เล่าเรื่องที่ลานธรรม "งานธุดงค์วัดท่าซุง" วันที่ 6 - 10 ธันวาคม 2561
webmaster - 6/12/18 at 08:12

(Update 6 ธันวาคม 2561)



ประวัติ พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี
ผู้เป็นเลิศกว่าพระภิกษุณี ฝ่ายรัตตัญญู (รู้ราตรีนาน)


ติดตามรับฟังออนไลน์ได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๑๐.๐๐ น. เป็นต้นไป

ประวัติโดยสังเขป


...พระมหาปชาบดีเถรี เป็นราชธิดาของพระเจ้าสุปปพุทธะ แห่งพระนครเทวทหะ เป็นพระกนิษฐภคินีของพระนางสิริมหามายา (พุทธมารดา)

พระประยูรญาติ ถวายพระนามว่า “โคตมี” เป็นทั้งพระน้านางและพระมารดาเลี้ยง พระนางสิริมหามายาทรงอภิเษกเป็นพระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะศากยราช แห่งพระนครกบิลพัสดุ์

ต่อมาพระบรมโพธิสัตว์จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต ทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางสิริมหามายราชเทวี พอประสูติพระราชโอรส คือเจ้าชายสิทธัตถะได้เพียง ๗ วัน พระนางสิริมหามายาราชเทวี ก็สวรรคตไปบังเกิดเป็นเทพบุตรสวรรค์ชั้นดุสิต

พระเจ้าสุทโธทนะ ทรงมอบให้การเลี้ยงดูเจ้าชายสิทธัตถะแก่พระนางมหาปชาบดีโคตรมี ผู้ศักดิ์เป็นพระ ซึ่งต่อมาได้สถาปนาพระนางไว้ในตำแหน่งพระอัครมเหสี

และได้ประสูติพระราชโอรสนามว่า “นันทกุมาร” และพระราชธิดานามว่า “รูปนันทา” ครั้นเมื่อพระบรมโพธิสัตว์เสด็จออกผนวชได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว เสด็จไปโปรดพระประยูรญาติ ณ กรุงกบิลพัสดุ์ เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในพระนคร

ครั้นวันที่ ๒ เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในถนน และทรงแสดงธรรมกถาโปรดพระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดาให้ดำรงอยู่ในอริยภูมิชั้นพระโสดาบัน

ครั้นวันที่ ๓ เสด็จเข้าไปรับอาหารบิณฑบาตในพระราชนิเวศน์ ทรงแสดงธรรมโปรดพระพุทธบิดาและพระน้านาง ยังพระบิดาให้ดำรงอยู่ในพระสกทาคามี ยังพระน้านางให้บรรลุพระโสดาปัตติผล

และในวันรุ่งขึ้น ทรงแสดงมหาปาลชาดกโปรดพระเจ้าสุทโธทนะ พอจบลง พระพุทธบิดาทรงบรรลุเป็นพระอริยบุคคลชั้นพระอนาคามี

๐ พระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบข่าว
...ขอย้อนเหตุการณ์ก่อนว่า กิตติศัพท์ได้เลื่องลือไปถึงกรุงกบิลพัสดุ์ว่า พระพุทธองค์เมื่อได้ตรัสรู้แล้ว และได้เสด็จจารึกโปรดเวไนยชนให้เลื่อมใสออกบวชเป็นพระสงฆ์

และเป็นอุบาสกอุบาสิกาจนได้สำเร็จมรรคผลเป็นจำนวนมาก และขณะนี้กำลังประทับอยู่ที่พระเวฬุวันวิหาร กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ

พระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดาทรงทราบกิตติศัพท์นั้นแล้ว จึงทรงส่งทูตมาทูลอาราธนาพระพุทธองค์ให้เสด็จไปกรุงกบิลพัสดุ์

คณะทูตทั้งหมดเมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าก็เลื่อมใส ขอบวชเป็นพระภิกษุและสำเร็จเป็นพระอรหันต์ทุกองค์ พระเจ้าสุทโธทนะได้ส่งทูตมาอย่างนี้อีก ๘ ครั้ง

ทุกครั้งก็เป็นเช่นเดิมคือคณะทูตทั้งหมดออกบวชและสำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด และไม่มีผู้ใดทูลอาราธนาพระพุทธองค์ให้เสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ พระพุทธองค์จึงยังมิได้เสด็จ

ต่อมา ย่างเข้าปีที่ ๒ นับแต่ตรัสรู้ พระเจ้าสุทโธทนะ จึงทรงส่งทูตมาอาราธนาอีก โดยทรงมอบให้กาฬุทายีอำมาตย์เป็นหัวหน้าคณะทูตที่มาคราวนี้ก็ได้บวชเป็นพระสงฆ์ และได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งคณะ

ครั้นย่างเข้าฤดูร้อน พระกาฬุทายีจึงทูลอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ตามคำอาราธนาของพระพุทธบิดา

พระพุทธองค์พร้อมพระอริยสงฆ์จำนวน ๒ หมื่นรูป จึงได้เสด็จไปโดยมีพระกาฬุทายี เป็นผู้นำทางเสด็จดำเนินเป็นเวลา ๖๐ วัน ก็ถึงกรุงกบิลพัสดุ์ ประทับอยู่ที่นิโครธรามใกล้ป่ามหาวัน

ซึ่งพระญาติจัดไว้ถวาย ได้ทรงแสดง "เวสสันดรชาดก" โปรดพระประยูรญาติให้เลื่อมใส แล้วพระญาติพระวงศ์ต่างก็ลาเสด็จกลับ

โดยไม่มีแม้แต่พระองค์เดียวที่จะนิมนต์พระผู้มีพระภาคเพื่อรับบิณฑบาตในวันรุ่งขึ้น

๐ พระผู้มีพระภาคเสด็จออกบิณฑบาตภายในกรุงกบิลพัสดุ์
...วันรุ่งขึ้น พระศาสดาทรงแวดล้อมด้วยภิกษุสองหมื่นองค์ เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงกบิลพัสดุ์ มหาชนก็เล่าลือกันว่า ได้ยินว่า สิทธัตถราชกุมาร เที่ยวเดินไปตามบ้านต่างๆ เพื่อขอข้าว

พระนางภัททากัจจานา (พระนางพิมพา) ได้ยินข่าวดังนั้นก็ทรงพระดำริว่า แต่ก่อน พระลูกเจ้าเสด็จเที่ยวไปด้วยวอทองอย่างยิ่งใหญ่ในพระนครนี้แหละ

บัดนี้ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ถือบาตรเที่ยวไปเพื่อขอข้าว จะงามหรือหนอ จึงทรงเปิดสีหสัญชรทอดพระเนตรดูอยู่ ก็ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเสด็จพระดำเนินไปตามถนน

จึงเสด็จไปกราบทูลแด่พระเจ้าสุทโธทนะว่า พระโอรสของพระองค์เสด็จเที่ยวไปตามบ้านเรือนเพื่อขอข้าว

พระราชาทรงสลดพระทัย ทรงเสด็จออกไปโดยเร็ว ประทับยืนเบื้องพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วตรัสว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะเหตุไร พระองค์จึงทรงกระทำหม่อมฉันให้ได้อาย เพื่ออะไร จึงเสด็จเที่ยวไปเพื่อก้อนข้าว

ทำไมพระองค์จึงกระทำความสำคัญว่า ภิกษุทั้งหลายมีประมาณเท่านี้ไม่อาจได้ภัตตาหาร
พระศาสดาตรัสว่า มหาบพิตร อันนี้เป็นวงศ์ เป็นจารีตของอาตมภาพ

