนญาติโยมเกินไป เขาจะรำคาญ นี่การคิดในใจเฉย ๆ ไม่ได้บอกใครท่านยังไม่รู้เลย
ฉะนั้นเมื่อเราพบครูบาอาจารย์ คือหลวงพ่อของเราอย่างนี้ ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้ภูมิใจเลยว่า สมแล้วไม่เสียชาติในการเกิดมาในชาตินี้ คือ
พบพระแท้พระที่สามารถจะสอนให้เราพ้นทุกข์จากวัฏฏะได้ อันที่จริงพระในพุทธศาสนาในประเทศไทยเราก็มีมากเป็นผู้ที่ประเสริฐ สามารถจะให้เราพ้นทุกข์ได้เหมือนกัน
แต่เราก็มีความศรัทธาเคารพในคำสอนที่ท่านสอนเรา เช่นหลวงพ่อได้แนะนะเราไว้ทุกอย่างโดยไม่ปิดบัง
การปฏิบัติพระกรรมฐาน ถ้ารู้ไม่ครบ รู้นะไม่ใช่ปฏิบัติได้ทั้งหมด ที่ปฏิบัติได้ทั้งหมดต้องพระพุทธเจ้า หรือผู้ที่มาจากพุทธภูมิ
ถ้ารู้ไม่ครบหรือไม่เข้าใจ จะเถียงกันเหมือนตาบอดคลำช้าง ดังนั้นพระเดชพระคุณหลวงพ่อจึงลงมือสอน กรรมฐาน ๔๐
กับ มหาสติปัฏฐานสูตร สลับกันในพรรษาปี พ.ศ. ๒๕๑๘
ท่านสอนที่ตึกเสริมศรีปัจจุบัน ตอนกลางวันนั้น บ่ายโมง ท่านสาธุชนคิดดูหลังบ่ายโมง เวลาที่ง่วงนอนดีที่สุด คือ พระฉันเพล ๕ โมง พัก ๒ ชั่วโมง
ก็ลงมาฟังคำสอน หลวงพ่อสอนสนุก ท่านสอนทุกวันเสาร์อาทิตย์เว้นวันพระ
ที่ท่านกำหนดสอนตอนบ่ายวันเสาร์และอาทิตย์ ก็เพื่อให้ญาติโยมที่อยู่ทางกรุงเทพฯ ได้มีโอกาสมารับคำสอนด้วย สอนพื้นฐาน
เมื่อสอนเสร็จท่านก็สั่งให้ติดลำโพงขยายเสียงในห้องทุกห้องที่มีอยู่ ตอนเย็นๆ ก็เปิดเสียงตามสายออกมาให้ญาติโยมฟัง
ท่านบอกว่า ให้ผ่านหูผ่านตาไปเรื่อยๆ เมื่อฟังเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง ก็ไม่เป็นไร จิตจะไปจดจำ เมื่อใครเขามาสอบมาถามก็ยังมีความเข้าใจบ้าง
เป็นการยัดเยียดให้เกิดปัญญา กระทั่งปัจจุบันนี้ ๓๐ กว่าปีแล้วก็ยังทำอยู่ คือเปิดเสียงตามสายไปยังห้องทุกห้อง ตอน ๔ โมงเย็นครั้งหนึ่ง ตอน ๓
ทุ่มครั้งหนึ่ง ตอนตี ๔ ครั้งหนึ่ง
เพื่อให้ญาติโยมที่มาประจำอยู่ที่วัดนั้น รับทราบข้อวัตรปฏิบัติและธรรมะก่อนนอนก็เป็นบุญ ตื่นมาก็เป็นบุญ เอาไม้กวาดกวาดลานวัดก็เป็นบุญ
อยู่ในวัดถ้าไม่ชั่วจริงๆ มันตกนรกไม่ได้ แต่ก็ยังมีผู้ที่ต้องการตกนรกยังอยู่อีกเยอะ
เมื่อท่านสอนกรรมฐาน ๔๐ และมหาสติปัฏฐานสูตร เสร็จภายในพรรษาออกพรรษานั้น ก็สอนพระธรรมวินัย พระวินัยอีก เพื่อให้พระอยู่ในศีลในธรรมกัน
พระวินัยตอนนั้นมีประมาณ ๔ ม้วน คือม้วนละ ๙๐ นาที เมื่อสอนพระวินัยแล้ว มีตอนหนึ่งที่อาตมาจำไม่ลืมก็คือ คนในวัดก็ดี พระในวัดก็ดี ท่านบอกว่า
แม้นข้าจะตายไปจากร่างกายแล้ว พวกที่อยู่เบื้องหลังนั้น ถ้ามันยังทำเลวกันอยู่
ข้าจะไม่ปล่อยให้พวกเดียรถีย์นี้อยู่ในวัดนี้ เมื่อข้าตายไปแล้ว ก็จะคอยดูมันทำความดีกันหรือเปล่า ถ้าไม่ทำความดี ข้าจะจัดการมันทุกคน
เป็นสิ่งที่อาตมาเองก็กลัวเหมือนกัน กลัวว่ามันจะเลวจนท่านจะไม่รับให้อยู่ในวัดนี้
ฉะนั้นท่านทั้งหลายเมื่อเข้ามาอยู่ในสถานที่นี้แล้ว ก็ขอให้ตั้งจิตตั้งสติ ตั้งความดีไว้ว่า จะประกอบแต่ความดี อันที่จริงนี้ไม่ใช่ขู่
แต่เล่าตามความเป็นจริงที่อาตมาอยู่มานาน
เรื่องห่มจีวรเหมือนกัน สมัยก่อนนี่ก็มีสีกรักมั่ง สีแก่นขนุน สีกรักดำ กรักแดง กรักแก่นขนุน สีเหลือง อะไรอย่างนี้ ใครพอใจอย่างไหนก็ไปห่มกันเอา
มีจีวรอะไรก็ไปห่มกัน ก็มีอยู่วันหนึ่ง เราก็ไปช่วยหลวงพ่อห่มจีวร ก็ห่มจีวร จับจีวรให้ท่าน สำหรับผ้ารัดอกอะไร จะไปรับแขก เวลามีงานน่ะ ท่านก็บอกกับเรา
ท่านก็ติงมา ท่านบอก
เราเป็นพระอยู่ในบ้านในเมือง ไม่ต้องไปห่มสีกรักกับเขานะ ไม่ต้องแสดงตัวว่าเป็นพระกรรมฐาน อยู่ในเมืองให้ใช้สีนี้
มันกลืนกับพระในเมืองไป แต่จริง ๆ คนเขามองก็มองกันแค่ภายนอก ตัวนี้มันเป็นมายาอีกตัวหนึ่ง เหมือนทำให้เขารู้ว่าเราเป็นพระกรรมฐาน
มองละเอียดจะรู้ว่า นี่มันเป็นมายาอีกตัวหนึ่ง
มายาตัวนี้มันเป็นอุปกิเลส ถ้าเราเจตนาจะทำตัวนี้ มันเป็นอุปกิเลสเสียแล้ว ความดีจะเข้าไม่ถึง อย่างนั่งกรรมฐานโชว์อีกอย่าง
หลวงพ่อท่านสอนมาเยอะเลยละ เห็นคนเขามานี่ เดินจงกรมเสียหน่อย เขาจะได้รู้ว่าเคร่ง พวกนี้ก็ไม่ได้ ถ้ารู้ปุ๊ปต้องหลบเลย
ก็หลวงพ่อเองท่านก็เป็นถึงขนาดนั้นแล้ว
ฉันอยู่ห้องเทปตรงกัน เราก็เปิดไฟทำงาน พอเปิดไฟปั๊ป หลวงพ่อรูดม่านเลย ม่านตรงที่ท่านเดินจงกรมอยู่น่ะ ท่านรูด ท่านปิด ท่านเป็นพระขนาดนั้น
ท่านยังปิดเราเลย เราอยากจะเปิด มันเป็นอย่างนั้นน่ะสิ กิเลสมันมี มันจะเป็นอย่างนั้น ท่านสอนในเรื่องอุปกิเลสเยอะ ท่านสอนแล้วก็ต้องระวัง
ทีนี้ถ้าเราเอาไปใช้ได้ก็ได้ประโยชน์กับเรา ใคร่ครวญติตัวเองอยู่เสมอ ไปถึงไหนแล้ว ขี้เกียจ ขยัน กิเลสตัวไหนมันงอก เราต้องเคาะเอง จิตเรานี่
ถ้าเราไม่เคาะเองเสร็จ มันเหมือนโกหกตัวเอง อยากจะเป็นพระอรหันต์โดยไม่ต้องออกแรง ส่วนมากคนเรามันจะอย่างนั้น อยากจะเป็นผู้หมดกิเลสโดยไม่ต้องออกแรง
นึกว่า วันหนึ่งมันจะพั๊วะอย่างสมัยพุทธกาล ที่จริงแล้วต้องทำ ต้องเคาะ ตรวจดูจิตเราเสมอ ต้องเคาะกิเลสเราอยู่เสมอ ไม่ใช่ว่ากิเลสมันพอกมาแล้ว อีก ๗
วันถึงนึกได้มาเคาะมัน มันเกาะลงกระดูกแล้ว ถ้าเคาะได้ไวมันก็ละได้ไว
หลวงพ่อเคยปรารถเหมือนกันว่า เออ ถ้าข้าไม่อยู่ แกอย่าปล่อยให้วัดมันโทรมเศร้าหมองไปนะ พ่นสีให้มันใหม่
ข้ามีเวลาข้าจะทำ จริง ๆ ท่านคุยกับเราว่าท่านจะอยู่ไปเรื่อย แต่ว่าเราไม่ได้เชื่อจริงๆ ไม่เฉลียว
เออ...นันต์ มันก็สร้างจนหมด ไม่มีอะไร ใหญ่ๆ ทำเสียก่อน
ท่านก็คุยกับเราธรรมดา แต่เราก็ไม่เคยคิดเลย ไม่เฉลียวใจ ไม่เชื่อท่านเรื่องนี้ อย่างอื่นเชื่อนะ แต่ไอ้เรื่องตายนี่ไม่เชื่อ คือไอ้เรามันหลงเกินไป
ท่านก็บอกตลอดนะ เรามาฟัง ๆ ท่าน ท่านไม่เคยพูดปดกับเรานี่ ท่านไม่เคยพูดอะไรที่ไม่จริงเลย พูดจริงทั้งนั้นนะ แต่เรามันชั่วเองที่ไม่เชื่อท่าน
ท่านพูดว่าจะไปเมื่อนั่นจะไปเมื่อนี่ ตอนหลังนี่ท่านสั่งให้พ่นสี ๒๕ ไร่ ใช่ไหม ท่านบอกงานที่ใช้เงินมาก ๆ ท่านจะรีบใช้ซะ กลัวเราจะลำบาก
ปีนั้นพระก็เก่งเหลือเกิน โอ้โฮ คือพระมี ๕๐ องค์นี่ เราจะแบ่งเป็นสองผลัดเลย วันนี้ทำ หยุดวันหนึ่ง อีกชุดทำ เปลี่ยนกัน เปลี่ยนกันทำคนละชุดน่ะ
ทำสองชุด พ่นกันทั้งวัน บางคนพ่นทั้งคืน
คือท่านเร่งมา เราก็เร่งพระ แบ่งกันเป็นสองชุด กลุ่มหนึ่งผสมสีคอยส่ง อีกกลุ่มหนึ่งพ่นอย่างเดียว ผสมนี่ก็มาเปลี่ยนสีให้มาเติมสีให้
ไอ้นี่ก็พ่นไปเหอะ คลุมกันเป็นไอ้โม่งอะไรอย่างนี้ พ่นกันจนเก่งเลยนะ พ่นกันเป็นเดือน
บางคนเข้ามาตกใจเหมือนกัน เอาหน้ากากใส่นี่ใช่ไหม แล้วก็เอาผ้ามาเคียนหัวอีก ถกเขมรขึ้นไปพ่นปู้ด ๆ เพราะว่าสีมันฟุ้งนี่ ไอ้รองพื้นก็รองไป
ทับหน้าก็ทับไป ทับรอบสามก็ทับ ๒๕ ไร่นี่ ฝีมือพระทั้งนั้น โดยเฉพาะในห้องนี่ มันข้างนอกอีกตั้งเยอะใช่ไหมทำกัน บางคนทำกลางคืน มันเงียบ ทำกลางคืนทั้งคืน
พอเสร็จปุ๊ป ท่านก็ให้เราเอาชื่อพระมา พวกพระพ่นสี เอาชื่อมาให้หมดนะ เราก็อ้อยอิ่ง เอ๊ะ
ไอ้นันต์มันอืดอาดช้าจริงเลย เอาชื่อพระมาเดี๋ยวจะไม่ทันการ พอเอาชื่อพระมาให้ท่าน
ท่านก็เอาเงินเข้าบัญชีให้ ให้เก็บดอกผลเอามาเลี้ยงพระ พวกที่มาพ่นสีนี่ นะให้เดือนละ ๒๖๐ บาท นี่เงินเดือนนะ
หลวงพ่อ สมัยก่อนท่านอยู่ที่วัด ก็มีลูกศิษย์นิด ๆ หน่อย ๆ แต่ก็นั่งกรรมฐานทุกวัน ถึงท่านจะแก่ คนไปมากไปน้อยก็นั่งกรรมฐานทุกวัน
พอนั่งไปตอนหลังนี่ท่านแก่มาก ก็สั่งกับฉันบอกว่า นันต์ แกอย่าลืมนะว่าวัดนี่ ที่ข้าสร้างมาได้หลายร้อยล้านนี่
ข้าไม่ได้สร้างด้วยอะไรเลย สร้างด้วยกรรมฐาน แกอย่าทิ้งกรรมฐานนะ ถ้าแกทิ้งกรรมฐานเมื่อไรวัดจะพัง เพราะข้าสร้างมาข้าสร้างมาด้วยกรรมฐานนะ วัดนี้น่ะ
ท่านบอกว่า ถ้าสร้างไปนี่ ถ้าเราทำจิตดีนี่ เทวดาท่านก็ช่วยเกื้อหนุน พระท่านก็ช่วย มีรุ่นก่อนๆ ที่ท่านสร้างเขาเรียกว่า ตึกริมน้ำ ท่านไม่มีลูกศิษย์มากนี่ พ.ศ. ๒๕๑๓ นี่ยังไม่มีลูกศิษย์ยังได้วันใช้วัน อะไรอย่างนี้ กฐินทีก็ใช้หนี้เขาทีหนึ่ง
