ครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร คือ "สามเณรสมาบัติแปด" จริงหรือ ?
webmaster - 27/6/18 at 15:17


...ภาพนี้มีการโพสต์อยู่ใน FB แต่ไม่มีคำอธิบาย เพราะเป็นภาพถ่ายนานแล้ว จึงขออธิบายไว้ดังนี้ ซึ่งเป็นภาพถ่ายที่ หลวงพ่อพระครูสมุห์พิชิต (โต), พระบรรจง, พระพงษ์ชัย

ส่วน พระชัยวัฒน์ (ไม่อยู่ในรูปภาพ) ไปพร้อมด้วยญาติโยมนับร้อยคน ได้เดินทางไปทอดผ้าป่า ณ วัดพระธาตุดอนเรือง เมืองพง เมียนมาร์

สำหรับที่มีคำว่า "บ้านแสงธรรมชาติ" นั้น เป็นบ้านของ คุณสุวัตร์ เลิศชยันติ สร้างบ้านไว้ปฏิบัติธรรมที่จังหวัดพะเยา

คราวใดที่หลวงพ่อโอนำคณะศิษย์วัดท่าซุงไปทำบุญกับท่านครูบาบุญชุ่ม จะมีทีมงานจากบ้านแสงธรรมชาตินำเครื่องครัวไปทำอาหาร เพื่อจัดเลี้ยงพระภิกษุและญาติโยมที่มาจากวัดท่าซุง







รุ้งขึ้นเมื่อวันก่อน เห็นแล้วมั่นใจขึ้น



(ตอนที่ 1 อัพเดท 27 มิถุนายน 2561)

...ในขณะที่เขียนอยู่นี้ ชาวไทยทุกคน แม้แต่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งรัฐบาล ก็พยายามหาทางช่วยเหลือทั้ง ๑๓ ชีวิต ที่ติดอยู่ในถ้ำ ภาวนาขอให้ผ่านพ้นไปด้วยดี ทั้งผู้ถูกช่วยเหลือ และผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือ

...อย่างไรก็ดี สงสารผู้ปกครอง ยังไงก็อ่านบทความนี้แทนนะ เพื่อจะได้ตั้งสติอารมณ์ยอมรับกฎของกรรมได้ เรื่องในสมัยพุทธกาล เป็นอุทาหรณ์สอนใจได้ดีมากๆ

ไม่มีอะไรในตอนนี้ เท่ากับธรรมะของพระพุทธเจ้า ดังที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดง "บุพกรรม" ของพระภิกษุ ๗ รูปที่ติดอยู่ในถ้ำนี้เช่นกัน...




กรรมของภิกษุถูกขังในถ้ำ


(ฟังเสียงหลวงพ่อเล่า)


...ภิกษุ ๗ รูปเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่วิหารเชตวัน กล่าวคือระหว่างทางได้แวะไปพักที่วิหารแห่งหนึ่งในเวลาเย็น

พระภิกษุที่อยู่ประจำที่วัดก็จัดที่นอนให้นอนในถ้ำแห่งหนึ่ง ตอนกลางคืนมีก้อนหินใหญ่ก้อนหนึ่งกลิ้งมาปิดปากถ้ำไว้

เช้าวันรุ่งขึ้น พระภิกษุเจ้าของถิ่นก็มาดูภิกษุอาคันตุกะ ๗ รูปนั้น เห็นก้อนหินปิดปากถ้ำอยู่ จะระดมคนช่วยกันอย่างไรก็ยกก้อนหินนั้นไม่ได้ แม้พระภิกษุที่อยู่ภายในถ้ำจะช่วยก็ไม่สำเร็จ

จนถึงวันที่ ๗ ก้อนหินนั้นก็กลิ้งออกจากปากถ้ำได้เองเป็นที่อัศจรรย์ ภิกษุที่มาพักและติดอยู่ในถ้ำพากันอิดโรยอดอาหารอยู่ถึง ๗ วัน