พระราชาตรัสว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันทั้งหลายมีวงศ์เป็นกษัตริย์มหาสมมตราชมิใช่หรือ ก็ในวงศ์กษัตริย์มหาสมมตราชนั้น แม้กษัตริย์พระองค์หนึ่งชื่อว่าเที่ยวไปเพื่อภิกขาจาร ย่อมไม่มี

พระศาสดาตรัสว่า มหาบพิตร ชื่อว่าวงศ์นี้เป็นวงศ์ของพระองค์ แต่ชื่อว่าพุทธวงศ์นี้ คือ พระทีปังกร พระโกณฑัญญะ พระกัสสปะ เป็นวงศ์ของอาตมภาพ และพระพุทธเจ้าอื่น ๆ นับได้หลายพันได้สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยการภิกขาจารเท่านั้น

ตรัสพระคาถาบทหนึ่งประทานแก่พระพุทธบิดา ในขณะที่ประทับยืนในระหว่างถนนนั้นแล เมื่อสิ้นพระคาถานั้น พระราชาดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล แล้วทรงรับบาตรของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงนิมนต์ให้เสด็จขึ้นสู่มหาปราสาท

๐ พระนางมหาปชาบดีโคตมีบรรลุพระโสดาบัน
...ในขณะนั้น พระนางมหาปชาบดีทรงเฝ้ารับเสด็จอยู่บนพระมหาปราสาทนั้น ณ ที่นั้นทรงตรัสพระคาถาอีกบทหนึ่งว่า ธมฺมญฺจเร พึงประพฤติธรรม เป็นต้น.

ยังพระนางมหาปชาบดี ให้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล ยังพระราชาให้ดำรงอยู่ในสกทาคามิผล จากนั้นพระราชาทรงอังคาสด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีต

๐ พระนางมหาปชาบดีถวายผ้าห่ม
...จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น เมื่อพระนางมหาปชาบดีโคตมี ทรงเห็นพระรูปของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ทรงพระดำริว่า พระอัตภาพของบุตรเรางดงามหนอดังนี้

ลำดับนั้น พระนางก็เกิดพระโสมนัสเป็นกำลัง แต่นั้นทรงพระดำริว่าเมื่อบุตรของเราอยู่ในวังตลอด ๒๙ ปี เราก็ไม่เคยถวายสิ่งใด แม้สักว่าผลกล้วยเพียงผลเดียวนั้นเทียว

บัดนี้เราจักถวายผ้าจีวรแก่บุตรนั้น และยังทรงคิดต่อไปอีกว่า ก็ในกรุงกบิลพัสดุ์นี้มีผ้าราคาแพงมากมาย แต่การที่จะถวายผ้าที่ซื้อมาเหล่านั้นไม่ทำให้เราดีใจ สู้ผ้าที่เราทำเองนั้นไม่ได้ เราจำจะต้องทำผ้าเองถวาย ดังนี้.

ดังนั้นพระนางจึงทรงให้สร้างโรงงานทอผ้าในภายในพระราชวังนั้นเทียว ทรงให้เรียกช่างศิลป์ทั้งหลาย พระราชทานเครื่องบริโภค ขาทนียะและโภชนียะของพระองค์นั้นแล ให้แก่ช่างศิลป์ทั้งหลายแล้วทรงให้ทอผ้า

พระนางพร้อมด้วยคณะพระพี่เลี้ยงนางนม เสด็จไปทอผ้าตามสมควรแก่กาลเวลา ก็ในวันนั้น พระนางมหาปชาบดีโคตมี เสด็จมาสู่โรงงานทอผ้าของศิลปินทั้งหลาย ทรงให้นำฝ้ายมาจากตลาด ทรงขยำ ทรงยีด้วยพระหัตถ์ กรอด้ายอย่างละเอียด แล้วทอเป็นผืนผ้า

ในกาลที่ผ้านั้นทอเสร็จแล้ว ทรงทำการสักการะใหญ่แก่ช่างศิลป์ทั้งหลายแล้ว ทรงใส่ผ้าคู่หนึ่งในหีบอันมีกลิ่นหอม ทรงให้ถือผ้า ทูลแด่พระราชาว่า

หม่อมฉันจักถือผ้าจีวรไปถวายแก่บุตรเรา พระราชาตรัสสั่งให้เตรียมทางเสด็จ ราชบริวารทั้งหลายปัดกวาดถนน ตั้งหม้อน้ำเต็ม ยกธงผ้าทั้งหลาย

ตกแต่งทางตั้งแต่พระทวารพระราชวังจนถึงพระวิหารนิโครธาราม ให้เกลื่อนกล่นด้วยดอกไม้ ฝ่ายพระนางมหาปชาบดีทรงประดับเครื่องอลังการทุกอย่าง

พร้อมด้วยคณะพระพี่เลี้ยงนางนมแวดล้อมแล้ว ทรงทูนหีบผ้า เสด็จไปยังสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว กราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผ้าใหม่คู่นี้ เป็นของหม่อมฉัน หม่อมฉันกรอด้ายทอเอง ตั้งใจอุทิศพระผู้มีพระภาค ขอพระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์ โปรดรับผ้าใหม่ทั้งคู่ของหม่อมฉันเถิด ฯ

เมื่อพระนางกราบทูลแล้วอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรโคตมี พระนางจงถวายสงฆ์เถิด เมื่อถวายสงฆ์แล้ว จักเป็นอันพระนางได้บูชาทั้งอาตมภาพและสงฆ์

พระนางมหาปชาบดีโคตมีได้กราบทูลอ้อนวอนว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันสามารถนำผ้าจีวรทั้งหลายจากคลังผ้าถวายแก่ภิกษุร้อยรูปบ้าง พันรูปบ้าง

แต่ผ้าใหม่คู่นี้หม่อมฉันกรอด้ายเอง ทอเอง ตั้งใจอุทิศพระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดรับผ้าใหม่คู่นั้นของหม่อมฉันเถิด

พระนางกราบทูลอย่างนี้ถึง ๓ ครั้ง แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสห้ามอย่างนั้นทั้งสามครั้ง

ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงให้ถวายผ้าใหม่คู่ที่พระนางจะถวายแด่พระองค์ แก่พระภิกษุสงฆ์เล่า

ตอบว่า เพราะเพื่อทรงอนุเคราะห์พระมารดา ก็ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงมีพระดำริว่า เจตนา ๓ อย่างคือ

บุพเจตนา (ก่อนที่จะถวาย) มุญจนเจตนา (ขณะที่กำลังถวาย) อปราปรเจตนา (หลังจากถวายแล้ว) ของพระนางมหาปชาบดีนี้ เกิดขึ้นปรารภเราแล้ว จงเกิดขึ้นปรารภพระภิกษุสงฆ์บ้าง

เมื่อเป็นเช่นนี้ เจตนาทั้ง ๖ อย่างก็จะรวมเป็นอันเดียวกัน จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขตลอดกาลนานแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมีนั้น ดังนี้

ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห้ามถึง ๓ ครั้งแล้ว ทรงให้ถวายแก่สงฆ์ทรงมุ่งหมายอะไร ?