ท่านเล่าให้ฟังว่า เมื่อสร้างกุฏิหลังนี้ไม่มีเงินเลย พระอินทร์มาบอกว่า คุณ เทวดาน่ะร้อนไปทั้งดาวดึงส์แล้วนะ ท่านช่วยอย่างไรล่ะ ช่วยหาเงิน
เพราะเป็นหนี้เขานี่ เป็นหนี้เขา กฐินทีก็ใช้เขาที กฐินทีก็จ่ายหนี้ทีหนึ่ง
แต่ช่างช่วงนั้นก็เรียกว่าไม่มีเงินก็เชื่อเครดิตพระ คือปล่อย ปล่อยทำไปเรื่อย ช่างแถวนั้นรวยทุกคน ที่ปล่อยเครดิตให้นะ
รวยทุกคนเพราะหลวงพ่อนี่ท่านไม่ทิ้งคน ท่านไม่ทิ้งผู้มีบุญคุณกับท่าน อย่างโยมกิมกีอย่างนี้ ให้มาขายในร้านในวัดเลย เพราะว่าหลวงพ่อแต่ก่อนไปอยู่วัดใหม่
ๆ บิณฑบาตไม่ได้ก็ต้องผูกปิ่นโตเขา
วัดเรานี่เดือนหนึ่ง ค่าไฟฟ้าประมาณ ๒ แสนห้าหมื่นบาท คือสมัยก่อนเรื่องไฟฟ้า เคยมีความคิดว่า ถ้าหลวงพ่อไม่อยู่จะไม่เปิดไฟมาก เพราะเปลืองไฟ
เพราะมีไฟสปอร์ตไล้ท์อยู่ ๑ ดวง บนตึกกลางน้ำ ใช้ไฟมากตั้ง ๓,๐๐๐ วัตต์ ขณะที่คิดอยู่อย่างนั้น หลวงพ่อบอกว่า เออ...นันต์
ถ้าข้าตายไป ไฟทุกดวงอย่าปิดนะ ถ้าใครปิดไฟมันจะต้องดับตามไฟไปเลย
ท่านบอกว่า ที่วัดนี้ถ้าเปิดไฟสว่าง คนมาวัดก็จะสบายใจ ไม่หดหู่ใจ มีความสว่าง มีความสดชื่น ไม่หวาดระแวง
และปลอดภัยด้วย ท่านจะเปิดไฟรอบวัด ใช้ไฟกลางคืนมากกว่ากลางวัน ไอ้เราจะประหยัด
ตอนหลังท่านไม่ได้ลงกรรมฐาน ตอนท่านป่วยมาก ๆ นี่ท่านลง เมื่อครั้งสุดท้ายนี้ก็มีอยู่คราวหนึ่ง เมื่อปี ๓๕ ทำบุญวันปิยมหาราชที่วิหาร ๑๐๐ เมตร
เด็กนักเรียนก็นั่งเป็นแถว พระก็มาแล้วละ แต่ยังมาไม่ครบ หลวงพ่อมาก่อน เออ...พระเอ้ย ยังมาไม่ครบกันเหรอ มาครบเหรอยัง
ยังครับ เออ...เข้ามานั่งใกล้ ๆ ใครมาไม่ครบ ท่านก็ดู เอาเทปวาง
เออ...พระมาไม่ครบเหรอ... เรานึกหลวงพ่อจะคุยอะไร ไม่ได้ด่ากันมานาน เออ...นันต์ พระลงกรรมฐานครบไหมหว่า... ไม่ครบครับ เอ้า ไปไหนกันหมดล่ะ ไม่ทราบครับ เลี้ยงสัตว์เดรัจฉานไว้ที่นี่เหรอ มันไม่คุ้มค้าข้าวของชาวบ้านเขานะ
ใครมีพระพุทธรูปอยู่ที่บ้าน จะเป็นพระอิฐ พระปูน พระทองเหลือง พระแก้วก็ดี อย่านึกว่าไหว้แล้วพระพุทธเจ้าไม่รู้ มันมีเรื่องๆ หนึ่งอยู่ที่วัด
มีคนมาขอพระพุทธรูปข้างโบสถ์ที่วัด พอขอไปแล้วพระพุทธเจ้ามาบอกกับหลวงพ่อว่า ต่อไปนี้ใครมาขอฉันไป คุณอย่าให้นะ
ไอ้พวกนี้มันไม่ไหว้ฉันหรอก มันเอาไปหากิน
พระพุทธเจ้าแม้จะปรินิพพานแล้ว ใครจะกราบท่าน ไหว้ท่าน ท่านรู้ สังเกตดู หลวงพ่อจะกราบพระอิฐพระปูนข้างวัดก็ช่างเถอะ เรางี้อาย ท่านกราบแบบนอบน้อม
ยกมือแต่ละครั้งเหมือนกับว่าท่านไหว้พ่อไหว้แม่จริงๆ เห็นใครกราบพระไม่สวยเท่าหลวงพ่อเลย เราต้องอายเลยท่านกราบด้วยใจจริงๆ
พระที่วิหาร ๑๐๐ เมตร ที่เป็นพระประธานน่ะนะ เรียกว่า พระมหาลาภ เหมือนกัน เพราะว่าเวลาสร้าง
หลวงพ่อเอาผงที่ทำพระคำข้าวที่พุทธาภิเษกแล้วเอาไปฉาบทา มีคราวหนึ่ง ช่างคะนองปาก ช่างเขากำลังโป๊สี เพราะหน้าท่านแตกยังไม่เรียบร้อย
ไอ้ช่างคะนองปากบอก นี่ ช่างเสริฐ ทำไม่ไม่ใช้กวนอิมล่ะ พอรุ่งขึ้นอีกวัน ช่างปากบอนปากบวม หาสาเหตุไม่ได้ ก็นึกไม่ออกว่าไปทำอะไรที่ไหนมา
ลูกสะใภ้ช่างชิตพูดขึ้น เลยนึกได้ว่าเมื่อวานไปล้อพระที่วิหาร ๑๐๐ เมตร เลยจุดธูปเทียนไปขอขมาแล้วก็หาย หลวงพ่อสั่งไว้เหมือนกันว่า ถ้าชาวบ้านแถวนี้เขาเดือดร้อนเรื่องฟ้าเรื่องฝน ทำมาหากินไม่ค่อยได้ ขอให้เอาดอกไม้ธูปเทียนไปบูชา ขอด้วยความเคารพจะมีผล
มีวันหนึ่ง หลวงพ่อเข้านิโรธสมาบัติ ตอนนั้นท่านป่วยมาก อาตมาไปนอนเฝ้ากับพระประทีป ตอนตีสองท่านก็ตื่นขึ้นมาจะประคองท่านเข้าห้องน้ำ ท่านก็บอกว่า
วันนี้ไม่ได้นอนเลย พระพุทธเจ้ามาบอกให้เข้านิโรธสมาบัติตั้งแต่ค่ำ ต่อไปจะสร้างปราสาททองไว้เก็บพระพุทธเจ้านะ
ก็ถามว่า หลวงพ่อครับ สร้างที่ไหนครับ โรงอิฐ
ต่อจากนั้นท่านก็มาสายลมอีก ๒ เที่ยว ก็ไม่เห็นท่านพูดเรื่องนี้ เราก็นึก เอ...ท่านจะสร้างจริงหรือเปล่าหนอ ปราสาททองนี่คงจะแพงนะ
ก็เลยมาเล่าให้พระสุรจิตฟัง พระสุรจิตก็บอกว่าจริง ท่านเคยมาตรวจงานแล้วก็ชี้ไปที่โรงอิฐ บอกว่าจะสร้างที่เก็บพระพุทธรูป
ตอนนั้นก็ไม่คิดว่าจะทำหรอก เพราะมันหนัก แต่พอไปพูดกับผู้ใหญ่ ก็มีหลายคนบอกว่า ต้องทำๆ เขาบอกแล้วก็ไป แต่ทุกข์มันอยู่ที่เรา ไอ้เราก็แบกซิ
ไอ้นี่ไม่เสร็จ ไอ้นั่นไม่เสร็จ ทุกข์จังเลย ก็ขอเก็บไว้ก่อน ขอทำงานที่มันด่วนเสียก่อน เอาไว้ท้าย ๆ ถึงจะทำ พูดไปก็จะทำให้คนแบกภาระไปด้วย
อย่างหลวงพ่อสร้างวิหาร ๑๐๐ เมตร พระก็บอกทีละหน่อย ๆ มันก็ไม่หนักก็มีงานชิ้นใหญ่ ๆ อยู่ ๒ ชิ้น คือ ปราสาททอง กับ โบสถ์ทองคำ โบสถ์ทองทำคือปิดทองคำเปลว
เรื่องนี้เคยพูดกับหลวงพ่อเหมือนกัน
หลวงพ่อครับ ใช้โมเสกสีทองซิครับ ทนครับ ฝนตกก็ไม่ลอก เรานึกว่าดี หลวงพ่อบอก ฉันรู้ แต่พระพุทธเจ้าท่านไม่ยอม
อานิสงส์ไม่เหมือนกันคุณ อานิสงส์บูชาด้วยทองคำ เกิดมากี่ชาติก็ไม่มีความยากจนเข็ญใจ
ดูตัวอย่างท่านเมณฑกเศรษฐี เอาทองคำเปลวไปติดที่ฐานส้วม แล้วอธิษฐานเกิดมาอีกชาติหนึ่งมีความร่ำรวยมาก นั่นแผ่นเดียวนะ
นี่เราปิดเป็นร้อยเป็นพันเป็นหมื่นเป็นแสน แล้วก็ปิดที่โบสถ์ เป็นที่เกิดของพระ จะเป็นพระได้ต้องบวชในโบสถ์ ไปบวชกลางทุ่งนาไม่ได้ ฉะนั้นจึงมีอานิสงส์มาก
สังเกตดูหลวงพ่อ พระพุทธรูปท่านจะปิดทองทุกองค์
<<< โปรดติดตามตอนต่อไป เรื่อง งานประจำสมัยเป็นพระลูกวัด>>>
webmaster - 24/9/09 at 08:26
งานประจำสมัยเป็นพระลูกวัด
...หลังจากท่านได้รับแต่งตั้งเป็นรองเจ้าอาวาส ท่านจะทำหน้าที่เสมือนผู้จัดการวัด รับคำสั่งจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อมาแจกจ่าย ปรึกษาหารือ
สั่งการมอบหมายหรือจัดการตามความเหมาะสม เมื่อพระเดชพระคุณท่านปรารภเรื่องอะไร ท่านก็จะนำเรื่องนั้นมาปรึกษาคณะสงฆ์
ตัวอย่างเช่น เรื่องการห่มผ้าสีเหลือง พระในวัดทุกองค์ก็ปฏิบัติตามด้วยความเรียบร้อยเป็นเอกภาพ หรืออย่างเรื่องคนปากเสียอาศัยอยู่ในวัด
แล้วยังนินทาว่าร้ายพระและคนในวัด ท่านเล่าว่า เราก็บอกกับหลวงพ่อ หลวงพ่อครับ ผมไม่รู้เรื่องเลย ไอ้พวกนี้มันพูดไปไปอย่างนี้ หลวงพ่อบอก นันต์
แกกวาดล้างให้หมดไปเลยนะ ไอ้พวกปากนรกทั้งนั้นพวกนี้
ที่วัดนี่จึงไม่จำเป็นไม่ให้อยู่ ขับมาหลายชุดนะ พวกปากไม่ดีนี่ต้องกวาดล้างไปเรื่อยๆ น่ะให้อยู่ ๗ วัน ถ้าอยู่นานเขี้ยวงอก
ไอ้พวกเขี้ยวงอกนี่ไม่เจริญศรัทธาหรอก ขับลูกเดียวแล้วไม่ต้องเข้าวัด ติดประกาศเลย ถ่ายรูปติดไว้เลยที่วัดน่ะ พูดภาษาหยาบ ๆ ไม่ต้องมาทั้งโคตร
ไม่ต้องมาวัด คือพูดไม่อยู่ในศีลในธรรม คล้าย ๆ เราโหดร้ายน่ะ คนไม่ดีเราโหดร้ายเลย ขับเลยอย่างไรล่ะ แบบไม่ทำให้ตัวเองเจริญ ไม่ทำให้วัดเจริญ
สำหรับพระพวกฉันเองไม่ใช่ว่าปกป้องกันเอง คือเราไม่ต้องให้ใครขับหรอก เราขับกันเองอยู่แล้ว ที่วัดน่ะขับกันเองอยู่แล้ว ถ้ามีอะไรมานี่
ถ้ามันมีอะไรสุดวิสัยมา พระนี่ขับกันเอง ไม่ต้องรอให้ใครมาทำความสะอาด เราทำความสะอาดเอง วัดน่ะ
ฆราวาสฉันก็ขับไปเยอะ พระก็ให้ออกไปหลายองค์ เพราะปกติถ้าไม่ดีเสียหายจริง ๆ ก็ต้องออก ไม่ใช่เจ้าอาวาสขับเขาอย่างเดียวนะ
เขาก็ขับเจ้าอาวาสได้เหมือนกัน คือให้เขาดูเราได้ ไม่ใช่ว่าเจ้าอาวาสจะทำอะไรดีทุกอย่าง คือให้คนอื่นเขาดูด้วย คนอื่นเขาก็ดูเราได้
มีอยู่ทีหนึ่ง พระบวชใหม่ เขาบวชได้พรรษาก็ตั้งวง ไอ้เราก็เตือน เตือนก็หาว่าเราอิจฉา เจ้าอาวาสก็อิจฉา พระท้ายแถวจะดังนี่อิจฉา มันเป็นอย่างนี้นะ
เพราะอย่างนั้นต้องนิมนต์
ทีนี้ไอ้การที่มีลูกมีเต้าบวชในศาสนานี่ หนึ่ง บวชพาญาติโยมไปสวรรค์มี สองบวชพาญาติโยมไปนรกมี พาไปสวรรค์นี่เข้าใจง่าย แต่พาไปนรกนี่จะพาอย่างไร
เดี๋ยวจะเล่าให้ฟัง คือ พระทำผิด เจ้าอาวาส คณะกรรมการสงฆ์ตักเตือน จนถึงต้องขับออกจากวัด ก็มาบอกพ่อบอกแม่ บอกญาติโยมว่าฉันทำดี พระนี่กลั่นแกล้ง
พระทั้งวัดเขากลั่นแกล้งขับออกจากวัด บอกพ่อแม่ พ่อแม่ก็เอาละ ต้องรักลูกอยู่แล้ว ธรรมชาตินี่ ไอ้พระอย่างนี้... ทั้งวัดเป็นอย่างนั้น ด่าไปเลย
นี่เขาเรียกว่าบวชพระแล้วพาพ่อแม่ให้ลงนรกด้วย พ่อแม่ไม่เป็นธรรมก็อย่างนั้น
