สงสัยเรื่อง "กรรมฐานบ้า" (คำถามใน pantip.com) หลักการปฏิบัติธรรมของวัดท่าซุง
webmaster - 28/1/17 at 15:03

สงสัยเรื่อง "กรรมฐานบ้า" ครับ
(2g.pantip.com/cafe/religious/topic/Y13053262/Y13053262.html)


สาเหตุ 1.
ผมมีโอกาสได้ไปเรียนนั่งสมาธิ ที่วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี
และวัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี มาครับ ความรู้ยังเล็กน้อยมาก

อยากจะหาโอกาสไปฝึกต่อยอดที่วัดอีก แต่เวลางานไม่เอื้ออำนวย
สะดวกปฎิบัติเองที่บ้าน โดยเฉพาะทุกวันก่อนนอน

สาเหตุ 2.
ผมเคยได้ยินมาว่า คนที่ฝึกนั่งกรรมฐานเอง โดยที่ไม่มีครูคอยสอบอารมณ์บางคน
นั่งกรรมฐานจนเป็นบ้าไปเลย

คำถามคือ
คำถาม 1.
สาเหตุที่บางคนนั่งกรรมฐานจนเป็นบ้า คืออะไรครับ

คำถาม 2.
หากผมสะดวกที่จะฝึกนั่งกรรมฐาน ด้วยตัวเองที่บ้าน ควรจะทำอย่างไร
หรือว่ามีทางป้องกันอย่างไรบ้าง ที่จะไม่ได้นั่งกรรมฐานจนเป็นบ้าครับ



บางคนไม่กล้าทำสมาธิ..กลัวเป็นบ้า

โดย หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (พระชัยวัฒน์ อชิโต เรียบเรียง)


ผู้ถาม:- “เวลาไปชวนเขาทำสมาธิ บางคนเขาบอกว่า กลัวเป็นบ้า กลัวจะไปเห็นของน่าเกลียดน่ากลัว อันนี้เป็นความจริงไหมครับ…?”

หลวงพ่อ:- “ความจริงการเจริญสมาธิไม่มีอะไรน่ากลัว อย่าลืมว่าถ้าจิตเราดีแล้ว อย่างน้อยที่สุดจิตต้องเข้าถึงอุปจารสมาธิ มีปีติถึงจะเห็นภาพ แต่ภาพที่เราเห็นในสมาธินั้นเป็นภาพสวย เป็นภาพน่ารัก ไม่ใช่ภาพน่ากลัว ที่ว่าเป็นบ้าน่ะ ก็เพราะฝืนอาจารย์ ฝืนพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าบอกว่าการปฏิบัติต้องเว้นส่วนสุด ๒ อย่างคือ

๑. อัตตกิลมถานุโยค อย่าเครียดเกินไป
๒. กามสุขัลลิกานุโยค อย่าอยากเกินไป


ต้องใช้ มัชฌิมาปฏิปทา คือต้องทำกลาง ๆ แบบสบาย ๆ ไม่บ้านะ”

(แหม…ไอ้คนกลัวดีนี่มีเยอะจัง ทั้ง ๆ ที่เป็นของดี ถ้าไม่ดีก็คงไม่มีใครเขาแนะนำ ทีมีคนไปชวนกินเหล้า ไม่เห็นกลัวกันบ้างน่าแปลกแฮะ)

เรื่องฌานกับนิมิต


ผู้ถาม:- “หนูไม่ทราบว่าได้ฌานอะไรค่ะ คือว่าจิตนิ่ง แต่ว่ามองอะไรไม่เห็น”

หลวงพ่อ:- “ดีมาก…เขาเรียกว่า ฌานมัว ไอ้เรื่องของฌานเขาไม่ได้เห็นหรอกหนู การทำสมาธิไม่ใช่เรื่องของการเห็น เรื่องของการเห็นเขาต้องฝึกอีกระดับหนึ่ง คือในเมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วต้องฝึกทิพจักขุญาณ มันจึงจะเห็น แต่ว่าการฝึกสมาธิแล้วเห็นภาพว๊อบๆ แว๊บๆ ผ่านไปผ่านมา นั่นจิตเข้าขั้นอุปจารสมาธิ ขั้นอุปจารสมาธินี้ อาจจะได้ยินเสียงที่เป็นทิพย์ได้ แต่ก็แว๊บเดียว อันนี้เขาไม่ใช้ เขาไม่ถือว่าเป็นของดี ยังไม่ต้องการ

กรรมฐานน่ะมันมี ๒ อย่าง คือ สมถกรรมฐาน กับ วิปัสสนากรรมฐาน สองอย่างนี้ต้องควบคู่กันไป ต้องเข้าใจว่า การทำสมถภาวนาเป็นอุบายเพื่อทำให้ใจสงบ ทำจิตให้เป็นสุข ไม่ใช่ต้องการเห็น วิปัสสนาภาวนาทำให้ใจมีปัญญาขึ้น คือยอมรับนับถือกฏของความเป็นจริง

เขาต้องการแบบนี้นะ เขาไม่ต้องการเห็นหรอก ถ้าอยากเห็นก็ลืมตา ถ้าดับไฟเห็นไม่ถนัดก็เปิดไฟฟ้า จะได้เห็นทั่ว ใช่ไหม…อย่างนี้ก็พลาดจุดหมายน่ะซิ”

ผู้ถาม:- “หลวงพ่อคะ เวลานั่งปฏิบัติสมาธิคล้ายๆ จิตตกจากที่สูง มันเป็นยังไงคะ…?”

หลวงพ่อ:- “อ๋อ…ตอนนั้นถ้าจิตมันอยู่ในฌาน มันจะมีอารมณ์ดิ่งสบาย จิตเป็นสุข ถ้าจิตพลัดจากฌานแรงเกินไป มันก็วาบเหมือนกับตกในที่สูง อาการอย่างนี้บางคนก็ประสบ บางคนก็ไม่ประสบ ถ้าป้องกันอาการอย่างนี้ไม่ให้เกิด พอเริ่มต้นจะภาวนาให้หายใจยาวๆ เหมือนกับเขาเกณฑ์ทหาร หายใจสัก ๓-๔ ครั้ง เป็นการระบายลมหยาบ ตอนเริ่มต้นมันหยาบ พอจิตเป็นสมาธิ จิตมันจะละเอียดอยู่ข้างล่าง พอเป็นฌานจิตมันละเอียดมาก มันก็ดันลมหยาบออก”

ผู้ถาม:- “แต่สังเกตดูลมหายใจบางครั้งเหมือนกับลมหยุดเบาเหลือเกินค่ะ เราควรจะกระตุ้นมันไหมคะ…?”

หลวงพ่อ:- “อย่า..อย่า..ความรู้สึกคล้ายว่าลมหยุด ตอนนั้นจิตเป็นฌาน ๔ ลมมันไม่ได้หยุดหรอก ถ้าหยุดเราก็ตาย ถ้าเป็นฌานสูงขึ้นจะรู้สึกว่าลมหายใจเบาลง ความจริงลมปกติ แต่จิตมันแยกกับประสาท พอถึงปฐมฌาน จิตแยกจากประสาทนิดหนึ่ง ถ้าตามธรรมดาเราต้องการเงียบ หูได้ยินเสียงมันจะรำคาญ พอถึงปฐมฌานมันจะไม่รำคาญ พอถึงฌานที่สอง ลมจะรู้สึกเบาลงไปหน่อย พอถึงฌานที่ ๔ จะไม่มีความรู้สึกว่าหายใจ ความจริงร่างกายหายใจเป็นปกติ แต่จิตมันแยกจากประสาท จิตมันแยกห่างออกมา”

ผู้ถาม:- “ต้องปล่อยลงไปเรื่อยๆ นะคะ…?”

หลวงพ่อ:- “ปล่อยไป ถ้าจิตมันเต็มกำลังมันก็ลดของมันเอง”

ผู้ถาม:- “ดิฉันจับอานาปาค่ะ ถึงมีอารมณ์อย่างนั้น…?”

หลวงพ่อ:- “ความจริงกรรมฐานทุกกองต้องควบอานาปา ถ้าไม่งั้นจิตไม่ทรงฌาน อานาปาต้องใช้เป็นพื้นฐาน กรรมฐาน ๓๙ อย่าง เราใช้ได้ แต่ว่าต้องควบคุมอยู่กับอานาปาเสมอไป ถ้าไม่มีอานาปาควบ จิตจะเป็นฌานไม่ได้”

ผู้ถาม:- “ถ้าไม่จับอานาปา ก็ภาวนาแทนได้ไหมคะ…?”

หลวงพ่อ:- “ภาวนาเฉยๆ จิตไม่เข้าถึงฌาน จะต้องมีอานาปาควบคู่กับคำภาวนา หายใจเข้านึกว่า “พุท” หายใจออกนึกว่า “โธ” “พุทโธ” เป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน แต่เรารู้ลมหายใจเข้าออกด้วยเป็นอานาปานุสสติกรรมฐาน ถ้าใช้คู่กันจิตจะเป็นฌานเร็ว”

ผู้ถาม:- “หลวงพ่อคะ ในขณะที่เรานั่งภาวนาไปพักหนึ่งแลัว ก็ได้เห็นแสงเป็นวงสีขาว แต่เราจับไม่นิ่ง แล้วจะทำยังไงคะ…?”

