หลักการปฏิบัติธุดงค์ (ตอนที่ 3 ประวัติพระมหากัสสปเถระ)
kittinaja - 8/7/08 at 17:41

 « ตอนที่ 2 วิธีฝึกปฏิบัติของหลวงพ่อ

ประวัติพระมหากัสสปเถระ (โดยพิสดาร)


ผู้เลิศทางด้านธุดงค์


...ท่านพระมหากัสสปเถระ เป็นบุตรชายของ กปิลพราหมณ์ กัสสปโคตร ในบ้านชื่อว่า "มหาติฏฐะ" ในแว่นแคว้นมคธ เมื่อเกิดมาแล้วก็มีนามว่า "ปิปผลิ" เมื่ออายุได้ ๒๐ ปี ได้แต่งงานกับ นางภัททกาปิลานี ผู้มีอายุได้ ๑๖ ปี ซึ่งนางเป็นบุตรีของ โกสิยโคตรพราหมณ์ ณ สาคลนคร แว่นแคว้นมคธ

เนื้อความในเรื่องนี้มีว่า เมื่อปิปผลิมาณพมีอายุ ๒๐ ปีแล้ว บิดามารดาต้องการให้มีครอบครัว แต่บุตรชายบอกว่า อยากจะปฏิบัติบิดามารดาไปจนตลอดชีวิต เมื่อบิดามารดาล่วงลับไปแล้วก็จะออกบรรพชา ต่อมาบิดามารดาก็อ้อนวอนอีก ปิปผลิมาณพก็ปฏิเสธอย่างนั้นอีก แล้วจึงได้ออกอุบายให้ช่างทองหล่อทองคำเป็นรูปหญิงสาวคนหนึ่ง ให้นุ่งผ้าสีแดง แต่งตัวด้วยดอกไม้สีต่าง ๆ และเครื่องประดับนานาประการ

แล้วบอกกับมารดาว่า ถ้าหาผู้หญิงได้เหมือนกับรูปหล่อทองคำนี้ก็ยินดีจะแต่งงานด้วย มารดาเป็นผู้มีปัญญา ได้คิดว่าบุตรของเราเป็นผู้สร้างสมบุญบารมีมาดีแล้ว เมื่อกระทำบุญคงไม่ได้กระทำแต่ผู้เดียว หญิงที่ทำบุญร่วมกับบุตรของเรา ซึ่งมีรูปร่างอย่างรูปทองคำนี้จักมีเป็นแน่ จึงได้เชิญพราหมณ์ ๘ คน ให้นำรูปทองคำขึ้นบนรถ พร้อมกับมอบสิ่งของมีเงินและทองเป็นต้น เพื่อไปเที่ยวแสวงหาหญิงที่มีลักษณะงดงามพร้อมทั้งมีฐานะเสมอกันด้วยสกุลของตน

พราหมณ์ทั้ง ๘ คนนั้นรับสิ่งของทองหมั้น แล้วเที่ยวไปได้บรรลุถึงสาคลนคร ก็ได้ตั้งรูปทองคำไว้ที่ท่าน้ำแล้วพากันไปนั่งอยู่ในที่แห่งหนึ่ง คราวนั้นพวกพี่เลี้ยงของนางภัททกาปิลานีได้พากันไปอาบน้ำที่ท่าน้ำ ครั้นได้เห็นรูปทองคำนั้นก็เข้าใจว่าเป็นนางภัททกาปิลานี พวกพราหมณ์เห็นเช่นนั้น จึงได้ออกมาไต่ถามว่าลูกสาวเจ้านายของเธอเหมือนรูปนี้หรือ พี่เลี้ยงจึงตอบว่า พระแม่เจ้าของเราสวยกว่านี้

เพราะสว่างไปด้วยรัศมี พราหมณ์ได้ยินดังนั้น จึงให้นางนำไปที่บ้านของ โกสิยโคตรพราหมณ์พร้อมทั้งแจ้งความประสงค์ของตน เมื่อเจรจาเป็นที่ตกลงกันแล้ว จึงได้ส่งข่าวไปถึงกปิลพราหมณ์ ส่วนปิปผลิมาณพเมื่อได้ทราบดังนั้น ด้วยความที่ตนไม่อยากจะแต่งงานด้วย จึงได้เขียนจดหมายบอกความประสงค์ของตนให้แก่นางภัททปิลานีทราบว่า "นางผู้เจริญ จงหาคู่ครองที่มีสกุล มีฐานะทัดเทียมกับนางเถิด เราจะออกบวช เธออย่าเสียใจต่อภายหลัง"