สมัยก่อนมีบวชเณรอยู่ เณรก็เล่นกันเป็นเด็กสิ หลวงพ่อก็ว่า ทีนี้ก็กลังไปฟ้องพ่อแม่ แหม...ลูกเราดีจังเลยไปบวชเณรมีศรัทธา พระผู้ใหญ่แกล้งเสียอีก
หาว่าซน พ่อแม่มาอยู่ด้วยกันที่ไหนล่ะ มาอยู่กับเรา เราก็ต้องทำโทษ หลวงพ่อจึงเลิกรับเณรเลย เณรที่วัดจึงไม่รับ ไม่มี พระต้องช่วยเหลือตัวเองได้
ไม่จำเป็นจะต้องหาใครมาช่วย ไอ้พวกนี้อย่างกับลิง เด็กนี่ ก็เล่นแบบเด็กน่ะ ฉะนั้นบางอย่างจึงไม่รับ
แล้วมีคนมาพักนี่ ให้อยู่ได้ ๗ วัน ถ้าเกิน ๗ วันก็ต้องกรณีพิเศษ แต่กรณีพิเศษก็ต้องมีระเบียบว่า ถ้ามีเรื่องมาก็ต้องไปนะ เจ้าของห้องก็เหมือนกัน
ที่สร้างห้องกรรมฐานน่ะไม่ใช่จะอยู่เป็นเจ้าโลกได้ ต้องอยู่ในระเบียบวินัยของวัด บางทีพออยู่แล้วทะเลาะกัน เป็นเจ้าโลกขึ้นมาละ เจ้าของห้องก็ต้องขับ
ไม่เอาไว้หรอก ทำให้เดือดร้อนกันไปหมด
ฉะนั้น ที่วัดจึงถือระเบียบวินัยเป็นใหญ่ ถ้าบางทีอาจจะผิดพลาดไปแต่ว่ายังไม่มีเรื่อง ถ้ามีเรื่องเมื่อไรขับ เจ้าของห้องก็ไม่ให้อยู่ทั้งนั้น
เสียการปกครอง เสียความร่มเย็นหมด เพราะมีมาตรการอย่างนี้ถึงไม่ค่อยมีเขี้ยวงอกเท่าไร มีเขี้ยวก็หุบไว้ก่อน
พอถึงวัดก็ถอดเขี้ยวถอดงาเสียก่อน ถ้าไปแสดงที่นั่นก็ต้องเอา ไม่มีญาติโกโหติกาทั้งนั้น ต้องถือระเบียบวินัยเป็นที่ตั้ง ไม่มีเส้นเล็กเส้นใหญ่
บางคนว่ามีคนนอกคนใน ไม่มี ถ้าผิดมาแม้แต่พระยังขับกันเอง โยมจะมีเส้นนอกเส้นในไม่มีหรอก ความดีก็มีส่วนความดี
ฉะนั้นบางครั้งจึงไม่หวานจ๋อยไปเลย ไม่ประจบประแจงจนเกินไป แต่เข้าเขตวัดเรา ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นโดยคนอื่นรังแก
เราให้ความปลอดภัยเต็มที่นี่เข้ามาในวัดเรา เราอยากให้คนในวัดมีความสงบ คือเข้าไปอยู่วัดแล้วอยากให้คนเข้าไปวัดแล้วนอนหลับสบาย ไม่ต้องกังวลโจร
ไม่กังวลคนจี้คนปล้นจากคนภายใน เพราะว่าเรามืดค่ำเราก็ปิดประตู เราต้องรับผิดชอบความปลอดภัยคนภายใน ถ้าใครจะมาเกเรเราก็ต้องจัดการ ข้างในข้างนอกทุกอย่าง
ถ้าคนภายในแกก็ต้องเอามันจะได้อยู่ ทุกคนต้องเกรงใจระเบียบวินัยกันจะได้มีความสุข
ธุดงค์คราวที่แล้วจัดก็ต้องขับพระออกองค์หนึ่ง ต้องขับพระออกจากวัด ก็พวกไม่อยู่ในระเบียบวินัยก็ต้องเอา ต่อไปจะได้อยู่กันง่ายขึ้น
ขับพระนอกวัดมาอาศัยธุดงค์ ประพฤติไม่ถูกต้อง เราให้มัดรัดไว้ดีกว่า ดีกว่าปล่อยให้เละไป อยากให้คนอยู่มีความสุขเท่านั้นเอง
หากว่ามีอะไรเกิดขึ้นอย่างนั้นอย่างที่เขามีกันน่ะ ข้างในขับไปแล้ว ขอให้รู้ว่าพระภายในเขาขับกันไปแล้ว อย่างที่เขามีข่าวอะไรอย่างนี้นะ
คือวัดเราก็ไม่มีอะไรหนักใจนะ หมายความว่าอยู่ด้วยกันก็มีความสุขพอ ตามอัตภาพของพระไม่มีอะไร
งานประจำส่วนองค์ที่ท่านพระครูฯ ได้รับมอบหมายจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อ คืองานอัดเทปธรรมะที่หลวงพ่อท่านทำต้นฉบับไว้เพื่อจำหน่าย ที่ต้องทำทุกวัน
และงานคุมเครื่องสีข้าวที่ฝุ่นตลบ ท่านก็ทำอยู่องค์เดียว ส่วนงานที่ทำด้วยใจเกินร้อยคืองานดูแลรับใช้หลวงพ่อทุกวัน หลังจากท่านเลิกรับแขก
ในระหว่างเป็นพระลูกวัดนี้ ท่านพระครูฯ ได้ศึกษานักธรรมโทด้วยตนเองแล้วไปสอบที่สนามสอบวัดพิชัยปุรณาราม อ.เมือง จ.อุทัยธานี ก็สอบผ่านได้นักธรรมโท
แล้วท่านก็หยุด เพราะมีกฎหมายมหาเถรสมาคมอยู่ข้อหนึ่งที่ว่า ผู้จะเป็นเจ้าอาวาสจะต้องได้นักธรรมเอกเป็นอย่างน้อย
ความกลัวว่าจะต้องเป็นเจ้าอาวาสจึงหยุดเรียนเสีย
หลวงพ่อปลงสังขารและมรณภาพ
ท่านเล่าให้ฟังบอกว่า เมื่อคืนนี้ได้คิด การคิดของท่านไม่ได้บอกว่าคิดอย่างไร แต่บอกว่า
พอคิดอย่างนี้เท่านั้นแหละ เทวดาวุ่นกันทั้งดาวดึงส์เลย พอคิดอย่างนี้ท่านปู่พระอินทร์มาทันที มากันเต็มหมด
ท่านปู่พระอินทร์ก็บอกว่า คุณ..อย่าคิอย่างนี้นะ
คงจะตัดสินใจปลงสังขารนี่แหละ ตอนคืนทวารเปิดนั่นแหละ ตอนเช้าท่านก็เล่าให้เราฟังบอกว่า เมื่อคืนนี้คุยกับพระ
พระถามหลวงพ่อว่า คุณตัดสินใจแล้วหรือ พูดอย่างนี้หมายความว่า หลวงพ่อตัดสินใจแล้ว
หลวงพ่อบอกว่า ผมตัดสินใจแล้วครับ พระพุทธเจ้าบอกว่า
มณฑปองค์ปฐมคุณยังสร้างไม่เสร็จนี่ ท่านถามอย่างนี้แสดงว่าพระพุทธเจ้าจะเอาหลวงพ่ออยู่นะ
หลวงพ่อบอกว่า ผมจะหาเงินให้พระครับ พระพุทธเจ้าถามว่า
พระจะทำได้หรือ หลวงพ่อบอก ผมจะหาเงินให้พระครับ
มีอยู่คราวหนึ่งตอนเป่ายันต์เกราะเพชรครั้งสุดท้าย ตอน ๖ โมงก็ขึ้นไปรับท่าน ท่านก็คุยดีทุกอย่างและคุยบอกว่า พระมหากัสสปเรียกท่านไปพบ
พอไปถึงหลวงพ่อถามว่า เรียกผมมาทำไมครับ พระมหากัสสปบอกว่า คุณนี่ดื้อจัง บอกหลวงพ่อ ดื้อ พระพุทธเจ้าจะเอาคุณอยู่ คุณก็จะตายท่าเดียว หลวงพ่อบอกว่า
ถ้าร่างกายผมดี ผมไม่เกี่ยงหรอกครับ แต่นี่ร่างกายมันไม่ไหวจริงๆ แสดงว่าหลวงพ่อท่านเตรียมตัวจะไปอยู่เสมอเลย
ตอนที่ท่านมรณภาพ อาตมาอยู่ที่สายลม กลัวคนจะมาสายลมแล้วไม่รู้ ก็มาดักอยู่ เวลาประมาณ ๓ โมงเย็น
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ให้คนโทรศัพท์มาบอกว่าให้ทางวัดทำพิธีสะเดาะเคราะห์ โดยเอาสบง จีวร หรือผ้าที่หลวงพ่อใช้เครื่องครบชุด ให้สวดมาติกาบังสุกุลก่อน ๔
โมง ๔ โมงเย็นให้เผาทันที
อาตมาก็โทรศัพท์ไปทางวัด ทางวัดก็จัดพิธีกัน พอ ๔ โมง พระสมุห์บัญชาโทรศัพท์มาบอกว่า หลวงพี่ครับ
ทางวัดจัดพิธีตามที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์สั่งไว้เรียบร้อยแล้วครับ เลยบอก ขอบใจมากนะ
พอ ๔ โมง ๑๐ นาที หมอที่โรงพยาบาลโทรศัพท์มาบอกจะพูดกับหลวงพี่นันต์ พอรับโทรศัพท์หมอบอกว่า หลวงพ่อมรณภาพแล้ว เวลา ๔
โมง ๑๐ นาที เราก็เข่าอ่อนเลย ที่เคยว่องไวก็ไม่ว่องไว ค่อย ๆ เก็บของ ถามพระวิรัช วิรัช
ถ้าไปโรงพยาบาล เราจะร้องไห้ไหมนี่... ก็คุยกันไปในรถ
พอไปถึงโรงพยาบาลเข้าไปในห้อง ซี.ซี.ยู. พอเห็นหลวงพ่อเท่านั้นแหละ ชะโงกหน้าดู ท่านก็นอนอยู่ เห็นท่านยิ้มแก้มปริออกมา เราก็ตกใจ พระวิรัชบอก
หลวงพ่อยิ้มแล้ว ๆ หมอก็รีบมาดูใหญ่ พยาบาลเห็นก็บอกว่า เมื่อกี้ยังไม่เห็นยิ้มเลยนี่ ตอนนี้ยิ้มแล้ว มาดูกันใหญ่
พอตอน ๖ โมงเย็นจะเคลื่อนศพ ก่อน ๖ โมง สัก ๑๐ นาทีได้ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ให้คนโทรศัพท์มา สั่งให้ไปหาด่วน พอไปหาท่านก็กราบเรียนท่านว่า
ผมไม่เคยจัดงานแบบนี้ครับ งานของพระผู้ใหญ่ ถ้าจะจัดให้ดีผมไม่เป็นครับ เจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็บอก ข้าจัดเป็นที่ไหน
ข้าก็ใช้เขา นี่เรียกเจ้าคุณวัดพลับพลาชัยมา ให้มาช่วยแก
ท่านสั่งงานให้ทุกอย่าง สั่งอย่างเรียบร้อยหมด ท่านเจ้าคุณวัดพลับพลาชัยก็ไม่เคย บอกให้เตรียมของไปเลย พอไปเห็นสถานที่ศาลา ๑๒ ไร่ โอ้โฮ
ตกใจสถานที่กว้างขวางมาก ต้องใช้ผ้ามากจ่ายเงินไป ๑ แสนห้าหมื่นบาท ตัองจัดให้สมเกียรติ พิธีหลวงก็ไม่เคยจัด
เป็นพระยังไม่รู้เลยเขาสวดพิธีหลวงกันอย่างไร
<<< โปรดติดตามตอนต่อไป เรื่อง จัดงานศพหลวงพ่อและปกครองวัด>>>
webmaster - 30/9/09 at 09:04
จัดงานศพหลวงพ่อและปกครองวัด
...เมื่อพระเดชพระคุณหลวงพ่อมรณภาพลงนั้น จะหาใครแบกความทุกข์ไว้มากกว่าท่านพระครูปลัดฯ เห็นจะไม่มี ด้วยเหตุผลหลัก ๒ ประการคือ
ในทางธรรม ท่านได้ตั้งใจมอบกายถวายชีวิตแก่พระเดชพระคุณหลวงพ่อ มีความอบอุ่นใจเมื่อได้มาอยู่กับท่าน มีความสุขและเห็นทางพ้นทุกข์แล้ว
เมื่อมาปฏิบัติธรรมภายใต้ร่มบารมีอันกว้างใหญ่ไพศาลและร่มรื่นชื่นใจ และกำลังเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางอย่างไม่ท้อถอย โดยมีความหวังอยู่ในใจตลอดเวลาว่า
เราจะตายก่อนพระเดชพระคุณหลวงพ่อ ความกังวล ความห่วงใยทางโลกไม่มี ทางด้านการปกครอง ถึงแม้พระเดชพระคุณนั้น เป็นความสุขล้วน ๆ
ว่าได้ทำงานบูชาพระคุณครูบาอาจารย์ แต่แล้วฟ้าก็ผ่าเปรี้ยงลงมากลางใจ เมื่อพระเดชพระคุณท่านดับขันธ์นิพพานอย่างไม่คาดฝัน
ในประการที่สอง ภาระทั้งมวลภายในวัดทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นพิธีจัดงานศพพระเดชพระคุณหลวงพ่อ การดูแลรักษาสมบัติวัด ซึ่งพอหลวงพ่อมรณภาพลง
