ภาพข่าว..งานพิธีบวงสรวง ณ พระธาตุดอยตุง ประจำปี 2552
webmaster - 23/1/09 at 06:24
งานพิธีบวงสรวง ณ พระธาตุดอยตุง
วันที่ 11 มกราคม 2552
....ยอดฉัตรพระธาตุดอยตุงได้นำขึ้นรถบรรทุกไปจากวัดท่าซุง เพื่อเตรียมที่จะทำพิธี ตามกำหนดเดิมในวันที่ 11 ม.ค. นี้
แต่ก็มีเหตุขัดข้องบางประการ จึงไม่สามารถจะทำพิธีอันสำคัญนี้ได้
ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันงาน เนื่องจาก "คณะพระเจ้าหน้าที่ทำงาน" จากวัดท่าซุงเดินทางล่วงหน้า
เพื่อไปจัดสถานที่ทั้งสองแห่งดังกล่าวแล้ว แต่คณะทำงานได้ขึ้นไปพบกับเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยตุงก่อน ปรากฏว่าได้พบกับชาวบ้านสิบกว่าคน
ส่วนใหญ่เป็นผู้นำหมู่บ้าน เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ อปต. เป็นต้น ในที่ประชุมทั้งหมดได้ขอร้องให้เลื่อนงานพิธียกฉัตรออกไปก่อน
เพราะชาวบ้านแถวนี้อยากมีส่วนร่วมด้วย
จึงได้มีการประสานงานกับกลับไปที่ คุณชุมนุมพร (ขนม) เพื่อขอเลื่อนออกไปปีหน้า ทั้งๆ
ที่นายช่างเชียรจากวัดท่าซุงได้เดินทางล่วงหน้าเช่นกัน เพื่อติดตั้งไม้นั่งร้านรอบองค์พระธาตุ เตรียมพร้อมที่จะทำพิธี แต่ก็ต้องถูกรื้อออกไปก่อนงานเล็กน้อย
เพื่อให้เห็นองค์พระธาตุได้ชัดเจน ที่ห่อหุ้มด้วยทองจังโกอย่างสวยงาม ฉะนั้น ผู้ที่ไปร่วมงานในวันที่ 11 จึงไม่ได้เห็นภาพไม้นั่งร้านก่อนหน้านี้
ภาพนี้เป็นบริเวณโดยรอบ หลังจากกรมศิลปากรได้รื้อศาลาหลังใหญ่ออกไป แล้วได้อัญเชิญพระพุทธรูป, พระสังกัจจายน์
ออกไปตั้งไว้กลางแจ้ง รอยพระพุทธบาทจำลองก็ถูกวางไว้ใต้ต้นไม้เช่นกัน ส่วนรอยพระพุทธบาทที่อยู่ข้างองค์พระธาตุ ได้ถูกขุดออกไปไว้ที่ไหนก็ยังไม่รู้
ส่วนอีกภาพหนึ่งเป็นสะพานเดินข้ามไป มีระฆังแขวนไว้ที่ราวสะพานทั้งสองด้าน
มองทางด้านตะวันออกของ "พระธาตดอยตุง" ที่ซ่อมใหม่ทั้งสององค์ หลังจากรื้อนั่งร้านออกไปหมดแล้ว จึงมองดูปลอดโปร่งสวยงาม
แต่ทว่ามีป้ายห้ามสรงน้ำด้วยน้ำส้มป่อยและน้ำหอม หรือน้ำผ้าสไบไปห่ม และห้ามปิดทองคำเปลวอีกด้วย
ส่วนอีกภาพหนึ่งจะเห็นว่ากรมศิลปากรได้ทำการขุดลงไปถึงฐานราก เพื่อให้เดินลงไปชมว่า พระธาตุแห่งนี้มีการสร้างซับซ้อนกันหลายสมัยแล้ว
แต่ก็ไม่มีใครกล้าเดินลงไป อนึ่ง พื้นที่ก็คับแคบอยู่แล้ว จึงเสียดายที่ไม่มีโอกาสได้เดินทำประทักษิณกัน เครื่องบูชาที่เคยเตรียมไป เช่น ผ้าห่มสไบ น้ำอบไทย
และดอกไม้โปรย จึงต้องวางไว้ข้างๆ พระเจดีย์
