หลวงพ่อเล่าเรื่อง..อ๋อย (คุณเฉิดศรี สุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา) อดีตเจ้าของบ้านสายลม
webmaster - 17/7/17 at 10:31

สารบัญ

(เลือกคลิกที่รายการ)

[01]
ตอนที่ ๑ เรื่องอ๋อย โดย พระมหาวีระ ถาวโร
[02] ตอนที่ ๒ ท่านอ๋อย และ ท่านหญิงวิภาวดี ลืมเมาโลก
[03] ตอนที่ ๓ เรื่องของอ๋อย โดย ป่อง โกษา
[04] ตอนที่ ๔ คำไว้อาลัยจาก คณะศิษย์หลวงพ่อฯ
[05] ตอนที่ ๕ คุณอ๋อยพบหลวงพ่อ
[06] ตอนที่ ๖ คุณอ๋อยกับเสด็จพระองค์หญิง
[07] ตอนที่ ๗ บทสรุปจากท่านป่อง โกษา
[08] ตอนที่ ๘ คุณอ๋อยกับธรรมะ
[09] ตอนที่ ๘/๑ ประวัติพระไตรปิฎก
[10] ตอนที่ ๘/๒ วิธีเขียนของพระไตรปิฎก
[11] ตอนที่ ๘/๓ คำถามคำตอบเกี่ยวกับพระไตรปิฎก
[12] ตอนที่ ๘/๔ มาถึงด้านการท่องจำ
[13] ตอนที่ ๘/๕ เรื่องเกี่ยวกับเทวดา
[14] ตอนที่ ๘/๖ มีแต่ปริยัติ ไม่มีปฏิบัติ ก็ไม่มีปฏิเวธ
[15] ตอนที่ ๘/๗ เรื่องฤทธิ์
[16] ตอนที่ ๘/๘ ฝ่ายแอนตี้การแสดงฤทธิ์
[17] ตอนที่ ๘/๙ ฝ่ายแอนตี้การแสดงฤทธิ์ (ต่อ)
[18] ตอนที่ ๘/๑๐ ฝ่ายแอนตี้การแสดงฤทธิ์ (จบ)
[19] ตอนที่ ๘/๑๑ เรื่องทำบุญกับสาธารณะกับทำบุญกับวัด
[20] ตอนที่ ๘/๑๒ กาลามสูตร
[21] ตอนที่ ๘/๑๓ กาลามสูตร (ต่อ)
[22] ตอนที่ ๘/๑๔ กาลามสูตร (จบ)
[23] ตอนที่ ๘/๑๕ นรก สวรรค์ เทวดา
[24] ตอนที่ ๘/๑๖ "ธรรมทาน" กับ "อามิสทาน"
[25] ตอนที่ ๘/๑๗ นิพพานสูญ กับ นิพพานไม่สูญ
[26] ตอนที่ ๘/๑๘ นิพพานสูญ กับ นิพพานไม่สูญ (ต่อ)
[27] ตอนที่ ๘/๑๙ นิพพานสูญ กับ นิพพานไม่สูญ (ต่อ)
[28] ตอนที่ ๘/๒๐ นิพพานสูญ กับ นิพพานไม่สูญ (ต่อ)
[29] ตอนที่ ๘/๒๑ นิพพานสูญ กับ นิพพานไม่สูญ (ต่อ)
[30] ตอนที่ ๘/๒๒ นิพพานมีอยู่ ไม่ใช่สูญ
[31] ตอนที่ ๘/๒๓ เรื่องการเกิด
[32] ตอนที่ ๘/๒๔ "อนัตตา" ในพระไตรลักษณ์
[33] ตอนที่ ๘/๒๕ หลักสูตรการเป็นพระอรหันต์
[34] ตอนที่ ๘/๒๖ พิจารณา "อนัตตา" ให้เป็นเป็นประโยชน์
[35] ตอนที่ ๘/๒๗ หลักสูตรการเป็นพระอรหันต์
[36] ตอนที่ ๘/๒๘ ในนิพพานมีความสุขไม่ได้เพราะเป็นกิเลส
[37] ตอนที่ ๘/๒๙ เรื่องตายแล้วเกิดใหม่
[38] ตอนที่ ๘/๓๐ โลกหน้ามีหรือไม่มี

[39] ตอนที่ ๘/๓๑ เรื่องตายแล้วเกิดใหม่ (จบ)

บทนำ


...ผู้เขียนได้นำเรื่องตัวอย่างของผู้ที่สามารถเข้าสู่พระนิพพานได้ในชาติปัจจุบันนี้มาเล่า คือ ท่านจ่าพัว ชระเอม, ท่านหญิงวิภาวดี รังสิต, เจ๊จันทนา วีระผล, พญ.วัชรี หิรัญยูปกรณ์ ผ่านไปแล้ว คิดว่าคงจะเป็นประโยชน์และเป็นกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติธรรมภายหลัง จะได้เกิดความมั่นใจและมีความอุตสาหะสร้างความดีต่อไป

ผู้เขียนหวังใจว่า ผู้อ่านคงจะอ่านให้เข้าใจทุกตัวอักษร เพื่อจะได้ซึมซาบไปกับบุคคลตัวอย่างเหล่านี้ ที่ท่านก็เคยมีสภาพเดียวกับเรา คืออาจจะมีความท้อแท้ หรือไม่มั่นใจว่าจะไปนิพพานได้ในชาตินี้ แต่ผลที่สุดเมื่อบารมีเต็ม และด้วยคำสอนที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อ พระราชพรหมยาน สอนไว้ ก็สามารถตัดใจไปให้ถึงที่สุดได้ บุคคลตัวอย่างทีลงเรื่องไปแล้วมีดังนี้

- ท่านจ่าพัว ชระเอม ท่านก็ไม่เคยหวังว่าชาตินี้จะไปได้ คลิกอ่านที่นี่
- ท่านหญิงวิภาวดี รังสิต ท่านมีภารกิจมาก อีกทั้งเพิ่งจะได้พบกับหลวงพ่อฯ ไม่นาน ผลสุดท้ายแม้จะประสบเหตุถูกลอบยิง ถึงจะมีทุกขเวทนามากเพียงใด ท่านก็ตัดสินใจไปได้ในวินาทีสุดท้าย คลิกอ่านที่นี่
- เจ๊จันทนา วีระผล ท่านนี้ก็มีความสำคัญเช่นกันที่เป็นถึงเศรษฐีนี แต่สามารถไปนิพพานได้แบบสบายๆ โดยไม่ได้ยึดติดความร่ำรวย หรือความมีศักดิ์ศรีแต่อย่างใด คลิกอ่านที่นี่
- พ.ญ.วัชรี หิรัญยูปกรณ์ ตามที่ลงเรื่องเล่าไปแล้ว ซึ่งได้พบกับอภิญญาใหญ่ของหลวงพ่อมาด้วยตนเอง คลิกอ่านที่นี่

ส่วนในตอนนี้ก็จะเป็นบุคคลสำคัญท่านหนึ่ง ที่มีบทบาทในการช่วยสร้างวัดท่าซุงมาตั้งแต่ต้น (ปี ๒๕๑๑ - ๒๕๒๑) อีกทั้งได้อุทิศบ้านสายลมให้เป็นที่สอนกรรมฐานเป็นประจำทุกเดือน ส่วนตนเองก็ช่วยเหลือกิจการงานทุกอย่าง แม้กระทั่งหลวงพ่อมีภารกิจภายนอกวัด

นั่นก็คือ คุณเฉิดศรี (อ๋อย) สุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา ส่วนท่านจะไปนิพพานในบั้นปลายชีวิตได้หรือไม่ หรือที่เรียกว่า "ถึงหลักชัย" นั่นเอง ซึ่งจะต้องทนทุกขเวทนากับอาการเจ็บปวดจากโรคร้าย ก็ขอเชิญติดตามอ่านต่อไป ซึ่งจะมีบันทึกของผู้ที่เกี่ยวข้องมากมายหลายท่านด้วย

ฉะนั้นเรื่องราวทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าท่านใดยังไม่มั่นใจตนเอง อ่านแล้วก็คิดว่าพวกเราที่ไปทีหลัง คงไปได้แบบสบายๆ เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อ พระราชพรหมยาน (ขณะนั้นยังเป็น พระมหาวีระ ถาวโร) เขียนไว้ในหนังสือ อนุสรณ์ในการพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๒๑

เป็นอันว่า เรื่องที่นำมาลงย้อนหลังนี้ หากมีข้อผิดพลาดประการใด ผู้เขียนใคร่กราบขออภัยไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย แต่ถ้าจะมีผลดีต่อผู้อ่านเพียงใด โดยเฉพาะผู้ที่มีอุปนิสัยในชาติปัจจุบันนี้ นับว่าจะมีประโยชน์ต่อผู้นั้นเป็นอย่างยิ่ง

เปรียบเหมือนกับมีแสงไฟที่ส่องสว่าง หรือเช่นกับหงายของที่คว่ำอยู่ เพราะมีบุคคลตัวอย่างเช่นนี้แล้ว การตัดอารมณ์คงจะง่ายขึ้นกว่าเดิม ขอให้ผู้อ่านตั้งใจอ่านให้ครบถ้วนทุกตัวอักษร ผู้เขียนเพียงแค่หวังบุญกุศลของ "ธรรมทาน" ก็พอใจแล้ว


[ ตอนที่ 1 ]

คุณเฉิดศรี (อ๋อย) สุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา

อดีตเจ้าของบ้านสายลม กรุงเทพฯ



ประวัติย่อ

".....คุณเฉิดศรี สุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา เป็นธิดา พระบริบูรณ์วุฒิราษฎร์ กับ นางถวิล ศรลัมพ์ (ถวิล รามโกมุท) เกิดเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ มีพี่น้องดังนี้

ที่เกิดกับภริยาคนแรกของ พระยาบริบูรณ์วุฒิราษฎร์ (นางใหญ่ อัมพะเศวต)
๑. พล.ต. ภักดี ศรลัมพ์ (สมรสกับ คุณประเสริญ สาครบุตร)
๒. คุณชุมศรี (สมรสกับคุณประหยัด เกตุนุติ)
๓. คุณแถบทอง (สมรสกับ พล.ต. ลักษณ์ ศาลิคุปต์)


ที่เกิดจาก นางถวิล ศรลัมพ์
๑.คุณชูศรี (สมรสกับ พ.ต.อ. ถาวร เทวาหุดี)
๒.คุณฉวี (สมรสกับ พล.ท. นายแพทย์ทิพย์ ผลโภค)
๓.คุณสุชาดา (สมรสกับคุณศิริ อติโพธิ)
๔.คุณเฉิดศรี (อ๋อย)
๕.พ.อ. ประวิทย์ ศรลัมพ์ (สมรสกับคุณจันทร์เพ็ญ ปั้นตระกูล)
๖.คุณสุภาพ (สมรสกับ ศจ. ปวิณ ปุณศรี)


คุณเฉิดศรี สมรสกับ พล.อ.ท. หม่อมราชวงศ์ เสริม สุขสวัสดิ์ เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๙ มีบุตร ๕ คน คือ

๑. ม.ล.เอื้อมสุขย์ (สมรสกับ ม.ร.ว. จีริเดชา กิติยากร มีหลานยาย ๓ คน คือ ม.ล. วรีวรรณ ม.ล. ยุวันวรี และ ม.ล. พงศ์วริน)
๒. ร.ท. ม.ล. ศรันศุข สุขสวัสดิ์
๓. ม.ล. อัชญา สุขสวัสดิ์
๔. ม.ล. ภาวิณี สุขสวัสดิ์
๕. ม.ล. จิรเศรษฐ สุขสวัสดิ์


( นามสกุล “สุขสวัสดิ์” นี้ ที่ถูกตามพระราชทานเป็น “ศุขสวัสดิ์” แต่ยังไม่ได้ขออนุญาตเปลี่ยนเสียให้ตรง)

.....คุณเฉิดศรี เข้ารับการผ่าตัดก้อนเนื้อที่ทรวงอกเบื้องขวา ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๖ นายแพทย์ พ.อ. บุญเกตุ เหล่าวนิช ผู้ทำการผ่าตัดตรวจก้อนเนื้อนั้น และพบว่ามีเชื้อมะเร็ง จึงต้องตัดออกทั้งหมด แล้วให้รักษาด้วยวิธีฉายแสงครบตามเกณฑ์

โรคสงบมาเป็นเวลา ๔ ปี จึงกำเริบ คือมีตุ่มขึ้นที่ทรวงอกข้างขวา คือบริเวณเดิมเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๐ อาการของโรคคืบหน้าไปเป็นลำดับ จนกระทั่งถึงแก่กรรมด้วยอาการสงบ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๑ เวลาประมาณ ๑๓.๒๐ น. รวมอายุ ๕๑ ปี ๓ เดือน ๑๐ วัน


" เรื่องอ๋อย "

โดย พระมหาวีระ ถาวโร
(หลวงพ่อเขียนคำไว้อาลัยในหนังสือ อนุสรณ์ในการพระราชทานเพลิงศพ)

....เรื่องนี้ ที่ให้ชื่อว่า "เรื่องอ๋อย" ก็เพราะว่า คุณอ๋อย หรือว่า เฉิดศรี ศุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา ไม่มีใครเรียกว่า "เฉิดศรี" ทุกๆ คนเรียกว่า "อ๋อย" เด็กก็ "อ๋อย" ผู้ใหญ่ก็ "อ๋อย" เพื่อนกันก็ "อ๋อย" แถมอาตมาเองก็ "อ๋อย" เหมือนกัน ไม่เคยเรียก "คุณอ๋อย" ว่า "คุณเฉิดศรี"

คราวหนึ่งย่องไปเขียนจดหมาย จ่าหน้าซองจะใช้คำว่า "เฉิดศรี" กลับเผลอเอาตัว "บ" ใส่ลงไปให้ กลายเป็น "เฉิบศรี" ไป เป็นเหตุให้เด็กๆ ล้อเลียนกันว่า "คุณเฉิบศรี"

ความจริงการที่จะเขียน "เรื่องของคุณอ๋อย" ให้นามว่า “อ๋อย” นี้ท่าน พล.อ.ท.ม.ร.ว.เสริม ศุขสวัสดิ์ เจ้ากรมการสื่อสารทหาร ผู้เป็นสามีได้ปรารภกับอาตมาวันที่ไปเผาคุณอ๋อยว่า หนังสืออนุสรณ์ในงานศพคุณอ๋อยยังไม่ได้จัดพิมพ์ เพราะยังไม่ได้เขียน อยากจะเขียนสำหรับแจกจ่าย โดยให้บัตรไว้ก่อน

บอกว่าหลังจากวันเผาไปแล้ว ๓ เดือน จะมีหนังสือแจกให้ผู้มีบัตรมีสิทธิ์มารับหนังสือได้ อยากจะให้อาตมาเขียนสักเรื่องหนึ่ง อาตมาก็ไม่มีเวลาอยู่ หลังจากกลับมาจากงานคุณอ๋อยแล้ว ก็เดินทางไปจังหวัดแม่ฮ่องสอน ไปแจกของกับคนจนที่อยู่ในแดนทุรกันดาร

แต่ว่าการแจกแบบป่าวประกาศ ท่านทั้งหลายจะถือเอาแก่นกันจริงๆ น่ะไม่ได้ มันก็มีทั้งเปลือกบ้าง แก่นบ้าง กระพี้บ้าง ไปตามเรื่องตามราว

ทั้งนี้เพราะอะไร..เพราะทราบว่าเจ้าหน้าที่แจ้งว่า ส่งข่าวไปกระชั้นเกินไป อาตมาเองก็เป็นคนใหม่ สำหรับจังหวัดแม่ฮ่องสอน ไม่เคยไปเลยในชีวิต มันก็เป็นเรื่องที่แปลกที่สุด ทุกจังหวัดไปได้ แต่ว่าจังหวัดแม่ฮ่องสอนไม่เคยไป ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า

ถ้า "อ๋อย" ยังมีชีวิตอยู่ จังหวัดนี้ "อ๋อย" ก็มีโอกาสจะไปด้วย แต่ว่าในชีวิตของเธอ เธอจะได้เคยไปบ้างหรือเปล่า อาตมาไม่ทราบ เพราะพ่อของเธอเคยเป็นนายอำเภอ แล้วต่อมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด อาจจะเคยมีโอกาสไปจังหวัดแม่ฮ่องสอนมาก่อนก็ได้ เวลากลับมาวันที่ ๑ ถึงวัดก็ลุกไม่ขึ้น

หลวงพ่อปรารภเรื่อง..แจกของที่แม่ฮ่องสอน

จังหวัดแม่ฮ่องสอนนี่ มันสอนให้อาตมารู้จักจริงๆ สิ่งที่น่ารู้จักนั่นก็คือความหนาว มันหนาวเย็นจับใจจริงๆ คนที่เคยนอนอยู่ในห้อง ในตู้น้ำแข็งบ่อยๆ ถ้าไปที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนในฤดูหนาว ไม่ต้องเอาตู้น้ำแข็งไปด้วย ระวังมันจะเย็นจนเราแข็งก็แล้วกัน

ความเย็นของจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขต "ออบหลวง" หรือจังหวัดอะไรก็ไม่ทราบ ออบหลวงนี่บ้านของท่าน พลอากาศเอกทวี จุลละทรัพย์ ท่านเป็นผู้นำในการไปแจกของ เพราะอาตมาไม่เคยรู้จักจังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่ท่านเคยเป็นผู้แทน ท่านก็รับอุปการะดี ให้บ้านพัก เป็นผู้นำทาง ให้คำแนะนำทุกอย่างในเรื่องของจังหวัดแม่ฮ่องสอน

และได้ความอุปการะจาก พ.อ.(พิเศษ) ชวาล จัดการในระหว่างการเดินทาง และเลี้ยงอาหารในขณะที่ไปจังหวัดเชียงใหม่ ไปพักที่จังหวัดเชียงใหม่คืนแรก เมื่อวันที่ ๒๗ ตอนเย็น ภรรยาของท่าน พ.อ.ชวาล เอาอาหารมาเลี้ยงคนทั้งหมด ที่มีจำนวนหลายสิบคน แล้วตอนเช้าก็เลี้ยงอีก เพราะคนไปทั้งหมดจริงๆ แยกกันเป็น ๒ ขบวน จำนวนทั้งหมด ๑๓๖ คน

ถ้าท่านผู้อ่านอยากจะถามว่ายกขบวนกันไปทำไม ก็ขอตอบว่า ต้องการจะให้คนทั้งหลายทราบว่าของที่ทำบุญมากับอาตมาเพื่อแจกจ่ายคนจนนั้น อาตมาไม่ได้เอาไปขายเพื่อซื้อกางเกง เป็นแต่เพียงเอาไปแจกเท่านั้นให้เขาเห็น คนจำนวนมากที่ไปนี้ ไม่ได้เปลืองเงินอาตมาเลย ไม่หนักทั้งแรง ไม่หนักทั้งเงิน เพราะแต่ละคนเขาช่วยการเดินทางกันทั้งหมด

การเดินทางคราวนี้ อาตมาต้องจ่ายเองไป ๓๓,๐๐๐ บาทเศษ ต้องเช่ารถบัส ๒ คัน ๒๘,๐๐๐ บาท นอกนั้นก็ค่าอาหารการบริโภคและอื่นๆ จุกๆ จิกๆ รวมทั้งหมดแล้ว ๓๓,๐๐๐ บาทเศษ แต่ท่านทั้งหลายช่วยกันมาจริงๆ ๓๒,๐๐๐ บาทเศษนิดหนึ่ง อาตมาคงจ่ายไปจริงๆ ประมาณพันบาท จะถึงหรือไม่ถึงก็ไม่ทราบ แล้วทุกคนก็ดีแสนดี

คณะกองทัพลิง

เห็นทุกคนเขาดีมีการคล่องตัวก็นึกถึง "อ๋อย" มีคนบางคนเขาให้สมญาคณะที่ไปนี้ว่า "คณะกองทัพลิง" ทำงานว่องไวคล้ายลิงทำจริงๆ บอกว่าเวลานี้จะเคลื่อนที่ละนะ ของมีเท่าไรขนให้หมด แหม.. ของนี่มากจริงๆ อาตมานั่งมองแล้ว คิดว่าครึ่งชั่วโมงนี่ แกจะขนหมดหรือไม่หมด

แต่ทั้งผู้หญิงผู้ชายสาวแก่แม่ม่ายไม่รู้ วิ่งขนกันพึ่บพั่บๆ ไม่ถึง ๑๐ นาทีเรียบร้อย อาตมาเห็นก็ตกใจ แต่ว่าคนทั้งหลายที่จะรวดเร็วได้อย่างนี้ก็คิดถึง "อ๋อย" เพราะ "อ๋อย" เป็นกำลังใหญ่ในการก่อสร้างศรัทธากับบรรดาประชาชน

เนื้อแท้นั้นคนเราเกิดมา จะให้เป็นที่นิยมของคนทุกคนมันก็แสนยาก ทั้งนี้เพราะอะไร ก็เพราะว่าต่างคนต่างก็มีความพอใจไปคนละอย่าง บางคนชอบขู่ บางคนก็ชอบปลอบ คนไหนชอบปลอบ ถ้าไปขู่เข้าก็ลาน คนที่ชอบขู่ พูดจานุ่มนวลเกินไป ก็ชักจะขึ้นหน้าขึ้นตา ใช่ไม่ได้

ฉะนั้น "คุณอ๋อย" จึงไม่ชนะใจคนทุกคนได้ จะหาคนชมอย่างเดียวโดยไม่มีใครติก็ถือว่าไม่ได้เกิด แต่เกิดมาแล้วไม่มีใครชมเลยก็ถือว่าไม่ได้เกิดเหมือนกัน เพราะว่าคำติและคำชมเป็นธรรมดาของโลก

ฉะนั้น "คุณอ๋อย" เมื่อสมัยมีชีวิตอยู่ จึงมีทั้งคนติและคนชม เมื่อคุณอ๋อยตายไปแล้ว ท่านเจ้าภาพ คือ พล.อ.ท.ม.ร.ว.เสริม ศุขสวัสดิ์ เจ้ากรมการสื่อสารทหาร ผู้สามี และบรรดาลูกหลานและญาติทั้งหมดและเพื่อนที่จัดงานคราวนี้ ก็ต้องมีทั้งคนชมและคนติ

อาตมาเข้าไปในงานศพก็มีทั้งชมและติเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็มีท่านชายสองคนมานั่งอยู่ข้างหน้า ความจริงคนเขาไปเขามาก็ทักกันอยู่ไม่ขาดสาย ก็ต้องหันไปทักคนนั้นบ้างคนนี้บ้าง คนละคำครึ่งคำ บางคนก็ไม่ได้ทักเลย แล้วก็มีคน ๒ คนไปนั่งหน้าๆ ไม่ทราบว่านั่งทำไม ถามว่ามีธุระอะไรเธอก็ยิ้ม อาตมาก็ไม่มีเวลาทักเธออีก เพราะว่าคนไปก็นั่งไหว้ คนมาก็นั่งไหว้ ทักคนนั้นบ้างคนนี้บ้าง

ปรากฏว่าเธอลุกออกมาแล้ว มีคนมาแจ้งข่าวว่า เธอแสดงความไม่พอใจมากก็ต้องขอขอบคุณท่านที่ท่านไม่พอใจ ทำไมจึงขอบคุณ ก็เพราะว่าวันนั้น ถ้ามีคนไหว้จริงๆ มีแต่คนยิ้มแย้มแจ่มใส โลกธรรมที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาตรัสก็ผิด มันต้องมีคนติบ้างถึงจะถูก แต่คนติอาจจะไม่เพียงคนสองคน อาจจะหลายคนก็ได้ นั่นถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา

เป็นอันว่าการเกิดมาในโลก ท่านทั้งหลาย เราไม่พ้นจากการติและการชม ทำยังไงเราจึงจะพ้นความจริง เรื่องพ้นจากการติและการชมเป็นของไม่ยาก ให้ใช้คาถาภาวนาไว้บทหนึ่งว่า

“ช่างมัน” ช่างมันๆ ว่าไว้เรื่อยๆ ใครมาชมก็ยิ้ม ใครมาติก็ยิ้ม ยิ้มดะ เขาพูดด้วยก็ยิ้ม เขาไม่พูดด้วยก็ยิ้ม

เอ๊ะ..ตอนนี้ท่าจะไม่ดี ตอนไม่พูดด้วยแล้วยิ้มนี่ ดีไม่ดีพวกจะจับส่งโรงพยาบาลบ้า ก็ถ้าเรายิ้มทางปากไม่ดี เราก็ยิ้มในใจว่า เออ นี่รู้จักกันดีๆ วันนี้เจอะหน้ากันเขาไม่ยักพูดกับเรา เราก็ยิ้ม ยิ้มเพราะอะไรยิ้มเพราะว่าวันนี้สบาย ไม่ต้องเหนื่อยด้วยการพูด ถ้าเขามาพูดจาปราศรัยด้วยเราก็ยิ้ม ใจบอกว่า

เออ..วันนี้ดี ได้พูดถ้าใครเขานินทาว่าร้ายว่าเราไม่ดียังงั้นไม่ดียังงี้ เราก็ยิ้ม ยิ้มเพราะว่าโลกธรรมตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านี่เป็นความจริง เป็นสัจจธรรมท่านบอกว่า นินทาปสังสา เป็นโลกธรรม ธรรมดาของชาวโลก

ถ้าใครเขาสรรเสริญเราก็ยิ้ม ยิ้มทำไม ยิ้มเพราะว่าคนสรรเสริญนี่ ถ้าสรรเสริญด้วยเจตนาดีก็ดีไป แต่ดีไม่ดีอาจจะสรรเสริญเอาเราไปใช้เป็นทาสเสียก็ได้ เราก็ยิ้มอีก ถ้าเราถูกเขาใช้ด้วยความไม่จำเป็น คือสิ่งที่เขาใช้ไม่มีความจำเป็นสำหรับเราเลย

แต่ว่าเป็นความจำเป็นสำหรับเขา ประโยชน์อะไรที่เราจะได้รับจากการใช้ของเขานั้นไม่มี เราก็ยิ้ม ทำไมจึงยิ้ม ยิ้มเพราะว่าเรามีโอกาสช่วยเขา เขามีโอกาสได้ใช้เรา เรามีโอกาสได้ทำงานให้แก่เขา เป็นสาธารณประโยชน์ ถ้าอยู่ดีๆ ใครเขาโกงสตางค์ไป เราก็ยิ้ม ทำไมจึงยิ้ม

การที่ยิ้มก็เพราะนึกถึงพระพุทธเจ้า ท่านบอกว่า อทินนาทานา เวรมณี ว่าในโลกนี้มันมีขโมยมาก ถ้าเราไม่ถูกลัก ถูกโกง ถูกขโมยเลย พระพุทธเจ้าก็พูดผิด เป็นอันว่าการที่ประกาศตนเป็นสาวกขององค์สมเด็จพระสามิสรนี่ถูกแล้ว

ที่สมเด็จพระประทีปแก้วท่านบอกว่า โลกนี่มันมีขโมย โลกมันมีคนคดโกง ถ้าเราไม่ถูกโกงเสียบ้าง เราไม่แน่ใจว่าขโมยมันจะมีหรือไม่มี เป็นแต่เพียงข่าวลือว่าเขาปล้นกันที่นั่นขโมยกันที่นี่ เราไม่ถูกเลยมันก็ไม่แน่ใจ แล้วก็ไม่มีความรู้สึกว่าคนที่ถูกโกง ถูกขโมยเขามีความรู้สึกเป็นยังไง เป็นการศึกษาไปในตัวเสร็จ

เมื่อได้รับการศึกษาแล้วเราก็ยิ้ม ว่าโลกนี้มีขโมยหนอ ถ้าเราถูกโกหกมดเท็จให้จับได้ เราก็ยิ้ม ยิ้มเพราะคำโกหกมดเท็จนั้นไม่มีประโยชน์อะไรสำหรับเราและสำหรับเขา ถ้าเราไม่เชื่อเสียอย่างเดียว โกหกจะมีประโยชน์อะไร ถ้าเราเชื่อมันก็เป็นผลร้ายสำหรับเรา เราไปเชื่อเขาทำไม ไปโทษเขาทำไม มันไม่ถูก เราไม่เชื่อเขาเสียมันก็หมดเรื่อง

เป็นอันว่าเรื่องของธรรมดาของโลก ถ้าเราจะเห็นว่าโกหกเป็นของดี การลักการขโมยเป็นของดี การนินทาว่าร้ายเป็นของดีนี่เป็นปัจจัยให้เรายิ้มได้ก็เพราะเรามีความรู้สึก อยู่ว่าของอย่างนี้มันเป็นธรรมดาของโลก ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นธรรมดา ใจเราก็ยอมรับนับถือว่า มันเป็นธรรมดาจริงๆ

โลกทั้งโลกไปที่ไหนก็ไปเถอะ ที่จะเว้นจากการเบียดเบียนทางกายซึ่งกันและกันนั้นไม่มี ที่จะเว้นจากการเบียดเบียนกันในทรัพย์สินนั้นไม่มี จะเว้นจากการละเมิดความรักกันนั้นไม่มี จะเว้นจากการเบียดเบียนกันด้วยวาจานั้นไม่มี คนทั้งโลกที่ไม่เมาไม่มี บางคนก็เมาเหล้า บางคนก็เมารัก บางคนก็เมายศ บางคนก็เมาความร่ำรวย บางคนก็เมาจน เมารวยนี่ดี เมารักก็ดี เมาเหล้าก็ดี แต่เมาจนนี่แย่หน่อย

ถ้าคนจนจริงๆ เขาไม่เมา เขารู้จักว่าจนนี่มันเป็นทุกข์ แต่ว่าคนรวยแล้วนึกว่าจนนี่ยุ่ง เขาเรียกว่าเมาจน มีเงินสักร้อยล้าน พันล้าน หมื่นล้าน แสนล้านก็ไม่พอ นี่เขาเรียกว่าเมาจน ไม่ได้เมารวย มีความรู้สึกอยู่เสมอว่ามีเงินสักเท่าไรก็ไม่พอ มันยังจนอยู่เสมอ อันนี้เป็นปัจจัยให้มีความทุกข์...

....ทีนี้ถ้าเราคิดว่าจะไม่เมาเลย ทำยังไงมันก็เป็นของไม่ยาก จะยกตัวอย่างให้ดูสัก ๒ คน นั่นก็คือ อ๋อย และ พระองค์หญิงวิภาวดี สองคนนี่ลืม "เมาโลก" เป็นยังไง?


(โปรดติดตามตอนต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 25/7/17 at 05:40


[ ตอนที่ 2 วันที่ 1 สิงหาคม 2560 ]

ท่านอ๋อย และ ท่านหญิงวิภาวดี ลืมเมาโลก


...ทีนี้ถ้าเราคิดว่าจะไม่เมาเลย ทำยังไงมันก็เป็นของไม่ยาก จะยกตัวอย่างให้ดูสัก ๒ คน นั่นก็คือ อ๋อย และพระองค์หญิงวิภาวดี สองคนนี่ลืม "เมาโลก" เป็นยังไง?

ความจริงตอนก่อนทั้งสองท่านนี้อาจจะเมาทั้งโลก จะเมาโลกมากกว่าเมาธรรม แต่ว่าตอนท้ายปลายมือของทั้งสองนี่มีคติคล้ายคลึงกัน คือขี้เกียจเมาโลก แต่ไปหวานธรรม ธรรมะนี่เขาไม่เรียกเมา เขาเรียกหวาน หวานตรงไหน ?

สำหรับพระองค์หญิงวิภาวดีรังสิต เจริญพระกรรมฐานมาประมาณ ๘ เดือน แต่ท่านจะเริ่มทำมาก่อนหน้านี้หรือเปล่าอาตมาไม่ทราบ ดูจริยาที่ท่านทรงมีความเมตตาปรานี สงเคราะห์คนที่อยู่ในถิ่นกันดาร เงินส่วนกลางไม่มีก็สละทรัพย์ส่วนพระองค์ไปแจกจ่ายช่วยโรงเรียน ช่วยการประกอบอาชีพ ช่วยอะไรทุกอย่าง

อาตมาเคยร่วมทางกับท่าน ท่านลืมเมาชีวิต ลืมเมาศักดิ์ศรี เวลาไปกับท่าน คำว่า "หม่อมเจ้า" ไม่มีสำหรับท่าน ท่านนั่งตีเข่ากับชาวบ้านได้ทุกคนเป็นกันเองทุกอย่าง เวลาจะบริโภคอะไรต้องดูก่อนว่าอะไรที่ท่านมี คนอื่นมีไหม ถ้าไม่มีท่านแจกทันที ของอะไรก็ตามที่ขึ้นชื่อว่าดี จะไม่ทรงครองแต่ผู้เดียว องค์ท่านเองไม่มีไม่เป็นไร ขอให้คนอื่นมีก็แล้วกัน

คนยากจนเข็ญใจจะแต่งตัวปุปะมาประการใดก็ตาม ไม่ทรงมีความรู้สึกรังเกียจ เข้าคลุกคลีจับมือไม้ได้ทันที แล้วพระอารมณ์ของพระองค์หญิงตอนท้ายก็ทรงเปล่งพระวาจาอยู่เสมอว่า

"...ชีวิตไม่มีความหมาย ทรัพย์สินในวังวิทยุไม่มีความหมาย เราต้องการอย่างเดียวคือพระนิพพาน..."