อลัชชีห่มผ้าเหลือง อาศัยสมณศักดิ์และอำนาจทางการปกครอง ก็จ้องตะครุบ
โดยเริ่มออกคำสั่งที่แม้แต่คนปกติยังไม่กล้าทำ ไหนจะเรื่องการปกครองภายในวัด ไหนจะเรื่องการต้องใช้จ่ายเงินก้อนใหญ่ในการจัดงานศพ
แต่เงินในย่ามมีอยู่ไม่กี่ร้อยบาท และเงินวัดก็อยู่ในบัญชีที่เบิกไม่ได้ เพราะยังไม่ได้รับการแต่งตั้งให้รักษาการเจ้าอาวาส
อีกทั้งเรื่องการดูแลรักษาน้ำใจลูกศิษย์พระเดชพระคุณหลวงพ่อทั่วประเทศ การแบกภาระงานทั้งหมดที่หลวงพ่อยังทำไม่เสร็จ ฯลฯ
ความเศร้าโศกเสียใจ ผนวกกับภาระงานที่หนักหนาสาหัสและปัจจุบันทันด่วน กอปรกับการที่ต้องเอาใจคนทั้งโลกวัดท่าซุง เพื่อให้เกิดความมั่นใจในหมู่คณะ
ว่า การเจริญรอยตามพระเดชพระคุณหลวงพ่อ จะไม่สิ้นสุดหยุดลง
ท่านพระครูฯ แทบจะไม่ได้หลับได้นอนในช่วง ๗ คืนแรก นับแต่วันมรณภาพของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ ท่านพระครูฯ ซาบซึ้งในบทพระธรรมที่ว่า ปิเยหิ วิปปโยโค ทุกโข ยัมปิจฉัง น ลภติ ตัมปิ ทุกขัง ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักเป็นทุกข์ ปรารถนาอยู่ไม่สมหวัง แม้อันใด
แม้อันนั้นเป็นทุกข์ เป็นยิ่งนัก
ท่านเล่าว่า มีครั้งหนึ่งไปกราบหลวงพ่อ บอกว่า หลวงพ่อครับ ผมอยากมาอยู่กับหลวงพ่อจังเลย ทุกข์เหลือเกิน มันหนัก ได้ยินเสียงบอก ก็ทำบารมี ๑๐
ให้มันเต็มซิ เท่านั้นจบเลย ไม่ต้องถามต่อ
งานพระศพสำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี อาศัยบารมีของ หลวงพ่อเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดสามพระยา
และหลวงพ่อเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ แผ่มาปกป้องคุ้มครองวัดและศิษยานุศิษย์ในพระเดชพระคุณหลวงพ่อ
ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ของบรรดาศิษย์พระและฆราวาส ที่เข้าแถวเดินตามหลังท่านพระครู
การแก้ไขปัญหาเรื่องเงินหมุนเวียนเฉพาะหน้าในการซื้อเสื้อผ้า และดอกไม้ตกแต่งสถานที่ ในการซื้อโลงแก้ว และเครื่องไทยธรรมต่าง ๆ ฯลฯ
คณะกรรมการสงฆ์ที่หลวงพ่อได้แต่งตั้งไว้ ทำหน้าที่เพื่อนร่วมคิดร่วมปรึกษา และช่วยรักษาระเบียบวินัยของวัด ที่หลวงพ่อดำเนินการในทุก ๆ
เรื่องที่ได้รับมอบหมาย คณะกรรมการสงฆ์ในช่วงนั้น ๆ ประกอบด้วย
พระครูปลัดอนันต์ พัทธญาโณ เจ้าอาวาส
พระครูสังฆรักษ์สุรจิต สุรจิตโต รองเจ้าอาวาส
พระครูสมุห์พิชิต ฐิตวีโร ผู้ช่วยเจ้าอาวาส
พระครูใบฎีกาสมพงษ์ สมจิตโต ผู้ช่วยเจ้าอาวาส
พระปลัดวิรัช โอภาโส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส
พระสมุห์บัญชา สุขปัญโญ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส
พระใบฎีกาประทีป อัตถทัสสี ผู้ช่วยเจ้าอาวาส
ท่านพระครูปลัดฯ ท่านเล่าว่า ที่เราทรงตัวอยู่ได้เพราะนึกถึงคุณของท่านว่า ให้เรานี่กลับเนื้อกลับตัวเป็นคนมีศีลธรรม
รู้จักอานิสงส์ของการรักษาศีล โทษของการไม่รักษาศีล รู้จักสมาธิ รู้จักพิจารณาว่าการเกิดเป็นทุกข์จริง การไปนิพพานนี่จะหมดทุกข์ ไม่ต้องมาเกิดอีก
ตัวนี้เมื่อคนเข้าถึงแล้วนี่ ความผูกพันหรือความรักหลวงพ่อ นึกถึงคุณของท่านนี่ จึงเข้ามาถึงจิตใจคน วัดเรา จึงรักษาทรงสภาพนี้อยู่ได้ถึงบัดนี้
แม้แต่หลวงพ่อมรณภาพแล้ว ก็จะมีผู้ใฝ่ฝันอยากจะเห็นวัดเราเจริญ เห็นวัดเราทรงตัว
มีคนมาพูดว่า หล่อพระศรีอาริย์ เดือนมีนาคม ๒๕๓๗ คนเยอะนี่ดีใจจริง ๆ เลย ทำไมถึงดีใจคนเยอะ เพราะว่าทุกคนที่เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อเป็นห่วงวัด
กลัววัดจะโทรมเหมือนที่อื่น หรืออะไรอย่างนี้ คือมีความลุ้นอยู่ในใจ
มีคนปรามาสลูกศิษย์หลวงพ่อว่า อาจารย์มึงตายไปแล้วนี่ คอยดูนะ วัดมึงจะต้องพังแน่ โทรมแน่ ไอ้คนลูกศิษย์หลวงพ่อ มันก็หวั่นอยู่แล้วใช่ไหม
พอมีงานหล่อพระศรีอาริย์ คนมากทีนี้ ก็ยืดอก ไหนมึงว่าวัดกูจะโทรมไง ลูกศิษย์หลวงพ่อเราก็อดเบ่งไม่ได้
มึงไปดูซะ ให้ได้เชียว คนเต็มไปหมด คุยเบ่งได้ ทีนี้วัดเราก็ยังทำอะไรไปได้อีก โดยไม่ต้องหนักใจ ยังทำไปได้ทุกอย่าง งานที่หลวงพ่อทำค้างนี่
สามารถจะทำไปได้ตลอด ถ้าพระไม่โกงนะ ถ้าพระโกงก็วายวอดเหมือนกัน ถ้าไม่โกงก็จะสร้างไปได้ตลอด
มองดูแล้ว มองทั้งปัจจุบันนะ ไม่ได้มองอนาคตนะ เพราะว่าอนาคตเราไม่รู้ว่าจะเป็นอะไร
แต่ว่าปัจจุบันนี่จะเก็บงานของหลวงพ่อได้ทุกอย่างที่มีอยู่ในวัดทั้งหมดได้
ในช่วงระหว่างงานศพพระเดชพระคุณหลวงพ่อ ผนวกกับการเป็นเจ้าอาวาสใหม่ ๆ ท่านต้องขัดใจคนและพระมาก ในสองเรื่องใหญ่ ๆ คือ
การใช้จ่ายเงินของวัดในการจัดงาน ท่านเล่าว่า อยู่กับหลวงพ่อมานาน เห็นวิธีการใช้จ่ายเงินให้คุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์ของหลวงพ่อ
เรื่องนี้มันซึมซับเข้าไปอยู่ในจิตใจ คำว่า ข้าไม่เอานะ มันแว่วมาในหูตลอด ดังนั้น
เมื่อช่างจัดดอกไม้มาขอเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท เพื่อซื้อดอกไม้ ท่านได้ยินเสียง ข้าไม่เอานะ
ท่านก็ต้องพิจารณาความคุ้มค่า ก็ขัดใจคนขอ
อีกเรื่องหนึ่งก็คือ พระทุกองค์ ลูกศิษย์ฆราวาสทุกคน รักหลวงพ่อ อยากจะให้หลวงพี่ท่านพระครูฯ ทำนั่นทำนี่ ท่านไม่ทำเขาก็โกรธ บางคน
บางองค์ถึงกับเขียนหนังสือประกาศโจมตีทั่ววัด ท่านก็ใช้ขันติธรรมลูกเดียว ท่านบอกว่า ท่านพิจารณาว่าตัวเราเองยังไม่ถูกใจตัวเราเอง
คนอื่นเขาไม่ถูกใจเรา เนื่องจากเขารักหลวงพ่อ เขาอาจจะขาดสติปัญญาบ้างก็ต้องให้อภัย ก็เดินพิจารณาบ้าง ภาวนาบ้าง จนสงบไปเอง
แท้ที่จริงไปแล้ว ท่านมีใบแต่งตั้งเจ้าอาวาส ที่หลวงพ่อออกไว้ให้ก่อนมรณภาพ พร้อมทั้งให้อำนาจเบ็ดเสร็จจัดการได้เด็ดขาดในทุกเรื่อง
แต่ท่านเก็บเอาไว้ ไม่ให้ใครได้รู้ได้เห็น อาศัยเมตตาบารมี และขันติบารมี บวกกับปัญญาบารมีและบารมีอื่น ๆ ช่วยเสริม ทำให้แก้ปัญหาต่างๆ ไปได้ลุล่วง
และบังเกิดเป็นความรักความสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ของบรรดาศิษย์วัดท่าซุงตั้งแต่นั้นมา
ที่ปรารถเรื่องใบแต่งตั้งนั้น เพื่อให้ทุกท่านได้ระลึกเป็นอนุสติว่า พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านมองอนาคตไกลแค่ไหน จึงสร้างเกราะไว้ให้ท่านพระครูฯ
และท่านพระครูฯ ท่านมี ปุพเพกตปุญญตาความเป็นผู้มีบุญอันทำแล้วในกาลก่อน และ อัตตสัมมาปณิธิ ความตั้งตนไว้ชอบ บริบูรณ์แค่ไหน ประกอบกับ ปฏิรูปเทสวาสะ
การอยู่ในเขตที่เป็นมงคล และ สัปปุริสูปัสสยะ การมีคนดีเป็นบริวาร
ทำให้ท่านมีแต่ความเจริญ ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม จึงชัดเจนเป็นประจักษ์ต่อทุกองค์ทุกคน
ในส่วนของการปกครองท่านเล่าว่า ฉันไม่มีลูกหลาน มีแต่พี่แต่น้องเท่านั้นเอง มันเหมือนพี่น้องเพื่อนฝูงกัน พี่น้องกัน เพราะว่าทำงานทุกอย่าง
แม้แต่เป็นพระในวัดก็จริง ถือว่าเป็นพี่เป็นเพื่อนเป็นพี่น้องกัน การอยู่ร่วมกันก็จริง ถือว่าอยู่เหมือนพี่เหมือนน้อง เหมือนเพื่อนฝูง
ไม่ได้อยู่อย่างเป็นหัวหน้าอะไร แต่ทำงานแบ่งงานกัน คนนี้ถนัดทางนี้ ได้ทำงานนี้
ธัมมวิโมกข์ ท่านอาจินต์เขาทำ ก็มีกลุ่มของเขาทำ อย่างเรื่องวัตถุมงคลท่านวิรัชถนัดเรื่องนี้
ก็ไปคุมงานด้านนี้ อย่างพระสุรจิต พระสมพงษ์ ก็ไปคุมเรื่องโรงเรียน ก็แบ่งงานกันไป พระที่มีความถนัดเรื่องป่าก็ไปอยู่ป่า
ชำนาญเรื่องก่อสร้างไปคุมงานก่อสร้าง เป็นช่าง ตอนนี้ทำแพอยู่ หลังสวยนี่พระท่านออกแบบเอง ทำเอง ใช้ลูกบวบเหล็กทำ ไปดูสิแพเริ่มออกแล้ว เริ่มสวย
จะทำอย่างนี้สามหลังนี่ เพราะว่าได้เงินที่เลี้ยงปลามาประมาณล้านหนึ่งแสนบาท สำหรับปลาเลี้ยงพระ พระเลี้ยงปลา อะไรอย่างนี้ ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน
แต่ในเรื่องระเบียบวัดแล้ว ท่านพระครูฯ จะเข้มงวดมาก พระเดชพระคุณหลวงพ่อวางระเบียบไว้อย่างไร พระทุกองค์ ฆราวาสทุกคนต้องทำตามนั้นหมด
