"บทความ" จาก..หนังสือลูกศิษย์บันทึก เล่มพิเศษ (ตอนที่ 4 )
webmaster - 22/7/11 at 16:07
ลูกศิษย์บันทึก เล่มพิเศษ
จัดพิมพ์โดย..คุณ อินทิรา สังขพิทักษ์ และคุณ มาลิดา ปานทวีเดช
( ลิขสิทธิ์เป็นของ "ทีมงานเว็บวัดท่าซุง" )
☺....ทางทีมงานฯ ขอเสนอข้อมูลที่นับวันจะหายาก นั่นก็คือ "จดหมายของพระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ" ที่ท่านได้ตอบกับบุคคลต่างๆ
ที่เคารพนับถือท่าน สมัยก่อนเทคโนโลยียังไม่เจริญ จำเป็นต้องอาศัยการโต้ตอบทางจดหมาย นับว่าดีที่สุดในสมัยนั้น ซึ่งจะเป็นการตอบด้วยตนเองของหลวงพ่อฯ
ต้นฉบับจะเป็นการพิมพ์ดีดของท่านเอง สมัยก่อนในห้องส่วนองค์ของท่านที่วัดท่าซุง จะมีเครื่องพิมพ์ดีดวางอยู่ นั่นคือเป็นแหล่งที่มาของหลักฐานต่างๆ เหล่านี้
......ด้วยเหตุนี้ ทางทีมงานฯ ขอขอบคุณและอนุโมทนาในความวิริยะอุตสาหะของ คุณ อินทิรา สังขพิทักษ์ และคุณ มาลิดา ปานทวีเดช
ที่ได้ใช้เวลาว่างจากงานประจำ แล้วช่วยพิมพ์ส่งมาให้ลงให้อ่านกันเป็นตอนๆ หวังว่าผู้ชมทางเว็บไซด์วัดท่าซุงทุกท่าน
คงจะได้ความรอบรู้และเข้าถึงลีลาการตอบจดหมายของพระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ ได้เป็นอย่างดี
จดหมาย จาก หลวงพ่อ รวบรวมโดย พล.อ.ท. ม.ร.ว. เสริม ศุขสวัสดิ์ (30 ม.ค. 2535)
หนังสือ จดหมายจากหลวงพ่อ นี้ท่านเขียนถึงข้าพเจ้าบ้าง ถึงภรรยาของข้าพเจ้า (คุณเฉิดศรี สุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา
หรือคุณอ๋อย) บ้าง ถึงบรรดาศิษย์ทุกคนบ้าง มีข้อความบอกให้ทราบกิจกรรม และอุปสรรคในการสร้างวัดท่าซุง (การสร้างเพิ่มเติมจากของเก่า) เป็นบางตอน
บางฉบับก็เป็นคำสอน
นอกจากพิมพ์ขึ้นเพื่อให้เป็นหลักฐานในทางประวัติแล้วยังมีความประสงค์ให้จัดจำหน่ายเป็นรายได้สำหรับทำนุบำรุงวัดจันทาราม (ท่าซุง)
ให้ยั่งยืนต่อไปสมกับที่หลวงพ่อได้ลงทุนลงแรงในการสร้างเพื่อส่งเสริม และดำรงพระพุทธศาสนาไว้ ขออนุโมทนากับท่านผู้บริจาคเงินซื้อด้วย
พล.อ.ท. ม.ร.ว.เสริม ศุขสวัสดิ์
30 ต.ค. 2535
หมายเหตุ บางคนเคยกล่าวหาว่าหลวงพ่อเป็นคอมมิวนิสต์บ้าง ค้าไม้เถื่อนบ้าง ข้อความในจดหมายจะแสดงให้เห็นว่าความจริงเป็นอย่างไร
สารบัญ
76. จดหมายวันที่ 31 ธันวาคม 2513
77. จดหมายวันที่ 21 มกราคม 2514
78. จดหมายวันที่ 24 มกราคม 2514
79. จดหมายวันที่ 18 เมษายน 2514
80. จดหมายวันที่ 1 พฤษภาคม 2514
81. จดหมายวันที่ 1 สิงหาคม 2514
82. จดหมายวันที่ 22 สิงหาคม 2514
83. จดหมายวันที่ 12 ตุลาคม 2514
84. จดหมายวันที่ 3 พฤศจิกายน 2514
85. จดหมายวันที่ 20 พฤศจิกายน 2514
86. จดหมายวันที่ 24 พฤศจิกายน 2514
87. จดหมายวันที่ 1 ธันวาคม 2514
88. จดหมายวันที่ 11 ธันวาคม 2514
89. จดหมายวันที่ 15 ธันวาคม 2514
90. จดหมายวันที่ 21 ธันวาคม 2514
91. จดหมายวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2515
92. จดหมายวันที่ 7 มิถุนายน 2515
93. จดหมายวันที่ 4 สิงหาคม 2515
94. จดหมายวันที่ 16 มีนาคม 2516
95. จดหมายวันที่ 16 มีนาคม 2516
96. จดหมายวันที่ 21เมษายน 2516
97. จดหมายวันที่ 24 เมษายน 2516
76
31 ธันวาคม 2513
เรื่องพัดยศเป็นคุณ และโทษตามที่ท่านเจ้ากรมเขียนมาจริง ส่วนที่เป็นคุณมีมานาน
พอดูสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นสมัยถวายพัดยศโดยพระมหากษัตริย์ถวายด้วยพระราชศรัทธาแท้ ๆ และคุณก็มากเพราะสมัยนั้นมีนักบวชชั้นดีมาก
แต่นักบวชชั้นสวะก็คงไม่น้อย
แต่ถึงกระนั้นก็มีคุณมากหลาย ดังเมื่อพระนเรศวรกริ้วนายทหารหาว่าไม่ติดตามไปช่วยจับช้างชนกับพระมหาอุปราช กลับเมืองสั่งฆ่านายทหาร
แต่อาศัยพระพิมลธรรมขอพระราชทานชีวิตนายทหารไว้ด้วยอ้างเทวดา และพระบารมีของพระองค์เป็นสำคัญ จนพระองค์ทรงให้อภัย
ต่อมาสมัยรัตนโกสินทร์ก็มีคุณอนันต์ แต่เมื่อถึงตอนพัดยศอาละวาดนี่สิ สลดใจทันทีเรื่องนี้พระวินัยท่านห้ามพูด
ถ้าพูดท่านหาว่านำเอาเรื่องชั่วช้าเลวทรามบอกแก่อนุปสัมบันท่านปรับเป็นโทษ เลยงดไม่พูดดีกว่า ที่บอกมาว่าถ้าพระมหากษัตริย์ถวายเองก็เห็นชอบด้วย
เพราะพระองค์ทรงเห็นแล้วว่าดี ก็ดีเป็นส่วนใหญ่ แต่ที่แอบ ๆ อิง ๆ กันขอมาแล้วเอาพัดมาเป็นเครื่องหมายสินค้านี่สิน่าตกใจ
ที่พูดมานี้หมายถึงพวกนี้ทำให้พวกที่ดีพลอยมัวหมอง
เรื่องระเบียบในงานราชพิธี เห็นชอบด้วยกับท่านเจ้ากรม เพราะมีความจำเป็นอย่างยิ่งเรื่องของพัด
มีประวัติมาตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้านิพพานแล้วไม่นาน พระเจ้าอชาตศัตรูถวายพัดสมัยที่ทำสังคายนาครั้งแรก
ไม่ใช่มีไว้บังหน้ากันอายหรือจดคาถาสวดมนต์ได้อ่านตามความมุ่งหมายเดิม แต่ตอนหลัง ๆ นี่ก็เอาเข้าเหมือนกันพระที่สวดพระธรรมไม่ใคร่ได้แกแอบจดเข้าไว้ก็มี
แต่เป็นพัดที่ไม่ใช่พัดยศ เป็นพัดรองที่เรียกว่า ตาลปัตร
ยุคหลังสมัยเมาพัด ถ้าท่านเจ้ากรมรู้เรื่องละเอียดจะงงไม่น้อย แต่ขออนุญาตไม่พูด เรื่องคำสั่งสมเด็จ ท่านสงเคราะห์มาตามนั้น ก็บอกว่า
เมื่อไม่กี่วันมานี้ท่านมาสั่งอีกก็ลืมเขียนบอกมา พอดีได้รับจดหมายก็ขอบอกมาเสียเลย
เรื่องของคุณนาย ท่านให้พิจารณาขันธ์ 5 ตามกายคตาสติกรรมฐานเป็นประจำ และพิจารณาตามแบบวิปัสสนา คือเห็นความสลายของขันธ์ 5
เป็นปกติด้วย (ต่อมาถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็ง) เรื่องของท่านเจ้ากรม ท่านย้ำให้ค่อย ๆ ทำตามสั่ง แล้วจะพบของจริงที่คาดไม่ถึง คือพบเองแบบคุณสมาน
77
21 มกราคม 2514
หนังสือของท่านเจ้ากรมเขียนวันที่ 18 ม.ค. ได้รับ และทราบข้อความแล้ววันนี้เอง อ่านแล้วและก็ตรวจแล้ว ได้ความว่าคนพิมพ์เขาคงพิมพ์ไม่ผิด
คนที่ผิดคือคนเขียนให้เขาพิมพ์
อัชฌาศัยมี 4 จริง คือ
1. สุกขวิปัสสโก
2. เตวิชโช
3. ฉฬภิญโญ
4. ปฏิสัมภิทัปปัตโต
ความจริงคนเขียนหนังสือเล่มนี้ (คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน) เป็นที่น่าจะต้องตำหนิมาก เพราะบกพร่องมาก แต่เขียนขณะที่กำลังป่วย
อาการใกล้จะเป็นผีก็เลยเขียนแบบผี ๆ คือถูกบ้างผิดบ้าง เมื่อเขียนและให้เขาพิมพ์แล้วจนบัดนี้อาการผี ๆ ก็ยังไม่หมดเพราะไม่เคยอ่านหนังสือฉบับนี้จบ
แม้แต่เพียงหนึ่งในสี่ของข้อความในหนังสือนี้ก็อ่านไม่ถึง ไม่ทราบว่ามีอาถรรพ์อะไร
เมื่อไร ที่เห็นว่ามีเวลาว่าง หยิบขึ้นอ่านก็มีคนมาขัดคอ คือ มีแขกมาหา และถ้าว่างอีกก็เริ่มอ่านอีก อ่านไม่นาน หนังสือเล่มที่อ่านก็เลยมีคนมาขอไปเสีย
เป็นอย่างนี้ตลอดกาล เลยอ่านกันไม่จบ เวลาจะอ่านก็มีน้อยเพราะต้องคอยใช้หนี้เก่าที่เคยใช้คนมาในชาติก่อน ๆ เขามาทวงเอาชาตินี้