ท่านตรัสเรื่อง "พระนิพพาน" เป็นปกติจนมีอารมณ์ชิน ในเวลาท่านสิ้นชีพิตักษัย ในเวลานั้นก็ทรงเปล่งคำว่า นิพพานๆ ๆ แล้วทรงแย้มพระโอษฐ์ แล้วลมหายใจก็หมดไป เป็นอันว่าพระองค์หญิงวิภาวดีเป็นคนหวานธรรมไม่เมาโลก



.....สำหรับ คุณอ๋อย นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเมาโลกละก็บ้าไปนานแล้ว ก่อนจะตายนี่บ้าไปหลายปี เพราะอะไร เพราะว่าวาจาที่เข้ามากระทบโสตประสาทนี้ก็ดี จดหมายก็ดี แม้อาตมาเองก็ได้รับจดหมายในนามของคุณอ๋อย สวด ไม่ใช่อย่างพระสวด สวดอย่างชาวบ้านสวด สวดกันอย่างหนัก

อาตมาอ่านจดหมายแล้วก็ยิ้ม อ๋อยได้รับอ่านจดหมายอ๋อยก็ยิ้มเหมือนกัน ไม่ทราบว่าไปเรียนมาจากไหน ยิ้มทำไม เธอถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา รู้จักคนว่าคนที่เขาด่าเรา มันถูกเราหรือเปล่า มันไม่ถูก ด่าเรานี่เขาด่าเนื้อด่าหนัง

ไอ้ “เรา” น่ะคือใจ เหมือนกับคนสวมเกราะลงไปแล้ว คนเอาไม้มาตีมันไม่ถูกตัว มันถูกเกราะ คำด่าก็เหมือนกัน “เรา” คือจิต เขาด่าเราไม่ถูกจิต ถูกแต่ที่กาย ความจริงเขาด่ากายเขาไม่ได้ด่าใจ เขาไม่ได้มองเห็นเนื้อแท้ของใจ

นี่ถ้าคนเราเกิดมาไม่ถูกด่าเสียเลย เราก็เอาดีไม่ได้ ไม่มีการระมัดระวังตัว การด่ามันดีหรือไม่ดีเราไม่รู้ ถ้าเราไม่ถูกด่า เราก็อยากด่าชาวบ้าน คิดว่ามันโก้มันเก๋ดี ถ้าถูกด่าเข้าสักทีแล้วยั้งใจไม่อยู่มันก็จะเกิดโทสะ โทสะมันเกิดขึ้นมามันก็กลุ้ม ทำให้กินไม่ได้นอนไม่หลับ ไม่มีอะไรเป็นประโยชน์ แต่เราถูกด่าแล้วยิ้มได้นี่มันเป็นประโยชน์

ฉะนั้น คนที่ถูกด่าบ่อยๆ อารมณ์จิตจะชิน ชินกับการถูกด่า หรือถ้าถูกตีบ่อยๆ หนังมันก็ด้านเมื่อศึกษาธรรมะจิตใจก็รู้เท่าทันสภาวการณ์ เราก็ยิ้มให้กับคนด่าได้ ถ้าเขาด่ามาเมื่อไร เราว่า โอ้..เอาแล้วซิ มาเจอะลูกน้องอดีตหลวงวิเชียรเข้าแล้ว

หลวงวิเชียร สมัยนั้นท่านอยู่ปากคลองสาน โรงพยาบาลคนบ้า ถ้าเราไปสำนักคนบ้า เราจะได้ยินเสียงด่ากันทุกวัน ไอ้การด่ากัน การว่ากัน การทะเลาะกันนี่ มันเป็นปกติของคนบ้า ถ้าใครเขามาด่าเรา เขามาว่าเรา เราก็ยิ้มได้ บอกว่าโอหนอ..แล้วเราจะไปลงโทษคนบ้าที่มาด่าเราด้วยเรื่องอะไร เราก็ยิ้มได้ว่า

โอ..คนนี้บ้ามากกว่าเรานะ เราก็ว่าบ้ามากอยู่แล้ว นี่เขาบ้ามากกว่าเรา เราบ้าลดน้อยกว่าเขา ยิ้มได้อีก ถ้าหากว่ามันลดไปได้เมื่อไรเราก็ยิ้ม ลดไปนิดหนึ่งก็ยิ้ม ลดไปอีกหน่อยเราก็ยิ้ม ยิ้มเพราะลดตัวเองจากความบ้าลงได้

แล้วก็ในขั้นสุดท้าย อ๋อยทำยังไง โรคอย่างนี้ ท่านพระครูหลวงน้ามหาอำพัน (วัดเทพศิรินทร์ฯ) บอก ว่า ท่านประสบของจริงมา ๒ ท่าน

ท่านที่ ๑ คือ ท่านเจ้าคุณ นรฯ
คนที่ ๒ ก็คือ คุณอ๋อย

อ๋อยก็ดี ท่านเจ้าคุณ นรฯ ก็ดี ท่านบอกว่าโรคนี้มันปวด สองท่านนี้ไม่เคยบ่นไม่เคยคราง เรื่องนี้เป็นความจริง



ท่านเจ้าคุณนรฯ (พระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต) วัดเทพศิรินทร์ฯ

มีวันหนึ่งอาตมาไปพักอยู่ที่บ้านอ๋อย ทุกวันอยากจะเยี่ยมอ๋อย แต่พอไปถึงญาติโยมทั้งหลายมาหาจนหาเวลาว่างไม่ได้ ปลีกตัวไปเยี่ยมไม่ได้ หมดเวลาตอนเย็นขึ้นไปพักหน่อยหนึ่ง ถึงเวลาทุ่มครึ่งก็ลงไป บางทีไม่ทันหายเหนื่อย ใจยังริกๆ เพราะความเหนื่อย แต่ญาติโยมพุทธบริษัทมีมาจำนวนมากก็ลง เวลาที่จะเยี่ยมอ๋อยได้ก็ตอนเช้า พอเช้าจริงๆ มีแขกมาตัดตอน วันนั้นก็ไม่ได้เยี่ยมอ๋อยทั้งวัน

มีวันหนึ่ง หนุ่ย (ลูกสาวคนโตของคุณอ๋อย) มาบอกว่า แม่วันนี้ท่าทางไม่ค่อยดีกระสับกระส่ายมาก เมื่อคืนนอนไม่หลับ อิดโรยมาก อาตมาจึงถือโอกาสว่า วันนี้ใครจะมาก็ช่าง ต้องขึ้นไปเยี่ยมอ๋อยให้ได้ อยู่แค่นี้ไปเยี่ยมอ๋อยไม่ได้

พอขึ้นไปแล้วดูท่าทางเธออิดโรยจริงๆ พอเห็นหน้า เธอก็ยิ้ม ยิ้มแล้วทำท่าจะลุก อาการเพลียดูจะหายไป ทั้งนี้เพราะอาศัยธรรมปีติเป็นสำคัญ คำว่า "ธรรมปีติ" นี่ก็หมายถึง ความปลื้มใจ ความเต็มใจ ความอิ่มใจ ทำให้ทุกขเวทนามันหาย ทำท่าจะลุกก็เลยบอกว่าอ๋อยไม่ต้องลุก คุยกันตรงนี้ดีกว่า เธอก็คุย

การคุยเธอก็ปรารภเรื่อง "พระนิพพาน" เป็นสำคัญ นิพพานอยู่ที่ไหนไม่จำเป็น ไม่ต้องสนใจ สนใจอย่างเดียวว่าเราจะไปนิพพานก็แล้วกัน ไปได้ไม่ได้เราก็ตั้งใจไปนิพพาน ถ้าตั้งใจไปนิพพานจริงๆ ก็ตั้งใจไปนิพพานไว้ ทรงพรหมวิหาร ๔ ให้ครบถ้วน ให้อภัยแก่คนทำผิด เราทำดี เขาด่ายิ้ม เราทำชั่ว เขาด่าเราก็ยิ้ม ทำดีเขาด่าเราก็ยิ้มน่ะ ยิ้มทำไม ยิ้มก็เพราะว่าคนนั้นเขาตาบอด เราทำดีเขาหาว่าชั่ว แสดงว่าเขาชั่วมากกว่าเรา

อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสกับพราหมณ์ พราหมณ์โมโหโทโสพระพุทธเจ้า ในฐานะที่คนรับใช้ของเขาไปมีความเคารพในพระพุทธเจ้ามากกว่าเขา เพราะเขาเป็นคณาจารย์ จึงไปด่าองค์สมเด็จพระพิชิตมาร ที่ประทับในพระวิหารไปยืนด่าอย่างคนพาลด่า พระพุทธเจ้าก็นั่งยิ้ม พอด่าไปเหนื่อยแล้วก็เลิก ชี้หน้าพระพุทธเจ้า บอกว่า
“พระสมณโคดม ท่านแพ้ฉันแล้ว ฉันด่าท่าน ท่านไม่ด่าตอบนี่ท่านแพ้”

พระพุทธเจ้าก็ทรงแย้มพระโอษฐ์ เห็นไหม ถูกด่าแล้วก็ยังยิ้ม เขาถามว่า “หัวเราะทำไม”
ทรงตอบว่า “ทำไมจะไม่ยิ้มล่ะ เธอด่าฉันหาว่าฉันแพ้นี่ ความจริงฉันไม่ได้แพ้เธอนะ เธอนั่นแหละเป็นผู้แพ้”

เขาถามว่า “ทำไม”
ทรงตอบว่า “คนที่ด่าเราแล้วนั่นนะ ถ้าเราไปด่าตอบก็แสดงว่าเราน่ะเลวกว่าคนที่เขามาด่า การที่เรายับยั้งอดใจได้ เราตัดเสียได้ไม่โกรธในคำด่า ตัดความโกรธได้เด็ดขาด ถือว่าเป็นผู้ชนะ แล้วก็เป็นผู้ชนะชนิดไม่กลับแพ้พราหมณ์นั้นฟังก็ตกใจ คิดว่าด่าจะได้ผล กลับไม่ได้ผล กลับหมอบราบคาบแก้วองค์สมเด็จพระทศพล

องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว ตรัสถูกแล้ว มีเหตุมีผลดี คนด่านี่เป็นคนชั่ว ถ้าเขาโกรธเรามา แล้วเราโกรธตอบก็แสดงว่าเราก็เลวมากกว่าเขา

อ๋อยที่ยิ้มไปจะรู้เรื่องนี้หรือเปล่าก็ไม่ทราบ เพราะไม่เคยแนะนำแต่เธอก็ยิ้มได้ทั้งๆ ที่เขาด่าเขาว่าเขานินทา อดทนยิ้มได้ ทั้งๆ ทุกขเวทนามีมาก และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชีวิตบั้นปลายของเธอ เธอก็มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ฟังเทปเรื่องพระนิพพานเป็นปกติ

เป็นอันว่า "อ๋อย "เวลานี้ตายจากโลกนี้ไปแล้ว สิ่งที่ตายก็คือขันธ์ ๕ ตามที่พระพุทธเจ้าท่านว่า

เตสังวูปสโม สุโข แปลว่า การเข้าไปสงบกาย นั้นชื่อว่ามีความสุข

อ๋อยปล่อยกายไว้แล้ว กายเขาจะทำยังไงอ๋อยไม่เคยบ่น จิตใจของอ๋อยคงจะมีความสุข เพราะเธอปรารภธรรมอยู่ตลอดเวลา ก่อนจะตายก็ฟังเสียงธรรมทุกวันจากเทปบันทึกเสียง คนที่สดับธรรมอยู่อย่างนี้ ดูตัวอย่างท่านงูเหลือมก็ดี ท่านค้างคาวก็ดี เป็นสัตว์เดรัจฉาน ตายแล้วไปเกิดเป็นเทวดา จากเทวดามาเป็นคน ฟังเทศน์ครั้งเดียวเป็นอรหันต์ได้ฉันใด

สำหรับอ๋อยเป็นคนมีความพอใจอยู่ในธรรมะ มีความรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ มีความเมตตาปรานี รู้จักเกื้อกูลแก่บุคคลทั้งหลายไม่เลือกหน้า ถ้าอ๋อยนี่ต้องตายไปตกนรกอาตมาจะดีใจมาก ดีใจตรงไหน ดีใจเพราะอาตมาเองก็ต้องลงนรกตามอ๋อยเหมือนกัน

ถ้าคนรับคำสอนจากอาตมาไป เขาทำใจขนาดนั้นเขาลงนรก ตัวครูตายไปแล้วมันก็ต้องลงนรกตามลูกศิษย์ แล้วอาจจะตกลึกกว่าเพราะว่ามีความรู้มากกว่า

เอาละ ท่านทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าความตายเป็นของธรรมดา เราจะไปยุ่งอะไรกับชีวิต คนทุกคนเกิดเท่าไร ตายเท่านั้น มีคนเขาถามว่า อ๋อยจะตายรู้ล่วงหน้าหรือเปล่า ก็บอกว่าทราบ รู้ล่วงหน้ามานานแล้วว่าอ๋อยต้องตาย ถ้าจะถามว่า ทราบจากฌานอะไร ก็ต้องตอบว่าทราบจากฌานธรรมดา คือที่พระพุทธเจ้ากล่าวว่า

“...คนมีความเกิดเป็นเบื้องต้น มีความแก่ในท่ามกลาง มีความตายในที่สุด มนุษย์และสัตว์เป็นอย่างนี้ เกิดเท่าไรตายทั้งหมด” จะต้องใช้ฌานอะไร

เอาละท่านทั้งหลาย พูดมากไปก็ไม่เกิดประโยชน์ เปลืองหน้ากระดาษมาก ก็ขอยุติไว้เพียงเท่านี้ ขอความสุขสวัสดีจงมีแต่ท่านผู้อ่านทั้งหลาย สวัสดี


หมายเหตุ

.....คืนวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๒๑ เป็นคืนวันที่คุณอ๋อยตาย และเป็นวันที่ตั้งศพสวดพระอภิธรรมคืนแรกที่บ้านซอยสายลมนั้น อาตมามาถึงตอนเกือบ ๒ ทุ่ม พอมาถึงใครๆ ก็เข้าไปรุมถาม อาตมาให้คำตอบว่า พระท่านสั่งมาว่าถ้าใครถาม เรื่องนี้ให้ตอบว่า.....



“...กายใสเป็นแก้ว..จิตเป็นประกายพรึก...”


.....สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ ธรรมใดที่ท่านอ๋อยได้เห็นแล้ว ขอให้ข้าพเจ้าทั้งหลายได้เห็นธรรม โดยฉับพลันนั้นเทอญ...

*** (ใครต้องการนิพพานชาตินี้ กรุณากด Like ถือว่า "อธิษฐานบารมี" เป็นการตั้งความปรารถนาไปด้วย แต่ถ้าไม่สะดวกก็ตั้งความปรารถนาไว้ในใจก็ได้ และกด Share คือการนำไปให้ผู้อื่นอ่านด้วย ถือเป็นการสร้างบารมี "ธรรมทาน" ไปด้วยกัน)

ขอแจ้งให้ผู้อ่านทราบด้วยว่า กระทู้นี้เริ่มออกมาให้อ่านเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 60 ผ่านไปเพียง 7 วัน มีผู้เข้าชม ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2560 จำนวน 2480 ครั้งแล้ว หลวงพ่อสอนธรรมะชั้นสูง กรุณาอ่านให้ครบตัวอักษร แล้วจะเป็นประโยชน์แก่ท่านทั้งหลายอย่างยิ่ง

...1. เมื่ออารมณ์เบื่อหน่าย เห็นทุกข์ "ลืมเมาโลก" ตามที่หลวงพ่อสอน รักพระนิพพานเป็นที่สุด จงพยากรณ์ตัวเองได้เลยว่า เราบำเพ็ญบารมีมานานเข้าขั้น "ปรมัตถบารมี" แล้ว มีสิทธิ์ที่จะไปนิพพานในชาตินี้ (ถ้าได้มโนมยิทธิจะเห็นวิมานปรากฏที่พระนิพพานทันที)

...2. ขอผู้อ่านทุกท่านตัดอารมณ์จาก "บ้าน" ในโลกมนุษย์ และตัด "วิมาน" ในสรวงสวรรค์และพรหมโลก
(วิมานระดับนี้จะหายไปหมดทันทีเช่นกัน เหลือแต่ที่พระนิพพานแห่งเดียว)

...3. ทุกวันขอให้ยึดพระนิพพานเป็นที่ไปเพียงแห่งเดียว แล้วท่านจะสุขสมหวังในที่สุด...และในชาตินี้ โดยที่ไม่ต้องมีใครมาทำนายทายทักให้ จึงขอให้สมความปรารถนาทุกคนนะ

.....เวลานี้หลวงพ่อมีวิมานทั้งหมด 37 แถว วิมานของหลวงพ่อตั้งนำอยู่ด้านหน้าในระดับเดียวกับพระพุทธเจ้า ระหว่างวิมานของสมเด็จพระพุทธกัสสปกับสมเด็จองค์ปัจจุบัน (หนังสือหลวงพ่อปานออกมา ปี 2515 ตอนนั้นมีวิมานเพียงแค่ 8 หลังเท่านั้น ขณะนี้ปี 2560 มีนับแสน)

จะเห็นว่าระหว่างท่านอยู่ที่วัดท่าซุง งานเผยแพร่พระพุทธศาสนาระหว่าง ปี 2515 - 2535 ได้ผลดีขนาดไหน ด้วยผลจากการลาพุทธภูมิเมื่อกลางเดือนมิถุนายน 2506 ขณะจำพรรษาที่ วัดโพธิ์ภาวนาราม จ.ชัยนาท แล้วท่านได้จบกิจภายในพรรษานั้น เมื่อวันที่ 5 เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2506 ขณะที่มีอายุ 47 ปี

วันนี้เป็นวันที่ 1 สิงหาคม 2560 (2506 เลขตัวเดียวกัน เพียงแค่สลับกันเท่านั้น) ใกล้ที่จะถึงวันครบรอบ 54 ปี วันแห่งชัยชนะของท่าน จึงขอน้อมรำลึกถึงวันที่ท่านจบกิจในพระพุทธศาสนา อันเป็นวันที่ท่านสิ้นทุกข์อย่างเด็ดขาด หมดสิ้นเชื้อในการเกิดแล้ว เป็นพระขีณาสพรูปหนึ่ง เข้าถึงแก่นแห่งความสุขที่เป็นอมตมหานิพพานอย่างแท้จริง

การบำเพ็ญบารมีนานาน 16 อสงไขยของท่านก็ยุติเพียงแค่ชาตินี้ ด้วยการสละสังขารร่างกาย...อันเป็นชาติสุดท้ายที่ยังไม่เน่าไว้ ณ วัดท่าซุง เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งการเกิดของท่าน ตราบเท่าอายุพระพุทธศาสนาเกือบครบ 5,000 ปี

จึงขอกราบนมัสการแทบเท้าพระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ
ด้วยความเคารพเป็นอย่างสูงไว้ ณ โอกาสนี้ด้วยขอรับ

(โปรดติดตามตอน "เรื่องของอ๋อย" โดย "ป่อง โกษา")


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 1/8/17 at 05:14


[ ตอนที่ 3 วันที่ 8 สิงหาคม 2560 ]

เรื่องของอ๋อย


คำนำ

...เรื่องที่เขียนนี้เป็น "เรื่องของคุณอ๋อย..กับศาสนา" อยู่มากเหมือนกัน เพราะชีวิตในระยะหลังของคุณอ๋อย ดำเนินไปตามครรลองของพระพุทธศาสนาโดยตลอด คือบำเพ็ญเพื่อพระนิพพานในชาตินี้ คนส่วนมากไม่รู้ว่านิพพานคืออะไร ทำอย่างไรจึงจะนิพพาน

ส่วนมากมักจะเข้าใจว่า ต้องบวชเป็นพระ และเป็นเรื่องของพระเท่านั้นที่จะนิพพานได้ นอกจากนั้นยังเชื่อเอาอย่างแน่นแฟ้น โดยคิดเอาเองอีกว่าพระนิพพานนั้นอยู่สุดเอื้อม

อาจารย์องค์หนึ่งที่คุณอ๋อยเคารพรัก คือ พระมหาวีระ ถาวโร ผู้ใช้นามปากกาว่า “ฤๅษีลิงดำ” ได้กรุณาชี้ให้เห็นว่าการไปนิพพานนั้น เป็นเรื่องของการบำเพ็ญทางจิต เพราะฉะนั้นใคร ๆ ก็ทำได้ ขอให้ตั้งจิตให้มั่นและบำเพ็ญเพื่อพระนิพพานในชาตินี้ก็แล้วกัน

หลวงพ่อองค์นี้ คุณอ๋อยรู้จักตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๑ แต่ท่านก็ไม่ได้แสดงความรู้พิเศษอะไรเลย เมื่ออยู่ใกล้ชิดกับท่านมากเข้า ท่านก็ค่อย ๆ ขยายออกมาทีละหน่อย ๆ จนเห็นว่าคุณอ๋อยและคณะมีความศรัทธามั่นคง จึงได้ยอมพูดเรื่องการเห็นเทวดา พูดคุยกับเทวดาได้

บางคราวพวกศิษย์ขอให้ท่านถามเทวดาหรือพระที่ล่วงลับไปแล้ว ท่านเห็นว่าได้ประโยชน์ท่านก็ถามให้ ไม่ได้ประโยชน์ท่านก็เอ็ดเอา สอนเอาพวกศิษย์ก็เห็นว่าการพูดคุยกับเทวดานั้นทำได้เป็นของธรรมดา ในพระไตรปิฎกก็ยืนยันว่าทำได้

ศิษย์คณะคุณอ๋อยไม่ใช่ศิษย์ธรรมดา ๆ เล่ห์เหลี่ยมไม่เบา บางทีก็หลอกถามเอาจนหลวงพ่อเผลอ เช่น ถามท่านว่า ทำกรรมฐานนี่ทำไมต้องมีอาจารย์คุมด้วย ทำเองไม่ได้หรือ ท่านบอกว่าทำได้ แต่สำหรับบางขั้นต้องคุม เดี๋ยวไปผิดทาง ส่วนมากก็พวกขั้นที่มีความรู้มากกว่าธรรมดานั่นแหละ ถ้าไม่คุมคอยให้สติไว้ เดี๋ยวจะคิดว่าตัวเองวิเศษไม่มีใครสู้ หรือสำเร็จอรหันต์ไปแล้ว ทั้ง ๆ ที่ความจริงเพิ่งจะเริ่มต้น

พวกศิษย์ก็แหย่อีกว่า บางแห่งอาจารย์เขาให้พวกศิษย์มารายงานผลก็มี ท่านก็ว่า ฮึ..ต้องรายงานอะไรกัน ไม่มีเจโตไปเป็นอาจารย์เขาได้ที่ไหน เผื่อลูกศิษย์โกหกให้จะรู้รึ..?

พวกศิษย์ก็นั่งยิ้ม อาจารย์เสียท่าไปหนึ่งละ แอบถามล่อไปล่อมาแบบนี้ก็ทำให้เกิดความเชื่อมั่นได้โดยไม่คลอนแคลนว่า อาจารย์ท่านนำไปถูกทางแน่ แล้วก็ไม่มีอะไรค้านกับพระไตรปิฎก เพราะฉะนั้นจึงมีศรัทธาสูง ความสงสัยก็ไม่มี

ศิษย์บางคนชอบหลายอาจารย์ เมื่อไปหามาแล้ว ก็มาเล่าให้หลวงพ่อฟัง ท่านก็บอกว่าดี ๆ ช่วยกันหลาย ๆ คน ท่านบอกว่าเห็นว่าดีละยึดไว้เถอะ องค์ไหนก็ได้ ศิษย์พระพุทธเจ้าเหมือนกันทั้งนั้น ไม่ใช่ศิษย์อาจารย์โน้นอาจารย์นี้ แล้วเรื่องที่จะมาพูดว่า อาจารย์ฉันเก่งกว่าอาจารย์โน้นอาจารย์นี้นั้น ท่านห้าม โดยคำอธิบายว่าอาจารย์ไหนก็ตาม จะไปเก่งกว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ยังไง

สำหรับผู้ที่อยู่ห่างไกลพระพุทธศาสนา หรือพอจะรู้อยู่บ้าง เวลาใครพูดถึงเทวดา พูดถึงพระอรหันต์ก็มักจะนึกว่า พวกนี้เหลวไหล อวดเก่งอวดดีกันใหญ่แล้ว โดยเฉพาะท่านที่เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์แล้ว ดูเหมือนว่าจะไม่ยินยอมให้ใครเป็นพระอรหันต์เอาทีเดียว เป็นคำต้องห้าม ใครพูดถึงก็ต้องเป็นอวดอุตริมนุสธรรมทันที

ข้าพเจ้าผู้ได้รับหน้าที่ให้เขียนเรื่องนี้ จึงต้องทำความเข้าใจกับท่านผู้อ่านที่มีความรู้สึกเช่นนี้เสียก่อน ว่าเรื่องที่นำมาเขียนนี้ เป็นเรื่องที่หลวงพ่อท่านคุยกับลูกศิษย์ของท่าน ไม่ใช่ท่านคุยให้คนภายนอกฟัง ข้าพเจ้าเป็นผู้รับผิดชอบในฐานะเป็นผู้นำมาเผยแพร่ เพราะฉะนั้น ถ้าหากจะมีการตำหนิกันขึ้นแล้ว จำเลยใหญ่คือข้าพเจ้า อย่าไปตำหนิหลวงพ่อเลย

เจตนาในการนำมาเขียน ก็เพื่อให้ระลึกถึงผู้ตายด้วยความสดชื่นเพลิดเพลินเป็นส่วนใหญ่ กับแฝงไปด้วยแนวความคิดหรือการสอนของท่าน ที่แสดงไว้ในเรื่องตามที่คิดว่าจะเกิดประโยชน์บ้าง โปรดถือเสียว่า เป็นนวนิยาย..อิงธรรมะเรื่องหนึ่งก็แล้วกัน ไม่ใช่เป็นการบ่งยืนยันว่า เรื่องเป็นจริงตามนี้ ต้องเชื่อตามนี้จึงจะถูก

“ป่อง โกษา”


(โปรดติดตามตอน "คำอาลัยจากคณะศิษย์ฯ" ต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน




webmaster - 8/8/17 at 06:14


[ ตอนที่ 4 วันที่ 15 สิงหาคม 2560 ]

ระลึกถึง...คุณเฉิดศรี สุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา


"ความตายเป็นกีฬาของชีวิต"

...ข้อความนี้เป็นตัวหนังสือขนาดโตบรรจุอยู่บนผ้าฝ้าย ซึ่งอยู่เหนือที่บูชาพระบนศาลานวราชบพิตร วัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี เสมือนเป็นเครื่องเตือนใจพุทธศาสนิกชนที่ไปกราบนมัสการท่านอาจารย์ หลวงพ่อพระมหาวีระ ถาวโร (หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ) ให้รำลึกว่าความตายเป็นสิ่งที่เราจะหลีกหนีไม่พ้น

ฉะนั้น เมื่อหนีไม่พ้นแล้ว ก็ควรศึกษาให้เข้าใจในเกมกีฬาของความตาย เพื่อเตรียมตัวเตรียมตนให้พร้อมที่จะเผชิญกับพญามัจจุราชโดยไม่ประมาท ดังคำกลอนอุทานธรรมของท่านเจ้าประคุณ พระศาสนโสภณ (แจ่ม จตฺตาโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดมกุฎกษัตริยาราม ที่ว่า


...เราจะต้องรบรับกับมัจจุราช
ไม่แคล้วคลาดมั่นคงอย่าสงสัย
รีบเตรียมตัวไว้ก่อนไม่ร้อนใจ
มาเมื่อไรเราก็รบไม่หลบนา

...ถึงกายแพ้แต่ใจเราไม่แพ้
ใจไม่แก่เจ็บตายตามกายหนา
กายนี้มันจะเน่าเราก็ลา
ไปสวรรค์ชั้นฟ้านิพพานเอย


คุณอ๋อย นอนหลับเป็นครั้งสุดท้าย

.....ภาพคุณเฉิดศรี สุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา หรือที่พวกเราเรียกกันติดปากว่า “คุณอ๋อย” ในเครื่องแต่งกายชุดสีม่วง นอนหลับตาพริ้มอยู่บนเตียงด้วยใบหน้าอันวางเฉย ปราศจากริ้วรอยแห่งความกังวล มือขวาเหยียดยื่นเหนือพานรองน้ำ เพื่อรอการหลั่งน้ำขออโหสิกรรมจากบรรดาญาติมิตรในตอนเย็น วันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๒๑

เป็นภาพที่ยืนยันว่า คุณอ๋อยได้เข้าสู่กีฬาที่ต้องเล่นและมีโอกาสเล่นเพียงครั้งเดียวในชีวิต ในฐานะนักกีฬาที่ได้รับการฝึกซ้อมมาอย่างหนัก สามารถตัดความทุกข์ของขันธ์ห้าลงได้อย่างสมุจเฉทปหาน เหตุใดจึงกล่าวเช่นนั้น..?