ตรัสอย่างนั้น เพื่อชนรุ่นหลัง และเพื่อทรงให้เกิดความยำเกรงในสงฆ์ด้วย นัยว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระดำริอย่างนี้ว่า

ตัวเรานั้นดำรงอยู่ไม่นาน แต่ศาสนาของเราจักตั้งอยู่ในพระภิกษุสงฆ์ ชนรุ่นหลังจงทำความยำเกรงในสงฆ์ให้เกิดขึ้น ดังนี้ จึงทรงห้ามถึง ๓ ครั้งแล้ว ทรงให้ถวายสงฆ์

ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น พระศาสดาจึงทรงให้ถวายผ้าใหม่คู่หนึ่งที่พระนางจะถวายแด่พระองค์ให้แก่สงฆ์ ทักขิไณยบุคคลชื่อว่า "สงฆ์"

เพราะฉะนั้น ชนรุ่นหลังทำความยำเกรงให้เกิดขึ้นในสงฆ์ จักเห็นว่าปัจจัยสี่เป็นสิ่งพึงถวายสงฆ์ เมื่อไม่ลำบากด้วยปัจจัยสี่ สงฆ์ก็จักเรียนพระพุทธวจนะ ทำสมณธรรม เมื่อเป็นอย่างนั้น ศาสนาของเราจักตั้งอยู่ถึง ๕,๐๐๐ ปี ดังนี้


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 7/12/18 at 08:11

(Update 7 ธันวาคม 2561)

ประวัติ พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี
ผู้เป็นเลิศกว่าพระภิกษุณี ฝ่ายรัตตัญญู (รู้ราตรีนาน)

ประวัติโดยสังเขป (ตอนที่ 2)


"...ในวันที่ ๔ แห่งการเสด็จโปรดพระประยูรญาติ พระพุทธองค์เสด็จไปในพิธีอาวาหมงคลอภิเษกสมรส "นันทกุมาร" พระอนุชาต่างพระมารดา กับพระนางชนบทกัลยาณี เมื่อเสร็จพิธีอาวาหมงคล พระพุทธองค์ได้นำนันทกุมาร ไปบวชในวันนั้น

ครั้นถึงวันที่ ๗ แห่งการเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ ได้ทรงพาราหุลกุมารออกบรรพชาเป็นสามเณรอีก จึงยังความเศร้าโศกให้บังเกิดแก่พระเจ้าสุทโธทนะยิ่งนัก เพราะเกรงว่าจะขาดรัชทายาทสืบสันตติวงศ์

ขอบวชแต่ผิดหวัง

ครั้นกาลต่อมา พระเจ้าสุทโธทนะได้บรรลุพระอรหัตผลแล้วเข้าสู่ปรินิพพาน เมื่อการถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จสิ้นลงแล้ว พระนางมหาปชาบดีโคตรมีรู้สึกว้าเหว่พระทัย มีพระประสงค์จะทรงผนวชในพระพุทธศาสนา จึงเสด็จไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่นิโครธาราม กราบทูลขออุปสมบท

แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาตให้สตรีบวชในพระพุทธศาสนา พระนางกราบทูลอ้อนวอนถึง ๓ ครั้ง ก็ไม่เป็นผล รู้สึกผิดหวังเศร้าโศกโทมนัสเป็นอย่างยิ่ง

จึงกราบทูลลาเสด็จกลับพระราชนิเวศน์ พระบรมศาสดาประทับ ณ นิโครธาราม กรุงกบิลพัสดุ์ โดยสมควรแก่พระอัธยาศัยแล้ว พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์บริวาร เสด็จไปยังพระนครเวสาลีประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน

พระอานนท์ช่วยกราบทูลจึงได้บวช

ขณะนั้น พระนางมหาปชาบดีโคตมี ผู้มีพระทัยเปี่ยมด้วยศรัทธา รับสั่งให้ช่างกัลบกมาปลงกระเกศา แล้วครองผ้ากาสาวพัสตร์ นำพาศากิยนารีเป็นบริวารประมาณ ๕๐๐ พระองค์ (นางกษัตริย์เหล่านี้สวามีออกบวชไปก่อนแล้ว)

เสด็จมุ่งตรงไปยังเมืองเวสาลีแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลอ้อนวอนของอุปสมบท ถึงอย่างนั้น พระพุทธองค์ก็ยังไม่ทรงอนุญาต จึงเสด็จออกมายืนร้องไห้อยู่ที่ซุ้มประตู

ขณะนั้น พระอานนท์ผ่านมาพบจึงสอบถามทราบความโดยตลอดแล้ว พระเถระรู้สึกสงสารคิดจะช่วยพระนาง จึงเข้าเฝ้ากราบทูลถามพระพุทธองค์ว่า :-

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ถ้าสตรีบวชในพระศาสนาแล้ว อาจทำให้แจ้งซึ่งพระโสดาปัตติผล พระสกิทาคามิผล พระอนาคามิผล และพระอรหัตผลได้หรือไม่ พระเจ้าข้า ?”

“ดูก่อนอานนท์ อาจทำให้แจ้งได้ เหมือนบุรุษเพศทุกประการ”

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าเช่นนั้นควรจะอนุญาต เพื่ออนุเคราะห์แก่พระนางมหาปชาบดีโคตมี ผู้มีคุณูปการบำรุงเลี้ยงดูพระองค์มาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ให้สมปรารถนาด้วยเถิด พระเจ้าข้า”

“ดูก่อนอานนท์ ถ้าปชาบดีโคตรมีรับประพฤติ ครุธรรม ๘ จากพระผู้มีพระภาคโดยลำดับ คือ

๑. ภิกษุณีแม้อุปสมบทแล้วได้ ๑๐๐ พรรษา ก็พึงเคารพกราบไว้ พระภิกษุ แม้อุปสมบทได้วันเดียว
๒. ภิกษุณี จะอยู่จำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีพระภิกษุนั้นไม่ได้ ต้องอยู่ในอาวาสที่มีพระภิกษุ
๓. ภิกษุณี จะต้องทำอุโบสถกรรม และรับฟังโอวาทจากสำนักภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน
๔. ภิกษุณี อยู่จำพรรษาแล้ว วันออกพรรษาต้องทำปวารณาในสำนักสงฆ์ทั้งสองฝ่าย (ภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์)
๕. ภิกษุณี ถ้าต้องอาบัติสังฆาทิเสส อยู่ปริวาสกรรม ต้องประพฤติมานัตในสงฆ์สองฝ่าย
๖. ภิกษุณี ต้องอุปสมบทในสำนักสงฆ์สองฝ่าย

หลังจากเป็นนางสิกขมานารักษา สิกขาบท ๖ ประการ คือ
๑. เว้นจากการฆ่าสัตว์
๒. เว้นจากการลักขโมย
๓. เว้นจากการประพฤติผิดพรหมจรรย์
๔.เว้นจากการพูดเท็จ
๕. เว้นจาการดื่มสุราเมรัยและของมึนเมา
๖. เว้นจากการรับประทานอาหารในเวลาวิกาล

ทั้ง ๖ ประการนี้ มิให้ขาดตกบกพร่องเป็นเวลา ๒ ปี ถ้าบกพร่องในระหว่าง ๒ ปี ต้องเริ่มปฏิบัติใหม่

๗. ภิกษุณี จะกล่าวอักโกสกถาคือ ด่าบริพาษภิกษุ ด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่งมิได้
๘. ภิกษุณี ตั้งแต่วันอุปสมบทเป็นต้นไป พึงฟังโอวาทจากภิกษุเพียงฝ่ายเดียว จะให้โอวาทภิกษุมิได้

พระเถระจดจำนำเอาครุธรรมทั้ง ๘ ประการนี้ มาแจ้งแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระน้านางได้สดับแล้วมีพระทัยผ่องใสโสมนัสยอมรับปฏิบัติได้ทุกประการ

พระพุทธองค์จึงประทานการอุปสมบทให้แก่พระน้านางสมเจตนา พร้อมศากยขัดติยนารีที่ติดตามมาด้วยทั้งหมด

เมื่อพระนางมหาปชาบดีโคตมี ได้อุปสมบทสำเร็จเป็นนางภิกษุณีแล้ว เรียนพระกรรมฐานในสำนักพระบรมศาสดา อุตสาห์บำเพ็ญเพียรด้วยความไม่ประมาท ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมด้วยภิกษุณีบริวารทั้ง ๕๐๐ รูป และได้บำเพ็ญกิจในศาสนาเต็มกำลังความสามารถ