เมื่อพวกเรารู้ว่าไม่ได้พิธียกฉัตรแน่นอนแล้ว จึงได้เตรียมทำพิธีบรรจุสิ่งของที่พระเจดีย์จำลององค์เล็กแทน เจ้าหน้าที่ผูกผ้า คือ
อ.บุญเรือน, คุณดาวและคณะ จึงต้องทำกัสอย่างเร่งด่วน ในตอนเช้ามืดของวันงานที่ 11 นั้นเอง
สำหรับอีกภาพหนึ่งขององค์พระธาตุทางด้านตะวันออก คณะเจ้าหน้าที่จากวัดท่าซุง นอกจากประดับธงไว้โดยรอบแล้ว ยังต้องเตรียมจัดสถานที่ไว้อีกด้านหนึ่ง
โดยเฉพาะเต้นท์ปะรำพิธี คุณรัตนา ชินบุตรานนท์ เป็นผู้จัดทำถวายไว้ที่นี้ ขออนุโมทนาสาธุด้วย สำหรับเจ้าหน้าที่ นรป.เชียงแสน
ก็ยังได้ขึ้นมาช่วยจัดรถขึ้นลงให้อีกเช่นเคย
พระเจดีย์จำลองทั้งสององค์ ได้พร้อมแล้วที่จะทำพิธีบรรจุ โดยมีผู้บริจาควัตถุสิ่งของมีค่าไว้มากมาย
ทุกคนมีจิตใจที่ถวายไว้เป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา
เมื่อได้จัดเตรียมสถานที่ทุกด้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว เวลาประมาณ 09.00 น.
ท่านเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยตุงก็ได้มากล่าวชี้แจงให้ญาติโยมทั้งหลายทราบ ถึงเหตุผลที่จะขอเลื่อนพิธียกฉัตรออกไปก่อน ท่านได้ขออภัยท่านทั้งหลายด้วย
แล้วท่านก็นัดหมายกับท่านพระครูปลัดอนันต์ว่า ปีหน้าจะนิมนต์พระผู้ใหญ่และจะเป็นผู้จัดสถานที่ พร้อมทั้งชาวบ้านจะขอทำพิธีแบบทางเหนือด้วย
หลังจากนั้น ท่านพระครูปลัดอนันต์ก็ทำพิธีบวงสรวง และขอขมาโทษแบบล้านนา คือ "วันทาหลวง" ท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็นขึ้นเรื่อยๆ
แต่พระภิกษุทั้งหลายรวมทั้งญาติโยมพุทธบริษัทก็ไม่ยอมแพ้ ตั้งใจกราบไหว้บูชาองค์พระธาตุด้วยความเคารพ ท่ามกลางความประทับใจ
จากถ้อยคำในการกล่าวอนุโมทนากถาจากท่านพระครูปลัดอนันต์
ทั้งนี้ ทุกคนต่างก็รอคอยกันมานาน หลังจากได้เป็นเจ้าภาพบูรณะ กองทุนละ 10,000 บาท โดยการตั้งงบถึง 2 ครั้งด้วยกัน
ประกอบกับทางกรมศิลปากรได้งบจากรัฐบาลชุดที่แล้ว จำนวน 22 ล้านบาท จึงได้ปรับปรุงภูมิทัศน์ในบริเวณนี้ทั้งหมด
ส่วนพวกเราก็เป็นเจ้าภาพแค่การบูรณะองค์พระธาตุ พร้อมทั้งปิดทองจังโกและยอดฉัตรเท่านั้น ตามรูปแบบเดิมที่ ท่านครูบาเจ้าศรีวิชัย ทำไว้
(พระธาตุดอยตุงสององค์ สมัยครูบาศรีวิชัยเป็นผู้ออกแบบตามศิลปะล้านนา)
วันศุกร์ ที่ 31 สิงหาคม 2550
เผยโฉมพระธาตุดอยตุงแบบฉบับล้านนาเดิม
โดย..คุณยุวดี
(โพสใน www.oknation.net/blog/yuwym/2007/08/31/entry-1)
....เป็นเวลานานกว่าสองเดือนที่ "ตุ๊เจ้าวัดพระธาตุดอยตุง" เริ่มคุ้นชินกับภาพขององค์พระธาตุในโอบล้อมของฉากกั้นป้องกันอันตราย
และกั้นสายตาของผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลายที่มานมัสการพระธาตุบนยอดดอยอยู่ทุกขณะ ทั้งยังคุ้นตาบรรดานายช่างผู้ขมีขมันบูรณะองค์พระธาตุอยู่ในระหว่างนี้
อากาศบนยอดดอยเย็นเยียบตลอดทั้งปี นานทีจึงจะมีแสงแดดส่องลอดปลีเมฆลงกระทบองค์พระธาตุ เช่นเช้าแรกที่เหล่านายช่างเตรียมลงมือกะเทาะเปลือกเจดีย์องค์นอก
วันนั้นเป็นวันเสาร์ ฝนเทลงมาตลอดวัน ทั้งเครื่องมือกลไกในการกะเทาะก็ติดขัด ต้องปรับแก้แบบ คณะช่างไม่สามารถปฏิบัติงานได้
เหล่านั้นล้วนเป็นไปตามคำทักของตุ๊เจ้าที่ว่าวันเสาร์ฤกษ์ไม่ดี ให้รอเวลาไปอีกวันหนึ่ง
พร้อมแนะให้คณะช่างถวายเครื่องบูชาองค์พระธาตุเป็นการบอกกล่าวเสียก่อน
เมื่อคณะช่างผู้รับงานจากกรมศิลปากรดำเนินการทุกอย่างตามคำแนะนำนั้น วันต่อมาพวกเขาจึงสามารถปฏิบัติการกะเทาะยอดเจดีย์ได้สำเร็จ
ทันทีที่คมเลื่อยบนรางซึ่งปรับแบบมาสำหรับวัตถุทรงโค้งสัมผัสบนผิวเจดีย์ แดดแรงก็เบียดเมฆครึ้มพลิ้วไปกับสายลมอ่อน
จนเมื่อดับเครื่องเลื่อยเพื่อขยับรางไปยังตำแหน่งใหม่ แดดก็หุบกลับ คล้ายรอให้นายช่างตั้งรางเรียบร้อยแล้วจึงค่อยเปิดทางสว่างอีกครั้ง
เป็นเช่นนี้จนคณะนายช่างจัดการเลื่อยยอดเจดีย์จนครบวงรอบ สิ่งศักดิ์สิทธิ์บันดาลให้การบูรณะปฏิสังขรณ์พระธาตุดอยตุง พ.ศ.2550 เป็นไปอย่างเรียบร้อย
(พระธาตุดอยตุง พ.ศ.2516 เป็นทรงปราสาท)
เมื่อ พ.ศ.2470 ครูบาศรีวิชัยได้ทำการบูรณะองค์พระธาตุในแบบล้านนา กล่าวคือเป็นเจดีย์ก่ออิฐสอปูน ทรงระฆัง 8 เหลี่ยม ตั้งบนฐานปัทม์(บัว) 8 เหลี่ยม
ประดับลูกแก้วอกไก่ 1 ชิ้น ฐานล่างสี่เหลี่ยมจตุรัสลด 3 ชั้น องค์ระฆังและบัลลังก์ 8 เหลี่ยมรองรับปล้องไฉน มีปลียอดประกอบฉัตร 5 ชั้น
(ขออภัยต้องขอตัดประวัติเดิมออกไปบ้าง)
(พระธาตุสมัยครูบาศรีวิชัยยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์)
ต่อมาในปี 2516 ในยุคเผด็จการทหารเรืองอำนาจ ผู้นำสมัยนั้นได้สั่งการให้ปรับเปลี่ยนแบบเจดีย์องค์พระธาตุดอยตุง
จากรูปแบบสถาปัตยกรรมล้านนามาใช้แบบของส่วนกลาง โดยมอบหมายให้ อ.ประกิต (จิตร) บัวบุศย์ เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง
อ.จิตรนั้นเป็นผู้มีใจอนุรักษ์และเคารพในศิลปกรรมท้องถิ่น เมื่อได้รับคำสั่งที่ไม่อาจปฏิเสธ
ท่านจึงได้คิดค้นวิธีการเปลี่ยนแบบโดยอนุรักษ์สถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมไว้ด้วย ท่านตัดสินใจใช้วิธีหล่อคอนกรีตมาประกอบครอบเจดีย์คู่ทั้งสององค์
นับแต่นั้นพระธาตุดอยตุงจึงมีรูปโฉมเป็นเจดีย์ทรงปราสาท สมัยต้นรัตนโกสินทร์ เป็นที่คุ้นตาผู้มีจิตศรัทธาเรื่อยมา ก่อนที่จะมีการบูรณะใหม่ใน พ.ศ.นี้
เพื่อกลับไปใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมท้องถิ่นล้านนาซึ่งถูกครอบทับอยู่ภายใน
(ผู้ออกแบบจงใจสร้างครอบทับเพื่ออนุรักษ์พระธาตุองค์เดิมไว้ภายใน)
ช่วงประมาณสองเดือนก่อน มีข่าวว่ากรมศิลปากรได้จัดประชุมร่วมกับชาวบ้าน จ.เชียงราย จนได้ข้อยุติว่าจะทำการบูรณะโดยเลาะเจดีย์องค์ปัจจุบันออก
โดยชาวบ้านได้สอบถามว่าเจดีย์ที่เลาะออกนั้นจะดำเนินการอย่างไร เพราะอย่างไรเสียชาวบ้านและนักท่องเที่ยวต่างชินกับองค์พระธาตุนี้แล้ว
แม้จะไม่ใช่องค์ดั้งเดิมก็ตาม ทางเจ้าคณะอำเภอจึงแนะนำว่า ให้นำองค์พระธาตุที่เลาะออกแล้วไปประดิษฐานที่วัดน้อยดอยตุง บริเวณด้านล่าง
ก่อนขึ้นถึงพระธาตุดอยตุง
เกี่ยวกับความเป็นมาของโครงการบูรณะพระธาตุดอยตุงนั้น นายอารักษ์ สังหิตกุล อธิบดีกรมศิลปากร
ชี้แจงว่ากรมศิลปากรบรรจุโครงการดังกล่าวไว้เป็นส่วนหนึ่งในวาระเฉลิมฉลอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงครองราชย์ครบ 60 ปี ในปี 2549
"โครงการแรกเริ่มใช้งบกลางประมาณ 22 ล้าน เมื่อปี 2549 เหตุผลที่ต้องบูรณะอีกประการที่สำคัญ คือมีการเปลี่ยนแปลงทางสถาปัตยกรรม
เมื่อก่อนพื้นที่อยู่ในพื้นที่ล่อแหลม สมัยนั้นคงอยากใช้สถาปัตยกรรมที่แสดงความเป็นไทย แล้วก็เลือกแบบของภาคกลางไปใช้ ซึ่งจริงๆ
ในแง่การอนุรักษ์เป็นปรัชญาที่ไม่ค่อยถูกนัก เพราะการที่จะรื้อฟื้นวัฒนธรรม ต้องยอมรับวัฒนธรรมท้องถิ่นที่หลากหลาย เดิมเป็นสถาปัตยกรรมล้านนา
เมื่อเรารู้ว่าแบบที่เป็นอยู่ไม่ถูกต้อง ก็ได้รื้อฟื้นให้กลับไปสู่สถาปัตยกรรมล้านนาแบบเก่า"
นอกจากบูรณะองค์พระธาตุแล้ว
ยังบรรจุแผนปรับปรุงภูมิทัศน์ไว้ด้วย
"ปี 2551 เราตั้งงบไปประมาณ 28 ล้าน เพื่อทำเรื่องพระอุโบสถ ซึ่งยังเป็นสถาปัตยกรรมแบบภาคกลางก็จะปรับปรุงให้กลับเป็นแบบล้านนา
แล้วก็จะสร้างศูนย์ข้อมูลที่ลานด้านล่าง คือผู้มีจิตศรัทธาหรือนักท่องเที่ยวมาแล้วอาจเข้าไปหาข้อมูลในศูนย์นี้ก่อน แล้วค่อยขึ้นไปนมัสการพระธาตุ
ผมอยากเน้นว่าถึงจะเป็นเรื่องความหลากหลายของวัฒนธรรมท้องถิ่น แต่พระธาตุองค์นี้ก็เป็นสมบัติของคนไทยทุกคน เป็นวัฒนธรรมของชาติไทย
คนในชาติทุกคนมีสิทธิร่วมกันในการดำเนินการ"
"ก่อนหน้านี้มีศิษยานุศิษย์ของวัดท่าซุงได้บริจาคเงินไว้ เขาเสนอว่าจะเป็นไปได้มั้ย ถ้าจะขอหุ้มทองจังโก
คือเอาแผ่นโลหะมาบุดุนตามลวดลายองค์พระธาตุแล้วปิดทององค์เดิม ผมก็ส่งเรื่องไปให้ทางฝ่ายวิชาการพิจารณาในแง่ความถูกต้องว่าทำได้มั้ย ดูแล้วเป็นทรงแบบรูปบัว
ไม่มีประติมากรรมติดที่ ก็คิดว่าน่าจะเป็นไปได้ ผู้สนับสนุนก็บอกว่าให้คิดเป็นเงินมาเลยว่า ถ้าทำได้ต้องใช้เงินเท่าไร อยากจะบริจาคเต็มที่"
อธิบดีอารักษ์กล่าว
(นาทีเลาะพระธาตุดอยตุงจากส่วนยอดในการบูรณะวันแรก)
นายจุมภฏ ตรัสศิริ นายช่างโยธา 7 สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร ผู้ควบคุมการบูรณะพระธาตุดอยตุง เล่าว่าประมาณ 4 ปีก่อน มูลนิธิมีชัย ฤชุพันธุ์
ได้ศึกษาพบว่าพระธาตุองค์ปัจจุบันสร้างครอบพระธาตุแบบล้านนาสมัยครูบาศรีวิชัย จากนั้นจึงเสนอเรื่องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายพิจารณา ผู้ว่าฯ
ได้ตั้งกรรมการโครงการอนุรักษ์โบราณสถานพระธาตุดอยตุงกลับคืนสู่สมัยล้านนา มีการจัดประชุมหลายรอบจนได้ข้อยุติ ให้กรมศิลปากรเป็นผู้จัดงบประมาณการบูรณะ
"ผมเป็นกรรมการฝ่ายวิชาการก็ได้ไปพบท่านอาจารย์จิตร เพื่อหารือและขออนุญาตรื้อแบบของท่าน ท่านก็กรุณามาก ไม่ติดใจ
และยังหอบอัลบั้มภาพสมัยที่ท่านทำการบูรณะเมื่อปี 2516 ให้อีก ท่านว่าเขาสั่งมาก็ต้องทำ อัลบั้มภาพของท่านมีภาพเจดีย์ทรงล้านนาเดิมด้วย
ท่านบอกว่าท่านออกแบบเป็นทรงปราสาท สไตล์รัชกาลที่ 3 กรุงรัตนโกสินทร์ มีซุ้ม 4 ด้าน"
ในฐานะนายช่างสถาปัตยกรรม จุมภฏยอมรับว่าอาจารย์จิตรนั้นมีฝีมือเยี่ยมยอด สมกับตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ
"อาจารย์จิตรท่านเก่งมาก ท่านหล่อเป็นชั้นๆ แล้วไปประกอบปั้นพิมพ์ปูนปั้นบัวหงายบัวคว่ำ แล้วทำไม้แบบกั้นด้านใน จากนั้นก็ลงปูน บางช่วงแนบสนิท
บางช่วงมีช่องว่างขนาดคนเดินลอดได้ ผมเข้าไปดูยังเห็นทองที่ปิดพระธาตุองค์เดิมอยู่เลย แบบของอาจารย์จิตรนั้นทำหุ้มของเดิม ไม่ได้ทำลายของเดิมแม้แต่น้อย
ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแบบและอนุรักษ์ไปในตัว"
ประมาณกลางเดือนกรกฎาคม 2550 คณะนายช่างทำการตัดเลาะเจดีย์ออก เริ่มต้นจากส่วนยอดไล่ลงมาจนถึงฐาน ใช้เวลาประมาณ 4 สัปดาห์
นอกจากนี้ยังมีการขุดตรวจชั้นดินทางโบราณคดี พบร่องรอยหลักฐานซากพระเจดีย์พระธาตุสมัยก่อนครูบาศรีวิชัยอีกด้วย
"ผลการขุดตรวจสอบพบร่องรอยพระธาตุดอยตุงรุ่นแรกอยู่ใต้ดินลึกไปอีก 2 เมตร เป็นฐานสี่เหลี่ยมผืนผ้า สมัยแรกนี้พังทลายลงเหลือแต่ฐานสี่เหลี่ยม
แสดงว่าแรกทีเดียวพระธาตุมี 1 องค์ แล้วมีการสร้างวิหารเล็กๆ อยู่ด้านข้างอีก 1 องค์ ต่อมาถึงได้มีการสร้างเจดีย์เพิ่มอีก 1 องค์ เป็น 2 องค์
