หลักการปฏิบัติธุดงค์ (ตอนที่ 11 พระมหากัสสปปรินิพพาน)
webmaster - 8/7/08 at 19:52
...เมื่อสำเร็จการปฐมสังคายนาแล้ว พระมหาเถระก็สถิตอยู่ในเวฬุวนาราม ปฏิบัติธรรมอยู่มิได้ประมาท ให้โอวาทสั่งสอนภิกษุทั้งหลาย
ซึ่งเป็นศิษยานุศิษย์มาสิ้นกาลช้านาน
อยู่มาเวลาเที่ยงคืนวันหนึ่ง พระมหาเถระเข้าฌานสมาบัติเป็นที่สบายแห่งพระอริยเจ้า จึงพิจารณาอายุสังขารของท่านเห็นว่าแก่ชรา มีอายุได้ร้อยยี่สิบปีแล้ว
เล็งแลดูไปก็เห็นว่าอายุของท่านสิ้นแล้ว เพลาพรุ่งนี้ท่านจะนิพพาน และจะนิพพานในระหว่าง ภูเขากุกกุฏสัมปาตบรรพต ใกล้เมืองราชคฤห์
ครั้นรุ่งเช้าพระมหาเถระจึงให้ประชุมสงฆ์ แล้วสั่งสอนว่าอย่าประมาท อุตส่าห์พยายามอย่าให้ขาดเวลา จงปฎิบัติตามคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา
ตัวท่านนั้นสิ้นอายุแล้ว จะนิพพาน ณ เพลาเย็นวันนี้แล้ว
บรรดาพระภิกษุที่เป็นปุถุชน ได้ฟังก็พากันโศกา ร่ำร้องไห้พิไร บรรดาพระขีณาสพทั้งหลายครั้นแจ้งเหตุ ต่างก็สงสารสังเวชว่า เกิดมาเป็นสัตว์สังขารแล้ว
มีแต่จะสูญสิ้นไปเป็นที่สุด เกิดแล้วดับไป ถ้าแม้นระงับสังขารธรรมลงเสียได้ แล้วนั่นแหละจึงจะเป็นสุข
ฝ่ายพระมหาเถระเห็นดังนั้น จึงได้ประโลมปลอบให้ชอบตามพระพุทธฎีกาว่า อันเกิดมาเป็นสังขารแล้วไม่เที่ยงแท้ ย่อมปรวนแปรไปมา พระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ได้ตรัสในอดีต อนาคต และปัจจุบันนั้น ย่อมเทศนาไว้ทุก ๆ พระองค์ว่า เกิดมาเป็นสัตว์เป็นสังขารแล้ว ไม่แคล้วอนิจจังเลย
เมื่อเห็นชัดฉะนี้แล้ว พึงเร่งกระทำเพียรพยายาม ยกตนให้พ้นอนิจจังให้จงได้ อันพระยามัจจุราชนี้ไซร้ ยากที่บุคคลจะข้ามพ้น
เว้นไว้แต่พระอริยบุคคลที่ท่านสำเร็จพระนิพพาน อนึ่ง เล่าพระภิกษุทั้งหลาย จะใคร่เห็นเราในขณะเมื่อเข้าสู่พระนิพพาน
จงไปประชุมอยู่แทบเชิงเขากุกกุฎปาตบรรพตนั้นเถิด
พระมหาเถระบอกเล่าพระสงฆ์ฉะนี้แล้ว เพลานั้นเล่าก็ควรจะบิณฑบาต ท่านจึงออกจากเวฬุวนาราม เพื่อไปบิณฑบาต บทจรเข้าสู่เมืองราชคฤห์
เที่ยวบิณฑบาตโดยลำดับตรอก ได้จังหันพอแล้วจึงหลีกออกจากบิณฑบาต กลับมาสู่ที่สำราญ กระทำภัตตกิจ
เมื่อกระทำภัตตกิจเสร็จแล้วจึงดำริว่า พระเจ้าอชาตสัตรู มีอุปการะแก่ท่านเป็นอันมาก มีศรัทธาบริจาคจตุปัจจัยถวายพระสงฆ์มิได้ขาด
เคารพนบนอบในพระรัตนตรัย ช่วยท่านในการปฐมสังคายนา จำท่านจะไปบอกเล่า ให้พระเจ้าอชาตสัตรูรู้ก่อนจึงจะสมควร คิดแล้วท่านจึงเข้าไปในเมืองราชคฤห์
เมื่อเวลาเที่ยงไปสู่หน้าพระลานหลวง
เวลานั้นพระเจ้าอชาตสัตรูบรรทมอยู่ ท่านจึงได้แจ้งแก่บรรดาอำมาตย์ทั้งหลายว่า ท่านประสงค์จะมาลาพระเจ้าอชาตสัตรู
เพื่อเข้าสู่พระนิพพานในเวลาเย็นวันนี้ จากนั้นท่านก็กลับสู่เวฬุวนาราม วัตรปฎิบัติสิ่งใดที่ควรจะกระทำ ท่านก็ทำเสร็จทุกประการ
แล้วจึงจากเวฬุวันพร้อมพระสงฆ์เป็นอันมาก เดินทางไปยังกุกกุฏบรรพต ไปถึงเมื่อเวลาเย็น
แล้วท่านก็แสดงปาฎิหาริย์ต่าง ๆ พลางเทศนาโปรดมหาชนทั้งปวง ให้ลุล่วงเข้าสู่อริยภูมิเป็นอันมาก จากนั้นท่านได้อำลาพระสงฆ์ทั้งหลายว่า
ให้อุตสาห์เจริญสมณธรรม อย่าประมาทในคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา เราจะลาท่านทั้งหลายเข้าสู่พระนิพพานแล้ว จากนั้นท่านจึงเข้าไปสู่ระหว่างภูเขาทั้งสามลูก
คิดอยู่ในใจว่าท่านจะนิพพานในปีนี้
แล้วพระมหาเถระจึงขึ้นสู่ที่ไสยาสน์ นั่งพับพะแนงเชิง เข้าสู่ผลสมาบัติ เมื่อออกจากผลสมาบัติแล้ว จึงตั้งอธิฐานไว้ว่า ถ้าแหละท่านดับสูญสิ้นอายุสังขาร
เข้าสูนิพพานแล้วเมื่อใด ภูเขาทั้งสามลูกนี้จงมาประชุมกันเป็นลูกเดียว ให้ปรากฏเป็นห้องหับอยู่ภายในภูผา อุปมาดังห้องที่ไสยาสน์
พระมหาเถระได้ตั้งอธิฐานอีกว่า ตั้งแต่บัดนี้ไปมนุษย์ทั้งหลายอายุจะน้อยถอยลงทุกที ตราบเท่าถึง 10 ปี อายุขัย กาลครั้งนั้นจะเกิดการฆ่าฟันกันตาย
เกิดมิคสัญญี มนุษย์ทั้งหลายเห็นกันสำคัญว่าเป็นเนื้อ ต่างเข้าไล่ฆ่าฟันกันตายจนสิ้นสุด ยังเหลืออยู่แต่มนุษย์ ที่หนีไปหลบซ่อนอยู่ผู้เดียว จึงอยู่ได้
ครั้งต่อมาบรรดาผู้ที่หลบซ่อนนั้น ออกมาพบกันบังเกิดเมตตาต่อกัน ประพฤติแต่สุจริตธรรม เมื่อสืบเชื้อสายกันต่อมา ก็มีอายุเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ
จนถึงอสงไขยเป็นที่สุด คนทั้งหลายก็ประมาทมิได้ประพฤติธรรม อายุก็ลดน้อยถอยลงจนเหลือ 8 หมื่นปี ในกาลครั้งนั้นชมพูทวีป ก็ราบรื่นเสมอสมาน
ปานประหนึ่งหน้ากลอง สรรพจะมีไพบูลย์ทุกสิ่งทุกประการ
สมัยพระศรีอาริยเมตไตรย
ในกาลครั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระเมตไตรย ก็จะมาตรัสในโลกนี้ พระองค์จะเสด็จมา ณ ที่นี้ แล้วตรัสบอกแก่พระสงฆ์ว่า
ท่านผู้นี้เป็นสาวกผู้ใหญ่ในศาสนาพระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า มีนามปรากฏว่า อริยกัสสปเถระ ถือธุดงค์ได้สิ้นทั้ง 13 ประการ ตราบเท่าสิ้นชีวิตของท่านคือ