เป็นที่ทราบกันดีว่า คุณอ๋อยเป็นผู้ที่สนใจในการปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังมาไม่ต่ำกว่าสิบปี เธอได้ร่วมกับสหธรรมจาริกของเธอบางคนไปฟังเทศน์ถืออุโบสถที่ วัดเบญจมบพิตร เป็นการเริ่มแรก เพื่อนของเธอกล่าวว่า เธอเป็นผู้ที่สนใจในธรรมะ มีความเฉลียวฉลาด สามารถตั้งปัญหาซักถามข้อธรรมะต่าง ๆ อย่างคล่องแคล่ว ทำให้ผู้ที่อยู่ร่วมฟังในการซักตอบปัญหาได้รับความรู้ในข้อธรรมะนั้น ๆ ไปด้วยเป็นอย่างดี

คุณอ๋อย เป็นกำลังหลักในการเริ่มสร้างวัดท่าซุง

คุณอ๋อยเป็นผู้ริเริ่มและเป็นกำลังสำคัญ ในการรวบรวมพุทธบริษัทจำนวนมากให้มาร่วมกันบำเพ็ญวิหารทาน โดยการบริจาคเงินและทรัพย์สินในการสร้างวัด อุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ ที่พักธรรมจาริก โรงเรียน โรงพยาบาล และตลอดจนการจัดหาที่ดินให้แก่วัดท่าซุง ซึ่งมีท่านอาจารย์หลวงพ่อพระมหาวีระ ถาวโร เป็นองค์อำนวยการก่อสร้าง

การก่อสร้างนับตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งเสร็จเรียบร้อยกินเวลาประมาณ ๓ ปี แม้ว่าการทำงานดังกล่าวจะมีอุปสรรคขวากหนามมากมายหลายด้านเพียงใดก็ตาม เธอก็มิได้ย่อท้อ คงมุ่งมั่นบากบั่น ร่วมกับบรรดาพุทธบริษัทที่จะกระทำวิหารทานนี้ให้สำเร็จลุล่วงลงจงได้

นอกจากงานด้านวิหารทาน คุณอ๋อยยังได้เป็นหัวหน้าพุทธบริษัทที่เป็นศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อพระมหาวีระ ติดตามหลวงพ่อไปเยี่ยมเยียนทหาร ตำรวจชายแดน และราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดาร ตามภาคต่าง ๆ ของประเทศอยู่ตลอดเวลา พุทธบริษัทที่ติดตามไปบางครั้งก็เป็นคณะใหญ่จำนวนนับร้อย


หลวงพ่อออกเยี่ยม หน่วยทหารพรานนาวิกโยธิน อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี ปี ๒๕๑๙
แถวจากซ้าย - ท่านเจ้ากรมเสริม, คุณสุชาติ มุสิกธรรม, คุณชัยวัฒน์ นาคสวัสดิ์, ท่านเจ้ากรมจินดา, คุณนิพัทธา (กานดา-น้อย) อมาตยกุล, คุณเฉิดศรี (อ๋อย), คุณเยาวลักษณ์ (เล็ก), คุณพรนุช คืนคงดี


.....ด้วยการอำนวยการของคุณอ๋อย ซึ่งเป็นผู้มีอัธยาศัยร่าเริง สดใส เต็มไปด้วยชีวิตชีวา มีความโอบอ้อมอารี มีคุณลักษณะผู้นำและผู้ริเริ่มที่มีพรหมวิหารสี่เป็นคุณธรรมประจำใจ มีความเคารพผู้ใหญ่ อ่อนโยนต่อผู้น้อย อะลุ้มอล่วยพร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็น และข้อแนะนำของผู้อื่นด้วยปัญญาและเหตุผลปราศจากอคติ รู้รับผิดชอบในการบริหารงานทั้งทางโลกและทางธรรมด้วยความเข้มแข็ง เห็นความสำคัญของบุคคลผู้ร่วมงานทุกระดับ

คุณธรรมดังกล่าวเหล่านี้ของเธอจึงเป็นเสน่ห์ และแม่แรงชักจูงบรรดาพุทธบริษัทให้มาร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจกันปฏิบัติงานร่วมกับเธอในการสงเคราะห์ กิจการของพระศาสนาและของบ้านเมือง ภายใต้การอำนวยการของหลวงพ่อฯ ตั้งแต่ต้นจนตราบเท่าเธอสิ้นอายุขัย

ในระยะหลัง ๆ ที่โรคภัยไข้เจ็บได้รบกวนสังขารเธอมาก เธอก็ได้มอบหมายให้สานุศิษย์ผู้อื่นแบ่งเบากันรับภาระในการดำเนินงาน เพื่อสนองความประสงค์ของหลวงพ่อฯ ที่ได้กระทำมาตั้งแต่ต้นตราบเท่าจนทุกวันนี้

คุณอ๋อย อุทิศบ้านสายลม

นอกจากการบำเพ็ญทานดังที่ได้กล่าวมาเบื้องต้นแล้ว คุณอ๋อยยังเป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วยการเสียสละ เธอได้ยอมสละความสุขส่วนตัวและของครอบครัว โดยเปิดเคหะสถานบ้านเรือนให้เป็นธรรมสถาน เธอให้การต้อนรับขับสู้ผู้แสวงธรรมที่มาสู่บ้าน โดยมิได้เลือกชั้นวรรณะ และมิได้เลือกผู้รู้จักมักคุ้น ด้วยไมตรีจิตและใบหน้าอันยิ้มแย้มแจ่มใส

บ้านของเธอเปิดต้อนรับแก่ทุกผู้ทุกคนตลอดทั้งเวลากลางวันและกลางคืนไม่เลือกฤดูกาล ในยามมีการทำบุญและประกอบพิธีการ เธอก็จัดอำนวยความสะดวก ในเรื่องการเลี้ยงดูและอาหารการกิน แก่ผู้ที่มาร่วมงานอย่างเป็นกันเองและทั่วถึง

ในเรื่องจำนวนพุทธบริษัทผู้มาปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อ ยิ่งนานวันก็ยิ่งมีเพิ่มมากขึ้น จากสิบเป็นร้อยเป็นพัน ทำให้สถานที่ที่มีอยู่คับแคบไม่เพียงพอ เธอก็ตัดสินใจขยับขยายด้วยการก่อสร้างเพิ่มเติม เพื่อให้มีบริเวณเพียงพอแก่พุทธบริษัทที่จะปฏิบัติธรรม เจริญพระกรรมฐานได้โดยไม่เบียดเสียดเยียดยัดถึงสองครั้งสองครา

ท้ายที่สุดเมื่อจวบจนใกล้วาระสุดท้ายของชีวิต เธอยังได้กล่าวอุทิศบ้าน สถานที่อยู่ถวายแด่องค์หลวงพ่อพระมหาวีระ ถาวโร ให้เป็นสำนักปฏิบัติพระกรรมฐานสืบต่อไป พวกเราที่ได้รู้ได้ยินต่างโมทนาในปรมัตถทานของเธอด้วยความปิติเป็นล้นพ้น

คุณอ๋อยเป็นผู้ที่มีความอดทนอย่างที่สุดต่อทุกขเวทนาจากอาการโรคอันร้ายแรงที่บังเกิดขึ้นแก่ตัวเธอ เธอมิได้แสดงอาการท้อถอย หวาดหวั่น กระวนกระวาย ในความทุกข์ทรมานที่บุคคลซึ่งเป็นโรคชนิดนี้จะพึงเป็น ในขณะที่อาการป่วยไข้ของเธอกำลังทรุดหนัก

เพื่อนฝูงญาติพี่น้องที่ไปเยี่ยมเยียน อดที่จะแสดงความรู้สึกเศร้าสลด เห็นอกเห็นใจ จนบางคนไม่สามารถกลั้นน้ำตาไว้ได้ และบางครั้งแทนที่ผู้เยี่ยมเยียนจะเป็นผู้ปลอบโยนคนป่วย แต่กลับได้รับคำปลอบใจจากเธอให้คิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา บางคราวเธอถึงกับแนะนำวิธีปฏิบัติจิตใจให้เสียอีก

คุณอ๋อย พบกับ "ความตายเป็นกีฬาของชีวิต" จริงๆ

กีฬาเกมสุดท้ายของคุณอ๋อยได้จบลงแล้ว ความตายได้แปรเปลี่ยนดวงวิญญาณของคุณอ๋อยจากภพภูมิเดิมในโลกมนุษย์ ไปสู่ภพภูมิใหม่ที่สนองโดยกฎแห่งกรรม คุณอ๋อยเมื่อมีชีวิตอยู่ได้ทำหน้าที่เป็นพลเมืองที่ดีเยี่ยมของชาติ เป็นธิดาผู้มีความกตัญญูอย่างสูงต่อบิดามารดา เป็นศรีภริยาของสามี เป็นแม่พิมพ์ที่ดีชัดแจ้งของลูก ๆ และเป็นยอดอุปัฏฐายิกกาของพระศาสนา

กรรมดีทั้งหลายและปรมัตถธรรมที่เธอได้พากเพียรบำเพ็ญมาตลอดอายุขัย จะน้อมนำดวงวิญญาณอันบริสุทธิ์ของเธอ ขึ้นสู่ภพภูมิอันเป็นเอกันตบรมสุข จบกิจสิ้นสุดภาระทั้งปวง สิ่งประเสริฐอันเป็นอมตะของเธอทั้งหลายเหล่านี้ สมควรอย่างยิ่งที่จะเป็นยอดตัวอย่างสำหรับเราผู้ฝึกปฏิบัติธรรมอยู่ จักได้ถือเป็นครูแด่คนรุ่นหลังสืบตลอดไป

คณะศิษยานุศิษย์ พระมหาวีระ ถาวโร


(โปรดติดตามตอน "คุณอ๋อยพบหลวงพ่อ" ต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 15/8/17 at 05:49


[ ตอนที่ 5 วันที่ 22 สิงหาคม 2560 ]



ล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์ทรงเททองหล่อรูป "หลวงปู่ปาน" เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๑๘



พล.อ.ท.ม.ร.ว.เสริม, คุณเฉิดศรี (อ๋อย) และ ม.ล.เอื้อมสุขย์ (หนุ่ย) ขณะรอรับเสด็จ

คุณอ๋อยพบหลวงพ่อ


...เมื่อสมัยก่อนโน้น คุณอ๋อย กับ คุณเสริม เป็นคนชอบหาอาจารย์ที่เขาว่าเก่ง ๆ มักจะดั้นด้นไปตามที่ต่าง ๆ ตามแต่จะมีคนชวน

เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๑ คุณแต๋ว (คุณสุรนุช กานตรัตน์) ชวนคุณอ๋อยไปทอดกฐินที่วัดท่าซุง เขาบอกกันว่าหลวงพ่อองค์นี้เก่ง ถามว่าเก่งยังไง ก็เล่ากันบอกว่า คราวนั้นคุณนายท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านยืมรถจี๊บเขาไปซื้อของที่สะพานควาย ซื้อของเสร็จก็กลับออกมา ปรากฏว่ารถหาย

คุณนายไม่ยักไปแจ้งตำรวจ กลับรีบบึ่งกลับไปที่จังหวัดอุทัยธานี ไปถามหลวงพ่อวีระ (พระมหาวีระ ถาวโร) ท่านก็บอกว่าไปดูที่จังหวัดชายน้ำซี คุณนายก็ไปที่สมุทรปราการ แล้วพบรถที่หาย

อีกรายหนึ่ง น.อ. มนูญ ชมพูทีป สมัยที่ยังเป็น ร.อ. เรียนถามท่านว่าที่สอบเข้าโรงเรียนผู้บังคับฝูงคราวนี้ ได้เลขคี่หรือเลขคู่ (เพราะว่าเลขคี่ เรียนผลัด ๑ เลขคู่ เรียนผลัด ๒ ใครๆ ก็อยากจะเรียนก่อน) ท่านตอบว่าได้ที่ ๓ แล้วปรากฏว่าได้ที่ ๓ จริง ๆ คุณมนูญ เลยนับถือใหญ่

ตกลงไปทอดกฐินกันเรียบร้อย ได้เงินประมาณ ๔ หมื่นบาท (พล.อ.อ. พะเนียง กานตรัตน์ ผบ.ทอ. ซึ่งขณะนั้นมียศ พล.อ.ต. ตำแหน่งเจ้ากรมยุทธการ เป็นประธาน โดยมี น.อ. อาทร โรจนวิภาต และคณะ ซึ่งเป็นศิษย์เก่าแก่ของหลวงพ่อเป็นผู้เชิญ)

ทอดกฐินเสร็จ คุณเสริมกับคุณอ๋อยก็เข้าไปหา ขอให้ท่านทำนาย ตามที่คนมักจะทำกันโดยทั่ว ๆ ไป ท่านก็บอกให้ไปจุดธูปบูชาพระ แล้วให้ถามได้แค่ ๓ ข้อ ในตอนนั้นท่านจะทายว่าอย่างไร คุณอ๋อย คุณเสริมก็พากันลืม ๆ ไปเสียแล้ว

แต่สำหรับการตอบปัญหาพื้น ๆ ของพระศาสนาละก็ รู้สึกว่าท่านตอบคล่อง และเข้าใจง่าย เช่น ถามว่าสวรรค์นรกมีจริงหรือ ทำไมพระจึงสอนคนละทาง – สองทาง ท่านก็บอกว่ามีจริง ฉันไปมาแล้ว

แล้วท่านก็เล่าอาการที่ท่านไปสวรรค์ตอนที่นุ่งผ้าอาบ นั่งพิงตุ่มน้ำ รู้สึกเย็นสบาย แล้วผลุบขึ้นไปยังไงก็ไม่รู้ พวกเทวดามาไหว้และขอให้เทศน์ ท่านก็อายแทบแย่ รีบกลับลงมาใหม่ แล้วแต่งเครื่องเต็มที่ขึ้นไปใหม่ รายละเอียดเรื่องนี้ท่านเล่าไว้แล้วในเรื่องประวัติหลวงพ่อปาน จะไม่นำมาเล่าซ้ำอีก

ปีต่อมา ท่านขอให้คุณเสริมเป็นเจ้าภาพจองกฐิน คุณเสริมก็ยอมรับ การก่อสร้างวัดท่าซุงก็ค่อย ๆ เจริญขึ้นตามลำดับดังที่เห็นในปัจจุบันนี้

ด้วยเหตุที่ท่านคุยสนุก มีเรื่องเล่ามากมาย ดังนั้นคุณอ๋อยจึงนิมนต์หลวงพ่อมาที่บ้านบ้าง เพราะว่าแต่เดิมท่านมักจะไปพักที่บ้าน คุณนนทา อนันตวงษ์ หรือ คุณสนั่น - คุณวาสนา หุตะสิงห์

ทีแรกก็พักบ้านคุณอ๋อยสักคืน – สองคืน คนที่ติดใจมาฟังหลวงพ่อก็มากขึ้นทุกที และเนื่องจากสถานที่กว้างขวางกว่า และการจราจรง่ายกว่าแห่งอื่น ท่านจึงใช้บ้านคุณอ๋อยเป็นแหล่งกลางต่อมา


เริ่มพิมพ์หนังสือ "ประวัติหลวงพ่อปาน"

เมื่อคุ้นกันมากเข้า และเห็นว่าคุณอ๋อยและพวกมีศรัทธาดีแล้ว หลังจากซักถามข้อธรรมกัน และระหว่างพักผ่อน หลวงพ่อก็เล่าเกร็ดต่าง ๆ เกี่ยวกับ หลวงพ่อปาน และหลวงพ่อต่าง ๆ ให้ฟังเสมอ ๆ ยิ่งเล่าก็ยิ่งมาก พวกศิษย์กลัวเรื่องสูญ เลยขอร้องให้หลวงพ่อช่วยบันทึกไว้ เพราะว่าถ้าเขียนเองทีหลัง

ประการแรก ไม่แน่ใจว่าจะจำได้ละเอียดและไม่คลาดเคลื่อน
ประการที่สอง สำนวนที่เล่ากันเองคงไม่สนุกเหมือนสำนวนของท่าน
ประการที่สาม ถ้าเขียนกันเอง อาจจะมีผู้นำไปกล่าวว่าต่อเติม หรือแต่งเอาเอง น้ำหนักจะมีน้อย หลวงพ่อก็ยอมทำตาม เมื่อเสร็จแล้ว ก็เลยโรเนียวแจกกันอ่านในระหว่างบรรดาศิษย์

ต่อมา คุณอรอนงค์ คุณะเกษม เธอทำงานศพบิดา คือ คุณหลวงอรรถไกวัลวที เธอก็ขออนุญาตหลวงพ่อนำไปพิมพ์แจกงานศพ หลวงพ่ออนุญาตให้พิมพ์ได้

ที่มาของนามปากกา "ฤาษีลิงดำ"

แต่คุณเสริมเห็นว่าเรื่องเหล่านี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับฤทธิ์เดชต่าง ๆ และคนสมัยนี้มักจะมองในแง่ร้ายว่าอวดอุตริมนุสธรรมกันอยู่เสมอ ถ้าพิมพ์ออกไปอย่างนั้น คนก็จะหาว่าเขียนโกหก เพื่อให้คนเลื่อมใส เพื่อลาภผลจะได้ไหลมาเทมา

จึงเรียนหลวงพ่อว่า ขอตัดชื่อวัด ชื่อคนที่อาจเกี่ยวข้องมาถึงหลวงพ่อออกเสียให้หมด เพื่อป้องกันข้อครหาว่าเขียนหนังสือเพื่อลาภผล แล้วขอให้ท่านตั้งนามปากกาสักชื่อหนึ่ง

ท่านก็บอกว่า เอาชื่อ “ฤๅษีลิงดำ” ก็แล้วกัน เพราะหลวงพ่อปานท่านมักชอบเรียกฉันว่า “เจ้าลิงดำ” ส่วนชื่อหนังสือนั้นก็คิดกันว่า ตั้งชื่อลำบากเพราะมีหลายเรื่อง ตกลงว่าเอาชื่อ “ประวัติหลวงพ่อปาน” ก็แล้วกัน เรื่องมันปนกันไปหมดจนไม่รู้จะเรียกยังไง

หนังสือเล่มนี้แจกในงานศพแล้วก็เริ่มแพร่หลาย มีคนมาขอไปจนหมด ผลสุดท้ายต้องให้ผู้ต้องการช่วยค่าพิมพ์ด้วย และจัดพิมพ์ใหม่อีกหลายครั้ง ผู้ที่มาอ่านในภายหลัง ไม่รู้ประวัติมาก่อนมักจะบ่นว่า ประวัติหลวงพ่อปานทำไมมีแต่เรื่องหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ

บางคนไม่รู้ประวัติเรื่องนามปากกา ก็เอาไปค่อนแคะว่าพระอะไร ตั้งตัวเป็นฤๅษี มีชื่อเหมือนสัตว์ อย่างนี้ก็มี แต่ในภายหลังจะทำอย่างไร ๆ คนก็มักไม่ชอบเรียกชื่อจริง ทั้งที่แจ้งให้ทราบแล้วว่า ชื่อ พระมหาวีระ ถาวโร ตกลงท่านก็เลยตกบันไดพลอยโจน ฤๅษีลิงดำ..ก็ฤๅษีลิงดำ

ที่มาของหนังสือ "เรื่องจริงอิงนิทาน"

ต่อจากประวัติหลวงพ่อปาน ก็มีเรื่องสนุก ๆ แต่เบากว่าหน่อยหนึ่ง ทำนองเดียวกันอีก ๒ เล่ม คือ เรื่องจริงอิงนิทาน ๑ และ ๒ เด็กอ่านได้ผู้ใหญ่อ่านดี อ่านแล้วก็ทวงเล่ม ๓ กันอีก

คุณเสริมและพวกก็จดหัวข้อเรื่องที่ยังไม่ได้พิมพ์ถวายหลวงพ่อไปว่ามีเรื่องอะไรบ้าง แต่จนแล้วจนรอดหลวงพ่อก็ไม่ได้มีเวลาว่างเลย ท่านบอกว่าท่านจะอยู่ได้ไม่นานแล้ว ต้องรีบเคี่ยวลูกศิษย์ให้ไปได้มาก ๆ เสียก่อน แล้วภารกิจเอาของไปแจกทหาร ไปแจกคนจนในถิ่นทุรกันดาร เป็นการอนุวัตรตามพระราชดำริอีกด้วย

สำหรับท่านที่กระหายจะได้อ่านเรื่องแบบเรื่องจริงอิงนิทาน ก็ขอกำนัลท่านไว้สัก ๑๐ กว่าเรื่องในหนังสือนี้ บางเรื่องอาจจะหนักไปหน่อยในด้านคำสอน แต่ก็ควรอ่านเพราะรู้สึกว่ามีค่ามาก การเล่าเรื่องบางตอน มีว่าพระพุทธเจ้ามาเล่าเรื่องบ้าง พระอินทร์เล่าเรื่องบ้าง อะไรเหล่านี้

ท่านที่เห็นว่า ผีสางเทวดา เป็นเรื่องเหลวไหลก็มีมากมาย สำหรับท่านเหล่านี้ ขอเสนอเป็นเรื่องนิยายอ่านกันเพลิน ๆ บางทีก็มีเรื่องราวในอนาคตพูดไว้บ้าง จะจริงหรือไม่จริงก็คอยดูกันในอนาคตก็แล้วกัน

เหตุการณ์ของประเทศไทยนั้นท่านว่าไว้ที่อื่น (หนังสือพระเมตตา ๑) ว่าบ้านเราจะเจริญรุ่งเรืองด้วยพระบารมีของพระเจ้าอยู่หัว เปรียบเทียบได้ว่า ฟ้าจะสางในปี ๒๕๒๒ และในปี ๒๕๒๔ จะเห็นความเจริญได้ชัดเจน เพราะฉะนั้นรอดูอีกประเดี๋ยวเดียวก็จะได้รู้กัน


(โปรดติดตามตอน "คุณอ๋อยกับพระองค์หญิงวิภาวดี" ต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 22/8/17 at 04:40


[ ตอนที่ 6 วันที่ 29 สิงหาคม 2560 ]

คุณอ๋อยกับเสด็จพระองค์หญิง
โดย ป่อง โกษา


"...คุณอ๋อย ที่ใครๆ รู้จัก คือ คุณเฉิดศรี สุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา ภรรยา ของ พล.อ.ท. ม.ร.ว. เสริม สุขสวัสดิ์ (เจ้าของบ้านสายลม) บัดนี้เธอสิ้นชีวิตไปเสียแล้ว ชีวิตของเธอเป็นนิยายที่พอจะจัดเข้าเป็นเรื่องจริงอิงนิยายได้ จึงคัดเอาใจความจากหนังสืองานศพมาเรียบเรียงเสียให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยแยกเป็นตอน ๆ ดังต่อไปนี้

...เสด็จพระองค์หญิง วิภาวดีรังสิต เจ้าของนามปากกา ว.ณ. ประมวญมารค อันเลื่องลือได้เบนวิถีของท่านมาพบกับ คุณอ๋อย เมื่อประมาณเดือนเมษายน พ.ศ. 2519 โดย "พี่ปุ๊" หรือ แพทย์หญิงลัดดา จารุวัสตร์ แจ้งมาว่า มีพระประสงค์จะมานมัสการหลวงพ่อที่บ้านคุณอ๋อย

.....ความจริงคุณอ๋อยพบกับท่านมานานแล้วในทางหนังสือ คือ อ่านหนังสือของท่านแทบทุกเล่ม แต่ไม่เคยพบพระองค์จริง เมื่อ 1 องค์ กับ 1 คนมาพบกันเข้าก็รู้สึกว่า สัมพันธภาพจะดำเนินไปด้วยดีอย่างรวดเร็ว เพราะช่างพูดด้วยกัน และใจซื่อด้วยกัน

ประกอบกับความไม่ถือพระองค์ของเสด็จ ดังนั้น จึงมักจะแวะมาคุยที่บ้านคุณอ๋อยบ่อย ๆ เวลาคนจะตามหาพระองค์ท่าน บางทีก็โทรศัพท์มาพบที่บ้านนี้ เสด็จ ฯ รับสั่งว่า พวกนี้ชักรู้แกวเสียแล้วว่า หญิงหลบมุมมาอยู่นี่

.....บ้านคุณอ๋อยอุทิศเป็นบ้านฟังธรรม ไม่มีห้องรับแขก เพราะสร้างห้องรับแขกทีไร ก็กลายเป็นห้องฟังธรรมเสียทุกที ดังนั้นเวลาเสด็จมาก็รับเสด็จกันบนพื้นธรรมดา คือ บนเสื่อหรือบนพรม บางทีก็เลยบรรทมลง ไปอย่างนั้นแหละ ทรงเป็นกันเองกับบ้านนี้อย่างรวดเร็ว

บางทีก็ถามคุณเสริมว่า " พี่เสริม ทำอย่างนี้ได้ไหม " แล้วบรรทมหงายหลังยกพระบาทชี้ฟ้า ทำท่าถีบจักรยาน พวกลูก ๆ ของคุณอ๋อยก็รักเสด็จกันทุกคน

ในโอกาสหนึ่งทรงพบกับ หลวงปู่ธรรมไชย แห่งวัดทุ่งหลวง ท่านก็ทรงขอให้หลวงปู่ตรวจพระโรค หลวงปู่ก็บอกว่า ตาที่เป็นต้อนั้นรักษาหาย ไม่ต้องผ่าตัด จะหายใน 27-28 วัน แล้วหลวงปู่ก็ให้ยาและน้ำผึ้งมนต์สำหรับหยอด กับทำยาเพิ่มไฟตา หรืออะไรสักอย่าง

เสด็จ ฯ ก็ทรงปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด จะไปเมืองนอกก็เอาไปด้วย ระหว่างเสด็จประเทศอังกฤษครั้งสุดท้าย ทรงมีลายพระหัตถ์ถึงคุณอ๋อย 2 ฉบับ

                                                  Hotel Zurich

                                                             วันที่ 17 มิถุนายน 2519

คุณอ๋อย ที่รัก

.....ลูกศิษย์หลวงพ่อคนนี้ (คือหญิง) ออกจะอาการไม่สู้จะดี ไม่ค่อยเข้ากับบรรยากาศเมืองฝรั่งเสียเลย เวลานี้อยู่โฮเต็ล ที่หรูที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองซูริค วิวสวยที่สุด ก็ไม่ชอบบอกตัวเองว่า "ไม่เที่ยง" ท่าเดียว ห้องหรูหราก็ไม่ชอบ กระจกเดินหันหลังให้ตลอดเวลากลางคืน

ครั้นต้องไปกินเลี้ยงก็กินไม่ลง อย่างดีซุปก็จะจุกแอ้ด ๆ จะถืออุโบสถศีลท่าเดียว เช้าก็ตื่นเสียหัวไก่โห่ ทั้ง ๆ ที่เมืองฝรั่ง (โฮเต็ลหรู ๆ ) เขาตื่นสายกัน อาหารเช้าต้องราว 2 โมง

ไอ้เราก็อยากกินแต่โมงเช้า ! เขาคุยกันว่า หน้าร้อนนี้ต้องไปตกปลาที่โน่นที่นี่ หญิงก็อยากจะห้ามว่า ฆ่าสัตว์บาป..! แต่ไม่ได้ห้ามดอก เพียงแต่นึกในใจแล้วก็ปลง พรุ่งนี้จะออกเดินทางต่อไปเจนีวา ท่านชายจัดการให้รถยนต์มาคอยอยู่ ในวันที่เราเดินทางมาถึง แล้วต่อไปก็ไปฝรั่งเศสและอังกฤษ

การปฏิบัติไม่สู้จะสำเร็จ มีนายคอยสั่งให้ทำโน่นทำนี่ แล้วแม่หลานยายก็ติด (เอามาด้วย) เรียกยายทั้งวัน ที่ต้องเขียนถึงคุณอ๋อย ก็เพราะท่านชายอนุญาตให้เงินจำนวนหนึ่ง ไว้สร้างกระต๊อบน่ารัก ๆ ไว้ที่วัดหลวงปู่ธรรมไชย

คุณอ๋อยกรุณาเรียนหลวงปู่เลย ให้ช่วยสร้างเรือนเล็ก ๆ แบบพื้นบ้าน ใต้ต้นไม้ใหญ่ใบหนา มีห้อง 2 ห้อง เล็ก ๆ กับห้องเก็บของเล็ก ๆ และมีนอกชาน

อ้อ..ถ้ามีห้องน้ำ (มีตุ่มน้ำ ส้วมซึม) สักห้องเป็นพอ หญิงจะไปอยู่กับหลวงปู่ เพื่อเขียนประวัติหลวงปู่ และเวลาว่าง เพื่อความสงบสบายใจ กลับไปนี่จะเอาเงินไปถวายค่ากระต๊อบของหญิง

เฟอร์นิเจอร์ไม่ต้องมี หญิงจะนอนกับพื้น และถ้ามีชั้นไว้ใส่หนังสือก็พอ กลับจากเมืองนอกก็ต้องไปปักษ์ใต้ จากปักษ์ใต้จึงจะขึ้นไปดูการสร้างกระต๊อบ หญิงแดงอยากได้เร็ว ๆ เดือนพฤศจิกายนจะได้ไปอยู่ คุณอ๋อยต้องมาด้วยกันนะคะ

เรียนหลวงปู่อีกอย่างว่า ตาดีขึ้นมาก อ่านหนังสือ (ข้างที่เคยมัวหนัก) ก็ได้ กำลังรอให้ครบเดือนจะหายตามหลวงปู่สั่ง วันที่ 23 ยายทิพาจะไปหาหลวงปู่พาคนไข้ไปหา ถ้าคุณอ๋อยมีข่าวอะไรถึงหญิง เขียนฝากมานะคะ แกจะออกเดินทางวันที่ 24 และจะพบกับหญิงที่ลอนดอน ในวันที่ 26 หรืออะไรพวกนี้ แล้วแต่นาย (ม.จ. ปิยะ) จะสั่ง

ฝากกราบหลวงพ่อหลวงปู่ด้วยค่ะ

วิภาวดี


ป.ล. กรุณาพูดกับคนรถที่ขับรถพาเราไปวัดท่าซุงวันก่อนด้วยว่า ช่วยหาคนรถให้ด้วย กลับไปจะขอจ้างเขาเลย

(อีกฉบับหนึ่ง เขียนจากอังกฤษดังนี้)

                                                                 23 Walpole St. London S.W. 3

                                                                     วันที่ 24 กรกฎา 2519

คุณอ๋อย ที่รัก

.....ท่านชาย และหญิง พาหลานขับรถมาจากฝรั่งเศส ถึงบ้านเราที่ลอนดอนเมื่อค่ำวันที่ 2 นี้เอง จึงเพิ่งได้รับ จ. ม. ต่าง ๆ ที่ฝากทิพามา ขอบอกด้วยความยินดีว่า หลวงปู่รักษาตาหญิงหายก่อนปลายเดือนจริงๆ พอวันที่ 27 ก็รู้สึกว่า มันใสจ้าขึ้นมา หมอตาต่าง ๆ จะต้องงงเต้กไปหมด

กรุณาเรียนหลวงปู่ด้วยว่า ตาทั้ง 2 ข้าง เห็นดี แต่แสงเป็นสีคนละสีกัน ข้างดี (ข้างซ้าย) เป็นสีขาว ธรรมดา แต่ข้างขวา ออกเป็นสีคล้ายใส่แว่นตาสีชา แต่เมื่อหลวงปู่ให้ยา ซึ่งหลวงปู่เรียกว่า "ยาไฟตา" หญิงก็รีบกินและล้างตามคำสั่ง คงจะเป็นปกติในไม่ช้า

หญิงได้ข่าวว่า หลวงปู่ท่านยังไม่มีกุฏิอยู่เลยที่วัดทุ่งหลวง ของท่าน ท่านอยู่ในวิหาร หญิงเลยอยากจะสร้างกุฏิถวายท่าน เป็นตึกหรือเรือนไม้ 2 ชั้น ชั้นบนสำหรับท่าน อยู่กับเครื่องยา มีห้องน้ำชั้นล่าง เป็นห้องเปล่า ๆ สำหรับรักษาคนเจ็บ

ส่วนเรือนของหญิงเป็นเรือนเล็ก ๆ ชั้นเดียว นอกนั้นจะชวนพรรคพวกไปด้วย เวลาหญิงไม่อยู่ก็ให้หลวงปู่ใช้ได้ เรือนหญิงขอให้อยู่ใกล้ ๆ กับหลวงปู่ อยากให้สร้างเสร็จที่จะไปเดือนพฤศจิกา

หญิงคิดจะกลับ ก.ท. ราววันที่ 20 พอพักพอหายเหนื่อย อยากจะชวนคุณอ๋อยไปเชียงใหม่ด้วยกัน เพื่อไปดูที่ทางที่จะสร้างบ้าน 2 หลังนี้ งบประมาณเป็นแสนก็ได้

เวลานี้หญิงสนใจแต่จะเข้าทำประโยชน์กับพระอริยสงฆ์ทั้งปวง เพื่อช่วยให้ท่านช่วยคน และทำบุญเมืองฝรั่งนี้ เบื่อแทบสิ้นสติ ทนอยู่เพื่อปลง ๆ ไปงั้นเอง เพื่อนฝูงมีมากมาย จะทิ้งเขาปุบปับก็น่าเกลียด แกรู้ว่าหญิงมา แกก็เลี้ยงกันเสียจริง ๆ ดัทเชสอะไรต่าง ๆ

หนังสือหลวงพ่อ หญิง edit ให้เสร็จไปเล่มแล้ว เล่มที่ยังไม่พิมพ์ คือ กรรมฐาน 40 นี่ก็กำลังทำอยู่ อันที่จริงก็ไม่มีอะไรมาก นอกจากเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องก็เอาออกเสียบ้าง และสำนวนคุยก็ไม่น่าจะออกมาเป็นตัวหนังสือเท่านั้น ไม่ยากและชอบทำมาก

ส่วนทางหลวงปู่ หญิงก็วางแผนจะเขียนประวัติท่านนี่แหละ ถึงคิดจะไปอยู่วัดเพื่อหาเวลาคุยกับหลวงปู่ (เวลาว่างก็จะปฏิบัติพระกรรมฐานตามที่หลวงพ่อสอน) รับรองว่าเรื่องหลวงปู่จะฮิตใหญ่ คุณอ๋อยจะต้องขายสนุกเทียว

โดยเฉพาะ "ต้อ" จากตาหญิง ซึ่งหมอทั่วโลกรวมทั้งหมออุทัยกับหมอสำราญต่างก็รักษา และก็เห็นว่าต้องรอจนกว่าจะแก่แล้วผ่า นี่กลับไปให้ส่อง คงงงพิลึก ไอ้ขาว ๆ ที่ปิดตาดำอยู่ก็หายไป ทุกคนจะเห็นด้วยตาเปล่าว่า ตา 2 ข้าง เหมือนกันแล้วต้อหายไปเฉย ๆ

คุณอ๋อย ช่วยนัดหลวงปู่นะคะว่า ราววันที่ 24 เราจะไปหา ไม่ต้องให้ท่านลำบาก เราไปอยู่รินคำได้ พอดูที่ทางแล้วก็จะให้ลงมือสร้างได้พร้อมกันทั้ง 2 หลัง ว่าแต่หลวงปู่จะให้สร้างแน่ไหม

หญิงกลับจากเชียงใหม่ ก็จะวิ่งไปเฝ้าที่นราธิวาส และเพื่อตามเสด็จสงขลา หลังวันที่ 12 คือ ทรงบรรจุพระบรมธาตุ อยากจะชวนหลวงพ่อ หลวงปู่ไปทอดผ้าป่าพ่อหลวงจ้อย จะได้หมดหนี้สิ้นเสียที หญิงให้ท่านรองวางแผนเรียบร้อยแล้ว ราวกลางเดือนสิงหา

มีข่าวอะไรตอบด่วนค่ะ ลูกชายคุณยุทธศิลป์เป็นยังไงบ้าง ขอบใจหลานและทุกๆ คนที่ทำยาให้

รักและคิดถึงจาก

วิภาวดี


(โปรดติดตามตอน "บทสรุปจากท่านป่อง โกษา" ต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 29/8/17 at 07:36


[ ตอนที่ 7 วันที่ 5 กันยายน 2560 ]

บทสรุปจากท่านป่อง โกษา



(พลอากาศโท ม.ร.ว.เสริม ศุขสวัสดิ์)


...นอกจากที่กล่าวมาแล้ว เสด็จฯ ยังเห็นเรื่องอัศจรรย์อีกสองอย่าง คือ ตอนที่ท่านฝึกนั่งกรรมฐานครั้งแรก ท่านเล่าว่าเห็น หลวงพ่อปาน อยู่ตั้งชั่วโมง เห็นได้ ทั้งหลับตา และลืมตา

