อิทธิฤทธิ์หรือความบังเอิญ (ตอนที่ 12 แถมพก หลวงปู่คำแสนใหญ่แห่งวัดสวนดอก)
webmaster - 5/1/10 at 18:04

Update 5 ม.ค. 2553


« ตอนที่ 11 เสือหลวงพ่อปาน ฯ วัดบางเหี้ย ฯ | ตอนที่ 13 (ตอนจบ) หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศา »





ตอนที่ ๑๒

"แถมพก" (หลวงปู่คำแสนใหญ่ แห่งวัดสวนดอก)



……เรื่องราวในตอน “แถมพก” นี้ ขอเรียนว่าเป็นการเขียนถึง หลวงปู่คำแสนใหญ่ หรือ พระครูสุคันธศีล แห่งวัดสวนดอก, หลวงปู่ครูบาวงศ์ ฯ หรือ พระครูใบฎีกาชัยยะวงศา แห่งวัดพระพุทธบาทห้วย (ข้าว) ต้ม – ราชากระเหรี่ยง, หลวงปู่ครูบาธรรมชัย แห่งวัดทุ่งหลวง, หลวงปู่แหวน สุจิณโณ แห่งวัดดอยแม่ปั๋ง, หลวงปู่บุดดา ถาวโร, และพระอาจารย์โกวิน แห่งสำนักสงฆ์ไผ่รื่นรมย์ ในแบบมวยหมู่เลยครับ

ไม่เช่นนั้น หนังสือเล่มนี้จะยาวเกินไปจนต้องแบ่งเป็นเล่ม ๑ และ เล่ม ๒ ไม่ทันกินครับ เพราะในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ นี้ ผมจะต้องเข็นเขียนให้จบ ๑ เล่มตามที่ได้รับปากเอาไว้กับหลวงพ่อ ฯ ให้จงได้ เรื่องยาว ๆ เอาไว้คราวหน้าครับ คราวนี้จะเอาสั้น ๆ ที่พอจะนึกออกและเกี่ยวโยงสัมพันธ์กับเรื่องในตอนก่อน ๆ ที่ได้เล่าไปแล้ว

มวยหมู่เรื่องแรกก็คือเรื่องของ “หลวงปู่คำแสนใหญ่” แห่งวัดสวนดอก อันว่าวัดสวนดอกนี้ ก็คือพระอารามหลวงซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนทางขึ้นดอยสุเทพนั่นเอง อยู่ไม่ห่างจากเชิงดอยเท่าใดนัก ที่วัดนี้มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่ศักดิ์สิทธิ์ มีพระพุทธลักษณะสวยสดงดงามมาก มีศาลาหลังใหญ่ศิลปะล้านนา ลวดลายติดกระจกที่ ท่านครูบาศรีวิชัย สร้างเอาไว้ ดูงดงามแบบเรียบง่าย

มีพระเจดีย์หรือสถูปบรรจุอัฐิของ ครูบาศรีวิชัย ตนบุญแห่งลานนาไทยสถิตย์อยู่ และเคยมี “หลวงปู่คำแสนใหญ่” ที่คนทั่วไปติดใจในยิ้มบริสุทธิ์ของท่าน จนให้สมญาว่าเป็น “ยิ้มพระอรหันต์” นั่นเอง

หลวงปู่ ฯ เป็นพระสุปฏิปันโนอีกองค์หนึ่งที่ หลวงพ่อ ฯ ได้บัญชาให้ผมไปขอสังฆาฏิของท่านเพื่อนำมาแจกจ่ายในงานครบรอบ ๑๐๐ ปีเกิดของ หลวงปู่ปาน (วัดบางนมโค) ในวันที่ผมไปปฏิบัติภารกิจนี้ไม่ได้นัดหมายกับท่านมาก่อน แต่ก็โชคดีที่ในวันนั้นไม่มีโยมไปรบกวน หลวงปู่ ฯ เลย ภารกิจดังกล่าวที่ หลวงพ่อ ฯ มอบหมายจึงสำเร็จเสร็จสิ้นไปอย่างรวดเร็วง่ายดายปราศจากอุปสรรคขัดข้องใด ๆ ทั้งปวง

