วิธีฝึกกรรมฐานด้วยตนเองแบบง่าย ๆ โดย..พระสุธรรมยานเถระ
webmaster - 20/3/11 at 08:47

สารบัญ

01.
คำปรารภ
02. สมาธิ
03. เริ่มทำสมาธิ
04. ขณิกสมาธิ
05.
อานิสงส์กรรมบถ ๑๐
06. อุปจารสมาธิ
07. เมื่อนิมิตเกิดขึ้นควรทำอย่างไร
08. อานิสงส์สร้างนิมิต
09. อาการและอารมณ์ของอุปจารสมาธิ
10. อัปปนาสมาธิหรือฌาน
11. พลัดตกจากฌาน
12. ความมุ่งหมายในการเจริญสมาธิ


☺.....เนื่องจากมีสมาชิกท่านหนึ่ง คือ คุณ pizzawithaj ได้แจ้งความจำนงค์มาทางอีเมล์ ทางทีมงานฯ เห็นว่าเป็นความประสงค์ดีต่อผู้เยี่ยมชมทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่เพิ่งจะเริ่มเข้ามาศึกษาใหม่ๆ หรือท่านที่เป็นศิษย์เก่ามานานแล้วก็ดี

จะได้ทบทวนความรู้ความเข้าใจ หรือไม่ก็บางท่านอาจจะยังจับจุดในการปฏิบัติให้เหมาะสมสำหรับตนเอง หมายถึงยังไม่ลงตัวว่าตนเองจะปฏิบัติแบบไหน หรือว่าแนวไหนดี เพราะข้อปฏิบัติมีหลายแบบ หลายจริตด้วยกัน

........พอดีทีมงานฯ ได้ค้นพบหนังสือเล่มนี้แล้วละ เป็นเล่มเล็กๆ อ่านเข้าใจง่าย เหมาะที่จะนำไปปฏิบัติได้ง่ายๆ ด้วย หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า "วิธีฝึกกรรมฐานด้วยตนเองแบบง่ายๆ" นั่นเอง และได้เข้าไปค้นหาในเว็บไซด์ต่างๆ ที่เคยลงหนังสือเล่มนี้

ปรากฏว่ามีการตัด "คำปรารภ" และวันที่เริ่มบันทึกและจบการบันทึกออกไป ทีมงานฯ จึงจำเป็นต้องนำข้อเขียนของท่านมาลงในเว็บไซด์วัดท่าซุงให้ครบถ้วน

เพราะคำพูดของท่านทุกคำมีความสำคัญ แม้แต่คำเริ่มต้นหรือคำลงท้ายก็ดี ควรจะคัดลอกให้ครบถ้วน มิฉะนั้นนานไปก็จะมีการรวบรัดตัดตอนออกไปจนไม่เหลืออะไร (หนังสือเล่มนี้ไม่มีไฟล์เสียง)

........ดังคำปรารภของท่านในหนังสือเล่มนี้ จะเห็นถึงความทุกข์ยากลำบากกายเพียงไร ที่ท่านจะต้องฝืนทนกับทุกขเวทนา แม้ในขณะที่เขียนหนังสือก็มีอาการป่วยไข้อยากหนัก เพราะฉะนั้นหนังสือหรือข้อเขียนของท่านแต่ละเล่ม ได้มาจากความมีเมตตาของท่าน ที่หวังอนุเคราะห์ต่อคณะศิษย์

แม้บางคนจะไม่ได้ทันท่าน แต่ก็ยังได้รับรู้รับทราบถึงน้ำใจในความหวังดี ควรที่จะได้อ่านทุกถ้อยทุกคำ เหมือนกับได้รับการสั่งสอนอยู่ต่อหน้าท่านนั่นเอง แต่ก่อนที่จะอ่านคำสอนของ หลวงพ่อพระสุธรรมยาน โดยตรง

ทีมงานฯ ขอนำอีเมล์มาให้อ่านกันก่อนพร้อมกับขออนุโมทนาคุณ pizzawithaj ไว้ ณ โอกาสนี้ด้วยครับ...


จาก : kamonporn.ost@......com
ถึง : webmaster@watthasung.com
หัวเรื่อง : ติดต่อทีมงาน : อยากให้ลงไฟล์เสียงของหลวงพ่อเรื่องนี้ค่ะ
วันที่ : 16/03/11 13:15


...อยากให้ทีมงาน ช่วยลง ไฟล์เสียง หรือ วิดีโอ หรือ ไฟล์อักษร ของหลวงพ่อ ตอน "วิธีทรงอารมณ์สมาธิให้ได้เร็วๆ" (ไม่แน่ใจชื่อนี้รึเปล่า )

แต่เนื้อหา หลวงพ่อจะสอนว่า ไม่ว่าจะอะไร ให้นึก พุทโธๆ อย่างเดียว ไม่ต้องนิวรณ์ 5 ประการ ไม่ต้องคิด ไม่ต้องกรรมฐาน 40 เอาแต่ พุทโธๆๆ

7 วันจะได้ทิพจักขุญาณ ใน 1 เดือน เรื่องอภิญญา ฯลฯ ประมาณนี้น่ะคะ
เห็นว่า เป็นไฟล์เสียงที่ดี และ ง่าย ไม่ยาก สำหรับคนที่ ฝึกอะไรก็ยาก ทำไม่ได้สักที ถ้าลองได้ฟังอันนี้แล้ว คิดว่าจะจับหลักทำได้ไม่ยากนักตามที่หลวงพ่อสอน อยากให้คนอื่นได้มีโอกาสได้ฟังด้วย ค่ะ

pizzawithaj


วิธีฝึกกรรมฐานด้วยตนเองแบบง่าย ๆ




1

คำปรารภ


........หนังสือปฏิบัติกรรมฐานด้วยตนเองแบบง่ายๆ นี้ เกิดมีขึ้นได้เพราะอาศัยความต้องการของท่านพุทธบริษัทมากท่านด้วยกัน ที่ขอร้องให้เขียนขึ้น เพื่อจะได้ไปเป็นคู่มือปฏิบัติ อาตมาเองขณะเขียนก็กำลังป่วยหนัก เขียนได้วันละเล็กละน้อย เขียนด้วยปากกาก็ไม่ไหว เพราะตามองไม่ใคร่เห็นตัวหนังสือ ถ้าเขียนไปสัก ๒๐ นาที ก็จะมองไม่เห็นเส้นหมึก คุณสุภรณ์ ลีละยุทธโยธิน เธอซื้อเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้ามาให้พิมพ์ง่ายเบาแรง จึงใช้เครื่องนี้เป็นปฐมฤกษ์

เมื่อพิมพ์ไปๆ อาศัยที่มีแรงน้อย ตามองไม่ใคร่เห็น จึงมีตัวผิดและตกมาก ต้องให้ พรนุช คืนคงดี เธอช่วยแก้ไขอีกตอนหนึ่ง (จัดพิมพ์ใหม่ให้ถูกต้อง) เวลาทำหนังสือนี้ก็ใช้เวลาที่คอยถ่ายท้องของร่างกายในเวลาดึก เพราะท้องผูกมาก ต้องใช้ยาระบายช่วยให้ร่างกายถ่าย เมื่อถ่ายแล้วก็มานั่งพิมพ์ต้นฉบับ ทำไปได้หนึ่งวันบางคราวก็ต้องเว้นไปหลายวัน เป็นอันว่าหนังสือนี้ออกมาได้เพราะเข้าถึงทุกข์

ถึงอย่างไรก็ดี ก็ทำออกมาได้อย่างกระท่อนกระแท่นเต็มที คิดว่าคงมีประโยชน์แก่ท่านผู้สนใจบ้างตามสมควร กรรมฐานที่เป็นพื้นฐานที่จะได้จากหนังสือนี้ก็คือ

๑. พุทธานุสสติ นึกถึงพระพุทธเจ้า
๒. ธัมมานุสสติ นึกถึงพระธรรม
๓. สังฆานุสสติ นึกถึงพระสงฆ์
๔. มรณานุสสติ นึกถึงความตาย
๕. สีลานุสสติ นึกถึงศีล
๖. จาคานุสสติ นึกถึงทาน การบริจาค
๗. อุปสมานุสสติ นึกถึงพระนิพพาน
๘. กสิณ บางกอง
๙. กายคตานุสสติ
๑๐. อริยสัจ


เมื่อดูกรรมฐานที่จะได้จากหนังสือนี้แล้ว เห็นว่ามีประโยชน์แก่ท่านนักปฏิบัติตามสมควร ด้วยบางท่านประสงค์หนีอบายภูมิ บางท่านต้องการนิพพาน ก็มีให้พร้อมในหนังสือนี้ และมีพระสูตร คือบุคคลตัวอย่างในทางปฏิบัติเพื่อหวังผลได้ง่ายขึ้น เพราะมีตัวอย่าง

วิธีปฏิบัตินำมาเฉพาะที่มีความเป็นจริงๆ ตัดส่วนที่ทำให้มีกังวลมากออก จะทำให้การปฏิบัติง่ายขึ้น และเข้าถึงผลเร็วขึ้น มีบางอย่างที่ท่านอาจจะเห็นว่าบกพร่องไปบ้าง ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะเห็นว่าไม่จำเป็น ถ้าเอาไว้จะทำให้กำลังใจของนักปฏิบัติวุ่นวาย แทนที่จะได้ก็จะกลายเป็นเสียไป จึงตัดออกไม่เอามากล่าวไว้ในหนังสือนี้.

