พระพุทธชินราช วัดท่าซุง กับ วัดมหาธาตุ พิษณุโลก เฉลยผู้สร้างคือใคร !!!
ธนวิสุทธิ์ - 20/8/08 at 10:21

"พระพุทธชินราช" วัดท่าซุง
และที่ วัดมหาธาตุ พิษณุโลก

พระเจ้าศรีธรรมปิฎก


...คงมีใครหลายคนที่เคยเข้าไปกราบ “พระพุทธชินราช” ภายในวิหารร้อยเมตร เมื่อได้เห็นป้ายผู้สร้างที่ฐานองค์พระแล้ว จะเห็นคำที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ จารึกไว้ว่า "พระเจ้าศรีธรรมปิฎก" และ "พระเจ้าศรีทรงธรรม" เป็นผู้สร้าง บางคนอาจจะแปลกใจว่า ท่านทั้งสองเป็นใคร...แล้วมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร..?

โดยเฉพาะ พระเจ้าศรีธรรมปิฎก “นักประวัติศาสตร์” หลายท่านต่างก็ให้วินิจฉัยไม่ตรงกัน บางท่านก็บอกว่า คือ พระเจ้าลิไทย ครองกรุงสุโขทัย บางท่านก็บอกว่าเป็น พระเจ้าพรหมมหาราช ครองเมืองเชียงแสน

คนไทยจึงสับสนไปกับประวัติศาสตร์ของชาติไทยเป็นอย่างยิ่ง จึงจำต้องอาศัยอิง พระราชพงศาวดารเหนือ ที่ รัชกาลที่ ๒ ทรงแต่งเมื่อยังดำรงพระเกียรติยศเป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล มีรับสั่งให้ พระวิเชียรปรีชา (น้อย) เป็นผู้รวบรวม เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕๐

พระราชพงศาวดารเหนือ

".....ในเดือนอ้ายขึ้นค่ำหนึ่ง พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก พระเจ้าเชียงแสน ให้เสนาอำมาตย์และมหาอุปราช ตรวจจัดลี้พลโยธาช้างม้าเครื่องสาสตราวุธทุกท้าวพระยา ปืน หอก ดาบ โล่ธนู หน้าไม้ เกาะเหล็ก เกราะเขา แล้วจึงตั้ง พระยาเชียงราย พระยาเชียงลือเป็นแม่ทัพหน้า ตั้ง พระยาเชียงเงิน พระยาเชียงตุง เป็นปีกขวา ตั้ง พระยาเชียงน่าน พระยาเชียงฝาง เป็นปีกซ้าย

เจ้าพสุจกุมาร ให้อุปทูตขึ้นไปฟังข่าวได้รู้อาการทั้งปวงแล้ว พระยาพสุจราชจึงให้กฎหมายไปแก่ พระยาพิไชยเชียงใหม่ ผู้เป็นญาติ พระยาลือธิราชถึงทิวงคต ยังแต่บุตรชายผู้เป็นหลานชื่อ พระพรหมวิธี จึงให้ขับพล เมืองนคร เมืองแพร่ เมืองน่าน เข้าเมืองเชียงใหม่ทั้งหมด

แล้วให้ทหารอาสานั่งด่าน ทาง พระยาพสุจราช ให้รับครัวเข้าเมืองสัชนาลัยทั้งหมด แต่ครัวชายฉกรรจ์ให้อยู่ตั้งรบถอยหลังเข้ามาหาค่าย พระศรีธรรมปิฎกจึงให้ขับพลเข้าเมืองสัชนาไลย ให้ตั้งค่ายหลวงใกล้เมืองสัชนาลัยเป็นระยะทาง ๕๐ เส้น แล้วให้พลทหารโยธาล้อมเมืองสัชนาไลยไว้ จะเข้าเมืองไม่ได้ด้วยข้างในเมืองมีปืนใหญ่ปืนน้อยมาก

พระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าวัดเขารังแร้งรู้เรื่องแล้ว จึงชุมนุมสงฆ์ทั้งหลายว่า อย่าให้เรารบกัน แล้วไปถวายพระพรแก่พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก แล้วเข้าไปห้ามพระยาพสุจกุมาร ทั้งสองพระยาก็ฟังคำพระอรหันต์เจ้า พระยาพสุจกุมารจึงเวน (ถวาย) นางประทุมเทวีราชธิดาให้แก่พระยาศรีธรรมไตรปิฎก ๆ ยินดีนัก ยกทัพกลับไป เมืองเชียงแสน ท้าวพระยาอื่น ๆ ต่างก็ยกกำลังกลับไปบ้านเมืองของตน

พระยาศรีธรรมปิฎก มีพระราชกุมารกับนางประทุมเทวี ๒ องค์ คือ เจ้าไกรสรราช และ เจ้าชาติสาคร เจ้ากุมารทั้งสองมีอานุภาพ รูปงาม และมีใจเป็นกุศล

(หลวงพ่อเคยเล่าว่า...พระเจ้าพรหมมหาราช ยกทัพตีเมืองศรีสัชนาลัย ได้ทั้งสอง ม. คือ ม.เมือง และ ม.เมีย ตามพงศาวดารเหนือกล่าวต่อไปอีกว่า)

พระพุทธเจ้าเสด็จบิณฑบาตที่พิษณุโลก

.........พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกรู้ในพระทัยว่า พระพุทธเจ้าเสด็จไปบิณฑบาตทางตะวันตก ตะวันออก แล้วเสด็จไปฉันจังหันใต้ต้นสมอ จึงควรไปสร้างเมืองไว้ในสถานที่นั้น จึงตรัสสั่งให้ จ่านกร้อง จ่าการบูรณ์ ให้ทำเป็นพ่อค้าเกวียน นำเกวียนไปคนละ ๕๐๐ เล่ม

จากเมืองเชียงแสนมาถึงเมืองน่าน เมืองลิหล่ม พักพลไหว้พระบาทธาตุพระพุทธเจ้า จึงข้ามแม่น้ำตรอมตนิม, ข้ามแม่น้ำแควน้อยแล้วจึงถึง "บ้านพราหมณ์" ที่พระพุทธเจ้าไปบิณฑบาต บ้านพราหมณ์ข้างตะวันออก ๑๕๐ เรือน ข้างตะวันตก ๑๐๐ เรือนมีเศษ

เรื่องสร้างเมืองพิษณุโลก

จ่านกร้องกับจ่าการบูรณ์คิดอ่านกันเห็นว่า ที่ดังกล่าวราบคาบทั้งสองฟาก มีบ้านพราหมณ์อยู่ทั้งสองฟาก ควรสร้างเมืองถวายแก่เจ้าของเรา ดังนั้นจึงให้พ่อค้าเกวียน ๕๐๐ เล่ม ข้ามไปข้างตะวันตก ตั้งทับประกับเกวียนไว้แล้ว ต่างทำสารบาญชีชะพ่อพราหมณ์ และไพร่พลของตน

รวมกันเป็นคนฝ่ายละ ๑๐๐๐ คนทำอิฐ ให้พราหมณ์ชักรอบทิศตั้งเมือง แล้วจึงเป็นหน้าที่ยาว ๕๐ เส้น สะกัดสิบเส้นสิบวา ปันหน้าที่ไว้แก่พราหมณ์ จะได้เท่าใด ไทยจะได้เท่าใด ลาวจะได้เท่าใด

พอได้ ณ วันพฤหัสบดีเดือนสามขึ้นค่ำหนึ่ง ปีฉลู นพศก เวลาเช้า ต้องกับเวลาเมื่อพระพุทธเจ้าฉันจังหันใต้ต้นสมอ แต่ก่อนเรียก พนมสมอ บัดนี้เรียก "เขาสมอแครง"

จ่านกร้องสร้างข้างตะวันตก จากการบูรณ์สร้างข้างตะวันออก แข่งกันสร้าง ทำอยู่ปีเจ็ดเดือนจึงแล้วรอบบ้าน พราหมณ์ทั้งหลายฟังดูก็รอบ

เมื่อทำเมืองแล้วทั้งสองฟาก จึงสั่งชีพ่อพรามหมณ์ให้รักษาเมือง แล้วนำเกวียน และคน ๕๐๐ เล่ม ขึ้นไปเมืองเชียงแสนใช้เวลาเดินทางสองเดือน แล้วถวายรายงานให้พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกทรงทราบ

(หมายเหตุ สถานที่พระพุทธเจ้าฉันภัตตาหาร ปัจจุบันเรียกว่า วัดพระพุทธบาทเขาสมอแครง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก)

พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกมีความยินดียิ่งนัก จึงตรัสสั่งให้ชุมนุมท้าวพระยาทั้งหลาย ยกกำลังไปยังเมืองที่สร้างใหม่ดังกล่าว แล้วตรัสถามชะพ่อพราหมณ์ว่าจะให้ชื่อเมืองอันใดดี ก็ได้รับคำตอบว่า พระองค์เจ้ามาถึงวันนี้ใน ยามพิศณุ จึงได้ชื่อว่า เมืองพิศณุโลก

ถ้าจะว่าตามพระพุทธเจ้ามาบิณฑบาตก็ชื่อว่า โอฆบุรีตะวันออก ทางด้านตะวันตกชื่อ จันทบูร พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกจึงตรัสสั่งท้าวพระยาทั้งหลาย ชวนกันสร้างพระธาตุ และพระวิหารใหญ่ ตั้งพระวิหารทั้งสี่ทิศ


webmaster - 13/10/16 at 10:49

พระพุทธชินราช วัดพระศรีมหาธาตุฯ จ.พิษณุโลก



เรื่องสร้างพระชินสีห์ พระชินราช
พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกให้หาช่างได้ บาพิศณุ ๑ บาพรหม ๑ บาธรรม ๑ บาราชกุศล ๑ และได้ช่างมาแต่เมืองสัชนาไลย ๕ คน จากเมืองหริภุญไชยคนหนึ่ง ให้ไพร่พลทั้งหลาย ขนดินและแกลบให้แก่ช่าง ช่างประสมดินปั้นเป็นรูปพระพุทธเจ้า ๓ รูปให้เหมือนพิมพ์เดียว และใหญ่น้อยเท่ากัน ครั้นปั้นเบ้าคุมพิมพ์แล้วก็หล่อพระพุทธรูปเป็นอันมาก

วันหล่อนั้นเป็น วันพฤหัสบดี เพ็ญเดือนสี่ ปีจอ ชุมนุมสงฆ์ทั้งหลายมี พระอุบาลี และ พระศิริมานนท์ เป็นประธาน หล่อให้พร้อมกันทั้งสามรูป รูป พระศรีศาสดา กับ พระชินสีห์ นั้นทองแล่นเสมอกันบริบูรณ์ ยังแต่ พระชินราช นั้นมิได้เป็นองค์เป็นรูป ช่างทำการหล่อถึงสามครั้งก็มิได้เป็นองค์ พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก พร้อมทั้งเจ้าประทุมเทวีจึงได้ตั้งสัจอธิษฐาน ร้อนถึงพระอินทร ฯ จึงนฤมิตเป็น "ตาปะขาว" มาช่วยทำรูปพระคุมพิมพ์ปั้นเบ้า แล้วทำตรีศูลย์ไว้ในพระพักตร์เป็นสำคัญ

ครั้นถึงเดือนหนึ่งพิมพ์พระพุทธรูปแห้งแล้ว จึงให้ช่างตั้งเตาจะหล่อพระชินราช แต่ ณ วันพฤหัสบดี เดือนหก ขึ้นแปดค่ำ ปีเถาะ ตรีศก เวลาเช้า พ.ศ.๑๕๐๐ ทองก็แล่นรอบคอบบริบูรณ์ทุกประการหาที่ติมิได้ พระองค์จึงให้ช่างช่วยกันขุดเกศาพระพุทธรูปนั้น ก็เป็นรูปอันงามบริบูรณ์แล้วทั้งสามพระองค์ ใ ห้เอาไปตั้งไว้ในสถานสามแห่งไว้เป็นที่เสี่ยงทาย ไว้ท่ามกลางเมืองพิษณุโลก

แล้วจึงให้ตั้งพระราชวังฝ่ายตะวันตกเสร็จแล้วจึงให้เอา "สุลเทวี" ลูกพระยาสัชนาไลย ให้ราชาภิเษกด้วย "เจ้าไกรสรราช" ณ เมืองละโว้ แล้วพระองค์กับท้าวพระยาทั้งหลายช่วยกันฉลองวัดวาอาราม และพระพุทธรูปเจ็ดวัน แล้วให้ตั้งบ้านส่วยสัดพระพุทธรูปทั้งสามองค์ ตั้งจ่านกร้อง และ จ่าการบูรณ์ ให้เป็นมหาเสนาซ้ายขวา เสร็จแล้วจึงยกกำลังกลับ เสด็จไปได้เดือนหนึ่งจึงถึงนครบุรีรมย์

อ้างอิงจาก - ประชุมพงศาวดาร หอสมุดแห่งชาติ

......จากประวัติความเป็นมาดังกล่าว อาจจะยังไม่ละเอียดเท่าใดนัก จึงขอเพิ่มเติมเรื่องราวให้อ่านง่ายและเข้าใจมากขึ้น เพื่อเป็นข้อมูลการศึกษาประวัติความเป็นมาให้ตรงกัน

โดยเฉพาะการค้นคว้าจาก wikipedia น่าจะเป็นหลักฐานให้พอเชื่อถือได้ (แต่ปี พ.ศ. อาจจะไม่ตรงกัน เพราะทางลูกศิษย์หลวงพ่อฯ จะเชื่อว่าสมัยพระเจ้าพรหมมหาราช ประมาณปี พ.ศ.๙๐๐ เป็นต้นไป ซึ่งมีข้อมูลทางประวัติศาสตร์หลายแห่งก็ยอมรับ แต่บางแห่งได้นับเพิ่มไปอีก ๕๐๐ ปี) ดังนี้

ประวัติการสร้าง


......พระพุทธชินราช ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด คงมีแต่พงศาวดารเหนือ ซึ่งเป็นเอกสารที่เล่าถึงตำนานเมืองเหนือเรื่องต่างๆ สมัยกรุงศรีอยุธยา ถูกเรียบเรียงขึ้นใหม่โดยพระวิเชียรปรีชา (น้อย) ในปี พ.ศ. 2350 ที่อ้างถึงกษัตริย์เชียงแสนพระนาม พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก เป็นผู้สร้าง พร้อมกับการสร้างเมืองพิษณุโลกและพระพุทธรูปอีก 2 องค์คือ พระพุทธชินสีห์ และ พระศรีศาสดา

พ.ศ. 2409 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชนิพนธ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติการสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา ในชื่อ "ตำนานพระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี และพระศรีศาสดา"ในหนังสือวชิรญาณวิเศษ

โดยใช้พงศาวดารเหนือในการอ้างอิงจึงทำให้มีเนื้อหาหลักคล้ายคลึงกัน แต่เพิ่มเติมการสร้างพระเหลือเข้าไป และมีการระบุศักราชในการสร้างพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ไว้ดังนี้ พระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดาหล่อในปี พ.ศ. 1498 และพระพุทธชินราชหล่อขึ้นในปี พ.ศ. 1500 (หย่อนอยู่ 7 วัน)

พ.ศ. 2423 ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ได้ทรงแต่งตำนานการสร้างพระพุทธชินราชขึ้นอีกสำนวนหนึ่ง ชื่อ "พงษาวดารเหนือ : เป็นลิลิตเรื่องนิทานพระร่วง แลนิทานพระเจ้าธรรมไตรปิฎก