และเมื่อภารกิจดังกล่าวเสร็จสิ้นลงแล้ว ผมก็จะลากลับ แต่ หลวงปู่ ฯ ก็ได้เรียกเอาไว้ก่อน ท่านลุกขึ้นไปหยิบรูปหล่อเหมือนของท่านมาให้ผม ๑ องค์ ผมกราบเรียนว่า ผมมีเงินติดตัวมาไม่มาก ต้องเก็บเอาไว้ใช้ในการเดินทางเพราะยังมีภารกิจอื่น ๆ ที่จะต้องไปทำให้หลวงพ่อ ฯ ต่อไปอีก จึงมีไม่พอจะถวายเป็นค่าพระ ขอติดเอาไว้ก่อน งวดหน้าจึงจะนำมาถวายใช้คืน

ท่านบอกว่า ไม่ต้องใช้ ท่านให้ฟรี เมื่อผมรับเอาไว้แล้วท่านคาพระอยู่ในมือของท่านและในมือของผม เล่านิทานให้ผมฟัง ๑ เรื่อง ชื่อว่า “แม่ทัพแขนด้วน” โดยท่านคามือถือองค์พระอยู่อย่างนั้น กระทั่งได้เล่าจนจบแล้ว จึงได้ปล่อยพระออกจากมือให้ผมรับไป หลวงปู่ ฯ เล่าว่า

(ขออนุญาตเรียบเรียงใหม่เป็นภาษาไทยภาคกลาง)

ครั้งหนึ่ง อตีตา กาเล นานมาแล้ว ยังมีเมืองอยู่ ๒ เมือง นับเป็นเมืองพี่เมืองน้อง ด้วยเจริญสัมพันธไมตรีเอื้ออารีย์กันด้วยดีมาโดยตลอด กษัตริย์ผู้ครองเมืองทั้งสองก็ทรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรม ปวงประชาทั้งสองนคราไปมาหาสู่สมานฉันท์สามัคคี ต่างจึงอยู่ดีกินดีไม่มีทุกข์ แบ่งปันความสุขกันถ้วนทั่ว ครั้นกาลเวลาล่วงเลยมาไม่ช้าไม่นาน สองปิยะกษัตริย์ก็ถึงกาลชราภาพ ราชบุตรราชธิดาต่างก็อภิเษกสมรสเป็นทองแผ่นเดียวกัน สร้างความเป็นปึกแผ่นมั่นคงแก่สองนครยิ่งขึ้นไปอีก


แต่ครั้นพอถึงยุคปลายรัชสมัย ไม่อาจจะทรงว่าราชการได้กระชับกระฉับกระเฉง เช่นเมื่อครั้งยังทรงอยู่ในวัยฉกรรจ์ ราชการเมือง การค้า การสัมพันธไมตรีนานัปการ ส่วนใหญ่จึงตกในปกครองของสองพระมเหสีเป็นที่ตั้ง เมื่อสองหญิงขึ้นครองเมือง วาระที่เคยรุ่งเรืองก็พลันทรุด ด้วยยื้อยุดแก่งแย่งรังแกแลเอารัดผลัดกันเอาเปรียบ และในที่สุด เมืองพี่เมืองน้องก็กลับกลายเป็นเมืองศัตรูคู่อาฆาต ประกาศสงครามเป็นยามไม่สงบ สองเมืองผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะแต่ไม่ละอบายมุข เกิดผู้แกร่งกล้าผลัดกันกอบกู้เอกราชมาโดยตลอด เป็นตำนานทหารกล้าแต่การค้าไม่เอาไหน เมืองเล็กเมืองน้อยในละแวกใกล้เคียงและที่อยู่ห่างไกลกลับกลายเป็นเจริญกว่า เพราะไม่บ้าทำสงคราม