เมื่อออกจากถ้ำแล้วก็คิดว่าจะไปกราบทูลถามถึงกรรมของตน ครั้นเดินทางไปถึงวัดเชตวัน แล้วก็กราบทูลเล่าเรื่องนี้ให้ทรงทราบ พร้อมทั้งขอทราบกรรมที่ภิกษุทั้ง ๗ได้กระทำไว้

พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าว่า ในอดีตกาลภิกษุทั้ง ๗ รูปนี้ได้เกิดเป็นเด็กเลี้ยงโค ๗ คนในเมืองพาราณสี ได้ต้อนโคไปเลี้ยงยังที่ต่างๆ

วันหนึ่งพบ "ตัวเงินตัวทอง" ตัวใหญ่ตัวหนึ่งจึงติดตามไป ตัวเงินตัวทองก็หนีเข้าไปในจอมปลวก จอมปลวกนั้นมีช่องอยู่ ๗ ช่อง

เด็กทั้ง ๗ คนก็พาไปหากิ่งไม้ใบไม้มาปิดช่องนั้นคนละช่อง คิดว่าพรุ่งนี้จะมาจับเอาไป แต่แล้วก็ลืมเสียได้พาโคไปเลี้ยงยังที่อื่น

พอถึงวันที่ ๗ กลับมาที่เก่าพบจอมปลวกนึกขึ้นได้ จึงได้ไปเปิดกิ่งออก ตัวเงินตัวทองนั้นอดอาหารอยู่ ๗ วันซูบผอมแทบสิ้นชีวิต เด็กๆ ก็สงสารบอกกันว่า เราอย่าฆ่ามันเลยปล่อยไปเสียเถอะ แล้วก็ปล่อยมันไป

เด็กทั้ง ๗ นั้นไม่ได้ไปตกนรก เพราะว่าตัวเงินตัวทองนั้นไม่ตาย แต่ก็อดอาหารถึง ๗ วัน ถึง ๑๔ ชาติด้วยกัน นี่เป็นอดีตชาติของภิกษุ ๗ รูปนั้น


...ใครทำกรรมอย่างไรย่อมได้รับผลอย่างนั้น ไม่มีใครหนีกรรมที่ตนทำได้พ้น ผลที่ได้รับเกิดจากการกระทำของตนเองทั้งสิ้น

สิ่งอื่นๆ และคนอื่นเป็นเพียงเครื่องมือช่วยสนับสนุนให้ผลของกรรมนั้นเกิดขึ้นเท่านั้น ถ้าเราไม่ได้ทำกรรมไว้เหตุต่างๆ ที่จะเป็นเครื่องสนับสนุนให้วิบากคือ ผลของกรรมเกิดขึ้นก็ไม่มี


อ้างอิง - http://www.dhammajak.net
อ้างอิง - http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=19&p=11


webmaster - 29/6/18 at 08:31

(ตอนที่ 2 อัพเดท 29 มิถุนายน 2561)

นางปฏาจารา และ นางกีสาโคตมี
บุคคลตัวอย่างความสูญเสีย


...“ปฏาจารา” พระสาวิการูปหนึ่ง เป็นธิดาของเศรษฐีในกรุงสาวัตถี เป็นหญิงรูปร่างงดงามและได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี ครั้นนางมีอายุได้ 16 ปี ได้หลงรักชายคนใช้ในบ้านของตนเอง

ต่อมาบิดามารดาได้จัดเตรียมหาชายหนุ่มในชนชั้นเดียวกันมาแต่งงานด้วย นางจึงได้นัดแนะให้ชายคนใช้พาหนี แล้วไปสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยในชนบทอันทุรกันดารแห่งหนึ่ง ชีวิตเริ่มแรกของนางปฏาจารามีความสุขมาก เพราะได้อยู่ใกล้ชิดกับชายคนรัก