(พระสุธรรมยานเถระ)
๑๘ กันยายน ๒๕๓๐


2

เริ่ม วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๓๐
จบ วันที่ ๗ กันยายน ๒๕๓๐


........มีท่านพุทธศาสนิกชนมากท่านได้มีจดหมายมาขอวิธีปฏิบัติกรรมฐานแบบง่ายๆ เพื่อฝึกด้วยตนเอง อาตมาจึงเขียนวิธีฝึกกรรมฐานด้วยตนเองขึ้นเป็นแบบฝึกในหมวด สุกขวิปัสสโก คือฝึกแบบง่ายๆ ขอให้ท่านผู้สนใจปฏิบัติตามนี้

สมาธิ


อันดับแรก ขอให้ท่านผู้สนใจจงเข้าใจคำว่าสมาธิก่อนสมาธิ แปลว่า ตั้งใจมั่น หมายถึงการตั้งใจแบบเอาจริงเอาจังนั่นเอง ตามภาษาพูดเรียกว่า เอาจริงเอาจัง คือ ตั้งใจว่าจะทำอย่างไร ก็ทำอย่างนั้นอย่างเคร่งครัด ไม่เลิกล้มความตั้งใจ

ความประสงค์ที่เจริญสมาธิ


ความประสงค์ที่เจริญสมาธิก็คือ ต้องการให้อารมณ์สงัดและเยือกเย็น ไม่มีความวุ่นวายต่ออารมณ์ที่ไม่ต้องการ และความประสงค์ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ อยากให้พ้นอบายภูมิ คือ ไม่เกิดเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกายสัตว์เดียรัจฉาน อย่างต่ำถ้าเกิดใหม่ขอเกิดเป็นมนุษย์ และต้องการเป็นมนุษย์ชั้นดี คือ

๑. เป็นมนุษย์ ที่มีรูปสวย ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน ไม่มีอายุสั้นพลันตาย
๒. เป็นมนุษย์ ที่มีความสมบูรณ์ด้วยทรัพย์ ทรัพย์สินไม่เสียหายด้วยไฟไหม้, โจรเบียด-
เบียน, น้ำท่วม หรือลมพัดทำลายให้เสียหาย
๓. เป็นมนุษย์ ที่มีคนในปกครองอยู่ในโอวาทไม่ดื้อด้านดันทุรัง ให้มีทุกข์เสียทรัพย์สิน
และเสียชื่อเสียง
๔. เป็นมนุษย์ ที่มีวาจาไพเราะ เมื่อพูดออกไปเป็นที่พอใจของผู้รับฟัง
๕. เป็นมนุษย์ ที่ไม่มีอาการปวดประสาท คือปวดศีรษะมากเกินไป ไม่เป็นโรคประสาท
ไม่เป็นบ้าคลั่งเสียสติ


รวมความว่าโดยย่อก็คือ ต้องการเป็นมนุษย์ที่มีความสงบสุขทุกประการ เป็นมนุษย์ที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สินทุกประการ ทรัพย์ไม่มีอะไรเสียหายจากภัย ๔ ประการคือ ไฟไหม้ ลมพัด โจรรบกวน น้ำท่วม และเป็นมนุษย์ที่มีความสงบสุข ไม่เดือดร้อนด้วยเหตุทุกประการ ฯลฯ

ประสงค์ให้เกิดเป็นเทวดาหรือนางฟ้าบนสวรรค์


บางท่านก็ต้องการไปเกิดบนสวรรค์เป็นนางฟ้าหรือเทวดาที่มีร่างกายเป็นทิพย์ มีที่อยู่และสมบัติเป็นทิพย์ไม่มีคำว่าแก่, ป่วยและยากจน (ความปรารถนาไม่สมหวัง) เพราะเทวดาหรือนางฟ้าไม่มีความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย มีความปรารถนาสมหวังเสมอ บางท่านก็อยากไปเกิดเป็นพรหม ซึ่งมีความสุขและอานุภาพมากกว่าเทวดาและนางฟ้า บางท่านก็อยากไปนิพพาน

เป็นอันว่าความหวังทุกประการตามที่กล่าวมาแล้วนั้นจะมีผลแก่ทุกท่านแน่นอน ถ้าท่านตั้งใจทำจริง และปฏิบัติตามขั้นตอน
แบบที่บอกว่าง่ายๆ นี้ถ้าปฏิบัติได้ครบถ้วน ท่านจะได้ทุกอย่างตามที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด โดยใช้เวลาไม่นานนัก จะช้าหรือเร็วอยู่ที่ท่านทำจริงตามคำแนะนำหรือไม่เท่านั้นเอง

อารมณ์ที่ต้องการในขณะปฏิบัติ


สำหรับอารมณ์ที่ต้องการในขณะปฏิบัติ ท่านต้องเข้าใจเสียก่อนว่า เวลานั้นต้องการอารมณ์สบาย ไม่ใช่อารมณ์เครียด เมื่อมีอารมณ์เป็นสุขถือว่าใช้ได้ อารมณ์เป็นสุขไม่ใช่อารมณ์ดับสนิทจนไม่รู้อะไร เป็นอารมณ์ธรรมดาแต่มีความสบายเท่านั้นเอง ยังมีความรู้สึกตามปกติทุกอย่าง

3

เริ่มทำสมาธิ


เริ่มทำสมาธิใช้วิธีง่าย ๆ ไม่ต้องมีพิธีรีตองมาก ใช้ธูปเทียนเท่าที่มีบูชาพระ ใช้เครื่องแต่งกายตามที่ท่านแต่งอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องแต่งตัวสีขาว ฯลฯ เป็นต้น เพราะไม่สำคัญที่เครื่องแต่งตัว ความสำคัญจริง ๆ อยู่ที่ใจ ให้คุมอารมณ์ใจให้อยู่ตามที่เราต้องการก็ใช้ได้

อาการนั่ง


อาการนั่ง ถ้าอยู่ที่บ้านของท่านตามลำพัง ท่านจะนั่งอย่างไรก็ได้ตามสบาย จะนั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ นั่งห้อยเท้าบนเก้าอี้ หรือ นอน ยืน เดิน ตามแต่ท่านจะสบาย ทั้งนี้หมายถึงหลังจากที่ท่านบูชาพระแล้ว เสร็จแล้วก็เริ่มกำหนดรู้ลมหายใจเข้า และหายใจออก คำว่า กำหนดรู้ คือหายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ ถ้าต้องการให้ดีมาก ก็ให้สังเกตด้วยว่าหายใจเข้ายาวหรือสั้น หายใจออกยาวหรือสั้น

ขณะที่รู้ลมหายใจนี้ และเวลานั้นจิตใจไม่คิดถึงเรื่องอื่นๆ เข้าแทรกแซง ก็ถือว่าท่านมีสมาธิแล้ว การทรงอารมณ์รู้เฉพาะลมหายใจเข้าออก โดยที่อารมณ์อื่นไม่แทรกแซง คือไม่คิดเรื่องอื่นในเวลานั้น จะมีเวลามากหรือน้อยก็ตาม ชื่อว่าท่านมีสมาธิแล้ว คือตั้งใจรู้ลมหายใจโดยเฉพาะ

ภาวนา


การเจริญกรรมฐานโดยทั่วไปนิยมใช้คำภาวนาด้วย เรื่องคำภาวนานี้อาตมาไม่จำกัดว่าต้องภาวนาอย่างไร เพราะแต่ละคนมีอารมณ์ไม่เหมือนกัน บางท่านนิยมภาวนาด้วยถ้อยคำสั้น ๆ บางท่านนิยมใช้คำภาวนายาว ๆ ทั้งนี้ก็สุดแล้วแต่ท่านจะพอใจ อาตมาจะแนะนำคำภาวนาอย่างง่ายคือ "พุทโธ"

คำภาวนาบทนี้ ง่าย สั้น เหมาะแก่ผู้ฝึกใหม่ มีอานุภาพและมีอานิสงส์มาก เพราะเป็นพระนามของพระพุทธเจ้า การนึกถึงชื่อของพระพุทธเจ้าเฉย ๆ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในเรื่อง มัฏฐกุณฑลีเทพบุตร ว่าคนที่นึกถึงชื่อท่านอย่างเดียว ตายไปเกิดเป็นเทวดาหรือนางฟ้าบนสวรรค์ไม่ใช่นับร้อยนับพัน พระองค์ตรัสว่านับเป็นโกฏิ ๆ เรื่องนี้จะนำมาเล่าข้างหน้าเมื่อถึงวาระนั้น

