(Update 10 พฤศจิกายน 2560)
ประวัตินางนพมาศ
"....ตามประวัติ นางนพมาศ ได้เกิดในตระกูลพราหมณ์ บิดามีนาม โชตรัตน์ มีบรรดาศักดิ์ว่า.. ออกพระศรีมโหสถ ยศกมเลศ ครรไลยหงส์ พงศ์มหาพฤฒาจารย์
มีเกียรติยศยิ่งกว่านักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งปวง รับราชการในฐานะเป็นปุโรหิต ณ กรุงสุโขทัย มี หน้าที่บังคับบัญชากิจการตกแต่งพระนคร มีการทำพระราชพิธี ๑๒
เดือน เป็นต้น
...ส่วนมารดาชื่อ นางเรวดี เมื่อนางจะตั้งครรภ์นั้น ฝันว่าได้เยี่ยมพระบัญชรสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน ชมแสงจันทร์จนตกใจตื่น แม้พระศรีมโหสถก็ฝันว่า
ได้เห็นดอกไม้นานาพันธุ์แย้มบานเกสรอยู่สะพรั่งในมิใช่ฤดูกาล และมีกลิ่นหอมระรื่นตลบอบอวล
ความฝันทั้งสองนี้พยากรณ์ว่า จะได้บุตรเป็นหญิง จะมีวาสนาพรั่งพร้อมไปด้วยสติปัญญาและเกียรติยศ เป็นที่พึ่งแก่วงศ์ญาติทั้งหลาย ครั้นถึงวันจันทร์ ขึ้น ๑๕
ค่ำ เป็นวันเพ็ญ กลางเดือน ๓ ปีชวด อันเป็นเวลาที่ภาคพื้นอากาศปราศจากเมฆ พระจันทร์ทรงกลดแสงประภัสสร รัศมีขาวเจือสีเหลืองอ่อน
กาลนั้นนางก็คลอดจากครรภ์มารดา
หมู่ญาติมิตรทั้งหลายก็นำเครื่องทองชนิดต่างๆ มาทำขวัญ เช่น ดอกไม้ทอง สนอบเกล้าทอง จุฑาทอง ประวัตรทอง กุณฑลทอง ธุรำทอง วลัยทอง ของ ๗
สิ่งนี้เฉลิมขวัญท่านบิดาจึงให้นามว่า นพมาศ (มีผู้แปลว่า ทองเนื้อเก้า)
แล้วอาราธนาพระมหาเถรานุเถระ ๘๐ องค์ จำนวน ๗ วัด มาเจริญพระพุทธมนต์ในบท มงคลสูตร รัตนสูตร และมหาสมัยสูตร จนครบ ๗ วันแล้วอัญเชิญ พราหมณาจารย์
ผู้ชำนาญในไตรเพทอีก ๖๐ คน มากระทำพิธีชัยมงคลอีก ๓ วัน
เพื่อสมโภชธิดาผู้เกิดใหม่ให้มีความสวัสดิมงคล เสร็จแล้วก็ถวายไทยธรรมแก่พระเถระ ด้วยไตรจีวรกับของที่เป็นบริวารทั้งหลาย
และสักการะหมู่พราหมณ์ด้วยทรัพย์เป็นอันมาก
ในการเลี้ยงดูนางเมื่อเยาว์วัย บิดามารดาก็ได้คัดเลือกเอาแต่ผู้ที่มีความเฉลียวฉลาดในวิชาต่างๆ ให้เป็นผู้ดูแล พี่เลี้ยงก็จะสอนให้ร้อยกรองให้วาดเขียน
เป็นต้น
ครั้นจำเริญวัยอายุได้ ๗ ปี บิดาก็ให้ศึกษาวิชาต่างๆ เป็นต้นว่า อักษรไทย อักษรสันสกฤต ภาษาบาลี พอแปลได้ เรียนคัมภีร์ไตรเพท แต่งกลบทกลอน กาพย์ โคลง
ฉันท์และลิลิต เรียนตำรับโหราศาสตร์ ดาราศาสตร์และตำราพยากรณ์ จนอายุได้ ๑๕ ปี ก็มีความ ชำนิชำนาญเฉลียวฉลาด รู้คดีโลกและคดีธรรม
นับเป็นสตรีนักปราชญ์ได้ผู้หนึ่ง
นางนพมาศจึงเป็นยอดหญิงสุโขทัย ที่มีความเฉลียวฉลาดในวิชาการต่างๆ มีความชำนาญในด้านภาษา วรรณคดี การขับร้อง ดนตรี บทกวีต่างๆ และมีรูปโฉมงดงามอีกด้วย
จนเป็นที่ยกย่องสรรเสริญกันโดยทั่วไป มีความตอนหนึ่งที่ท่านได้บันทึกชีวิตส่วนตัวไว้ว่า...
...วันคลอดจากครรภ์มารดา พื้นอากาศก็ปราศจากเมฆ พระจันทร์ก็ทรงกลดแสงประภัสสร รัศมีขาวเจือสีเหลืองอ่อน เสวยฤกษ์บุษยวันเพ็ญ เดือน ๓ ปีชวด
ประกอบกับมีฉวีวรรณเรื่อเรืองเหลือง ประดุจชโลมลูบด้วยแป้งสารภีทั่วทั้งกรัชกาย จึงให้นามข้าน้อยนี้ว่า... นพมาศ
จากความงามทั้ง ๓ ประการของนางคือ งามรูปสมบัติ งามทรัพย์สมบัติ และปัญญาสมบัติ จึงทำให้ชาวเมืองสุโขทัยต่างก็สรรเสริญทุกเช้าค่ำ
กิตติศัพท์นี้ก็แพร่หลายเล่าลือต่อๆ กันไป...
(Update 17 พฤศจิกายน 2560)
ตำแหน่งพระสนมเอก
"....อันความงามของนางนพมาศนั้น ได้เล่าลือไปจนกระทั่งมีทิศาปาโมกข์ผู้หนึ่ง ได้ผูกกลอนสรรเสริญนางนพมาศขึ้นไว้ ๓ บท
อันกลอนทั้ง ๓ บทนี้ บรรดาหญิงชายทั้งหลาย ต่างก็พากันขับร้องและดีดพิณยลโฉม คุณความดีของนางอยู่โดยทั่วไป จนแม้พนักงานบำเรอพระเจ้าแผ่นดินก็จดจำได้
จนกระทั่งถึงวันหนึ่งได้ขับเพลงพิณบทนี้ บำเรอถวายสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน ครั้นได้ทรงสดับก็พอพระทัยแล้วสอบถามว่า เป็นความจริงหรือแกล้งสรรเสริญกันไปเอง
ท้าวจันทรนาถภักดี ผู้เป็นใหญ่ฝ่ายในได้กราบทูลว่าเป็นความจริง นางอายุได้ ๑๕ ปี ควรจะได้เป็นพระสนมกำนัลอยู่ในพระราชฐาน
สมเด็จพระร่วงเจ้าจึงมีรับสั่งให้นำนางนพมาศ เข้ามาเป็นพระสนมอยู่ในพระราชวัง เพื่อเป็นเกียรติยศแก่ ออกพระศรีมโหสถ ผู้บิดา ท้าวจันทรนาถฯ
รับพระราชบัญชาก็มาแจ้งให้พระศรีมโหสถทุกประการ
เมื่อพระศรีมโหสถได้ทราบดังนั้น ก็ รู้สึกอาลัยธิดายิ่งนัก แต่ก็ได้ทราบมาแล้วแต่ต้นว่า นางนี้เกิดมาสำหรับผู้มีบุญ จึงยินยอมตามพระราชประสงค์
และจะได้เลือกหาวันอันเป็นมงคล เพื่อนำธิดาของตนขึ้นทูลถวายต่อไป
นับตั้งแต่นั้นมาชีวิตของนาง จึงได้หันเหเข้ามาอยู่ในแวดวงของสตรีผู้สูงศักดิ์ เพื่อสนองพระ เดชพระคุณสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภายในพระราชสำนัก
ครั้นถึงวันอันเป็นมงคล พระศรีมโหสถได้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์ และเชิญพราหมณ์มาทำพิธีให้เป็นสวัสดิมงคล แล้วเชิญหมู่ญาติมิตรมาประชุม
นางนพมาศก็ทำการเคารพหมู่ญาติมิตรทั้งหลายนั้น บรรดาญาติมิตรต่างก็พากันอวยชัยให้พรแก่นางนพมาศนานาประการ
(Update 24 พฤศจิกายน 2560)
ข้อปฏิบัติให้มีผู้เมตตา ๑๒ ประการ
".... ฝ่ายบิดาคือ "พระศรีมโหสถ" และบรรดาญาติมิตรทั้งหลาย เมื่อได้ฟังถ้อยคำ "นางนพมาศ"
ดังนั้นแล้วก็ชื่นชมยินดีชวนกันสรรเสริญอยู่ทั่วไป ลำดับที่ ๒ พระศรีมโหสถได้ตั้งปัญหาถามต่อไปว่า
...การที่จะเข้าไปอยู่ใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดินนั้น จะสามารถประพฤติตนให้ถูกพระราชอัธยาศัยในขัตติยประเพณี ซึ่งมีอยู่ในตระกูลอันสูงศักดิ์ได้หรือไม่
เพราะสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินมีพระอัครมเหสีถึง ๒ พระองค์ และนางพระสนมกำนัลอีกเป็นอันมาก เจ้าจะกระทำตนให้ทรงพระเมตตาได้หรือ?...
นางนพมาศตอบว่า ลูกสามารถกระทำได้ แต่ใจหาคำนึงว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระเมตตาหรือไม่ แต่ว่าจะอาศัยสิ่งต่างๆ ต่อไปนี้
เป็นเครื่องช่วยเหลือให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเมตตาเองกล่าวคือ :-
...๑. จะอาศัย ปุพเพกะตะปุญญะตา ซึ่งได้สร้างสมมาแต่ชาติก่อนสนับสนุน
...๒. ตั้งใจจะประกอบความเพียรอย่างสุดความสามารถ ไม่เกียจคร้านในราชกิจการงานทั้งปวง
...๓. จะใช้สติปัญญาพิจารณาสิ่งผิดและชอบ แล้วเว้นไม่กระทำสิ่งที่ผิด มุ่งแต่จะประพฤติในสิ่งที่ชอบ
...๔. จะใช้ความพินิจพิจารณา สอดส่องให้รู้พระราชอัธยาศัย แล้วจะประพฤติให้ต้องตามน้ำพระทัยทุกประการ มิถือเอาใจตัวเป็นประมาณ
...๕. จะประพฤติและปฏิบัติการงานโดยสม่ำเสมอ ไม่ทำงานลุ่มๆ ดอนๆ
...๖. จะรักตัวของตัวเองยิ่งกว่ารักผู้อื่น
...๗. จะไม่เกรงกลัวผู้ใดให้ยิ่งไปกว่าเจ้านายของตนเอง
...๘. จะไม่เข้าด้วยกับผู้กระทำผิด
...๙. จะเพ็จทูลข้อความใดๆ ลูกจะกราบทูลแต่ข้อความที่เป็นจริงเท่านั้น
...๑๐. จะไม่นำพระราชดำริอันใด ที่เป็นความลับออกเปิดเผยเป็นอันขาด
...๑๑. จะวางใจให้มั่นคงต่อกิจการงานทั้งปวง ไม่โลเลและแชเชือน
...๑๒. จะจงรักภักดีต่อองค์สมเด็จพระ เจ้าอยู่หัวโดยไม่เสื่อมคลาย
(Update 1 ธันวาคม 2560)
คุณสมบัติ ๗ ประการ
