พระอุปเสนเถระ และ พระราหุล ผู้ใคร่ต่อการปฏิบัติธุดงค์
ประวัติพระอุปเสนเถระ
เอตทัคคะในทางผู้นำซึ่งความเลื่อมใส
ชาติภูมิ
...พระอุปเสนะ เป็นบุตรของพราหมณ์ชื่อ "วังคันตะ" มารดา ชื่อ "นางสารี" ในหมู่บ้านตำบลนาลันทา แคว้นมคธ
ซึ่งบิดาของท่านเป็นนายบ้านหรือหัวหน้าหมู่บ้านนั้นมีพี่ชาย คือ อุปติสสะ หรือต่อมาคือ พระสารีบุตร (ตามชื่อมารดา)
พระอัครสาวกเบื้องขวาของพระผู้มีพระภาคเจ้า และ พระจุนทเถระ มีน้องชาย ๑ คนชื่อ เรวตะ
ซึ่งต่อมาพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแต่งตั้งให้เป็นเอตทัคคมหาสาวก เลิศทางผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ท่านมีน้องสาว ๓ คน ชื่อ จาลา อุปจาลา และ สีสุปจาลา
และหลานชาย ๓ คนคือจาลี อุปจาลี และ สีสุปจาลี ซึ่งเป็นบุตรของน้องสาวแต่ละคน ซึ่งต่อมาทั้งหมดได้บวชในพระธรรมวินัยทั้งหมด
มารดาของท่าน คือนางสารีนั้น ตามประวัติกล่าวว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ แม้เป็นมารดาของพระอรหันต์ถึง ๗ รูป ก็ไม่เลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์
เมื่อเจริญวัยขึ้นได้รับการศึกษา จบวิชาไตรเพท หรือพระเวททั้ง ๓ ตามลัทธินิยมของพราหมณ์ และถือว่าเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของศาสนาพราหมณ์
พระอุปเสนะ เมื่อพระสารีบุตรเถระผู้เป็นพี่ชายออกบวชแล้ว ตนเองก็มีจิตน้อมไปในการบวชอยู่ด้วย
วันหนึ่งได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้วเกิดศรัทธาเลื่อมใสยิ่งขึ้น จึงกราบทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระพุทธองค์ประทานให้ตามประสงค์
ท่านดำรงเพศภิกษุปฏิบัติศาสนกิจตามหน้าที่
บุรพกรรมในสมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้า
พระเถระแม้นี้ ได้บำเพ็ญบุญญาธิการในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยของพระนิพพานในภพนั้นๆ แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า
ปทุมุตตระ
ท่านเกิดในครอบครัวใหญ่ในหังสวดีนคร เมื่อเติบใหญ่แล้ว วันหนึ่งได้ไปยังเงื้อมเขาแห่งหนึ่ง เพื่อฟังธรรมจากพระบรมศาสดา
ซึ่งประทับพร้อมหมู่ภิกษุสงฆ์อยู่ที่นั้น
ท่านได้เห็นดอกกรรณิการ์กำลังบาน จึงได้เด็ดดอกไม้นั้นเอามาประดับที่ฉัตร แล้วกั้นถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า
ในครั้งนั้น ท่านได้เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งอันเลิศกว่าเหล่าภิกษุผู้นำความเลื่อมใสมาโดยรอบ
ท่านก็เกิดจิตเลื่อมใสปรารถนาจะได้ตำแหน่งเช่นนั้นบ้าง จึงได้กระทำมหาทานถวายบิณฑบาตมี ข้าวชั้นพิเศษ ที่จัดว่าเป็นโภชนะอย่างดี
แด่องค์พระศาสดาและพระภิกษุอีก ๘ รูป แล้วปรารภความปรารถนาในตำแหน่งนั้น พระพุทธเจ้าทรงอนุโมทนาว่า
...ด้วยการถวายฉัตรนี้ และด้วยจิตอันเลื่อมใสในการถวายข้าวชั้นพิเศษนั้น ท่านจักได้เสวยสมบัติ จักเป็นจอมเทวดาเสวยเทวรัชสมบัติ ๓๐ ครั้ง
และจักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๒๑ ครั้ง จักได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์ โดยคณานับไม่ถ้วน
ในแสนกัปต่อไปนับแต่กัปนี้ พระศาสดาทรงพระนามว่า โคดม โดยพระโคตร ซึ่งสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกากราชจักเสด็จอุบัติในโลก ผู้นี้จักมาเกิดเป็นมนุษย์
จักได้เป็นสาวกของพระศาสดา มีนามว่า อุปเสนะ จักตั้งอยู่ในเอตทัคคะ ที่เป็นผู้นำความเลื่อมใสมาโดยรอบ.."
