Not logged in [Login - Register]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites ตั้งหัวข้อใหม่
[*] posted on 11/5/11 at 15:05 [ QUOTE ]

"โทษละเมิดพระวินัย" โดย หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (ตอนที่ 12 [จบ] )




โทษละเมิดพระวินัย
แผ่นที่ ๔

โดย...พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)


(ฉบับอินเทอร์เน็ต : จัดพิมพ์โดย..คุณทวีทรัพย์ ศรีขวัญ )
(ลิขสิทธิ์เป็นของ "วัดท่าซุง")


เนื้อหาของสารบัญ

7.
(แผ่น ๔ หน้า A )
วรรคที่สาม ปัตตวรรคว่าด้วยเรื่องบาตร(ต่อ)
อาบัติปาจิตตีย์
มุสาวาทวรรค วรรคที่ ๑
ภูตคามวรรค วรรคที่ ๒
8. (แผ่น ๔ หน้า B )
โอวาทวรรค วรรคที่ ๓
โภชนวรรค วรรคที่ ๔
อเจลกวรรค วรรคที่ ๕
9. (แผ่น ๕ หน้า A )
อเจลกวรรค วรรคที่ ๕ (ต่อ)
สุราปานวรรค วรรคที่ ๖
สัปปาณกวรรค วรรคที่ ๗
สหธรรมิกวรรค วรรคที่ ที่ ๘
ทรงความเป็นพรหมจรรย์
10. (แผ่น ๕ หน้า B )
สหธรรมิกวรรค วรรคที่ ๘
รัตนวรรค วรรคที่ ๙
ปาฎิเทสนียะ มี ๔ สิกขาบท
เสขิยวัตร จัดเป็น ๔ หมวด
สารูป มี ๒๖ สิกขาบท
11. (แผ่น ๖ หน้า A )
สารูป มี ๒๖ สิกขาบท(ต่อ)
โภชนปฏิสังยุต มี ๓๐ สิกขาบท
ธัมมเทสนาปฎิสังยุต หมวดที่ ๓ มี ๑๖ สิกขาบท
ปกิณกะ มี ๓ สิกขาบท
อธิกรณ์ มี ๔ อย่าง
อธิกรณสมถะ มี ๗ อย่าง
ประเพณีการบวช
บวชเพื่อพระนิพพาน
12. (แผ่น ๖ หน้า B )
จรณะ ๑๕
บารมี ๑๐
นิพพานเขามีบันไดอยู่สิบขั้น
ตัดตัวสักกายทิฎฐิ



7

โทษละเมิดพระวินัย แผ่นที่ ๔ ตอนที่ ๑


สำหรับต่อไปนี้ โปรดฟังพระวินัยบัญญัติ แต่ก่อนจะฟังพระวินัยบัญญัติ เตือนกันไว้เสมอดีไหมว่า นิพพานัสสะ สัจฉิกิริยายะ เอตัง กาสาวัง คเหตวา ซึ่งแปลเป็นใจความว่า ข้าพเจ้าขอรับผ้ากาสาวพัตร์เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน เป็นอันว่าเราบวชมา เพื่อปรารถนาพระนิพพาน ก็ทำเพื่อพระนิพพาน การปฏิบัติเพื่อพระนิพพานคือ

๑. มีจรณะ ๑๕ ครบถ้วน
๒. มีบารมี ๑๐ ครบถ้วน
๓. มีพรหมวิหาร ๔
๔. ละอคติ ๔
๕. ปราบนิวรณ์ ๕ ประการ
๖. มีอิทธิบาท ๔ เป็นกำลังใจสนับสนุน


เป็นอันว่าสิ่งทั้ง ๖ ประการนี้จะเว้นไม่ได้ ต้องมีครบอยู่เสมอ วันทั้งวัน ภาวนา พิจารณาไว้เสมอ เพื่อความอยู่รอดของเรา ถ้าไม่พิจารณา ไม่ภาวนา ก็แสดงว่าเราอยู่ไม่รอด จะต้องลงอเวจี อย่างท่านกบิล อย่างเช่นกบิลภิกขุ หรือพระกบิล หรือว่าบรรดาเปรตของภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร สามเณรี เป็นต้น

เป็นอันว่ารักษาตัวรอดเป็นยอดดีไว้ก่อน ไหน ๆ จะบวชเข้ามา ขอให้เป็นนักบวช เมื่อบวชเข้ามาแล้ว อย่าให้กลายเป็น อุปสมชีวิกา ผู้อาศัยพระศาสนาหากิน ทำลายพระศาสนา ไม่เป็นการสมควร

วรรคที่สาม ปัตตวรรคว่าด้วยเรื่องบาตร(ต่อ)

สิกขาบทต่อไปที่ค้างไว้ในปัตตวรรค คือ
สิกขาบทที่ ๖ ภิกษุขอด้ายกับคฤหัสถ์ที่ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ปวารณา เอามาให้ช่างทอหูกเป็นจีวร ทอเป็นจีวร ต้องนิสสัคคียปาจิตตีย์ เวลานี้จะไปขอเขาทำไหมล่ะ จีวรมีขายเยอะ ผมขอผ่านไป

สิกขาบทที่ ๗ คฤหัสถ์ที่ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ปวารณา สั่งให้ช่างหูก ทอจีวรเพื่อถวายแก่พระภิกษุ ถ้าภิกษุไปกำหนดให้เขาทำให้ดีขึ้นด้วย หมายความว่า ให้ทำดีกว่าที่เขาสั่งไว้ ด้วยแจ้งเขาว่า ถ้าทำดี ๆ จะให้รางวัลแก่เธอ ต้องอาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์

เวลานี้ก็ไม่มีแล้วนี่ขอรับ จะไปจ้างให้เขาตัด ทอก็ทอ นี่เขาบอกว่า สั่งช่างทอหูก เวลานี้ ถ้าญาติโยมบอกจะไปซื้อจีวรผ้า และบอกช่างบอกนี่ ทำจีวรแพรแล้วกันนะ อันนี้ขอผ่าน ก็สงเคราะห์ในสิกขาบทนี้ นิสสัคคีย์ ของต้องทิ้งไป ปาจิตตีย์ จิตเป็นบาป ตัวก็ตกนรก สิกขาบททุกสิกขาบทละเมิด ลงนรกทั้งหมดนะขอรับ

สิกขาบทที่ ๘ ถ้าอีกสิบวันจะถึงวันปวารณา คือวันออกพรรษา คือตั้งแต่ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๑๑ ถ้าทายกรีบถวายผ้าจำนำพรรษา ก็รับไว้ได้ แต่ถ้ายังไม่ถึงขึ้น ๖ ค่ำ ล่วงล้ำเกินกำหนดเข้ามา ต้องอาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์

เวลานี้ผมก็ว่า ไม่มีใครเขาทำล่ะมั้ง ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าถึงวันออกพรรษา เขาก็มาถวายกัน ไอ้วันปวารณา คือมอบตัวซึ่งกันและกัน ให้ตักเตือนกันได้ ในวันออกพรรษา อันนี้ก็อย่าทะเยอทะยานไป ใครจะมาให้อะไรก็บอกว่า มันยังไม่ถึงขึ้น ๖ ค่ำนะโยม ให้ถึงขึ้น ๖ ค่ำเสียก่อน ค่อยถวายผ้าจำนำพรรษา นี่อาจจะมีเหมือนกัน

ว่าคนบางคนบางที เขาคิดว่า จะรีบไปกิจธุระที่อื่น ก็อยากจะถวายผ้าเสียก่อน และต้องรอถึงกำหนดนั้น ถ้าบอกว่าเขารอไม่ได้ ให้ฝากใครไว้ก่อน ถึงวันนั้นค่อยมาให้ อย่างนี้พอใช้ได้ กาลจีวร นั้นมีดังนี้

ผ้าจำพรรษาแล้วไม่ได้กรานกฐิน รับตั้งแต่ปวารณาไปหนึ่งเดือน คือตั้งแต่แรมค่ำ ๑ เดือน ๑๑ ถึงกลางเดือน ๑๒ ถ้าวันกรานกฐินนับตั้งแต่วันปวารณาไปอีกห้าเดือน คือ ตั้งแต่แรมค่ำ ๑ เดือน ๑๑ ถึงกลางเดือน ๔

เพราะว่าสมัยนั้นต้องหาจีวรกัน หาผ้ากัน เวลานี้ไม่ต้องหา ผมว่าสิกขาบทนี้ถ้าพระอะไรเป็นล่ะก็ มันก็ไม่ใช่พระแล้ว เลวเต็มที ผ้าผ่อนหายาก ทุกสิกขาบทน่ะขอรับ จะต้องรับฟังปฏิบัติอยู่เสมอ รู้หรือไม่รู้ก็เป็น พระนี่ลำบาก ถ้าอาบัตินิดเดียวเราก็ลงนรก ยิ่งกว่าชาวบ้านเขา

ตัวอย่างมีอยู่แล้วนะขอรับ เพราะว่าเขาสอนกันจริง ๆ อาบัติเล็กน้อย ๆ มันเล็กที่ไหน ปาจิตตีย์ดันไปอเวจี อย่างท่านกบิลภิกขุ กบิลภิกขุหรือสุวรรณมัจฉาปลาทอง มันเป็นอาบัติปาจิตตีย์นะขอรับ ด่าๆ พระ และแม่กับน้องสาวของท่านกบิลภิกขุ ช่วยกันด่าพระก็ลงอเวจีเหมือนกัน เห็นไหมว่าเราลงอเวจีกันง่าย อย่าทะนงตนว่าเราเป็นพระ ดีกว่าชาวบ้านนะขอรับ

สิกขาบทที่ ๙ ภิกษุจำพรรษาในเสนาสนะป่า ซึ่งเป็นที่เปลี่ยว ออกพรรษาแล้ว อยากเก็บผ้าไตรจีวร ผืนใดผืนหนึ่งไว้ในบ้าน เมื่อมีเหตุก็เก็บไว้ได้หกคืนเป็นอย่างยิ่ง ถ้าเก็บไว้เกินหกคืนไป ต้องนิสสัคคียปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ได้สมมุติ

คำว่าได้สมมุติ ผมหมายถึงว่า พระที่ป่วยไข้ไม่สบาย การเก็บไว้ในบ้านมันลำบาก บางทีชาวบ้านเขาไปทำอะไรเสีย เราเอามาคืนไม่ได้ เกิดโทโส โมโห ไอ้ตัวโทโส โมโห น่ะมันเป็นกิเลส อย่างไง ๆ ก็อย่าฝากไว้เลย เก็บไว้เองดีกว่า

สิกขาบทที่ ๑๐ ภิกษุรู้อยู่ น้อมลาภที่เขาจะถวายสงฆ์มาเพื่อตน ต้องนิสสัคคียปาจิตตีย์ ไอ้นี่เพื่อสงฆ์แล้วก็ลงอเวจีแบบอย่างสบาย อย่าลืมนะขอรับ สิกขาบทนี้ลงอเวจีได้อย่างแน่นอน เขาจะถวายเป็นส่วนกลาง บอกเขาว่าถวายฉันดีกว่า ได้บุญมากกว่า เว้นไว้แต่ว่าเขาตั้งใจมาถวายเรา อีกเรื่องหนึ่ง สำหรับนิสสัคคียปาจิตตีย์ก็หมดไป

มาพูดถึง ปาจิตตีย์ ปาจิตตีย์แปลว่า จิตเป็นบาป นิสสัคคีย์ แปลว่า ของเสีย ได้มาต้องโยนทิ้งไป ตัวเป็นปาจิตตีย์

อาบัติปาจิตตีย์


นี่สำหรับปาจิตตีย์ไม่เนื่องด้วยของ เป็นปาจิตตีย์ชัด เป็นการปฏิบัติ
ท่านบอกว่ามี ๙๒ สิกขาบท แบ่งเป็นวรรค

มุสาวาทวรรค วรรคที่ ๑ มี ๑๐ สิกขาบท

สิกขาบทที่ ๑ ภิกษุพูดปด ต้องอาบัติปาจิตตีย์ การพูดปดนี่ศีล ๕ ยังไม่ครบ แล้วศีล ๒๒๗ มันจะมีได้อย่างไร ถ้าพูดปดมันก็เป็นอาบัติปาจิตตีย์ ก็ลงอเวจีล่ะซิ ถ้าลงพูดปดล่ะก็ ผมไม่ถือว่าเป็นพระแล้ว ฆราวาสเขามีศีล ๕ แล้วพูดปดเขาก็ขาดศีล ถ้าเรามีศีล ๒๒๗ ไปพูดปด ก็แสดงว่าศีล ๕ เรามีไม่ครบ เราก็ไม่มีศีล ๒๒๗ อย่างนี้นอนในอเวจีสบายน่ะครับ

สิกขาบททที่ ๒ ภิกษุด่าพระภิกษุ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เช่นเดียวกับท่านกบิลภิกขุ เห็นไหม ด่าต้องลงอเวจี แล้วจะด่าทำไม

สิกขาบททที่ ๓ ภิกษุส่อเสียดภิกษุ ต้องปาจิตตีย์ส่อเสียดกับด่า มันก็มีโทษเหมือนกัน ทำให้เขาแตกกัน ทำให้เกิดความไม่สบายกายไม่สบายใจ การยุให้รำ ตำให้รั่ว ให้เขาแตกความสามัคคีกัน นี่เป็นอาบัติปาจิตตีย์ ลงเอวจีน่ะขอรับ

สิกขาบทที่ ๔ ห้ามกล่าวธรรมกับผู้ที่ไม่ได้บวช ในขณะสอนห้ามกล่าวธรรมพร้อมกัน

สิกขาบทที่ ๕ ภิกษุนอนในที่มุง ที่บัง อันเดียวกับอนุสัมปัน เกินสามคืนขึ้นไป ต้องปาจิตตีย์ ที่มุงที่บัง อันเดียวกัน หมายความว่าหลังคาเดียวกัน ห้องเดียวกันน่ะขอรับ ตีความหมายของเขาให้ดี ไม่ใช่อยู่อาคารเดียวกัน อาคารหลังเดียวกัน ถ้ามีฝาล้อมรอบ ไม่เป็นห้อง ก็ถือว่ามีที่มุงที่บังอันเดียวกัน

ถ้าอาคารนั้นเป็นห้อง ๆ นอนคนละห้อง ยังไม่ถือว่าเป็นการนอนร่วม คำว่า อนุปสัมบัน ก็ได้แก่ สามเณรเด็ก หรือฆราวาส ถ้านอนกันคนละห้อง กี่แสนคืน ก็นอนกันไปเถอะขอรับ

สิกขาบทที่ ๖ ภิกษุนอนในที่มุงอันเดียวกันกับผู้หญิง ขอโทษ ภิกษุนอนที่มุง ที่บัง อันเดียวกันกับผู้หญิง แม้แต่คืนแรก ก็เป็นปาจิตตีย์ อย่าลืมว่า ที่มุง ที่บังอันเดียวกัน หมายถึงห้องเดียวกัน ถ้าคนละห้อง มันก็ไม่ต้องอาบัติตามสิกขาบทนี้ การตีความหมาย ก็ตีความหมายให้ถูกต้องนะขอรับ

ตามพระวินัย เราปฏิบัติเคร่ง แต่อย่าให้เครียด อ่านของท่านให้ชัด ที่มุง ที่บัง อันเดียวกัน มุงด้วย และก็บังดัวย ถ้าคนละห้อง มุงอันเดียวกัน แต่บังคนละบัง อยู่กันคนละห้อง ไม่เป็นอาบัติตามนี้

สิกขาบทที่ ๗ ภิกษุแสดงธรรมแก่ผู้หญิงเกินกว่าหกคำขึ้นไป ต้องปาจิตตีย์ หมายความว่า แสดงธรรมเฉพาะ แก่ผู้หญิง แต่ความจริงจะไปนั่งแสดงอะไรกันล่ะ ตามเฉพาะกับผู้หญิง แต่ว่าตามท่านก็แล้วกัน ท่านเว้นไว้อย่างไร

ท่านเว้นไว้แต่ บุรุษผู้รู้เดียงสาอยู่ด้วย หมายความว่า ในกลุ่มนั้นนะ มีแต่ผู้หญิงเฉพาะ ถ้ามีผู้ชายที่รู้เดียงสาอยู่ด้วย ไม่เป็นไร รู้เดียงสา นี่เจ็ดขวบก็รู้แล้วนี่ สิบสองขวบก็รู้แล้ว

สิกขาบทที่ ๘ ภิกษุอวดอุตริมนุสธรรมที่มีจริง แก่อนุปสัมบัน ต้องปาจิตตีย์ หมายความว่า เราได้ฌานสมาบัติ เราได้เป็นพระโสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ มีจริงได้จริงแต่บอกกับเขา ต้องเป็นอาบัติปาจิตตีย์ แต่ผมว่ามีจริงนี่ ปรับไม่ได้แล้ว เพราะเปิดเข้านิพพานไปแล้ว แต่ได้ฌานสมาบัตินี่ยังไม่แน่นะขอรับ

ถ้าอรหันต์ล่ะก็ไม่มีทาง แต่โดยมากพระอรหันต์ ท่านจะไม่ค่อยบอกว่าตัวเขาเป็นอรหันต์ จะชี้โบ้ชี้เบ้ ถามตรง ๆ เข้าก็จะป้ายส่งเดช ไอ้เรื่องนี้ผมก็จะขอประกาศให้ทราบไว้ว่า มีข่าวลือ ที่ผมเขียนในหนังสือฤาษีทัศนาจร ผมเขียนว่า ท่านพระองค์นั้นเป็นสุปฏิปันโน องค์นี้เป็นสุปฏิปันโน

ไอ้คำว่า สุปฏิปันโน หมายถึง ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ไม่ได้ตีความหมายว่าเป็นพระอรหันต์ แต่มีคนมากท่านด้วยกัน ไปตีความหมายว่า ผมพยากรณ์ว่า พระองค์นั้นท่านเป็นอรหันต์ แต่ว่าพระที่ผมว่าท่านเป็นสุปฏิปันโน ท่านบอกว่า ท่านไม่ได้เป็น ก็หมายความว่า ท่านบวชไม่เป็นพระ สุปฏิปันโน ก็หมายถึงว่า ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย มีส่วนดีมากกว่าส่วนเสีย

อย่างมีศีลบริสุทธิ์ ก็เป็นสุปฏิปันโน ได้ฌานสมาบัติก็เป็นสุปฏิปันโน เป็นพระอริยเจ้าก็เป็นสุปฏิปันโน คือปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ผมไม่ได้เจาะจงลงไปว่า พระองค์ไหนเป็นพระอรหันต์ แต่ข่าวลือสะพัด หาว่าผมไปหลอกลวงบ้าง อะไรบ้าง ถ้าผมหลอกลวง ผมควรหลอกลวงว่า ผมเป็นอรหันต์ดีกว่า การที่ผมไปยกย่องส่งเสริมพระผู้นั้น ทำให้พระผู้นั้น มีลาภสักการะ

วัดวาสวยงามขึ้นมามาก วัด ๆ หนึ่งได้เงินจากที่ผมประกาศไปแล้วว่า ท่านเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ รับจำนวนเงินเป็นเรือนแสน แต่ละวัด วัดหนึ่งไม่ใช่ได้แสนเดียว รับกันเป็นหลาย ๆ แสน มีคนไปทำบุญสุนทาน แต่กลับมีข่าวย้อนหลังมาว่า ผมไปหลอกลวง ผมไปสนับสนุนท่าน เห็นว่าท่านปฏิบัติดีส่วนใดส่วนหนึ่ง ผมก็ยกย่องสรรเสริญ

แต่ท่านจะเป็นพระอริยเจ้า ถึงขั้น โสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ หรือไม่ อันนั้นผมไม่ได้บอก ผมก็ไม่มีสิทธิ์บอก เพราะผมจะไปนั่งรู้ได้อย่างไร ท่านไม่บอก ผมก็ตีความหมายว่า ท่านปฏิบัติดี ตามที่ผมเห็นว่าไม่ผิดระเบียบวินัย หรือที่เรียกว่า สุปฏิปันโน แล้วก็กลับมาโฆษณากันเล่นโก้ ๆ นี่มันก็ดีเหมือนกันนะขอรับ

ดีเหมือนกัน ผมน่ะไม่สะเทือน แต่ผมสงสารท่านพวกนั้น เพราะการกล่าวแบบนั้น รู้สึกว่า ท่านจะพลาดวินัยเป็นอย่างหนัก นี่อาจจะไม่ใช่ตัวพระที่ถูก ที่ผมยกย่องท่านผมกล่าว แต่เป็นคนอื่นกล่าว ผมสงสารท่านว่าจะไปอยู่กับท่านกบิลภิกขุ หรือว่ามารดาหรือน้องสาวของท่านกบิลภิกขุ อย่างไง ๆ ท่านผู้นั้น ท่านก็ไปอยู่แน่นะขอรับ ก็ไม่ต้องเป็นห่วง

อย่าลืมว่า คำว่า สุปฏิปันโน เขาปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ตามวินัย ตามธรรมพอสมควร เราก็เชื่อว่าปฏิบัติ ก็ความดีมันมีหลายขั้น มีศีลบริสุทธิ์ ก็ดีอย่างคนที่มีศีลบริสุทธิ์ ที่เรียกว่า สาธุชน หรือสาธุภิกขุ ถ้ามีฌานสมาบัติ ก็เรียกกัลยาณชน กัลยาณภิกขุ ถ้าละสังโยชน์ได้ ก็เรียกอริยชน หรือว่า อริยภิกขุ เป็นพระอริยเจ้า มันก็มีกันหลายขั้น

คำว่า เขาทำดี จะไปว่าเขาทำชั่วได้อย่างไร อันนี้ผมไม่ได้เดือดร้อน แต่ผมสงสารท่านพวกนั้น ว่าท่านต้องไปนอนในอเวจีเสียเปล่า ๆ ไอ้ที่ผมพูดอย่างนี้ ถ้าหากจะถามว่าผมมั่นใจอะไร ผมบอกว่า ผมมั่นใจได้ เพราะตั้งแต่เด็ก ๆ มา ผมรู้จักนรกแล้ว การรู้จักนรกไม่ใช่เป็นของใหญ่ ของโต ผมเล่าให้ฟังเมื่อผมเป็นเด็ก ถ้าผมโตมาจนป่านนี้ ผมไม่รู้จัก ก็แปลก นี่ผมกล้ายัน กล้ายันว่าท่านผู้นั้นมีบัญชีในเขตนี้แน่นอน

สิกขาบทที่ ๙ ภิกษุบอกอาบัติชั่วหยาบ ของภิกษุอื่น แก่อนุปสัมบัน ต้องปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่สงฆ์มอบหมายได้สมมุติ คือหมายความว่า อาบัติชั่วหยาบของพระ อย่างอาบัติปาราชิก อาบัติสังฆาทิเสส ถ้าไปบอกแก่อนุปสัมบันว่า พระองค์นั้นน่ะ อาบัติปาราชิกนะ พระองค์นั้นเป็นอาบัติสังฆาทิเสสนะ อย่าคบหาสมาคม อย่างนี้ท่านปรับเป็นโทษ

เพราะว่าสงฆ์ยังไม่ได้จัดแจงชำระสะสาง เพราะการกล่าวหานี่มันไม่แน่นอนนัก บางทีคนไม่ชอบกัน ก็แกล้งกล่าวหากันส่งเดช อย่างนี้ก็มีถมไป แม้แต่ตัวผมเอง ก็โดนมาแล้วนับเป็นสิบ ๆ ครั้ง ผมก็ไม่ได้สะทกสะเทือนอะไร เพราะถือว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา คนเกิดมาในโลกไม่ถูกนินทาไม่มี แม้แต่องค์สมเด็จพระชินสีห์ คือพระพุทธเจ้า ดีกว่าผมตั้งเยอะ ท่านก็ถูกนินทาว่าร้าย ถูกคนเขาจ้างด่า ท่านก็ไม่ว่าอะไร ผมเป็นลูกของท่าน ผมก็เลยไม่ว่ามั่ง จะเป็นยังไง