"...อนึ่ง ลูกเป็นคนใหม่เพิ่งจะเข้าไปถวายตัว ยังหารู้ขนบธรรมเนียมสิ่งใดไม่
ฉะนั้นเพื่อสามารถปฏิบัติการงานในหน้าที่ให้ลุล่วงไปจนได้ ลูกจึงจะวางวิธีของลูกไว้ดังนี้
...๑. ในขั้นต้น ลูกจะต้องระวังรักษาตัวกลัวต่อความผิด ไม่ทำอะไรวู่วามลงไป
...๒. จะต้องคอยสังเกตผู้ที่โปรดปรานคุ้นเคยพระราชอัธยาศัย ว่าประพฤติและปฏิบัติอย่างไร จักได้จดจำนำมาปฏิบัติต่อไป
...๓. เมื่ออยู่นานไป ได้รู้เช่นเห็นช่องในกิจการบ้างแล้ว ก็จะได้พากเพียรเฝ้าแหนมิให้ขาดได้
...๔. เมื่อใดสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำรัสใช้การงานแม้เพียงเล็กน้อย ก็จะตั้งใจกระทำให้ดีที่สุด สมพระราชหฤทัยประสงค์ให้จงได้
...๕. ต่อไปถ้าได้เห็นว่าทรงพระเมตตาขึ้นบ้างแล้ว แม้สิ่งใดจะมิได้ทรงรับสั่งใช้แต่สามารถจะกระทำได้ ก็จะกระทำโดยมิได้คิดเหนื่อยยากเลย
...๖. เมื่อตระหนักแน่แก่ใจว่าทรงโปรดอย่างใดแล้ว ก็จะได้ชักชวนคนทั้งหลาย ให้ช่วย กันกระทำในสิ่งที่ชอบพระราชอัชฌาสัย
...๗. เมื่อได้กระทำดังนี้แล้ว หากจะไม่ทรงพระเมตตา ก็จะไม่น้อยเนื้อต่ำใจอย่างใด จะนึกเพียงว่าเป็น อกุศลกรรม ที่ได้กระทำไว้แต่ปางหลังเท่านั้น
และจะคงกระทำความดีอยู่เช่นนั้นโดยมิเสื่อมคลาย...
แล้วนางได้ยกอุทาหรณ์นิทานเรื่อง นกกระต้อยตีวิด และเรื่อง ช้างแสนงอน มาเล่าประกอบด้วย พระศรีมโหสถและบรรดาญาติมิตรทั้งหลาย ต่างได้ฟังก็มีความยินดีใน
สติปัญญาของนางเป็นอันมาก และพากันสรรเสริญอำนวยพรอยู่ทั่วกัน...
(Update 8 ธันวาคม 2560)
การกระทำเพื่อความมีชื่อเสียง
"ในวาระสุดท้ายท่านบิดาได้ตั้งปัญหาถามต่อไปว่า...
...ลูกจะคิดสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างไร ให้ตนเองมีชื่อเสียงปรากฏอยู่ในแผ่นดิน?...
นางนพมาศก็ตอบว่า
...อันจะกระทำการสนองพระเดชพระคุณพระเจ้าแผ่นดิน จนมีชื่อเสียงปรากฏเลื่องลือนั้นสำหรับสตรีกระทำได้ยากนัก ถ้าเป็นบุรุษอาจจะกระทำได้หลายประการ เช่น
ทำการรณรงค์สงคราม ทำกิจการงานพระนคร ในสิ่งที่ยากลำบากให้สำเร็จได้ด้วยดี หรือวินิจฉัยถ้อยความให้เป็นไปโดยยุติธรรม
หรือจะหาของวิเศษอัศจรรย์มาทูลเกล้าถวายเหล่านี้เป็นต้น
แต่ราชการฝ่ายสตรีที่สำคัญก็คือราชการในพระราชวัง ซึ่งก็ตกเป็นพระราชภาระของพระอัครมเหสีทั้งสองอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นใน
ส่วนตัวของลูกก็จะมีแต่ความจงรักภักดี ตั้งใจสนองพระเดชพระคุณด้วยความกตัญญูกตเวทีอันสะอาดบริสุทธิ์
แม้ในการนั้นหากจำเป็นจะต้องเสียทรัพย์สินส่วนตัวมากเพียงใด หรือแม้ถึงกับจะต้องเสียสละเลือดเนื้อหรือชีวิตก็ดี
ก็เต็มใจอุทิศถวายสนองพระเดชพระคุณโดยมิได้อาลัย
อนึ่ง ในการปฏิบัติให้ทรงพระเมตตานั้นลูกปรารถนาที่จะให้ทรงโปรดปรานแต่ในความดีของลูกเท่านั้น การที่จะใช้เสน่ห์เล่ห์กลเวทมนตร์คาถา และกลมารยาต่างๆ
เพื่อให้ทรงเมตตาโปรดปรานนั้น
ลูกจะละเว้นไม่ประพฤติเป็นอันขาด หรือแม้ลูกจะได้ดีมียศถาบรรดาศักดิ์เพียงใดก็ดี ก็จะยิ่งกระทำความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
จะไม่กำเริบใจว่าทรงรักใคร่แล้วเล่นตัว หรือกดขี่เหยียดหยามผู้อื่น...
แล้วนางได้ยกอุทาหรณ์นิทานเรื่อง นางนกกระเรียนคบนางนกไส้ช่างยุ มาประกอบด้วย ในที่สุดนางก็สรุปว่า...
อันนิทานที่ยกมาเล่านี้ ก็เพื่อให้ผู้ฟังจำไปสอนใจตนเองว่า อย่าประพฤติเป็นคนต้นตรงปลายคด และการคบมิตรก็ต้องคบที่เป็นกัลยาณมิตร
นักปราชญ์จึงจะสรรเสริญ
อันว่าการคิดถูกและคิดผิด พูดจริงและพูดเท็จ ใจซื่อและใจคด ยั่งยืนและโลเล เรียบร้อยและเล่นตัว สุภาพและดีดดิ้น ปกติและมารยา มักตื่นและมักหลับ
มีสติและหลงลืมอุตสาหะและเกียจคร้าน ทำดีและทำชั่ว หรือกัลยาณมิตรและบาปมิตร
บรรดาของคู่กันเหล่านี้ จะประพฤติอย่างหนึ่ง และละเสียอย่างหนึ่งเช่นนี้ ลูกก็สามารถจะเป็นผู้มีชื่อเสียงปรากฏอยู่ในแผ่นดินได้...
(Update 15 ธันวาคม 2560)
ประวัตินางนพมาศ (จบ)
"....พระศรีมโหสถและบรรดาญาติมิตรผู้นั่งฟังอยู่ ณ ที่นั้นก็แซ่ซ้องสาธุการอยู่ทั่วกัน ในคืนนั้น นางเรวดีผู้มารดาก็ได้ให้โอวาท
แก่นางอีกเป็นอันมาก กล่าวคือ..มิให้ตั้งอยู่ในความประมาท ให้เคารพแก่ผู้ควรเคารพ ให้ประพฤติจริตกิริยาในเวลาเฝ้าแหนหมอบคลานให้เรียบร้อย
ให้แต่งกายเรียบร้อยงามสะอาดต้องตาคน ประพฤติตนให้ถูกใจคนทั้งหลายฝากตัวแก่เจ้าขุนมูลนาย คอยระวังเวลาราชการอย่าให้ต้องเรียกหรือต้องคอย
ต้องหูไวจำคำให้มั่น อย่าถือตัวหยิ่งจองหอง ให้เกรงกลัวอัครมเหสี ทั้งสอง เป็นต้น นางนพมาศก็รับคำเป็นอันดี
ครั้นรุ่งเช้าเป็นวันศุกร์เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๐ ค่ำ จุลศักราช ๖ ปีมะโรง ฉ ศก อันเป็นเวลา ที่นางมีอายุนับปีได้ ๑๗ ปี นับเดือนได้ ๑๕ ปี กับ ๘ เดือน ๒๔ วัน
นางเรวดีผู้มารดา ได้ให้แต่งกายอันประดับด้วยอาภรณ์นานาชนิดมาคำนับลาบิดาและบรรดาญาติ แล้วขึ้นระแทะไปกับมารดา
มีบ่าวไพร่ติดตามไปพอสมควรเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง
นางเรวดีได้นำไปยังจวน ท้าวจันทร นาถภักดี และ ท้าวศรีราชศักดิ์โสภา ซึ่ง เป็นใหญ่ในชะแม่พระกำนัล เพื่อนำขึ้นเฝ้า "สมเด็จพระร่วงเจ้า"
อันมีพานข้าวตอกดอกมะลิ พานข้าวาร พานเมล็ดพันธุ์ผักกาด พานดอก หญ้าแพรก ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายด้วย
สมเด็จพระร่วงเจ้าทรงรับและมีพระราชปฏิสันถารกับนางเรวดีพอสมควร และพระราชทานรางวัลพอสมควรแก่เกียรติยศ
แล้วทรงพระกรุณาโปรดให้นางนพมาศเข้ารับราชการในตำแหน่ง พระสนม นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา...
ฉะนั้น ด้วยคุณความดีที่นางได้นำมาเป็นหลักปฏิบัติดังกล่าวนี้ ต่อมานางนพมาศได้รับบรรดาศักดิ์เป็น ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ตำแหน่งพระสนมเอก
จึงได้รับการยกย่องเชิดชูว่า เป็นแบบอย่างของกุลสตรีไทย ที่สืบทอดวัฒนธรรมและจริยประเพณี
เพื่อผูกพันกับสถาบันชาติศาสนา และพระมหากษัตริย์ นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จวบจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ก็ยังมีการจัดริ้วขบวนแห่นางนพมาศ ลอยกระทงทรงประทีป
จุดดอกไม้เพลิง เพื่อบูชารอยพระพุทธบาท ณ ริมฝั่งน้ำนัมทา โดยยึดถือเป็นประเพณีประจำชาติไทยกันตลอดมา
(Update 22 ธันวาคม 2560)
ประวัติ "รอยพระพุทธบาททั้ง ๕ แห่ง"
" .....สําหรับรอยพระพุทธบาทที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ซึ่งได้ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกนั้นมีอยู่ ๕ แห่ง ดังนี้คือ
...๑. สุวัณณมาลิก
...๒. สุวัณณบรรพต
...๓. สุมนกูฏ
...๔. โยนกปุระ
...๕. นัมทานที
ตามความเชื่อของคนโบราณต่างมีความเชื่อถือมานานแล้วว่า ครั้งหนึ่งในชีวิต หากได้มีโอกาสไปนมัสการรอยพระพุทธบาท นับว่ามีบุญวาสนาเป็นอย่างยิ่ง
จึงมีประเพณีพากันเดินไปนมัสการรอยพระพุทธบาท โดยเตรียมเสบียงอาหารไปกินระหว่างทาง
แม้สมัยหลวงพ่อบวชอยู่กับ หลวงปู่ปาน ท่านก็ได้นำคณะธุดงค์ไปกราบ "รอยพระพุทธบาท" และ "พระฉาย" ที่จังหวัดสระบุรีเช่นกัน
ต่อมาในสมัยปัจจุบันนี้ถนนหนทางดีขึ้น ประเพณีเดินไปนมัสการพระพุทธบาทก็เริ่มเสื่อมหายไป เพราะใครจะไปเมื่อไรก็ได้ เนื่องจากมีความสะดวกเกินไปนั่นเอง
ความศรัทธาในเรื่อง "รอยพระพุทธบาท" จึงเริ่มจืดจางความสำคัญไป แต่ที่ยังมีความเชื่อความเลื่อมใสก็ยังมีอีกมากมาย เช่นที่รอยพระพุทธบาทบน
เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี
โดยเฉพาะเนื่องในวโรกาสครบรอบ ๖๐ พรรษา ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีการจัดสร้าง รอยพระพุทธบาทจำลองทองคำ เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม
พ.ศ. ๒๕๓๕ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองอีกด้วย เวลานี้หลังจากพระราชพิธีพุทธาภิเษกแล้ว ได้นำไปประดิษฐานไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
สำหรับวัดของเราเคยมีข่าวดีในเรื่องนี้เช่นกัน นั่นคือมีการเททอง "รอยพระพุทธบาทจำลอง" เพื่อนำไปประดิษฐานไว้ที่โบสถ์เก่า
เป็นการทดแทนรอยพระพุทธบาทเดิมที่หายไป ตั้งแต่สมัยเจ้าอาวาสองค์เก่าแล้วนั้น
ต่อไปขอนำความเชื่อถือของคนสมัยก่อน เกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ยังปรากฏให้เห็นเป็นหลักฐานอยู่ ไม่ว่าจะเป็นคัมภีร์ใบลาน หรือศิลาจารึก
ยังสามารถค้นหามาอ้างอิงได้ เพื่อเป็นการสานต่อความเชื่อถือระหว่างคนสมัยก่อนกับคนสมัยนี้ และเพื่อสืบต่อไปยังคนรุ่นหลังอีก
ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงได้ริเริ่มฟื้นฟู "รอยพระพุทธบาท" ที่พระพุทธเจ้าทรงประทับไว้ เพื่อเรียกความศรัทธาให้กลับมาเหมือนเดิม
แต่ก่อนที่จะนำหลักฐานต่างๆ มาอ้างอิงนั้น ใคร่ขอนำหลักฐานจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้มาให้ทราบก่อน
ซึ่งตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญหลายท่านวิเคราะห์แตกต่างกันไป ยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่า รอยพระพุทธบาททั้ง ๕ แห่ง ที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกนั้น
ในปัจจุบันนี้จะเป็นสถานที่ใด และอยู่ในประเทศไหนบ้าง เป็นต้น
แต่บางแห่งก็วิเคราะห์ลงเป็นแนวเดียวกัน ที่มีปัญหาถกเถียงกันไม่มีที่สิ้นสุดจนถึงปัจจุบันนี้ มีด้วยกัน ๒ แห่ง คือ รอยพระพุทธบาทที่ ๔
และที่ ๕ คือ "โยนกปุระ" และ "นัมทานที"
...ในตอนนี้ ผู้เขียนขอนำคำวิเคราะห์ของ ดร.นันทนา ชุติวงศ์ ซึ่งปรากฏอยู่ในหนังสือ "รอยพระพุทธบาท"
ที่ได้กล่าวถึงรอยพระพุทธบาทที่ปรากฏอยู่ในประเทศไทยอินเดีย ลังกา และพม่า จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์เมืองโบราณ โดยเฉพาะรอยพระพุทธบาท ๕ แห่งนั้น
ท่านวิเคราะห์ไว้ดังนี้
..."สุวัณณมาลิก" คงจะได้แก่ที่ตั้งพระสถูป รุวันเวลิ ที่อนุราธปุระ ในลังกา
..."สัจจพันธ์คีรี" คือเขาสุวรรณบรรพต ที่สระบุรี
..."สุมนกูฏ" อันอาจจะหมายถึง "เขาสุมนกูฏ" ในลังกา หรือ "เขาพระบาทใหญ่" ที่สุโขทัย
..."แม่น้ำนัมทา" ในอินเดีย หรือในพม่า
..."โยนกปุระ" โยนกปุระที่กล่าวถึงนี้ อาจจะหมายความถึงดินแดนภาคเหนือของไทย ที่เคยเป็นอาณาจักรล้านนา และ อาณาจักรโยนก
ดร.นันทนา ได้ให้ความเห็นต่อไปว่า มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ภาพเขียนฝาผนัง หรือลายทองรดน้ำบนตู้พระธรรม สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ที่แสดงเรื่องรอยพระพุทธบาท ๕ รอยที่มีอยู่ซ้อน
และรอยนี้มักจะปรากฏอยู่ทางทิศเหนือของแผ่นภาพ อาจจะหมายถึงรอยพระพุทธบาทที่ "โยนกปุระ" ซึ่งได้แก่ "อาณาจักรล้านนา"
อันมีประเพณีการทำพระบาท ๔ รอยมาก่อนที่อื่น และนิยมทำมากกว่าที่อื่นๆ
(Update 29 ธันวาคม 2560)
รอยพระพุทธบาทที่ ๔ โยนกปุระ
(พระพุทธบาทสี่รอย อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่)
" .....ตามที่ผู้เขียนได้นำข้อวินิจฉัยของ "ดร.นันทนา ชุติวงศ์" ซึ่งปรากฏอยู่ในหนังสือ "รอยพระพุทธบาท"
ที่ได้กล่าวถึงรอยพระพุทธบาทที่ปรากฏอยู่ในประเทศไทย อินเดีย ลังกา และพม่า จัดพิมพ์โดย "สำนักพิมพ์เมืองโบราณ" โดยเฉพาะ "รอยพระพุทธบาท ๕ แห่ง" นั้น
ท่านวิเคราะห์ "รอยพระพุทธบาทที่ ๔ โยนกปุระ" ไว้ว่า...
"...โยนกปุระที่กล่าวถึงนี้ อาจจะหมายความถึงดินแดนภาคเหนือของไทย ที่เคยเป็นอาณาจักรล้านนา และ อาณาจักรโยนก.."