จากนั้นท่านได้บำเพ็ญกุศลจนตลอดชีวิต ครั้นสิ้นชีวิตแล้วก็ท่องเที่ยวอยู่ในภูมิเทวดาและภูมิมนุษย์ทั้งหลาย
พระเถระถูกพระผู้มีพระภาคเจ้าตำหนิ
เมื่อท่านบวชได้เพียง ๑ พรรษา และยังเป็นปุถุชนมิได้บรรลุมรรคผลใดๆ ท่านเกิดมีความคิดขึ้นว่า
เราจะช่วยกระทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมากไปด้วยหมู่ภิกษุสงฆ์
ดังนี้แล้วก็ตั้งตนเป็นอุปัชฌาย์ บวชกุลบุตรผู้หนึ่งไว้ในสำนักของตนและจำพรรษาอยู่ด้วยกัน
เมื่อออกพรรษาแล้วท่านได้พาสัทธิวิหาริกศิษย์ของท่านไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
ด้วยหวังว่าจะได้รับคำยกย่องชมเชยจากพระองค์ แต่ครั้นพระพุทธองค์ตรัสถามก็ได้ทรงทราบว่าท่านตั้งตนเป็นอุปัชฌาบวชให้กุลบุตร
ทั้งๆ ที่ตนเพิ่งบวชได้เพียงพรรษาเดียว อีกทั้งยังเป็นปุถุชน จึงทรงประณามตำหนิท่านอย่างรุนแรงด้วยพระดำรัสว่า
ดูก่อนโมฆบุรุษ ทำไมเธอจึงเป็นคนมักมากอย่างนี้ ตัวเธอเองก็ยังต้องอาศัยผู้อื่นสั่งสอนอยู่ แต่นี่ทำไมเธอจึงทำตัวสอนผู้อื่นเสียเอง
และพระพุทธองค์ก็ทรงติเตียนเธออีกเป็นอันมาก
ท่านรู้สึกสลดใจที่ถูกพระบรมศาสดาตำหนิอย่างนั้น จึงคิดว่าเราถูกพระพุทธองค์ทรงตำหนิ เพราะเรื่องสัทธิวิหาริก ดังนั้นเราจะอาศัยสัทธิวิหาริกนี่แหละ
ยังพระบรมศาสดาให้ตรัสสรรเสริญเราให้ได้
จากนั้นท่านได้กราบทูลลาพระผู้มีพระภาคพาสัทธิวิหาริกกลับสู่ที่พัก ตั้งใจบำเพ็ญเพียรเจริญสมถวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตผล หมดกิเลสอาสวะ
เป็นพระอเสขบุคคลในพระพุทธศาสนา
เมื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านได้สมาทานธุดงควัตร ประพฤติปฏิบัติใน ธุดงคคุณ ครบทั้ง ๑๓ ข้อ
ธุดงควัตรเหล่านี้ พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ก็ด้วยมีพุทธประสงค์ เพื่อเป็นเครื่องขัดเกลากิเลสเครื่องเศร้าหมองที่หมักดองอยู่ในจิต
เป็นเหตุให้คิดหมกมุ่นแต่ในเรื่องกามคุณ เป็นคนใจแคบมักมากเห็นแก่ตัว
เมื่อปฏิบัติในธุดงควัตรแล้ว กิเลสก็จะเบาบางลง เป็นคนมักน้อยสันโดษ ไม่มักมากด้วยลาภสักการะ ไม่เห็นแก่ความสุข อันเกิดจากกามคุณทั้งหลาย
และธุดงควัตรเหล่านี้ ก็ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติทุกข้อ ผู้ใดมีความสามารถความพอใจที่จะปฏิบัติในข้อใด ก็สมาทานเฉพาะข้อนั้น
