ย้อนรำลึก..ท่านเจ้าคุณฯ สร้าง "สมเด็จองค์ปฐม" ทองคำ เมื่อปี 2542
webmaster - 25/2/18 at 10:16

สารบัญ (เลือกคลิกที่รายการ)

[01]
ตอนที่ ๑ คำปรารภ
[02] ตอนที่ ๒ กำหนดวันงานได้ที่พิษณุโลก
[03] ตอนที่ ๓ ตรียมหลอมทองคำให้บริสุทธิ์ก่อน
[04] ตอนที่ ๔ จัดขบวนแห่รวม ๖ ภาค
[05] ตอนที่ ๕ หลวงพ่อเคยสร้างวัดท่าซุงมาแล้ว ๒ ชาติ (ขุนเหล็ก, ขุนแผน)
[06] ตอนที่ ๖ โอวาทวันเกิด "หลวงพ่อ" ปี ๒๕๒๒
[07] ตอนที่ ๗ "ความสามัคคี" เป็นเหตุแห่งอนาคตของ "วัดท่าซุง"
[08] ตอนที่ ๘ จบโอวาทวันเกิดหลวงพ่อฯ
[09] ตอนที่ ๙ หลวงพ่อสมเด็จฯ วัดสระเกศฯ ประธานพิธีเททอง
[10] ตอนที่ ๑๐ บรรยากาศในงานพิธีเททอง
[11] ตอนที่ ๑๑ บุพกรรมเดิม
[12] ตอนที่ ๑๒ ถวายเครื่องประดับเป็นพุทธบูชา
[13] ตอนที่ ๑๓ กองเกียรติยศ
[14] ตอนที่ ๑๔ งานพิธีฉลองสมโภช
[15] ตอนที่ ๑๕ พิธีถวายสดุดีเทิดพระเกียรติคุณสมเด็จองค์ปฐม
[16] ตอนที่ ๑๖ คณะศิษย์ถวายสดุดี ๔ ภาค
[17] ตอนที่ ๑๗ ท่านเจ้าอาวาสกล่าวสัมโมทนียกถา
[18] ตอนที่ ๑๘ พิธีถวายสดุดีเทิดพระเกียรติคุณ "สมเด็จองค์ปฐม"
[19] ตอนที่ ๑๙ พิธีฉลองสมโภช "สมเด็จองค์ปฐม" ทองคำ
[20] ตอนที่ ๒๐ พิธีฉลองสมโภช "สมเด็จองค์ปฐม" ทองคำ
[21] ตอนที่ ๒๑ พิธีฉลองสมโภช "สมเด็จองค์ปฐม" ทองคำ

[22] ตอนที่ ๒๒ จบ งานสร้างสมเด็จองค์ปฐมทองคำ

ย้อนรำลึก..งานพิธีเททอง
"สมเด็จองค์ปฐม" ทองคำ เมื่อปี ๒๕๔๒


โดย... พระอาจารย์ชัยวัฒน์ อชิโต
(ธัมมวิโมกข์ ฉบับปี ๒๕๔๓)



เดิมตู้นี้สำหรับเป็นที่ประดิษฐาน "สมเด็จองค์ปฐม" ชั่วคราว
(ระหว่าง ปี ๒๕๔๒ - ๒๕๕๐)
ปัจจุบันตู้นี้ยังอยู่ที่ในวิหารร้อยเมตร




ตอนที่ ๑ คำปรารภ


.....ณ โอกาสบัดนี้ ก็จะเป็นการย้อนเล่าเหตุการณ์ที่ผ่านมา นับตั้งแต่งานพิธีเททอง “สมเด็จองค์ปฐม” ทองคำ ตามที่มีผู้เล่าผ่านไปแล้วบ้าง โดย คุณชุมนุมพร (ขนม) คุณกัญญา (หมวย) และ พระนิคม เป็นต้น โดยมี " พระครูปลัดอนันต์ พทฺธญาโณ" เล่าเป็นปฐมฤกษ์

ทุกท่านได้เล่ารายละเอียด โดยผ่านคอลัมน์ของ “จามร” ทำให้ผู้อ่านทั้งหลายได้รับทราบ “เบื้องหลังความสำเร็จของงาน” เพราะว่ากว่าจะสำเร็จผ่านมาได้นั้น ทุกคนก็ต้องประสบกับอุปสรรคต่างๆ มากมาย

โดยเฉพาะพระภิกษุภายในวัดหลายรูป เช่น พระพิษณุ และ พระสุรเชษฐ์ เป็นต้น ที่ต้องบาดเจ็บที่เท้าจนเกือบจะพิการไป ในขณะที่จัดกระถางต้นไม้เพื่อตกแต่งปะรำพิธี

ทั้งนี้ ด้วยคุณธรรมความดีที่พวกเราทุกคน ต่างก็ตั้งใจเพื่อบูชาคุณของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย อันมี สมเด็จองค์ปฐม เป็นต้น ที่ พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ ได้นำมากล่าวสั่งสอนอยู่เสมอ นั่นก็คือ “ความสามัคคี” ที่ก่อให้เกิดสุขและความสำเร็จทุกประการ

แต่ก็เป็นด้วยมโนปณิธานของท่าน พระครูปลัดอนันต์ พทฺธญาโณ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน หวังจะช่วยเกื้อกูลลูกหลานของหลวงพ่อทุกคน

หลังจากครูบาอาจารย์ได้มรณภาพไปแล้ว ก็ได้ชักนำให้เข้าสู่หนทางที่ดี มีการออกไปบำเพ็ญสาธารณประโยชน์เป็นประจำทุกปี ภายในวัดก็มีการบูรณปฏิสังขรณ์ เช่นการทาสีใหม่ให้สวยงามอยู่เสมอ

จนกระทั่งถึงปีอันเป็นมิ่งมหามงคล ที่พสกนิกรชาวไทยทั้งหลาย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ต่างก็จัดกิจกรรมของแต่ละกลุ่มแต่ละคณะ เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่ชีวิตของตน ด้วยการจัดงานบำเพ็ญกุศล เพื่อน้อมอุทิศถวายพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นพระประมุขของชาติ

ฉะนั้น นับตั้งแต่เริ่มงานพิธียกฉัตร ที่ พระธาตุจอมกิตติ ตั้งแต่ต้นปีจนกระทั่งถึงการจัด งานธุดงค์ ในปลายปีทั้งหมดนี้ ท่านเจ้าอาวาสก็หวังว่าพวกเราทุกคน ในนามของ คณะศิษย์พระราชพรหมยาน ทั่วทุกภาค ทั้งที่อยู่ในประเทศไทย และไกลออกไปถึงต่างแดน จะได้จารึกไว้ในความทรงจำตลอดไปว่า

ครั้งหนึ่งในชีวิต พวกเราทุกคนก็ได้มีโอกาสทำความดี เพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งยากที่จะมีโอกาสเช่นนี้ได้ เพราะฉะนั้น ท่านเจ้าอาวาสจึงได้ปรึกษากันว่า จะจัดงานพิธีเททองวันไหนกันดี..?

การกำหนดงานพิธีทั้งหมดนี้ ใช้เวลาหลายเดือนหลายปี กว่าจะตัดสินใจกันได้ ต่างองค์ต่างก็ว่าวันนั้นดีวันนี้ดี เป็นต้น แต่ก็ยังไม่เป็นที่ตกลงใจกัน

จนกระทั่งถึงวันที่เดินทางไปที่บ้าน อ.สันต์ และ อ.เกษริน ภู่กร จ.พิษณุโลก เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๔๑ ในขณะที่กำลังนั่งฉันเพลกันอยู่ในบ้านนั้น

ทั้งนี้ เสมือนกับอานุภาพของ พระพุทธชินราช อันเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ของชาวพิษณุโลกมาแต่โบราณก็เป็นได้ จึงดลบันดาลใจให้ตัดสินใจกันได้ในวันนั้น

เนื่องจาก สมเด็จองค์ปฐม ได้สร้างจำลองมาจาก พระพุทธชินราช จ. พิษณุโลก นั่นเอง อันเป็นเหตุให้ต้องมาคิดกันได้ ณ สถานที่นั้น หลังจากไม่ลงตัวกันมานานแล้ว

โดยครั้งแรกได้กำหนดเอาเป็นวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ แต่พอประกาศออกไป แล้ว ปรากฏว่าตรงกับวันตรุษจีน จึงต้องเลื่อนไปเป็น วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒

วันนั้นจึงเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ของวัดท่าซุง ที่ได้มีโอกาสจัดงานพิธีอันสำคัญ ซึ่งถือว่าเป็นการหล่อหลอมรวมใจของผู้คนทั้งหลายมากมายนับพันนับหมื่นคน ที่มีความเลื่อมใสในคุณของพระพุทธเจ้า และมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์


(โปรดติดตามตอนต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 26/2/18 at 08:43

[ ตอนที่ 2 ]

(Update 6 มีนาคม 2561)


กำหนดวันงานได้ที่พิษณุโลก




....ปรากฏผลที่ออกมาจากการรวมจิตรวมใจกันเป็นหนึ่งเดียวกันนั้น จึงเป็นพระพุทธรูปเนื้อทองคำบริสุทธิ์ หน้าตัก ๙.๙ นิ้ว สวยสดงดงามสมพุทธลักษณะ เปล่งประกายสีทองออกมาแวววาว ถือว่าเป็นการอุบัติขึ้นมาในสมัย "กรุงรัตนโกสินทร์" เป็นราชธานี

ทั้งนี้ ด้วยผลความดีที่ทุกคนยอม เสียสละเครื่องประดับอันเป็นของตน ซึ่งเป็นสิ่งของที่รักที่หวงแหนและมีค่าที่สุดในชีวิต เพื่อถวายสักการบูชาแด่พระผู้ทรงคุณธรรมอันประเสริฐสุดนั่นเอง

แต่ผลปรากฏว่า เดิมทีหวังเพียงแค่ ๑ องค์ แต่กลับเพิ่มมาเป็น ๒ รวมทั้งตัว อย่างที่เป็นเงินอีก ๑ จึงรวมเป็น ๓ องค์ ครบไตรสรณาคมน์ และครบสถาบันทั้ง ๓ พอดี คือชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

ความจริงงานนี้แบ่งส่วนที่สำคัญ คิดว่าน่าจะเป็น ๓ ส่วน ถ้ารวม กำหนดพิธีการ ของงานไปด้วย คือ

๑. ส่วนงานหล่อองค์พระ
๒. ส่วนงานสร้างปะรำพิธี
๓. ส่วนกำหนดงานพิธี


ทั้งนี้ เหมือนกับพ่อครัวที่ปรุงอาหาร จากผู้ที่เตรียมส่วนประกอบไว้ดีแล้ว จึงจะได้อาหารที่มีรสเลิศตามความต้องการ ทุกท่านจึงมีส่วนร่วมในการทำอาหารครั้งนี้ด้วย ฉะนั้น

การปรึกษาหารืออย่างเป็นทาง การเริ่มมีขึ้นที่วิหาร ๑๐๐ เมตร พร้อมกับ คุณขนม (ชุมนุมพร) ได้นำแผนผังการจัดปะรำพิธีมาเสนอเจ้าอาวาส

ท่านจึงได้มอบหมายให้ผู้เขียนเป็นผู้จัดงานพิธี โดยมี "ท่านอาจินต์" เป็นผู้จัดปะรำพิธี พร้อมกับพระภิกษุภายในวัด

ผู้เขียนจึงเริ่มดำเนินงาน โดยการประสานงานกับลูกศิษย์หลวงพ่อฯ ทั่วทุกภาค เพื่อเตรียมการจัดขบวนแถวทั้ง ๔ ภาค พร้อมจัดการฟ้อนรำมาให้ครบทั้ง ๔ ภาค ซึ่งท่านเจ้าอาวาสได้เน้นเรื่องการแต่งกายสวยงาม เพื่อเป็นเกียรติแก่งานในครั้งนี้ด้วย

ต่อมาก็ได้ศึกษาเรื่องกรรมวิธีในการหล่อทองคำ เพราะนับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดสร้างเป็นทองคำล้วน ต่างก็ยังไม่มีประสบการณ์ด้วยกันทั้งนั้น

ท่านเจ้าอาวาสจึงต้องเดินทางไปพิษณุโลก เพื่อศึกษาการสร้างจาก ดร.จ่าทวี ที่พิษณุโลก แต่ผลสุดท้ายก็มาลงตัวที่ "ช่างประเสริฐ แก้วมณี"

โดยมี คุณวิเศษ และ คุณสันติ จากสวรรคโลก และ อ.ฉลอง จากกรุงเทพฯ พร้อมกับพระวัดท่าซุง อันมี พระนิคม เป็นต้น ช่วยกันหล่อจนเป็นผลสำเร็จ...


(โปรดติดตามตอนต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 6/3/18 at 09:11

[ ตอนที่ 3 ]

(Update 14 มีนาคม 2561)


เตรียมหลอมทองคำให้บริสุทธิ์ก่อน


....แต่ก่อนที่จะนำทองคำที่มีผู้บริจาคมา หล่อเป็นองค์พระนั้น จะต้องนำทองทั้งหมดไปหลอม เพื่อสกัดให้เป็นเนื้อทองบริสุทธิ์เสียก่อน ท่านจึงมอบหมายให้ผู้เขียนเป็นผู้ดำเนินการ

โดยประสานงานกับ คุณประสงค์ จินตนพันธ์ จ.ภูเก็ต เพื่อนำทองไปสกัดที่ บริษัท เกรทเทสโกลด์ฯ จำกัด อันเป็นบริษัทเดียวกับที่หลอมทองคำให้ “หลวงตามหาบัว”

วันที่ ๕ ม.ค. ๒๕๔๒ จึงขนทองคำใส่รถตู้โดย นายดาบพเยาว์ (สอ) เป็นผู้ขับรถ น้ำหนักทองคำรูปพรรณและทองคำแท่ง รวมแล้ว ๖๒.๗๙๐๙ ก.ก. สกัดได้ทองคำบริสุทธิ์ ๙๙.๙๙ % เป็นจำนวน ๕๖.๔๖๒๔ ก.ก. พร้อมกับเงินบริสุทธิ์อีก ๕.๕๐๐๗ ก.ก.