แล้วถึงเป็นรุ่นครูบาศรีวิชัยมาสร้างฐานหุ้มอีกประมาณ พ.ศ.2470 ไล่มาถึงสมัยอาจารย์จิตรในปี 2516
หลังจากอาจารย์จิตรถึงมีการสร้างต่อเติมโบสถ์ต่อจากวิหารองค์เดิม ดูลักษณะสถาปัตยกรรมแล้ว อายุไม่เกิน 30 ปี"
รายละเอียดในการเลาะองค์เจดีย์นั้น ทางห้างหุ้นส่วนจำกัดฐานอนุรักษ์เป็นผู้รับงานนี้
"เราต้องออกแบบเครื่องมือที่ใช้ถอดชิ้นส่วนพระธาตุใหม่ ต้องทำรางสำหรับตัดโดยเฉพาะ เพราะพระธาตุมีความเว้าโค้ง ต้องค่อยๆ
เลื่อนรางตัดออกทีละรอยจนครบรอบประมาณ 8 ครั้ง เริ่มจากถอดบนยอดเจดีย์ก่อน วางแผนไว้ว่าจะตัดให้ได้ 19 ชิ้น ชิ้นละประมาณ 500 กิโลกรัม
เราต้องตัดต่อโครงสร้างคอนกรีตให้ตรงเพื่อชาวบ้านอาจนำไปประกอบเป็นองค์ใหม่ตามต้องการ หรือถ้าท้องถิ่นไม่ต้องการ จะนำไปจัดแสดงนิทรรศการ
บอกพัฒนาการความเป็นมาของการสร้างพระธาตุก็ได้ เราตั้งใจทำให้ดี ต้องบอกกล่าวไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อนลงมือ"
ปัจจุบันนี้ พระธาตุเจดีย์แบบล้านนาสมัยครูบาศรีวิชัยเผยโฉมให้เห็นเต็มทั้งสององค์แล้ว หลังจากถูกซ่อนอยู่ภายในมานานถึง 34 ปี
"เจดีย์สมัยครูบาสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ เป็นปูน คลส.หุ้มอยู่ ขาดแต่หัวเม็ดน้ำค้างบนปลียอดเท่านั้น
เรายังพบว่าด้านในมีร่องรอยของพระธาตุยุคก่อนหน้านั้นซ้อนอยู่อีก 2 ยุค แต่ยังไม่ชัดเจน
ตอนนี้นักโบราณคดีกับช่างอนุรักษ์กำลังมาขุดค้นด้านหลังของพระธาตุ"
นายจุมภฎเผยด้วยว่างานในช่วงต่อไป เป็นการปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุในปัจจุบัน หรือพระธาตุแบบล้านนาสมัยสมัยครูบาศรีวิชัยให้สมบูรณ์ดังเดิม
คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมปีนี้ รวมถึงการปรับปรุงภูมิทัศน์ต่างๆ ได้แก่ ทุบศาลาทิ้งเพื่อปรับเป็นพื้นที่สีเขียว
"เราจะคงวิหารเดิมไว้ วิหารตอนนี้กลายเป็นโบสถ์ไปแล้ว วิหารนี้น่าจะเก่าแก่ก่อนสมัยครูบาศรีวิชัย ภาพโบราณสมัยครูบาจะเห็นวิหารเหลือแต่ผนังด้านเดียว
ท่านครูบาก็ไม่ได้ปรับปรุงอะไร แต่มุงด้วยวัสดุชั่วคราวเป็นสังกะสี นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะอนุรักษ์ไว้ พอถึงปีงบประมาณ 2551
คงสามารถเปิดศูนย์ข้อมูลได้"
ถึงวันนี้ใครที่เดินทางขึ้นดอยตุง เพื่อนมัสการพระธาตุดอยตุง คงได้สัมผัสกับองค์เจดีย์คู่โฉมเดิมที่มีอายุยาวนาน 80 ปีแล้ว
เป็นองค์พระบรมธาตุดอยตุงแบบล้านนาสีทองอร่าม ท่ามกลางสายหมอกแห่งดอยดินแดง.