เวลาผ่านไปไม่นาน นางปฏาจาราตั้งครรภ์ ครั้นถึงเวลาใกล้คลอด นางมีความกังวลใจ เพราะไม่มีบิดามารดาและญาติอยู่ใกล้ชิด นางจึงขอร้องให้สามีพากลับไปหาบิดามารดา สามีปฏิเสธคำขอร้อง เพราะกลัวเกรงบิดามารดาของนางจะเอาโทษ

นางจึงตัดสินใจหนีออกจากบ้านเพียงลำพัง นางได้คลอดบุตรคนแรกในระหว่างทาง เมื่อสามีตามไปพบ เขาได้ชี้แจงเหตุผลต่างๆ จนพานางกลับบ้านสำเร็จ

เวลาต่อมา นางได้ตั้งครรภ์อีกเป็นครั้งที่สอง และได้ขอร้องสามีเหมือนครั้งก่อน แต่สามีปฏิเสธคำขอร้องเช่นนั้นอีก นางจึงพาบุตรน้อยผู้กำลังหัดเดินหนีออกจากบ้าน

ในระหว่างทางนางปวดท้องอย่างรุนแรง เพราะกำลังจะคลอดบุตร ฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก สามีตามไปพบนางดิ้นทุรนทุรายอยู่ท่ามกลางสายฝน จึงไปตัดไม้เพื่อนำมาทำที่กำบังฝนชั่วคราว แต่เขาถูกงูพิษกัดถึงแก่ความตาย

นางปฏาจาราคลอดบุตรด้วยความยากลำบาก แล้วนางอุ้มทารกและจูงบุตรน้อยตามไปพบศพของสามี จึงมีความเศร้าโศกเสียใจมาก นางตัดสินใจจะพาบุตรไปหาบิดามารดาในเมือง

เมื่อนางมาถึงลำธารใหญ่ที่น้ำกำลังไหลเชี่ยว นางไม่อาจจะพาบุตรข้ามน้ำพร้อมกันได้ จึงให้บุตรคนโตยืนรอที่ฝั่งข้างหนึ่ง แล้วอุ้มทารกแรกเกิดเดินข้ามน้ำไปอีกฝั่งหนึ่ง แลtวางทารกน้อยไว้ที่อันเหมาะสม

ขณะเดินข้ามน้ำมาถึงกลางน้ำ เพื่อรับบุตรคนโต นางเห็นเหยี่ยวตัวหนึ่งกำลังบินโฉบลงเพื่อจิกทารก เพราะมันเข้าใจว่าเป็นก้อนเนื้อ

นางจึงยกมือขึ้นไล่เหยี่ยว แต่ไม่อาจช่วยชีวิตทารกน้อยได้ เพราะเหยี่ยวมองไม่เห็นอาการของนางที่ขับไล่ จึงเฉี่ยวทารกน้อยของนางไป

บุตรคนโตมองเห็นนางยกมือขึ้นทั้งสองข้าง ก็เข้าใจว่ามารดาเรียกตน จึงก้าวลงสู่แม่น้ำอันเชี่ยวและถูกน้ำพัดพาหายไป

นางปฏาจาราได้สูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างในเวลาใกล้กัน แต่นางยังตั้งสติได้ นางเดินร้องไห้เข้าไปสู่เมืองสาวัตถี และได้ทราบข่าวจากชาวเมืองคนหนึ่งในระหว่างทางว่า ลมและฝนได้พัดเรือนบิดามารดาของนางพังทลาย และเจ้าของบ้านก็ตายไปด้วย

ครั้นเมื่อนางทราบช่าวเช่นนี้ ก็ไม่อาจตั้งสติได้ นางสลัดผ้านุ่งทิ้ง แล้ววิ่งบ่นเพ้อด้วยร่างกายอันเปลือยเปล่า เข้าไปวัดพระเชตวันมหาวิหาร

ขณะที่พระพุทธเจ้ากำลังทรงแสดงธรรมอยู่ท่ามกลางบริษัท ประชาชนเห็นนางแล้วร้องบอกกันว่าคนบ้าๆ อย่าให้เข้ามา



พระพุทธองค์ตรัสว่าปล่อยให้นางเข้ามาเถิด แล้วตรัสเรียกเตือนสติ นางกลับได้สติ เกิดความละอายนั่งลง ใครคนหนึ่งในที่ประชุมนั้นโยนผ้าให้นางนุ่งห่ม

พระองค์ทรงแสดงธรรมเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดกับนางโดยย่อว่า ปิยชนมีบุตร เป็นต้น ไม่สามารถข้องกับคนที่ตายแล้วได้ ผู้รักษาศีลแล้วพึงชำระทางไปพระนิพพาน

นางฟังพระธรรมเทศนา อันแสดงถึงความไม่เที่ยงแท้ของสรรพสิ่ง พิจารณาไปตามพระธรรมเทศนานั้นแล้วได้บรรลุโสดาปัตติผล และทูลขออุปสมบท พระองค์จึงทรงอนุญาตให้นางบวชในสำนักนางภิกษุณี


ต่อมานางภิกษุณีปฏาจาราได้ฟังพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์ว่า คนที่ไม่เห็นความเสื่อมสิ้นไปในเบญจขันธ์ แม้มีชีวิตอยู่ร้อยปี ก็ไม่ประเสริฐเท่าคนที่มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว

แต่มองเห็นความเสื่อมสิ้นไปในเบญจขันธ์ เมื่อจบพระธรรมเทศนา นางภิกษุณีปฏาจาราก็ได้บรรลุพระอรหัตผล

พระปฏาจาราเถรีมีความชำนาญในพระวินัยมาก จนได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายผู้ทรงพระวินัย และพระปฏาจาราเถรีได้เป็นกำลังในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา


นางกีสาโคตมีเถรี
ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่สูญเสีย


webmaster - 29/6/18 at 08:42

(ตอนที่ 3 อัพเดท 2 กรกฎาคม 2561)

หลวงปู่ชุ่ม โพธิโก กับ ครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร
(มีเหตุเพราะชื่อคล้ายกัน)


(ภาพจาก - kontaini.com)


...ตลอดเวลาที่ผ่านมาทุกวินาที หัวใจของคนไทยได้รวมกันเป็นหนึ่ง ต่างก็ส่งแรงใจให้แก่ผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือ ภาวนาขอให้ผู้ที่ติดอยู่ในถ้ำทั้ง ๑๓ ชีวิตได้ปลอดภัย

ทั้งนี้ รวมทั้งคนไทยในต่างประเทศ และคนทั่วโลกต่างก็ให้กำลังใจกัน คงจะลืมไม่ได้จากหัวใจของประมุขแห่งวาติกัน ที่พระองค์ได้ทรงแสดงความเป็นห่วงใยด้วยเช่นกัน

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่ผ่านมาไม่กี่วัน มีการออกข่าวทางสื่อไปทั่วประเทศ และการแชร์ในเฟซบุคอย่างกว้างขวาง

ทำให้ผู้เขียนอดที่จะแสดงความเห็นไม่ได้ ในเมื่อเรื่องราวผ่านมานานหลายสิบปี โดยเฉพาะความเลื่อมใสศรัทธาต่อ ท่านครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร ตลอดถึงครูบาอาจารย์ของท่านด้วย

ผู้เขียนต้องการจะเขียนแบบรวบลัด หากผู้ใดจะย้อนอ่านรายละเอียด สามารถเข้าไปค้นหาข้อมูลเหล่านี้ได้ เพื่อความเข้าใจง่ายขึ้น

ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับวัดท่าซุง เพราะได้เคยเห็นท่านตั้งแต่ยังเป็น สามเณรบุญชุ่ม ทาแกง โดยการนิมนต์มากับ คุณประพัฒน์ ทีปะนาถ

ผู้อ่านสามารถทบทวนความจริงได้กับ คุณประพัฒน์ (เดิมชื่อ "วิชัย") อยู่กรุงเทพฯ เคยบวชที่วัดท่าซุงเมื่อปี ๒๕๑๘ และได้เดินทางไปกับหลวงพ่อฯ รวมทั้งผู้เขียนด้วย เพื่อกราบไหว้หลวงปู่ชุ่ม ที่วัดจามเทวี จ.ลำพูน

หลังจากนั้น เท่าที่พอจำได้ผู้เขียนเห็น "ครูบาบุญชุ่ม" มาวัดท่าซุงเป็นครั้งแรก เมื่องานทำบุญประจำปี ๒๕๒๘ เป็นงานฉลองสมณศักดิ์ที่ "พระสุธรรมยานเถระ"

** (มีคนนำโพสต์บอกว่าหลวงพ่อฯ วัดท่าซุงนิมนต์มา เรื่องนี้ไม่จริง ท่านมากับคุณประพัฒน์เองนะ)

ในคราวนั้น ก่อนงานหลวงพ่อฯ บอกว่าจะมีพระองค์ที่ ๑๐ มาร่วมงานด้วย ท่านจึงให้เขียนป้ายไว้ในศาลา ๒ ไร่ว่า "พระประหลาด" จนกระทั่ง "สามเณรบุญชุ่ม" เดินมากับคุณประพัฒน์ ข้างศาลา ๒ ไร่ คนก็ไปเล่าลือกันว่าเป็น "พระองค์ที่ ๑๐"


นั่นเป็นการเล่าลือกันในครั้งแรก จนกระทั่งเวลาผ่านไปนาน ๓๐ กว่าปี คำเล่าลือก็ได้กลับมาอีกเป็นครั้งที่ ๒ นั่นก็คือลือกันว่าเป็น "สามเณรสมาบัติ ๘" ลูกศิษย์หลวงปู่ชุ่ม โพธิโก วัดวังมุย จ.ลำพูน

โดยนำรูปภาพตั้งแต่เป็น "สามเณร" แชร์กันสะพัดในสื่อออนไลน์ เหมือนไฟลามทุ่ง ยังไม่ทันนุ่งกางเกง ต่างก็นำประวัติความเป็นมาของท่านมาแชร์กันมากมาย


ข่าวจริง ประเทศไทย
@realnewsthailand

เหตุการณ์ในตอนนี้ จึงมีทั้งข่าวจริงและข่าวลวง วันนี้ (๒ ก.ค.) รัฐบาลจึงตั้งไลน์กลุ่มว่า "ข่าวจริงประเทศไทย" ขอเชิญเข้าไปหาข่าวในนี้ดีกว่า เพราะเป็นของหน่วยงานที่แท้จริง

คราวนี้ มาย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาว่า ผู้เขียนได้เริ่มเห็นคนโพสต์เรื่องครูบาฯ ลงในเฟซบุคตั้งแต่แรกๆ จึงพูดกับคนใกล้ชิดว่า เขาเอาข่าวมาลงแบบนี้ ประเดี๋ยวก็มีคนเต้าข่าวกันไปอีกยาว

ผลปรากฏว่าเป็นจริง ตั้งแต่ลงข่าวครูบาฯ ในเฟซบุค ๒-๓ วันที่ผ่านมานี้ (๒๘-๓๐ มิ.ย.๖๑) เริ่มตั้งแต่นำข้อเขียนของ "หลวงตา" เรื่อง "สามเณรสมาบัติ ๘" (ความจริงท่านก็ไม่ได้บอกว่าเป็นใคร)

แต่ภายหลังแชร์กันไปแชร์กันมากลายเป็น สามเณรสมาบัติ ๘ คือ "ครูบาบุญชุ่ม" จนได้ พร้อมกับบอกว่าเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ชัยวงศ์ (มีภาพยืนคู่กัน) และ หลวงปู่ชุ่ม โพธิโก (แต่กลับไม่มีรูปภาพ)


(ภาพนี้เป็นช่วงที่มาวัดท่าซุงแล้ว)

ผู้เขียนเองอ่านแล้วก็งง เพราะภาพถ่ายสามเณรนี้ก็เพิ่งเคยเห็นเป็นครั้งแรก แต่เท่าที่เคยเห็นรูปเดิมๆ จะพิมพ์คำว่า "สามเณรบุญชุ่ม ทาแกง" ด้วย (ยังหาภาพไม่ได้)


(ภาพนี้ตั้งแต่เล็กจนโต แล้วลองเปรียบเทียบสามเณรที่ยืนคู่กับหลวงปู่วงศ์ว่า ภาพไหนเหมือนกันที่สุด)


สมัยก่อนเท่าที่จำได้ ท่านมาวัดท่าซุงครั้งนั้น (ตอนวัดมีงานสำคัญ) ครั้งเดียวปี ๒๕๒๘ ส่วนครั้งอื่นท่านมาตอนไหนไม่เห็น จึงไม่อาจจะทราบได้

ประการสำคัญ ไม่เคยเห็นภาพคู่่ระหว่างลูกศิษย์กับอาจารย์ คือ "หลวงปู่ชุ่ม" กับ "สามเณรบุญชุ่ม" เลย นอกจากผู้ใดหาหลักฐานมาอ้างอิงได้ ก็จะแก้ไขประวัติศาสตร์ตอนนี้ให้ถูกต้องเสียเลย

ส่วนที่จำได้แน่นอนก็คือ หลวงปู่ชุ่ม โพธิโก มากับพระติดตามองค์หนึ่งเท่านั้น ภายหลังกลับไปวัดวังมุย ทราบว่าพระผู้อุปฐากองค์นี้ได้เชิดเงินหายไปจากวัดแล้ว

เรื่องนี้สามารถตรวจสอบกับคนสมัยนั้นได้ (ต้องเป็นคนภายในที่ช่วยหลวงพ่อจัดงานตอนนั้นได้) แต่ก็ไม่ได้เปิดเผยให้ใครรู้ เพิ่งจะนำมาเล่ากันในตอนนี้

เพราะมีความจำเป็นต้องเล่า มิฉะนั้นกาลเวลาผ่านไป การจำเรื่องราวเหล่านี้ อาจบอกเล่าไม่ตรงกับความเป็นจริง หรืออาจมีบางคนเอาไปแต่งเติมให้เข้าใจผิดกัน



...โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่พิสูจน์ได้ชัดเจน อันเป็นเหตุผลที่สำคัญที่จะต้องนำ "ประวัติ" ของท่านมาอ้างอิง นั่นก็คือ "หนังสือ ๓๐ พรรษาในร่มเงาพระพุทธศาสนา ของพระครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร"

ประวัติตอนแรกท่านเกิดปี ๒๕๐๘ ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ได้เข้ามาเป็นเด็กวัด โดยมีพ่อลุงทาเอาไปฝากกับเจ้าอธิการสิน จิรธัมโม วัดบ้านด้าย (อ.เชียงแสน จ.เชียงราย) ตอนท่านอายุได้ ๑๑ ปี

หลังจากเป็นเด็กวัดได้ ๓ ปี จึงได้บรรพชาเป็นสามเณร ใน พ.ศ. ๒๕๑๙ ครูบาเจ้าบุญชุ่ม ญาณสํวโร ได้บวชเรียนตามปณิธานที่ตั้งไว้ตั้งแต่เยาว์วัย


...หมายเหตุ - หลวงปู่ชุ่ม (ลำพูน)ไปวัดท่าซุงครั้งแรก ปี ๒๕๑๘ ขณะนั้นเด็กชาย "บุญชุ่ม" (เชียงราย) ยังไม่ได้บรรพชาเป็นสามเณร (ที่วงเล็บไว้เพื่อให้สังเกตว่า ช่วงนั้นท่านอยู่ตรงจุดไหนกัน)

ส่วนตอนท้ายหนังสือเล่มนี้ จะมีรายชื่อครูบาอาจารย์ที่ท่านเคารพนับถือว่าเป็นผู้ใดบ้าง สามารถตรวจดูรายชื่อเหล่านี้ว่า มีชื่อ หลวงปู่ชุ่ม โพธิโก เป็นครูบาอาจารย์ของท่านด้วยหรือไม่


หลักฐานเหล่านี้ จะเป็นคำตอบได้ดี สำหรับวันนี้..เวลานี้..อันเป็นวันที่ ๑๐ ของการค้นหาผู้ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง ขุนเขานางนอน

ท่านได้ทำพิธีกรรมไปแล้วก็ย่อมมีผล แต่ก็คงต้องเป็นผลของกรรมด้วย ไม่มีผู้ใดที่จะอยู่นอกเหนือกฏแห่งกรรมได้

แต่ก็ไม่ควรตำหนิหรือปรามาสกัน เพราะเป็นการรวมใจกันทั้งหมด ด้วยความปรารถนาดีต่อกัน จึงขอคัดลอกมาโดยย่อ ดังนี้


- ลำดับครูบาอาจารย์โดยตรง ของ พระครูบาเจ้าบุญชุ่ม ญาณสํวโร

๑. หลวงปู่ครูบาพรหมา วัดพระพุทธบาทราวตากผ้า จังหวัดลำพูน
๒. หลวงปู่ครูบาอินทจักร์ วัดวนาราม (น้ำบ่อหลวง) สันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่
๓. หลวงปู่ครูบาชัยวงศา วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม จังหวัดลำพูน
๔. หลวงปู่ครูบาธรรมชัย วัดทุ่งหลวง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
๕. หลวงปู่ครูบาน้อย วัดบ้านปง แม่แตง
๖. หลวงปู่ครูบาคำแสน วัดดอนมูล อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่

๗. หลวงพ่อฤาษีลิงดำ (มหาวีระ ถาวโร)
๘. หลวงปู่หล้าตาทิพย์ วัดป่าตึง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
๙. หลวงปู่ฤาษีธนะธัมโม วัดถ้ำผาแตก อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
๑๐. หลวงปู่โง่น โสรโย วัดพระพุทธบาทเขารวก จ.พิจิตร
๑๑. หลวงปู่ดู่ พฺรหฺมปัญโญ วัดสะแก จ.อยุธยา
๑๒. พระครูบาเจ้าเทือง นาถสีโล วัดบ้านเด่นสะหรีศรีเมืองแกน

- ครูบาอาจารย์ภาคอีสาน ที่ท่านได้ถวายตัวเป็นลูกศิษย์

๑. หลวงปู่นิล วัดครบุรี จ.นครราชสีมา
๒. หลวงปู่พุธ ฐานิโย วัดป่าสาละวัน จ.นครราชสีมา
๓. หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย
๔. หลวงพ่อแสวง วัดถ้ำพระ จ.สกลนคร
๕. หลวงปู่คูณ ปริสุทโธ วัดบ้านไร่ จ.นครราชสีมา

พระครูบาเจ้าบุญชุ่ม ญาณสํวโร
๕ ตุลาคม ๒๕๔๙


ที่มา - https://www.phuttha.com/พระสงฆ์/สังเขปประวัติพระภิกษุสงฆ์/ครูบาเจ้าบุญชุ่ม-ญาณสํวโร


webmaster - 2/7/18 at 15:47

.


webmaster - 12/7/18 at 09:51

.