ลำดับต่อมา เมื่อพระศาสดาประทับ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงสถาปนาภิกษุณีในตำแหน่งเอตทัคคะหลายตำแหน่ง พระพุทธองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า

พระนางมหาปชาบดีโคตมี เป็นผู้มีวัยวุฒิสูง คือรู้กาลนาน มีประสบการณ์มาก รู้เหตุการณ์ต่าง ๆ มาตั้งแต่ต้น จึงทรงสถาปนาพระนางตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลาย ในฝ่าย ผู้รัตตัญญู คือ ผู้รู้ราตรีนาน

ส่วนตำแหน่งนี้ฝ่ายพระเถระก็คือ พระอัญญาโกณฑัญญะเถระ เอตทัคคะในทางรัตตัญญู (รู้ราตรีนาน) เช่นกันดังนี้

ประวัติโดยละเอียด

พระเถรีแม้รูปนี้ ครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า "ปทุมุตระ" ก็ยังเกิดในเรือนผู้มีสกุล "กรุงหังสวดี" รู้เดียงสาแล้วกำลังฟังธรรมในสำนักของพระศาสดา

เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุณีรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นเลิศของภิกษุณีผู้รัตตัญญู จึงถวายมหาทานและปัจจัยเป็นอันมาก แด่พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น พร้อมทั้งพระสงฆ์ตลอด ๗ วัน แล้วได้หมอบลงแทบพระบาท มุ่งปรารถนาตำแหน่งนั้น

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นได้ตรัสท่ามกลางบริษัทใหญ่ว่า สตรีใดได้นิมนต์พระผู้นำโลกพร้อมด้วยสงฆ์ให้ฉันตลอด ๗ วัน เราจักพยากรณ์สตรีนั้น ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าว

ในกัปที่แสนแต่กัปนี้ พระศาสดาพระนามว่า "โคดม" ซึ่งทรงสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก สตรีผู้นี้จักได้เป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น

จักเป็นโอรสอันธรรมนิรมิต จักได้เป็นพระสาวิกาของพระศาสดา มีนามว่า "โคตมี" จักได้เป็นพระมาตุจฉาบำรุงเลี้ยงชีวิตของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น จักได้ความเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายฝ่ายผู้รู้ราตรีนาน

ครั้งนั้น พระนางได้สดับพระพุทธพยากรณ์นั้นแล้ว มีใจปราโมทย์ บำรุงพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นด้วยปัจจัยทั้งหลายตราบเท่าสิ้นชีวิต แล้วท่องเที่ยวเวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ตลอดแสนกัป ได้บังเกิดในโลก

ซึ่งว่างพระพุทธเจ้าในระหว่างพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่า "กัสสปะ" กับพระผู้มีพระภาคเจ้าแห่งเราทั้งหลาย พระนางเป็นหัวหน้าทาสี ๕๐๐ คน ในกรุงพาราณสี ทำงานด้วยกัน พักอยู่ในที่เดียวกัน (หัวหน้าทาสในเวลานั้น มาเกิดเป็นพระนันทกเถระในพุทธุปปาทกาลนี้)

ครั้งนั้น สมัยเข้าพรรษา พระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ ลงจากเงื้อมเขานันทมูลกะ ไปที่ป่าอิสิปตนะ เที่ยวบิณฑบาตในกรุงแล้วกลับมาป่าอิสิปตนะ ท่านพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นทรงดำริว่า

เราควรจักขอหัตถกรรมงานช่างฝีมือ เพื่อทำกุฎีสำหรับเข้าจำพรรษา เพราะผู้จะเข้าอยู่จำพรรษาในฤดูฝน จำต้องเข้าอยู่ในเสนาสนะประจำ ที่มุงบังด้วยเครื่องมุงบัง ๕ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง สมจริงดังพระพุทธดำรัสนี้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่มีเสนาสนะไม่พึงเข้าอยู่จำพรรษา ภิกษุใดฝ่าฝืน ต้องอาบัติทุกกฏ ดังนี้ เพราะเหตุนั้น เมื่อใกล้ฤดูฝน จวนถึงกาลจะเข้าพรรษา ถ้าได้เสนาสนะนั่นก็บุญละ

ถ้าไม่ได้ ก็จำต้องแสวงหาหัตถกรรมทำ เมื่อไม่ได้หัตถกรรม ก็พึงทำเสียเอง ภิกษุไม่มีเสนาสนะไม่ควรเข้าอยู่จำพรรษา นี้เป็นธรรมดาประเพณี

เพราะเหตุนั้นพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นคิดว่า เราจำจักต้องขอหัตถกรรม จึงห่มจีวรเข้าไปสู่พระนครเวลาเย็น ยืนอยู่ที่ประตูเรือนของเศรษฐี

นางทาสีหัวหน้า ถือหม้อน้ำกำลังเดินไปท่าน้ำ เห็นเหล่าพระปัจเจกพุทธเจ้าเดินเข้าพระนครเศรษฐีรู้เหตุที่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นมาแล้ว ก็กล่าวว่าข้าพเจ้าไม่มีเวลา โปรดไปเถิด

ลำดับนั้น ทาสีหัวหน้าถือหม้อน้ำจะเข้าไป เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นกำลังเดินจากพระนคร จึงลดหม้อน้ำลง แล้วไหว้อย่างนอบน้อม เผยปากถามว่า

ทำไมหนอ..พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย พอเข้าไปแล้วก็ออกไป ท่านตอบว่า เราพากันมา ก็เพื่อขอหัตถกรรมงานสร้างกุฎีสำหรับอยู่จำพรรษา

นางจึงถามว่า ได้ไหมล่ะเจ้าข้า ตอบว่า ไม่ได้ดอก อุบาสิกา นางถามว่า จำเป็นหรือที่คนใหญ่ๆ เท่านั้นจึงจะทำกุฎีนั้นได้ หรือแม้คนยากจนก็ทำได้ ท่านตอบว่า ใครๆ ก็ทำได้

นางจึงกล่าวว่า ดีละเจ้าข้า พวกดิฉันจักช่วยกันทำ ขอโปรดรับอาหารของดิฉันในวันพรุ่งนี้ นิมนต์แล้ว ก็ถือหม้อน้ำพักไว้ที่ทางท่าน้ำที่มาแล้ว กล่าวกับนางทาสีทั้งหลายว่า พวกเจ้าจงอยู่ตรงนี้กันนะ

เวลาที่ทาสีเหล่านั้นมา ก็กล่าวว่า พวกเจ้าทั้งหลาย พวกเราจักทำงานเป็นทาสีสำหรับคนอื่นกันตลอดไปหรือ หรือว่า อยากจะพ้นจากการเป็นทาสีเขา

เหล่าทาสีก็ตอบว่า พวกเราอยากพ้นเสียวันนี้นี่แหละ แม่เจ้า นางจึงกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น เหล่าพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ ที่ยังไม่ได้หัตถกรรม เราก็นิมนต์ให้ฉันในวันพรุ่งนี้แล้ว พวกเจ้าจงให้สามีของพวกเจ้า ให้งานหัตถกรรมเสียวันหนึ่ง

เหล่าทาสีก็รับว่า ดีละ แล้วบอกพวกสามี เวลาที่เขาออกมาจากดงเวลาเย็น สามีเหล่านั้นรับปากแล้วมาประชุมกันที่ประตูเรือนทาสีหัวหน้า
ครั้งนั้น ทาสีหัวหน้าจึงกล่าวว่า

พ่อทั้งหลาย พรุ่งนี้พวกเจ้าจงถวายหัตถกรรมแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายด้วย แล้วบอกอานิสงส์ พร้อมกับขู่คนที่ไม่อยากจะทำด้วยโอวาทอันหนักหน่วงให้ทุกคนยอมรับ

รุ่งขึ้น นางถวายอาหารแก่เหล่าพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วให้การนัดหมายแก่ลูกทาสทุกคน ทันใดนั้นเอง ลูกทาสเหล่านั้นก็พากันเข้าป่า รวบรวมทัพสัมภาระแล้ว สร้างกุฎีทีละหลังเป็นร้อยๆ หลัง

จัดบริเวณมีที่จงกรมเป็นต้น วางเตียง ตั่ง น้ำฉัน น้ำใช้เป็นต้นไว้ แล้วจึงอาราธนาพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายให้รับปฏิญญาที่จะอยู่จำพรรษา ณ ที่นั้นตลอดไตรมาส

พร้อมทั้งให้จัดเวรถวายอาหาร ทาสีผู้ใดไม่อาจถวายในวันเวรของตนได้ ทาสีหัวหน้าก็นำอาหารจากเรือนตนถวายแทนทาสีผู้นั้น ดังนี้.."