สิกขาบทที่ ๑๐ ภิกษุขุดเองก็ดี ใช้ให้บุคคลอื่นขุดก็ดี ซึ่งแผ่นดิน ต้องปาจิตตีย์ ข้อนี้ผมถือว่าถ้าขุดเล่นๆ อย่าทำเลยครับ ถ้าขุดเพื่อทำประโยชน์ สร้างวัด สร้างวา ปลูกต้นไม้ ทำไปได้เลย อย่าไปหาทางเลี่ยง ให้วัดมันรกเลย ทำได้เลยครับ เพื่อเป็นประโยชน์ ถ้ามันจะมีโทษ เพื่อลงนรก ผมจะลงร่วมกับท่าน เพราะว่าผมเป็นคนสนับสนุนท่าน

แต่ว่าถ้าขุดเล่น ๆ อย่าขุดนะขอรับ ขุดเพื่อทำประโยชน์แก่วัด ทำไปเถอะ และขุดทำเป็นประโยชน์ แก่สาธารณประโยชน์ ก็ทำไปเลย เพราะโทษอันนี้มีไม่มาก พระพุทธเจ้าสอน แนะนำให้เว้น ตามความเข้าใจของชาวบ้านในสายนั้น เท่านั้น เวลานั้นเขาถือว่าต้นไม้มีชีวิต แผ่นดินมีชีวิต

พระพุทธเจ้าก็เกรงว่า ถ้าชาวบ้านเขารังเกียจ พระก็จะเกิดไม่มีข้าวจะฉัน การปฏิบัติสมณธรรมไม่มีผล พระพุทธเจ้าไม่ได้กลัวอดข้าว กลัวพระไม่ได้บรรลุมรรคผล ก็เลยเอาใจคน บัญญัติสิกขาบทข้อนี้เข้ามา

ต่อไปอีกวรรคหนึ่ง ก็เป็นภูตคามวรรค วรรคที่ ๒ มีสิบสิกขาบท

สิกขาบทที่ ๑ภิกษุพรากของเขียว ซึ่งเกิดอยู่กับที่ให้หลุดจากที่ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ พรากของเขียว อย่างต้นหญ้า เป็นต้น หรือใบไม้ เป็นต้น ให้หลุดลงมา ดึงใบไม้ให้หลุด ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ถ้าดายหญ้าเพื่อทำความสะอาดของวัด นิมนต์ทำได้เลยนะขอรับ

เพราะว่าที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสอย่างนั้น ตรัสตามใจชาวบ้านเขา เขาถือว่าต้นไม้ และต้นหญ้ามีชีวิต ไปทำเข้า ก็ทำให้ต้นไม้ ต้นหญ้า มีความเจ็บปวด มีทุกขเวทนา แต่ว่าพระพุทธเจ้าทราบดีว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ไม่มีชีวิต ก็ต้องเอาใจชาวบ้านหน่อย มันเป็นโลกวัชชะ

แต่ถ้าหากเห็นว่าหญ้ารกวัด ทำได้เลย ถ้าท่านตกนรก ผมก็ไปด้วยกัน เราเป็นคณะเดียวกัน อย่าปล่อยให้วัดรกนะขอรับ มันจะมีโทษหนัก หรือว่าจะมีความเดือดร้อน ชาวบ้านเขาจะด่าเอา เขาจะหาว่ากินอ้วน แล้วไม่ทำงาน ปล่อยให้วัดรก ตอนนี้จิตใจเราจะไม่สบาย

สิกขาบทที่ ๒ ภิกษุประพฤติอนาจาร สงฆ์เรียกตัวมาถาม แกล้งพูดกลบเกลื่อนก็ดี นิ่งเสียไม่พูดก็ดี สงฆ์สวดประกาศความข้อความนั่นจบต้องปาจิตตีย์ คำว่าประกาศ ก็หมายความว่าสอบสวนเสร็จ แกล้งพูดเถลไถล กลบเกลื่อน นิ่งไม่ยอมพูด นี่ไอ้ตัวที่ประพฤติอนาจารก็เป็นโทษอยู่แล้ว ไอ้ตอนนิ่งไม่ยอมพูด พูดกลบเกลื่อนก็เป็นปาจิตตีย์ ตัวนี้อารมณ์ดิ่งลงนรกแน่ครับ เพราะใจชั่ว

สิกขาบทที่ ๓ ภิกษุติเตียนภิกษุอื่น ที่สงฆ์สมมุติให้เป็นผู้ทำการสงฆ์ ทำการสงฆ์ หมายถึง มอบหมายการงานหน้าที่เฉพาะกิจใดกิจหนึ่ง หรือดูแลทั่วๆ ไป เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส เป็นผู้ช่วยเจ้าคณะ ถ้าเธอทำโดยชอบ ติเตียนต่าง ๆ ต้องปาจิตตีย์

หมายความว่า เขาทำถูกตามระเบียบวินัย แต่มันไม่ถูกใจเรา เราชอบละเมิดระเบียบวินัย เขาว่ากล่าวตักเตือน ไปติเตียนเขาเข้า เป็นอาบัติปาจิตตีย์ ก็ไปนรก จิตมันบาป จิตมันเลว เราทำผิดนี่ ทำผิดก็ยังไม่พอ เขาเตือนก็ไม่ยอมรับ ยังไปว่าเขาอีก มันก็ผิดหนักเข้าไปอีก มันก็ชั่วหนักเข้าไปอีก

สิกขาบทที่ ๔ ภิกษุเอาเตียง ตั่ง ฟูกเก้าอี้ของสงฆ์ ไปตั้งในที่แจ้งแล้ว เมื่อหลีกไปจากที่นั้น ไม่เก็บของเองก็ดี ไม่ใช้ผู้อื่นเก็บก็ดี ไม่มอบหมายแก่ผู้อื่นก็ดี ต้องปาจิตตีย์ อันนี้รู้แล้วว่าของสงฆ์ ผมเคยเห็น นี่ก็หายไปแล้ว บางทีของสงฆ์ ไอ้เตียงตั่ง ผมก็สงเคราะห์เอาวัตถุอื่น เข้าไปด้วย

ถ้าตั้งไว้อย่างนั้น มันเสียหาย ก็ต้องช่วยกันเก็บ ไปใช้คนอื่นเก็บ ตามคำอธิบายวินัยข้อนี้ ท่านบอกว่า ภิกษุทุกองค์ที่เดินหลีกไป เห็นของสงฆ์จะเสียหาย ถ้าไม่เก็บปรับอาบัติทุกองค์ นี่เป็นอันว่า จรณะ ๑๕ ของเราไม่ครบ และบารมี ๑๐ ไม่ครบ อิทธิบาท ๔ ไม่มี พรหมวิหาร ๔ ไม่มี อคติ ๔ ไม่ได้ละ นิวรณ์ ๕ ไม่ได้ละ จิตจึงเป็นอย่างนั้น ถ้าจิตเป็นอย่างนั้น เราก็ไปนอนในอเวจีสบาย

สิกขาบทที่ ๕ ภิกษุเอาที่นอนของสงฆ์ไปปูในกุฎีสงฆ์แล้ว เมื่อหลีกไปจากนั้น ไม่เก็บเองก็ดี ไม่ใช้บุคคลอื่นเก็บก็ดี ไม่มอบหมายให้ภิกษุอื่นก็ดี ต้องปาจิตตีย์ อันนี้ต้องเก็บสิขอรับ เพื่อความมรรยาทที่ดี ปาจิตตีย์ ของสงฆ์น่ะแตะนิดเดียว อเวจีนะขอรับ อย่าทำ

สิกขาบทที่ ๖ ภิกษุรู้อยู่ว่า กุฎีนี้มีผู้อยู่ก่อน แกล้งเข้าไปนอนเบียด ด้วยหวังจะให้ผู้อยู่ก่อน คับแคบใจเข้า จะหลีกไปเอง ต้องปาจิตตีย์ นี่ก็ไม่ยาก เข้าไปนอนให้มันคับแคบเล่นโก้ ๆ เขาจะได้หนีไป เพื่อความอยู่เป็นสุขของตน อันนี้ก็ลงนรกสบาย

สิกขาบทที่ ๗ ภิกษุโกรธเคืองภิกษุอื่น ฉุดคร่าให้ออกจากกุฎีสงฆ์ ต้องปาจิตตีย์ ไอ้ตัวโกรธมันก็บาป ลงนรกอยู่แล้ว ทำอย่างนั้นก็ลงใหญ่ ของง่าย ๆ ไม่ต้องอธิบาย

สิกขาบทที่ ๘ ภิกษุนั่งทับก็ดี นอนทับก็ดี บนเตียงก็ดี บนตั่งก็ดี อันมีเท้าไม่ได้ตรึงให้แน่น ซึ่งเขาวางไว้บนนั่งร้าน ที่เขาเก็บของในกุฎีสงฆ์ ต้องปาจิตตีย์ ของที่มันไม่แน่น นั่งมันจะพังนะ ขืนไปนั่ง ก็เป็นการทำลายของสงฆ์ ๆ ก็ลงนรก ของสงฆ์ไปอเวจีสบาย ไป ตามท่านกบิลภิกขุไป ไปตามสบาย ๆ

สิกขาบทที่ ๙ ภิกษุเอาดินหรือปูน โบกหลังกุฏิ หลังคากุฎี โบกได้แค่เพียงสามชั้น โบกเกินกว่านั้น ต้องปาจิตตีย์ โบกเกินกว่านั้น มันหนักมาก มันจะลงมาทับตาย อย่าทำเลยนะครับ เวลานี้ไม่มี

สิกขาบทที่ ๑๐ ภิกษุรู้อยู่ว่า น้ำมีตัวสัตว์ เอาไปรดหญ้าหรือดิน ต้องปาจิตตีย์ อันนี้ต้องระวัง น้ำนั้นมันมีตัวสัตว์ ตักไปแล้ว ไปรดหญ้า รดดิน เมื่อรดลงไปแล้ว ตัวสัตว์มันอยู่ในน้ำ ไปค้างอยู่ที่หญ้าและดิน มันก็ตาย เราก็เป็นอาบัติ ฆ่าสัตว์นะซิ เป็นอาบัติ เพราะว่าเอาน้ำ รู้อยู่ว่าน้ำมีตัวสัตว์ เป็นอาบัติ เพราะฆ่าสัตว์ให้ตาย

โอย ฆ่าสัตว์ให้ตาย นี่เป็นปาจิตตีย์ จิตเป็นบาป ก็ไปแล้ว บรรดาเปรตพระ เปรตภิกษุณี เปรตสิกขมานา เปรตสามเณรี เปรตสามเณร ก็เพราะไม่เคารพในพระธรรมวินัย แม้แต่สิกขาบทเล็กน้อย ท่านทั้งหลายเหล่านั้น ตายแล้วลงนรกอเวจีก่อน ขึ้นจากนรก ก็มาเป็นเปรต ทุกข์ทรมานอย่างหนัก อันนี้ขอได้โปรดอย่าทำเลยขอรับ

สำหรับวันนี้เรื่องพระวินัย ก็จบลงเพียงเท่านี้ ขอบรรดาเพื่อนภิกษุ สามเณรทั้งหลาย จงสำรวมกำลังใจ ระมัดระวังกำลังใจ ขึ้นชื่อว่าระเบียบวินัย จงอย่าละเมิดเด็ดขาด อย่างไง อย่างไงก็ตาม เอาตัวของเรารอดไว้ก่อนดีกว่า สำหรับวันนี้ก็ยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล สมบูรณ์พูนผล จงมีแด่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนผู้รับฟังทุกท่าน

สวัสดี


◄ll กลับสู่สารบัญ


[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 28/5/11 at 14:14 [ QUOTE ]


8

โทษละเมิดพระวินัย แผ่นที่ ๔ ตอนที่ ๒


สำหรับตอนนี้ ก็โปรดรับฟังพระวินัย แต่ก่อนจะรับฟังพระวินัย ก็ขอเตือนกันไว้ว่า

๑. จรณะ ๑๕ ขอท่านทั้งหลายจงปฏิบัติให้ครบถ้วน
๒. บารมี ๑๐ ต้องมี ทำกำลังใจให้ครบถ้วน
๓. พรหมวิหาร ๔ ทรงไว้ให้ครบถ้วน
๔. อคติ ๔ ตัดให้หมดไป
๕. พยายามกำจัดนิวรณ์ ๕ ให้พ้นไปจากใจ
๖. ทรงอิทธิบาท ๔


ทรงสิกขาบทตามพระวินัยให้ครบถ้วน อย่าให้เป็นผู้บกพร่อง เพราะจะเป็นเหยื่อของนรก จงคิดไว้เสมอว่า นิพพานัสสะ สัจฉิกิริยายะ เอตัง กาสาวัง คเหตวา ซึ่งแปลเป็นใจความว่า เรารับผ้ากาสาวพัตร์มาเพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ถ้าอาการทั้งหกอย่างนั้น ท่านทำได้ครบถ้วน

ท่านก็ได้ชื่อว่า เป็นผู้เข้าถึงกระแสพระนิพพานได้อย่างสะดวก แล้วในที่สุดท่านก็จะเข้าพระนิพพานได้ บางท่านคิดว่า บวชเล็กน้อย ใช้เวลาเล็ก ไม่มีโอกาส มันไม่แน่นัก ขึ้นชื่อว่าความดี ไม่ถือเวลาเป็นสำคัญ เขาถือกำลังใจเป็นสำคัญ

ปาจิตตีย์



ต่อนี้ไปมาว่ากันถึง
ปาจิตตีย์ ใน โอวาทวรรค วรรคที่ ๓ มี ๑๐ สิกขาบท

สิกขาบทที่ ๑ ท่านกล่าวว่า ภิกษุที่สงฆ์ไม่ได้สมมติ สั่งสอนนางภิกษุณีต้องอาบัติปาจิตตีย์ เรื่องนี้พระอานนท์โดนเข้ามาแล้ว สิกขาบทนี้เราก็ไม่เป็น เพราะว่านางภิกษุณีไม่มี

สิกขาบทที่ ๒ แม้ภิกษุที่สงฆ์สมมติแล้ว ตั้งแต่พระอาทิตย์ตกไปแล้ว สอนนางภิกษุณี ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ข้อนี้ก็ขอผ่านไปเพราะนางภิกษุณีไม่มี

สิกขาบทที่ ๓ ภิกษุเข้าไปสอนนางภิกษุณีถึงในที่อยู่ ต้องปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่นางภิกษุณีเจ็บ ข้อนี้ก็ผ่านไป

สิกขาบทที่ ๔ ภิกษุติเตียนภิกษุอื่น ว่าสอนนางภิกษุณี เพราะเห็นแก่ลาภ ต้องปาจิตตีย์ อันนี้ก็ผ่านไปเพราะไม่มีนางภิกษุณี

สิกขาบทที่ ๕ ภิกษุให้จีวรแก่นางภิกษุณี ที่ไม่ใช่ญาติ ต้องปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่แลกเปลี่ยนกัน อันนี้ผมว่าแลกเปลี่ยนกันก็ไม่ควรนะ แลกกันไปแลกกันมา ดีไม่ดี เดี๋ยวก็ไปรวมกันเข้าจะยุ่ง

สิกขาบทที่ ๖ ภิกษุเย็บจีวรของนางภิกษุณี ที่ไม่ใช่ญาติก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นเย็บก็ดี ต้องปาจิตตีย์ อันนี้ไม่มีแล้ว นางภิกษุณีไม่มี ไม่ต้องอธิบาย

สิกขาบทที่ ๗ ภิกษุชวนนางภิกษุณี เดินทางร่วมกัน สิ้นระยะบ้านหนึ่ง ต้องปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ทางเปลี่ยว

นี้หมายความว่า เดินควงกันไปสองคน ชาวบ้านเขาจะติเตียน แต่ความจริง น่าจะห้ามทางเปลี่ยว แต่ว่านี่ท่านไม่ห้าม ท่านถือว่าต่างคนต่างมีจิตบริสุทธิ์ คงไม่ทำให้เกินวิสัยในความเป็นสมณะ

แต่ว่าถ้าเดินไปในบ้าน ภิกษุณีไม่มี ก็ควรสงเคราะห์ชีเข้าไปด้วยดีไหม ผมว่าเวลานี้ควรจะสงเคราะห์ชีเข้าไปด้วย ถ้าเดินไปคู่กันไปหรือไปร่วมกัน เขาจะหาว่าเป็นสามีภรรยากัน ชาวบ้านเขาจะติเตียน อย่าทำเลยครับ

สิกขาบทที่ ๘ ภิกษุชวนนางภิกษุณี ลงเรือลำเดียวกัน ขึ้นน้ำก็ดี ล่องน้ำก็ดี ต้องปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ข้ามฟาก นี่หมายความว่า ไปกันตามลำพัง ถ้ามีคนอื่นไปด้วย ไม่เป็นไร

สิกขาบทที่ ๙ ภิกษุฉันของเคี้ยวของฉัน ที่นางภิกษุณีบังคับให้ฆราวาสเขาถวาย ต้องปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่คฤหัสถ์ เขาเริ่มไว้ก่อน

นี่เป็นการบังคับศรัทธาเนื่องในรสอาหาร การฉันอาหาร พระพุทธเจ้าสอนให้พิจารณาเป็นอาหาเรปฏิกูลสัญญา แล้วการฉันก็ต้องฉันไปด้วยความเรียบร้อย ถ้าบังคับให้เขาทำอย่างนั้น อย่างนี้ ก็แสดงว่าเลวเกินไป เพราะว่านางภิกษุณีนั้นเลวเกินไป นี้เราก็มาเนื่องเราก็ควรจะโอนเอาฆราวาสเข้ามาด้วย

คนที่อยู่กับพระ บังคับให้ชาวบ้าน เขาทำอาหารอย่างนั้น ทำอาหารอย่างนี้ พระชอบอย่างนั้น พระชอบอย่างนี้ ถ้าชาวบ้านเขาไม่ได้ตั้งใจไว้ก่อน เขาก็เสื่อมศรัทธา มันไม่มีประโยชน์ การกินอาหาร กินเพื่อยังอัตภาพให้เป็นไป มีอย่างไงก็กินมันส่งเดช ถ้าเขามีศรัทธาตั้งใจไว้ก่อน ไม่เป็นไร นี่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ชัด ว่ามันเป็นการทำลายศรัทธาเขาเกินไป เป็นการบังคับไม่เป็นการสมควร

สิกขาบทที่ ๑๐ ภิกษุ นั่งก็ดี นอนก็ดี ในที่ลับตาสองต่อสองกับนางภิกษุณี ต้องปาจิตตีย์ เรื่องนางภิกษุณียกล้อไปเลย ไม่มี เพราะว่าไม่มีสิกขาบทจะปรับ ตัวนางภิกษุณีไม่มีเสียแล้ว

โภชนวรรค วรรคที่ ๔ มี ๑๐ สิกขาบท

สิกขาบทที่ ๑ อาหารที่โรงทานทั่วไป ไม่นิยมบุคคล ภิกษุไม่เจ็บไข้ เข้าไปฉัน แต่เฉพาะ ได้เฉพาะวันเดียวแล้ว ต้องหยุดเสียในระหว่าง ต่อไปจึงฉันอีก ถ้าไปฉันติด ๆ กัน ตั้งแต่ ๒ วันขึ้นไป ต้องปาจิตตีย์

นี่โรงทานในที่นี้ เขาตั้งไว้เฉพาะคนที่เขามีสมาชิก เขามีสมาชิกเขากินเฉพาะพวกเขา แต่ถ้าเราไม่มีกินจริงๆ นานๆ ย่องไปครั้งหนึ่งได้ แต่ย่องไปติด ๆ กันละก็ท่านปรับเป็นอาบัติปาจิตตีย์ จิตเป็นบาป เพราะว่าคนพวกนั้นจะเกิดแสดงอาการรังเกียจ แต่ว่า ตามใจผมนะ ถ้าเขาไม่นิมนต์ให้เข้าไปฉัน อย่าไปฉันเลยครับ

เพราะว่าเรารู้ใจเข้าไม่ได้ เราเข้าไปฉันเฉยๆ บางทีเขาก็เตรียมไว้โดยเฉพาะ เราเข้าไปเขาก็เตรียมใหม่ ถ้าอาหารเขาจำกัดก็ดี หรืออาหารมากก็ดี แต่ว่าเจ้าของโรงทานเกิดไม่พอใจ จิตเขามีกิเลสมีความเศร้าหมอง จะทำให้เขาลงนรก ในเมื่อเราทำให้เขาลงนรกได้ เราก็ลงได้เหมือนกัน เพราะเราเป็นต้นเหตุ

สิกขาบทที่ ๒ ทายกนี่มานิมนต์ออกชื่อโภชนะ ๕ อย่าง คือ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าไปรับของ ๆ นั้นมา หรือฉันของๆ นั้นรวมกันพร้อมกัน ตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไปต้องปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่สมัย คือ

๑. เป็นไข้
๒. หน้าจีวรกาล หน้าจีวรกาล หมายความว่า ถ้าไม่ได้กรานกฐินก็ตั้งแต่แรมค่ำหนึ่ง เดือน ๑๑ ถึงกลางเดือน ๑๒ ถ้ารับกฐินแรมค่ำหนึ่ง เดือน ๑๑ ถึงกลางเดือน ๔ เขาออกชื่ออย่างนี้ฉันได้ ถ้าเลยไปกว่านั้น ฉันไม่ได้ นี่ตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไปนะ ไม่ถึง ๔ รูปไม่เป็นไร
๓. เวลาทำจีวร

๔. เดินทางไกล
๕. เดินทางเรือ
๖. รู้ว่าอยู่มากด้วยกัน บิณฑบาตไม่พอฉัน อันนี้ได้ เอ้า มันอยู่มากด้วยกัน บิณฑบาตมาไม่พอฉัน ก็บอกคุณ ที่บ้านฉันมีไอ้นั่น ที่บ้านฉันมีไอ้นี่ เอาไปฉันด้วยกัน มันไม่พอ ฉันได้

๗. โภชนะเป็นของสมณะ หมายความว่า ถ้าหากอาหารนั้น เราทำขึ้นมาเองนะ เราทำกันขึ้นมาเองในครัว อย่างโรงครัวของเรา บอกว่าวันนี้มีแกงไก่ วันนี้มีแกงเป็ด แต่ว่าไอ้อย่างนี้ ออกชื่อโภชนะ อย่างนี้ผมก็ไม่ชอบ ไม่ชอบและไม่ควร


ขอบรรดาญาติโยมพุทธบริษัท เวลาจะทำอะไรถวายพระ อย่าไปออกชื่อเลย มันจะทำให้ใจของพระนั้นมีกิเลส เพราะเราต้องการทำลายกิเลสกัน มีอะไรก็ว่ากันไปตามเรื่องดีกว่า เรื่องของพระวินัยต้องปฏิบัติกันให้เคร่ง แต่สิ่งใดที่มันยังหลวมอยู่นิดหนึ่ง มันไม่ถูกกับกาละสมัย ไม่ถูกกับกำลังใจของเรา ก็เพิ่มให้มันเคร่งเครียดกันเข้าไปหน่อย แต่อย่าให้ตึงจนเกินไป

สิกขาบทที่ ๓ ภิกษุรับนิมนต์แห่งหนึ่ง ด้วยโภชนะ ๕ อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ไม่ไปฉันในที่นิมนต์นั้น ไปเสียที่อื่น ต้องปาจิตตีย์

เว้นไว้แต่ ยกส่วนที่รับนิมนต์ไว้ก่อนนั้น ให้แก่ภิกษุอื่นเสีย หรือว่าหน้าจีวรกาล หรือเวลาทำจีวร เวลางานมันยุ่ง ความจริงรับนิมนต์ไว้ก่อน ถ้ารับนิมนต์ก่อนนี้ต้องไป ไปรายแรก ถ้าเขามานิมนต์เป็นรายที่สอง ที่สาม ที่สี่ ที่ห้า ก็ถามเขาดูว่า ให้พระไปแทนได้ไหม ถ้าพระไปแทนได้ก็รับ ถ้าเขาไม่ยอมให้พระไปแทน เราก็ไม่รับ อันนี้ดีกว่านะ ง่ายดี

สิกขาบทที่ ๔ ภิกษุเข้าไปบิณฑบาตในบ้าน ทายกเอาขนมมาถวายเป็นอันมาก จะรับไว้ได้เพียงอย่างมากเพียง ๓ บาตรเท่านั้น ถ้ารับไว้เกินกว่านั้น ต้องปาจิตตีย์