ถือบังสุกุลิกธุดงค์ เตจีวริกธุดงค์ บิณฑบาติกาธุดงค์ สัปปทานจาริกธุดงค์ เอกาสนิกธุดงค์ ปัตตบินฑิกธุดงค์ ขลุปัจฉาภัตติกธุดงค์ อารัญญิกธุดงค์
รุกขมลิกธุดงค์ อัพโภกาสิกธุดงค์ โสสานิกธุดงค์ ยถาลันตติกธุดงค์ เนสัชชิกธุดงค์ ตั้งแต่วันอุปสมบทมา ตราบเท่าถึงวันเข้าพระนิพพาน
เมื่อพระมหาเถระอธิฐานแล้ว จึงเอนองค์ลงเหนือแท่นที่ไสยาสน์โดยบุรพเบื้องทักขิณา ลำดับหัตถบาทเป็นระเบียบ บ่ายพระเศียรสู่อุดรทิศา ก็ดับเบญจขันธ์
เข้าสู่พระอมตมหานิพพาน สูญสิ้นทั้งวิบากขันธ์และกรรมมัชรูปไม่เหลือ มิได้สืบต่อรูปกายให้ปรากฏในภพหน้า ก็ปรากฏชื่อว่า "อนุปาทิเสสปรินิพพาน"
(ดับสิ้นทั้งกิเลสและร่างกาย)
พระเจ้าอชาตสัตรู เมื่อทราบข่าวพระมหาเถรปรินิพพานก็เศร้าโศกเสียพระทัยยิ่งนัก จึงได้เดินทางไปเคารพศพพระมหาเถระ แล้วให้จัดการสมโภชพระมหาเถระ 7 วัน
เมื่อครบกำหนดแล้วจึงได้เสด็จกลับคืนสู่พระนคร ท้าวเธออุตส่าห์รักษาศีลบำเพ็ญทานเป็นเนืองนิจ ด้วยพระทัยคิดถึงคำสอนแห่งพระมหาเถระผู้เป็นอุปัชฌาย์
ตกว่าซากศพพระมหาเถระนั้น ทุกวันนี้ก็ยังปรากฏเป็นปรกติมิได้เปื่อยเน่า เครื่องสักการบูชาก็ยังตั้งอยู่เป็นปรกติ มิได้ดับสาบสูญไป
สัปบุรุษทั้งหลายผู้มีปัญญาพิจารณา เห็นความอนิจจังดังกล่าวมาฉะนี้ จงมีสติอุตส่าห์ขวนขวายสิ่งอันเป็นแก่นสาร คือรักษาศีล บำเพ็ญทานการกุศลสุจริต
ให้ตั้งจิตจำเริญกุศลกรรมบถ 10 ประการ จงอุตส่าห์สร้างสมไปอย่างได้ขาด จะเป็นเสบียงเลี้ยงตนไปในมรรคาอันไกลคือ "วัฏฏสงสาร" ตราบเท่าสำเร็จพระนิพพานเถิด.
ที่มา - www.dharma-gateway.com/monk/great_monk/pra-mahakassapa-06.htm
พระมหากัสสปเคยเกิดเป็นช้างมาก่อน
ครั้งหนึ่งหลังจากที่ได้ตั้งปรารถนาพุทธภูมิ สมเด็จพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า เคยเสวยพระชาติเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า
"สมเด็จพระเจ้าสัตตุตาปนราธิราช" ทรงมีพระเดชานุภาพมาก ทรงปกครองไพร่ฟ้าประชาชนด้วยทศพิธราชธรรม
องค์พระโพธิสัตว์ในภพชาตินี้ ทรงมีพระทัยรักใคร่ในหัตถีพาหนะ คือ "ช้าง" เป็นอันมาก หากแม้ทราบว่าที่ใดมีช้างลักษณะดีแล้ว
ก็จะทรงมีพระอุตสาหะไปประทับแรมอยู่ ณ ที่นั้น จนกว่าจะจับมงคลคชสารได้ จึงจะกลับสู่พระนคร
แล้วทรงมอบให้นายหัตถาจารย์ผู้ชำนาญเวทย์เป็นผู้ฝึกสอนช้างต่อไป
สมัยนั้น มีนายพรานผู้หนึ่งได้พบมงคลคชสาร ท่องเที่ยวอยู่ใกล้สระโบกขรณี
จึงได้นำเรื่องไปกราบทูลเจ้าเหนือหัวเพื่อหวังได้ทรัพย์สินเงินทองเป็นการตอบแทน
ครั้นพระราชาทรงทราบข่าวก็มีรับสั่งให้เตรียมพหลพาหนะออกเดินทางไปสู่ที่แห่งนั้น เมื่อทรงทอดพระเนตรเห็นมงคลคชสาร
ก็ทรงโสมนัสดำรัสสั่งให้ทหารจับช้างนั้นไว้ให้จงได้ แล้วทรงนำกลับพระนครให้นายหัตถาจารย์เป็นผู้ฝึกสอนช้าง และมีพระราชโองการว่า
" ดูกรพ่อหัตถาจารย์ ! ในระหว่าง ๗ - ๘ วันนี้ ท่านจงเร่งฝึกสอนมงคลคชสารที่เราจับมาจากป่านี้ให้มีมารยาทอันดี
เราจะเล่นนักขัตฤกษ์มหรสพด้วยมงคลหัตถีอันประเสริฐตัวนี้"
เมื่อนายหัตถาจารย์รับพระราชโองการแล้ว ก็รีบฝึกช้าง เมื่อครบ ๓ วันแล้ว ก็รีบนำมาถวายได้ตามกำหนด
ครั้นพอถึงวันนักขัตฤกษ์พระราชาก็สั่งให้ประดับมงคลคชสารนั้น ด้วยมงคลหัสดาภรณ์พิเศษ แล้วเสด็จทรงมงคลคชสารนั้นออกว่าราชการ
และเสด็จทำประทักษิณพระนครคือเลียบเมืองเป็นที่สำราญพระราชหฤทัย
และในคืนนั้นเองฝูงช้างป่าก็ได้เข้ามาในพระราชอุทยานทำลานพรรณพฤกษาชาติน้อยใหญ่ให้แหลกยับ
มิหนำซ้ำยังถ่ายมูตรกรีสลงไว้ในที่นั้นเกลื่อนกลาดแล้วพากันหลีกไป พอรุ่งสางนายอุทยานเห็นเช่นนั้น ก็เข้าเฝ้าถวายกราบบังคมทูลเรื่องที่เกิดขึ้น
เมื่อพระสัตตุตาปราชาทรงสดับเช่นนั้น ก็ตรัสสั่งให้เสด็จออกทอดพระเนตรอุทยาน
ในขณะนั้นพญามงคลคชสารบังเอิญได้สูดดมกลิ่นแห่งนางพังช้างตัวเมียทั้งหลาย ซึ่งยังมีกลิ่นติดอยู่ในที่นั่นก็เกิดความมัวเมาขึ้นมาภายใน
ด้วยอำนาจราคะดำกฤษณาให้เกิดความเสียวกระสัน จึงสลัดกายให้นายควานท้ายตกลง แล้วคลุ้มคลั่งแทงทำลายกำแพงอุทยานทลายลง
แม้พระราชาจะทรงพระแสงขอคอเกี่ยวเหนี่ยวไว้ด้วยพละกำลัง ก็มิสามารถทำให้พญามงคลคชสารนั้นหมดความบ้าคลั่งและรู้สึกตัวกลัวเจ็บได้
ครั้นแล่นมาถึงป่าแล้วพระองค์ก็ได้รับความลำบากบอบช้ำกายหนักหนา จึงมีสติจึงโน้มเอากิ่งมะเดื่อเป็นหลักเกาะยึดเพื่อทรงกาย
แล้วปล่อยให้พญาคชสารนั้นวิ่งแล่นเตลิดไป ข้างฝ่ายไพร่พลทหารทั้งหลายก็ไล่ติดตามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของตน จึงเร่งรีบตามรอยช้างมาจนถึงป่าใหญ่
แล้วร้องเรียกหาพระราชาเจ้า
ครั้นเมื่อพบแล้วก็เชิญเสด็จรับพระองค์ลงมาจากคบพฤกษา และประโคมดุริยดนตรีเชิญพระองค์กลับสู่พระนคร
เมื่อถึงพระนครแล้วก็ทรงดำรัสสั่งให้นำนายหัตถาจารย์เข้ามาเฝ้า แล้วตรัสถามว่า
" ดูกร นายหัตถาจารย์ผู้เจริญ ! ตัวท่านนี้มีความผิด ด้วยประสงค์จะใคร่ฆ่าเราเสียมิใช่หรือ ?"