ทางบริษัทได้หล่อทองคำเป็นแท่งๆ ละ ๑ กิโลกรัม จำนวน ๕๖ แท่ง เพื่อให้ผู้ร่วมพิธีได้เททองโดยสะดวก อีกทั้งได้คิดค่าสกัดเป็นจำนวนเงิน ๗๕,๐๐๐ บาท ทางวัดเตรียมจะจ่าย แต่ "คุณประสงค์ จินตนพันธ์" พร้อมด้วย "คณะชาวภูเก็ต" ขอรับเป็นเจ้าภาพเสียเอง

จึงเป็นอันว่า การเตรียมงานขั้นแรกก็ผ่านไปใกล้เวลาที่จะมาถึง หลังจากนำทองไปสกัดแล้ว แต่ก็ยังมีผู้บริจาคทองคำมาอีกมากมาย จนกระทั่งถึงวันกำหนดงาน

ซึ่งตามแผนเดิมที่วางไว้ นอกจากจะกราบอาราธนา ท่านเจ้าประคุณหลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ มาเป็นประธานในพิธีแล้ว ท่านเจ้าอาวาสก็ตั้งใจจะกราบนิมนต์ “หลวงปู่” ทั้งหลายมาร่วมในงานครั้งนี้ด้วย

เพื่อเป็นเนื้อนาบุญอันดีแก่ผู้ที่เดินทางมาบำเพ็ญกุศล แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่แต่ละองค์ท่านก็ชราภาพมากแล้ว ไม่สามารถจะเดินทางมาร่วมงานได้

หลังจากมีข้อขัดข้องเรื่องการนิมนต์ “พระสุปฏิปันโน” บางท่านแล้ว ท่านเจ้าอาวาสก็ให้ผู้เขียนนิมนต์พระผู้ใหญ่ในจังหวัดอุทัยธานี อันมี พระเดชพระคุณ "ท่านเจ้าคุณอุทัยธรรมคณี" เจ้าคณะจังหวัดอุทัยธานี เป็นต้น

ก่อนวันงานก็มีการประชุมเจ้าหน้าที่ทุกคน โดยเฉพาะทีมงานของผู้เขียน และ คณะรวมใจภักดิ์, คณะพุฒตาล ต่างก็มีประสบการณ์จากการจัดงานมาแล้ว จึงได้ร่วมมือกันเตรียมเครื่องขบวนแห่

อันมีเสลี่ยง "สมเด็จองค์ปฐม" และเสลี่ยงบายศรี เป็นต้น พร้อมกับวางตัวบุคคลต่างๆ ในเรื่องการเข้าขบวนในแต่ละภาค การจัดทำบายศรีแต่ละภาค การกล่าวสดุดีเทิดพระเกียรติคุณสมเด็จองค์ปฐมในแต่ละภาค

งานทั้งหมดที่กำหนดพิธี ถือว่าเป็นการรวมภาคของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการฟ้อนรำ การทำบายศรี หรือการแต่งกายประจำภาค แม้แต่การกล่าวสดุดีก็มีการนัดหมาย ให้กล่าวไปตามสำเนียงท้องถิ่นของแต่ละภาค

เป็นอันว่า งานพิธีเททองครั้งนี้ ก็ได้เตรียมการณ์ไว้เป็นอย่างดี แม้กระทั่งการ บันทึกเทปโทรทัศน์ ทาง ดร.ปริญญา ก็ได้ติดต่อมืออาชีพมาเลย คือเป็นน้องชายของ "คุณเหมี่ยว" มีชื่อว่า คุณพาณิชย์ สดสี ซึ่งมีอาชีพบันทึกเทปออกทางโทรทัศน์โดยเฉพาะ

แต่ทีมงานถ่ายทำของวัดท่าซุง ได้แก่ คุณปรีชา และ คุณสุพัฒน์ ก็เตรียมพร้อมเหมือนกัน นั่นเป็นเรื่องของ “สี” ส่วนเรื่อง ของ “เสียง” คุณลือชัย ก็มาช่วยเต็มที่ โดยมี พระบุญชู, พระทนงศักดิ์, พระมงคลเวทย์ เป็นเจ้าหน้าที่ประจำเครื่องเสียง

ต่อมาก็เป็นเรื่องของ “แสง” คือแสงไฟด้านหน้าเวที เจ้าอาวาสเน้นให้มีความสว่างเต็มที่ พระละออง พระไพบูลย์ (บวชใหม่) และ ทิตวีรยุทธ เป็นผู้จัดทำ โดย คุณประสงค์ และ คุณศรีอดุลย์ จากภูเก็ต เป็นที่ปรึกษาด้วย จึงครบทั้งสี, เสียง, และแสง

พร้อมกันนี้ท่านดอกเตอร์ก็ยังติดต่อวงดนตรีไทยของ "คณะสุพจน์ โตสง่า" ประสานงานโดย "ดร.สุรพล จันทราปัตย์" ผู้ขับร้องจากกรมศิลปากรคือ "อ.ดวงเนตร ดุริยพันธ์" ส่วนผู้ประพันธ์เนื้อร้องก็มิใช่ใครอื่นนั่นก็คือ ดร.ปริญญา นุตาลัย นั่นเอง....


(โปรดติดตามตอนต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 14/3/18 at 06:40

[ ตอนที่ 4 ]

(Update 23 มีนาคม 2561)


จัดขบวนแห่รวม ๖ ภาค


...เมื่อถึงกำหนดวันงาน การเตรียมจัดสถานที่, และการหล่อหลอมทอง, เรื่องสถานที่พัก, เรื่องอาหารการกิน, ทุกอย่างพร้อมแล้ว

ผู้คนแต่ละทิศก็เริ่มหลั่งไหลเข้ามามากมาย จนวัดท่าซุงเนืองแน่นไปด้วยผู้คนทั้งหลาย รถราจอดกันเต็มไปหมดเกือบทุกแห่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรต้องทำงานกันอย่างหนัก

ภายในวัดมีทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ต่างก็เดินกรีดรายเป็นกลุ่มๆ ด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์งามวิจิตรหลายหลากสี บ้างก็มีประดับดอกไม้ไหวที่ศีรษะ เห็นชุดไทยแต่ละภาค ดูงามไม่แพ้กันเลย

ส่วนผู้ชายก็แต่งกายด้วยชุดราชปะแตนโก้หรู ส่วนบางคนก็แต่งชุดพระราชทาน ผ้าไหมที่สวมใส่ดูภูมิฐานสง่างาม โดยมีผ้าคาดเอวตัดกับสีเสื้อ ทำให้ดูเด่นเป็นสง่ายิ่งขึ้น ทุกคนมีใบหน้ายิ้มแย้มสดใส แต่ที่น่าเห็นใจคือเจ้าหน้าที่ทำงาน แม้จะร้อนแสนร้อนก็ต้องทนใส่ เพื่อให้เป็นเกียรติแก่งาน



ครั้นถึงเวลา ๐๘.๐๐ น. ท่านเจ้าอาวาส (พระราชภาวนาโกศล) และ ท่านอาจินต์ (พระครูภาวนาธรรมนิเทศก์) ได้ทำพิธีบวงสรวงเริ่มงาน ณ ปะรำพิธีหน้าปราสาททองคำ แล้วนั่งรับแขกจนกระทั่งฉันภัตตาหารเพล ตอนนี้มีผู้ร่วมทำบุญมากมาย แล้วได้รับล๊อคเก็ตสวยงามเป็นที่ระลึกด้วย พระครูสังฆรักษ์สุรจิตก็มาช่วยรับแขกด้วย


ขบวนอัญเชิญเครื่องสักการะ


ครั้นถึงเวลาบ่ายโมง เครื่องสักการะทั้งหลาย อันมี "บายศรี" เป็นต้น หลังจากช่วยกันทำตลอดทั้งคืนแล้ว จึงได้ช่วยกันนำมาไว้ที่ด้านหน้าวิหาร ๑๐๐ เมตร เพื่อเตรียมจัดขบวนอัญเชิญไปที่หน้า"ปราสาททองคำ"

ทุกคนต่างก็เร่งรีบเดินมารวมกัน บางคนก็แต่งตัวไม่ทัน คือ “บี” หลานคุณแย้ม (หาดใหญ่) หลานคุณประสงค์จึงต้องถือป้ายแทน แต่ส่วนใหญ่ก็พร้อมแล้ว โดยมี นักเรียนโรงเรียนพระสุธรรมฯ มาช่วยถือป้ายอักษรในบางภาค เพราะบางภาคก็เตรียมผู้ถือป้ายกันมาเอง


เมื่อเจ้าหน้าที่จัดรูปขบวนเสร็จแล้ว จึงเริ่มเคลื่อนขบวนออกไปด้านหน้าถนน เลี้ยวขวาผ่านโรงพยาบาลฯ และพระจุฬามณี โดยมีวงโยธวาทิตของนักเรียน ร.ร.พระสุธรรมฯ บรรเลงนำขบวนทั้งหมด

อันประกอบด้วย "ขบวนพระสงฆ์" เดินถือพานธูปเทียน พร้อมมีผู้เดินถือฉัตร พัดโบก และจามร เป็นต้น และมีผู้แต่งชุดราชปะแตนเดินหามคานเสลี่ยง "สมเด็จองค์ปฐม" ประทับอยู่ในดอกบัวสีขาว พร้อมด้วยรูป "หลวงพ่อพระราชพรหมยาน, ท้าวมหาราช, และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙" เป็นต้น


เมื่อ "ขบวนพระ" ผ่านไปแล้ว ก็เป็นขบวนแถวคณะศิษย์ทุกภาคคือ ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสาน ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคกลาง และ คณะบ้านสายลม

โดยมีนักเรียนหญิง รร.พระสุธรรมฯ แต่งชุดไทย ๒ คน เดินถือป้ายอักษรคำว่า “คณะศิษย์พระราชพรหมยาน” นำขบวนทั้งหมด จนขบวนแถวทั้งหมดยาวเป็นกิโล หัวขบวนใกล้จะถึงที่หมายปลายทาง แต่ท้ายขบวนยังเพิ่งจะออกจากต้นทาง ซึ่งมีคนยืนดูตลอดข้างทาง


เสียงกลองและดนตรีบรรเลง ฟังแล้วให้ตื่นเต้นเร้าใจ เห็นคนเดินอย่างเรียบร้อย โดยมีพานพุ่มดอกไม้สวยงามอยู่ในมือ แม้อากาศจะร้อนเล็กน้อย แต่ทุกคนก็อดทนได้ด้วยความเคารพ หวังจะเดินแห่แหนเพื่อเป็นเกียรติแก่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า

ทุกคนมิได้เดินเพื่ออวดหรือเพื่อโชว์ เหมือนกับที่เขาจัดกันโดยทั่วไป แต่ทุกคนเดินน้อมจิตเพื่อประกาศคุณความดีของพระองค์ไปทั่วทุกหนทุกแห่งว่า พระองค์ทรงเป็นผู้ประเสริฐอย่างสูงสุด ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณหาประมาณมิได้ และเพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณของพระเดชพระคุณหลวงพ่อว่า....


(โปรดติดตามตอนต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 23/3/18 at 05:41

[ ตอนที่ 5 ]

(Update 1 เมษายน 2561)


หลวงพ่อเคยสร้างวัดท่าซุงมาแล้ว ๒ ชาติ
(ขุนเหล็ก, ขุนแผน)
อ่านรายละเอียดได้ที่นี่
http://watthasung.com/wat/viewthread.php?tid=2514#6



...บัดนี้ ลูกหลานของท่านทุกคน ยังไม่ลืมคุณความดีที่ท่านมีให้ตลอดชีวิตของท่าน มีแต่เสียสละเพื่อลูกๆ ทุกคน แม้แต่ความตายจะเข้ามา ท่านก็ยังหาสนใจไม่ หวังจะดำรงชีวิตจนถึงวาระสุดท้าย ก็เพื่อจะสงเคราะห์บุตรธิดาของตนให้ได้ดีมีความสุข

ถ้าลูกทุกคนไปพระนิพพานได้ ท่านคงจะมีความสุข มีความสมหวัง สมความปรารถนา ที่อุตส่าห์ลงมาเพื่อลาพระโพธิญาณ หวังจะขนบรรดาลูกหลานให้เข้าสู่แดนอมตมหานิพพาน ไม่ต้องกลับมารับทุกข์จากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสารอีกตลอดไป


ดังที่ท่านเคยพูดไว้ที่บ้านสายลม เมื่อประมาณ ๒๐ กว่าปีก่อน แม้ "คุณศุภาพร" ที่ทำบายศรีให้กับวัดก็ยังจำได้ว่า ท่านได้ชี้มาที่คนกลุ่มหนึ่งแล้วบอกว่า

“...ถ้าข้ายังไม่ลาพุทธภูมิ พวกแกต้องตามข้าไปอีก ๗ ชาติ..!”


ในโอกาสนี้ที่พวกเราได้มารวมตัวกันครบทั้ง ๖ ภาค (ความจริงไม่ใช่ ๔ ภาค) หลังจากที่ท่านได้ละสังขารจากลูกหลานไปแล้ว ทุกคนก็ได้กลับมาช่วยบูรณะวัดท่าซุง ที่ท่านได้อุตส่าห์สร้างไว้ตลอดชีวิต นับตั้งแต่ที่ได้มาอยู่ ณ ที่แห่งนี้ อันเหมือนเป็นจุดนัดพบ ทุกอย่างคงจะจบเป็นครั้งสุดท้าย

ถ้าจะนับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ท่านก็ได้มาสร้างความเจริญให้วัดนี้มาแล้ว ๒ วาระ (สมัยเจ้าพระยาโกศาเหล็ก, และ สมัยขุนแผน)

ส่วนครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ ๓ อันเป็นครั้งสุดท้าย หวังจะให้เป็นจุดรวมตัวกันเพื่อสร้างบารมีต่อ หลังจากได้ลงมาเกิดกระจัดกระจายไปทั่วทั้งประเทศ รวมทั้งในต่างประเทศอีกมากมาย

เมื่อถึงกาลเวลากุศลความดีให้ผล พร้อมทั้ง "ท่านปู่พระอินทร์" ก็ได้จัดเทวดาทั้งหลายลงมาช่วยนำทางให้เข้าสู่มรรควิถี อันเป็นหนทางที่ดีที่พ้นทุกข์ หลังจากบางคนจะต้องประสบกับชะตาชีวิตอย่างแสนสาหัส เพราะพิษของการเกิดมาเป็นคน

แต่ทุกคนก็น้อมจิตระลึกถึงบุญเก่าได้ เพราะบางคนก็เคยร่วมอุทร บางคนก็เคยเกิดเป็นญาติพี่น้องติดตามกันมากับท่านหลายแสนชาติ

เคยร่วมสร้างบุญบารมี ในฐานะที่ผู้เป็นพ่อหวังพระโพธิญาณ ต้องการที่จะฟังธรรมตอนที่พ่อเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ก็จะได้เข้าถึงธรรม บรรลุซึ่งบรมสุขพร้อมกัน ทั้งพ่อและแม่รวมทั้งลูกๆ ของท่านทุกคน

ฉะนั้น นับตั้งแต่หนังสือ "ประวัติหลวงพ่อปาน" เริ่มออกมาแพร่หลายเมื่อปี ๒๕๑๕ ท่านก็จะขอลาเข้าสู่พระนิพพาน แต่พระบิดาของท่านผู้เป็นใหญ่ในสรวงสวรรค์ ได้ลงมาขอร้องและระงับการละสังขารว่า


“....คนของคุณก็ยังมาไม่ครบ คนของโยมก็ยังมาไม่ครบ คนของสมเด็จฯ คนของหลวงพ่อปาน ก็ยังมาไม่ครบเช่นกัน (เวลานี้ยังมีคนของ "พระศรีอาริย์" อีก ๓ แสนเศษ) ไหนคุณสัญญาก่อนที่จะลงมาเกิดว่า จะขนบรรดาลูกหลานให้ได้อย่างน้อยไปดาวดึงส์...?”

