Not logged in [Login - Register]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites ตั้งหัวข้อใหม่
[*] posted on 5/4/08 at 10:17 [ QUOTE ]

ประวัติเจ้าอาวาส วัดจันทาราม (ท่าซุง) ตอนที่ 2


« ตอนที่ 1 » ตอนที่ 3 » ตอนที่ 4 »




(สภาพน้ำท่วมเมื่อปี 2526 ที่หน้าพระอุโบสถ วัดท่าซุง หลวงพ่อกำลังเดินข้ามสะพานไม้
ที่ทำไว้ชั่วคราว ถึงด้านหน้าศาลานวราช เพื่อไปเทศน์ในวันพระที่ศาลาพระพินิจฯ)

ประวัติของหลวงพ่อพระราชพรหมยาน

พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (พระมหาวีระ ถาวโร) เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2459 ตรงกับวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 8 (8) ปีมะโรง (แต่ตามใบสุทธิ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน 2460 ตรงกับวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 8 ปีมะเส็ง ฉะนั้น การนับปี พ.ศ.อาจจะเหลื่อมกันไปบ้าง)

เดิมชื่อ "สังเวียน" เป็นบุตรคนที่ ๓ ของ นายควง และ นางสมบุญ สังข์สุวรรณ เกิดที่ตำบลสาลี อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ท่านเป็นบุตรคนที่ 3 จากพี่น้องร่วมบิดามารดาจำนวน 5 คน ดังนี้

  • นายวงษ์ สังข์สุวรรณ เกิดปี 2453 ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 ตายที่วัดท่าซุง เมื่อคราวมาช่วยหลวงพ่อที่วัดท่าซุง

  • นางสำเภา หอมยาทอง (สังข์สุวรรณ) เกิดปี 2457 ตายเมื่อปี 2545 อายุ 88 ปี อยู่บ้านสาลี อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี

  • นายสังเวียน (วีระ) สังข์สุวรรณ ต่อมาได้อุปสมบทเป็น ท่านเจ้าคุณพระราชพรหมยาน (พระมหาวีระ ถาวโร)

  • นายเวก (หวั่น) สังข์สุวรรณ ต่อมาได้อุปสมบทเป็น พระครูพิศาลวุฒิธรรม (พระมหาเวก อักกวังโส) อยู่วัดดาวดึงษาราม เกิดวันที่ 15 กรกฏาคม 2463 อุปสมบทที่วัดบางนมโค เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2492 เมื่ออายุได้ 26 ปี
    มรณภาพเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2548 รวมอายุ 85 ปี 3 เดือน 26 วัน

  • ด.ญ. อุบล สังข์สุวรรณ ถึงแก่กรรมตั้งแต่อายุ 4 ขวบ


  • (ขออนุโมทนา : คุณดำรงค์ ล้อมลาย ผู้เป็นญาติได้ส่งข้อมูลมาให้อย่างละเอียด เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2551)

    บิดาเป็นหัวหน้าหาเลี้ยงครอบครัวโดยเป็นเจ้าของนาอยู่ 40 กว่าไร่ ทำนาได้ข้าวปีละ 9 - 10 เกวียน สมัยนั้นราคาข้าวเกวียนละ 20 - 25 บาท บิดาจึงมีอาชีพหลัก คือ ทำนาและหาปลา มารดาเป็นคนใจบุญสุนทาน ขณะจะตั้งครรภ์ นอนฝันเห็น "พรหม" มีสีเหลืองเป็นทองคำเหมือนพระพุทธรูป นอนลอยไปในอากาศ มีเพชรประดับแพรวพราวทั้งตัว เข้าทางหัวจั่วด้านทิศเหนือ เข้ามานั่งที่ตักท่าน มารดาก็กอดไว้ แล้วก็หายเข้าไปในกาย