ของที่รับมามากเช่นนั้น ต้องแบ่งให้แก่ภิกษุอื่น อันนี้ก็เป็นการสมควร ฟังชัด ๆ นะ ถ้าขืนมาหมกไว้คนเดียวละก็ อย่างรับผ้าป่า ชักผ้าป่านี่ เอาไปเข้าห้องอยู่คนเดียว มันใช้ไม่ได้ ผ้าป่าเป็นของสงฆ์ ระวังให้ดีนะ ของทอดผ้าป่าเป็นของสงฆ์ ทางที่ดีเอาเข้าโรงครัวไปเลย เพราะเรามีโรงครัว

สิกขาบทที่ ๕ ภิกษุฉันค้างอยู่ มีผู้เอาโภชนะ ๕ อย่างใดอย่างหนึ่งมา เอาเข้ามาแล้วก็มาประเคนแล้ว ห้ามเสียแล้ว ลุกจากที่นั้น แล้วฉันของเคี้ยวของฉัน ซึ่งไม่เป็นเดนภิกษุไข้ หรือไม่ได้ทำวินัยกรรม ต้องปาจิตตีย์

นี่เป็นอันว่า ถ้ากำลังฉันค้างอยู่ แล้วก็มีคนเขานิมนต์บอก นี่คุณ นิมนต์ไปฉันทางโน้นเถอะ ลุกจากที่นี้ไปฉันที่โน้น อย่างนี้เป็นการทำลายศรัทธาของทายกที่ถวายอยู่ก่อนแล้ว มันเป็นความเสื่อมเสียมาก อย่างนี้พึงอย่าทำ แต่ท่านบอกว่าลุกไป ถ้าของนั้นเป็นของเดนภิกษุไข้ ฉันได้ แต่ว่าตั้งใจไว้บอกเขาว่า ฉันที่นี่ แล้วเดี๋ยวต้องไปฉันที่โน้นนะ เขาเรียกว่า ทำวินัยกรรม

ถ้าบังเอิญมีเจ้าภาพนิมนต์ไว้ก่อนว่า ฉันขอนิมนต์ไปฉันที่ตรงนั้น แล้วมีอีกคนอีกฝ่ายหนึ่งบอก ต้องฉันของฉันให้ได้นะ ถ้าไม่ฉัน ฉันจะเสียใจมาก ก็ต้องบอกเขาว่า โยม ฉันได้แต่ฉันมากไม่ได้หรอก ที่โน้นเขานิมนต์ไว้ก่อน ฉันเพื่อเป็นการเจริญศรัทธาได้ เราก็ฉัน ถ้าถึงเวลาก็ลุกไปฉันอีกที่ อันนี้ได้ นี่เป็นการรักษากำลังใจ

สิกขาบทที่ ๖ ภิกษุรู้อยู่ว่า ภิกษุอื่นห้ามข้าวแล้ว ตามสิกขาบทหลัง คือ ห้ามข้ออื่นตามสิกขาบทที่ ๕ คิดจะยกโทษเธอ แกล้งเอาของเคี้ยว ของฉันที่ไม่เป็นเดนภิกษุไข้ ไปล่อให้เธอฉัน เธอฉันแล้ว ต้องปาจิตตีย์

หมายความว่า เธอฉันจากที่ตรงนั้นแล้ว เธอลุกมา ก็มันเป็นของที่แปลก ๆ มีขนม แล้วบอกว่า นี่ท่านเป็นของเดนภิกษุไข้นะ นิมนต์ฉันเถอะ พระองค์นั้นฉันเข้าไป จะให้ท่านเป็นอาบัติตามนั้น แต่ความจริง พระองค์นั้นที่จริงกลับไม่เป็นอาบัติ องค์ที่หลอกลวงก็ต้องเป็นอาบัติปาจิตตีย์

ไอ้จิตตัวนี้แหละท่านเอย ตัวที่แกล้งเขานี่ ก็เหมือนด่าเขานั่นแหละ ในเมื่อมันเหมือนด่า แสดงว่าไม่มีการเคารพในพระธรรมวินัย เหมือนเปรตพระ เปรตนางภิกษุณี ตกนรกมาก่อนแล้วมาเป็นเปรต ความจริงก็เป็นมารยาทนะ ถ้าทำกันไม่ได้ก็เลวเต็มที

สิกขาบทที่ ๗ ภิกษุฉันของเคี้ยวของฉัน ที่เป็นอาหารในเวลาวิกาล คือ ตั้งแต่เที่ยงวันไปแล้ว จนถึงวันใหม่ต้องปาจิตตีย์

อันนี้ไม่ใช่พระแล้วละซิ คนที่รักษาอุโบสถ เขายังรักษากันได้ แต่เราเป็นพระ รักษาไม่ได้ มันก็เลวกว่าชาวบ้าน มันจะเกิดประโยชน์อะไร เป็นอันว่าฉันไม่ได้ เรื่องอาหารนี้ต้องพิสูจน์กันนะ ว่าอะไรเป็นอาหาร อะไรเป็นเภสัช

ถ้าทำตนไม่ใช่พระแบบนี้ ศีล ๘ ไม่ครบ ท่านต้องลงอเวจี แล้วก็เป็นโลกวัชชะ ทำให้พระศาสนาเศร้าหมอง ชาวบ้านเขาจะติเตียนพระศาสนา หาว่าพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาไม่มีความหมาย

สิกขาบทที่ ๘ ภิกษุฉันของเคี้ยวของฉัน ที่เป็นอาหารที่รับประเคนไว้ค้างคืน ต้องปาจิตตีย์

ที่เป็นอาหารไม่ใช่เภสัช การรับประเคน เอาอย่างนี้สิขอรับ รับประเคนแล้วให้เด็ก หรือไวยาวัจกรเอาไปเก็บไว้ ก็ถือว่าเป็นการขาดประเคน เขามาประเคนใหม่ นี่ใช้ได้ นี่ท่านกันพระที่อยู่ตามลำพังเก็บไว้ในห้อง ไว้กินกลางคืน เป็นการรอบคอบของพระพุทธเจ้า

สิกขาบทที่ ๙ ภิกษุขอโภชนะอันประณีต คือ ข้าวสุกที่ระคนไปด้วย เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ปลา เนื้อ นมสด น้ำส้ม ต่อคฤหัสถ์ที่ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ปวารณา เอามาฉัน ต้องปาจิตตีย์

เวลานี้ก็สงเคราะห์เอากับอาหารที่เขาถือว่าดี อาหารที่เขาถือว่าเป็นอาหารชั้นดี ถึงแม้ไม่เกี่ยว ไม่เหมือนกับที่กล่าวนี้ก็เหมือนกัน ไปขอเขาอย่างนั้น ต้องปาจิตตีย์ อันนี้ละโมบในอาหาร การละโมบในอาหารก็แสดงว่าไม่เคยเจริญอาหาเรปฏิกูลสัญญา กินอะไรกันแบบนี้ ไม่ได้เจริญแล้ว ถ้าคนที่เขาเจริญอาหาเรปฏิกูลสัญญา เขาไม่ไปขออาหารดี ๆ หรอก เขาเห็นเป็นของสกปรก กินเพื่อยังอัตภาพให้เป็นไป นี่แสดงว่าจิตใจไม่ใช่พระ เชิญลงนรกไปตามสบาย

สิกขาบทที่ ๑๐ ภิกษุกลืนกินอาหารที่ไม่มีผู้ให้ คือยังไม่ได้ประเคน ให้ล่วงทวารปากเข้าไป ต้องปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่น้ำและไม้สีฟัน

เป็นอันว่าที่เขายังไม่ประเคนกินไม่ได้ ฉันไม่ได้นะ ฉันก็กินเหมือนกัน เรื่องมันยากก็เพราะว่า ข้อนี้มันเนื่องมาจากว่า สมัยก่อนนี้ ไม่มีการประเคน แต่ว่าพอเวลาที่คนเขานำอาหารมา พระที่เป็นลูกหลานก็ไปแล้ว โยม แกงอะไรล่ะ โยม มีขนมอะไรล่ะ เปิดฝาแกง ดูกับ ดูข้าว ดูอะไร มันเป็นการไร้มารยาท พระพุทธเจ้าเห็นว่ามันเป็นการเสื่อมเสียมาก

จึงได้ทรงบัญญัติว่า ถ้าเขายังไม่ยื่นให้ล่ะก็ ห้ามแตะต้องเด็ดขาด ถ้าไปแตะต้องเข้า ถือปรับเป็นอาบัติปาจิตตีย์ แปลว่า จิตเป็นบาป ไอ้ปาจิตตีย์ จิตชั่ว วินัยทุกสิกขาบท ถ้าละเมิดไม่มีความเคารพในพระธรรมวินัย

ก็มีตัวอย่างเปรตพระ เปรตนางภิกษุณี เปรตสิกขมานา เปรตสามเณรี เปรตสามเณร ไม่เคารพในพระวินัย ละเมิดถือว่าสิกขาบทเล็กน้อย ไม่เป็นไร ถ้าหากว่ามันไม่เป็นไรจริงๆ ละก็ พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงห้ามไว้ นี่มันต้องเป็นความชั่ว อาการความชั่วเป็นอย่างนั้นมันเกิด เมื่อการกระทำชั่วก็เพราะอาศัยจิตชั่ว ถ้าจิตมันดีเสียจริง ๆ ล่ะก็ การกระทำมันชั่วไม่ได้ มันต้องดี

อเจลกวรรค วรรคที่ ๕ มี ๑๐ สิกขาบท

ต่อไปเป็นอเจลกวรรค วรรคที่ ๕ มี ๑๐ สิกขาบท
สิกขาบทที่ ๑ ภิกษุให้ของเคี้ยวของฉัน แก่นักบวชนอกพระศาสนา ด้วยมือตนเอง ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อันนี้เป็นการประมาณ เป็นการป้องกันคำปรามาสของบุคคลนอกพระศาสนา สมัยนั้นยังมีการแข่งขันกันเรื่องพระศาสนา ในเมื่อมีการแข่งขันกันขึ้นมา เวลาเราไปให้เขา เขาถือว่าประเคนให้เขา ยอมกลัวเขา แล้วเขาก็ไปเล่าไปลือกัน ชาวบ้านติเตียนว่าพระสงฆ์เราทำไม่ถูก พระพุทธเจ้าจึงได้ห้ามสิกขาบทนี้ จงอย่าทำนะครับเมื่อจะให้เขา ก็ให้คนอื่นไปให้แทน อย่าให้ด้วยมือของตนเอง

สิกขาบทที่ ๒ ภิกษุชวนภิกษุอื่นไปบิณฑบาตด้วยกัน หวังจะประพฤติอนาจาร ไล่เธอกลับเสีย ต้องอาบัติปาจิตตีย์

นี่หมายความว่าเขาเดินไปด้วยความเรียบร้อย แต่ประเภทบิณฑบาตนี่ ขอได้โปรด ปฏิบัติกันให้ถูกให้ต้องนะ การเดินบิณฑบาตต้องเดินห่างกัน พอช่วงคนลอดได้ เพราะเรื่องมีอยู่แล้วในพระสูตร คือว่าเจ้าหน้าที่ขับโจรมา พระเดินติดกัน เพราะเป็นพระแถวยาวเหยียด พอมาตรงนั้นไม่กล้าแทรก โจรไม่กล้าแทรกพระเข้าไปในแถว เจ้าหน้าที่ตามมาทัน เขาเลยฆ่าโจรตาย

ต่อมาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงบอกว่า เวลาจะเดินบิณฑบาต ควรจะเดินห่างกันประมาณ ๑ ศอก แล้วการเดินไปบิณฑบาตก็ดี การเดินไปธุระอื่นก็ดี ต้องอยู่ในเกณฑ์สำรวมเดินไปเรียบร้อย ทอดจักษุแค่ช่วงแอกหนึ่งโดยประมาณ อย่าแหงนหน้าเกินไป อย่าก้มหน้าเกินไป อย่าคุยกันในระหว่างเดินบิณฑบาต และเวลารับบาตร พระองค์หน้าเคยยืนตรงไหน ต้องยืนตรงนั้นเป็นประจำ

แล้วก็พระยืนเรียงกันตามลำดับ องค์หน้าต้องคอยดู ถ้าเขาใส่บาตรยังไม่ถึงองค์สุดท้าย หรือใส่องค์สุดท้ายยังไม่เสร็จ องค์หน้าอย่าพึ่งเดินไป เพราะว่าองค์สุดท้ายจะต้องวิ่งตาม ครั้นให้เขาใส่บาตรเสร็จเรียบร้อย มาถึงองค์สุดท้ายที่สุดเขาใส่แล้ว องค์หน้าก็เลี้ยวเดินไป การเดินไปด้วยอาการสำรวมแล้ว อีกประการหนึ่ง ในขณะที่ก่อนจะออกบิณฑบาต ในเวลาเช้ามืด เขาเรียกว่า พระโปรดสัตว์

ในตอนนี้ท่านเจริญสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ให้เต็มกำลังสมาธิ ที่ท่านจะพึงทำได้ จิตจะได้บริสุทธิ์ แล้วเวลาที่เดินไปก็ใช้คำภาวนาและพิจารณาตลอด ตั้งแต่เดินไปจนกระทั่งเดินกลับ ผมเคยใช้ อิติปิโส ทั้งบทมันยาวดี ทีนี้เวลาเดินไปบิณฑบาตต้องทำอย่างนี้ แล้วเวลารับบาตร หยุดจิตจากภาวนานิดหนึ่ง

อธิษฐานจิตสงเคราะห์ หมายความว่า ขอท่านผู้มีคุณ ที่มีอุปการะ ให้ชีวิตแก่ข้าพเจ้า คือให้อาหาร ก็หมายถึงให้ชีวิต ขอท่านจงเป็นผู้มีความเป็นอยู่เป็นสุขในชีวิตของท่าน มีการคล่องตัวในการทรงชีวิต ธรรมใดที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรรลุแล้ว ขอทุกท่านจงบรรลุธรรมนั้นด้วยเถิด หลังจากนั้นเราก็ภาวนา พิจารณา เราปล่อยตามอัธยาศัย

แล้วการเดินบิณฑบาตนี้ อย่าแกล้งเดินให้ช้า อย่าแกล้งเดินให้เร็ว พวกที่เดินช้ามีอยู่ก่อนแล้ว แกล้งเดินช้า ๆ บ้าง แล้วแกล้งหาว่าคนอื่นเดินเร็ว คนเลวประเภทนี้เคยมี และอีกประการหนึ่ง ในระเบียบของเราโปรดทราบว่า ต่อนี้ไปจะไม่ให้อภิสิทธิ์พิเศษแก่ภิกษุรูปใด มาอยู่แล้วขอฉันเป็นเอกเทศ นี่จะไม่ยอมให้อยู่ ต้องฉันรวมกัน เว้นไว้แต่พระถือเอกา พระถือเอกาจะฉันรวมเวลากับองค์อื่นไม่ได้ นี่เป็นเรื่องธรรมดา

นี่การตามใจแบบนี้คิดว่าจะดี ก็กลายเป็นความเลว อันนี้ไม่เอาด้วยนะ ทีหลังไม่เอา ถ้ากินร่วมกันไม่ได้ละก็ มันก็ไม่ต้องอยู่ร่วมกัน ไม่ต้องอยู่ร่วมในวัดนี้เลย ไม่ใช่จะแยกเฉพาะกุฏิ ไม่เอา แล้วพระที่เวลาฉันข้าวก็เหมือนกัน ก็อย่านั่งคุยกัน อย่าโอ้ อย่าอวด อย่าทะนงตนว่าดี ทุกคนให้อยู่ในเกณฑ์สำรวม ก่อนจะฉันพิจารณาเป็น อาหาเรปฏิกูลสัญญา

ในขณะที่ฉันก็ฉัน ใช้ สัมปชัญญบรรพ ในมหาสติปัฏฐานสูตร รู้ตัวว่าเวลานี้เราตักข้าว เวลานี้เราตักกับ เวลานี้เอาข้าวใส่ปาก เวลานี้เราเคี้ยว เวลานี้เรากลืน แล้วคิดไว้เสมอว่ากินอย่างนี้มันก็ตาย กินดีก็ตาย กินเลวก็ตาย คนที่เขากินอย่างเรา เขาตายมานับไม่ถ้วน เราจะไม่ติดในรสอาหาร เราจะไม่ติดในสีสันวรรณะของอาหาร จะไม่กินด้วยความอ้วนพี

จะกินเพื่อยังอัตภาพให้เป็นไป ท่านต้องทำอย่างนี้ให้เป็นปกติ ในวงอาหาร จงอย่ามีเสียงคุยกัน นี่มันถึงจะถูกนะ ทำให้มันถูก ไม่ถูกแล้วมันลงนรก อาหาเรปฏิกูลสัญญา ถ้าหากว่าไม่ได้พิจารณา พระพุทธเจ้ากล่าวว่า “กินก้อนเหล็กที่เผาจนแดงโชนดีกว่า เพราะเจ้าเหล็กนี้ ถึงคอ คอพัง ถึงปาก ปากพัง ถึงอก อกพัง ถึงท้อง ท้องพัง ร้อนแล้วก็ตาย ตายมันหายร้อน แต่พระที่ฉันข้าวโดยไม่พิจารณาเป็นอาหาเรปฏิกูลสัญญา ตายต้องตกนรก มันร้อนนานกว่านั้น”

นี่ไอ้การที่จะไล่เขากลับระหว่างบิณฑบาตนี้ เขาต้องทำความเสีย เล่นโดกเดก ๆ ส่งเสียงเอะอะโวยวายนี่ ไล่กลับไปได้เลย ถ้าเขาไปตามระเบียบ ไล่กลับไม่ได้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

สิกขาบทที่ ๓ ภิกษุสำเร็จการนั่งแทรกแซงในตระกูลที่กำลังบริโภคอาหาร ต้องปาจิตตีย์

หมายความว่า เขากำลังกินอาหารอยู่ ดันเสือกเข้าไปแทรกเขานี่ ผมใช้คำว่า เสือก มันเลวจัด ฆราวาสเขายังไม่ทำกัน ถ้าเป็นพระเป็นเณร เข้าไปทำแบบนั้น เข้าไปนั่งแทรก เวลาเขากินอาหารอยู่ ไปนั่งชวนคุย มันก็เสียระเบียบ ถ้าผมรู้นะ ทำอย่างนี้ ผมขับจากวัดทันที ไอ้เลว ๆ อย่างนี้ผมไม่ชอบ ที่นี่ไม่ต้องการ

สิกขาบทที่ ๔ ภิกษุนั่งอยู่ในห้องกับผู้หญิง ไม่มีผู้ชายอยู่เป็นเพื่อน ต้องปาจิตตีย์ นี่เฉพาะนั่งเฉย ๆ ไม่ได้เกี้ยว ไม่ได้ทำอะไรกัน มันเป็นโลกวัชชะ ซึ่งพระวินัย คนอื่นเขาไม่ทราบ เราทำอะไรกันบ้าง

สิกขาบทที่ ๕ ภิกษุนั่งในที่แจ้งกับผู้หญิงสองต่อสอง ต้องปาจิตตีย์ ในที่แจ้งสองต่อสอง คือคุยกัน คนอื่นเขาไม่ได้ยินนั่นเอง มันเป็นเรื่องของโลกติเตียน อันนี้ก็จะไม่สู้จะหนักนัก

สิกขาบทที่ ๖ ภิกษุรับบิณฑบาตด้วยโภชนะ ๕ แล้ว จะไปในที่อื่น จากที่นิมนต์นั้นในเวลาก่อนฉันก็ดี ฉันกลับมาแล้วก็ดี ต้องลาภิกษุที่อยู่ในวัดนั้นก่อน จึงจะไปได้ ถ้าไม่ลาก่อน เที่ยวไปต้องปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่สมัยคือเวลาที่หาผ้าทำจีวร นี่เป็นไอ้การเราวางระเบียบ การบอกลาซึ่งกันและกันนี่ มันมีอยู่แล้วในวินัย ไม่มีอะไรนอกเหนือพระวินัย

เอาละ บรรดาท่านทั้งหลาย สำหรับวันนี้ มองดูเวลาก็หมดซะแล้วนี่ ก็ขอยุติกันไว้แต่เพียงเท่านี้ เรื่องพระวินัยนะขอรับ ขอได้โปรดอย่าใช้คำว่าหลีก อย่าใช้คำว่าเลี่ยง บรรดาท่านที่เป็นครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ไอ้ข้อที่บอกว่า แสดงอาบัติตกนะ พักกันซะทีดีกว่า มันแสดงทีไร มันตกนรกทุกที

คนที่เป็นอาบัติ แสดงว่า ไม่มีความเคารพในพระธรรมวินัยอยู่แล้ว เมื่อความเสียมันก็เสียไปแล้ว ไอ้การแสดงมันก็ต้องยับยั้งจริง ๆ ว่า นะ ปุเนวัง กะริสสามิ ข้าพเจ้าจะไม่ทำอย่างนี้อีก ก็ต้องไม่ทำเลย นะ ปุเนวัง ภาสิสสามิ ข้าพเจ้าจะไม่พูดอย่างนี้อีก ก็ต้องไม่พูดจริง ๆ นะ ปุเนวัง จินตะยิสสามิ ข้าพเจ้าจะไม่คิดอย่างนี้อีก

ก็ต้องไม่คิดจริง ๆ ถ้าท่านทั้งหลายเอาใจเข้าไปรวบรวมในจริยาที่กล่าวไว้ตอนต้น อารมณ์ใดที่จะเป็นอาบัติไม่มี สำหรับวันนี้ก็หมดเวลาแล้ว ขอลาก่อน ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล สมบูรณ์พูนพล จงมีแด่บรรดาพุทธศาสนิกชน ผู้รับฟังทุกท่าน

สวัสดี


◄ll กลับสู่สารบัญ


[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 8/6/11 at 14:37 [ QUOTE ]


9

โทษละเมิดพระวินัย แผ่นที่ ๕ ตอนที่ ๑


สำหรับตอนนี้ ก็โปรดรับฟังพระวินัย สำหรับพระวินัยนี้ ก็จะขอกล่าวต่อ ในเรื่องของอเจลกวรรคที่ยังค้างอยู่ สำหรับอเจลกววรคนี่ สิกขาบทที่ ๖ ความจริงน่าจะย้อนกันหรือเปล่าก็ไม่ทราบ

อเจลกวรรค วรรคที่ ๕ (ต่อ)

สิกขาบทที่ ๖ ภิกษุรับนิมนต์ด้วยโภชนะ ๕ แล้ว ไปค้างในที่อื่น จากที่นิมนต์นั้น ในเวลาก่อนที่ฉันก็ดี หรือฉันมาแล้วก็ดี ต้องลาภิกษุที่อยู่ในวัดนั้นก่อน จึงจะไปได้ ถ้าไม่ลาก่อน เที่ยวไป ต้องอาบัติปาจิตตีย์

ท่านว่าอย่างนั้นนะ ก็จำของท่านไว้ให้ดี เว้นไว้แต่สมัย คือกาลจีวรและเวลาทำจีวร อันนี้ก็รู้ชัด ๆ ไอ้กาลจีวรเวลานี้ ก็ได้แก่การรับกฐิน การไม่รับกฐิน ความจริงเวลานี้กาลจีวร เวลาทำจีวร เราก็ไม่มีแล้วนะ เอาเป็นว่ารักษาพระวินัยสิกขาบทนี้ให้ชัดดีกว่า

ภิกษุรับนิมนต์ด้วยโภชนะ ๕ อย่าง คำว่า โภชนะ ๕ นี่ ผมถือเอาง่าย ๆ ว่า รับนิมนต์แล้ว จะไปในที่อื่น นอกจากที่นิมนต์นั้น หมายความว่า จะเลี่ยงไปไม่ยอมไปตามกิจนิมนต์ ในเวลาก่อนฉันก็ดี ฉันแล้วก็ดี ต้องลาภิกษุในวัดนั้นก่อน จึงจะไปได้ ถ้าไม่ลาก่อน เที่ยวไป ต้องอาบัติปาจิตตีย์