...ข้อวินิจฉัยตรงนี้มีความสำคัญมาก "ดร.นันทนา" อาจจะหมายถึง พระพุทธบาทสี่รอย อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
ซึ่งชื่อเดิมเรียกกันว่า "พระพุทธบาทเขารังรุ้ง" แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานอะไรมารับรอง เพราะท่านผู้อ่านก็ยังสงสัยอยู่ว่า "พระพุทธบาทสี่รอย"
จะเป็น "รอยพระพุทธบาทที่ ๔" ได้อย่างไรกัน
แต่นับเป็นความโชคดีเป็นอย่างยิ่ง ที่เราสามารถค้นหาหลักฐานมายืนยันกันได้ จากข้อวินิจฉัยของ ดร.นันทนา ว่า "รอยพระพุทธบาทที่ ๔ โยนกปุระ"
นั้น อาจจะเป็นที่ พระพุทธบาทสี่รอย อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
ซึ่งผู้เขียนจะได้นำ "ประวัติพระพุทธบาทสี่รอย" มาให้อ่านก่อน แล้วจะนำข้อความในศิลาจารึกมารับรองอีกว่า "พระพุทธบาทสี่รอย" หรือ
"พระพุทธบาทเขารังรุ้ง" นี้
จะเป็นพระพุทธบาทที่ประทับไว้ ณ โยนกบุรี ซึ่งเป็นรอยพระพุทธบาทที่ ๔ ที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกหรือไม่ ส่วนจะมีเหตุผลเป็นประการใด
ก็ฝากไว้ให้ท่านผู้อ่านทั้งหลายได้ช่วยกันวินิจฉัยต่อไป
(Update 5 มกราคม 2561)
รอยพระพุทธบาทที่ ๔ โยนกปุระ (ต่อ)
.....ในตอนนี้ พระเดชพระคุณ "หลวงปู่สิม" วัดถ้ำผาปล่อง ก็ได้ยืนยันไว้เช่นกันในหนังสือ "พุทธาจารานุสรณ์"
ที่แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๖ ว่า..
.....ในเขตเชียงใหม่นี้ ยังมีพระบาทสี่รอยอยู่ในเขตอำเภอแม่ริม แต่ว่าลึกเข้าไปในภูเขา หลวงปู่ผู้เทศน์ไปดูมาแล้ว ไปกราบไปไหว้
มันเป็นก้อนหินก้อนใหญ่ เป็นก้อนสี่เหลี่ยมขึ้นไปอยู่ข้างริมแม่น้ำ
พระพุทธเจ้ากกุสันโธได้มาตรัสรู้ในโลก ท่านก็มาเหยียบรอยพระพุทธบาทไว้ในยอดก้อนหินนั้น ยาวขนาด ๑๒ ศอก...ขนาดนั้น
พระพุทธเจ้ากกุสันโธก็โปรดเวไนยสัตว์ทั้งหลาย นำพระสาวก อุบาสก อุบาสิกาไปสู่นิพพาน
เมื่อหมดศาสนาพระพุทธเจ้ากกุสันโธแล้ว ศาสนาพระพุทธเจ้าโกนาคมโนก็มาตรัสมาสอนรื้อขนสัตว์ไปอีก ก่อนนิพพาน ท่านก็มาเหยียบไว้ที่พระบาทแม่ริมนี้
เป็นรอยที่สอง (ขนาด) ลดลงมา คือคนสมัยนั้นก็เรียกว่า มันกำลังทดลง ไม่ได้ใหญ่ขึ้น (ตัวเล็กลง)
เมื่อพระพุทธเจ้าโกนาคมโนนิพพานไปพร้อมด้วยสาวกแล้ว ศาสนธรรมคำสอนท่านหมดไป ก็มาถึงพระสั มมาสัมพุทธเจ้ากัสสโป มาตรัสรู้ ท่านก็มาเหยียบไว้
ได้สามรอยละ....
เมื่อศาสนาพระพุทธเจ้ากัสสโป หมดไปแล้ว มาถึงศาสนาพระพุทธเจ้าของเราในปัจจุบันนี้ ให้ชื่อว่า พระพุทธเจ้าโคตมโคตร
พระพุทธเจ้าโคดมมาตรัสรู้ก่อนที่ท่านจะนิพพาน ก็มาเหยียบรอยพระบาทไว้ในก้อนหินก้อนเดียวกัน จึงให้ชื่อว่า พระพุทธบาทสี่รอย
หลวงพ่ออุตตมะ ได้กล่าวถึง พระบาทสี่รอย เอาไว้ว่า .....พระพุทธบาทสี่รอยนี้ เราเคยได้ธุดงค์ไปกราบมาแล้ว...
สมัยก่อน ตอนที่เรายังธุดงค์อยู่ในเขตภาคเหนือนั้น เราเคยได้ยินเขาเล่าลือกันว่า มีรอยพระพุทธบาทอยู่ที่โยนกนคร (ปุระ) เราก็ธุดงค์ไปหาอยู่
สมัยที่เราไปนั้น เป็นราว พ.ศ. ๒๔๙๐ ถนนหนทางยังไม่มี เราต้องธุดงค์ข้ามเขาไปหลายลูก จึงไปถึงพบเป็น ๔ รอยพระบาท...
พระพุทธบาทสี่รอยนี้ ทางเมืองนอก (พม่า) เขาก็รู้ และเสาะหาอยู่เหมือนกัน คิดกันไปว่าน่าจะอยู่ในเขตพม่า แต่จริงๆแล้ว
ก็มาอยู่ที่เมืองไทยเรานี่แหละ....พระพุทธบาทสี่รอยนี่ เป็นของจริง จริงๆ นะ.....
ส่วนข้อความในหนังสือ "ประวัติพระพุทธบาทสี่รอย" ได้กล่าวต่อไปอีกว่า...