หลวงพ่อ:- “เอาอะไรจับ…?”

ผู้ถาม:- “จิตซิคะ”

หลวงพ่อ:- “ไม่มีทาง เพราะแสงนั้นไม่ใช่แสงสำหรับจับ แสงสำหรับจับต้องเป็นกสิณ ถ้าสีขาว เขียว แดง เหลือง ถ้าปรากฏขึ้นขณะภาวนา มันเป็นนิมิตของอานาปานุสสติ ไม่มีทางจับ”

ผู้ถาม:- “ที่เห็นอันนี้เหมือนดาวค่ะ”

หลวงพ่อ:- “เหมือนดาว เหมือนเดือน เหมือนพระอาทิตย์ ก็เหมือนกันแหละ คล้ายๆ กับดาวเป็นดวงๆ ใช่ไหม…?”

ผู้ถาม:- “ใช่ค่ะ”

หลวงพ่อ:- “นั่นแหละ เขาเรียกว่าเป็นนิมิตของอานาปา จับไม่ได้ เพราะอะไรจึงจับไม่อยู่ เพราะจิตเราไม่หยุด ถ้าจิตเคลื่อนนิด นั่นก็ไหวตัวหน่อย นิมิตน่ะ เป็นเครื่องวัดจิตของเราว่า ในขณะนั้นมันทรงตัวขนาดไหน และจิตแค่อุปจารสมาธิ มันไม่ทรงตัว ต้องเป็นฌาน ที่เห็นนั่นน่ะ จิตถึงอุปจารสมาธิพอดี เพราะจิตพอเริ่มเข้าสู่อุปจารสมาธิ อารมณ์เริ่มเป็นทิพย์ ที่เห็นแสงสีน่ะเบาเกินไป ถ้าอารมณ์ดีกว่านั้นจะเห็นภาพเทวดา เห็นภาพพรหมได้เลย แต่ก็แว๊บเดียวอีกนั้นแหละ พอเห็นปั๊บเราตกใจ สะดุดนิด เคลื่อน จิตไม่ทรงตัว”

ผู้ถาม:- “แล้วที่อย่างมีแสง คล้ายแสงไฟฉายวูบมาอย่างนี้ล่ะคะ…?”

หลวงพ่อ:- “ก็เหมือนกันนั่นแหละ ยี่ห้อเดียวกัน”

ผู้ถาม:- “แต่ที่เห็น มันลักษณะไม่เหมือนกันคะ หลวงพ่อ”

หลวงพ่อ:- “ก็เหมือนกันนั่นแหละ แสงต่างกัน หายครือกัน จับไม่อยู่เหมือนกัน”

ผู้ถาม:- (หัวเราะ)

หลวงพ่อ:- “ถ้านิมิตเกิดขึ้น จับไม่อยู่ ต้องเริ่มตั้งต้นด้วยกสิณ ต้องเป็นนิมิตของกสิณ จึงจะทรงตัว คือนิมิตหรือแสงหรือสีนั้น เราต้องจับไว้ก่อนตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ใช่ปล่อยลอยมา”

ผู้ถาม:- “ถ้าอย่างนั้นก็ต้องไปเริ่มต้นจับภาพกสิณ ใช่ไหมคะ…?”

หลวงพ่อ:- “เดี๋ยวนี้เราไม่ต้องไปทำกสิณแล้ว เพราะคนที่มีกำลังสูงด้านศรัทธามีบุญเก่า เวลานี้เขาใช้ฝึกผลของกสิณเลย ถึงได้เร็วไงล่ะ ถ้าเริ่มต้นฝึกทางกสิณ ในบาลีท่านเรียกว่า อาทิกัมมิกบุคคล หมายถึง คนทีไม่เคยได้มาเลยในชาติก่อน ต้องขึ้นต้นด้วยกสิณ อย่างนี้ช้ามาก แค่กสิณกองเดียวให้ถึงฌาน ๔ ดีไม่ดีหลายตาย ไม่ใช่ตายเดียวนะ เกิดมาชาตินี้ทำจนตาย เกิดมาชาติใหม่ทำต่ออีก กว่าจะถึงฌาน ๔ ไม่ใช่เบา หนักมาก

ทีนี้หากว่าคนที่เคยได้มาก่อน อย่างทิพจักขุญาณ ในวิสุทธิมรรคท่านบอกว่า แม้แต่มองแสงสว่างที่รอดมาจากช่องฝาหรือช่องเพดาน ก็สามารถได้ทิพจักขุญาณเลย

อย่างที่พวกเราฝึกเวลานี้ ฝึกมโนมยิทธิ มันหนักกว่า ใช่ไหม…ฝึกประเดี๋ยวได้ๆ เพราะพวกนี้เคยได้มาก่อน แต่ว่าผู้ฝึกจะต้องทราบ เวลานี้ฉันสอนคนเก่าที่ได้มาก่อนทั้งนั้นนะ คนที่ยังไม่ได้ไปหาที่อื่น ฉันขี้เกียจสอน”

ผู้ถาม:- “แล้วหนูจะทราบได้อย่างไรคะ ว่าเคยได้มาก่อน…?”

หลวงพ่อ:- “ก็ต้องดูขั้นพอใจ เขาฝึกกันแบบนี้เราพอใจหรือเปล่า ถ้าพอใจด้วยความจริงใจ อันนี้ใช่ละ ต้องเคยได้มาก่อน ไม่งั้นไม่เอาเลย ต้องดูศรัทธาตรงนี้นะ คือเห็นเขาฝึกกันเราก็อยากได้บ้าง เกิดความต้องการขึ้นมาจริงจัง อันนี้ของเก่ามันบอก”

นั่งสมาธิตอนกลางคืนแล้วกลัว


ผู้ถาม:- “เวลานั่งปฏิบัติกรรมฐานตอนกลางคืนนะคะ นั่งไปก็มีความกลัว ไม่ทราบว่าจะแก้ไขอย่างไรคะ…?”

หลวงพ่อ:- “เราก็บอก ฉันไม่กลัวๆๆๆๆ”

ผู้ถาม:- (หัวเราะ)

หลวงพ่อ:- “เอายังงี้หนู ไอ้เรื่องกลัวนี่เป็นของธรรมดา แต่ก็ต้องระวังนะ มันกลัวมากจริง ๆ เราต้องเลิกเสียก่อนนะ ถ้าประสาทหวั่นไหวมาก มันเสียผลเหมือนกัน วิธีจะให้กลัวน้อย ต้องให้มีคนอยู่ใกล้ๆ อย่าไปฝืนอยู่นะ รีบเลิกเสีย แล้วก็นอนภาวนาให้หลับไปเลย แค่นี้พอ”

ผู้ถาม:- “นอนภาวนาได้หรือคะ…?”

หลวงพ่อ:- “ได้… ถ้าภาวนาให้หลับไปนี่ได้กำไร ถ้าเราภาวนาอยู่ ถ้าจิตเข้าไม่ถึงฌาน มันจะไม่หลับ พอจิตเข้าถึงฌานปั๊บ มันจะตัดหลับทันที นอนหลับภาวนาสัก ๑ ชั่วโมง มันจะมีความชุ่มชื่นดีกว่านอนหลับไม่ภาวนาหลายชั่วโมง และในช่วงแห่งการหลับ เราถือว่าหลับอยู่ในสมาธิตลอดเวลา เวลาตื่นขึ้นมาจิตจะสบาย

เวลาที่เราหลับอยู่ในฌาน เราจะสังเกตได้ว่า ถ้าเราตื่นขึ้นมารู้สึกเต็มที่แล้ว นอนอยู่แบบนั้น ต้องบังคับให้มันภาวนา อย่างนี้แสดงว่าขณะหลับเราเข้าถึงฌานหยาบ

หากพอตื่นขึ้นมา มีความรู้สึกตัวเต็มที่ แล้วมันภาวนาเอง แสดงว่าเมื่อหลับเราเข้าถึงฌานอย่างกลาง

ถ้ารู้สึกตัวครึ่งหลับครึ่งตื่น มันภาวนาของมันเอง แสดงว่าตอนที่หลับเราเข้าถึงฌานละเอียด

ฉะนั้นการนอนภาวนาให้หลับไปเลย ควรใช้ให้เป็นปกติ การนอนภาวนานี่ถ้ามันจะหลับ อย่าไปดึงมันไว้นะ ถ้าภาวนาถึง “พุท” ไม่ทัน “โธ” มันจะหลับ ปล่อยเลย เพราะการเข้าฌานเราต้องเข้าให้เร็วที่สุด ไม่ต้องการภาวนานาน”

ผู้ถาม:- “หลวงพ่อคะ เวลานั่งสมาธิ แล้วมีความรู้สึกว่ามีเสียงมากระทบ ทำให้รู้สึกวูบไป”

หลวงพ่อ:- “ตกใจไหม…?”

ผู้ถาม:- “ก็ไม่เชิงตกใจค่ะ”

หลวงพ่อ:- “ฉันก็เคยเจอะเหมือนกัน แต่นั่นถือเป็นเรื่องธรรมดานะ มันซู่มันซ่าก็ช่างมันปะไร”

ผู้ถาม:- “แล้วจะเป็นอะไรไหมคะ…?”