ท่านก็เลยมุทำเป็นการใหญ่ ทำไม่ขาดด้วย แม้จะเสด็จไปปฏิบัติภารกิจในแดนกันดาร ต้องเหน็ดเหนื่อย ในเวลากลางวันต้องเขียนรายงาน ในตอนกลางคืนดึกดื่น เสร็จแล้วท่านก็ไม่เว้นที่จะต้องนั่งกรรมฐานอีก

อีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องการเดินทาง ในคราวนั้น "คุณอ๋อย" กับลูก คือ "หน่า" กับ "หน่อง" เดินทางไปด้วย ในระยะหลังๆ นี้ จะเสด็จไปไหนมักจะชวนคุณอ๋อย คุณอ๋อยก็ไม่ขัด คราวที่กล่าวถึงนี้ เป็นการเดินทางไป บ้านแม่สาน อำเภอศรีสัชนาลัย

หลวงพ่อเดินเท้าไม่ไหว เพราะเป็นการเดินขึ้นเขาลงห้วย คือ ลุยไปในห้วย หรือไต่ไปตามหินในห้วยจริงๆ ด้วย ดังนั้นจึงจัด ฮ. ให้นำหลวงพ่อไป

หลวงพ่อท่านก็สั่งว่า เวลาเดินทางให้ท่องชื่อ ท่านทรงเดช เทวดาเจ้าของถิ่นไปด้วย จะได้เบาตัวและไม่เหน็ดเหนื่อย คณะเดินก็ปฏิบัติ ซึ่งปรากฏว่าเมื่อเที่ยวก่อน เสด็จฯ เคยใช้เวลาเดินทาง 5 ชั่วโมง คราวนี้กลับใช้เวลาเดินไม่ถึง 3 ชั่วโมง ขากลับก็เช่นกัน

คราวที่ไปสิ้นชีพิตักษัยที่สุราษฎร์ธานีนั้น "คุณอ๋อย" ก็ไปด้วย ข่าว ฮ. ถูกยิงทำเอาพวกที่บ้านใจหาย นึกว่าตามเสด็จไปเสียแล้ว แต่ปรากฏว่าไม่ได้ไปกับ ฮ. และโดยสารเครื่องบินมากับพระศพ

ซึ่งหลังจากนั้น หนังสือพิมพ์ก็ลงข่าวว่า สัมภาษณ์ นางเฉิดศรี ณ นคร ภรรยา ผบ.ทบ. ผู้มีน้ำตาอันนองหน้าว่าอย่างนั้นอย่างนี้ คุณเฉิดศรีบอกว่า ไม่เห็นมีใครมาถามอะไรนี่ ร้องให้ก็ไม่ได้ร้อง คุณเสริมบ่นว่า ย่องไปเป็นภรรยา ผบ.ทบ. ตั้งแต่เมื่อไหร่ ระวัง "คุณหญิงแสงเดือน" ท่านจะฉีกอกเอานะ

(หมายเหตุ : สมัยนั้น พล.อ.เสริม ณ นคร เป็น ผบ.ทบ โดยมีคุณหญิงแสงเดือน ณ นคร เป็นภรรยา)

ชี้แจงเกี่ยวกับการสิ้นชีพิตักษัย



(สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จรอรับพระศพที่ ร.พ.จุฬาลงกรณ์)

.....เกี่ยวกับการสิ้นชีพิตักษัยของเสด็จฯ ในครั้งนี้ มีคนต่อว่ามากว่า เสียแรงไปกับหลวงพ่อหลวงปู่ทั้ง 2 องค์ ทำไมเรื่องอย่างนี้จึงเกิดได้ หลวงพ่อท่านก็ตอบว่า คนจะตายเสียอย่าง จะไปห้ามได้ยังไง ความจริงเรื่องนี้ หลวงพ่อได้รับคำสั่งจากพระว่า อย่าแยกเครื่องนะ หลวงพ่อก็คอยระวังอยู่

แต่สำหรับท่านเอง ในวันนั้นก็เป็นวันมรณะ ท่านบอกว่า วันนั้นถ้าจะยิง แล้วจะยิงออกเสียด้วย จะถูกที่ขา แต่เมื่อนัดกันแล้วก็ไป ตายก็ตาย ท่านกำชับว่า เมื่อถึงโรงเรียนให้ลงให้หมดนะ ปล่อย ฮ ไปรับคนเจ็บ ส่งโรงพยาบาลก่อน แล้วให้ขากลับมารอที่โรงเรียนอีก

แต่เสด็จฯ แอบไปเสียกับ ฮ. โดยไม่บอกให้ทราบ ก่อนไปฝากโน๊ตถึงหลวงปู่ให้ช่วย หลวงปู่ก็ไม่ได้อ่าน เพราะไม่ได้เอาแว่นไป เลยไม่รู้เรื่องกัน

พวกที่ไปด้วย มาเล่าในภายหลังว่า เมื่อ ฮ. ถูกยิงครั้งแรกก็รู้แล้ว ดังนั้นทุกคนก็เข้าล้อมท่านหญิงไว้ แต่การยิงในระลอกสอง กระสุนสังหารนัดนั้นทะลุท้อง ฮ. ถูกหัวรองเท้านายตำรวจ แล้วแฉลบไปถูกเหล็กพนักที่นั่ง แล้วแฉลบเข้าด้านหลังของเสด็จฯ อีกทีหนึ่ง เรียกว่าป้องกันยังไงก็ไม่ไหว ถ้าหากคนจะตายเสียอย่าง

ที่ว่าคนจะตายเสียอย่างนี้ มารู้ในภายหลังว่า เสด็จทรงจบกิจพระศาสนา ตั้งแต่ตี 2 ของคืนก่อน และเมื่อฆราวาสจบกิจพระศาสนาแล้วก็จะมีชีวิตอยู่ได้ไม่ ถึงพระอาทิตย์ตกในวันรุ่งขึ้น

ตามคติของชาวโลก การตายเป็นของน่ากลัว..น่าเศร้า..น่าเสียดาย แต่สำหรับพระแล้ว การตายโดยเฉพาะตายเมื่อจบกิจพระศาสนา ก็ไปเสวยสุขในพระนิพพาน เป็นเรื่องน่ายินดีด้วยซ้ำ ดังนั้นสองฝ่ายนี้ จึงพูดกันไม่รู้เรื่อง เป็นคนละภาษาเลยที่เดียว

เรื่องฆราวาสจบกิจพระศาสนา คือ ตัดกิเลสได้นั้น หลวงพ่อเคยชักตัวอย่างจากพระไตรปิฎกให้ดูหลายองค์ว่า จะมีนางผีเสื้อยักษ์แปลงตัวเป็นโคแม่ลูกอ่อน มาขวิดตายเสียเป็นส่วนมาก

เคยมีผู้ตั้งปัญหาถามหลวงพ่อว่า ทำไมฆราวาสสำเร็จอรหันต์จึงตาย แต่ทีพระทำไมอยู่ได้ หลวงพ่อตอบว่า เพราะเพศฆราวาสบริสุทธิ์ไม่พอ ครองความเป็นอรหันต์ไม่ได้ คำตอบนี้ยังไม่เป็นที่พอใจ เพราะคล้ายๆ กับจะแย้งได้โดยมีเหตุผลว่า ถ้าทำตัวอย่างพระแต่ไม่บวช ก็ควรจะได้อยู่ได้ซี

นึกไปนึกมา แล้วยังมีอีกแง่หนึ่ง ที่น่าจะใช้อธิบายได้ คือ เมื่อบุคคลสำเร็จอรหันต์แล้ว ความจำเป็นที่จะทรงชีวิตอยู่ไม่มี ควรรีบไปอยู่นิพพานตามสภาพทันที หรือโดยเร็วที่สุด

แต่ที่พระยังอยู่ได้นั้นก็เพราะ พระยังทำประโยชน์แก่โลกได้ คืออยู่เพื่อสอน กับอยู่เพื่อให้คนทำบุญ คนที่ทำบุญกับพระอรหันต์นั้น จะได้ผลตอบแทนมากกว่าทำกับคนธรรมดานับล้านๆ เท่า

แต่ฆราวาสที่เป็นพระอรหันต์นั้นสอนใคร เขาก็ไม่ค่อยเชื่อแล้วก็ไม่มีใครเขาทำบุญด้วย เพราะเห็นเป็นคนธรรมดา ไม่ใช่พระ ถ้าอยู่ไปกลับจะเป็นอันตรายแก่ชาวบ้าน เช่น ค่อนขอด ด่าว่า ล่วงเกิน ถ้าเป็นญาติผู้ใหญ่ เป็นนายจ้าง เขาก็จะใช้งานท่าน แล้วเลยลงนรกไปเปล่าๆ

เพราะฉะนั้น ฆราวาสที่เป็นอรหันต์ จึงกล่าวได้ว่าไม่มีประโยชน์กับใครอีกแล้ว ไปนิพพานดีกว่า คำอธิบายนี้รู้สึกว่าพอจะไปได้ แต่จะถูกหรือไม่ถูกไม่ทราบ

สำหรับท่านหญิงนั้น คนที่ไม่ค่อยจะทราบประสบการณ์ทางศาสนาของท่าน อาจจะนึกว่าเป็นไปได้หรือ ที่เสด็จ ฯ จะจบกิจพระศาสนา แต่ตามจดหมายถึงคุณอ๋อยนั้น แสดงว่าท่านก้าวหน้าไวมาก

หลวงพ่อเคยบอกว่า พระอนาคามีนั้น จะถือศีล 8 เองโดยอัตโนมัติ ในจดหมายท่านก็รับสั่งท่านอยากจะถือ 8 ท่าเดียว เช่นนี้ควรแสดงว่าท่านใกล้แล้ว

นอกจากนี้สำหรับผู้ใกล้ชิดจะเคยได้ยินท่านทรงกล่าวเสมอว่า ทรัพย์สมบัตินั้น ท่านเลิกกังวลมานานแล้ว เมื่อมาได้รับคำสอนถูกทาง ได้มีศรัทธาเพิ่มเติม จากประสบการณ์เกี่ยวกับหลวงพ่อและหลวงปู่ ก็อาจเป็นได้ว่าท่านจะสามารถตัดไปได้เลย

ความจริงจะเป็นอย่างไร คนธรรมดาไม่สามารถทราบได้ แต่อย่างไรก็ดี ขอเตือนให้ระลึกว่า ที่หลวงพ่อชี้แจงมานี้ เป็นการชี้แจงแก่ศิษย์ใกล้ชิดเพื่อการศึกษา โปรดอย่าเข้าใจว่าหลวงพ่อประกาศแก่คนทั่วไป ประเดี๋ยวจะไปหาว่า ท่านโฆษณาตัวเองเข้าอีก แล้วข้าพเจ้าผู้เขียนจะพลอยเป็นจำเลยไปด้วย

แต่โดยเฉพาะศิษย์วงในแล้ว เสด็จฯ นับเป็นองค์แรกในบรรดาพวกเขา ที่แสดงให้เห็นว่าแนวทางที่หลวงพ่อสอน ให้ทำจิตนี้ทำได้สำเร็จจริง เป็นการเพิ่มพูนกำลังใจแก่ผู้ที่อยู่ข้างหลังมาก ความมุ่งมั่นในพระนิพพานก็แน่นแฟ้นขึ้นไปอีกมาก..สวัสดี.

(โปรดติดตามตอน "คุณอ๋อยกับธรรมะ" ต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 5/9/17 at 07:20


[ ตอนที่ 8 วันที่ 12 กันยายน 2560 ]

คุณอ๋อยกับธรรมะ


...แต่เดิม คุณอ๋อยกับคุณเสริมก็ไม่ได้สนใจในธรรมะเท่าใดนัก โดยปกติมักจะไม่ไปหาพระหาเจ้าด้วยความสมัครใจของตนเอง ต่อเมื่อมีคนชวนไปหาพระหมอดูบ้าง ไปรดน้ำมนต์บ้างก็ไปกับเขา หวังจะได้เห็นความขลังของพระ เช่นเดียวกับคนทั่ว ๆ ไป

ต่อมา เมื่อคุณเสริมต้องไปเข้าโรงเรียนเสนาธิการทหารอากาศที่สหรัฐอเมริกา ในขณะที่ดำรงยศนาวาอากาศเอก ก็มีความวิตกอยู่ว่า เป็นนายทหารผู้ใหญ่ไป น่ากลัวจะต้องโดนถามโดนให้พูดเรื่องอะไรต่าง ๆ

ถ้าเผื่อถูกถามเรื่องพระพุทธศาสนาคงจบเห่ เพราะเมื่อไปคราวก่อนครั้งที่มียศเป็นเรืออากาศเอก เคยโดนถามมาทีหนึ่งแล้ว ว่าพระพุทธศาสนาสอนว่ายังไง ได้ตอบเขาไปอย่างผึ่งผายตามแบบฉบับว่า

“ทำดีได้ดี...ทำชั่วได้ชั่ว”

ฝรั่งช่างซักคนนั้นก็ถามต่อไปว่า เอ..ศาสนาไหนบ้างล่ะ ที่ไม่สอนอย่างงั้น..เสร็จ !

ไปเที่ยวนี้ ค้นไปก่อนเท่าที่เวลาอำนวย พล.อ.ต.สุกิจ เสมาเงิน แนะว่าคำสอนท่านเจ้าคุณอุบาลี คุณูปมาจารย์ วัดบรมนิวาส ซีดี ผมเคยอ่านตอนบวช ก็เลยไปซื้อมา คุณอ๋อยก็อ่านไปด้วย


เริ่มศึกษาพระไตรปิฎก

ศึกษาหนักเข้าก็ชักจะรู้ พอชักจะรู้ก็ค้นต่อไป ให้คนไปยืมพระไตรปิฎกจากกรมยุทธศึกษาทหารอากาศมาดูว่า ต้นตอท่านพูดไว้ยังไง พอว่างงานก็หยิบอ่านดูเฉพาะปัญหาที่สงสัย

เอ..ไม่เข้าที ต้องใช้เวลามาก พอดีกรมการศาสนาจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับแปลขึ้นใหม่อีก ก็เลยไปจองไว้ชุดหนึ่ง ราคาสองพันบาทเศษ เพราะปัญหาใหม่ ๆ เกิดขึ้นเรื่อยขี้เกียจยืมเขา มีไว้ค้นเองที่บ้านดีกว่า

คุณเสริมไม่ได้มีความมุ่งหมายจะปฏิบัติธรรมะในตอนนั้น แต่เป็นคนชอบสงสัย คือสงสัยว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ยังไงกันแน่ พระก็ดี ฆราวาสก็ดี ถึงได้เอามาเถียงกันเป็นวรรคเป็นเวร

คนหนึ่งว่าสวรรค์นรกมีจริง อีกคนหนึ่งว่าไม่มี ท่านพูดเปรียบเทียบไว้เท่านั้น สวรรค์ก็อยู่ในอก นรกก็อยู่ในใจนั่นเอง

เทวดา พรหมที่ไหนมี ก็พ่อแม่นั่นแหละเป็นเทวดา เป็นพรหมของลูก
ชาตินี้ ชาติหน้าก็เช่นกัน ชาติก่อนก็หมายถึงการกระทำในสมัยเด็ก ๆ หรือก่อน ๆ นั่นเอง
นิพพานบางคนก็ว่าสูญ บางคนก็ว่าไม่สูญ


คุณเสริมก็เลยตกลงใจว่า สติปัญญาของเราก็ไม่ควรจะโง่เกินไป จนอ่านหนังสือไม่รู้เรื่องหรอกน่ะ เห็นจะต้องดูจากต้นตอให้รู้ไปเสียทีว่า ท่านตรัสไว้ว่ายังไง

เรื่องนี้คุณอ๋อยก็ชอบใจ เพราะเป็นคนไม่ค่อยอ่านหนังสือ เนื่องจากภารกิจมีมาก ใช้วิธีเอาเปรียบให้คุณเสริมอ่านแล้วตัวคอยถามเอาดีกว่า เรื่องแรกที่คุณเสริมพบ ก็พบท่านพูดว่า คนที่ทำดีนั้น

“แตกกายตายไป แล้วจึงไปสู่สุคติ”

คือบอกไว้ชัดว่า ตายแล้วจึงไป ไม่ใช่สวรรค์ในอกนี่ ถ้าอย่างนั้น พระบางองค์ก็เทศน์โกหกน่ะซี !

คุณอ๋อยก็ค้านว่า มันมีอยู่อีกนัยหนึ่ง คือเขาว่ากันว่าพระไตรปิฎกนี่น่ะเชื่อถือไม่ได้ เขียนไว้หลอกคนโง่ ๆ สมัยนั้น แล้วก็มีการแต่งเติมเข้าไปอีกมาก

คุณเสริมมาคิดว่า พระพุทธศาสนาของเรานี้ก็มีพระไตรปิฎก เป็นหลักฐานอยู่อย่างเดียว ถ้าหากหลักฐานนี้ง่อนแง่นแล้ว จะใช้อะไรเป็นหลักได้ ความจริงคนเราในสมัยนี้ จะรู้คำสอนของพระพุทธศาสนาก็รู้จากพระไตรปิฎกนี่แหละ

เสร็จแล้วก็มาหาว่าพระไตรปิฎกคลาดเคลื่อน ไม่รู้ว่าเอาหลักฐานมาจากไหน ความจริงถ้าเชื่อตามพระไตรปิฎกเสียแล้ว ปัญหาที่ถามกันทุกวันนี้ ก็ไม่ต้องถาม เช่น

เรื่องการแสดงอิทธิฤทธิ์ ท่านก็บอกว่า ทำได้ตั้งสามพันกว่าวิธี จะเหาะเหินเดินอากาศก็ได้ เทวดามี พรหมมี ตายแล้วเกิดอีก ฯลฯ

เพราะฉะนั้น ถ้าจะกำจัดปัญหาเรื่องนี้ ทางที่ดีก็ต้องพิจารณาดูพระไตรปิฎกดูก่อนว่า มีลักษณะยังไงกันแน่ จะคลาดเคลื่อนแต่งเติมอะไรหรือเปล่า ?


(โปรดติดตามตอน "คุณอ๋อยกับธรรมะ" ต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 12/9/17 at 06:05


[ ตอนที่ 8/1 ]
วันที่ 19 กันยายน 2560


ประวัติพระไตรปิฎก


.....ต่อไปนี้ เป็นผลการค้นคว้าของ คุณเสริม ที่ถ่ายทอดต่อ คุณอ๋อย (ซึ่งคุณเสริมออกตัวว่า เป็นการค้นของผู้เริ่มต้นอาจพลาดได้)

๑. ประวัติพระไตรปิฎก
.....ปรากฏว่าพอพระพุทธเจ้าเสด็จสู่ปรินิพพาน พระเถระซึ่งเป็นพระอรหันต์จำนวน ๕๐๐ องค์ ก็ทำสังคายนากัน วิธีสังคายนาก็คือผู้หนึ่งตั้งคำถาม อีกผู้หนึ่งตอบ เมื่อรับรองกัน เห็นพ้องกันแล้วก็จดจำไว้ต่อไป เช่นจากเล่ม ๗ หน้า ๓๑๒ (พระไตรปิฎกฉบับหลวงของกรมการศาสนา)

ในด้าน พระวินัย ท่านพระกัสสปถาม ท่านพระอุบาลีตอบ
ก. ปฐมปาราชิก ทรงบัญญัติที่ไหน
อ. เมืองเวสาลี
ก. ทรงปรารภกับใคร
อ. พระสุทินนกลันบุตร
ก. เรื่องอะไร
อ. เรื่องเมถุนธรรม
แล้วถามวัตถุ, นิทาน, บุคคล, บัญญัติ, อนุบัญญัติ, อาบัติ, อนาบัติ ฯลฯ

ในด้าน พระสูตร ท่านพระกัสสปถาม ท่านพระอานนท์ตอบ
ก. พรหมชาลสูตร พระผู้มีพระภาคตรัสที่ไหน
อ. ในพระตำหนักในพระราชอุทยานอัมพลัฏฐิกา ในระหว่างกรุงราชคฤห์ และเมืองนาลันทาต่อกัน
ก. ทรงปรารภใคร
อ. สุปนิยปริพาชก และพรหมทัตตมานพ
ต่อไปจึงได้ถามถึงนิทานและบุคคล


.....การสังคายนาครั้งนี้คงจะสมบูรณ์ที่สุด เพราะตัวบุคคลยังอยู่เป็นส่วนมาก ส่วนการสังคายนาครั้งที่ ๒ ทำหลังจากพระพุทธเจ้านิพพานแล้ว ๑๐๐ ปี เป็นการตัดสินว่า ภิกษุวัชชีบุตร ละเมิดพระวินัย ๑๐ ข้อนั้น ถูกหรือผิด เรียกว่าแจง ๗๐๐ เพราะมีพระอรหันต์ร่วม ๗๐๐ องค์

ขุนวิจิตรมาตรา ค้นไว้ในหนังสือ “หลักไทย” หน้า ๒๕๑ ถึง ๒๖๓ ว่าการทำสังคายนาครั้งที่ ๓ ทำในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช แล้วส่งสมณทูตคือ พระโสณะ กับ พระอุตตระ มาประดิษฐานพระพุทธศาสนา ที่เมืองนครปฐม นครหลวงของแคว้นทวาราวดี ของละว้าในสมัยนั้น

ส่วนการบันทึกเป็นตัวอักษร ทำเมื่อพ.ศ. ๔๓๓ ในการสังคายนาครั้งที่ ๕ ที่ลังกา ซึ่งหลังจากนี้มี พระพุทธโฆษาจารย์ ไปแปลมาเป็นภาษามคธ พระองค์นี้กล่าวกันว่าเป็นพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณ (พ.ศ. ๙๕๖)

การสังคายนาครั้งหลังๆ นี้ ไม่มีตัวบุคคลยืนยันว่า อะไรผิดถูก จริงหรือไม่จริง ดังนั้นจึงเข้าใจว่าไม่มีใครกล้าแตะต้องของเดิม จะแตะก็เป็นการตัดออก คือตัดที่เห็นว่าไม่ใช่คำสอนออก เพราะได้ความว่าทางศาสนาพราหมณ์แต่งปลอมแปลงเข้ามา เพื่อทำลายพระพุทธศาสนา

แต่การตัดนี้ก็คงจะไม่ตัดกันส่งเดช จะสังคายนาทีไรก็ตัดทุกที เพราะฉะนั้นพระไตรปิฎกน่าจะมีแต่ขาดไม่มีเกิน การตัดก็ไม่ใช่ตัดกันส่งเดช ท่านมีหลักให้ไว้ในเล่มที่ ๒๑ หน้า ๑๙๕ ว่า

“...ครั้นแล้วพึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี แล้วเทียบเคียงในพระสูตรสอบสวนในพระวินัย ถ้าเมื่อเทียบเคียงในพระสูตร สอบสวนในพระวินัย บทและพยัญชนะเหล่านั้นเทียบเคียงกันได้ในพระสูตร สอบสวนกันได้ในพระวินัย ในข้อนี้พึงลงสันนิษฐานได้ว่านี่เป็นคำสอนของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่แท้...”

.....ประวัติของพระไตรปิฎกมีมาเช่นนี้ แต่จะใช้ยืนยันว่าถูกต้องทันทียังไม่ได้ ควรต้องดูจากลักษณะอื่นอีก


(โปรดติดตามตอน "๒.วิธีเขียนของพระไตรปิฎก" ต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 19/9/17 at 05:26


[ ตอนที่ 8/2 ]
วันที่ 26 กันยายน 2560


๒. วิธีเขียนของพระไตรปิฎก


.....คนเป็นอันมากที่กล่าวโทษพระไตรปิฎกว่า คลาดเคลื่อน แต่งเติม ฯลฯ นั้น ปรากฏว่าเป็นคนที่ไม่เคยอ่าน

พระไตรปิฎกเลย บางคนเหมาเอาว่าพระไตรปิฎกมีแต่นิทานชาดกมีสัตว์พูดได้ ซึ่งเป็นเรื่องเหลวไหลทั้งนั้น คนประเภทนี้ถ้าพูดกันตามตรรกวิทยาของพระพุทธเจ้าแล้วหมดสิทธิ์ ไม่มีสิทธิ์ที่จะพูดเรื่องพระไตรปิฎกทีเดียว เพราะท่านจะถามดังนี้

- เคยเห็นพระไตรปิฎกหรือ ?
- เคยอ่านพระไตรปิฎกหรือ ?
- อ่านพระไตรปิฎกแล้วเข้าใจดีหรือ ?


ถ้าหากท่านตอบว่า “ไม่” คำเดียวท่านก็จะสำทับทีเดียวว่า ถ้าเช่นนั้นก็อย่าพูด โดยเฉพาะในเรื่องการแต่งเติมนี้

จะต้องถูกถามอย่างแน่นอนว่าท่านรู้ว่าเป็นความจริง ไม่เป็นอย่างอื่นหรือ ท่านไม่ได้คิดเอาตามความเห็นหรือตรึกตรองตามอาการหรือ..เสร็จ !

สำหรับผู้ไม่เคยอ่านพระไตรปิฎก สมควรจะทราบไว้ในที่นี้ว่า พระไตรปิฎกบันทึกเรื่องแบบประวัติศาสตร์ แต่ละเอียดกว่า

กล่าวคือ อ้างสถานที่ อ้างบุคคลที่เกี่ยวข้อง และอ้างคำพูดว่าใครพูดว่าอะไร คือเป็นคำพูดของคนนั้น ๆ ไม่ใช่อ้างใจความเป็นร้อยแก้วเท้าความกว้าง ๆ แต่อ้างเป็นคำพูดที่บุคคลนั้น ๆ พูดจริง ๆ ทีเดียว เช่น

“...สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี

ครั้งนั้น แลภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญขอพระผู้มีพระภาคโปรดประทานพระวโรกาสแสดงพระธรรมเทศนาโดยสังเขปแก่ข้าพระองค์ ที่ข้าพระองค์สดับแล้ว เป็นผู้เดียวหลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจมั่นคง อยู่เถิด ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ เมื่อบุคคลยังยึดมั่นก็ต้องถูกมารมัดไว้ เมื่อไม่ยึดมั่นจึงหลุดพ้นจากมาร ฯ” ดังนี้เป็นต้น

ส่วนชาดกนั้น เป็นเรื่องที่ทรงเล่าประกอบเวลาแสดงธรรมโดยมักจะเริ่มต้นว่า “เรื่องเคยมีมาแล้ว.....” แล้วท่านก็เล่าไป


(โปรดติดตามตอน "๓.คำถามคำตอบเกี่ยวกับพระไตรปิฎก" ต่อไป)



◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 26/9/17 at 04:53


[ ตอนที่ 8/3 ]
วันที่ 3 ตุลาคม 2560


๓. คำถามคำตอบเกี่ยวกับ "พระไตรปิฎก"


.....เพื่อความเข้าใจอันดี ขอยกให้ "คุณอ๋อย" เป็นคนถาม "คุณเสริม" เป็นคนตอบในปัญหาหลายข้อต่อไปนี้

อ. พระไตรปิฎกมีการแต่งเติม
ส. นั่นเป็นข้อที่เราไม่รู้จริงเห็นจริง เป็นแต่เพียงสันนิษฐานเอาเองว่าน่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะคนที่พูดเช่นนี้มีอายุอย่างมากก็ร้อยปีเศษ ๆ

ส่วนพระไตรปิฎกมีอายุกว่า ๒,๐๐๐ ปีแล้ว ตามหลักของพระพุทธเจ้า ถ้าท่านไม่รู้จริง ไม่เห็นจริง ไม่ปฏิบัติได้เองจริงแล้ว ท่านจะไม่สอนเป็นอันขาด เราควรจะยึดหลักนี้ของท่านไว้ปฏิบัติบ้าง

แต่เราจะลองใช้เหตุผลธรรมดาพิจารณาข้อกล่าวหานี้ดูก็ได้ เราควรจะเริ่มด้วยคำถามว่า ถ้ามีการแต่งเติมแล้ว ใครล่ะควรจะเป็นคนที่แต่งเติม คำถามนี้อาจตอบได้ว่ามี ๒ พวกคือ

๑. พราหมณ์
๒. พระภิกษุในพุทธศาสนา

สำหรับพวกพราหมณ์นั้น เขามีลัทธิต่างหาก มีเรื่องต่างหากในลัทธิของเขา ถ้าเขาแต่งเติมเข้ามา เรื่องของเขาก็จับได้ง่าย ตัดออกได้ง่าย เช่น พระอิศวร พระนารายณ์ พระพิฆเณศวร์เหล่านี้ ในพระพุทธศาสนาไม่มี มีแต่พระอินทร์ ท้าวจาตุมหาราช ฯลฯ

แต่สำหรับพระภิกษุในพระพุทธศาสนาแล้วไม่มีทางเลยจริง ๆ ที่จะแต่งเติมเพราะว่า
...๑.เป็นการมุสาวาท พระจะต้องมีศีล ๒๒๗ ข้อ มุสาวาทนี้อยู่ในศีล ๕ ศีลเบื้องต้นด้วยซ้ำ พระที่อุทิศตนแก่พระศาสนาถือไม่ได้ก็แย่ บาปก็บาป

อนึ่ง การแก้หรือการเติมพระไตรปิฎกนี้ ไม่ใช่ว่าใครอยากจะพิเรนเติมได้เติมเอา เพราะเป็นตำราที่เป็นหลักฐาน ถ้าหากจะให้ยอมรับเอาไปใช้ร่วมกัน ก็ต้องประชุมกันแก้ ประชุมกันเติม

พระที่ประชุมจะต้องเป็นพระที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับกันจึงจะได้ และพระที่ประชุมก็ต้องมีความเห็นเป็นเอกฉันท์อีกด้วย จึงไม่น่าจะเป็นไปได้เลยที่ว่าพระใหญ่ ๆ จะประชุมกันทำผิดศีล มุสาวาทเป็นเอกฉันท์

...๒. การแก้หรือเติมพระไตรปิฎกเป็นการ “กล่าวตู่” พระพุทธเจ้า โทษ “กล่าวตู่” นั้นรู้สึกว่าในสมัยนี้อาจจะไม่เอาใจใส่กันเสียเลย พระไตรปิฎกระบุโทษการกล่าวตู่ไว้ว่าแรงถึงตกนรก และถ้าพระเป็นผู้ทำเสียเองแล้ว เขาว่ากันว่าต้องถึงอเวจีทุกที ฐานทำลายพระพุทธศาสนา

จะเป็นไปได้หรือไม่ที่ผู้แก้พระไตรปิฎก ยังยอมให้ความผิดมาตรานี้คงอยู่ในพระไตรปิฎก ? ตามสามัญสำนึก ควรจะตัดออกไปเสียเลยไม่ให้มีปรากฏอยู่ โทษของการกล่าวตู่พระพุทธเจ้า ดูในเล่ม ๑๒ หน้า ๒๑๖

“...เธอกล่าวตู่เรา ขุดตนเองและประสบบาปมิใช่บุญเป็นอันมากด้วยทิฐิอันลามก อันตนถือเอาชั่วแล้ว กรรมนั้นแลจักมีแก่เธอเพื่อไม่เป็นประโยชน์เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน...”