ในงานวันเกิดเจ้าประคุณสมเด็จฯ วัดสระเกศครั้งหนึ่ง สมเด็จท่านถามขึ้นมา เรื่องการปกครองพระ ท่านจึงเล่าถวายว่า
พระเมื่อออกจากวัดแล้ว ตามระเบียบของวัด ถ้าหากออกจากวัดเกิน ๑๐ วัน ต้องคัดชื่อออกเลย และทางวัดไม่มีนโยบายส่งพระไปอยู่ที่ไหน
เพราะว่าเมื่อออกไปแล้ว ยากต่อการควบคุม ฉะนั้นเมื่อพระจะไปอยู่ที่ไหนต้องแทงบัญชีออกจากวัด เพราะไม่สามารถตามไปปกครองกัน
พระที่ออกจากวัดไปอยู่ที่อื่น เราไม่ได้ส่งไป โยมเขานิมนต์กันออกไป จึงต้องแทงชื่อออกไปเลย
ทีนี้สมเด็จพระพุฒาจารย์บอกว่า พวกท่านนี่ทำถูกแล้ว ขอให้รักษาระเบียบนี้ไว้ เราก็บอก หลวงพ่อครับ วัดที่ผมอยู่นี่คล้าย ๆ หยุมหยิม
เมื่อพระจะมาพักครั้งหนึ่ง (มาฝึกกรรมฐาน) ก็ต้องมีใบรับรองจากเจ้าอาวาสมา จึงมาพักปฏิบัติได้ ๗ วัน ถ้ามาสะเปะสะปะก็ให้พักได้ ๑ คืน
ชาวบ้านเขาอาจจะว่าหยุมหยิมเกินไป
สมเด็จวัดสระเกศบอก คุณ อย่าถือว่าหยุมหยิมนะ เมื่อครูบาอาจารย์ไม่อยู่ ขอให้รัดตัวลงไปเรื่อย
ระเบียบให้ตึงไว้เรื่อยๆ ถ้ากางระเบียบมาจะปกครองคนง่ายขึ้น อย่างของผมนี่มีอยู่คราวหนึ่ง เมื่อตอนครบ ๖๐ พรรษาพระราชินี เขาก็บวชกัน บวชวัดสระเกศ
ของผมนี่ถ้าบวช ๓ วัน ๗ วัน ผมส่งไปอยู่เมืองกาญจน์เลย ที่ไหนก็ไม่รู้
บอก คุณ... เป็นไงรู้ไหม สึกหมด แต่วัดเบญจฯ ไม่อย่างนั้น ตอนบวชแล้วก็แบ่งให้อยู่วัดต่างๆ ใช่ไหม วัดละ ๒๐-๓๐
ของวัดเบญจฯ นะ บวชได้ ๗ วัน ตั้งป้ายดูหมอดูที่กุฏิเลย จะปล้ำให้สึกก็เล่นกันหลายเหนื่อยเหมือนกัน ตั้งเป็นอาจารย์เลย ดูหมอดู ดูฤกษ์ ดูยาม
จะให้สึกก็ลำบาก สมเด็จท่านก็แนะนำว่า ระเบียบที่ทำอยู่นะดีแล้วๆ
ท่านบอกว่าให้รัดเข้าไปเรื่อยๆ
ทีนี้พอตอนเย็น ก็ไปกราบสมเด็จวัดสามพระยา กุฏิท่านเงียบ พระเดินผ่านไปผ่านมาก็ถามสมเด็จอยู่หรือเปล่า อยู่หรือเปล่าก็ไม่รู้
สักประเดี๋ยวหนึ่ง เจอท่านเจ้าคุณศรีบอกว่า อยู่เข้าไปเลยๆ เงียบ ไม่มีใครเข้ามารบกวนเลย เราพวกหมูไม่กลัวน้ำร้อน เพราะเราไม่ได้ไปรบกวนอะไร
ใช่ไหม
คอยสักประเดี๋ยวท่านก็มา เข้ามากราบท่าน กราบเรียนท่านว่า หลวงปู่ครับ พวกผมมากราบไม่มีอะไรมากราบหลวงปู่เลย
ถวายเงินสำหรับหลวงปู่จะใช้ซื้ออะไร ๑ หมื่นบาท ท่านก็บอกเงินมันยังอยู่นี่ที่ให้ไว้นะ ยังไม่ได้ซื้ออะไรมากนี่ ทีนี่ก็คุยเรื่องวัด
คนสายลมไปหาท่าน ท่านจะถามประจำ คนที่สายลมมามากไหม ดูแลเป็นอย่างไร วัดเป็นอย่างไร อะไรต่ออะไร
ท่านคุยกับคนอื่นบอก วัดท่าซุงเดี๋ยวนี้ ฉันไม่เป็นห่วงแล้ว อยู่กันได้แล้วนี้
สมัยก่อนท่านห่วงจริง ๆ กังวลว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ สมัยนั้น ถ้าท่านไม่ไปงานทำบุญ ๗ วัน ๕๐ วัน ๑๐๐ วัน ก็คงจะยุ่งอยู่พอสมควรเหมือนกัน
ในวัดไม่ยุ่ง แต่ข้างนอกจะทำให้ยุ่ง ท่านก็ไปช่วยเพราะรู้สถานการณ์ดี
แต่เรื่องพระออกจากวัด ท่านพระครูฯ ก็บอกว่า กฎหมายเปิดช่องไว้ให้เจ้าอาวาสใช้อำนาจ ของเจ้าอาวาสยกเว้นให้ได้ โดยท่านชี้แจงดังนี้
ขอชี้แจงเรื่องพระสององค์ที่ออกไปจากวัด คือ พระปลัดวิรัช กับ พระยงยุทธ เพื่อว่าคนจะได้ไม่เข้าใจผิดกัน พระสององค์เป็นพระชั้นหนึ่งของวัด
นี่ไม่เคยชมพระนะ วันนี้ขอชมต่อหน้าญาติโยม การงานทุกอย่างไม่มีขาดตกบกพร่อง มีความรับผิดชอบสูง เป็นผู้ที่ตั้งใจตัดกิเลสโดยตรง
เพราะอยู่กันมานานรู้ใจกันดี
สำหรับ พระยงยุทธนี่ งานการทุกอย่าง โยมที่อยู่ตึกอำนวยการรู้ ทำทุกอย่างตั้งแต่ล้างส้วม
จนถึงล้างศาลา เวลาจะมีงานที งานประจำปี งานกฐิน งานสะเดาะเคราะห์ พระยงยุทธเป็นหัวหน้าล้างศาลา ๑๒ ไร่ คุมน้ำประปา ๒ ไร่ ๔ ไร่ ๑๒ ไร่
วิ่งตะลอนไปหมดทั่ววัด
พระปลัดวิรัช คุมตึกรับแขกทั้งหมด ส่วนวัตถุมงคล เป็นเลขาหลวงพ่อ ทำงานติดต่อกันมาหลายปี
เป็นผู้ที่หาตัวจับยาก ไม่มีใครจับ จับไม่ได้ อาบัติ
ที่ท่านไปนี่ ท่านมาขอไปเอง มาขอไปอยู่ที่วิเวก บอกว่าในวัดเรานี่ ที่ไหนมันที่วิเวกจะจัดให้ ท่านไม่ต้องพบปะผู้คนเป็นเดือนเป็นปีก็ได้
ขอให้บอก แต่...ก็จะไปตัดสินใจไว้นานแล้ว ก็บอก เออ...ไม่เป็นไร
ถ้าไป ก็ขอให้ระวังที่จิตนะ จิตตัวเดียวคุมไป ถ้าจะไปคุมข้างนอกจากจิตแล้ว ไม่ไหวหรอก แบกโลก คุมจิตที่เราตัวเดียว ถ้ามันไปไม่ไหว
ไม่เป็นที่พอเหมาะแก่การปฏิบัติธรรม ก็ขอให้กลับ ตอนนี้จะขอใช้อำนาจของเจ้าอาวาสที่มีอยู่ ใช้กฎหมายเปิดช่องไว้ให้
<<< โปรดติดตามตอนต่อไป เรื่อง ริเริ่มจัดงานธุดงค์>>>
webmaster - 8/10/09 at 09:15
ริเริ่มจัดงานธุดงค์
...ธุดงค์นี่อันที่จริงก็เป็นดำริของหลวงพ่อ ท่านเคยไปตรวจงานเหมือนกัน บอกว่าต่อไปสถานที่นี้เป็นที่ธุดงค์ พวกแกก็เปลี่ยนกันมาซี
จะให้อยู่เป็นเดือนเลยด้วยซ้ำ ใครอยากจะอยู่ก็อยู่ไปเลย สักเดือนครึ่งเดือนก็เปลี่ยนกันไป เปลี่ยนกันทำงาน เปลี่ยนกันทำ
อันที่จริง ก็คงจะเป็นท่านคอยช่วยด้วย เพราะเราไม่เคยคิดเลยในใจ เพราะเราไม่ค่อยรู้เท่าไหร่ พอตรวจงาน พระสุรจิตนี่จะรู้
ไปตรวจงานท่านจะดำริ พระสุรจิตท่านควบคุมงานก่อสร้างอยู่ ไปกับหลวงพ่อก็เล่าให้ฟังว่า ตรงนี้ต่อไปจะเป็นสถานที่ธุดงค์นะ พวกแกก็เปลี่ยนกันมา
พอท่านมรณภาพแล้วก็ เอ๋ จะคิดอะไรนะที่ทำให้คนที่มาวัดแล้วกลับไปได้บุญมากที่สุด
เรื่องอะไรท่านก็ทำหมดแล้วใช่ไหม ก็มาเรื่องปฏิบัติธรรมนี่นะถึงจะตรง ต้องรักษาจิตใจของคน ถ้าจิตคนดี วัดก็ทรงตัวอยู่ได้
กิจกรรมอะไรถึงจะทำให้คนรวมตัวกัน เราก็คิดว่าคนจนไปวัดได้ ก็คิดได้เรื่องธุดงค์นี่แหละว่า หลวงพ่อท่านมีสัจจะบารมีดีมาก พูดคำไหนเป็นคำนั้น
เรื่องธุดงค์นี่ หลวงพ่อเคยมาสอนที่สายลม เรียกว่าธุดงค์ในวัด คือเมื่อหลวงพ่อมรณภาพแล้วนี่ ก็ไม่รู้ว่าจะทำงานอะไร
เพื่อว่าให้คนที่ไปวัดได้ประโยชน์มากที่สุด ประโยชน์มากที่สุดก็คือการปฏิบัติธรรม
การปฏิบัติธรรมบางครั้ง เราอยู่บ้านเราก็ตามใจตัวเองมากไป จะตั้งใจนั่งสมาธิตอนเช้ามืด พอเช้ามืดตื่นไม่ไหว ขอเป็นพรุ่งนี้เถอะ บางคนก็สวดมนต์
อย่างวันนี้สวดอิติปิ โส กัน ก็ยังมีฉบับย่ออีก ฉบับย่อก็คือ จะจำไว้ก็ได้นะ ยกมือไหว้แล้วบอก
วันนี้สวดเหมือนเมื่อวานนะ กะทัดรัดดีไหม
หลวงพี่ระวังจะโดน หลวงพี่วันนี้หนูถวายเหมือนเมื่อวานนะคะ
ไม่ใช่เราทำ ชาวบ้านเขามาเล่าให้ฟัง ธุดงค์นี้ แม้แต่พระพุทธเจ้าก็บอกว่าเป็นของดี เทวดาก็ว่าเป็นของดี ธุดงค์เป็นข้อวัตรปฏิบัติ
เป็นตบะ ทำความเพียรเพื่อเผากิเลส ทีนี้เราอยู่บ้านเราก็ตามใจตัวเอง ถ้าไปอยู่สถานที่ธุดงค์ ต้องปฏิบัติตามข้อวัตรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
แต่ไม่ถึงกับเครียดนะ
คือถือกรรมบถ ๑๐ โดยเคร่งครัด ถ้าใครถือกรรมบถ ๑๐ ไม่ได้ จะไม่ให้เข้าไปในเขตนั้น จะให้มาอยู่ข้างนอก ถ้าเขตธุดงค์
จะไม่ให้คนไปเจี๊ยวจ๊าวในเขตนั้นเลย แม้แต่ญาติที่ไปเยี่ยมก็ห้ามเข้าไปในเขตนั้น คือ จะให้คนไปตามให้คนที่อยู่ในนั้นออกมาข้างนอก
พบกันข้างนอกก็ไม่มีอะไรมาก ไม่มีอะไรพิเศษหรอก ให้ถือกรรมบถ ๑๐ โดยเคร่งครัด
สำหรับพระให้ถือธุดงควัตร คงไม่ถึง ๑๓ ข้อหรอก เอาแค่ข้อที่เราปฏิบัติได้ จะให้ไปอยู่ริมกำแพงรั้วโน่น แถวนั้นผจญภัยหน่อย
อาจจะมีญาติมาเยี่ยมกลางคืนบ้าง
ญาติประเภทไหนครับ
ประเภทไม่มีเท้า แถวนั้นกลางคืนมีงูเหลือมเหมือนกัน เพราะกำแพงวัดติดกับป่า คือป่าที่หลวงพ่อจะซื้อนั่นแหละ เป็นป่าไม้เก่า
ไม่มีใครทำมาหากินเป็น ๒๐-๓๐ ปีมาแล้ว มีสัตว์พวกนี้อาศัยอยู่เหมือนกัน
ทีนี้ก็มาตรงกับหลวงพ่อที่ว่า ท่านชี้ให้ดู บอกพระสุรจิตที่ไปตรวจงานกับท่าน ท่านชี้ให้ดู ต่อไปแถวนี้นะเป็นสถานที่ธุดงค์ทั้งนั้น
ก็ตรงกับใจของเราคิด ก็คงจะทำติดต่อกันไปได้ จะไปคัดลอกหนังสือที่หลวงพ่อสอนมาแล้ว คัดลอกลงในหนังสือธัมมวิโมกข์เรื่อย ๆ
อานิสงส์การปฏิบัติธุดงค์เป็นอย่างไรบ้าง ข้อนี้มีอานิสงส์อย่างไร ระเบียบของวัดเป็นอย่างไร
แต่ที่ปัญหาเขาถาม เขาถามธุดงค์ของหลวงพี่นะครับ ไม่ใช่ธุดงค์ของชาวบ้านนะครับ
ยังไม่เคยเลย เพราะอยู่กับหลวงพ่อ ไม่ได้ออกไปไหนเลย ไปอยู่ครั้งเดียวตอนตรุษจีน ไปวัดโขงขาว ไปตอนนั้นก็โดนผีหลอก
คือไม่ค่อยลาท่านไปไหนเลย เวลาเขาออกธุดงค์กัน หลวงพ่อท่านมีวิธีดัดพระ เวลางานมากท่านก็เบื่อใช่ไหม ไปธุดงค์ดีกว่า
หลวงพ่อถือว่า ไอ้พวกนี้ลาหนีงาน ท่านก็บอก แกไปได้นะ ๕ เดือนห้ามเข้าวัดเด็ดขาด พอไปได้สัก ๓ เดือน คงจะอดอยาก มาเดินเลาะอยู่ข้างวัด
ได้ข่าวว่าอยู่วัดนั้น วัดนี้ เข้าวัดไม่ได้
มีอยู่องค์หนึ่งบวชไล่ ๆ กัน ชื่อพระประดิษฐ์ เป็นนักศึกษาอยู่ธรรมศาสตร์ ยังไม่ทันจบ ลาออกเลย แกก็อยู่วัดบ้าง เดี๋ยวไปธุดงค์บ้าง
พอลาครั้งที่สองท่านเอาเลย ประดิษฐ์ แกไม่เป็นพระอรหันต์อย่ามาวัดนะ ปิดประตูเลย
ตอนนี้ได้ข่าวว่าอยู่ที่เกาะสีชัง พวกกัน บวชหลังฉัน ๓-๔ พรรษา พี่โอแก่กว่าพรรษาหนึ่ง แต่พี่โอเขาไปเรื่อย เราไม่ค่อยไปไหน ไม่ใช่ดีอะไร
อยากอยู่ช่วยหลวงพ่อ คือ หลวงพ่อใหม่ ๆ มีศัตรูมาก เกี่ยวกับเรื่องวัดเรื่องวา ขนาดจะฝังลูกนิมิตอยู่แล้ว ยังฝังไม่ได้เลย
เจ้าอาวาสองค์เก่าน่าดู ขนาดจะขุดแท็งค์น้ำ เจ้าอาวาสเอาพวกมาขุดถังส้วมติดกับเรา เจาะประปา เจ้าอาวาสใหญ่โตน่าดู เดี๋ยวนี้ก็ยังมีหลักฐานอยู่
ตรงแท็งค์น้ำข้างโรงฉัน ยังมีถังส้วมอยู่ ตอนนั้นน่าหวาดเสียว
เจ้าอาวาสท่านคบพวกขี้เมาทั้งนั้น ตอนเย็นขุดถังส้วม หลวงพ่อก็เดินไป ฉันก็เดินตาม เดินไปทางต้นโพธิ์ ข้างวิหารพระองค์ที่ ๑๐ ปัจจุบันนี้
สักประเดี๋ยวหลวงพ่อเดินวกเข้าไปหาพวกมันเลย เราก็ตามท่านไป มันกำลังขุดส้วมอยู่
หลวงพ่อถามทำอะไรกันน่ะ มึงหยุดเดี๋ยวนี้นะ เดี๋ยวมีเรื่องแน่ หลวงพ่อองค์เดียว พวกมันตั้ง ๑๐ คน เงียบกริบ หลวงพ่อนี่มีอำนาจจริง ๆ
มันไม่กล้ากระดุกกระดิกเลย รุ่งขึ้นก็ไม่หยุด เจ้าอาวาสให้ท้าย เลยให้จ่าตระกูลไปแจ้งสาธารณสุข เขาก็ระงับไม่ให้ขุดทำส้วม
เรื่องการสร้างวัดเรา หลวงพ่อสร้างมาด้วยความยากลำบาก หลวงพ่อทุกข์ยากมาก จะฝังลูกนิมิตยังฝังไม่ได้เลย
เรียกว่าอุปสรรคขั้นต้นเริ่มไปอยู่ก็มีแล้ว ใช่ไหมครับ
มีแล้ว กว่าหลวงพ่อจะปูพื้นฐานไม่ให้กินเหล้า ไม่ให้มีการพนันนี่ เพราะเจ้าอาวาสเขามีครบหมดแล้วนี่ ห ลวงพ่อกว่าจะเบรคพวกนี้ได้ก็นาน
ตอนนี้เราก็สบายแล้ว ประเพณีเราไม่มี
จะเล่าถึงพระออกธุดงค์ พอมันเซ็งพระก็จะออกสิ ออกไปธุดงค์ บางองค์ก็ออกไปทางหลวงปู่วงศ์ พอไปสัก ๗ วัน เขียนจดหมายมาแล้ว อยู่ไม่ไหว
กลับมาก็สึกกันรูดเลย ถ้ามันผ่านจุดนี้ไปได้ก็ดี มีอะไรก็เก็บไว้ในอก
พอระเบิดตูม สลัดผ้าเหลืองไปเลย เหมือนความร้อนอยู่ในอก ปล่อยให้มันระบายเสียบ้าง ถ้ามันอั้นเต็มที่ ถึงเวลามันระเบิดเลย ส่วนเรานี่ปากเปราะ
มีอะไรก็คุยให้เพื่อนฟัง เพื่อนก็ว่าอย่างโน้นอย่างนี้ คุยกันไปก็ช่วยได้เยอะ
รุ่นธุดงค์ปลากระป๋องสึกกันหมดเลยหรือครับ
สึกหมด หลวงพ่อทักตอนกลับมา เฮ้ย... (ออกชื่อ) ไปธุดงค์มาเหรอ เห็นอะไรกะเหรี่ยงมาวะ
หลวงพ่อพูดตรงกว่านี้ น่าเสียดายทุกองค์ต่างก็ตั้งใจมาบวชตลอดชีวิต
แล้วหลวงพี่อยู่อย่างไรครับ จนมาถึงบัดนี้
อยู่มานี่ จะว่าเช้าชามเย็นชามก็พอใช้ได้นะ คือว่าตึงเกินไปก็ไม่ไหว หย่อนเกินไปก็ไม่ได้ดี จริงที่พระพุทธเจ้าว่า
ต้องเดินสายกลางมัชฌิมาปฏิปทา
<<< โปรดติดตามตอนต่อไป เรื่อง ธุดงค์ในวัด>>>
webmaster - 15/10/09 at 09:19
ธุดงค์ในวัด
...ธุดงค์ในวัดที่จะจัดให้มีขึ้นในเดือนธันวาคมปี ๒๕๓๖ นี้ จะแทรกสังคหวัตถุ ๔ และกรรมบถ ๑๐ ไปด้วย ถือว่าเข้าไปในเขตนี้แล้ว ต้องตั้งใจทำให้ดี
ธุดงค์มีทั้งหมด ๑๓ ข้อ แต่มีบางข้อที่เราเอามาใช้ได้ ข้อที่ ๑ กินข้าวมื้อเดียว ข้อที่ ๒ นั่งเป็นวัตร ข้อที่ ๓
เขาจัดสถานที่ไหนก็ต้องอยู่ในสถานที่นั้น อานิสงส์คือผลที่จะได้กับเรา
๑. จัดสถานที่ให้อยู่ที่ไหนก็ได้ ไม่ติดในความสะดวกสบาย มีความเป็นอยู่สันโดษ
๒. นั่งเป็นวัตร ทำให้เรามีสัจจบารมี มีอธิษฐานบารมี
๓. ข้อที่กินมื้อเดียวนี่ทำให้คนไม่มักมากในการกิน จะทำให้การบำเพ็ญภาวนาได้ดี
อานิสงส์นี่ไม่ใช่หลวงพี่บอกเองนะ ในพระไตรปิฏกเขาจะบอกไว้เลย สมัยพุทธกาลเขาบอกไว้แล้ว
นั่งเป็นวัตรทำอย่างไรค่ะ
หลวงพ่อท่านสอนบอกว่าให้อธิษฐาน บอกว่านับตั้งแต่บัดนี้ถ้าเรานั่งลงไปจะไม่เอามือค้ำภายใน ๑๐ นาทีนี้ หรือ ๑๕ นาทีนี้ นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ไม่ใช่อธิษฐานทั้งวันทั้งคืน เอาเวลาน้อย มันเป็นสัจจะ พอสมาทานธุดงค์ข้อนี้แล้ว เรายอมตาย ๑๐ นาที ต่อไปนี้เรายอมตาย มันก็มีกำลังใจที่จะภาวนาซิ
คือบังคับตัวเอง คือสัจจะของเราบังคับตัวเราเอง
ผู้หญิงจะให้อยู่ที่ไหนคะ
ผู้หญิงจะให้อยู่ที่ ๒๕ ไร่ มีห้องพัก ๒๐๐ กว่าห้อง ถ้ามีคนน้อยจะให้อยู่ห้องละคน คนมากจะให้อยู่ห้องละสอง มากไปจะให้อยู่ห้องละสาม
การแต่งตัวอย่างไรคะ
ก็แต่งตัวธรรมดา สุดแล้วแต่จะสะดวกอย่างไร เขาไปฝึกใจกันนี่ เน้นที่จิตใจกับการปฏิบัติ เข้าไปเขาจะมีปฐมนิเทศก่อน ข้อปฏิบัติทำอย่างไร
ข้อบกพร่องเป็นอย่างไรที่เขาจะเชิญออกมาจากที่ปฏิบัติ คือจะทำให้สถานที่มันศักดิ์สิทธิ์
ญาติเยี่ยม ได้ไหมค่ะ
ถ้ามีญาติเยี่ยมจะให้คนไปตามมาพบคุยกันที่ ๑๒ ไร่ ไปอยู่ด้วยกันร้อยพ่อพันแม่ ใครจะอึดหรือใครจะอัดกว่ากัน ๓ วัน ๗ วันนี้ใครจะตบะแตกก็รู้กันละ จะอยู่
๓ วันก็ได้ ๗ วันก็ได้ ที่จัดทำธุดงค์ขึ้นนี้เพราะมันตรงกับที่หลวงพ่อสอนเรื่องธุดงค์ในวัด
ท่านบอกว่าไม่จำเป็นจะต้องออกป่าใหญ่ แต่เน้นในการปฏิบัติ เราจะอดอึดอัดได้ขนาดไหน มันเป็นประโยชน์แก่เรา อยู่ที่บ้านตั้งใจจะนอนภาวนาสักหน่อย เจอหมอนนิ่ม
ๆ พุท-โธ ไม่ทันไรไปเสียแล้ว มาฝึกอย่างนี้ดี
ตื่นเวลาเท่าไหร่ค่ะ
บางคนจะให้ตื่นตีสี่ แต่ตื่นตีห้าก็ได้ จะเปิดเสียงตามสาย ตอนเช้าก็ใส่บาตรกัน ทำวัตรเช้าพร้อมกัน กินข้าวแล้วก็พักผ่อนไป พักไปถึงเที่ยง
จะปรึกษากันดูว่า จะฝึกมโนมยิทธิเต็มกำลังสัก ๒ วันดีไหม
จะลองดูเพราะไม่เคยฝึกเต็มกำลังมานานแล้ว หลังจากนั้นก็ฝึกแบบครึ่งกำลัง ไปฝึกที่ ๑๒ ไร่ ที่กว้างเต้นกันได้ดี
คนที่ไม่อยู่ธุดงค์ฝึกได้ไหมค่ะ
ฝึกได้ หากว่าทำดีแล้วเราจะถือให้เป็นระบบของวัดไป นาน ๆ ปีหนึ่งเราตั้งใจไปฝึกสักครั้งหนึ่งให้เป็นเรื่องเป็นราว หลวงพ่อเคยพูดเหมือนกัน แต่พูดลอย ๆ
ไว้ ต่อไปเราก็คงจะทำเหมือนเขานี่ อย่างที่บวชชีพราหมณ์กันมาก ๆ เราก็นึก
เอ... หลวงพ่อเมื่อไรจะทำสักที ก็ไม่ได้ทำ พอหลวงพ่อมรณภาพแล้วก็มาคิดว่า จะทำอย่างไรให้มันเป็นกิจกรรม กับคนที่เขามาปฏิบัติธรรมธุดงค์ หลวงพ่อก็สอนดี
เทปก็มีอยู่ แต่เรายังไม่เคยจัดสักที
เรื่องธุดงค์นี่แม้แต่เทวดาก็สรรเสริญ พระพุทธเจ้าก็สรรเสริญ เป็นตบะ ความเพียรอย่างหนึ่ง ที่จะเผากิเลสของตัวเอง
แต่ไม่ใช่อยู่ธุดงค์แล้วจะวิเศษกว่าคนอื่นนะ อย่าไปถืออย่างนั้น ถือว่าเป็นการประพฤติความดีอย่างหนึ่งที่จะเร่งรัดตัวเอง
และงานธุดงค์ก็กลายมาเป็นงานนิยมยอดฮิตประจำปีของวัดท่าซุง ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ เป็นต้นมา
<<< โปรดติดตามตอนต่อไป เรื่อง งานก่อสร้าง >>>
webmaster - 21/10/09 at 08:44
งานก่อสร้าง
...ในงานกฐินปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๘ ตุลาคม ก่อนที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อมรณภาพ ๑๒ วัน
พระเดชพระคุณท่านได้ปรารถให้ญาติโยมที่มาร่วมงานกฐินฟัง ดังนี้
เดี๋ยวจะเล่าอะไรให้ฟังนะโยมนะ ตั้งแต่สร้างวัดนี้เป็นต้นมา คือตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๗ จ่ายไปแล้วทั้งหมดถึง ๑๖ ตุลาคม ๒๕๓๕
เป็นเงิน ๔๖๒,๘๒๗,๔๑๒.๙๔ บาท (สี่ร้อยหกสิบสองล้านแปดแสนสองหมื่นเจ็ดพันสี่ร้อยสิบสองบาทเก้าสิบสี่สตางค์)
และรับมาแล้วทั้งหมด ๓๒๔,๘๘๑,๖๔๗.๘๙ บาท (สามร้อยยี่สิบสี่ล้านแปดแสนแปดหมื่นหนึ่งพันหกร้อยสี่สิบเจ็ดบาทแปดสิบเก้าสตางค์) ยังเป็นหนี้อีก
(เฉพาะเงินสงฆ์นะ) ๑๓๗,๙๔๕,๗๖๕.๐๕ (หนึ่งร้อยสามสิบเจ็ดล้านเก้าแสนสี่หมื่นห้าพันเจ็ดร้อยหกสิบห้าบาทห้าสตางค์) พออ่านหนี้แล้วหน้ามืดเลยโยม...