นายหัตถาจารย์จึงกราบทูลว่า
" ข้าแต่พระราชาผู้เป็นใหญ่ ! เหตุไฉนพระองค์จึงดำรัสกับข้าพเจ้าเช่นนี้เล่า ? เหตุที่ทำให้พญาหัตถีมีอันวิปริตเป็นเช่นนั้น
เป็นเพราะอำนาจความเร่าร้อนแห่งราคะกิเลส แม้ได้สมความต้องการของตนแล้ว ก็คงจะกลับมาดอกพระเจ้าข้า"
เมื่อสดับดังนั้นแล้วก็ให้ควบคุมตัวนายหัตถาจารย์ไว้ก่อนเพื่อรอคอยให้พญามงคลคชสารนั้นกลับมา
ส่วนพญาช้างเมื่อได้สำเร็จมโนรถกับนางพังช้างแล้ว ก็รีบกลับเข้าไปในเมืองที่ตนอยู่ พอถึงรุ่งเช้านายหัตถาจารย์ตื่นขึ้นมาเห็นมงคลคชสารยืนอยู่ในโรงแล้ว
ก็รีบเข้าไปกราบทูลพระราชา พระองค์จึงรีบเสด็จมาโดยด่วนที่โรงช้าง และมีพระดำรัสว่า
" เออ... ก็สามารถฝึกสอนให้รู้ดีถึงเพียงนี้แล้ว เหตุไฉนวันนั้น เรากดเหนี่ยวไว้โดยแรงด้วยพระแสงขออันคมยิ่ง ยังไม่สามารถที่จะห้ามได้
มันเป็นเพราะเหตุใดหนอ ?"มงคลราชหัตถี ท่าน
ท่านอาจารย์ช้างผู้ขมังเวทย์ได้ทีจึงรีบทูลตอบว่า
"ขึ้นชื่อว่าราคะดำกฤษณานี้ ย่อมมีคมเฉียบแหลมยิ่ง เกินกว่าคมแห่งพระแสงขอเป็นร้อยเท่าพันทวี อนึ่ง ถ้าจะว่าข้างร้อนเล่า
ขึ้นชื่อว่าร้อนแห่งเพลิงคือราคะดำกฤษณานี้ ย่อมร้อนรุ่มอยู่ในทรวงของสัตว์บุคคลอย่างเหลือร้อน ยิ่งกว่าความร้อนแห่งเพลิงตามปกติเป็นไหนๆ
อนึ่ง ถ้าจะว่าไปข้างเป็นพิษเล่า ขึ้นชื่อว่าพิษคือราคะดำกฤษณานี้ ย่อมมีพิษซึมซาบฉุนเฉียวเรี่ยวแรงรวดเร็วยิ่ง เกินกว่าพิษแห่งจตุรพิธภุชงค์ คือ
พิษแห่งพญานาคราชทั่งสี่ชาติสี่ตระกูลเป็นไหนๆ เพราะเหตุนี้พระองค์จึงมิสามารถหยุดยั้งด้วยกำลังพระแสงขอได้ พระเจ้าข้า !"
" แล้วไฉนพญาคชสารนี้ จึงกลับมาโดยลำพังใจของตนเอง" พระราชาทรงถามขึ้นหลังจากที่ฟังนายหัตถาจารย์อธิบายเป็นเวลานาน
" การที่พญาคชสารกลับมาในครั้งนี้ ใช่ว่าจะมาโดยเจตนาก็หาไม่ แต่เป็นเพราะกำลังอำนาจมนตรามหาโอสถของข้าพระพุทธเจ้า !"
เมื่อทรงสดับดังนั้นแล้ว พระองค์จึงตรัสสั่งให้นายหัตถาจารย์แสดงกำลังมนต์มหาโอสถให้ทรงทอดพระเนตร
ส่วนนายหัตถาจารย์ก็ได้ให้บริวารไปนำเอาก้อนเหล็กก้อนใหญ่มา แล้วให้ช่างทองเอาใส่เตาสูบ เผาด้วยเพลิงให้ก้อนเหล็กนั้นสุกแดงแล้วจึงเอาคีมคีบออกจากเตา
เรียกพญาช้างเข้ามาแล้วร่ายมนต์ พลางบังคับให้คชสารจับเอาก้อนเหล็กแดงนั้นด้วยคำกำชับสั่งว่า
" ดูกรพญานาคินทร์ผู้ประเสริฐ จงหยิบเอาก้อนเหล็กนั้น ณ บัดนี้ แม้นเรายังไม่ได้บอกให้วาง ท่านจงอย่าได้วางเลยเป็นอันขาด"
ครั้นพญาช้างได้ฟังคำสั่งบังคับ ก็ยื่นงวงออกมาจับเอาก้อนเหล็กที่ลุกเป็นไฟ แม้ว่าจะร้อนงวงเหลือหลายจนงวงไหม้เป็นเปลวควันขึ้นก็ดี
ก็ไม่อาจจะทิ้งก้อนเหล็กนั้นเสียได้ด้วยกลัวต่ออำนาจมนตราของนายหัตถาจารย์เป็นกำลัง
เมื่อพระราชาทอดพระเนตรเห็นงวงพญาช้างถูกเพลิงไหม้เช่นนั้น ก็ทรงสงสารเวทนาและเกรงพญาช้างจะถึงแก่ความตาย
จึงดำรัสสั่งให้นายหัตถาจารย์บอกให้พญาช้างทิ้งก้อนเหล็กนั้นเสีย ทรงหวนคิดถึงอำนาจราคะดำกฤษณาของพญาช้าง พร้อมกับคำชักอุปมาอธิบายของนายหัตถาจารย์
ทรงยิ่งสังเวชในใจหนักหนา จึงเปล่งสังเวชเวทีว่า
" โอหนอ...น่าสมเพชหนักหนา ด้วยฝูงสัตว์มาติดต้องข้องขัดอยู่ด้วยราคะดำกฤษณา อันมีพิษพิลึกน่าสะพรึงกลัวร้ายกาจยิ่งนัก
ราคะคือความกำหนัดนี้ย่อมมีมหันตโทษมหาศาล เพราะเพลิงราคะมีกำลังหยาบช้ากล้าแข็ง ร้อนรุ่มสุมทรวงสัตว์ทั้งหลายอยู่อย่างนี้
สัตว์ทั้งหลายจึงต้องถูกกิเลสราคะย่ำยีบีฑา นำทุกข์มาทุ่มถมให้จมอยู่ในอู่แอ่งอ่าวโลกโอฆสงสารไม่มีวันสิ้นสุดลงได้ เพราะราคะกิเลสนี้แล
สัตว์ทั้งหลายจึงต้องไปตกหมกไหม้อยู่ในมหานรกทั้งแปดขุม และสัตว์ทั้งหลายบางหมู่ต้องไปเกิดอยู่ในกำเนิดเดียรัจฉาน สัตว์ทั้งหลายต้องบ่ายหน้าไปสู่อบายภูมิ
ก็เพราะราคะดำกฤษณานี้เป็นประการสำคัญ
สัตว์ทั้งหลายที่เบียดเบียนบีฑาซึ่งกันและกันก็เพราะอำนาจดำกฤษณา ทำให้ต้องระทมตรมทุกข์ถึงซึ่งความพินาศนานับประการ ไม่เว้นแม้แต่บุตรธิดา มารดาบิดา
ภรรยาสามีที่รักเป็นหนักหนา ก็ยังต้องเบียดเบียนบีฑาฆ่ากันเพราะอำนาจดำนี้มานักต่อนัก มิใยถึงคนอื่นที่มิใช่ญาติเล่า
ก็ยิ่งฆ่ากันเป็นมีอำนาจดำกฤษณานี้เป็นเหตุพื้นฐาน
บางครายอมจ่ายทรัพย์สินไปในทางไร้ประโยชน์ บางทียอมเสื่อมจากยศและเกียรติคุณ บางทีย่อมประกอบกรรมอกุศลทำให้สิ้นสุข