พูดง่าย ๆ กล่าวตู่พระพุทธเจ้าเป็นต้องตกนรก และนรกนั้นไม่ใช่ของพูดเล่นกันสนุก ๆ ถูกไฟเผาอยู่ตลอดเวลา ตายก็ไม่ได้ ๑ วัน ๑ คืนนรกขุมต้นมีความยาวเท่ากับ ๙ ล้านปีของมนุษย์ นอกจากนี้ กรรมต่อไปนี้มีโทษหนัก คือ

- พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสไว้ นำมากล่าวว่าได้ตรัสไว้
- พระพุทธเจ้าตรัสไว้ นำมากล่าวว่าไม่ได้ตรัสไว้
- พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบัญญัติไว้ นำมากล่าวว่าทรงบัญญัติไว้
- พระพุทธเจ้าทรงบัญญัตไว้ นำมากล่าวว่าไม่ได้ทรงบัญญัติไว้ เหล่านี้มีข้ออื่น ๆ อีก

+ เล่ม ๕ หน้า ๓๑๒ บ่งว่าใครทำดังนี้ จัดว่าเป็นฝ่ายอธรรมวาที
+ เล่ม ๖ หน้า ๓๗๑ และ ๓๗๔ กล่าวว่าเป็นเหตุแห่งการวิวาท คือวิวาทาธิกรณ์ และเป็นรากแห่งอกุศล เป็นผลแห่งเรื่องที่ทำให้แตกร้าวกัน
+ เล่ม ๗ หน้า ๑๗๑ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าเป็นเหตุแห่งสังฆเภท

พระภิกษุที่ได้รับการสั่งสอนอบรมดีแล้ว ไม่มีทางเลยที่จะคิดแก้พระไตรปิฎก แม้แต่เรื่องที่ได้มีพุทธานุญาตให้แก้ก็ยังไม่แก้ เช่น

ทรงมีพุทธานุญาตไว้กับท่านพระอานนท์ว่าบัญญัติเล็กน้อย ถ้าเห็นควรก็ให้เลิกเสียได้ แต่พระภิกษุสายเถรวาทหรือหินยานอย่างที่เราถือกันในประเทศไทยนี้ ไม่ยอมแก้ เพราะไม่อาจแน่ใจได้ว่าบัญญัติใดเป็นบัญญัติเล็กน้อย บัญญัติใดไม่เล็กน้อย

ตัวท่านพระอานนท์เองโดนปรับอาบัติว่า ทำไมจึงไม่ทูลถามว่า อะไรเล็กน้อย..อะไรไม่เล็กน้อย แนวทางปฏิบัติในการไม่แก้นี้ เป็นการปลอดภัยว่าจะไม่มีอะไรผิด

ส่วนฝ่ายมหายานนั้นเลือกแก้เอาตามใจ แก้ไปแก้มาปรากฏว่า พระของญี่ปุ่นมีเมียได้ ในเมื่อพระพุทธเจ้าท่านบัญญัติว่าเสพเมถุนธรรมเป็นปาราชิก

คำถามชนิด “ทีเด็ด” เกี่ยวกับเรื่องการแก้หรือแต่งเติมพระไตรปิฎกก็คือ

“...ถ้าให้ตัวท่านเองเป็นผู้แก้พระไตรปิฎกเสียใหม่ให้เหมาะกับความรู้ของคนสมัยนี้ ท่านจะสามารถเขียนเองไปได้ หรือไม่ว่าพระพุทธเจ้าตรัสว่า “การปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นแบบที่เรานิยมที่สุด”

คำถามนี้เห็นตอบว่า ไม่สามารถเขียนได้ทุกคน คำถามจึงมีตามมาว่า ก็เมื่อท่านเองก็แก้ไม่ได้แล้วทำไมท่านจึงจะไปเกณฑ์ ไปเหมาเอาว่าคนอื่นเขาแก้ล่ะ (หมายถึงหินยาน ไม่ใช่มหายาน)

อ. ความคลาดเคลื่อนย่อมมีอยู่โดยธรรมชาติ เพราะมนุษย์ไม่สามารถจำได้อย่างถี่ถ้วนเช่นนั้น
ส. ยอมรับว่าคลาดเคลื่อนเช่นนี้มีเหตุผล แต่ต้องพิจารณาอย่างอื่นประกอบ เช่น บทอาขยานที่เขาให้นักเรียน ม.๘ สมัยก่อนท่องนั้น เมื่อจำได้แล้วมักจะไม่ลืม แม้เวลาจะผ่านมาหลายสิบปีก็ตาม

ในสมัยของพระพุทธเจ้านั้น เราสันนิษฐานกันว่าต้องท่องจำกันไว้เพราะไม่มีตัวหนังสือ ความจริงข้อสันนิษฐานนี้ผิด ตัวหนังสือมีอยู่แล้ว

+ เล่ม ๕ หน้า ๙๕ “สมัยนั้นแล อัมพัฏฐมานศิษย์ของพราหมณ์โปกขรสาติ เป็นผู้เล่าเรียน ทรงจำมนต์รู้จบไตรเพท พร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุ คัมภีร์เกตุภะพร้อมทั้งประเภทอักษร มีคัมภีร์อิติหาสเป็นที่ ๕”

+ เล่ม ๓ หน้า ๒๔๗ “เรียนหนังสือ ๑ เรียนวิชาท่องจำ ๑ เรียนวิชาป้องกันเพื่อประสงค์คุ้มครองตัว ๑ ไม่ต้องอาบัติ”

หลักฐานนี้ยืนยันว่ามีตัวหนังสือ แต่ที่ไม่ได้จดก็คงจะมีเหตุผลอย่างอื่น ถ้าเราคิดดูง่าย ๆ ที่เราสอนลูกสอนเต้าทุกวันนี้เราก็ไม่เคยบันทึกไว้เป็นตัวหนังสือสักครั้งเดียว อย่างไรก็ดี ในสมัยนั้นเข้าใจว่ามีการฝึกหัดใช้ความทรงจำกันดีเป็นพิเศษ เวลาพระพุทธเจ้าสอน ท่านมักจะกำชับให้ทรงจำไว้เสมอ

+ เล่ม ๑๑ หน้า ๓๒๘ “เธอได้สดับแล้วมาก ทรงไว้แล้วคล่องปาก ตามเพ่งด้วยใจ แทงตลอดดีด้วยความเห็น”
+ เล่ม ๑๒ หน้า ๑๘๗ “เธอทั้งหลายจงจำ ทรงข้อนั้นไว้เถิด”
หน้า ๒๑๙ “เธอทั้งหลายพึงรู้ถึงเนื้อความแห่งภาษิตของเราอย่างใด พึงทรงไว้อย่างนั้นเถิด”

+ เล่ม ๑๓ หน้า ๔๒๒ “จงทรงจำธรรมเจดีย์นี้ไว้” เช่นนี้มีอยู่ตลอดทาง อันที่จริงแล้ว เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแล้วก็คงจะมีผู้รจนาเป็นพระสูตรไว้

+ เล่ม ๑๐ หน้า ๑๒๕ “คาถาเหล่านี้ พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลาย กล่าวไว้ในเวลาทำสังคายนาว่า......”
+ เล่ม ๒๕ หน้า ๑๘๐ “ครั้นกาลต่อมา พระธรรมสังคาหกาจารย์ ได้รจนาคาถาเหล่านี้ไว้ว่า.......”

นี่แสดงถึงว่ามีผู้ทำหน้าที่รจนา เมื่อทรงแสดงธรรมแล้วคงจะมีการรจนาขึ้นเป็นพระสูตร รจนาเสร็จแล้วก็นำมาเล่าถวายเพื่อทรงตรวจ เช่น เล่ม ๒๕ หน้า ๑๗๑ ตอนจบพระสูตร “อุปทานสูตร” (และในอีกหลายพระสูตร) กล่าวว่า “ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว ทรงเปล่งอุทานในเวลานั้นว่า ......”
นอกจากจะมีการรจนาแล้ว ยังมีการตั้งชื่อไว้เสร็จ

+ เล่ม ๑๔ หน้า ๑๕๓ พระอานนท์ทูลถามว่า ธรรมบรรยายนี้ชื่อไรพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เพราะเหตุนั้นแล เธอจงจำธรรมบรรยายนี้ไว้ว่า ชื่อพหุธาตุกบ้าง ว่าชื่อจตุปริวัฏฏบ้าง ว่าชื่อธรรมทาสบ้าง ว่าชื่ออมตทุนทุภีบ้าง ว่าชื่ออนุตตรสังคามวิชัยบ้าง”

ข้อยืนยันว่าได้มีการผูกเป็นพระสูตรอยู่แล้ว ตั้งแต่สมัยยังทรงพระชนม์นี้มีอยู่มากมายหลายแห่ง
+ เล่ม ๒๑ หน้า ๕๓ “เราได้กล่าวแล้วในปุณณกปัญหาในปรายนวรรค”
+ เล่ม ๑๙ หน้า ๔๖๑ “ดูกรธรรมทินนะ เพราะฉะนั้นแหละท่านทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า พระสูตร เหล่าใดที่พระตถาคตตรัสไว้แล้วอันลึกซึ้ง มีเนื้อความอันลึกเป็นโลกุตตระ ประกอบด้วยความว่าง เราจักเข้าถึงพระสูตรเหล่านี้ตลอดกาลเป็นนิตย์อยู่”

...ที่นำมาแสดงนี้ ควรจะเป็นเครื่องระลึกว่าในครั้งนั้น มีตัวบทให้ท่องเหมือนกันหมดอยู่แล้ว ไม่ใช่ต่างคนต่างจำกันเองเอาตามถ้อยคำที่ตนถนัด เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรมีความคลาดเคลื่อนเท่าใดนัก


(โปรดติดตามตอน "มาถึงด้านการท่องจำ " ต่อไป)



◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 3/10/17 at 05:53


[ ตอนที่ 8/4 ]
วันที่ 10 ตุลาคม 2560


มาถึงด้านการท่องจำ


.....ขั้นแรกทีเดียว พระภิกษุสมัยนั้นอุทิศเวลาให้แก่ธรรมะทั้งหมด ไม่ใช่พระประกอบกิจของชาวบ้านดังทุกวันนี้

++ เล่ม ๑๘ หน้า ๑๑๕ พระพุทธเจ้าสอนให้แบ่งเวลา ๑ วันออกเป็น ๖ ส่วน ให้นอนเพียง ๑ ส่วน (คือ ๔ ชั่วโมง) นอกจากนั้นอุทิศให้แก่การชำระจิต

++ เล่ม ๒๒ หน้า ๓๗๔ ท่านพระอานนท์ไปถามท่านพระสารีบุตรว่า ทราบไหมว่า ทำอย่างไรฟังพระธรรมแล้วจะไม่ลืม แล้วก็อธิบายว่าต้องปฏิบัติตามลำดับดังนี้

- เล่าเรียนธรรม (คือ สุตตะ, เคยยะ, เวยยากรณ์, คาถาอุทาน, อิติวุตตกะ, ชาดก, อัพภูติธรรม, เวทัลละ) แล้ว
- แสดงธรรมตามที่ได้ฟังได้เรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร แล้ว
- บอกสอนธรรมตามที่ได้ฟังมา ได้เรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดารแล้ว
- ทำการสาธยายธรรมตามที่ได้ฟังมา ได้เรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดารแล้ว
- ตรึกตรองเพ่งด้วยใจ ซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมา ได้เรียนมาแล้ว
- จำพรรษาอยู่ในอาวาสที่มีภิกษุผู้เถระเป็นพหูสูต ชำนาญคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกาอยู่ แล้ว
- เข้าไปหาภิกษุผู้เถระเหล่านั้นโดยกาลอันควร แล้วไต่ถามสอบสวนว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ...

สำหรับคนในสมัยนี้ อ่านพระไตรปิฎกก็ยังไม่อ่าน แล้วยังขืนเอาตัวไปเทียบกับการปฏิบัติของพระสมัยโน้น หาว่าท่านจำไม่ได้

@ ตัวอย่างผลสำเร็จในการใช้ความทรงจำ ในสมัยพุทธกาลก็มีแสดงอยู่

++ เล่ม ๕ หน้า ๓๐ กล่าวถึง "พระโสณะ" สวดพระสูตรทั้งหลาย (เป็นพยานอีกเรื่องหนึ่งว่ามีพระสูตรอยู่แล้ว) อันมีอยู่ในอัฏฐวรรคจนหมดสิ้นในคืนเดียว พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า บวชมาได้กี่พรรษา ทูลตอบว่าพรรษาเดียว

++ เล่ม ๑ หน้า ๗๙๑ เล่าถึง "พระทัพพมัลละบุตร" ซึ่งได้รับมอบหน้าที่ให้จัดเสนาสนะและอาหารให้พระที่เป็นอาคันตุกะว่า “ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้ทรงพระสูตร ท่านก็แต่งตั้งเสนาสนะรวมภิกษุเหล่านั้นไว้แห่งหนึ่ง”

++ เล่ม ๑๙ หน้า ๓๑๕ ทรงตรัสกับ "พระยามาร" ว่าจะไม่เสด็จปรินิพพาน ถ้าพระสาวกยังไม่เป็นพหูสูต, ไม่ทรงธรรม (กับอื่น ๆ อีกหลายข้อ) ภายหลังพระยามารมาทวงว่า พระสาวกมีคุณสมบัติตามนั้นแล้ว จึงได้ทรงรับเข้าสู่ปรินิพพาน

ความหมายของ “พหูสูต” ดูจาก..
++ เล่ม ๗ หน้า ๒๔๕ “ดูกร อุบาลี อนึ่งภิกษุผู้เป็นโจทย์ ปรารถนาจะโจษผู้อื่น พึงพิจารณาอย่างนี้ว่า เราเป็นพหูสูต ทรงสุตะ เป็นที่สั่งสมสุตะหรือหนอ

ธรรมเหล่าใดนั้นไพเราะในเบื้องต้น ไพเราะในท่ามกลาง ไพเราะในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์ บริบูรณ์ สิ้นเชิง ธรรมเห็นปานนั้นเป็นธรรมอันเราสดับมาก ทรงไว้คล่องปากขึ้นใจ แทงตลอดดีแล้วด้วยปัญญา ธรรมนี้มีแก่เราหรือไม่

++ เล่ม ๑๒ หน้า ๑๓๐ “สาวกบริษัท ๔ ของเราเป็นผู้มีสติอันยิ่ง มีคติอันยิ่ง มีปัญญาทรงจำอันยิ่ง ประกอบด้วยปัญญาเฉลียวฉลาดอย่างยิ่ง พวกเธอพึงถามปัญหาอิงสติปัฏฐาน ๔ กะเรา เราถูกถามปัญหาแล้วพึงพยากรณ์แก่พวกเธอ พวกเธอพึงทรงจำคำที่เราพยากรณ์แล้วโดยเป็นคำพยากรณ์ มิได้สอบถามเราให้ยิ่งกว่า ๒ ครั้ง”

โดยสรุปแล้ว ความคลาดเคลื่อนเป็นไปได้ยาก เพราะมีการรจนาต้นฉบับที่ถูกต้องไว้ให้ท่อง ภิกษุอุทิศเวลาทั้งหมดแก่พระศาสนา และผลปรากฏว่าพระสาวกสามารถท่องได้คล่องปาก ขึ้นใจ พร้อมด้วยความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในพระธรรมนั้น ๆ

...อ. พระไตรปิฎกไม่ใช่พระพุทธวัจนะทั้งหมด
...ส. ข้อนี้จริงอย่างไม่มีปัญหา แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีคำสอนของใครอื่นที่มิใช่ของพระพุทธเจ้า บางตอนก็เป็นธรรมเทศนาของท่านพระสารีบุตร บางตอนของท่านพระโมคคัลลานะ บางตอนของท่านพระอานนท์ บางตอนของท่านพระมหากัจจายนะ

แต่ธรรมเทศนาของพระสาวกเหล่านี้ก็ฟังมาจากพระพุทธเจ้านั่นเอง ไม่ใช่ธรรมของผู้อื่น หรือที่คิดเอาเอง

อย่างไรก็ดี ธรรมเทศนาตรงไหนใครเป็นคนแสดงก็บ่งไว้ชัดเจน ไม่ใช่ว่ามั่ว ๆ ปนกันไปหมด ทำให้แยกไม่ออกว่าอันไหนเป็นพระพุทธพจน์อันไหนไม่ใช่

...อ. ทำไมพระพุทธศาสนาจึงต้องอ้างเทวดา
...ส. คำถามนี้อ้างมาผิด พระพุทธศาสนาไม่ได้อ้างเทวดาประกอบคำสอนว่าเป็นจริง หรือหากไม่มีเทวดาเป็นพยานแล้วคำสอนจะเป็นไปไม่ได้

ได้กล่าวมาแล้วว่า พระไตรปิฎกเป็นบันทึกเหตุการณ์และคำพูด ดังนั้น ถ้าเทวดามาถามปัญหาพระพุทธเจ้า ก็ต้องบันทึกว่าเทวดามาเฝ้าพระพุทธเจ้า พูดว่าอย่างนั้น พระพุทธเจ้าตอบว่าอย่างนั้น

จุดหมายปลายทางของพระพุทธศาสนา คือพระนิพพาน แต่หากชาตินี้ไปไม่ถึงนิพพาน ตายแล้วจะไปไหน ก็ไปตกนรก ไปเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือไปเป็นเทวดา ไปเป็นพรหม ความจริงเป็นอย่างนี้ ก็บอกว่าเป็นอย่างนี้ ไม่ได้อ้างเป็นที่พึ่ง

ความจริงปัญหาตายแล้วสูญหรือไม่ เทวดามีหรือไม่ พรหมมีหรือไม่ เขาก็ถาม (และตอบ) กันมาแล้วในสมัยพุทธกาล นอกจากนั้นจะต้องจำไว้ให้ขึ้นใจว่า

๑. พระพุทธเจ้าตรัสอย่างไรแล้ว เป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น
๒. ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัส พระองค์รู้จริงเห็นจริง ปฏิบัติได้จริงมาแล้วจึงสอน ทำไม่ได้ไม่สอน
๓. ธรรมของพระพุทธเจ้าต้องพิสูจน์ได้


(โปรดติดตามตอน "เรื่องเกี่ยวกับเทวดา" ต่อไป)



◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 10/10/17 at 07:38


[ ตอนที่ 8/5 ]
วันที่ 17 ตุลาคม 2560


เรื่องเกี่ยวกับเทวดา


.....ในเรื่องเกี่ยวกับเทวดานี้ ตรัสไว้ดังนี้...

++ เล่ม ๑๓ หน้า ๓๐๓ “ดูกร อุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโทมนัสในก่อน ๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ยืนด้วยกัน เจรจากัน สนทนากันกับเทวดาทั้งหลายผู้เข้าถึงโลกที่มีความสุขโดยส่วนเดียวเหล่านั้นได้”

++ เล่ม ๒๖ หน้า ๓๙๐ “ภิกษุใดรู้แจ้งมนุษย์โลก เทวโลก พร้อมทั้งพรหมโลกอันมีประเภทตั้งพันได้ในเวลาครู่เดียว ทั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญในคุณ คือ อิทธิฤทธิ์ และในจุติ และอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย ภิกษุนั้นย่อมเห็นเทพเจ้าทั้งหลายได้ตามความประสงค์”

++ เล่ม ๙ หน้า ๓๗๐ “เธอได้เข้าสมาธิชนิดที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ทางไปสู่เทวโลกปรากฏได้”
++ หน้า ๓๗๑ “ภิกษุได้เข้าสมาธิชนิดที่จิตตั้งมั่นแล้ว ทางไปสู่พรหมโลกปรากฏได้”
++ เล่ม ๑๐ หน้า ๒๒๙ “ญาณเป็นเครื่องเห็นพวกอมนุษย์”
++ เล่ม ๒๐ หน้า ๑๘๙ “ผู้ใดรู้บุปเพนิวาสานุสติญาณ เห็นสวรรค์ เห็นอบาย”

นี่คือข้อที่ใช้พิสูจน์ว่า มีเทวดา มีสวรรค์ มีนรก สำหรับผู้ที่พูดว่า เทวดา สวรรค์ นรก เป็นเรื่องเหลวไหลนั้นควรจะถามตนเองว่า

- เราเป็นผู้ทำสมาธิอันถูกทางแล้วหรือ ?
- เราได้ฌาน ๔ แล้วหรือ ?
- เรารู้บุปเพนิวาสานุสติญาณหรือ ?
- เรามีญาณหรือ ?

ถ้าท่านมีสิ่งเหล่านี้ก็เรียกว่า ท่านมีเครื่องพิสูจน์เทวดา – นรก – สวรรค์ ถ้าท่านไม่มีสิ่งเหล่านี้ ท่านก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ และเมื่อท่านยังไม่ได้พิสูจน์สักนิดเดียว แล้วกล้าพูดว่า เทวดาไม่มี นรกสวรรค์ไม่มี เราควรจะจัดท่านไว้เป็นคนประเภทไหน ?

บางคราวหากเทวดาสงเคราะห์ ท่านก็อาจแสดงให้เห็นได้ด้วยอำนาจของเทวดา เช่น

++ เล่ม ๒๖ หน้า ๒๑๙ “ถ้าพระองค์จักเป็นผู้ไม่มีศรัทธา มีความตระหนี่ มีจิตไม่เลื่อมใส พระองค์จักไม่ได้เห็นข้าพระองค์” เทวดาสงเคราะห์แต่ผู้เลื่อมใส ไม่เลื่อมใสก็ไม่สงเคราะห์ ไม่ให้เห็น

อย่างไรก็ดี ถึงแม้จะมีเทวดา มีพรหม พระพุทธเจ้าท่านก็ให้ตั้งจุดไปนิพพานเสมอ ถ้าใครตั้งความมุ่งหมายเป็นแค่พรหม แค่เทวดา ท่านกลับตำหนิ

++ เล่ม ๒๓ หน้า ๕๖ “ดูกร พราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ตั้งปรารถนาเพื่อเป็นเทพเจ้า หรือเทพ ว่าเราจักได้เป็นเทพเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง ว่าเราจักได้เป็นเทพเจ้าหรือเทพองค์ใดองค์หนึ่ง แม้ข้อนี้ชื่อว่า ขาด ทะลุ ด่างพร้อยแห่งพรหมจรรย์ ไม่หลุดพ้นไปจากทุกข์ได้”

++ เล่ม ๑๒ หน้า ๑๖๖ ตะปูตรึงใจประการที่ ๕ คือ “ปรารถนาเทพนิกายอันใดอันหนึ่ง”

ผลร้ายของตะปูตรึงใจมีดังนี้ “ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งไม่ละตะปูตรึงใจ ๕ ประการเหล่านี้ ไม่ถอนเครื่องผูกพันใจ ๕ ประการเหล่านี้ ภิกษุนั้นหนอจักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในพระธรรมวินัยนี้ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้”

โดยสรุปแล้ว ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนก็คือรับว่ามีเทวดา แต่ห้ามไม่ให้มุ่งแค่เทวดาเพราะไม่พ้นทุกข์
ผู้สอนธรรมมักจะไปเหมาเอาเองว่า ถ้าคนเชื่อว่ามีเทวดาแล้ว ผลร้ายจะเกิดคือ ทำให้มีการอ้อนวอนการขอเทวดาอย่างงมงาย

ในเรื่องนี้ ถ้ามีหลักดีแล้วควรจะดูจากเล่ม ๒๒ หน้า ๔๗

“...ธรรม ๕ ประการ (คือ อายุ วรรณะ สุขะ ยศ สวรรค์) อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก เรามิได้กล่าวว่าจะพึงได้เพราะเหตุแห่งความอ้อนวอน หรือเพราะเหตุแห่งความปรารถนา...”

คนที่บูชาเทวดาเพื่อแสดงคารวะ เพื่อเทวดาบูชาตอบก็มีอยู่ ไม่จำเป็นต้องไปเหมาว่า คนจะอ้อนวอนเทวดาตะพึดตะพือไป ดังนี้


(โปรดติดตามตอนต่อไป)



◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 17/10/17 at 08:15


[ ตอนที่ 8/6 ]

วันที่ 24 ตุลาคม 2560


มีแต่ปริยัติ ไม่มีปฏิบัติ ก็ไม่มีปฏิเวธ


.....ตอนที่แล้ว "เรื่องเกี่ยวกับเทวดา" เท่าที่ "คุณเสริม" ศึกษา "พระไตรปิฎก" และมาถ่ายทอดให้นี้ ก็พอดีตรงกับที่หลวงพ่อท่านสอน แสดงว่าพระไตรปิฎก ท่านถูกอยู่แล้ว มีผู้ปฏิบัติได้ผลตามนั้นเป็นอันมาก เป็นพยานให้เห็นอยู่

ดังนั้น "คุณอ๋อย" ก็ผ่านพ้นจากขั้นปริยัติไปนิดหนึ่ง พวกปริยัติมักศึกษาตำราที่ใครแต่งขึ้น (บางทีก็แต่งผิด) แล้วไม่ได้ปฏิบัติ คือ ทาน, ศีล, ภาวนา ไม่ได้กระดิกทำอะไรเลย ได้แต่อ่านหนังสือโฉบไปโฉบมา

มีแต่ปริยัติ ไม่มีปฏิบัติ ก็ไม่มีปฏิเวธ ความรู้อะไรก็ไม่เกิด ปัญญาก็ไม่เกิด พกแต่โมหะ อวิชชาไว้เต็มหัว แล้วก็เอาหัวอันนั้นแหละไปเทียบกับพระปัญญาของพระพุทธเจ้า

หาว่าพระพุทธเจ้า (ตามที่สอนไว้ในพระไตรปิฎก) ผิด เรื่องอย่างนี้พระพุทธเจ้าท่านทรงทราบมาตั้ง ๒๕๐๐ ปีแล้วว่าจะเกิดขึ้น ท่านว่าไว้ในเล่ม ๑๖ หน้า ๓๐๒

“...พวกภิกษุในอนาคตกาล เมื่อเขากล่าวถึงพระสูตรที่ตถาคตกล่าวแล้วอันลึก มีอรรถอันลึก เป็นโลกุตตระประกอบด้วยสุญญตธรรมอยู่ จักไม่ปรารถนาฟัง จักไม่เข้าไปตั้งจิตเพื่อรู้ และจักไม่สำคัญธรรมเหล่านั้นว่า ควรเล่าเรียนควรศึกษา

แต่ว่าเมื่อเขากล่าวพระสูตรอันนักปราชญ์รจนาไว้ อันปราชญ์ร้อยกรองไว้ มีอักษรอันวิจิตร มีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นของภายนอก เป็นสาวกภาษิตอยู่

จักปรารถนาฟังด้วยดี จักเงี่ยโสตลงสดับ จักเข้าไปตั้งไว้ซึ่งจิตเพื่อรู้ และจักสำคัญธรรมเหล่านั้นว่าควรเรียน ควรศึกษา”

เราก็เห็นกันอยู่ตามพระพุทธพยากรณ์ว่า ผู้ที่แต่งคำสอนแข่งกับพระไตรปิฎก คือคนละทางกับพระไตรปิฎกนั้นมีมากเหลือเกิน

ความจริงสติปัญญาที่จะใช้ตามหลัก "ตรรกวิทยา" ของมนุษย์ก็ด้อยกว่าพระพุทธเจ้า ห่างกันหลายพันโยชน์อยู่แล้ว มิหนำซ้ำพระธรรมของท่านไม่ได้เกิดมาจากความคิดตรึกตรองอย่างเดียวเสียอีก

เล่ม ๑๒ หน้า ๑๑๕

“...ดูกรสารีบุตร ผู้ใดแลพึงว่าซึ่งเราผู้รู้อยู่อย่างนี้ ผู้เห็นอยู่อย่างนี้ ว่าธรรมอันยิ่งของมนุษย์ที่เป็นญาณทัสสนะอันวิเศษ พอแก่ความเป็นอริยะของพระสมณะโคดมไม่มี พระสมณะโคดมทรงแสดงธรรมที่ประมวลด้วยความตรึกที่ไตร่ตรอง ด้วยการค้นคิด แจ่มแจ้งได้เอง

ดูกร สารีบุตร ผู้นั้นไม่ละวาจาเสีย ไม่ละความคิดนั้นเสีย ไม่สละคืนทิฐินั้นเสีย ก็เที่ยงแท้ที่จะตกนรก”

นี่แสดงว่าจะมาใช้สมองตรึกตรองกันธรรมดาไม่ได้ ต้องมีญาณด้วย หากความข้อนี้ไม่แจ่มแจ้ง ก็จะต้องแนะให้ลองนึกย้อนไปวันที่ตรัสรู้ว่า ทรงตรัสรู้ด้วยอาการอย่างไร สำหรับผู้ไม่ได้ศึกษาหรือลืมก็จะทบทวนให้ว่า

- ปฐมยาม บรรลุบุพเพนิวาสานุสติญาณ
- มัชฌิมยาม บรรลุจุตูปปาตญาณ
- ปัจฉิมยาม บรรลุอาสวักขยญาณ

ล้วนแต่เป็นญาณทั้งนั้น ถ้าท่านจะเข้าใจได้ดี ท่านก็ต้องมีญาณอย่างพระองค์หรืออย่างเบาะ ๆ ก็ต้องมีสมาธิ จะเอาสมองมาคิดกันแล้วว่าตัวเองถูก พระพุทธเจ้า (ในพระไตรปิฎก) ผิดนั้นก็จะกระไรอยู่

เป็นอันว่าทั้ง "คุณอ๋อย" และ "คุณเสริม" เมื่อได้ศึกษาแล้วก็สามารถเชื่อมั่นได้ว่า พระไตรปิฎกที่มีอยู่นี้ใช้ได้ ปฏิบัติตามได้จริง ไม่มีข้อสงสัย

และเมื่อเรียนถามหลวงพ่อ ท่านก็บอกว่าพระไตรปิฎกมีความถูกต้องมากกว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะหลักสูตรสำหรับความเป็นพระอรหันต์แล้วมีอยู่บริบูรณ์


(โปรดติดตามตอน "เรื่องฤทธิ์" ต่อไป)



◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 24/10/17 at 04:18


[ ตอนที่ 8/7 ]

วันที่ 31 ตุลาคม 2560


เรื่องฤทธิ์


.....เมื่อเห็นว่า "คุณเสริม" ค้นคว้าได้คำตอบมาหลายข้อแล้ว "คุณอ๋อย" ก็เลยถือโอกาสถามข้อข้องใจอื่น ๆ เสียอีกหลายข้อ

อ. - เรื่องฤทธิ์เขาว่าเป็นเรื่องเหลวไหลเพ้อเจ้อ เป็นไปไม่ได้ พระพุทธเจ้าไม่เคยสอน
ส. - “เขา” ที่ว่าอย่างนั้นแหละเป็นคนเพ้อเจ้อ พูดไม่มีหลักมีเกณฑ์ คิดเอาเอง ควรจำไว้บ้างว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนว่า พูดอะไร ก็ต้องมีหลักอ้างอิงอยู่เสมอ อย่าพูดเฉย ๆ

ความจริงแล้วพระพุทธเจ้าท่านทรงสนับสนุนเรื่องฤทธิ์ และใช้ฤทธิ์อยู่บ่อย ๆ แต่ทรงใช้เมื่อเห็นว่าเกิดประโยชน์เท่านั้น ไม่ใช่แสดงฤทธิ์เล่นสนุก ๆ หรือแสดงตามคำขอร้อง การแสดงฤทธิ์เป็นเครื่องช่วยให้เกิดความเลื่อมใสเท่านั้น ไม่ได้เป็นเครื่องตัดอาสวะกิเลสโดยตรง

++ เล่ม ๔ หน้า ๓๐ พระพุทธเจ้าทรง “บันดาลอิทธาภิสังขาร” มิให้เศรษฐีบิดาของยสกุลบุตรซึ่งนั่งอยู่ ณ ที่นั้น ประโยชน์ที่เกิดขึ้นคือพระยสกุลบุตรได้เป็นพระอรหันต์ ส่วนบิดาเป็นพระโสดาบัน

++ เล่ม ๔ หน้า ๔๔ ถึง ๕๕ ทรงแสดงฤทธิ์ต่าง ๆ คือ
- สู้กับนาคที่แสดงฤทธิ์
- ไปบิณฑบาตที่อุตตรกุรุทวีป แล้วนำกลับมาในเวลาอันสั้น
- ไปเก็บผลหว้าประจำชมพูทวีปและดอกปาริฉัตร จากดาวดึงส์
- บันดาลให้ชฎิลผ่าฟืนไม่ออก
- บันดาลให้ก่อไฟไม่ติด
- เนรมิตไฟ ๕๐๐ กองให้พวกชฎิลผิง
- บันดาลให้น้ำที่กำลังท่วม ไม่ท่วมตรงที่ประทับ

ประโยชน์คือเป็นการทรมานอุรุเวลากัสสปชฎิลให้เลื่อมใสและในที่สุดก็บวชพร้อมด้วยศิษย์ ๕๐๐

++ เล่ม ๕ หน้า ๒ ผู้แทนชาวบ้านแปดหมื่นตำบลไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ท่านพระสาคตะแสดงฤทธิ์ดำดินให้เห็น ชาวบ้านก็เลยไม่แน่ใจว่าองค์ไหนเป็นพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าจึงสั่งให้แสดงฤทธิ์มากกว่านั้นอีก ท่านสาคตะคงจะรู้พระทัยว่า ไม่เป็นการสะดวกแก่พระพุทธเจ้าที่จะบอกว่านั่นเป็นเพียงศิษย์ เมื่อแสดงฤทธิ์พอควรแล้วก็มาซบที่พระบาทกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของข้าพระพุทธเจ้า

นอกจากนี้ ทรงแสดงฤทธิ์อีกหลายแห่งเพื่อการสอน เช่นขณะที่สาวกในที่ไกลกำลังคิดผิด ก็จะทรงไปปรากฏพระองค์สั่งสอนทันที เป็นต้น

++ เล่ม ๑๓ หน้า ๓๙๐ ทรงบันดาลอิทธาภิสังขารให้องคุลิมาลโจรวิ่งไม่ทัน ทรงสนับสนุนให้สาวกทำตนให้มีฤทธิ์ด้วย เช่น ในเล่ม ๑๑ หน้า ๓๐๕ ทรงสอนว่าธรรม ๖ อย่างที่ภิกษุควรทำให้แจ้ง คืออภิญญา ๖ (ข้อ ๑ ของอภิญญา ๖ คือ บรรลุอิทธิวิธี)

++ เล่ม ๑๓ หน้า ๒๗๔ ตรัสว่าสาวกของพระองค์บรรลุอภิญญาเป็นจำนวนมาก
++ เล่ม ๒๐ หน้า ๑๙๕ สาวกที่ประกอบด้วยปาฏิหาริย์ ๓ มีมาก


(โปรดติดตามตอน "ฝ่ายแอนตี้การแสดงฤทธิ์" ต่อไป)



◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 31/10/17 at 08:16


[ ตอนที่ 8/8 ]

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2560


ฝ่ายแอนตี้การแสดงฤทธิ์


.....ฝ่ายที่แอนตี้การแสดงฤทธิ์มักจะยกหลักฐานมา ๒ แห่ง

++ แห่งแรก (เล่ม ๑๑ หน้า ๓) สืบเนื่องมาจากโอรสเจ้าลิจฉวี ชื่อ "สุนักขัตตะ" จะออกจากการเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ด้วยเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ ที่เป็นธรรมยิ่งยวดของมนุษย์แก่ข้าพระองค์เลย”

พระพุทธเจ้าท่านก็สอนไม่ให้ติดในฤทธิ์ เพราะคนลักษณะนี้ถ้าได้เห็นฤทธิ์ที่แสดงแล้ว ก็คงจะหมกมุ่นอยู่แต่เรื่องฤทธิ์ ไม่มุ่งที่จะตัดกิเลส คือทรงสอนว่า


“ดูกร สุนักขัตตะ เพราะเหตุที่เมื่อเราได้กระทำอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรมยิ่งยวดของมนุษย์ หรือมิได้กระทำก็ดี ธรรมที่เราได้แสดงไว้ ย่อมนำผู้ประพฤติให้สิ้นทุกข์โดยชอบ เช่นนี้ เธอจะปรารถนากระทำอิทธิปาฏิหาริย์ที่ เป็นธรรมยิ่งยวดของมนุษย์ไปทำไม”

ผู้อ่านหนังสือควรระลึกว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้สอนชั้นเยี่ยม สอนให้เหมาะแก่บุคคลนั้น ๆ คำตอบนี้ ตอบแก่ "สุนักขัตตะ" เท่านั้น ไม่ใช่หมายความว่าเป็นคำสอนทั่วไป

ทั้งนี้ เพราะการแสดงปาฏิหาริย์ไม่มีค่าแก่บุคคลผู้นี้ ป่วยการแสดง ในหน้าต่อ ๆ ไปได้ทรงเตือนสุนักขัตตะถึงเรื่องที่ผ่านมาแล้ว ๓ เรื่อง และชี้ว่านั่นคือปาฏิหาริย์ที่พระองค์ทรงแสดงให้เห็นอยู่แล้ว ยังไม่พออีกหรือ (ใน ๓ เรื่องนั้น สุนักขัตตะเป็นตัวเกี่ยวข้องสำคัญอยู่ด้วย)

++ แห่งที่สอง (เล่ม ๙ หน้า ๓๔๗) "เกวัฏฏ์คฤหบดีบุตร" ทูลขอพระพุทธเจ้าให้สั่งภิกษุสักรูปทำปาฏิหาริย์ เพื่อให้ชาวเมืองเกิดความเลื่อมใส พระองค์ทรงปฏิเสธ แล้วทรงกล่าวว่า ปาฏิหาริย์ ๓ นั้น ทรงทราบ แต่....