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 9/12/18 at 08:06

(Update 9 ธันวาคม 2561)

ประวัติ พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี
ผู้เป็นเลิศกว่าพระภิกษุณี ฝ่ายรัตตัญญู (รู้ราตรีนาน)

ประวัติโดยละเอียด (ตอนที่ 3)


"...ทาสีหัวหน้าบำรุงมาตลอดไตรมาสอย่างนี้ ครั้นสิ้นกาลเข้าพรรษาแล้ว ก็ให้ทาสีคนหนึ่งๆ จัดผ้าสาฎกคนละผืน รวมเป็นผ้าสาฎกเนื้อหยาบ ๕๐๐ ผืน

นางให้เปลี่ยนแปลงผ้าสาฎกเนื้อหยาบเหล่านั้น ทำเป็นไตรจีวรถวายพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายไปสู่เขาคันธมาทน์ทางอากาศทั้งที่ทาสีเหล่านั้นเห็นอยู่นั่นแล.

ทาสีเหล่านั้นทุกคนทำกุศลจนตลอดชีวิต ก็บังเกิดในเทวโลก ส่วนนางทาสีผู้เป็นหัวหน้า เมื่อจุติจากภพนั้นแล้ว ก็มาบังเกิดในเรือนของหัวหน้าช่างทอหูก ไม่ไกลกรุงพาราณสี

ต่อมาวันหนึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ โอรสพระนางปทุมวดี (ต่อมาในพุทธุปปาทกาลนี้ พระนางปทุมวดีมาบังเกิดเป็น พระอุบลวรรณาเถรี) ที่พระเจ้ากรุงพาราณสีนิมนต์ไว้มาถึงประตูพระราชนิเวศน์ไม่พบคนใดๆ ที่จะดูแล

จึงกลับออกไปทางประตูพระนคร ไปยังหมู่บ้านช่างทอหูกนั้น หญิงผู้นั้นเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย นึกเอ็นดู ก็ไหว้หมดทุกองค์แล้วถวายอาหาร พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายฉันอาหารเสร็จแล้ว ก็ไปสู่เขาคันธมาทน์อย่างเดิม.

ทาสทั้งพันคนนั้นที่ได้ทำกุศลมาด้วยกัน เมื่อตายแล้วก็เกิดในสวรรค์ นางทาสีทั้ง ๕๐๐ คนนั้น ในบางทีก็เกิดเป็นภรรยาของทาสทั้ง ๕๐๐ คนนั้น บางทีแม้ทั้งหมดก็เกิดเป็นภรรยาของทาสผู้เป็นหัวหน้าเท่านั้น

ต่อมา ในกาลครั้งหนึ่งหัวหน้าทาสเคลื่อนจากเทวโลกมาบังเกิดในราชตระกูล เทวกัญญาทั้ง ๕๐๐ นั้น ก็มาเกิดในตระกูลที่มีสมบัติมาก เมื่อเจ้าชายนั้นได้เสวยราชย์ก็นำหญิงเหล่านั้นไปสู่พระราชวังเป็นนางสนม

พวกนางท่องเที่ยวเวียนว่ายอยู่ในวัฎสงสารอยู่โดยทำนองนี้ ครั้นในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าของพวกเรา หัวหน้าทาสก็มาเกิดเป็น "พระนันทกเถระ" เอตทัคคมหาสาวกผู้ให้โอวาทสอนภิกษุณี

พวกนางทาสทั้ง ๕๐๐ ก็มาเกิดในตระกูลกษัตริย์ในโกลิยนครบ้าง ในเทวทหนครบ้าง.ทั้งหมดต่างก็ได้เป็นชายาของเจ้าชายในพระราชวงศ์ทั้งหมด

ซึ่งต่อมาเมื่อเกิดกรณีการวิวาทระหว่างสองนครเรื่องการแย่งชิงน้ำในแม่น้ำโรหิณี จนจะเกิดสงครามระหว่างสองพระนครขึ้น จนพระผู้มีพระภาคทรงต้องออกมาสงบศึก

กษัตริย์ทั้งสองพระนครจึงได้ถวายเจ้าชายในราชตระกูล นครละ ๕๐๐ องค์ไห้ออกบวชตามเสด็จพระผู้มีพระภาค รายละเอียดในเรื่องนี้จะได้กล่าวต่อไป

ส่วนหญิงหัวหน้าทาสีนั้น ทำกุศลจนตลอดชีวิต เที่ยวเวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ ถือปฏิสนธิในพระราชมณเฑียรของพระเจ้ามหาสุปปพุทธะ กรุงเทวทหะ ก่อนแต่พระศาสดาของเราทั้งหลายเสด็จอุบัติ ได้มีพระนามตามโคตรว่า "โคตมี"

เป็นกนิษฐภคนีของพระนางมหามายา แม้พวกหมอดูลักษณะได้พยากรณ์ไว้ว่า ทารกทั้งหลายที่อยู่ในท้องของหญิงทั้งสองนี้จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ พระเจ้าสุทโธทนมหาราชทรงทำมงคลทั้งสองพระองค์แล้ว นำไปยังพระราชมณเฑียรของพระองค์ในเวลาเจริญพระชนม์

ต่อมาเมื่อพระศาสดาของเราทั้งหลายเสด็จอุบัติขึ้น ทรงประกาศธรรมจักรอันประเสริฐ ทำการอนุเคราะห์โปรดเวไนยสัตว์ทั้งหลายในที่นั้นๆ โดยลำดับ

ครั้งนั้น พระเจ้าสุทโธทนมหาราชพุทธบิดาทรงสดับธรรมกถา ณ ระหว่างถนน เป็นพระโสดาบัน. ครั้นวันที่ ๒ พระนันทกุมารก็ทรงผนวช. วันที่ ๗ พระราหุลก็ทรงผนวช

ต่อมา พระศาสดาทรงอาศัยกรุงเวสาลีประทับอยู่ ณ กูฎาคารศาลา สมัยนั้น พระเจ้าสุทโธทนมหาราชทรงทำให้แจ้งพระอรหัตแล้ว เสด็จปรินิพพานภายใต้พระมหาเศวตฉัตร

ครั้งนั้นพระนางมหาปชาบดีโคตมีเกิดว้าเหว่พระหฤทัยมีพระประสงค์จะทรงผนวช เมื่อทูลขอบรรพชากะพระศาสดาครั้งแรกไม่ได้ ครั้งที่สองให้ตัดพระเกศาแล้วทรงนุ่งห่มผ้ากาสายะ

พอจบการแสดง "กลหวิวาทสูตร" ณ ริมฝั่งแม่น้ำโรหิณี ได้เสด็จไปกรุงเวสาลีกับพวกหญิงบาทปริจาริกาของศากยกุมาร ๕๐๐ ซึ่งประสงค์จะบวชด้วยกัน ได้ให้พระอานนท์ทูลอ้อนวอนพระศาสดา จึงได้บรรพชาและอุปสมบทด้วย ครุธรรม ๘ ประการ ส่วนหญิงนอกนี้ได้อุปสมบทพร้อมกันทั้งหมด

