คำนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ (ฉบับโบราณ) VEDIO
webmaster - 12/7/08 at 18:54
คลิปวีดีโอ คำนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ (ฉบับโบราณ)
โดย คุณครูสมคิด เลิศมงคล
พระอาจารย์ชัยวัฒน์จัดงาน ณ วัดสิริเขตคีรี (วัดพระร่วง) เมื่อปี 2545
อุกาสะ..ข้าพเจ้าขอยกกรบวรวันทนา ประนมนิ้วหัตถาขึ้นเหนือเศียร ต่างรัตนประทีปธูปเทียนแก้วเจ็ดประการ แลโกสุมสุมามาลย์ประทุมชาติ
อันโชติช่วงช่อชั้นวิจิตร แจ่มจำรัสสุนทโรภาส ด้วยเมื่อองค์สมเด็จพระบรมโลกนาถศาสดาจารย์ ญาณสัพพัญญูบรมครูเจ้าเสด็จเข้าสู่พระปรินิพพาน
พระองค์ทรงประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้ สิริพระบรมธาตุน้อยใหญ่ตวงได้สิบหกทะนานทอง พระรากขวัญทั้งสอง พระเขี้ยวแก้วสี่ กับพระศรีอุณหิสหนึ่ง
นับรวมกันได้ครบเป็นเจ็ดองค์ นี้แลคงความสภาวะเดิม อันจะแหลกลาญด้วยเพลิงสังหารนั้นหามิได้
แต่พระอัฐิน้อยใหญ่ทั้งหลายนั้นไซร้ พลันเพลิงไหม้สังหารละเอียดลง ยังคงแต่พระบรมสารีริกธาตุสามสถาน ใหญ่น้อยปานกลางมีประมาณต่างกัน
พระบรมธาตุขนาดใหญ่นั้น มีประมาณเท่าเมล็ดถั่วหักตักตวงได้ห้าทะนาน ทรงพระบวรสัณฐานประมาณแม้นเหมือนหนึ่งพรรณทองอุไร พระบรมธาตุขนาดกลางนั้นไซร้
มีประมาณเท่าเมล็ดข้าวสารหัก ตักตวงได้ห้าทะนาน ทรงพระบวรสัณฐานประมาณเหมือนพรรณแววแก้วผลึกอันเลื่อนลอย
พระบรมธาตุขนาดน้อยประมาณแม้นเท่าเมล็ดพรรณผักกาดตวงได้หกทะนาน ทรงพระบวรสัณฐานดังพรรณสีดอกบุปผชาติพิกุลอดุลย์ใสสี
พระบรมสารีริกธาตุทั้งหลายนี้ หมู่มนุษย์แลเทวะนิกรอมรอินทร์พรหมภิรมย์ พากันเชิญเสด็จไปประดิษฐานรักษาไว้ พระบรมธาตุองค์ใหญ่
คือพระรากขวัญซ้ายสถิตอยู่ชั้นพรหมา พระรากขวัญเบื้องขวากับพระนลาตะอุณหิส เสด็จสถิตอยู่เมืองอนุราธสิงหฬ พระเขี้ยวแก้วขวาเบื้องบนอยู่ดาวดึงสาสวรรค์
พระเขี้ยวแก้วขวาเบื้องล่างนั้นสถิตอยู่เกาะแก้วลังกาสิงหฬ พระเขี้ยวแก้วซ้ายเบื้องบนอยู่เมืองคันธารวิไสย
พระเขี้ยวแก้วซ้ายเบื้องล่างนั้นไซร้สถิตอยู่เมืองนาคสถาน
แต่พระบรมสารีริกธาตุทั้งสิบหกทะนานนั้น ประดิษฐานไว้ในแผ่นพื้นภูมิภาคแห่งนครทั้งแปด คือเมืองราชคฤหบุรี เมืองเวสาลีสวัสดิ์ เมืองกบิลพัสดุ์มหานคร