และเมื่อจิตใจเบือนจากกุศลย่อมไปสู่ทุคติภพ บางทีให้ลุอำนาจแก่ ความโลภ โกรธ หลง จนต้องเจริญโทษทุกภพทุกชาติที่เกิด ให้ถือกำเนิดในอบายภูมิทั้งสี่
เพียงเท่านี้ก็หาไม่
บางคราย่อมทำตนให้พินาศจากศีลสมาทาน บางกาลทำให้คนเสื่อมจากฌานภาวนาสมาธิจิตเป็นนิจกาล ราคะกิเลสจึงเป็นเหตุให้เกิดทุกข์มหันตโทษให้เสวยทุกขเวทนา
เป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายต้องมีความเศร้าหมองต่างๆ มากมาย"
เมื่อตรัสเช่นนั้นแล้ว ก็มอบรางวัลให้แก่นายหัตถาจารย์เป็นอันมาก แล้วคำนึงในพระราชหฤทัยว่า
"สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้จักพ้นจากอำนาจราคะดำกฤษณาอันเป็นทุกขภัยในวัฏฏะนี้ได้ด้วยประการใด?" แล้วจึงเห็นแจ้งในพระราชหฤทัยว่า ธรรมทั้งหลายอื่นนอกจาก
"พุทธกรณธรรม" แล้วก็ไม่เห็นว่าสิ่งอื่นจะเปลื้องตนให้พ้นจากวัฏสงสารได้ ดังนั้นพระองค์จึงหยั่งพระราชหฤทัยลงเที่ยงแท้ถือเอา "พระพุทธภูมิ"
ปณิธานว่า
"เราได้ตรัสรู้ซึ่งพระโพธิญาณแล้ว ก็จักทำสัตว์ทั้งหลายให้รู้ด้วย เราพ้นจากทุกข์ในวัฏสงสารเมื่อใด
ก็จักทำสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากทุกข์ในวัฏสงสารเมื่อนั้นด้วย"
ครั้นทรงกระทำปณิธานปรารถนาเฉพาะพระพุทธภูมิในพระราชหฤทัยด้วยประการฉะนั้นแล้ว ก็ทรงสละราชสมบัติ
ดำรงเพศเป็นพระดาบสบำเพ็ญพรตปฏิบัติชอบอยู่ตราบสิ้นอายุขัยแล้วก็ได้ขึ้นไปบังเกิดในสวรรค์เทวโลกเสวยสุขอยู่สิ้นกาลนาน และ
องค์สมเด็จพระนราธิบดีสัตตุตาปราชา กลับชาติมาเกิดคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศรีศากยมุนีโคดมบรมครูเจ้า
ของชาวเราพุทธบริษัททั้งหลาย
พญามงคลคชสาร กลับชาติมาเกิดในชาติสุดท้าย คือ "พระมหากัสสปเถระเจ้า" สังฆวุฒาจารย์ ซึ่งเป็นพระมหาเถระอรหันต์สำคัญที่สุดองค์หนึ่งในศาสนาพุทธ
ส่วนนายหัตถาจารย์ กลับชาติมาเกิดในชาติสุดท้าย จักได้ตรัสเป็น สมเด็จพระมิ่งมงกุฎ "ศรีอาริยเมตไตรยสัมมาสัมพุทธเจ้า" ซึ่งจักมาตรัสในอนาคตกาล
หลังจากศาสนาของสมเด็จพระศรีศากยมุนีโคดมบรมครูเจ้า เสื่อมสลายสูญไปจากโลกนี้แล้ว
และเมื่อพระศรีอาริยเมตไตรยได้ตรัสรู้ประกาศพระศาสนาแล้ว คราวหนึ่งพระองค์จักเสด็จไปที่ "ภูเขากุกกุฏสัมปาตบรรพต"
อันเป็นที่บรรจุศพของพระมหากัสสปเถรเจ้า แล้วพระองค์จักทรงยื่นพระหัตถ์เบื้องขวาช้อนเอาซากศพของพระสังฆวุฒาจารย์อรหันต์กัสสปะนั้น ขึ้นชูไว้บนฝ่าพระหัตถ์
อันประกอบด้วยจักรลักษณะแล้ว จะมีพุทธฏีกาตรัสแก่พระอริยสงฆ์ทั้งหลายว่า
" ดูกร..เธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย ! เธอจงพากันมองดูซึ่งซากศพนี้ นี่คือศพของผู้เป็นพี่ชายของตถาคต
ซึ่งเป็นสาวกใหญ่ในศาสนาของสมเด็จพระมิ่งมงกุฎศรีศากยโคดมบรมครูเจ้า
(สมเด็จพระศรีอาริยเมตไตรย เคยบวชเป็นพระภิกษุในสมัยพุทธกาลมีนามว่า "อชิตภิกษุ" เป็นภิกษุที่มีพรรษาน้อย ฉะนั้น
พระองค์จึงเรียกพระมหากัสสปเถระเจ้าด้วยคำกล่าวออกนามว่า พี่ชายของตถาคต ในกาลครั้งนั้น) มีนามว่า "พระอริยกัสสปะเถระ" เป็นผู้ทรงคุณพิเศษโดยถือธุดงควัตร
จนตราบเท่าดับขันธปรินิพพาน"
เมื่อมีพุทธฎีกาตรัสแนะนำดังนี้แล้ว สมเด็จพระศรีอาริยเมตไตรยก็ทรงสรรเสริญคุณแห่งพระมหากัสสปเถระเจ้าต่อหน้าพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย ในขณะนั้น
เปลวอัคคีก็จะบันดาลมีเกิดขึ้นในซากอสุภะของพระเถรเจ้า แล้วค่อยลามเลียลุกไหม้ศพให้สิ้นซาก
ปราศจากเถ้าถ่านอยู่บนฝ่าพระหัตถ์ของสมเด็จพระสรรเพชญ์ศรีอาริยเมตไตรยเป็นอัศจรรย์
หากแม้นบุคคลใดที่ได้เกิดอยู่ภายใต้ร่มแห่งบวรพระพุทธศาสนา ได้สดับตรับฟังพระธรรมแล้ว นับได้ว่าเป็นผู้มีบุญประเสริฐยิ่งนัก
เหมือนดั่งพุทธพจน์ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า ผู้ดื่มด่ำในรสพระธรรม ย่อมมีใจผ่องแผ้วเป็นสุข บัณฑิตย่อมยินดีในธรรมที่พระอริยเจ้าประกาศแล้ว
ในกาลทุกเมื่อเทอญฯ
ที่มา - www.arayun.com/legend.htm
อ้างที่มา : //chaokhun.kmitl.ac.th/buddhism/n7.html
หลวงพ่อเล่าเรื่องพระมหากัสสป
ผู้ถาม : เอ....หลวงพ่อครับ พระมหากัสสปะ ท่านนิพพานแล้ว แต่ได้ยินดีเขาบอกว่า ศพของพระมหากัสสปะยังอยู่ที่ "เมืองราชคฤห์" แล้วจะเผาได้ต่อเมื่อ
พระศรีอาริย์ มาตรัสรู้ และเผาบนมือด้วย อันนี้เป็นเหตุไฉนและข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรครับ ?
หลวงพ่อ : ศพของพระมหากัสสปะไม่ได้อยู่เมืองราชคฤห์นี่ อยู่ที่..เชียงตุง เดาส่งแล้ว
ผู้ถาม : อยู่ไทยนี่เองเองเหรอครับ.....?.....
หลวงพ่อ : ไทยใหญ่
ผู้ถาม : ไม่ใช่อยู่อินเดียหรือครับ.....?.....
หลวงพ่อ : ปัดโธ่..จะอยู่อินเดียตะพึดเลยนะ ยกยอดให้อินเดีย ตะบัน..ท่านอยู่ตรงนี้ พระมหากัสสปะท่านมีงานอยู่แถวนี้ ระหว่างเชียงตุง เชียงราย
แล้วก็ประเทศจีน ที่พระพุทธเจ้าส่งให้มาประกาศศาสนา ถ้าต่ำลงมานั้นเป็นเขตของ พระมหากัจจายนะ จากลำพูนลงมาก็เป็นเขตของพระโมคคัลลาน์ ก็ว่าตามเขต
แล้วท่านก็นิพพานแถวนี้ ถ้าถามว่า "ศพของพระมหากัสสปะมีจริงไหม...?.."
ขอยืนยันว่ามีจริง...ยังอยู่ ดอกไม้ที่เขาบูชาก็ยังอยู่ ธูปกับเทียนที่เขาบูชาก็ยังอยู่ แต่ว่าเวลาปกตินี่เราเข้าไม่ได้ เพราะเขาลูกเล็กๆ
สองลูกข้างหน้าต่ำเคลื่อนมาติดกัน เมื่อปีกึ่งพุทธกาลน่ะเข้าได้ เขาลูกเล็ก ๆ มันขยายตัวออก เป็นเรื่องอัศจรรย์เหมือนกันนะ จนกระทั่งฝรั่งเข้าไปถ่ายภาพได้
ฉันได้ภาพที่ฝรั่งถ่ายประมาณ ๑๐ ภาพ
ในปีนั้นนะ เขาพิมพ์ขาย ไอ้ฉันน่ะไม่ได้ซื้อ เขามาให้แล้วก็เอาภาพนั้นไปให้ หลวงพ่อเล็กดู ถามว่า..."การนั่งอยู่...การเข้าสมาธิเป็นของไม่แปลก
แต่ธูปกับเทียนที่เขาบูชาทำไมจึงไม่เศร้าหมอง.....ยังสด ธูปเทียนก็ยังติดอยู่" หลวงพ่อเล็ก (หลวงพ่อเล็ก เกสโร วัดบางนมโค) ก็เลยบอกว่า
คำอธิษฐานของพระอรหันต์ จะให้เป็นอะไรก็ได้ ใครไม่เชื่อก็ไปดู พวกที่ได้ มโนมยิทธิไปดูก็ได้นี่
ไม่ต้องรอให้เขาเปิด...เข้าได้
ผู้ถาม : แล้วที่ว่าจะเผาต้องเผาบนมือพระศรีอาริย์ล่ะครับ...?...
หลวงพ่อ : ตามท่านว่ามา ถ้าเราไม่เชื่อเราอย่าเพิ่งตาย รอดูก่อน..จนกว่าพระศรีอาริย์จะนิพพาน!!"
ผู้ถาม : โอ้โฮ...?...
หลวงพ่อ : อ้าว...ถ้าพูดเวลานี้ก็เถียงกันไม่จบ บางคนว่า"ฉันไม่เชื่อหรอก เป็นพระพุทธเจ้า แล้วกฎแห่งกรรมย่อมสิ้นไป มันเป็นเช่นนั้นจริง..!!
ตามเรื่องมีว่า....
สมัยก่อนโน้น พระมหากัสสปะท่านเป็นช้าง รูปร่างท่านจึงใหญ่โตคล้ายช้าง แล้วพระศรีอาริย์ท่านเป็นเจ้าของ และก็มีการพนันกันว่า
ช้างตัวนี้สามารถจะหยิบอะไรก็ได้ ก็บังเอิญคนพนันมันเกเร มันเอาเหล็กเผาจนแดงโชนให้อม ที่แรกเจ้าของยอมแพ้ ยอมให้ถูกปรับดีกว่า ไม่ยอมให้ช้างหยิบ
ช้างก็รักษาศักดิ์ศรี อาศัยที่รักเจ้าของก็เอางวงหยิบ หยิบได้ฝ่ายนั้นก็ต้องแพ้ แต่ช้างก็ต้องตาย
เพราะอาศัยกรรมอันนี้หน่อยเดียว เวลาที่พระศรีอาริย์จะนิพพานท่านก็เอาศพพระมหากัสสปะใส่พระหัตถ์ อธิษฐานเตโชธาตุเผา
เมื่อเผาแล้วก็อาศัยเหตุนี้เป็นปัจจัยพระองค์จึงนิพพาน แต่อย่าลืมนะ ไฟที่ใช้กำลังใจให้เกิดขึ้นมันไม่ร้อนหรอก ท่านจะร้อนก็ได้ ไม่ร้อนก็ได้
โดย พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤษีลิงดำ) วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี
จากหนังสือตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่มที่ ๖ หน้าที่ ๒๑-๒๓
ย่างกุ้ง - มัณฑเลย์ - โมนยั้ว - ถ้ำพระมหากัสสป
.......เรื่องความลี้ลับของ "ถ้ำพระมหากัสสป" นี้ ใครๆ
ก็อยากจะรู้ว่าอยู่ที่ไหนกันแน่ โดยเฉพาะภายในกลุ่มลูกศิษย์หลวงพ่อฯ ด้วยเหตุนี้นับตั้งแต่ปี 2538 พวกเราก็ได้มีโอกาสไปสืบเสาะหลายครั้ง
นับตั้งแต่การไปสืบหาทางประเทศจีนตอนใต้ ซึ่งเป็นเขตแดนที่ติดต่อกับประเทศพม่า โดยการเดินทางผ่าน "คุนหมิง" แล้วลัดเลาะไปทาง "ต้าลี่" ขึ้นไปทาง
"ภูเขาจี้จูซาน" แต่ก็ไม่พบแต่อย่างใด
........จนกระทั่งถึงปี 2542 ก็ได้เดินทางออกไปทาง "เชียงตุง" พุ่งขึ้นไปถึง "เชียงรุ้ง" (สิบสองปันนา) ก็ไม่มีวี่แววแต่อย่างใด
ต่อมาภายหลังก็ได้ข้อมูลว่ามีอยู่ในประเทศพม่า แต่ต้องเดินทางเข้าไปลึกมาก จึงกำหนดการเดินทางในปี 2545 โดยหลวงพี่ชัยวัฒน์ได้เล่าไว้ในหนังสือ
"ตามรอยพระพุทธบาท" เล่ม 4 ดังนี้
........เมื่อได้ทำบุญก่อนเดินทางไปกราบไหว้ ถ้ำพระมหากัสสป กันแล้ว จึงออกเดินทางข้าม แม่น้ำซินด์วินด์ ต่อด้วยรถสองแถวอีกเช่นเคย
แต่คราวนี้หัวหน้าทัวร์ได้พาไปแวะที่ วัดพูวินต่อง ก่อน เพราะบริเวณวัดจะมีภูเขาที่แกะสลักเป็นพระพุทธรูปร่วมสี่แสนองค์
โดยมีพุทธลักษณะต่างกันหลายแบบ
.........นับว่าเป็นผลงานที่ยอดเยี่ยมเช่นเดียวกับ ประเทศอินเดียและจีน ที่มีการแกะสลักภูเขาเข้าไปเป็นวิหารบ้าง เป็นพระพุทธรูปบ้าง เป็นต้น
หลังจากได้เดินชมกันพอสมควรแล้ว จึงเดินทางต่อไป พอมาที่หมู่บ้านเปีย ซึ่งเป็นจุดที่เราเคยมาถึง แต่ข้ามแม่น้ำไปไม่ได้ ตอนนี้น้ำแห้งพอข้ามไปได้แล้ว
ฝั่งที่ข้ามมานี้ชื่อ "หมู่บ้านติโก้ง"
(หมายเหตุ : เมื่อปี 2543 ผู้เขียนพร้อมคณะเคยเดินทางไปครั้งหนึ่งแล้ว แต่ตอนนั้นเป็นเดือนตุลาคม น้ำในแม่น้ำยังมากอยู่
ไม่สามารถจะนำรถข้ามแม่น้ำไปได้ ถึงแม้เจ้าหน้าที่จะช่วยนำรถ GMC มาช่วยนำทางแล้วก็ตาม ระยะทางจากมัณฑเลย์ถึงโมนยั้ว 148 ไมล์)
| |
รถสองแถววิ่งเข้าไปในป่าเขต อุทยานแห่งชาติพม่า ได้โดยสะดวก (มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Alaungdaw Kathapa Nation Park คำว่า
"อลองดอว์กัสสป" หมายถึง พระศพท่านพระมหากัสสป) กว่าจะถึงที่พักของอุทยาน เป็นเวลา ๖ ชั่วโมง
(บางคนต้องเดินเท้าเข้าไปในป่า ส่วนที่เหลือก็ขึ้นช้างพร้อมบายศรีและเครื่องบูชาครบชุด)
| |
ส่วนเส้นทางที่ผ่าน หลังจากข้ามแม่น้ำไปได้แล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นทางที่ข้ามเทือกเขา ซึ่งไปเมื่อปีก่อนโน้น เจ้าหน้าที่ก็เคยให้พวกเรา
ดูแผนผังเส้นทางในป่าแล้ว เมื่อรถวิ่งสุดทางแล้ว จะต้องนั่งช้างต่อไปอีก แต่ใครจะเดินไปก็ได้ ใน ขณะที่เราไปนั้น มีชาวพม่าเดินทางมากราบไหว้กันมากมาย
ต่างก็แบกข้าวของพะรุงพะรังกันไป
ถ่ายภาพร่วมกับพระสงฆ์ชาวพม่าที่ด้านหน้ารูปปั้นพระมหากัสสปจำลอง
จุดตำแหน่งนี้จะตรงกับตำแหน่งพระศพของท่านภายในถ้ำที่ลึกลงไปในภูเขานี้
ถนนหนทางเป็นทางธรรมชาติ ยังมีป่ามีต้นไม้และลำธาร ที่จะต้องเดินผ่าน ผู้เขียนกับคณะได้นั่งไปบนหลังช้าง เพื่อขนสัมภาระมีบายศรีเป็นต้น ใช้เวลาประมาณ
๓๐ นาที จึงจะถึงจุดหมาย ภายในบริเวณนี้ได้มีการแกะสลักจากหินเป็นรูปของ "ท่านพระมหากัสสปเถระ" ในท่านอนบนแท่นนิพพานอยู่ภายในศาลาหลังหนึ่ง
(ทางเดินลงไปในถ้ำระหว่างภูเขาเป็นสามเส้า มีบันไดเดินลงไปแต่ก็ชันมาก)
ตามประวัติเล่าว่า สร้างขึ้นตั้งแต่สมัย พระเจ้าอชาติศัตรู แต่ศาลาหลังนี้เพิ่งสร้างได้เพียงแค่ ๒๐ ปี จากศาลาพระนอนถ้าเดินไปทางขวามือ
จะมีทางเดินซึ่งจะทอดตัวตามแนวเขาชันลึกลงไปข้างล่าง แต่จะมีบันไดให้เดิน เมื่อเดินถึง เบื้องล่างจะมองเห็นน้ำไหลลงมาที่แอ่งน้ำ ขณะที่ไปพ้นฤดูฝนไปแล้ว
น้ำจึงไม่ลึกมาก ซึ่งก็จะมีสะพานให้เดิน
ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า มีลักษณะของภูเขาสามลูกมาพิงซ้อนกัน (ตรงตามในพระไตร ปิฎกที่กล่าวไว้ว่า ท่านได้นิพพานเมื่อวันพุธ
ในภูเขาสามเส้าโอบล้อมชื่อว่า เวภาลบรรพต) เพราะด้านหนึ่งก็ยังมีรอยระหว่างภูเขา ซึ่งซ้อนกันไม่สนิทเป็นโพรงขนาดสูง จะมีค้างคาวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
และมีน้ำไหลลงมาตามผนังของภูเขา
เมื่อเดินตามทางเดินเข้าไป จะเห็นเป็นถ้ำลึกเข้าไปในภูเขา ซึ่งถ้ำที่ตั้งพระศพของท่าน จะอยู่ทางด้านขวามือ หากพิจารณาดูประตูปากถ้ำ
จะคล้ายกับรูปคนยืนขนาดสูงใหญ่ เล่ากันว่าเมื่อประมาณกึ่งพุทธกาล (พ.ศ. ๒๕๐๐) ได้มีฝรั่งเข้าไปถ่ายรูปออกมาได้
ซึ่งเล่าว่าข้างในมีพระศพอยู่ในสภาพไม่เน่าเปื่อย ลักษณะคล้ายคนนอนหลับ ยังมีดอกไม้ธูปเทียนจุดบูชาอยู่
ส่วนด้านบนถ้าย้อนกลับมาเดินไปทางข้างบนถ้ำจะมีรูปแกะสลักพระมหากัสสปอยู่ด้านซ้ายของศาลาพระนอน เดินขึ้นไปตามเนินเขาก็จะพบ
บ่อน้ำ ซึ่งเล่ากันว่าเป็นบ่อน้ำที่ท่านพระมหากัสสปได้มาใช้น้ำในบ่อนี้ ขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ บ่อน้ำนี้มีน้ำขังอยู่เสมอไม่เคยแห้ง
ทั้งที่อยู่บนเนินเขา
เมื่อเดินต่อไปอีกก็จะพบเจดีย์ จากนั้นก็จะเห็นพื้นที่ราบขนาดใหญ่ จะเป็นที่ตั้งของวัด และหมู่บ้านภายในบริเวณด้านหลังวัดนี้เอง
จะมีบ่อน้ำอยู่บ่อหนึ่ง ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นบ่อน้ำที่พระเจ้าอชาตศัตรูได้อธิษฐาน แล้วใช้หอกปักลงพื้น ปรากฏมีน้ำพุ่งขึ้นมาจากดิน
และไหลไปสู่ถ้ำที่พระมหากัสสปนิพพาน
มีเรื่องเล่าว่า ประมาณกึ่งพุทธกาลได้ มีพระและเณรที่เป็นลูกศิษย์ได้เข้าไปปฏิบัติธรรมในถ้ำ พระอาจารย์เห็นว่าในถ้ำมีสมบัติที่มีค่ามากมาย
น่าจะนำกลับไปด้วย คิดเพียงเท่านี้ประตูถ้ำก็ปิดลง แต่สามเณรที่ไปด้วยไม่ได้คิดโลภจึงสามารถมุดหนีออกมาได้