นิทานพระชินศรี พระชินราช พระศาสดา"
ซึงมีเนื้อเรื่องเช่นเดียวกับพงศาวดารเหนือ และพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างพระบรมราชจักรีวงศ์กับพระพุทธชินราชเข้าไปด้วย


อ้างอิงจาก - https://th.wikipedia.org/wiki/พระพุทธชินราช


webmaster - 13/4/18 at 10:46

พงศาวดารการสร้าง
พระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี และ พระศรีศาสดา

พระราชนิพนธ์ : พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


........ศุภมัสดพุทธศักราชล่วงแล้ว ๒๔๐๐ พยัคฆสังวัจฉะระ จุลศักราช ๑๒๒๘ ปีขาล อัฐศก ดำเนินเรื่องพระชินราช พระชินศรี พระศรีศาสดา พุทธปฏิมากร ๓ พระองค์ซึ่งดำรงอยู่ในวัดมหาธาตุ เมืองพิษณุโลกนั้น ได้มีคำโบราณเล่าและเขียนจดหมายสืบมา ในราชพงศาวดารเมืองเหนือว่า

พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกเจ้าแผ่นดินเมืองเชียงแสนได้ทรงสร้างไว้มีความว่า เดิมเมืองเชียงแสนได้ทรงสร้างไว้แต่ก่อนจุลศักราช ๔๐๐ (พุทธศาสนการล่วงได้ ๑๕๘๑ ขึ้นไป) เป็นเมืองใหญ่มีเจ้านายครอบครองสืบมาหลายชั่วเจ้าแผ่นดิน และมีอำนาจปกครองแผ่ไปในเมืองลาวต่างๆ ข้างฝ่ายเหนือแลมีอำนาจมา เขตต์แดนสยามฝ่ายเหนือมีเจ้าแผ่นดินเมืองเชียงแสนพระองค์หนึ่งนามว่า "พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก"

เพราะท่านได้ทรงร่ำเรียนพระคำภีร์ในพระพุทธศาสนา คือ พระวินัย พระสูตร พระปรมัตถ์มาก และได้จัดการพระพุทธศาสนาได้รุ่งเรืองเจริญมากในเมืองเชียงแสนนั้น ท่านนั้นได้พระราชเทวีมีพระนามว่า "พระนางประทุมเทวี"

เป็นพระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามพระองค์หนึ่งในวงค์ "พระเจ้าบาธรรมราช" ครองเมืองศรีสัชนาลัย (คือเมืองสวรรคโลกในเวลานั้น) เป็นพระมหาเหษี ท่านนั้นมีพระราชบุตร ๒ พระองค์ ทรงพระนาม เจ้าชาติสาคร ๑ เจ้าไกรสรสิงหราช ๑

ครั้งพระกุมารทั้งสองพระองค์ทรงพระเจริญวัยแล้ว ท่านมีรับสั่งให้ "จ่านกร้อง" นายหนึ่ง "จ่าการบุญ" นายหนึ่ง เป็นขุนนางของท่านคุมพวกบ่าวไพร แลสิ่งของบรรทุกเกวียนเป็นอันมาก เป็นเสบียงไปนานให้พากันไปเที่ยวหาถิ่นที่ในปลายเขตต์แดนของท่าน ที่ใกล้ต่อชนกันเขตต์แดนแผ่นดินสยาม

ซึ่งเป็นเมืองเดิมของพระนางประทุมเทวีอรรคมเหษี เวลานั้นยังคงตั้งอยู่ในทางไมตรีสนิท ควรจะคิดสร้างเมืองไว้ใกล้เคียงแผ่นเดิมสยาม เพื่อจะได้เป็นที่อยู่พระราชบุตรสองพระองค์ ซึ่งมีเชื้อสายฝ่ายพระมารดาเป็นชาวสยาม ฤาโดยว่า

กาลนานไปเบื้องหน้าผู้ปกครองแผ่นดินฝ่ายสยาม จะเสียทางไมตรีจะล่วงเวลามาปรารถนาเขตต์แดนที่เป็นของขึ้นแก่เมืองเชียงแสนก็จะได้เป็นป้อมแลกำแพงมั่นคง กันข้าศึกศัตรูของเมืองเชียงแสนสืบไป

จ่านกร้องจ่าการบุญกับบ่าวไพร่กราบทวายบังคมลาออกจากเมืองเชียงแสน เที่ยวมาถึงปลายเขตต์แดนเมืองขึ้นเมืองเชียงแสนข้างทิศตะวันออกเฉียงใต้ เห็นเขตต์แดนซึ่งขึ้นแก่เมืองเชียงแสนโอบอ้อมลงมาข้างแม่น้ำตะวันออก น้ำไหลลงมาร่วมปากน้ำโพในแดนสยาม

เห็นกาลว่าจะต้องสร้างเมืองใหญ่ไว้ในลำน้ำตะวันออกนั้นกับชาวสยาม ซึ่งตั้งกรุงอยู่เมืองสุโขทัยและเมืองศรีสัชนาลัยสวรรคโลกใกล้เคียงข้างตะวันตก จึงเลือกที่ตำบลบ้านพราหมณ์ ซึ่งตั้งอยู่สองข้างฝั่งแม่น้ำเป็นทิศตะวันตกแต่เขาสมอแครลงมา

เห็นว่าที่บ้านพราหมณ์ควรจะสร้างเป็นเมืองขึ้นได้ จึงคิดจะสร้างเมืองจะให้มีกำแพงสองฟากน้ำ แลจะให้มีป้อมจดฝั่งแม่น้ำตรงกันสองฟากเมืองนั้น จ่ากร้อง จ่าการบุญได้คิดการกะแผนที่ แลมีหนังสือไปกราบทูลถวายแผนที่และชี้แจงถิ่นฐาน และเหตุผลให้สมเด็จพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกทราบความ

สมเด็จพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกทรงเห็นชอบด้วย จึงกะเกณฑ์ไพร่พลในเมืองเชียงแสนและเมืองขึ้นเป็นอันมากสมควร พอเป็นกำลังจะมาสร้างเป็นเมืองใหญ่แล้วเร็วๆ ได้แล้ว ให้คุมเสบียงอาหารและสิ่งของและเครื่องเรือนตามแผนที่

ซึ่งกะการณ์ไว้นั้นได้จัดการในเวลาเช้าวัน ๖ เดือน ๓ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีฉลู เบ็ญจศกจุลศักราช ๓๑๕ พระพุทธศักราชล่วงแล้ว ๑๔๙๖ เวลาวันนี้ เป็นเวลาชาตาเมืองนั้น

เมื่อการทำไปจ่ากร้อง จ่าการบุญและนายดาบและนายกอง ก็มีใบกรอกรายงานไปกราบทูลแก่พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกให้ทราบเนืองๆ จนการกำแพงและป้อมสองฟากน้ำจวนจะสำเร็จ

เมื่อล่วงปีหนึ่งกับเจ็ดเดือน แต่แรกเริ่มกาลนั้นมา จึงพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกยกพยุหโยธามาพร้อมกับอรรคมเหษี และพระราชบุตรทั้งสองพระองค์ เพื่อจะทอดพระเนตรเมืองสร้างใหม่

ครั้นเสด็จมาทอดพระเนตรเห็นก็ชอบพระทัย ให้สร้างที่ประทับใหญ่ลงเสด็จประทับอยู่ในที่นั้นนานวัน แล้วจึงมีรับสั่งให้ตั้งการพระราชพิธีกลบาทว์และมงคล แก่การเมืองสร้างใหม่

แล้วทรงปฤกษาชีพ่อพราหมณ์ว่าจะขนานนามพระนครว่าอะไรดี จึงชี้พ่อพราหมณ์ผู้รู้วิทยาการกราบทูลตามสังเกตว่า วันเสด็จพระราชดำเนินมาถึงนั้นเป็นยามพระพิษณุ

