มณฑปครอบรอยพระพุทธบาท (ฝั่งโบสถ์เก่าริมแม่น้ำสะแกกรัง)
webmaster - 29/6/08 at 17:30





ประวัติรอยพระพุทธบาทวัดท่าซุง

รอยพระพุทธบาท ณ ฝั่งโบสถ์เก่า วัดท่าซุง มีรอยจำลองอยู่ ๒ รอย และรอยจริง ๑ รอย พระพุทธบาทรอยแรกเป็น "พระพุทธบาทจำลอง" ที่หล่อด้วยโลหะสำริด เป็นการจำลองพระพุทธบาทสี่รอยแบบสมัยโบราณ โดยท่าน พล.ต.ท. น.พ. สมศักดิ์ สืบสงวน เป็นผู้สร้างพร้อมด้วยคณะ เนื่องจากท่านเห็นว่า สมัยก่อนฝั่งโบสถ์เก่าแห่งนี้ เคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองแบบนี้มาก่อน แต่ถูกโจรลักขโมยไปตั้งแต่สมัย อาจารย์อรุณ อรุโณ เป็นเจ้าอาวาส

ส่วนรอยพระพุทธบาทจำลองรอยที่ ๒ เป็นการแกะสลักลงไปในหินทรายจากจังหวัดตาก เป็น "พระพุทธบาทสีรอย" ตามที่นิยมสร้างกันในสมัยกรุงศรีอยุทธยาเช่นกัน ตรงกลางฝ่าพระบาทแกะสลักเป็น "มงคล ๑๐๘" ตามคตินิยม มีพระอาจารย์จากจังหวัดตากเป็นผู้นำมาถวายวัดท่าซุง โดยผ่านทางพระชัยวัฒน์ และพระครูปลัดอนันต์จึงได้สั่งการให้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ด้านหน้าวิหาร (ฝั่งโบสถ์เก่า) ในวันที่อัญเชิญมาบนรถบรรทุกนั้น มีฝนตกลงมาตลอดทาง จนมีน้ำขังอยู่ในรอยพระพุทธบาทด้วย




ส่วนรอยพระพุทธบาทจริง (รอยจริงจะไม่ชัดเจนนัก) ที่อยู่ด้านหน้าโบสถ์เก่านั้น ตามประวัติ คุณมนตรี เชียงอารีย์ ได้บันทึกเรื่องราวไว้ดังนี้

ประมาณเดือนสิงหาคม ๒๕๓๔ นายมนตรี เชียงอารีย์เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยป่าไม้จังหวัดหนองคาย ได้ข่าวจากป่าไม้อำเภอศรีเชียงใหม่ ชื่อ นายโสภณ เอี่ยมปัญโญ ซึ่งเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อพระราชพรหมยานด้วยกันมาเล่าให้ฟังว่าที่พลาญหินในป่าบ้านพระพุทธบาท หมู่ที่ ๑ ตำบลพระพุทธบาท อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ซึ่งอยู่ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าพรานพร้าว และป่าแก้งไก่ (อยู่ห่างจากวัดหินหมากเป้งประมาณ ๓ กิโลเมตร) มีรอยเท้าคนและรอยเท้าโค

และมีนิทานท้องถิ่นเล่าสืบๆกันมาว่ามีกษัตริย์ในสมัยโบราณที่ทรงอำนาจมาก ได้เสด็จมาปราบโค (วัว) ที่มีฤทธิ์เดชในพื้นที่นั้น เมื่อปราบได้แล้วกษัตริย์องค์นั้นจึงได้ทรงประทับรอยพระบาทไว้

นายมนตรี เชียงอารีย์ ผู้ช่วยป่าไม้จังหวัดหนองคาย (ในอดีต) จึงให้ป่าไม้อำเภอศรีเชียงใหม่ (สมัยนั้น) พาเข้าไปในพื้นที่เพื่อตรวจสอบดู ด้วยเหตุที่นายมนตรี เชียงอารีย์ มีความรู้สึกว่าร่องรอยนี้น่าจะเป็นรอยพระพุทธบาท

ครั้นเข้าไปในพื้นที่ในป่าบริเวณดังกล่าว พบว่าพื้นที่ป่าแห่งนี้ได้ถูกชาวบ้านบุกรุกยึดถือแผ้วถางป่าลงใช้เป็นพื้นที่ทำกิน และพบรอยพระพุทธบาทนี้ได้ถูกชาวบ้านงัดขึ้นมาหักออกจากพลาญหิน

นายมนตรี เชียงอารีย์ เห็นว่าหากปล่อยทิ้งไว้ก็จะถูกชาวบ้านที่ไม่รู้จักคุณค่าและไม่ทราบว่าเป็นรอยพระพุทธบาท จะเหยียบย่ำทำลายให้สูญหายไป อนุชนรุ่นหลังก็จะไม่รู้ว่า ณ สถานที่แห่งนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เคยเสด็จมาโปรด และได้ประทับรอยพระพุทธบาทไว้




นายมนตรีจึงได้ให้ นายโสภณ เอี่ยมปัญโญไปจ้างชาวบ้านมา ๑๒ คน แล้วยกก้อนหินที่มีรอยพระพุทธบาทขึ้นรถยนต์ปิกอัพ หลังจากได้ทำพิธีขอขมาโทษและบอกกล่าวว่าจะนำไปรักษาไว้ เพื่อมิให้ถูกผู้ที่ไม่รู้จักทำลายหินรอยพระพุทธบาททิ้งในที่สุด

ต่อมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๔ นายมนตรีเชียงอารีย์ ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้น คือป่าไม้จังหวัดนครพนม และได้มอบหมายให้ นางนวลศศิธร ศุภกูล จัดหาดอกไม้และธูปเทียนบูชาทุกวัน

ซึ่งนางนวลศศิธรก็ได้เคยฝันว่า เห็นงูใหญ่ขดอยู่ใต้ก้อนหินที่วางอยู่ หน้าสำนักงานป่าไม้จังหวัดนครพนม น่ากลัวมาก นางนวลศศิธร ศุภกูลจึงสอบถามป่าไม้จังหวัดนครพนม ว่าจะเกิดอาเพศอะไรหรือไม่ นายมนตรี เชียงอารีย์ ได้อธิบายว่าฝันเห็นอย่างนี้นั้นหมายถึงเทวดาที่มาเฝ้ารักษารอยพระพุทธบาทนั่นเอง



ในครั้งแรกที่นายมนตรี เชียงอารีย์ เห็นรอยพระพุทธบาท และได้อัญเชิญหินที่มีรอยพระพุทธบาทออกจากที่เคยได้ประดิษฐานอยู่เดิมได้มีความคิดว่าจะนำมาถวายหลวงพ่อวัดท่าซุง

แต่ด้วยตามความเป็นจริง นายมนตรี เชียงอารีย์ มาวัดท่าซุงครั้งใด เมื่อพบหลวงพ่อพระราชพรหมยานครั้งใด จะมีความกลัวหลวงพ่อฯ ไม่กล้าพูดด้วยและไม่กล้าเข้าใกล้ จึงไม่กล้าพูดหรือบอกเรื่องนี้กับใคร

ต่อมาปี ๒๕๔๑ นายมนตรี เชียงอารีย์ ป่าไม้จังหวัดนครพนม ถูกย้ายไปประจำตำแหน่งกรมป่าไม้ จึงพิจารณาเห็นว่ารอยพระพุทธบาทนี้มีน้ำหนักประมาณ ๑ ตัน


เมื่อหมดอำนาจจากตำแหน่งหน้าที่ การที่จะนำรอยพระพุทธบาทนี้หอบหิ้วหรือเคลื่อนย้ายไปด้วยไม่สามารถทำได้ จึงได้ไปติดต่อกับเจ้าอาวาสวัดหนองดุด (วัดอุดมธรรมมาราม หมู่ที่ ๘ ตำบลเหล่าพัฒนา อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม) ท่านเจ้าอาวาสแจ้งว่ากำลังจะสร้างมณฑปหลวงปู่ตื้อ แล้วจะนำรอยพระพุทธบาทนี้ไปตั้งไว้ที่มณฑป

นายมนตรี เชียงอารีย์จึงนำรอยพระพุทธบาทไปถวายไว้เป็นเวลา ๖ ปีเศษ รอยพระพุทธบาทขณะอยู่ที่วัดบ้านหนองกุด วางไว้กลางแจ้งที่พื้นตากแดด - ตากฝน ขาดคนเอาใจใส่ดูแล ทะนุบำรุงและบูชาเท่าที่ควร นายมนตรี จึงตัดสินใจเล่าเรื่องนี้ให้ พระชัยวัฒน์ อชิโต ฟัง



หลังจากนั้นพระชัยวัฒน์ อชิโต เดินทางตามไปดูรอยพระพุทธบาทดังกล่าวแล้วบอกกับ นายมนตรี เชียงอารีย์ ว่า การนำรอยพระพุทธบาทออกจากที่เดิม จะเกิดโทษแก่นายมนตรี แล้วยังนำไปประดิษฐานยังที่ไม่สมควรเช่นนั้น จะเกิดโทษกับเจ้าอาวาสและนายมนตรีหนักยิ่งขึ้น

จึงได้กราบเรียนหารือเพื่อประสงค์จะให้พระชัยวัฒน์ฯ รับรอยพระพุทธบาทนี้ไว้ ซึ่งพระชัยวัฒน์ อชิโต ท่านไม่รับปากทันทีแต่จะนำเรื่องราวทั้งหมดกลับไปหารือ เจ้าอาวาสวัดท่าซุง (พระครูปลัดอนันต์ พทฺธญาโณ) เสียก่อน

ครั้นเมื่อเจ้าอาวาสวัดท่าซุง(พระครูปลัดอนันต์ฯ) ทราบเรื่องราวมาตลอดแล้ว และไม่ขัดข้อง นายมนตรี เชียงอารีย์ จึงได้นำรอยพระพุทธบาทจากวัดหนองกุด อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม มาถวายกับเจ้าอาวาส (พระครูปลัดอนันต์) ท่านโปรดเมตตา และให้นำไปประดิษฐาน ณ วัดท่าซุง (บริเวณโบสถ์เก่า) จังหวัดอุทัยธานี อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี เมื่อต้นปี พุทธศักราช ๒๕๔๗