แต่ว่าขอประกาศให้ทราบตามนี้นะ คำว่า เป็นหนี้ นี่เฉพาะเงินสงฆ์ เงินที่ทำบุญส่วนสงฆ์เป็นหนี้ แต่หนี้จริง
ๆ ไม่มีแล้ว เพราะว่าอาตมาเอาเงินที่ญาติโยมพุทธบริษัทถวายเป็นส่วนองค์ ถวายเป็นส่วนตัวนี่นะ บางเดือนก็ไม่ได้ใช้สักบาท
เพราะว่าถ้าต้องการอะไรก็มีคนเขาให้หมด อยากจะกินกาแฟเขาก็ซื้อกาแฟให้ อยากจะกินน้ำพริกเขาก็ซื้อน้ำพริกให้
เลยเอาเงินจำนวนนั้นมาช่วยชำระหนี้สงฆ์ เป็นเงิน ๑๓๗,๙๔๕,๗๖๕.๐๕ บาท (หนึ่งร้อยสามสิบเจ็ดล้านเก้าแสนสี่หมื่นห้าพันเจ็ดร้อยหกสิบห้าบาทห้าสตางค์)
เงินจำนวนนี้ทั้งหมดเป็นเงินที่ญาติโยมถวายเป็นส่วนตัวดีไหม...โยม แต่ว่ายังเป็นหนี้อีกมากนะ ของที่สั่งยังไม่มาอีกเยอะ สั่งเครื่องปั่นไฟฟ้าอีก ๒
เครื่องๆ ละ ๒๐๐ กิโลวัตต์ และของอย่างอื่นที่สั่งไปแล้วแต่ยังไม่มาอีกหลายล้านบาท
สำหรับปีนี้ รับเงินตั้งแต่หลังกฐินปี ๒๕๓๔ เป็นต้นมา เป็นเงิน ๔๒,๗๖๑,๒๙๐.๖๔ บาท
(สี่สิบสองล้านเจ็ดแสนหกหมื่นหนึ่งพันสองร้อยเก้าสิบบาทหกสิบสี่สตางค์)
จ่ายไปแล้วทั้งหมด ๓๔,๒๘๕,๖๙๖.๙๘ บาท (สามสิบสี่ล้านสองแสนแปดหมื่นห้าพันหกร้อยเก้าสิบหกบาทเก้าสี่สิบหกบาทเก้าสิบแปดสตางค์)
เหลือเงินอยู่อีก ๘,๔๗๕,๕๙๓.๖๖ บาท (แปดล้านสี่แสนเจ็ดหมื่นห้าพันห้าร้อยเก้าสิบสามบาทหกสิบหกสตางค์)
ไอ้เงินที่เหลือนี่ไม่ใช่อะไรญาติโยมเป็นเงินที่ญาติโยมถวายไว้ใช้ส่วนตัว ช่วยชำระหนี้สงฆ์นะ ที่ยังเหลือมีดังนี้
๑. มณฑปองค์ปฐม ยังไม่เสร็จ
๒. สร้างมณฑปพระยืน ๘ ศอก ยังไม่เสร็จ
๓. ทางเดิน ๑๐๐ ไร่ ยังไม่เสร็จ
และยังมีอื่นอีกมาก โยมไม่ต้องกลัวเงินเหลือ อาตมาใช้สตางค์เป็น
งานในส่วนนี้จึงเป็นมรดกตกทอดมาถึงท่านพระครูปลัดฯ ได้ดำเนินการมาตลอดระยะเวลา ๑๖ ปี อาจจำแนกออกได้เป็น ๔ ประเภทใหญ่ ๆ คือ
๑. งานก่อสร้างต่อจากที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อดำเนินการค้างอยู่ และการก่อสร้างที่หลวงพ่อปรารถไว้
๒. งานซ่อมแซมและปรับปรุงวัด (แกอย่าปล่อยให้วัดโทรมนะ)
๓. งานก่อสร้างและพัฒนาภายในวัด และ
๔. งานก่อสร้างและพัฒนานอกวัด
งานก่อสร้างในส่วนที่ ๑ ประกอบด้วย
๑.๑ เก็บงานมณฑปสมเด็จองค์ปฐม
๑.๒ เก็บงานมณฑปพระศรีอาริยเมตไตรย และการหล่อพระรูปของท่าน
๑.๓ เก็บงานมณฑปพระยืน ๘ ศอก
๑.๔ สร้างทางเดิน ๑๐๐ ไร่
๑.๕ สร้างปราสาททองคำ
๑.๖ สร้างสมเด็จองค์ปฐมทองคำ
๑.๗ สร้างสมเด็จองค์ปฐมปางพระนิพพาน
๑.๘ สร้างบุษบกไว้สรีรศพพระเดชพระคุณหลวงพ่อ
๑.๙ สร้างห้องปฏิบัติพระกรรมฐาน ๑๗ ห้อง (ต่อ)
๑.๑๐ สร้างพระชำระหนี้สงฆ์ (ต่อ)
๑.๑๑ สร้างศาลพระภูมิวัด
๑.๑๒ การบูรณะและปิดทองพระอุโบสถ (ยังไม่ได้ทำ)
ถ้าจะเล่ารายละเอียดงานก่อสร้างทั้งหมด หนังสือเล่มนี้จะหนามาก และจะออกไม่ทันงานมงคล จึงขอเล่าแต่เพียงบางเรื่อง ว่าแต่ละงานนั้นท่านพระครูปลัดฯ
ใช้บารมีของท่านอย่างไรบ้าง ถึงได้มีผลงานที่ยอดเยี่ยมประทับใจศิษย์วัดท่าซุง และท่านพุทธศาสนิกชนที่ได้มาเห็นทุกคน
<<< โปรดติดตามตอนต่อไป เรื่อง การสร้างปราสาททองคำ >>>
webmaster - 28/10/09 at 08:44
การสร้างปราสาททองคำ
...ท่านพระครูฯ ท่านปรารถไว้ว่า พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยานเคยปรารถไว้ก่อนมรณภาพว่าจะสร้างปราสาททองคำ
เพื่อเป็นพุทธบูชา และเสริมบารมีศิษยานุศิษย์ให้เต็มเร็วยิ่งขึ้น
และใช้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งหมดของวัดท่าซุง และชั้นล่างเป็นพิพิธภัณฑ์เครื่องใช้ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ ความสูงจากฐานถึงยอดปราสาท ๔๐ เมตร
ผนังมีลวดลายปิดทองและปิดกระจกทั้งหลัง พระสามารถ ฐานิสสโร เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ เวลา ๑๖.๑๐ น.
ท่านเล่าว่า พอเริ่มลงมือปุ๊ปก็มีคนให้สตางค์มาเรื่อย จอดตรงโน้นตรงนี้ จองประตู จนยอด ๓๖
ยอดหมดไปแล้ว ยอดละ ๕๐,๐๐๐ บาทนะ จนไม่มียอดให้เขาแล้ว เหลือแต่ยอดรวมอยู่ยอดหนึ่ง
ถ้าเราไม่ลงมือ ก็ไม่มีใครเขาให้หรอก เพราะเรายังไม่ได้สร้างนี่ พอลงมือประตูก็จองรอบหมดแล้ว รอบวิหารชั้นล่างนี่นะ เหลือแต่ชั้นที่สอง ชั้นที่สาม ประตูละ
๒๐,๐๐๐ บาท ก็จองไป หมดแล้วก็ต้องลงมือกันก็ลองสร้างดู เอาแต่พอกำลังไปเรื่อยๆ (พ.ศ. ๒๕๓๗)
เดือนมีนาคม ๒๕๔๔ ท่านพระครูฯ ได้เดินทางไปประเทศพม่า และได้ไปเห็นอานันทเจดีย์ที่เมืองพุกาม ท่านออกปากว่า
ถ้าได้มาเห็นพระเจดีย์อานันทะก่อน จะสร้างปราสาททองคำให้งดงามกว่านี้ จะได้มีเจดีย์บริวารลดหลั่นเสริมความสง่าของปราสาท
ท่านสาธุชนโปรดอดใจรอดูฝีมือท่านพระครูฯ ว่าท่านจะเสริมความสง่าของปราสาททองคำอย่างไร
การหล่อสมเด็จองค์ปฐมทองคำ
หลวงพี่อาจินต์ ธัมมจิตโต ได้สรุปความสำคัญงานเททองหล่อสมเด็จองค์ปฐมทองคำไว้ดังนี้
พระพุทธรูปสมเด็จองค์ปฐม ทำด้วยทองคำทั้งองค์ ขนาดหน้าตัก ๙ นิ้ว ได้หล่อสำเร็จเรียบร้อยแล้ว
พระครูปลัดอนันต์ พัทธญาโณ เจ้าอาวาส ได้ทุ่มเททั้งชีวิตและจิตใจเพื่องานนี้เป็นอย่างมาก
แวะเวียนไปดูสถานที่ที่จัดงานที่ปราสาททองคำอยู่เสมอ ทั้งก่อนสร้างปะรำพิธีและขณะสร้างปะรำพิธี แม้กระทั่งเลิกงานแล้ว
เป็นความสำเร็จอย่างไม่มีใครคิดคาดฝันว่าจะจัดปะรำพิธีได้อย่างสวยงาม ได้รับคำชมเชยจากผู้มาร่วมงานเป็นอย่างมาก
และหลังเลิกงานก็ยังโทรศัพท์ไปหาเจ้าอาวาสเล่าถึงความปลื้มปิติอยู่ทุกวัน
ทั้งเจ้าอาวาสและพระสงฆ์วัดท่าซุง และฆราวาสที่ช่วยกันทำงาน ก็นึกไม่ถึงว่างานจะออกมาอย่างสำเร็จเรียบร้อยสวยงามอย่างนี้
จึงขอนำเบื้องหลังแห่งความสำเร็จรวบรวมมาเล่าสู่กันฟัง จะได้รู้ว่าความสำเร็จครั้งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร มีคนใด คณะใด
ที่อยู่เบื้องหลังแห่งความสำเร็จ
งานนี้แบ่งส่วนสำคัญเป็น ๒ ส่วน คือ
๑. งานหล่อสมเด็จองค์ปฐมทองคำ ทั้งขั้นทดลองและของจริง
๒. งานสร้างปะรำพิธีให้สวยงาม สมพระเกียรติสมเด็จองค์ปฐม
ปะรำพิธีเททองหล่อสมเด็จองค์ปฐมที่หน้าปราสาททองคำ ที่หลายคนชมเป็นเสียงเดียวกันว่า สวยงามมาก ๆ
ก็ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของศิษยานุศิษย์ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ ที่รับงานไปทำจากหลวงพี่พระครูปลัดอนันต์ เจ้าอาวาส มีดังต่อไปนี้
๑. สถาปนิกออกแบบปะรำพิธี, ออกแบบเต็นท์, ออกแบบฉัตร, ออกแบบตู้ใส่ทองและกระถางต้นไม้
คุณชุมนุมพร ชวนานท์ (ขนม)
๒. วิศวกรคำนวณโครงสร้างมณฑปที่เวทีและมณฑป ๔ ทิศ
คุณจินดารัตน์ มณีเจริญ (แต)
๓. งานสร้างเวทีและมณฑปใหญ่ ๒ มณฑป และมณฑป ๔ ทิศ
พระชาญณรงค์ สุธัมมปภัสสโร และลูกน้องของช่างชิต (ช่างไม้ประจำวัดท่าซุง)
๔. งานทำเต็นท์ ๔ เต็นท์, ผ้าใบคลุมเต็นท์ และงานโครงฉัตร เป็นเหล็ก
พระสมนึก สุธัมมถิรสัทโธ และลูกน้องของพระสมนึก ๘ คนเป็นช่างเหล็กของวัดท่าซุง
๕. งานทำกระถางต้นไม้
ช่างจำเนียร แก้วมณีและลูกน้อง ทำด้วยปูนเสร็จแล้วให้พระสงฆ์วัดท่าซุงเป็นผู้ยกวางประจำจุดต่าง ๆ
๖. งานประดับต้นไม้, ดอกไม้ใส่ในกระถาง
๖.๑ คุณวาสนา ตันสายเพชร (แต๋ว) คุณแต๋วช่วยออกค่าต้นไม้และปุ๋ย ๕๖,๐๐๐ บาท งานนี้เป็นงานช้าง เพราะคุณแต๋วเอาช้าง (ทำด้วยต้นไม้ดัด) มา ๒ ต้น