พระที่นี่เล่าอีกว่า เมื่อ ๘ - ๙ ปีที่ผ่านมา ได้มีคนมาไหว้คณะหนึ่ง ไม่ทราบว่ามาจากที่ไหน ได้มากราบไหว้ซึ่งไม่ใช่เป็นช่วงเทศกาล
(จะมีเทศกาลในเดือนมกราคม - มีนาคม) ได้มาอธิษฐานว่าถ้ามีจริงก็ขอให้ได้เห็น ท่านก็แสดงอานุภาพให้ประตูถ้ำเปิดให้เห็นภายในถ้ำ แต่ก็
แค่เพียงชั่วครู่เดียวเท่านั้น แล้วถ้ำก็ปิดตามเดิมอีก
ประวัติสมัยพระเจ้าอชาตศัตรู
(รูปภาพแผนผังเส้นทางระหว่างภายในป่าอุทยานแห่งชาติ จะต้องเดินทางไปยังตำแหน่งที่เห็นเป็นรูปเจดีย์)
ตามหนังสือประวัติที่บันทึกไว้เป็นภาษาพม่า จะมีแผนผังเส้นทางเดินจากกรุงราชคฤห์มาที่ถ้ำพระมหากัสสปอย่างละเอียด
ตอนที่ท่านพระมหากัสสปนิพพานใหม่ๆ พระเจ้าอชาตศัตรูได้ทราบข่าว จึงได้พาไพร่พลออกตามหา เมื่อเดินมาถึงบริเวณหนึ่ง ทหารที่ติดตามมาเหน็ด เหนื่อย
จึงให้พักพลเอาไว้ก่อน (ปัจจุบันนี้ยังมีชื่อว่า หมู่บ้านอชาตศัตรู ห่างจากถ้ำไปก็ประมาณ ๔ - ๕ กิโลเมตร)
ส่วนพระองค์เดินทางต่อไปจนรู้สึกเหนื่อยล้า จึงได้อธิษฐานขอให้ได้พบสรีระศพ ของท่านพระมหากัสสปด้วย (สมัยนั้นยังเป็นป่าอยู่
ส่วนวัดนี้เพิ่งจะตั้งไม่กี่ปีมานี่เอง) เมื่ออธิษฐานจบพระองค์จึงปักหอกลงไปที่พื้นดิน ขอให้มีน้ำไหลไป ถ้าพระศพของท่านอยู่ตรงไหน ขอให้น้ำไหลไปทางนั้น
ผู้ที่เดินทางไปกราบนมัสการเสร็จแล้ว จะนิยมมาอาบน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้
ซึ่งมีป้ายบอกว่า ห้ามนำน้ำนี้ไปล้างเท้า
ปรากฏว่าน้ำพุ่งจากพื้นดินและไหลไปตามทาง พระองค์จึงเดินตามทางน้ำที่ไหลไป จนกระทั่งได้พบพระศพของท่านภายในถ้ำแห่งนี้ (ตามทางที่น้ำไหลลงมานี้
มีช่วงหนึ่งจะผ่านก้อนหินก้อนหนึ่ง ที่มีรอยเท้ายาวประมาณ ๑ ศอก อยู่บนหิน ซึ่งเชื่อว่าเป็นรอยเท้าของท่านพระมหากัสสป
แต่ปัจจุบันนี้ชาวบ้านได้มาตั้งรกรากกันมากขึ้น ทำให้น้ำอาบและสิ่งสกปรกไหลไปปิดทับหินก้อนนี้ไปแล้ว)
พระเจ้าอชาตศัตรูได้ถวายทรัพย์สมบัติ อันมีค่ามากมายเพื่อบูชาพระมหากัสสปด้านบน เขาได้ให้ช่างแกะสลักรูปของท่านในท่านิพพาน โดยหันศีรษะไปทางทิศเหนือ
เพราะว่าจุดนี้เป็นจุดที่ตรงกันพอดี คือรูปที่แกะสลักข้างบน จะตรงกับพระศพที่อยู่ภายในถ้ำพอดี ทั้งนี้พระองค์ไม่ประสงค์ให้ใครเดินข้ามพระศพของท่านไป
จากนั้นพระองค์ได้พระราชทานที่ดินเพื่อให้เป็นธรณีสงฆ์ โดยวัดจากพระนอนศิลา ไปทางทิศทั้ง ๔ ทิศหนึ่งยาว ๒๐ ไมล์ (ประมาณ ๓๐ กม.)
ซึ่งทางวัดได้พบหลักศิลาจารึกบันทึกไว้ว่า พระองค์ได้บริจารที่ดินเพื่อเป็นธรณีสงฆ์ แต่หลักศิลานี้ได้ถูกทำลายไปแล้ว เมื่อ ๗ - ๘
ปีที่ผ่านมาโดยรัฐบาลปัจจุบัน
เพราะเกรงว่าทางอินเดียจะมาอ้างกรรมสิทธิ์แถบนี้ และบริเวณนี้ก็จะไม่มีหมู่บ้านใหญ่ ๆ เพราะเขารู้ว่าเป็นพื้นที่ธรณีสงฆ์ นอกจากนี้ยังมี
สวนพระเจ้าอชาตศัตรู ซึ่งอยู่ใกล้กับหมู่บ้านอชาตศัตรูอีกด้วย ในสมัยก่อนนั้น สวนนี้จะปลูกผลไม้ และดอกไม้ตางๆ ให้คนทั่วไปได้เข้ามากินฟรี
หรือนำไปฟรี แต่สมัยนี้เริ่มมีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัย และสวนนั้นก็เริ่มหายไป
บุพกรรมของท่านพระมหากัสสป เหตุที่ต้องนิพพานในบริเวณนี้
ตามประวัติของพม่าเล่าว่า มีชาติหนึ่งที่ พระมหากัสสป ได้เกิดมาเป็นเณรในสำนักของ ฤาษีแห่งหนึ่ง วันหนึ่งท่านได้จับนกแก้วมาเล่นในที่พักของท่าน
ขณะนั้นอาจารย์ได้เรียกใช้งาน ท่านจึงต้องนำนกแก้วไปซ่อน พอดีเหลือบเห็นเตาสามเส้า (เตาที่ใช้หินสามก้อนมาตั้งเรียง)
จึงนำนกแก้วซ่อนไว้ภายในเตาที่ไม่ได้จุดไฟ แล้วนำหม้อมาปิดทับเอาไว้
จากนั้นก็ไปทำงานตามที่อาจารย์ได้มอบหมาย จนลืมนึกถึงนกแก้วตัวนั้น กระทั่งกลับมาอีกครั้ง นกแก้วตัวนั้นก็ได้เสียชีวิตไปแล้ว กรรม
อันนี้จึงเป็นเหตุให้ท่านต้องมานิพพานในถ้ำ ที่มีภูเขาสามลูกโอบล้อมปิดเอาไว้
และยังมีเหตุอีกชาติหนึ่งที่ท่านได้เกิดมาเป็นช้าง และมีพระศรีอาริย์โพธิสัตว์เกิดเป็นนายควาญช้าง สันนิษฐานว่าคงจะเป็นบริเวณนี้
เพราะว่ายังมีช้างอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งทางป่าไม้ได้นำมาไว้บริการสำหรับผู้ที่มากราบไหว้
ในชาติที่เป็นช้างนี้ ท่านมีความซื่อสัตย์ ต่อนายควาญช้างมาก ข่าวเล่าลือกันไปว่า แม้จะสั่งให้ทำอะไร ช้างแสนรู้เชือกนี้ก็จะทำตามทุกอย่าง
วันหนึ่งมีผู้คิดกลั่นแกล้ง โดยวิธีการท้าทายกัน แล้วเอาก้อนเหล็กเผาไฟแดงมาให้ช้างจับ เพื่อทดสอบว่าช้างจะแสนรู้จริงหรือไม่