เพราะฉะนั้นขอพระราชทานนาม พระนครว่าพระพิษณุโลกเถิด จึงมีรับสั่งว่า เมืองถือวงศ์กำแพงเป็นเมืองเดียวกันแยกสองฟากน้ำ ดูเหมือนเป็นเมืองแฝด แม่น้ำเป็นคูคั้นเมืองกำแพงกั้นอยู่กลาง

อันหนึ่งเดิมจะสร้างก็ได้ทรง พระราชดำริว่าจะพระราชทานให้พระราชบุตรสองพระองค์เสด็จอยู่ ควรจะให้นามเป็นสองเมือง แล้วจึงพระราชทานนามซึ่งมีชีพ่อพราหมณ์กราบทูลนั้นเป็นนามเมือง ฝั่งตะวันออกว่าเมืองพิษณุโลก

แต่เมืองฝั่งตะวันตกนั้นพระราชทานนามตามชอบพระราชหฤทัย ต่อเข้าให้เป็นกลอนอักษร เพราะว่า เมืองโอฆบุรี เพราะว่าถิ่นที่แม่น้ำไหลไปในกลางระหว่างกำแพงสองฟากน้ำเป็นห้วงลึก เมื่อฤดูแล้งมีน้ำขังอยู่มากกว่าเหนือน้ำแลใต้น้ำ

เพราะพระศรีธรรมไตรปิฎกเสด็จประทับอยู่ที่นานวันยังไม่คิดเสด็จกลับคืนพระนครเชียงแสนนั้น ด้วยพระราชประสงค์จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทำนุบำรุงพระศาสนา และไว้พระเกียรติยศพระนามปรากฏไปภายหน้า ด้วยการสร้างเจดีย์สถานซึ่งเป็นถวารวัตถุ

ผู้อื่นจะล้างทำลายเสียไม่ได้ จึงทรงสร้างวัดพระมหาธาตุผ่านในฝั่งเมืองตะวันออก มีพระปรางค์มหาธาตตั้งกลาง มีพระวิหารทิศสี่ทิศ มีพระระเบียงสองชั้น แล้วให้จับการปั้นหุ่นพระพุทธรูปสามพระองค์ เพื่อจะตั้งเป็นพระประธานในพระวิหาร

ในครั้งนั้นพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก มีพระราชสาสน์ให้ทูลเชิญไปถวายสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม ณ เมืองศรีสัชนาลัยสวรรคโลก ซึ่งเป็นเมืองเดิมของพระราชเทวี ขอช่างพราหมณ์ช่วยปั้นหุ่นพระพุทธรูป เพราะเวลานั้นมีคนเล่าภาสรรเสริญช่างเมืองศรีสัชนาลัยสวรรคโลกมาก ว่าทำพระพุทธรูปได้งามๆดีๆ ก็เมืองสร้างใหม่นั้นอยู่ไม่ไกลนัแต่เมืองศรีสัชนาลัยสวรรคโลก

พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกจึงทรงพระวิตกว่า ถ้าจะทำพระพุทธรูปขึ้นมาโดยลำพังฝีมือลาวเชียงแสน กลัวเกลือกจะไม่งามดีสู้พระเจ้ากรุงสยามเมืองสวรรคโลก จึงโปรดให้ช่างพราหมณ์ฝีมือดี ๕ นาย มีชื่อจดหมายไว้ในหนังสือโบราณ

บาอินทร์ ๑ บาพรหม ๑ บาพิษณุ ๑ บาราชสังข์ ๑ บาราชสังข์ ๑ บาราชกุศล ๑ ช่างพราหมณ์ ๕ นายกับทูตถึงเมืองสร้างใหม่แล้ว พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกให้ช่างเมืองสวรรคโลกสมทบกับช่างชาวเชียงแสน และชาวเมืองหริภุญชัยช่วยกันหุ่นพระพุทธรูปสามองค์ ซึ่งซวดทรงสัณฐานคล้ายกันแต่ประมาณนั้นเป็นสามขนาด คือ

พระองค์หนึ่ง ตั้งพระนามเริ่มว่าพระพุทธชินราช หน้าตัก ๕ ศอกคือ ๕ นิ้ว มีเศษ
อีกพระองค์ ๑ เริ่มพระนามไว้ว่าพระพุทธชินศรี หน้าตัก ๕ ศอกคืบ ๔ นิ้ว
อีกพระองค์ ๑ เริ่มพระนามไว้ว่าพระศรีศาสดา หน้าตัก ๔ ศอกคืบ ๖ นิ้ว


มีสัญฐานอาการคล้ายกัน อย่างพระพุทธรูปเชียงแสน ไม่เอาอย่างพระพุทธรูปในเมืองศรีสัชนาลัยสวรรคโลกและเมืองสุโขทัย ที่ทำนิ้วสั้นยาวไม่เสมอกันอย่างมือคน ถึงพระลักษณะอื่นก็ปนๆ เป็นอย่างเชียงแสนบ้าง เป็นอย่างศรีสัชนาลัย สวรรคโลก สุโขทัยบ้าง

ช่างทั้งปวงและคนดูเป็นอักมากเห็นพร้อมกันว่า พระพุทธรูปสามพระองค์นี้งามดีหาที่จะเสมอมิได้ แล้วจึงให้เข้าดินอ่อนดินแก่ชะนวนตรึงทวยรัดปาอกให้แน่นหนาพร้อมมูล
บริบูรณ์ เสร็จแล้วให้รวบรวมจัดซื้อจัดหาทองคำสัมฤทธิ์อย่างดีได้มาเป็นอันมากหลายร้อยหาบแล้ว

ครั้นหุ่นเห็นพระพุทธรูปสามองค์เข้าดินสำเร็จแล้ว กำหนดมงคลฤกษ์จะได้เททอง ณ วัน ๕ เดือน ๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีเถาะสัปคศกจุลศักราช ๓๑๗ ปี สมเด็จพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก จึงดำรัสสั่งให้อาราธนาชุมนุมพระภิกษุสงฆ์ที่อยู่ในถิ่นที่มีโดยรอบคอบใกล้เคียงเมืองนั้น ทั้งฝ่ายคณะคามวารีอรัญวาสี มีพระอุบาลี และ พระศิริมานนท์ วัดเขาสมอแครงเป็นประธาน

และให้สวดพระปริตรพุทธมนต์มหามงคล ทำสัจกิริยา อาราธนาเทพยดา ให้ช่วยในการนั้น และให้ชีพ่อพราหมณ์ทำการมงคลพิธี ตามพราหมณ์ศาสตร์ด้วยช่วยในการพระราชประสงค์ก็แล้วจึงเททองหล่อพระพุทธรูปสามพระองค์ ด้วยเนื้อทองสัมฤทธิ์โบราณแท้ ครั้นเททองเต็มแล้วพิมพ์เย็นแกะพิมพ์ออก

รูปพระชินศรี พระศรีศาสดาสองพระองค์บริบูรณ์ดี มีน้ำทองแล่นตลอดเสมอกันการ เป็นสำเร็จ แต่รูปพระชินราชเจ้านั้นไม่ลงบริบูรณ์ ช่างได้ทำหุ่นรูปใหม่ และหล่ออีกถึงสามครั้งก็มิได้สำเร็จเป็นองค์พระ

สมเด็จพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกโทมมัสนัก แล้วทรงตั้งสัจกิริยาธิฐานอ้างบุญบารมีแล้วรับสั่งให้พระนางประทุมเทวีตั้งสัจกิริยาธิฐานด้วย

ครั้นนั้นประขาวคนหนึ่งเข้ามาช่วยปั้นหุ่นทำการแข็งแรง ประขาวคนนั้นเป็นใช้ใบ้ไม่พูด ใครถามชื่อตำบลบ้านก็ไม่บอกไม่มีใครรู้จัก ช่วยทำการทั้งกลางวันกลางคืน ไม่มีเวลา