บางทีเขาอาจจะทวงมาหลายชาติแล้วแต่ทว่าใช้หนี้ไม่หมด เขาเลยมาทวงเอาอีก
ชาตินี้คิดว่าจะเริ่มโกงเจ้าหนี้ เพราะถ้าขืนอยู่ให้ทวง พวกก็จะทวงไปอีกกี่ชาติก็ไม่รู้ ใช้ไม่ไหวแน่เลยทำหนังสือเดินทางออกไปอยู่ประเทศคนโกงหนี้
ขณะนี้เจ้าหนี้กำลังสอบประวัติ ถ้าเขาอนุมัติเมื่อไร ไปแน่เบื่อเจ้าหนี้เหลือเกิน มันทวงแค่ใช้ให้เหนื่อยนั้นพอทน ดีไม่ดีมันย่องเอาอะไรมาไชท้องให้ปวดบ้าง
เอามือมาอุดช่องทวารห้ามถ่ายเสียบ้าง มันเกเรพิลึก
บางคราวก็สร้างอารมณ์ให้ปั่นป่วยเล่น เดี๋ยวนี้อารมณ์ให้รักสาวมันทำไม่ได้ทันก็หาทางรบกวนทางร่างกาย เมื่อเจ้าหนี้มันเกเร เราก็เกเรได้ ไปดีกว่า
เมื่อได้หนังสือเดินทางเมื่อไร ไปนอนดูเจ้าหนี้มันชะเง้อมองเล่นเย็น ๆ ใจคิดว่าถึงจะอย่างไรก็ตาม จะพยายามหาหนังสือเดินทางให้ได้ จะเสียแป๊ะเจี๊ยะบ้างก็ยอม
วันนี้คุยมากไปแล้ว เรื่องนี้ขอเอวังเพียงเท่านี้
ขอให้ท่านเจ้ากรมจงเป็นคนหมดหนี้เมื่ออายุ 62, 63, 64 ไม่เกิน 65 เถิด (ท่านบอกมาทีหลังว่าไม่ใช่เลขหวย)
◄ll กลับสู่สารบัญ
78
24 มกราคม 2514
เมื่อวันที่ 23 ทราบจากคุณนิด (อรอนงค์ อรรถไกวัลวที) ว่า ท่านเจ้าคุณเทพประสิทธินายกต่าย ความจริงชาวบ้านเขาเรียกว่าท่านตาย
แต่อาตมาเรียกว่าท่านต่ายหรือหาที่อยู่ต่อไป
คุณนิดถามว่าทราบว่าท่านตายไหม
ก็บอกว่าไม่ทราบเพราะมาจากกรุงเทพฯ แล้วเจ้าท้องมันทำพิษ ก็ต้องใช้ยาระบาย มันเพลียก็เลยขี้เกียจเที่ยว
อาศัยการปลงสังขารรู้สึกว่าสบายดี แต่ก็แปลกใจอยู่หน่อยหนึ่ง คืนที่กลับมาค้างบ้านครูนนทา กำลังปลงสังขารพอสบายก็ปรากฏแสงสว่างเกิดพุ่งมาทางศีรษะ
มีแสงสว่างมาก แต่ก็ไม่คิดสงสัย เพราะขณะใดที่มีอารมณ์สบายจะปรากฏว่ามีพระพุทธรัศมีแบบนั้นปรากฏเสมอ แต่ทว่าวันนั้นเป็นแสงสว่างธรรมดาไม่มีแสงอื่นผสม
ก็เลยคิดว่าคงเป็นพระอรหันต์องค์ใดองค์หนึ่งมาสงเคราะห์ มันเพลียมากก็เลยปล่อยหลับไป ไม่ได้สนใจอะไรอีก
ต่อเมื่อคุณนิดมาบอกว่าท่านเจ้าคุณเทพตาย ก็พอดีวันนั้นเป็นหวัด ฉันยาแก้หวัดเข้าไป
ตอนกลางวันนอนหลับพวกแขกที่พูดภาษาอินเดียไม่เป็น เมื่อมาหาเห็นว่าหลับก็พากันกลับ ตอน 15 น. ตื่นขึ้นรู้สึกสบายใจ มีกำลังทางร่างกายดี เก็บงานเล็ก ๆ น้อย
ๆ เสร็จแล้วก็คิดว่าคืนนี้จะออกเที่ยวสักที นานมาแล้วไม่ได้เที่ยว
พอถึงเวลา 19.55 น. ก็เตรียมสมาทานกันตามปกติ เมื่อเสร็จพิธีสมาทานก็ปลงสังขารตามเคย เวลาผ่านไป 30 นาที คือถึง 20.30 น. ได้ยินเสียงนาฬิกาให้สัญญาณ
บอกว่าเหลืออีก 30 นาทีจะหมดเวลาแล้ว ก็ออกจากกายพบสมเด็จองค์ปฐมท่านมายืนคุม
ได้กราบทูลถามว่าท่านเทพประสิทธินายกไปไหน
ท่านบอกว่าไปนิพพาน
ถามว่าท่านเป็นพระอรหันต์ระดับไหน
ท่านบอกว่าเป็นพระอรหันต์ระดับวิชชาสามและทรงมโนมยิทธิ แต่ทิพยจักษุญาณสดใสเป็นพิเศษ เลยลาท่านจะไปตามดูเทพประสิทธินายก
ท่านก็บอกว่าไปเถอะ ทางนี้ฉันดูเอง
เมื่อไปถึงดาวดึงส์เข้าพบโยม เห็นบรรดานางสาวสวรรค์เข้าเวรกันมาก ก็ถามท่านว่ามาหาบ่อย ๆ โยมรำคาญไหม
ท่านบอกว่าไม่รำคาญ มาบ่อย ๆ ดีใจจะได้ไม่ต่ำ เวลาตายจะได้ไม่ไปอบายภูมิ เพราะจิตเกาะกุศล มองดูแม่สาว ๆ
วันนี้แกไม่สวมชฎา แกปล่อยผมมาปรกหลัง
ถามว่าทำไมไม่สวมชฎา
แกบอกว่าอยู่เวรปกติไม่ต้องสวมชฎา เวลาท่านใหญ่ประชุมเทวดาจึงจะสวมชฎา
แปลกใจที่เทวดาบนสวรรค์มีเวลาถอดและสวมชฎา แต่เทวดาตามฝาผนังโบสถ์สวมชฎาตลอดกาล คุยกับโยมเล็กน้อยแล้วก็ลาท่าน บอกว่าจะไปพระจุฬามณี ความจริงก็มีสถานที่ติดกันนั่นเอง
ท่านบอกว่านิมนต์ตามสบาย จะมาหาท่านเทพฯ ใช่ไหม
ก็ตอบท่านว่าใช่
ท่านบอกว่าท่านเทพฯ กำลังมาที่จุฬามณี
จึงเดินเข้าจุฬามณีทางประตูทิศตะวันตก เมื่อผ่านท่านมเหสักขาที่ยืนเป็นยามเฝ้าประตู ท่านเป็นเทวดาอนาคามี
ท่านมเหสักขาบอกว่า หลวงพ่อครับท่านเทพฯ ที่หลวงพ่อต้องการพบท่านกำลังจะออกมาแล้ว
ก็เลยเดินสวนเข้าไปพอดีพบท่านเทพฯ เดินสวนออกมาพอดี ท่านสว่างมากเหลือเกิน ท่าทางสง่างดงามมาก พอถึงกันท่านก็จับมือถามว่าตามฉันทำไป
ก็ตอบว่าไม่ทราบว่าไปทางไหนก็ลองตามดู
ท่านบอกว่าดี แบบนี้ดี ทำไปเป็นปกติเถอะ มีประโยชน์แก่ตัวเองมาก
ถามท่านว่า ท่านมีทิพยจักษุญาณแจ่มใสมาก ผมทำไม่ได้อย่างท่าน เมื่อท่านตายมาแล้วผมก็หนัก ยิ่งแก่มากผมก็ยิ่งหนัก
เพราะคนก็จะรวมตัวเข้ามา ขอให้ผมแจ่มใสอย่างท่านบ้างได้ไหม
ท่านบอกว่ารักษาสมาธิที่ศูนย์ไว้เป็นปกติก็แล้วกัน มันจะคล่องตัวเอง และชำระใจให้สะอาด มันจะสว่างมากเอง แล้วต่างก็ลากันไป
ท่านไปที่ของท่าน อาตมาเข้าไปนมัสการพระ
พอเข้าไปพระท่านก็ว่าคุณไม่มานานแล้ว ควรมาเป็นปกติ การปลงสังขารเป็นของดี แต่ญาณเครื่องรู้จะฝืด
เวลานี้เรามีศิษย์จำเป็นต้องใช้ญาณ ควรหันกลับเข้าใช้ญาณตามเดิม ความรู้จะได้ว่องไวตามเดิม แล้วท่านก็สอนเยอะ
ต่อนั้นไปท่านก็ให้ไปเฝ้าสมเด็จพระสมณโคดมที่นิพพาน
ขึ้นไปเห็นว่าท่านใสสว่างเหมือนดวงอาทิตย์ เข้าไปถวายนมัสการท่านที่พระบาท ท่านตรัสเตือนเรื่องใช้ญาณอีก ท่านว่าเธอปล่อยมากเกินไป
การปลงเป็นสมบัติส่วนตัว การทำญาณให้คล่องเป็นเครื่องมือช่วยศิษย์เธอต้องทำให้คล่องตามเดิม
แล้วท่านมหากัจจายนะอาจารย์สอนญาณเครื่องรู้ก็เข้ามาหาสมเด็จท่านบอกให้ท่านมหากัจจายนะเป็นพี่เลี้ยงเดินนำทางไปเฝ้าสมเด็จพระพุทธกัสสป
ความจริงไม่ต้องนำก็แวะอยู่แล้ว
ถามท่านสมเด็จพระสมณโคดมว่าทำไมข้าพระพุทธเจ้าจึงต้องมีท่านมหากัจจายนะเป็นผู้ควบคุม องค์อื่นคุมไม่ได้หรือ
ท่านตรัสว่าเธอปรารถนาพุทธภูมิมาก่อน กัจจายนะก็ปรารถนาพุทธภูมิเหมือนกัน คุณที่ปรารถนาพุทธภูมิจนเข้าถึงบารมีปลาย
เอาพระประเภทสาวกปกติคุมไม่ได้ เพราะจะไม่สามารถทำให้เลื่อมใสได้ ต้องเป็นพวกพุทธภูมิด้วยกัน
หรือมิฉะนั้นก็ต้องพระพุทธเจ้าโดยตรงจึงจะทรมานกันได้
คำว่า ทรมาน หมายถึงว่า ทำให้เชื่อ และเลื่อมใสไม่ใช่ทรมานอย่างฝรั่งเศสขังคุกขี้ไก่ เมื่อไปเฝ้าพระพุทธกัสสป ท่านก็เตือนเรื่องใช้ญาณ
และให้หมั่นขึ้นไปเพราะเวลานี้ขาดเฝ้ามานาน การเฝ้าท่านมีประโยชน์จากการได้รับพุทธบัญชาบอกให้ทำอย่างโน้นอย่างนี้
แล้วเอามาแนะนำต่อ ๆ ไป ก็รู้สึกว่ามีประโยชน์มาก แต่ว่าเจ้าแก่มันขี้เกียจ เลยถูกเทศน์ตลอดสาย เมื่อพระองค์ทรงตักเตือนพอสมควรแล้ว
ก็ทรงมีพระพุทธบัญชาให้ไปที่อยู่โดยมีพระมหากัจจายนะ พระอาจารย์เป็นผู้ควบคุม
เมื่อจะเข้าประตูเห็นยักษ์ 4 ตน ยืนอยู่ที่ด้านนอกของประตูเป็นปกติ ยักษ์พวกนี้เป็นยักษ์อนาคามีเป็นลูกเป็นหลานเก่าเขาเห็นเขาก็ดีใจ