หรือมากกว่าหนึ่งข้อก็สุดแต่ความสมัครใจ เพื่อเป็นการให้โอกาสแก่ผู้ปฏิบัติ
เป็นต้นบัญญัติเรื่องตั้งพระอุปัชฌาย์
พระพุทธองค์ทรงอาศัยกรณีของพระอุปเสนะที่ตั้งตนเป็นอุปัชฌาย์ ขณะที่บวชได้เพียงพรรษาเดียวเป็นเหตุ ทรงบัญญัติสิกขาบทเกี่ยวกับการที่ภิกษุจะเป็นอุปัชฌาย์ได้
จะต้องมีพรรษาตั้งแต่ ๑๐ พรรษาขึ้นไป
ความปรารถนาบรรลุผล
ต่อมาเมื่อท่านมีพรรษาครบ ๑๐ พรรษา ตามพระบรมพุทธอนุญาต แล้วได้เป็นอุปัชฌาย์บวชให้กุลบุตรมากถึง ๕๐๐ รูป
ทั้งนี้ก็เพราะท่านเป็นบุตรของตระกูลใหญ่ เป็นที่เครารพนับถือของคนทั่วไปอยู่แล้ว และเพราะท่านมีความสามารถแสดงธรรม เป็นที่นำมาซึ่งการปฏิบัติธุดงควัตร ๑๓
ข้อนั้น
สุดแท้แต่รูปใดจะมีศรัทธามีความสามารถ และมีความถนัดในข้อใด สมาทานได้มากน้อยเพียงใด ก็สุดแต่จะศรัทธา
สมัยหนึ่งพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ท่านได้พาสัทธิวิหาริกของท่าน ๕๐๐ รูป
เข้าเฝ้ากราบถวายบังคมแล้ว
พระพุทธองค์ตรัสปฏิสันถาร และตรัสถามสัทธิวิหาริกของท่านว่า ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุใดพวกเธอจึงสมาทานธุดงค์กันทั่วทุกรูป
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทั้งหลายสมาทานธุดงควัตร ก็ด้วยความเคารพและศรัทธาในพระอุปัชฌาย์ พระเจ้าข้า
พระพุทธองค์ประทานอนุโมทนาว่า ดูก่อน อุปเสนะ ดีละ ดีละ
ทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ
ความหวังความตั้งใจของพระอุปเสนะบรรลุวัตถุประสงค์ ดังที่ตั้งใจไว้แต่ต้น ท่านได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย
ในทางผู้นำมาซึ่งความเลื่อมใสของหมู่ชนทุกชั้น
ท่านดำรงอายุสังขารช่วยกิจการพระศาสนาสมควรแก่กาลเวลา แล้วก็ดับขันธปรินิพพาน
พระเถระแสดงธรรมเรื่องการอยู่อย่างสงบ
สมัยต่อมา เมื่อเกิดการทะเลาะกันขึ้นในกรุงโกสัมพี และภิกษุสงฆ์แตกแยกเป็น ๒ ฝ่าย ภิกษุรูปหนึ่งผู้ประสงค์จะหลีกเลี่ยงการทะเลาะนั้น ได้ถามพระเถระว่า
บัดนี้เกิดการทะเลาะกันขึ้นแล้ว พระสงฆ์แตกแยกเป็น ๒ ฝ่าย กระผมจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ ดังนั้นเมื่อจะกล่าวถึงข้อปฏิบัติแก่ภิกษุรูปนั้น
ตั้งต้นแต่การอยู่อย่างสงบ จึงกล่าวคาถาเหล่านี้ว่า
ภิกษุควรส้องเสพเสนาสนะอันสงัด ปราศจากเสียงอื้ออึง เป็นที่อยู่อาศัยแห่งสัตว์ร้าย เพราะการหลีกออกเร้นเป็นเหตุ