“เมื่อเล็งเห็นโทษเช่นนี้จึงอึดอัด ระอา เกลียด อิทธิปาฏิหาริย์”
“เมื่อเล็งเห็นโทษเช่นนี้จึงอึดอัด ระอา เกลียด อาเทศนาปาฏิหาริย์”

แต่ไม่ตรัสว่า อึดอัด ระอา เกลียด อนุสาสนีปาฏิหาริย์ เมื่อยกมาเช่นนี้ แล้วก็ประโคมกันว่าทรงคัดค้านการแสดงปาฏิหาริย์

ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าขัดกันกับคำสอนเรื่องให้ทำอภิญญา ๖ และขัดกับที่ทรงประพฤติในการแสดงฤทธิ์หลายครั้ง แต่เราต้องไม่ลืมว่าพระพุทธเจ้านั้น จะไม่มีการค้านได้เลย ฉะนั้น จะต้องพิจารณาเรื่องนี้โดยละเอียดกันต่อไป...


(โปรดติดตามตอน "เรื่องฤทธิ์" ต่อไป)



◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 7/11/17 at 08:04


[ ตอนที่ 8/9 ]

วันที่ 14 พฤศจิกายน 2560


ฝ่ายแอนตี้การแสดงฤทธิ์ (ต่อ)


.....ประการที่ ๑ จะต้องระลึกว่า พึ่งจะเสด็จมาถึงที่นั้น (สวนมะม่วงของปาวาธิกเศรษฐี เขตเมืองนาลันทา) ยังไม่มีผู้เลื่อมใส ยังไม่มีโอกาสแสดงธรรม ถ้าจู่ ๆ ไปแสดงอิทธิปาฏิหาริย์เข้า ผลที่จะเกิดก็คือ คนที่ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใสจะกล่าวได้ว่ามีวิชา คือคันธารีใช้แสดงเช่นนี้ได้เช่นกัน

ถ้าหากแสดงครั้งแรกแล้วมีคนค้านได้ ก็เห็นได้ว่า “เสียเส้น” หมด อันนี้ เราควรจะต้องเห็นพระปัญญาของพระพุทธเจ้าในปัญหาว่าจะปฏิเสธ "เกวัฏฏ์" อย่างไรดีจึงจะไม่เสียน้ำใจ วิธีที่ทรงเลือกนี้นับว่าเหมาะสมที่สุด

เรื่องนี้ พอดีมีตัวอย่างในสมัยปัจจุบัน คือเรื่องของ "นางสาวศศิธร เมธางกูร" ซึ่งหนังสือพิมพ์ลงข่าวว่า "นายบุญมี เมธางกูร" ผู้เป็นบิดาได้นำมาแสดง การปิดตาอ่านหนังสือและขับรถด้วยอำนาจจิตศาสตร์

ต่อมาหนังสือพิมพ์ "เดลินิวส์" ฉบับวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๑ ทำข่าวสัมภาษณ์นักเล่นกลหลายคน นักเล่นกลบอกว่าอย่างนี้เป็นกลชั้นต่ำ นักเล่นกลที่ไหนก็ก็ทำได้ จะทำยิ่งกว่านี้ เช่นให้คนลอยในอากาศก็ยังได้ ผ้าปิดตาสีดำทำไว้ขายสำหรับเล่นกลอย่างนี้มีขายถมเถไป

นายบุญมี เมธางกูร ผู้นี้มีชื่อเสียงดีงามในกิจของพระศาสนา คือเป็นอาจารย์สอนพระอภิธรรม ที่ออกเป็นรายการวิทยุก็ดูเหมือนมี ถ้าบังเอิญเรื่องการใช้จิตศาสตร์ของนางสาวศศิธร เป็นเรื่องจริงแท้ไม่แปลกปลอม นายบุญมีกลับไม่ได้รับอะไรเลย นอกจากความเสียหาย

พระพุทธเจ้าท่านคงจะรู้ทันข้อนี้ ถ้าให้สาวกแสดงปาฏิหาริย์ ก็คงจะถูกหักล้างว่าใช้ "วิชาคันธารี" ถ้าการใช้
"วิชาคันธารี" เป็นการแสดงกลชนิดหนึ่ง ก็จะกลายเป็นว่าพระพุทธเจ้าหลอกลวงให้คนเลื่อมใส

ดังนั้นจึงเลี่ยงเสีย ปฏิเสธเสีย ไม่แสดง (ทำให้คนสมัยนี้บางพวกนำไปอ้างว่า พระพุทธเจ้าไม่ต้องการให้แสดงฤทธิ์)

...ประการที่ ๒ "อาเทสนาปาฏิหาริย์" ก็มีวิชาชื่อมณิภา สามารถนำมาใช้ได้ผลอย่างเดียวกันจึงทรง “อึดอัด ระอา และเกลียด” อีก

...ประการที่ ๓ ทรงกล่าวถึง "อนุสาสนีปาฏิหาริย์" โดยละเอียด ซึ่งอันที่จริงก็คือหลักสูตรพระพุทธศาสนาทั้งดุ้นนั่นเอง คือกล่าวถึงจุลศีล (หน้า ๓๕๐) มัชฌิมศีล (หน้า ๓๕๒) มหาศีล (หน้า ๓๕๕)

แล้วต่อด้วยการละนิวรณ์ ๕ บำเพ็ญฌาน ๑ ถึง ๔ แล้วน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ นิรมิตรูปอื่นจากกายนี้ มีรูปเกิดแต่ใจ มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง น้อมจิตไปเพื่ออิทธิวิธี คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ฯลฯ (เหมือนกับที่ระบุไว้ในอิทธิปาฏิหาริย์),

น้อมใจเพื่อ "ทิพยโสตธาตุ" ได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือเสียงทิพย์ และเสียงมนุษย์ทั้งอยู่ใกล้และไกล ล่วงโสตมนุษย์,

น้อมจิตไปเพื่อ "เจโตปริยญาณ บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ" ๖ อย่างหลังนี้คืออภิญญา ๖ ทั้งหมด นี้คืออนุสาสนีปาฏิหาริย์ ต่อจากนั้นท่านก็ทรงบรรยายถึงนิพพานโดยย่อเป็นอันจบหลักสูตร


(โปรดติดตามตอน "เรื่องฤทธิ์" ต่อไป)



◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 14/11/17 at 07:53


[ ตอนที่ 8/10 ]

Update วันที่ 21 พฤศจิกายน 2560


ฝ่ายแอนตี้การแสดงฤทธิ์ (จบ)


.....ถ้าเราจะจับเรื่องโดยย่อเราจะเห็นได้ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปยังคนกลุ่มใหม่นั้น เกวัฏฏ์ก็จะขอให้อาจารย์ของตน (พระพุทธเจ้า) สั่งสาวกแสดงปาฏิหาริย์ให้เป็นที่ประจักษ์

พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่าไม่เป็นโอกาสที่ควรแสดง เพราะคนยังไม่รู้จัก และถ้าแสดงไปก็จะมีคนค้านได้ กลับทำให้ความเลื่อมใสไม่เกิด แต่จะปฏิเสธตรง ๆ ก็จะเป็นการไม่ดีแก่เกวัฏฏ์ฯ จึงปฏิเสธโดยอ้อม ๆ

แล้วถือโอกาสนั้นแสดงธรรมว่าพระพุทธศาสนาสอนอะไรบ้าง แทรกไว้ในอนุสาสนีปาฏิหาริย์ ซึ่งในนั้นเองก็กล่าวว่าสามารถแสดงฤทธิ์ได้

โดยสรุปแล้วจะเห็นได้ว่า ถ้าแสดงฤทธิ์ได้ประโยชน์ท่านก็ทรงสนับสนุน ส่วนที่ห้ามสาวกแสดงฤทธิ์แก่ฆราวาสนั้น น่าจะเป็นการช่วยพระสาวกให้รอดตัวมากกว่า

เพราะคราวนั้น "ท่านบิณโฑลภารทวาชะ" เหาะไปเอาบาตรไม้จันทน์ แล้วลอยไปรอบเมือง คนที่ยังไม่เห็นก็ตามกันมาเกรียวกราวจะให้เหาะให้ดูอีก

ถ้าไม่ทรงห้ามท่านบิณโฑลภารทวาชะ เห็นจะต้องเหาะโชว์ตลอดวันเป็นแน่ จะว่าไป การเหาะคราวนั้นก็ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมาเลย เพราะคล้ายเป็นการลองฤทธิ์ ซึ่งผิดพระประสงค์ของพระพุทธเจ้า

เรื่องฤทธิ์นี้ จำเป็นต้อพิสูจน์ตามระเบียบว่าเป็นไปได้หรือไม่ ขอให้ไปดู เล่ม ๓๑ หน้า ๔๑๙ ถึง ๔๒๘ ซึ่งกล่าวถึงรายละเอียดในเรื่องฤทธิ์ เช่นในหน้า ๔๒๒


“...คำว่าเหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ คือท่านผู้มีฤทธิ์เป็นผู้ได้ปฐวีกสิณสมาบัติโดยปกติ ย่อมนึกถึงอากาศแล้วอธิษฐานด้วยญาณว่าจงเป็นแผ่นดิน ก็เป็นแผ่นดิน

ท่านผู้มีฤทธิ์นั้นเดินบ้าง ยืนบ้าง นอนบ้าง ในอากาศกลางหาวเหมือนนก ได้เปรียบเหมือนพวกมนุษย์ผู้ไม่มีฤทธิ์โดยปกติ เดินบ้าง ยืนบ้าง นั่งบ้าง นอนบ้าง บนแผ่นดินฉะนั้นฯ...”


พูดตามภาษาชาวบ้าน ผู้ที่จะทำฤทธิ์ได้นั้นต้องได้อรูปฌาน และต้องคล่องในกสิณ ๑๐ เวลาจะทำฤทธิ์ก็เข้าอรูปฌานมีกสิณอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นนิมิตแล้วอธิษฐานก็จะสำเร็จดังประสงค์

เห็นได้ว่าท่านไม่ได้กล่าวไว้อย่างเลื่อนลอย วิธีแสดงฤทธิ์ท่านก็บอกไว้เสร็จ ขอเชิญพิสูจน์ดูด้วยตนเองก่อนแล้วจึงกล่าวว่าเป็นไปได้หรือไม่ได้

ประโยชน์ของฤทธิ์นั้น มิใช่ว่าทำให้เกิดความเลื่อมใสแล้วจะเข้าไปปฏิบัติธรรมอย่างเดียว ยังมีประโยชน์อย่างอื่นอีกในเล่ม ๒๐ หน้า ๒๕๘ พระอานนท์กราบทูลว่า


“...เป็นลาภของข้าพระองค์หนอ ข้าพระองค์ได้ดีแล้วหนอที่ข้าพระองค์มีพระศาสดาผู้มีฤทธิ์ มีอานุภาพมากอย่างนี้...”

ท่านอุทายีก็ติงว่า “ดูกร อานนท์ ในข้อนี้ท่านได้ประโยชน์อะไร ถ้าศาสดาของท่านมีฤทธิ์มีอานุภาพมากอย่างนี้”


พระพุทธเจ้าทรงแก้ให้ว่า

“...ดูกร อุทายี เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้ ถ้าอานนท์ยังไม่หมดราคะเช่นนี้ พึงทำกาละไป เธอพึงเห็นเจ้าแห่งเทวดาในหมู่เทวดา ๗ ครั้ง พึงเป็นเจ้าจักรพรรดิในชมพูทวีปนี้แหละ ๗ ครั้ง เพราะจิตที่เลื่อมใสนั้น ดูกรอุทายี ก็แต่ว่าอานนท์จักปรินิพพานในอัตภาพนี้เอง...”


(โปรดติดตามตอน "เรื่องทำบุญกับสาธารณะกับทำบุญกับวัด" ต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 21/11/17 at 06:18


[ ตอนที่ 8/11 ]

Update วันที่ 28 พฤศจิกายน 2560


เรื่องทำบุญกับสาธารณะกับทำบุญกับวัด


....ท่านผู้อ่านที่ชอบศึกษาเรื่องพระไตรปิฎก หวังว่าคงจะได้ติดตามอ่านมาโดยตลอด จะเห็นว่าคอลัมน์นี้มีประโยชน์เพื่อการศึกษาธรรมะจริงๆ จะได้เป็นความรอบรู้สอบทานกับคำสอนของคณาจารย์ต่างๆ ว่าถูกต้องตรงตามหลักธรรมที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนไว้หรือไม่

ในตอนนี้ก็เช่นเดียวกัน จากการค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวเรื่องนี้ "ท่านเจ้ากรมเสริม" ใช้นามปากกว่า ก.ษ.ป (ป่อง โกษา) ในอดีตท่านเคยเกิดเป็นน้องชายหลวงพ่อ สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ท่านเจ้ากรมเสริมได้สมมุติถามตอบกับภรรยาของท่าน คือ "ท่านอ๋อย" ตามอักษรย่อ อ. และ ส. ดังนี้


.....อ. มีคนสงสัยกันมากว่าทำบุญกับสาธารณะ ควรจะได้ประโยชน์กว่าทำกับวัด ?

.....ส. เรื่องผลของการทำบุญนี้ ไม่มีเหตุผลที่จะใช้อธิบายกันได้ว่าทำอย่างนี้ ทำไมได้ผลอย่างนั้น เป็นเรื่องที่ใช้ปัญญาพิจารณาไม่ได้ เรื่องนี้เป็น "อจินไตย" ซึ่งท่านกล่าวไว้ในเล่ม ๒๑ หน้า ๙๓ ว่ามี ๔ ประการ คือ

๑. พุทธวิสัยของพระพุทธเจ้า
๒. ฌานวิสัยของผู้ได้ฌาน
๓. เรื่องของโลก
๔. วิบากของกรรม

อจินไตยนี้ท่านบอกว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรคิด เพราะจะตอบให้แน่นอนลงไปไม่ได้ ถ้าใครขืนคิด ท่านว่า “พึงมีส่วนแห่งความบ้า”

ผลของการทำบุญว่าทำบุญอะไรจะได้ผลอย่างไรนั้น เป็นเรื่องอยู่ในข้อ ๔ คือวิบากกรรม ในเมื่อเราไม่สามารถจะตรึกตรองให้รู้ได้เอง เราก็ต้องเชื่อท่านผู้ที่รู้ไปก่อน ท่านผู้รู้ก็คือพระพุทธเจ้านั่นเอง พระพุทธเจ้าทรงเป็นสัพพัญญู คือไม่รู้นั้นไม่มี

++ เล่ม ๒๕ หน้า ๒๐๘ “จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคผู้เป็นอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่าได้กลัวต่อบุญเลย คำว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุขอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่ารัก น่าพอใจ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เรารู้ได้ด้วยญาณอันวิเศษยิ่ง ซึ่งวิบากอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่ารัก น่าพอใจที่ตนเสวยแล้วสิ้นกาลนานแห่งบุญทั้งหลายที่ตนทำไว้แล้วสิ้นกาลนาน..”


(โปรดติดตามตอน "กาลามสูตร" ต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 28/11/17 at 08:33


[ ตอนที่ 8/12 ]

วันที่ 5 ธันวาคม 2560


กาลามสูตร


....ความเชื่อตาม "กาลามสูตร" ที่ชอบอ้างกันนั้น นำมาใช้ไม่ได้ในที่นี้ เพราะท่านบ่งว่าเรื่องนี้รู้ได้ด้วยญาณ ไม่ใช่มาตรึกตรองเหตุผลกันได้

คำตอบของปัญหาที่ถาม จะได้จากเล่ม ๒๓ หน้า ๓๖๑ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงเล่าว่า สมัยที่พระองค์เกิดเป็น "เวลามพราหมณ์" นั้น ได้ให้มหาทาน ดังนี้

- ให้ถาดเต็มไปด้วยรูปิยะ ๘๔,๐๐๐ ถาด
- ให้ถาดรูปิยะเต็มไปด้วยทอง ๘๔,๐๐๐ ถาด
- ให้ถาดสัมฤทธิ์เต็มไปด้วยเงิน ๘๔,๐๐๐ ถาด
- ให้ช้าง ๘๔,๐๐๐ เชือก พร้อมเครื่องประดับที่เป็นทอง
- ให้รถ ๘๔,๐๐๐ คัน พร้อมเครื่องประดับที่เป็นทอง

- ให้แม่โคนม ๘๔,๐๐๐ ตัว พร้อมภาชนะรองนม
- ให้หญิงสาว ๘๔,๐๐๐ คน ประดับแก้วมณีกุณฑล
- ให้บัลลังก์ ๘๔,๐๐๐ ที่ ลาดด้วยผ้าโกเชาว์และขนแกะ
- ให้ผ้า ๘๔,๐๐๐ โกฏิ
- ให้ข้าว น้ำ ของบริโภค ลูบไล้ และที่นอนจำนวนมาก (ถ้าเราคิดเป็นราคาเดี๋ยวนี้ น่ากลัวจะถึงล้านๆ บาท)

ทานนี้น่าจะมีผลมหาศาล แต่พระพุทธเจ้าทรงเล่าต่อไปว่า “ดูกรคฤหบดี ทานที่บุคคลเชื้อเชิญท่านที่ถึงพร้อมด้วยทิฐิผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่เวลามพราหมณ์ให้แล้ว”

คำว่า “ท่านที่ถึงพร้อมด้วยทิฐิ “ นั้นค้นดูแล้วปรากฏว่าหมายถึง "พระโสดาบัน" คือทานทั้งหมดนั้นคนที่รับทานไม่มีใครเป็นพระทักขิเณยบุคคลเลย (เป็นคนธรรมดา) สู้เลี้ยงข้าวพระโสดาบันเพียงมื้อเดียวก็ไม่ได้

ต่อจากนั้นท่านก็เปรียบเทียบไว้ดังนี้

- ทานแก่พระสกิทาคามี ๑ องค์ มีผลมากกว่าทานแก่ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิ ๑๐๐ องค์
- ทานแก่พระอนาคามี ๑ องค์ มีผลมากกว่าแก่ พระสกิทาคามี ๑๐๐ องค์
- ทานแก่พระอรหันต์ ๑ องค์ มีผลมากกว่าแก่ พระอนาคามี ๑๐๐ องค์
- ทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๑ องค์ มีผลมากกว่าแก่ พระอรหันต์ ๑๐๐ องค์
- ทานแก่พระพุทธเจ้า ๑ องค์ มีผลมากกว่าแก่ พระปัจเจกพุทธเจ้า ๑๐๐ องค์
- ทานแก่พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข มีผลมากกว่าถวายแก่พระพุทธเจ้า ๑ องค์ (สังฆทาน)

- การสร้างวิหารทานถวายสงฆ์ผู้มาจากจตุรทิศ มีผลมากกว่า สังฆทาน
- การมีจิตเลื่อมใสถึง พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ มีผลมากกว่า การสร้างวิหารทาน
- การสมาทานสิกขาบท (ศีล ๕) มีผลมากกว่า การสร้างวิหารทาน
- การเจริญเมตตาจิต โดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดของหอม มีผลมากกว่า การสมาทานสิกขาบท
- การเจริญอนิจจสัญญา โดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดของหอม มีผลมากกว่า การเจริญเมตตาจิต

ในเล่ม ๑๔ หน้า ๓๘๙ ให้รายละเอียดเพิ่มเติมไว้ในเรื่องของ ทักษิณาปาฏิปุคคลิกทาน ไว้ว่า
- ให้ทานในสัตว์เดียรัจฉาน หวังผลทักษิณาได้ ๑๐๐ เท่า
- ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีล หวังผลทักษิณาได้ ๑,๐๐๐ เท่า
- ให้ทานในปุถุชนผู้มีศีล หวังผลทักษิณาได้ ๑๐๐,๐๐๐ เท่า
- ให้ทานในบุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม หวังผลทักษิณาได้ ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิเท่า
- ให้ทานแก่ท่านผู้ปฎิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง หวังผลทักษิณาทาน นับไม่ได้


(โปรดติดตามตอน "กาลามสูตร" ต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 5/12/17 at 09:11


[ ตอนที่ 8/13 ]

วันที่ 12 ธันวาคม 2560


กาลามสูตร (ต่อ)


....พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้อย่างนี้ เราก็ควรจะเชื่อท่าน แต่ในเรื่องความเชื่อนี้มักจะมีผู้นำคำสอนของพระพุทธเจ้าใน "กาลามสูตร" หรือ "เกสปุตตสูตร" ตามเล่ม ๒๐ หน้า ๒๑๓ ที่ตรัสว่า

“...มาเถิดท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือ...
- ตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา
- โดยตื่นข่าว
- โดยอ้างตำรา
- โดยเดาเอาเอง
- โดยคาดคะเน
- โดยความตรึกตามอาการ
- โดยชอบใจว่าต้องกันกับทิฐิของตัว
- โดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้
- โดยความนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา”


เสร็จแล้วก็ลงท้ายว่า ในการที่เราจะเชื่อถืออะไรได้นั้น เราต้องตรึกตรองให้เห็นจริงเสียก่อนจึงควรเชื่อ ผู้เขียนบางคนถึงกับอ้างว่า แม้พระพุทธเจ้าสอนก็อย่าเพิ่งเชื่อ ต้องตรองให้เห็นจริงจึงจะเชื่อได้

ความเข้าใจเช่นนี้น่าจะเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูก เพราะทุกเรื่องไม่ใช่ว่าจะหาเหตุผลได้เสมอไป เช่น พระพุทธเจ้าท่านกล่าวว่า

ใครเป็นพระโสดาบันแล้ว เรียกว่าเป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ได้ไม่เกิน ๗ ชาติ เช่นนี้ ท่านผู้ใดจะหาเหตุผลได้ว่า ทำไมต้อง ๗ ชาติ และเป็นเช่นนั้นจริงหรือเปล่า

เมื่อไม่สามารถหาเหตุผลได้ ท่านจะเชื่อหรือ? ท่านก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะมาเถียงอีกน่ะแหละว่าเป็นพระอรหันต์ใน ๗ ชาติไม่ได้

โดยที่แท้แล้วสิ่งที่ยังไม่รู้ ไม่เห็น ไม่แจ้งด้วยปัญญา แล้วท่านกลับสั่งให้เชื่อผู้อื่นที่รู้ไปก่อนด้วยซ้ำ เช่น เล่ม ๒๙หน้า ๒๗๖

“ดีละ ๆ สารีบุตร ด้วยว่า อมตะนั้นชนเหล่าใดยังไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ทราบ ไม่กระทำให้แจ้ง ไม่พิจารณาเห็นแล้วด้วยปัญญา ชนเหล่านั้นพึงถึงความเชื่อต่อชนเหล่าอื่นในอมตะนั้นว่า...”

อย่างไรก็ดี การที่ต้องเชื่อต่อผู้อื่นไปก่อนนั้น แสดงว่าตนเองยังไม่มีปัญญาที่จะพิจารณาเห็นได้ ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงมักจะซ้อมผู้อื่นอยู่เสมอว่า เดี๋ยวนี้ยัง “ต้องเชื่อ” ท่านอยู่หรือเปล่า

ผู้ที่จัดว่าใช้ได้แล้ว คือประเภทที่ “ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า” แล้ว

.....ตามตัวอย่างเล่ม ๑๙ หน้า ๒๗๖ ข้างบนนี้ พระพุทธเจ้าท่านถามท่านสารีบุตรว่า เชื่อท่านหรือไม่ว่า...
.....พระสารีบุตรตอบว่า ไม่ต้องเชื่อต่อพระพุทธเจ้า (เพราะรู้แจ้งด้วยปัญญาว่าเป็นจริงตามที่สอนแล้ว)


(โปรดติดตามตอน "กาลามสูตร" ต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 12/12/17 at 09:36


[ ตอนที่ 8/14 ]

วันที่ 19 ธันวาคม 2560


กาลามสูตร (จบ)


....ในเล่ม ๒๒ หน้า ๓๗ พระพุทธเจ้าตรัสถามสีหเสนาบดีว่า เชื่อในผลทาน ๕ ข้อที่พระพุทธเจ้าสอนหรือไม่..?

สีหเสนาบดีก็ตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเอง ๔ ข้อเหล่านี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสบอกแล้ว ข้าพระองค์ย่อมเชื่อต่อพระผู้มีพระภาคในผลแห่งทาน ๔ ข้อนี้ก็หามิได้

แม้ข้าพระองค์ก็ทราบดี คือข้าพระองค์เป็นทายก เป็นทานบดีย่อมเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของปวงชนเป็นอันมาก ฯลฯ

ส่วนผลทานที่จะพึงเห็นเอง ที่พระผู้มีพระภาคตรัสบอกข้าพระองค์ว่าทายกผู้เป็นทานบดี เมื่อตายไปแล้วเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ข้าพระองค์ย่อมไม่ทราบ ก็แต่ว่าข้าพระองค์ย่อมเชื่อต่อพระผู้มีพระภาคในข้อนี้

พระผู้มีพระภาคตรัสย้ำว่า “อย่างนั้น ท่านสีหเสนาบดี ๆ คือทายกผู้เป็นทานบดี เมื่อตายไปแล้วย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์”


...ข้อถกเถียงอาจปรากฏขึ้นในตอนนี้ว่า ถ้าเช่นนั้นที่พระพุทธเจ้าสอนก็แย้งกันเอง คราวหนึ่งว่าไม่ให้เชื่อ อีกคราวหนึ่งว่าให้เชื่อ แล้วจะถืออย่างไหนเป็นถูก

เมื่อมีปัญหาเช่นนี้ ก็ต้องย้ำหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า ท่านตรัสคำไหนเป็นคำนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น ฉะนั้น โดยหลักแล้วจะแย้งกันไม่ได้ ความขัดแย้งนี้เกิดจากตัวผู้อ่านไม่ทำความเข้าใจให้ดีต่างหาก

เช่นใน “กาลามสูตร” ปัญหาเดิมมีอยู่ว่าชาวบ้านมาทูลถามว่า มีอาจารย์หลายคนมาสอน คำสอนขัดแย้งกัน ทำอย่างไรจะรู้ว่าใครถูก ?

พระพุทธเจ้าก็บอกว่า ถ้าอย่างนั้นอย่ายึดถือตาม ๙ ข้อนั้นซี แล้วก็ประทานคำตอบว่า ให้พิจารณาว่า อะไรเป็นกุศลก็ให้ปฏิบัติ อะไรเป็นอกุศลก็ให้ทิ้งไปเสีย

ความเชื่อกับความยึดถือว่าเป็นจริงอย่างนั้น ย่อมเป็นของคนละอย่างกัน ในกาลามสูตรท่านพูดถึงความยึดถือ ไม่ได้พูดถึงความเชื่อไปก่อน

อะไรที่ไม่รู้ท่านก็ให้เชื่อผู้รู้ไปก่อน เมื่อรู้ได้เอง คือเห็นจริงด้วยตนเองแล้ว คราวนี้ก็ไม่ต้องหลับตาเชื่อตามคนอื่นบอกต่อไปละ

คราวนี้พูดกันถึงว่า “รู้ได้เอง” นั้นคืออย่างไร ?
คำถามนี้ตอบได้ด้วยการเปรียบเทียบ เช่น เราได้ฟังจากพระพุทธเจ้าว่า อริยสัจ ๔ ทำให้นิพพาน เป็นต้น

อริยสัจ ๔ มีทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เราก็รู้เท่า ๆ กับพระพุทธเจ้าแล้ว แต่ทำไมเราจึงไม่เป็นพระอรหันต์ ?

นี่ก็เพราะ ที่ว่า “รู้” นั้นความจริงไม่รู้ เราเพียงเชื่อต่อพระพุทธเจ้าเท่านั้นเอง ต่อเมื่อปฏิบัติตัวจนเป็นพระอรหันต์แล้วนั่นแหละ

จึงร้องว่า "อ้อเป็นอย่างนี้เอง" แล้วก็ไม่ต้องเชื่อต่อพระพุทธเจ้าอีกต่อไปเพราะ “รู้เสียเอง” แล้ว

แต่ก็มีบางเรื่องที่เรารู้ไม่ได้ด้วยการปฏิบัติ เช่น วิบากของกรรมที่กล่าวมาแล้ว เป็นต้น วิบากมีนับไม่ถ้วน เพราะกรรมมีนับไม่ถ้วน ไม่มีทางที่จะทำกรรมเหล่านั้นทุกอย่าง เพื่อจะรู้ผลทุกอย่างไปได้

ในเรื่องเช่นนี้ก็จะต้องเชื่อต่อพระพุทธเจ้าผู้ทรงมีสัพพัญญุตาญาณ คือที่ไม่รู้นั้นไม่มี ธรรมบางอย่างใช้ความคิดตามธรรมดาไม่ได้ ต้องมีญาณจึงจะรู้ได้ ดูได้จาก..


++ เล่ม ๒๗ หน้า ๙๒ “บุคคลเหล่าใดยังไม่รู้ธรรมทั้งหลายด้วยญาณทั้งปวง บุคคลเหล่านั้นแลย่อมสงสัยในธรรมทั้งหลาย”

++ เล่ม ๒๙ หน้า ๒๘๔ “บุคคลผู้มีความสงสัย พึงศึกษาเพื่อทางแห่งญาณ”

++ เล่ม ๑๖ หน้า ๑๗ “พระอริยสาวกมีญาณหยั่งรู้ในเรื่องนี้โดยไม่ต้องเชื่อต่อผู้อื่นเลย”

++ เล่ม ๑๖ หน้า ๑๒๗ “เว้นจากความเชื่อ ความพอใจ การฟังตามเขามา ความตรึกตามอาการ และจากการทนต่อความเพ่งด้วยทิฐิ ท่านมุสิละมีญาณเฉพาะตัว ท่านว่าเพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะดังนี้หรือ”

อันนี้เป็นคำตอบสำหรับผู้ที่สงสัยคำสอนใน "กาลามสูตร" ว่า ถ้าจะไม่ให้ยึดมั่นตามนั้นแล้วจะยึดมั่นได้ด้วยอะไร คือตอบว่า “ด้วยญาณ” ดังนี้


(โปรดติดตามตอน "นรก สวรรค์ เทวดา" ต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 19/12/17 at 08:26


[ ตอนที่ 8/15 ]

วันที่ 26 ธันวาคม 2560


นรก สวรรค์ เทวดา


....คราวนี้ก็ต้องย้อนกลับมาหานักปราชญ์สมัยนี้ที่ชอบมาบอกว่า ไม่ให้เชื่อ นรก สวรรค์ เทวดา เพราะเป็นของเหลวไหล (ตามความคิดของเขา) นั้นน่ะ ตัวเขามีญาณอะไรหรือจึงรู้ว่าเหลวไหล จะเป็นความเชื่อของตัวเอง การตรึกตามอาการ ฯลฯ เสียมากกว่ากระมัง ?