พอเข้าประตูไปด้านในมีพรหม 4 ท่าน เป็นพรหมอนาคามีเหมือนกัน เป็นยามด้านใน เมื่อสนทนาปราศรัยกันตามสมควรแล้วก็เดินเข้าสู่สถานที่
พอไปถึงหอระฆังหน้าที่อาศัย จำได้ว่าเมื่อตายครั้งหลังในชาตินี้ มาตรงนี้ และพบสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน
ท่านเคยตรัสว่าเธอเคยคิดไหมว่าชาตินี้เธอจะมาพระนิพพานได้
ได้กราบทูลว่าไม่เคยคิดว่าจะมาได้
ท่านทรงถามว่าเพราะอะไรจึงคิดอย่างนั้น
ได้กราบทูลท่านว่าวิปัสสนาอ่อนมาก และสนใจน้อย
ท่านถามว่าเธอทราบไหมว่านิพพานอยู่ไหน
กราบทูลท่านว่าไม่ทราบ
ท่านตรัสว่าที่ตรงนี้เขาเรียกอะไร
กราบทูลท่านว่าไม่ทราบ
ท่านถามว่าเทวดา และพรหมทุกชั้นเธอรู้จักหมดไหม
กราบทูลท่านว่ารู้จักหมด
ท่านถามว่าที่ตรงนี้เป็นแดนของเทวดาหรือพรหม
กราบทูลว่าไม่ใช่เทวดา และพรหมทั้งสองอย่าง เพราะพรหมมีชั้นที่ 16 เป็นชั้นสูงสุดก็ผ่านมาแล้ว
ท่านตรัสว่าที่ตรงนี้เขาเรียกกว่า นิพพาน
เมื่อท่านตรัสบอกอย่างนั้นก็เลยตกใจ คิดว่าท่านคงตรัสผิด ดูเถอะเจ้ามนุษย์กิเลสหนา มีกิเลสตัณหาเสี้ยมสอน มันคิดอย่างนี้
พระพุทธเจ้าบอกเองยังคิดว่าท่านตรัสผิด
จึงกราบทูลท่านว่าตามที่เรียนมานั้นครูบาอาจารย์ท่านสอนว่านิพพานไม่มีรูป ไม่มีที่อยู่ ไม่มีอะไรปรากฏ
ท่านทรงแย้มพระโอษฐ์ตรัสว่า เธอมาถึงนิพพานแล้วยังสงสัย
เป็นอันว่าในที่สุดท่านรับรองว่านิพพานมีสถานที่มีรูปมีความสุข เป็นสถานที่มีอารมณ์ปกติ ไม่มีอารมณ์ ความรัก โลภ โกรธ หลง และอารมณ์ขัดข้องใด ๆ
เลยเป็นอารมณ์ว่างสบายด้วยประการทั้งปวง ไม่มีห่วง ไม่มีกังวล ขั้นสุดท้ายท่านก็นิรมิตไม้ขึ้น 10 ท่อน
ท่านบอกว่าคนที่จะมานิพพานได้จะแบกไม้นี้ไหว ถ้าแบกไม่ไหว้ก็จะมานิพพานไม่ได้
แล้วท่านก็เรียกพระที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ที่ตายไปแล้วมา 9 องค์ ปรากฏว่ามีหลวงพ่อปานเป็นองค์ที่ 4
ทุกองค์มาถึงก็แบกไม้ขึ้นบ่าไม่มีท่าทางแสดงว่าหนักเลย เหลืออีกท่อนหนึ่ง
ตรัสว่าท่อนนี้เธอแบก ตอนนั้นกำลังใจไม่มีเลย ใจมันบอกว่าไม่ไหว
แต่เกรงพระบารมีก็จำต้องเข้าไปหยิบไม้ท่อนที่เหลือท่อนเดียวนั้น ตั้งท่ายักแย่ยักยันออกแรงเสียสุดแรงเกิด
พอหยิบเข้าจริง ไม้ท่อนนั้นไม่มีน้ำหนักเลย มีความหนักคล้ายเศษกระดาษชิ้นเล็ก ๆ เท่านั้นเอง ก็รู้สึกว่าเบา ก็เลยออกเดินตามพระที่แบกก่อนไป
พอเดินไปได้หน่อยเดียวท่านก็เรียกให้เอาไม้มาวางที่เดิม และให้กลับมานั่งที่เก่า
ท่านบอกว่าเธอยังไปไม่ได้ วิปัสสนายังอ่อนกลับไปซ้อมวิปัสสนาให้เข้มข้นเสียก่อน เธอจะมานิพพานได้ในชาตินี้
สถานที่นี้เป็นที่อยู่ของเธอเกิดมีขึ้นเพราะอาศัยอานิสงส์ที่สร้างวิหารทาน (สร้างที่อยู่อาศัยเป็นสาธารณะประโยชน์)
การป่วยคราวนั้นมีอารมณ์ตัดหมดคิดว่าเราไม่มีทรัพย์สินไม่มีญาติร่างกายไม่ใช่ของเรา ห้ามคนที่มาเยี่ยมพูดถึงทรัพย์สิน
และเรื่องอื่นทั้งหมด พูดได้อย่างเดียวธรรมปฏิบัติตอนนั้นก็ไม่ทราบว่าอารมณ์อย่างนั้นเป็นอารมณ์สังขารุเปกขาญาณ และเป็นอารมณ์ของพระที่เข้าถึงนิพพาน
ทำส่งเดชแต่ด้วยใจจริงเข้าทำนองที่ท่านกล่าวว่าบังเอิญขี้ตรงร่องความจริงไม่เห็นร่อง
เมื่อหวนคิดถึงความหลังครั้งกระนั้นขึ้นมาแล้ว ก็เลยไม่นั่งตรงที่พระพุทธเจ้าท่านนั่ง นั่งลงข้างล่าง กราบตรงนั้นสามครั้ง พอเงยหน้าขึ้น
เห็นท่านมานั่งที่เดิมอีก
และก็ตรัสว่า วีระ เธอคิดถึงความหลังหรือ
ก็กราบทูลว่าคิดอย่างนั้นพระเจ้าข้า
พระองค์ทรงแย้มพระโอษฐ์แล้วก็ตรัสว่า ดีแล้ว ต่อไปนี้จงซ้อมญาณให้คล่องตามเดิมนะ จะได้เป็นที่อาศัยของศิษย์
พระองค์ทรงชี้ให้ดูสถานที่ว่าหลังนี้เป็นที่อยู่ของเธอ เป็นแก้วมณีโชติ หลังนี้เป็นที่ประชุม หลังนี้เป็นที่พักการประชุมเป็นแก้วมณีโชติเหมือนกัน
คงจะสงสัยว่าทำไมจึงเรียกว่าแก้วมณีโชติ เรียกแก้วมณีเฉย ๆ ไม่ได้หรือ มันไม่เหมือนกัน แก้วมณีธรรมดามีสีใส แต่ไม่สว่างมีแต่รัศมีออก
เมื่อต้องแสงอาทิตย์หรือแสงจันทร์ ส่วนแก้วมณีโชตินั้นมีแสงสว่างออกมาเองเหมือนโคมดวงใหญ่ แต่สวยงดงามมาก
เมื่อท่านทรงตักเตือนหมดเรื่อง ก็กราบทูลถามว่า ท่านเทพประสิทธินายกอยู่ที่ไหน
ท่านก็ทรงชี้ให้ดูทางทิศตะวันออกของที่อยู่ว่า นี่วิมานของเธอ ต่อไปนี้เป็นสระโบกขรณีของเธอ ถัดสระไปเป็นวิมานของนนทาเทวี
ห่างจากวิมานนนทาเทวีไปสามคาวุตก็ถึงวิมานของเทพประสิทธินายก
ขณะนี้เธอนั่งอยู่บนที่ของเธอมองตามไปเห็นท่านนั่งสุกปลั่งคล้ายแสงอาทิตย์วิมานเป็นแก้วมณีล้วน ทูลถามท่านว่า สามคาวุตของนิพพาน
เทียบระยะความไกลของเมืองมนุษย์ได้เท่าไร
ท่านบอกว่าประมาณแสนโยชน์
พอตรัสเท่านี้ก็ได้ยินเสียงนาฬิกาที่กุฏิให้สัญญาณบอกเวลา 21 น. พระองค์ตรัสว่าได้เวลาแล้วลูกศิษย์จะทรมานตัวเกินไป เธอกลับได้อีก
10 ปี เธอมีสิทธิ์มาที่อยู่ของเธอได้ตามความต้องการ แต่จงคิดไว้เสมอว่าเราจะต้องตายเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่พรุ่งนี้ หรืออีกประเดี๋ยวหนึ่ง
ทั้งนี้เพื่อความไม่ประมาทในชีวิต ก่อนเธอจะมา ลูกศิษย์เขาจะทำตนเป็นคนเข้าถึงธรรมได้หลายคน
เมื่อกลับไป พรุ่งนี้เธอเขียนเล่าเรื่องนี้ให้อ๋อย (เฉิดศรี ศุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา) เขาอ่าน อ๋อยเขาเป็นคนมีศรัทธาจริตและพุทธจริต
คือมีศรัทธาแต่เชื่อเหตุผล ไม่งมงาย เล่าให้เขาฟัง เขาจะได้เร็วกว่าเดิม แล้วพระองค์ก็เสด็จกลับ หลวงตาแก่จอมเกเรก็กลับเหมือนกัน
ขอทุกคนที่อ่านจงเป็นคนเห็นถูก อ่านแล้วอย่าเพิ่งเชื่อ ใคร่ครวญสอบทานเสียก่อน
เมื่อควรจึงค่อยเชื่อเมื่อยังหาเหตุผลไม่พบก็เก็บเอาไว้ก่อนต่อเมื่อค้นคว้าถึงระดับแล้วเอามาอ่านใหม่ ตอนนั้นจะตัดสินใจได้ด้วยตนเองแล เทอญ
ไอ้ศัพท์ว่าแล และเทอญเขียนเข้ามาทำไมก็ไม่รู้มันอยากเขียนก็เขียนมาส่งไปอย่างนั้นเอง เอาละเอวังกันเสียที ขอความสุขสวัสดี
ไม่มีสวัสดิ์ร้ายจงมีแก่ทุกคนที่อ่านหนังสือนี้เถิด
◄ll กลับสู่สารบัญ
79
18 เมษายน 2514
จดหมายได้รับแล้วตั้งแต่วันที่ 17 เรื่องเจ้าแดงกัด คนโดนกัดไม่มีแผลรู้สึกว่าเก่งมาก เพราะเจ้าแดงมันเกิดรักษาสมบัติยายมันได้ คิดไม่ถึง
เพราะมรดกนี้ถูกบรรดาลูกหลานของยายเก็บไว้เสียรุ่นหนึ่ง คือผ่านมา 1 รุ่น ที่หาหมากัดคนไม่ได้ มามีเอาเจ้าแดงตัวเดียว
เจ้าของก็ติดประมาทเป็นเหตุให้คนถูกกัดเสียหลายคน เรื่องที่สงสัยว่ามันมีเปอร์เซ็นต์บ้าหรือเปล่า มันไม่มีเลย เป็นหมาแอบกัดหรือลักกัดปกติ
ไม่ต้องเกรงว่าพิษแบบนั้นจะเป็นเหตุ
เรื่องของคุณนิด เมื่อคุณนายมาบอกก็สงสัยเหมือนกันว่าทำไมพวกที่มีอาการอย่างนี้จึงต้องถูกเกณฑ์ให้มาพบกันเสมอ พอพบกันได้ก็มักจะมีอาการปกติ ที่ผิดปกติไปหน่อยก็คือเขามีดีขึ้นมาจากอานุภาพของท่านผู้มีบุญ นั่งคิดอยู่ครู่หนึ่งก็นึกได้