หลวงพ่อ:- “ไม่เป็นไรหรอก เวลาจะนั่งกรรมฐาน ต้องคิดไว้เสมอไว้ จะเป็นผีเป็นเทวดานี่เขาเข้าถึงตัวเราไม่ได้ วัดจากตัวเราไปได้ ๑ วารอบ ๆ อย่างเก่งก็มีฤทธิ์ได้แค่นั้น แต่ว่าจิตอยู่ในเกณฑ์ของสมาธิมากหรือน้อยก็ตาม ถ้าเราสมาทานแล้ว คำว่าผีจริงๆ เข้ามาไม่ได้เลย ที่จะเข้าใกล้เราได้มีพวกเทวดาเท่านั้น นี่จำไว้เลย ถ้าเห็นภาพปรากฏ เป็นคน เป็นอะไรก็ตาม เป็นเทวดาทั้งหมด ผีต่างๆ ไม่มีสิทธิ์จะเข้ามา

แต่ว่าถ้าเจริญกรรมฐาน จิตจะเริ่มเข้าถึงปีติ อันนี้ท้าวมหาราชจะส่งเทวดาเข้าคุมทุกคนนะ ปีตินั้นคือ จิตใจของเรามีความแน่วแน่หรือว่าเราต้องการ เวลาเจริญพระกรรมฐานนี่นะ การทำสมาธิจิตจะแบบไหนก็ตาม ถ้าเรามีความชอบใจ อันนี้เป็นปีติ ตั้งแต่ระยะนี้เป็นต้นไป ท้าวมหาราชจะส่งคนมาคุม กันผีเข้ามารบกวน

แต่ว่าพวกผี หรือที่เรียกว่าอมนุษย์ ถ้าจะมาทำร้ายเราล่ะ เขาเข้าไม่ได้เลย แต่ว่าถ้าบังเอิญเขาเห็น เรานั่งไปเราก็เห็น ว่ามีคนสักคนหนึ่งลากคอคนหรือรัดมือรัดเท้าลากไป อย่าไปห้ามนะถ้าหากมาเป็นศัตรู เขาก็จัดการทันที

ถ้ามันจะมาขอส่วนบุญ ถ้าเข้ามาใกล้ แค่มายืนได้แค่วากว่า ๆ ถ้าเราสงสัย เราเห็นเข้า ก็อุทิศส่วนกุศลให้แก รูปร่างหน้าตาแจ่มใส แกก็ไป ไม่มีอะไร ไม่ต้องกลัว”

ตอนนั่งสมาธิ จิตอยู่ที่ไหน


ผู้ถาม:- “ผมอยากจะถามหลวงพ่อหน่อยครับ คือตอนที่นั่งสมาธินี่นะครับ จิตมันอยู่ที่ไหนครับ…?”

หลวงพ่อ:- “เวลานั่งสมาธินี่ จิตมันอยู่ที่ใจโยมใช่ไหม..?”

ผู้ถาม:- “แต่กระผมได้ยินเขาบอกว่า อยู่ที่ระหว่างคิ้วบ้าง อยู่ที่ปลายจมูกบ้าง ผมก็ยังสงสัยอยู่ครับ”

หลวงพ่อ:- “นั่นเขาเอาอารมณ์เข้าไปจับ คือว่าอารมณ์เข้าไปจับมันที่ไหนก็ได้นะ แต่ว่าตามปกติแล้วพระพุทธเจ้าตรัส ท่านให้จับอยู่ตรงลมหายใจเข้าออก นี่เป็นพุทธพจน์นะ เป็นของพระพุทธเจ้าจริง ๆ เวลาทำสมาธิถ้าทิ้งลมหายใจเข้าออก สมาธิกองอื่น ๆ จะเกิดไม่ได้เลย นี่เราเรียกว่า อานาปานุสสติกรรมฐาน ถ้าทิ้งกรรมฐานกองนี้แล้ว กองอื่น ๆ ทำไม่ได้เลย”

ผู้ถาม:- “ระหว่างที่นั่งลงไปแล้ว ไอ้จิตมันก็คอยคิดแต่เรื่องงานเรื่องการ อันนี้จะทำยังไงครับ…?”

หลวงพ่อ:- “อันนี้เป็นธรรมดาโยม เขาเรียกว่า อุทธัจจะกุกกุจจะ มันเป็นธรรมดาของจิต จิตมันมีสภาพดิ้นรน คิดอยู่เสมอ และเวลาที่เราทำสมาธิก็ต้องเผลอบ้างเป็นธรรมดา ถ้าจะไม่มีการเผลอเลย มีการทรงตัวจริง ๆ เวลานั้นจิตต้องอยู่ในช่วงของฌาน ๔ อันนี้เป็นเรื่องจริง ๆ นะ”

ผู้ถาม:- “วิธีจะดับ จะดับอย่างไรครับ…?”

หลวงพ่อ:- “ผูกคอตายก็ได้”

ผู้ถาม:- (หัวเราะ)

หลวงพ่อ:- “ไอ้คำว่า ดับ ในที่นี้นะคือ ให้จิตหยุดจากอารมณ์ โยมทำไม่ได้หรอก โยมทำจริง ๆ โดยไม่คิดอะไรอื่นไม่ได้ เพราะยังไม่อยู่ในฌาน ๔ และไอ้จิตของเราถ้าให้มันอยู่ในฌาน ๔ จริง ๆ ก็ยาก เพราะว่าต้องให้จิตเข้าถึงฌาน ๔ ก่อน ถ้าเป็นฌาน ๑,๒,๓ ก็ยังดิ้นอยู่ ยังส่ายอยู่

เอาอย่างนี้ดีกว่า การเจริญพระกรรมฐานถ้ามุ่งแบบนี้มันไม่สำเร็จหรอก มุ่งเอาแต่สบายใจ ทำเวลาไหน สบายแค่ไหนพอใจแค่นั้น คือเราไม่ตั้งอารมณ์ไว้ก่อน ถ้าตั้งอารมณ์ไว้ก่อนว่าวันนี้เราต้องการฌาน ๓ ฌาน ๔ วันนั้นจะไม่ได้อะไรเลย มันเกร็งเกินไป ถ้าตั้งใจมากวันนั้นโยมทรงตัวไม่อยู่ จะต้องใช้แบบพระพุทธเจ้าที่เรียกกันว่า มัชฌิมาปฏิปทา คือทำแบบปานกลาง วันไหนสบายใจแค่ไหน วันนั้นเราทำแค่นั้น พอใจแค่นั้น

การที่จะให้จิตได้จริง ๆ ต้องฝึกโดยการตั้งเวลา ถ้าทำสมาธิได้พอสมควรแล้ว ก็เริ่มตั้งเวลา ถ้าฌานน้อย ๆ ก็สัก ๓ นาที หรือใช้นับลูกประคำ ตั้งแต่ ๑ ถึง ๒๐ ในช่วง ๒๐ ไม่ให้จิตไปไหนเลย ถ้าจิตเราวอกแวกไปไหนนิดหนึ่ง เราตั้งต้นนับใหม่ ภาวนาว่า พุทโธ ก็ได้ สัมมาอรหัง ก็ได้ ภาวนาไปจบก็ดึงไปเม็ดหนึ่ง ในช่วง ๒๐ เม็ด เราจะไม่ยอมให้จิตคิดเรื่องอื่นเป็นอันขาด นอกจากคำภาวนา ถ้ามันเริ่มคิดก็ตั้งต้นใหม่ ทำอย่างนี้ ค่อยทำไป ถ้าเห็นจิตจะเฟื่องเลิกเสีย ทำอย่างนี้จนชิน จนกระทั่งหลายวันจิตไม่ไปไหน ก็ขยับไป ๓๐ เม็ด ให้มันทรงตัวจริง ๆ ตอนหลังการทรงฌานสบายมาก”

ผู้ถาม:- “นอกจากเราจะใช้คำว่า พุทโธ หรือ สัมมาอรหัง เราจะใช้คำภาวนาอย่างอื่นได้ไหมครับ เช่น วิระทะโย หรือเป็นคำภาวนาแบบภาษาไทย”

หลวงพ่อ:- “อันนี้อยู่ในเกณฑ์ใช้ได้หมดนี่คุณ เป็นสมถะ อาตมาไม่ได้ห้าม สัมมาอรหัง ก็เป็น พุทธานุสตติกรรมฐาน ถึงแม้ วิระทะโย กล่าวถึงพระ ก็ใช้ได้หมด เป็นกุศลเหมือนกัน”

ผู้ถาม:- “ถ้าหากว่า นึกถึงครูบาอาจารย์องค์ใดองค์หนึ่งได้ไหมครับ…?”

หลวงพ่อ:- “ได้ ถ้าครูบาอาจารย์องค์นั้นเป็นพระสงฆ์ ก็เป็น สังฆานุสสติกรรมฐาน นึกถึงความดีของพระธรรม เป็น ธัมมานุสสติกรรมฐาน แต่ไอ้ตอนนึก ถ้าเห็นว่าจิตมันซ่านเกินไป ก็ใช้คำภาวนาสั้น ๆ แทน ทั้งสองอย่างอนุญาตให้ทำได้หมด เพราะถูกต้องตามแบบ”



ขออนุญาตเรียนถามต่อครับ...