สิกขาบทที่ ๗ ถ้าเขาปวารณาด้วยปัจจัยสี่ เพียงสี่เดือน พึงขอเขาได้เพียงกำหนดนั้นเท่านั้น ถ้าขอเกินกำหนดนั้นไป ต้องปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่เขาปวารณาอีก หรือว่าปวารณาเป็นนิตย์ ความจริงนี่ ก็ไม่ต้องจะมีอะไรเว้น หากเขาปวารณาไว้กำหนดเท่าใด เราเป็นพระ ก็ต้องขอเขาช่วงเวลาเท่านั้น ถ้าหากว่าขอมากเกินไป ก็ไม่ใช่พระ มันกลายเป็นขอทาน มันจะดีรึ สิกขาบทนี้ก็ไม่มีอะไรมาก ไม่ต้องอธิบาย

สิกขาบทที่ ๘ ไปดูกระบวนทัพ ภิกษุไปดูกระบวนทัพที่เขายกไปเพื่อจะรบกัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่มีเหตุ เหตุก็คือว่า อย่างสมัยสงครามอินโดจีน เวลาเขาจะเคลื่อนกระบวนทัพ เขานิมนต์พระไปเจริญพระพุทธมนต์ นิมนต์พระไปประพรมน้ำมนต์ อันนี้มีเหตุที่เขานิมนต์ไป ไม่ใช่ไปดู อันนี้ไม่เป็นไร

สิกขาบทที่ ๙ ถ้าเหตุที่ต้องไปมีอยู่ พึงอยู่ในกองทัพนั้นได้เพียง ๓ วัน ถ้าอยู่เกินกำหนดนั้นไป ต้องปาจิตตีย์ อันนี้ก็ไม่มีอะไรหนักนะขอรับ

สิกขาบทที่ ๑๐ เวลาที่อยู่ในกองทัพตามกำหนดนั้น ถ้าไปดูเขารบกันก็ดี หรือดูเขาตรวจพลก็ดี ดูเขาจัดกระบวนทัพก็ดี ดูหมู่เสนาที่จัดกระบวนทัพแล้วก็ดี ต้องปาจิตตีย์ นี่หมายความว่า ถ้าอยู่ก็อยู่เฉย ๆ เวลาเขาจัดการเพื่อจะรบกัน เราก็ไม่ไปยุ่งกับเขา เพราะว่าเป็นเรื่องของเขา เรื่องการรบราฆ่าฟัน เป็นเรื่องของฆราวาส ไม่ใช่เรื่องของพระ ถ้าจะไปเพื่อเป็นการเจริญศรัทธา ก็อีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเขานิมนต์

สุราปานวรรค วรรคที่ ๖ มี ๑๐ สิกขาบท
ต่อไปก็เป็น สุราปานวรรค วรรคที่ ๖ มี ๑๐ สิกขาบท

สิกขาบทที่ ๑ ท่านกล่าวว่า ภิกษุดื่มน้ำเมา ต้องอาบัติปาจิตตีย์ การดื่มน้ำเมานี่ หมายความว่า มีเจตนาดื่ม ถ้ารู้ว่าเป็นน้ำเมา น้ำเมานี่แบ่งเป็นสองประเภท สุรา คือ ของที่กลั่นแล้ว เมรัย ของที่หมักดองยังไม่ได้กลั่น นี่ถ้าหากว่ามีอาหารก็ดี มียาก็ดี ที่เขาเจือปนไปด้วยแอลกอฮอล์ อันนี้พระพุทธเจ้ากล่าวว่า ต้องไม่มีรส และไม่มีกลิ่นสุราหรือเมรัย ถ้ายังปรากฏรส ปรากฏกลิ่น ต้องอาบัติตามสิกขาบทนี้

สิกขาบทที่ ๒ ภิกษุจี้ภิกษุ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ คำว่า จี้ นี่ จี้เล่น จี้เพื่อความสนุกสนาน

สิกขาบทที่ ๓ ภิกษุว่ายน้ำเล่น ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ตกน้ำ หรือว่ามีความจำเป็นต้องข้ามคลองลงไปในน้ำลึก ต้องว่าย อันนี้ไม่เป็นไร ท่านกล่าวว่าเฉพาะว่ายเล่น

สิกขาบทที่ ๔ ภิกษุแสดงความไม่เอื้อเฟื้อในพระวินัย ต้องปาจิตตีย์ การไม่เอื้อเฟื้อในพระวินัยนี้ พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า เดียรถีย์ ปาจิตตีย์ตัวนี้ก็คงจะลงอเวจีมหานรก การไม่เอื้อเฟื้อในวินัยนี่ คำว่าสมมุติสงฆ์ไม่มีแล้ว อย่าว่าแต่คำว่าเป็นพระ เป็นสงฆ์เลย เป็นอันว่าทำตัวเป็นฆราวาสชัด แต่ว่าเป็นผู้หลอกลวงชาวบ้าน

สิกขาบทที่ ๕ ภิกษุหลอนภิกษุอื่นให้กลัวผี ต้องอาบัติปาจิตตีย์ อันนี้อย่าเล่นกันนะ ก็มันของไม่ยาก นี่เข้าใจชัดผมก็ไม่อธิบาย

สิกขาบทที่ ๖ ภิกษุไม่เป็นไข้ ติดไฟให้เป็นเปลวเองก็ดี ใช้ให้คนอื่นติดก็ดี เพื่อจะผิง ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ติดเพื่อเหตุอื่นไม่เป็นอาบัติ นี่เอาเฉพาะเวลาหนาวเท่านั้นติดให้เป็นเปลว เป็นเพลิงลุกขึ้น ก็เกรงอันตรายจะพึงไหม้วัดไหม้วา ถ้าติดเพื่อเหตุอื่นก็หมายถึงว่า หุงต้มอาหารหรือต้มน้ำต้มท่า อันนี้ไม่เป็นอาบัติตามนี้

สิกขาบทที่ ๗ ภิกษุอยู่มัชฌิมประเทศ คือประเทศส่วนกลางที่มีความเจริญ ท่านบอกว่า คือจังหวัดกลางแห่งประเทศอินเดีย ๑๕ วันจึงอาบน้ำได้หนหนึ่ง ถ้ายังไม่ถึง ๑๕ วัน อาบน้ำ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

นี่ก็อินเดียนี่เขามีที่มันกันดารมาก เรื่องน้ำนี่ บางทีนี่ถ้าเล่นสงกรานต์กัน ผมเคยไป เล่นสงกรานต์แล้วก็เก็บ โดยไม่ต้องชักน้ำกัน เพราะเขาหาน้ำกันยาก เวลาที่ผมไป ไม่ใช่สมัยพระพุทธเจ้ายังอยู่ด้วยซ้ำ มันเจริญมากแล้ว คนไปเอาน้ำมากินเดินทางเป็นกิโล ๆ ใช้หม้อเทินบนหัว เป็นอันว่าบางบ้าน สำหรับคนที่หาน้ำมากินมาใช้มีหน้าที่เฉพาะ ไม่ต้องทำงานอื่นเพราะเดินไปเอาน้ำ มันไกลมาก

แล้วก็ต้องใช้กันแบบประหยัด การที่อยู่ในกลางใจประเทศ ที่มีความเจริญ ท่านบอกว่า ๑๕ วัน ต้องอาบน้ำครั้งหนึ่ง ถ้ายังไม่ถึง ๑๕ วัน อาบน้ำ ต้องปรับอาบัติปาจิตตีย์ ท่านบอกว่าเว้นไว้แต่มีเหตุจำเป็น แต่ในปัจจันตประเทศ เช่นประเทศของเราอาบน้ำได้เป็นนิตย์ ไม่เป็นอาบัติ เพราะน้ำ มันเยอะ นี่ก็ไม่ยาก เกี่ยวกับการฝืดเคืองของน้ำใช้มากไป มันก็ไปยุ่งคนอื่นเขาไม่ได้กินไม่ได้ใช้

สิกขาบทที่ ๘ ภิกษุได้จีวรใหม่ ต้องทำพินทุด้วยสี ๓ อย่าง คือ สีเขียว สีคราม สีโคลนสีดำคล้ำ อย่างใดอย่างหนึ่งก่อน จึงจะนุ่งได้ ถ้าไม่ทำพินทุก่อนนุ่งห่ม ต้องปาจิตตีย์

ทำพินทุนี่ความประสงค์สองอย่าง คือ ทำเป็นเครื่องหมายเพื่อการจดจำ หรือว่าทำไว้เพื่อให้มันสวยน้อยลงไป เอาสีเข้าไปแตะเสีย แต่พินทุตอนสมัยหลังนั้นใช้วงกลมในอนุวาต สำหรับผมไม่แน่ ผมจิ้มมันส่งไม่ว่าที่ไหน เพราะว่ามันเป็นเครื่องหมาย พินทุ นี่ก็แปลว่า เครื่องหมาย กันผ้าซ้ำกัน

สิกขาบทที่ ๙ ภิกษุวิกัปจีวรกับภิกษุหรือสามเณรแล้ว ผู้รับยังไม่ได้ถอน นุ่งห่มจีวรนั้น ต้องปาจิตตีย์

คำว่าวิกัปจีวร เมื่อผ้ามันเกินก็ต้องวิกัปไว้เป็นของสองเจ้าของ เอาไว้เป็นส่วนกลางเวลาจะนำมาใช้ เราจะใช้ก็ต้องบอกคนผู้วิกัป คือหมายความว่าทำเป็นเจ้าของร่วมกันสองเจ้าของ ถ้ามีความจำเป็นจะต้องนำมาใช้ก็ต้องบอก ก็บอกว่าไอ้ผ้าผมมันขาดเสียแล้วนะขอรับ มีความจำเป็น ผมขอเอาผ้านี้มาใช้ ถ้าท่านผู้นั้นอนุญาตบอกว่า ใช้ได้ขอรับ จึงใช้ได้ ไม่ต้องไปว่าสุณาตุ เม ภันเต อะไรก็ได้ มันไม่มีความจำเป็น ว่ากันแบบไทยๆ ก็พอ

สิกขาบทที่ ๑๐ ภิกษุซ่อนบริขาร คือบาตร จีวร ผ้าปูนั่ง กล่องเข็ม ประคตเอว หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ของภิกษุอื่น ด้วยคิดว่าจะล้อเล่น ต้องเป็นอาบัติปาจิตตีย์ อันนี้ก็แหม มันเล่นอย่างเด็ก ๆ ไม่ใช่สภาพของพระ ไม่ใช่จริยาของพระที่จะพึงทำกัน สร้างความลำบากให้แก่ภิกษุอื่น เป็นการไม่สมควร

สัปปาณกวรรค วรรคที่ ๗ มี ๑๐ สิกขาบท
ต่อไปก็เป็นสัปปาณกวรรค วรรคที่ ๗ มี ๑๐ สิกขาบท

สิกขาบทที่ ๑ ภิกษุแกล้งฆ่าสัตว์เดรัจฉาน ต้องปาจิตตีย์ นี่หมายถึงว่า คำว่า แกล้ง คือมีเจตนาเพื่อจะฆ่า รู้แล้วว่ามันเป็นสัตว์ เห็นแล้วตั้งใจทำลายมัน แกล้งฆ่าสัตว์เดรัจฉาน เป็นอาบัติปาจิตตีย์ อันนี้ก็อเวจีสิครับ สบายนะ อย่าไปทำนะ ทำก็ดูเปรต ดูพระนี่ตัวอย่างเรามีข้างต้น

เราเป็นพระ ทรงจิตไว้ว่า นิพพานัสสะ สัจฉิกิริยายะ เอตัง กาสาวัง คเหตวา แปลว่า เราขอรับผ้ากาสาวพัตร์มาเพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน แล้วฆ่าสัตว์ก็ทำให้แจ้งในนรกนะซิ ชาวบ้านเขาฆ่าสัตว์ เขาลงนรก เราฆ่าสัตว์ไปสวรรค์ ยังงี้ชาวบ้านเขาบวชพระกันหมด มาฆ่าสัตว์กัน เป็นอันว่าถ้าเราฆ่าสัตว์ก็แสดงว่า ศีล ๕ ไม่มี แล้วศีล ๒๒๗ มันจะมีได้ยังไง

สิกขาบทที่ ๒ ภิกษุรู้อยู่ว่าน้ำมีตัวสัตว์ บริโภคน้ำนั้น ต้องปาจิตตีย์ นี่ก็เกรงว่าตัวสัตว์นั้นมันจะตาย ในน้ำมีตัวสัตว์ก็เอาไปปล่อยซะหมดเรื่องกัน

สิกขาบทที่ ๓ ภิกษุรู้อยู่ว่าอธิกรณ์นี้ สงฆ์ทำแล้วโดยชอบ เพิกถอนเสีย กลับทำใหม่ ต้องปาจิตตีย์

คำว่า อธิกรณ์ หมายถึง คดีที่เกิดขึ้นระหว่างสงฆ์ต่อสงฆ์นั้น ผมสลดใจจริง ๆ คือ พระที่หาเรื่องให้มีอธิกรณ์เกิดขึ้นเรียกว่า ทะเลาะวิวาทกัน ผมว่าท่านผู้หาเรื่องนั้น ไม่ใช่พระ พระ แปลว่า ผู้ประเสริฐ มีจรณะ ๑๕ ครบ มีบารมี ๑๐ ครบ แล้วก็ละนิวรณ์ ๕ ทรงพรหมวิหาร ๔ มีอิทธิบาท ๔ แล้ว

ก็มีคำปฏิญาณว่า นิพพานัสสะ สัจฉิกิริยายะ เอตัง กาสาวัง คเหตวา ข้าพเจ้าขอรับผ้ากาสาวพัตร์มา เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน แล้วยังหาเรื่องหาราว ทะเลาะกัน พวกนี้ไม่ใช่พระหรอกขอรับ เป็นพวกเดียรถีย์ ถ้าพระ ก็พระประเภทเทวทัต มีสันดานหยาบ พระพุทธเจ้าคงจะถือว่าเป็น เดียรถีย์ คนนอกพระศาสนา อันนี้อเวจีเป็นที่ไป เขาเป็นผู้ไปอเวจีแน่นอนครับ

สิกขาบทที่ ๔ ภิกษุรู้อยู่ แกล้งปกปิดอาบัติชั่วหยาบของภิกษุอื่น ต้องอาบัติปาจิตตีย์

นี่หมายความว่า เพื่อนภิกษุด้วยกัน มีอาบัติชั่วหยาบ มีอาบัติสังฆาทิเสส หรือว่า อาบัติปาราชิก รู้อยู่แล้วแกล้งปกปิดต่อสงฆ์ ท่านผู้นั้นเป็นอาบัติปาจิตตีย์ แต่ผมคิดว่า ควรจะบอกว่า ท่านผู้นั้นไม่ใช่พระในพระพุทธศาสนาแล้วดีกว่า เพราะว่าไอ้การปกปิด ก็หมายถึงว่าร่วมกันกระทำชั่วนั่นเอง หรือว่า สนับสนุนคนชั่ว

สิกขาบทที่ ๕ ภิกษุรู้อยู่ เป็นอุปัชฌายะอุปสมบทกุลบุตร ผู้มีอายุหย่อนกว่า ๒๐ ปี เป็นอาบัติปาจิตตีย์ ผู้มีอายุหย่อนกว่า ๒๐ ปี นี่บวชแล้วไม่เป็นพระ บวชแล้วเป็นเณร บาป

ให้นั่งรวมกับพระ นั่งร่วมกับเณร ให้กินร่วมกัน ในฐานะพระที่เป็นฆราวาสนี่ หรือว่าเป็นเณรไปร่วมกับพระ มันก็ขาดจาก สรณคมณ์ ก็เสร็จ ลงนรกกันไป ถ้าพระที่เป็นอุปัชฌาย์ ๆ แบบนี้ละก็ ผมว่า อเวจีบรรทุกไม่ไหว บรรทุกทั้งอุปัชฌาย์ด้วย บรรทุกทั้งผู้ถูกอุปสมบทด้วย เพราะว่าท่านผู้นั้นไม่ใช่พระแล้ว ก็ไปนั่งร่วมกินร่วมนอนกับพระมันก็แย่ โทษหนักมาก

สิกขาบทที่ ๖ ภิกษุรู้อยู่ ชวนพ่อค้าผู้ซ่อนภาษี เดินทางด้วยกัน แม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง ต้องปาจิตตีย์

ของที่เขาจะหนีภาษี ถ้าซุกซ่อนภาษี ไม่เก็บภาษี แต่รู้อยู่ว่า ถ้าพระไปด้วย เขาไม่ตรวจภาษี เอาพระเป็นฉากบังหน้า อย่างนี้ เป็นอาบัติปาจิตตีย์ อันนี้ผมว่าลงนรกครับ ถ้าผมนะปรับว่า ท่านผู้นั้นไม่ใช่พระ เพราะว่าร่วมป้องกันผู้ร้ายที่ไม่เสียภาษี เป็นการผิดทั้งวินัยทั้งกฎหมาย

แต่นี่ก็ยังมีข่าวดีอยู่ เขาบอกเมื่อเร็ว ๆ นี้ครับ วันนี้เป็นวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๒๐ เมื่อตอนปลายเดือนที่แล้วนี้ ได้ยินข่าวว่า มีพระท่านหนึ่ง มียศเสียด้วย สั่งคนที่ไปประเทศญี่ปุ่น บอกว่าเขาถวายเครื่องปรับอากาศไว้ ช่วยนำหลบภาษีให้ทีเถอะ เอามาแล้วก็ไม่ต้องเสียภาษี ถ้าประเภทนี้ ท่านเป็นอาบัติปาราชิกเลย ถ้าเขานำมา

อันนี้อย่าช่วยกันทำนะครับ มีความเข้าใจไว้ด้วย เรื่องการหลบภาษีนี้ อย่าไปยุ่งกับเขา แต่ว่าของที่เขาถวายไว้ก็ดี เขามาขายให้ก็ดี ที่เรามีความจำเป็น ถ้าบังเอิญของนั้นเป็นของหนีภาษี ถ้าเราไม่รู้อยู่นี่ไม่เป็นไร ถ้าบังเอิญเมื่อเจ้าหน้าที่ภาษี เขารู้เข้า เขามาขอเก็บภาษี อันนี้ต้องเสียให้เขานะขอรับ จะไปบอกว่าอาตมาไม่รู้มาก่อน แล้วไม่ยอมเสียไม่ได้ ยังไง ๆ เราก็ทำใจเราให้เป็นพระดีกว่า กันอเวจีมหานรกไว้

สิกขาบทที่ ๗ ภิกษุชวนผู้หญิงเดินทางด้วยกัน แม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง ต้องปาจิตตีย์

นี่หมายความว่า เดินไปเฉพาะสองต่อสองนะ หนึ่งต่อหนึ่งอย่าไป เอาสองต่อสอง ถ้าสองต่อสองไม่เป็นอาบัติ ถ้าหากว่าไปเป็นขบวนไม่เป็นไร ผมขอแก้ไว้ให้เลย ไปเป็นขบวนใหญ่ อย่างไปทอดกฐิน ทอดผ้าป่า เดินไปไหนมีพระห้าองค์ หกองค์ สิบองค์ มีผู้หญิงเก้าคน สิบคน อันนี้มันไม่เป็นไรหรอกครับ ท่านหมายความ ไปเฉพาะกันมันน่าเกลียด เดี๋ยวเขาจะหาว่าเดินควงกันแบบหนุ่มสาว

สิกขาบทที่ ๘ ภิกษุกล่าวคัดค้านพระธรรมเทศนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ภิกษุอื่นห้ามไม่ฟัง สงฆ์สวดกรรม คือหมายความว่า สงฆ์สวดประกาศข้อความนั้นจบ ต้องปาจิตตีย์

ปาจิตตีย์ตัวนี้คนคัดค้าน ก็หมายถึงว่า คนไม่ยอมรับนับถือ คำสั่งและคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่เป็นพระ กินกับพระ นอนกับพระ บิณฑบาต รับของประเคนอย่างพระ ลงอเวจีครับ ก็แบบท่านกปิลมัจฉา นั้นแหละ ไอ้ตัวนี้นะ คัดค้านพระธรรมวินัย ลงอเวจีแล้วกลับขึ้นมา ยังลงอเวจีใหม่ อันนี้ก็สมควรแล้วขอรับ

สิกขาบทที่ ๙ ภิกษุคบภิกษุเช่นนั้น ร่วมกินก็ดี ร่วมนอนก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ก็เช่นเดียวกันกับท่านโกกาลิกะ ที่คบกับพระเทวทัต ท่านพระเทวทัตไปอเวจี ท่านโกกาลิกะก็ไปอเวจี นี่พระองค์ใดถ้าคบพระท่านผู้คัดค้านพระธรรมวินัย ถ้าพระองค์นั้นท่านลงอเวจีแล้ว ท่านองค์นี้ก็ไปด้วย

สิกขาบทที่ ๑๐ ภิกษุเกลี้ยกล่อมสามเณรที่ภิกษุให้ฉิบหายแล้ว เพราะโทษที่กล่าวคัดค้านพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า ให้เป็นอุปัฏฐากก็ดี ให้ร่วมกินก็ดี ให้ร่วมนอนก็ดี ต้องปาจิตตีย์

ปาจิตตีย์ตัวนี้ นี่ผมก็ว่าไปอเวจีเหมือนกัน ท่านจะสงสัยว่าทำไมจะตัดสินใจ ก็ลงอเวจีซะเรื่อย ก็เพราะว่าผมเห็นพระมาแล้วซิครับ ว่าทำอะไรที่ไม่ควรจะไปอเวจี ชาวบ้านเขาไม่ไปแล้วท่านลง นี่สมัยที่ผมตายผมเห็นมาแล้วนี่ หลังจากตายแล้ว ผมไปหาลุง ลุงแกก็ชี้ให้ดู ผมก็รู้นี่ พระทำปู้ยี่ปู้ยำ เล็กๆ น้อยๆ น่าจะหมดกันไป แต่เปล่า ลงอเวจีป๋อม


สหธรรมิกวรรค วรรคที่ ๘ มี ๑๒ สิกขาบท
นี่มาทางธรรมมิกวรรคที่ ๘ มี ๑๒ สิกขาบท

สิกขาบทที่ ๑ ภิกษุประพฤติอนาจาร ภิกษุอื่นเตือน พูดผัดเพี้ยนว่า ไม่ได้ถามท่านผู้รู้ก่อน ข้าพเจ้าจักไม่ศึกษาสิกขาบทนี้ ต้องปาจิตตีย์

เขาเตือนคนเตือนเขาถึงรู้ ถ้าไม่รู้เขาจะนั่งเตือนทำไม แบบนี้ก็ไม่ใช่พระ ท่านบอกว่าธรรมดาของผู้ศึกษา ถ้ายังไม่รู้สิ่งใด ควรจะรู้สิ่งนั้น ควรไต่ถามบุคคลอื่นก่อน อันนี้ก็ไม่ต้องอธิบาย มันด้าน ใจมันด้านมากไปเสียแล้ว ไม่เป็นการสมควร เพราะว่า ระบบใจด้าน ประเภทนี้ ยังไง ๆ ก็ยังเอาดีกันไม่ได้ นี่น่ากลัวจะไปไม่ได้กี่สิกขาบท เพราะว่านาฬิกาหล่นปุ๊บ เลยไม่รู้เวลาเท่าไหร่

สิกขาบทที่ ๒ ภิกษุอื่นท่องปาฎิโมกข์อยู่ ภิกษุแกล้งพูดให้เธอคลายอุตสาหะ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ คำว่า ท่องปาฎิโมกข์ในที่นี้ ก็หมายความว่า ท่องพระวินัย เวลานี้ ถ้าท่องนวโกวาท ก็ต้องถือว่าเป็นพระปาฎิโมกข์ ก็เป็นพระวินัย

สำหรับวันนี้ ผมก็ไม่อยากจะรบกวนเวลามากนัก เพราะว่าดูนาฬิกา นาฬิกากระโดดปุ๊บลงไปข้างล่าง เลยไม่รู้เวลาเท่าไหร่แน่ นี่ก่อนที่จะว่ากันเสียให้หมดเวลา เราก็มาคุยกันสักนิดดีกว่า ในฐานะที่เราเป็นนักพรหมจรรย์ด้วยกัน นักพรหมจรรย์ต้องทรงความเป็นพรหมจรรย์