นี่เป็นข้อมูลที่มีผู้นำไปโพสไว้ พอจะย้อนความเป็นมาก่อนการบูรณะแต่โดยย่อพอเป็นที่เข้าใจ ซึ่งความจริงยังมีรายละเอียดมากกว่านี้
แต่จะขอเล่าถึงเหตุการณ์ในปัจจุบันกันต่อไป
ว่าครั้นทำพิธบวงสรวงที่องค์พระธาตุด้านทิศวันออกเสร็จแล้ว คณะพระสงฆ์จึงได้ย้ายมาทางทิศตะวันตก
พร้อมกับญาติโยมได้นั่งแวดล้อมในบริเวณพระธาตุจำลององค์เล็กกันเต็มไปหมด โดยมี ดร.ปริญญา นุตาลัย และ มล.ศรัญสุข (หน่อย) ศุขสวัสดิ์ เจ้าของบ้านสายลม
เป็นผู้อัญเชิญยอดฉัตรเข้าไปรอทำพิธีกันต่อไป ในขณะที่จะเริ่มพิธีนั้น แสงแดดในตอนเช้าที่เริ่มร้อน แต่กลับร่มครึ้มลงไปทันที
นับเป็นที่อัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง
ในขณะที่ทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมแล้ว คุณชุมนุมพร (ขนม) ก็ได้ประสานงานกับ นายช่างเชียร ซึ่งได้ผสมปูนซีเมนต์รออยู่
ยังมีเจ้าของบริษัท (จำชื่อไม่ได้) เป็นผู้ รับเหมาในการทำฉัตร ก็ได้มาช่วยเหลือเป็นอย่างดี
เป็นอันว่า ผู้ที่เดินทางไปร่วมพิธีในครั้งนี้ก็ไม่เสียทีเปล่า ยังได้บุญจากการทำพิธีบรรจุพระเจดีย์จำลององค์เล็กอีกด้วย
ซึ่งจะเป็นพระเจดีย์สำหรับให้ผู้บูชาทั้งหลายได้ปิดทอง เพราะพระเจดีย์องค์ใหญ่ไม่สามารถปิดทองได้ ท่านพระครูปลัดอนันต์ได้บอกบุญเป็นเจ้าภาพ องค์ละ 25,000
บาท
ปรากฏว่าประกาศออกไปไม่ถึง 2 นาที มีผู้รับเป็นเจ้าภาพครบถ้วนทันที บางคนก็เสียดายที่ยกมือไม่ทัน ท่านเจ้าอาวาสบอกว่า
ยังมีพระเจดีย์บนศาลาห้าพระองค์ที่วัดท่าซุงอีก 37 องค์ ที่จะหาเจ้าภาพ แต่ว่าตอนนี้ยังไม่กำหนดมูลค่า จะประกาศเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง
ขอให้ทุกคนรอไปก่อนก็แล้วกันนะ
ในขณะทำพิธียกยอดฉัตรนั้น พระครูสมุห์พิชิต (หลวงพี่โอ) พระครูปลัดอนันต์ ได้ร่วมกันปักยอดฉัตรลงไปในพระเจดีย์ทั้งสององค์พร้อมกัน พระสงฆ์สวดชยันโต
เพลงมหาฤกษ์มหาชัยบรรเลงไปจนจบพิธี แล้วท่านเจ้าอาวาสก็ได้สรงน้ำหอมและโปรยดอกไม้ทั้งสององค์
เมื่อทำพิธีเสร็จแล้ว ทุกคนก็ต้องเดินย้อนกลับไปที่วัดพระธาตุน้อย ปีนี้เจ้าหน้าที่จัดเลี้ยงอาหารที่นั่น
ก่อนงานคืนวันเสาร์มีคนไปพักกันเต็มศาลา ทางวัดให้การต้อนรับเป็นอย่างดี มีผ้านวมห่มกันหนาว มีน้ำอุ่นให้อาบ บางคณะก็ไปค้างวัดถ้ำผาจม ที่แม่สาย
แต่ก่อนงานพระเจ้าหน้าที่จากวัดท่าซุงก็ได้ไปพักที่วัดถ้ำผาเงา ส่วนหลวงพี่โอนำคณะไปล้างห้องส้วมอีกเช่นเคย
สำหรับหลวงพี่ชัยวัฒน์และคณะหลวงพี่อาจินต์ไปพักที่ ท่านอาจารย์สมบูรณ์ วัดป่าปฐมพุทธาราม (เนินพระมาลัย)
หลวงพี่ชัยวัฒน์ไปถวายทำบุญทุกอย่าง มีการสร้างพระพุทธรูปและพระจุฬามณี เป็นต้น จำนวนเงิน 20,000 บาท และในระหว่างทางก็ยังได้ทำบุญที่อื่นๆ อีก
สามารถอ่านรายละเอียดได้ที่ "เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ต่อไป.. คลิกที่นี่
สวัสดี.
webmaster - 18/6/19 at 06:20
.