แนะแนวก่อนการเข้าอบรม "งานธุดงค์" วัดท่าซุง
webmaster - 3/11/10 at 10:02

"อานิสงส์การปฏิบัติธุดงค์"


.......ก่อนที่จะแนะแนวการปฏิบัติ "ธุดงค์" ขอย้ำว่าวิธีปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำไว้มี 2 แบบ คือแบบ "ธรรมดา" และ "อุกฤษฎ์" โดยทางวัดท่าซุงได้จัดกิจกรรมแบบ "ธรรมดา" มานานหลายปีแล้ว หลังจากที่พระเดชคุณหลวงพ่อฯ มรณภาพ ญาติโยมก็นิยมเดินทางมาร่วมปฏิบัติธรรมกันมากมาย เหมือนกับจะรู้เจตนารมย์ที่หลวงพ่อสั่งสอนไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "พระนาคเสน" ได้กล่าวเรื่อง "อานิสงส์การปฏิบัติธุดงค์" ไว้ใน "มิลินทปัญหา" ฉบับวัดท่าซุง

......มีความตอนหนึ่งที่พระยามิลินทร์ถามว่า
"ข้าแต่พระนาคเสน คฤหัสถ์ได้สำเร็จนิพพานมีอยู่หรือ ?

.......พระนาคเสนตอบว่า
"มีอยู่..มหาบพิตร มีอยู่มากทีเดียว นับเป็นจำนวนร้อย หมื่น แสน ล้านโกฏิไม่ได้ พระธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาย่อมรวมลงใน "ธุดงค์" ทั้งนั้น เหมือนกับน้ำฝนที่ตกลงมาทั้งสิ้น ย่อมไหลไปรวมในมหาสมุทรฉันนั้น พระพุทธเจ้าไม่ว่าประทับอยู่ในที่ใดๆ โดยมากมีเทพยดาและมนุษย์สำเร็จนิพพานในที่นั้นๆ เทพยดาและมนุษย์เหล่านั้นเป็นพวกคฤหัสถ์ทั้งนั้น ขอถวายพระพร"

......พระยามิลินทร์ตรัสแย้งว่า
"ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าคฤหัสถ์สำเร็จนิพพานได้ "ธุดงค์ทั้ง ๑๓ ข้อ" ก็ไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าหากว่าความเจ็บไข้หายไปได้ด้ายการร่ายมนต์ ก็ไม่มีประโยชน์อะไรกับยาถ่าย ข้าแต่พระนาคเสนผู้เจริญ ถ้าคฤหัสถ์สำเร็จนิพพานได้ ก็ไม่จำเป็นอะไรที่จะต้องถือธุดงค์"

พระนาคเสนชี้แจงว่า
"ขอถวายพระพร ธุดงค์ประกอบด้วยคุณ ๒๘ ประการ ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงต้องการ คือ ข้อแรกมีการหาเลี้ยงชีพบริสุทธิ์ และข้อสุดท้ายทำให้สิ้นทุกข์ทั้งปวง และองค์ ๑๘ ของผู้สมาทานธุดงค์ คือมีมรรยาทบริสุทธิ์ เป็นต้น ประการสำคัญผู้ควรแก่ธุดงค์มี ๑๐ คือ ผู้มีศรัทธา และผู้อยู่ด้วยเมตตา เป็นต้น

ขอถวายพระพร บรรดาคฤหัสถ์ที่กระทำให้แจ้งนิพพานทั้งสิ้น ล้วนได้ฝึกธุดงค์ทั้ง ๑๓ ข้อ ไว้ในชาติปางก่อนแล้วทั้งนั้น ต่อมาในชาตินี้ได้กระทำความประพฤติและปฏิบัติให้บริสุทธิ์ซ้ำอีก จึงจะสำเร็จนิพพานได้