ทั้งนี้เพราะเหตุว่า อาตมาเองก็โดนเข้าทำนองนี้ประมาณ 5 ปี มีอานุภาพแปลก ๆ บางคราวก็เรียบร้อย
สงบเสงี่ยมบางคราวเอะอะโวยวายเหมือนบ้า ๆ บอ ๆ บางคราวเพียงแค่หยิบทองแดงมาม้วน ไม่ต้องเสกก็ ลองมีด ลองปืน ได้ทันที บอกว่าใครจะเป็นอะไร
คนนั้นต้องเป็นตามนั้นไม่เกินสามวัน
ความจริงความรู้หรือความสามารถในตัวเองไม่มี ไม่ทราบว่ามีมาได้อย่างไร กว่าจะรู้ตัวได้ก็อาศัย ท่านแก้วจินดา เป็นเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัสดี
มาบอก กว่าจะเชื่อเทวดาได้ก็ลองเทวดาเสียหลายเพลง เมื่อเห็นมีเหตุผลพอก็เลยเชื่อ
พอเชื่อแล้วอาการกลับเปลี่ยนไป การทรงความเป็นผู้วิเศษค่อยสลายตัวไป เกิดพอใจในความสงบเป็นสำคัญเรื่องของมันเป็นอย่างนี้
เมื่อมีคนที่พบอาการอย่างเดียวกันเข้าจึงพอจะลงโรงร่วมกันได้ หรือว่าเขาจัดเหล่าไว้เป็นพิเศษกระมัง เรื่องนี้วันหน้าต้องทูลถามสมเด็จดู
ท่านจะทรงโปรดประทานพระพุทธดำรัสว่าอย่างไร ถ้าไม่ลืมจะบอกให้ทราบ
คุณนิด ตามความรู้สึก คิดว่าคงไม่มีอะไรมาก เพราะท่านที่คุมไม่ใช่อันธพาล มีความประสงค์ดี ให้คุณนิดบวชเสียก็แล้วกับบวชแบบไทย ไม่ใช่แบบฝรั่ง
คืออยู่บ้านตามปกติพยายามปลดนิวรณ์ตามโอกาส ไม่ใช่ตลอดวัน เวลาใดว่างเวลานั้นกำหนดไว้ว่าตั้งแต่เวลาเท่านี้ถึงเท่านี้
จะพยายามกำจัดอารมณ์ยุ่งตามแบบฉบับของนิวรณ์ให้ระงับ
ตาสัจจาพรหมแกมาหาขณะเขียน แกบอกว่าเอาวันละ 1 ชั่วโมง ก็พอ ให้ค่อย ๆ คิดปลด ไม่ใช่อยู่ ๆ ก็จะปลดหมดตัว แกมายืนเทศน์ให้ฟังว่าอย่างนั้น
ถามแกว่าจะให้ทำอย่างไรอีก ตานี่แกมีนิสัยคล้ายสัจจะพรหม
แกบอกว่า ขึ้นต้นเท่านี้พอใจแล้วโว้ย ดูเถอะ เพื่อนฉันแต่ละคนเป็นอย่างดี ฉันคนเดียวจะเอาดีอะไรได้
เจ้าเพื่อนมันคอยมาโว้ยอยู่เสมอ เป็นพรหมแล้วยังไม่สำรวม เขียนมาตรงนี้ตาสัจจาแกอ้าปากกว้าง
แกว่า ก็โว้ยแต่ท่านเท่านั้น เราเป็นเพื่อนเก่าเพื่อนแก่ ถือกันด้วยหรือ เห็นไหมเรื่องของนิสัย ไม่มีใครทิ้งได้
ตานี่แกเคยเป็นขุนนางระดับเจ้าพระยามาแล้ว หลายสิบวาระเป็นพ่อเมืองก็เป็น แกก็ใช้ของแกแบบนี้เมื่อพบเพื่อน แต่แกเป็นคนเด็ดขาดนะ อย่าขัดใจแก
ถ้าเห็นปากเป็นม้าเมื่อไร ยุ่งเมื่อนั้น
ท่านสัจจาสั่งถึงคุณนิด
1. จงพยายามทำใจให้สบายอย่าเห็นสามีหรืองานสังคมว่าเป็นภัย ปฏิบัติตัวตามหน้าที่ แต่จงเห็นอนิจจังไว้เสมอ
2. เมื่ออนิจจังปรากฏ จงเห็นว่าคนที่ยึดสมบัติที่เป็นอนิจจังว่านิจจัง คนนั้นเป็นผู้เข้าถึงทุกข์ มีทุกข์เป็นสมบัติ
เมื่อเห็นอนิจจังว่าเป็นอนิจจังแล้ว จงสบายใจว่าเราฉลาดแล้ว ที่เห็นสภาพอนิจจังที่มีความละเอียดยิ่งกว่าอณูต่าง ๆ ได้
เราเป็นสาวกของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว เราเริ่มเข้าสู่จุดของความสุขแล้ว ถ้าเราเห็นทุกข์ และวางทุกข์ได้
ด้วยทุกข์ที่จะมีได้เพราะอาศัยอนิจจังเป็นปัจจัย และตัณหากลับใจคนให้เห็นอนิจจัง เป็นนิจจัง (ความไม่เที่ยงเห็นว่าเที่ยง) (ของพังได้คิดว่าไม่พัง
เมื่อความเข้าใจพลาดเกิด คิดว่าไม่พังมันเกิดพัง จิตก็เป็นทุกข์)
3. เมื่อเห็นทุกข์วางทุกข์เสียได้เพราะไม่มีอะไรผิดปกติก็คือทุกอย่างมีสภาพปกติมีการเกิดการสร้าง แล้วก็มีการทำลาย มันทำลายตัวของมันเองบ้าง
มีผู้อื่นทำลายมันบ้าง เห็นอาการอย่างนี้เป็นเรื่องปกติ เราอยู่แค่ตาย เราเกิดแค่โง่ ต่อไปเราเลิกโง่ เราก็เลิกเกิด
4. การติดตามสามี ให้คิดว่าเป็นหน้าที่ของคนเกิด เพราะความโง่ เพราะเราแบกโง่ไว้เราจึงต้องเกิด
เมื่อก่อนเกิดเราตั้งใจไว้ว่าจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ เมื่อมารับหน้าที่ ที่เราคิดว่าจะมาทำก็จงอย่าเบื่อหน้าที่ แต่จงเบื่อความโกรธ
คนที่ไม่เกิดต่อไป คือคนที่ไม่กลุ้ม เห็นอะไรก็ตาม เห็นว่าเป็นธรรมดา คิดว่าเมื่อโง่มาเกิด
เราก็จะโยนโง่ทิ้งเสียด้วยอำนาจรับรู้รับทราบกฎของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีอารมณ์เป็นปกติ ทำหน้าที่ไม่บกพร่อง
แต่ไม่คิดความเกิดโดยคิดว่าเกิดใหม่มีทุกข์ เลิกเกิดกันดีกว่า
แกบอกว่า วันนี้แกพูดด้วยเท่านี้ ตานี่แปลก พูดไม่ทันสุดเรื่อง พ่อเลิกเฉย ๆ เมื่อว่าแก แกก็บอกว่าเท่านี้มันก็แบบแย่อยู่แล้ว
แกย้ำว่าค่อย ๆ ปลดนิวรณ์ไม่ช้าก็จะสบาย เมื่อแกลาไปก็ขอเลิกเขียน ความจริงตาปากกว้างนี่
เมื่อไม่พบกันคิดว่าเป็นใครที่แท้ก็พวกไม่ใคร่เต็มบาทร่วมกันมานั่นเอง แกอ้างว่าแกเป็นปู่คุณนิด แต่ว่าหลายร้อยชาติมาแล้ว
80
1 พฤษภาคม 2514
เรื่องคุณนิดเป็นอย่างไรบ้าง รู้สึกว่าทางของแกกับทางเดินของอาตมาไม่ต่างกันเลยมาแบบเดียวกัน เป็นประเภทอยากเอาจริง อยากพิสูจน์
และชอบเชื่อความสามารถของตนเป็นสำคัญ ชอบผลที่แน่นอน มีความดิ้นรนจนบอกไม่ถูก
เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับคนที่ผ่านงานประเภทนี้จริง แต่คนที่ไม่เคยพบเห็นจะเห็นว่าแปลก
คนที่ผ่านมาแล้วจะเห็นเป็นเรื่องปกติ ต่อไป ถ้าพบของจริงแล้วก็เลยเสียเวลาที่แสวงหาฤทธิ์ เห็นว่าเป็นเรื่องของการเหนื่อยเปล่า สู้พวกเงียบปลงตกไม่ได้
แต่ทว่าจะเกณฑ์ให้ชอบใจเหมือนกันไม่ได้ ต้องปล่อยให้หมดฤทธิ์ แล้วจะเข้าทางเอง แต่แกก็ดีมาก เป็นคนมีเหตุผลมาก น่ารักทีเดียว คนอย่างนี้วันหน้าดีแน่
พอจับจุดดีได้ก็จะเป็นอาจารย์พรรคพวกได้ทีเดียว จัดว่ามีระดับดี ต้องรอเวลาอีกหน่อย
ทราบจากอาจารย์ยุ้ยว่า คุณนายมายั่วที่ท่าโป๊ะว่าจะสร้างโบสถ์ ก็ต้องรีบสร้างถ้าช้าอีกสามปีคุณเสริมจะสร้าง
ดูแกชักจะเร่งรัดตัวเองเพราะเกรงว่าท่านเจ้ากรมจะตัดหน้า เรื่องของศรัทธานี้น่าเลื่อมใส แกจะสร้างหรือไม่ ด้วยอำนาจตั้งใจจริง และแน่ใจว่าจะสร้าง
อย่างนี้คนตาทิพย์เขาเห็นวิมานทันทีที่ตัดสินใจเด็ดขาด
แต่ก็มีคนที่ฉลาดกว่าคว้าวิมานหลังงาม ๆ ได้โดยไม่ต้องลงทุนก็มีเหมือนกัน ไม่ใช่เป็นคนฉวยโอกาส แต่ทว่าเป็นคนฉลาด
คิดสงเคราะห์สงฆ์ นั่นคือนักไวยยาวัจมัย ผู้ขวนขวายสงเคราะห์สงฆ์อย่างที่คุณนายทำ คือชักชวนมาเพื่อให้เกิดศรัทธา
เมื่อผู้ถูกชักชวนมีศรัทธาตั้งใจทำจริงจะมีโอกาสทำหรือไม่ก็ตามเขาได้วิมานเพราะการตัดโลภะทันทีที่ตัดสินใจคนชักชวนก็ได้ ไม่ใช่พลอยได้
ได้เพราะอำนาจไวยยาวัจมัย คือขวนขวายสงเคราะห์สงฆ์อานิสงฆ์ไม่หนีกันเลย
การสร้างโบสถ์เป็นปัจจัยในชั้นกามาวจรคือเกิดบนสวรรค์ ไวยยาวัจมัยก็เป็นปัจจัยชั้นกามาวจรเหมือนกัน
เป็นอันว่าต่างคนต่างมีวิมานบนสวรรค์เหมือนกัน มาตอนสร้าง ถ้าเจ้าทรัพย์สร้างจริง ผลของการสร้างก็ทวีความงามของวิมาน และเพิ่มทรัพย์สมบัติ