หลวงพ่อบอกว่าก็รออยู่ตั้งนานแล้ว ทำไมไม่มาสักทีละ ท่านปู่ก็บอกว่า ต่อไปนี้โยมจะเกณฑ์กันเข้ามานะ หลวงพ่อก็บอกว่าคนนอกไม่ต้องเอาเข้ามานะ เอาเฉพาะคนที่เกี่ยวข้องกันเท่านั้น เพราะมีเวลาไม่มากแล้ว..."


(โปรดติดตามตอนต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 1/4/18 at 06:35

[ ตอนที่ 6 ]

(Update 18 เมษายน 2561)


โอวาทวันเกิด "หลวงพ่อ" ปี ๒๕๒๒


...หลังจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อ "พระราชพรหมยาน" มีสัญญาต่ออายุกับพระว่า จะต้องอยู่รอลูกหลานอีก โดยจัดพิมพ์หนังสือ "ประวัติหลวงพ่อปาน" ออกมาเผยแพร่ นับตั้งแต่ปี ๒๕๑๕ เป็นต้นมา

ต่อจากนั้น "วัดท่าซุง" ที่ท่านเคยสร้างไว้เมื่อ ๒ ชาติก่อน คือสมัยเป็น "ขุนแผน" และ "ขุนเหล็ก" จึงเต็มไปด้วยผู้คนที่มุ่งความดี มีความปรารถนาแต่คุณแห่ง "พระนิพพาน" ตามที่ท่านมุ่งสอน ทุกคนตั้งใจทำความดีด้วยความสามัคคี

แต่ท่านก็เตือนจิตสะกิดใจไว้เมื่อคืน วันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒ ๕๒๒ ณ ศาลานวราช เนื่องจากใกล้ "วันคล้ายวันเกิด" ของท่านว่า


หลวงพ่อก่อนมรณภาพ
ได้ฝากภารกิจหน้าที่ไว้กับพระวัดท่าซุง

“...บรรดาลูกๆ ทั้งผู้หญิงผู้ชายที่มีความเจตนาดี และลูกพวกนี้ก็ดี และพวกท่าน (พระ) ก็ดี ที่ติดตามกันมาแล้วทั้งหมด

ถ้าเราจะใช้ "ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ" กำหนด ก็ถือว่าเราติดตามกันมาแล้วอย่างน้อยก็ ๑๖ อสงไขย กับแสนกัป เป็นการบำเพ็ญบารมีร่วมกันมานาน

ฉะนั้น ในชาตินี้คณะพวกท่านทั้งพระภิกษุสามเณร และลูกหญิงลูกชายทั้งหมด ที่มีความใกล้ชิดสนิทสนม เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในชาติก่อนๆ ต่างคนต่างก็มารวมกันมาช่วยกันจรรโลงพระพุทธศาสนา

จงถือว่าชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของพวกเรา จำไว้ให้ดีนะ แต่ว่าใครจะเกิดอีกต่อไป ก็ตามใจเถิด เป็นอันว่าเราก็เลิกเกิดกันเสียที

ความจริงถ้าหากว่าจะว่ากันโดยบารมี บรรดาลูกๆ ก็เหมือนกัน การบำเพ็ญมานี่ มันก็เกินไปเสียแล้ว...มันล้น เขาเรียกว่า “บารมีล้น”

ฉะนั้น หากว่าเวลานี้ บรรดาลูกหญิงก็ดี ลูกชายก็ดี ภิกษุสามเณรก็ดี ยังเห็นภารกิจในพระพุทธศาสนามีความสำคัญ ผมก็คงจะอยู่ได้อีกหลายวัน ถ้าหากว่าพวกท่านไม่เห็นความสำคัญเมื่อไร..ผมก็ไม่อยู่!

แต่ว่ามีความหวังอยู่อย่างหนึ่ง ที่สมเด็จพระบรมครูทรงตรัสให้ซื้อที่ และสร้างห้องสำหรับเจริญกรรมฐานขนาดใหญ่


*** นี่ก็แสดงว่าถ้าหากผมยังไม่ตาย หรือตายไปแล้วก็ดี ภารกิจหน้าที่อันนี้ บรรดาพวกท่านทั้งหมดต้องช่วยกันรักษาไว้..." ***

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 18/4/18 at 05:43

[ ตอนที่ 7 ]

(Update 26 เมษายน 2561)


"ความสามัคคี" เป็นเหตุ


...แต่ว่าขอไว้อย่างหนึ่ง มันจะตายหรือไม่ตายก็ไม่เป็นไร ผมจะตายหรือผมจะมีชีวิตอยู่ ขอพวกท่านทั้งหมดให้ตั้งใจไว้ว่า เราเป็นคนกลุ่มเดียวกัน จงอย่าทำตนเหมือน “ภิกษุโกสัมพี”
.
ในสมัยนั้น องค์สมเด็จพระชินสีห์ยังทรงมีชีวิตอยู่ ต่างคนต่างก็อวดเลว แตกกันเป็นสองพวก อย่างนี้เป็นการทำลายตัวเอง การศึกษาของบรรดาท่านทั้งหลาย นอกจาก "คันถธุระ วิปัสสนาธุระ"
.
เรื่องวิปัสสนาธุระนี่ เป็นเรื่องยืนยันว่าพวกเราจะดี ว่าจะทรงวิปัสสนาธุระไว้ได้หรือไม่ได้ ก็อาศัย "ความสามัคคี" เป็นเหตุ

.
แห่งอนาคตของ "วัดท่าซุง"

...ฉะนั้น ขอทุกท่านถ้าเห็นแก่ชีวิตผมก็ดี และเห็นแก่องค์สมเด็จพระชินสีห์ บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ผมรู้ตัวว่ากำลังกายมันไม่ดี แต่ว่าได้พยายามสร้างทุกอย่าง เพื่อวางพื้นฐานไว้ให้แก่พวกท่าน
.
เพราะว่าสถานที่นี้ก็ได้รับพยากรณ์ว่า จะเป็นศูนย์ที่มีความสำคัญต่อไปในเบื้องหน้า วัดนี้ถ้ามันจะพังจริงๆ ก็ต้อง พ.ศ.๔๕๐๐ ปีเศษ วัดนี้จึงจะสลายตัว
.
ฉะนั้น ในวันฝังลูกนิมิต (๒๔ เม.ย. ๒๕๒๐) องค์สมเด็จพระธรรมสามิตรก็ทรงตรัสว่า แดนของวัดนี้ เป็นแดนของพระอริยเจ้ามาในกาลก่อน แต่ก็มาสิ้นแสงของพระอริยเจ้าลงไปประมาณ ๔๐ ปีนะ
.
นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป หลังจากฝังลูกนิมิตในปี พ.ศ.๒๕๒๐ แล้วท่านบอกว่าจากนี้ไป ๓ ปี วัดนี้จะมีพระอริยเจ้าประจำตลอดไป จนถึงพระพุทธศาสนาล่วงไปถึง ๔,๕๐๐ ปี หลังจากนั้นจึงจะขาดพระอริยเจ้า...”


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 18/4/18 at 06:12

[ ตอนที่ 8 ]

(Update 4 พฤษภาคม 2561)


จบโอวาทวันเกิดหลวงพ่อฯ


... โอวาทวันเกิด "หลวงพ่อพระราชพรหมยาน" นับเป็นโอวาทของท่านนานแล้ว จึงได้นำมาเพื่อเป็นการย้อนรำลึกถึงความเมตตาของท่าน ซึ่งยังมีรายละเอียดอีกมาก ถ้าท่านผู้อ่านสนใจแจ้งมาได้ จะลงให้ครบถ้วนเลย

และยังมีที่ท่านเทศน์ไว้อีกนานแล้วเช่นกัน คิดว่ายังไม่เคยลงหนังสือเล่มไหนมาก่อน อันเป็นโอวาทคล้ายวันเกิดของท่านที่บ้านสายลม เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๑๘

ถ้าจำไม่ผิดคิดว่า น่าจะเป็นครั้งแรก ในการจัดงานคล้ายวันเกิดของท่าน ซึ่งในขณะนั้นผู้เขียนยังไม่ได้อุปสมบท จึงได้มีโอกาสฟังโอวาทของท่านเป็นครั้งแรก เพราะมีความข้องใจในเรื่องบางอย่าง แต่ไม่กล้าถามท่าน

จนกระทั่งท่านเทศน์ออกมา ทุกอย่างจึงหายข้องใจ โดยมิต้องคิดถามท่านในใจอีกต่อไป เป็นอันว่า ระหว่างที่ขบวนแถวกำลังเดินเข้าสู่หน้าปะรำพิธี จึงไม่รู้ว่ามีใครกำหนดดูว่า เบื้องบนนภากาศนั้น จะมีบรรดาเหล่าเทพอัปสรลงมาร่วมขบวนด้วยหรือไม่

เนื่องจากใน "ตำนานพระธาตุพนม" กล่าวว่า อย่าว่าแต่ในเมืองมนุษย์เลย แม้แต่เทวดาและนางฟ้าทั้งหลาย อันมี "ท้าวสักกเทวราช" ทรงเป็นประธาน

ต่างก็แต่งองค์ทรงเครื่องด้วยชุดขาวอย่างอลังการ จัดขบวนแถวเพื่ออัญเชิญเครื่องสักการะมาร่วมงานฉลอง "พระอุรังคธาตุ" (กระดูกหน้าอก) กันอย่างมโหฬาร


ขบวนแถวของพวกเราก็เช่นกัน งานครั้งนี้ที่ทุกคนรอคอยมานาน เมื่อดูภาพโดยรวมแล้ว นับว่าสวยงามตระการตา ทั้งฉัตร ทั้งธงทิว และผ้าตุงที่โบกสะบัด

รวมทั้งผู้ที่แต่งกายพร้อมด้วยเครื่องประดับมาร่วมงานก็ดี ทั้งปะรำพิธี ตลอดถึงเจ้าหน้าที่ของงานทุกคน สวยงามกลมกลืนกันไปทั้งหมด

แต่เมื่อจะเข้าไปนั่งในเต็นท์ ที่เตรียมจัดไว้สำหรับผู้ที่เดินขบวน ปรากฏว่ามีผู้ที่มิได้ร่วมขบวนนั่งเต็มไปหมดก่อนแล้ว เรื่องนี้ผู้เขียนต้องขอโทษเป็นอย่างมาก ทั้งต้องขออภัยบางท่าน ที่ห้ามมิให้เข้าไปในปะรำพิธี

ท่านที่มีการกระทบกระทั่งกันในวันนั้น หรือในงานที่แล้วๆ มาทั้งหมด (รวมทั้งคนที่ร่วมงานกับผู้เขียนด้วยนะ) ถ้าเห็นแก่คำเตือนของหลวงพ่อเป็นสำคัญ ตามที่นำมาให้อ่านนี้

ขอให้ปรับความเข้าใจกันเสียใหม่ โปรดได้ยกโทษและอโหสิกรรมกัน เพื่อจะได้ไม่เป็นเวรเป็นภัย ที่จะเป็นอันตรายต่อการบรรลุมรรคผล ในขณะที่จิตใกล้จะดับ

ทั้งนี้ ขอร้องเฉพาะท่านที่ปรารถนาจะไปพระนิพพานในชาตินี้เท่านั้นนะ ส่วนท่านที่ยังอยากเกิดอีก ก็จงอาฆาตจองเวรต่อไป

จงอย่าให้อภัยซึ่งกันและกัน จงถือตัวถือตน ด้วยมานะทิฏฐิที่หยาบกระด้าง จงอย่าพูดจาไพเราะ จงอย่าช่วยเหลือการงานผู้อื่น และจงสร้างความเลวทุกอย่างให้เต็มที่

คงจะเป็นเหมือนอย่างที่หลวงพ่อเคยพูดว่า ข้าเกิดมาหวังสงเคราะห์คน ๒ ทาง ผู้เขียนได้ฟังก็มีความสนใจ ปรากฏท่านบอกว่า ไม่สงเคราะห์คนให้ไปนิพพานก็ไปอเวจีเลย เพราะถ้ามันชั่วแล้วก็ให้มันลงไปให้หนัก

จึงขอให้ทุกคนอย่าประมาท คิดว่าเราจะไปได้ในชาตินี้ คิดว่าตอนต่อๆ ไป ถ้ามีจังหวะจะนำ “มรดกธรรม” ของท่าน ตามที่ท่านเคยบอกไว้ตั้งแต่สมัยยังมีชีวิตอยู่ว่า ถ้าข้าตายไปแล้ว แม้แต่ลายเซ็นก็ยังมีค่า

แต่ว่านี่มีความสำคัญยิ่งกว่าลายเซ็น คิดว่าจะนำมาอภินันทนาการแด่ผู้อ่านทุกท่าน เนื่องในวาระถิดีขึ้นปีใหม่ ๒๕๔๔ ซึ่งชาวไทยต่างก็ผ่านพ้นวิกฤตการณ์มาได้ นับตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ เป็นต้นมา

ทั้งนี้ ด้วยคำพยากรณ์ต่างๆ ที่บอกว่าโลกจะเกิดภัยพิบัติทั้งหลาย บางประเทศจะจมหายไปจากแผนที่โลก

ฉะนั้น การที่พวกเรายังมีชีวิตอยู่ได้ แม้จะต้องผ่านกับเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองมาตั้งแต่ ปี ๒๕๔๐ จนกระทั่งปัจจุบันนี้ ด้วยความดีแห่ง "พระคาถาเงินล้าน" ก็ดี

ด้วยผลบุญที่กระทำต่อเนื่องกันมาก็ดี ประกอบกับอานุภาพแห่งคุณพระรัตนตรัย เทพไท้เทวาทั้งหลาย ตลอดถึงพระบารมีของพระมหากษัตริย์เจ้า และคุณความดีที่เรามีความกตัญญูต่อผู้มีอุปการคุณทั้งหลาย จึงทำให้รอดปลอดภัยมาได้ถึงทุกวันนี้

แต่จะรอดตลอดไปหรือไม่ก็ยังไม่แน่ เพราะว่าทุกคนหนีกฏของกรรมไปไม่พ้น แต่จงอย่าสร้างกรรมที่เป็นอกุศลใหม่ให้เกิดขึ้น แล้วเราจะมีความสุขอย่างแน่นอน หลังจากดับสิ้นสังขารไปจากโลกนี้แล้ว...สวัสดี.


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 26/4/18 at 06:01

[ ตอนที่ 9 ]

(Update 10 มิถุนายน 2561)


หลวงพ่อสมเด็จฯ วัดสระเกศฯ ประธานพิธีเททอง


...สำหรับเหตุการณ์ในวันนั้น หลังจากขบวนแห่เข้ามาถึงมณฑปพิธี ด้านหน้าปราสาททองคำแล้วก็มีความชุลมุนวุ่นวายพอสมควร กว่าจะนั่งเข้าประจำที่ของตนเองได้ ปรากฏว่าบางคนต้องนั่งลงไปที่พื้นปูน เพราะภายในเต็นท์ทั้งภายนอกและภายในปะรำพิธีเต็มไปหมด

เมื่อทุกอย่างเริ่มเข้าสู่ความเป็นระเบียบเรียบร้อยแล้ว เครื่องสักการะทั้งหลายก็ได้ ถูกจัดวางไว้บนโต๊ะหมู่ที่อยู่ในซุ้มทั้ง ๔ ทิศ ของปะรำพิธี อันมีรูป หลวงปู่ปาน, หลวงพ่อ, ในหลวง,

โดยมี "องค์พระประธาน" อยู่ท่ามกลาง "บายศรีเอก" ที่อยู่ภายในซุ้มด้านขวามือบนเวที ส่วนทางด้านซุ้มซ้ายมือมี บายศรีแต่ละภาคแวดล้อมเป็นบริวาร

ในตอนนี้ ท่านผู้อ่านทั้งหลาย มองดูจากภาพรวมแล้ว บริเวณปะรำพิธีสวยเด่นเป็นสง่า มีความวิจิตรตระการตาบอกไม่ถูก

เพราะมี "ปราสาททองคำ" เป็นแบ๊คกราวด์อยู่ด้านหลัง ส่วนภายในก็มีพระภิกษุสามเณร และญาติโยมทั้งหลายนั่งอยู่เป็นจำนวนมาก

ท่านเจ้าอาวาสวัดท่าซุงก็นั่งรับแขกด้วย เพื่อให้ญาติโยมได้เข้ามาบำเพ็ญกุศล มองออกไปเห็นเข้าแถวกันยาวเหยียด ท่ามกลางบรรยากาศในยามบ่าย

เสียงดนตรีไทยบรรเลงเพลงไปเรื่อย ดร.ปริญญากับผู้เขียน ช่วยกันเป็นพิธีกร เพื่อจะรอเวลา ท่านเจ้าประคุณหลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศฯ เดินทางมาถึง

ในระหว่างนี้ ท่านเจ้าอาวาสและรองเจ้าอาวาส ก็ได้เริ่มทำพิธีบวงสรวงบายศรีของวัด และบายศรีรวมภาค แล้วจึงให้ญาติโยมและพระภิกษุทั้งหลาย ช่วยกันนำทองคำแท่ง (หนักแท่งละ ๑ ก.ก) ไปใส่ลงในเบ้าหลอมก่อน


เมื่อท่านเจ้าประคุณหลวงพ่อสมเด็จฯ เดินทางมาถึงจึงได้เริ่มพิธีการต่อไป จนกระทั่ง ดร.ปริญญา นำบูชาพระ รับศีล และอาราธนาพระปริตร แล้วท่านเจ้าอาวาสก็ได้กล่าวเรื่องการจัดงาน และนำเจริญสมาธิจิต ประมาณ ๑๐ นาที

ต่อจากนั้น จึงเชิญคณะศิษย์ที่เป็นตัวแทนของแต่ละภาคออกมารับแผ่นทองจาก ท่านเจ้าประคุณหลวงพ่อสมเด็จฯ บนปะรำพิธี แล้วนำไปใส่ลงในเบ้าหลอมจนหมดสิ้น

จากนั้น ท่านเจ้าประคุณหลวงพ่อสมเด็จฯ ผู้เป็นองค์ประธาน จึงได้ลุกยืนขึ้นถือสายสูต (สายสิญจน์) เพื่อเททองลงในแบบพิมพ์

พระเถรานุเถระอันมี เจ้าคณะจังหวัดอุทัยธานี (อดีตพระราชอุทัยกวี วัดทุ่งแก้ว) เป็นต้น เจริญชัยมงคลคาถา ปี่พาทย์บรรเลงเพลงมหาฤกษ์มหาชัย เจ้าหน้าที่ตีฆ้องลั่นกลองชัย ท่ามกลางเสียงพลุที่ดังขึ้นสู่ทองฟ้า ๒๑ นัด


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 4/5/18 at 05:47

[ ตอนที่ 10 ]

(Update 19 มิถุนายน 2561)


บรรยากาศในงานพิธีเททอง


"...ในยามเย็นนั้น บรรยากาศกำลังสบาย ท่ามกลางสายลมพัดผ่านโชยมาเบาๆ ทุกคนมีความปลื้มปีติยินดีที่ได้มีโอกาสร่วมสร้างมหากุศลในครั้งนี้

ทุกคนต่างก็จับปลายสายสิญจน์ที่ขึงอยู่ในปะรำพิธีตลอดเวลา ส่วนที่นั่งอยู่ภายนอกบ้างก็พนมมือ น้อมจิตระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าไปด้วย

ท่ามกลางสายตาของผู้คนที่อยู่โดยรอบ ต่างก็จ้องมองไปในขณะที่ทำพิธีเททอง แต่พอเสร็จพิธีแล้ว คราวนี้ต่างจ้องที่จะดึงสายสิญจน์กัน เพื่อเก็บไว้เป็นศิริมงคลแก่ตนเองต่อไป

สำหรับสถานที่เททองอยู่ตรงหน้าปะรำพิธี โดยมีเบื้องบนเวทีที่ยกขึ้นสูง จะมองเห็นสัปทนสีทองกางกั้นองค์ประธานแต่ไกล

ท่ามกลางเต็นท์ทั้งสองด้าน ที่ถูกคลุมด้วยผ้าสีทองมีชายร้อยด้วยมุกแวววาว พร้อมกับตั้งฉัตรสีทองขลิบขาวไว้สูงเด่นเป็นสง่า ท่านเจ้าประคุณหลวงพ่อสมเด็จฯ มีความเมตตาปรานีกับลูกหลานหลวงพ่อทุกคน

ท่านยิ้มแย้มแจ่มใสตลอดเวลา แม้จะเททององค์ที่มีเนื้อทองคำบริสุทธิ์สำเร็จไป ๑ องค์ แล้วก็ตาม ความจริงท่านจะต้องรีบเดินทางกลับวัดทันที โดยมี ท่านเจ้าคุณสุวรรณฯ และ ท่านพระครูวิมลฯ ร่วมเดินทางมาด้วย

แต่ทว่าด้วยความอนุเคราะห์จากท่านด้วยดี ท่านบอกกับพระครูปลัดอนันต์ว่า จะยังไม่กลับตามกำหนดเดิม ขออยู่รอเททองอีก ๑ องค์ เพราะมีญาติโยมบริจาคทองคำมากมาย จนสามารถเทองค์พระได้อีก ๑ องค์..."


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 10/6/18 at 13:39

[ ตอนที่ 11 ]
(Update 10 กรกฎาคม 2561)



บุพกรรมเดิม


...เพราะฉะนั้น ด้วยกุศลผลบุญที่ทุกคนถวายต่อ "สมเด็จองค์ปฐม" ด้วยการบูชาด้วยทองคำอันมีค่านี้ ถึงแม้จะต้องถอดสร้อยออกจากคอ

แม้จะต้องถอดแหวนออกจากนิ้ว หรือถอดกำไลออกจากข้อมือก็ตาม เวลานั้นกำลังใจของทุกคนไม่มีคำว่าเสียดายอยู่ในจิตใจเลย

ทุกคนลืมความตระหนี่ ลืมภาระหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบภายในครอบครัวทั้งหมด ด้วยเหตุความดีที่สูงสุดนี้ ผู้เขียนรู้สึกประทับใจต่อผู้คนทั้งหลาย

จึงขอนำ “บันทึกพิเศษ” ของท่าน เฉพาะตอนสำคัญมาอภินันทนาการท่านผู้อ่าน ซึ่งผู้เขียนได้มาจาก คุณโยมเฉิดศรี ภรรยา ท่านเจ้ากรมเสริม นานแล้ว

ในสมัยก่อน ถ้าจะคุยเรื่องอย่างนี้ ส่วนมากจะไม่เปิดเผยกัน เพราะฉะนั้น *บันทึกพิเศษ* ฉบับนี้ จะมีกันเพียงไม่กี่คน เพราะถือว่าเป็นเรื่องภายใน ไม่เป็นสาธารณะแก่ใคร

แต่สมัยปัจจุบันนี้ แตกต่างกว่าสมัยก่อนมาก เพราะคนรุ่นนี้มีกำลังใจสูง สามารถเข้าใจเรื่องราวเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี

เมื่อได้อ่านแล้ว ท่านจะเข้าใจถึง "จริยาเดิม" หมายถึง "บุพกรรมเดิม" ที่เคยกระทำมา มิฉะนั้นจะกระทำการเช่นนี้ได้ยาก

เพราะการถอดเครื่องประดับอันมีค่าของตน ไม่ใช่บุคคลอื่นใดจะทำกันได้ง่าย แต่มิใช่หมายความว่า คณะอื่นจะทำไม่ได้ เขาอาจจะทำได้เหมือนกัน แต่คิดว่าเป็นส่วนน้อยเท่านั้น


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 19/6/18 at 05:36

[ ตอนที่ 12 ]
(Update 19 กรกฎาคม 2561)


ถวายเครื่องประดับเป็นพุทธบูชา


...ท่านได้บันทึกพิเศษนี้ไว้เมื่อคืนวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๒ เวลา ๒๐.๓๐ น. โดยเล่าว่า สมัยหนึ่งท่านได้เกิดมาเป็นเจ้าผู้ครองนคร ขณะนั้นมีแต่พราหมณ์ ไม่มีพระในเมือง จึงจัดตั้งโรงทานเพื่อสงเคราะห์ประชาชนทั้งหลาย

วันหนึ่ง ในขณะที่กำลังแจกของในแคว้นเมืองขึ้น มีเสนาบดีเขาบอกว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรด พวกเราแปลกใจ เพราะไม่เคยรู้เลยว่า พระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร

คิดว่าเป็นเทวดา ถามเขาว่าท่านมาจากวิมานชั้นไหน เขาบอกว่าไม่ใช่เทวดา แต่เป็นพระพุทธเจ้า เขาเองก็ยังไม่เห็นตัวเหมือนกัน

เขาบอกว่านายประตูเมืองเข้ามาแจ้งว่า พระพุทธเจ้าขอเข้ามาโปรดในเมือง ท่านปู่ ท่านอยากรู้ว่าพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร จึงอนุญาตให้เข้ามาได้

แต่เสนาบดีเขาบอกว่า ต้องออกไปรับ จึงพร้อมกันออกไปรับ ที่ไปไม่ใช่เลื่อมใส ไปเพราะอยากรู้ว่า พระพุทธเจ้ามีรูปร่างอย่างไรมากกว่า

จึงออกไปเป็นกองเกียรติยศใหญ่ เพราะกษัตริย์เสด็จหมดตระกูล พร้อมด้วยพลสี่เหล่า เป็นขบวนใหญ่และสวยงามมากจริงๆ ฝ่ายในแต่งกายด้วยเครื่องประดับเต็มอัตรา มองดูแล้วคล้ายกับจะขนเครื่องทอง เครื่องเพชรไปขาย

พอไปถึงท่าน เห็นท่านเป็นมนุษย์ธรรมดา ห่มผ้าสีย้อมฝาด ศีรษะโกน นั่งสงบเสงี่ยม แต่องค์พระพุทธเจ้ามีรัศมีออกจากกายสวยงามมาก พอไปถึง ท่านปู่ ก็นำถวายนมัสการ การกราบไหว้นี้มีมานานแล้ว

เมื่อทุกคนกราบหมด พระองค์ก็เริ่มแสดงปาฏิหาริย์ คือนั่งอยู่อย่างนั้น แต่ท่านและพระทุกองค์ค่อย ๆ ลอยขึ้นเหนือพื้นที่นั่ง จนสูงเท่ายอดตาล แล้วลอยลงมานั่งที่เดิม

พวกเราแปลกใจมาก กราบกันเป็นการใหญ่ ไม่รู้ว่าเท่าไร ยายตุ๋ย แกมีอะไรแปลกกว่าคนอื่น แกกราบแล้วแกแหงนหน้ามอง แล้วก็กราบน้ำตาแกไหลเพราะปลื้มใจ

เมื่อพระองค์พร้อมด้วยพระสาวกนั่งที่เดิม ก็ทรงเริ่มเทศน์ คือพูดให้ฟัง พอท่านเทศน์จบ ท่านปู่ ฉัน และนักรบทั้งหมด ถอดอาวุธคู่มือถวายเป็นพุทธบูชา ท่านย่า แม่ศรี นนทา (ครูนนทา อนันตวงศ์) ตุ๋ย (สิริรัตน์ โรจนวิภาต) ถอดเครื่องประดับกายทั้งหมด...”


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 10/7/18 at 07:46

[ ตอนที่ 13 ]
(Update 30 กรกฎาคม 2561)


กองเกียรติยศ


...เป็นอันว่า ทุกคนในกองเกียรติยศทั้งหมด คงจะได้ร่วมกันบูชาพระพุทธเจ้า ดังที่พระเดชพระคุณท่านเล่ามานี้ อันเป็นจริยาเดิมที่เคยประพฤติกันมาแล้ว ซึ่งพวกเราก็ได้เคยประสบมาด้วยตนเองเช่นกันว่า

ในเรื่องของการไปจัดงานตามสถานที่สำคัญต่างๆ เกือบทุกภาคของประเทศ บางทีมีความไม่สะดวกที่จะจัดขบวนแถว แต่พอถึงเวลาจะจัดงานจริงๆ จะต้องมีเหตุให้ต้องจัดขบวนแถวจนได้ แล้วบ่อยครั้งด้วยนะ

จึงคิดว่าพวกเราคงเคยบูชาพระพุทธเจ้า ด้วยขบวนกองเกียรติยศมาแล้วในอดีต จนมาถึงชาติปัจจุบันนี้ ถ้าจะไปกราบไหว้พระพุทธเจ้าที่ไหน จะเดินไปกราบอย่างที่เขาทำกันไม่ได้ คือจะต้องยกกองเกียรติยศไปเป็นขบวนมากมาย ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้

แต่ก็ถือว่าเหมาะสมที่กระทำ เพราะพระคุณความดีของพระพุทธเจ้ามีมากมาย สุดที่จะพรรณนา ความดีที่พวกเราทำถวายกันครั้งนี้

เหมือนกับได้เทิดทูนพระคุณของพระองค์ รวมทั้งครูบาอาจารย์ทั้งหลายไว้เหนือเศียรเกล้า กิจกรรมที่กระทำครั้งนี้ จึงสำเร็จลุล่วงไปด้วย ย่อมเป็นเพราะผลแห่ง ความสามัคคี นั่นเอง

ฉะนั้น พวกเราทุกคนจึงถือว่าได้ทำตามโอวาทของท่านในชาติปัจจุบันนี้ และได้กระทำมาแล้วตามจริยาเดิม นั่นคือถอดอาวุธและเครื่องประดับออกบูชามาตั้งแต่อดีตชาติ

พร้อมกับ ท่านปู่-ท่านย่า, ท่านพ่อ-ท่านแม่ ผลบุญทั้งหมดนี้คงจะรวมตัวกัน เพื่อผลอันไพบูลย์เช่นกัน นั่นก็คือ... “พระนิพพาน”


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 19/7/18 at 07:39

[ ตอนที่ 14 ]
(Update 13 สิงหาคม 2561)


งานพิธีฉลองสมโภช



...รวมความว่า พระพุทธรูปทองคำที่อุบัติขึ้นในครั้งนี้ จึงถือว่าเป็นศิริมงคลแก่ชาวไทยและประเทศชาติ เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายพระราชกุศลแด่องค์พระประมุขของชาติด้วย จึงทำให้พวกเรามีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะ ท่านพระครูปลัดอนันต์ หลังจากได้เห็นองค์พระที่ถอดออกมาจากแม่พิมพ์แล้วในตอนกลางดึก พร้อมกับหลายท่านที่ยังไม่กลับ เมื่อได้เห็นแล้วต่างก็ออกปากชื่นชมว่า สวยงามมากเหลือเกิน..!