    เมื่อเกิดมาใหม่ ๆ ลุงที่บวชเป็นพระได้ฌานสมาบัติ (หลวงพ่อเล็ก เกสโร) ท่านบอกว่า เจ้าเด็กคนนี้มาจากพรหม ดังนั้นจึงให้ชื่อว่า "พรหม" และต่อมาภายหลัง คนที่จดสำมะโนครัวเขามาเปลี่ยนชื่อให้เป็น "สังเวียน" ท่านยายกับชาวบ้านเรียกว่า "เล็ก" ส่วนท่านมารดาและพี่ ๆ น้อง ๆ เรียกว่า "พ่อกลาง"

    พ.ศ. 2466 อายุ 7 ขวบ เข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนประชาบาลวัดบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จนจบชั้นประถมปีที่ 4 เมื่อปี พ.ศ. 2474 ต่อมาอายุ 15 ปี อาศัยกับท่านยายที่บ้านหน้าวัดเรไร อำเภอตลิ่งชัน จังหวัดธนบุรี แล้วได้ศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณ

    เมื่ออายุ 15 ปี จึงเข้ามาอยู่กับท่าน ยายที่บ้านหน้าวัดเรไร อ.ตลิ่งชัน จ.ธนบุรี ใน สมัยนั้น และได้ศึกษาวิชาการแพทย์แผนโบราณ และ พ.ศ. 2478 อายุ 19 ปี เข้าทำงานเป็นเภสัชกรทหาร สังกัดกรมการแพทย์ทหารเรือ (ปัจจุบันคือโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า) พ.ศ. 2479 อายุ 20 ปี อุปสมบทเป็นภิกษุ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2479 (บางแห่งว่า 2480) เวลา 13.00 นาฬิกา ที่วัดบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี พระครูรัตนาภิรมย์ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูวิหารกิจจานุการ (ปาน โสนันโท) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอาจารย์เล็ก เกสโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์

    คำสั่งพระอุปัชฌาย์

    .........ขณะเข้าบวช หลวงพ่อปาน ท่านบอกท่านอุปัชฌาย์ว่า เจ้านี่หัวแข็งมาก ต้องเสกด้วยตะพดหนักหน่อย ท่านอุปัชฌาย์ท่านเป็นพระทรงธรรมเหมือนหลวงพ่อ (ปาน) หลวงพ่อเล็กก็เหมือนกัน ท่านอุปัชฌาย์ท่านยิ้มแล้วท่านพูดว่า

    "........สามองค์นี้ไม่สึก อีกองค์ต้องสึกเพราะมีลูก เมื่อจะสึกไม่ต้องเสียดายนะลูก เกษียณแล้วบวชใหม่มีผลสมบูรณ์เหมือนกัน แต่สององค์นี้พอครบ 10 พรรษาต้องเข้าป่า เมื่อเข้าป่าแล้วห้ามออกมายุ่งกับชาวบ้านจนกว่าจะตาย จะพาพระและชาวบ้านที่อวดรู้ตกนรก จงไปตามทางของเธอ

    .........ท่านปานช่วยสอนวิชาเข้าป่าให้หนักหน่อย ท่านองค์นี้ (หมายถึงฉัน) จงเข้าป่าไปกับเขา แต่ห้ามอยู่ในป่าเป็นวัตร เพราะเธอมีบริวารมาก ต้องอยู่สอนบริวารจนตาย พอครบ 20 พรรษาจงออกจากสำนักเดิม เธอจะได้ดี จงไปตามทางของเธอ ฉันบวชพระมามากแล้วไม่อิ่มใจเท่าบวชพวกเธอ"


    .........ในตอนนี้ อยากจะขอแทรกเรื่องนี้ไว้สักนิดว่า ท่านที่อ่านหนังสือ ประวัติหลวงพ่อปาน แล้ว คงจะจำได้ที่หลวงพ่อท่านได้เล่าถึง ตอนที่อุปสมบทแล้ว พระอุปัชฌาย์ท่านสั่งไว้อย่างไร

    .........การที่นำคำของท่านมาย้ำเตือนใจกันอีกครั้ง ก็เผื่อลูกศิษย์ของหลวงพ่อบางคน อาจจะลืมไปว่าคำสั่งของครูบาอาจารย์นั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่าชีวิต ไม่มีใครเขากล้าขัดคำสั่งครูบาอาจารย์กัน หลวงพ่อและเพื่อนของท่านทั้งหมด ก็ปฏิบัติไปตามคำบัญชานั้นทุกประการ...


