ย้อนอดีตรำลึก "งานพิธียกฉัตรพระธาตุจอมกิตติ (จำลององค์เล็ก)
webmaster - 16/7/08 at 23:31
"..ย้อนอดีตรำลึก.."
คลิปเสียงนี้ลิขสิทธิ์เป็นของสงฆ์วัดท่าซุง
งานพิธียกฉัตรพระธาตุจอมกิตติ (จำลององค์เล็ก)
เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518
บรรยายโดย..พระชัยวัฒน์ อชิโต
(ภาพนี้เป็นภาพประวัติศาสตร์ที่หายากที่สุด เพราะเป็นภาพพระเจดีย์จำลององค์เล็กและยอดฉัตร
ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าพระเจดีย์องค์ใหญ่ ก่อนที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ จะทำพิธีอันสำคัญต่อไป)
ก่อนที่จะเล่าถึงพิธีกรรมต่อไป อยากจะขอเล่าย้อนก่อนว่า พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ พร้อมด้วยคณะผู้ติดตามหลายท่าน ได้เดินทางมาทำพิธีกรรม ณ
สถานที่นี้เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ อันเป็นวันพระ ตรงกับวันกลางเดือน ๙ พอดี
โดยปรารภเหตุที่ พ่อขุนผาเมืองได้มาบอก ท่าน พ.ต.อ. (พิเศษ)
ม.ร.ว.พงศ์พูนเกษม เกษมศรีว่าให้ทูลเชิญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทำประทักษิณพระบรมสารีริกธาตุ
ทั้งนี้เพื่อต้องการจะให้พระบารมีขององค์สมเด็จพระบรมโลกนาถ และพระบารมีของพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน ซึ่งมีพระราชจริยาวัตรเช่นเดียวกับกษัตริย์สุโขทัย
เป็นพิธีการที่จะช่วยยับยั้งเหตุร้ายจากการนองเลือด ช่วยให้น้ำใจผ่ายบริหารจะไม่เป็นทาส จะมีโอกาสค่อย ๆ ดีขึ้น บ้านเมืองจะมีสันติสุข
(พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ จุดธูปเทียนที่โต๊ะบายศรี โดยมีหลวงปู่ต่างๆ เข้าร่วมพิธีด้วย ในภาพ หลวงปู่ธรรมชัย วัดทุ่งหลวง,
หลวงปู่ชัยวงศ์ วัดพระบาทห้วยต้ม เป็นต้น)
แต่หลวงพ่อบอกว่าเวลานั้น เห็นว่าเวลายังไม่สมควร ถ้ามีฉัตรไปประดับบนยอดพระเจดีย์ ก็มอบให้เป็นเรื่องของกษัตริย์ไป เพราะก่อนทำพิธีนี้ พ่อขุนผาเมืองมาแนะนำหลวงพ่ออีกว่า ถ้าจะอธิษฐานเรื่องของชาติบ้านเมืองต้อง เอากษัตริย์นำเวียนเทียนรอบองค์พระบรมธาตุ
ฉะนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังไม่ได้เสด็จมา หลวงพ่อจึงเอาคนที่เคยเป็นกษัตริย์ มาในกาลก่อนทำประทักษิณแทน
(ในสมัยนั้น ผู้ร่วมเดินทางวัยยังหนุ่มๆ สาวๆ กันทั้งนั้น ต่างก็ช่วยกันยืนกางผ้ากั้นบังแสงแดดให้พระเดชพระคุณหลวงพ่อ
พร้อมทั้งฟังเรื่องราวประวัติความเป็นมาของสถานที่นี้ ผู้เขียนยังจำได้ว่า ตอนที่เดินทางไปครั้งแรกเมื่อปีก่อนๆ โน้น ทุกคนต้องร้องไห้พร้อมๆ กัน
โดยไม่ทราบสาเหตุ ภายหลังจึงทราบว่าหลวงพ่อท่านขอพรพระและเทวดาไว้ว่า ขอให้ทำอะไรสักอย่างเป็นนิมิตเครื่องหมายอย่างหยาบๆ พอแสดงให้เห็นกันได้
ปรากฏว่าพวกเราต้องนั่งร้องไห้กันทั้งหมด เหลือแต่หลวงพ่อองค์เดียวเท่านั้น)
ในตอนนั้นได้ยินเสียงหลวงพ่อกล่าวนำอธิษฐานว่า
"..ในขณะเวียนเทียนให้ตั้งใจนึกถึงบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอริยสงฆ์ พรหม เทวดา และบรรพบุรุษทั้งหมด
ขอให้ปกปักรักษาเผ่าไทยให้เป็นอิสรภาพ ปราศจากความเป็นทาส คิดว่าให้ศัตรูของประเทศชาติ จงพินาศสลายตัวไป ให้ไทยเป็นไท ใครคิดคดทรยศต่อคนไทย
ขอให้บุคคลคนนั้นฉิบหายบรรลัยไป.."