คำว่า พรหมจรรย์ นี่แปลว่า มีความประพฤติอย่างประเสริฐ เราควรจะทรงอะไรกันบ้าง

๑.นิพพานัสสะ สัจฉิกิริยายะ เอตัง กาสาวัง คเหตวา เรารับผ้ากาสาวพัตร์มาเพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ศีล สมาธิ ปัญญา ต้องทรงอยู่
๒.จรณะ ๑๕ ต้องปฏิบัติให้ครบถ้วน นี่เตือนกันอยู่ทุกวัน แล้วอย่ามาบอกว่า ลืม บอกว่า เผลอ พูดให้ใจทรามนะ พยายามระมัดระวัง ปรับปรุงใจเสียบ้าง มีอาการทะนง ถือว่าตัวเป็นผู้วิเศษ
๓. บารมี ๑๐ ประการ ทรงกำลังใจให้ครบถ้วน

๔.พรหมวิหาร ๔
๕.นิวรณ์ ๕ ประการนี้ต้องทำลายไป
๖.อคติ ๔ ประการนี้ต้องทำลายไป
๗.อิทธิบาท ๔ ทรงกำลังใจให้ครบถ้วน

เท่านี้ก็พอ คำว่าชั่วไม่มีในสำนักของเรา เอาละ สำหรับการรับฟังพระวินัยในวันนี้ ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอท่านทั้งหลายจงตั้งใจทรงพระวินัยให้เป็นปกติ อย่าใช้คำว่า ไม่รู้ แม้แต่กริยาใด ๆ ก็ตาม อย่าทำพลาดพลั้งขึ้นมา คำว่า ไม่รู้ คำว่า ให้อภัย สำหรับผู้ละเมิดพระวินัยไม่มีในสถานที่นี้

สวัสดี


◄ll กลับสู่สารบัญ


[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 24/6/11 at 15:52 [ QUOTE ]


10

โทษละเมิดพระวินัย แผ่นที่ ๕ ตอนที่ ๒



สำหรับพระวินัยวันนี้ ก็จะขอย้อนต้นสักนิดหนึ่ง ทั้งนี้ก็เพราะว่า มีความต้องการ ให้การรับฟังเข้าไปประสานกัน ด้วยว่าเมื่อวานนี้มาหยุดอยู่แค่สิกขาบทที่ ๒ วันนี้ขอย้อนต้นไป ในสหธรรมิกวรรค วรรคที่ ๘ มี ๑๒ สิกขาบท

สหธรรมิกวรรค วรรคที่ ๘ มี ๑๒ สิกขาบท

สิกขาบทที่ ๑ ท่านกล่าวว่า ภิกษุประพฤติอนาจาร ภิกษุอื่นเตือน พูดผัดเพี้ยนว่า ยังไม่ได้ถามท่านผู้รู้ก่อน ข้าพเจ้าจักไม่ศึกษาสิกขาบทนี้ ต้องปาจิตตีย์

ความจริงคำว่า อนาจาร ก็หมายความว่า ประพฤติละเมิดพระวินัยนั่นเอง ไอ้การละเมิดพระวินัยนี่ มันจะไปดีตรงไหนกันหนอ ผมว่าพระประเภทนี้ปรับปาจิตตีย์ก็ตามระเบียบท่านปรับ ปาจิตตีย์แปลว่าจิตเป็นบาป อนาจารเป็นการแสดงไม่เคารพพระธรรมวินัย ความเป็นพระไม่มี อยู่กินกับพระ ร่วมนอนกับพระ ก็ไปอเวจีสบาย นี่ถ้าใครเห็นอย่างนี้ ถ้าผมทราบเข้า ผมก็ไม่คบกับพระประเภทนั้น ไว้ให้หนักวัด

สิกขาบทที่ ๒ ภิกษุท่องปาฎิโมกข์อยู่ ภิกษุแกล้งพูด ให้เธอคลายอุตสาหะ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ การท่องปาฎิโมกข์ ก็คือ ท่องพระวินัย เขาต้องการจดจำข้อวัตรปฏิบัติ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอน เพราะว่าพระวินัยนี่ รู้หรือไม่รู้ พระพุทธเจ้าก็ปรับโทษ

เพราะถือเพศเป็นบรรพชิต อย่างที่พวกเราชาวบ้าน เขาถือว่าเราจะรู้กฎหมายหรือไม่รู้กฎหมายก็ตาม ถ้าทำผิดกฎหมายก็มีโทษ นี่คนที่ปรับอาบัติปาจิตตีย์ ในเมื่อทำลาย ที่เขาจะต้องทำตามระเบียบปฏิบัติ คนอย่างนี้ผมว่าไม่ใช่พระ ผมถือเลยว่าไม่ใช่นักบวชของพระพุทธเจ้า เป็นนักบวชของเทวทัต ก็ควรจะไปอเวจีมหานรก ไปแน่

ท่านที่ได้ทิพจักขุญาณก็ดี หรือได้มโนมยิทธิก็ดี สังเกตดูทีสิว่า พระพวกนี้ตายแล้วไปไหน ตามไปดูก็ได้ หรือถ้าไม่ตามไปดู ท่านใช้เจโตปริยญาณดูอทิสมานกายของเขา สภาวะมันจะเต็มไปด้วยไฟลุกโชน มีความเร่าร้อน มีสรรพาวุธสับฟัน คนประเภทนี้ถึงไม่มีกำลังใจที่จะสร้างความดี เพราะมันตั้งตัวไม่ติด

สิกขาบทที่ ๓ ภิกษุต้องอาบัติแล้ว แกล้งพูดว่า ข้าพเจ้าพึ่งจะรู้เดี๋ยวนี้เองว่า ข้อนี้มาในพระปาฏิโมกข์ ถ้าภิกษุอื่นรู้อยู่ว่า เธอรู้อยู่ก่อนแล้ว แต่แกล้งพูดกันคำว่า พึงสวดประกาศข้อความนั้น เมื่อสงฆ์สวดประกาศข้อความนั้นแล้ว ถ้าแกล้งทำไม่รู้อีก ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อันนี้ผมว่าต้องสวดหรือไม่สวด มันก็ต้องอยู่แล้ว รู้หรือไม่รู้ตามพระวินัยมีอยู่ แต่ว่าท่านยังใช้คำปรานี อธิบายออกมาอีก ก็ยังดีแล้ว นี่เป็นพระมหากรุณาธิคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ท่านอย่างนี้ ผมก็ไม่ถือว่าท่านเป็นพระ จะมีอะไรมาเป็นพระ การไม่เคารพในพระวินัย คนที่เคารพในพระวินัยครบถ้วน

พระพุทธเจ้ายังไม่เรียกพระ ยังเรียกว่าสมมุติสงฆ์ จะต้องมีอารมณ์ละสังโยชน์ตั้งแต่ ๓ ประการขึ้นไปได้ จึงเรียกว่า พระ เรียกว่าเรายังอยู่ขอบเขตในข่ายของอบายภูมิ มีวินัยครบถ้วนนี่นะ ยังไม่พ้นอบายภูมิ จนกว่าท่านจะเข้าถึงพระโสดาบัน ถ้ายังมาแกล้งทำแบบนี้ มันก็เลยลงอบายภูมิกันแน่ ลงแน่นอน

สิกขาบทที่ ๔ ภิกษุโกรธ ให้ประหารภิกษุอื่น ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ให้ประหาร ตีทุบ ไม่ใช่ฆ่าเลยนะ ถ้าฆ่าเลยเป็นอาบัติปาราชิก ฆราวาสเขาทำ เขาก็ชั่ว ถ้าพระทำอย่างนั้น ก็เลยชั่ว

สิกขาบทที่ ๕ ภิกษุโกรธเงื้อมือดุจจะให้ประหารภิกษุอื่น ต้องอาบัติปาจิตตีย์ นี่ทำท่า ก็ปาจิตตีย์ อารมณ์โกรธ แหม รากเหง้าของอกุศล คือ ๑.โลภะ ความโลภ ๒.โทสะ ความโกรธ ๓.โมหะ ความหลง ถ้าลงมีความชั่วถึงรากเหง้าของอกุศลแล้ว ท่านไม่ไปอเวจี แล้วท่านจะไปไหน

สิกขาบทที่ ๖ ภิกษุโจทย์ฟ้องภิกษุอื่น ด้วยอาบัติสังฆาทิเสสที่ไม่มีมูล ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ไม่มีมูล

แกล้งหาว่าเขาเป็นสังฆาทิเสส นี่ขนาดขั้นแกล้งหาว่าเป็นปาราชิก ไอ้ผมนั่นโดนมาไม่รู้ว่ากี่รอบแล้วแบบนี้ ไอ้แบบนี้ โดนมาหนัก เพื่อนว่ากันตามสบายๆ ผมก็สบายใจ เราไม่ทำ เราไม่เป็นเสียอย่าง มันก็ไม่เดือดร้อน แต่ความเดือดร้อนในที่สุด ก็ไปถูกกับท่านผู้กล่าวหา เป็นผู้เดือดร้อนไปเอง นี่เป็นอาบัติปาจิตตีย์ ผมว่ามันน้อย ปาจิตตีย์แปลว่าจิตเป็นบาป ก็ใช้ได้ แต่ว่าบาปหนัก บาปหนักขนาดขั้นอเวจีมหานรก

สิกขาบทที่ ๗ ภิกษุแกล้งก่อความรำคาญให้แก่ภิกษุอื่น ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เขาทำอะไรอยู่ แกล้งส่งเสียง การอยู่ร่วมกันก็เหมือนกัน ก็ต้องดูเพื่อนกัน จะหลับจะนอน จะพักจะผ่อน จะภาวนา ก็ต้องดูว่าเวลาไหนมันควรกันอย่างไร

ไอ้การแกล้งนี่มันมี ๒ อย่าง แกล้งเพื่อโกรธ แกล้งเพื่อปรารถนาจะขับไล่เขาไปเสียที่อื่น ตัวจะได้อยู่อย่างเป็นสุข ความจริงถ้าเขาไปแล้ว เราก็ไม่เป็นสุข เพราะเราแกล้ง เพราะเขาเกลียดน้ำหน้าเราเสียแล้ว ในเมื่อเขาเกลียดน้ำหน้าเรา เราก็กลายเป็นคนมีศัตรู แล้วอย่าลืมว่าคนคนนั้น เขาไม่ใช่คนคนเดียว เขามีพี่มีน้อง มีพวกมีพ้อง มีพ่อมีแม่ เขาจะรุมเกลียดเรา แล้วก็มีเพื่อน รวมกันเกลียดเป็นกลุ่ม

เป็นอันว่าเราเองจะต้องเป็นผู้มีศัตรูกลุ่มใหญ่ แล้วมันจะมีความสุขได้ยังไง พูดไปก็เหนื่อย นักบวชเวลานี้มันก็เป็นแค่ แต่สักว่าบวชเยอะแยะ บางทีบวชมาตั้งนานแล้ว แก่เหลาเหย่ แล้วก็ยังไม่ได้ความก็มี น่าสลดใจ พระธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ พระองค์ตั้งใจสอนไว้ดี ๆ แต่ว่าคนอัปปรีย์ ที่เข้ามาทำลายพระวินัยก็มีมาก น่าสลดใจ เหนื่อยใจ

สิกขาบทที่ ๘ ภิกษุวิวาทกันอยู่ ภิกษุไปแอบฟังความ เพื่อจะได้รู้ว่าเขาว่าอะไรตน หรือพวกของตนบ้าง ต้องปาจิตตีย์ นี่เขากำลังทะเลาะกัน ย่องเข้าไปฟัง โดยมารยาทมันไม่สมควร เอาละท่านปรับอาบัติอย่างนี้ ไอ้อาบัติทุกสิกขาบทนะ โปรดทราบนะ มันลงนรกทุกสิกขาบท

สิกขาบทที่ ๙ ภิกษุให้ฉันทะ คือมอบยอมให้ทำสังฆกรรม คือความยอมให้ทำสังฆกรรม ที่เป็นธรรมแล้ว ภายหลังกลับติเตียนสงฆ์ว่า ทำกรรมนั้น ไปติเตียนสงฆ์ผู้กระทำกรรมนั้นต้องปาจิตตีย์ ก็ดีเหมือนกัน ไอ้ความเลวของจิต ผมไม่อธิบาย

เมื่อภิกษุมอบฉันทะ คือว่า ไอ้ฉันทะนี่ แปลว่า ความพอใจ บอกว่าท่านทำเถอะ ผมไว้วางใจท่าน ที่ท่านจะทำอย่างนี้เห็นสมควรแล้ว ตอนนี้เวลาเขาทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว ไปบอก แหม ไม่เป็นเรื่อง ผมไม่เข้าร่วมเสียคนเดียวล่ะก็ ไม่เป็นเรื่อง ไม่ได้ความจริง ๆ เลวกันจริงๆ แบบนี้ไม่ไหว ไม่ไหว เป็นยังงั้นไป ท่านปรับอาบัติปาจิตตีย์ อย่าลืมกันว่าอาบัติทุกสิกขาบทนะไปนรกหมด

สิกขาบทที่ ๑๐ สงฆ์กำลังประชุมกัน เพื่อจะตัดสินข้อความอย่างใดอย่างหนึ่ง ภิกษุอยู่ในที่ประชุมนั้น หลีกไปในขณะที่ตัดสินความนั้น ยังไม่เสร็จ ไม่ให้ฉันทะก่อน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ลุกไปเสียต้องปาจิตตีย์นะ เป็นอันว่าเวลาประชุมกัน จะไปละก็ มอบหมายสิครับ มีกิจ ผมมีกิจจำเป็นมากนะครับ ประชุมด้วยไม่ได้ ถ้าจะกระไรก็ดี พระคุณเจ้าทั้งหลายทำไปเถอะครับ เพราะท่านเองก็เป็นผู้ทรงธรรมวินัย

สิกขาบทที่ ๑๑ ภิกษุพร้อมด้วยสงฆ์ ให้จีวรเป็นบำเหน็จ แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งแล้ว ภายหลังติเตียนภิกษุอื่นว่า ให้เพื่อเห็นแก่หน้ากัน ต้องปาจิตตีย์

นี่เกี่ยวกับความดีความชอบของพระสงฆ์ ที่ทำไปแล้วเห็นว่า เป็นการสมควร ร่วมกันให้ ทีหลังไปบอกว่า ไอ้ที่ให้เนี่ยะ มันพวกพ้องของเขานะ ไม่ใช่พวกของฉัน ที่ให้นี่ไม่มีความเป็นธรรมอะไร มันให้เฉพาะพวกของมัน เห็นแก่หน้ากัน เป็นอันว่าเป็นอาบัติปาจิตตีย์ โถ ไอ้คนอย่างนี้ มันไม่ใช่พระ ไม่ต้องปรับอาบัติก็ได้ ลงนรกไปแล้ว

สิกขาบทที่ ๑๒ ภิกษุรู้อยู่ น้อมลาภที่ทายกตั้งใจถวายสงฆ์เพื่อบุคคล ต้องปาจิตตีย์ คำว่าถวายสงฆ์นี่ถวายเพื่อหมู่คณะ ไม่ใช่เพราะภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง แต่ไปแนะนำเขาบอกว่า อย่าเลย การถวายสงฆ์ไม่ดี ถวายพระองค์นั้นองค์นี้เถอะ ดี

อย่างบอกว่านี่เขามาถวายสงฆ์ แกมาวัดนี่ บอกเขาถวายหลวงพ่อท่านเถอะ หลวงพ่อท่านเสียค่าไฟฟ้า ท่านเสียค่าอาหาร ท่านก่อสร้างถาวรวัตถุ ต้องซ่อมแซมอยู่เสมอ ใช้จ่ายทุกวัน อย่างนี้ท่านปรับเป็นอาบัติปาจิตตีย์ ความจริงของถวายสงฆ์นะ สงฆ์ก็มีสิทธิอยู่แล้ว แต่ว่ามันมีสิทธิร่วมกันในส่วนกลาง ไม่ใช่ไปใช้เฉพาะโดยส่วนตัว


รัตนวรรค วรรคที่ ๙ มี ๑๐ สิกขาบท

สิกขาบทที่ ๑ ภิกษุไม่ได้รับอนุญาตก่อน เข้าไปในห้องที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จอยู่กับพระมเหสี ต้องปาจิตตีย์

ไม่ต้องอธิบายละมั้ง ถ้าห้องเราๆ ก็ยังไม่ควรเข้ากัน ที่วัดเราก็ไม่อนุญาตให้เข้าห้องคนอื่นอยู่แล้ว เพราะเป็นการเสียมารยาท นี่ถ้าพระมหากษัตริย์ท่านอยู่ตามลำพังกับพระราชินี ดันเข้าไปในห้องท่านอย่างนี้ มันก็เกินพอดี ฆราวาสเขายังไม่ทำ พระไปทำก็เลวกว่าฆราวาส ปาจิตตีย์ข้อนี้ผมว่าคนนี้ไม่ใช่พระ มารยาทเพียงแค่นี้ยังไม่รู้ จะไปรู้อะไรยิ่งไปกว่านี้

สิกขาบทที่ ๒ภิกษุเห็นเครื่องบริโภคของคฤหัสถ์ตกอยู่ ถือเอาเป็นของที่เก็บได้เองก็ดี ให้ผู้อื่นถือเอาก็ดี ต้องปาจิตตีย์

เว้นไว้แต่ของนั้นตกอยู่ในวัด หรือในที่อาศัย ต้องเก็บไว้ให้แก่เจ้าของ ถ้าไม่เก็บต้องอาบัติทุกกฎ เอ ท่านปรับปาจิตตีย์ ถ้าสมมติว่าวัตถุนี้เกินกว่า ๕ มาสก จะคิดยังไงกันดี เงินเกินกว่าหนึ่งบาท แล้วเงินเป็นหมื่นเป็นแสนนี่ ถือว่าเก็บของ ปรับแค่ปาจิตตีย์นี่ ก็ปรับตามท่านเถอะ แต่ว่าควรไล่ออกไปให้พ้นจากสำนักเลย ไม่ควรเอาไว้ ไม่มีความเป็นพระ

สิกขาบทที่ ๓ ภิกษุไม่ยอมบอกลาภิกษุอื่นที่มีอยู่ในวัดก่อน เข้าไปบ้านในเวลาวิกาล ต้องอาบัติปาจิตตีย์

เว้นไว้แต่การด่วน นี่ที่เราตั้งกันไว้ในระเบียบ แต่มันอยู่ในวินัย ถ้าไอ้ปาจิตตีย์ จิตเป็นบาป ถ้ามันบาปเรื่อยๆ ละมันไปไหน ไอ้การด่วน พ่อเจ็บหนัก แม่เจ็บหนัก ไฟไหม้บ้าน เกิดอันตรายหนักกับญาติผู้ใหญ่ต้องรีบไป ถ้าอยู่ๆ บอกด่วน แน่ะ จะไปเสียเฉย ๆ ก็เป็นปาจิตตีย์ วัดเรามีไหมหนอ ลักออกจากวัดบ่อย ๆ แต่บอกลาเสียก่อนก็ไม่เป็นไร

สิกขาบทที่ ๔ ภิกษุทำกล่องเข็ม ด้วยกระดูกก็ดี ด้วยงาก็ดี ด้วยเขาก็ดี ต้องปาจิตตีย์

ต้องต่อยกล่องเข็มนั้นเสียก่อน จึงแสดงอาบัติตก ต่อยคือทุบให้มันพังไปเลย ไม่ใช่ทำให้มันบิ่นนิดหนึ่ง นี่เคยรับคำสอนจากบางท่านบอกไม่เป็นไร ทำให้มันบิ่นเสียนิด ๆ เป็นกัปปิยะ ทำให้ร่องรอยเสียหน่อย นี่ท่านบอกให้ต่อย ให้ทำลาย อย่างท่านปิณโฑลภารทวาชะ ไปเอาบาตรท่อนจันทร์มา พระพุทธเจ้าสั่งทุบซะละเอียดเลย ต้องทำแบบนั้น อย่าสักแต่ว่าสอนกัน

สิกขาบทที่ ๕ ภิกษุทำเตียงหรือตั่ง พึงทำให้มีเท้าได้เพียง ๘ นิ้วพระสุคต เว้นไว้แต่แม่แคร่ ถ้าทำให้เกินกำหนด ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ต้องตัดให้ได้กำหนดนั้นเสียก่อน ตามที่ท่านกำหนดไว้ เตียงหรือตั่งให้มีเท้าเพียง ๘ นิ้วพระสุคต แต่ว่าแคร่เขาตอกลงไป ๘ นิ้วพระสุคต ผมวัดไม่ได้เหมือนกัน

เอา ๘ นิ้วฟุตดีกว่านะ มันง่ายดี ถ้า ๘ นิ้วพระสุคต จริงๆ ก็เวลานั้น ท่านสูงตั้ง ๘ ศอกของคนสมัยนั้น เวลานี้ ๘ นิ้วของท่าน ก็น่ากลัวจะถึง ๔ เมตรละมั้ง เอาแค่ ๘ นิ้วฟุตก็แล้วกันนะ ไอ้แสดงอาบัตินี่ ผมว่าไม่ควรมีอาบัติแสดงดีกว่าน่า อย่าเป็นอาบัติกันเสียเลยดีกว่า มันไม่หนักไม่หนาอะไรเลยสำหรับพระวินัย

สิกขาบทที่ ๖ ภิกษุทำเตียงหรือตั่งที่หุ้มด้วยนุ่น ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ต้องรื้อเสียก่อนจึงแสดงอาบัติตก นี่ท่านกลัว มันจะโก้เกินไปจะติดอาการนุ่มนิ่ม

สิกขาบทที่ ๗ ภิกษุทำผ้าปูนั่ง พึงทำให้ประมาณยาว ๒ คืบพระสุคต กว้างคืบหนึ่ง ชายคืบหนึ่ง ถ้าทำให้เกินนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ต้องตัดให้ได้ประมาณเสียก่อน จึงแสดงอาบัติตก

ผ้าปูนั่ง ทำให้ได้ประมาณ ๆ นั้นยาว ๒ คืบพระสุคต ๒ คืบนี่ โอ้โฮ เอ้า เอาแค่สบาย ๆ ที่เขาถวายเวลานี้ก็ไม่เป็นไร นี่หมายถึงว่าทำเองนะ ถ้าคนอื่นเขาถวายมา ก็เป็นเรื่องของเขา ถ้าเราทำเอง พระพุทธเจ้าเกรงจะรบกวนเขามากเกินไป เพราะเราไม่มีอะไร ทุกอย่างจะทำขึ้น มันต้องขอโน่นขอนี่ จากชาวบ้านเขา เป็นการรบกวนเกินพอดี ท่านจึงให้ยับยั้ง

สิกขาบทที่ ๘ ภิกษุทำผ้านุ่งปิดแผล พึงทำให้ได้ประมาณ ประมาณนั้นยาว ๔ คืบพระสุคต กว้าง ๒ คืบ ถ้าทำให้เกินกำหนดนั้น ต้องปาจิตตีย์ ต้องตัดให้ได้ประมาณเสียก่อน จึงแสดงอาบัติตก ผมว่าเวลานี้ควรทำให้สั้นกว่านั้น ถ้าขืนทำให้ยาวแค่ ๔ คืบพระสุคต กว้าง ๒ คืบ ก็ไม่ต้องห่วงละ เดินไม่ได้กันละ ยาวเยิ่น

[/color] สิกขาบทที่ ๙ ภิกษุทำผ้าอาบน้ำฝน พึงทำให้ได้ประมาณ ประมาณนั้นยาว ๖ คืบพระสุคต กว้าง ๒ คืบ ถ้าทำเกินกำหนดนี้ ต้องปาจิตตีย์ ต้องตัดให้ได้ประมาณเสียก่อน จึงแสดงอาบัติตก

อย่าลืมนะ คืบพระสุคต นี่ แหม ยาว กว้าง ๒ คืบ เวลานี้เลยหัวเลย คนสมัยนั้นโตขนาดไหน แค่สมัยอยุธยาก็โตกว่าสมัยนี้ตั้งเยอะแยะ ถึงว่าเราจัดเอานิ้วฟุตดีกว่านะ มันง่ายๆ ดี แต่ว่าเล็กกว่าปริมาณที่ท่านให้อนุญาตไว้มากก็เป็นการสมควรจะได้วัดกันได้สะดวก

สิกขาบทที่ ๑๐ ภิกษุทำจีวรให้เท่าจีวรของพระสุคตก็ดี เกินกว่านั้นก็ดี ต้องปาจิตตีย์ ประมาณจีวรพระสุคตนั้น ๙ คืบพระสุคต ยาวนะ กว้าง ๖ คืบพระสุคต ต้องตัดให้ได้ประมาณเสียก่อน ถึงจะแสดงอาบัติตก ข้อนี้ไม่มีใครเป็นอาบัติ เพราะว่าจีวรเวลานี้ ไม่ยาวไม่ใหญ่ถึงขนาดนั้น สบาย ๆ ไม่ต้องห่วง