นายควาญช้างเสียทีคนที่คิดร้าย แต่ช้างก็ไม่อยากให้เจ้านายของตนเสียหาย จึงตัดสินใจยอมตายจับก้อนเหล็กแดงนั้น ผลที่สุดช้างนั้นก็ตายไป
ผลกรรมนี้จึงส่งผลให้ ในสมัยที่พระศรีอาริย์ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว จะต้องมานำร่างของพระมหากัสสป แล้วอธิษฐานให้เปลวไฟเผาร่างบนฝ่าพระหัตถ์ของพระองค์
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้พระองค์เสด็จปรินิพพานในที่สุด
ยังมีเรื่องเล่าของทางพม่าอีกว่า ประเพณีที่น้องจะต้องถวายพระเพลิงพี่ พระมหากัสสปได้เคยเกิดเป็นน้องของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันมาก่อน
เมื่อถึงเวลาที่พระพุทธองค์เสด็จปรินิพพาน ต้องรอให้พระมหากัสสปมาถวายพระเพลิง ส่วนพระศรีอาริย์เคยเกิดเป็นน้องของพระมหากัสสป
ท่านจึงต้องรอให้พระศรีอาริย์มาถวายเพลิงสรีระศพของท่านเช่นกัน
ผู้เขียนก็ได้นำข้อมูลทางพม่ามาเล่าสู่กันฟัง เพราะเห็นว่ามีหลักฐานชัดเจนกว่าที่อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตาม พุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก กัณฑ์ที่ ๘
ในตอนท้ายได้กล่าวไว้ว่า
พระอรหันต์เจ้าทั้งหลายที่นิพพานไปแล้ว แต่สรีระร่างยังไม่เน่าเปื่อยมีอยู่ ๔ องค์ คือ พระมหากัสสปเถระ นิพพานแล้วสรีระร่างของ
ท่านอยู่ในระหว่างภูเขา ๓ ลูกที่สุมกันอยู่ในเมืองราชคฤห์ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองอังวะ.. ดังนี้
จากหลักฐานนี้แสดงให้เห็นว่า เมืองอังวะ สมัยก่อน อาจจะอยู่ในเขตแดนของเมืองราชคฤห์ ตามประเพณีของพระเจ้าแผ่นดิน
จะต้องทรงอนุญาตให้พื้นแผ่นดินตรงนั้นเป็นเขตธรณีสงฆ์ ถ้าดูตามแผนที่ของประเทศพม่า ถ้ำนี้จะอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองอังวะจริงๆ
แต่ที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ ได้เคยบอกไว้ว่า ท่านพระมหากัสสป อยู่แถว เชียงตุง นั้น
ผู้เขียนก็ได้ไปสืบหาแถวเชียงตุงไปจนถึงสิบสองปันนาก็ไม่มีข่าวว่าพบแต่อย่างใด แต่ถ้าเทียบกับแผนที่พม่า ตามที่หลวงพ่อไปด้วยมโนมยิทธิ
จะเห็นว่าไปทางเชียงตุงเหมือนกัน
เพราะฉะนั้น ถ้าจะเทียบข้อมูลระหว่างเชียงตุงกับสถานที่นี้ จะเห็นว่าคนพม่าเขาเชื่อถือที่นี่กันมานานแล้ว ส่วนที่เชียงตุงไม่มีคนรู้เรื่องแบบนี้เลย
อีกประการหนึ่ง ลักษณะภูมิประเทศของภูเขาสามเส้านี้ ที่มีถ้ำอยู่เบื้องล่างก็มีที่เดียวเท่านั้น ซึ่งมีลักษณะตรงกับพระไตรปิฎกทุกอย่าง
ผู้เขียนจึงขอนำข้อมูลมาเล่าไว้เพียงแค่นี้ ต่อไปจะต้องเดินลงไปทำพิธีบวงสรวง ก่อนอื่นจะต้องหาที่ตั้งบายศรีกัน ขออนุญาตทำกันที่หน้าถ้ำ นี้แหละ
ภายในบริเวณนี้อากาศจะชื้น ได้ยินเสียงน้ำที่ไหลจากหน้าผากระเซ็นลงมาที่แอ่งน้ำ เป็นน้ำที่ไหลมาจากบ่อน้ำที่พระเจ้าอชาตศัตรูทรงอธิษฐานไว้
เวลานี้เป็นที่อาบน้ำของคนที่มาไหว้ แต่เขาเขียนหนังสือไว้ว่า ห้ามเอาน้ำล้างเท้า
ระยะทางที่น้ำไหลมาจากบนที่สูง ผ่านซอกเขามาลงสู่ที่นี่ อาจจะมีกลิ่นไม่ดีบ้าง แต่เราก็ต้องนั่งทำพิธีบวงสรวงกัน มองเห็นก้อนหินที่ หน้าถ้ำปิดสนิท
แทบจะไม่มีริ้วรอยที่จะงัดแงะออกมาได้เลย ฝาผนังหินที่ปิดอยู่นี้ บางคนเห็นเป็นรูปยืน แต่เท่าที่เห็นเป็นท่านั่งขัดสมาธิ
หลังจากทำพิธีบวงสรวงแล้ว จึงได้ปิดทองและสรงน้ำหอม พร้อมถวายบายศรี
และผ้าสไบทองไว้ด้วย จะเห็นว่าก้อนหินที่ปิดปากถ้ำ มีรูปร่างเหมือนคนนั่งสมาธิจริงๆ
ครั้นแล้วเสียงพระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ ก็ดังก้องที่หน้าถ้ำ พวกเราส่งจิตอธิษฐานไปถึงท่านที่อยู่ด้านใน หลังจากที่จะต้องใช้พยายามเดินทางมานับเป็นครั้งที่
๒ ก็ได้มานั่งอยู่ตรงนี้สมหวังทุกอย่าง ถึงแม้จะไม่ได้เห็นภายใน แต่พวกเราก็ภูมิใจว่า ครั้งหนึ่งในชีวิตได้มีโอกาสมาถึงที่นี่
หลังจากได้ฟังหลวงพ่อเล่ามานานแล้ว
หลังจากเสร็จพิธีแล้ว จึงได้ถวายบายศรีพร้อมด้วยของที่บูชาและผ้าไตรจีวรทุกอย่างไว้ที่หน้าถ้ำแห่งนี้ เพื่อขอบูชาความดีที่ท่านได้เป็น
ผู้กระทำสังคายนารวบรวมพระธรรมวินัย และเป็นผู้เลิศในทางธุดงค์ จากนั้นก็กราบลาท่านกลับมาที่บ้านพักในอุทยาน.."
ตอนที่ 12
พบหลักฐานว่าสมัยพุทธกาล
พระมหากัสสปได้นำพระพุทธศาสนาเข้ามาในประเทศไทยและจีน »