(ภาพนี้พวกเราหลายคนกำลังห้อมล้อม หลวงปู่บุดดา เพื่อถวายสิ่งของมีค่าบรรจุไว้ภายในพระเจดีย์แห่งนี้
ผู้เขียนใส่เสื้อสีขาว (ตอนนั้นยังไม่ได้บวช นั่งอยู่ด้านซ้ายมือ) และ คุณหน่อง ลูกชายเจ้ากรมเสริมอยู่ด้านข้าง ส่วนผู้หญิงใส่เสื้อสีม่วงที่เห็นด้านหลัง
คือ คุณหญิงเยาวมาลย์ บุนนาค กำลังเข้าไปถวายสิ่งของแด่หลวงพ่อเช่นเดียวกัน)
ในตอนนี้ คุณรัฐฎา (ม่ำ) บุนนาค มาเล่าเสริมว่าหลังจากนั้นอีก ๓ ปี
พระองค์ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงกระทำพิธียกฉัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้วยเหตุฉะนี้ จึงได้มีการจัดพิธีกรรมแบบเดียวกับที่ท่านได้กระทำไว้แล้ว
โดยสมมุติการแต่งกายแบบกษัตริย์ เพื่อทำพิธีกรรมในเรื่องของประเทศชาติ เพราะสภาวะบ้านเมืองในตอนนั้นกับตอนนี้ กำลังจะมีปัญหาเช่นเดียวกัน
อาจจะหนักกว่าก็เป็นได้
ภาพนี้หาชมได้ยาก เพราะสมัยนั้นยังสามารถมองเห็นแม่น้ำโขงได้แต่ไกล ในปัจจุบันนี้
ต้นสักสูงขึ้นปิดบังทิวทัศน์สวยงามไปหมดสิ้นแล้ว สมัยนั้นผู้เขียนยังมีความอาลัยอาวรณ์อยู่เสมอ เมื่อมองออกไปเห็นภาพเช่นนี้ โดยไม่ทราบสาเหตุเช่นกัน
สำหรับภาพนี้ ใครรู้จัก แม่แดง (เพ็ญศรี) ช่วยไปบอกให้เข้ามาชมภาพนี้ด้วย เพราะตอนนั้นยังสาวๆ อยู่ และตอนนี้ก็ยังสาวๆ อยู่อีกเช่นกัน
วันเวลาเปลี่ยนไป แต่โยมพี่แดงคนนี้ไม่เคยเปลี่ยนไป ยังหนักแน่นและมั่นคง สามารถจัดรถนำคณะไปร่วมทุกงานเสมอ ทั้งๆ ที่คนช่วยงานจัดรถที่ "บ้านสายลม"
อย่างผู้เขียน ก็ยังเคยร่วมงานกับโยมพี่แดงมาก่อนตั้งแต่ยังไม่ได้บวชนะ จะเรียกว่า "สาวพันปี" ก็ได้นะ..จะบอกให้..!!!