เมื่อภาวนาควบคู่กับรู้ลมหายใจจงทำดังนี้ เวลาหายใจเข้านึกว่า "พุท" เวลาหายใจออกนึกว่า "โธ" ภาวนาควบคู่กับรู้ลมหายใจตามนี้เรื่อย ๆ ไปตามสบาย ถ้าอารมณ์ใจสบายก็ภาวนาเรื่อย ๆ ไป แต่ถ้าเกิดอารมณ์ใจหงุดหงิดหรือฟุ้งจนตั้งอารมณ์ไม่อยู่ก็จงเลิกเสีย จะเลิกเฉย ๆ หรือดูโทรทัศน์ หรือฟังวิทยุหรือหาเพื่อนคุยให้อารมณ์สบายก็ได้ (เพื่อเป็นการผ่อนคลายอารมณ์)

อย่ากำหนดเวลาตายตัวว่าต้องนั่งให้ครบเวลาเท่านั้นเท่านี้แล้วจึงจะเลิก ถ้ากำหนดอย่างนั้นเกิดอารมณ์ฟุ้งซ่านขึ้นมาจะเลิกก็เกรงว่าจะเสียสัจจะที่กำหนดไว้ ใจก็เพิ่มการฟุ้งซ่านมากขึ้น ถ้าเป็นเช่นนี้บ่อย ๆ ก็จะเกิดเป็นโรคประสาทหรือเป็นโรคบ้า ขอทุกท่านจงอย่าทนทำอย่างนั้น

4

ขณิกสมาธิ


อารมณ์ที่ทรงสมาธิระยะแรกนี้จะทรงไม่ได้นาน เพราะเพิ่งเริ่มใหม่ ท่านเรียกสมาธิระยะนี้ว่า "ขณิกสมาธิ" คือสมาธิเล็กน้อย ความจริงสมาธิถึงแม้ว่าจะทรงอารมณ์ไม่ได้นานก็มีอานิสงส์มาก

ฝึกทรงอารมณ์


อารมณ์ทรงสมาธิ ถึงแม้ว่าจะทรงไม่ได้นานแต่ท่านทำด้วยความเคารพก็มีผลมหาศาล แต่ถ้ารักษาอารมณ์ได้นานกว่า มีสมาธิดีกว่าจะมีผลมากกว่านั้นมาก การฝึกทรงอารมณ์ให้อยู่ นาน หรือที่เรียกว่ามีสมาธินานนั้น ในขั้นแรกให้ทำดังนี้

ให้ท่านภาวนาควบกับรู้ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้านึกว่า"พุท" หายใจออกนึกว่า "โธ" ดังนี้ นับเป็นหนึ่ง นับอย่างนี้สิบครั้ง โดยตั้งใจว่าในขณะที่ภาวนาและรู้ลมเข้าลมออกอย่างนี้ ในระยะสิบครั้งนี้ เราไม่ยอมให้อารมณ์อื่นเข้ามาแทรก คือไม่ยอมคิดอย่างอื่นจะประคองใจให้อยู่ในคำภาวนา และรู้ลมเข้าลมออกทำครั้งละสิบเพียงเท่านี้

ไม่ช้าสมาธิของท่านจะทรงตัวอยู่อย่างน้อยสิบนาทีหรือถึงครึ่งชั่วโมง จะเป็นอารมณ์ที่เงียบสงัดมากอารมณ์จะสบายจงพยายามทำอย่างนี้เสมอๆ ทางที่ดีทำแบบนี้เมื่อเวลานอนก่อนหลับและตื่นใหม่ๆ จะดีมากบังคับอารมณ์
เพียงสิบเท่านั้นพอใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือนจะสามารถทรงอารมณ์เป็นฌานได้เป็นอย่างดี

อย่าฝืนอารมณ์มากนัก


เรื่องของอารมณ์เป็นของไม่แน่นอนนัก ในกาลบางคราวเราสามารถควบคุมได้ตามที่เราต้องการ แต่ในกาลบางคราวเราก็ไม่สามารถควบคุมได้ เพราะกระสับกระส่ายเสียจนคุมไม่อยู่ ในตอนนั้นควรจะยอมแพ้มัน เพราะถ้าขืนต่อสู้จะเกิดอารมณ์หงุดหงิดหรือเครียดเกินไป ในที่สุดถ้าฝืนเสมอๆ แบบนั้นอารมณ์จะกลุ้ม สมาธิจะไม่เกิด สิ่งที่จะเกิดแทนก็คือ อารมณ์กลุ้ม เมื่อปล่อยให้กลุ้มบ่อย ๆ ก็อาจจะเป็นโรคประสาทได้

ข้อที่ควรระวังก็คือ ทำแบบการนับดังกล่าวแล้วนั้น สามารถทำได้ถึงสิบครั้ง หรือบางครั้งทำได้เกินสิบก็ทำเรื่อย ๆ ไป ถ้าภาวนาไปไม่ถึงสิบอารมณ์เกิดรวนเรกระสับกระส่าย ให้หยุดพักประเดี๋ยวหนึ่งแล้วทำใหม่ สังเกตดูอารมณ์ว่าจะสามารถควบคุมภาวนาไปได้ไหม ถ้าสามารถควบคุมให้อยู่ภายในขอบเขตของภาวนาได้ และรู้ลมหายใจเข้าออกควบคู่กันไปได้ดีก็ทำเรื่อยๆไป

แต่ถ้าควบคุมไม่ไหวจริง ๆ ให้พักเสียก่อน จนกว่าใจจะสบายแล้วจึงทำใหม่หรือเลิกไปเลยวันนั้นพัก ไม่ต้องทำเลยปล่อยอารมณ์ให้รื่นเริงไปกับการคุย หรือชมโทรทัศน์ หรือฟังวิทยุ หรือหลับไปเลยเพื่อให้ใจสบายให้ถือว่าทำได้เท่าไรพอใจเท่านั้น ถ้าทำอย่างนี้ไม่ช้าจะเข้าถึงจุดดีคือ อารมณ์ฌาน

คำว่า ฌาน คือ อารมณ์ชิน ได้แก่ เมื่อต้องการจะรู้ลมหายใจเข้าออกเมื่อไร อารมณ์ทรงตัวทันที ไม่ต้องเสียเวลาตั้งท่าตั้งทางเลย ภาวนาเมื่อไรใจสบายเมื่อนั้น แต่ทว่าอารมณ์ฌานโลกีย์ที่ทำได้นั้น เอาแน่นอนไม่ได้ เมื่อร่างกายปกติ ไม่เหนื่อย ไม่เพลีย ไม่ป่วยมันก็สามารถคุมอาการภาวนา หรือรู้ลมหายใจเข้าออกได้สบาย ไม่มีอารมณ์ขวาง แต่ถ้าร่างกายบกพร่องนิดเดียว เราก็ไม่สามารถคุมให้อยู่ตามที่เราต้องการได้

ฉะนั้น ถ้าหลงระเริงเล่นแต่อารมณ์สมาธิอย่างเดียว จะคิดว่าเราตายคราวนี้หวังได้สวรรค์ , พรหมโลก นิพพานนั้น (เอาแน่นอนไม่ได้) เพราะถ้าก่อนตายมีทุกขเวทนามาก จิตอาจจะทรงอารมณ์ไม่อยู่ ถ้าจิตเศร้าหมองขุ่นมัวเมื่อก่อนตาย อาจจะไปอบายภูมิ คือ นรก, เปรต,อสุรกาย, สัตว์เดียรัจฉานได้

ถ้าหลงทำเฉพาะสมาธิ ไม่หาทางเอาธรรมะอย่างอื่นเข้าประคับประคอง ถ้าเมื่อเวลาตายเกิดมีอารมณ์เศร้าหมองเข้าครองใจ สมาธิก็ไม่สามารถช่วยได้ จึงต้องใช้ธรรมะอย่างอื่นเข้าประคองใจด้วยธรรมะที่ช่วยประคองใจให้เกิดความมั่นคงไม่ต้องลงอบายภูมิมีนรกเป็นต้นก็ได้แก่ "กรรมบถ ๑๐ ประการ" คือ

กรรมบถ ๑๐ ประการ

๑. ไม่ฆ่าสัตว์ หรือไม่ทรมานสัตว์ให้ได้รับความลำบาก
๒. ไม่ลักทรัพย์ คือไม่ถือเอาทรัพย์ของผู้อื่นที่เขาไม่ให้ด้วยความเต็มใจ
๓. ไม่ทำชู้ในบุตรภรรยาและสามีของผู้อื่น
(ขอแถมนิดหนึ่ง ไม่ดื่มสุราและเมรัยที่ทำให้มึนเมาไร้สติ)
๔. ไม่พูดจาที่ไม่ตรงความเป็นจริง
๕. ไม่พูดวาจาหยาบคายให้สะเทือนใจผู้รับฟัง