    ต่อมาพระเดชพระคุณหลวงพ่อก็ต้องมารอลูกหลานอยู่ที่วัดท่าซุง ส่วนเพื่อนของ ท่านอีก 2 องค์ หลวงพ่อก็ไม่เคยบอกว่าออกมาอยู่ในบ้านในเมือง หรือในที่ชุมนุมชน นอก จากจะมาโปรดคนที่เนื่องถึงกันในอดีตบ้างเป็นบางครั้ง ส่วนใหญ่หลวงพ่อจะบอกว่าท่านอยู่ในป่า เพราะพระอภิญญาท่านจะไปที่ไหนก็ได้ เนื่องจากท่านมีหน้าที่ช่วยสอนพระที่ธุดงค์อยู่ ในป่า ก็อาจจะพบท่านได้ในบางครั้ง หลังจากนั้นท่านก็ได้ศึกษานักธรรมต่อไป

    พ.ศ. 2480 อายุ 21 ปี สอบได้นักธรรมตรี

    พ.ศ. 2481 อายุ 22 ปี สอบได้นักธรรมโท

    พ.ศ. 2482 อายุ 23 ปี สอบได้ นักธรรมเอก


    ระหว่างพรรษาที่ 1 - 4
    - ฝึกฝนอภิญญา
    - ธุดงค์ป่าช้า, ป่าศรีประจันต์, พระพุทธบาท, พระพุทธฉาย, เขาวงพระจันทร์, เขาชอนเดื่อ, ตาคลี จังหวัดนครสวรรค์, ดงพระยาเย็น, ภูกระดึง, พระแท่นดงรัง ฯลฯ
    - ศึกษาวิปัสสนา

    ระหว่างปี พ.ศ. 2480-2483 ได้ศึกษาพระกรรมฐาน จากครูบาอาจารย์หลายท่าน อาทิเช่นหลวงพ่อปาน โสนันโท วัดบางนมโค, หลวงพ่อจง พุทธสโร วัดหน้าต่างนอก, พระอาจารย์เล็ก เกสโร วัดบางนมโค, พระครูรัตนาภิรมย์ วัดบ้านแพน, พระครูอุดมสมาจารย์ วัดน้ำเต้า, หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ, หลวงพ่อเนียม วัดน้อย, หลวงพ่อโหน่ง วัดอัมพวัน (วัดคลองมะดัน) และหลวงพ่อเรื่อง วัดใหม่พิณสุวรรณ

    พ.ศ. 2483 อายุ 24 ปี เข้ามาจำพรรษาที่วัดช่างเหล็ก อำเภอตลิ่งชัน ธนบุรี เพื่อเรียนบาลี จากนั้นย้ายมาอยู่ที่วัดอนงคารามในช่วงออกพรรษาในสมัยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) อยู่วัดช่างเหล็กในช่วงเข้าพรรษา ระหว่างนี้ได้ศึกษาเพิ่มเติมกรรมฐานกับหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ และพบพระสุปฏิปันโนอีกมาก เช่น สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทัย) เป็นต้น

    พ.ศ. 2486 อายุ 27 ปี สอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค เปลี่ยนชื่อเป็น "พระมหาวีระ" เพื่อไม่ให้คล้ายกับ "พระมหาสำเนียง" ที่อยู่วัดช่างเหล็ก ที่อยู่วัดเดียวกัน

    พ.ศ. 2488 อายุ 29 ปี สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค ย้ายมาอยู่วัดประยุรวงศาวาส ได้เป็นรองเจ้าคณะ 4 วัดประยุรวงศาวาส และฝึกหัดการเป็นนักเทศน์

    พ.ศ. 2492 อายุ 33 ปี จำพรรษาที่วัดลาวทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