1. งั้นคนที่ พูดว่าตนเองเห็นผี เห็นเทวดา เห็นนรก สวรรค์ ชาตินี้ ชาติหน้า นี่คือ เขาหลงในนิมิตหรือป่าวครับ ความจริงแล้วไม่ได้มีผี ไม่มีเทวดาหรอก สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะสติเตลิดไปเอง หรือจิตสร้างนิมิตลวงขึ้นมาเองหรือป่าวครับ

2. แล้วการฝึกแบบมโนมยิทธิ ที่ให้นึกถึงภาพนรก ภาพสวรรค์ นึกถึงแดนพระนิพพาน
ที่มีพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนหลายแสนพระองค์ นั่งเรียงกันอยู่ โดยมีองค์ใหญ่สุด คือสมเด็จองค์ปฐมต้น หรือพระพุทธเจ้าพระองค์แรก นั่งเป็นประธาน การฝึกแบบนี้ที่บางวัดสอน เรียนถามแต่ละท่านว่า แนวทางนี้ดีเสีย อย่างไรครับ

3. พื้นฐานที่ผมได้รับการสั่งสอนมา มี 2 อย่างครับ คือ
- แบบมโนมยิทธิ กับ
- แบบยุบหนอ พองหนอ

เรียนถามท่านผู้รู้ เพื่อช่วยแนะนำเป็นแนวทาง หากผมเดินทางผิด จะได้ไม่หลงทางไปมากกว่านี้ครับ



ปัญหาของผู้ไม่เคยฝึกมโนมยิทธิมาก่อน


หลวงพ่อ :- “คำว่า มโนมยิทธิ แปลว่า มีฤทธิ์ทางใจ

มโนมยิทธิ นี่เป็นการเตรียมอภิญญา จะเรียกวิชชาสามตรงๆก็เข้มเกินไป จะเรียกอภิญญาก็ยังอ่อนอยู่ เป็นการเตรียมอภิญญา เตรียมเพื่อรับอภิญญาหก

วิชชาสามจริง ๆ ไปไม่ได้ แต่เห็นได้ นั่งอยู่ตรงนี้ สามารถเห็นเทวดา เห็นพรหม เห็นพระอริยะ สามารถคุยกันได้ นั่งอยู่ตรงนี้ สามารถคุยกับเปรตได้ คุยกับอสุรกายได้ คุยกับพวกสัตว์นรกได้ แต่ก็นั่งอยู่ตรงนี้เอง

ทีนี้สำหรับมโนมยิทธินี่ ก็เป็นอภิญญาทางใจส่วนหนึ่ง ต้องถือว่าเป็นกึ่งหนึ่งของอภิญญา เพราะว่าสามารถเอาจิตไป เอากายในไป

ทว่า ถ้าเป็นอภิญญาจริงๆ เขายกตัวไปเลย จะไปสวรรค์ไปพรหม เขาเอาตัวไปเลย นั่นต้องใช้กำลังเข้มแข็งกว่า สูงกว่า แต่ว่ากันโดยผล มีผลเสมอกัน เพราะไปเห็นมาได้เหมือนกัน”

ผู้ถาม :- “หลวงพ่อคะ ถ้าอย่างดิฉันต้องการฝึกบ้าง ต้องใช้เวลากี่วันคะ…?”

หลวงพ่อ :- “ก็สุดแล้วแต่คุณจะทำได้ ถ้าคนทำได้เร็วไม่ถึงวันก็ได้ อันนี้จริงๆนะ ถ้าทำได้เร็วใช้กำลังใจถูกต้อง โดยเฉพาะถ้าเป็นผู้หญิงนี่จะได้เร็วมาก เพราะพวกผู้หญิงนี่ไม่ค่อยสงสัย เพราะตัวสงสัยเป็นตัวนิวรณ์

ส่วนใหญ่จริง ๆ พวกผู้หญิงนี่ มักจะเป็นได้วันแรก นี่พูดถึงส่วนใหญ่นะ แต่พลาดมาวัน ๒ วันที่ ๓ ก็มี ใช้เวลาไม่มากหรอก เราไม่ต้องนับเดือน ไม่ต้องนับปีกัน

ถ้าคุณจะฝึก คุณต้องไปซ้อมกำลังใจเสียก่อน ถ้าซ้อมกำลังใจให้ทรงตัว มาวันแรกก็ได้ มันอยู่ที่ความเข้าใจ คือ ไม่ต้องทำอะไรมาก ทรงอารมณ์ไว้เฉย ๆ

หายใจเข้านึกว่า “นะ มะ” หายใจออกนึกว่า “พะ ธะ” ไม่ต้องทำให้มันเครียดหรอก ให้มันชินเท่านั้นเอง

คำว่า “ชิน” หมายความว่า ถ้าให้เราภาวนาอย่างนี้เมื่อไร เราภาวนาได้ ไม่ต้องไปนั่งเครียดทั้งวันทั้งคืน ซ้อมให้ทรงตัวนะ”

ผู้ถาม :- “หลวงพ่อคะ อย่างเรามีความศรัทธาจะฝึกมโนมยิทธิ เรามีความจำเป็นไหมคะ ที่เราจะต้องรู้รายละเอียดในความหมายของคำภาวนา นะ มะ พะ ธะ”

หลวงพ่อ :- “ก็ไม่ต้องไปละ อยู่ที่เดิมน่ะ ถ้าฉลาดแบบนั้น ไปไหนไม่ได้ เขาให้ภาวนาเพื่อเป็นกำลังของสมาธิเท่านั้น เขาไม่ต้องใช้ปัญญา ปัญญาเขาใช้ส่วนอื่น ถ้าขืนฉลาดแบบนั้นก็อยู่ที่เดิม

การเจริญพระกรรมฐาน เขาต้องไปตามจุด ต้องเฉพาะกิจที่เขาจะสอน ให้แจกแจงนั่น ต้องปฏิบัติในธาตุ ๔ เขาเรียกว่า จตุธาตุววัตถาน ๔ แต่อันนี้ไม่ใช่

เขาต้องการภาวนา เพื่อเป็นกำลังของจิต เพื่อให้จิตเป็นทิพย์ ชื่อเหมือนกัน แต่ใช้กิจต่างกัน

อย่างกับทัพพีเขาใช้คนหม้อข้าว เป็นทัพพีสำหรับหุงข้าว ถ้าเขาไม่มีช้อน เอามาตักข้าวเข้าปาก นี่มันกลายเป็นช้อนไป ใช่ไหม…

นี่ก็เหมือนกัน ต้องใช้เฉพาะกิจของเขา ถ้าเรื่อยเปื่อยไปก็พัง รับรองได้เลย ถ้าเรื่อยเปื่อยไป นอกรีตนอกรอย อีกแสนชาติก็ไม่ได้

ต้องฉลาดพอดี ไม่ใช่ฉลาดเกินพอดี กิจอันนี้เขาทำเพื่ออะไร ถ้าเราจะแจงเป็นธาตุ ๔ ก็ไม่ใช่ลักษณะนี้ นั่นต้องหวลเข้าไปหาสุกขวิปัสสโก ไม่ใช่ฉฬภิญโญ หมวดแต่ละหมวดของกรรมฐาน ปฏิบัติไม่เหมือนกัน”

ผู้ถาม :- “หลวงพ่อคะ บางคนเขาภาวนาว่า “พุทโธ” แต่ว่าทำไมเขาไปได้คะ…?”

หลวงพ่อ :- “ถ้าเขาไปได้แล้ว อะไรก็ได้ ให้มันสตาร์ทติดเสียก่อน ถ้าไปได้แล้วจริง ๆ ไม่ต้องภาวนา นึกปั๊บมันถึงเลย กำลังเขาพอ เข้าใจไหม…

คือว่าคำภาวนาที่เราใช้กันหนัก เพราะเรายังไม่คล่อง แบบเขียนหนังสือน่ะ อ่านหนังสือวันแรก สองวัน สามวัน เขียน ตัว ก.ไม่ได้

ถ้าเขียนคล่องแล้ว นึกเมื่อไรเขียนได้เลย ใครเขาพูด ก็เขียนได้เลยเหมือนกัน ถ้าคล่องจริง ๆ ไม่ต้องภาวนา พอนึกปั๊บมันถึงทันที”

ผู้ถาม :- “หลวงพ่อคะ บทสตาร์ทนี่ ต้อง “นะ มะ พะ ธะ” อย่างเดียวหรือคะ “สัมมาอรหัง” ได้ไหมคะ…?”