เปรียบเสมือนนายขมังธนูผู้ฉลาด ได้ฝึกหัดวิชาธนูไว้ก่อนแล้ว ครั้นเข้าไปสู่พระราชฐาน ก็ยิงธนูถวายพระมหากษัตริย์ได้แม่นยำ แล้วได้รับพระราชทานรางวัลเป็นอันมาก ฉะนั้นผู้ไม่ได้กระทำในธุดงค์ไว้เมื่อชาติก่อน ย่อมไม่สำเร็จอรหันต์ในชาตินี้ จะสำเร็จก็เพียงโสดาปัตติผลเท่านั้น

ธุดงค์เป็นของมีคุณหาประมาณไม่ได้ ไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือน เป็นของประเสริฐสุด บุคคลผู้มักมาก ผู้ลวงโลก ผู้ละโมภ ผู้เห็นแก่ท้อง ผู้มุ่งลาภยศสรรเสริญ ผู้ไม่ประกอบในทางธรรม ย่อมไม่สมควรสมาทานธุดงค์ เพราะจะทำให้ได้รับโทษทวีคูณ ทั้งในชาตินี้และชาติต่อๆ ไป

ส่วนผู้ที่มักน้อยสันโดษ ชอบสงัด มีความเพียรแรงกล้า ไม่มีความโอ้อวดมารยา ไม่เห็นแก่ปากแก่ท้อง ไม่มุ่งลาภยศสรรเสริญ เป็นผู้ศรัทธาปรารถนาจะพ้นจากทุกข์แห่งความเกิดแก่เจ็บตาย จึงควรสมาทานธุดงค์

เมื่อสมาทานธุดงค์แล้ว ย่อมได้รับผลทวีคูณ ย่อมเป็นที่รักใคร่พอใจของเทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย เมื่อมั่นอยู่ในธุดงค์แล้ว คุณธรรมทั้งหลายก็เจริญขึ้น แล้วก็ได้สำเร็จโลกุตรผลนานาประการ ดังเหมือนกับผู้เป็นข้าเฝ้าของพระราชา ทำให้เป็นที่โปรดปรานของพระมหากษัตริย์แล้ว ย่อมได้รับพระราชทานสิ่งของต่างๆ ฉะนั้น

ผู้ที่กระทำให้บริสุทธิ์ในธุดงค์ ๑๓ แล้ว ย่อมได้สำเร็จคุณวิเศษต่างๆ เป็นต้นว่า รูปสมาบัติ ๔ อรูปสมาบัติ ๔ และอภิญญา ๖ ขอเจริญพร"


webmaster - 3/11/10 at 10:04

......ข้อความเหล่านี้ได้นำมาโดยย่อ เพื่อความเข้าใจ หากจะอ่านรายละเอียดก็หาได้จากหนังสือ "มิลินทปัญหา" ต่อไปขอแนะแนวหรือการเตรียมตัวเบื้องต้น มีดังนี้คือ.-

๑. เตรียมยาประจำตัวไปด้วย (แต่ถ้าเป็นโรคอย่างอื่น ทางวัดก็มีแพยท์และพยาบาลเตรียมไว้พร้อมแล้ว)

๒. เตรียมไฟฉาย, นาฬิกาปลุก หรือของที่ใช้ประจำไปด้วย

๓. หากมีเต้นท์, กลด, ผ้ามุ้ง, ผ้าพลาสติก ที่ใช้ประจำก็นำไปด้วย (หากไม่มี จะไปเบิกที่ศาลา ๒๕ ไร่ก็ได้)

๔. ปีนี้อากาศอาจจะหนาว ควรเตรียมเครื่องกันหนาวไปด้วย (แต่อย่าให้มากเกินความจำเป็น)

๕. ปริ๊นซ์ "กำหนดการปฏิบัติธุดงค์" และ "บทสวดมนต์" จากเวปไปได้ (แต่ถ้ามีหนังสือสวดมนต์ของวัดท่าซุงก็ดี)