"....เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานล่วงแล้วประมาณ ๒๐๐๐ วัสสา เทวดาทั้งหลายต้องการจะให้ พระพุทธบาทสี่รอย ปรากฏแก่คนทั้งหลาย
จึงเนรมิตเป็น รุ้ง (เหยี่ยว) ตัวใหญ่ บินโฉบลงมาเอาลูกไก่ของชาวบ้านที่อยู่เชิงเขานั้น แล้วก็บินกลับขึ้นไปสู่ยอดเขา
ชาวบ้านผู้นั้นก็โกรธมาก จึงตามขึ้นไปแต่ก็ไม่เห็น รุ้ง ตัวนั้น เห็นแต่รอยพระพุทธบาทสี่รอย
จึงได้ลงมาบอกเล่าแก่ชาวบ้านทั้งหลายต่างก็พากันขึ้นไปสักการบูชามากมาย แต่นั้นมาจึงได้ชื่อว่า พระบาทรังรุ้ง (รังเหยี่ยว)
ในสมัยนั้น "พระยาเม็งราย" ครองเมืองเชียงใหม่ ได้ทราบข่าวจึงเสด็จขึ้นไปกราบไหว้บูชา และพระราชาที่สืบราชสมบัติต่อมา
ก็ได้ขึ้นไปกราบพระพุทธบาทสี่รอยทุกๆ พระองค์ หลังจากนั้น "พระบาทรังรุ้ง" หรือ "รังเหยี่ยว" นี้ จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น "พระพุทธบาทสี่รอย"
ซึ่ง "ครูบาเจ้าศรีวิชัย" ท่านได้สร้างพระวิหารครอบรอยพระพุทธบาทไว้เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๒
ต่อมาในสมัยปัจจุบันนี้ "ท่านครูบาพรชัย" และชาวเชียงใหม่ ตลอดถึงจังหวัดต่างๆ ซึ่งรวมทั้งคณะศิษย์ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน
ก็ได้ไปทอดกฐินเพื่อสมทบทุนบูรณะปฏิสังขรณ์พระวิหาร จนกระทั่งสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และมีความสวยสดงดงามมาก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๖
เมื่อท่านผู้อ่านได้ติดตามมาถึงตอนนี้ ก็คงจะเริ่มเห็นเหตุเห็นผลไปตามหลักฐานอย่างชัดเจน แต่ก็ยังไม่มีอะไรมายืนยันข้อสันนิษฐานของ ดร.นันทนา ว่า
"พระบาทสี่รอย" หรือ "พระบาทรังรุ้ง" จะเป็นพระบาทรอยที่ ๔ ที่ทรงประทับไว้ ณ โยนกปุระ ที่นักประวัติศาสตร์ นักโปราณคดีทั่วโลก
ต่างก็ค้นหากันมานาน
แต่เมื่อผู้เขียนได้พบข้อความจากหนังสือ "ย่อประวัติวัดพระเชตุพน" ซึ่งคัดมาจากศิลาจารึก อันติดอยู่ที่พื้นผนังกำแพงมุขหลังของพระวิหาร
อันเป็นที่ประดิษฐานพระนาคปรก ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ ข้อความในศิลาจารึกได้บรรยายเรื่องพระพุทธบาททั้ง ๕ แห่ง โดยเฉพาะรอยพระพุทธบาทที่ ๔
"โยนกปุระ" ได้จารึกไว้ว่า
"...รอยพระพุทธบาทอันพระพุทธเจ้าทรงประดิษฐานไว้บนยอดเขา "รังรุ้ง" แดนโยนกประเทศ คือเมืองเชียงใหม่..." ดังนี้
(Update 12 มกราคม 2561)
สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
....เรื่อง "พระพุทธบาทเขารังรุ้ง" หรือรังเหยี่ยวนี้ ยังมีกล่าวไว้ในหนังสือสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกเล่มหนึ่ง
ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา นั่นก็คือหนังสือ "คำให้การขุนหลวงหาวัด" ได้บรรยายความตอนนี้ไว้ว่า
"...สมัยสมเด็จพระนเรศวรยกทัพไปรบที่เมืองห่าง พระองค์ทรงทราบว่ามีรอยพระพุทธบาทอยู่บนยอดเขา เรียก "เขารังรุ้ง"
จึงได้เสด็จขึ้นไปนมัสการ
พระองค์ได้ทรงเปลื้องเครื่องทรงทั้งสังวาลและภูษา แล้วทรงถวายไว้ในรอยพระพุทธบาท และทำสักการบูชาด้วยธง ธูปเทียน ข้าวตอกดอกไม้
มีเครื่องทั้งปวงเป็นอันมาก แล้วจึงทำการพิธีสมโภชอยู่เจ็ดราตรี ดังนี้,,"
...เป็นอันว่า เมื่อผู้เขียนได้นำหลักฐานต่างๆ เหล่านี้มาเทียบเคียงกันแล้ว ท่านผู้อ่านคงจะสรุปได้ว่า
"รอยพระพุทธบาทที่ ๔ โยนกบุรี" ตามที่หากันมานานนั้น บัดนี้ได้เปิดเผยความจริงแล้วว่า อยู่ในผืนแผ่นดินไทยในภาคเหนือนี่เอง
รวมความว่า พระพุทธบาท ๕ รอยนั้น ประดิษฐานอยู่ที่ลังกา ๒ แห่ง คือ รอยที่ ๑ "สุวัณณมาลิก" และรอยที่ ๓ "สุมนกูฏ" ส่วนรอยที่ ๒
"สุวรรณบรรพต" และรอยที่ ๔ "โยนกปุระ" และรอยที่ ๕ "นัมทานที" ก็คงอยู่ในประเทศไทยนี่เอง
ถ้าดูตามแผนที่ประเทศไทยแล้วจะเห็นว่า พระพุทธเจ้าได้ประทับไว้ตั้งแต่เหนือจรดใต้ คือ..
...ภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่
...ภาคกลาง คือ สระบุรี และ
...ภาคใต้ คือ ภูเก็ต
อันเป็นการครอบคลุม "อาณาจักร" และ "พุทธจักร" ไว้ด้วยกัน เป็นการประทับไว้ล่วงหน้า ก่อนที่จะรวมกันเป็นประเทศไทยอย่างสมัยปัจจุบันนี้
อีกทั้งเป็นการกำหนดขอบเขตให้เป็นเมืองผ้ากาสาวพัสตร์ ที่จะต้องโบกสะบัดไปไม่มีที่สิ้นสุด ตราบเท่าครบอายุพระศาสนา ๕๐๐๐ ปี
หลังจากพระพุทธองค์ทรงปรินิพพานแล้ว "รอยพระพุทธบาท" ในประเทศไทยยังมีอีกหลายแห่ง แต่ที่มีชื่อเสียงและปรากฏในพระไตรปิฎก มีเฉพาะตามที่กล่าวมาแล้วนั้น
(Update 20 มกราคม 2561)
รอยพระพุทธบาทที่ ๕ นัมทานที
![]() | ![]() |
(Update 28 มกราคม 2561)
นิราศถลาง
" ....สำหรับความนิยมของคนสมัยก่อน อาจจะหาหลักฐานได้ยาก พอดีมีผู้ส่งคำกลอนจากหนังสือวรรณกรรมของสุนทรภู่
ที่ได้บรรยายการเดินทางมายังดินแดนปักษ์ใต้ เมื่อเกือบ ๒๐๐ ปีที่ผ่านมา โดยบันทึกเหตุการณ์ไว้เป็นบทกลอนดังนี้
"...มาประมาณโมงหนึ่งถึงพระบาท
ที่กลางหาดเนินทรายชายสิงขร
พี่ยินดีปรีดาคลายอาวรณ์
ประณมกรอภิวาทบาทบงสุ์
จุดธูปเทียนบุปผาบูชาพร้อม
รินน้ำหอมปรายประชำระสรง
แล้วกราบกรานคลานหมอบยอบตัวลง
เหมือนพบองค์โลกนาถพระศาสดา
พี่พบต้องมองแลพระลายลักษณ์
เหมือนประจักษ์จริงจังไม่กังขา
มีทั้งร้อยแปดอย่างกระจ่างตา
เป็นดินฟ้าพรหมอินทร์สิ้นทั้งปวง
มีขอบเขาจักรวาฬวิมานมาศ
ห้องอากาศเมรุไกรอันใหญ่หลวง
พระสุริยันจันทราดาราดวง
มีทั้งห้วงนทีสีทันดร
นาคมนุษย์ครุฑาสุรารักษ์
ทั้งกงจักรห้องแก้วธนูศร
สกุณินกินนราวิชาธร
มีไกรสรเสือช้างและกวางทราย
.
มีอยู่พร้อมเพริศพริ้งทุกสิ่งสรรพ์
ดูอนันต์นับยากด้วยมากหลาย
ยิ่งพิศดูก็ยิ่งงามอร่ามพราย
ด้วยแสงทรายแวววามอร่ามเรือง
.
มีบัวบุษย์ผุดรับระยับวาบ
ดูเปล่งปลาบแวววาวเขียวขาวเหลือง
พื้นพระบาทผุดผ่องดังทองประเทือง
ดูรุ่งเรืองด้วยทรายนั้นหลายพรรณ
.
ตามริมรอบราบรื่นทั่วพื้นหาด
ดังแก้วลาดแลรอบเป็นขอบขัณฑ์
ดูก็น่าผาสุกสนุกครัน
ด้วยสีสันแสงพรายหลายประการ
(Update 5 กุมภาพันธ์ 2561)
นิราศถลาง (ต่อ)
" ....พวกเพื่อนฝูงทั้งหลายน้อมกายกราบ
.
ศิโรราบเรียบเรียงเคียงขนาน
พระสุริยงลงลับโพยมมาน
ก็คิดอ่านสมโภชพระบาทา
บ้างรำเต้นเล่นตามประสายาก
พิณพาทย์ปากฟังเสนาะเพราะนักหนา
บ้างก็นั่งตีกรับขับเสภา
ตามวิชาใคร่ถนัดไม่ขัดกัน
อึกทึกกึกก้องทั้งท้องหาด
ไหว้พระบาทปรีดิ์เปรมเกษมสันต์
แต่นอนค้างกลางทรายอยู่หลายวัน
บ้างชวนกันเที่ยวเล่นไม่เว้นวาย
บ้างเที่ยวเก็บว่านยากายสิทธิ์
ปรอทฤทธิ์พลวงแร่แม่เหล็กหลาย
พวกลายแทงก็แสวงไปตามลาย
เที่ยวแยกย้ายมรรคาเข้าป่าไป
บ้างเที่ยวจับนกหนูลูกหมูเม่น
มาเลี้ยงเล่นตามประสาอัชฌาสัย
บ้างลงเล่นยมนาชลาลัย
เห็นเต่าใหญ่ขึ้นหาดดาษดา
ชวนกันจับขี่เล่นเช่นกับช้าง
ให้คลานกลางหาดทรายชายพฤกษา
เต่ามันพาลงทะเลเสียงเฮฮา
กลับขึ้นมาหัวร่อกันงอไป
เขาเที่ยวเล่นเป็นสุขสนุกสนาน
ในกลางย่านยมนาชลาไหล
แต่ตัวพี่เศร้าสร้อยละห้อยใจ
แสนอาลัยนิ่มนุชสุดประมาณ
ไหว้พระบาทยมนาแล้วลากลับ
ก็เสร็จสรรพเรื่องราวที่กล่าวสาร
นิราศนุชสุดใจไปไกลนาน
แต่งไว้อ่านอวดน้องลองปัญญา
ฉันเป็นศิษย์สุนทรยังอ่อนศักดิ์
พิไรรักมิ่งมิตรกนิษฐา
ประโลมโลกโศกศัลย์พรรณนา
ยุติกาจบกันเท่านั้นเอย..."
(Update 13 กุมภาพันธ์ 2561)
ความเป็นมา "รอยพระพุทธบาทที่ ๕"
![]() | ![]() |
(Update 21 กุมภาพันธ์ 2561)
อรรถกถาปุณโณวาทสูตร
(Update 1 มีนาคม 2561)
รอยพระพุทธบาทที่ภูเก็ต
.....เรื่องรอยพระพุทธบาทที่ "เกาะแก้วพิสดาร" นี้ตามที่ทราบว่า สมัยก่อนพวกชาวเลนี้จะรับจ้างพายเรือรับส่งคนไปกราบรอยพระพุทธบาทกันอยู่เสมอ
ต่อมาชาวบ้านแถว "หาดราไวย์" สามารถใช้เรือหางยาวแทน แกจึงเลยตกงานไปโดยปริยาย เพราะไม่สามารถไปหาเงินมาซื้อเรือหางยาวแข่งกับชาวบ้านได้
จึงต้องไปดำน้ำหากุ้งหาปลามาขายแทน แต่บางคนก็มีกับเขาเหมือนกันนะ
![]() | ![]() |
(Update 9 มีนาคม 2561)
บทสรุป "การลอยกระทง" ที่แท้จริง
.
.