วางอยู่ข้างเวที
๖.๒ คุณสุวัฒน์ ปรีดิพันธุ์ และคุณชูจิต อติอนุวัฒน์ ช่วยจัดต้นไม้ลงกระถาง และบริจาคต้นไม้และปุ๋ยคิดเป็นเงิน ๑๘,๐๐๐ บาท
๖.๓ คุณชุมนุมพร ชวนานนท์ บริจาคเงินค่าต้นไม้และปุ๋ย เป็นเงิน ๕,๑๐๕ บาท
๗. จัดต้นไม้ จัดสถานที่ รดน้ำต้นไม้
คุณทุเรียน แสงงาม, คุณขวัญ, คุณแหม่ม, คุณนิพนธ์, คุณฉุย, คุณป้าเฉวียง และไม่ทราบชื่ออีกหลายคน ช่วยกันจัดต้นไม้
๘. งานเย็บผ้าคลุมเต็นท์ผ้าใบ, ฉัตร, ร้อยมุกและกุหลาบห้อยชายเต็นท์
๘.๑ ที่ปรึกษาเรื่องผ้าคลุมเต็นท์
คุณวิไล ภูมิธเนศ
๘.๒ ผู้ร่วมบริจาคเงิน
คุณจุฑาวรรณ โอฬารวัฒน์ ๑๐๐,๐๐๐ บาท
คุณอุมาภรณ์ อมรสันต์ ๓๐,๐๐๐ บาท
คุณวิจิตรา สาธุวัน ๒๐,๐๐๐ บาท
คุณศาสนีย์ เทพเจริญ ๒๐,๐๐๐ บาท
คุณหยกเพชร จันทวัน ๑๐,๐๐๐ บาท
คุณบงกช เกิดสมบูรณ์ ๗,๐๐๐ บาท
คุณกรรณิการ์ การเดช ๕,๐๐๐ บาท
คุณชุมนุมพร ชวนานนท์ ๕,๐๐๐ บาท
๘.๓ คณะจัดเย็บผ้าคลุมเต็นท์ ผ้าคลุมฉัตร
คณะบงกช เกิดสมบูรณ์ และศิษย์พุทธไชโย โดย คุณถาวะ มุ่งครอบกลาง, คุณบังเอิญ พลอยชื่น
๘.๔ ผู้จัดทำมุก
คือ คณะปลาวาฬ มีคุณกัญญา เบญจรัตนพรรณ, คุณวัชรธิดา ครองยุทธ์, คุณมณฑา โพธิพันธุ์, คุณวาสนา ทองขัน, คุณสุพรรษา ชัยชนะ, คุณเนตร, คุณน้อง,
คุณอ๊อบ, คุณก้อย
เต็นท์ขนาดกว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๒ เมตรา แต่ทำในห้องกว้าง ๔ เมตร ยาย ๔ เมตรเท่านั้น เสร็จมาอย่างปาฏิหาริย์
๘.๕ ผู้จัดทำฉัตรตัวอย่าง
คุณกัญญา, คุณชุมนุมพร, คุณจินดารัตน์ มณีเจริญ
๙. งานติดตั้งเต็นท์และฉัตรบนมณฑปทั้ง ๖ มณฑป
พระสมนึก และลูกน้อง ๘ คน
๑๐. งานประกอบผ้าคลุมเต็นท์, ฉัตร และร้อยมุกประดับชายเต็นท์
คณะปลาวาฬ, คณะคุณบงกช, คุณเก๊าะแก๊ะ, คุณแหง่ว, คุณโอ, คุณมานพ, คุณพูนศรี, และคณะศิษย์พุทธไชโย, พระวัดท่าซุง
๑๑. งานตัดเย็บผ้าม่านและงานติดตั้งปูพรมดูราฟลอร์
คุณสาธิต ตันติจันทโรจน์ (โกโบ้) และคณะร้านภูเก็ตเจมินี จ.ภูเก็ต คุณวิ ร้านวิชัยสโตร์ และลูกน้อง จ. อุทัยธานี
๑๑.๑ จัดซื้อดูราฟลอร์
คุณปทุมพร ศิริรังคมานนท์ ออกเงินซื้อให้ ๑,๗๐๐ บาท
๑๒. งานจัดทำสัปทน ๕ คัน ยอดฉัตรปิดทอง ๑๖ ยอด และทำฉัตรชุดเล็กบนตู้ใส่ทอง ๓ ชุด
คุณรัตนา ชินบุตรานนท์, คุณสุกิจ วัฒนพรพรหม, คุณวีรชัย ชินบุตรานนท์ และคณะคนงานบริษัทไทยโอเชียน จังหวัดสมุทรปราการ
๑๓. งานจัดทำโต๊ะบายศรี ๑๐ โต๊ะ
คุณสุชัย ชินบุตรานนท์, คุณหนูเล็ก, คุณนนท์, คุณจุก, คุณวิเชียร, คุณบังอร, คุณสปัน แห่งบริษัทไทยโอเชียน สมุทรปราการ
๑๔. ตู้ใส่ทอง:ผู้บริจาค
คุณกิตติชัย คุณเยาวลักษณ์ มิตรศรัทธา
คุณกิตติวัชร คุณสุกัญญา เกษมใส
คุณแม่ฮุ้น แซ่หรือ
คุณประพัฒน์ คุณนพวรรณ ทีปะนาถ
คุณวิมาลี ศิรประภาชัย
คุณจิตต์อารีย์ ทีปะนาถ
๑๕. พานใส่ทอง
คุณวิชชุดา ชัยกูล (แอน) และคณะเพื่อน ๆ น้องๆ บริจาคเงินและตัดเย็บ
๑๖. งานตกแต่งมณฑป ๔ ทิศ
พระอาจินต์ ธัมมจิตโต
คุณอุบล-คุณยุบล นวรัตน์รุ่งโรจน์ จัดทำแท่นรองรับหลวงปู่, หลวงพ่อ ๔ ชุด
๑๖.๑ เจ้าภาพจัดทำดอกไม้
บูชาพระพุทธรูป
คุณวิมาลี ศิรประภาชัย
คุณสุมาลี อนันต์พลังใจ (โอ๋)
บูชาหลวงปู่ปาน
คุณมิตรดา เลิศสุมิตรกุล (มิดดี้)
บูชาพระเดชพระคุณหลวงพ่อ
คุณเยาวลักษณ์ มิตรศรัทธา (ขวัญ)
บูชาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
คุณวิมาลี ศิรประภาชัย และเพื่อน
๑๖.๒ จัดทำผ้าปูโต๊ะ และผ้าระบายรอบแท่น
คณะปลาวาฬ มีคุณหมวย, เจ๊จู, คุณถาวร, คุณสาว, คุณเอิญ, คุณก๊อกแก๊ก, คุณวาสนา, คุณบงกช, คุณวัชรธิดา, คุณมณฑา, คุณพูนศรี, คุณประไพ, คุณก้อย,
คุณอ๊อฟ, คุณพรรณี, แม่ชีมด, คุณวิว, คุณมิ้น, คุณน้อย และคุณลุงแหง่ว
๑๗. จัดสร้างพระพุทธรูปสมเด็จองค์ปฐม หน้าตัก ๓๐ นิ้ว เป็นองค์ประธานในพิธีประดิษฐานที่ปราสาททองคำ
พระอาจินต์ ธัมมจิตโต
อาจารย์สมพงษ์ หลุนประยูร และลูกศิษย์ที่บ้านก๋ง จ.ฉะเชิงเทรา
คุณอุบล-คุณยุบล นวรัตน์รุ่งโรจน์
คุณแหม่ม และคณะ อยู่สามแยกไฟฉาย กรุงเทพฯ
๑๘. แจกันดอกไม้บูชาสมเด็จองค์ปฐม ๓๐ นิ้ว, โต๊ะหมู่ท่านปู่-ท่านย่า, หลวงปู่, หลวงพ่อ
และโต๊ะหมู่จุดธูปเทียนเจริญพุทธมนต์
คุณวิชชุดา ชัยกูล และคณะเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ร่วมบริจาคเงินและจัดแจกัน
๑๙. จัดสถานที่รับรองหลวงพ่อเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์
พระสำเภา สุธัมมปวโร
คุณวิโรจน์ วัฒนสุนทร และน้องสาว
๒๐. ผูกผ้ารอบเวที และมณฑป ทั้ง ๖ มณฑป
พระมหาปรีชา สามัตถิโก และพระสงฆ์ ๓ รูป วัดอุทุมพรทาราม อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี
๒๑. ประดับไฟที่ปราสาททองคำ ที่เวที และมณฑป ๔ ทิศ
พระละออง ธัมมจาโร, พระไพบูลย์ สุธัมมฐิติญาโณ, คุณวีรยุทธ, คุณประสงค์ จินตพันธุ์ จ.ภูเก็ต และพระวัดท่าซุง
๒๒. ติดตั้งเครื่องขยายเสียง, วี.ดี.โอ วงจรปิด
พระบุญชู สุธัมมอาภากโร
พระทะนงศักดิ์ สุธัมมสิริสาโร
พระมงคลเวทย์ สุธัมมฐานวโร
คุณปรีชา พึ่งแสง, คุณสุพัฒน์, คุณลือชัย และหลานชาย
๒๓. ดนตรีไทยบรรเลงในงาน (คณะสุพจน์ โตสง่า) มีครูดวงเนตร ดุริยพันธุ์ เป็นผู้ขับร้อง
ดร. ปริญญา นุตาลัย เป็นเจ้าภาพจัดหามาบรรเลง และประพันธ์บทขับร้องประกอบปี่พาทย์ เพลงตับเทิดพระเกียรติคุณสมเด็จองค์ปฐม
๒๔. ฝ่ายเครื่องดื่มและจัดหาผ้าเย็น ถวายพระเถระ, พระอาคันตุกะ, และเลี้ยงผู้มาในงาน
พระอนุชิต สุธัมมอชิโต
คณะสาวจันท์
คณะคุณวิชชุดา ชัยกูล (แอน)
คณะคุณระวิวรรณ ชาญพิทยกิจ (เตือน) , นักเรียน ร.ร. พระสุธรรมยานเถระวิทยา, เจ้าหน้าที่ร้านเครื่องดื่ม พสธ.
๒๕. จัดทำบายศรีของวัด
คุณสุภาพร ปุษยนาวิน และคณะลูกหลานของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ (ฝ่ายบายศรี)
๒๖. จัดทำบายศรี ๖ ภาค ๒ คณะ
แต่ละภาคและคณะจัดทำกันมาเอง
๒๗. จัดทำกระบวยสำหรับเททอง
พระครูปลัดนิภัทร อัคคธัมโม และลูกศิษย์วัดพุทธไชโย อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
๒๘. จัดทำบายศรี ที่มณฑป ๔ ทิศ
พระครูเกษมสุวรรณโพธิ์ และคณะศิษย์วัดขุยโพธิ์ จ.สิงห์บุรี
๒๙. จัดหาเก้าอี้และจัดเก้าอี้ในเต็นท์
อาจารย์บุปผาชาติ พงษ์ประดิษฐ์ (โอ๋)
พระสงฆ์วัดท่าซุง
๓๐. การจัดขบวนอัญเชิญบายศรี และเครื่องบูชาสักการะสมเด็จองค์ปฐม
พระชัยวัฒน์ อชิโต
คณะรวมใจภักดิ์
คณะพุดตาน
วงโยธวาทิตของนักเรียน ร.ร. พระสุธรรมยานเถระวิทยา
๓๑. การจัดงานสมโภช
พระชัยวัฒน์ อชิโต
คณะศิษย์และลูกหลานของพระเดชพระคุณหลวงพ่อทั้ง ๖ ภาค
๓๑.๑ พลุและดอกไม้ไฟ
อาจารย์จาก ร.ร. สุโขทัยวิทยาคม
๓๒. งานหล่อสมเด็จองค์ปฐม
พระนิคม สุธัมมสุตธัมโม
คุณประเสริฐ-คุณจำเนียร แก้วมณี
คุณวิเศษ วงษ์จันทร์ ร้านทองสุภาภรณ์ ต.ท่าชัย อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย
อาจารย์ฉลอง อาชวากร
๓๓. จัดหาสถานที่
คุณชุมนุมพร ชวนานนท์
พระสงฆ์วัดท่าซุง และพระอาคันตุกะ
คณะพุดตาน มีคุณพิรุณ, จเร ๒ ฯลฯ
๓๓.๑ วงด้ายสายสิญจน์รอบบริเวณปะรำพิธี, พระประธานบนปราสาททองคำ และที่พระชำระหนี้สงฆ์รอบวัด
พระสุรเชษฐ์ สีลเตโช และพระสงฆ์วัดท่าซุง
๓๓.๒ ปูตัวหนอนที่ลานเททอง, หลอมทอง