ฝ่ายพระนางมหาปชาบดีโคตมีได้อุปสมบทอย่างนี้แล้ว ได้เข้าไปเฝ้าพระศาสดาถวายอภิวาทแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้งนั้นพระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่พระนางแล้ว

พระนางทรงเรียนพระกรรมฐานในสำนักพระศาสดา พากเพียรภาวนาอยู่ไม่นานนัก ก็ได้บรรลุพระอรหัตที่แวดล้อมด้วยอภิญญาและปฏิสัมภิทา ส่วนภิกษุณี ๕๐๐ ที่เหลือได้อภิญญา ๖ เมื่อจบ "นันทโกวาทสูตร"

ภายหลังวันหนึ่ง พระศาสดาประทับนั่งท่ามกลางหมู่พระอริยะในพระเชตวันมหาวิหาร กำลังทรงสถาปนาภิกษุณีไว้ในตำแหน่ง จึงทรงสถาปนาพระมหาปชาบดีโคตรมีเถรีไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ

คือผู้เป็นเลิศของภิกษุณี "ฝ่ายรัตตัญญู" ผู้รู้ราตรีนาน พระนางทรงยับยั้งอยู่ด้วยผลสุข และด้วยนิพพานสุข ดำรงอยู่ในความกตัญญู

ในวันหนึ่ง เมื่อพระนางจะทรงพยากรณ์พระอรหัตโดยมุข คือทำการสรรเสริญพระคุณและความที่มีอุปการะก่อนแก่พระศาสดาให้แจ่มแจ้ง จึงได้ตรัสคาถาเหล่านี้ว่า

“ข้าแต่พระพุทธเจ้าผู้แกล้วกล้า ผู้สูงสุดกว่าสัตว์ทั้งปวง หม่อมฉันขอนอบน้อมแด่พระองค์ผู้ทรงช่วยปลดเปลื้องหม่อมฉันและชนอื่นเป็นอันมากให้พ้นจากทุกข์ หม่อมฉันกำหนดรู้ทุกข์ทั้งปวงแล้ว

เผาตัณหาอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ให้เหือดแห้งแล้ว ได้เจริญมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ได้บรรลุนิโรธแล้ว ชนทั้งหลายเป็นมารดา เป็นบุตร เป็นธิดา เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นปู่ย่าตายายกันมาในชาติก่อนๆ

หม่อมฉันไม่รู้ตามความเป็นจริง ไม่พบที่พึ่ง จึงท่องเที่ยวไป ก็หม่อมฉันได้พบพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นแล้ว

อัตภาพนี้เป็นอัตภาพสุดท้าย ชาติสงสารสิ้นไปแล้ว บัดนี้ภพใหม่มิได้มี ขอพระองค์โปรดทอดพระเนตรพระสาวกทั้งหลายผู้ปรารภความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว

มีความบากบั่นมั่นคงเป็นนิตย์ มีความพร้อมเพรียงกัน การทำโลกุตรธรรมให้ประจักษ์แก่ตนอย่างนี้ เป็นการถวายบังคมต่อพระพุทธ เจ้าทั้งหลาย พระนางเจ้ามหามายาเทวีได้ประสูติพระโคดมมา

เพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมากหนอ เพราะพระองค์ได้ทรงบรรเทากองทุกข์ของชนทั้งหลายผู้ถูกพยาธิและมรณะทิ่มแทงแล้ว” ดังนี้

ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒

พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)

...คราวหนึ่ง พระพุทธเจ้าผู้ทรงส่องโลกให้สว่าง ทรงเป็นสารถีฝึกนรชนประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลี ครั้งนั้น พระมหาปชาบดีโคตมีภิกษุณีพระมาตุจฉาของพระชินเจ้า อยู่ในสำนักของภิกษุณี ในกรุงที่น่ารื่นรมย์นั้น พร้อมด้วยภิกษุณีอีก ๕๐๐ รูป ซึ่งล้วนแต่พ้นจากกิเลสแล้ว

เมื่อพระมหาปชาบดีโคตมีนั้น อยู่ในที่สงัดได้ตรึก(คิด)อย่างนี้ว่า

...“การปรินิพพานของพระพุทธเจ้าก็ดี ของพระอัครสาวกทั้งคู่ก็ดี ของพระราหุลก็ดี ของพระอานนท์ และของพระนันทะก็ดี เราจะไม่ได้เห็นก่อนแต่การปรินิพพานของพระพุทธเจ้า

ของพระอัครสาวกทั้งคู่ ของพระมหากัสสปะ ของพระนันทะ ของพระอานนท์ และของพระราหุล เราก็จะไม่ได้เห็นเหมือนกัน เราผู้ที่พระโลกนาถ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ทรงอนุญาตแล้ว พึงปลงอายุสังขารแล้วนิพพาน”

ภิกษุณีทั้ง ๕๐๐ รูป ก็ได้ตรึกอย่างนั้น แม้พระเขมาภิกษุณี (ผู้เลิศทางด้านปัญญา) เป็นต้นก็ได้ตรึกเช่นนี้เหมือนกัน ครั้งนั้น เกิดแผ่นดินไหว กลองทิพย์บันลือลั่น เทพที่สถิตอยู่ในสำนักภิกษุณีถูกความเศร้าโศกบีบคั้น บ่นเพ้ออยู่อย่างน่าสงสาร หลั่งน้ำตาในที่นั้น

ภิกษุณีทุกรูปพร้อมด้วยเทพเหล่านั้นได้เข้าไปหาพระโคตมีภิกษุณี ซบศีรษะลงแทบเท้าแล้วกล่าวคำนี้ว่า

“ข้าแต่พระแม่เจ้า เพราะหม่อมฉันมีปกติอยู่ด้วยการเทียบเคียงในธรรมเหล่านั้น หม่อมฉันจึงได้อยู่ในที่สงัด แผ่นดินไหวสะเทือนเลื่อนลั่น กลองทิพย์บันลือลั่น และหม่อมฉันได้ยินเสียงคร่ำครวญ ข้าแต่พระโคตมี จะต้องมีเหตุอะไรเกิดขึ้นแน่”

ครั้งนั้น พระมหาปชาบดีโคตมีนั้นได้บอกถึงเหตุทุกอย่างตามที่ตนได้ตรึกแล้ว ลำดับนั้น ภิกษุณีทุกรูปก็ได้บอกถึงเหตุที่ตนตรึกแล้วกล่าวว่า...