เมืองอัลปะกะบุรีรมย์ แลบ้านพราหมณ์นิคมเขตต์ เมืองเทวะทะหะประเทศ เมืองปาวายะบุรินทร์ แลเมืองนครโกสินรายณ์ พระเกสา โลมา นะขา ทันตา ทั้งหลาย
เรียงรายประดิษฐานอยู่ทุกทิศทั่วทั้งจักรวาล
ฝ่ายพระพุทธบริขาร คือ บาตรแลจีวรท่อนผ้าสันถัตรัดประคดใน สมุกเหล็กไฟกล่องเข็มผ้า กรองน้ำ ธะมะการก วัสสิกะสาฎก ผ้าชุบสรง หนังนิสิทน์ มีดโกน ถลกบาตร
เครื่องลาดแท่นพระบรรทม ลูกดาลทองฉลองพระบาทธาตุบริขารทั้งหลาย
องค์ขัติยาธิบดี พราหมณ์มหาศาลผู้เลื่อมใสกมลมาลย์ ประกอบไปด้วยศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง ได้อัญเชิญพระบรมธาตุบริขารสิบหกสิ่งนี้ไปประดิษฐานไว้ทั้งสิบเมือง
ต่างกระทำสักการะบูชารุ่งเรืองเห็นปรากฎ
กายพนฺธนํ พระพุทธรัดประคตอยู่ ณ เมืองเทวะทะหะราฐ ปตฺโต บาตรอยู่เมืองอนุราธสิงหฬทวีปลังกา อุทกสาฎกํ
ผ้าชุบสรงสถิตอยู่ ณ เมืองปัญจาละนคร จีวรํ ผ้าจีวรอยู่เมืองพันทะวิไสย หรนี สมุกเหล็กไฟอยู่เมืองตักศิลา วาสีสูจิฆรํ
มีดโกนแลกล่องเข็มประดิษฐานอยู่เมืองอินทะปัตถะไหศวรรย์ จมฺมํ หนังนิสิทน์สันถัตสถิตอยู่เมืองคันธาระราฐ ถวิกา
ถลกบาตรแลเครื่องลาดที่บรรทม ลูกดาลทองฉลองพระบาททั้งคู่อยู่บ้านอุสิระคาม
ยังพระธาตุบริขารอื่นอีกหกสิ่งคือ พระอังคาร ถ่านเถ้า เสาเชิงตะกอนนั้น สถิตอยู่ ณ เมืองโมรียะประเทศ จุฬามุนีบรมเกศธาตุ
พระเขี้ยวแก้วขวาเบื้องบนนั้นประดิษฐานอยู่ดาวดึงสาสวรรค์ กาสายะวัตถัง ผ้าทรงนั้นอยู่ ณ ชั้นพรหมา สุวณฺณโทณํ
ทะนานทองที่ตวงพระบรมสารีริกธาตุ สถิตอยู่นครโกสินารายณ์รัตนมไหศวรรย์
พระบรมธาตุทั้งยี่สิบสองประการนั้น ทรงพระคุณเป็นอันยิ่ง พระองค์ทรงอนุญาตประทานไว้ทุกสิ่งด้วยมหากรุณา
หวังพระทัยเพื่อจะให้เป็นที่สักการบูชาเกิดผลานิสงส์ อันเป็นสวัสดิมงคลแก่ผู้เทพามนุษย์
กว่าจะยุติสิ้นสุดพระพุทธศาสนา ครั้นกาลล่วงนานมาในห้าพันปีพระบรมธาตุทั้งหลายนี้เสด็จไปสู่ลังกาเกาะ เพื่อที่จะทรงสงเคราะห์ชาวสิงหฬ
ให้เกิดสวัสดิมงคลด้วยกระทำสักการบูชาพระคุณ เมื่อถึงกาลพระพุทธศาสนาใกล้จะสิ้นสูญ ครบจำนวนถ้วนห้าพันปี พระบรมธาตุทั้งหลายนี้จะเสด็จไปสู่ที่พระเจดีย์ฐาน
ดำรงอยู่โดยจำเนียรกาลมิได้คลาด
ครั้นถึงพระพุทธศักราชล่วงสี่พันเก้าร้อยเก้าสิบเก้าพรรษาเศษ สังขยาเดือนล่วงได้สิบเอ็ดเดือนกับยี่สิบสองวัน วันพฤหัสบดีเดือนหกขึ้นเก้าค่ำ คิมหันตฤดู
ปีชวดนักษัตรอัฐศกเวลารุ่งอรุโณทัย