เนื่องจากในตอนที่แล้ว ได้เล่ามาถึงเรื่องการหล่อพระพุทธรูปทองคำ “สมเด็จองค์ปฐม” ว่าได้จัดขบวนแห่อย่างสวยงาม และสมพระเกียรติแด่พระพุทธองค์ โดยเฉพาะผู้ร่วมงานทุกคน แต่งกายด้วยชุดไทยๆ กันสมศักดิ์ศรี

เพราะฉะนั้น เมื่องานสำเร็จไปด้วยดี จึงต้องมีการฉลองสมโภชกันอย่างเต็มที่ แต่ก่อนที่จะเริ่มงานต่อไปนั้น หลังจากพระเถรานุเถระ อันมี ท่านเจ้าประคุณหลวงพ่อสมเด็จฯ วัดสระเกศ กลับไปแล้วนั้น

พระสงฆ์ก็ได้เป็นตัวแทนของผู้ร่วมงานทั้งหมด จะได้ทำพิธีกราบขอขมา ณ เบื้องบนเวที โดยมี พระครูปลัดอนันต์ พระครูสมุห์พิชิต พระอาจินต์ เป็นต้น พร้อมทั้ง พระชัยวัฒน์ เป็นผู้กล่าวดังนี้...




“...ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย อันมีพระภิกษุสามเณรและอุบาสกอุบาสิก ผู้ปวารณาเป็นสาวกและสาวิกาของพระองค์ นับตั้งแต่ชาติอดีตจนถึงปัจจุบัน

ขอนอบน้อมด้วยเศียรเกล้าแด่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นต้นแห่งพุทธวงศ์ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนี้ ที่พระองค์ได้ทรงแผ่พระบารมีปกเกล้า ปวงเหล่าลูกหลานของ หลวงพ่อพระราชพรหมยาน ที่ได้จุติลงมาในมนุษยโลกนี้

เพื่อช่วยกันทำหน้าที่ร่วมกับท่าน ในการสนองคุณต่อชาติ พระศาสนา และพระมหากษัตริย์ ตลอดถึงปวงชนชาวไทยให้เป็นสุขตามสมควร

ทั้งนี้ ด้วยความรักความสามัคคี เพราะอาศัยที่เคยเป็นญาติพี่น้องกันมาก่อน บัดนี้ ปวงข้าพระบาททั้งหลาย จึงได้มาชุมนุมกันทั่วประเทศ

โดยมี พระครูปลัดอนันต์ เป็นเจ้าอาวาส พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร และอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ณ ที่นี้ เพื่อประกาศความดีของพระองค์ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ ให้แผ่ไพศาลหาประมาณมิได้

ฉะนั้น เนื่องในวโรกาสอันเป็นมิ่งมหามงคลนี้ เหล่าข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย จึงขอน้อมถวายเครื่องสักการะ ที่ได้จัดมาแต่ละภาคเหล่านี้

เพื่อเป็นศูนย์รวมใจของชาวไทยทั้งประเทศ ในอันที่จะกอบกู้วิกฤติกาลให้ผ่านพ้นไป เป็นที่รองรับความรุ่งเรืองของประเทศชาติ และพระพุทธศาสนาในอนาคตกาลต่อไป

จึงขอได้โปรดเสด็จมาเป็นสักขีพยาน ณ สถานที่นี้ ในพิธีการกราบขอขมากรรม จากปวงข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย หากจะประมาทพลาดพลั้งในคุณพระรัตนตรัย

โดยอาศัยที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ดี หรือที่เจตนาก็ดี ด้วยกาย วาจา ใจ อันเกิดจากอกุศลกรรมทั้งหลาย นับตั้งแต่อดีตชาติจนถึงปัจจุบันนี้

ขอองค์สมเด็จพระมหามุนี ผู้เป็นองค์พระปฐมบรมวงศ์แห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขอได้โปรดอดโทษให้แก่ปวงข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ตราบเท่าเข้าสู่พระนิพพาน

และขอพระบารมีแห่งพระองค์ทั้งหลาย ที่ได้เสด็จมา ณ สถานที่นี้ ขอได้โปรดอภิบาล ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหญิงชาย และชาวไทยผู้ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมทั้งหลาย อันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข จงได้ประสบสันติสุขพ้นทุกข์ภัย และได้บรรลุคุณอันเกษมเปรมปรีดิ์เทอญ...”


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 30/7/18 at 04:33

[ ตอนที่ 15 ]
(Update 24 สิงหาคม 2561)


พิธีถวายสดุดีเทิดพระเกียรติคุณสมเด็จองค์ปฐม



ตัวแทนจากภาคเหนือ...............ตัวแทนจากภาคใต้


...หลังจากพระมหาเถรานุเถระ อันมี ท่านเจ้าประคุณหลวงพ่อสมเด็จฯ วัดสระเกศ กลับไปแล้วนั้น จึงมีการฉลองสมโภชกันอย่างเต็มที่ แต่ก่อนที่จะเริ่มงานต่อไปนั้น

พระสงฆ์ก็ได้เป็นตัวแทนของผู้ร่วมงานทั้งหมด จะได้ทำพิธีกราบขอขมา ณ เบื้องบนเวที โดยมี พระครูปลัดอนันต์ พระครูสมุห์พิชิต พระอาจินต์ เป็นต้น พร้อมทั้ง พระชัยวัฒน์ เป็นผู้กล่าวนำขอขมาไปแล้ว

จากนั้น ท่านเจ้าอาวาสจึงได้นำพานธูปเทียนขึ้นประดิษฐานบนโต๊ะหมู่บูชา ถ้าจะสังเกตให้ดีภายในตู้ไม้ที่อยู่ด้านข้าง

จะเห็นฐานและซุ้มเรือนแก้วขององค์พระ ที่ประดิษฐ์ด้วยทองคำล้วนเสร็จแล้ว มีลวดลายไทยอันงามวิจิตรวางอยู่ข้างใน

เมื่อพระสงฆ์คุกเข่ากราบนมัสการแล้ว ตัวแทนแต่ละภาคก็ออกมากล่าวคำสดุดีเทิดพระเกียรติคุณ “สมเด็จองค์ปฐม” บนเวที โดยมีแสงไฟสปอร์ตไลท์ส่องลงมารอบด้าน (ตอนนี้มีบางท่านก็ออกไปทานอาหารเย็นกัน)

...เริ่มแรกจาก ภาคเหนือ ด้วยสำเนียงจาวเหนือแต้ๆ เจ๊า...คือ อ.อำไพ สุจนิล อ.นฤมล อ.ชาญยุทธ คุณสุพัฒน์ จาก จ.เชียงใหม่ อีกท่านหนึ่งไม่ทราบชื่อทั้งหมด อยู่ในชุดล้านนา เพื่อเป็นตัวแทนของชาวภาคเหนือทั้งหมด

ต่อมาเป็น ภาคใต้ นำโดย คุณจารึก แก้วศิริ พร้อมด้วยคณะอีก ๕ คนเช่นกัน จากสุราษฎร์ธานี ด้วยสำเนียงชาวใต้แท้ๆ

ติดตามด้วยตัวแทนจาก ภาคอีสาน โดย คุณพงศ์พร จึงธนะวงศ์ และ อ.ณรงค์ (คณะหมูยอ) จ.ศรีสะเกษ ด้วยสำเนียงเสียงอีสานดั้งเดิมเช่นกัน



ตัวแทนจากภาคอีสาน...........ตัวแทนจากภาคตะวันออก

หลังจากนั้นก็เป็นภาคตะวันออก โดย อ.สมพงษ์ หลุนประยูร จากบ้านก๋ง ด้วยการขับเสภาได้อย่างไพเราะ พร้อมกับคณะคือ คุณชวลิต, คุณนิด และน้องสาวที่อยู่สนามชัยเขต

เมื่อตัวแทนภาคตะวันออกผ่านไปแล้ว ท่ามกลางเสียงปรบมือเป็นเกียรติแต่ละคณะแล้ว ทุกภาคกล่าวได้ดีมีเหตุผลเป็นที่ประทับใจของผู้ฟังที่อยู่ข้างล่างโดยรอบ



จนถึงคิวของ "คณะพิษณุโลก" ก็ได้ส่งตัวแทนออกมา ๕ คนเช่นกัน มี อ.สนองเนตร, อ.อุบล, และอ.วิบูลย์ มีชู เป็นต้น (ขออภัยจำชื่อไม่ได้ทั้งหมด)

ส่วนภาคตะวันตกมีตัวแทนออกมาสองท่าน คือ คุณหมอนพพร และ คุณหมอเตือนใจ กลั่นสุภา เรียกน้ำตาจากผู้รับฟังได้พอสมควร


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 13/8/18 at 05:53

[ ตอนที่ 16 ]
(Update 6 กันยายน 2561)


คณะศิษย์ถวายสดุดี ๔ ภาค


"...หลังจากตัวแทนทุกภาคขึ้นไปกล่าวแล้ว จนถึงวาระ "คณะสายลม" ก็มี คุณแสงเดือน พร้อมพันธุ์, คุณพลอย (จุฑาพร ศรีอร่าม) และ คุณปุ๋ย (ณัฐพร ธีรเนตร) เป็นต้น

ขออภัยจริงๆ ที่นึกชื่อได้แค่นี้เอง ที่เหลือรู้จักเหมือนกันแต่นึกชื่อไม่ออก แม้แต่ชุดสุดท้ายคือตัวแทนจาก ภาคกลาง ก็จำชื่อได้แต่ ดร.ปริญญา นุตาลัย และ เกียง (คณะดาวลูกไก่)

แล้วก็มีเพื่อนของ "มิดี้" อีกคนหนึ่งเท่านั้น ที่ขึ้นมากล่าวสดุดี จะเป็นโคลงบทนี้หรือไม่ก็ไม่แน่ใจ จึงขอเอามาลงตามที่ พิมพ์แจกไว้เป็นที่ระลึกดังนี้...


...สมเด็จโลกนาถเจ้า องค์ปฐม
องค์เอกอัครอุดม พุทธเจ้า
โพธิญาณพระอบรม อุกฤษฏ์
สี่สิบอสงไขยเข้า เศษนั้นแสนกัลป์

สรรพ์พระทัยบริสุทธิ์แล้ว ทุกประการ
เพ็ญวิมุตพุทธญาณ ใหญ่กว้าง
อริยสัจพระประทาน เวไนยชาติ
สมสั่งทานศีลสร้าง ก่อเกื้อภาวนา

ปวงข้าฯ น้อมเกล้ากราบ นมัสการ
พระสิขีทศพลญาณ พระพุทธเจ้า
อีกพระพุทธชินมาร ทั้งหมด
โลกุตรธรรมเก้า และล้วนอริยสงฆ์

ผจงจิตกราบแทบเท้า พระราชพรหมยานเฮย
ผู้สั่งสอนอบรม ศิษย์ถ้วน
ถึงประโยชน์อุดม บรมสุข
อนุศาสน์อุบายล้วน ลูกแจ้งแจ่มใจ

ในมหามหุติฤกษ์นี้ พระครูปลัดอนันต์เอย
พร้อมกับผองศิษย์วัด นอบเกล้า
เชิญพระพุฒาจารย์จัด การหล่อ พระรูป
พระพุทธสิขีเจ้า พิสุทธิ์แท้ทองราม

งามปะรำราชวัติล้อม บุปผา
งามหุ่นดั่งอินทรา สฤษฏ์สร้าง
งามพลังแห่งศรัทธา ประจงจัด กระบวนแห่
งามสรรพพิธีด้าง เทพซร้องสรรเสริญ

ขอเชิญเทพเจ้าทั่ว ทุกสถาน
โปรดรับเครื่องสักการ นอบไหว้
ขอจงบริรักษ์งาน หล่อพระ พุทธรูป
สำเร็จสมบูรณ์ได้ ดั่งข้าฯ จำนง

โดยประสงค์พ่อสั่งไว้ ก่อนวาย ชนม์นา
เพื่อบูชิตน้อมถวาย พระพุทธเจ้า
อัญเชิญขึ้นสถิตภาย ในบุษ บกมาศ
เพื่ออนุชนน้อมเกล้า กราบไหว้บูชา

ขออานิสงส์นี้จุ่ง อวยชัย
ทุกข์โศกโรคพาลภัย คลาดแคล้ว
กายสุขจิตสดใส ทุกเมื่อ
ครั้นชีพดับลับแล้ว ล่วงเข้านิพพาน ฯ


ส่วนคณะอื่นๆ นั้น ผู้เขียนไม่ได้รับข้อความที่กล่าวไว้ จึงต้องขออภัยด้วย แต่ ทุกคณะก็ขึ้นมากล่าวได้อย่างไพเราะจับใจ

จึงถือว่าเป็นตัวแทนคณะศิษย์ทั้งประเทศ หากมีโอกาสภายภาคหน้า จะต้องขอเชิญ คณะศิษย์จาก “ต่างประเทศ” บ้างนะ...สวัสดี"

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 24/8/18 at 05:13

[ ตอนที่ 17 ]
(Update 17 กันยายน 2561)


ท่านเจ้าอาวาสกล่าวสัมโมทนียกถา


"...เมื่อกล่าวสดุดี "สมเด็จองค์ปฐม" เสร็จจากตัวแทนทุกภาคแล้ว ท่านเจ้าอาวาสจึงได้กล่าวสัมโมทนียกถาแด่ผู้มาร่วมงานทุกท่าน

ท่านมีความประทับใจที่ทุกคนต่างก็เห็นกิจพุทธศาสนาเป็นสำคัญ ทั้งผู้ที่มาร่วมงานจะต้องเหน็ดเหนื่อยจากการ เดินทางมาจากที่ไกล

ส่วนผู้ช่วยงานแต่ละคนแต่ละคณะ ต่างก็มารวมตัวกัน บางคนก็มาตั้งแต่ก่อนงานหลายวัน ทั้งช่วยจัดสถานที่ ทั้งที่ช่วยจัดเลี้ยงอาหาร

ต่างคนต่างก็เหน็ดเหนื่อยด้วยกันทุกคน แม้แต่พระภิกษุทุกรูปก็สู้กับงานกันอย่างเต็มที่ ดึกๆ ดื่นๆ เกือบทุกคืน

แต่ผลปรากฏออกมาทุกคนหายเหนื่อย ทุกคนชื่นใจในผลงานที่ทำร่วมกัน ทุกคนไม่มีการถือตัวถือตน ไม่ว่างานหนักหรือเบา สู้ไม่ถอย

เวลาจะปรึกษาหารือ ก็พูดกันด้วยถ้อยคำที่ดีมีเหตุผล รักษาน้ำใจไว้ด้วยดี ไม่พูดจาให้กระทบกระเทือนใจซึ่งกันและกัน

ถ้าพระเดชพระคุณหลวงพ่อยังมีชีวิตอยู่ ท่านคงจะภูมิใจลูกหลานของท่านทุกคน ทั้งพระภิกษุภายในวัด และท่านที่เดินทางมาจากต่างวัด

แม้กระทั่งญาติโยมพุทธบริษัททุกท่านก็เหมือนกัน คิดว่าไม่เสียแรงที่ท่านอุตส่าห์ฝืนทนสังขาร เพื่อสั่งสอนให้ทุกคนเป็นคนดี เป็นที่ปรารถนาของสังคม

ด้วยการอุทิศตนให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม คือไม่เป็นภาระของผู้อื่น ทุกคนเกิดมาในชาตินี้ จึงมีชีวิตอยู่อย่างสูงค่าหาประมาณมิได้.."