เมื่อได้อธิบายมาถึงแค่นี้แล้ว ก็ควรจะย้อนกลับไปสรุปเรื่อง "ผลของการทำบุญทำทาน" ได้ว่า ความจริงเป็นอย่างไรนั้น เป็นอจินไตยเอาเหตุผลมาเถียงกันไม่ได้

เพราะฉะนั้น เราต้องเชื่อต่อพระสัพพัญญุตาญาณของพระพุทธเจ้าที่ท่านทรงนำมากล่าวไว้นั่นแหละ จนกว่าเราจะมีญาณเท่ากับพระองค์ท่าน

กลับมาถึงปัญหา "ทำทานที่เป็นสาธารณะ" จะเห็นว่าทำไปตั้งล้านล้านบาท สู้ถวายอาหารพระโสดาบันมื้อเดียวก็ไม่ได้ ตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่งที่เป็นเครื่องยืนยัน ดูได้จากเรื่องของ "อังกูรพานิช" กับ "อินทกมานพ"


++ ในเล่ม ๒๖ หน้า ๑๘๔ ขอสรุปโดยย่อว่า "อังกุรพานิช" ทำทานคือ ให้อาหารแก่ผู้คนวันละ ๖๐,๐๐๐ เล่มเกวียนเป็นนิตย์ ใช้พ่อครัว ๓,๐๐๐ คน มีมานพ ๖๐,๐๐๐ คนช่วยฝ่าฟืน หญิง ๑๖,๐๐๐ คนบดเครื่องเทศ อีก ๑๖,๐๐๐ คนถือทัพพีคอยรับใช้ ทำอย่างนี้อีกหลายปี เมื่อตายไปแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ส่วน "อินทกมานพ" ถวายอาหาร ๑ ทัพพี แก่ท่าน "พระอนุรุทธเถระ" (ซึ่งเป็นพระอรหันต์) ตายแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เหมือนกัน แต่รุ่งเรืองกว่าด้วยประการทั้งปวง

แต่เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปบนดาวดึงส์ "อินทกเทพบุตร" ยังนั่งอยู่ใกล้ๆ พระพุทธเจ้า ส่วน "อังกุรเทพบุตร" ต้องถอยห่างไป ๑ โยชน์ (เพื่อหลีกทางให้เทวดาอื่นที่รุ่งเรืองมากกว่า?)

พระพุทธเจ้าตรัสถามว่าทำไมจึงนั่งไกลนัก อังกุรเทพบุตรทูลตอบว่า “จะทรงประสงค์อะไรด้วยทานของข้าพระองค์นั้น อันว่างเปล่าจากทักขิเณยบุคคล อินทกเทพบุตรนั้นให้ทานนิดหน่อย รุ่งเรืองกว่าข้าพระองค์ดุจพระจันทร์ในหมู่ดาว ฉะนั้น”


(โปรดติดตามตอนต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 26/12/17 at 04:26

[ ตอนที่ 8/16 ]

วันที่ 2 มกราคม 2561


"ธรรมทาน" กับ "อามิสทาน"


....ในสมัยปัจจุบัน มีนักปราชญ์ที่หลักแหลม แต่เป็นนักค้านตัวยงอยู่มาก นักปราชญ์เช่นนั้นอาจจะค้านว่า ไหนว่าพระพุทธเจ้าทรงมีสัพพัญญุตาญาณ รู้ทุกอย่างไงล่ะ เมื่อรู้แล้วทำไมต้องถามด้วย ก็แสดงว่าไม่รู้จริง เก๊ทั้งเพนะซี ?

คำตอบมีอยู่ว่า พระพุทธเจ้าทรงทราบทุกอย่างแล้วตรัสถามก็มี ทราบแล้วไม่ตรัสถามก็มี ถ้าตรัสถามก็จะถามในกาลที่เห็นสมควร และเพื่อประโยชน์ ๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งคือเพื่อบัญญัติ (ห้าม) หรือเพื่อแสดงธรรม (อาศัยเรื่องนั้นเป็นเหตุ)

คำตอบนี้ นักปราชญ์คนไหนอยากทราบว่าอยู่ตรงไหนในพระไตรปิฎก ก็ต้องลงโทษให้ไปค้นเองเสียบ้าง

บางท่านอาจจะกล่าวร้ายว่า พวกพระต้องการให้ทำบุญกับวัด จึงโมเมใส่เข้ามาว่าเป็นอย่างนี้ ถ้าเช่นนั้นก็จะต้องชี้ว่า การทำทานด้วยอามิสทานนั้น มีวิหารทาน (สร้างวัดหรือส่วนของวัด) เป็นสูงสุด

แต่ที่สูงไปกว่าวิหารทานกลับไม่ต้องใช้อามิส คือไม่ต้องใช้สตางค์เลยสักเก๊เดียว ปรากฏว่ายายแก่คร่ำครึที่ไปรักษาศีลที่วัด แกกลับได้บุญมากกว่าเศรษฐีสร้างโรงพยาบาลตั้ง ๑๐ ล้านเสียอีก (เลยไม่รู้ว่าใครคร่ำครึกันแน่)

ข้อนี้ตรงกับที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า "ธรรมทาน" ดีกว่า "อามิสทาน" อย่างที่เราพูดกันในภาษาธรรมดาว่า ปฏิบัติธรรมดีกว่า..เอาอะไรต่ออะไรไปถวายพระตั้งเยอะนั่นเอง

อย่างไรก็ดี การปฏิบัติธรรม เช่นการรักษาศีล เป็นต้น ควรจะเป็นของง่าย แต่กลับเป็นของยากยิ่งสำหรับปุถุชนทุกชั้น จึงมักจะเลือกเอาทางที่สะดวกกว่า คือทำ "อามิสทาน" เพราะทำง่ายกว่า และในทางจิตวิทยามักจะคิดว่าทำมาก ๆ แล้วได้บุญเยอะ นั่นก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล

ความจริงแล้วการทำบุญ ในด้านจิตใจเป็นการฝึกให้มีความเสียสละ ตัดความโลภ ความเสียดาย ใครจะทำบุญอะไรที่ไหน...ก็ทำเข้าไปโดยไม่ต้องห่วงว่าได้มากได้น้อย แต่ถ้าจะเอาคำตอบกันจริง ๆ แล้วก็ค้นได้มาอย่างที่แสดงไว้นี่แหละ...


(โปรดติดตามตอนต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 2/1/18 at 08:20

[ ตอนที่ 8/17 ]

วันที่ 9 มกราคม 2561


นิพพานสูญ กับ นิพพานไม่สูญ


....ตามข้อความในหนังสืองานศพของ ท่านเฉิดศรี (อ๋อย) เล่มนี้ หลังจากที่มีการถามตอบจาก คุณเสริม (ส) และคุณอ๋อย (อ) ในเรื่องการทำบุญ, กาลามสูตร, นรก สวรรค์ เทวดา เป็นต้น

ตอนนี้เข้ามาถึงเรื่องสำคัญกันแล้วละ..นั่นก็คือเรื่อง "นิพพาน" ท่านสนทนากันว่าอย่างไรใน "พระไตรปิฎก" ขอได้โปรดติดตามกันต่อไป...

....อ. เรื่องนิพพานสูญกับนิพพานไม่สูญ อีกเรื่องหนึ่งทุ่มเถียงกันมาก มีคนเขาว่าพระอรหันต์หรือพระพุทธเจ้า เมื่อท่านนิพพานไปแล้วก็ไม่มีแล้ว จะเอามาพูดกันได้ยังไงว่ามาแสดงให้ปรากฏอีกได้

....ส. เรื่องนิพพานนี้หลวงพ่อท่านก็เทศน์ก็สอนไว้แล้วว่าไม่สูญ แต่ถ้าจะเอาหลักฐานจากพระไตรปิฎกจะค้นมาให้ดูก็ได้ พวกนิพพานสูญ ไม่รู้เขาไปเอามาจากไหนกัน เห็นแต่อ้างว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนว่า “นิพพานัง ปรมัง สุญญัง”

เมื่อสูญก็แปลว่าหายไป..ไม่มีแล้ว แต่พวกนี้แปลก ก็ที “นิพพานัง ปรมัง สุขขัง” ไม่ยักยกมาพูด ได้กล่าวมาแล้วว่า พระพุทธเจ้าพูดไม่ผิด และค้านไม่ได้ แย้งกันเองก็ไม่ได้ ตามหลักก็ต้องถือว่าเป็นเช่นนั้นทั้งคู่ คือ "สุญญัง" ด้วย "สุขขัง" ด้วย

คำว่า "สุญญัง" นี้หลายท่านแปลว่า "ว่าง" ไม่แปลว่า "สูญหายไป" ว่างจากกิเลสอย่างยิ่ง ลองค้นดูใจความเกี่ยวกับคำว่า "ดับ" ว่า "สูญ" นี้จะพบหลายแห่ง


++ เล่ม ๑ หน้า ๓ “เรากล่าวความขาดสูญแห่ง ราคะ โทสะ โมหะ” (สูญคือหายไป ขาดคือสิ้นไม่มีทางเกิดอีกเช่นนี้กระมัง ?)

++ เล่ม ๑๑ หน้า ๔๖ “พระผู้มีพระภาคนั้นเป็นผู้ดับแล้ว ย่อมแสดงธรรมเพื่อความดับ” (ความดับในที่นี้จะแปลว่าสูญก็ไม่ได้ ตายก็ไม่ได้ แปลได้อย่างเดียวคือดับกิเลส เพราะถ้าสูญไปตายไปก็คงมาแสดงธรรมไม่ได้)


(โปรดติดตามตอนต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 9/1/18 at 06:07

[ ตอนที่ 8/18 ]

วันที่ 16 มกราคม 2561


นิพพานสูญ กับ นิพพานไม่สูญ (ต่อ)


++ หน้า ๑๔๐ “ย่อมน้อมไปในอมตธาตุว่าธรรมชาตินี้สงบ ธรรมชาตินี้ประณีต คือธรรมเป็นที่สงบสังขารทั้งปวง เป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา เป็นที่สิ้นกำหนัด เป็นที่ดับสนิท เป็นที่ดับกิเลสและกองทุกข์ ดังนี้”

++ เล่ม ๑๖ หน้า ๑๘ “เพราะความดับ เพราะไม่ถือ มั่นอวิชชา ควรจะกล่าวว่าภิกษุบรรลุนิพพานในปัจจุบัน” (ข้อนี้แสดงว่าถึงยังไม่ตายก็ดับได้)

++ หน้า ๑๒๘ ภพดับเป็นนิพพาน
++ เล่ม ๑๗ หน้า ๕๘ “เพราะละความกำหนัดเสียได้ อารมณ์ย่อมขาดสูญ”
++ หน้า ๒๑๐ “ความสิ้นไปแห่งตัณหาเป็นนิพพาน”

++ หน้า ๒๑๐ “เพราะความดับสนิทแห่งกิเลสเหล่านั้น เรากล่าวว่าเป็นธรรมที่ดับสนิทแห่งเครื่องนำไป ไปภพ.”

++ เล่ม ๒๕ หน้า ๕๖ “เมื่อใดพราหมณ์เป็นผู้ถึงฝั่งในธรรมทั้ง ๒ ประการ เมื่อนั้นกิเลส เครื่องประกอบทั้งปวงของพราหมณ์นั้นผู้รู้แจ้ง ย่อมถึงความสาบสูญไป.”

++ เล่ม ๓๐ หน้า ๓๕ คำว่า “ดับแล้ว” ความว่าชื่อว่าดับแล้ว เพราะเป็นผู้ดับราคะ โทสะ โมหะ.......ปมาทะ กิเลสทั้งปวง ความกระวนกระวายทั้งปวง ความเร่าร้อนทั้งปวง ความเดือดร้อนทั้งปวง อกุศลาภิสังขารทั้งปวง ฯ”

++ เล่ม ๓๑ หน้า ๑๘๓ คำว่า สุญญํ ความว่าเป็นสถานที่ไม่เกลื่อนกล่นด้วยใคร ๆ เป็นคฤหัสถ์ก็ตาม เป็นบรรพชิตก็ตาม


...ตามที่ยกมาอ้างนี้ จะเห็นได้ว่าที่ดับที่ขาดสูญนั้นคือ "ภพ" และ "กิเลส" ไม่ใช่ผู้ที่เข้านิพพานอันตรธานสูญไปไม่มีอยู่

ตามชื่อที่เรียกกันนั้น เรียกนิพพานว่า "อมตะ" หรืออมตธาตุไม่ตาย เมื่อไม่ตายก็มีอยู่ตลอดเวลา ถ้าสูญไปก็ควรจะเรียกได้ว่าตายตลอดเวลา ตรงกันข้าม ส่วนที่แสดงว่านิพพานมีอยู่ กลับมีมากมาย


++ เล่ม ๑๒ หน้า ๔๘๘ “นิพพานอันผู้บรรลุพึงรู้แจ้งได้ เป็นอนิทัสสนะ เป็นอนันตะ มีรัศมีในที่ทั้งปวง”

++ เล่ม ๒๕ หน้า ๔๒๙ “นามรูปของผู้นั้นแลเป็นของเท็จ เพราะนามรูปมีความสาบสูญไปเป็นธรรมดา นิพพานมีความไม่สาบสูญเป็นธรรมดา พระอริยเจ้าทั้งหลายรู้นิพพานนั้นโดยความเป็นจริง


(โปรดติดตามตอนต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 16/1/18 at 05:01

[ ตอนที่ 8/19 ]

วันที่ 24 มกราคม 2561


นิพพานสูญ กับ นิพพานไม่สูญ (ต่อ)


...ในบางแห่งกล่าวถึงนิพพานในลักษณะว่าเป็นที่แห่งหนึ่ง

++ เล่ม ๑๒ หน้า ๓๔๙ “นิพพานอันเป็นแดนเกษม” “โลกอันมัจจุถึงไม่ได้”
...โลกในที่นี้คงเป็นคำรวม เพราะบางทีหมายถึงร่างกายก็ได้ ไม่หมายถึงภพ

++ เล่ม ๒๓ หน้า ๑๗๘ “ดูกรปหาราทะ ฉันนั้นเหมือนกันถึงแม้ภิกษุเป็นอันมากจะปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ นิพพานธาตุก็มิได้ปรากฏว่าจะพร่องหรือเต็มด้วยภิกษุนั้น”
...ความพร่องความเต็มย่อมต้องใช้กับสถานที่เท่านั้น

++ เล่ม ๒๕ หน้า ๗๒ ทรงเปล่งอุทานว่า “ดิน น้ำ ไฟ และลม ย่อมไม่หยั่งลงในนิพพานธาตุใด ในนิพพานธาตุนั้นดาวทั้งหลายย่อมไม่สว่าง พระอาทิตย์ย่อมไม่ปรากฏ พระจันทร์ย่อมไม่สว่าง ความมืดย่อมไม่มี”
...ข้อนี้คงจะซ้ำกับข้อต้นที่ว่ารัศมีในที่ทั้งปวง ถึงแม้จะไม่มีบ่อเกิดแสง

++ เล่ม ๒๕ หน้า ๑๖๖ “บุคคลตัดวัฏฏะได้แล้ว บรรลุถึงนิพพานอันเป็นสถานที่ไม่มีตัณหา”

++ เล่ม ๒๕ หน้า ๑๗๕ “ดูกรภิกษุทั้งหลายอายตนะนั้นมีอยู่ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาสานัญจายตนะ วิญญานัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ โลกนี้ โลกหน้า พระจันทร์ และพระอาทิตย์ทั้งสองย่อมไม่มีในอายตนะนั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่กล่าวซึ่งอายตนะนั้นว่าเป็นการมา การไป เป็นการตั้งอยู่ เป็นการจุติ เป็นการอุบัติ อายตนะนั้นหาที่ตั้งอาศัยมิได้ มิได้เป็นไป หาอารมณ์มิได้ นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์”

++ เล่ม ๓๑ หน้า ๘๔ "โลกุตตรภูมิเป็นไฉน มรรค ผล นิพพานธาตุอันปัจจัยไม่ปรุงแต่ง อันเป็นโลกุตตระนี้ชื่อว่า โลกุตตรภูมิ"

++ เล่ม ๓๓ “เมื่อดิฉันทั้งหลายออกจากภพนี้ไปสู่บุรี คือนิพพานอันอุดม”

++ เล่ม ๙ หน้า ๓๗๓ ภิกษุทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน”


พระพุทธเจ้าทรงตอบว่าปัญหานี้ตั้งไม่ถูก ควรถามว่า ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในที่ไหน นามและรูปย่อมดับไม่เหลือในที่ไหน ดังนี้

(โปรดติดตามตอนต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 24/1/18 at 04:15

[ ตอนที่ 8/20 ]

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561


นิพพานสูญ กับ นิพพานไม่สูญ (ต่อ)


...ในปัญหานั้นมีพยากรณ์ดังต่อไปนี้

"ธรรมชาติที่รู้แจ้ง ไม่มีใครชี้ได้ ไม่มีที่สุด แจ่มใสโดยประการทั้งปวง ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในธรรมชาตินี้

อุปาทายรูปที่ยาวและสั้น ละเอียดและหยาบ ที่งามและไม่งาม ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในธรรมชาตินี้ นามและรูปย่อมดับไม่มีเหลือในธรรมชาตินี้ เพราะวิญญาณดับ นามและรูปย่อมดับไม่เหลือในธรรมชาตินี้”


อาจจะเป็นคำที่ว่าวิญญาณดับนี้เองที่ทำให้คิดว่านิพพานสูญ แต่คำนี้เข้าใจยากว่าเป็นอะไร และมักเข้าใจปนอยู่กับคำว่า “จิต”

++ เล่ม ๑๗ หน้า ๕๙ “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าความกำหนัดในรูปธาตุ ในเวทนาธาตุ ในสัญญาธาตุ ในสังขารธาตุ ในวิญญาณธาตุ เป็นอันภิกษุละได้แล้วไซร้ เพราะละความกำหนัดเสียได้ อารมณ์ย่อมขาดสูญ ที่ตั้งแห่งวิญญาณย่อมไม่มี

วิญญาณอันไม่มีที่ตั้ง ไม่งอกงาม ไม่แต่งปฏิสนธิหลุดพ้นไป เพราะหลุดพ้นไปจึงดำรงอยู่ เพราะดำรงอยู่จึงยินดีพร้อม เพราะยินดีพร้อมจึงไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้งย่อมดับรอบเฉพาะตนเท่านั้น.”

++ เล่ม ๒๕ หน้า ๓๐ “จิตของเราถึงแล้วซึ่งนิพพานอันปราศจากสังขาร”


ความนี้ฟังยาก เพราะเมื่อที่ตั้งของวิญญาณไม่มี วิญญาณหลุดพ้นไปก็น่าจะดับ แต่กลับกลายเป็นดำรงอยู่ แต่ในความที่สอง บอกว่าจิตไปเข้านิพพาน คำอธิบายของจิตกับวิญญาณ น่าจะดูจาก

++ เล่ม ๔ หน้า ๑๘๑ “ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตดวงแรกใดเกิดแล้วในอุทรมารดา วิญญาณดวงแรกปรากฏแล้ว อาศัยจิตดวงแรกวิญญาณดวงแรกนั้นน่ะแหละ เป็นความเกิดของสัตว์นั้น”

(โปรดติดตามตอนต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 1/2/18 at 04:17

[ ตอนที่ 8/21 ]

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561


นิพพานสูญ กับ นิพพานไม่สูญ (ต่อ)


...ดูการเกิดของมนุษย์จากเล่ม ๑๒ หน้า ๓๙๘
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดมารดาบิดาอยู่ร่วมกันแล้ว มารดามีระดูด้วย ทารกที่จะมาเกิดก็ปรากฏด้วย”

อันนี้แสดงว่าต้องมีสิ่งที่จะมาเกิดมาจากภายนอกร่างกายมารดา ข้อนี้ยืนยันได้จากประโยชน์ ๖ ประการของการเป็นพระอินทร์

ในเล่ม ๑๐ หน้า ๒๕๓ คือ
“ข้อ ๒ จุติจากกายทิพย์แล้ว จะเข้าสู่ครรภ์ในตระกูลอันเป็นที่พอใจของตน”

ปัญหามีว่าอะไรของพระอินทร์ที่มาจุติ ถ้าเราตอบว่า “จิต” ก็จะนำไปใช้ได้ทุกกรณีรับกันหมด คือ เมื่อรวมความแล้ว จิตเป็นตัวมาเกิดในร่างทารก ซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ

ดังเล่ม ๑๕ หน้า ๑๘๙ เสลาภิกษุณีกล่าวกับมารผู้มีบาปว่า
“รูปนี้ไม่มีใครสร้าง ไม่มีใครก่อ รูปเกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุ ดับไปเพราะเหตุดับ”

หรือเล่ม ๑๖ หน้า ๗๐
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย กายนี้มิใช่ของเธอทั้งหลาย ทั้งไม่ใช่ของผู้อื่น”

เกี่ยวกับวิญญาณนั้น ในเล่ม ๑๔ หน้า ๓๗๔ เมื่อทรงกล่าวถึงธาตุ ๔ ของร่างกาย คือ ปฐวี อาโป เตโช และวาโยธาตุ อากาศธาตุแล้ว

“ต่อนั้นสิ่งที่เหลืออยู่อีกก็คือวิญญาณอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง บุคคลย่อมรู้อะไร ๆ ได้ด้วยวิญญาณนั้น”

ท่านไม่ตรัสว่าสมอง แต่ตรัสถึงวิญญาณ ทั้งนี้ต้องเข้าใจไว้ด้วยว่าในที่อื่นท่านกล่าวถึงสมองไว้เหมือนกัน

ถ้าเราจะตั้งทฤษฎีว่า ร่างกายเกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่ยังไม่มีชีวิต จะมีชีวิตได้ก็ต่อเมื่อมีจิตเข้ามาอยู่ (ด้วยมีสิทธิ์เลือก หรือตามกรรมบังคับ)

พอจิตเข้าเกิดในท้องแม่วิญญาณดวงแรกก็เกิด แล้วดูเหมือนว่า จิตจะถูกกลืนหายไปในวิญญาณซึ่งทีแรกก็บริสุทธิ์ดี

ต่อมาเมื่อคนตายวิญญาณก็ตาย ทำให้จิตหลุดเป็นอิสระไปเกิดตามกรรมที่ทำต่อไป หรือเมื่อบุคคลตัดกิเลสได้จิตก็เป็นอิสระจากวิญญาณ คือวิญญาณไม่มีที่ตั้งแล้วจิตก็หลุดพ้นไปเข้านิพพาน

หากเป็นเช่นนี้แล้ว ที่พูดว่าวิญญาณดับไปเหมือนดวงประทีป แต่จิตที่หลุดเป็นอิสระไปเข้านิพพานก็รับกันได้พอดี

อย่างไรก็ดี ที่ว่านิพพานไม่สูญนั้น ยังอาจตีความได้จากอีกหลายแห่งว่า นิพพานนั้นสามารถรู้เห็นกันได้ เพราะถ้าสูญก็รู้เห็นไม่ได้

(และอย่าลืมว่าสิ่งใดพระพุทธเจ้าไม่รู้ไม่เห็นด้วยพระองค์เองแล้ว ย่อมไม่สอน)

(โปรดติดตามตอนต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 9/2/18 at 04:43

[ ตอนที่ 8/22 ]

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2561


นิพพานมีอยู่ ไม่ใช่สูญ


...เล่ม ๒๓ หน้า ๓๘๓ ท่านพระอุทายีถามท่านพระสารีบุตรว่า
“ดูกรอาวุโสสารีบุตร นิพพานนี้ไม่มีเวทนา จะเป็นสุขได้อย่างไร”

ได้รับคำตอบว่า “ดูกรอาวุโส นิพพานนี้ไม่มีเวทนานั่นแหละเป็นสุข”

แล้วแถมท้ายด้วยการอธิบายว่า “ดูกรอาวุโส นิพพานเป็นสุขอย่างไร ท่านจะพึงทราบได้โดยปริยายแม้นี้“

แล้วท่านก็เล่าตั้งแต่ฌาน ๑ ไปจนถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ ว่านั่นแหละเทียบกับสุขในนิพพาน

เล่ม ๒๒ หน้า ๓๖๘ กล่าวว่าผู้ใดได้ฌานสามารถถูกต้องอมตธาตุด้วยกายได้
เล่ม ๒๕ หน้า ๒๕๖ “พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้หาอาสวะมิได้ ถูกต้องอมตธาตุอันไม่มีอุปธิด้วยนามกาย”

จากข้ออ้างนี้อนุมานได้ว่า นิพพานมีอยู่ ไม่ใช่สูญ
พิจารณายืนยันอีกจากลักษณะของอสังขตธรรม ๓ ประการในเล่ม ๒๐ หน้า ๑๗๐ คือ

๑. ไม่ปรากฏความเกิด
๒. ไม่ปรากฏความเสื่อม
๓. เมื่อตั้งอยู่ไม่ปรากฏความแปรปรวน


ทำให้เกิดสงสัยว่าเมื่อไม่เกิดก็ไม่ควรมีอยู่ แต่นี่แสดงว่ามีอยู่ (ตามข้อ ๒ และ ๓) คือถึงไม่เกิดก็มีอยู่ได้

เล่ม ๑๓ หน้า ๑๗๙ “ดูกรอนุรุทธะ ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ได้ฟังว่าภิกษุชื่อนี้ ทำกาละแล้วดำรงอยู่ในอรหัตผล”

ถ้า “ดำรงอยู่” ก็ต้องแปลว่า "สูญ" ไม่ได้เป็นแน่ละ

เล่มเดียวกันนี้ "วัจฉโคตรปริพาชก" ทูลถามพระพุทธเจ้าในหน้า ๒๐๙ ว่า
“ข้าแต่พระโคดม ก็ภิกษุมีจิตพ้นวิเศษแล้วอย่างนี้ จะเกิดในที่ไหน

ดูกรวัจฉะ คำว่าจะเกิดดังนี้ไม่ควรเลย
ข้าแต่พระโคดม ถ้าเช่นนั้นจะไม่เกิดขึ้นหรือ

ดูกรวัจฉะ คำว่าไม่เกิดดังนี้ก็ไม่ควร”


ต่อไปวัจฉโคตรก็ทูลถามไล่ไปถึง เกิดก็มี ไม่เกิดก็มี, เกิดก็ไม่ใช่ ไม่เกิดก็ไม่ใช่, อะไรก็ไม่ควรสักอย่าง วัจฉโคตรคงชักจะโมโหต่อว่าว่า

“ข้าแต่พระโคดม ในข้อนี้ข้าพเจ้าถึงความไม่รู้ ถึงความหลงแล้ว แม้เพียงความเลื่อมใสของข้าพเจ้าที่ได้มีแล้ว เพราะพระวาจาที่ตรัสไว้ในเบื้องแรกของท่านพระโคดม บัดนี้ได้หายไปเสียแล้ว”

ซึ่งพระพุทธเจ้าก็คงจะขำ ตอบว่าควรแล้วที่จะไม่รู้ เพราะเป็นของรู้ได้ยาก

(โปรดติดตามตอนต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 17/2/18 at 08:07

[ ตอนที่ 8/23 ]

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2561


เรื่องการเกิด


...ในเรื่องการเกิดนี้ มีคำจำกัดความไว้ใน เล่ม ๑๒ หน้า ๑๑๗

“ดูกรสารีบุตร กำเนิด ๔ ประการเป็นไฉน คือ อัณฑชะกำเนิด, ชลาพุชะกำเนิด, สังเสทชะกำเนิด, และ โอปปาติกะกำเนิด” แล้วทรงอธิบายว่า

- อัณฑชะกำเนิด คือ การชำแรกเปลือกแห่งฟองเกิด
- ชลาพุชะกำเนิด คือ การชำแรกไส้ (มดลูก) เกิด
- สังเสทชะกำเนิด คือ เกิดในปลาเน่า ของบูด ฯลฯ น้ำครำ เถ้าไคล เป็นต้น
- โอปปาติกะกำเนิด คือ ได้แก่เทวดา สัตว์นรก มนุษย์บางพวก และเปรตบางพวก


ถ้าเราจะใช้ทฤษฎีของเราว่าผู้ที่เป็น "พระอรหันต์" เมื่อตายจิตก็เป็นอิสระจากวิญญาณ แล้วไปดำรงอยู่ในนิพพานเฉย ๆ ก็จะเห็นได้ว่าจิตนั้นไม่ใช่การเกิดตามคำจำกัดความ (เราอาจจะคิดว่าจิตเป็นกำลังงานอันหนึ่งก็คงจะได้กระมัง)

แต่จะว่าไม่เกิดก็มีปรากฏไป “ดำรงอยู่ในอรหัตผล” แล้วก็ไม่มีแก่ ไม่มีตาย เป็นอมตะ มีความสุขตลอดกาลเป็นเอกันตบรมสุข

อย่างนี้บางทีเราอาจจะพอเข้าใจได้ลาง ๆ และตรงกันกับคำอธิบายทั้งหลาย ส่วนสถานที่อันเป็นที่อยู่ของพวกพระอรหันต์ที่ตายแล้วนั้น

เมื่อไม่มีการเกิดก็ไม่เรียกว่าภพ และภพอื่น ๆ ที่ว่าดับไปก็คือไม่มีอิทธิพลต่อจิตนี้ เมื่อมีทฤษฎีว่ามีจิตไปเสวยอรหันตผลอยู่ในนิพพาน

และจิตเหล่านั้นเป็นจิตที่มีฤทธิ์ จิตก็สามารถจะบันดาลให้ใครเห็นหรือได้ยินอะไรก็ได้ตามวิสัย และตามแต่ท่านเหล่านั้นต้องการจะสงเคราะห์ คราวนี้นักปราชญ์ก็จะค้าน ๒ ข้อ


...๑. การมีอะไรไปเข้านิพพาน แสดงว่า “อะไร” นั้นเป็นอัตตาค้านกับที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าอัตตาไม่มี มีแต่อนัตตา

...๒. การไปมีความสุขในพระนิพพานนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะความสุขเป็นกิเลส


คำตอบสำหรับข้อ ๑ มีดังนี้ คือ คนส่วนมากไม่ได้ศึกษาโดยแท้จริงว่า พระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างไร ส่วนมากเรื่องความมีตัวตน หรือไม่มีตัวตนนี้ มักยก "สัสตทิฐิ" กับ "อุจเฉททิฐิ" มาอ้างว่า

พระพุทธเจ้าสอนว่า ความเห็นทั้งสองอย่างนี้ผิด คือยึดว่ามีตัวตนก็ผิด ตามสามัญสำนึกมักจะไปเพ่งกันที่ตัวตนว่ามีหรือไม่มี ถ้าหากท่านสอนว่ามีก็ผิด ไม่มีก็ผิด

อย่างนี้ก็ฟังชอบกลอยู่ เพราะมันควรจะต้องถูกเข้าสักข้างหนึ่ง ความจริงที่ท่านว่าผิดนั้นคือการยึดหรือทิฐิเอง ทิฐิมี ๖๒ อย่าง ผิดทั้งหมด

ถ้าไปยึดอะไรเข้าก็ผิดทั้งนั้น ท่านสอนไม่ให้ยึด แต่ให้ปล่อยวาง แม้แต่ "พระนิพพาน" ท่านก็ให้เพียงแต่รู้ไม่ให้ยึด


(โปรดติดตามตอนต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 25/2/18 at 07:55

[ ตอนที่ 8/24 ]

วันที่ 5 มีนาคม 2561


"อนัตตา" ในพระไตรลักษณ์


...ตัว "อนัตตา" แท้ ๆ ที่ท่านสอน คือ ตัวอนัตตาในพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา "อนัตตา" อันนี้มีความหมายอย่างไร ?

พระที่เรียนบาลีท่านบอกว่า แปลว่ามีความเป็นก้อนมั่นคง หรืออะไรทำนองนี้ เวลาสอนสาวก พระพุทธเจ้าท่านมักจะไล่ไตรลักษณ์อยู่บ่อย ๆ


ตัวอย่างจากเล่ม ๑๗ หน้า ๕๓ พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกร โสณะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง คฤหบดี บุตรชื่อโสณะ ทูลว่า ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า
ส. เป็นทุกข์พระเจ้าข้า

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะพิจารณาสิ่งนั้นว่านั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นตัวตนของเรา

ส. ข้อนั้นไม่ควรเลย พระเจ้าข้า

แล้วท่านก็ไล่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไปตามลำดับ เสร็จแล้วท่านก็สรุปว่า

“ดูกร โสณะ เพราะเหตุนั้นแล ท่านพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า รูปอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน

เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้ รูปทั้งหมดนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง......”