ฝ่ายนางภัททกาได้ทราบว่า บิดามารดาจะยกตนให้แก่ปิปผลิมาณพ จึงเขียนจดหมายไปบอกความประสงค์ของตนเช่นเดียวกัน ต่อมาคนถือจดหมายทั้งสองคนมาพบกันในระหว่างทาง ต่างไต่ถามความประสงค์ของกันและกันแล้ว จึงฉีกจดหมายออกอ่านแล้วทิ้งจดหมายทั้ง ๒ ฉบับนั้นเสียในป่า และเขียนจดหมายขึ้นมาใหม่ โดยมีเนื้อความแสดงความพอใจซึ่งกัน และกัน แล้วนำไปส่งให้แก่คนทั้งสอง

ครั้นถึงกำหนดพิธีการแต่งงานผ่านไปแล้ว ด้วยความไม่เต็มใจของทั้งสองฝ่าย แต่เป็นด้วยบุพเพสันนิวาส คือ เคยเป็นคู่ครองกันมาในกาลก่อน บุคคลทั้งสองจำต้องมาอยู่ร่วมกัน ในตอนนี้พระเดชพระคุณหลวงพ่อเคยสันนิษฐานไว้ว่า ท่านทั้งสองนี้คงจะได้คุณธรรม คือ เป็น "พระสกิทาคามี" มาแต่ชาติก่อน ในชาตินี้จึงไม่นิยมเรื่องการครองเรือน มีจิตหวังที่จะออกบวชเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้คนทั้งสองสักแต่ว่าอยู่ร่วมกันเท่านั้น มิได้ล่วงเกินซึ่งกันและกันเลย ยังคงรักษาพรหมจรรย์ไว้ได้ตลอด ด้วยอำนาจบุญบารมีที่บำเพ็ญมาดีแล้ว นั่นก็คือการวาง พวงดอกไม้ กั้นไว้ระหว่างกันในขณะที่นอนบนเตียงนั้น นางภัททกากล่าวว่า ดอกไม้ข้างตัวของใครเหี่ยว เราจะรู้กันได้ว่า ผู้นั้นเกิดราคะจิตแล้วจึงไม่ควรจับต้องพวงดอกไม้นี้ คนทั้งสองจึงนอนไม่หลับตลอดคืนเพราะกลัวถูกต้องตัวกัน

ถึงเวลากลางวันก็ไม่ได้มีการยิ้มแย้มต่อกันเลย คนทั้งสองจึงอยู่แบบไม่ได้เกี่ยวข้องกัน จนกระทั่งบิดามารดาสิ้นอายุแล้ว จึงมีความเห็นว่า ผู้อยู่ครองเรือนต้องคอยนั่งรับบาป เพราะการงานที่ผู้อื่นทำไม่ดี มีใจเบื่อหน่ายพร้อมใจกันจะออกบวช จึงไปแสวงหาผ้ากาสายะและบาตรดินจากร้านตลาด ได้ปลงผมซึ่งกันและกันแล้วนุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาดนั้น ถือเพศบรรชิตตั้งใจบวชอุทิศต่อพระอรหันต์ในโลก

แล้วได้สะพายบาตรเดินลงจากปราสาทหลีกไป ปิปผลิเดินหน้านางภัททกาปิลานีเดินตามหลัง พอไปถึงทางสองแพร่งจึงแยกออกจากกัน เพราะเกรงผู้อื่นจะคิดว่าทั้งสองคนนี้บวชแล้วก็ยังไม่อาจพรากจากกันได้ ก่อนจะแยกจากกัน นางภัททกาได้ทำปทักษิณถึง ๓ รอบ กราบสามีลงในที่ทั้ง ๔ คือ กราบลงข้างหน้า ข้างหลัง ข้างซ้าย และข้างขวา แล้วประนมมือขึ้นกล่าวว่า

"ความรักใคร่สนิทสนมกัน ซึ่งได้มีแก่เราทั้งสองตลอดกาลนานประมาณแสนกัปมาแล้ว จะแตกกันในวันนี้ ท่านสมควรไปทางเบื้องขวา ส่วนข้าพเจ้าสมควรไปทางเบื้องซ้าย"