จนในวันหนึ่ง เมืองน้องกล้าแข็งกว่าส่งแม่ทัพมาท้ารบท้าพนันเสี่ยงเอาบ้านเอาเมืองกัน แม่ทัพที่ส่งมาท้ารบก็เก่งกาจกล้าแข็งมีฝีมือในการรบยากที่ใครจะสู้ได้ เมืองพี่ก็ไม่ย่อท้อเพียรเสาะแสวงค้นคว้าหาผู้แกร่งและเก่งกล้าที่อาจสัปยุทธฉุดชัยชนะมาอยู่สู่เมืองตน จนได้มาพบประสบพระฤาษีมุนีน้อย มีฤทธานุภาพอันเก่งกาจอาจปกครองได้ทั้งสามโลก อาสาเข้าต่อสู้กับแม่ทัพของเมืองน้องที่กำลังลำพองร้องท้าทายอยู่ในสนามรบ ด้วยจะสยบเมืองพี่นี้ไม่ยาก อันว่าพระฤาษีมุนีน้อยแม้จะมีฤทธิ์สามารถสะกิดให้โลกสะเทือนได้โดยง่าย แต่กลับใช้สติปัญญาแปลงกายาเป็นชายแขนด้วน แต่งองค์ทรงเครื่องเป็นแม่ทัพสติเฟื่องออกไปรบ....

(ตอนที่ หลวงปู่ ฯ ท่านเล่าเรื่องนี้ ท่านว่าเป็นโคลงกลอนภาษาไทยลานนานะครับ ฟังไพเราะคล้องจองกันมาก แต่ผมไม่อาจจำได้จึงได้นำมาเขียนใหม่เป็นภาษากลาง โดยพยายามจะเลียนแบบ แต่ดันออกมาเป็นยี่เกข้างถนนเลยครับ ได้แต่ความหมายเท่านั้นที่ครบถ้วน)

หลวงปู่ ฯ เล่าคาเรื่องไว้แค่นี้ แล้วก็กลับสอบถามผมว่า รู้ไหม ว่าทำไมพระฤาษีน้อยจึงแปลงร่างเป็นคนพิการ เป็นแม่ทัพแขนด้วนออกไปรบกับแม่ทัพของอีกฝ่ายหนึ่ง ผมตอบว่าไม่ทราบครับ ตอนนั้นยอมรับครับว่างงเอามาก ๆ แม้เชื่อว่าน่าจะมีความนัยแฝงอยู่ แต่ขณะนั้นเดาไม่ออกว่า ที่ท่านมาเล่านิทานเรื่องนี้ให้ผมฟังนั้นมีวัตถุประสงค์อะไร ผมจับต้นชนปลายไม่ถูก

หลวงปู่ ฯ ท่านเห็นผมยังงงยังไม่เข้าใจ ท่านก็กรุณาอธิบายต่อไปอีกว่า เป็นการเอาสติปัญญาเข้าต่อสู้กับการถูกกดขี่ข่มเหงรังแก โดยไม่ต้องเสียชีวิตและเลือดเนื้อ เพราะพอมีแม่ทัพแขนด้วนออกไปสู้รบด้วย แทนที่แม่ทัพของอีกฝ่ายจะเห็นว่าเป็นการง่ายที่จะเอาชนะ กลับต้องคิดอย่างหนัก โดยมีเหตุผลหลายประการดังนี้

๑. น่าสงสัยเหลือเกินว่า ทำไมจึงเอาคนแขนด้วนมาเป็นแม่ทัพ อาจเป็นกลอุบายก็ได้ หรือมิฉะนั้นเมืองหรือสิ่งที่ใช้เป็นเดิมพันในการรบนั้นไม่มีคุณค่าพอ (เมืองที่ปกครองและที่รบกันเพราะผู้หญิง)
๒. ชนะคนพิการไม่ทำให้มีชื่อเสียง กลับจะถูกกล่าวหาว่ารังแกคนพิการ
๓. ถ้าแพ้ยุ่งเลยครับ เพราะจะต้องอับอายมาก เนื่องจากแพ้คนพิการ รู้ถึงไหนอายถึงนั่น

แล้วในที่สุด แม่ทัพแขนดีก็ตัดสินใจกรีฑาทัพกลับครับ เลิกรบ หลวงปู่ ฯ ท่านเน้นว่า คนฉลาดจะเอาชนะด้วยสติปัญญา ไม่เอาชนะด้วยกำลัง ด้วยชีวิตเลือดเนื้อของผู้อื่น เข้าใจนะ...

พอหลวงปู่ ฯ เล่าเรื่อง และกรุณาอรรถาธิบายให้เสร็จสิ้นจนหมดสงสัยแล้ว ผมรู้สึกตื้นตันและสะอื้นในอกเลยครับ ทั้งนี้เพราะนิทานที่ว่านี้ หลวงปู่ ฯ ได้นำมาเล่าเพื่อเตือนสติให้กับผมเป็นการเฉพาะตัว เพราะในขณะนั้น ผมมีความแค้นแน่นในหัวอกด้วยเรื่องส่วนตัวในครอบครัวของผมเอง เป็นเรื่องที่ลูกผู้ชายที่ยังเป็นปุถุชนคนไหนก็ไม่ทน

ผมคิดเอาไว้ในใจแล้วว่า เมื่อผมปฏิบัติภารกิจที่ หลวงพ่อ ฯ บัญชาให้เสร็จสิ้นแล้ว ก็จะเป็นรายการล้างบัญชีระหว่างผมกับไอ้และอีสัตว์นรกทั้งหลายที่มันรวมหัวกันย่ำยีผมจนยับเยิน จะไม่มีใครหรืออะไรขัดขวางผมได้ แต่ครั้นพอได้ฟังหลวงปู่ ฯ เล่านิทานเรื่องแม่ทัพแขนด้วน ผมก็ได้สติ คู่กรณีของผมเป็นแค่ “แม่ทัพแขนด้วน” ผมชนะ โลกก็จะหมิ่นผมว่ารังแกคนพิการ ผมแพ้ยิ่งแย่ใหญ่ โลกจะเย้ยหยันว่าแพ้คนพิการ ไม่ได้ดีทั้งขึ้นทั้งล่อง สาธุ...

ผมก้มลงกราบ หลวงปู่ ฯ ที่แทบเท้า น้ำตาไหลพราก อาการคั่งแค้นที่อัดแน่นอยู่ในใจไหลรินออกมาพร้อมกับน้ำตาจนหมดสิ้น จิตโปร่งโล่งอกโล่งใจบังเกิดเป็นปีติท่วมท้น หลวงปู่ ฯ จูงผมเดินกลับมาที่กุฎีของท่าน กุลีกุจอสั่งพระเณรให้เอาน้ำชากาแฟ ขนมข้าวต้มมาเลี้ยงดู เมื่อได้ของแล้วก็สั่งพระเณรและคนอื่น ๆ ให้ออกไปให้หมด ท่านย้ำถามผมอีกว่า เข้าใจแล้วใช่ไหม เมื่อเห็นผมพยักหน้ารับคำว่าครับ หลวงปู่ ฯ ก็หัวเราะ ฮา ฮา ฮา...ตามสไตล์ของท่าน ย้ำว่าให้เจริญพรหมวิหาร ๔ ให้ยึดหลักอภัยทานไว้ให้ดี อภัยทานนั้นเป็นทานที่ให้อานิสงค์สูงสุดและไม่มีทานอื่นใดมาเปรียบได้ แต่ทำใจให้กันยากเหลือเกิน

นิทานของหลวงปู่ ฯ ทำให้ผมเลิกล้มความตั้งใจที่จะฆ่าล้างโคตรคู่แค้นของผม กลับใจหันมาตั้งท่าอภัยทานลูกเดียว ทำได้มากบ้าง ทำได้น้อยบ้าง แต่ก็พยายามทำมาโดยตลอด จึงรอดมาทุกวันนี้

นิทานเรื่องนี้ฟังแล้วก็ไม่เห็นสนุกตรงไหน แต่ที่น่าแปลกก็คือ ความในใจของผมที่คิดจะทำลายล้างคู่อาฆาตให้แหลกราน โดยไม่ได้คำนึงถึงกฎหมายบ้านเมือง หรือแม้แต่กฎแห่งกรรมก็ไม่นำพา ถือเอาตัวเองเป็นพญายมราช คิดจะตัดสินเรื่องบาปบุญคุณโทษเสียเองโดยไม่มีผู้ใดแต่งตั้งนั้น เป็นความในใจที่ไม่เคยแย้มพรายให้ใครทราบมาก่อน การตระเตรียมการก็ได้กระทำอย่างลับ ๆ ไม่เปิดเผย ผู้คนที่จะให้ช่วยกระทำการก็ทราบแต่เพียงว่า ให้เตรียมตัวจะมีงานให้ทำเท่านั้น