ฉะนั้น ทุกคนจึงร่วมงานฉลองกันอย่างเต็มที่ โดยเริ่มจาก คุณพรทิพย์ ณ บางช้าง (เจ้าภาพสร้างวัดทิพย์อัปสร) และเพื่อนที่ได้แต่งชุดพระและชุดนางตั้งแต่เริ่มงาน

ผู้เขียนจะต้องขออภัยด้วยที่จัดให้รำช้าไปหน่อย เนื่องจากพิธีเททองยังไม่เสร็จ แต่ทุกคนก็ประทับใจในลีลาท่ารำอ่อนช้อยงดงาม

หลังจากนั้น ผู้เขียนก็ต้องทำหน้าที่เป็นผู้จัดชุดฟ้อนรำ เพราะล่วงเลยเวลาจากกำหนดเดิม น่าเห็นใจทุกคณะ ที่จะต้องอยู่ในชุดฟ้อนกันตั้งแต่เริ่มเดินขบวนในตอนบ่าย

ปรากฏว่าชุดฟ้อนรำ ๔ ภาค ทาง "คณะพิมาย" มี คุณสมพร เป็นผู้ประสานงาน โดยเริ่มชุดฟ้อนจาก "ภาคอีสาน" ออกมาก่อนมีชื่อว่า “ระบำพิมายปุระ”

โดยคณะนักเรียน ร.ร.พิมายวิทยา จ.นครราชสีมา ซึ่งเคยไปแสดงหน้าพระที่นั่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ ณ พระตำหนักภูพานฯ มาแล้ว

การนำชุดนี้มาฟ้อนรำ "คณะศิษย์ชาวพิมาย" ได้ช่วยกันออกค่าใช้จ่ายให้ และก็ได้ช่วยกันทำบายศรี

มีชื่อว่า “ปรางค์ปราสาทหินพิมาย” และบายศรี “ธรรมจักรแก้ว” พร้อมด้วย "ผ้าตุง" เข้าขบวนแห่ ในนาม "คณะศิษย์ภาคอีสาน" ทั้งหมด


ต่อจากนั้น "คณะหมูยอ" โดย อ.ณรงค์ ก็ได้นำเด็กๆ ออกมาร้องรำด้วยเพลงประกอบอีก ๓ ชุด คือ พระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง, แม่ย่าแม่หลวง, และ ลำเพลิน ความจริงจะมีชุด "พ่อแห่งชาติ" อีก แต่เวลาจำกัด

ถัดมาก็เป็นรอบของเด็กๆ อีกเช่นเคย นั่นก็คือ "ชุดรำกลองยาว" จากเด็กนักเรียนชายหญิง ร.ร. อนุบาลเมืองอุทัยธานี

ซึ่งมี "บุ้ง" ลูกสาวของ "จ่าตุ๋ย" แสดงอยู่ด้วย ในทีมทั้งหมดประมาณ ๕๐ คน เป็นที่สนุกครื้นเครงในยามค่ำคืนได้เป็นอย่างดี


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 6/9/18 at 05:56

[ ตอนที่ 18 ]
(Update 2 ตุลาคม 2561)


พิธีถวายสดุดีเทิดพระเกียรติคุณ "สมเด็จองค์ปฐม"


"...เมื่อการแสดงฟ้อนรำทาง ภาคอีสาน และ ภาคกลาง ผ่านพ้นไปแล้ว ต่อไปก็เป็น "ภาคตะวันออก" อันมี คุณสุทัศน์ - คุณทิพยา วิลาวัลย์ และคณะตาพระยา เป็นผู้ประสานงานนำชุดฟ้อนนี้มาแสดง

พร้อมทั้งเข้าขบวนแห่ และมีป้าย อักษร “คณะตาพระยา” นำขบวนอีกด้วย การรำชุดนี้ก็เรียกความสนใจได้เป็นอย่างดีเช่นกัน

ซึ่งมีชื่อว่า “อัคคนิรุทธ์ลีลา” หมายถึง “การบูชาเทพเจ้าด้วยไฟ” การแสดงชุดนี้ จึงมีการแสดงคล้ายรำโคมไฟ สร้างความตื่นเต้นเร้าใจพอสมควร


ชุดต่อไปจะเป็นการแสดงจาก ภาคใต้ นำโดย “นกยูง” (ศิษย์เก่า รร.พระสุธรรมฯ) ได้นำชุดนาฏศิลป์มาจากหาดใหญ่

เพื่อฟ้อนชุด “ระบำจินตปาตี” ซึ่งเพิ่งจะประดิษฐ์ท่ารำออกมาใหม่ในภาคใต้ อันมีแนวคิดจากศิลปะในการเชิดหนังตะลุงนั่นเอง

ต่อจากนั้นก็เป็นตัวแทน "ภาคเหนือ" จาก ร.ร.พร้าววิทยาคม อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ โดย อ.ชาญยุทธ ธนบดีเฉลิมรุ่ง และ อ.ศรีไพร จารุวัฒน์ เป็นผู้ประสานงาน เป็นการรำชุด "ฟ้อนเทียน" อันเป็นฟ้อนรำประจำภาคเหนือ


ส่วนภาคสุดท้ายก็ได้แก่ "ภาคกลาง" ความจริงจะต้องออกมารำก่อน แต่ชาวคณะ “รวมใจภักดิ์” ก็ได้เสียสละให้แก่ภาคอื่นๆ ออกไปรำก่อน

เพราะเด็กๆ ที่มารำจะต้องเดินทางกลับในคืนนั้นเลย พวกเราที่นำเด็กมารำ ต่างก็พยายามประสานได้อย่างดียิ่ง

ในแต่ละภาคจึงมีลีลาการรำสวยงาม ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน คือสวยงามไปคนละแบบ ซึ่งหาโอกาสยากมากที่จะนำมาแสดงรวมกันได้อย่างนี้

เมื่อการรำแบบได้มาตรฐานจบลงแล้ว ต่อไปก็จะเป็นการร้องและการรำแบบสมัครเล่นกันบ้าง จากผู้ที่มายืนแวดล้อมอยู่ข้างเวทีทั้งหลาย และผู้ที่ขึ้นไปยืนเป็นแถวอยู่บนเวที ด้วยการขับร้องตามที่จะเปิดเพลงนำ

เมื่อเพลงแรกคือ “สามัคคีชุมนุม” จบลงแล้ว จึงเชิญทุกท่านออกมาร่ายรำ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา โดยสลับกับการบรรเลงจากวงปี่พาทย์ จบแล้วผู้เขียนได้กล่าวต่อไปว่า

“...ในที่สุดความฝันก็เป็นความจริง พวกเราทุกคนรวมทั้งพระภิกษุสามเณรและอุบาสก อุบาสิกา ที่เดินทางมาทั่วทุกภาคของประเทศ

ที่ได้มาร่วมกิจกรรมจนได้รับผลสำเร็จในครั้งนี้ พระพุทธปฏิมาทองคำอันบริสุทธิ์องค์นี้ จึงได้เกิดจากการหล่อหลวมรวมใจเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันแล้ว จนไม่สามารถจะทำลายมิตรภาพของเรานี้ไปได้

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ขึ้นชื่อว่าความดีอาจจะไม่มีใครเห็น เพราะกิจกรรมครั้งนี้ ย่อมเป็นเพียงมุมหนึ่งของประเทศ

ที่ชาวไทยส่วนใหญ่อาจจะไม่รู้ว่าเราทำเพื่อ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ โดยที่ไม่คิดหวังสิ่งตอบแทนในโลกนี้ทั้งสิ้น

จึงขอให้ทุกท่านตั้งมโนปนิธาน อย่าสนใจในโลกธรรมทั้งหลาย จงมุ่งหวังผดุงยุติธรรมอันสดใส ถึงทนทุกข์ทรมานนานเท่าใด ยังมั่นใจ รักชาติองอาจครัน จะยอมตายหมายให้เกียรติดำรง จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมา

ขอให้ทุกท่านส่งกระแสใจไปตาม เนื้อร้องทำนองเพลงพระราชนิพนธ์ เพราะนอกจาก "ความฝันอันสูงสุด" แล้ว การทำความดีของพวกเราทุกคนในครั้งนี้ ยังมีความฝัน "อันบริสุทธิ์" อีกด้วย นั่นก็คือ “พระนิพพาน...”

พอเสียงบรรยายใกล้จะจบ เสียงเพลง “ความฝันอันสูงสุด” ก็ดังขึ้นท่ามกลางบรรยากาศในยามค่ำคืนนั้น

ทุกคนร้องออกมาด้วยความตื้นตันใจ บางคนต้องร่ำไห้เพราะซาบซึ้ง ไปกับบทเพลงพระราชนิพนธ์ ที่มีความหมายและกินใจเหลือเกิน

พอเพลงร้องจบแล้ว ต่อไปพวกเราก็ได้ออกมารำฉลองกันอีก ด้วยเพลงเซิ้งจากภาคอีสาน ปรากฏว่าทั้งหญิงและชาย ก็ได้ออกมาร่ายรำกันอย่างสนุกสนาน จนกระทั่งจบเพลง ผู้เขียนจึงได้กล่าวต่อไปอีกว่า

“..ตามพระพุทธบัญชาที่พระองค์ได้ทรงมอบให้ เพื่อตั้งมั่นพระศาสนาไว้ ณ ที่แห่งนี้ ซึ่งพระเดชพระคุณหลวงพ่อก็ได้กระทำตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายทุกประการ

ความสำเร็จครั้งนี้ ถ้าไม่สรรเสริญคุณความดีของครูบาอาจารย์ก็กระไรอยู่

ในคราวก่อนพวกเราได้ร้องเพลง “ต้นตระกูลไทย” ในฐานะที่ "พระเจ้าพรหมมหาราช" ทรงกู้ชาติจากขอม

ต่อมาในสมัยปัจจุบันนี้ พระองค์ก็ได้ถือกำเนิดเป็นชายชาตินักรบอีก แต่ชาตินี้ท่านได้เกิดมาเป็นเลือดนาวีโดยแท้ และได้ออกสู่สมรภูมิเลือดในท้องทะเลมาแล้ว

ยุทธนาวีที่ผ่านมาของท่าน จึงได้จารึกอยู่ในประวัติศาสตร์ชาติไทยเช่นกัน จึงขอให้ทุกท่านร้องเพลงนี้

เพื่อเลือดนาวีของท่านมาก่อน ต้องขออภัยที่จะต้องเรียกนามเดิมของท่าน แด่....นายทหารจากกองทัพเรือไทยในอดีต ท่านก็คือ เรือโทสังเวียน สังข์สุวรรณ...

แล้วเสียงเพลง “วอลซ์นาวี” ก็ดังขึ้น ท่ามกลางดวงใจของทุกคนที่ลุกยืนขึ้น เพื่อเป็นเกียรติในการร้องเพลงนี้

ทุกคนร้องเพลงไปตาม เนื้อร้องที่แจกให้ก่อนงาน แน่ละ..ความระลึกถึง ในอดีตของท่าน ท่านคงจะหยั่งทราบด้วยญาณวิถีว่า ลูกทุกคนขอมอบหัวใจให้พ่ออย่างแท้จริง

การร้องรำทำเพลงเพื่อเป็นเกียรติ ในฐานะที่ท่านรับใช้ชาติมาก่อนที่จะอุปสมบท นั่นสำหรับชาติปัจจุบันนี้ ต่อไปนี้ขอให้ช่วยกันรำ เพื่อฉลองความสำเร็จในการที่ท่านทำกิจพระศาสนา

ตามที่รับอาสาลงมาครบถ้วนทุกประการ ทั้งนี้ ด้วยพระพุทธบัญชาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปฐมทรงเป็นประธาน ซึ่งพวกเรามีหน้าที่ช่วยประสานงานของท่านต่อไป.."


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 17/9/18 at 14:06

[ ตอนที่ 19 ]
(Update 13 ตุลาคม 2561)


พิธีฉลองสมโภช "สมเด็จองค์ปฐม" ทองคำ


"...เป็นอันว่า วัดท่าซุงได้เจริญรุ่งเรืองตลอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ ด้วยความร่วมมือจากคณะศิษยานุศิษย์ทั่วไป

ที่ได้ช่วยกันอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะ "สถาบันกษัตริย์" ที่พวกเรามีความกตัญญูต่อพระองค์ท่าน ที่ได้สร้างชาติสร้างแผ่นดินไว้ ฉะนั้น การที่เรามีชีวิตยืนยาวจนถึงโอกาสนี้นับเป็นอุดมมงคลยิ่ง

เพราะปีนี้เป็นปีครบ ๖ รอบของ "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" ในฐานะที่พระองค์ได้เคยเสด็จมา ณ สถานที่แห่งนี้มาก่อน

ควรที่จะพวกเราจะได้จัดงานอันเป็นมิ่งมหามงคล เพื่อเป็นเกียรติของวัด และลูกหลานหลวงพ่อทุกคน ในอันที่ถวายพระพรชัยมงคล เพื่อขอให้พระองค์ทรงมีพระชนมายุยิ่งยืนนานเทอญ ฯ

การรื่นเริงบันเทิงใจ เพื่อแสดงให้เห็นถึงน้ำใจของคนไทย ที่ยังรักยังห่วงแผ่นดิน หวังที่จะให้คนไทยเป็นอิสรภาพ ถึงแม้เราจะเป็นหนี้ชาวต่างชาติ แต่สักวันหนึ่งเราจะกู้ผืนแผ่นดินนี้กลับมาอีก

ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะเรายังมี “พ่อหลวง” ผู้เป็นดวงใจของคนไทยทั้งชาติ ที่จะประกาศพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านได้อย่างเต็มภาคภูมิภูมิใจไทย

ร่วมร้อยหัวใจร่วมใฝ่ร่วมหวัง ภูมิพลังแผ่นดินถิ่นนี้ยิ่งใหญ่ ทรงปกครองด้วยพระเมตตาดุจบิดร เหล่าประชาทุกข์ร้อนใดใดกรายมา โอ้ฟ้าเป็นดั่งฝนดับไฟ...