หลวงพ่อ :- “เอาแล้ว หาเรื่องตกร่องอีกแล้ว มันมีหลายสิบบท ไม่ใช่บทเดียว แต่ว่าบทนี้เท่านั้น ขณะที่ไปอยู่จึงจะคุยกับคนข้าง ๆ ได้ นอกนั้นเขาไปเงียบ จบจุดแล้วจึงมาเล่าสู่กันฟัง

ฉันคิดว่า ถ้าไปกันเงียบๆ ชาวบ้านเขาจะหาว่าโกหก ฉันจะตัดตัวนี้ คือปัจจุบัน เห็นแล้วคุยได้เลย ถามทางโน้นก็บอกทางนี้ได้ทันที เขาต้องการอย่างนี้

ฉันยังจำคำแนะนำของหลวงพ่อปานได้ เมื่อก่อนฉันจะบวช ฉันบวชนี่ ฉันไม่ได้บวชตามประเพณีกับเขา บวชเพื่อพิสูจน์พระศาสนา พระศาสนาว่า สวรรค์มีจริง นรกมีจริง ฉันจะไปเที่ยว

หลวงพ่อปานท่านบอก ความต้องการของแกน้อยไป ข้าต้องการมากกว่านั้น แต่ว่าแกบวชแล้ว แกต้องรับคำสอนอย่างคนโง่นะ

“อย่างคนโง่” ก็หมายความว่า ท่านบอกตรงนี้ จุดไหน ก็ไปแค่นั้นแหละ เดี๋ยวก็ถึง อันนี้ถูกต้อง เพราะท่านรู้จักทาง ท่านก็นำตรง ถ้าเราฉลาดเกินไป ก็เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวาอีก

ฉันอยู่กับหลวงพ่อปานเดือนเดียว ฉันได้หมด เพราะฉันยอมโง่

อย่างลูกสาวของฉันนี่มันฉลาดมากเกินไป อย่างนี้เขาเรียกว่า “ฉลาดหมาไม่กิน” ใช่หรือเปล่า…?”

ผู้ถาม :- “ใช่ค่ะ”

หลวงพ่อ :- “ถ้าหมากิน เอ็งหมดไปนานแล้ว”

หลวงพ่อพูดให้กำลังใจว่า
หลวงพ่อ :- “ค่อย ๆ ทำไปนะ ไม่ต้องใช้เวลาให้มาก ไม่ต้องไปใช้เวลาที่สงัด นั่งเล่นทำอะไรเล่นก็ตาม นึกอะไรก็ภาวนา

หายใจเข้านึก “นะ มะ” หายใจออกนึกว่า “พะ ธะ” สองสามครั้งก็ได้
ถ้ามันฝืนขึ้นมาก็เลิกกัน ต้องการให้อารมณ์ชินอย่างเดียว

เวลาเขาฝึกจะได้ไม่แย่งกัน ให้แยกกันเสียให้เด็ดขาด

ยามปกติเราต้องการความสุข เราภาวนา “พุทโธ” ของเราไป แต่บางขณะเช่นเวลานี้ ฉันจะเอา “นะ มะ พะ ธะ” ไม่ยอมให้ “พุทโธ” มาแย่ง ไม่กี่วันหรอก อย่างมากก็ ๒-๓ วัน

ถ้าลองจนชินดีแล้ว เราต้องการภาวนา “นะ มะ พะ ธะ” ก็ให้อยู่แค่ “นะ มะ พะ ธะ” พุทโธให้แยกไป ถ้าเราต้องการภาวนา “พุทโธ” ก็ “พุทโธ” ไปตามปกติ
อันนี้ก็ใช้ได้

ค่อย ๆ ทำไปนะ อยู่ที่ความเข้าใจตัวเดียว ใครจะคุมหรือไม่คุม ไม่สำคัญ
ต้องภาวนาถูกต้องตามแบบเขา ไม่งั้นพระพุทธเจ้าก็ไม่วางแบบไว้ซิ ถ้าภาวนาอย่างไรก็ได้ พระพุทธเจ้าจะวางแบบไว้ทำไม สอนเสียอย่างเดียวก็พอใช่ไหม….”

“พุทโธ” น่ะเป็นสายของสุกขวิปัสสโกเขา สายสุกขวิปัสสโก ไปไหนไม่ได้ ได้แต่ตัดกิเลส

สายเตวิชโชก็มีคำภาวนาตั้งหลายสิบแบบ แต่ถ้า “นะ มะ พะ ธะ” เป็นการเตรียมเพื่ออภิญญา จึงไปได้

กรรมฐานไม่ใช่ว่าทำอย่างเดียว แบบจริง ๆ มี ๔๐ แบบ ถ้าเราใช้อะไรก็ใช้แบบที่ถูกต้อง ไม่งั้นไปไม่ได้”

ผู้ถาม :- “สมมุติว่าหนูฝึก “พุทโธ” หลวงพ่อจะฉุดหนูไปได้ไหมคะ…?”

หลวงพ่อ :- “ได้ ฉุดลงใต้ถุนไป ไม่มีทาง จะฉุดได้ยังไง พระพุทธเจ้าท่านยังไม่ฉุดใคร หลวงพ่อจะไปฉุดเอ็งเข้า ดีไม่ดี เขาจะมาตีเอาตาย โทษหนักเสียด้วย โทษถึงประหารชีวิต เรื่องอื่นยังพอทำเนา บรรเทาโทษได้ แต่ว่าเรื่องนี้ประหารชีวิตกันเลยนะ หนอยแน่…

ไม่ได้หรอก ไอ้หนู ต้องฝึกเอง แล้วทำไมภาวนา “นะ มะ พะ ธะ” ไม่ได้..?”

ผู้ถาม :- “รู้สึกว่ามันเหนื่อยคะ”

หลวงพ่อ :- “แล้วที่ด่าชาวบ้าน ทำไมทำได้ล่ะ…?”

ผู้ถาม :- “หนูไม่เคยด่าใครคะ ครั้งเดียวไม่เคยค่ะ…”

หลวงพ่อ :- “น่ากลัวไปล่อหลายเที่ยว”

ผู้ถาม :- “(หัวเราะ)

หลวงพ่อ :- “ไอ้นี่ต้องคิดซิว่า “พุทโธ”เหมือนกับนั่งอยู่กับบ้าน ถ้าเราจะไปอเมริกา เดินไปมันก็ไม่ไหว ก็ต้องขึ้นเครื่องบินไป แบบ “นะ มะ พะ ธะ” เขาฝึกเพื่อหาเครื่องบินไป

การฝึกในพระพุทธศาสนา เขามีตั้ง ๔ ประเภท ถ้าแบบใหญ่จริง ๆ มี ๔๐ แบบ แบบย่อยอีกนับพัน

อย่าง”นะ มะ พะ ธะ” เป็นส่วนหนึ่งของอภิญญา แต่ก็ยังไม่เข้าถึงอภิญญาจริง ต้องถือว่าเตรียมเพื่ออภิญญา นี่เขามีจำกัดนะ แต่ว่าการปฏิบัติแบบนี้ เขาก็มีหลายสิบแบบนะ ถ้าเป็นแบบเก่า คนข้าง ๆ ถามไม่ได้ ฉันก็ไม่อยากสอนใคร

ฝึกแบบนี้ ถ้าไปได้ คนข้าง ๆ สามารถถามได้ตลอดเวลา ไปถึงไหน ๆ เล่าได้ตลอดเวลา ถ้านอกจากนี้ ไปก็นั่งเงียบอยู่คนเดียว เลิกแล้วกลับมาจึงเล่าสู่กันฟัง อย่างนี้ฉันว่าของเก่านั้นของดี แต่ว่าพวกที่เขามีความสงสัย ก็จะคิดว่าพวกนี้มาโกหก

จึงไปหาแบบนี้มา แบบนี้ก็ไม่ได้สร้างเอง เป็นของพระพุทธเจ้าเหมือนกันคนข้าง ๆ สามารถถามได้ เวลานี้ไปถึงไหน แล้วจะบอกได้ตลอดเวลา

หาอย่างนี้มา ๒๓ ปี กว่าจะพบตำรานี้ ไม่ใช่ค้นคว้าเองนะ ทราบอยู่ว่าของพระพุทธเจ้าท่านมี แต่ตำราที่เราฝึก เราไม่พบ กว่าจะพบก็สิ้นเวลาบวชไป ๒๓ ปี

แต่ว่าวิธีอื่นน่ะทำได้ ถ้าเพื่อส่วนตัวนี่ ทำได้ตั้งแต่พรรษาต้น แต่ว่าเราจะรู้ เราก็ต้องรู้คนเดียว เลิกมาแล้วจึงมาเล่าสู่กันฟัง ทีนี้สำหรับคนรับฟัง ก็จะหาว่าโกหก

อย่างสมมุติว่า พ่อเขาตาย แม่เขาตาย เขาถามว่าพ่อแม่เขาอยู่ที่ไหน ตามผีนี่ตามง่ายกว่าตามคน ต้องการจะพบใคร มันพบทันที ถ้าเราจะเอาให้แน่นอน เมื่อพบแล้วก็ให้เขาแสดงตัว

เวลาที่เป็นมนุษย์รูปร่างเป็นอย่างไร แสดงให้ดูซิ เวลาป่วยยังไง ผอมหรืออ้วน อาการป่วยที่คนพอจะรู้ได้ ขอให้บอก พวกที่เขาถาม เขารู้ว่าเคยป่วยแบบไหน เขาอาจจะไม่รู้ทั้งหมด รู้จุดใดจุดหนึ่งนะ เขาจะบอกให้ฟัง

ถ้าถามถึงโรค มีอยู่หลายราย เขาบอกว่า ที่หมอหรือพยาบาลบอกว่าตายด้วยโรคนั้น ๆ จริง ๆ มันไม่ใช่ เขาตายอีกโรคหนึ่ง แต่พยาบาลเขาเข้าใจว่าโรคนั้น

นี่เราต้องถามอาการที่คนอื่นจะรู้ เขาทำท่าให้ดูเสร็จเรียบร้อย แล้วก็บอกคนข้างๆว่าพบแล้ว เวลาที่มีชีวิตอยู่ รูปร่างเป็นอย่างนี้ ใช่ไหม… และอาการที่จะตายจริง ๆ มีลักษณะแบบนี้ใช่ไหม… คนนี้สมัยที่มีชีวิตอยู่ เป็นคนใจดี หรือชอบหัวเราะ หน้าบึ้งขึงจอ อะไรก็ตาม ถามเขา เขาบอกตามความจริงทั้งหมด

คงเข้าใจแล้วนะ สำหรับท่านที่ยังมีความสงสัยในคำภาวนาและการฝึกแบบนี้ แต่ก็คงจะสงสัยอย่างอื่นอีก จึงขอนำปัญหาและคำตอบให้คลายสงสัยเสีย”

ผู้ถาม :- “หลวงพ่อคะ ถ้าหากฝึกมโนมยิทธิสามารถขึ้นไปข้างบนได้แล้ว จะหลงวกวนอยู่บนนั้นไหมคะ…?”