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 10/12/18 at 09:17

(Update 10 ธันวาคม 2561)

ประวัติ พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี
ผู้เป็นเลิศกว่าพระภิกษุณี ฝ่ายรัตตัญญู (รู้ราตรีนาน)

ประวัติโดยละเอียด (ตอนที่ 4)


"...ภิกษุณีทั้ง ๕๐๐ รูป ก็ได้ตรึกอย่างนั้น แม้พระเขมาภิกษุณี (ผู้เลิศทางด้านปัญญา) เป็นต้นก็ได้ตรึกเช่นนี้เหมือนกัน ครั้งนั้น เกิดแผ่นดินไหว กลองทิพย์บันลือลั่น

เทพที่สถิตอยู่ในสำนักภิกษุณีถูกความเศร้าโศกบีบคั้น บ่นเพ้ออยู่อย่างน่าสงสาร หลั่งน้ำตาในที่นั้น

ภิกษุณีทุกรูปพร้อมด้วยเทพเหล่านั้นได้เข้าไปหาพระโคตมีภิกษุณี ซบศีรษะลงแทบเท้าแล้วกล่าวคำนี้ว่า “ข้าแต่พระแม่เจ้า เพราะหม่อมฉันมีปกติอยู่ด้วยการเทียบเคียงในธรรมเหล่านั้น

หม่อมฉันจึงได้อยู่ในที่สงัด แผ่นดินไหวสะเทือนเลื่อนลั่น กลองทิพย์บันลือลั่น และหม่อมฉันได้ยินเสียงคร่ำครวญ ข้าแต่พระโคตมี จะต้องมีเหตุอะไรเกิดขึ้นแน่”

ครั้งนั้น พระมหาปชาบดีโคตมีนั้นได้บอกถึงเหตุทุกอย่างตามที่ตนได้ตรึกแล้ว ลำดับนั้น ภิกษุณีทุกรูปก็ได้บอกถึงเหตุที่ตนตรึกแล้วกล่าวว่า

“...ข้าแต่พระแม่เจ้า ถ้าพระแม่เจ้าชอบใจการนิพพาน ที่เกษมอย่างยิ่งไซร้ ถึงหม่อมฉันทั้งหลายก็จักนิพพานทั้งหมด ในกาลที่พระพุทธเจ้าจะทรงอนุญาตก่อน

แม้หม่อมฉันทั้งหลายก็ได้ออกจากเรือน และจากภพพร้อมกับพระแม่เจ้า หม่อมฉันทั้งหลายก็จักไปสู่เมืองอันยอดเยี่ยมคือพระนิพพาน พร้อมกับพระแม่เจ้าเหมือนกัน”

พระมหาปชาบดีโคตมีกล่าวว่า “เมื่อท่านทั้งหลายจะไปนิพพาน ฉันจักว่าอะไรได้เล่า” แล้วได้ออกจากสำนักภิกษุณีไปพร้อมกับภิกษุณีทั้งหมดในครั้งนั้น

พระมหาปชาบดีโคตมีภิกษุณี ได้กล่าวกับทวยเทพทั้งหลายว่า “ขอเทพทั้งหลายที่สถิตอยู่ ณ สำนักภิกษุณี จงยกโทษให้ข้าพเจ้าด้วยเถิด

การเห็นสำนักภิกษุณีของข้าพเจ้านี้เป็นการเห็นครั้งสุดท้าย ในที่ใดไม่มีความแก่และความตาย ไม่มีการสมาคมกับสัตว์และสังขารซึ่งไม่เป็นที่รัก ไม่มีการพลัดพรากจากสัตว์และสังขารซึ่งเป็นที่รัก ที่นั้นนักปราชญ์กล่าวว่าเป็นอสังขตสถาน (สถานที่ที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง)”

พระโอรสของพระสุคตทั้งหลายที่ยังไม่ปราศจากราคะ ได้สดับคำนั้น เป็นผู้อัดอั้นตันใจด้วยความเศร้าโศกคร่ำครวญว่า “น่าสังเวชหนอ เราทั้งหลายช่างมีบุญน้อย สำนักภิกษุณีนี้จักว่างเปล่า เพราะเว้นจากภิกษุณีเหล่านั้น

ภิกษุณีผู้เป็นชิโนรสจะไม่ปรากฏ เหมือนดวงดาวทั้งหลายไม่ปรากฏในเวลาสว่าง พระมหาปชาบดีโคตมีจะนิพพาน พร้อมด้วยภิกษุณีอีก ๕๐๐ รูป เหมือนกับแม่น้ำคงคาไหลไปสู่สาคร พร้อมกับแม่น้ำ ๕๐๐ สาย”

อุบาสิกาทั้งหลายผู้มีศรัทธา เห็นภิกษุณีทั้งหลายกำลังเดินไปตามถนน ได้พากันออกจากเรือนไปหมอบลงแทบเท้า แล้วกล่าวคำนี้กับพระโคตมีนั้นว่า

“...การที่พระแม่เจ้าละทิ้งหม่อมฉันทั้งหลาย ผู้จมอยู่ในโภคะเป็นอันมาก ไม่มีที่พึ่งแล้วนิพพานไม่สมควร”

อุบาสิกาเหล่านั้นมีความต้องการบีบคั้นจึงพร่ำเพ้อ เพื่อจะให้อุบาสิกาเหล่านั้นละความเศร้าโศก พระนางจึงได้ตรัสอย่างไพเราะว่า

“...อย่าร้องไห้ไปเลย ลูกทั้งหลาย วันนี้เป็นเวลารื่นเริงของท่านทั้งหลาย ทุกข์ฉันกำหนดรู้แล้ว เหตุแห่งทุกข์(สมุทัย) ฉันเว้นขาดแล้ว นิโรธฉันได้ทำให้แจ้งแล้ว และมรรคฉันก็ได้อบรมดีแล้ว

พระศาสดาฉันก็ได้บำรุงแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ภาระหนักฉันก็ปลงลงได้แล้ว ตัณหาที่เป็นเหตุนำไปสู่ภพฉันก็ถอนได้แล้ว

กุลบุตรกุลธิดาออกบวชเป็นบรรพชิตเพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้นคือความสิ้นสังโยชน์ทั้งปวง ฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ พระพุทธเจ้าและพระสัทธรรมของพระองค์ มิได้ย่อหย่อนยังดำรงอยู่ตราบใด ตราบนั้นเป็นเวลาสมควรแล้วที่ฉันจะนิพพาน

ลูกเอ๋ย..อย่าได้เศร้าโศกถึงแม่เลย พระชินเจ้า พระราหุล พระอัญญาโกณฑัญญะ พระอานนท์ และพระนันทะเป็นต้น ก็ยังดำรงอยู่ ขอพระสงฆ์จงมีประโยชน์สุขร่วมกัน ขอให้เดียรถีย์จงเป็นผู้มีความโง่เขลาถูกกำจัดเสียเถิด

ยศคือการย่ำยีมารแห่งวงศ์พระเจ้าโอกกากราช ฉันก็ให้รุ่งเรืองแล้ว ลูกๆ ถึงเวลาที่แม่จะนิพพานแล้วมิใช่หรือ ความปรารถนาที่แม่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้นมาช้านาน จะสำเร็จแก่แม่ในวันนี้

เวลานี้เป็นเวลาที่กลองอานันทเภรีบันลือเสียง ลูกเอ๋ย..น้ำตาจะมีประโยชน์อะไรแก่พวกลูก ถ้าลูกทั้งหลายจะมีความเอ็นดู หรือมีความกตัญญูในมารดา ก็ขอให้ลูกทุกคนจงทำความเพียรให้มั่น เพื่อความดำรงมั่นแห่งพระสัทธรรมเถิด

พระสัมมาพุทธเจ้า ซึ่งแม่ทูลอ้อนวอน จึงได้ทรงประทานการบรรพชาแก่สตรีทั้งหลาย เพราะฉะนั้น แม่ยินดี ฉันใด ลูกทั้งหลายก็จงเจริญรอยตามความยินดีนั้น ฉันนั้นเถิด”

ครั้นพระนางพร่ำสอนอุบาสิกาเหล่านั้นอย่างนี้แล้ว มีภิกษุณีทั้งหลายห้อมล้อมเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ไหว้แล้วได้กราบทูลคำนี้ว่า

“...ข้าแต่พระสุคต หม่อมฉันเคยเป็นมารดาเลี้ยงของพระองค์ ข้าแต่พระธีรเจ้า ส่วนพระองค์เป็นบิดาของหม่อมฉัน ข้าแต่พระโลกนาถ พระองค์ทรงเป็นผู้ประทานความสุข ที่เกิดจากพระสัทธรรม