กล่าวดังนี้แล้วก็ออกเดินทาง ระหว่างแยกทางกันนั้น แผ่นดินอันใหญ่ก็ได้หวั่นไหว ประหนึ่งว่าไม่อาจรับความดีของท่านทั้งสองไว้ได้ ส่วนในอากาศก็มีสายฟ้าแลบฉวัดเฉวียนด้วยอำนาจบารมีธรรมของคนทั้งสองนั้นบันดาลให้เป็นไป

พระพุทธองค์เสด็จไปต้อนรับ

ฝ่ายองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งประทับอยู่ในพระคันธกุฎีที่พระเวฬุวันมหาวิหาร ได้ทรงสดับเสียงแผ่นดินไหวก็ทรงพิจารณาดูว่า แผ่นดินไหวเพื่อใคร ก็ทรงทราบว่าปิปผลิมาณพกับนางภัททกาปิลานี ได้สละทรัพย์สมบัติอันหาประมาณมิได้ ออกบรรพชาโดยตั้งใจเฉพาะต่อเรา แผ่นดินไหวนี้มีขึ้น ด้วยกำลังแห่งคุณธรรมของบุคคลทั้งสอง ในขณะที่จะแยกจากกันถึงแม้ว่าเราก็ควรจะสงเคราะห์บุคคลทั้งสองนั้น

แล้วจึงเสด็จออกจากพระคันธกุฎี ทรงถือเอาบาตร จีวร ด้วยพระองค์เอง โดยไม่บอกแก่พระสาวกทั้งหลายให้ทราบ ครั้นเสด็จถึงใต้ร่มไทรต้นหนึ่ง ในระหว่างกรุงราชคฤห์กับเมืองนาลันทาต่อกัน พระพุทธองค์ทรงประทับนั่ง แล้วเปล่งพระรัศมีออกจากพระวรกายประมาณ ๘๐ ศอก.

ดังนั้นในขณะนั้น พระพุทธรัศมีก็ได้พุ่งกระจายออกไปรอบด้าน ทำให้เหมือนเวลาพระจันทร์ และพระอาทิตย์ขึ้นเป็นพัน ๆ ดวง ทำให้ชายป่าบริเวณนั้นให้มีแสงสว่างขึ้นบนท้องฟ้าระยิบระยับประหนึ่งหมู่ดาว ธรรมดาต้นนิโครธจะมีลำต้นขาว มีใบเขียว ผลสุกแดง แต่วันนั้น ต้นนิโครธกลับมีกิ่งขาว มีสีเหมือนทองคำ

พระมหากัสสปเถระเห็นพระพุทธองค์ประทับอยู่เช่นนั้น ก็เกิดความเลื่อมใสอย่างสูงสุด คิดว่าท่านผู้นี้จะเป็นพระศาสดาของเรา เราบวชอุทิศพระศาสดาพระองค์นี้ จึงเดินเข้าไปไหว้แล้วกราบทูลปวารณาตนเป็นสาวก ซึ่งในพระอรรถกถาได้กล่าวไว้ว่า เป็นการเข้าถึงด้วยวิธียอมเป็นศิษย์ โดยการกล่าวว่า “ข้าพระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก” ๓ ครั้ง

การถวายสักการะต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยสาวกผู้มีจิตเลื่อมใสทุ่มเทจิตใจทั้งหมดอย่างนี้ และได้ทำความเคารพอย่างยิ่งปานนี้ เหมือนเช่นที่พระมหากัสสปเถระกระทำต่อพระพุทธองค์นี้ ท่านเปรียบเอาไว้ว่า ถ้าท่านพระมหากัสสปเถระกระทำการเคารพเช่นนี้ต่อผู้อื่นที่มิใช่พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ศีรษะของผู้นั้น “พึงหลุดจากคอ ดุจตาลสุกหล่นฉะนั้น” และอรรถกถาก็อธิบายเพิ่มเติมว่า