บางท่านอาจจะท้วงว่าเป็นเรื่องบังเอิญ แต่ผมว่าไม่ใช่บังเอิญ เพราะเมื่อผมสงบใจได้แล้ว หลวงปู่ ฯ ท่านได้กล่าวตำหนิออกมาตรง ๆ เลยว่าที่คิดจะไปฆ่าเขา (ระบุเลยว่าเป็นใคร) นั้นไม่ดี อย่าไปทำ ที่หลวงปู่ ฯ เห็นแล้วเขาน่าสงสาร เขาลงอเวจีมหานรกแน่ ๆ อยู่แล้ว อย่าให้เขาจูงลงไปด้วย เหมือนถูกคนพิการท้ารบ ก็รบด้วย

ท่านอธิบายอีกว่า ฤาษีที่แปลงร่างเป็นแม่ทัพแขนด้วนนั้นมีปัญญาเป็นเลิศ แต่แม่ทัพของอีกฝ่ายหนึ่งที่ยอมเลิกทัพก็มีปัญญาเป็นเลิศเช่นเดียวกัน เพราะเกิดปัญญาเห็นว่าการทำลายล้างกันนั้นไม่เป็นคุณ ไม่เป็นสาระ แหม...น่าเสียดายนะครับที่หนังสือเล่มนี้ออกช้าไปหน่อย ถ้าพิมพ์ออกมาก่อน อาจจะไม่มีกรณีพฤษภา ฯ ทมิฬก็ได้

หลวงปู่คำแสนใหญ่ แห่งวัดสวนดอก เป็นพระสุปฏิปันโนที่มีอาวุโสสูงสุดในเรื่องวัยวุฒิในขณะนั้น ซึ่งหลวงพ่อ ฯ ได้พาพวกเราไปนมัสการ (หลวงปู่สี ฯ นั้นวัยวุฒิสูงสุด แต่หลวงพ่อ ฯ ไม่ได้นำไปนมัสการอย่างเป็นกลุ่มก้อน)

ในงานศพของ หลวงปู่ทืม ฯ ที่วัดจามเทวี ที่หลวงพ่อ ฯ ของพวกเราเป็นแม่งานใหญ่ และได้มีทั้งพระทั้งผ้าขาว ทั้งพวกเราและชาวบ้านชาวกระเหรี่ยงไปร่วมงานกันอย่างคับคั่ง ก็ได้เห็นกันถ้วนทั่วทุกตัวคนว่า หลวงปู่คำแสนใหญ่ นั้นได้แสดงคารวะและให้ความเคารพยกย่องต่อหลวงพ่อ ฯ ของพวกเรามากมายอย่างไรบ้าง ถ้าหลวงพ่อ ฯ ไม่มีของจริง ไม่ใช่พระจริงพระแท้ พระระดับหลวงปู่ ฯ คงไม่เสวนาด้วยหรอกครับ

และในงานศพดังกล่าว หลวงปู่ ฯ ท่านเดินตามหาผมให้ขวั่กไป เมื่อได้พบแล้ว ท่านก็ล้วงของออกมาจากย่ามมอบให้ผม ปรากฎว่าเป็นเส้นเกศาที่ผมได้เคยขอ และเรียนท่านว่าอยากจะสร้างพระเครื่องประเภทมวยหมู่สักรุ่นหนึ่ง คือในองค์พระจะมีเส้นเกศาและสังฆาฏิของพระสุปฏิปันโนทุกองค์ ที่ผมรู้จักและเคยไปนมัสการมาผสมอยู่ ท่านก็สงเคราะห์ให้ แต่จนป่านนี้แล้วก็ยังไม่ได้สร้างเลยครับ คิดว่าจะเป็นภารกิจต่อจากหนังสือเล่มนี้แน่นอน....


<<โปรดติดตามตอนต่อไป>>


(ขอขอบคุณภาพประกอบจากเวบตามรอยพระพุทธบาทดอทคอม)



◄ll กลับสู่ด้านบน