ครั้นแล้วเพลง “ภูมิแผ่นดิน” ที่กำลังเป็นที่นิยมในขณะนั้นก็ดังขึ้น โดยผู้ที่อยู่บนเวทีส่วนใหญ่จะเป็น "คณะพุฒตาล" และ "คณะรวมใจภักดิ์" ซึ่งได้มีโอกาสซ้อมเนื้อร้องกันมาบ้างแล้ว จากนั้นผู้เขียนก็ได้บรรยายต่อไปว่า

ต่อไปขอให้พวกเราร้องเพลง เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่องค์ประมุขของชาติ ซึ่งจะเป็นการร้องเพลงสุดท้ายของคืนนี้ ในฐานะที่พระราชาเป็นสง่าแห่งแคว้น อยู่เป็นขวัญแดน โพธิ์ทองของปวงประชา...

ตอนนี้เพลง “ราชาเป็นสง่าแห่งแคว้น” ก็เปิดดังก้องไปทั่วบริเวณนั้น แต่มีบางคนที่อยู่ไกล บอกว่าไม่ค่อยจะได้ยิน

เพราะตอนนั้นใกล้เวลาจะสองยามแล้ว คงจะเกรงใจคนที่กลับไปนอนแล้วก็ได้ แต่พอเสียงเพลง “พ่อ” ดังขึ้น จึงมีความรู้สึกว่า คำว่า “พ่อ” มีความหมายมาก

ตอนนี้ในขณะที่ใกล้จบเพลงนี้ เสียงพลุ “ดาวกระจาย” ดังขึ้นบนท้องฟ้า ทุกคนต่างก็มองขึ้นไปเบื้องบน เห็นพลุหลายหลากสีกระจายเต็มท้องฟ้า

ประทีปโคมลอยก็ถูกปล่อยขึ้นไปเป็นระยะๆ ผสมผสานกับเสียงเพลงเซิ้ง “อีสานรวมเผ่า” และเพลง “รำเพลงกลองยาว”

ทุกคนร้องรำทำเพลงด้วยความรื่นเริงบันเทิงใจ เพื่อเฉลิมฉลองแห่งความสำเร็จ และเป็นการถวายพระพรแด่ในหลวง

จนลืมความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ามาตลอดทั้งวัน อีกทั้งช่างได้นำพระพุทธรูปที่เพิ่งหล่อเสร็จออกมาให้ชื่นชมอย่างสมใจกันในตอนดึก

แม้ท่านเจ้าอาวาสจะกลับไปก่อนแล้ว แต่ก็จำต้องเปิดเพลงไปตามที่เตรียมไว้ล่วงหน้า ซึ่งได้จัดไว้เป็นขั้นตอนแล้วโดยไม่สามารถจะตัดออกได้

เพราะไม่ทราบว่าพิธีการหล่อพระจะเสร็จเร็วหรือช้า หวังว่าทุกท่านคงไม่ตำหนิกัน ว่าจัดจนดึกดื่นเกินไป ขอให้เห็นใจผู้จัดบ้าง

จนกระทั่งได้เวลาอันสมควร ในขณะที่พลุดาวกระจายทั้ง ๑๐๐ ลูก โคมลอยทั้ง ๑๐๐ ดวง ที่ได้พุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าท่ามกลางความมืดมิด

เสมือนจะประกาศก้องไปให้โลกรู้ว่า พวกเราบูชาคุณของพระพุทธเจ้าอันหาประมาณมิได้.."


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 2/10/18 at 15:14

[ ตอนที่ 20 ]
(Update 26 ตุลาคม 2561)


พิธีฉลองสมโภช "สมเด็จองค์ปฐม"


"...ในขณะที่พลุดาวกระจายทั้ง ๑๐๐ ลูก โคมลอยทั้ง ๑๐๐ ดวง ที่ได้พุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าท่ามกลางความมืดมิด

ด้านหลังปราสาททองคำ เสมือนจะประกาศก้องไปให้โลกรู้ว่า พวกเราบูชาคุณของพระพุทธเจ้าอันหาประมาณมิได้

ในตอนนี้ จะเห็นโคมลอยขึ้นไปไกล จนเห็นแสงไฟระยิบระยับ ท่านพระครูอาจินต์ บอกว่า

เพิ่งจะเห็นที่วัดเป็นครั้งแรกนี่เอง (เรื่องพลุนี้ได้จัดมาจากสุโขทัย อ.พรทิพย์ เมฆประมวล เป็นผู้ติดต่อ โดยทางวัดเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย)

ครั้นเมื่อเสร็จงานผ่านไปแล้ว มีหลายคน เช่น ต๋อย (อัจฉรา) เป็นต้น ถ่ายรูปออกมาแล้ว ปรากฏว่ามีดวงไฟอยู่ในภาพหลายดวง

แต่ดูแล้วมิใช่เป็นดวงไฟจากโคมลอยที่ปล่อยไป สันนิษฐานกันว่า น่าจะเป็นอำนาจพุทธานุภาพ มากกว่า เพราะมีปัญหาถามว่า ทำไมจึงถ่ายออกมาได้อย่างนี้หลายคน

และก่อนที่เพลง “สรรเสริญพระบารมี” จะดังขึ้น เพื่อเป็นการอำลากันในวาระสุดท้าย พลุดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง จำนวน ๓ ต้น

อันเป็นพลุสวยงามที่เก็บเอาไว้เป็นชุดสุดท้าย ก็ถูกจุดขึ้นที่ด้านหน้าปะรำพิธี ทุกคนยืนมอง ดูด้วยความตื่นตาตื่นใจ กิ่งก้านของต้นไม้เงิน ต้นไม้ทองทั้ง ๓ ต้น แกว่งไกวส่งประกายคล้ายดอกไม้ไฟได้อย่างสวยงาม

ทุกคนมองดูพร้อมกับปรบมือกันเป็น ครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะอำลาเข้าไปนอน เพราะตอนเช้าของวันอาทิตย์ที่ ๒๑ ก.พ. ๔๒ ยังมีพิธีถวายภัตตาหารพระภิกษุสามเณรภายในปราสาททองคำกันอีก หลังจากนั้นก็แยกย้ายกันกลับไป

บทสุดท้ายนี้ ผู้เขียนก็ได้บรรยายมาเท่าที่พอจะนึกได้ บางทีก็ดูรูปภาพที่ถ่ายไว้ด้วย แต่ก็อาจจะไม่ครบถ้วนตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง

จึงอาจจะมีข้อบกพร่องในการเล่า จะเป็นเรื่องของงานก็ดี หรือบุคคลต่างๆ ที่มาร่วมงานก็ดี

ทั้งหมดนี้ ถ้าหากมีข้อผิดพลาดประการใด ผู้เขียนต้องกราบขออภัยพระภิกษุทุกรูป และญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ทั้งที่มาช่วยงานก็ดี หรือที่เดินทางมาร่วมงานก็ดี

แต่ผลบุญทั้งหมดนี้ อันเป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกัน รวมทั้งท่านที่ไม่สามารถมาร่วมงานได้ก็ตาม ถือว่าทุกท่านมีส่วนบุญด้วยกัน

ผู้เขียนจึงกราบขออนุโมทนาคุณความดีของพระภิกษุทุกรูป อันมี ท่านพระครูปลัดอนันต์ เป็นประธาน

อีกทั้งท่านผู้ร่วมงานทั้งหลาย ที่ได้บริจาคทรัพย์สินอันมีค่า โดยเฉพาะทองรูปพรรณ อันเป็นเครื่องประดับกาย และทองคำแท่งทั้งหลายที่ชั่งน้ำหนักรวมกันแล้วประมาณ ๑๐๐ กว่ากิโลกรัม

ซึ่งมิใช่ปริมาณน้อยเลย ทั้งนี้ ถ้ามิใช่กำลังใจของบุคคลผู้เข้าถึง "ปรมัตถบารมี" อันเป็นบารมีขั้นสูงสุด แสดงว่าทุกท่านได้บำเพ็ญบารมีมาช้านานแล้ว จึงได้มีจิตใจสูงส่งเช่นนี้

ฉะนั้น เมื่อนำมาหล่อหลอมรวมกันเป็นองค์พระพุทธปฏิมา คือ “สมเด็จองค์ปฐมบรมครู” อันเป็นปฐมบรมวงศ์แห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

จึงได้ชื่อว่าเป็นการบูชาพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ที่ได้อุบัติขึ้นมาในโลกนี้แล้ว

เป็นอันว่า บุญความดีมีหาประมาณมิได้ คงจะเหมาะสมสำหรับบุคคลผู้มุ่งพระนิพพานเป็นที่สุด จึงขออวยพรให้ทุกท่าน

ที่ตั้งใจแสวงหาแก่นธรรมอย่างแท้จริง จงได้เข้าถึงวิมุติหลุดพ้นจากกระแสเวียนวนในโลกทั้งสาม

ในขณะที่จะดับจิตสังขารไปจากโลกนี้ ขอผลความดีทั้งหมด จงได้ปรากฏรวมตัวกัน เพื่อส่งผลให้ทุกคนได้มีดวงจิตที่สว่างไสว

ปราศจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งปวง เพื่อการบรรลุคุณธรรมอันสูงสุด ตามที่กุลบุตรกุลธิดาทั้งหลายมีความปรารถนาว่า

ในการเกิดครั้งนี้ ขอให้เป็นการเกิดเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อหมดสิ้นภพชาติ เพื่อดับแล้วซึ่งเชื้อแห่งการเกิด เป็นการดำรงอยู่ในวงศ์แห่งพระอริยเจ้าทั้งหลาย

เพื่อสถาปนาขึ้นเป็นพระอริยบุคคลอันประเสริฐ สมควรที่จะได้รับการยกย่องจากพระศาสดาว่า เป็นพระสาวกสาวิกาของพระองค์อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ คงจะได้มีโอกาสเข้าสู่ “ศากยวงศ์” เป็นแน่แท้ ถ้าทุกคนไม่ละความเพียร เพราะส่วนใหญ่ทุกคนก็มีวิมานรออยู่ที่พระนิพพานแล้ว

ยังรอโอกาสที่จะละกองทุกข์ทั้งหลายในสังขาร ด้วยการดับตัณหาด้วยปัญญาอันคมกล้า เสมือนกับเพชรฆาตที่ ประหารนักโทษแค่เพียงดาบเดียวก็ขาดฉะนั้น

หวังว่าทุกท่านคงจะคลาดแคล้วจาก “บ่วงมาร” ด้วยกำลังแห่งบารมีที่เคยบำเพ็ญมาแล้วด้วยดี ทั้งนี้ บางท่านก็เคยปรารถนาพระโพธิญาณมาแล้ว

แต่ถ้าวกกลับมาเป็นพระสาวกจะดีกว่า เพราะหัวหน้าได้อำลาไปแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเกิดอีกต่อไปนะ..สวัสดี


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 13/10/18 at 04:22

[ ตอนที่ 21 ]
(Update 12 พฤศจิกายน 2561)


พิธีฉลองสมโภช "สมเด็จองค์ปฐม"


"...ณ โอกาสนี้ จึงขอเชิญท่านทั้งหลายที่ยังตั้งใจเช่นนี้ ขอได้อำลาเวทีตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เพราะเวลาไม่คอยใคร

หากตัดสินใจล่าช้าไป หนทางที่อยู่ข้างหน้าอาจจะไม่แน่นอน จึงขอให้รีบฉกฉวยโอกาสนี้ ก่อนที่จะสายเกินไป ก่อนที่จากลากันไป จะขอนำบทขับร้องประกอบปี่พาทย์ “งานพิธีเททอง” ดังนี้

บทกลอนขับร้องประกอบดนตรีไทย


(เหาะ)
สมเด็จพระพุทธสิขี
ทรงสั่งสมบารมีปรีชาหาญ
พุทธการกะพระโพธิญาณ
นานสี่สิบอสงไขยกำไรมี
น้ำพระทัยเมตตาปรานี
ชี้แสดงแจ้งใจเวไนยชน
(เทวาประสิทธิ์)

เป็นสัตตูปการสัมปทา
ที่ตั้งแห่งศรัทธาบุญกุศล
ของบรรดาประชาชีนิกรชน
ยามร้อนรนได้พึ่งพระกรุณา
พระองค์คือ สมเด็จองค์ปฐม
บรมครูของพระพุทธศาสนา
ได้สืบทอดอริยวงศ์พระศาสดา
มาถึงกาลปัจจุบันเวลา

(เวสสุกรรม)
จบพานธูปเทียนบุปผชาติ
ขึ้นหว่างกลางนลาฏเกศา
สำรวมจิตระลึกคุณพระกรุณา
น้อมกราบแทบบาทาพระสุคต
องค์สมเด็จพระสิขีบรมนาถ
ปิ่นปราชญ์ปรีชาปรากฏ
ต้นพระพุทธวงศ์ทรงยศ
กำหนดพุทธศาสน์แต่โบราณ

(สะสม)
บูชาพระพุทธเจ้าทุกพระองค์
ย่อมดำรงศักดามหาศาล
บูชาพระธรรมโอฬาร
ได้ปัญญาญาณสราญใจ
บูชาพระสงฆ์ทรงศีลคุณ
เนื้อนาบุญโภคทรัพย์อสงไขย
ลูกนบกราบพระรัตนตรัย
ด้วยใจเคารพบูชา

(บรเทศ)
ขอน้อมกราบถวายอภิวาท
พระราชพรหมยานนาถา
พระคุณยิ่งกว่าบิดา
ผู้ก่อกายาของลูกนี้
ท่านได้สั่งสอนอบรม
ให้รู้คุณองค์ปฐมชินศรี
อนุศาสน์อุบายบรรดามี
ลูกนี้ได้แจ้งประจักษ์ใจ
ข้าฯ ไหว้พรหมเทพเทวา
ทั่วทุกชั้นฟ้าอาศัย
ขอจงได้โปรดช่วยอำนวยชัย
ให้การสำเร็จดังปรารมภ์ ฯ