“หากพระมหากัสสปเถระพึงความเคารพ ด้วยจิตเลื่อมใสอย่างยิ่งนี้ ต่อมหาสมุทร.มหาสมุทรจะต้องถึงความเหือดแห้ง ดุจหยาดน้ำที่ใส่ในกระเบื้องร้อน.หากพึงทำความเคารพต่อจักรวาล.จักรวาลต้องกระจัดกระจายดุจกำแกลบ.หากพึงทำความเคารพต่อเขาสิเนรุ.เขาสิเนรุต้องย่อยยับดุจก้อน แป้งที่ถูกกาจิก หากพึงทำความเคารพต่อแผ่นดิน.แผ่นดินต้องกระจัดกระจายดุจผุยผงที่ถูกลมหอบมา”

องค์สมเด็จพระทศพลจึงตรัสว่า

"กัสสป...ถ้าเธอกระทำความเคารพอันนี้แก่แผ่นดินอันใหญ่นี้ ถึงแม้ว่าแผ่นดินอันใหญ่นี้ก็ไม่อาจทรงอยู่ได้ เพราะเธอมีคุณความดีมากเหมือนกับพระตถาคต แต่ความเคารพที่เธอกระทำแล้ว ไม่อาจให้เส้นโลมาของเราไหวได้ จงนั่งเถิดกัสสป...เราจะให้ความเป็นทายาทแก่เธอ.."

พระโอวาท ๓ ประการ

ครั้งนั้นพระพุทธองค์ก็ได้ประทานอุปสมบทแก่ปิปผลิมาณพด้วยการประทานพระโอวาท ๓ ประการคือ ....

๑. กัสสป..ท่านพึงศึกษาว่า เราจักเข้าไปตั้งความละอายและความเกรงไว้ในภิกษุผู้เป็นผู้เฒ่าและปานกลางอย่างแรงกล้า ฯ

๒. เราจะฟังธรรมอันใดอันหนึ่งประกอบด้วยกุศล เราจักเงี่ยหูลงฟังธรรมนั้น พิจารณาเนื้อความดังนี้ ฯ

๓. เราจะไม่ละสติที่ไปในกาย คือ พิจารณาร่างกายเป็นอารมณ์ ฯ

ครั้นประทานแล้วพระพุทธองค์ก็ทรงหลีกไป ด้วยทรงดำริว่า เราจักทำภิกษุนี้ให้เป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร มีอาสนะเดียวเป็นวัตร พระมหากัสสปเถระ จึงได้สมาทานธุดงค์คุณ ๑๓ ข้อและบำเพ็ญเพียรในการปฏิบัติธรรม เพียง ๗ วันและได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ในเช้าของวันที่ ๘

ครั้งหนึ่งพระมหากัสสปนั้นได้เดินตามรอยพระบาทของพระพุทธองค์ไป พระสรีระของพระศาสดาตระการตาด้วยพระมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ สรีระของพระมหากัสสปประดับด้วยมหาปุริสลักษณะ ๗ ประการ พระมหากัสสปนั้นเดินตามเสด็จพระศาสดา เปรียบเหมือนกับเรือน้อยพ่วงท้ายเรือใหญ่ ซึ่งสำเร็จแล้วด้วยทองคำฉะนั้น

องค์สมเด็จพระภควันต์เสด็จไปได้หน่อยหนึ่ง จึงทรงแวะออกจากทางทรงแสดงอาการจะประทับนั่งที่ภายใต้ร่มไม้ต้นหนึ่ง พระมหากัสสปทราบว่าองค์สมเด็จพระบรมศาสดามีพระประสงค์จะนั่ง จึงพับผ้าสังฆาฏิของตนให้เป็น ๔ ชั้นแล้วปูถวาย พระพุทธองค์ประทับนั่งบนผ้าสังฆาฏินั้นแล้วก็ทรงลูบผ้าสังฆาฏิด้วยพระหัตถ์ แล้วตรัสว่า "ผ้าสังฆาฏิของเธออ่อนนุ่มดี"

พระมหากัสสปก็ทราบว่า พระศาสดาทรงตรัสเช่นนี้ จักมีพระประสงค์ที่จะทรงห่มเป็นแน่ จึงได้กราบทูลถวายผ้าผืนนั้นของตน ส่วนผ้าสบงของพระพุทธองค์ ก็จะขอมาทำเป็นผ้าสังฆาฏิ องค์สมเด็จพระบรมครูจึงตรัสว่า

"กัสสป..ผ้าบังสุกุลผืนนี้ ในวันที่เราถือเอามานั้นได้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ เพราะเป็นผ้าที่เคยใช้ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายมาแล้ว ผู้ที่มีคุณธรรมเล็กน้อยไม่อาจใช้ได้ ส่วนผู้ที่มีชาติถือบังสุกุลซึ่งสามารถจะทำข้อปฏิบัติอันนี้ให้เต็มได้...จึงจะใช้ได้..."