(ภาพนี้ก็เก่าเต็มที เก็บไว้นานแล้ว โยมพี่นิด (น้องสาวคุณเฉิดศรี เป็นผู้มอบให้ผู้เขียนเอง)
คงจะเห็นว่ามีรูปตนเองนั่งอยู่ด้วย ด้านข้าง หลวงปู่คำแสน (เล็ก) วัดป่าดอนมูล จ.เชียงใหม่ โดยมี หลวงปู่ธรรมชัย
นั่งอยู่อีกด้านหนึ่งของหลวงพ่อฯ ในขณะนั้น ท่านหญิงวิภาวดี รังสิต เป็นผู้จุดธูปเทียนร่วมกับ คุณเฉิดศรี (อ๋อย) ศุขสวัสดิ์
ภาพนี้ทำพิธีบวงสรวงเมื่อปี ๒๕๑๙)
"หลังจากเวียนเทียนเสร็จแล้ว คุณเฉิดศรี (อ๋อย)
ศุขสวัสดิ์ก็นำเงินที่เหลือจากการเดินทางมาถวายหลวงพ่อ ท่านจึงประกาศว่า เงินนี้ทั้งหมดขอทำ "หมวก"ที่เรียกว่า "หมวก" เพราะอะไร เพราะมีท่านองค์หนึ่งมายืนอยู่ข้างหลัง บอกให้เราช่วยกัน ถ้าประเทศชาติบรรเทาความทุกข์
มีความสงบเรียบร้อย ขอให้ทุกคนช่วยกันทำ "หมวก"มาสวมไว้บนยอดเจดีย์
(ในระหว่างพิธีอันสำคัญนี้ หลวงพ่อฯ ได้ประกาศขอให้หลวงปู่ทั้งหลายเข้าสมาบัติเต็มที่ เพื่อผลแห่งการกระทำพิธีเรื่องของบ้านเมือง
ในภาพจะเห็นหลวงพ่อและหลวงปู่นั่งบนอาสนะ โดยมีโต๊ะปูผ้าขาววางวัตถุสิ่งของอันเป็นมงคลทั้งหลาย คล้ายกับทำพิธีพุทธาภิเษกไปด้วย)
ไอ้ศัพท์นี้เคยเรียกว่า "ฉัตร"แต่พอท่านเรียก "หมวก" เข้ามาเท่านั้น
นึกชื่อปัจจุบันไม่ออกว่าเขาเรียกว่าอะไร...คนอื่นถามว่า ทำบุญอีกได้ไหม..? รวมกันไปรวมกันมาปรากฏว่าได้เงิน ๙,๔๐๑ บาท รวมกับเงินที่ คุณเสริมศรื เกษมศรีบอกว่ามีอยู่แล้ว ๔ หมื่นบาท รวมเป็น ๕ หมื่นบาท สำหรับทำฉัตร ๙ ชั้น..."
(ภาพถ่ายอีกมุมหนึ่งที่หาดูยากอีกเช่นกัน นับเป็นภาพประวัติศาสตร์จริงๆ พิธีกรรมเช่นนี้มีแค่ครั้งนี้ครั้งดียวเท่านั้น
หลังจากนั้นหลวงพ่อยังไม่ได้เคยจัดแบบนี้อีกเลย แต่หลังจากท่านมรณภาพไปแล้ว ปี ๒๕๔๐ พวกเราก็ได้กลับมาจัด งานพิธีฉลองชัย ด้วยการแต่งกายย้อนยุค
เป็นการย้อนรำลึกนึกถึงท่านอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่เศรษฐกิจในปีนั้นจะพังพินาศพอดี จากพิษของการลดค่าเงินบาทนั่นเอง)
นี่...เป็นเรื่องที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านเล่าไว้ในหนังสือ"เชียงแสน"
แต่ภายหลังก็มีเหตุขัดข้องเรื่องระเบียบของทางกรมศิลปากร หลวงพ่อพร้อมด้วยคณะศิษยานุศิษย์ในสมัยนั้น จึงได้ร่วมกันจัดสร้างพระเจดีย์องค์เล็กนี้แทน
เป็นการจำลองจากพระเจดีย์องค์ใหญ่ เพื่อสำหรับประกอบพิธีในการยกฉัตรนั่นเอง
โดยก่อนที่หลวงพ่อจะทำพิธียกฉัตรนั้นท่าน พล.ร.อ.จิตต์ สังขดุลย์เป็นผู้นำยอดฉัตรเข้าไปที่พระราชวัง
เพื่อกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในยอดฉัตรนั้น ซึ่ง คุณสุมิตร
(เล็ก) มาเล่าเสริมอีกว่า พระองค์ได้ทรงปิดทองยอดฉัตรด้วย แล้ว ท่านเจ้ากรมเสริมจึงได้ไปรับกลับมา