    พ.ศ. 2494 อายุ 35 ปี จึงกลับไปอยู่วัดบางนมโค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นเจ้าอาวาสวัดบางนมโค

    พ.ศ. 2500 อายุ 41 ปี อาพาธหนักเข้าโรงพยาบาลกรมแพทย์ทหารเรือ

    พ.ศ. 2502 อายุ 43 ปี พักฟื้นที่ วัดชิโนรสาราม กรุงเทพมหานครฯ จากนั้นจึงได้ย้ายไปอยู่ วัดโพธิ์ภาวนาราม อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท ซึ่งขณะนั้นยังเป็นสำนักสงฆ์ ได้ลูกศิษย์รุ่นแรก 6 คน

    พ.ศ. 2505 อายุ 46 ปี ไปจำพรรษาที่ วัดพรวน อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาทเป็นเวลา 1 พรรษา

    พ.ศ. 2506 อายุ 47 ปี กลับมาจำพรรษาที่ วัดโพธิ์ภาวนาราม พอกลางเดือนมิถุนายน ก็ได้ลาพุทธภูมิ

    พ.ศ. 2508 อายุ 49 ปี จำพรรษาที่ วัดปากคลองมะขามเฒ่า ตำบลมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท แล้วเริ่มไป - กลับ วัดสะพาน อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท เพื่อสอนพระกรรมฐาน


    พ.ศ. 2510 อายุ 51 ปี ได้สอนวิชามโนมยิทธิ (แบบเดิม คือเต็มกำลัง) แล้วจึงจำพรรษาที่วั ดสะพาน อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท

    ต่อไปตามประวัติได้เล่าว่า หลังจากที่หลวงพ่ออยู่กับหลวงปู่ปาน จนท่านมรณภาพ แล้วปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ก็เข้ามาจำพรรษาที่ วัดช่างเหล็ก เพื่อเรียนบาลี ต่อมาได้ย้ายไปอยู่ วัดอนงคาราม และ วัดประยุรวงศาวาส ตามลำดับ ในตอนนี้ ท่านได้เคยเล่าให้ฟังว่า ใน สมัยที่ท่านอยู่กับหลวงปู่ปาน ท่านฝึกพระกรรม ฐานจนได้ถึงสมาบัติ ๘ เรียกว่าออกมาจาก วัดบางนมโค ท่านได้เสาไว้ ๘ ต้น

    ครั้นเมื่อออกจากวัดนี้แล้ว ใคร่ที่จะแสวงหาความรู้เพิ่มเติม จึงได้ออกไปพบผู้ที่ เป็นครูบาอาจารย์อีกหลายท่าน ดังที่เล่าไว้ในหนังสือประวัติหลวงพ่อปาน คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) วัดอนงคาราม และ หลวงพ่อวัดปากน้ำ เป็นต้น แต่ก่อนที่หลวงพ่อจะได้พบครูบาอาจารย์ที่รู้จริงนั้น ก็ต้องพบของปลอมบ้างเป็นธรรมดา เพราะบางท่านก็สอนนิพพานสูญ บางท่านก็สอนจนความดีที่มีอยู่เสื่อมสูญไปเลย

    เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ได้ยินมาเอง ท่านบอกว่าเพราะการพบอาจารย์ที่ไม่ได้จริง จึงสอนให้เราผิดทาง จากที่เคยอยู่กับหลวงพ่อปาน เราได้ถึงสมาบัติ ๘ คือเสา ๘ ต้น ท่านบอกว่าเขาสอนให้เราจนเหลือแค่เสาต้นเดียว คือเหลือแค่ ปฐมฌาน เท่านั้น หลวงพ่อท่านย้ำอีกนะ ว่าเป็น “ปฐมฌานอย่างหยาบ” อีกด้วยนะ