ภิกษุควรเก็บผ้ามาจากกองหยากเยื่อจากป่าช้า จากตรอกน้อยตรอกใหญ่ แล้วทำเป็นผ้านุ่งผ้าห่ม การห่มจีวรอันเศร้าหมอง ควรทำใจให้ต่ำ คุ้มครองทวาร สำรวมดีแล้ว
จึงเที่ยวไปบิณฑบาตตามลำดับตรอก คือตามลำดับสกุล
ควรยินดีด้วยของของตน แม้จะเป็นของเศร้าหมอง ไม่ควรปรารถนารสอาหารอย่างอื่นมากนัก เพราะใจของคนผู้ติดในรสอาหาร ย่อมไม่ยินดีในฌาน
ควรเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย สันโดษ ชอบสงัด เป็นมุนี ไม่คลุกคลีด้วยพวกคฤหัสถ์และพวกบรรพชิต
ภิกษุผู้ฉลาดควรทำตนให้เหมือนคนบ้าคนใบ้ ไม่ควรพูดมากในท่ามกลางสงฆ์ ไม่ควรติเตียนนินทาด่าว่าใครๆ ควรละเว้นการกระทบกระทั่งกัน
เป็นผู้สำรวมในพระปาฏิโมกข์ รู้จักประมาณในการบริโภค รู้จักกำหนดการเกิดดับแห่งจิต พึงทำนิมิตให้เกิด แล้วเจริญสมถกรรมฐาน
และวิปัสสนากรรมฐานตามกาลอันสมควรอยู่เนือง ๆ
ควรผูกใจไว้ว่า หากยังไม่ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ก็ไม่ควรวางใจ ละเลยความเพียร ภิกษุผู้ปรารถนาความบริสุทธิ์ เมื่อเป็นอยู่อย่างนี้
ย่อมจะบรรลุถึงซึ่งนิพพานได้
ในมิลินทปัญหา ท่านพระนาคเสนได้ยกเอาคำพูดของท่านพระอุปเสนะมาอ้างประกอบอรรถาธิบาย วิสัชนาปัญหาของพระเจ้ามิลินท์หลายแห่ง เช่น
ในเรื่องอเนสนากรรม (การกระทำที่เป็นการแสวงหาที่ไม่ควร ที่เป็นไปทางทุจริต) ท่านพระอุปเสนะได้กล่าวไว้ว่า
แม้มาตรว่าไส้ของเราจะไหลออกมาภายนอก เราก็จะไม่ประพฤติอเนสนากรรม ทำลายอาชีวะนั้น แสวงหาลาภในทางที่ไม่ควรอย่างเด็ดขาด
และในเรื่องอินทรียสังวร ท่านพระอุปเสนะได้กล่าวไว้ว่า พระ โยคาวจรกระทำเครื่องมุงเครื่องบัง คือสำรวมในศีล ปิดใจไว้ ไม่พัวพัน ด้วยกิเลส ย่อมพ้นภัยได้
ส่วนในคัมภีร์อุทานเล่าไว้ว่า ครั้งหนึ่ง ท่านหลีกเร้นอยู่ตามสมณวิสัยได้มีความปริวิตกขึ้นว่า เป็นลาภของเรา เราได้ดีแล้ว คือ
ได้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา และได้ออกบวชในพระธรรมวินัย ที่พระบรมศาสดาพระองค์นั้นตรัสไว้ดีแล้ว
อีกทั้งเพื่อพรหมจารีของเราก็มีศีล มีกัลยาณธรรม เรามีจิตตั้งมั่นเป็นพระอรหันต์ สิ้นอาสวกิเลส มีอานุภาพ ชีวิตของเราได้ดีแล้วถึงตายก็ตายดี
พระเถระมนสิการถึงคุณพระรัตนตรัย
วันหนึ่งท่านกลับจากบิณฑบาตภายหลังภัต เมื่อพวกศิษย์ได้ไปสู่ที่พักกลางวันของตนแล้ว ท่านจึงถือเอาน้ำจากหม้อน้ำล้างเท้าแล้ว ลูบตัวให้เย็น ลาดท่อนหลัง
แล้วนั่งพักผ่อนกลางวัน นึกถึงคุณความดีของตน ที่พวกศิษย์ของท่านหลายร้อยหลายพันรูปช่วยกันบำรุงท่านไม่ขาดสาย
ท่านส่งมนสิการถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า อันดับแรกคุณความดีของศิษย์เรายังมีประมาณถึงเพียงนี้ พระคุณของพระศาสดาของเราจะเป็นเช่นไรหนอ
พวกสาวกเหล่านั้นหลายพันโกฏิ พากันบำรุงท่านตามสมควรแก่พลังญาณ
ท่านระลึกถึงพระคุณของพระศาสดา อันเหมาะสมแก่ภาวะที่ปรากฏแจ่มแจ้ง โดยนัยมีอาทิว่า พระศาสดาของเราทรงมีศีลอย่างนี้ มีธรรมอย่างนี้ มีปัญญาอย่างนี้
มีวิมุตติอย่างนี้ และโดยนัยมีอาทิว่า
แม้เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ แต่นั้นจึงระลึกถึงคุณของพระธรรมโดยนัยมีอาทิว่า
พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว และคุณของพระอริยสงฆ์ โดยนัยมีอาทิว่า พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติแล้ว เมื่อคุณของพระรัตนตรัยปรากฏแจ่มแจ้ง
ด้วยอาการอย่างนี้ พระมหาเถระจึงมีใจชื่นชมเบิกบาน นั่งเสวยปิติและโสมนัสอันโอฬาร มีอาการเป็นอเนก
พระศาสดาประทับนั่งในพระคันธกุฎีนั้น และทรงทราบเรื่องนั้นด้วยพระสัพพัญญุตญาณ จึงทรงเปล่งอุทานนี้ อันประกาศความเป็นผู้คงที่ของท่านทั้งในชีวิตและมรณะ
ชีวิตย่อมไม่ทำให้ผู้ใดเดือดร้อน ผู้นั้นย่อมไม่เศร้าโศกในที่สุดแห่งมรณะ
ถ้าว่าผู้นั้นมีบทอันเห็นแล้วไซร้ เป็นนักปราชญ์ ย่อมไม่เศร้าโศกในท่ามกลางแห่งสัตว์ผู้มีความโศก ภิกษุผู้มีภวตัณหาอันตัดขาดแล้ว มีจิตสงบ
มีชาติสงสารสิ้นแล้ว ย่อมไม่มีภพใหม่ ดังนี้
พระเถระถูกงูกัดแล้วปรินิพพาน
สมัยหนึ่ง ท่านพระอุปเสนะพักอยู่ ณ ป่าสีตวัน ใกล้เงื้อมสัปปโสณฑิกะ ซึ่งอยู่ในเขตเมืองราชคฤห์ กับพระสารีบุตรผู้เป็นที่ชาย ณ วันหนึ่ง ท่านฉันภัตตาหารแล้ว
นั่งเย็บจีวรอยู่ที่ร่มแห่งถ้ำ งูตัวหนึ่งได้ตกลงมาถูกและกัดท่าน
พิษของงูได้แล่นไปในร่างกายของท่าน ท่านจึงเรียกภิกษุทั้งหลายมาให้ช่วยยกท่านออกจากถ้ำ ก่อนที่จะถึงมรณภาพ พระสารีบุตรได้กล่าวกะท่านว่า
เราไม่เห็นร่างกายของท่านอุปเสนะเป็นอย่างอื่น และอินทรีย์ก็ไม่แปรปรวน
ท่านอุปเสนะกล่าวตอบว่า "ผู้ใดตรึกว่าเราเป็นจักษุ จักษุเป็นของเรา เราเป็นใจ หรือใจเป็นของเรา กายเป็นอย่างอื่น
ความแปรปรวนแห่งอินทรีย์ก็พึงมีแก่ผู้นั้น"