๖. ไม่พูดส่อเสียดยุให้รำตำให้รั่ว ทำให้ผู้อื่นแตกร้าวกัน
๗. ไม่พูดจาเพ้อเจ้อเหลวไหล
๘. ไม่คิดอยากได้ทรัพย์ของผู้อื่นที่เจ้าของเขาไม่ยกให้
๙. ไม่คิดประทุษร้ายใคร คือไม่จองล้างจองผลาญเพื่อทำร้ายใคร
๑๐. เชื่อพระพุทธเจ้าและปฏิบัติตามคำสั่งสอนของท่านด้วยดี


5

อานิสงส์กรรมบถ ๑๐


ท่านที่ปฏิบัติในกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ ท่านเรียกชื่อเป็นกรรมฐานกองหนึ่งเหมือนกัน คือ ท่านเรียกว่า สีลานุสสติกรรมฐาน หมายความว่าเป็นผู้ทรงสมาธิในศีล

ท่านที่ปฏิบัติในกรรมบถ ๑๐ ประการได้นั้น มีอานิสงส์ดังนี้

๑. อานิสงส์ข้อที่หนึ่ง จะเกิดเป็นคนรูปสวย ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ มีอายุยืนยาว ไม่อายุสั้นพลันตาย
๒. อานิสงส์ข้อที่สอง เกิดเป็นคนมีทรัพย์มาก ทรัพย์ไม่ถูกทำลายเพราะโจร , ไฟไหม้, น้ำท่วม , ลมพัด จะมีทรัพย์สมบัติสมบูรณ์บริบูรณ์ขั้นมหาเศรษฐี
๓. อานิสงส์ข้อที่สาม เมื่อเกิดเป็นคนจะมีคนที่อยู่ในบังคับบัญชาเป็นคนดี , ไม่ดื้อด้าน อยู่ภายในคำสั่งอย่างเคร่งครัด มีความสุขเพราะบริวาร
และการไม่ดื่มสุราเมรัยเมื่อเกิด เป็นคนจะไม่มีโรคปวดศีรษะที่ร้ายแรง, ไม่เป็นโรคเส้นประสาท, ไม่เป็นคนบ้าคลั่ง จะเป็นคนที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์, มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด

เรื่องของวาจา

๔. อานิสงส์ข้อที่สี่, ข้อห้า, ข้อหก และข้อเจ็ด เมื่อเกิดเป็นคน จะเป็นคนปากหอม หรือมีเสียงทิพย์ คนที่ได้ยินเสียงท่านพูด เขาจะไม่อิ่มไม่เบื่อในเสียงของท่าน ถ้าเรียกตามสมัยปัจจุบัน จะเรียกว่าคนมีเสียงเป็นเสน่ห์ก็คงไม่ผิด จะมีความเป็นอยู่ที่เป็นสุข และทรัพย์สินมหาศาลเพราะเสียง

เรื่องของใจ

๕. อานิสงส์ข้อที่แปด ,ข้อเก้า และข้อสิบ เป็นเรื่องของใจ คืออารมณ์คิด ถ้าเว้นจาก
การคิดลักขโมย เป็นต้น ไม่คิดจองล้างจองผลาญใคร, เชื่อพระพุทธเจ้า และปฏิบัติตามคำสอน
ของท่านด้วยความเคารพ, ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ จะเป็นคนมีอารมณ์สงบ, มีความสุขสบายทางใจ
ความเดือดเนื้อร้อนใจในกรณีใดๆ ทุกประการจะไม่มีเลย มีแต่ความสุขใจอย่างเดียว


อานิสงส์รวม


เมื่อกล่าวถึงอานิสงส์รวมแล้ว ผู้ที่ปฏิบัติกรรมฐานในขั้นนี้ ถึงแม้ว่าจะทรงสมาธิไม่ได้นาน ตามที่เรียกว่า ขณิกสมาธิ นั้น ถ้าสามารถทรงกรรมบถ ๑๐ ประการได้ครบถ้วน ท่านกล่าวว่าเมื่อตายจากโลกนี้ไปแล้ว ไม่ต้องไปเกิดในอบายภูมิอีกต่อไป บาปที่ทำไว้ตั้งแต่สมัยใดก็ตาม ไม่มีโอกาส นำไปลงโทษในอบายภูมิ มีนรกเป็นต้น อีกต่อไป

ถ้าบุญบารมีไม่มากกว่านี้ ตายจากคนไปเป็นเทวดาหรือพรหม เมื่อหมดบุญแล้วลงมาเกิดเป็นมนุษย์ จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ในชาตินั้น แต่ถ้าเร่งรัดการบำเพ็ญเพียรดี , รู้จักใช้ปัญญาอย่างมีเหตุผล ก็สามารถบรรลุมรรคผลเข้าถึงพระนิพพานได้ในชาตินี้

แนะวิธีรักษากรรมบถ ๑๐ ประการ


การที่จะทรงความดีเต็มระดับตามที่กล่าวมาให้ครบถ้วน ให้ปฏิบัติดังนี้

๑. คิดถึงความตาย ไว้ในขณะที่สมควร คือไม่ใช่ทุกลมหายใจเข้าออก เมื่อตื่นขึ้นใหม่ ๆ อารมณ์ใจยังเป็นสุข ก่อนที่จะเจริญภาวนาอย่างอื่น ให้คิดถึงความตายก่อน คิดว่าความตายอาจจะเข้ามาถึงเราในวันนี้ก็ได้ จะตายเมื่อไรก็ตามเราไม่ขอลงอบายภูมิ ที่เราจะไปคือ อย่างต่ำไปสวรรค์ , อย่างกลางไปพรหม ถ้าไม่เกินวิสัยแล้วขอไปนิพพานแห่งเดียว คิดว่าไปนิพพานเป็นที่พอใจที่สุดของเรา

๒. คิดต่อไปว่า เมื่อความตายจะเข้ามาถึงเราจะเป็นเวลาใดก็ตาม เราขอยึดพระพุทธเจ้า พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต คือไม่สงสัยในความดีของพระพุทธเจ้า ยอมเคารพด้วยความศรัทธา คือความเชื่อถือในพระองค์ ขอปฏิบัติตามคำสอน คือกรรมบถ ๑๐ ประการโดยเคร่งครัด ถ้าความตายเข้ามาถึงเมื่อไรขอไปนิพพานแห่งเดียว

เมื่อนึกถึงความตายแล้ว ตั้งใจเคารพ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์สาวกแล้วตั้งใจนึกถึงกรรมบถ ๑๐ ประการว่ามีอะไรบ้าง ตั้งใจจำ และพยายามปฏิบัติตามอย่าให้พลั้งพลาดคิดติดตามข้อปฏิบัติเสมอว่า มีอะไรบ้าง ตั้งใจไว้เลยว่า วันนี้เราจะไม่ยอมละเมิดสิกขาบทใดสิกขาบทหนึ่งเป็นอันขาด เป็นธรรมดาอยู่เองการที่ระมัดระวังใหม่ๆ อาจจะมีการพลั้งพลาดพลั้งเผลอในระยะต้นๆ บ้างเป็นของธรรมดา


แต่ถ้าตั้งใจระมัดระวังทุกๆ วันไม่นานนักอย่างช้าไม่เกิน ๓ เดือน ก็สามารถรักษาได้ครบ มีอาการชินต่อการรักษาทุกสิกขาบทจะไม่มีการผิดพลาดโดยที่เจตนาเลย เมื่อท่านใดทรงอารมณ์กรรมบถ ๑๐ ประการได้โดยไม่ต้องระวัง ก็ชื่อว่าท่านทรงสมาธิขั้นขณิกสมาธิได้ครบถ้วนเมื่อตาย ท่านไปสวรรค์หรือพรหมโลกได้แน่นอน

ถ้าบารมียังอ่อนเกิดเป็นมนุษย์อีกชาติเดียว ไปนิพพานแน่ ถ้าขยันหมั่นเพียรใช้ปัญญาแบบเบา ๆ ไม่เร่งรัดเกินไป รักษาอารมณ์ใจให้เป็นสุขไม่ติดในความโลภ ไม่วุ่นวายในความโกรธ มีการให้อภัยเป็นปกติ ไม่เมาในร่างกายเรา และร่างกายเขาไม่ช้าก็บรรลุพระนิพพานได้แน่นอน เป็นอันว่าการปฏิบัติขั้น "ขณิกสมาธิ" จบเพียงเท่านี้.