หลวงพ่อ :- “แหม……อีหนูเอ๊ย อยากให้หลงจริง ๆ ถ้ามันไปติดอยู่วิมานใดวิมานหนึ่ง แหม…ดีจริง ๆ”

ผู้ถาม :- “ไม่หลงใช่ไหมคะ…?”

หลวงพ่อ :- “ไม่หลงหรอก”

ผู้ถาม :- “แล้วที่ครูเขาแนะนำว่าไปที่วิมาน วิมานอยู่ที่ไหนคะ…?”

หลวงพ่อ :- “ถ้าเราไปถึงพระนิพพานได้ วิมานบนพระนิพพานก็ต้องมี เมื่อไปถึงนิพพานได้ เขาจะบอก ๒ จุด เพราะว่า ครูเขาไม่มีเวลาสอนมาก ถ้าเราขึ้นไปบนสวรรค์ ดูวิมาน ของเรามีไหม… ถ้าไม่มีก็ไปดูวิมานของเราที่พรหมมีไหม…

ถ้าไม่มีก็เหลืออยู่แห่งเดียวที่นิพพาน แสดงว่าชาตินี้ตายแล้วไปนิพพานแน่

ถ้าหากว่าวิมานที่สวรรค์ยังมีอยู่ หรือยังมีอยู่ที่พรหม และวิมานที่นิพพานมีอยู่ แสดงว่าจิตเราจับวิปัสสนาญาณได้เล็กน้อย แต่มันหมองมันไม่แจ่มใส แต่วิมานเราอยู่จุดที่แน่นอน อันนี้แจ่มใส

ถ้าวิปัสสนาญาณเราดีพอ จิตเราเข้าถึงโคตรภูญาณ วิมานข้างล่างนี่จะหายหมด มันจะเหลือหลังเดียวข้างบน ถ้าเหลือหลังเดียวข้างบน ตายแล้วมันไม่มีที่อยู่ ต้องไปอยู่หลังนั่นแหละ

ถ้าพอถึงนิพพานแล้วยังถามว่าไปไหนอีก ถ้าอารมณ์ใจยังพอใจในการเที่ยว ก็แสดงว่ากิเลสยังหนาอยู่

ถ้าเที่ยวไป ๆ ไม่ช้ามันจะเบื่อเที่ยว จิตมันจะรักอารมณ์อยู่จุดหนึ่ง คือ ขึ้นไปนิพพานมันก็ไม่อยากขึ้น มันอยากจะตัดขันธ์ ๕ สบาย ๆ อารมณ์จิตเป็นสุข

แต่ก็มีเกณฑ์บังคับว่า นิพพาน ต้องไปทุกวัน เพื่อให้จิตมันจับเป็นเอกัคคตารมณ์ แปลว่า จิตมันเป็นหนึ่งเดียว ต้องการอย่างเดียว คือ นิพพาน ให้มีความผูกพัน

แล้วไปนิพพานไปที่ไหน…? นิพพานมี ๒ จุดที่เราจะไปก็คือ ที่ประทับของพระพุทธเจ้าและก็วิมานของเรา ถ้าเราไม่เห็นพระพุทธเจ้า เรานึกถึงท่าน ท่านจะมาทันที คือว่าจิตอย่าปล่อยพระพุทธเจ้า ให้จิตมันเกาะไว้เป็นอารมณ์ ทีนี้ตายแล้วก็มาที่นี่แหละ

เรื่องของชีวิต มันจะตายเมื่อไรก็ช่าง คือว่าอย่าไปคิดว่ามันจะอยู่อีก ๒ ปี ตื่นขึ้นมา เราคิดว่าเราอาจจะตายวันนี้ มันถึงจะถูก อันนี้เป็น มรณานุสสติกรรมฐาน ใช่ไหม…

ถ้าวันนี้มันจะตายมันจะไปไหน ตื่นขึ้นมาปั๊บ เราคิดว่าเราจะตายวันนี้ จิตพุ่งปรู๊ดขึ้นนิพพานเลย ขึ้นไปแล้ว สัก ๒-๓ นาทีก็ช่าง ให้อารมณ์มันสดชื่น พิจารณาขันธ์ ๕ เท่านั้นแหละ

ถ้าจิตตอนเช้า เราจับเป็นอารมณ์ไว้ แล้วกลางวัน เราก็ไม่ได้นึกถึงนิพพาน มัวนั่งพูดกับเพื่อนบ้าง ทะเลาะกับเพื่อนบ้าง ขัดคอกับเพื่อนบ้าง หลบหน้าเจ้าหนี้บ้าง ตามเรื่องตามราวนะ บังเอิญตายวันนั้น มันก็ไปนิพพาน เพราะตอนเช้าเราตั้งอารมณ์ไว้แล้วใช่ไหม…

คืออารมณ์ตอนเช้า เวลาที่จิตมันสบายตั้งอารมณ์ไว้เลย ตั้งอารมณ์ไว้ก็อย่าตั้งไว้เฉย ๆ ไปเลย ไปนั่งอยู่ข้างหน้าพระพุทธเจ้าให้จิตมันชื่นใจ

เวลานั่งข้างหน้าพระพุทธเจ้ามันสบายใจ ใช่ไหม…ท่านสวย ท่านสว่าง ดูแล้วไม่อิ่มไม่เบื่อ อารมณ์มันก็มีความสุข คิดว่าที่นี่เป็นที่ที่เราจะมาในเมื่อขันธ์ ๕ มันพัง ให้ทำแบบนี้นะ”

ผู้ถาม :- “แล้วอย่างสมมุติว่า คนที่เขาฝึกได้แล้ว เขาไปได้ เขาก็เห็นวิมานของเขา แสดงว่าเขามีวิมานอยู่ ถ้าหากเราอยู่อย่างนี้ เราทำแต่ความดี เราจะมีวิมานไหมคะ…?”

หลวงพ่อ :- “เราก็มีบ้านอยู่”

ผู้ถาม :- “หนูอยากมีวิมานค่ะ”

หลวงพ่อ :- “ไปสร้างกุฏิสักหลังซิ”

ผู้ถาม :- “มีจริง ๆ หรือคะ?”

หลวงพ่อ :- “วิมานน่ะ เขามีด้วยกันทุกคน ถ้าทำความดี แต่ว่าเราจะสามารถไปเห็นวิมานของเราหรือไม่ อย่างการก่อสร้าง วิหารทาน สร้างโบสถ์ สร้างกุฏิ สร้างส้วม สร้างศาลา อะไรก็ตามเถอะ เราเอาเงินไปร่วมกับเขาด้วยความตั้งใจจริง วิมานจะปรากฏเลย เราจะรู้หรือไม่รู้อยู่ที่การฝึกจิต อย่างที่เขาฝึก “นะ มะ พะ ธะ” กัน”


webmaster - 28/1/17 at 15:43

นั่งสมาธิแล้วเป็นบ้า.. บ้าอะไรกันแน่
(โพสต์โดย คุณ sirnitfi)
topicstock.pantip.com/religious/topicstock/2011/03/Y10307164/Y10307164.html


......การปฏิบัติธรรมเจริญพระกรรมฐานมีความเป็นกังวลกันว่า ทำมากๆ แล้วจะเป็นบ้า เป็นโรคประสาท หรือหลงไปไหนต่อไหน จริงๆ แล้วการปฏิบัติพระกรรมฐานนั้นไม่ทำให้เป็นเช่นนั้น แต่ที่คนเป็นเช่นนั้นกัน เพราะนอกรีตนอกรอย ปฏิบัติแบบคิดเองเออเอง ห่างครูบาอาจารย์ห่างตำรา วันนี้ขอเล่าเรื่องที่ได้ยินได้ฟังได้อ่านได้รู้มา ไม่ได้นึกคิดขึ้นมาเองนะครับ

อย่างแรก..การปฏิบัตินั้นเพื่อคุณงามความดี เพื่อความหลุดพ้น แถวบ้านเรียกว่าเพื่อพระนิพพาน อันนี้ท่านว่าให้ยึดไว้เลย ไม่งั้นเสียผู้เสียคนได้ง่าย คือต้องปฏิบัติเพื่อเอาดีกัน โดยที่การปฏิบัติเพื่อเข้ากระแสพระอริยะนั้นจะประกอบด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา ดังนั้นผู้ที่จะปฏิบัติพระกรรมฐานควรจะมีศีลเป็นพื้นฐานที่หนักแน่น