ข้าแต่พระโคดม หม่อมฉันเป็นผู้ที่พระองค์ทรงให้เกิดแล้ว ข้าแต่พระสุคต พระรูปกายของพระองค์นี้ อันหม่อมฉันเคยฟูมฟักให้เจริญเติบใหญ่แล้ว ส่วนพระธรรมกายที่น่าเพลิดเพลินของหม่อมฉัน อันพระองค์ทรงฟูมฟักให้เจริญแล้ว

พระองค์หม่อมฉันให้ดื่มน้ำนม อันระงับความหิวได้เพียงชั่วครู่ ส่วนหม่อมฉันพระองค์ทรงให้ดื่มแม้น้ำนม คือพระธรรมซึ่งสงบระงับได้แท้จริง

ข้าแต่พระมหามุนี พระองค์ชื่อว่ามิได้เป็นหนี้หม่อมฉัน ในเพราะการเลี้ยงดูด้วยความผูกพัน หม่อมฉันได้ฟังมาว่า สตรีทั้งหลายผู้ปรารถนาบุตรขออยู่ ก็ย่อมได้บุตรเช่นนั้น มารดาใดของจอม

นรชน มีพระเจ้ามันธาตุเป็นต้น มารดานั้นชื่อว่ายังบุตรให้จมอยู่ในห้วงมหรรณพคือภพ ข้าแต่พระปิโยรส ส่วนหม่อมฉันผู้จมอยู่แล้ว พระองค์ทรงช่วยให้ข้ามพ้นจากสาครคือภพได้

พระนามว่า "พระพันปีหลวง" สตรีทั้งหลายได้มาโดยง่าย (แต่)พระนามว่า พุทธมารดานี้ สตรีทั้งหลายได้มาโดยยากอย่างยิ่ง

ข้าแต่พระมหาวีระ ก็พระนามว่า "พุทธมารดา" นั้นอันหม่อมฉันได้แล้ว ปณิธานน้อยใหญ่ของหม่อมฉันพระองค์ก็ทรงให้สำเร็จแล้ว ทั้งหมดนั้นพระองค์ทรงให้บริบูรณ์แล้ว

หม่อมฉันปรารถนาที่จะละร่างนี้ปรินิพพาน ข้าแต่พระวีรเจ้า ผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ ทรงเป็นผู้นำ ขอพระองค์ทรงโปรดอนุญาตให้หม่อมฉันเถิด

ขอพระองค์โปรดทรงเหยียดพระยุคลบาท ที่วิจิตรด้วยลายจักร (ลายจักรก้นหอย) และธงอันละเอียดอ่อนเหมือนดอกบัวออกเถิด หม่อมฉันจะนอบน้อมพระยุคลบาทนั้น จักขอทำความรักในบุตร

ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำ หม่อมฉันจะทำสรีระคือร่างกายของพระองค์ เหมือนกองทอง อันปรากฏเหมือนทับทิม ให้เป็นอันหม่อมฉันเห็นดีแล้วจึงจะนิพพาน”

พระชินเจ้าทรงแสดงให้พระมาตุจฉาเห็นพระวรกาย ที่ประกอบด้วยพระลักษณะ ๓๒ ประการ ประดับด้วยพระรัศมีอย่างงดงาม ซึ่งเป็นเหมือนดึงดูดดวงตาของคนพาล

ลำดับนั้น พระนางมหาปชาบดีโคตมีนั้น ได้ซบพระเศียรลงแทบพื้นพระยุคลบาท ซึ่งเป็นลายจักรคล้ายดอกบัวบาน มีพระรัศมีดังดวงอาทิตย์แรกทอแสง แล้วได้กราบทูลว่า

“...ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นดุจดวงอาทิตย์ของนรชน หม่อมฉันนอบน้อมพระองค์ ผู้เป็นธงแห่งวงศ์พระอาทิตย์ ขอพระองค์ทรงโปรดเป็นที่พึ่งของหม่อมฉันในกาลสุดท้ายด้วยเถิด

หม่อมฉันจะไม่ได้เห็นพระองค์อีก ข้าแต่พระองค์ผู้เลิศในโลก ผู้เป็นบ่อเกิดแห่งพระกรุณา ธรรมดาสตรีทั้งหลายรู้กันว่า มีแต่จะก่อโทษทุกประการ ถ้าโทษอย่างใดอย่างหนึ่งของหม่อมฉันมีอยู่ ก็ขอพระองค์ได้โปรดยกโทษแก่หม่อมฉันด้วยเถิด

อนึ่ง หม่อมฉันได้ทูลขอบ่อยๆ ให้สตรีทั้งหลายได้บวช ข้าแต่พระองค์ผู้องอาจกว่านรชน ถ้าโทษในข้อนั้นจะมีแก่หม่อมฉัน ขอได้โปรดยกโทษนั้นด้วยเถิด

ข้าแต่พระวีรเจ้าผู้ทรงไว้ซึ่งการยกโทษ ภิกษุณีทั้งหลาย อันหม่อมฉันสั่งสอนแล้ว ตามที่พระองค์ทรงอนุญาต ถ้าข้อนั้นจะมีการแนะนำผิด ขอได้โปรดยกโทษในข้อนั้นด้วยเถิด”

(พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า) “...โคตมีผู้ประดับไปด้วยคุณ ชื่อว่านิพพานก็สมควรแก่เธอ จะมีโทษอะไร เมื่อเธอบอกว่าจะลานิพพาน ตถาคตจักไปว่าอะไรเธอให้มากเล่า

เมื่อภิกษุสงฆ์ของตถาคตบริสุทธิ์ ไม่บกพร่อง เธอจะออกไปเสียจากโลกนี้ก็ควร เพราะในเวลาสว่าง เมื่อดวงดาวหมดแสง จันทเลขาก็เห็นเลือนไป”

ภิกษุณีทั้งหลายนอกจากพระมหาปชาบดีโคตมี พากันทำประทักษิณพระชินเจ้าผู้เลิศ เหมือนกลุ่มดาวที่ติดตามดวงจันทร์ ทำประทักษิณภูเขาพระสุเมรุ หมอบลงแทบพระยุคลบาทแล้ว ยืนเพ่งดูพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าแล้วกราบทูลว่า

“...จักษุของหม่อมฉัน ไม่เคยอิ่มด้วยการเห็นพระองค์ โสตของหม่อมฉันก็ไม่เคยอิ่มด้วยภาษิตของพระองค์ จิตของหม่อมฉันดวงเดียวเท่านั้น บรรลุธรรมจึงอิ่มด้วยรสแห่งธรรม

ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นนระผู้ประเสริฐ เมื่อพระองค์บันลืออยู่ในท่ามกลางบริษัท กำจัดทิฏฐิมานะ ชนเหล่าใดเห็นพระพักตร์ของพระองค์
ชนเหล่านั้นชื่อว่าเป็นผู้มีโชคดี

ข้าแต่พระองค์ผู้ถึงที่สุดแห่งสงคราม ชนเหล่าใดประณตน้อมพระยุคลบาทของพระองค์ ซึ่งมีพระองคุลียาว มีพระนขาแดงงดงาม มีส้นพระยุคลบาทยาว

แม้ชนเหล่านั้นก็ชื่อว่าเป็นผู้มีโชคดี ชนเหล่าใดได้สดับพระดำรัสของพระองค์ ซึ่งไพเราะน่าปลื้มใจ เผาเสียซึ่งโทษ เป็นประโยชน์เกื้อกูล แม้ชนเหล่านั้นก็ชื่อว่าเป็นผู้มีโชคดี

ข้าแต่พระมหาวีระ หม่อมฉันอิ่มไปด้วยการบูชาพระยุคลบาทของพระองค์ ข้ามพ้นทางกันดารคือสงสารได้ ด้วยพระสุนทรกถาของพระองค์ผู้มีพระสิริ ฉะนั้น หม่อมฉันจึงชื่อว่าเป็นผู้มีโชคดี”


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 6/12/22 at 18:15

.