พระบรมสารีริกธาตุทั้งหลายนี้ไซร้ จะเสด็จไปสู่สถานที่สันนิบาตมิทันนาน ทรงทำยมกปาฏิหาริย์ด้วยพุทธฤทธิ์อันพิเศษ บังเกิดเป็นพระพุทธนิเวศน์
แลพระพุทธวรกายสูงได้แปดศอก เปล่งพระรัศมีออกหกประการ มีพระบวรสัณฐานวิจิตรจำรัสศรีสุนทโรภาส ทรงพระศิริวิลาสอันเพริดแพร้ว
ดวงพระพักตร์ผุดผ่องแผ้วดังสีสุวรรณทองแท่งธรรมชาติ พระรูปองค์สมเด็จพระบรมโลกนาถ เสด็จขึ้นสถิตนั่งเหนือรัตนบัลลังอาสน์
ทรงพระสมาธิมั่นในควงต้นไม้พระศรีมหาโพธิ์
ทรงกระทำยมกปาฏิหาริย์โปรดสัตว์ คนธรรพ์เทวะนิกรอมรฤๅษีสิทธิ์พิทยาธรกินนรนาคราช ทั้งหมู่อสุระเดียรดาษนั่งแน่นเหนือพื้นแผ่นพสุธา สตฺตาหํ
ทรงตรัสพระธรรมเทศนาโปรดสัตว์อีกเจ็ดวัน ในครั้งนั้นได้สี่อสงไขยสองล้านสามแสนหกสิบเจ็ดพันโกฎิ
แล้วพระเตโชธาตุก็พวยพุ่งรุ่งโรจน์โชตนาการสังหารพระบวรพุทธสรีรธาตุให้สิ้นสุด ในวันพุธเดือนหกขึ้นสิบค่ำปีชวดนักษัตรอัฐศก
พระพุทธศาสนาก็บรรจบครบจำนวนถ้วนห้าพันพรรษา
อหํ วนฺทามิ ธาตุโย ข้าพเจ้าขอน้อมนมัสการพระบรมสารีริกธาตุทั้งหลาย ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น, อหํ วนฺทามิ สพฺพโส
ข้าพเจ้าขอนมัสการองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ด้วยประการทั้งปวง สาธุ สาธุ อนุโมทามิ นิพพานะ ปัจจะโย โหตุ ฯ
คำบูชาพระธาตุ
( พึงนั่งคุกเข่า )
อุกาสะ วันทามิ ภันเต เจติยัง สัพพัง สัพพัฏถาฐาเน สุปะติฏฐิตัง
พุทธะสาริรังกะธาตุง มหาโพธิง พุทธะรูปัง คันธะกุฏิง จตุททิสา
สะหัสเส ธัมมะขันเธ สัพเพตัง ปาทะเจติยัง สักการะถัง
อะหัง วันทามิ ธาตุโย อะหัง วันทามิ สัพพะโส อิจเจตัง
ระตะนัตตะยัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา
(กราบ) (กล่าว ๓ จบ)
คำแปล
สาธุ ข้าพเจ้าขอโอกาสกราบไหว้บูชา พระบรมสารีริกธาตุ แห่ง
พระพุทธองค์ ผู้ทรงเป็นที่พึ่งอันประเสริฐได้ประดิษฐานแล้ว
ในพระสถูปเจดีย์ทั้งหลายเหล่านั้น ๑ พระพุทธรูปปฏิมา ๑
พระคันธะกุฎี ๑ พระบาทเจดีย์ ๑ ด้วยการสักการะเหล่านี้
สาธุ ข้าพเจ้าขอโอกาสกราบไหว้บูชา พระธรรมทั้งแปดหมื่นสี่พัน
ธัมมะขันธ์ ด้วยการสักการะเหล่านี้
สาธุ ข้าพเจ้าขอโอกาสกราบไหว้บูชา พระบรมธาตุแห่งพระ
อรหันตสาวกทั้งหลายเหล่านั้น ด้วยการสักการะเหล่านี้
ขอจงเป็นกุศล เป็นนิสัยปัจจัยตามส่งให้จิตของข้าพเจ้าสืบไปเทอญ ฯ