"เมื่อข้าพเจ้าตาย" [ประวัติหลวงพ่อปาน] บทความในเว็บ mblog.manager
webmaster - 27/8/08 at 09:52

-๑- เมื่อข้าพเจ้าตาย [ประวัติหลวงพ่อปาน]


by singhapanorn

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา คือวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๑ ได้รื้อห้องเก็บของได้หนังสือของพ่อมาประมาณ 20 กว่าเล่มที่เป็นหนังสือเก่า ที่เรียกได้ว่าในปัจจุบันคงจะหาได้ยาก จึงได้หยิบมาอ่าน ๑ เล่ม เมื่ออ่านจบแล้วข้าพเจ้าคิดว่าน่าจะนำมาพิมพ์เผยแพร่ให้ชาว Internet อ่าน หนังสือเล่มนี้เป็น "ประวัติของหลวงพ่อปาน" ที่เล่าเรื่องโดย "หลวงพ่อฤาษีลิงดำ"

ซึ่งข้าพเจ้าจะนำมาเล่าเรื่องต่อจากพระเดชพระคุณท่านหลวงพ่อฤาษีลิงดำที่มีกุศโลบายในการเผยแพร่ศาสนา ด้วยการเล่าเรื่องแบบง่ายๆ แต่ให้ความสนุกสนาน และมีคติธรรมแทรกเข้ามาโดยไม่เบื่อ ซึ่งตัวข้าพเจ้าเองนั้นไม่มีความชอบในการอ่านหนังสือประเภทนี้เท่าไรนั้น แต่เมื่อได้อ่านแล้วทำให้เกิดความรู้สึกและทัศนคติเปลี่ยนไปกับหนังสือประเภทนี้

การเล่าเรื่องนี้ได้คัดลอกมาจากหนังสือ ประวัติหลวงพ่อปาน วัดบางโคนม ซึ่งเล่าเรื่องโดย หลวงพ่อฤาษีลิงดำ ศิษย์หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา พิมพ์เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๔ (ประมาณ ๒๗ ปี) โดยเจตนาในการเล่าเรื่องเพื่อ (คัดลอกจากคำอนุโมทนาของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ.....ผู้เล่า)

๑. เพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบตามความจริงว่า คนที่ตายไปแล้วไม่สูญ ยังมีการสือต่อรับภาระการเสวยสุข เสวยทุกข์ ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้จริง โดยเอาอาการตายของผู้เล่าเป็นเครื่องยืนยัน

๒. พิสูจน์การตายแล้วไม่สูญ มีการพิสูจน์ได้ตามหลักสูตรของพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ ถ้าเราเอาจริงกันก็ไม่มีอะไรเป็นของยาก ขอให้พิสูจน์ด้วยการปฏิบัติจริง ทำพอดี และทำให้ถูก รู้จักควบคุมกำลังใจให้พอเหมาะพอดี จะพิสูจน์ได้แบบสบาย

๓. เพื่อรับรองเรื่องฌานสมาบัติและมรรคผลว่า ขณะนี้ยังมีอยู่ ไม่ได้สลายไปตามหนังสือบอกวัตร ที่ท่านผู้ทรงคุณประเภทไม่เอาไหนแต่งไว้ ทไห้ความเข้าใจของท่านผู้ประสงค์ดีคลาดเครื่อน จะได้ปฏิบัติถึงที่สุดของความดีที่มีอยู่ และสร้างเสริมใหม่ และผู้พิมพ์ ขอพิมพ์เรื่องประวัติหลวงพ่อปาน ต่อดังนี้

ตอนที่ ๑ เมื่อข้าพเจ้าตาย


วันนี้วันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 เห็นร่างกายพอมีแรงบ้าง หลังจากที่มันทำท่าจะพังมาประมาณ 4 เดือนเศษ เมื่อมันกลับฟื้นคืนสภาพมาเกือบจะปกติ เวลาพอมีว่าง เพราะตัดสินใจว่า นับแต่นี้ไปจะทำตนเป็นคนที่ไม่มีพันธะผูกพัน หมดหนี้จากงานก่อสร้าง หมดหนี้จากกิเลสตัณหา คือตัดความทะเยอทะยานใด ๆ ทั้งสิ้น ตั้งท่ารอความตายที่แท้จริงจะมาถึง วางภาระเสียให้หมด เวลาตายจะได้ตายอย่างคนไม่มีห่วง

งานที่จะทำต่อไปและทำจนสิ้นลมปราณก็คือ รักษาสมณธรรมของพระพุทธเจ้าไว้ด้วยชีวิต แนะนำศิษย์ด้วยธรรมชั้นสูง งานนี้แม้ไม่มีใครจ้างก็ทำ จะทำตนเป็นคนมีงานอย่างเดียว งานประเภทอื่นถ้าจะพึงมี เช่น งานก่อสร้าง ก็จะทำประเภทถึงช่าง ไม่ถึงก็ช่าง ใครให้ทุนก็ทำหรือชอบใจก็ทำ ไม่ชอบใจไม่ทำ เพราะงานอดิเรกอย่างนี้ ทำมาแล้วหลายสิบล้านบาท เป็นผลสำหรับกามาวจรสวรรค์ งานประเภทนี้มากเพียงพอหรือเกินพอแล้ว