ถ้าเป็นฆาราวาสต้องมีศีล๕ อย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่มามีตอนสมาทานศีลก่อนเข้าพระกรรมฐาน ไม่ขอทวนศีล ๕ แต่ขอเน้นว่าให้รักษาศีลแบบจริงจังคือ ไม่ผิดศีลเอง ไม่แนะนำให้คนอื่นผิดศีล และไม่ยินดีเมื่อรู้ว่าคนอื่นผิดศีล หน้าที่การงานที่ต้องรับผิดชอบขอให้ทำจนหมดจนสิ้น อย่าได้ค้างคา ทั้งนี้เพื่อตัดความกังวลใจต่างๆให้หมดไป

ต่อมาขอให้ทราบด้วยว่าบทสมาทานพระกรรมฐานนั้น คือการมอบตัวถวายชีวิตแด่พระพุทธเจ้า ขอให้ปฏิบัติกันอย่างจริงจัง จริงใจ อย่าทำเล่นๆ หรือทำแบบเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ดังนั้นก่อนปฏิบัติพระกรรมฐานขอให้พิจารณาขันธ์ ๕ กันเสียก่อน โดยแนวทางของผมจะพิจารณาตามบทสวด

"สังเวคะปะริกิตตะนะปาฐะ" และ "อะภิณหะปัจจะเวกขะณะ"

ที่ทำก็เพื่อไม่ต้องห่วงร่างกาย ร่างกายจะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน ด้วยกรรมฐานมีอานิสงส์ใหญ่ ถ้าโชคดีต้องตายในระหว่างปฏิบัติ ก็ไปเกิดในที่ๆสบายทั้งนั้น

ขอให้ทราบไว้ว่าพระกรรมฐานมีมากมาย ที่ทราบปกติก็มีอยู่ ๔๐ กอง ขอให้เลือกเอาตามจริตของแต่ละคนก็จะดีมากๆ เช่น โทสะจริต ท่านให้เจริญพรหมวิหาร ๔ หรือกสิณ ๔ เรื่อง "จริต" กับพระกรรมฐานหาข้อมูลกันไม่ยาก ใช้คำสองคำนี้หาใน google มีเพียบ

แต่ผมขอแนะนำให้ปฏิบัติ "อานาปานุสสติกรรมฐาน" ให้คล่องเสียก่อนจะดีมาก เพราะเป็นกรรมฐานระงับอารมณ์ฟุ้ง เมื่อได้แล้วไปเริ่มกรรมฐานกองอื่นจะง่าย ถ้าใครปฏิบัติกรรมฐานกองอื่นแล้วมีอารมณ์ฟุ้ง ให้ใช้อานาปานุสสติเข้ามาควบคุมจะดีมาก

จากนั้นท่านั่งท่านอนท่ายืนท่าเดินในการปฏิบัติ ทำที่บ้านขอให้ทำแบบสบาย หากลำบากในการนั่งขัดสมาธิสองชั้น หรือขัดสมาธิเพชรเนื่องจากร่างกายไม่อำนวย ก็นั่งแบบไหนก็ได้ เพราะนักปฏิบัติจริงๆแล้วเขาเอาทุกท่าทุกขณะ จะห้อยขา หลังพิงฝา หรือจะนอนก็ได้ แต่ระยะแรกๆยังไม่แนะนำให้นอน กลัวจะหลับซะก่อน ที่แนะนำอย่างนี้เพื่อให้ตัดความกังวลเรื่องร่างกายไปซะ

โปรดทราบไว้ด้วยว่า การปฏิบัติพระกรรมฐานให้ได้ผลนั้น ต้องไม่หักโหมปฏิบัติโดยมีหลักคือ ไม่ทรมานร่างกายตัวเองมากเกินไป ถ้ายังไม่ได้เป็นผู้ทรงฌานเป็นปกติแล้ว ปฏิบัติได้แค่ไหนให้เอาแค่นั้น การตั้งเวลานั้นสำคัญ คือต้องไม่ทำหักโหมจนไม่ได้พักผ่อน

เรื่องทรมานร่างกาย พระพุทธเจ้าท่านทำมาแล้วไม่ได้ผล เราไม่จำเป็นต้องไปวัดรอย และต้องไม่อยากได้มากเกินไป เช่น ปฏิบัติกสิณ ก็เคร่งเครียดจะเอาภาพนิมิตอยู่นั่น อันนี้แหละจะทำให้เป็นบ้า คืออยากได้มากเกินไป มันก็ฟุ้ง พอฟุ้งนิวรณ์มาแล้วสมาธิก็ไม่เกิด เมื่อสมาธิไม่เกิดนิมิตก็กำหนดไม่ได้ ก็ยิ่งฟุ้งไปกันใหญ่ มันเป็นงูกินหางเห็นมั้ย

ถ้าวันไหนปฏิบัติแล้วจิตไม่สงบอารมณ์ฟุ้งกระจาย ท่านให้เลิกปฏิบัติ ไปทำโน่นทำนี่ จะดูหนังดูละครก็ว่าไป อย่ามาเคร่งเครียดจะเป็นจะตายต้องทำให้ได้ อันนี้ท่านไม่แนะนำ ยกเว้นกรณีที่ว่าจะเป็นผู้ทรงฌานเป็นปกติแล้ว อันนี้จะทดสอบตัวเองก็ไม่ว่ากัน แต่ถ้าระยะเริ่มต้นเริ่มแรก ขอให้ทำแบบสบายๆไว้ก่อน เพราะจิตต้องการความสบายนะ

ว่ากันถึง "นิมิต" นิมิตที่เราจะเอามาใช้งานให้เป็นนิมิตที่เรากำหนดหรือสร้างเอง เช่น วงกสิณ นิมิตนี้ขอให้ศึกษาการทรงอารมณ์ให้อยู่ได้นาน ให้ได้สม่ำเสมอ นึกเมื่อไหร่ก็มาเลย แต่นิมิตที่เราไม่เอา หรือไม่ต้องสนใจ คือนิมิตที่ลอยมาหรือผุดขึ้นมาเอง เช่น ภาพอะไรต่างๆ แสงสีต่างๆ ไม่ต้องสนใจ

บางทีเห็นภาพนางฟ้าเทวดา เข้ามาแวบหนึ่ง แล้วเราอยากเห็นอีก อันนี้สมาธิตกแล้วนะ เพราะการเห็นภาพเหล่านั้นเป็นเพราะสมาธิใกล้ถึงฌานแล้วอารมณ์ใจมันได้ มันก็เลยผุดขึ้นมาให้เห็น แต่เรากำหนดมันไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ ขอให้เห็นก็สักแต่ว่าเห็น มันมีสองทางคือไม่สนใจมันก็ได้ หรือจะเพลิดเพลินไปกับมันก็ได้ แต่ให้รู้ไว้ว่าเรายังไม่ได้ฝึกมาเพื่อให้เห็นมัน

ดังนั้นมันก็มาแค่นั้นแหละ อย่าไปต้องการอยากได้ เพราะถ้าต้องการอยากได้มันไม่มาให้เห็นหรอก นิวรณ์มาแล้วสมาธิก็ไม่เกิด นิมิตพวกนี้อาจจะเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น อุปาทาน สัญญาเก่าก็ว่ากันไป (ผมเองก็ไม่สนใจจะรู้ด้วยสิว่าเพราะอะไร) แต่ไม่ใช้ทิพจักขุญาณแน่นอน ดังนั้นมันไม่มีความสำคัญอะไรหรอก ปล่อยๆ มันไป

ที่พิมพ์มาทั้งหมดไม่ใช่ว่าตัวเองเก่ง หรือว่าได้สมาธิขั้นไหนๆ เพียงแต่ตั้งใจจะแบ่งปัน เพราะเห็นกังวลกันว่าทำสมาธิแล้วจะเป็นบ้า จะหลง ทั้งๆ ที่ถ้าปฏิบัติเอาดีกันนั้นมันไม่เป็นอย่างนั้นเลย เอาดีคือ เพื่อกุศล เพื่อพระนิพพาน

ถ้าตั้งอารมณ์ใจให้ถูก เรื่องบ้านั้นไม่มี เรื่องหลงนั้นไม่ได้ จะบ้ายังไง ก็บอกแล้วให้ปฏิบัติสบายๆอย่าเคร่งเครียดและหักโหม จะหลงอะไร หลงในนิมิต ก็บอกแล้วว่ามันเป็นสิ่งไม่สำคัญอะไร เอามาใช้งานไม่ได้

หลงว่าตัวเองดี.. อันนี้ไม่ต้องปฏิบัติกรรมฐานหรอก คนมันจะหลงนะ แค่มีศีลข้อเดียวมันก็หลง แต่ถ้าปฏิบัติเอาดีกันเนี่ย มันจะตรวจสอบตัวเองเสมอว่าดีพอหรือยัง ส่วนใครปฏิบัติพระกรรมฐานแล้ว มีคนเขาหาว่าเป็นบ้าอันนี้อาจจะเป็นไปได้ เพราะใครเขามาด่า นักปฏิบัติก็ยิ้ม เขาชม นักปฏิบัติก็ยิ้ม ได้อะไรมา ก็ยิ้ม เสียอะไรไป ก็ยิ้ม จะสุขหรือทุกข์ก็ยิ้ม ที่ยิ้มนะเพราะเห็นความจริงของโลกธรรม ๘ เขาเห็นก็เลยคิดว่าเป็นบ้า อันนี้มีเป็นเรื่องปกติ แต่นักปฏิบัติที่ดีจะไม่บ้า ไม่หลงในกิเลส อันนี้แหละที่เราต้องการหรือเปล่า