๖. ควรเตรียมอารมณ์ให้ดี วัตถุสิ่งของที่เตรียมหรือไม่ได้เตรียมไว้ อาจขาดตกบกพร่องไม่ตรงกับใจ หรือไม่ได้สถานที่พักตามที่ต้องการ จะต้องรักษาอารมณ์เหมือนกับเข้าป่าลึก ได้แค่ไหนพอใจเท่านั้น เพราะอาจจะเจอข้อสอบโดยไม่ทันตั้งตัว ต้องทำเป็นผู้ชนะอารมณ์ไว้อยู่เสมอ ด้วยสัจจะในธุดงค์นี้ จะช่วยรักษาเราให้พ้นภัยเสมอ ขอให้เชื่อมั่นตนเองไว้อย่างนี้

๗. การไปกันหลายคน หรือไปเป็นหมู่คณะ หรือไปพบกับคนรู้จักกัน ควรทักทายพอสมควร อย่าคุยกันมากเกินไป อารมณ์จะได้ไม่พุ้งซ่าน จะเดินไปไหนให้ภาวนาหรือพิจารณา จะทำอะไรให้รู้สติเท่าทัน ฝึกให้มีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ จะทำให้ควบคุมอารมณ์ตนเองได้ง่ายขึ้น (โทรศัพท์มือถือสำคัญ มันยังเป็นสายใยอยู่ อย่าใช้เกินความจำเป็น)

๘. อย่าลืมนำ "บัตรประชาชน" ไปด้วย ปฏิบัติ 3 - 5 วัน หรืออยู่จนครบได้ยิ่งดี (พระภิกษุนำใบสุทธิและนำจดหมายแจ้งว่าขอมาปฏิบัติธรรม จากเจ้าอาวาสหรืออาจารย์ของตนเองมาด้วย)

๙. ขณะที่ปฏิบัติอยู่นั้น อย่าทำสมาธิเพลินจนไม่หลับไม่นอน ทำแค่พอดี จะได้ไม่มีผลร้ายต่อร่างกาย ควรระมัดระวังเรื่องระเบียบเวลาเป็นสำคัญด้วย

๑๐. ข้อสุดท้ายสำคัญ ก่อนจะออกจากบ้าน ต้องตัดอารมณ์กังวลหรือห่วงใยให้หมดสิ้น ตั้งใจว่าเราคนเดียวเท่านั้น ที่ต้องท่องเที่ยวไปในวัฏฏสงสาร แล้วจะห่วงใยใครอีกเล่า..ถ้าไม่ห่วงตนเอง เราคนเดียวเท่านั้น..ที่จะพ้นทุกข์ได้ในชาติ อันเป็นที่สุดแห่งอัตภาพนี้.


....เอาแค่นี้ก่อนนะ นึกออกจะเติมทีหลังอีก

ขอให้สมหวังในธรรมทุกคน

พระอาจารย์ชัยวัฒน์ อชิโต

3 พ.ย. 53


สรชา - 10/11/10 at 12:44

กราบนมัสการ พระอาจารย์ชัยวัฒน์ อชิโต ต้องลงทะเบียน บวชพราหมณ์ชาย-หญิง วันที่เท่ารัยคะ ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงค่ะ


webmaster - 10/11/10 at 14:52

เรื่องลงทะเบียนนี่ แล้วแต่ผู้ร่วมงานจะมีเวลา บางคนมารอก่อน ๒ - ๓ วัน แต่พระเจ้าหน้าที่จะให้ลงพื้นที่ ทั้งนี้แล้วแต่ความเหมาะสม

กำหนดงานธุดงค์
ระหว่างวันที่ ๙ - ๑๗ ธ.ค. ๕๓

วันจันทร์ที่ ๖ ธ.ค. ๕๓
๑๘.๐๐ น. ตรวจสอบรายชื่อของผู้อุปสมบท ณ ศาลาพระพินิจอักษร ขอย้ำเตือนอีกสักครั้งว่า
ถ้าใครมาไม่ทันการเรียกชื่อในตอนนี้ ทางวัดจะไม่รับบวชแน่นอน
๐๙.๐๐ น. ตรวจสอบรายชื่อ "พระอาคันตุกะ" ที่ศาลานวราช แล้วให้พระภิกษุสามเณร และพราหมณ์ชายหญิง ไปเบิกมุ้ง หมอน และเสื่อ จากพระเจ้าหน้าที่ศาลา ๒๕ ไร่

วันอังคารที่ ๗ ธ.ค. ๕๓
๐๙.๐๐ น. ซ้อมขานนาคร่วมกัน ณ ศาลาพระพินิจฯ
๑๔.๐๐ น. ซ้อมขานนาคร่วมกัน และเบิกเครื่องอัฐบริขาร ณ ตึกรับแขก

วันพุธที่ ๘ ธ.ค. ๕๓
๐๙.๐๐ น. พระครูปลัดอนันต์ พทฺธญาโณ ทำพิธีบวงสรวงหน้าอุโบสถ
๑๔.๐๐ น. ซ้อมขานนาค และโกนผมที่หน้าอุโบสถ

วันพฤหัสบดีที่ ๙ ธ.ค. ๕๓
รับประทานอาหารเช้าที่ศาลา ๑๒ ไร่ ทั้งนี้ จะต้องให้เสร็จก่อน เวลา ๐๖.๓๐ น.
๐๖.๓๐ น. ตั้งขบวนแห่ผู้อุปสมบท และผู้บวชพราหมณ์ชายหญิง โดยมีวงโยธวาทิตของคณะนักเรียน โรงเรียนพระสุธรรมยานเถระวิทยา นำขบวนเวียนรอบอุโบสถ ๓ รอบ
๐๗.๐๐ น. เริ่มพิธีการอุปสมบท โดยท่านเจ้าคุณพระราชอุทัยกวี เจ้าคณะจังหวัดอุทัยธานี และ พระครูอุปการพัฒนกิจ เจ้าคณะอำเภอเมือง
๐๙.๐๐ น. พิธีบวชพราหมณ์ชายหญิงโดย พระครูปลัดอนันต์ พทฺธญาโณ ณ ศาลา ๑๒ ไร่
๑๒.๓๐ น. ฝึกมโนมยิทธิ (ครึ่งกำลัง) ณ ศาลา ๑๒ ไร่
๑๗.๐๐ น. ทำวัตรเย็น และเจริญพระกรรมฐาน ณ ศาลา ๑๒ ไร่

วันศุกร์ที่ ๑๐ ธ.ค. ๕๓
๐๖.๓๐ น. ถวายภัตตาหารเช้าแด่พระภิกษุสามเณร ณ ศาลา ๑๒ ไร่ (ในวันนี้พระภิกษุสามเณรทุกรูปยังไม่ออกบิณฑบาต)
๐๗.๓๐ น. สวดมนต์ทำวัตรเช้าที่ศาลา ๑๒ ไร่

๐๘.๐๐ น. พระภิกษุสามเณรแบ่งเป็น ๔ กลุ่ม แล้วเดินไปเตรียมปักกลดในป่าใหม่
๑๑.๐๐ น. ฉันภัตตาหารเพลที่ศาลา ๑๒ ไร่
๑๒.๓๐ น. ฝึกมโนมยิทธิ(ครึ่งกำลัง) ที่ ศาลา ๑๒ ไร่
๑๖.๐๐ น. ทำวัตรเย็น และเจริญพระกรรมฐาน แล้วปฐมนิเทศ และสมาทานธุดงค์ ณ ศาลา ๑๒ ไร่
๒๑.๐๐ น. เสียงธรรมตามสาย

เริ่มปฏิบัติธุดงค์วัตร
ตั้งแต่วันที่ ๑๑ - ๑๗ ธ.ค. ๕๓


อ่านรายละเอียด.. http://www.watthasung.com/wat/viewthread.php?tid=1203