    เรื่องนี้จึงถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ นับว่าเป็นอุทาหรณ์สอนใจสำหรับพวกเราที่เป็นศิษย์ภายหลัง คือหลังจากครูบาอาจารย์สิ้นไปแล้ว เราก็อยากจะหาผู้ที่จะสอนเราเช่นนี้อีก ดังที่ หลวงพ่อเคยมีประสบการณ์มาแล้ว ท่านจึงได้นำมาเล่าไว้เป็นตัวอย่าง และมิใช่เป็นเรื่องเสีย หาย เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวท่านเองเช่นนั้น จึงได้นำมาเล่าเพื่อเป็นการตักเตือนลูกศิษย์ไว้ด้วยความหวังดี มิใช่ถือเป็นการหวงลูกศิษย์แต่อย่างใด

    ฉะนั้น เพราะเป็นผู้ที่ได้บำเพ็ญบารมีมาแล้วด้วยดี จึงทำให้ได้พบครูบาอาจารย์ที่ดีที่ แท้จริง เมื่อหลวงพ่อเป็นนักเทศน์และได้เป็นเปรียญธรรม ๔ ประโยคแล้ว เห็นว่ามีความรู้เรื่องนี้พอสมควรแล้ว จึงต้องกลับมาเป็นเจ้าอาวาสที่ วัดบางนมโค โดยการอาราธนาของผู้ที่เกี่ยวข้องกับวัด




    ครั้นครบ ๒๐ พรรษา ตามคำบัญชาของพระอุปัชฌาย์ว่า ออกไปอยู่ที่อื่นแล้วจึง จะได้ดี ท่านก็มีอันจะต้องย้ายไปอยู่ที่อื่นอีก หลายวัดที่จังหวัดชัยนาท แล้วก็ได้ดี..คือ “การเข้าถึงที่สุดแห่งทุกข์” จริงตามคำพยากรณ์ของพระอุปัชฌายะทุกประการ


    จนกระทั่งถึง พ.ศ.๒๕๑๑ เจ้าอาวาสองค์เก่าได้นิมนต์มาบูรณะวัดท่าซุง อีกทั้งท่านก็ได้ทราบว่า ในอดีตวัดนี้ได้เคยบูรณะมาถึง ๓ วาระแล้ว ครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายในการเกิด ทั้งที่รู้ว่าจะมีอุปสรรค ก็จำเป็นต้องตัดสินใจมา ท่านจึงได้เริ่มทำการปฏิสังขรณ์ฝั่งโบสถ์เก่า โดยเริ่มงานเมื่อ วันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๑๑ และสร้างขยายพื้นที่ใหม่ฝั่งตรงข้าม จนกระทั่ง มีความเจริญสวยสดงดงามดังที่เห็นในปัจจุบันนี้ โดยมีรายละเอียดดังนี้


    พ.ศ. 2511 อายุ 52 ปี ในวันที่ 25 มีนาคม จึงมาอยู่วัดจันทาราม (ท่าซุง) ตำบลน้ำซึม อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี ได้ทำบูรณะ สร้างและขยายวัด จากเดิมมีพื้นที่ 6 ไร่ 2 งาน 07 2/10 ตารางวา จนกระทั่งเป็นวัดที่มีบริเวณพื้นที่ประมาณ 289 ไร่ 1 งาน 40 ตารางวา มีอาคารและถาวรวัตถุต่าง ๆ จำนวน 144 รายการในวัด สิ้นค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 611,949,193 บาท


    สิ่งก่อสร้างทั้งในวัดและนอกวัด อาทิเช่น หอสวดมนต์, พระพุทธรูป, อาคารปฏิบัติกรรมฐาน, ศาลาการเปรียญ, วิหาร 100 เมตร, โบสถ์ใหม่, บูรณะโบสถ์เก่า, ศาลา 2 ไร่, 3 ไร่, 4 ไร่ และ 12 ไร่, หอไตร, โรงพยาบาลศูนย์แม่และเด็ก ชนบทที่ 61, พระจุฬามณี, มณฑปท้าวมหาราชทั้ง 4, พระบรมราชานุสาวรีย์ 6 พระองค์, พระชำระหนี้สงฆ์, โรงไฟฟ้า, โรงเรียนพระสุธรรมยานเถระวิทยา, ศูนย์สงเคราะห์ผู้ยากจนในแดนทุรกันดารตามพระราชประสงค์ เป็นต้น ทั้งยังได้ช่วยการก่อสร้างที่วัดอื่น ๆ ในประเทศไทยอีกมากมาย