ถ้าขาดตกบกพร่องหรือทำให้ใครขุ่นข้องหมองใจต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ ด้วยว่าไม่มีเจตนาให้เป็นเช่นนั้น ขอให้ความสุขสวัสดีจงมีแก่ทุกๆ คนนะครับ


webmaster - 3/2/17 at 10:01

หลักการปฏิบัติธรรมของวัดท่าซุง

หนังสือธรรมะ และ ซีดีธรรมะ


...ตามความเห็นของผู้จัดทำเว็บไซด์ เรื่องการเผยแพร่หลักคำสอนของวัดท่าซุงนี้ สังเกตได้ว่าทางวัดจัดพิมพ์เป็น "หนังสือธรรมะ" มานานแล้ว และบันทึกเสียงหลวงพ่อฯ เป็น "ซีดี" (ปัจจุบันนี้ทำเป็น MP3 บรรจุใน Flash Drive) โดยจัดเรียงไว้เป็นหมวดหมู่เพื่อให้ง่ายต่อการศึกษา แล้วนำมาเผยแพร่ต่อสาธารณชนทั่วไป


ส่วนที่จะปฏิบัติผิดเพี้ยนไปนั้น พบว่ามีสถิติน้อยมาก พวกเราส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด ก็มีความเข้าใจในหลักปฏิบัติของวัดท่าซุง ส่วนน้อยนิดนั้นเท่าที่พบเห็น อาจจะปฏิบัติจนเกินพอดี เช่นพักผ่อนไม่เพียงพอ คือไม่หลับไม่นอนติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน เป็นต้น

ถ้าเป็นเช่นนี้คิดว่าทางวัดก็คงไม่รับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเป็นเรื่องส่วนบุคคล เนื่องจากก่อนการปฏิบัติ ทางวัดก็ได้จัดอบรมปฐมนิเทสก์เป็นส่วนรวมแล้ว คือมือการชี้แจงเรื่องระเบียบวินัย และข้อวัตรปฏิบัติบางอย่าง ที่ควรระมัดระวัง คือพระวิทยากรตักเตือนหรือชี้แนะไว้ก่อนแล้ว เพื่อไม่ให้ย่อหย่อนหรือเคร่งเครียดจนเกินไป ส่วนที่ปฏิบัติได้แล้วทางครูฝึกก็แนะนำวิธีการรักษาแนวทางไว้ สำหรับรายการคำสอนของวัดท่าซุง เท่าที่เห็นมี ๒ หมวดดังต่อไปนี้



หมวดที่ ๑ หนังสือธรรมะ

หนังสือธรรมะ
โดย..หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (พระมหาวีระ ถาวโร)
ลำดับที่รายชื่อหนังสือราคาเล่มละ
001ประวัติหลวงพ่อปาน (ฉบับปรับปรุงใหม่ที่วัดท่าซุง) 100 บาท
002คู่มือปฏิบัติกรรมฐาน35 บาท
003กรรมฐาน ๔๐50 บาท
004ธรรมปกิณกะ ๒30 บาท
005มหาสติปัฏฐาน ๔25 บาท
006 มงคล ๓๘ และอุทุมพริกสูตร25 บาท
007ไตรภูมิ25 บาท
008ปฏิปทาของท่านผู้เฒ่า25 บาท
009เรื่องจริงอิงนิทาน (เล่ม ๑-๓) เล่มละ25 บาท
010 เรื่องจริงอิงนิทาน (พิเศษ)40 บาท
011หลวงพ่อธุดงค์50 บาท
012ธัมมวิโมกข์รายเดือน เล่มละ25 บาท
013การฝึกมโนมยิทธิ (แบบครึ่งกำลัง)10 บาท
014หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม (เล่ม ๑-๑๑) เล่มละ10 บาท
015มโนมยิทธิและประวัติของฉัน50 บาท
016หนีนรก15 บาท
017แนะวิธีหนีนรกแบบง่ายๆ35 บาท
018นิทานอิงประวิติศาสตร์10 บาท
019วิธีฝึกกรรมฐานด้วยตนเองแบบง่ายๆ10 บาท
020สวดมนต์แปล (ฉบับวัดท่าซุง)50 บาท
021พรหมวิหาร ๔20 บาท
022ทางสายเข้าสู่พระนิพพาน15 บาท
023มโนมยิทธิแบบเต็มกำลัง20 บาท
024บารมี ๑๐20 บาท
025กฎของกรรม (เล่ม ๑-๕) เล่มละ20 บาท
026สังโยชน์ ๑๐10 บาท
027จุไรท่องเที่ยวดวงดาว 35 บาท
028คู่มือปฏิบัติคู่วัดท่าซุง (เล่ม ๑-๒) เล่มละ60 บาท
029สู่แสงธรรม โดย พล.อ.ต.มนูญ ชมภูทีป20 บาท
030บันทึกการท่องเที่ยวสวรรค์ของรัชนี10 บาท
031มิลินทปัญหา โดย วัฒนไชย60 บาท
032พรสวรรค์ (รวมเล่ม ๑-๒-๓)70 บาท
033ชาโดว์ (รวมเล่ม ๑-๒),(รวมเล่ม ๓-๔),๕,๖,๗,๘)60 บาท
034จดหมายจากหลวงพ่อ โดย พล.อ.ท.ม.ร.ว.เสริม ศุขสวัสดิ์30 บาท
035ล่าพระอาจารย์และท่องเชียงแสน โดย ป่อง โกษา30 บาท
036พ่อรักลูก เล่ม ๑-๒-๓ ฉบับพิเศษ เล่มละ15 บาท
037พ่อรักลูก โดยเฉพาะ15 บาท
038ตามรอยพระพุทธบาท (เล่ม ๑-๒-๓-๔) เล่มละ200 บาท
039อิทธิฤทธิ์ หรือ ความบังเอิญ ของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ
โดย พ.ต.อ.อรรณพ กอวัฒนา
100 บาท
040ลูกศิษย์บันทึก เล่ม 3150 บาท
041หนังสืออ่านเล่น ชุดที่ 1 รวมเล่ม 1,2,340 บาท
042ตายไม่สูญ...แล้วไปไหน70 บาท
043การอุทิศส่วนกุศล10 บาท
044รวมคำสอนธรรมปฏิบัติ
เล่ม (3,4,5,6,7,8,9,10,11,12,13,14,15,16) เล่มละ
200 บาท
045สมบัติพ่อให้ (พิมพ์ใหม่ ปกแข็ง) เล่มละ250 บาท
046ประวัติวัดท่าซุงและหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีวัดท่าซุง)40 บาท
.



หมวดที่ ๒ ซีดีธรรมะ

ก. พระวินัย (ย่อ) และธรรมปฏิบัติฯ..............................ฒ. บุคคลตัวอย่างที่ควรยึดถือเป็นหลักในการปฏิบัติ
ข. มหาสติปัฏฐานสูตร...............................................ณ. พระสูตรเพื่อการศึกษาปฏิบัติธรรม
ค. กรรมฐาน 40.......................................................ด. มหาชาดก (ทศชาติ)
ง. การฝึกอารมณ์ให้เป็นพระอริยะ แบบสุกขวิปัสสโก.........ต. สอนพระกรรมฐานในพรรษาปี 2521
จ. เทศน์ถวายเรื่อง จริต 6...........................................ถ. หมวดฝึกมโนมยิทธิ
ฉ. บารมี 10 ทัศและวิปัสสนาญาณ 9.............................ท. เทปออกใหม่ ปี 2527
ช. การฝึกปฏิบัติ แบบเตวิชโช......................................ธ. เทปออกใหม่ ชุดกรรมฐาน 40 (ย่อ) ปี 2531
ซ. การฝึกปฏิบัติ แบบฉฬภิญโญ....................................น. เทปบันทึกลงหนังสืออ่านเล่น
ฌ. การฝึกปฏิบัติ แบบปฏิสัมภิทัปปัตโต...........................บ. หมวดทั่วไป
ญ. ผลแห่งการทำบาปอกุศล..........................................ป. ชุดลงหนังสือกฎของกรรม
ฎ. ประสบการณ์ฝึกมโนมยิทธิ.......................................ผ. รายการเทปออกใหม่ (ปี 2543)
ฏ. ปกิณกธรรม (สมาทานกรรมฐาน-ทำวัตร-คาถาเงินล้าน...ฝ. หมวดเบ็ดเตล็ด (จุไรท่องเที่ยวดวงดาว)
ฐ. ธรรมะจากพระสูตร (วิสาขาคนสวย, วิสาขาคนรวย).......พ. เล่าเรื่องที่ลานธรรม


(ไฟล์ pdf http://www.watthasung.com/kitti/TAPE_CD.pdf ดาวน์โหลดไปอ่านได้)


webmaster - 4/2/17 at 06:09

.