◄ll กลับสู่สารบัญ

(โปรดติดตามตอน อุปจารสมาธิ ต่อไป)


webmaster - 6/4/11 at 06:03

6

อุปจารสมาธิ

อุปจารสมาธิ หมายถึง สมาธิเฉียดฌาน คือ ใกล้จะถึงปฐมฌาน มีกำลังใจเป็นสมาธิสูงกว่าขณิกสมาธิเล็กน้อยต่ำกว่าปฐมฌานนิดหน่อยเป็นสมาธิที่มีอารมณ์ชุ่มชื่นเอิบอิ่มผู้ปฏิบัติ พระกรรมฐานถ้าอารมณ์เข้าถึงอุปจารสมาธิแล้ว จะมีความเอิบอิ่มชุมชื่นไม่อยากเลิก

ท่านที่มีอารมณ์เข้าถึงสมาธิขั้นนี้ จึงต้องระมัดระวังตัวให้มาก เคยพักผ่อนเวลาเท่าไร เมื่อถึงเวลานั้นต้องเลิกและพักผ่อน ถ้าปล่อยอารมณ์ความชุ่มชื่นที่เกิดแก่จิตไม่คิดจะพักผ่อน ไม่ช้าอาการเพลียจากประสาทร่างกายจะเกิดขึ้น ในที่สุดอาจเป็นโรคประสาทได้

ที่ต้องรักษาประสาทก็เพราะปล่อยใจให้เพลิดเพลินเกินไปจนไม่ได้พักผ่อน ต้องเชื่อคำเตือนของพระพุทธเจ้าที่ท่านแนะนำ ปัญจวัคคีย์ฤาษีทั้ง ๕ มี ท่านอัญญาโกณฑัญญะ เป็นประธานโดยที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เธอทั้งหลายจงละส่วนสุดสองอย่าง คือ

๑. ปฏิบัติเครียดเกินไป จนถึงขั้นทรมานตน คือเกิดความลำบาก
๒. ความอยากได้เกินไป จิตใจวุ่นวายเพราะความอยากได้ จนอารมณ์ไม่สงบ


ถ้าเธอทั้งหลายติดอยู่ในส่วนสุดสองอย่างนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง ผลในการปฏิบัติคือ มรรคผลจะไม่มีแก่เธอเลย ขอให้ทุกคนตั้งอยู่ใน มัชฌิมาปฏิปทา คืออารมณ์ปานกลางได้แก่ "อารมณ์พอสบาย" เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแนะไว้อย่างนี้ ก็ยังมีบางท่านฝ่าฝืนปฏิบัติเพลิดเพลินเกินไป ไม่พักผ่อนตามเวลาที่เคยพักผ่อน จึงเกิดอารมณ์ฟุ้งซ่านวุ่นวายจนเป็นโรคประสาท ทำให้พระพุทธศาสนาต้องถูกกล่าวหาว่า การปฏิบัติพระกรรมฐานทำให้คนเป็นบ้า

ฉะนั้นขอท่านนักปฏิบัติทุกท่าน จงอย่าฝืนคำแนะนำของพระพุทธเจ้า จงรู้จักประมาณเวลาที่เคยพักผ่อน ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ และปฏิบัติแค่อารมณ์สบาย ถ้าเกินเวลาพักที่เคยพักก็ดี อารมณ์ฟุ้งซ่านวุ่นวายคุมไม่อยู่ก็ดีขอให้พักการปฏิบัติเพียงแค่นั้น พักให้สบาย พอใจผลที่ได้แล้วเพียงนั้น ปล่อยอารมณ์ใจให้รื่นเริงไปตามปกติ

นิมิตทำให้บ้า


มีเรื่องที่จะทำให้บ้าอีกเรื่องหนึ่งคือ นิมิต นิมิตคือภาพที่ปรากฏให้เห็นเพราะเมื่อกำลังสมาธิเข้าถึงระยะอุปจารสมาธินี้ จิตใจเริ่มสะอาดจากกิเลสเล็กน้อย เมื่อจิตเริ่มสะอาดจากกิเลสพอสมควรตามกำลังของ สมาธิที่กดกิเลสไว้ ยังไม่ใช่การตัดกิเลส อารมณ์ใจเริ่มเป็นทิพย์นิด ๆ หน่อย ๆ ยังไม่มีความเป็นทิพย์ทรงตัวพอที่จะเป็นทิพจักขุญาณได้ จิตที่สะอาดเล็กน้อยนั้นจะเริ่มเห็นภาพนิด ๆ หน่อย ๆ ชั่วแว้บเดียว..คล้ายแสงฟ้าแลบคือ ผ่านไปแว้บหนึ่งก็หายไป

ถ้าต้องการให้เกิดใหม่ก็ไม่เกิดเรียกร้องอ้อนวอนเท่าไรก็ไม่มาอีก ท่านนักปฏิบัติต้องเข้าใจตามนี้ว่า ภาพอย่างนี้เป็นภาพที่ผ่านมาชั่วขณะจิตไม่สามารถบังคับภาพนั้นให้กลับมาอีกได้ หรือบังคับให้อยู่นานมาก ๆ ก็ไม่ได้เหมือนกันภาพที่ปรากฏนี้จะทรงตัวอยู่นานหรือไม่นาน อยู่ที่สมาธิของท่านเมื่อภาพปรากฏ

ถ้ากำลังใจของท่านไม่ตกใจพลัดจากสมาธิ ภาพนั้นก็ทรงตัวอยู่นานเท่าที่สมาธิทรงตัวอยู่ ถ้าเมื่อภาพปรากฏท่านตกใจ สมาธิก็พลัดตกจากอารมณ์ ภาพนั้นก็จะหายไป ส่วนใหญ่จะลืมความจริงไปว่า เมื่อภาพจะปรากฏนั้นเป็นอารมณ์สงัดไม่มีความต้องการอะไรจิตสงัดจากกิเลสนิดหน่อยจึงเห็นภาพได้ ครั้นเมื่อภาพปรากฎแล้ว เกิดมีอารมณ์อยากเห็นต่อไปอีก อาการอยากเห็นนี้แหละเป็นอาการฟุ้งซ่านของจิต จิตตกอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลส จิตมีความสกปรกเพราะกิเลส

อย่างนี้ต้องการเห็นเท่าไรก็ไม่เห็น เมื่อไม่เห็นตามความต้องการก็เกิดความกลุ้ม ยิ่งกลุ้มความฟุ้งซ่านยิ่งเกิด เมื่อความปรารถนาไม่สมหวังในที่สุดก็เป็นโรคประสาท (บางรายบ้าไปเลย) ที่เป็นเช่นนี้เพราะไม่เชื่อตามคำแนะนำของพระพุทธเจ้า ที่ทรงแนะนำไว้ว่า จงอย่ามีอารมณ์อยากหรืออย่าให้ความอยากได้เข้าครอบงำบังคับบัญชาจิต

7

เมื่อนิมิตเกิดขึ้นควรทำอย่างไร

คำว่า "นิมิต" มี ๒ ประเภทคือ "นิมิตที่เราสร้างขึ้น" กับ "นิมิตที่ลอยมาเอง"

๑. นิมิตที่เราสร้างขึ้น จะแนะนำในระยะต่อไป นิมิตประเภทนี้ต้องรักษาหรือควบคุมให้ทรงอยู่ เพราะเป็นนิมิตที่สร้างกำลังใจให้ทรงสมาธิได้นาน หรืออาจสร้างกำลังสมาธิให้ทรงอยู่นานตามที่เราต้องการ

๒. นิมิตลอยมาเอง สำหรับนิมิตประเภทนี้ในที่บางแห่งท่านแนะนำว่า ควรปล่อยไปเลยอย่าติดใจจำภาพนั้น หรือไม่สนใจเสียเลย เพราะเป็นนิมิตที่ไม่มีความแน่นอนถ้าขืนจำหรือจ้องต้องการภาพ ภาพนั้นจะหายไป กำลังใจจะเสีย

แต่บางท่านแนะนำว่าเมื่อนิมิตเกิดขึ้นจะปล่อยใจให้เพลิดเพลินไปในนิมิตนั้นก็ได้ เพราะใจจะได้เป็นสุข จะมีความชุ่มชื่นในนิมิตนั้น เป็นเหตุให้ทรงสมาธิได้ดี แต่จงอย่าหลงในนิมิต ถ้านิมิตหายไปก็ปล่อยใจไปตามสบาย ไม่ติดใจในนิมิตนั้น คงภาวนาไปตามปกติทั้งสองประการนี้ ขอให้ท่านนักปฏิบัติเลือกเอาตามแต่อารมณ์ใจจะเป็นสุข

แต่ขอเตือนไว้นิดหนึ่งว่าเมื่อนิมิตปรากฏขึ้น ถ้าปล่อยใจให้เพลิดเพลินไปกับนิมิต ท่านอย่าลืมว่าเมื่อนิมิตหายไปนั้นเพราะใจเราพลัดจากสมาธิ ให้เริ่มตั้งอารมณ์โดยจับลมหายใจและภาวนาไปใหม่ ไม่สนใจกับภาพนิมิตที่หายไป