(ต้นวรเชษฐ์)
ครั้งนี้ข้าฯจัดพิธี
หล่อพระพุทธสิขีองค์ปฐม ด้วยทองนพคุณนิยม ค่าสมควรคู่ดินฟ้า
ขอทุกองค์จงโปรดบริบาล ให้งานสัมฤทธิ์สมปราถนา
ให้ได้พระทองคำงามสุดตา ดังอินทรามาเนรมิตไว้

(บรเทศ)
ขอทุกท่านที่มาร่วมงาน จงสุขสำราญผ่องใส
ทุกข์โศกโรครานพาลภัย
จงดับสิ้นไปแต่บัดนี้
หวังใดได้สมจินตนา ขอวัฒน์เจ็ดจงมาเฉลิมศรี
ทำสิ่งใดสำเร็จสวัสดี
มีเกียรติเกริกหล้าธาตรี

(มอญแปลง)
งามปะรำราชวัติฉัตรตั้ง งามสะพรั่งบุปผชาติสะอาดศรี
งามหุ่นวิจิตรรูจี
งามดั่งท้าวโกสีย์สฤษฏ์ไว้
งามธูปเทียนทองเครื่องบูชา งามสง่าธงทิวปลิวไสว
งานกระบวนแห่แหนแน่นไป
งามวิไลวาทยะจังหวะจร
งามพลังศรัทธาบรรดาศิษย์ งามวิจิตรแต่งองค์ดังอัปสร
งามสรรพพิธีบวร
งามพรเทพซร้องอำนวยชัย

(มหาชัย)
ครั้นได้มหามหุติฤกษ์ ให้เบิกเบ้าทองผ่องใส
สมเด็จพุฒาจารย์สำรวมใจ หย่อนแผ่นทองลงในเบ้านั้น
พระสงฆ์เจริญชยันโต โพธิยา มูเล เสียงสนั่น
ปี่พาทย์สาธุการขึ้นพร้อมกัน เสียงฆ้องชัยลั่นกังวานไกล

(ช้างประสานงา)
บรรดาเหล่าศิษย์ทั้งหมด จิตกำหนดพุทโธที่เบ้าใหญ่
กรรพุมมือจับสายสูตรไว้ น้อมใจบังคมพระสุคต
ช่างทองค่อยเชิญน้ำทอง ประคองเทในพิมพ์ตามกำหนด
ได้เสร็จสมดังมโนรถ ทั้งหมดแสนเกษมเปรมใจ

(สารถี)
พระเอยพระทอง เรืองรองรัศมีสีใส
งามองค์ปางมารวิชัย งามพักตรพิไลพรายปรานี
งามกรงามศองามเนตร งามเกศเลสองค์พระชินศรี
ประทับนั่งบนบรรลังก์รูจี ประดับดวงมณีงามงด
พ่างพื้นฐานบัทม์ปัทมาสน์ วาดลายก้านแย่งแข้งสิงห์ขด
เลื่อมล้วนแก้วร้อยช้อยชด ผ้าทิพย์ชมพูนทพรรณราย
เรือนแก้วนาคเกี่ยวกระหวัดรอบ กรอบฝังเพชรรัตน์เฉิดฉาย
พระรัศมีทุกแฉกฉลักลาย แลคล้ายรังสีทินกร

(เต่ากินผักบุ้ง)
แม้นใครได้มากราบไหว้ ยึดไว้เป็นสติอนุสรณ์
ผู้นั้นจักจำเริญบวร สถาพรเป็นสุขสืบไป
ด้วยเดชานุภาพพระพุทธคุณ นำหนุนให้จิตผ่องใส
หากแม้นชีพดับสิ้นไป หมายใจย่อมพบพระนิพพาน ฯ


...สำหรับบทขับร้องประกอบปี่พาทย์ที่จบไปนี้ เป็นบทขับร้องสรรเสริญคุณของ “สมเด็จองค์ปฐม

” ต่อไปนี้จะเป็นบทขับร้องเพื่อเป็นการ ถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวรโรกาสวันเฉลิมพระชนม์พรรษาครบ ๖ รอบ ประพันธ์โดย ดร.ปริญญา นุตาลัย เช่นกัน

(นางนาค)
วันนี้วันมหาสิทธิชัย มงคลเกริกไกรไพศาล
ข้าพระบาทลูกพระราชพรหมยาน ร่วมเฉลิมฉลองงานถวายพระพร
ปวงข้าฯ สร้าง สมเด็จองค์ปฐม งามสมนพคุณประภัสสร
น้อมถวายบุญกุศลสรรพพร แด่พระภูธรพระภูมิพล
ในกาลนี้พระองค์ทรงชันษา ยืนยาวมาครบรอบหกหน
ขอบารมีสมเด็จพระทศพล โปรดดลจตุพรพระภูบาล

(มหาฤกษ์)
ขอพระองค์จงเจิมเฉลิมฉัตร
ปิ่นรัฐปกไทยเกษมศานต์
เฉลิมยศเฉลิมศักดิ์โอฬาร เฉลิมวงศ์อวตารพระจักรี
ขอพระองค์จงทรงเฉลิมสุข ทุกข์โศกโรคภัยพินาศหนี
เฉลิมคุณพูนเพิ่มพระบารมี เฉลิมศรีวัฒนาสถาวร
ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ทรงเกษมสำราญสโมสร
เฉลิมขวัญบรรดาประชากร เฉลิมพรบ้านเมืองร่มเย็นเอย ฯ


ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า...
“คณะศิษย์หลวงพ่อพระราชพรหมยาน”

****************

...เมื่อได้แถมท้ายกันด้วยบทกลอนแล้ว คงจะเป็นที่ซาบซึ้งตรึงใจได้เป็นอย่างดี แม้กาลเวลาจะผ่านไปเป็นเวลา ๒ ปีแล้วก็ตาม

แต่ภาพเหตุการณ์ต่างๆ ตลอดถึงเสียงผู้คน ที่เกลื่อนกล่นไปทั่วทั้งวัดในวันนั้นยังจำได้ดี ทุกคนอยู่ในชุดแต่งกายแบบวัฒนธรรมไทยจริงๆ

ถึงแม้จะต้องอยู่ในชุดนี้ตลอดทั้ง วันและคืน ท่ามกลางอากาศที่ร้อนอบอ้าวพอ สมควร แต่ทุกคนก็เต็มใจที่จะทำความดี เพื่อผลบุญที่มหาศาลอันหาประมาณมิได้

ในตอนนั้นได้ยินเสียงปี่พาทย์บรรเลง สลับกับการร้องรำทำเพลงของพวกเรา ซึ่งเข้า กับบรรยากาศแบบไทยๆ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง

เสียงพลุดาวกระจายดังสนั่นลั่นท้อง ฟ้าสวยงาม ท่ามกลางความตื่นเต้นดีใจ พร้อมทั้งโคมลอยถูกปล่อยออกไปไกลจนสุดสายตา

และแล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็อยู่ในความสงบเงียบ เมื่อพิธีการเฉลิมฉลองความสำเร็จ ที่เสร็จสิ้นลงไป

ผู้ร่วมงานแต่ละคน ต่างก็เดินกลับสู่ที่พักของตนเองด้วยความอ่อนเพลีย ในขณะที่จิตใจเต็มเปี่ยมไปด้วยความประทับใจ

ในที่สุดนี้ก่อนที่จะลาจากกันในฉบับนี้ ตามที่เกริ่นเอาไว้เมื่อฉบับส่งท้ายปีเก่าว่า จะอภินันทนาการแด่ท่านผู้อ่านเป็นกรณีพิเศษ

ณ โอกาสนี้ จึงขอนำมรดกธรรมที่ทรงคุณค่าหาประมาณมิได้ที่ พระเดชพระคุณหลวงพ่อทิ้งไว้ให้ลูกหลานเป็นอนุสรณ์

อันเป็น “ลายมือ” ของท่านจริงๆ ลายมือของท่านนี้ ผู้เขียนขอเรียบเรียงใหม่เพื่อการอ่านง่าย ดังนี้

๑๒ ส.ค. ๓๕ ไปเทวสภา พระพุทธ เจ้าองค์ปฐมเทศน์ให้เทวดาพรหม รู้ตัวว่ายัง มีบาปเยอะ ชี้ให้ดูนรก-นิพพาน

๑๓ ส.ค. ๓๕ ไปเทวสภา พระพุทธ เจ้าองค์ปฐมเทศน์ แล้วให้ชวนเทวดากับพรหม ไปนิพพาน

๑๔ ส.ค. ๓๕ ไปเทวสภา เทศน์ แล้วไปนิพพานพร้อมกัน เห็นแม่ชาตินี้ อยู่ข้างขวา ถามท่านยังไม่มีวิมานบนนิพพาน ให้ฟังเทศน์จากองค์ปฐม มีวิมาน

๑๖ ส.ค. ๓๕ พระยายมให้ไปพบ เทวดาใหม่ที่สำนัก

๑๗ ส.ค. ๓๕ ไปพบคน ๓๐ คน ที่สำนักพระยายม (บันทึก ๒๕ ส.ค. ๓๕)

...หวังว่าทุกท่านได้อ่านแล้วคงพอใจ ต่อไปอีกไม่นานจะนำ “บันทึกครั้งสุดท้าย” ใน ปี ๒๕๓๕ ของท่านมาให้อ่านอีก ซึ่งจะมีข้อคิดสำหรับผู้ที่มุ่งนิพพานจริง...สวัสดี


บทขับร้องประกอบปี่พาทย์
งานพิธีเททองสมเด็จองค์ปฐมทองคำ ณ วัดท่าซุง
ลำดับที่รายชื่อบทกลอนคลิกฟังเสียง
01 (เหาะ) สมเด็จพระพุทธสิขี
02 (ต้นวรเชษฐ์) ครั้งนี้ข้าฯ จัดพิธี
03 (มอญแปลง) งามปะรำราชวัติฉัตรตั้ง
04 (ช้างประสานงา) บรรดาเหล่าศิษย์ทั้งหมด
05 (เต่ากินผักบุ้ง) แม้นใครได้มากราบไหว้


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 31/10/18 at 05:57

[ ตอนที่ 22 จบ ]
(Update 21 พฤศจิกายน 2561)


งานสร้างสมเด็จองค์ปฐมทองคำ


"...เป็นอันว่าหลังจาก "งานพิธีเททองสมเด็จองค์ปฐม" ผ่านไปเป็นเวลาประมาณ ๗ - ๘ ปี มีคนถามและอยากเห็นองค์ปฐมทองคำอยู่นาน นานจนกระทั่งลืมกันไปเลย

แต่ก็ยังมีการทำบุญซื้อเพชรประดับกันอยู่เสมอ พร้อมกับมีการจัดทำองค์พระจำลองไว้ในตู้โชว์ที่ "บ้านสายลม" อย่างสวยงาม ทำให้ผู้คนอยากเห็นองค์จริงยิ่งขึ้น

จนกระทั่งถึงกลางปี พ.ศ.๒๕๕๐ ที่ผ่านมา ท่านพระครูปลัดอนันต์ ก็ได้มีการจัดงานพิธีหล่อ "ฐานพระ" ด้วยทองคำแท้อีกครั้งหนึ่ง

มีพุทธบริษัทร่วมทำบุญถวายทองเครื่องประดับกันอีกมากมาย บางรายก็ถวายเงินซื้อเพชรประดับ ตามรายชื่อที่ปรากฏอยู่ใน "ธัมมวิโมกข์" ทุกเดือนอยู่แล้ว

ฉะนั้น ตลอดเวลา ๗ - ๘ ปีนี้ ทุกท่านต่างก็ได้ร่วมสร้าง "สมเด็จองค์ปฐมทองคำ" กันเป็นประจำอยู่เสมอ จนถึงปลายปีที่แล้วเป็นงานครบรอบมรณภาพ พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ

ทุกคนที่ได้เดินทางไปวัดท่าซุง ต่างก็ได้ชื่นชมยินดี พร้อมกับปรารภว่าสวยงามเหลือเกิน สมความปรารถนากันทุกท่าน หลังจากเฝ้ารอคอยกันมานาน

ต่อไปนี้ก็เป็นรูปภาพเบื้องหลังของความสำเร็จ ที่เพิ่งนำออกมาเผยแพร่เป็นครั้งแรก จากทีมงานช่างประดิษฐ์ทั้งหลาย ประมาณเกือบ ๑๐ คน นำโดย นายช่างฉลอง และ นายช่างชำนาญ บุญสวัสดิ์ ได้ถ่ายภาพไว้

ซึ่งหาโอกาสยากมากที่จะได้เห็นภาพถ่ายเบื้องหลังการจัดสร้างเหล่านี้ จึงถือว่าโชคที่ "ทีมงาน" ได้รูปภาพชุดนี้ไว้ จึงขออนุโมทนานายช่างชำนาญ ไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย

นายช่างทั้งหลายถ่ายภาพร่วมกัน หลังจากทำงานอยู่ที่วัดกันเป็นเดือน จะต้องเร่งทำกันทั้งวันทั้งคืน เพื่อให้ทันงานหลวงพ่อฯ ปรากฏว่าเสร็จทันเวลาพอดี

ภาพสุดท้ายคือ นายช่างชำนาญนั่นเอง ขออนุโมทนากับนายช่างทุกคน อันมี นายช่างฉลอง เป็นประธาน ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มตั้งแต่ต้นจนอวสาน เดินทางไปมาวัดท่าซุงนับเวลา ๘ ปีเต็ม

จึงขอสรุปเรื่องราวการจัดสร้าง "สมเด็จองค์ปฐมทองคำ" ด้วยหลักฐานการบรรยายพร้อมรูปภาพไว้เพียงแค่นี้ อาจจะไม่ครบถ้วนทุกข้อมูลในเหตุการณ์

แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีที่เล่า หากไม่มีเว็บนี้เกิดขึ้น เรื่องต่างๆ เหล่านี้อาจเลือนหายไป คงเหลือแต่ความทรงจำที่นับวันจะลืมเลือนกันไป

นับเป็นเวลาผ่านไปนานหลายปี ภาพเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ กำลังทยอยถ่ายทอดและบันทึกเข้าสู่ความทรงจำของผู้เยี่ยมชมทั้งหลายแล้ว

สุดท้าย จึงขอจบเรื่องเล่าทั้งหลายไว้เพียงแค่นี้ ส่วนผลความดีของผู้ร่วมสร้างทั้งหลาย คงไม่หยุดอยู่เพียงแค่นี้ แต่จะมีอานิสงส์ส่งไปสู่จุดสูงสุด

ท่านจะไปหรือไม่ก็ตาม แต่ผลบุญอันมหาศาลของท่านนี้ จะผลักดันให้ท่านทั้งหลายเข้าสู่ประตูเมืองแก้ว อันเป็น "อมตมหานฤพาน" ไปในที่สุด

แม้แต่ผู้ที่ได้อ่านภายหลังก็เช่นกัน หากตั้งจิตอนุโมทนาร่วมกัน ผลบุญทั้งหลายเหล่านี้ก็ยังมีอานิสงส์ครบถ้วนทุกประการ...สวัสดี.



◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 25/2/20 at 08:28

.


webmaster - 18/4/21 at 09:20

.