(ในขณะที่หลวงปู่ทั้งหลายเข้าสมาบัติกันนั้น พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ ก็ได้ทำน้ำมนต์ เพื่อปะพรมให้แก่ผู้ร่วมพิธีทุกท่าน
ในขณะที่ทุกคนเดินเวียนประทักษิณรอบองค์พระธาตุทั้ง ๓ รอบ พิธีกรรมเช่นนี้ได้เริ่มต้น ณ สถานที่นี้ หลังจากนั้นก็มีการปะพรมน้ำพระพุทธมนต์
ในงานพิธีฉลองพระเจ้าพรหมมหาราช ณ วัดท่าซุง กันเป็นประจำทุกปี)
ต่อจากนั้นจึงได้อัญเชิญพระเจดีย์พร้อมด้วยฉัตรมากระทำพิธี ณ สถานที่แห่งนี้ โดยมีหลวงพ่อและ
หลวงปู่พระสุปฏิปันโนรวม ๗ องค์คือ หลวงปู่คำแสนใหญ่วัดสวนดอก หลวงปู่คำแสนเล็กวัดดอนมูล หลวงปู่ชุ่มวัดวังมุย หลวงปู่ธรรมไชยวัดทุ่งหลวง หลวงปู่ชัยวงศ์วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม และ หลวงปู่พระมหาอำพันวัดเทพศิรินทร์
เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๘คือเมื่อ ๓๔ ปีที่ผ่านมานี้
สถานที่นี้จึงเป็นสถานที่ทำพิธียกฉัตร เพื่อเป็นสวัสดิมงคลแก่ชายแดนทางภาคเหนือ แล้วจึงได้ไปทำพิธียกฉัตรอีกเช่นกันทางชายแดนภาคใต้ นั่นก็คือที่
วิหารน้ำน้อยอ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๙
เป็นพิธีการปักตรึงเขตแดนเอาไว้ทั้งเหนือและใต้ ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน
(ต่อจากนั้นก็เป็นพิธีที่สำคัญยิ่ง พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ ได้อัญเชิญยอดฉัตรที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุแล้ว
เตรียมที่จะนำไปประดิษฐานบนยอดพระเจดีย์ต่อไป ภาพที่เห็นด้านข้างคนใส่เสื้อขาว ผู้ชายคือ คุณเกษม สุวินทวงศ์ ภายหลังได้บวชที่วัดท่าซุง
จนกระทั่งมรณภาพไปในที่สุด ส่วนสุภาพสตรีด้านหลัง นั่นก็คือแม่แรงคนสำคัญของงาน คุณโยมอ๋อย ภรรยาท่านเจ้าเสริม ในงานนี้มีผู้ใหญ่ร่วมเดินทางกันมาก
ส่วนผู้เขียนและเพื่อนๆ ที่เห็นนั้น มีอายุประมาณ ๒๕ ปีขึ้นไปทั้งนั้น)
แผ่นดินไทยจึงได้สงบสุขและทรงความเป็นเอกราชไว้จนถึงบัดนี้ ดังจะเห็นว่าเวลานั้น ลัทธิคอมมิวนิสต์ได้แผ่ขยายเข้ามาทางประเทศเพื่อนบ้านของเรารอบด้าน
ประชาชนในแต่ละประเทศ ต้องประสบชะตากรรมอย่างน่าเวทนา แต่ผลสุดท้ายก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศไทยไปได้
เราจึงยังรักษาอธิปไตยไว้ได้ตลอด
ทั้งนี้ ก็เนื่องมาจากพิธีกรรมต่างๆ ที่หลวงพ่อและหลวงปู่ทั้งหลาย ได้กระทำไว้ ณ สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และพุทธสถานเกือบทุกแห่ง จึงมีส่วนช่วย
ควรที่พวกเราเหล่าลูกหลานของท่าน ที่ได้ทันในสมัยท่านก็ดี หรือ ที่ติดตามในภายหลังก็ดี จะได้มาร่วมกันบูรณะปฏิสังขรณ์
และมาย้อนรำลึกถึงความหลังกันอีกครั้งหนึ่ง
(หลวงพ่อกำลังหมุนแกนยอดฉัตรเข้าไปให้แน่น จะเห็นว่าท่านทำด้วยมือของท่านเอง)
การไปหาซื้อพระเจดีย์
แต่ก่อนที่จะถึงพิธีการนั้น ขอย้อนกล่าวถึงรายละเอียดการจัดสร้างพระเจดีย์องค์นี้ คุณยุพดี (แอ๊ะ)
จักษุรักษ์เล่าว่า ได้เดินทางไปหาซื้อเจดีย์กับ คุณเฉิดศรี ศุขสวัสดิ์ซึ่งเป็นภรรยาท่าน
พล.อ.ท.ม.ร.ว.เสริม ศุขสวัสดิ์โดยมีผู้ร่วมสมทบทุนในภายหลังกันมากมาย
ได้เดินทางไปหาเจดีย์ที่มีซุ้มสี่ทิศ หล่อด้วยปู่นซิเมนต์ หาไปถึงเมืองกาญจน์ จนไปได้ที่นครปฐม แล้วนำมาที่บ้านสายลม ช่วยกันทาสีปิดทองคำเปลว
และเขียนรูปเทวดาไว้ที่ซุ้มละหนึ่งองค์ทั้งสี่ด้าน ยอดเจดีย์กำกลวงด้านในเพื่อในแกนฉัตรสวมลงไปได้ ส่วน "ฉัตร"ได้สั่งทำที่ร้านแถวเสาชิงช้า เป็นฉัตร ๙ ชั้น ทำด้วยเหล็กหล่อ แล้วพวกเราก็ช่วยกันปิดทองทำเปลวอีกเช่นกัน
(ท่ามกลางสายตาผู้ร่วมพิธีทั้งหลาย ในเวลานั้น จะเห็น
คุณโยมเดือนฉาย คอมันตร์ (ใส่เสื้อสีม่วง) ประธานศูนย์สงเคราะห์ ฯ นั่งพนมมืออยู่ด้วย )
พระบรมสารีริกธาตุเสด็จมาเอง
สำหรับพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุไว้บนยอดฉัตรนั้น นับเป็นเรื่องอัศจรรย์เป็นอย่างยิ่งเพราะเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่เสด็จมาเอง
โดยมีบุคคลหลายท่านยืนยันเป็นพยาน คือ คุณโยมจันทร์นวล
นาคนิยมซึ่งเป็นศิษย์รุ่นอาวุโสเคยเดินทางร่วมกับหลวงพ่อหลายครั้ง ได้เล่าถึงเรื่องนี้ว่า
"...พระบรมสารีริกธาตุพระองค์นี้ ได้เสด็จมาก่อนพระบรมสารีริกธาตุที่นำไปบรรจุไว้ที่ วิหารน้ำน้อยอ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งได้เสด็จมา ๑๐ กว่าองค์
สำหรับพระบรมสารีริกธาตุพระองค์นี้ได้เสด็จมาเพียงองค์เดียว ใหญ่มาก (เท่าปลายนิ้วก้อย) สีทับทิม
รูปพรรณสัณฐานมีลักษณะแตกต่างจากพระบรมสารีริกธาตุทั่วไป คือเจียระไนไว้อย่างสวยงาม เหมือนกับเพชรพลอย ที่เขาใช้ทำหัวแหวน
ถ้าหลวงพ่อไม่บอกว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุ ทุกคนก็เข้าใจว่าเป็นทับทิมที่เขาทำหัวแหวนนั่นเอง สีโปร่งใส ไม่ทึบ สวยงามแวววาว ใหญ่มาก
(หลังจากที่คุณเกษมเป็นผู้ถือฉัตร เพื่อให้หลวงพ่อเป็นผู้สวมยอดฉัตรเข้าไปแล้ว จากนั้นเจ้าหน้าที่ที่แข็งแรง สมัยนั้นมี
พล.ต.ศรีพันธุ์, คุณสมบูรณ์ (จันทรบุรี), คุณเหม่ (เลิศลักษณ์) และคุณอู๊ด (รังสิต สามีคุณแดง) คุณวิวัฒน์ - คุณวิชัย (สองฝาแฝด)
ต่างก็ช่วยกันยกฉัตรขึ้นไปสวมที่ยอดพระเจดีย์ โดยมีหลวงพ่อเดินเข้าไปปะพรมน้ำพระพุทธมนต์)
หลวงพ่อเอาออกมาจากในกุฎิของท่าน นำออกมาให้ชมกันหลายคน พร้อมกับหลวงพ่อกล่าวด้วยความยินดีว่า
"...ได้แล้ว...ที่จะเอาไปบรรจุที่ดอยจอมกิตติ...นี่แหละ...พระบรมสารีริกธาตุ ท่านเสด็จมาเอง
อยู่ที่หิ้งที่วางเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่หลวงพ่อบูชาอยู่.."
ในเจดีย์นั้นจะมีพระบรมสารีริกธาตุเต็มไปหมด ท่านเสด็จมาเอง แต่องค์เล็ก ๆ ส่วนที่เสด็จมาสำหรับไปบรรจุไว้ทางภาคเหนือนั้น มีลักษณะเด่นเป็นพิเศษ
คือเป็นสีทับทิม เมื่อทุกคนเห็นแล้วก็เป็นงง ต่างก้มลงกราบ เพราะไม่เคยเห็น เคยเห็นแต่องค์เล็ก ๆ ที่วัดท่าซุง เพราะท่านเสด็จมาเป็นประจำ
(เมื่อเสร็จพิธีในการยกยอดฉัตรกันแล้ว ญาติโยมทุกท่านต่างก็เข้าไปกราบไหว้บูชา ในเวลานั้น
พระเจดีย์จำลองยังตั้งอยู่ด้านหน้าองค์พระธาตุจอมกิตติ ต่อมากรมศิลปากรได้ย้ายไปตั้งอยู่มุมด้านซ้าย ภายหลังปรากฏว่ามีคนตายกันไป
นี่เป็นเรื่องที่เล่ากันภายในนะ)
ในตอนนี้ คุณศุภาพร ปุษยะนาวินเล่าเสริมว่า ต่อมาหลวงพ่อได้อัญเชิญไปไว้ที่บ้านสายลม
ก่อนที่จะนำไปบรรจุ เพื่อให้บรรดาพุทธศาสนิกชน ได้กราบไหว้บูชาสักการะ โดยเปิดให้ทุกคนได้มีโอกาสสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ
ซึ่งหลวงพ่อได้บอกว่า เป็นพระบรมสารีริกธาตุที่เสด็จมาเป็นกรณีพิเศษ คือเป็นพระบรมสารีริกธาตุส่วนที่เป็นสันนาสิก (จมูก) ขององค์สมเด็จพระปฐมบรมครู
ที่พระพุทธองค์ได้ทรงประทานให้เป็นกรณีพิเศษ ดังนี้
(เป็นอันว่าเสร็จพิธีกรรมอันสำคัญ พวกเราในภายหลังคงจะตั้งใจอนุโมทนา คุณความดีที่หลวงพ่อและหลวงปู่ทั้งหลาย
ได้เคยกระทำไว้สมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ บัดนี้ท่านก็ได้มรณภาพไปหมดแล้ว ยังคงทิ้งคุณงามความดีไว้เป็นอนุสรณ์ ตามที่ผู้เขียนได้บรรยายมานี้ เพราะในเวลาต่อมา
พระเจดีย์ก็มีการชำรุดทรุดโทรมลงไป พวกเราก็ได้กลับไปบูรณะซ่อมแซมอยู่เสมอ ณ โอกาสนี้ หากมีข้อบกพร่องสิ่งหนึ่งประการใด หรือใครที่ยังพอจำเหตุการณ์ได้บ้าง
กรุณาช่วยชี้แนะเพื่อต่อเติมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น จะขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง)
เป็นอันว่า พวกเราได้รับทราบประวัติความเป็นมา และความมุ่งหมายในการจัดสร้างว่าเพื่อวัตถุประสงค์อะไร จะได้จดจำไว้เป็นหลักฐาน ว่าครั้งหนึ่งเมื่อ ๓๐
กว่าปีก่อน หลวงพ่อและหลวงปู่ทั้งหลาย พร้อมด้วยญาติโยมพุทธบริษัท อันมี คุณเฉิดศรี ศุขสวัสดิ์เป็นต้น
ได้ร่วมกันจัดงานพิธีกรรมอันสำคัญ
บัดนี้ท่านก็ได้ละสังขารเข้าสู่พระนิพพานกันไปหลายท่านแล้ว ยังคงเหลือแต่พวกเราผู้อยู่ภายหลัง ก็หวังผลบุญกุศลใหญ่นี้
ที่จะเป็นบันไดให้เข้าสู่ประตูเมืองแก้วเช่นเดียวกัน การที่เรามารวมตัวกันในครั้งนี้ ก็เพื่อจะรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม
ที่หลวงพ่อได้กระทำไว้เป็นแบบอย่างไว้ ซึ่งพวกเราก็เช่นกัน อันมี ท่านพระครูปลัดอนันต์
เป็นหัวหน้าที่จะช่วยกันสืบสานเจตนารมณ์ของท่านต่อไป..สวัสดี.
ข้อมูล, รูปภาพ, คลิปเสียงชุดนี้ ลิขสิทธิ์เป็นของสงฆ์ วัดท่าซุง ห้ามผู้ใดลอกเลียนแบบ หรือทำซ้ำ หรือดัดแปลงแก้ไข
หรือนำออกไปเผยแพร่โดยเด็ดขาด มิฉะนั้น จะถือว่าท่านละเมิดของสงฆ์ อีกทั้งจะมีโทษถูกฟ้องร้องจาก "ทนายความ" ของเว็บวัดท่าซุงทันที