จงอย่าลืมว่านิมิตเกิดขึ้นมาเพราะจิตมีสมาธิ และเราไม่อยากเห็นจึงเป็นได้ และ นิมิตนั้นไม่ใช่ทิพจักขุญาณ เมื่อหายไปก็เชิญหายไปเราไม่สนใจกับ นิมิตอีก เราจะรักษาอารมณ์ใจให้เป็นสุขจากคำภาวนาและรู้ลมหายใจต่อไป ถ้าความกระวนกระวายเกิดขึ้นให้เลิกเสียทันที

สร้างนิมิตให้เกิดขึ้น

เรื่องสร้างนิมิตนี้ ในที่นี้ไม่มีการบังคับ ท่านต้องการสร้างก็สร้าง ท่านไม่ต้องการสร้างก็ไม่ต้องสร้าง สุดแล้วแต่ความต้องการ ขอแนะนำผู้ที่ต้องการสร้างไว้ดังนี้

การสร้างนิมิตมีหลายแบบ แต่ทว่าในหนังสือนี้แนะนำกรรมฐานหลัก คือ พุทธานุสสติกรรมฐาน จึงขอแนะนำเฉพาะกรรมฐานกองนี้ อันดับแรกขอให้ท่านหาพระพุทธรูปที่ท่านชอบใจสักองค์หนึ่ง ถ้าบังเอิญหาไม่ได้ก็ไม่ต้องหา ให้นึกถึงพระพุทธรูปที่วัดไหนก็ได้ที่ท่านชอบใจที่สุด

ถ้านึกถึงพระพุทธรูปแล้วใจไม่จับในพระพุทธรูป จิตจดจ่อในรูปพระสงฆ์องค์ใดองค์หนึ่งที่ท่านชอบก็ได้ เมื่อนึกถึงภาพพระพุทธรูปก็ดี ภาพพระสงฆ์ก็ดี ให้จำภาพนั้นให้สนิทใจแล้วภาวนาว่า "พุทโธ" พร้อมกับจำภาพพระนั้น ๆ ไว้

ถ้าท่านมีพระพุทธรูปให้ท่านนั่งข้างหน้าพระพุทธรูป ลืมตามองดูพระพุทธรูปแล้วจดจำภาพพระพุทธรูปให้ดี รูปพระพุทธรูปนั้นเป็นกรรมฐานได้สองอย่างคือ เป็น พุทธานุสสติ นึกถึงพระพุทธเจ้าก็ได้ และเป็นกสิณก็ได้ เมื่อท่านมีความรู้สึกว่า รูปที่ตั้งอยู่ข้างหน้าเรานี้เป็นพระพุทธรูป ความรู้สึกอย่างนั้นของท่านเป็น "พุทธานุสสติกรรมฐาน"

ถ้ามีความรู้สึกตามสีของพระพุทธรูป เช่น พระพุทธรูปสีเหลือง เป็น ปิตกสิณ ถ้าพระพุทธรูปเป็นสีขาว เป็น โอทาตกสิณ ถ้าพระพุทธรูปสีเขียว เป็น นีลกสิณ ทั้งสามสีนี้ สีใดสีหนึ่งก็ตามเป็นกสิณระงับโทสะเหมือนกัน

เมื่อท่านจะสร้างนิมิตให้ทำดังนี้ อันดับแรกให้ลืมตามองดูพระพุทธรูป จำภาพพระพุทธรูปพร้อมทั้งสีให้ครบถ้วน ในขณะนั้นเมื่อเราเห็นสีพระพุทธรูปไม่ต้องนึกว่าเป็นกสิณอะไร ตั้งใจจำเฉพาะพระพุทธรูปเท่านั้น เมื่อจำได้แล้วหลับตานึกถึงภาพพระพุทธรูปนั้น ภาวนาควบกับลมหายใจเข้าออกไปตามปกติ เมื่อภาวนาไปไม่นานนัก ภาพพระอาจจะเลือนจากใจ

เรื่องภาพเลือนจากใจนี้เป็นของธรรมดาของผู้ฝึกใหม่ เมื่อภาพเลือนไปก็ลืมตาดูภาพพระใหม่ทำอย่างนี้สลับกันไป เมื่อเวลาจะนอนให้จำภาพพระไว้ตั้งใจนึกถึงภาพพระ นอนภาวนาจนหลับไป ทั้ง ๆ ที่จำภาพพระไว้อย่างนั้น แต่ถ้าภาวนาไปเกิดมีอารมณ์วุ่นวายนอนไม่ยอมหลับ ต้องเลิกจับภาพพระและเลิกภาวนาปล่อยใจคิดไปตามสบายของใจมันจนกว่าจะหลับไป

8

อานิสงส์สร้างนิมิต

การสร้างนิมิตมีอานิสงส์อย่างนี้คือ ทำให้ใจเกาะนิมิตเป็นสมาธิได้ง่าย และทรงสมาธิได้นานตามสมควร สามารถสร้างจิตให้เข้าถึงระดับฌานได้รวดเร็ว

ขั้นตอนของนิมิต

นิมิตขั้นแรกเรียกว่า อุคหนินิมิต อุคหนิมิตนี้มีหลายขั้นตอน ในตอนแรกเมื่อจำภาพพระได้จนติดใจแล้ว (ไม่ใช่ติดตา) ต้องเรียกว่า "ติดใจ" เพราะใจนึกถึงภาพพระจะนั่ง นอน ยืน เดิน ไปทางไหน หรืออยู่ที่ใดก็ตาม ต้องการนึกถึงภาพพระ ใจนึกภาพได้ทันทีทันใด

มีความรู้ในภาพพระนั้นครบถ้วนไม่เลือนลาง อย่างนี้เรียกว่า "อุคหนิมิตขั้นต้น" เป็นเครื่องพิสูจน์อารมณ์สมาธิได้ดีกว่าการนับ ถ้าสมาธิยังทรงอยู่ ภาพนั้นจะยังทรงอยู่กับใจ ถ้าสมาธิสลายตัวไป ภาพนั้นจะหายไปจากใจถ้าท่านทำได้เพียงเท่านี้ อานิสงส์ คือบุญบารมีที่ท่านจะได้

อุคหนิมิตขั้นที่สอง เมื่อสมาธิทรงตัวมากขึ้น ภาพพระจะชัดเจนมากขึ้นจะใสสะอาดผุดผ่องกว่าภาพจริง ถ้าท่านนึกขอให้ภาพพระนั้นสูงขึ้นภาพนั้นจะสูงขึ้นตามที่ท่านต้องการ ต้องการให้อยู่ข้างหน้าหรือข้างหลัง เล็กลงหรือใหญ่ขึ้นจะเป็นไปตามนั้นทุกประการ อย่างนี้จัดเป็นอุคหนิมิตขั้นที่สอง สมาธิจะทรงตัวได้ดีมาก จะสามารถทรงเวลาได้นานตามที่ต้องการ

อุคหนิมิตขั้นที่สาม เป็นขั้นสุดท้ายของ "อุคหนิมิต" เมื่อภาพนิมิตคือภาพพระปรากฏให้ถือเอาสีเหลืองเป็นสำคัญ ความจริงสีอื่นก็มีสภาพเหมือนกันแต่จะอธิบายเฉพาะสีเหลือง

เมื่อสมาธิทรงตัวเต็มอัตรา ภาพสีเหลืองหรือสีอื่นก็ตาม จะค่อย ๆ คลายตัวเป็นสีขาวออกมาทีละน้อย ๆ ในที่สุดจะเป็นสีขาวสะอาดและหนาทึบอย่างนี้ถือว่า เป็นอุคหนิมิตขั้นสุดท้าย ถ้าประสงค์จะใช้เป็น ทิพจักขุญาณ ก็ใช้ในตอนนี้ได้ทันที

แต่ต้องมีความฉลาดและอาจหาญพอ ถ้าไม่ฉลาดและอาจหาญไม่พอก็จะสร้างความเละเทะให้เกิดมากขึ้น วิชาทิพจักขุญาณเป็นหลักสูตรของ วิชชาสาม

ในที่นี้แนะนำในหลักสูตรสุกขวิปัสสโก จึงของดไม่อธิบายเพราะจะทำให้เฝือและวุ่นวายว่าไปตามทางของ สุกขวิปัสสโก ดีกว่าอุคหนิมิตนี้เป็นนิมิตของ "อุปจารสมาธิ" จึงยังไม่อธิบายถึง "อัปปนาสมาธิ"


◄ll กลับสู่สารบัญ

(โปรดติดตามตอน อาการและอารมณ์ของอุปจารสมาธิ ต่อไป)


webmaster - 17/4/11 at 12:54

9

อาการและอารมณ์ของอุปจารสมาธิ


อาการของอุปจารสมาธิคือ ปีติได้แก่อารมณ์ความอิ่มใจเมื่อทำมาถึงตอนนี้อารมณ์จะชุ่มชื่นมาก อารมณ์สะอาดเยือกเย็น มีความเป็นสุขอย่างยอดเยี่ยม ไม่เคยพบความสุขอย่างนี้มาก่อนเลยในชีวิต