ปาฎิเทสนียะ มี ๔ สิกขาบท



ปาฎิเทสนียะ ท่านกล่าวว่ามี ๔ ข้อ
๑. ภิกษุรับของเคี้ยวของฉัน แด่มือนางภิกษุณี ที่ไม่ใช่ญาติ ด้วยมือของตนเองมาบริโภค ต้องอาบัติปาฎิเทสนียะ หมายความว่า นางภิกษุณีที่ไม่ใช่ญาติ ก็ไม่มีอาบัติแล้วซินะ หมด ผ่านไปเลย

๒. ภิกษุฉันในที่นิมนต์ ถ้านางภิกษุณีสั่งให้ทายก เขาทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ถวาย เธอพึงไล่นางภิกษุณีไปเสีย ถ้าไม่ไล่ไป ต้องปาฎิเทสนียะ อันนี้ก็ควรจะสงเคราะห์กับผู้หญิงที่จัดการเจ้ากี้เจ้าการกับวัดด้วย ว่าทำอย่างนี้หลวงพี่ชอบ ทำอย่างนั้นหลวงน้าชอบ ทำอย่างโน้นหลวงพ่อชอบ อย่างนั้นหลวงปู่ชอบ อันนี้ไม่ควร อย่าไปยุ่งเขา ให้มันเป็นไปตามศรัทธาเขาดีกว่า

๓. ภิกษุไม่เป็นไข้ เขาไม่ได้นิมนต์ รับของเคี้ยวของฉัน ในตระกูลที่สงฆ์สมมติว่า เป็นเสขะ เสขะ เขาวัดตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปนะ มาบริโภค ต้องอาบัติปาฎิเทสนียะ นี่ถ้าเขาไม่ได้นิมนต์ ตระกูลไหนก็ไม่ควรเข้าไปทั้งนั้น เขาไม่ได้นิมนต์ ดันเข้าไปได้อย่างไง เข้าไปก็เลวเกินไป ชาวบ้านเขาไม่เชิญ นี่ยังไม่มีใครเขาเข้าไปกิน พระเขาไม่นิมนต์ เข้าไป

อย่าว่าแต่ตระกูลที่เขาเป็นเสขะเลย ตระกูลไหนก็ไม่ควรเข้าไป ควรจะปรับอาบัติอะไรดีล่ะ ปรับอาบัติว่าไม่ใช่พระ อย่าหาว่าผมปรับแรงกว่าพระพุทธเจ้าเลย อย่างนี้ไม่ใช่จริยาของพระ ก็จะเป็นพระได้อย่างไร พระมีการศึกษาดี พระต้องมีความประพฤติดี พระ แปลว่า ผู้ประเสริฐ ไปรุ่มร่ามแบบนั้น จะเรียกว่าผู้ประเสริฐอยู่รึ ถ้าไม่ประเสริฐ ก็แสดงว่า ไม่ใช่พระ

๔. ภิกษุอยู่ในเสนาสนะป่าเป็นที่เปลี่ยว ไม่เป็นไข้ รับของเคี้ยวของฉัน ที่ทายกไม่ได้แจ้งความไว้ก่อน ด้วยมือของตนเอง มาบริโภค ต้องอาบัติปาฎิเทสนียะ นี่ก็เหมือนกัน รับของเคี้ยวของฉัน ที่ทายกไม่ได้แจ้งความ ให้ทราบก่อน ที่เขายังไม่ได้บอกว่าให้ แล้วท่านก็จะไปเอามาฉัน มันจะได้อย่างไร โถ เป็นอาการของขโมยซินะ ก็ดีแล้วนี่ ถ้าผมปรับ ผมปรับเสร็จหมด เพราะว่าแกไม่ใช่พระ ไม่ใช่เจ้า ปรับให้ไม่ใช่พระเลย

เสขิยวัตร จัดเป็น ๔ หมวด



ต่อไปก็เรื่องจริยาวัตร ท่านบอกว่า เสขิยวัตร วัตรที่ภิกษุต้องศึกษา เรียกว่า เสขิยวัตร วัตร หรือ วัด-ตะ-ระ แปลว่า ปฏิบัติ วัตรปฏิบัติ เสขิยวัตรนั้นจัดเป็น ๔ หมวด
หมวดที่ ๑ เรียกว่า สารูป
หมวดที่ ๒ เรียกว่า โภชนปฎิสังยุต
หมวดที่ ๓ เรียกว่า ธัมมเทศนาปฎิสังยุต
หมวดที่ ๔ เรียกว่า ปกิณณกะ

หมวดที่ ๑ สารูป มี ๒๖ สิกขาบท ท่านนับเป็นคู่ คือ

๑-๒ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักนุ่ง หรือเราจักห่ม ให้เรียบร้อยอยู่เสมอ การนุ่งห่มให้เรียบร้อย เป็นปริมณฑล คือผ้านุ่งประมาณกลางแข้ง ยาวลงไปนะ จีวรก็เหมือนกัน ให้เรียบร้อย เป็นปริมณฑล แลดูงาม แต่ไม่ใช่แลดูงามจนเป็นกิเลส

๓-๔ ท่านกล่าวว่า ภิกษุพึงทำการศึกษาว่า เราจักปิดกายด้วยดี ขณะที่ไปหรือว่านั่งอยู่ในบ้าน ไปในบ้านหรือเดินไปก็ดี หรือนั่งอยู่ในบ้านก็ดี จะปกปิดกาย ไม่ปล่อยให้แว๊บโน่น แว๊บนี่ มันเป็นเรื่องน่าสลด

๕-๖ ท่านกล่าวว่า เราควรศึกษาว่า เราจักระวังมือและเท้าให้ดี ขณะที่ไปในบ้าน ไม่ปล่อยให้มือและเท้า มันโยกเยก โวกเวกนะ

เอาละสำหรับวันนี้ล่ะก็ขอยุติกันเพียงเท่านี้ก็แล้วกันสำหรับด้านพระวินัย ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะมองดูเวลา เวลาก็ไล่เข้ามาเต็มทีแล้ว แล้วก็ก่อนที่จะหยุดในตอนนี้ ก็มาซ้อมความเข้าใจกันสักนิดดีไหมว่า

นิพพานัสสะ สัจฉิกิริยายะ เอตัง กาสาวัง คเหตวา พระบาลีในสมัยโบราณ ท่านกล่าวว่า ข้าพเจ้าขอรับผ้ากาสาวพัตร์เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน นี่เราบวชกันมา เราบวชเพื่อพระนิพพานนะ ไม่ใช่บวชเพื่อมาพักผ่อนกัน

คนที่จะเข้าถึงพระนิพพานเขาทำกันอย่างไร

๑. กำจัดราคะ ความรักในระหว่างเพศ เขาทำอย่างไรกัน กำจัดราคะ ก็ใช้กายาคตานุสติ กับอสุภกรรมฐาน ร่วมกับสักกายทิฐฎิ ประหัตประหารมันเสียให้สิ้นไป

๒. กำจัดโลภะ คือความโลภ ขึ้นชื่อว่า อาชีพใด ๆ จงอย่ามีแด่บรรดาภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ที่ทำขึ้นมาเป็นส่วนตัว หมายความว่า ทำขึ้นมาเป็นประโยชน์ส่วนรวม ประโยชน์ของสงฆ์ ที่ไม่คัดต่อพระธรรมวินัย นั่นก็สมควร ถ้าทำขึ้นมาเป็นส่วนตัว อันนี้มันก็ไม่ไปนิพพานแล้วซิ เป็นตัวโลภ กลายเป็นนรกไป

๓. โทสะ คือความโกรธ ซึ่งคือรากเหง้าตัวสำคัญ ต้องทำลายด้วยอำนาจของพรหมวิหาร ๔ หรือกสิณ ๔ ได้แก่ กสิณสีแดง สีเขียว สีเหลือง สีขาว ร่วมกับสักกายทิฐฎิ เพื่อทำลายความโกรธ ความพยาบาทให้สิ้นไป

๔. โมหะ ความหลง ทำลายด้วยอำนาจอริยสัจ วิปัสสนาญาณ

นี่เป็นอันว่าเราบวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา ความมุ่งหมายคือย่างนั้น ก็ต้องทำให้ครบ ก่อนจะครบก็ต้อง

๑.มีจรณะ ๑๕ ครบถ้วน ไม่ใช่จำครบถ้วนนะ ปฏิบัติได้ครบถ้วน
๒. มีบารมี ๑๐ ครบถ้วน
๓. มีพรหมวิหาร ๔ ครบถ้วน
๔.มีอิทธิบาท ๔ ครบถ้วน
๕.ละนิวรณ์ ๕ ได้
๖.ละอคติ ๔ ได้

เป็นอันว่าจริยาใด ๆ ที่องค์สมเด็จพระจอมไตรทรงสอนทุกอย่างต้องทำให้ได้ครบ แล้วก็สมถ วิปัสสนา เราศึกษากันมา แหม มากเหลือเกิน ปีหนึ่ง ๓๖๕ วัน วันหนึ่งเรารับฟังกัน ๔ เที่ยว เราควรดูตัวอย่างพระเรวัตร ท่านรับฟังเดี๋ยวเดียวก็เป็นพระอรหันต์ได้ เราฟังกัน ๔ เที่ยวยังไม่ได้อะไรเลย ก็ต้องคิดว่า ภาวะที่เราจะพึงได้ก็คือ อเวจีมหานรก วันนี้ก็ขอยุติกันไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอความสุขสวัสดี จงมีแด่ท่านที่มีความประพฤติดี ประพฤติชอบ

สวัสดี


◄ll กลับสู่สารบัญ


[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 9/7/11 at 15:01 [ QUOTE ]


11

โทษละเมิดพระวินัย แผ่นที่ ๖ ตอนที่ ๑



สำหรับพระวินัยวันนี้ ก็จะขอพูดถึงเสขิยวัตร ต่อจากวานนี้ ท่านกล่าวว่า

๗-๘ เราจักมีตาทอดลง ขณะที่ไปในบ้าน หรือนั่งในบ้าน

๙-๑๐ เราจักไม่เวิกผ้า ขณะที่ไปหรือว่านั่งอยู่ในบ้าน หมายความ เวลาที่เดินไปในบ้านก็ดี หรือนั่งอยู่ในบ้านก็ดี จะไม่เวิกผ้าให้เนื้อปรากฏในส่วนที่ผ้าปกปิด

๑๑-๑๒ เราจักไม่หัวเราะ หัวเราะขณะที่ไปหรือว่านั่งอยู่ในบ้าน หัวเราะนี่มันเกินพอดีนะ เอิ๊กอ๊าก ๆ ยิ้มแย้มแจ่มใสเบา ๆ คงเป็นได้

๑๓-๑๔ เราจักไม่พูดเสียงดังเกินไป ขณะที่ไปในบ้าน หรือว่านั่งในบ้าน

๑๕-๑๖ เราจักไม่โคลงกายนั่ง โคลงไป โคลงมา แบบขี้เมา สั่นไป สั่นมา โยกไป โยกมา ขณะที่นั่ง ที่ไปหรือนั่งอยู่ในบ้าน

๑๗-๑๘ เราจักไม่ไกวแขน ไกวแขนยาวๆ แบบเจ้าชู้ ขณะที่ไปในบ้าน หรือนั่งอยู่ในบ้าน

๑๙-๒๐ เราจักไม่สั่นศีรษะ ไอ้แบบสั่นศีรษะนี่ แหม ไม่ชอบจริง ๆ ขณะที่ไปในบ้าน หรือนั่งในบ้าน

คนที่มาหาผมที่วัดเหมือนกัน เวลาพูด พยักหน้าหงึก ๆ ผมประนามคนประเภทนี้ว่า เป็นคนเลว ไม่มีคารวะ ในสถานที่ ไอ้แบบพยักหน้านี่ เขาถือว่า เป็นกริยาที่เลวมาก ถ้าเด็กพูดกับผู้ใหญ่ ถ้าเพื่อนกันก็อีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเพื่อนกันก็ไม่ควร เวลาพูดพยักหน้าหงึก บางทีพูดที พยักหน้าที ๆ คนประเภทนี้ อยากจะขับให้ออกไปเสียทันที เพราะมันเป็นกริยาที่เลวๆ มาก ความจริงธรรมจริยา เราก็เคยเรียนกันมานะ รู้สึกว่าเวลานี้มันหาย ๆ ไปไหนหมดก็ไม่ทราบ อย่าว่าแต่พระ ฆราวาส ผมก็ยังเห็นว่าเขาเลวเลย

๒๑-๒๒ เราจักไม่เอามือค้ำกาย ขณะที่ไปในบ้าน หรือนั่งในบ้าน นั่งท้าวแขน

๒๓-๒๔ เราจักไม่เอาผ้าคลุมศีรษะ ขณะที่ไปในบ้าน หรือนั่งในบ้าน อันนี้ผมอยากจะบอกว่า เว้นไว้แต่มันร้อนจัด หรือฝนตก

๒๕ เราจักไม่เดินกระหย่งเท้า เข้าไปในบ้าน เดินกระหย่งๆ นี่ ปัดโธ่ เอ๊ย มันก็น่าเกลียดอยู่แล้วนะ ก็รู้ ๆ อยู่ มันเป็นมรรยาท

๒๖ เราจักไม่นั่งรัดเข่า นั่งกอดเข่า เมื่ออยู่ในบ้าน นี่ ท่านปรับอาบัติหมดนะ มรรยาทตัวนี้ ปรับอาบัติหมด อาบัติทุกกฎ

โภชนปฏิสังยุต มี ๓๐ สิกขาบท ท่านกล่าวว่า

๑. เราพึงทำการศึกษาว่า เราจักรับบิณฑบาตโดยเคารพ การรับบิณฑบาตโดยเคารพ คือรับด้วยอาการสำรวม เวลาที่เราเดินบิณฑบาต สำหรับพระหรือเณร ฆราวาสเขาไม่บิณฑบาต เวลาเช้ามืด ตื่นขึ้นมา ขอให้เข้าทำสมาบัติให้เต็มที่ ในอัตราที่เราจะพึงได้ ขณะที่เดินไปบิณฑบาต ให้คุมอารมณ์ เป็นสมาธิตลอดไป หรือว่าพิจารณาวิปัสสนาญาณตลอดไป

เวลารับ รับด้วยอาการสงบ มองดูแต่เฉพาะในบาตร ด้วยความเคารพ เขาใส่บาตรแล้วให้ตั้งจิตอธิษฐานว่า ขอท่านผู้มีคุณ สงเคราะห์ให้ชีวิตเรานี้ จงมีความเป็นอยู่เป็นสุข มีการคล่องตัวในการทรงชีวิต และขอท่านจงเป็นผู้ถึงพระธรรมวินัย เข้าถึงธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบรรลุแล้วในปัจจุบันนี้เถิด ตั้งใจสนองความดี ความกตัญญูกตเวที ในฐานะที่เขาให้กิน ให้ใช้ ให้ชีวิต อย่าเดินบิณฑบาต แบบประเภท แหม เป็นนายชาวบ้าน มันเกินพอดี

๒.เมื่อรับบิณฑบาต เราจะแลดูแต่ในบาตร ด้วยอาการสำรวม ไม่ใช่ดูว่า ใส่ข้าวน้อย ใส่แกงมาก หรือใส่กับอะไร องค์นี้ใส่อะไร องค์โน้นใส่อะไร ไม่ใช่อย่างนั้นนะ มองดูด้วยความสำรวม

๓ . เราจักรับแกงพอสมควรแก่ข้าวสุก แต่ทว่า ถ้าทายกตั้งใจถวายจริงๆ ก็รับมาเถอะ ถ้าหากว่า แบบเวียนเทียนในกรุงเทพฯ นี่เขามีเวียนเทียนกันนะ รับไปรับมา วนไปวนมา นั่นแหละ ดี ไม่ดี ติดต่อกับคนที่เขาขายของ ขายข้าว ขายแกง ขายกับ ในงานพระพุทธบาท สมัยก่อนก็เคยมีแบบนี้ไม่ใช่พระหรอก ผมถือว่าไม่ใช่พระหรอก มันเป็นอาบัติ แล้วจะลงอเวจี

๔.เราจักรับบิณฑบาต แต่พอเสมอขอบปากบาตร เว้นไว้แต่ทายกเขาใส่มาก หนีไม่พ้น ผมก็เคยโดนมาแล้ว ก็รับมาเถอะ ถ้ามันไม่จำเป็นจริง ๆ หลีกเลี่ยงได้ พอเต็มปากบาตร ก็กลับ

๕.เราจะฉันบิณฑบาตโดยเคารพ การฉันข้าวนี่ ต้องพิจารณาเป็นอาหาเรปฏิกูลสัญญาเสียก่อน เราศึกษากันแล้วนะ และก็จงอย่าสนใจกับกับข้าวว่ามันจะอร่อย หรือไม่อร่อย เวลาฉันก็อย่าคุยกัน ฉันโดยเคารพ ให้มีสภาวะแห่งความเป็นพระ บวชทั้งทีอย่าให้มันลงนรก อย่าลงทุนซื้อนรก

๖.เมื่อฉันบิณฑบาต จะแลดูเฉพาะในบาตร กับข้าววางที่ไหนก็รู้ ชำเลือง ๆ ดูนะ ถือว่าเป็นการสำรวมนั่นเอง ไม่ใช่มองซ้าย มองขวา มองไกล

๗.เราจักไม่ขุดข้าวสุกให้แหว่ง หรือฉันให้โบ๋ เก็บกวาดให้เสมอ ๆ กัน หรือตักข้างๆ เป็นชั้น ๆ ตักข้างมันก็ได้นะ ไอ้ขุดแหว่งกลางน่าเกลียด

๘.เราจักฉันแกงพอสมควรแก่ข้าวสุก นี่ไม่ใช่ตะกละ โภชเนมัตตัญญุตา รู้จักประมาณในการกินอาหารแต่พอสมควร ไม่ใช่โภชเนมัตตัญญุตากละ แกงอะไรดีๆ กับอะไรดีๆ ตักมาหมกไว้ในข้าวมากๆ

๙.เราจักไม่ขยุ้มข้าวสุกตั้งแต่ยอดลงไป คือปาดให้เรียบ กวาดให้เรียบๆ มันดูสวย เป็นมรรยาท ชาวบ้านเขาจะได้ไม่ติ

๑๐.เราจักไม่กลบแกงหรือกับข้าว ด้วยข้าวสุก เพราะอยากจะได้มาก นี่โภชเนมัตตัญญุตากละ

๑๑.เราไม่เจ็บไข้ จะไม่ขอแกงหรือข้าวสุก เพื่อประโยชน์แก่ตนมาฉัน จำให้ดีนะ ถ้าเราไม่เจ็บไข้นะ มันพอจะหาได้ ก็ไปหาเอา บิณฑบาตเป็นวัตรอย่างไรละ เห็นมั๊ย ฟังแล้วก็จำนะ ต้องจำให้หมด

๑๒.เราจักไม่ดูบาตรผู้อื่น เพื่อที่จะยกโทษ คิดว่าแหม แกงมากไป กับมากไป อย่างนี้เป็นต้นนะ ลำบากเหมือนกันนะ

๑๓.เราจักไม่ทำคำข้าวให้ใหญ่นัก เอาแต่พอดี ๆ อย่าให้มันใหญ่เกินไป

๑๔.เราจักไม่ทำคำข้าวให้กลมกล่อม สมัยก่อนเขาฉันด้วยมือ ปั้นซะกลมบ้อง

๑๕.เมื่อคำข้าวเข้าปาก เราจักไม่อ้าปากไว้ท่า หมายความว่าอ้าไว้ก่อน ยังไม่ถึง อย่าพึ่งอ้า อ้า ตั้งท่าไว้ก่อน น่าเกลียด ลองอ้า แล้วส่องกระจกดูแล้วกันนะ

๑๖.เมื่อฉันอยู่ เราจักไม่เอานิ้วมือสอดเข้าไปในปาก ก็ง่าย ๆ เพื่ออะไรก็ช่างเถอะ มรรยาทก็แล้วกัน

๑๗.เมื่อข้าวอยู่ในปาก เราจะไม่พูด แหมน่าเกลียด จริง ๆ นะ พูดหงำ ๆ หงำ ๆ ไม่ดี

๑๘.เราจักไม่โยนคำข้าวเข้าปาก แหม โยนคำข้าว ทำอย่างเด็ก ๆ นะ มันก็เกินพอดีนะขอรับ

๑๙.เราจักไม่ฉันกัดคำข้าว เวลานี้เราใช้ช้อน กัดนิดๆ ก็น่าเกลียด

๒๐.เราจักไม่ฉัน ทำกระพุ้งแก้มให้ตุ่ย มันก็ง่ายๆ นะ

๒๑.เราจักไม่ฉันพลาง สะบัดมือพลาง นี่เป็นเรื่องของมรรยาท

๒๒.เราจักไม่ฉันโปรยเมล็ดข้าวให้ตกลงในบาตร หรือในที่นั้นๆ

๒๓.เราจักไม่ฉันแลบลิ้น โห มันสวยนักรึ แลบลิ้นนะ โธ่ พระนะ เป็นคนที่ชาวบ้านเขาไหว้

๒๔.เราจักไม่ฉันดังจับ ๆ

๒๕.เราจักไม่ฉันดังซูด ๆ

๒๖.เราจักไม่ฉันเลียมือ

๒๗.เราจักไม่ฉันขอดบาตร ดังแกร็ก ๆ ให้ชาวบ้านเขาเห็นว่าข้าวหมด เขาไม่ให้ก็แล้วไปนะ

๒๘.เราจักไม่ฉันเลียริมฝีบาก ฉันไป เลียริมฝีปากไป

๒๙.เราจักไม่เอามือเปื้อนจับภาชนะน้ำ ปัดโธ่ มันน่าเกลียดนะ โสโครก

๓๐.เราจักไม่เอาน้ำล้างบาตร ที่มีเมล็ดข้าว เทลงไปในบ้าน
ท่านปรับโทษทั้งหมด

ต่อไปก็เป็น ธัมมเทสนาปฎิสังยุต หมวดที่ ๓ มี ๑๖ สิกขาบท

๑.ภิกษุควรทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ ที่มีร่มในมือ ถ้าเขามี เขาเป็นไข้ได้

๒.เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนที่ไม่เป็นไข้ ที่มีไม้พลองในมือ

๓.เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนที่ไม่เป็นไข้ ที่มีศาสตราในมือ
๔.เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนที่ไม่เป็นไข้ ที่มีอาวุธในมือ ทั้งนี้เว้นไว้แต่ ทหาร ตำรวจ นักรบ ที่เขาต้องเตรียมพร้อม

๕.เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนที่ไม่เป็นไข้ ที่สวมเขียงเท้า คือ สวมเกี๊ยะ

๖.เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนที่ไม่เป็นไข้ ที่สวมรองเท้าอยู่

๗.เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนที่ไม่เป็นไข้ ที่ไปในยาน (ยานพาหนะ)

๘.เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนที่ไม่เป็นไข้ ที่นอนอยู่บนเตียง แล้วเรานั่งข้างล่าง ถ้าเป็นไข้ไม่เป็นไรนะ

๙.เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนที่ไม่เป็นไข้ ที่นั่งรัดเข่าอยู่ ก็ไอ้นั่งรัดเข่าแสดงความไม่เคารพ จะแสดงธรรมยังไง

๑๐.เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนที่ไม่เป็นไข้ ที่ผ้าพันศีรษะ โพกหัว

๑๑.เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนที่ไม่เป็นไข้ ที่คลุมศีรษะ

๑๒.เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนที่ไม่เป็นไข้ คือเรานั่งอยู่บนแผ่นดิน จักไม่แสดงธรรมแก่คนที่ไม่เป็นไข้ ที่นั่งอยู่บนอาสนะ

๑๓.เรานั่งอยู่บนอาสนะต่ำ เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนที่ไม่เป็นไข้ ที่นั่งหรือนอนอยู่บนอาสนะสูง

๑๔.เรายืนอยู่ เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนที่ไม่เป็นไข้ ผู้นั่งอยู่

๑๕.เราเดินไปข้างหลัง เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนที่ไม่เป็นไข้ ผู้เดินไปข้างหน้า

๑๖.เราเดินไปนอกทาง เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนที่ไม่เป็นไข้ ผู้ไปในทาง
อันนี้ก็จำเอาไว้ก็แล้วกันนะ เพราะเป็นของไม่ยาก

ต่อไป ปกิณกะ มี ๓ สิกขาบท ท่านกล่าวว่า

๑.ภิกษุพึงควรทำการศึกษาว่า เราไม่เป็นไข้ จักไม่ยืนถ่าย อุจจาระและปัสสาวะ
๒.เราไม่เป็นไข้ จักไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ และบ้วนน้ำลายลงในของเขียว อันนี้จำๆ ให้ดีนะ
๓.เราไม่เป็นไข้ จักไม่ถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะ และเขฬะ ลงในน้ำ

อธิกรณ์มี ๔ อย่าง

๑.ความเถียงกันว่า สิ่งนั้นเป็นธรรมวินัย สิ่งนี้ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย เรียกว่า วิวาทาธิกรณ์
๒.ความโจทย์กันด้วยอาบัตินั้นๆ เรียกว่า อนุวาทาธิกรณ์
๓.อาบัติทั้งปวง เรียกว่า อาปัตตาธิกรณ์
๔.กิจที่สงฆ์จะพึงทำ เรียกว่า กิจจาธิกรณ์
นี่ไม่มีอะไรเป็นชื่อ

อธิกรณสมถะ ธรรมที่เป็นเครื่องระงับอธิกรณ์ ๔ นั้น เรียกว่า อธิกรณสมถะ มี ๗ อย่างคือ

๑.ความระงับอธิกรณ์ทั้ง ๔ นั้น ในที่พร้อมหน้าสงฆ์ ในที่พร้อมหน้าบุคคล ในที่พร้อมหน้าวัตถุ ในที่พร้อมหน้าธรรม เรียกว่า สัมมขาวินัย
๒.ความที่สงฆ์สวดประกาศให้สมมติ แก่พระอรหันต์ว่า เป็นผู้มีสติเต็มที่ เพื่อจะไม่ให้ใครโจทก์อาบัติด้วยอาบัติ เรียกว่า สติวินัย
๓.ความที่สงฆ์สวดประกาศให้สมมติ แก่ภิกษุผู้หายเป็นบ้าแล้ว เพื่อจะไม่ให้ใครโจทก์ด้วยอาบัติ ที่เธอทำในเวลาเป็นบ้า เรียกว่า อมูฬหวินัย

๔.การปรับอาบัติตามปฎิญญาของจำเลยผู้รับเป็นสัตย์ เรียกว่า ปฎิญญาตกรณะ
๕.การตัดสินเอาตามคำของคนมากเป็นประมาณ เรียกว่า เยภุยยสิกา
๖.ความลงโทษแก่ผู้ผิด เรียกว่า ตัสสปาปิยสิกา
๗.ความให้ประนีประนอมกันทั้งสองฝ่าย ไม่ต้องชำระความเดิม เรียกว่า ติณวัตถารกวินัย

สิกขาบทนอกนี้ ที่ยกขึ้นมาเป็นอาบัติถุลลัจจัยบ้าง อาบัติทุกกฎบ้าง เป็นสิกขาบทที่ไม่ได้มาในพระปาฎิโมกข์ เป็นอันว่า พระวินัยก็จบแค่นี้แหละ ที่มาในพระปาฏิโมกข์ นอกนั้นก็เป็นเรื่องราวที่ไม่ได้มาในพระปาฏิโมกข์ โอกาสมีก็จะนำมาแนะนำแก่ท่านทั้งหลาย

ประเพณีการบวช

ในเรื่องราวของพระวินัยนี่นะ ผมก็ขอแนะนำท่านว่า ตั้งแต่สมัยที่ผมบวชมาใหม่ๆ ผมเคยพบพระ แหม อย่าว่าแต่พระเด็ก พระไม่เด็กเลยนะ รู้สึกว่าเมื่อบวชเข้ามาแล้วนี่ มันไม่มีความเป็นพระกันเยอะ ที่ท่านเป็นพระจริงๆ กลับไปด่า ไปว่าท่าน ไปว่าท่านไม่ใช่พระ

แต่พอพวกที่ไม่ใช่พระ นี่มีมาก เป็นพวกไหน ก็คือเป็นพวกที่บวชเข้ามาตามประเพณี และบวชตามคำสั่งของพ่อแม่ ไอ้อยากบวชตามเขา เพราะว่าประเพณีการบวชนะมันมีมาก ที่ท่านกล่าวว่า บวชลับ บวชลี้ บวชหนีสงสาร บวชผลาญข้าวสุก บวชสนุกตามเพื่อน


บวชลับ บวชลี้ หมายความว่า ไปทำความผิดทางอาญามา แล้วก็บวช สมัยก่อนนี้ถ้าบวชแล้ว เขาก็ไม่เอาโทษทางกฎหมาย แล้วมาบวชหลบกฎหมาย เวลานี้พระพุทธเจ้าท่านห้ามแล้ว การบวชแบบนี้

บวชหนีสงสาร ประเภทนี้ดี ประเภทบวชหนีสงสาร เขาปฏิบัติตามพระธรรมวินัยครบถ้วน ปฏิบัติกันอย่างจริงอย่างจัง เรียกว่า เอาทุกอย่างทั้งธรรมและวินัย อะไรก็ตามขึ้นชื่อว่าดี ยอมรับนับถือปฏิบัติหมด

บวชผลาญข้าวสุก ก็บวชเข้ามากินข้าวสุกให้มันเปลือง แล้วก็ไม่ปฏิบัติความดี ความชอบ

บวชสนุกตามเพื่อน เห็นเขาบวช เขาแห่ตึงตังโครมคราม เขาทำขวัญกัน ตั้งหน้าตั้งตาบวชกับเขาบ้าง แต่ไม่เป็นพระ

เป็นอันว่าบวชทั้งหมดนี้ ที่ดีจริงๆ คือบวชหนีสงสาร การบวชหนีสงสารเขาทำกันอย่างไร เราก็มาว่ากันถึงเรื่องบวชหนีสงสารกันเลยดีกว่านะ มีกันอย่างไงบ้าง บวชหนีสงสารนี่ ไปดูซิมีแบบฉบับไหม ที่บวชหนีสงสาร เอายังไงดีหนอ บวชยังไงมันถึงจะหนีสงสารได้ ความจริงคนเราต้องการให้ชาวบ้านเขาสงสาร แต่เราอยากจะบวชหนีสงสาร มันจะไม่ถูกกันล่ะมั้ง

คำว่า สงสาร ในที่นี้เรียกว่า สังสารวัฏ สำหรับวันนี้ก็ดี วันพรุ่งนี้ก็ดี ก็เลยจะขอพูดถึงบวชหนีสงสาร การบวชหนีสงสาร ก็คือว่า อันดับแรก เราต้องยึดถือว่า การบวชนี้ เราพ้นจากความเป็นฆราวาสแล้ว เราเป็นศากยบุตรพุทธชินโนรส เป็นลูกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็ตัดสภาวะความเป็นฆราวาสทั้งหมด เยื่อใยใด ๆ ในฐานะที่เป็นฆราวาสอยู่ เราไม่ทำ

ตั้งใจไว้เสมอว่า นิพพานัสสะ สัจฉิกิริยายะ เอตัง กาสาวัง คเหตวา ซึ่งแปลเป็นใจความว่า ข้าพเจ้าขอรับผ้ากาสาวพัตร์เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ตั้งใจไว้เลยว่า การบวชคราวนี้ เราบวชเพื่อพระนิพพาน เข้าใจไหม การบวชเพื่อพระนิพพานนี้ เขาทำกันอย่างไรบ้าง เอากันเลยดีไหม

การบวชเพื่อพระนิพพานนี้ ตั้งใจไว้ในวิปัสสนาญาณ ๙ บวชหนีสงสารนะ ว่า

๑.อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ปรีชาคำนึงเห็นความเกิด ทั้งความดับ เห็นทั้งความเกิดและความดับว่า พิจารณาขันธ์ ๕ โลกได้แก่ขันธ์ ๕ มันเกิดขึ้นมาแล้วมันก็ดับไป มันมีการสลายตัวไปทุกวัน ๆ ที่เราต้องกินข้าวอยู่ ก็ไปเสริมของที่มันเสียไป ถ้าไม่ยังงั้นแล้วมันก็ขาดตอน มันก็จะสลายตัว เป็นอันว่าเห็นว่า ขันธ์ ๕ นี่ไม่ควรจะยึดจะถือเป็นสำคัญ มันไม่เป็นสรณะที่มีความหมายอะไรเลย นี่เป็นลักษณะการบวชหนีสงสาร

๒.ภังคานุปัสสนาญาณ ปรีชาคำนึงถึงความดับ อันดับแรกเห็นทั้งความเกิดและความดับ อันที่สองก็คิดว่า เอ นี่มันดับอยู่เสมอนี่นะ มันไม่มีอะไรทรงตัว วันแต่ละวันไอ้ของเก่าก็หมดไป เราให้ของใหม่ ของใหม่มันเกิดขึ้น ของเก่าก็หมดไป มันสลายไปทุกวันๆ

๓.ภยตูปัฎฐานญาณ ปรีชาคำนึงเห็นสังขารปรากฏ เป็นของน่ากลัว มันกลัวตรงไหน ว่าร่างกายนี้มันไม่มีสภาพของความเที่ยง มันไม่มีความกตัญญูรู้คุณ เป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุด เพราะว่ามันทำภัยคือความทุกข์ เข้ามาหาเราตลอดวัน เพราะอะไรละ ทุกข์จากการป่วยไข้ไม่สบาย ทุกข์จากความหิว 1 ทุกข์จากความหนาว ทุกข์จากความร้อน ทุกข์จากความแก่ ทุกข์จากการพลัดพรากของรักของชอบใจ ทุกข์จากมันจะตาย

มันเป็นเรื่องที่น่ากลัวจริง ๆ เพราะว่ามันเป็นเหตุนำทุกข์มาให้ มันเป็นบ่อเกิดของความทุกข์ มันเป็นที่ขังของความทุกข์ ไอ้ร่างกายนี่เป็นของที่น่ากลัว ถ้าเราจะมีมันต่อไปอีก ความเหน็ดเหนื่อยความทุกข์อย่างนี้ก็จะมีต่อไป กลัวมันเสียเลยดีกว่า กลัวจะมีขันธ์ ๕ คือร่างกายต่อไป

๔.อาทีนวานุปัสสนาญาณ ปรีชาคำนึงเห็นโทษ ว่าถ้าเราขืนคบขันธ์ ๕ อยู่อย่างนี้ตลอดไป โทษคือความทุกข์ มันก็จะมีแก่เราตลอดกาลตลอดสมัย ไม่มีอะไรเป็นปัจจัยแห่งความดี เอ เห็นท่าไม่เป็นเรื่องเสียแล้วนะ ร่างกายนี่มีแต่โทษ มันไม่มีคุณ พิจารณากันดูให้ดีเถอะ เราเหนื่อย เรายาก เราลำบาก เราเเร้นแค้น ก็เพราะอาศัยร่างกายนี่เป็นสำคัญ

๕.นิพพิทานุปัสสนาญาณ ปรีชาคำนึงถึงด้วยความเบื่อหน่ายเห็นว่ามันเป็นโทษ เห็นว่ามันเป็นทุกข์ เห็นว่ามันเป็นภัย ก็พิจารณาให้มันเห็นจริงๆ ปัญญามันเกิดแล้วก็เบื่อ ว่าขันธ์ ๕ นี่มันน่าเบื่อจริงๆ เลี้ยงไม่โต ๆ มันก็ฝืนใจเรา เลี้ยงไม่โต ต้องเลี้ยงทุกวี่ทุกวัน ไม่เป็นไร ถ้าหากว่าบอกว่าอย่าเบื่อ อย่าแก่เลย มันไม่แก่ จงอย่าป่วยเลย มันไม่ป่วย จงอย่าตายเลย มันไม่ตาย อันนี้เลี้ยงได้ ไม่น่าเบื่อ

แต่ว่ามันอกตัญญูไม่รู้คุณเราสิ เราเลี้ยงเท่าไร มันก็ไม่รู้จักคุณ เราก็เลยเบื่อมันซะ ไม่เอาแล้ว คิดตั้งใจขึ้นว่าขันธ์ ๕ อย่างนี้จะไม่มีสำหรับเราต่อไป เรากับมัน มันไม่ใช่เรา เราไม่ใช่มัน ถ้ามันเป็นเราจริงแล้วเราเป็นมันจริง ก็ต้องว่ากันได้ แนะนำกันได้ ยับยั้งกันได้ นี่เรายับยั้งมันไม่ได้ มันต้องการอะไรเราให้ แต่เราต้องการมันไม่ให้ ไม่น่าคบ ถ้าเป็นคนก็ต้องเลิกคบกัน

๖.มุญจิตุกัมมยตาญาณ ปรีชาคำนึงด้วยความใคร่อยากจะไปเสียให้พ้น หาทางหลีก หาทางหนี พรุ่งนี้เราจะพูดถึงทางหลีกทางหนีกัน วันนี้เรายังไม่พูดนะ หาทางหนีให้ได้

๗.ปฎิสังขานุปัสสนาญาณ พิจารณาด้วยคำนึงหาทางจะหนี อันนั้นบอกว่า อยากจะหนี นี่หาทางหนี พรุ่งนี้ก็พบทาง วันนี้ยังไม่พบ ขืนพบไม่ได้ เวลามันจะไม่หมด

๘.สังขารุเปกขาญาณปรีชาคำนึงด้วยความวางเฉย เฉยได้ยังไง หิวเฉยเรอะ หนาวเฉย ร้อนเฉย ไม่ใช่ยังงั้น ปวดอุจจาระ ปัสสาวะ เฉย ไม่ใช่แบบนี้ แบบนี้เฉยไม่ได้ เป็นสภาวะปกติของมัน เฉยว่ามันจะพังก็เชิญพังจ๊ะ อยากจะแก่ก็เชิญแก่จ๊ะ อยากจะป่วยก็เชิญป่วยจ๊ะ เพราะอะไร เพราะเป็นสภาวะของเธอ ในเมื่อเธอมีสภาวะเป็นอย่างนั้น ฉันห้ามปรามเธอไม่ได้ เป็นอันว่าเธอกับฉันเนี่ยะ มีสภาวะที่จะคบกันไม่ได้แน่

ฉันเลี้ยงเธอเท่าไร เธอก็ไม่ยับยั้งไม่อยู่ ถึงเธอจะพังก็เชิญพัง จะเป็นอะไรก็ช่าง ช่างมัน ใช้คาถาบทสำคัญบทเดียวคือ ช่างมัน ๆ ๆ ๆ มันจะเป็นอะไรก็ช่าง ไม่สนใจ คือไม่เอาใจไปสนใจ แต่ว่าถ้าป่วยก็รักษา เป็นการรักษาเพื่อระงับเวทนา หิวก็ให้มันกิน เพื่อเป็นการทรงไว้ เพราะว่าไม่งั้นก็ทรมาน หนาวก็เอาผ้ามาห่มให้ แต่ทว่าไม่สนใจที่จะต้องการมันอีกต่อไป เห็นโทษเห็นภัยตามที่กล่าวมาแล้ว ไม่ยากนะ

๙.สัจจานุโลมิกญาณ พิจารณาปรีชาเป็นไปตามสมควรแก่การกำหนดรู้ อริยสัจ นี่เห็นเป็นอริยสัจ ๔ ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเนี่ยว่า ร่างกายมันเป็นปัจจัยของความทุกข์ มองทุกข์ให้พบ มองต่อไปว่าอะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ได้แก่ ตัณหา การดับตัณหานั้นดับด้วยวิธีไหน ดับด้วยมรรค ๘ ประการ

เมื่อตัณหาดับแล้วเราก็มีความสุข ได้แก่ นิโรธะ สบาย นี่เป็นอันว่า ทางนี้แหละขอรับที่เรียกว่า นิพพานัสสะ สัจฉิกิริยายะ เอตัง กาสาวัง คเหตวา เรารับผ้ากาสาวพัตร์มา เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน นี่ท่านจะแจ้งหรือไม่แจ้งละ พระนิพพาน ไอ้ผมไม่รู้นี่ ผมบอกให้ฟัง

ในเมื่อมองดูเวลา มันหมดแล้วก็ขอยุติกันเพียงเท่านี้ วันพรุ่งนี้รับฟังกันใหม่ ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล จงมีแด่ท่านผู้รับฟังทุกท่าน

สวัสดี


◄ll กลับสู่สารบัญ


[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 19/7/11 at 14:43 [ QUOTE ]


12

โทษละเมิดพระวินัย แผ่นที่ ๖ ตอนที่ ๒



สำหรับข้อว่า นิพพานัสสะ สัจฉิกิริยายะ เอตัง กาสาวัง คเหตวา ซึ่งแปลเป็นใจความว่า ข้าพเจ้าขอรับผ้ากาสาวพัตร์ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน วานนี้ก็ปรารภถึงเรื่องวิปัสสนาญาณ ๙ เราก็มาคุยกันย่อ ๆ

วันนี้มาพูดถึง จรณะ ๑๕ ๆ บารมี ๑๐ วันนี้ผมจะว่าย่อ ๆ นะ สิ่งที่เราจะต้องประพฤติปฏิบัตินะ ไอ้ความประพฤติที่เราจะต้องประพฤติประจำกันจริงๆ นี่ มันมี ๑๕ อย่าง ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงตรัสรวมเข้าไว้ เอาจริงๆ แล้ว มีความจำเป็นจะต้องทำให้ได้ด้วย ไม่ใช่สักแต่ว่ารู้ คือ

๑. สีลสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศีล นี่หมายความว่า สิกขาบทในพระวินัยทุกสิกขาบท ต้องพร้อมครบถ้วนบริบูรณ์ทุกอย่าง เห็นไหม นี่นิพพานัสสะ สัจฉิกิริยายะ นะ ไม่ใช่สักแต่บวชเข้ามาให้เสียผ้าเหลือง บวชเข้ามาให้เปลืองที่ของพระศาสนา อันดับแรกที่สุดต้องรักษาพระวินัยทุกสิกขาบท ให้พร้อมครบถ้วนบริบูรณ์

๒.อินทรียสังวร สำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้อยู่ในระบอบของธรรมหมด อย่าไปสนใจกับอะไรทั้งหมด

๓.โภชเนมัตตัญญุตา รู้จักประมาณในการกินอาหารแต่พอสมควร คือพิจารณาอาหาเรปฏิกูลสัญญา ไม่เมาในรสอาหาร ไม่โลภในอาหาร

๔.ชาคริยานุโยค ประกอบความเพียรของบุคคลผู้ตื่นอยู่ ขณะใดที่ตื่นอยู่ พระธรรมวินัยใด ๆ ที่ศึกษามาแล้ว ให้ทรงอยู่ในกำลังใจทั้งหมด วินัยทุกสิกขาบท ธรรมทุกสิกขาบท สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ให้ทรงอยู่ให้หมด คำว่า ทรงให้หมด ทรงยังไง

ก็ทรงแบบ โอวาทปาฎิโมกข์ สัพพปาปัสสะ อกรณัง ขึ้นชื่อว่าความชั่วทั้งหมดเราไม่ทำ กุสลัสสูปสัมปทา ทำแต่ความดี ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำ สจิตตปริโยทปนัง ทำจิตใจเข้าถึงฌานสมาบัติ และวิปัสสนาญาณ ละสังโยชน์

๕.ศรัทธา ความเชื่อ ใช้ปัญญาพิจารณาคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นจริง รู้จริง เห็นจริง เห็นแน่นอน มีเหตุมีผล เราเชื่อ

๖.หิริ อายความชั่วไว้เสมอ

๗.โอตตัปปะ เกรงกลัวผลของความชั่ว ผลของความผิด

๘.พาหุสัจจะ เป็นผู้ได้รับฟังมาก ปฏิบัติดีด้วย ฟังมาแล้วด้วยดี ปฏิบัติดีด้วย ไม่ใช่ฟังมาก เก็บไว้มาก ปฏิบัติชั่วมาก แล้วก็เอาลีลาแห่งการปริยัติไปคุยกับเขาว่า ฉันรู้แค่นั้น ฉันรู้แค่นี้ ไอ้ตัวปฏิบัติจริงๆ ไม่มีอะไร

ไอ้นี่มันเลวจัด เดี๋ยวผมหาว่าเลวกว่าสัตว์เดรัจฉานอีกนะ ผมยังไม่ได้หานะ ผมพูดให้ฟังว่า ถ้าเอาตัวปริยัติไปเบ่งเนี่ยะ ทำท่าข้างนอกดีอย่างโลฬุทายี ทำท่าอวดเก่ง อวดวิเศษ ฟุ้งเฟ้อแต่ที่ไหนได้เลวที่สุด เลยเรียกว่า โลฬุทายี นี่อย่างนี้ อย่าให้มันมีเกิดขึ้นในใจ ให้มันมีอยู่ครบถ้วนทางพระนิพพาน

๙.วิริยะ เพียร ทำลายความชั่วให้พินาศไป เพียรสร้างความดี ให้มันเกิดขึ้น

๑๐.สติ ระลึกนึกได้เสมอในด้านของอริยสัจ ในมหาสติปัฏฐานสูตร ในกรรมฐาน ๔๐ เอาเข้ามาตั้งไว้อยู่ในอารมณ์ของใจไว้ตลอดเวลา ตั้งแต่ลืมตารู้สึกตื่นนอน จนกว่าจะหลับ

๑๑.ปัญญา ใช้ปัญญารอบรู้ตามความเป็นจริงทุกอย่าง ไม่ยึดถือเราด้วย ไม่ยึดถือตัวคนอื่นด้วย ไม่ยึดถือทุกสิ่งทุกอย่างด้วย เพราะว่ามันไม่เป็นปัจจัยของความสุข วางอารมณ์ทุกอย่างให้เป็นปกติ เห็นว่าทุกอย่างในโลก มันจะมีสภาวะเกิดขึ้นมายังไงก็ตาม ถือว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา

๑๒.ปฐมฌาน ฌานที่หนึ่ง ทำให้เกิดขึ้นเป็นประจำ
๑๓.ทุติยฌาน ฌานที่สอง ทำให้เกิดขึ้นเป็นประจำ
๑๔.ตติยฌาน ฌานที่สาม ทำให้เกิดขึ้นเป็นประจำ
๑๕.จตุตถฌาน ฌานที่สี่ ทำให้เกิดขึ้นเป็นประจำ

นี่อาการที่จะไปนิพพาน นิพพานัสสะ ที่บวชเข้ามานะครับ บวชกันอย่างงี้ ไม่ใช่สักแต่ว่าบวชส่งเดชเข้ามาหรอก เขาบวชกันแบบนี้นะ บวชกันให้มันเข้าถึงไส้ของความเป็น ของความดี ไม่ใช่ว่าสักแต่ว่าบวช โอ๋ เขาบวชก็บวช เขาบวชก็บวชเข้ามา อ้าว เขาบวชนี่ เขาบวชก็บวชเสียที ไอ้บวชประเภทนี้ เขาเรียกว่าบวชซื้อนรก ไม่ได้บวชเพื่อหวังจะให้ได้บุญได้กุศลอะไร

ซื้อนรกกัน ทำไมถึงว่าซื้อนรก ๆ พ่อแม่ซื้อนรกให้ลูก แล้วลูกก็เอานรกไปแบ่งให้พ่อให้แม่ ทำไมจึงว่างั้นละ ก็ในเมื่อลูกทำไม่ดี ความชั่วถูกผู้บังคับบัญชาเขาติเขาว่า เขาติเขาเตียน แล้วก็ทำยังไง ลูกก็ไปฟ้องพ่อฟ้องแม่สิว่า ผู้บังคับบัญชาเคร่งครัด เคร่งเครียด บังคับบัญชา แหม ทนไม่ไหวเลย บีบรัดกันเกือบแย่ ทนไม่ไหว ไอ้แบบนี้มันเป็นการกลั่นแกล้ง ทนไม่ไหวแล้ว

บอกพ่อบอกแม่ ท่านพ่อ ท่านแม่ทำยังไง ก็วิ่งอ้าว ๆ ไปไหนละ วิ่งอ้าวไปด่าพระผู้บังคับบัญชา นี่ลูกฉันบวชเข้ามานี่ ฉันไม่ได้ทำอะไร ลูกฉันบวชด้วยความตั้งใจดี ทำไมผู้บังคับบัญชาจึงทำอย่างนี้ แน่ เอาเข้าสิไหมละ เอ ตอนนี้เอง ท่านพ่อ ท่านแม่ ท่านลูก ก็วิ่งอ้าวลงอเวจีมหานรกไปตามๆ กัน

อย่างท่าน กบิลภิกขุ เห็นไหมเล่า เห็นไหม เห็นกบิลภิกขุ พระมหาพระกบิล ท่านตายแล้วท่านไปอเวจีมหานรก แม่และน้องสาวท่านก็ไปด้วย เพราะว่าท่านติดตามกันปฏิบัติด้วยกัน ถ้าเราไม่ต้องการอย่างพระกบิล เราก็ทำตามนี้ จรณะ ๑๕ นี่ ทุกท่าน ผมจะว่าทุกวัด แต่ผมไม่มีอำนาจไปว่าเขาทุกวัดนะ ทุกท่านที่อยู่ที่นี่ต้องมีจรณะ ๑๕ ครบถ้วนทุกอิริยาบถ

แล้วก็สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ที่ศึกษาไว้แล้ว ต้องครบถ้วนทุกอิริยาบถ อย่าว่าบังคับเลย ก็ตามใจ ทนไหวไม่ล่ะ ทนไม่ไหว กลับไปเลย ไปได้ทันที ที่นี่ไม่ต้องการ คนที่ปฏิบัติไม่ได้ เอาไว้ทำไมล่ะ เวลามาบวช บอกว่าจะมาทำดี เวลาบวชเข้าจริงๆ ทำความดีไม่ได้ มีราคะจัด มีโลภะจัด มีโทสะจัด มีโมหะจัด มาบวชอยู่ทำไมให้มันรกพระศาสนาเขา

ที่นี่ไม่ต้องการคนเลว ที่นี่ต้องการคนดี ในเมื่อมันไม่ดีเสียเลย หาคนดีไม่ได้อยู่มันคนเดียว แล้วท่านว่าผมดีไหมละ ผมก็อาจจะยังไม่ดีก็ได้ หรือดีก็ได้ แต่เพราะทำไปแล้วนี่ ไม่มีใครอยู่ก็อยู่มันคนเดียว ไอ้คนอยู่ก็ต้องการคนดี ไม่ต้องการคนเลว คนเลวอยู่คนเดียวเดือดร้อน

คนดีตั้งร้อยตั้งพันคน ถ้าคนดีเขาอยู่ตั้งแสนตั้งล้าน ไม่มี ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความเดือดร้อน มันมีแต่ความสุข ดีมากเท่าไรเยือกเย็นมากเท่านั้น มีความสุขมากเท่านั้น นี่เราต้องการกันแต่คนดี นั้นส่วนหนึ่งนะ

อีกส่วนหนึ่งก็คือ บารมี ๑๐ ต้องทรงอยู่ในอารมณ์ตลอดกาล

๑.ทานบารมี เป็นการทำลายความโลภ ดูที่จิตของเรามีความโลภไหม มีความโลภนี่ตัดด้วยการให้ทาน

๒.ศีลบารมี มีศีลครบถ้วน

๓.เนกขัมมบารมี ทรงฌานสมาบัติในด้านโลกียวิสัย ฌานโลกีย์ เนกขัมมนี่ เนกขัมมตัดนิวรณ์ ๕ ก็คือทรงฌานโลกีย์ ให้ฌานมันทรงอยู่

๔.ปัญญา พิจารณารับรองความจริงทุกอย่าง เรื่องของขันธ์ ๕

๕.วิริยะ เพียรขับไล่ความชั่วให้หมดไป ต่อต้านกำลังความชั่ว เพื่อสร้างความดี พยายามดึงความดีให้กลับมา

๖.ขันติ ต้องอดทนเพราะความชั่วมันมีกำลังกล้า อดกลั้นจะไม่ยอมให้ความชั่วขึ้นเหนือหัวใจ

๗.สัจจะ รักษากำลังใจในด้านความดีไว้ให้ครบถ้วน

๘.อธิษฐาน ตั้งใจไว้เฉพาะว่า การบวชคราวนี้เราต้องการพระนิพพาน เราจะทำทุกอย่างในทางสายพระนิพพาน ทั้งสมถะ และวิปัสสนาญาณ ครบถ้วน ทั้งด้านธรรมวินัยทั้งหมด

๙.เมตตา เราจะมีแต่ความปราณี ไม่มีอารมณ์โหดร้าย ไม่อิจฉาริษยาใคร ไม่ทะนงตน

๑๐.อุเบกขา วางเฉยในตามสภาวะของขันธ์ ๕

ขันธ์ ๕ มันจะเป็นยังไงก็ช่างหัวมัน มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันจะเป็นยังไงก็ช่างเถิด ทำเพราะอะไร เพราะว่าสภาวะของขันธ์ ๕ มันเป็นอย่างนั้น ในเมื่อสภาวะของขันธ์ ๕ มันเป็นอย่างนั้นล่ะก็ เราจะไปฝืนมันได้ยังไง เมื่อเราฝืนมันไม่ได้ เราก็ไม่ฝืน ไม่ฝืนทำยังไง เราก็ทำใจสบาย รู้เท่าทันสภาวะของมัน

ว่าไอ้เจ้าขันธ์ ๕ เอ๋ย เอ็งนี้มันเป็นศัตรูตัวร้ายของฉัน แต่ว่าอย่าไปโกรธมัน อย่าไปฆ่ามันนะ แต่ว่าฉันจะไม่คบนาย ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายที่นายกับฉันจะพึงมี นี่เป็นจุดหนึ่งที่เรียกว่า นิพพานัสสะ สัจฉิกิริยายะ เอตัง กาสาวัง คเหตวา การรับผ้ากาสาวพัตร์มา เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน

นี่เราก็มานั่งดูกัน มาไล่เบี้ยกันอีกทีว่า มันมีอะไรอยู่บ้างหนอ อะไรมันมีอยู่บ้าง ในเรื่องที่เราจะต้องปฏิบัติ ที่เราจะต้องระมัดระวัง คือว่าการระวังนี่มันก็ต้องระวังกันหลายอย่าง แต่ว่าเอายังงี้ดีกว่า เราเข้าไปหาตัวละ เราเข้าไปหาตัวตัดนะ ถ้าเราเข้าหาตัวละได้ เราก็เข้าหาตัวตัดได้ เราก็มีความสุข ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าถ้าเราละเสียได้ เราตัดเสียได้แล้ว มันก็ไม่ต้องกังวลอย่างอื่น

เรื่องศีลเรื่องธรรมไม่ต้องห่วง ตัวละ ตัวตัดมันมีอยู่ที่ไหน บารมี ๑๐ ประการ เราทำไว้เพื่ออะไร เราบวชเข้ามานี่ เขาลือกันว่ามีกิเลสตัณหาร้อยแปด ผมว่ามากกว่านั้นอีก แต่ว่าถ้าไปนั่งตัดตัวนั้นจริงๆ ล่ะก็เสร็จ เคยอ่านในขันธวรรค ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสกับบรรดาพระหรือพราหมณ์ที่เขาถาม

เขาถามไล่เบี้ยกิเลส นับดูแล้วหลายสิบกิเลส เขาถามว่ากิเลสประเภทนี้เกิดขึ้นได้ เกิดขึ้นแล้วจะตัดด้วยอะไร พระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสว่า ก็จงตัดด้วยการพิจารณาว่าขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา แล้วเขาก็ถามกิเลสชื่อนี้ ตัดด้วยอะไร ชื่อนั้น ตัดด้วยอะไร เป็นอันว่าพระพุทธเจ้าทรงตรัสบัญญัติไว้บทเดียว ตอบเขาบทเดียวว่า ตัดขันธ์ ๕ บทเดียว

ขึ้นชื่อว่ากิเลส ที่ถามมาทั้งหมด ทั้งหลายสิบอย่าง มันก็หายไปหมด ฉะนั้นเป็นอันว่า องค์สมเด็จพระบรมสุคต ก็สอนอย่างเดียว คือว่า ที่สอนนั้นสอนอย่างเดียว คือสอนเรื่องขันธ์ ๕ ให้มีความเข้าใจเรื่องขันธ์ ๕ แล้วก็ตัดอารมณ์ด้วยการเกาะขันธ์ ๕ อย่างในมหาสติปัฎฐานสูตร ท่านว่าอย่างไง ลงท้ายทุกบท

เธอจงมีความรู้สึกว่า เห็นแล้วก็เพียงสักแต่ว่าเห็น เพียงสักแต่ว่าอาศัยอยู่ ไม่ยึดถือร่างกายของเรา ร่างกายภายใน ไม่ยึดถือร่างกายภายนอก หรือไม่ยึดถือทุกสิ่งทุกอย่างในโลกด้วย เห็นไหม ทุกอย่างท่านลงอย่างนี้เหมือนกันหมด ถ้าเราไม่ยึดถือเสียจริงๆ แล้วเราจะเป็นอะไร อารมณ์ไม่ยึดถือเกิดมีขึ้น เราจะเป็นอะไรได้ เราก็เป็นผู้เข้าถึงเขตของพระนิพพาน

นี่เขตของพระนิพพานจริงๆ ละก็ มันต้องมีบันไดอยู่สิบขั้น บันไดชาวบ้านเขาเก้าขั้น แปดขั้น แต่บันไดนิพพานมีสิบขั้น ไม่ไกล มันสูงกว่าบันไดชาวบ้านนิดเดียว บ้านชาวบ้านนี่เขาทำบันไดกันกี่ขั้น ผมก็จำไม่ได้ แต่บางบ้านเกินกว่าสิบขั้น บางทีขึ้นเสียเหนื่อย แต่ว่าบันไดไปนิพพานเรามีสิบขั้นเท่านั้นเอง นี่ว่ากันถึงนิพพานเลยนะ

ไปกันแน่ วันนี้ไปนิพพาน ไปกันได้อย่างไรละ ผมพูดว่าไปนิพพาน แต่ว่าท่านจะไปหรือไม่ไปนิพพานก็ได้ ไปนิพพานไม่ได้ ก็ไปสวรรค์ ไปพรหม ไปสวรรค์ ไปพรหมไม่ได้ ก็ไปนรก เออ ไปกันยังไง เอ้า ใครจะไปยังไงก็เชิญไป

นี่ทางไปนิพพานเขามีบันไดอยู่สิบขั้น

๑.สักกายทิฎฐิ อันนี้ต้องตัดนะ มีความเห็นเป็นเหตุถือตัวถือตน ท่านว่าอย่างนี้
๒.วิจิกิจฉา มีความลังเล เป็นเหตุให้ไม่แน่ใจในปฎิปทาการดำเนินของตน
๓.สีลัพพตปรามาส ความเชื่อถืออะไร ความเชื่อถือศักดิ์สิทธิ์ ด้วยเข้าใจว่ามีได้ด้วยศีล หรือเพราะอย่างนั้น อย่างนี้ แหม ท่านว่าซะเฉื่อย เรารำคาญว่าแบบนี้

๔.กามราคะ ความกำหนัดด้วยอำนาจ กิเลสกาม เรียกว่า มีราคะ
๕.ปฎิฆะ ความกระทบกระทั่งแห่งจิต ได้แก่ ความหงุดหงิดด้วยอำนาจของโทสะ หรือเรียกว่า โทสะ ก็ว่าตรง ๆ เลยไม่ได้รึ

ห้าสังโยชน์ เบื้องต่ำคือย่างหยาบ เรียกว่า โอรัมภาคิยสังโยชน์

๖.รูปราคะ ความติดอยู่ในรูปธรรม เช่นชอบใจในบุคคลบางคนหรือในพัสดุบางสิ่ง แม้ในวัตถุที่เป็นอารมณ์แห่งรูปฌาน แหม ว่าเฉื่อยไปเลย แหม เอาแบบอ่านให้ฟัง
๗.อรูปราคะ ความติดใจอยู่ในอรูปธรรม เช่น พอใจในสุขเวทนา
๘.มานะ ความสำคัญว่า เป็นนั่นเป็นนี่

๙.อุทธัจจะ ความคิดพล่าน เช่น นึกอะไรเพลินเกินไปกว่าเหตุ
๑๐.อวิชชา ความเขลาเป็นเหตุไม่รู้จริง

ห้าอย่างนี้เป็นสังโยชน์เบื้องสูง คืออย่างละเอียด เรียก อุทธัมภาคิยสังโยชน์

อื้อหือยุ่งจัง ว่าตามแบบท่านยุ่ง ผมว่าอย่างนี้ดีกว่า สักกายทิฎฐิ มีความเห็นว่า อัตภาพร่างกายนี้มันเป็นเรา เป็นของเรา เรามีในร่างกาย ร่างกายมีในเรา เราตัดกำลังตัวนี้เสียตัวเดียว ก็เป็นพระอรหันต์ได้ ทั้งสิบอย่างนี้ ตัดตัวเดียว คือ ตัดตัวสักกายทิฎฐิ เป็นอันว่า ตัดขาบันไดชั้นล่างไปแล้ว มันก็หกคะเมนเกนเก้ บันไดมันตั้งไม่ได้ ไม่มีที่ตั้ง บันไดจะตั้งต้องมีขา เราตัดขามันเสียเลย ที่ตัดขา เขาตัดยังไง

ที่พระเข้าไปหาพระสารีบุตร ถามว่า พวกผมเป็นปุถุชน ต้องการเป็นพระโสดาบัน จะทำยังไง
ท่านก็กล่าวว่า พวกเธอจงพิจารณาขันธ์ ๕ อัตภาพร่างกายนี้ ขันธ์ ๕ มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ ขันธ์ไม่มีในเรา เมื่อจิตละเอียดลง เธอก็เป็นพระโสดาบัน

นี่พระก็ถามต่อไปว่า เมื่อผมเป็นพระโสดาบันแล้ว ต้องการเป็นพระสกิทาคามี ผมจะทำยังไง
ท่านก็บอกว่า พิจารณาแบบนั้นละ พิจารณาขันธ์ ๕ ตามเดิม จิตจะละเอียดลงไป มันก็ตัดกิเลสลงไป เธอก็เป็นสกิทาคามี

ท่านถามว่า เมื่อผมเป็นสกิทาคามีแล้ว จะเป็นอนาคามีจะทำอย่างไร
ท่านก็บอกว่า เอาดีทำตามนั้นนั่นแหละ มันก็เป็นอนาคามี

ทีนี้ท่านถามต่อไปว่า เมื่อผมเป็นอนาคามี จะเป็นพระอรหันต์ จะทำยังไง
ท่านก็บอกว่า พิจารณาแบบเดียวกันนั้นแหละ จิตละเอียดถึงที่สุดก็เป็นอรหันต์

พระถามต่อไปว่า ถ้าผมเป็นอรหันต์แล้วไม่ต้องทำอะไรเลยใช่ไหม
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ไม่ใช่ พระอรหันต์ต้องพิจารณาขันธ์ ๕ แบบนั้นด้วยความอยู่เป็นสุข

เห็นไหม ทีนี้เราก็มานั่งไล่เบี้ยกันในบันไดสิบขั้น สามขั้นแรกเป็นวิสัยของพระโสดาบันกับสกิทาคามี นี่บวชเข้ามาแล้ว มันก็ต้องบวชเอากันจริงๆ อย่ามาบวชส่งเดชกัน สักแต่ว่าบวชละก็ อย่ามาบวชให้รกวัดเลย ไม่ว่าวัดไหนทั้งหมด รกวัด ไม่รกเปล่า ๆ มันเปลืองสตางค์ชาวบ้านเขาด้วย เปลืองทรัพย์สินของชาวบ้านเขา

แล้วก็ทำให้ชาวบ้านเกิดความรำคาญ ดีไม่ดี ชวนชาวบ้านลงนรกไปด้วย อย่างสักกายทิฎฐิ วิจิกิจฉา สีลัพตปรามาส สามอย่างนี้ เป็นองค์ของพระโสดาบันกับสกิทาคามี
นี่พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระโสดาบันกับสกิทาคามี เป็นผู้ทรงอธิศีล ทรงอธิศีล หมายความว่ามีความมั่นอยู่ในศีล

ท่านรักษาศีลอะไร ๒๒๗ มันก็ต้องครบ ๒๒๗ ไม่ใช่ว่า ๒๒๗ แล้วเป็นอาบัติสำหรับแสดงได้ เป็นอาบัตินะ ศีลมันขาดแล้ว มันลงนรกแล้ว อย่าไปสนใจอะไรมัน ถ้ายังมุ่งหวังการแสดงอาบัติอยู่ ก็จงอย่าบวชเลย รีบสึกไปเถอะ ความชั่วมันมีอยู่ตลอดเวลา

แสดงอาบัติบอกว่า นะ ปุเนวัง กริสสามิ ข้าพเจ้าจะไม่ทำอย่างนี้อีก นะ ปุเนวัง ภาสิสสามิ ข้าพเจ้าจะไม่พูดอย่างนี้อีก นะ ปุเนวัง จินตยิสสามิ ข้าพเจ้าจะไม่คิดอย่างนี้อีก แล้วก็ยังมีอาบัติสำหรับการแสดงกันต่อไป ก็แสดงว่าท่านไม่มีสิกขาบท ท่านไม่มีศีลเลย นี่ผมถืออย่างงั้นเลย คนที่ไม่เคารพในสิกขาบทนะ ผมถือไม่ใช่พระ

มันจะเป็นสิกขาบทไหนก็ตาม น้อยหรือใหญ่ก็ตาม ผมไม่ถือว่าเขาเป็นพระ นี่ถ้าหากว่าเราจะเป็นพระโสดาบัน ก็ใคร่ครวญสักกายทิฏฐิว่า ร่างกายนี้มันเป็นแต่เพียงธาตุ ๔ เข้ามาประชุมกัน แล้วก็รวบรวมกำลังเข้ามาเป็นร่างกาย มันทรงอยู่ได้ไม่นาน มันก็ตาย มีความรู้สึกว่ามันจะตาย พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราไม่สงสัยด้วยอำนาจปัญญา พิจารณาเห็นจริงมีความคิดเห็นเข้าใจว่า

ศีลนี่เป็นปัจจัยของความสุข คนใดมีศีล คนนั้นมีความสุข คนไหนบกพร่องในศีลมาก คนนั้นมีทุกข์มาก บกพร่องในศีลน้อยมีความทุกข์น้อย เรายึดมั่นในศีลเป็นสำคัญ แล้วมีความรู้สึกว่า ถ้าเราจะตายพร้อมทั้งกำลังใจที่เราทรงศีล เราก็มีความสุข อย่างน้อยเราก็เป็นคนชั้นดี หรือเราก็เป็นเทวดา อย่างนี้เป็นปัจจัยของพระโสดาบันกับสกิทาคามี

ตานี้ต่อมาเราเห็นว่าไอ้เรื่องกามราคะ การมีผัวมีเมียนี่ มันสร้างแต่ความทุกข์ มันเพิ่มความทุกข์ ร่างกายของคนที่เราเห็นว่ามันสวยงาม มันเต็มไปด้วยความสกปรก มันไม่ได้เรื่อง แล้วในที่สุดคนนั้นก็ต้องตาย ต้องพัง มันทรุดโทรมลงมา แล้วไอ้ความโกรธ ความพยาบาท มันก็ไม่ดี เป็นเครื่องทำลายความสุข ทำลายมิตร สร้างศัตรู ไปไหนก็ต้องมีการระมัดระวัง

ทำลายราคะ ด้วยอำนาจกายคตานุสติ และอสุภกรรมฐาน บวกกับสักกายทิฎฐิ ทำลายปฏิฆะ คือความโกรธ ความพยาบาท เสียด้วยพรหมวิหาร ๔ คือ หรือว่าวรรณกสิณ ๔ คือ กสิณสีแดง กสิณสีเหลือง กสิณสีเขียว กสิณสีขาว บวกกับสักกายทิฏฐิ เอาจริงๆ ไม่ช้าสองตัวนี้ก็พินาศไป เมื่อพินาศไปแล้วกำลังใจเราก็ทรงอยู่ในพระอนาคามี

แหม เป็นไหมละขึ้นซะ ๕ ขั้นแล้ว ใกล้นิพพานเข้าไปเต็มทีแล้ว เหลืออีก ๕ ขั้น อีก ๕ ขั้นนี่ ขั้นเล็ก ๆ รูปราคะ ไม่หลงใหลในรูปทั้งหมด แม้แต่รูปฌาน มีความรู้สึกว่ารูปฌานนี่ เป็นกำลังให้ก้าวไปสู่ความเป็นพระอรหันต์เท่านั้น ไม่ใช่ว่ารูปฌานเป็นของวิเศษเกินไป ไม่ยับยั้งอยู่แค่นั้น อรูปราคะ

ไม่หลงใหลใฝ่ฝันอยู่ในอรูปฌาน เพราะอรูปฌานตายไป ก็ไปเกิดเป็นอรูปพรหม อรูปพรหม ยังไม่มีความสุขจริงๆ ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฎฎะเมื่อหมดบุญ เราก็ใช้อรูปฌานเป็นกำลัง เข้ามาประหัตประหารกิเลสร่วมกับวิปัสสนาญาณ แล้วสองอย่างนี้ควบกับสักกายทิฎฐิ มานะ

ความสำคัญตัวว่าเป็นนั้นเป็นนี่ ดีอย่างโน้นดีอย่างนี้ ไอ้นี่มันตัวระยำ คนที่มีความรู้สึกว่าตัวดีนี่คนระยำ คนดีเขาไม่มีความรู้สึกตัวว่าดี เราก็เลิกการถือตัวถือตนว่า ไอ้ใครคนไหนมันดีแค่ไหน มันสกปรกเหมือนกันทั้งหมด เกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็เหมือนกัน ร่างกายก็เต็มไปด้วยทรุดโทรม หาความเที่ยงไม่ได้ ร่างกายเต็มไปด้วยความสกปรก

มันระยำเท่า ๆ กัน มันจะดีกันได้ยังไง ไอ้ฐานะความเป็นอยู่ ความรู้ ศักดิ์ศรี นี่อย่าไปพูดมันเลย มันไม่พ้นความตาย อุทธัจจะ อารมณ์ที่มีความใคร่ นึกว่า โอ้ แค่อนาคามีก็สบายแล้ว ตายไปเป็นเทวดาหรือพรหม เราก็ไปนิพพานได้ อันนี้เรียกว่าอารมณ์ฟุ้งซ่านในตอนนี้ ตามแบบท่านว่า ท่านเรื่อยเฉื่อยไป

อวิชชา ก็ทำลาย ฉันทะ ความพอใจในมนุษยโลก เทวโลกและพรหมโลก แล้วก็ราคะ การเห็นว่ามนุษยโลก เทวโลก พรหมโลก เป็นของดีของน่ารัก ตัดเสียหมดว่า โลกทั้ง ๓ ประการนี้ ไม่ใช่วิสัยของเราที่พึงต้องการ เราต้องการคือความดับไม่มีเชื้อ คือไม่ติดอยู่ในขันธ์ ๕ ทั้งหมด อย่างนี้องค์สมเด็จพระบรมสุคต กล่าวว่า ท่านเป็นพระอรหันต์

ทำได้ตามนี้นะ สมกับสมญาที่กล่าวว่า นิพพานัสสะ สัจฉิกิริยายะ เอตัง กาสาวัง คเหตวา ซึ่งแปลเป็นใจความว่า ข้าพเจ้าขอรับผ้ากาสาวพัตร์มาเพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ถ้าการบวชไม่มุ่งหวังอย่างนี้ ก็จงอย่าบวชเลย เพราะถ้าขืนบวชต่อไป มันก็ซวย มันมีแต่ลงนรกไม่ได้ขึ้นสวรรค์

สำหรับวันนี้เวลาก็หมดแล้ว จบกัน ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล สมบูรณ์พูนผล จงมีแด่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนผู้ประพฤติดี ประพฤติชอบ คนเลวไม่เกี่ยว

สวัสดี


ll กลับสู่สารบัญ


[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
ตั้งหัวข้อใหม่

Go To Top