“ดูกร โสณะ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในรูป แม้ในเวทนา แม้ในสัญญา แม้ในสังขาร แม้ในวิญญาณ

เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัดจิตย่อมหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว

ย่อมทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี”


(โปรดติดตามตอนต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 5/3/18 at 06:06

[ ตอนที่ 8/25 ]

วันที่ 13 มีนาคม 2561


หลักสูตรการเป็นพระอรหันต์


...นี่คือหลักสูตรการเป็นพระอรหันต์ชัด ๆ จะเห็นได้ว่า
“ไม่เที่ยง” คือ อนิจจัง
“เป็นทุกข์” คือ ทุกขัง
“ไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา”

คือ "อนัตตา" อนัตตาตัวนี้ คือ ตัวสำคัญที่เป็นหลักใหญ่ของคำสอนของพระองค์ คนที่รับความหมายว่า "อนัตตา" คือไม่มีตัวตน

จะเกิดความสงสัยเป็นกำลังว่า ร่างกายก็มีอยู่จะว่าไม่มีตัวตนได้ยังไง เมื่อรับไปผิดก็ไม่เข้าใจ อนัตตามีความสำคัญอยู่ที่ว่าร่างกายนี้ไม่มีแก่นสารที่มั่นคง มีแก่ มีเจ็บ มีตาย ไม่ใช่ของเรา

ท่านสอนไว้ในที่แห่งอื่นว่า ถ้าเป็นของเรา เราก็ควรจะสั่งมันได้ซีว่า อย่าแก่ อย่าเจ็บ อย่าตาย ถ้าสั่งไม่ได้ก็ไม่ใช่ของเรา

กุญแจสำคัญของการเข้าถึงความเป็นพระอรหันต์อยู่ที่ตัวอนัตตานี้เอง อย่างที่ท่านสอนท่านโสณะที่อ้างมานี้ว่า เมื่อเห็นแล้วว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา (“เรา” คือจิตที่มาอาศัยเกิด)

แล้วก็ย่อมเบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่ายก็คลายกำหนัด คือ ตัดร่างกายทิ้งไปไม่เอาเรื่องกับมัน ตัดขาดว่าไม่ใช่ของเราที่จะต้องหวงต้องบำรุงตบแต่ง ฯลฯ เมื่อคลายกำหนัดก็หลุดพ้น เป็นพระอรหันต์ แค่นี้เอง

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าที่หลาย ๆ คนพากันเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า “ไม่มีตัวตน” นั้น ต่างก็มักจะเข้าใจกันไม่ถูกเรื่อง ไม่ลึกซึ้งพอ

"อนัตตา" คือเห็นว่าร่างกายหรือตัวตนนี้ไม่ใช่ “เรา” ไม่เป็น “ของเรา” จึงจะเป็นความเข้าใจที่ถูก ตามหลักฐานที่อ้างมาแล้ว


(โปรดติดตามตอนต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 13/3/18 at 06:31

[ ตอนที่ 8/26 ]

วันที่ 22 มีนาคม 2561


พิจารณา "อนัตตา" ให้เป็นเป็นประโยชน์


...เรื่องนี้พระพุทธเจ้าท่านเอาไปสอนในอีกหลายแห่ง เช่นถามว่าคนตายแล้วเกิดหรือ ไม่เกิดหรือ และอะไรต่ออะไรตามมาอีกนั้น

ท่านไม่พูด ไม่ตอบ ไม่เห็นอย่างนั้น ก็เพราะว่า เมื่อรู้เสียแล้วว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา เราก็ไม่มีตัวตนที่เป็นของตนเองอยู่

และเมื่อเป็นเช่นนั้น การพูดถึงความตายความเกิดก็ไม่มีประโยชน์อะไร พระพุทธเจ้าพ้นจากการบัญญัติว่ารูป เสียแล้ว

ในทางตรงกันข้ามถ้าพูดถึงเรื่องตาย เรื่องเกิด กลับเป็นการยอมรับบัญญัติว่ามีรูปฯ ซึ่งผิดหลักการที่ทรงสั่งสอน (เลยมีคนเอาไปแปลว่า พระพุทธเจ้าไม่ยืนยันว่าตายแล้วเกิด)

เวลาที่พระบางองค์ท่านสอน ว่าเป็นพระอรหันต์ง่ายจะตายไป ไม่เห็นมีอะไรเลย มัวหลงไป ทำอย่างอื่นเสียตั้งนาน เสียท่าจริงๆ นั้น

+++ พระเช่นนี้มักจะถูกค่อนขอดว่า อวดเก่ง อวดอุตริมนุสธรรม รู้ได้ยังไงว่าเป็นพระอรหันต์ ฯลฯ +++

คนที่พูดเช่นนั้นแหละ ควรจะถามตัวเองว่ารู้หรือว่าอย่างไร หรือทำอย่างไรจึงจะเป็นพระอรหันต์ได้ ความจริงตัวเองไม่รู้ แล้วก็จะเกณฑ์ให้คนอื่นไม่รู้ไปด้วย ท่านพูดไว้ในพระไตรปิฎกเห็นทนโท่ก็ไม่อ่าน

คนส่วนมากคงเข้าใจว่าต้องทำสมาธิ วิปัสสนากันเป็นการใหญ่ จึงจะพ้นกิเลสได้ พวกวิปัสสนาบางสำนักยังดูหมิ่นพวกสมาธิ หรือสมถะอีกว่าทำไม่ถูก ทางตรงต้องวิปัสสนาจึงจะได้ ฯลฯ

ก็วิปัสสนานั้นคืออะไรล่ะ ก็คือพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงของธรรมชาติ ว่าร่างกายนี้เปลี่ยนแปลง เป็นทุกข์ มีแก่ เจ็บ ตาย เป็นต้น ไม่ควรคบ

ถึงจะตายไปเป็นเทวดาเป็นพรหมมีความสุขสบาย ในที่สุดก็ต้องกลับมาเกิดเป็นคน ต้องรับทุกข์อีกน่ะแหละ คือพิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริงในอนัตตา นั่นเอง

คนธรรมดาเวลามีความสุขสบาย มักจะทำใจให้เห็นจริงไม่ได้ว่าร่างนี้ไม่ใช่เรา ควรทิ้งไปเสีย เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยวิธีอื่นช่วย เช่น ฝึกให้มีทิพจักขุญาณดูกันให้รู้ดำรู้แดงว่า

เมื่อก่อนเคยเกิดเป็นหมู หมา เป็นหนอนในส้วม เคยตกนรกมาแล้วตั้งเยอะจริงหรือเปล่า หรือฝึกให้จิตนิ่งเป็นสมาธิ หรืออยู่ในฌาน จิตแจ่มใส เหมือนน้ำใสแหนวไม่ขุ่นมัว

แล้วเอาจิตดวงนั้น (ในสภาพนั้น) พิจารณา "อนัตตา" ก็จะเห็นแจ่มแจ้งขึ้น ตัวอย่างเช่น อุจจาระมันเหม็น ถ่ายออกมาแล้ว ก็รังเกียจจับต้องไม่ได้

แต่มีใครที่ทำใจได้ว่าอุจจาระเหม็นนั้น มันอยู่ในท้องของเราเองตลอดเวลา ทำไมเราไม่รังเกียจ ทำไมเราไม่รังเกียจตัวเราเอง ซึ่งเป็นต้นตอของอุจจาระนั้น และขี้อะไรต่ออะไรอีกตั้งเยอะบ้าง ตรงกันข้ามกลับรักมันเสียแทบเป็นแทบตาย

ส่วนคนที่มีความทุกข์ต่าง ๆ มักจะเห็นสภาพเช่นนี้ได้ดีกว่า โดยเฉพาะคนที่ถูกโรคทรมานจนมีความเจ็บปวดแสนสาหัสนั้น ไม่ต้องลงทุนลงแรงสมาธิวิปัสสนาอะไรมากนัก เขาก็เห็นได้ด้วยตัวเองทันทีว่า ร่างกายนี้ทุกข์หนอ

เพราะฉะนั้น ถ้าคนไหนขี้โรค แต่รู้จักพิจารณา "อนัตตา" ให้เป็นเป็นประโยชน์ โดยอาศัยความทรมานจากโรคนั้นเป็นเครื่องพิจารณา เขากลับจะเป็นคนโชคดีกว่าเศรษฐีร้อยล้านเสียอีก

คนอีกประเภทหนึ่งที่พิจารณา "อนัตตา"ได้ดี คือคนที่กำลังจะตาย คนพวกนี้เห็นจริงชัดเจนในบัดนั้นเองว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา ดึงไว้ไม่ได้แล้ว กิจการ เงินทอง ยศ ฯลฯ ที่ทำไว้มากมายนั้น ผลสุดท้ายก็มาสิ้นสุดตรงนี้เอง

สิ่งเหล่านี้คนเราธรรมดามองไม่เห็น แม้แต่จะคิดว่าเราต้องตายแน่ ๆ ก็ยังไม่คิด กลับทำท่าคล้าย ๆ ว่าเราจะไม่ตายอย่างนั้นแหละ

พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า คนเราตายได้ทุกขณะนะ อย่าประมาทให้คิดไว้ทุกขณะจิตว่า เดี๋ยวก็จะตายแล้ว แต่มีใครปฏิบัติอย่างนี้สักกี่คน ตรงกันข้าม ใครทำอย่างนี้ หาว่าเซี้ยว ไม่เต็มบาทด้วยซ้ำ

นี่คนเรามักเป็นอย่างนี้ คนอื่นทำดี ทำถูก หาว่าเขาบ้า เราไม่รู้ คนอื่นเขารู้ และรู้ถูกรู้จริงด้วย หาว่าเขาเหลวไหล งมงาย

ความแตกต่างระหว่างพระอรหันต์กับคนธรรมดา ก็คือ คนธรรมดารู้ เข้าใจความของ "อนัตตา" แต่ทำจิตให้หลุดพ้นไม่ได้ ส่วนพระอรหันต์ท่านทำจิตหลุดพ้นได้เท่านั้น


(โปรดติดตามตอนต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 22/3/18 at 07:46

[ ตอนที่ 8/27 ]

วันที่ 30 มีนาคม 2561


หลักสูตรการเป็นพระอรหันต์


...เรื่องนี้ ความจริงหลวงพ่อท่านก็สอน "คุณอ๋อย" กับพุทธบริษัทมาตั้งนานแล้ว แต่ไม่ค่อยจะ “แจ้ง” กันสักที หลวงพ่อท่านบอกว่าไม่เป็นไร

ตอนนี้รู้ไว้ก่อน รักษาตัวไว้ในกุศลกรรมก็แล้วกัน อย่างน้อยก็รักษาศีล ๕ เท่าชีวิตไว้ แล้วให้จิตระลึกถึงแต่ความดีที่เคยทำมาให้เป็นนิสัย

ความชั่วที่เคยทำมาบ้างในกาลก่อนอย่าพยายามไปคิดถึงมันให้ใจมัวหมอง พอถึงเวลาจะตาย จิตมันจะรวมตัวเองในตอนนั้น ใช้เวลาตัดไม่นานนักก็จะไปนิพพานได้

วิธีตัดแบบนี้ตรงกับที่พะพุทธเจ้าท่านทรงสอนท่านโสณะใน เล่ม ๑๗ หน้า ๕๓ เราไม่ค่อยจะเชื่อสนิทนักเพราะดูง่ายเกินไป ส่วนมากเรามักจะไปรู้กันแต่ว่า จะเป็นพระอรหันต์ต้องตัดกิเลส

แล้วทีนี้ก็ไปไล่กิเลสกันซี มีตั้ง ๑๐๘ ไอ้ตัวนั้นจะตัดยังไง ไอ้ตัวนี้จะตัดยังไง รู้สึกว่าความจริงแล้วทำอย่างนั้นก็ไม่ผิด แต่เป็นการทำแบบลิดรอนแขนงกิ่งก้านจนต้นไม้ตายไปเอง

ส่วนวิธีนี้เป็นแบบสายฟ้าแลบ โค่นต้นไม้ตึงเดียว อย่างอื่นตายหมด คือ เมื่อตัดความรักความอาลัยในร่างกายได้ พร้อมทั้งตั้งเจตนาไปนิพพานเลย ไม่ขอเป็นอะไรอื่นทั้งหมด กิเลสทั้งหลายมันก็หมดไปเองโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องไปไล่ตัดมันทีละตัว ๆ

หลวงพ่อท่านแถมพกให้อีกหน่อยว่า ถ้าเราทำตัวดีมุ่งทางธรรมกันโดยแท้จริง หรือทำความดีกับพระศาสนาไว้มากแล้ว พระท่านมักจะมาช่วยส่งเสริมในตอนใกล้จะตาย ช่วยให้ทำจิตได้ดีขึ้นด้วย

เรื่องนี้เราก็ต้องเชื่อท่านไว้ก่อนตามระเบียบ เพราะยังไม่เคยตาย ที่เคยตายมาหลายแสนชาติแล้วก็จำไม่ได้ว่าตายยังไง รู้แต่ว่าคงจะตายไม่ถูกวิธีเลยต้องเกิดอีกอย่างนี้แหละ


(โปรดติดตามตอนต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 30/3/18 at 06:39

[ ตอนที่ 8/28 ]

วันที่ 12 เมษายน 2561


ในนิพพานมีความสุขไม่ได้เพราะเป็นกิเลส


...สำหรับปัญหาข้อที่ ๒ คือ ในนิพพานมีความสุขไม่ได้เพราะเป็นกิเลสนั้น มีคำตอบดังนี้

++ เล่ม ๑๓ หน้า ๘๗ ทรงกล่าวถึงกามคุณ ๕ คือ รูป อันพึงจ ะรู้ได้ด้วยจักษุ อันสัตว์ปรารถนา ใคร่ พอใจ เป็นที่รัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ ทรงกล่าวว่า

“...สุขโสมนัสอันใดย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยกามคุณ ๕ นี้ สุขแลโสมนัสนี้ เรากล่าวว่า กามสุข”

“...ดูกรอานนท์ เราไม่ยอมรับรู้ถ้อยคำของผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่าสัตว์ทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัสมีกามสุขนี้เป็นอย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ยังมีอยู่อีก”

แล้วท่านก็กล่าวต่อไปว่า มีสุขที่เหนือกว่ากันเป็นขั้น ๆ ไปดังนี้ ปฐมฌาน, ทุติยฌาน, ตติยฌาน, จตุตถฌาน, อากาสานัญจายตนะฌาน, วิญญานัญจายตนะฌาน, อากิญจัญญายตนะฌาน, เนวสัญญานาสัญญายตนะฌาน, และสัญญาเวทยิตนิโรธ

สุขในฌานนี้เป็นสุขไม่มีอามิส ไม่อาศัยตัณหา เพราะผู้เข้าฌานตัดกามฉันทะไปตั้งแต่ปฐมฌานแล้ว อาจเรียกว่า นิรามิสสุขได้

++ เล่ม ๑๓ หน้า ๑๖๔ “ดูกรอุทายี กามคุณห้าเหล่านี้ กามคุณห้าเป็นไฉน คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันพึงรู้แจ้งด้วยกาย ที่สุตวืปรารถนารักใคร่ ชอบใจเป็นสิ่งน่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด กามคุณห้านี้แลอุทายี

ความสุขโสมนัสที่เกิดเพราะอาศัยกามคุณห้านี้ เรากล่าวว่ากามสุข ความสุขไม่ละเอียด ความสุขของปุถุชน ไม่ใช่สุขของพระอริยะ อันบุคคลไม่ควรเสะ ไม่ควรให้เกิดมี ไม่ควรทำให้มาก ควรกลัวแต่สุขนั้น

ดุกรอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน - จตุตถฌาน ฌานทั้ง ๔ นี้เรากล่าวว่าความสุขเกิดแต่การออกจากกาม

ความสุขเกิดแต่ความสงัด ความสุขเกิดแต่ความสัมโพธิ อันบุคคลควรเสพ ควรให้เกิดมี ควรทำให้มาก ไม่ควรกลัว แต่ความสุขนั้นดังนี้”

ย้อนไปถึงที่กล่าวมาแล้วจากเล่ม ๒๓ หน้า ๓๘๓ ท่านพระสารีบุตรบอกกับท่านอุทายีว่า นิพพานเป็นสุขอย่างไรนั้น ทราบได้ด้วยการเข้าฌานหลาย ๆ ฌาน ก็ตรงกัน

เมื่อสรุปแล้ว ตอบได้ว่าสุขในนิพพานนั้นไม่ใช่กามสุข แต่เป็นสุขเนื่องจากออกจากกาม สุขเกิดแต่ความสงัดสุขเกิดแต่ความสัมโพธิ ซึ่งสุขเหล่านี้ไม่มีกิเลสตัณหาปน จึงเป็นสุขที่มีได้ เป็นสุขที่มิใช่กิเลส


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 17/4/18 at 05:35

[ ตอนที่ 8/29 ]

วันที่ 17 เมษายน 2561


เรื่องตายแล้วเกิดใหม่


...ช่วงนี้ในหนังสือ "อนุสรณ์ในการพระราชทานเพลิงศพ คุณเฉิดศรี สุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา" อดีตเจ้าของบ้านสายลม ยังคงเป็นเรื่องธรรมะ ที่ "ท่านเจ้ากรมเสริม" ในนามปากกา ก.ษ.ป. เป็นผู้เรียบเรียงจากพระไตรปิฏก สมมุตินามถามตอบกันกำลังใกล้จะจบแล้วละ เริ่มจากคำถามของคุณอ๋อย (อ) ต่อไป...

...อ. แล้วเรื่องตายแล้วเกิดใหม่ ชาตินี้ชาติหน้าล่ะ ?
...ส. หลังจากที่ค้นมาให้ดูแล้ว ก็ไม่น่ามีปัญหาจะถามกันในเรื่องนี้ ถ้าไม่มีเวียนว่ายตายเกิดที่พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า “วัฏฏสงสาร” ก็ไม่มีพระพุทธศาสนา

พระบางองค์ทำชาวบ้านเขวไปหมด อ้างว่าพระพุทธเจ้าไม่เคยยืนยันเลยว่าตายแล้วเกิดอีก พอไปค้นดูพระไตรปิฎก ปรากฏว่าพระนั่นขี้โกง พระแบบนี้ต้องระวัง เขาว่ากันว่าพระ ผกค. มีเยอะ คือ ปลอมเข้ามาบวชแล้วสอนให้มันเฉไฉออกไป

คนที่มักจะไม่สนใจศึกษาด้วยตัวเองอยู่แล้วว่าอะไรผิดอะไรถูก ชอบฮือฮาตามเขาไปก็จะพลอยเชื่อ แล้วในที่สุดพระพุทธศาสนาก็จะพัง
อย่างที่พระขี้โกงยกมาอ้างว่า พระพุทธเจ้าไม่เคยยืนยันว่าคนตายแล้วเกิดนั้นน่ะ

ท่านก็ยกมาตบตาคนไม่ได้อ่านพระไตรปิฎกเท่านั้นเอง ไว้ตอนที่ยืนยันว่าคนตายแล้วเกิดไม่ยักยกมาให้ดู ถึงได้บอกว่าพระขี้โกง
ตอนที่นิยมยกกันมาอ้าง คือ


++ เล่ม ๑๓ หน้า ๒๐๗ วัจฉโคตรปริพาชกทูลถามว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดมก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่าสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ

ดูกรวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น
ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่าสัตว์เบื้องหน้าแต่กายไปไม่มีอยู่ สิ่งนี้เท่านั้นจริงสิ่งอื่นเปล่าดังนี้หรือ

ดูกรวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น
ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่าสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ

ดูกรวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น
ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่าสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มิใช่ไม่มีอยู่ก็มิใช่ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ

ดูกรวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น
เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านผู้นั้นก็ชี้ว่า นี่เห็นไหมล่ะพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ยืนยันเลยว่าตายแล้วเกิด หรือไม่เกิด


...ปัญหานี้ใคร ๆ ก็มักจะพุ่งความสนใจไปยังจุดที่ว่า "ตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด" และเมื่อฟังคำตอบของพระพุทธเจ้าแล้วก็อาจจะนึกในใจว่า เอ๊ะ..ท่านพระโคดมนี่ยังไงเสียแล้ว ไม่เอาไหนเลย ตอบอะไรก็ไม่ตอบ เกิดใหม่หรือไม่เกิดใหม่ก็ว่ากันไปซีมี ๒ ประตูเท่านั้น

ความจริงนี่เป็นข้อบกพร่องของนักศึกษาเอง เพราะทุกคำถาม ถามว่า “ ท่านพระโคดมทรงเห็นว่า----------” และ “สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่าหรือ” ใจความตอนนี้ผู้แปลบางท่านไม่แปล จะทับศัพท์ว่า “ท่านพระโคดมทรงมีทิฐิว่า-----หรือ”

พระพุทธเจ้าท่านก็ตอบตรงเป๋งทุกข้ออยู่แล้ว ว่าไม่มีความเห็นว่า-----คือไม่มีทิฐิ ไม่ยึดมั่น เพราะการยึดทิฐิเป็นสิ่งที่ผิด

อย่างนี้ถามมาอีก ๑๐๐ คำถาม ท่านก็คง “ไม่มีความเห็นว่า----” อยู่นั่นแหละ ไม่ว่าเนื้อความข้างหลังต่อไปจะเป็นอะไร คือตอบว่ามีความเห็นหรือไม่มีความเห็นเท่านั้น ข้างหลังไม่เกี่ยว

ในกรณีของวัจฉโคตรนี้ ทรงอธิบายว่าความเห็นเหล่านั้นไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน จึงไม่เข้าถึงทิฐิเหล่านั้น

เรื่องอย่างเดียวกันนี้ บางทีท่านก็ทรงตอบว่า “เรื่องนี้เราไม่พยากรณ์” ด้วยเหตุผลเช่นเดียวกับข้างต้น เจตนาของคำตอบไม่ได้อยู่ที่ว่าตายแล้วเกิดจริงหรือไม่จริง แต่ต้องการตอบว่าถามอย่างนี้ไม่มีประโยชน์ต่างหาก


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 17/4/18 at 05:35

[ ตอนที่ 8/30 ]

วันที่ 25 เมษายน 2561


โลกหน้ามีหรือไม่มี


...อีกตัวอย่างหนึ่ง จากเล่ม ๑๙ หน้า ๙๒
“...ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณะพราหมณ์เหล่านั้น บุรุษผู้รู้แจ้งย่อมตระหนักชัดว่า

- ถ้าโลกหน้าไม่มี เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านบุรุษบุคคลนี้ เมื่อตายไปจักทำตนให้สวัสดีได้
- ถ้าโลกหน้ามี เมื่อเป็นเช่นอย่างนี้ท่านบุรุษบุคคลนี้ เมื่อตายไปจักเข้าถึงอบายทุคติ วินิบาต นรก”


...เมื่อคัดเอามาดังนี้แล้วก็ชี้ว่า นี่เห็นไหม พระพุทธเจ้าก็ยังไม่รู้แน่เลย ว่าโลกหน้ามีหรือไม่มี

ความจริง เหตุการณ์มีว่า คนเหล่านี้เป็นคนหน้าใหม่ต่อพระพุทธเจ้า ยังไม่ทันได้สอนอะไร ท่านก็ถามเขาว่ามีครูบาอาจารย์ที่เคารพหรือยัง เขาตอบว่ายัง

ท่านก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นเอาธรรมนี้ไปใช้ก่อน (ในเรื่องที่สงสัยว่าโลกหน้าจะมีหรือไม่มี) เรียกว่า "อปัณณกธรรม"

เราควรจะนึกออกว่าบรรดาคนหน้าใหม่นี้ ยังไม่มีความเลื่อมใสต่อพระพุทธเจ้า ถ้าอยู่ ๆ ไปสอนว่ามีโลกหน้าแล้วเขาไม่เชื่อ เขาก็จะหาว่าพระพุทธเจ้าพูดปดเลยลงนรกไปเลย

พระพุทธเจ้าท่านมีเมตตาสูง และไม่โง่อย่างเรา นึกอยากจะพูดก็พูด นึกอยากจะสอนอะไรก็สอน เวลาจะสอนท่านจะเริ่มด้วย "อนุปุพพิกถา" สัคคกถา (อานิสงส์สวรรค์) ให้ใจอ่อนโยน มีความเลื่อมใสเสียก่อนจึงแสดงธรรม

ข้อความในเล่ม ๑๓ หน้า ๙๒ ที่คัดมานี้เป็นข้อ ๑๐๗ คัดมาแสดงว่าพระพุทธเจ้าไม่ยืนยันว่าโลกหน้ามี แต่ปรากฏว่าในข้อ ๑๐๖ ความว่า


“...ก็โลกหน้ามีอยู่จริง ความเห็นของผู้นั้นว่าโลกหน้าไม่มี ความเห็นของเขานั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ---- เขากล่าวว่าโลกหน้าไม่มี ผู้นี้ย่อมทำตนเป็นข้าศึกต่อพระอรหันต์ผู้รู้แจ้งโลกหน้า ฯลฯ”

...ข้อความนี้แสดงว่าพระพุทธเจ้าทรงยืนยันว่าโลกหน้ามี แต่ไม่คัดมาแสดง หลักฐานว่าโลกหน้ามี ตายแล้วเกิดอีกนั้น มีอยู่นับไม่ถ้วน เล่ากันชัด ๆ ตอนเดียวก็พอ

เล่ม ๒๐ หน้า ๔๕
“...ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ที่จุติจากมนุษย์กลับมาเกิดในมนุษย์มีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่จุติจากมนุษย์ไปเกิดในนรก ในกำเนิดสัตว์เดียรัจฉานเกิดในปีติวิสัย มากกว่าโดยแท้”


...อันนี้ยืนยันชัดแจ๋ว หรือจะเอาจากคำสอนที่ว่า พระโสดาบันจะกลับมาเกิดอีก ไม่เกิน ๗ ชาติแล้วเป็นพระอรหันต์ ก็ได้ผลเท่ากันว่าตายแล้วเกิด

เมื่อมีคนถามถึงคนที่ตายไปแล้ว บางทีพระพุทธเจ้าก็ทรงตอบว่าไปเกิดที่ไหน ทั้งนี้ย่อมแล้วแต่ประโยชน์ของผู้ฟังคำตอบเป็นเกณฑ์ เช่น

ในเล่ม ๑๙ หน้า ๔๐๖ ท่านพระอานนท์ทูลถามว่าพระชื่อ "สาฬหะ" ทำกาละ (ตาย) แล้วคติของเขาเป็นอย่างไร ทรงตอบว่า


“...ดูกรอานนท์ ภิกษุชื่อสาฬหะมรณภาพแล้ว กระทำในแจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่” (คำว่า “เข้าถึงอยู่” นี้แสดงว่านิพพานแล้วไม่สูญ)

(โปรดติดตามตอนจบการสนทนาเรื่อง "พระไตรปิฎก" ต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 17/4/18 at 05:48

[ ตอนที่ 8/31 ]

วันที่ 3 พฤษภาคม 2561


เรื่องตายแล้วเกิดใหม่ (จบ)


...อีกตัวอย่างหนึ่ง จากเล่ม ๑๙ หน้า ๙๒
“...สมัยนั้นอีตาพราหมณ์วัจฉโคตร แกจับผิดเก่งชะมัดเหมือนกัน ตาก่อนนี้ถามเรื่องตายแล้วเกิด ไม่เกิดอะไร พระพุทธเจ้าบอกว่า “ไม่ได้คิดอย่างนั้น”

แต่มาถึงพระอานนท์ถามเข้ากลับบอกเสียได้ว่าตายแล้วไปไหน แกก็เลยค่อนแคะขึ้นมา มีใจความว่า พระพุทธเจ้าก็คุยอวดเหมือนอาจารย์อื่น ๆ แหละน่าว่าลูกศิษย์ตายแล้วไปเกิดที่ไหน แกหยอดท้ายว่า


“...ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้านั้นมีความเคลือบแคลงสงสัยแท้ว่าอย่างไร ๆ พระสมณะโคดมก็ต้องทรงรู้ธรรมอันบุคคลพึงรู้ยิ่ง” (เล่ม ๑๘ หน้า ๔๒๘)

...ตอนนี้ถ้าเป็นเราคงแย่ นั่งคอตก แต่พระพุทธเจ้าท่านตอบว่า

“...ดูกรวัจฉะ จริงทีเดียวควรที่ท่านจะสงสัยเคลือบแคลงใจ ความเคลือบแคลงเกิดขึ้นแล้วแก่ท่านในฐานะที่ควรสงสัย

ดูกรวัจฉะ เราย่อมบัญญัติความเกิดขึ้นแก่คนที่ยังมีอุปาทานเท่านั้น หาบัญญัติแก่คนที่หาอุปาทานมิได้ไม่”


...ท่านศอกกลับเอาวัจฉโคตรว่า เป็นบุคคลประเภทไม่มีอุปาทานเข้าอีกด้วย พ่อคนนั้นคงจะยิ้มแก้มตุ่ยไปทีเดียว

การตอบว่าไปเกิดที่ไหนนี้ ทรงชี้ประโยชน์ไว้อีกในเล่ม ๑๓ หน้า ๑๗๙ ว่าไมใช่เพื่อลาภ สรรเสริญ หรือจะให้คนรู้จักมาก แต่เพื่อว่าเมื่อกุลบุตรได้ยินแล้ว จะได้น้อมจิตเข้าไปเพื่อความเป็นอย่างนั้นบ้างต่างหาก

เป็นอันว่าชาตินี้ชาติหน้ามีแน่ จะเอาหลักฐานมากกว่านี้ก็มีอยู่อีกมากมาย ที่อธิบายไว้ยืดยาวถึงแค่นี้ ก้เพื่อให้ทราบว่า "พระ ผกค." ที่จงใจบิดเบือนคำสอนของพระพุทธเจ้าก็มีอยู่ และอาจมีอยู่มากเสียด้วย ควรช่วยกันระวังให้ดี

วัดหลวงตาแสง

...เป็นอันว่าความสงสัยต่าง ๆ ในพุทธศาสนาของ "คุณอ๋อย" ก็หมดไป เกิดความมั่นใจเข้ามาแทนที่ เมื่อได้พบหลวงพ่อผู้ทรงคุณทั้งปริยัติและปฏิบัติ และสอนไปในแนวเดียวกับพระไตรปิฎก ก็เกิดความศรัทธานิมนต์มาจำวัดที่บ้านทุกเดือนเพื่อแสดงธรรม ได้จัดกุฏิให้ต่างหากมีหลังคาแยกเป็นเอกเทศ

เพื่อนฝูงที่มาฟังก็ชักชวนเพื่อนฝูงต่อ ๆกันไป พวกที่มีความศรัทธาจากหนังสือที่อ่านก็มากขึ้น ๆ จนสถานที่ไม่พอต้อนรับ จึงได้จัดการขยายบ้านถึง ๔ ครั้ง และอนุญาตให้คนที่มีศรัทธาไป เข้าไปนมัสการหลวงพ่อเพื่อฟังธรรมได้

ตัวคุณอ๋อยเอง ทีแรกก็ถือศีล ๕ เป็นปกติ หนัก ๆ เข้าก็ถือแบบอุกฤษณ์ตัวตายดีกว่าศีลขาด วันพระรับศีล ๘ แล้วก็ขยายมาเป็นไม่กินข้าวเย็น แล้วขยายมาเป็นถือศีล ๘ อย่างถาวร

จนกระทั่งอาการป่วยมีมากขึ้น ได้ดำเนินการไปอีกขั้นหนึ่งคือยกบ้านให้หลวงพ่อรับภาระไปสำหรับใช้ในการศาสนา

พุทธบริษัทในคณะเดียวกันกับคุณอ๋อยทุกคน เว้นพวกพุทธภูมิที่ไม่ยอมลาออก ต่างก็มุ่งไปนิพพานทุกคนในชาตินี้ ตามคำที่หลวงพ่อสอนว่า

ร่างกายนี้เป็นทุกข์ไม่ใช่ของเรา ให้ตัดใจทิ้งมันไปเสีย แค่นี้ก็จะเข้านิพพานได้ หากปฏิบัติจริง ๆ จัง ๆ ในบางครั้งหลังจากนั่งกรรมฐาน หลวงพ่อจะแจ้งให้ทราบ ตามคำที่พระท่านมาบอกว่า มีหวังไปได้สำเร็จมากรายด้วยกัน ทำให้เกิดกำลังใจขึ้นอีกมาก

หลวงพ่อบอกว่าบ้านคุณอ๋อยเคยเป็นวัดเก่า (ตรงกับหลวงปู่อื่น ๆ หลายองค์) ที่นี่มีพระสำเร็จอรหันต์ ๑ องค์ชื่อ "แสง" ถือกันว่าเป็นเจ้าสำนัก ดังนั้นบางคราวจึงเรียกบ้านคุณอ๋อยว่า “วัดหลวงตาแสง”


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 25/4/18 at 06:25

.


webmaster - 31/10/20 at 05:48

.


webmaster - 6/11/20 at 08:03

.