เพราะท่านถอนอนุสัยได้ ถอนความยึดถือ ว่าเป็นเรา เป็นของเราได้เด็ดขาด จึงได้กล่าวอย่างนั้น เมื่อภิกษุทั้งหลายได้ช่วยกันยกท่านออกไปข้างนอกเท่านั้น
ร่างกายของท่านก็ได้กระจัดกระจายเรี่ยรายไป ดุจกองแกลบถูกลมพัดกระจัดกระจายไปฉะนั้น
ผลสุดท้ายท่านได้กล่าวไว้ว่า
เมื่อชีวิตของเราในภพสุดท้ายเป็นไปอยู่ เราถอนภพขึ้นได้ทั้งหมด ชนะมารพร้อมทั้งพาหนะแล้ว ทรงไว้ซึ่งร่างกายอันในที่สุดไว้ คุณวิเศษเหล่านี้ คือปฏิสัมภิทา ๔
วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราได้ทำให้แจ้งชัดแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้า เราได้ทำเสร็จแล้วฉะนี้แล.
พระราหุลเถระ บำเพ็ญเพียร
โดยถือเอาการไม่นอนเป็นวัตร
ท่านพระราหุล ถือธุดงควัตรทั้ง ๑๓ ข้อ ตามที่ปรากฎใน อรรถกถา เล่มที่ ๔๗ ราหุลสูตร ดังนี้ว่า
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระราหุลทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะเราว่า เธอย่าได้ กระทำความอยากในจีวรดังนี้
ท่านจึงได้สมาทานธุดงค์ ๒ ข้อที่เกี่ยวกับจีวร คือ
- ปังสุกูลิกังคธุดงค์ ๑
- เตจจีวริกังคธุดงค์ ๑
ท่านพระราหุลนั้นทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะเราว่า เธออย่าได้กระทำความอยากในบิณฑบาต
ท่านจึงได้สมาทานธุดงค์ ๕ ข้อที่เกี่ยวกับบิณฑบาต คือ
- ปิณฑปาติกังคธุดงค์ ๑
- สปทานจาริกังคธุดงค์ ๑
- เอกาสนิกังคธุดงค์ ๑
- ปัตตปิณฑิกังคธุดงค์ ๑
- ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ ๑
ท่านพระราหุลนั้นทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะเราว่า เธออย่าได้ทำความอยากในเสนาสนะดังนี้ ท่านจึงได้สมาทานธุดงค์ ๖ ข้อ ที่เกี่ยวข้องด้วยเสนาสนะ
คือ
- อารัญญิกังคธุดงค์ ๑
- อัพโภกาสิกังคธุดงค์ ๑
- รุกขมูลิกังคธุดงค์ ๑
- ยถาสันถติกังคธุดงค์ ๑
- โสสานิกังคธุดงค์ ๑
- เนสัชชิกังคธุดงค์ ๑
ท่านพระราหุลนั้นทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะเราว่า เธออย่าได้กระทำความอยากในคิลานปัจจัย
ท่านจึงเป็นผู้สันโดษแล้ว ด้วยความสันโดษ ๓ ในปัจจัยทั้งปวง คือ
- ยถาลาภสันโดษ ๑
- ยถาพลสันโดษ ๑
- ยถาสารุปปสันโดษ ๑
เป็นผู้มีปกติรับคำสอนด้วยความเคารพ เหมือนกุลบุตร ที่ว่าง่าย ในอรรถกถาเล่มที่ ๑๔ กล่าวว่า พระราหุลเถระ ท่านเป็นผู้ ถือธุดงควัตรในข้อ
"ถือการนั่งเป็นวัตร" โดยไม่เอนกายลงนอนเลย เป็นเวลา ๑๒ ปี ดังนี้แล..
|