ครั้นได้ตรัสรู้แล้ว ได้หยั่งรู้แล้ว จึงนำมาบอกกล่าว นำมาแสดง บัญญัติตั้งไว้ เปิดเผยให้ทราบ จำแนกแยกแยะ ทำให้เข้าใจง่ายว่า
สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา
*****ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา*****
อยากทราบความหมายของประโยคนี้ครับ
ขอบคุณ
(คำถาม) *****ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา***** อยากทราบความหมายของคำนี้
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(คำตอบ)
คำว่า "ธรรมทั้งหลาย" นี้แยกออกเป็น 2 ความหมาย ได้แก่
1. สังขะตะธรรม แปลว่า ธรรมะที่มีปัจจัยปรุงแต่ง
2. อะสังขะตะธรรม แปลว่า ธรรมะที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง
ธรรม 2 ประการนี้ รวมเป็น "ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา"
แต่ถ้าจะขยายคำว่า "ปัจจัยปรุงแต่ง" คืออะไร
ตอบว่า "ปัจจัย" คือเหตุต่างๆ ปรุงแต่ง ดั่งเช่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นขันธ์ ๕ คือร่างกายนี้ ซึ่งมีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมา
สามัญปัจจัย ปัจจัยทั่วไปก็ได้แก่ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน และกรรม
อวิชชาก็ได้แก่ความไม่รู้จักสัจจะที่เป็นความจริง
ตัณหาก็ได้แก่ความดิ้นรนทะยานอยาก
อุปาทานก็ได้แก่ความยึดถือ
กรรมก็ได้แก่การงานที่ทำทางกายทางวาจาทางใจ ด้วยความจงใจ
นี้เป็นสามัญปัจจัย คือเหตุปัจจัยทั่วไปของขันธ์ ๕ หรือของนามรูป คือร่างกายนี้ และยังมีเหตุปัจจัยจำเพาะ เช่น เหตุปัจจัยของรูปก็คืออาหาร
เหตุปัจจัยของนามธรรมทั้งหลาย ก็ได้แก่อายตนะภายใน (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) อายตนะภายนอก (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์) ที่มาประจวบกัน
หรือยกเอาวิญญาณเป็นปัจจัยของ เวทนา สัญญา สังขาร ขันธ์ ๕ หรือนามรูป มีปัจจัยคือเหตุให้เกิดขึ้น เป็นต้น
นี่เป็นความหมายของการศึกษาธรรมะ แต่ถ้าจะเข้าหาภาคปฏิบัติจริงและพูดแบบภาษาไทย เพื่อความเข้าใจง่ายๆ คำว่า "ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา"
หมายความว่าให้หมั่นพิจารณารวมๆ ว่า
"ร่างกายของเรา ร่างกายของบุคคลอื่น หรือวัตถุสิ่งของต่างๆ จะเป็นสิ่งมีชีวิตก็ดี หรือไม่มีชีวิตก็ดี ทุกอย่างในโลกนี้ ผลสุดท้ายต้องพังสลายไปในที่สุด"