ตอนนี้เวลาภาวนาลมหายใจจะเบากว่าปกติมาก อารมณ์เป็นสุขร่างกายของนักปฏิบัติที่เข้าถึงระดับนี้ ผิวหนังจะนวลขึ้นเพราะอารมณ์ที่มีความสุขแต่อาการทางร่างกายนี่สิที่ทำให้นักปฏิบัติตกใจกันมากนั่นก็คือ

๑. อาการขนลุกซู่ซ่า เมื่อเกิดอาการอย่างนี้หรืออย่างอื่นที่กล่าวถึงต่อไปจะมีอารมณ์ใจเป็นสุข ขอให้ทุกท่านปล่อยอาการอย่างนั้นไปตามสภาพของร่างกาย จงอย่าสนใจ เมื่อสมาธิสูงขึ้น หรือลดตัวลงต่ำกว่านั้น อาการอย่างนั้นก็จะหมดไปเอง อาการขนลุกพองถ้ามีขึ้นพึงควรภูมิใจว่า เราเข้าถึงอาการของปีติระดับหนึ่งแล้ว อย่ากังวลอาการของร่างกาย

๒. อาการของปีติขั้นที่ ๒ ได้แก่อาการน้ำตาไหล

๓. อาการของปีติขั้นที่ ๓ คือร่างกายโยกโคลง โยกไปข้างหน้าบ้างข้างหลังบ้างบางคราวโยกแรง จนศีรษะใกล้ถึงพื้น

๔. อาการของปีติขั้นที่ ๔ ตามตำราท่านว่าตัวลอยขึ้นบนอากาศ แต่ผลของการปฏิบัติไม่แน่นัก บางรายก็เต้นเหมือนปลุกตัว บางรายก็ตัวลอยขึ้นบนอากาศ เมื่อลอยไปแล้ว ถ้าสมาธิคลายตัวก็กลับมาที่เดิมเอง (อย่าตกใจ)

๕. อาการของปีติขั้นที่ ๕ คือ มีอาการแผ่ซ่านในร่างกายซู่ซ่าเหมือนมีลมไหลออก
ในที่สุดเหมือนตัวใหญ่และสูงขึ้น หน้าใหญ่แล้วมีอาการเหมือนลมไหลออกจากกาย ในที่สุด
ก็มีความรู้สึกว่าตัวหายไปเหลือแต่ท่อนหัว


อาการทั้งหมดนี้ เมื่อเกิดขึ้นอารมณ์ใจจะมีความสุข ฉะนั้น นักปฏิบัติให้ถืออารมณ์ใจเป็นสำคัญ อย่าตกใจในอาการตามที่กล่าวมาแล้วนั้น พอสมาธิสูงถึงระดับฌานก็จะสลายตัวไปเอง ปีตินี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วอารมณ์จะเป็นสุข คือถึงระดับที่สี่ ที่จะเข้าถึงปฐมฌาน ต่อไปก็เป็นปฐมฌานเพราะอยู่ชิดกัน

10

อัปปนาสมาธิหรือฌาน


ต่อไปนี้จะพูดหรือแนะนำใน อัปปนาสมาธิ คำว่า อัปปนาสมาธิ เป็นสมาธิใหญ่ มีอารมณ์มั่นคง เข้าถึงระดับฌาน ตั้งแต่ฌานที่หนึ่งถึงฌานที่สี่ แต่ก่อนที่จะพูดถึง อัปปนาสมาธิ

ขอย้อนมาอธิบายถึงอุปจารสมาธิเล็กน้อยก่อน การที่พูดมาแล้วเป็นการพูดในเรื่องของนิมิตโดยตรงท่านที่ไม่นิยมนิมิตจะไม่เข้าใจ

อุปจารสมาธิระดับสุดท้าย

เมื่อจิตเข้าถึงอุปจารสมาธิขั้นสุดท้าย ถ้าผู้ปฏิบัติไม่สนใจในนิมิต หรือสร้างนิมิตให้เกิดขึ้นไม่ได้ ให้สังเกตอารมณ์ใจดังนี้ อารมณ์นี้มีเหมือนกันทั้งท่านที่ถือนิมิตหรือไม่ถือนิมิต คือจะมีความรู้สึกว่ามีอารมณ์ตั้งมั่นทรงตัวดี มีความชุ่มชื่นไม่อิ่มไม่เบื่อในการปฏิบัติ มีอารมณ์เป็นสุขเยือกเย็นมาก ซึ่งไม่เคยพบมาเลยในชีวิต และมีอารมณ์เป็นหนึ่ง กำหนดอารมณ์ไว้อย่างไรอารมณ์ไม่เคลื่อนจากที่ตั้งอยู่ได้นาน ตอนนี้เป็น ฌาน

อารมณ์ที่สังเกตได้คือ



๑. รู้ลมหายใจเข้า รู้ลมหายใจออก คำภาวนาทรงตัว ไม่ลืมไม่เผลอไม่ฟุ้งไปสู่เรื่องอื่นนอกเหนือจากที่คิดจะภาวนา มีอารมณ์เต็มเปี่ยมด้วยกำลังใจไม่อิ่มไม่เบื่อไม่อยากลุกออกจากที่ มีความสุขหรรษาเป็นพิเศษ ซึ่งไม่เคยมีความสุขใดในชีวิตที่เคยพบมาก่อนเลยมีอารมณ์ตั้งมั่นดิ่งอยู่ในที่เดียวเป็นพิเศษ (ข้อห้านี้เป็นฌาน)

หูได้ยินเสียงทุกอย่างชัดเจนมากที่เข้ามากระทบประสาทหู เสียงคนหรือเสียงสัตว์ธรรมดาไม่ใช่เสียงทิพย์ แม้แต่เสียงเครื่องขยายเสียงที่มีเสียงดังมาก ตอนนี้ได้ยินทุกอย่างชัดเจนตามปกติแต่ไม่รำคาญในเสียงนั้นเลย

คงภาวนาหรือกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกได้เป็นปกติเหมือนไม่มีเสียงรบกวนลมหายใจจะเบากว่าเวลาปกติจนสังเกตได้ชัดอาการอย่างนี้ท่านเรียกว่า ปฐมฌาน คือ ฌานที่หนึ่ง

๒. เมื่อจิตเป็นสมาธิในฌานที่สองมีความรู้สึกดังนี้คือจะรู้สึกว่าคำภาวนาหายไปบางท่านหรือหลายท่านควรจะพูดว่า มากท่านก็คงไม่ผิดเมื่ออารมณ์เข้าถึงฌานที่สองใหม่ๆ อารมณ์ยังไม่ชิน

เมื่อขณะที่จิตทรงอยู่ในฌานนี้ จะมีความอิ่มเอิบสุขสบาย จะเผลอตัว เมื่อจิตมีสมาธิลดลง เพราะกำลังจิตถอยสมาธิ จะลดลงอยู่ที่อุปจารสมาธิ ตอนนี้อารมณ์คิด คือความรู้สึกก็เกิดขึ้น

เมื่อจิตตั้งอยู่ในฌานจะไม่สามารถคิดอะไรได้ เพราะเอกัคคตารมณ์คืออารมณ์เป็นหนึ่งไม่มีอารมณ์คิดจะทรงตัวเฉยอยู่และไม่มีคำภาวนา คำภาวนานี้ตั้งแต่ฌานที่สองถึงฌานที่สี่จะไม่มีคำภาวนาเมื่อรู้สึกตัวว่าไม่ได้ภาวนาก็จะคิดว่าตนเองหลับไปหรือเผลอไป ความจริงไม่ใช่ ซึ่งเป็นอาการของฌานที่สอง

๓. เมื่อจิตมีสมาธิเข้าถึงฌานที่สาม ตอนนี้จะรู้สึกว่า ลมหายใจเบาลงมาเกือบไม่รู้สึกว่าหายใจ แต่ความจริงยังรู้สึกถนัดอยู่แต่เบามากนั่นเอง อาการทางร่างกายจะรู้สึกเหมือนเกร็งไปทั้งร่าง

แต่ความจริงร่างกายเป็นปกติ แต่ที่มีความรู้สึกอย่างนั้นเป็นอาการของสมาธิ เสียงภายนอกที่เข้ามากระทบหูเกือบไม่ได้ยินเสียงนั้นเลยได้ยินแต่เบามาก จิตทรงอารมณ์เป็นหนึ่งสงัดดีมากเป็นพิเศษ อย่างนี้เป็นอาการของฌานที่สาม