    พ.ศ. 2520 อายุ 61 ปี ตั้งศูนย์สงเคราะห์ผู้ยากจนในแดนทุรกันดารตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม และเริ่มฝึกมโนมยิทธิ (ครึ่งกำลัง) ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

    พ.ศ. 2526 อายุ 67 ปี สร้างโรงพยาบาลแม่และเด็กชนบทที่ 61 และมอบให้กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

    พ.ศ. 2527 อายุ 68 ปี ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญวิ. (ป.ธ.4 น.ธ.เอก) ที่ "พระสุธรรมยานเถระ"

    พ.ศ. 2528 อายุ 69 ปี สร้างโรงเรียนพระสุธรรมยานเถระวิทยา

    พ.ศ. 2532 อายุ 73 ปี ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ "พระราชพรหมยาน ไพศาลภาวนานุสิฐ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี"

    เมื่อถึงปี ๒๕๓๕ หลังจากวันรับกฐิน เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคมแล้วท่านก็อาพาธมาตลอด จนกระทั่งถึงวันที่ ๒๘ จึงได้นำท่านส่งโรงพยาบาลศิริราช แล้วท่านก็ได้มรณภาพไปในที่สุด ด้วยโรคปอดบวมอย่างแรง และติดเชื้อในกระแสโลหิต เข้ารักษาที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันศุกร์ที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๕ เวลา ๑๖.๑๐ น.






    จากเรื่องข่าวการมรณภาพนี้ เป็นเวลาเดียวกับที่มีข่าวจากผลการประชุมของ มหาเถร สมาคม ว่าจะมีการขอพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระราชาชั้นเทพ ซึ่งจะมีพระราชทินนามว่า “พระเทพพรหมยาน”

    แต่ก็ต้องมายับยั้ง เนื่องจากการจากไป อย่างไม่มีวันกลับ ในขณะที่ท่านมีอายุ ๗๖ ปี มีพรรษาได้ ๕๕ พรรษา เป็นพระอรหันต์มาได้เกือบ ๓๐ ปี รวมเวลาที่ท่านมาสงเคราะห์ลูกหลานและพุทธบริษัททั้งหลายอยู่ ณ ที่นี้เป็นเวลานานถึง ๒๔ ปี ฉะนั้น จึงนับเป็นบุญวาสนาของพวกเราทุกคน และที่ได้มาภายหลังก็ตาม สมกับถ้อยคำที่ท่านเคยพูดไว้ในประวัติหลวงพ่อปานว่า

    “ผู้ที่ได้บำเพ็ญบารมีมาดีแล้ว ย่อมได้พบกับครูบาอาจารย์ที่ดีด้วยเช่นกัน...”

    โดยท่านได้พูดเป็นปริศนานัยๆ ไว้แล้วว่า ปี 53 คล้ายๆ กับ ปี 35 และท่านสั่งไม่ให้เผาศพ ปัจจุบันนี้ร่างกายของท่านมิได้ฉีดยากันเน่าแต่ประการใด แต่ก่อนจะมรณภาพท่านได้พูดขอพรพระเบื้องบนไว้ว่า "เวลาตาย 7 วัน ให้เป็นอย่างนั้น 15 วันให้เป็นอย่างนี้" แต่ท่านก็มิได้อธิบายรายละเอียด ว่าท่านขอไว้อย่างไร ต่อมาหลังจากท่านมรณภาพ "ศพไม่เน่า" แล้ว ระหว่าง 7 วัน 15 วัน ร่างกายของท่านเหมือนกับคนนอนหลับ ไม่มีกลิ่นเน่าเหม็นแต่อย่างใด

    « ตอนที่ 1 » ตอนที่ 3 » ตอนที่ 4 »



    [ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
    ตั้งหัวข้อใหม่

    Go To Top