ครั้นรูปหุ่นงามดีสำเร็จเข้าดินพิมพ์แห้งแล้ว กำหนดมงคลฤกษ์จะได้เททอง ณ วัน ๕ ค่ำ เดือน ๖ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีมะเส็งนพศก จุลศักราช ๓๑๙ พุทธศาสนากาลล่วงแล้ว ๑๕๐๐ หย่อนอยู่เจ็ดวัน จึงดำรัสสั่งให้อาราธนาชุมนุมพระภิกษุสงฆ์ และชีพ่อพราหมณ์ทำการมงคลพิธีเหมือนครั้งก่อน

แล้วเททองก็เต็มบริบูรณ์ ประขาวที่มาช่วยทำนั้นก็เดินออกจากที่นั้นไป แล้วออกจากประตูเมืองข้างทิศเหนือหายไปที่ตำบลหนึ่ง บ้านนั้นได้ชื่อว่า "บ้านตาประขาวหาย" จนทุกวันนี้

พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกเมื่อต่อยพิมพ์พระพุทธรูปออกเห็นบริบรูณ์งามดี จึงมีรับสั่งให้ข้าราชการไปตามสืบหาตัวประขาวนั้น จะมาพระราชทานรางวัลก็ไม่ได้ตัวเลย

พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก ให้ช่างแต่งตั้งพระพุทธรูปให้เกลี้ยงสนิทดี ที่ทวยเหล็กให้ถอนออกเสียเปลี่ยนเป็นทวยของใช้แทนที่ แล้วขัดสีชักเงาสนิทอย่างเครื่องสัมฤทธิ์ที่เกลี้ยงเกลาดี แล้วอัญเชิญเข้าประดิษฐานไว้ในสถานทั้งสาม

คือพระพุทธชินราชอยู่ในพระวิหารใหญ่ สถานทิศตะวันตกพระมหาธาตุผันพระพักตร์ต่อแม่น้ำ พระพุทธชินศรีอยู่ทิศเหนือ พระศรีศาสดาอยู่ทิศใต้ พระวิหารหลวงใหญ่ทิศตะวันออก เป็นที่ธรรมสวันสการ ที่ถวายนมัสการพระมหาธาตุและเป็นที่ชุมนุมพระสงฆ์

เมื่อหล่อพระพุทธชินศรีและพระศรีศาสดาเสร็จแล้ว ทองสัมฤทธิ์ซึ่งเป็นชนวนและชลาบสมเด็จพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกรับสั่งให้รวบรวมมาหลอมหล่อ ในองค์พระพุทธชินราชซึ่งหล่อครั้งหลังแต่ทองสัมฤทธิ์ ซึ่งเป็นชนวนและชลาบในองค์พระพุทธชินราชนั้น

สมเด็จพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกดำรัสสั่งให้ช่างปั้นหุ่นพระพุทธรูปหน้าตักศอกเศษแล้ว เอาทองที่เหลือจากพระพุทธชินราชหล่อ เรียกนามว่า "พระเหลือ" ชนานและชลาบของพระเหลือนั้น ก็หล่อเป็นรูปสาวกของพระเหลือทั้งสององค์

ครั้นเสร็จแล้วสถานที่หล่อพระพุทธรูปสามพระองค์อยู่ตรงหน้าวิหาร พระพุทธชินราชนั้นให้ก่อเป็นชุกกระชีด้วยอิฐเตาหลอมทอง และเตาสุมหุ่นทั้งปวงนั้น แล้วเอามูลดินอื่นมาผสม กับดินพิมพ์ที่ต่อยออกจากพระพุทธรูปสามองค์มาถมเป็นชุกกระชีสูงสามศอก

แล้วให้ปลูกต้นมหาโพธิ์สามต้น สำแดงเป็นพระมหาโพธสถานของพระพุทธชินราชพระพุทธชินศรีพระศาสดาสามพระองค์เรียกนามว่าโพธิ์สามเส้า แล้วจึงให้สร้างปฏิมาฆระสถานวิหารน้อยในระหว่างต้นมหาโพธิ์ หันหน้าต่อทิศอุดร

แล้วเชิญพระเหลือกับพระสาวกสององค์เข้าไปไว้ในที่นั้น แสดงเป็นที่สำคัญว่าเป็นที่หล่อพระพุทธรูปทั้งสองพระองค์เบื้องหน้า แต่นั้นสมเด็จพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก จึงดำรัสสั่งให้สร้างพระราชวังอยู่ฝั่งตะวันตก เหนือที่ตรงหน้าวัดพระมหาธาตุน้อยหนึ่ง

ครั้นการพระอารามและพระราชวังพระนครเสร็จแล้ว ให้มีการสมโภชเจ็ดวัน ภายหลังจึงทรงตั้งจ่านกร้องจ่าการบุญให้เป็นที่เสนาบดีมียศเสมอกัน เพื่อจะให้เป็นผู้รักษาเมืองพระพิษณุโลกโอฆบุรีทั้งสองฟาก แล้วทรงพระราชดำริคิดตั้งเมืองนั้นไว้เป็นพระนครที่ประทับ

สำหรับสำราญพระราชหฤทัยอยู่ใกล้แผ่นดินสยาม ซึ่งเป็นเมืองเดิมของพระราชเทวี และจะให้เป็นที่ประทับกำกับรักษาไม่ให้ชาวสยามที่เป็นใหญ่ในอนาคต จะล่วงลามเกินเลยเข้ามาในเขตต์แดนของพระองค์ที่ล่อแหลมกามลงมาอยู่นั้น จึงจัดการให้มั่งคงเป็นดังพระนคร

พระองค์เสด็จประทับสำราญพระราชหฤทัย อยู่ที่นั้นนานถึง ๗ ปีเศษ บ้านเมืองมีผู้คนอยู่แน่นหนาบริบูรณ์แล้ว จึงเสด็จกลับคืนยังพระนครเชียงแสนทรงพระราชดำริว่า เมืองพระพิษณุโลกจะให้พระราชโอรสเสด็จไปอยู่ดั่งพระราชชดำริไว้แต่เดิมก็เห็นว่าเป็นทางไกล

พระองค์ก็ทรงพระชนมายุเจริญถึงปัจฉิมวัยแล้ว จึงโปรดให้เจ้าชาตินครเสด็จไปครองเมืองเชียงรายเป็นที่ใกล้ ให้เจ้าไกรสรราช เสด็จไปครองเมืองละโว้ ซึ่งเป็นเมืองไกลในทิศใต้ใกล้ทะเลและไปขอรับเจ้าสุนทรเทวี เป็นพระราชธิดาพระเจ้ากรุงสยาม ณ กรุงศรีสัชนาลัยสวรรคโลก มาอภิเษกเป็นพระมเหษีของเจ้าไกรสรราช ณ เมืองละโว้

แล้วจึงรับสั่งราชอำมาตย์ไปรับเจ้าดวงเกรียงกฤษณราช มาแต่เมืองกำโพช มาอภิเษกกับพระราชธิดาของพระองค์แล้ว โปรดให้ไปครองเมืองใหม่นั้น พระราชทานนามว่า "เมืองเสนาราชนคร" แล้วจึงรับสั่งให้แต่งเจ้าชาติสาครไปครองเมืองเชียงรายอยู่ใกล้พระนครเชียงแสน

พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกบรมบพิตร พระชนม์ยืนได้ ๑๕๐ ปี แล้วจึงเสด็จสวรรคต อำมาตย์ทั้งปวงส่งข่าวสารไปทูลเจ้าชาตสาคร ณ เมืองเชียงรายเสด็จมาจากเมืองเชียงรายถวายพระเพลิงพระศพพระบิดาแล้ว ขึ้นเสวยราชสมบัติในเมืองเชียงแสนสืบพระวงศ์มาหลายชั่วพระเจ้าแผ่นดิน จึงสาบสูญสิ้นพระวงศ์ไป

ก็แลพระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี พระศรีศาสดาพระองค์นี้ เป็นพระพุทธปฏิมากรดีล้ำเลิศ ประกอบไปด้วยพระพุทธลักษณะประเสร็ฐ มีศรีอันเทพยเจ้าหากอภิบาลรักษา ย่อมเป็นที่สัการบูชานับถือมาแต่โบราณ

แม้พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาเก่า ที่ได้มีพระเดชานุภาพมโหฬารปรากฏมาในแผ่นดิน ก็ได้ทรงนับถือสักการะบูชามาหลายพระองค์

เมื่อจุลศักราช ๙๒๖ ปีวอก ฤศก สมเด็จพระราเมศวร เสด็จขึ้นไปตีเชียงใหม่ เสด็จกลับลงมาถึงเมืองพิษณุโลก นมัสการพระชินราช พระชินศรี เปลื้องเครื่องต้นทำสักการะบูชา แล้วให้มีการสมโภชเจ็ดวัน แล้วเสด็จกลับพระนคร

เมื่อจุลศักราช ๙๒๖ ปีชวด ฤศก สมเด็จพระนเรศวร เป็นเจ้าเมืองเสด็จอยู่ ณ เมือง พิษณุโลกกับสมเด็จพระบรมชนกนารถมหาธรรมราชาธิราชนั้น ได้เสด็จไปช่วยราชการสงครามเมืองหงสาวดีมีชัยชนะเสด็จกลับมายังเมืองพิษณุโลก เปลื้องเครื่องทรงออกบูชาพระชินราชพระชินศรีแล้วให้มีการสมโภชสามวัน

ภายหลังมาพระองค์ไปต้องกักขังอยู่เมืองหงสาวดีช้านาน เมื่อได้ช่องแก่การและกลับคืนมายังกรุงศรีอยุธยา เมื่อเสด็จกลับจากเมืองหงสาวดีครั้งหลังนั้นได้ทรงรับมหาเถรคันฉ่องเข้ามาแล้ว ได้เสด็จขึ้นไปนมัสการพระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี เมืองพิษณุโลก แล้วได้ทรงบูชาฉลองสามวันเหมือนดังนั้นอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อจุลศักราช ๙๕๓ ปีเถาะตรีศก สมเด็จพระเจ้าเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถ เสด็จขึ้นไปประพาสจังหวัดเมืองพิษณุโลกทุกตำบล มีพระราชโองการดำรัสสั่งให้เอาทองนพคุณเครื่องต้นซึ่งเป็นราชูปโภค มาแผ่เป็นทองปะทาศรี แล้วเสด็จไปทรงปิดในองค์พระพุทธชินราช พระพุทธชินศรีทั้งสองพระองค์ด้วยพระหัตถ์เสร็จบริบูรณ์แล้วให้มีการสมโภชเป็นมโหฬารสักการเจ็ดวัน

อันสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชและสมเด็จพระนเรศวรบรมนารถ และสมเด็จพระเอกาทศรฐอิศวรบรมนาถสามพระองค์นี้ เมื่อแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ามหาจักรพรรดิราชาธิราช แม้ได้เสด็จประทับอยู่ ณ เมืองพระพิษณุโลกทั้งสามพระองค์ ได้มอบพระองค์เป็นอุปฐากปฏิบัติพระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี และพระศรีศาสดา ได้ทรงทำสักการบูชาเนืองๆ มาเป็นอันมาก

หากอำนาจพระราชกุศลที่พระองค์ ได้ทรงบำเพ็ญด้วยความเลื่อมใส ในพระพุทธมหาปฏิมากรอันประเสริฐทั้งสามพระองค์นี้ มาภายหลังมาพระองค์ก็ได้เสวยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยามใหญ่ มีชัยชนะศัตรูหมู่ปัจจามิตรทั่วทุกทิศทุกทาง โดยลำดับราชการสืบๆ กันมาถึงสามแผ่นดิน ด้วยพระบารมีพระเจ้าแผ่นดินสามพระองค์นั้นเล่าฤาชาปรากฏมาก

พระเจ้าแผ่นดินสยามแทบทุกแผ่นดินในภายหลังมาก็พลอยนับถือพระพุทธมหาปฏิมากร คือ พระพุทธชินราชพระพุทธชินศรีสืบมาและจนเป็นอันมากก็ลงใจเห็นว่า พระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี ๒ พระองค์นี้งามนัก ไม่มีพระพุทธรูปใหญ่น้อยที่ไหนๆ ใหม่เก่างามดีไปกว่าได้ เห็นจะเป็นของที่เทพยดาเข้าสิงช่างฤานฤมิตร เป็นมนุษย์มาช่วยสร้างทำเป็นแน่

เพราะเห็นนี้มีผู้นับถือนมัสการ บูชาเล่าฦานับถือมานาน พระเจ้าแผ่นดินบางพระองค์ก็ได้เสด็จไปนมัสการบ้าง และส่งเครื่องนมัสการและเครื่องปฏิสังข์ทำนุบำรุงไปบูชา และค้ำชูให้เป็นปรกติเป็นอภิลักขติเจดียสถาน
มีความในพระสยามราชพงศาวดารว่า

เมื่อจุลศักราช ๑๐๒๒ ปีชวดโทศก สมเด็จพระนารายณ์ราชบพิตรพระเจ้าช้างเผือก เสด็จไปตีเมืองเชียงใหม่กลับมาถึงเมืองพิษณุโลก เสด็จไปนมัสการพระชินราชพระชินศรี ทำการสักการบูชาแล้วเล่นการมหรสพสมโภชสามวัน

ครั้นเมื่อถึงปีชวลจัตวาศก จุลศักราช ๑๐๒๔ เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปนมัสการอีกครั้งหนึ่งครั้นแผ่นดินสมเด็จพระศรีสุริเยนทราธิบดี เสด็จไปทรงสร้างพระอาราม ณ ตำบลโพธิประทับช้างเป็นที่ประสูติแขวงเมืองพิจิตร

แล้วเสด็จไปทรงนมัสการพระพุทธชินราชพระพุทธชินศรีด้วย เมื่อปีมะแม เอกศก ศักราช ๑๑๐๑ เป็นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระบรมธรามมิกราชาธิราชบรมโกศ ได้ทรงพระราชศรัทธาอุตสาหะให้สร้างบานประตูประดับมุกคู่หนึ่ง ทรงพระราชอุทิศถวายพระพุทธชินราชให้ประกอบไว้ที่ประตูใหญ่หน้าพระวิหารพระพุทธชินราช

ครั้นเมื่อวัน ๒ เดือน ๙ แรม ๔ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๓๒ ปีขาลโทศก เจ้ากรุงธนบุรี เสด็จพยุหโยธาทัพ ณ ขึ้นไปปราบปรามเจ้าพระฝาง ซึ่งตั้งตัวเป็นเจ้าอยู่เมืองสวางคบุรี

เมื่อถึงเมืองพระพิษณุโลกแล้วเสด็จประทับแรมท่ากองทัพเจ้าพระยายมราชอยู่เก้าวัน ครั้นนั้นเจ้ากรุงธนบุรีได้เสด็จไปทรงนมัสการพระพุทธชินราชพระพุทธชินศรี พระศรีศาสดาทั้งสามพระองค์ ได้เปลื้องพระภูษาทรงบูชาพระพุทธชินราช

จะว่าถึงการที่เป็นไปในพระบรมราชวงศ์ ซึ่งสถาปนารัตนโกสินทร์มหินทราอยุธยา ณ ตำบลบางกองตรงกรุงธนบุรีข้ามมาฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา พระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ในรัชกาลเป็นประถม

แต่เมื่อครั้งกรุงธนบุรีได้เป็นจอมพยุหโยธาแม่ทัพใหญ่ไปทำศึกกับพม่า ที่ยกมาทางเมืองเหนือเป็นการเข้มข้นหลายครั้ง เสด็จถึงเมืองพระพิษณุโลกคราวใด ก็คงจะได้เสด็จนมัสการพระพุทธชินราชพระพุทธชินศรีพระศรีศาสดาทุกครั้ง แต่พระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังในแผ่นดินนั้น

เมื่อแผ่นดินกรุงธนบุรีได้เป็นที่เจ้าพระยาสุรศรีพิษณวาธิราช ผู้สำเร็จราชการเมืองพระพิษณุโลกหลายปีได้ทรงนมัสการปฏิบัติพระพุทธิชินราชพระพุทธชินศรี พระศรีศาสดาทั้งสามพระองค์ โดยความที่ทรงเคารพและเลื่อมใสนับถือเป็นอันมากอยู่หลายปี จะว่าการให้ลึกซึ้งขึ้นไปอีกโดยความสัตย์ความจริงก็ว่าได้

ท่านพระองค์ใดซึ่งเป็นสมเด็จพระบรมชนกนารถ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ในรัชกาลเป็นประถมนั้น และเป็นมหาอรรคบรรพบุรุษของพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมราชวงศานุวงศ์ ณ กรุงรัตนโกสินทรมหินทรายุธุยานท่านพระองค์นั้น

เมื่อแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา ได้เป็นที่พระอักษรสุนทรศาสน์อยู่ในกรมมหาดไทย ได้เป็นผู้สถาปนาวัดสุวรรณดาราราม ณ กรุงศรีอยุธยาไว้ด้วย ครั้นเมื่อปัจฉิมรัชกาลในแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา ต้องรับราชการขึ้นไปเมืองพิษณุโลก

ครั้นสืบทราบว่า กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยาพม่าข้าศึกเข้าล้อมไว้แน่นหนา ท่านก็ยังรั้งรอข้าอยู่ ณ เมืองพระพิษณุโลก ครั้นเมื่อได้ข่าวว่า กรุงเทพทวาราวดีกรุงศรีอยุธยา เสียแก่พม่าข้าศึกแตกยับเยินแล้วพระพิษณุโลกก็ตั้งตัวเป็นเจ้าแผ่นดินใหญ่ ไม่ยอมขึ้นแก่ผู้ใด ตั้งขุนนางอย่างกรุงเทพมหานครนี้ทุกตำแหน่ง จึงตั้งพระอักษรสุนทรศาสน์ ให้เป็นเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษอรรคมหาเสนาบดี

เพราะเห็นว่า เข้าใจดีในขนบธรรมเนียมในกรุงเทพมหานคร และขบวนราชการในกรมมหาดไทยทุกประการแล้ว พระยาพิษณุโลกบังคับบัญชาบรรดาขุนนาง ที่ตัวตั้งให้เรียกคำบัญชาสั่งของตัว ว่าพระราชโองการทุกตำแหน่งไป ไม่ได้ทำพิธีราชาภิเษกให้พราหมณ์ครอบก่อน

ตั้งแต่สั่งดังนั้นแล้วก็ป่วยลงอยู่ได้ ๗ วัน ก็ถึงอนิจกรรม พระอักษรสุนทรศาสน์เจ้าพระยาจักรีมิได้มีความมักใหญ่ใฝ่สูง ตั้งตัวเป็นใหญ่ต่อไปแอบอาศัยอยู่ ณ เมืองพิษณุโลก ซึ่งครั้งนั้นตกอยู่ในอำนาจพระพากุลเถระ เมืองฝาง ชื่อตัวชื่อ "เรือน"

ซึ่งตั้งตัวเป็นใหญ่ในเมืองฝ่ายเหนือแผ่อำนาจลงมาข้างใต้ จนถึงเมืองพิจิตรข้างตะวันตก ไปถึงเมืองสวรรคโลกและเมืองสุโขทัย พระอักษรสุนทรศาสน์ อาศัยอยู่เมืองพิษณุโลกไม่ช้าป่วยลงก็สิ้นชนม์ชีพ จึงท่านพาภรรยาน้อยกับบุตรชายเล็กเกิดแต่ท่านมาชื่อลา

ซึ่งตามขึ้นไปด้วยแต่แรกได้ทำสรีระฌาปณกิจถวายเพลิงเสร็จแล้ว เก็บพระอัฏฐิรวบรวมรักษาไว้ด้วยดี กับมหาสังข์อุตราวัฎเป็นของดั้งเดิมของท่านพระอักษรสุนทรศาสน์ จึงคุมไปถวายพระโอรสององค์ใหญ่ของท่านพระอักษรสุนทรศาสน์ ซึ่งเป็นสมเด็จพระเจ้ายามหากษัตริย์ศึกพิลึกมหิมาในแผ่นดินเจ้ากรุงธนบุรีแล้ว

เมื่อพระโอรสององค์ที่สองของท่านพระอักษรสุนทรศาสน์ได้ขึ้นไปเป็นเจ้าพระสุรศรีพิษณวาธิราช ผู้สำเร็จราชการเมืองพระพิษณุโลกในแผ่นดินกรุงธนบุรีนั้นบุตรชายน้อยของท่านพระอักษรสุนทรศาสนเกิดแต่ท่านมา ก็ตามขึ้นไปด้วยเป็นนายโขนของเจ้าพระยาศรีพิษณวาธิราช

ครั้นเมื่อล่วงแผ่นดินกรุงธนบุรีแล้ว สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกพิลึกมหิมาและเจ้าพระยาศุรศรีพิษณวาธิราชได้เถลิงถวัลยราชสมบัติ ในพระบรมมหาราชวัง และพระบวรราชวังแล้ว เจ้าลาพระอนุชาธิบดีซึ่งเป็นนายโขนนั้น

พระเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงตั้งให้เป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงจักรเจษฎา พระบรมอัฎฐิของท่านพระอักษรสุนทรศาสน์ ซึ่งเป็นสมเด็จพระชนกนารถ และพระมหาสังขอุตราวัฏของเดิมซึ่งว่านั้น ก็ยังประดิษฐานอยู่ในพระบรมมหาราชวัง กรุงรัตนโกสินทรมหินทรายุธยาบรมมหาราชวัง กรุงรัตนโกสินมหินทรายุธยาบรมราชธานี เป็นสิ่งของสำคัญเครื่องระลึกถึงพระบรมราชบรรพบุรุษสืบมาจนกาลทุกวันนี้

บรรยายเรื่องทั้งปวงนี้ คือจะสำแดงท่านทั้งหลายซึ่งเป็นต้นเป็นเค้า ของพระบรมราชวงศ์ผู้ตั้งขึ้นแลดำรง ณ กรุงรัตนโกสินทรมหิทรายุธยานี้ แต่เดิมได้เคยสร้างเสพย์นมัสการ นับถือพระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี พระศรีศาสดาสามพระองค์มาแต่ก่อน

พระพุทธรูปสามพระองค์นี้ก็เป็นมหัศจรรย์คิดแต่แรกสร้างมา จนถึงปีที่ตั้งต้นพระบรมราชวงศ์กรุงรัตนโกสินทรมหินทราอยุธยาบัดนี้ นานได้ถึง ๘๒๕ ปี ซึ่งเป็นระหว่างพระพุทธศาสนกาลแต่ ๑๕๐๐ จนถึง ๒๓๒๑ (ฤาแต่จุลศักราช ๓๑๙ จน ๑๑๔๔)

เมืองพระพิษณุโลกก็เปลี่ยนเจ้าผลัดนายร้ายๆ ดีๆ ลางทีเป็นเมืองหลวง ลางทีเป็นเมืองขึ้นมาหลายครั้งหลายหน ข้าศึกมาแต่อื่นเข้าผจญเอาได้ เอาไฟจุดเผาถิ่นที่ต่างๆ ในเมืองนั้นเสียเกือบหมด แต่พระพุทธรูปสามพระองค์นี้ ก็มิได้เป็นอันตรายควรเป็นอัศจรรย์

คนเป็นอันมากสำคัญมีเทวดารักษาและบางจำพวกสำคัญเห็นเป็นแน่ว่า พระพุทธชินราช พระพุทธชินศรีสองพระองค์นั้น งามแหลมแก่ตามากกว่าพระพุทธรูปใหญ่น้อยบรรดามี ในแผ่นดินสยามทั้งปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือ และตลอดกาลนานมาถึง ๙๐๐ ปี มีผู้เลียนปั้นเอาอย่างไปก็มากมายหลายตำบล

จะมีพระพุทธรูปที่คนเป็นอันมาก ดูเห็นว่าเป็นดีเป็นงามกว่า พระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี สองพระองค์นี้ไป ก็ไม่มี จึงคาดเห็นว่าเมื่อทำชรอยช่างที่เป็นผีสางเทวดาที่นับถือพระพุทธศาสนาและมีอายุยืนมากได้เคยเห็นพระพุทธเจ้าจะเข้าไปสิงในตัว ฦาดลใจช่างผู้ทำ ให้ทำไปตามน้ำใจของมนุษย์ดังหนึ่งปะขาวที่ว่าก่อนนั้น

ถ้าจะเป็นของมนุษย์ทำก็จะคล้ายละม้ายกันกับพระพุทธรูปอื่น โดยฝีมือช่างในเวลานั้น ดังรูปพรรณพระเหลือ ซึ่งประดิษฐานอยู่ในปฏิมาฆระสถานวิหารน้อยที่โพธิ์สามเส้า ที่หล่อพระพุทธรูปสามพระองค์นั้น ก็เป็นฝืมือช่างในครั้งคราวเดียวกัน

แต่รูปพรรณก็ละม้ายคล้ายกับพระพุทธรูปสามัญ ที่เป็นฝีมือช่างเมืองพิษณุโลกไม่แปลกไปเพราะฉะนั้นจึงมีที่มีสติปัญญา ซึ่งได้เห็นได้พิจารณาศิริวิลาส พระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี ยินดีนิยมนับถือด้วยกันเป็นอันมากไม่วางวาย

และคนที่เป็นปะขาวมานั้น ก็เห็นปรากฏชัดว่ามิใช่มนุษย์ เพราะฉะนั้นจึงเห็นว่าพระพุทธรูปทั้งสามพระองค์นี้มีเทวดาทำ ชนทั้งปวงจึงได้นับถือบูชาเป็นอันมากมาจนทุกวันนี้แล ฯ


อ้างอิงจาก - https://th.wikisource.org/wiki/พงศาวดาร_พระพุทธชินราช_พระพุทธชินศรีและพระศรีศาสดา


webmaster - 13/4/18 at 11:03

พระพุทธชินราช ประดิษฐาน ณ วิหารแก้วร้อยเมตร

วัดท่าซุง อ.เมือง จ.อุทัยธานี



พระเจ้าศรีทรงธรรม


.......สำหรับ "พระเจ้าศรีทรงธรรม" นั้น พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ เล่าไว้ที่ "ดอยอินทนนท์" เมื่อวันที่ ๓๐ ธ.ค. ๒๕๑๖ มีใจความว่า

“...สมัยพระพุทธเจ้ากัสสปทรงอุบัติขึ้นในโลก พวกเราตั้งดินแดนอยู่ที่นี่ ความจริงแดนของฉันจริงๆ เดิมตั้งอยู่ที่ลำพูนนี่เป็นเมืองเล็กๆ เขตกินไปถึงเมืองลพบุรี

ตอนนั้นยังเป็นชายทะเลอยู่ แล้วไปถึงนครปฐม พ่อเมืองใหญ่ชื่อ ศรีธรรมวราบดี คือ พระอินทร์องค์ปัจจุบัน พระบรมราชินีชื่อว่า ศิริจันทราราชเทวี คือ พระชายาองค์ปัจจุบันของพระอินทร์

แล้วลูกเมืองก็ชื่อ ศรีทรงธรรม กับ พรรณวดีศรีโสภาค อาณาจักรข้างเหนือไปยันเชียงตุง ยันนะ ไม่ใช่กินเชียงตุงด้วย แล้วเลยไปถึงด้านลาวโน่น

ทางใต้ถึงมะริด ทวาย ไม่ใช่เล็กเหมือนกัน อีกเมืองหนึ่ง “ราชาช้าง” กินตั้งแต่เชียงตุงถึงอิมพัน ในอินเดียโน่น เวลานั้นชื่อ พระเจ้าธรรมเสนา พระบรมราชินีชื่อว่า พระนางอินทรมหาปชาบดี

แล้วมีอีกเมืองหนึ่งชื่อว่า ปทุมวดี พระยาชื่อ แสนหวี (จำสร้อยไม่ได้) ถามว่าทำไมจึงชี่อ “แสนหวี” ตอบว่ามีหวีมาก เรื่องหวีนี่เลือกจริงๆ ยายคนนี้มีหวีเป็นกรุเลย จะไปงานโน้นต้องหวีชนิดนี้ ไปงานนี้ต้องหวีชนิดนั้น อันนี้เขากินเขตในแดนต่อไปถึงญวนทั้งหมด



......สามเมืองนี่ เป็นพันธมิตรกัน มีอะไรก็ช่วยกัน ส่วนมากก็ทำการค้าขายกับกสิกรรม ๒ อย่าง เป็นเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก มีความเป็นอยู่เป็นสุข โดยมากอยู่กันโดยธรรม ไม่รุกรานใคร แต่ทว่ามีพวกแขกอาบังนี่นะ อยู่ต่อจากอิมพันออกไป

พวกนี้นิสัยไม่ดีเกกมะเหรก ถือว่ามีพวกมากกว่าก็จะมารุกราน เรียกว่า “ชาวปาฐะ” เมื่อมันโกงเราก็รวมกันสู้ ตีกันไปมันสู้ไม่ได้เราก็ยึดเรื่อยไป พอดีแดนนี้หมดเลยได้ “เครื่องจักรพรรดิ” คราวนี้เลยไม่ต้องตี เหาะได้แล้ว ที่นี้ใครๆ ก็มาขอขึ้น

ท่านบอกว่าการเกิดชาตินี้ เป็นการชำระกรรมครั้งสุดท้ายของพวกนี้ทั้งหมด คือพวกถวายเครื่องประดับกับพระพุทธเจ้านี่แหละ จากชาตินี้ก็ยกล้อกันแล้ว

คือตายไปแล้ว ไปเป็นเทวดาบ้าง เป็นพรหมบ้าง บางคนก็จะไปนิพพานในชาตินี้บ้าง พวกที่ไปเป็นเทวดาหรือพรหมนะ เกิดอีกชาติเดียวก็นิพพานไม่มีเหลือ เพราะอำนาจการถวายเครื่องประดับเป็นพุทธบูชา...”


......เป็นอันว่า พวกเราก็ได้รู้ปูมหลังของทั้งสองพระองค์นี้แล้ว โดยเฉพาะอย่าง พระเจ้าศรีทรงธรรม ภายหลังก็ได้เป็น พระเจ้าจักรพรรดิราช ครอบครองมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต เพราะเหตุนี้

ท่านจึงได้สร้างพระพุทธชินราชไว้ ๒ องค์ ยังดินแดนที่เคยอุบัติทั้งสองสมัย เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งการเกิดของท่าน ส่วน "พระราชาช้าง" หลวงพ่อบอกว่าเป็น ท่านเจ้ากรมเสริม และเจ้าเมืองแสนหวี ถ้าจำไม่ผิดท่านบอกว่า คือท่าน พล.ร.อ.จิตต์ สังขดุลย์ ด้วยประการฉะนี้...

"ดอยอินทนนท์" อ้างอิงจาก - หนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ คุณเฉิดศรี สุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา


webmaster - 13/4/18 at 11:04

.


webmaster - 18/1/21 at 06:28

.