๔. อาการของฌานที่สี่ เมื่อจิตเข้าถึงฌานที่สี่ ฌานสี่นี้มีสองขั้นคือ หยาบ กับ ละเอียด สำหรับฌานหนึ่ง สอง สาม นั้น แต่ละฌานมีสามชั้นคือ หยาบ กลาง ละเอียด ที่ไม่อธิบายไว้ ก็เพราะกลัวจะเฝือ เพราะเมื่อฝึกได้ใหม่ยังไม่มีกำลังใจที่แน่นอน ประเดี๋ยวได้ประเดี๋ยวสลายตัวอธิบายละเอียดเข้าแทนที่จะเป็นผลดี จะกลายเป็นอาหารผสมยาพิษไปจุกจิกใจเข้าเลยเลิกดีกว่า

เป็นอันว่ารู้กันว่าเป็นฌานชั้นที่สี่ก็พอ ฌานอื่นๆ พอรู้ว่าถึงฌานก็พอ จงอย่าลืมว่าเมื่อถึงฌานแล้วเวลาไม่นานก็พลัดจากฌาน คืออารมณ์ลดลงมาที่อารมณ์ปกติ ให้คิดว่าเราถึงฌานได้แล้วจะอยู่นานหรือไม่นานก็ช่าง

เป็นอันว่าเราเข้าถึงธงชัยแล้วก็ดีถมไป วันนี้ฌานสลายตัววันหน้าเวลาหน้ายังมีอีก เมื่อเรายังไม่ตายเพียงใด เราก็เล่นเพลิดเพลินในฌานให้อารมณ์เป็นสุข เพื่อเพราะกำลังสมาธิไว้เป็นกำลังช่วยตัดกิเลสในโอกาสหน้าต่อไป

เลอะเทอะมาเสียนาน ตอนนี้เข้าตอนฌานสี่กันเถอะ เมื่อจิตเข้าถึงฌานสี่หยาบตอนนั้นจะมีความรู้สึกว่า ลมหายใจหายไป ไม่รู้สึกว่าหายใจ แต่ที่จริงแล้วลมหายใจยังมีตามปกติแต่ทว่าจิตไม่รับทราบว่าร่างกายทำอะไร หายใจหรือไม่ จิตใจย่อมไม่รับรู้ตามท่านพูดว่าจิตกับประสาทแยกกันเด็ดขาด

แต่ตอนฌานสี่หยาบนี้จิตแยกออกจากประสาทจริงแต่ยังไปไม่ไกลนัก ฉะนั้นเมื่อมีเสียงดังขนาดเครื่องขยายเสียงที่ดังมากๆ ตั้งอยู่ใกล้หูยังพอได้ยินแว่วๆ เหมือนอยู่ไกลกันมาก


เมื่อจิตเข้าถึงฌานสี่ละเอียด ตอนนี้สบายมาก เพราะไม่รู้อะไรเลย (ไม่ใช่หลับ) ภายในกำลังของจิตเข็มแข็งมาก มีความสว่างโพลง แต่จิตไม่ยอมรับรู้เรื่องของประสาทเลย ไม่ว่าเสียงหรือการกระทบกาย จิตไม่ยอมรับทราบด้วยประการทั้งปวง อาการของฌานสี่ที่ละเอียดเป็นอย่างนี้

ที่นำอาการของฌานมากล่าวไว้ที่นี้ก็เพราะว่าการปฏิบัติในหมวดสุกขวิปัสสโก ก็ทรงฌานเหมือนหมวดอื่นเหมือนกัน เพื่อนักปฏิบัติจะได้ทราบอาการเอาไว้

เพราะมีผู้มาถามเรื่องอาการของฌานนี้นับรายไม่ถ้วน บางรายถามแล้วถามอีกถามบ่อยๆ ชักสงสัยว่าทำจริงหรือเปล่า เพราะผู้ทำจริงเขาไม่ถามบ่อย เมื่อถามแล้วเอาไปปฏิบัติได้แล้วรู้เรื่องก็ไม่มีเรื่องถามต่อไป

11

พลัดตกจากฌาน


เรื่องอาการพลัดตกจากฌานนี้มีผู้ประสบกันมามาก แม้ผู้เขียนเองอาการอย่างนี้ก็พบมาตั้งแต่อายุ ๗ ปี ตอนนั้นถ้ามีอารมณ์ชอบใจอะไรจิตจะเป็นสุข สักครู่ก็มีอาการเสียววาบคล้ายพลัดตกจากที่สูง ตอนนั้นเป็นเด็กไม่ได้ถามใครเพราะไม่รู้เรื่องของฌาน เป็นอยู่อย่างนี้มานานเกือบหนึ่งปี เมื่อท่านแม่พาไปหา หลวงพ่อปาน

หลวงพ่อท่านเห็นหน้า ท่านก็ถามท่านแม่ว่าเจ้าหนูคนนี้ชอบทำสมาธิหรือ ท่านถามทั้งๆ ที่เพิ่งเห็นหน้า ท่านแม่ยังไม่ได้บอกท่านเลย

หลวงพ่อปานท่านก็พูดของท่านต่อไปว่า เอ..เจ้าหนูนี่มันมี ทิพจักขุญาณ ใช้ได้แล้วนี่หว่า

ท่านหันมาถามผู้เขียนว่า เจ้าหนูเคยเห็นผีไหม"

ก็กราบเรียนท่านว่า "ผีเคยมาคุยด้วยขอรับ แต่ทว่าเขาไม่ได้มาเป็นผี เขามาเป็นคนธรรมดาต่อเมื่อเขาจะลากลับเขาจึงบอกว่า เขาตายไปแล้วกี่ปี แล้วก็สั่งให้ช่วยบอกลูกบอกหลานเขาด้วย"

หลวงพ่อปานท่านก็พูดต่อไปว่า "อาการที่เสียวใจคล้ายหวิวเหมือนคนตกจากที่สูงนั้นเป็นอาการที่จิตพลัดตกจากฌาน คือ เมื่อจิตเข้าถึงฌานมีอารมณ์สบายแล้วประเดี๋ยวหนึ่งอาศัยที่ความเข็มแข็งยังน้อย ไม่สามารถทรงตัวได้ ก็พลัดตกลงมา"

ท่านบอกว่า "ก่อนภาวนาให้หายใจยาวๆ แรงๆ สักสองสามครั้งหรือหลายครั้งก็ดี หายใจแรงยาวๆ ก่อน แล้วจึงภาวนา ระบายลมหยาบทิ้งไป เหลือแต่ลมละเอียดต่อไปอาการหวิวหรือเสียวจะไม่มีอีก" ถ้าทำครั้งเดียวไม่หายก็ทำเรื่อยๆ ไป

เมื่อทำตามท่านก็หายจากอาการเสียว ใครมีอาการอย่างนี้ลองทำดูแล้วกัน หายหรือไม่หายก็สุดแล้วแต่เปอร์เซ็นต์ของคน คนเปอร์เซ็นต์มากบอกครั้งเดียวก็เข้าใจและทำได้แต่ท่านที่มีเปอร์เซ็นต์พิเศษไม่ทราบผลเหมือนกัน (ตามใจเถอะ)

เป็นอันว่าเรื่องสมาธิหมดเรื่องกันเสียที เรื่องปฏิภาคนิมิตก็ของดไม่อธิบายไม่รู้จะอธิบายไปทำไม เพราะพูดถึงฌานแล้วก็หมดเรื่องกัน อัปปนาสมาธิเป็นสมาธิขั้นฌานก็คืออารมณ์ฌานนั่นเอง ปฏิภาคนิมิตเป็นนิมิตของฌานมีรูปสวยเหมือนดาวประกายพรึกรู้เท่านี้ก็แล้วกัน

12

ความมุ่งหมายในการเจริญสมาธิ


การที่เจริญสมาธิมีความมุ่งหมายดังนี้คือ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระพุทธประสงค์เพื่อให้พ้นจากความทุกข์ มีการเกิดเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดียรัจฉานเป็นต้น ถ้าจะเกิด ก็ต้องการเกิดเป็นมนุษย์ชั้นดี มีรูปสวย เสียงไพเราะ มีโรคน้อย มีอายุยืนยาวนานถึงอายุขัยมีทรัพย์สมบัติมาก มีความสุขเพราะทรัพย์สิน

และทรัพย์สินไม่ถูกทำลายเพราะโจร ไฟ น้ำ ลมมีคนในปกครองดีไม่ฝ่าฝืนคำสั่ง มีเสียงไพเราะผู้ที่ฟังเสียงไม่อิ่มไม่เบื่อในการฟัง พูดเป็นเงินเป็นทอง (รวยเพราะเสียง) ไม่มีโรคประสาท หรือโรคบ้ารบกวน มีหวังพระนิพพานเป็นที่ไปแน่นอน

หรือมิฉะนั้นเมื่อยังไปนิพพานไม่ได้ ไปเกิดเป็นพรหมหรือเทวดาก่อนแล้วต่อไปนิพพาน แต่ความประสงค์ของพระพุทธองค์มีพระพุทธประสงค์ให้ไปพระนิพพานโดยตรง

จบ "วิธีฝึกกรรมฐานด้วยตนเองแบบง่ายๆ"

◄ll กลับสู่สารบัญ