งานด้านที่สูงกว่านั้นนิดหนึ่ง คือ งานด้านสังคมสงเคราะห์ ส่วนวัสดุก็ให้มาแล้ว มีจำนวนเงินนับล้าน งานด้านศีลธรรมก็ทำเอง และสงเคราะห์มาเกินความจำเป็น งานด้านรักษาอารมณ์ ก็ทำมาแล้วเกิน 30 ปี เห็นว่างานทุกประเภทที่พระสงฆ์ชั้นสวะอย่างผู้เขียนจะพึงทำ ทำมาพอแล้ว ดูเหมือนจะเกินไปเสียด้วย เมื่อรู้ตัวว่าพอก็จะเลิกสนใจ

งานประเภทใดที่ล่วงสมณธรรมจะตัดให้หมด คนเลวจะเลิกสังคม เมื่อจะตาย จะมัวอาลัยกับคนและสัตว์ ตลอดจนสิ่งไม่มีชีวิต ความหลงว่าอะไร ๆ เป็นของเรา เป็นความฉลาดของคนที่คิดว่าตนจะไม่ตาย สำหรับคนที่รู้ตัวว่าตนเองจะตาย จะมีอะไรเหลือไว้อีก สำหรับทรัพย์สิน ตัดใจแล้ว ตายเมื่อไรก็สบายใจ หมดทุกข์ หมดกังวล



-๒- เขียนเรื่องตัวเอง [ประวัติหลวงพ่อปาน]

by singhapanorn

พระครูวิหารกิจจานุการ (หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัดบางนมโคนี้ สร้างขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไรไม่ปรากฏ บางท่านก็ว่ามีในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เดินชื่อวัดนมโค ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ ในคราวที่ควันแห่งศึกสงครามกำลังรุมล้อมกรุงศรีอยุธยา พม่าข้าศึกได้มาตั้งค่ายหนึ่งขึ้นที่ตำบลสีกุก ห่างจากวัดบางนมโค ซึ่งย่านวัดบางนมโคนี้มีการเลี้ยงวัวมากกว่าที่อื่นพม่า ก็ได้ถือโอกาสมากวาดต้อนเอา วัว ควาย จากย่านบางนมโคไปเป็นเสบียงเลี้ยงกองทัพ

ในที่สุดกรุงศรีอยุธยาก็เสียแก่พม่า บ้านเมืองระส่ำระสาย วัดบางนมโคจึงทรุดโทรมไปบ้างตามกาลเวลา ต่อมาก็ได้มีการซ่อมแซมขึ้นใหม่ ก็ยังมีการเลี้ยงโคกันอยู่อีกมากมาย ชาวบ้านจึงเรียกติดปากว่า วัดบางนมโค
อาณาเขตของวัดบางนมโค วัดบางนมโคมีเนื้อที่ทั้งหมด ๒๔ ไร่ ๒๑ วา ๓ งาน ทิศตะวันออกจดที่ดิน เลขที่ ๑๖๓ ทางสาธารณะประโยชน์ทิศตะวันตกจดที่มีการครอบครองแม่น้ำปลายนา ทิศเหนือจดที่ดินเลขที่ ๑๓๔ มีการครอบครองแม่น้ำเก่าปลายนา ทิศใต้จดที่ดินเลขที่ ๑๒๖, ๑๖๓, ๑๖๕ ทางสาธารณะประโยชน์

ลำดับเจ้าอาวาสวัดบางนมโค เจ้าอาวาสวัดบางนมโค จะมีกี่รูปไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด เริ่มจะมีการบันทึกเป็นหลักฐานก็ตั้งแต่

๑. เจ้าอธิการคล้าย
๒. พระอธิการเย็น สุนทรวงษ์ มรณภาพ ปี พ.ศ. ๒๔๗๘
๓. ท่านพระครูวิหารกิจจานุการ (ปาน) โสนันโท รับตำแหน่งเจ้าอาวาส ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ มีโอกาสได้เป็นเจ้าอาวาสได้เพียง ๒ ปี ก็มรณภาพลงเมื่อวันที่ ๒๖ ก.ค. ๒๔๘๐
๔. พระอธิการเล็ก เกสโร
๕. พระอธิการเจิม เกสโร
๖. พระมหาวีระ ถาวโร (ฤาษีลิงดำ)
๗. พระอาจารย์อำไพ อุปเสโน
๘. พระครูวิหารกิจจานุยุต (อุไร กิตติสาร) ได้รับการอาราธนามาเป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ จนถึงปัจจุบัน



ข้อความจากเว็บ pranippan

ที่มาของชื่อ "ฤาษีลิงดำ"