คนมีหน้าที่เป็นไวยยาวัจมัยก็เพิ่มภาระในการบำรุงศรัทธา และให้ความสะดวก ก็เพิ่มความสวยของวิมาน และทิพย์สมบัติเหมือนกัน
ไวยยาวัจมัยก็คือคนชักชวนนั่นเอง อย่างที่คุณนายทำนั่นแหละเขาเรียกว่าไวยยาวัจมัย หรือไวยยาวัจกร เป็นอันว่าคุณนายก็ได้ด้วย แต่ไม่เรียกว่าพลอยได้
เพราะมีผลงานกันคนละอย่าง ถ้าจะถามว่าใครเด่นกว่ากัน ก็ต้องตอบว่าเทวดาไม่ต้องหุงข้าวกินเหมือนกันทุกองค์
ช่วยเรียนท่านเจ้ากรมให้ทราบด้วยว่า อำนาจไฟฟ้าที่ท่านเจ้ากรมสงเคราะห์คือให้เงินมาเกินกว่าที่เอาไฟฟ้าเข้าวัด เงินที่เหลือพอเป็นเจ้าของพัดลมทั้ง 6
ตัวได้เลย ส่วนหลอดสายที่เพิ่มใหม่ครูนนทาช่วยบ้าง และขายเครื่องบ้าง พอชำระเรื่องของไฟฟ้า
เป็นอันว่าเรื่องนี้ไม่มีหนี้เป็นอันว่ากระแสไฟฟ้าที่ให้แสงสว่างเป็นของเจ้ากรม
พัดลมทุกตัวที่ติดใหม่เป็นของท่านเจ้ากรม ชื่อที่เขียนไว้เป็นชื่อที่ท่านสงเคราะห์
ขอท่านเจ้ากรมทราบว่าแสงสว่างหรือความเย็นอันเป็นความสุขที่มนุษย์ต้องการ ท่านเป็นเจ้าของแน่นอน ขณะนี้เทวฤทธิ์ (พระอาทิตย์) ทรงโปรดตั้งแต่ 9.00 น. ถึง 3
น. ต้องเปิดพัดลมตลอดเวลา
ถ้าไม่อย่างนั้นก็ต้องนอนแช่ในน้ำ เพราะมันร้อนเหลือเกิน อานิสงส์ที่ท่านเจ้ากรมสงเคราะห์ให้ทุกคนได้อาศัยความสะดวก
ขอผลนี้จงบันดาลให้ท่านได้ทิพย์จักขุญาณโดยไวเถิด พระจะได้ไม่ใคร่เหนื่อยเบื่อเต็มทนแล้ว อยากจะปลดตัวเองเสียที
◄ll กลับสู่สารบัญ
webmaster - 30/7/11 at 12:34
81
1 สิงหาคม 2514
ท่านสาธุชน (คนดี) ทั้งหลาย (ขึ้นต้นแบบนี้เพราะส่งถึงหลายสาย)
เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ตอน 20 น.เศษ ฉันทำกรรมฐาน คือ คุมคนชอบกรรมฐาน และไม่ใคร่ชอบกรรมฐานแต่ชอบมานั่งร่วม วันนี้ฉันมีร่างกายกะย่องกะแหย่งมาก
เพราะเจ้ากระเพาะมันขี้เกียจระบายขี้ แก๊สมันดันหัวใจเสียดตลอดวัน แรงก็ไม่มี ตาพร่าฟาง ร่างกายอิดโรยไม่มีแรง
ตอนกลางวันฉันทนถ่อกายไปตรวจงานก่อสร้างวัด เสริม-ศรี ศุขสวัสดิ์ ที่สองตายายผู้มีศรัทธามั่นคงเป็นประธานการก่อสร้าง
ฉันนอนดูงานแล้วฉันก็คิดไปด้วยว่าฉันจะพยายามกำหนดแผนงานเพื่อหยุดไว้เสมอ คือปีนี้ฉันจะให้มีกุฏิ 1 หลัง สองชั้น ๆ ละ 6 ห้อง เป็นตึกตามแบบฉบับของฉัน
ฉันมันคนไม่ใคร่เหมือนชาวบ้านชาวเมืองเขาทำอะไรก็ไม่ใคร่จะเหมือนใครเขา เรียกว่าทำตามคนบวม ๆ เมื่อคนสั่งให้ทำมันบวม อาคารสถานที่ทำขึ้นมันก็พลอยบวมไปด้วย
เมื่อขณะดูงานก็คิดว่ามีกุฏิมีที่เจ้าวัดรับแขก มีส้วม มีศาลาเดินทำบุญ มีศาลาพักแขก เท่านี้เราพอใจเป็นงานเสร็จงวดหนึ่ง
จะสร้างหรือไม่สร้างต่อก็ถือว่าพอไปแล้วตอนหนึ่ง เมื่อทำเสร็จก็หาเรื่องชำระหนี้ เมื่อชำระหนี้แล้ว จะทำหรือไม่ทำต่อก็ไม่เป็นไร
เพราะอาคารที่จำเป็นระดับแรกเสร็จแล้ว งานทั้งหมดกำหนดเงินไม่ให้เกินแสนมากนัก หรืออยู่ในวงเงินหนึ่งแสนบาท
บรรดาช่างที่มาดูงานเขาคงคิดว่าฉันบ้า เพราะเขาบอกว่าเพียงกุฏิหลังเดียว เขาก็รับไม่ได้ในราคาแสนบาท แถมมีส้วมซึมธรรมดาอีก 4 ห้อง มีศาลาดินยาว 12 วา
กว้าง 6 วา อีก 1 หลัง ต้องถมลูกรังประมาณ 366 คิว ความจริงอาจจะกว่า เพราะที่ลุ่มมาก ทำศาลาพักแขกยาว 12 วา กว้าง 2 วา
อีกหนึ่งหลังเขาพากันลงหัวว่างานทั้งหมดนี้ แสนห้าหมื่นก็ทำไม่ได้
หลวงพ่อจะทำอย่างไรให้แล้วเสร็จในวงเงินหนึ่งแสนเศษ ตั้งใจจะให้มีเศษไม่เกินสองหมื่นบาทหรือไม่เกินแสนบาทเขาพากันนั่งซุบซิบ ฉันคิดว่าเขาคงพูดกันว่า
หลวงตาหัวล้านบ้าแน่ คิดไม่ทันงาน แต่ฉันคิดว่าฉันทำของฉันได้ ฉันมีเงินสดอยู่สองหมื่นบาท เสียค่าแรงงานบ้าง
ซื้อของที่สั่งเป็นสินเชื่อบ้าง
มันไม่พอฉันก็ยืมเขาอีกหมื่นบาทเศษ ประมาณหมื่นห้าพันบาท แต่เมื่อทำเสร็จ ฉันจะขายศาลาพักแขกกับส้วมให้ครูนนทา เพราะลงทุนประมาณ 6-7 พันบาท
เป็นการบรรเทาหนี้เงินสด นอกนั้นถ้าหาที่ไหนไม่ทัน ฉันจะค่อย ๆ แขม่วท้อง
เอาเงินค่าขนมที่ทุกคนสงสารฉันให้ฉันซื้อท็อฟฟี่เอามาผ่อนชำระหนี้ที่เร่งร้อนแล้วอาศัยกฐิน ผ้าป่า มีเทศน์ เพื่อชำระหนี้ที่ไม่ร้อน
ความจริงวัดนี้ก็แปลกมาก เมื่อเริ่มทำมีประมาณ 7 ไร่เศษ เดี๋ยวนี้มีคนบอกให้ที่ดินที่ติดต่อกับวัดออกไปอีกมาก รู้สึกแปลกใจ
แต่ฉันก็ดีใจที่ฉันเอา (ของ) พ่อฉันกลับคืนมาได้ พ่อฉันคือพระพุทธเจ้าด้วยที่ ๆ เขาให้ สอบแล้วปรากฏว่าเป็นที่วัดเก่าแน่ เพราะเจ้าของที่บอกว่ามีเจดีย์
และร่องรอยวิหาร
แต่เจ้าที่เอารถไอ้โม่งไถเสียหมด เขายืนยัน ฉันดีใจที่ได้ทดแทนคุณพ่อฉันโดย เรียกสมบัติพ่อ ที่คนอื่นเอาไปกลับมาเป็นของพ่อตามเดิม
ทุกคนที่ร่วมเงิน ร่วมแรงร่วมใจ ก็เป็นผู้มีหุ้นเอาที่พ่อฉันกลับคืนมาด้วย ฉันขออนุโมทนา และให้ทุกท่านมีความสุข คำว่า ไม่มี
จงอย่าปรากฏแก่ท่านตั้งแต่วันนี้จนถึงวันเข้าพระนิพพาน
ขณะนี้ฉันคิดว่าฉันอาจคุมงานสร้างไปไม่ได้ตลอด เพราะดูร่างกายมันอ่อนเปียกเต็มที ฉันเลยปลงสังขารมันเสียเลย
เมื่อถึงเวลากลางคืน เริ่มร่วมวงทำกรรมฐานพอออกไปจากตัวไม่ทันจะพ้นตัวเห็นพระท่านมานั่ง 3 องค์
มีรัศมีพวยพุ่งรอบองค์เหมือนกันก็เป็นอันรู้ได้ว่าท่านเป็นพระพุทธเจ้าทั้งสามองค์
ความจริงทั้งสามพระองค์นี้ฉันเห็นเป็นปกติองค์หนึ่ง ทรงผ้าสีกลัก (เศร้าหมอง) อีกองค์หนึ่งท่านทรงผ้าสีเหลืองธรรมดา
อีกองค์หนึ่งท่านประดับเครื่องนิพพานเต็มยศ ท่านให้ฉันเห็นแบบนี้เป็นปกติ ฉะนั้นใครเขาชวนฉันปฏิบัติแบบอื่นฉันจึงไม่ย่อมร่วม ฉันไปนรก เขาไม่รับสมัคร
ไปสวรรค์เขาไม่ให้อยู่ ไปพรหม เขาบอกว่าวิมานที่พรหมไม่มี ฉันเลยกลายเป็นผีสัมภเวสี ระหนระเหเร่ร่อนเลยพรหมไปครั้งหนึ่ง
เมื่อเห็นพระ ท่านก็เรียกเข้าไปหาท่าน เข้าไปกราบท่าน ท่านผู้อ่านคงสงสัยว่าทำไมพระไม่แต่งแบบเดียวกัน
ทั้งนี้เพราะท่านทราบว่าฉันบ้าสามแบบ คือบางครั้งฉันบ้าสีคร่ำ ชอบห่มจีวรกลัก บางคราวฉันบ้าผ้าสีสะอาด (สีจีวรธรรมดา) บางคราวฉันบ้าแสงสีแพรวพราว
ท่านรู้อารมณ์บ้าของฉัน ท่านจึงได้ทำให้ครบสามแบบ เพื่อดักอารมณ์บ้าของฉัน
เมื่อเห็นท่านฉันก็เลยบ้าคราวเดียวสามแบบ ฉันเข้าไปกราบท่านทั้งสามองค์ และรักทั้งสามแบบ เมื่อกราบท่านแล้ว
ท่านก็พูดว่า เธอจะไปจุฬามณีหรือ ถ้าไปควรจะเข้าทางประตูขวาเสียบ้าง เธอเข้าแต่ประตูซ้ายด้านเดียว จะได้เห็นประตูขวา
ท่านสั่งแล้วก็กราบท่าน ออกจากตัว พอออกมาเห็นหลวงพ่อปานท่านยืนคอยอยู่แล้ว ท่านเรียกให้ตามท่านไป เมื่อเดินขึ้นจุฬามณี (ไปทางลัด) คือตรงขึ้นไป
ไม่ได้ไปตามทางแยก 4 แยกตามที่เคยบอกให้ฟัง
ขณะเดินไปจุฬามณีถามหลวงพ่อปานว่า เดือนสิงหาคมโลกจะมีกรรมวิปริต ประเทศไทยจะกระทบกระเทือนมากไหม?
ท่านบอกว่า ประเทศไทยผ่านการวิปริตโลกชั่วขณะเดียวมีระยะไม่นาน คงจะไม่มีอะไรมากนัก ถ้าจะหนักจริง ๆ ก็คงแค่จับกัน
คงไม่ถึงกับลงมือยิงกัน แต่อาจแคล้วคลาดไปก็ได้
ท่านถามว่า สนใจมากหรือ
บอกท่านว่า เมื่อมีอารมณ์มากระทบก็เพียงอยากรู้ พอพูดจบ (ขึ้นช้า ๆ) ก็ถึงจุฬามณีพอดี คิดว่าจะแวะไปเยี่ยมโยมก่อน
พอถึงปากทางขึ้นก็พบ พระศรีอาริย์ ท่านมานั่งคอยที่ปากทางอยู่ก่อนแล้ว
เมื่อเห็นท่านเข้าก็กราบท่านด้วยท่านเป็นผู้มีคุณหนักกับชาวโลกด้วยการบำเพ็ญบารมีเพื่อเป็นพระพุทธเจ้า และจบหลักสูตรแล้วด้วย เพื่อรอการฝึกงาน
และบรรจุเท่านั้น
เมื่อเห็นท่านเข้าไปหาท่าน ท่านยิ้ม ท่านพูดคำแรกว่า เธอจงสังเกตให้ดี วันนี้ฉันแต่งตัวนุ่งผ้าพื้นสีเขียวอ่อน แต่สีค่อนข้างเข้ม
มีแก้วมณีประดับเต็มผ้า สวมเสื้อมีพื้นขาวมีแก้วมณีประดับเต็มตัว สวมชฎางามระยับ ประดับด้วยแก้วมณี สวยกว่าพระเอกลิเกมาก
เมื่อท่านให้ดูเครื่องแต่งตัวแล้ว ท่านก็เหยียดแขนออกมานอกเสื้อ เห็นเนื้อใสเหมือนแก้วที่ล้างสะอาดแล้ว เนื้อเหมือนพรหม
แปลกใจมาก แล้วท่านก็ให้หลวงพ่อปานเหยียดแขนออกมาเนื้อเหมือนกันไม่แตกต่างกันเลย
ท่านบอกว่า พวกพระโพธิสัตว์ที่บารมีเต็มแล้วมีเนื้อใสเหมือนกัน
วันนี้ดูพระศรีอาริย์ท่านแปลกกว่าวันอื่น ทำไมถึงกลายเป็นวันอวดสวยอวดงามไปก็ไม่ทราบ เมื่ออวดเครื่องแต่งตัว
อวดเนื้อพอควรแล้วก็เริ่มงานพูด ท่านเริ่มเรื่องดังนี้
เมื่อเธอกลับลงไปจงเอาข่าวที่ฉันบอกให้ดูเครื่องประดับ และเนื้อไปบอกบริษัทของเธอด้วย
(คำว่าบริษัทในที่นี้ไม่ได้แปลว่าสำนักงานค้าขายหรือส้วมเป็นศัพท์ในพระศาสนา แปลว่าพวกหรือคณะ) บอกเขาถึงอาการที่ฉันบอก
บริษัทของเธอส่วนใหญ่เขาต้องการเกิดทันศาสนาฉันเป็นส่วนใหญ่ คนที่มุ่งเอานิพพานในชาตินี้ไม่เกิน 10 คน แปลกนะ ท่านอยู่ถึงบนสวรรค์ท่านทราบ
แต่ฉันอยู่ใกล้ยังไม่ทราบดีเท่าท่าน
เธอจงบอกเขาว่า ถ้าต้องการเกิดทันศาสนาฉัน และสำเร็จอรหัตผลในศาสนาฉัน ให้เขาทำตัวดังนี้
1. ตั้งใจรักษาศีล 5 ให้บริสุทธิ์ ในระยะต้นมันจะมีพลั้งพลาด เมื่อเผลอหรือว่าจำเป็นต้องทำ ทำไปแล้วก็พยายามกำหนดใจว่าจะไม่ทำอีก คิดบ่อย ๆ คุมใจบ่อย ๆ
ไม่ช้าก็จะคุมได้เป็นปกติ มีศีล 5 ครบถ้วน
2. จงเป็นคนมีเมตตาเป็นปกติ
3. เจริญกายคตากรรมฐานเป็นปกติ
4. เมื่อทำบุญหรือบูชาพระครั้งใด เมื่อเสร็จแล้วให้ตั้งใจอธิษฐานว่า ด้วยอำนาจบุญบารมีที่บำเพ็ญนี้ ขอให้ข้าได้เกิดทันพระศรีอาริย์ขณะทรงประกาศพระศาสนา
และเมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาครั้งเดียวขอให้ได้สำเร็จพระอรหันต์ทันที
ท่านว่า ทำอย่างนี้เป็นปกติ เกิดทันแน่ อย่าตั้งใจให้เกิดทันอย่างเดียวจะไม่มีผลควรอธิษฐานหวังมรรคผลพระนิพพานด้วยจะมีคุณกว่า
เมื่อพูดจบท่านบอกว่า พวกที่กำลังฝึกกับท่านที่วัด ส่วนใหญ่เขาหวังเกิดทันศาสนาฉัน เธอลงไปช่วยบอกตามที่ฉันบอกด้วย
และเขียนส่งข่าวบรรดาบริษัทของเธอด้วย เลยเขียนบอกมา
เมื่อเจรจากันสิ้นเรื่องนี้ ท่านก็พูดต่อไปว่า บริษัทของท่านส่วนใหญ่มารวมกันที่ดาวดึงส์ ความจริงมาดาวดึงส์นี้ดีมาก
เพราะอยู่ในที่ตั้งพระจุฬามณีเห็นพระอริยะเสมอ ไม่ประมาท มีโอกาสได้บำเพ็ญกุศลต่อ
และมีโอกาสพบฉันเสมอถ้าเขาชอบศาสนาฉันจริงฉันก็จะได้แนะนำเขาเทวดาชั้นดาวดึงส์ เป็นเทวดาธุรกิจ คือส่วนใหญ่ชอบบำเพ็ญบารมีต่อ
เมื่อพูดจบท่านถามว่า จะเข้าพระจุฬามณีไหม
บอกท่านว่า เข้า แต่จะเข้าทางประตูขวา
ท่านบอกว่า ที่ฉันนั่งอยู่นี้ใกล้ประตูขวาแล้ว
เพราะทราบว่าท่านจะเข้าทางประตูขวา เลยมาคอยทางนี้ เมื่อรู้เรื่องกันแล้วหลวงพ่อปานก็นำเข้าทางประตูขวา
ประตูนี้มีสีเป็นสีเหลืองอร่ามมีพรหมยืนเป็นพรหมยาม (ไม่ใช่แขกยาม) คุยกับพรหมเล็กน้อยก็ผ่านเข้าประตูไป
พบพระ พระท่านเตือนไม่ให้สนใจอะไร ทุกอย่างทำเพื่อสงเคราะห์ บอกเขาแล้ว นำเขาแล้ว เขาไม่เอาช่างเขา
อย่าเอาใจไปผูกพันจะมีอารมณ์ข้องแล้วท่านก็เตือนว่าสามทุ่มกว่าแล้วบริษัทจะเมื่อยเลยลาท่านกลับ เวลาเลยสามทุ่มไปเล็กน้อย เปิดไฟสว่าง
เขาเลิกกันแล้วก็นำกรวดน้ำ เล่าเรื่องที่ผ่านมาให้ฟังเป็นเสร็จพิธี
◄ll กลับสู่สารบัญ
82
22 สิงหาคม 2514
วันนี้ว่างเพราะไม่ได้ไปดูงานที่วัด เสริมศรี ศุขสวัสดิ์ ด้วยเมื่อวันที่ 15 ได้เริ่มแสดงงิ้วตอนโจโฉตีทัพพระราม
เรื่องเลยจบเร็วเพราะตามบทประพันธ์ไม่มี ทั้งนี้ก็เพราะพวกชาวบ้านทำงานไม่พอกับค่าของศรัทธาที่ ครูนนทา ให้ซื้ออาหารประจำวัน
ครูนนทา ศรัทธากล้ากรุณาจ่ายค่าเลี้ยงดูวันละ 50 บาท เมื่อเงินหมดไปมาเทียบผลงานกับที่จ้างแรงงานได้งานไม่สมดุลย์กันเลยอาละวาดตามธรรมเนียม
ทีนี้มาพูดกันถึงเรื่องของงานที่จะสร้างต่อไป ปีนี้สร้างแบบดำดิน เพราะทำไปเพื่อให้ปรากฏหลักฐานวัตถุก่อสร้าง ราคาไม่ต่ำกว่าทองคำเท่าไรนัก
มันแพงก็ต้องเอา เพราะถ้าไม่เอาก็ไม่มีสร้าง ปีต่อไปจะเริ่มตั้งโครงการไว้ก่อน ทั้งนี้เพื่อหาวัตถุก่อสร้างที่มีคุณภาพไม่ต่างกัน และให้ได้ราคาถูก
มีตำรวจบ้าง ป่าไม้บ้าง มาเสนอไม้ในราคาถูก รับรองว่าไม่ผิดกฎหมาย
เพราะแกลงทุนซื้อจากเจ้าป่าแล้วเสียภาษีเอาเอง แกบอกว่าอย่างนั้น แกเสนอขายหลายราย แต่ก็ไม่ตกลงกับใคร เป็นไม้แปรรูป
เพราะต้องการอย่างนั้นที่ตั้งใจจะซื้อก็ไม้จากสุวิมล (เจ้าของร้านค้าไม้) แกบอกให้พื้นกับตงไว้ ถวาย ไม่ใช่ขาย
พอสร้างอาคารหลังที่สองก็เลยอยากซื้อไม้คาน จันทัน คอสองจากแกเสียเลย คิดว่าราคาจะไม่แพงกว่ารายอื่นหรือว่าแกจะให้หมดก็ไม่ศรัทธา
เมื่อแกให้หมดก็เอาชื่อแกใส่ไว้เลย ทำแบบน้ำเต้าล่อ ๆ เป็นการบำรุงศรัทธา และนำศรัทธา
เมื่ออาคารแต่ละหลังเขามีเจ้าของหมด แต่ว่าเจ้าของวัดไม่มีชื่อโดยตรงในอาคารไม่รู้ว่าจะเอาไปไว้ที่ไหนดี พยายามด้อม ๆ มอง ๆ ไปก็พบแหล่งถูกใจ
คิดว่าถ้าสร้างเป็นอาคารพักหรือคุมงานสร้างอย่างมากก็ไม่เกินแสนบาทหรือไม่ถึงแสน ที่ตรงที่ชอบใจมากนี้คือในบึงยาวด้านใต้ที่พากันเดินไปดูนั่นเอง
สร้างมันในบึงเลย ทำเป็นศาลากลางน้ำแบบบ้านคุณติ๋ว (วัฒนี คุณะเกษม) มีน้ำล้อมรอบ ต้องเสียค่าแรงงานแพงหน่อยเพราะต้องใช้ปักเสา เสียค่าไม้นั่งร้าน
เสียเวลาตอกเสา ทำเป็นอาคารชั้นเดียวใช้รูปทรงอ้วน ๆ คล้ายท่านเจ้ากรม ขั้นแรกทำแบบไม่มีฝาอยู่กลางน้ำ เย็นสบายมีปลาว่ายไปมา
เมื่อเอาอาหารล่อ เจ้ามัจฉาน้อยใหญ่จะฉุยฉายมาหาเหยื่อตามแบบฉบับของปลา มีบัวที่ชาวบ้านชอบใจ เพราะชาววัดที่ไม่อยากขัดใจใครอาคารหลังนี้จะให้ชื่อว่า
ศาลากลางน้ำ เสริม ศรี ศุขสวัสดิ์ บนบกขอบบึง จะทำอาคารยาว มีแต่หลังคา พื้นคอนกรีต อาจไม่เสริมเหล็กเพราะกลัวเปลือง
เป็นที่จอดรถ และเป็นสถานนั่งเล่นของคนกลัวน้ำ หรือเบื่อน้ำเมื่อยามมีงานทอดผ้าป่ากฐินจะได้ใช้เป็นที่เลี้ยงอาหาร และนั่งพักผ่อน
คณะคนใหญ่โดยตำแหน่งหรือพุงใหญ่ เอามาเลี้ยงในอาคารศาลาเสริมศรีฯ คนเล็กโดยตำแหน่งหรือพุงเล็ก เลี้ยงบนบก แต่ก็ริมน้ำ ตั้งบาร์อาหารที่อาคารยาว
ท่านอาคารยาวมีส้วม (ที่เก็บอาหารเก่า) สัก 8 ห้อง เอาแบบธรรมดา แต่ไม่ใช่แบบไทยแท้ ใช้แบบไทยผสมฝรั่งคือใช้ทั้งส้วมซึม
แต่อาคารใช้อาคารหลังเดียวกับอาคารเลี้ยงอาหาร ทำยาวออกไป ฝาใช้แผ่นปูเรียบ ถ้าแบบไทยเขาทำแบบขุดร่องปล่อยเฉย ๆ หรือแบบไทยเดิม
ใช้นั่งในที่แจ้งหันหน้าเข้าหากัน ถ่ายพลางคุยพลางตามแบบไทยเดิม คือ ขี้แบบเสรี
อาคารหลังนี้ คิดว่าจะทำอย่างนี้ ไม่ทราบว่าท่านเจ้าของจะชอบหรือไม่ ถ้าไม่ชอบหรือชอบไม่หมด ตรงไหนไม่ชอบแนะนำด้วย จะได้ไม่ขวางใจ
ก่อนเลิกนึกได้ว่าลูกสาวท่านพระร่วงกลับมาจากกรุงฝรั่งหรือยัง ถ้ามาละก็บอกด้วยว่าฉันคิดถึง ดูเหมือนจะมาแล้วกระมังเห็นใครไว ๆ ดูไม่ชัด คล้ายคุณนิด
83
12 ตุลาคม 2514
วันนี้อากาศเริ่มหนาว ที่นี่มีความเย็นพอเลยสบายนิดหน่อย ร่างกายค่อยสบายขึ้นบ้างหลังจากเสียท่าสมเด็จองค์ปฐมครั้งใหญ่
ร่างกายมันจึงค่อยดีขึ้น
ก่อนที่จะบรรยายความตามไท้หรืออะไรก็ตาม ขอพูดเรื่องที่จะเดินทางมาเสียก่อน คอยหาเวลาที่ร่างกายมันจะค่อยปลอดโปร่งขึ้นบ้างมาหลายวัน มันเอาดีไม่ได้
ต่อเมื่อวันที่ 10 นี้ กำลังปลงสังขารคืออาการตายเป็นจุดหมายปลายทาง ร่างกายมันค่อยดีขึ้นบ้าง บางทีมันจะดีเพื่อรับตาย
จึงกำหนดเดินทางมา ถามครูนนทาว่าวันหยุดมีวันไหนบ้าง เพราะเวลาเดินทางแกเป็นโต้โผ แกกำหนดให้เดินทางวันที่ 22 และกลับวันที่ 25 ด้วยวันที่ 23-24
เป็นวันหยุด วันที่ 25 หยุดเหมือนกัน แต่หยุดเพื่อไหว้ท่านจอมราช เลยถือโอกาสเดินทางกลับเป็นอันว่า วันที่ 22 เดินทางมา และพักบ้านครูนนทา 1 วัน วันที่
23-24 อยู่บ้านท่านเจ้ากรม 25 เดินทางกลับ
เรื่องเดินทางจบ คราวนี้มาพูดกันเรื่องส่วนตัว ขณะนี้บอกศาลาเรื่องงานก่อสร้างที่จำต้องแบกภาระโดยตรงหมด
เพราะกำหนดการตายเป็นจุดหมายปลายทาง เมื่อจะตายแล้วจะมานั่งห่วงเรื่องสร้างทำไม แต่ก็สร้างอีก สร้างแบบไม่แบกภาระ
คือสงเคราะห์ด้านการแนะนำให้ทุนหรือวัตถุก่อสร้างตามที่มีผู้ให้ และวัดนั้นต้องมีปัญญาหาทุนผสม หรือทำแล้วเราช่วยสงเคราะห์เพื่อบรรเทาความหนัก
ไม่ต้องไปนั่งรับผิดชอบคุมงาน หาเงินใช้หนี้อย่างนี้ทำสบาย
เมื่อกำหนดจุดหมายคือความตายเป็นสรณะ ก็เลยคิดว่าถ้าป่วยหนักหรือตาย คนที่อยู่ใกล้จะหนัก ด้วยคนตายมักจะสร้างความยุ่งให้คนอยู่
เพื่อบรรเทาความหนัก ก็จะเตรียมอุปกรณ์การตายไว้ให้เกือบครบ จึงหารือกับครูนนทาว่าจะสร้างหีบใส่ศพ เอามาตั้งไว้ และทำท่อระบายน้ำเหลืองให้เรียบร้อย
เครื่องใช้พยายามสะสมไว้ให้พอสะดวก
ถ้ามีเงิน โดยค่อย ๆ สะสมเมื่อคนให้ปีละเท่าไรก็ตาม เหลือใช้เก็บไว้ และซื้อวัตถุสร้างรวมไว้ เมื่อพอ หรือใกล้พอก็จะรื้ออาคารสื่อสาร ทอ. ทำเป็นตึก 2
ชั้น มีห้องนอน 12 ห้อง ห้องส้วมห้องน้ำ 12 ห้อง แบบบ้านที่ปากช่อง แต่ใช้วัตถุก่อสร้างราคาถูก เพื่อเมื่อป่วยหนักหรือตาย
คนที่ไปมาเยี่ยมศพหรือเยี่ยมอาการป่วย จะได้พักสบายคนรับก็ไม่หนักใจ คนไข้ก็ไม่รำคาญ
เดิมคิดจะสร้างหีบทอง พอถึงเวลาเจริญกรรมฐาน รู้สึกว่าวันนี้มีแขกมากเป็นพิเศษ เทวดา และพรหม
ตลอดจนพระที่หาที่เกิดไม่ได้มากันเต็มไปหมด
แต่ละท่านถามว่าจะทำตามที่พูดแน่หรือ
บอกว่าทำแน่ เพื่อความสะดวกของท่านผู้มา เมื่อเห็นว่าจะทำแน่ ทุกท่านก็ยกมือสาธุกันเป็นแถว
วันรุ่งขึ้น คณะชัยนาทมาสมทบ คุยกันถึงที่ตั้งหีบศพ บอกเขาว่าจะเอาไว้ชั้นบนต้องรีบทำท่อระบายน้ำเหลือง เพราะถ้าไม่ทำก่อน เมื่อตายจริงไม่มีใครทำแน่
ถ้าจะทำก็จ้างแพง ถ้าทำขณะนี้ พระทำได้ไม่ต้องจ้าง
ครั้นเมื่อถึงเวลาเจริญกรรมฐาน สมเด็จองค์ปฐมมา ถามว่าศพจะเอาไว้ที่ไหน
กราบทูลท่านว่าจะเอาไว้ชั้นบน
ท่านบอกว่าไม่ได้ ต้องเอาไว้ชั้นล่าง เอาไว้ชั้นบนลำบากคนมาไหว้ศพ และลำบากเมื่อย้ายศพ
ท่านกำหนดที่ตั้งให้ตั้งตรงเก้าอี้เหลือง
ท่านถามว่าจะสร้างหีบอะไร
กราบทูลท่านว่าสร้างหีบทอง
ท่านว่าไม่ควร แพงเงิน สร้างหีบไม้ และต้องตั้งให้ทันก่อนสิ้น พ.ศ. นี้ 2514 ตอนนี้ชักดีใจ คิดว่าคงได้ตายเร็วแน่
จึงตกลงว่าทำตามท่านสั่ง
เมื่อเสร็จการเจริญกรรมฐานก็คุยกันตามเรื่องที่ท่านบอก เดี๋ยวก่อนลืมไปตอนหนึ่งแล้ว
ท่านถามว่าอาคารสื่อสารจะทำอย่างไร
กราบทูลท่านว่า น้ำที่จะมาข้างหน้าจะสูงกว่าปี 2513 ประมาณ 50 เซนต์ จะยกพื้นให้สูงอีกประมาณ 70 เซนต์ แล้วจะทำเป็นห้องสองแถว
แถวละ 4 ห้อง
ท่านบอกว่า ไม่ได้ ต้องทำตามนี้
1. รื้อของเก่า ทำเป็นรูปมีจั่ว 5 จั่ว ด้านข้าง 2 จั่ว ด้านหน้า 3 จั่ว
2. ทำเป็นตัวตึก 2 ชั้น
3. ทำห้องนอน 12 ห้อง มีห้องส้วมห้องน้ำทุกห้อง แต่ใช้วัตถุก่อสร้างราคาถูก
อีกสัก 5-6 ปี ข้าจะพยายามหาเงินให้สร้างสัก 6-7 หมื่น จะค่อย ๆ หาให้เมื่อได้เงินแล้วซื้อของ ทีละเล็กน้อย เมื่อพอแล้วก็สร้าง ไม่เกิน 6 ปี
สร้างเสร็จ
เมื่อการคุยกันผ่านไป คืนที่สาม คืนนี้มีแขกมาอีก แขกผี เทวดา และพรหม ยกกองทัพมาประชิดติดกุฏิ ถามว่าทำตามท่านผู้ใหญ่แน่หรือ
บอกเขาว่าเมื่อท่านสั่ง เรื่องหีบศพทำแน่ เพราะมีทุนอยากทำอยู่แล้ว แต่เรื่องสร้างท่าจะรอไม่ไหวคงตายก่อนแน่ เพราะปี 2517 นี้
จะอยู่ถึงหรือไม่ถึงก็ไม่รู้ เกรงว่าจะสิ้นลมปราณเสียก่อน เพราะร่างกายมันทรุดตัวลงทุกวัน เมื่อบอกว่าจะทำแน่เขาก็โมทนาอีก
แต่ท่านมหาชมภู เข้ามาบอกว่าหลวงพี่เสียท่าท่านปฐมครั้งใหญ่
ถามว่าเสียท่าอย่างไร
แกบอกว่า การสร้างหีบใส่ศพเป็นการประวิงเวลาตาย มันเป็นวิธีการต่ออายุอย่างสำคัญที่สุดกว่าวิธีใดๆ
บอกแกว่าฉันไม่ได้คิดต่ออายุ ฉันไม่อยากให้คนอยู่ลำบากเพราะฉัน ฉันทำได้ฉันก็จะทำไว้
แกบอกว่าจะมีเจตนาอย่างไรก็ช่าง เรื่องของเรื่องก็เป็นการเสียท่านปฐม
เป็นอันว่าเสียทีผู้ใหญ่เสียแล้ว แต่ก็ไม่มีอะไรดีใจ เสียใจ เพราะทำกรรมมามาก เมื่อจะต้องอยู่ใช้กรรม
ก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา
เมื่อพูดกับท่านมหาชมภูเสร็จ สมเด็จท่านก็มา มาย้ำว่า ที่ตั้ง และหีบต้องตั้งก่อนสิ้น พ.ศ. นี้
กราบทูลท่านว่าเงินไม่มี เขาให้ก็เอาไปซื้อยาบ้าง ซื้อปูน ซื้อวัตถุก่อสร้างหมด เหลือไม่ถึงร้อยบาท
ท่านบอกว่าไม่มีเงินซื้อก็ขอยืมหีบที่ซื้อมาเพื่อแจกตามวัดมาตั้งแทนก่อน แล้วข้าจะหาหีบมาไว้ให้ ดูท่านเป็นภาระทุกอย่าง
พอดีวันที่ 11 ยายสุวิมลมา มาบอกว่าจะให้ไม้สำเร็จรูปสร้างกุฏิวัด เสริมศรี ขอแกแต่ คาน ตง จันทัน ด้วยขอมากเกรงจะเกินศรัทธา
แกรู้ว่าจะสร้างเสริมอาคารสื่อสารเลยบอกให้ไม้อีกหลายสิบแผ่น และรับจะสร้างหีบไม้สักให้
เดิมแกถามว่าจะเอาหีบไม้อะไร เห็นที่อุทัยเขาทำด้วยไม้มะค่า ราคา 1500 บาท
บอกแกว่าจะเอาหีบไม้มะค่า
แกว่าไม่ดี ก็เลยตามใจแก
แกถามว่ารีบหรือเปล่า
บอกแกว่าไม่รีบ เพราะจะยืมหีบที่ซื้อไว้ตั้งโชว์ก่อน
สงสัยที่แกมา มาถึงกำลังฉันเพล พอมาถึงแกก็บอกว่าด่วน สอบถามแก แกบอกว่าอยู่ ๆ ก็อยากมาเฉย ๆ คงจะไปไล่เขามาแน่ หาทางเอาให้ได้
เป็นอันว่าเรื่องราวชนิดผิดปกติเกิดขึ้น ร่างกายเลยค่อย ๆ ปกติ เรื่องจะเป็นอย่างไรก็ช่าง ไม่อยากเอาเรื่องแล้ว
คืนต่อมา นายป่าช้า (พระยายม) เขาขึ้นมา เขาบอกว่าบัญชีอันธพาลไม่จดต่อไปเอาเรื่องไม่ได้ ต่อไปห้ามถามเขา
เขาว่าเขาฉีกทิ้งหมดแล้ว
เมื่อคืนวันที่ 11 แกมาดักที่ทางไปจุฬามณี แกบอกว่าหนังสือที่จะเขียนให้ชื่อว่า เมื่อข้าพเจ้าตาย
แล้วเล่าเรื่องตายใหญ่สามวาระให้ละเอียด จะเป็นหนังสือเล่มสุดท้าย ให้พยายามเขียน แกว่าจะมีประโยชน์
ก็เลยจะตัดสินใจเขียนหนาวนี้ เพราะฤดูร้อนเขียนยาก ฤดูหนาวเขียนง่าย คงนานหน่อย เวลาพิมพ์ต้องชำระหนังสือก่อน
เพราะเรื่องหนังสือทิ้งความสนใจมานาน เล่มคงไม่เล็กกว่าหนังสือคู่มือกรรมฐาน จะได้ (เขียน) เรื่องหลวงพ่อปานพร้อมกันไป
กรุณาบอกคณะคุณฉลวย (ฉลวย ปินินทรีย์ ศิษย์รุ่นเก่า) พรรษานี้เขียนหนังสือน้อย เพราะไม่ใครมีแรง
◄ll กลับสู่สารบัญ
84
3 พฤศจิกายน 2514
คณะญาติทั้งหลาย
หนังสือฉบับนี้ไม่ลงชื่อถึงใครเฉพาะ ก็เพราะอยากจะคุยกับทุก ๆ คนที่เป็นญาติ ใครบ้างที่เป็นญาติ? ทุกคนที่มาในงานกฐิน ไม่เห็นใครเป็นคนจรแปลกหน้ามาเลย
พอเห็นหน้าก็รู้ว่าทุกคนเป็นญาติทั้งหมด เลยเขียนถึงญาติทุกคนที่มาในงานกฐิน
งานกฐินคราวนี้มี เรื่องแปลก 2 เรื่อง คือ เรื่องเงินที่รับ พวกเราแพ้สมเด็จท่านอย่างไม่มีทางจะสู้
ความจริงถ้าเราสู้ท่านได้ เราก็เป็นพระพุทธเจ้าไปนานแล้ว หรือว่าเมื่อเราสู้ท่านไม่ได้ แต่คิดว่าสู้ได้หรือดีกว่าท่าน ก็คงมีหวังลงอเวจีอย่างท่านเทวทัต
เมื่อเห็นท่าไม่ดีก็ไม่คิดอะไรที่เป็นภัยเลยดีกว่ายอมจำนน และยอมรับนับถือท่านเลยจะดีกว่ากระมัง หรือใครจะเห็นอย่างไรจากนี้ก็ตามใจ
เรื่องที่สองก็คือมีชาวบ้านปลอมเข้ามาช่วยนายช่างโต๋ว (ช่างกลที่ช่วยงานวัด ภรรยาชื่อกิมกี
มีร้านอาหารในวัดท่าซุง) พวกนี้ไม่กินเปล่า แถมห่อไปบ้านอีกด้วย คนบ้านนี้มีดีพิเศษอย่างนี้เป็นปกติ ทุกปีกันไม่ให้เข้า ปีนี้พวกชาวบ้านยกกลองยาวมาช่วย
เลยได้โอกาสพากันกิน และขนออกสบายใจ เลยประกาศห้ามช่วยต่อไปแล้ว
เรื่องใหม่ เมื่อคืนวันที่ 2 กำลังคุมกรรมฐาน เมื่อใจสบาย หายเหนื่อยก็ออกเที่ยวตามปกติ แต่อาการไม่ใคร่ปกติ
เพราะยังมีอาการมึนงงทางประสาทด้วยเหนื่อยจัด เลยมีอารมณ์มืด ๆ ทึม ๆ ชอบกล เมื่อไปเฝ้าพระสามท่าน คือ ท่านปัจจุบัน ท่านพระพุทธกัสสป
และท่านปฐม ท่านเลยพาไปที่อยู่ ท่านชี้ชวนให้ชมที่อยู่ของตนเอง ให้เห็นว่าสวยสดงดงาม น่ารัก น่าดู ดูไปดูมา
ก็เลยถามท่านว่า เมื่อไรจะอนุญาตให้มาอยู่
ท่านปฐมบอกว่า รอก่อน ช่วยฉันก่อนคนกำลังจะเข้ามาอีก ยังห่วงเด็ก 2 คน ยังเด็กอยู่ ถ้าสงเคราะห์เด็กสองคนก็พอเห็นทางจะให้มาอยู่
ถามว่า สักกี่ปี ท่านว่าคงไม่เกิน 14 ปี ฟังอย่างนั้นเอง เมื่อขันธ์ 5 ใครจะไว้ใจได้ มันจะพังใครจะห้าม
เมื่อมันพังแล้วใครจะกล้าจับมันมาปะติดปะต่อกันให้เข้าเป็นรูปได้ ฟังได้ เชื่อท่านได้ แต่เชื่อขันธ์ 5 ไม่ได้ คิดว่าตายทุกวันสบายใจกว่า
เมื่อชี้ชมพอควร ก็เลยถือโอกาสถาม เรื่องผลปีหน้า
ท่านว่า กฐินปีหน้า 2515 มีผลได้สูงกว่าปีนี้
ท่านสั่งให้บอกทุก ๆ คน ว่า จงอย่าคิดว่ามีหนี้
ด้วยขณะนี้ หนี้ร้านค้าไม่มีหนี้ที่อื่นอีก นอกจากร้านค้าเหลือ 27,000 บ. (สองหมื่นเจ็ดพันบาท) ความจริงมันไม่ถ้วน ขาดร้อยบาทเศษ ๆ ตั้งใจจะเติมให้เต็ม
นนทาแกเลยเติมเสียเอง
ท่านว่า หนี้เท่านี้จงเลิกวิตกกังวล การวิตกกังวลทำให้สมาธิอ่อนกำลัง เรื่องผ้าป่าก็ไม่จำเป็นต้องคิด
เพราะหนี้เท่านี้ ทอดกฐินเลยหมดไหน ๆ ตกลงกับเจ้าหนี้แล้ว เขาบอกว่ารู้สึกเหมือนหลวงพ่อไม่ได้เป็นลูกหนี้ เขาว่าอย่างนั้น เขามั่นใจว่าต้องได้แน่นอน
เลยบอกเขาว่า ต้องรอกฐินปี 2515 เขาบอกว่าสุดแล้วแต่จะสะดวก
ท่านให้บอกว่า ไม่ต้องจัดผ้าป่า ถ้าคิดว่าจะจัดก็ให้จัดแบบสาธุกีฬา คือทำบุญแบบสบาย ได้เท่าไรเอาเท่านั้น
ไม่ต้องแจกการ์ดแจกฎีกากันมากมาย บอกกันตามพวกพ้อง ได้เท่าไรก็ช่าง ทำแบบสบายใจ
เรื่องงานก่อสร้างก็เหมือนกัน ท่านให้คิดว่า เสร็จงานแล้ว จะทำต่อไปก็ให้ทำแบบสาธุกีฬามีเท่าไร ทำเท่านั้น ไม่มีก็ไม่ต้องกังวล
วัดเสริม ศรีฯ สร้างกุฏิอีกหลัง ท่านให้ถือว่าเสร็จ เรื่องศาลาหรืออุโบสถถือว่าไม่สำคัญมีเจ้ามือก็ทำและร่วมกัน ไม่มีก็เฉย ๆ ไว้
ท่านบอกว่าเรื่องกุฏิก็อีกหลัง เมื่อรับกฐิน 2515 แล้ว ก็เสร็จเรียบร้อย จะกังวลทำไม นอนใจได้ ทำใจให้เหมือนไม่มีอะไร สมาธิจะได้ตั้งมั่น
คุยกันไปคุยกันมา ถามท่านว่า อาคารเสริมศรีที่จะสร้างใหม่ขอลดมุขหลังคาได้ไหม เอาเหมือนวัดเสริมศรี
ด้วยเพิ่มมุขเปลืองเงินไม่มีใครไปนอนบนมุข
ท่านนิ่งประเดี๋ยวหนึ่งแล้วก็บอกว่า ตามใจ ทรงย้ำถึงเงื่อนไขว่ามุขลดให้ แต่ลดอย่างอื่นไม่ได้
เมื่อลดมุขจะต้องทำโรงเลี้ยงอาหารให้ใหม่ โรงอาหารเดิมเป็นพุทธสถาน (ศาลาจงกรม) ทำพระท่านยุ่ง ให้เอาไม้ที่จะทำมุข จันทัน อาคารสื่อสาร ทอ.
เป็นไม้หนึ่งนิ้วครึ่งคูณสี่ เอาไปทำจันทันโรงอาหารใหม่ สังกะสีเอาไปมุงโรงอาหารใหม่ ซอแต่เสา ลงทุนไม่กี่พันบาท เลยตกลงกับท่าน
ลงทุนมีผลดีกว่าลงทุนแล้วไม่ได้ใช้ เสียดายเงินที่ลงทุนซื้อ
ท่านถามว่าอาคารเสริมศรี เรียนท่านว่ารับกฐินคราวนี้มีเงินส่วนตัวที่ใครต่อใครให้ไว้ 1 พันบาท กับอีกสามร้อยกว่า 1300 บาทเศษ จำเศษไม่ได้
นนทาถวายเพื่อรับกฐินอีก 2000 บาท ตัว แกเองจ่ายเท่าไรไม่ทราบ ท่านเจ้ากรมให้เมื่อจะกลับอีก 500 บาท จ.ส.ต.สง่า ถวาย 50 บาท เมื่อวันที่ 2
เอามาตรวจปรากฏว่าเหลือ 260 บาท ปีนี้เฮงไม่ติดลบ ทุกปีติดลบทุกปี
กราบเรียนท่านว่า เงินมี 200 บาทเศษ ๆ จะลงมือได้เมื่อไร
ท่านหัวเราะ ท่านพูดว่า ฉันไม่ได้เอาเงินแกมาสร้าง
ฉันถามว่า จะสร้างเมื่อไร
เลยถามท่านว่า เมื่อไรจะมีทุนสร้าง
ท่านยิ้มแล้วบอกว่า ข้าก็ไม่รู้เหมือนกัน ปี 2515 ถ้ากฐินได้ถึงสองแสน แกต้องสร้างของข้าให้เสร็จนะ
ถามท่านว่า เงินสองแสนต้องสร้างวัดเสริมศรี 1 หลัง สักแสนบาทพอได้
แต่หลังนี้กำหนดไว้หยุมหยิมเพิ่มเงินอีกเกือบแสนจะสร้างเสร็จได้อย่างไร ต่อไปไม่ยอมเป็นหนี้แล้ว คณะท่านผู้อุปการะย่ำแย่ไปตาม ๆ กันแล้ว
ท่านหัวเราะชอบใจ แล้วก็บอกว่า เออ ตามใจแกเอาอย่างนี้ก็แล้วกัน แกมีเงินถึงสามหมื่นแกต้องเริ่มสร้างนะ
เมื่อหมดเงินแค่ไหนหยุดแค่นั้น มีมาอีกสามหมื่นบาท แกทำต่อไป และทำตามกำลังเงินที่มีจนกว่าจะเสร็จทำได้ไหม?
ท่านหันมาถามเข้าอีก เรียนท่านว่า ทำได้
ท่านว่า อย่างนี้สบายใจ แกมีเงินไม่ถึงสามหมื่นแกก็นอนไปก่อนถึงสามหมื่นเมื่อไรก็สร้าง ถ้ามีเงินไม่ถึงสามหมื่น ไม่ต้องทำก่อน
ถามว่า จะเอาเงินที่ไหน
ท่านบอกว่า เป็นเรื่องของข้า แกนอนตามสบายใจแกไปก่อน
เมื่อเลิกกรรมฐานแล้ว นนทาบอกว่า มีคนเขาจะซื้อที่ดินที่ทัพทัน คำว่า ทัพทันเขาเขียนอย่างไรไม่เคยเห็น เลยเขียนแบบนักเรียน ป.1
แบบนี้อ่านง่ายดี มีที่อยู่ 2 ไร่ ถ้าขายได้จะออกทุนให้สามหมื่นเพื่อเริ่มงาน
แกไม่มีเงินสดกับเขา ปกติที่จ่ายก็แคะเงินแพข้ามฟาก เห็นใจในศรัทธาของแก พอนนทาแกบอก
ตอนนอน ท่านมาหา พูดว่า เห็นไหมเล่า ข้าหาปั๊บเดียวเดี๋ยวก็สามหมื่น
บอกท่านว่า ช่วยเขาขายที่หรืออย่างไร
ท่านบอกว่า ช่วย แต่จะขายได้เท่าไร ข้าก็ยังไม่รู้เลย ถ้าขายได้น้อยมันคงให้น้อย ขายได้มาก มันคงให้เต็มสามหมื่น
บอกท่านว่า ที่ทัพทันเป็นบ้านดอนที่ราคาไม่สูง
ท่านว่า จะลองปิดตาคนซื้อดู ถ้าปิดได้เอาเลยสามหมื่นสักหน่อย พอให้เจ้าของมันได้ใช้บ้างเราเอาสามหมื่น
เรื่องอย่างนี้มันก็แปลกดี เป็นอันว่าจดหมายฉบับนี้ไม่มีอะไรมากหรือไม่มีอะไรเป็นประโยชน์กว่าการเล่านิทาน ด้วยเรื่องที่เขียนมา
อ่านแล้วเป็นเรื่องของนิทานมากกว่าเรื่องจริง แต่ถ้าหวนคิดถึงเงินคราวผ้าป่า และกฐินคราวนี้ จะว่านิทานไร้ประโยชน์ก็ดูเหมือนจะไม่แน่นักเหมือนกัน
เขียนมายาว ขอจบเรื่องไม่เป็นเรื่องไว้เพียงเท่านี้ วันหน้าพอมีแรงอาจจะคุยมาใหม่
ก่อนจบเกือบลืมบอกเงินที่รับทั้งสิ้น ด้วยประสาทยังมึนอยู่ ยอดรับทั้งสิ้น 122,897 บาท หนี้ 149,897 บาท คงมีหนี้อีก 27,000 บาท พนาโชค 17,000 บาท
ร้านลิ้มง่วนเชียง 10,000 บาท
◄ll กลับสู่สารบัญ
webmaster - 17/8/11 at 13:45
85
20 พฤศจิกายน 2514
วันนี้มีแรงดี พอที่จะเขียนหนังสือรบกวนชาวบ้านได้ ก็เลยนึกถึงท่านเจ้ากรมก่อนใครอื่น ด้วยตั้งใจจะเขียนมาหลายวันแล้ว
ร่างกายมันไม่อำนวยก็เลยพักเขียนเพราะเขียนไม่ไหว พอจะเขียนก็พอดีมีข่าวปฏิวัติ ก็เลยมีเรื่องเขียน เรื่องที่จะเขียนก็คือ