ตรัสดังนี้แล้ว ก็ทรงแลกเปลี่ยนผ้าสังฆาฏิกับพระมหากัสสปเถระ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห่มผ้าของพระมหากัสสป ส่วนพระเถระก็ห่มผ้าของพระพุทธองค์ ในคราวนั้นแผ่นดินอันใหญ่ซึ่งไม่มีจิตวิญญาณ ก็ได้หวั่นไหวจนกระทั่งน้ำรองข้างล่าง ปานประหนึ่งจะกราบทูลว่า การที่พระองค์ไม่เคยทรงประทานผ้าของพระองค์ให้แก่พระสาวกนี้ ชื่อว่าได้กระทำสิ่งที่กระทำได้ยาก ข้าพระองค์ไม่อาจทรงคุณความดีของพระองค์ไว้ได้ฉะนั้น จีวรของพระมหาเถระนั้น อรรถกถากล่าวว่า

“จีวรนี้ที่เราห่ม ทาสีชื่อ "ปุณณ" ะทิ้งไว้ในป่าช้าผีดิบ เราเข้าไปสู่ป่าช้านั้นอันมีตัวสัตว์กระจายอยู่ ประมาณทะนานหนึ่ง กำจัดตัวสัตว์เหล่านั้นแล้ว ตั้งอยู่ในมหาอริยวงศ์ ถือเอา.ในวันที่เราถือเอาจีวรนี้ มหาปฐพีในหมื่นจักรวาลส่งเสียงสั่นสะเทือน อากาศนั้นส่งเสียง "ตฏะ..ตฏะ" เทวดาในจักรวาลได้ให้สาธุการว่า ภิกษุผู้ถือเอาจีวรนี้ ควรเป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตรตามธรรมชาติ นั่งอาสนะเดียวเป็นวัตรตามธรรมชาติ เที่ยวไปตามลำดับตรอกเป็นวัตรตามธรรมชาติ ท่านจักอาจทำให้สมควรแก่จีวรนี้ได้ ดังนี้.”

ฝ่ายพระมหากัสสปก็ไม่ได้มีใจฟูขึ้นว่า บัดนี้เราได้ผ้าที่พระพุทธเจ้าทรงใช้ แต่เราควรจะทำสิ่งใดให้ยิ่งขึ้นไป แล้วก็สมาทาน ธุดงค์คุณ ๑๓ ในที่ใกล้พระพุทธองค์ ท่านได้อุปสมบทเพียง ๗ วันเท่านั้น พอถึงวันที่ ๘ ก็ได้สำเร็จพระอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ ต่อมาองค์สมเด็จพระศาสดาจารย์ จึงได้ทรงยกย่องว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ถือธุดงค์ และทรงสรรเสริญคุณธรรมของท่านอีกหลายประการ เช่น :-

๑. มีธรรมเป็นเครื่องอยู่เสมอด้วยพระองค์ และเป็นผู้มักน้อยสันโดษ ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายให้ถือเอาเป็นตัวอย่าง

๒. กัสสปเข้าไปใกล้ตระกูล แล้วชักกายและใจห่าง ประพฤติเป็นคนใหม่ไม่คุ้นเคยเป็นนิจ ไม่คะนองกายวาจาใจในสกุลเป็นนิจ จิตไม่ข้องอยู่ในสกุลเหล่านั้น ตั้งอารมณ์จิตเป็นกลางว่า ผู้ใคร่ลาภก็จงได้ลาภ ผู้ใคร่บุญก็จงได้บุญ ตนได้ลาภมีใจฉันใด ผู้อื่นก็มีใจฉันนั้น

๓. กัสสปมีจิตประกอบไปด้วยเมตตากรุณาแสดงธรรมแก่ผู้อื่น ดังนี้

ตอนที่ 4 เกิดสมัยพระปทุมุตตระพุทธเจ้า »