ด้วยเหตุที่ท่านคุยสนุก มีเรื่องเล่ามากมาย ดังนั้น คุณอ๋อย จึงนิมนต์หลวงพ่อมาที่บ้านบ้าง เพราะว่าแต่เดิมท่านมักจะไปพักที่บ้าน คุณนนทา อนันตวงษ์ หรือ คุณสนั่น คุณวาสนา หุตะสิงห์ ทีแรกก็พักบ้านคุณอ๋อยสักคืน-สองคืน คนที่ติดใจมาฟังหลวงพ่อก็มากขึ้นทุกที และเนื่องจากสถานที่กว้างขวางกว่า และการจราจรง่ายกว่าแห่งอื่น ท่านจึงใช้บ้านคุณอ๋อยเป็นแหล่งกลางต่อมา

เมื่อคุ้นกันมากเข้า และเห็นว่าคุณอ๋อยและพวกมีศรัทธาดีแล้ว หลังจากซักถามข้อธรรมกัน และระหว่างพักผ่อน หลวงพ่อก็เล่าเกร็ดต่างๆเกี่ยวกับหลวงพ่อปาน และหลวงพ่อให้ฟังเสมอๆ ยิ่งเล่าก็ยิ่งมาก พวกศิษย์กลัวเรื่องสูญ เลยขอร้องให้หลวงพ่อช่วยบันทึกไว้ เพราะว่าถ้าเขียนเองทีหลัง

ประการแรก ไม่แน่ว่าจะจำได้ละเอียดและไม่คลาดเคลื่อน

ประการที่สอง สำนวนที่กันเอง คงไม่สนุกเหมือนสำนวนของท่าน

ประการที่สาม ถ้าเขียนกันเอง อาจจะมีผู้นำไปกล่าวว่าต่อเติมหรือแต่งเอาเอง น้ำหนักจะมีน้อย หลวงพ่อก็ยอมทำตาม เมื่อเสร็จแล้วก็เลยโรเนียวแจกกันอ่านในระหว่างบรรดาศิษย์

ต่อมา คุณอรอนงค์ คุณะเกษม เธอทำงานศพบิดา คือ คุณหลวงอรรถไกวัลวที เธอก็ขออนุญาตหลวงพ่อนำไปพิมพ์แจกงานศพ หลวงพ่ออนุญาตให้พิมพ์ได้ แต่คุณเสริมเห็นว่า เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับฤทธิ์เดชต่างๆ และคนสมัยนี้มักจะมองในแง่ร้ายว่า อวดอุตริมนุสธรรมกันเสมอ ถ้าพิมพ์ออกไปอย่างนั้น คนก็จะหาว่า เขียนโกหก เพื่อให้คนเลื่อมใส เพื่อลาภผลจะได้ไหลมาเทมา

จึงเรียนหลวงพ่อว่า ขอตัดชื่อวัด ชื่อคนที่อาจเกี่ยวข้องมาถึงหลวงพ่อออกเสียให้หมด เพื่อป้องกันข้อครหาว่าเขียนหนังสือเพื่อหาลาภผล แล้วขอให้ท่านตั้งนามปากกาสักชื่อหนึ่ง ท่านก็บอกว่า เอาชื่อ “ฤาษีลิงดำ” ก็แล้วกัน เพราะหลวงพ่อปานท่านมักชอบเรียกฉันว่า “เจ้าลิงดำ” ส่วนชื่อหนังสือนั้นก็คิดกันว่า ตั้งชื่อลำบากเพราะมีหลายเรื่อง ตกลงว่าเอาชื่อ “ประวัติหลวงพ่อปาน” ก็แล้วกัน เรื่องมันปนกันไปหมดจนไม่รู้จะเรียกยังไง

หนังสือเล่มนี้แจกในงานศพแล้วก็เริ่มแพร่หลาย มีคนมาขอไปจนหมด ผลสุดท้ายต้องให้ผู้ต้องการช่วยค่าพิมพ์ด้วย และจัดพิมพ์ใหม่อีกหลายครั้ง ผู้ที่มาอ่านในภายหลัง ไม่รู้ประวัติมาก่อนมักจะบ่นว่า ประวัติหลวงพ่อปานทำไมมีแต่เรื่องหลวงพ่อฤาษีลิงดำ บางคนไม่รู้ประวัติเรื่องนามปากกา ก็เอาไปค่อนแคะว่าพระอะไร ตั้งตนเป็นฤาษี มีชื่อเหมือนสัตว์ อย่างนี้ก็มี แต่ในภายหลังจะทำอย่างไรๆ คนก็มักไม่ชอบเรียกชื่อจริง ทั้งที่แจ้งให้ทราบแล้วว่า ชื่อ พระมหาวีระ ถาวโร ตกลงท่านก็เลยตกบันไดพลอยโจน ฤาษีลิงดำก็ฤาษีลิงดำ.........

(คัดลอกจาก หนังสืออนุสรณ์ในการพระราชทานเพลิง นางเฉิดฉวี สุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา)