ประวัติ "วิหารพระพุทธมหามงคลบพิตร" ต.น้ำน้อย อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
...หนังสือเล่มนี้ อาตมาขอร้องให้ ท่านชัยวัฒน์ อชิโต ช่วยเรียบเรียงประวัติความเป็นมาในการสร้าง
พระวิหารน้ำน้อย เพื่อให้สาธุชนทราบสักเล็กน้อย เพื่อจะได้เข้าใจ เพิ่มศรัทธาในการรู้ค่าของ พระวิหารน้ำน้อย มากขึ้น เรื่อง
ที่เกี่ยวข้องก็คือ...
๑ พระสุปฏิปันโน หลายรูปมาพร้อมกัน
๒. พระพุทธเจ้าที่คนไทยได้ศรัทธาสร้างขึ้น เป็น พระพุทธรูปทองคำ
๓. พระพรหม มาขอร้องให้หลวงพ่อนำลูกศิษย์ไปสร้าง
๔. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ
เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ ได้เสด็จมาในพิธีนี้
ความสำคัญสิ่งนี้ ถือว่าเป็นประวัติของ พระวิหารน้ำน้อย ที่ท่านชัยวัฒน์เรียบเรียงจาก
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน และลูกศิษย์ที่อยู่ในเหตุการณ์ มาเล่าสู่ท่านทั้งหลาย ที่อยู่ในภายหลังให้ได้รับทราบ
ส่วนขณะนี้ได้ล่วงเลยมา ๒๕ ปี (สร้างเสร็จเมื่อปี ๒๕๑๙) วิหารได้ทรุดโทรมลงมาก และปี ๒๕๔๓ น้ำท่วมใหญ่ ผู้คนล้มตายกันหลายร้อยคน
พระวิหารถูกน้ำท่วม พระพุทธเจ้า และรูปหลวงปู่ปาน และหลวงพ่อพระราชพรหมยาน มีปัญหาจะทรุดโทรม ลงตามลำดับ
คณะลูกศิษย์หลวงพ่อพระราชพรหมยาน เล็งเห็นความสำคัญในเหตุ ๔ ประการข้างต้น จะสูญหายและลบ เลือนไปในอนาคต จึงคิดร่วมกันจะบูรณะเป็นครั้งใหญ่
เพื่อจะได้แข็งแรงและทรงสภาพอยู่ชั่วชีวิตของเรา เพื่อจะได้เป็นประวัติศาสตร์ และมิ่งขวัญของคนไทยสืบไป
ฉะนั้น การบูรณะครั้งนี้ จะได้อานิสงส์หลายประการ คือ...
๑. พุทธบูชา ซึ่งพระรัตนตรัย
๒. สร้างวิหารทาน ให้ผู้เลื่อมใสได้ใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมด้วย
๓. เป็นพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ และ สังฆานุสสติ
๔. ได้ชื่อว่าเป็นลูกที่ดีของหลวงพ่อพระราชพรหมยาน ว่ารักษาศาสนสมบัติของพระพุทธศาสนาไว้ได้
พระครูปลัดอนันต์ พทฺธญาโณ
๒๐ มิถุนายน ๒๕๔๔
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
◄ll กลับสู่ด้านบน
|
|
[ ตอนที่ 2 ]
อัพเดท 23 กรกฎาคม 2560
ประวัติการสร้างพระวิหาร
เรียบเรียงโดย..พระอาจารย์ชัยวัฒน์ อชิโต
...เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๔๓ ท่านพระครูปลัดอนันต์ พทฺธญาโณ พร้อมด้วยคณะศิษย์ หลวงพ่อพระราชพรหมยาน ได้เดินทางไปทำพิธีบวงสรวง ณ
วิหารพระพุทธมหามงคลบพิตร ต.น้ำน้อย อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ตามที่เคยเดินทางไปเป็นประจำทุกปี เพื่ออนุเคราะห์บรรดาญาติโยมพุทธบริษัททางภาคใต้
หลังจากเสร็จงานแล้วก็เดินทางกลับ ทุกคนมารออยู่ในห้องรับรองภายในสนามบินหาดใหญ่ ระหว่างนั้น "คณะชาวหาดใหญ่และสงขลา" ที่มาส่งได้ปรารภว่า ในปีหน้า
(๒๕๔๔) อยากจะพิมพ์หนังสือ ประวัติพระวิหารน้ำน้อย เพื่อเผยแพร่ให้แก่ผู้ที่มาร่วมงาน จึงได้เริ่มทำบุญกันเดื๋ยวนั้นทันที ๑๐,๐๐๐ บาท
ต่อมาท่านเจ้าอาวาสก็ปรารภซ้ำอีกว่า อยากจะให้พิมพ์หนังสือเล่มนี้ ซึ่งความจริงผู้เขียนก็ไม่ค่อยจะถนัดนัก
แต่เพื่อเป็นการรักษาประวัติความเป็นมาไม่ให้สูญหายไป จึงได้เริ่มรวบรวมเรื่องราวที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ เล่าไว้ ตามที่ ม.ล.วรวัฒน นวรัตน
บันทึกไว้บ้าง เป็นต้น
ตามหลักฐานที่ได้ค้นคว้ามาจากหนังสือต่างๆ ปรากฏว่า หลวงพ่อเดินทางไปปักษ์ใต้หลายครั้ง หลายวาระด้วยกัน นับตั้งแต่ ชุมพร สุราษฏร์ธานี กระบี่ พังงา
ภูเก็ต ตรัง นครศรีธรรมราช และพัทลุง เป็นต้น
แต่เหตุการณ์สำคัญที่จะนำมาเล่าครั้งนี้ คงจะต้องย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน ที่จะต้องจารึกไว้เป็นประวัติว่า
พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน พร้อมด้วยคณะศิษย์ ได้เดินทาง โดยเครื่องบินมาลงที่ภูเก็ต
โดยมี ม.ล.วรวัฒน นวรัตน ผู้อำนวยการการไฟฟ้าฝ่ายผลิต จังหวัดกระบี่ ในสมัยนั้น เป็นผู้รับรอง พร้อมทั้งจัดรถออกเดินทางไปในที่หลายแห่ง
จนกระทั่งมาถึงหาดใหญ่เมื่อ วันอังคารที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๑๗ แล้วได้ค้างคืนที่บ้านพักรับรองที่เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตจัดไว้
คืนนั้น..ในขณะที่กำลังพักผ่อนอยู่ในห้องนอนของท่าน พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ ได้เล่าว่า...
พบกับท่านพระพรหม
...ขณะที่ใจสบาย ทำท่าว่าจะหลับ ก็ปรากฏว่าพบชายคนหนึ่งมานั่งอยู่ที่ปลายเตียง เลยเท้าลงไป เป็นผู้ชาย
ยกมือขึ้นแตะปาก ท่าทางดี เหมือนกับคนธรรมดา จึงได้ถามว่าเป็นใคร แกชี้มือขึ้นไปข้างบน แล้วก็บอกว่ามาจากพรหมขอรับ
ถามว่า ถ้ามาจากพรหมแล้วแต่งตัวแบบนี้เพื่อประโยชน์อะไร ทำไมไม่แสดงกายเป็นพรหม แล้วก็เมื่อตอนกลางวันก่อนที่จะเข้ามานะ ไปรับที่นอกเมือง
เห็นพระพุทธรูปอยู่บนศีรษะนั่นเป็นท่านหรือ..?
ความจริงเข้าใจว่าเป็นเทวดา เพราะแต่งตัวแบบเทวดา มีเครื่องประดับแพรวพราว และมีสีสันวรรณะไม่ใช่ลักษณะของพรหม ท่านก็เลยบอกว่า คนที่ไปรับน่ะ
เป็นเทวดาขอรับ แต่ผมนี่เป็นพรหม เป็นคนละคนกับบุคคลนั้น จึงได้ถามท่านว่า มาทำไม แล้วพระที่แสดงลอยอยู่เหนือศีรษะเทวดานั้นหมาย ความว่ายังไง...
ไม่ทราบความหมาย..?
ท่านก็บอกว่า ที่แสดงให้ปรากฏก็เพราะว่า ในเขตของ จังหวัดสงขลามีพระพุทธรูปองค์หนึ่ง ทำด้วยทองคำทั้งองค์
ไม่มีส่วนผสมอย่างอื่น คือไม่ใช่แกนทองแดงแล้วเอาทองคำหุ้ม หน้าตักกว้างประมาณ ๒ เมตร หรือ ๓ เมตร จำไม่ถนัด เพราะ
เวลาพูดนี่ไม่ได้บันทึกไว้ ก็เลยถามท่านว่าไปแสดงให้ปรากฏ ทำไม...แสดงว่าบ้านเมืองนี้เจริญหรือประการใด..?
ท่านบอกไม่ใช่ขอรับ ผมเห็นว่าคณะของท่านที่มานี่ เป็นคณะที่มีศรัทธามาก เวลานี้พระพุทธปฏิมากรแทนองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า
มีทองมีน้ำหนักบอกไม่ถูก (ท่านบอก เหมือนกัน ทั้งองค์ ทั้งฐานน้ำหนักเท่าไร แต่ก็ไม่บอก)
บอกว่า เวลานั้น ที่กรุงศรีอยุธยาแตกครั้งหลัง ปรากฏว่าเขาเอาพระองค์นี้มาฝัง
เกรงว่าพม่าพวกมีใจอธรรมจะนำทองคำเป็นประโยชน์ ส่วนตน อย่างที่อยุธยามันยังหลอมเอาทองคำไปกินเสีย มีน้ำ หนักตั้งหลายพันชั่ง
แต่ว่าพระองค์นี้มีน้ำหนักยิ่งกว่าพระองค์นั้น สำหรับทองคำ เพราะว่าพระองค์นั้นภายในเป็นทองสัมฤทธิ์
ข้างนอกเป็นทองคำ แต่ว่าองค์นี้เป็นทองคำล้วน เวลานี้ยังอยู่ตรงนั้น ฝังอยู่ตรงไหน บอกไม่ได้ บอกอันตรายจะเกิดแก่ทรัพย์สินของพระพุทธศาสนา
แล้วก็เลยถามว่า ไปแสดงให้ปรากฏเพื่อประโยชน์อะไร
ท่านก็บอกว่า ตั้งใจจะให้คณะที่มาด้วยกันช่วยกันสร้างเจดีย์ทับพระพุทธรูปองค์นั้น เพราะฝังไว้ในดินลึกประมาณ ๕ วา เวลานั้น ใช้คนประมาณ ๓๐๐ คนเศษ
นำพระมาแล้วก็บรรจุพระไว้ สร้างเครื่องล้อมป้องกันไว้อย่างดี แล้วทรัพย์สินที่มีค่าสำหรับกษัตริย์ ก็มีอยู่มาก
ท่านถามว่าจะทำได้ไหม ก็เลยถามว่าเจดีย์ใหญ่ไหม ท่านบอกว่าไม่ต้องใหญ่ สูงประมาณ ๓ วาก็ได้ แต่ให้ฐานครอบพระเข้าไว้ คนจะได้ไม่ข้ามไปข้ามมา
ก็เลยบอกว่าเวลานี้สร้างวัด ยังเป็นหนี้เขามาก ท่านก็บอกว่าไม่เป็นไร เมื่อสร้างวัดเสร็จแล้ว ให้ช่วยกันมาสร้างที่ตรงนั้นก็แล้วกัน ไม่รีบไม่ร้อนที่จะให้มา
เที่ยวคราวนี้ที่ยอมรับเขาก็เพราะว่า องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาค เจ้าเข้าดลใจ ทั้ง ๆ ที่ร่างกายของท่านไม่ดีท่านก็ยอมรับ
ความจริงแล้วไม่ได้ตั้งใจจะไป เห็นว่าประโยชน์มันน้อย ในการท่องเที่ยว นอนดีกว่า แต่เมื่อเขาถามเข้าจริงๆ ก็ไม่ทราบว่า เป็นเพราะอะไร
ตัดสินใจยอมรับเอาเฉยๆ มาดูหมายกำหนด การแล้วก็หายใจไม่ออก วันทั้งวันไม่มีเวลาหยุด คิดว่าคงจะไปพับจุดใดจุดหนึ่ง บังเอิญมันก็ไม่พับเป็นมหัศจรรย์
เรื่องนี้แปลกมาก เดินทางทั้งวัน กลางคืนก็นอนน้อยที่สุด อย่างดีก็หลับไม่เกิน ๒ ชั่วโมง เช้าก็เดินทางต่อไป แต่ก็ไปได้ทุกจุด
นี่เห็นจะเป็นอำนาจพุทธานุภาพ ธัมมานุภาพ สังฆานุภาพ พรหมานุภาพ เทวดานุภาพ และครูบาอาจารย์ ตลอดจนพ่อแม่ เก่าๆ ที่สร้างผืนแผ่นดินไทย
ช่วยผยุงกายของอาตมาไปได้กระมัง คิดอย่างนี้..ก็เป็นอันรับปากกับท่านพรหมว่า สิ่งเหล่านี้คงไม่หนัก
แต่ทว่าจะขอปรึกษาหารือกับบรรดาท่านพุทธบริษัท มีท่าน พลอาศตรี ม.ร.ว.เสริม ศุขสวัสดิ์ ก่อน ถ้าพร้อมใจกันเมื่อไร
แล้วก็วัดท่าซุงเสร็จเมื่อไรก็จะมาทำให้ เพราะของไม่โตนัก แต่ว่าหนักใจเรื่องที่ดินเจ้าของอาจจะเอาแพง เพราะเขาอยู่ในย่านของความเจริญมาก
ท่านยกมือไหว้ด้วยความดีใจแล้วก็กลับไป...
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
◄ll กลับสู่ด้านบน
|
|
[ ตอนที่ 3 ]
(อัพเดท 30 กรกฎาคม 2560)
เริ่มก่อสร้างพระวิหาร
...เป็นอันว่า ขอนำเรื่องที่พระเดชพระคุณท่านเล่าไว้เพียง แค่นี้ ในเวลาต่อมาท่านก็ได้เดินทางไปพิสูจน์ตามที่พระพรหมบอกไว้
ในขณะที่เดินทางมาถึงสามแยกควนเนียง พร้อมทั้งได้เปลี่ยนจากการสร้างเจดีย์เป็นวิหารแทน ในตอนนี้ ม.ล.วรวัฒน นวรัตน ได้เล่ารายละเอียดไว้ว่า...
...เมื่อหลวงพ่อรับปากพรหมองค์นี้แล้ว พรหมก็บอกจุดที่อยู่ให้ หลวงพ่อพาพวกเราไปดู
ก็พบว่าจุดที่ตั้งตรงกับที่บอกไว้ทุกประการ แม้แต่เลขที่หลักกิโลเมตร คณะหลวงพ่อจึงมั่นใจมาก เกิดความศรัทธา ตกลงกันว่าจะสร้างวิหารเล็กๆ
คลุมพื้นดินตรงจุดนั้น
พวกเราจึงลงจากรถเข้าไปติดต่อเจ้าของที่ดินชื่อ นางกิ้มไล่ ชูโตชนะ เพื่อจะขอซื้อที่ดินบริเวณนี้ ปรากฏว่าเจ้าของที่ดินไม่ยอมขาย
แต่ยินดีที่จะให้หลวงพ่อก่อสร้างพระวิหารได้ตามต้องการ และจะขอนำที่ดินดังกล่าวทูลเกล้าฯ ถวายในหลวง เมื่อตกลงเรื่องที่ดินเรียบร้อยแล้ว
หลวงพ่อจึงแบ่งงานดังนี้
(๑) พลอากาศโท ม.ร.ว. เสริม และ คุณเฉิดศรี ศุขสวัสดิ์ เป็นหัวหน้ากลุ่มคณะศิษย์จากส่วนกลาง รับบริจาค จากผู้มีศรัทธาได้เงินจำนวนประมาณ ๒๐๐,๐๐๐
บาท
(๒) นายมนตรี ตระหง่าน ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ในสมัยนั้นพร้อมด้วย นายเจริญจิตร ณ สงขลา ปลัดจังหวัด สงขลา เป็นหัวหน้ากลุ่มชาวสงขลา
รวบรวมเงินได้ประมาณ ๑๔๐,๐๐๐ บาท
(๓) ร้อยตรี ม.ล.วรวัฒน นวรัตน ผู้อำนวยการการ ไฟฟ้าฝ่ายผลิต จังหวัดกระบี่ เป็นผู้ประสานงานทั่วไป โดยมี นายช่างจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต จังหวัดกระบี่
คือ นายณรงค์ ณ ตะกั่วทุ่ง เป็นผู้ออกแบบ และ นายปลั่ง ขาวบาง เป็นผู้ ควบคุมคนงานก่อสร้าง
การก่อสร้างครั้งนี้ ใช้เงินเฉพาะการซื้อวัสดุอุปกรณ์ ส่วนแรงงานและการขนส่ง ได้อาศัยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เขต ๓ การก่อสร้างวิหารจึงใช้เงินน้อยกว่าปกติ
รวมแล้วเพียง ๒๔๐,๐๐๐ บาท คือเงินจากส่วนกลาง ๒๐๐,๐๐๐ บาท และเงินจากจังหวัดสงขลาเพียง ๔๐,๐๐๐ บาทเท่านั้น ส่วนที่เหลือทางคณะศิษย์ หลวงพ่อมิได้ติดตามผล
และมิได้เกี่ยวข้องด้วยประการใด
และหลวงพ่อได้สั่งไว้ว่า ก่อนจะเริ่มงานก่อสร้าง หลวงพ่อจะไปบวงสรวงพรหมผู้คุ้มครององค์พระพุทธรูปทองคำใต้ดิน วันที่มีพิธีบวงสรวง หลวงพ่อฯ พร้อมกับ
หลวงปู่สิม วัดถ้ำผาปล่อง หลวงปู่ธรรมชัย วัดทุ่งหลวง หลวงปู่ชัยวงศ์ วัดพระบาทห้วยต้ม ได้เดินทางไปร่วมพิธีด้วย
หลวงพ่อฯ ได้ให้หลวงปู่ทั้งสามตรวจดูพระพุทธรูป ข้าพเจ้าแปลกใจที่เห็น หลวงปู่ธรรมชัย องค์เดียวลงนั่งยอง ๆ ดู แต่หลวงพ่อและหลวงปู่องค์อื่นๆ
ยืนดูสักครู่ เมื่อการตรวจดูเสร็จสิ้นลง หลวงพ่อเล่าให้ฟังว่า เมื่อสักครู่ หลวงปู่ธรรมชัย ถูกนังเลงดีเล่นตลก คือ "พรหม" ท่านเอามือมาแกล้งปิด
หลวงปู่ธรรมชัยยืนดูไม่เห็น ท่านจึงต้องนั่งลงดูจึงเห็น
หลวงพ่อเล่าประวัติให้พวกเราฟังว่า พระพุทธรูปทองคำ องค์นี้ "ปางมารวิชัย" ทำด้วยทองคำเนื้อเก้า คือบริสุทธิ์เกือบ
๑๐๐ % มีขนาดเล็กกว่าพระพุทธรูปทองคำที่ วัดไตรมิตร กรุงเทพฯ ประมาณ ๑ ศอก สมัยก่อนได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ที่ พระอุระ คือที่หน้าอกขององค์พระ
และสามารถถอดออกมา แล้วประกอบกันได้ถึง ๙ ชิ้น สร้างในสมัยกรุงสุโขทัย มีรวม ๓ องค์ เป็นชุดเดียวกัน องค์ที่ ๓ ปัจจุบันจมอยู่ในแม่น้ำโขง (เรียกกันว่า
พระเจ้าล้านตื้อ)
ในตอนนี้ ผู้เขียนจะขอเพิ่มเติมเรื่องราวตามที่ คุณสุนิสา วงศ์ราม ได้ค้นคว้ามาจากนักประวัติศาสตร์
เพื่อเป็นการยืนยันคำกล่าวของท่านพอจะสรุปได้ว่า พระพุทธรูปทองคำ วัดไตรมิตร องค์นี้ สร้างในสมัยสุโขทัยยุคกลาง
ประมาณรัชสมัย พ่อขุนรามคำแหงมหาราช (พ.ศ. ๑๘๒๐ - ๑๘๖๐) ขนาดหน้าตักกว้าง ๓ เมตรเศษ องค์พระถอดออกได้เป็น ๙ ชิ้น
เพิ่งจะรู้ว่าเป็นพระทองคำแท้เมื่อ วันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๔๙๘ (ในขณะที่อัญเชิญองค์พระขึ้นบนวิหาร แรงกระแทกทำให้ปูนที่พอกเอาไว้กระเทาะออก)
สำหรับปูนที่พอกองค์พระไว้ แน่นหนาถาวร เป็นลักษณะอยุธยาตอนปลาย สันนิษฐานว่าเพื่อป้องกันพม่าทำลายยึดเอาทองคำไปเป็นสมบัติ
และถูกปูนห่อหุ้มซ่อนไว้ไม่มีใครทราบนานถึง ๑๘๘ ปี
ขอวกกลับมาถึงเรื่องของเราต่อไปว่า เมื่อการก่อสร้างดำเนินไปได้ระยะหนึ่ง พลเอกบุญชัย บำรุงพงศ์ ได้ถวายพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์
(แบบพระพุทธชินราช) ให้เป็นพระประธานในพระวิหารนี้ หลวงพ่อถวายชื่อพระพุทธรูปองค์นี้ว่า พระพุทธมหามงคลบพิตร
ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับพระทองคำที่ฝังอยู่ใต้ดิน
ในครั้งนี้คณะหลวงพ่อได้เดินทางไปพร้อมกับ หลวงปู่สิม และ หลวงปู่ธรรมชัย เพื่อทำพิธีอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนพระวิหาร เมื่อวันที่ ๑๕
พฤษภาคม ๒๕๑๙
ในวันที่อัญเชิญพระประธานขึ้นไปบนแท่นในวิหารนั้น หลังจากหลวงพ่อทำพิธีบวงสรวงเสร็จแล้ว ท่านได้เล่าว่า
เมื่อสักครู่นี้ พรหมท่านขยับเลื่อนองค์พระใต้ดิน ให้เข้ามาอยู่ใต้พระประธาน ซึ่งอยู่ในวิหารเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้
เพราะจุดที่ฝังพระไว้ใต้ดิน ไม่สามารถตอกเสาเข็มลงไปได้ อาจทำให้เกิดอันตรายต่อพระพุทธรูปใต้ดิน หรือห้องใต้ดินที่คนสมัยก่อนสร้างเอาไว้ได้
พระพุทธรูปองค์นี้ สร้างสมัย พ่อขุนรามคำแหงมหาราช มีการทำพิธีตรึงแผ่นดินไทยไว้ ทิศเหนือที่เชียงแสน ทิศใต้ที่สงขลา เลยเขตนี้ออกไปไม่แน่นอน
ยามใดไทยถอยอำนาจลง ก็แยกตัวออกไปเป็นประเทศอื่น แต่ว่าสมัยต่อไปภายหน้าพวกดังกล่าวนี้ คือ ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู เป็นต้น
และดินแดนเหนือเชียงรายขึ้นไป จะกลับมารวมกับไทยอีก ทั้งนี้ เพราะเขาเห็นว่าไทยรวย จะมาช่วยกันใช้เงินของไทย ฉะนั้น
ต่อไปถึงสมัยที่คนไทยส่วนใหญ่เป็นคนดีมีศีลธรรมแล้ว พระพุทธรูปทองคำองค์นี้ จะขึ้นมาอยู่บนพื้นดินให้คนสักการบูชา
เมื่องานก่อสร้างพระวิหารเสร็จลง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพร้อมด้วย สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ เพื่อทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุใน พระเกศมาลาของพระพุทธรูป เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๖ ส.ค. ๒๕๑๙
พระสงฆ์ที่ร่วมพิธีในวันนั้น นอกจากหลวงพ่อแล้ว ยังมีพระสุปฏิปันโน อีก ๗ รูป คือ หลวงปู่คำแสน คุณาลังกาโร, หลวงปู่บุดดา ถาวโร, หลวงปู่ชุ่ม
โพธิโก, หลวงปู่ชัยวงศ์, หลวงปู่กล่อม วัดบุปผาราม, หลวงปู่มหาอำพัน และ หลวงปู่ธรรมชัย ธัมมชโย อีกด้วย
(โปรดติดตามตอน "พระบรมสารีริกธาตุเสด็จมาเอง")
◄ll กลับสู่ด้านบน
|
|
[ ตอนที่ 4 ]
(อัพเดท 6 สิงหาคม 2560)
พระบรมสารีริกธาตุเสด็จมาเองพร้อมตลับเงิน
สำหรับเรื่อง พระบรมสารีริกธาตุ ที่บรรจุนั้น คุณจันทร์นวล นาคนิยม ได้เล่าไว้ว่า...
.....หลวงพ่อท่านก็คิดๆ ว่า จะเอาพระบรมสารีริกธาตุจากไหน วันหนึ่งก็เดินไปเดินมาอยู่ในกุฏิ ก็มองไปเห็นห่อผ้าผูกริบบิ้นสีเหลือง
อยู่บนชั้นที่วางเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุ หลวงพ่อท่านก็ไปหยิบเอามาดู แล้วออกมาถามว่าเป็นของใคร
เมื่อทุกคนไม่ทราบ ท่านก็เอาเข้าไปในกุฏิ แก้ห่อผ้าออกดูก็พบตลับเงินเป็นรูปเหลี่ยมๆ ราวห้าหรือหกเหลี่ยม เป็นตลับเงินฉลุลวดลายสวยงาม
เมื่อเปิดฝาตลับดูในนั้น จะมีของรูปกลมๆ คล้ายนาฬิกา ใส่กระเป๋าแบบคนโบราณใช้ มีหูหรือห่วง ใส่กับสร้อยก็ได้ สองข้างของรูปวงกลมนั้น จะเป็นหินใสๆ
มองเห็นข้างในนั้น จะมีพระบรมสารีริกธาตุ ๑๐ กว่าองค์ สวยงามมาก
เมื่อหลวงพ่อเปิดดูก็พบพระบรมสารีริกธาตุหลายสี มีสีทับทิม ๔ - ๕ องค์ สีงาช้าง สีอิฐ และสีขาว สวยจริงๆ องค์ที่ใหญ่ที่สุดเกือบเท่าเม็ดถั่วเขียว
ทั้งหมดหลวงพ่อถวาย ในหลวง บรรจุไว้ในพระเศียร
พระพุทธานุภาพ
ส่วนพระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ ก็ได้เล่าเรื่องนี้ไว้ว่า...
.....วันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๑๙ ก่อนหน้านั้นอาตมาไปจังหวัดสงขลา แล้วก็ไปพบเหตุสำคัญ ว่าสถานที่ตรงนั้นควรจะสร้างพระพุทธรูปสักองค์หนึ่ง ก็จัดแจงสถานที่
คิดว่าจะซื้อก็ไม่ไหว ก็พอดี ร.ต.ต.ชัยณรงค์ ชูโตชนะ (เป็นบุตรชายบุญธรรมของ นางกิ้มไล่) เป็นเจ้าของที่ จะไปขอซื้อท่าน ไม่ทันจะซื้อ ท่านทราบข่าว
ท่านก็เลยมาถวาย บอกว่าหลวงพ่อขอรับ หลวงพ่อจะสร้างที่..วัดเอาตามชอบใจเลยขอรับ
แน่ะ.ท่านให้..แหม..ศรัทธาของท่านดี ที่ติดทางรถไฟและติดถนนรถยนต์ ถ้าจะเอากันจริงๆ ราคามันก็แพงลิ่ว ก็คิดว่าที่ประมาณสัก ๑ งาน
แสนบาทนี่เขาจะเอาหรือเปล่าก็ไม่ทราบ พอตกลง ท่านถวายก็ไปทำการขอพื้นที่ตามธรรมเนียมของพระ เพราะเกรงว่าจะมีอนุษย์เป็นผู้เฝ้าที่
เมื่อขอพื้นที่เสร็จ คนสำคัญคนหนึ่ง คือ พ.อ.เฉลียว เป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายทหาร มานั่งบูชาเจ้าของที่
จุดธูปเทียนว่า ที่นี้ถ้ามีพระพุทธรูปทองคำจริง ก็ขอให้ข้าพเจ้าได้ถูกหวยลอตเตอรี่ แล้วท่านก็ไปถูกลอตเตอรี่
ต่อมาท่านก็เกิดสงสัย เอ้า..บูชาใหม่ ว่าขอให้ถูกล็อดเตอรี่ ท่านก็ถูกใหม่ เรื่องถูกล็อตเตอรี่นี่ จะเป็นอำนาจของพระพุทธานุภาพ
คือพระทองคำหรือไม่นี่อาตมาไม่ทราบ แต่ท่านพันเอกเฉลียวท่านว่าอย่างนั้น และท่านก็ถูกจริงๆ ก็เป็นเรื่องของท่าน อาตมาไม่โฆษณาถึงขนาดนั้น
ต่อมาทำการก่อสร้าง ระหว่างการก่อสร้างก็ปรากฏว่า นายช่างกับลูกจ้างกับลูกมือช่าง เห็นเหตุอัศจรรย์ คือเห็นภาพพระ..เป็นพระสงฆ์
มายืนใหญ่ตระหง่านให้เห็นอยู่เสมอ เรื่องนี้จะมีอะไร จริงหรือไม่จริง ท่านพิสูจน์เอาเอง อาตมาก็ฟังข่าวมา เดี๋ยวจะหาว่าเป็น เจ้ากรมข่าวลือ ไปเสียอีก
เขาลือกันมาอย่างนั้น ก็ฝากฝังบรรดาท่านพุทธบริษัทให้พิสูจน์ในความจริง
เมื่อวันเวลาใกล้จะมาถึงงานเสร็จ สำหรับการก่อสร้างก็ได้อาศัยบรรดาญาติโยมพุทธบริษัท ในกรุงเทพฯ บ้าง นอกกรุงเทพฯ บ้าง สงขลาบ้าง ที่อื่นบ้าง
ช่วยกันสร้างวิหาร ร.ต.ต. ชัยณรงค์ เป็นเจ้าของที่มอบถวายเป็นกรณีพิเศษ
สำหรับพระประธาน ท่านพลเอกบุญชัย บำรุงพงศ์ กับคุณหญิงเป็นคนถวาย ส่วน เรือนแก้ว คณะศิษยานุศิษย์ทำครอบให้
เป็นอันว่างานสร้างเสร็จ จึงได้ให้ท่าน พลเรือเอกจิตต์ สังขดุลย์ ปลัดกระทรวงกลาโหม กับ พลอากาศโท ม.ร.ว. เสริม ศุขสวัสดิ์
เจ้ากรมสื่อสารทหาร คุณหญิงสุวรรณาภา สังขดุลย์ และ คุณเฉิดศรี ศุขสวัสดิ์ กราบถวายบังคมทูลเชิญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ
สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ให้เสด็จบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๑๙
ต่อมา ท่านอาจารย์ภาวาส รองราชเลขาฯ ได้นำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาแจ้งอาตมาทราบว่า เรื่องนี้พระองค์ทรงทราบแล้ว แต่วันที่
๒๖ พระองค์จะเสด็จไป พระราชทานปริญญาบัตรที่มหาวิทยาลัยสงขลาฯ ถ้าจะเสด็จวันที่ ๑๒ ก็จะกลายเป็นเสด็จ ๒ ครั้ง แล้วท่านอาจารย์ภาวาสได้บอกว่า
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำรัสว่า
ท่านเองท่านก็มีความเคารพนับถือหลวงพ่อมาก ถ้าหลวงพ่อจะให้เสด็จไปวันนั้น ท่านก็จะไป แต่ว่ามันเป็นการไป ๒ ครั้ง การทูลเชิญเสด็จคราวนี้
เป็นการทูลเชิญเสด็จบรรจุพระ บรมสารีริกธาตุ อาตมาฟังแล้วก็ตกใจ เมื่อทราบน้ำพระทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ
ว่าพระองค์ทรงเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา
การทูลเชิญเสด็จครั้งนี้ มิได้หมายความว่าต้องจำกัดเวลา แต่เห็นว่าวันที่ ๑๒ สิงหาคม เป็นวันพระราชสมภพของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ
จึงตั้งใจจะถวายพระราชกุศล
แต่ในเมื่อทราบว่า พระองค์มีพระราชภารกิจจะต้องเสด็จไปพระราชทานปริญญาบัตร วันที่ ๒๖ สิงหาคม ก็ตกใจว่า เอ๊ะ..ถ้าเราทำอย่างนั้นก็เป็นการไม่สมควร
จึงได้บอกท่านอาจารย์ภาวาส รองราชเลขาฯ ให้กราบทูลพระองค์ว่า
อาตมาขอขอบพระทัยพระองค์มาก ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ถ้าทราบว่าจะเสด็จวันนั้น ก็คงไม่ทูลเชิญเสด็จวันที่ ๑๒
ในเมื่อจะมีกำหนดพระราชทานปริญญาบัตรก็เป็นการดี ขอพระราชทานวันนั้นแหละ เป็นรายการต่อท้ายเลย ก็เป็นอันว่าเป็นที่ตกลง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงรับ
เมื่อวันเวลาใกล้จะมาถึง ก่อนหน้าวันที่จะเสด็จ อาตมาก็เดินทางโดยรถไฟจากหัวลำโพงพร้อมคณะ ไปตอนเย็น..เช้าสว่าง ถึงสถานีทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช รถจอด
๑๕ นาที คณะที่ไปด้วยก็ลงไปซื้ออาหาร ก็นำหนังสือพิมพ์ติดขึ้นมา ปรากฏว่าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐพาดข่าวตัวโตในทำนองว่า ฤาษีลิงดำใช้อิทธิพลบีบ
บังคับเจ้าคณะจังหวัด ให้ถอดถอนเจ้าอาวาส...ฯลฯ
......เรื่องนี้ผู้เขียนของดไว้ เพราะผู้อ่านทราบความจริงกันดีอยู่แล้วว่า สมัยก่อนหลวงพ่อต้องเจออุปสรรคมากมาย นับตั้งแต่มาอยู่วัดท่าซุงเมื่อปี ๒๕๑๑
จนถึงปี ๒๕๒๘ ที่เจ้าอาวาสองค์เก่าต้องสึกไป หลังจากนั้นวัดท่าซุงจึงเจริญรุ่งเรืองตลอดมา
ส่วนเรื่องไปใต้ผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปด้วย จึงขอเล่าเสริมไว้สักนิดว่า วันที่ท่านออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ตรงกับวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๑๙
แล้วไปพักค้างคืนที่บ้านพักรับรองของท่านอธิการบดีสมัยนั้น ภายในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กลางคืนวันที่ ๒๕ ก็มีการถวายสังฆทานกัน
พอถึงรุ่งเช้าวันที่ ๒๖ หลวงพ่อพร้อมด้วยหลวงปู่ทั้งหลาย ก็ได้ออกมายืนรอกันอยู่ที่หน้าบ้านพัก พอดี คุณเลิศลักษณ์ (เหม่) ศรีสิงหสงคราม มีกล้องถ่ายรูป
จึงขอให้หลวงพ่อและหลวงปู่ รวม ๘ องค์ (ความจริงงานนี้มี หลวงปู่กล่อม เจ้าอาวาสวัดบุปผาราม ฝั่งธนบุรี ไปร่วมงานด้วย แต่ท่านแยกไปพักต่างหาก)
ยืนถ่ายรูปกันเป็นที่ระลึก
เพราะเจ้าของบ้านบอกว่า ต้นไม้ที่ขึ้นเป็นเถาอยู่หน้าบ้านนี้ ปกติไม่เคยออกดอกเลย แต่ครั้งนี้ได้ออกดอกเป็นสีส้ม บานสะพรั่งงามดีเหลือเกิน
ภาพนี้และภาพในหลวงประทับสนทนากับหลวงพ่อภายในวิหารนั้น ผู้เขียนได้ขอรูปต้นฉบับจากคุณเหม่ แล้วได้นำมาพิมพ์ออกเผยแพร่ไว้บูชากัน ตั้งแต่ปี ๒๕๓๗
ปัจจุบันนี้ท่านก็ได้มรณภาพไปหมดแล้ว โดยมี หลวงปู่ชัยวงศ์ เป็นองค์สุดท้าย)
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
◄ll กลับสู่ด้านบน
|
|
[ ตอนที่ 5 ]
(อัพเดท 13 สิงหาคม 2560)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙
ทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระเกตุมาลา พระพุทธมหามงคลบพิตร
เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๑๙
...กลับไปพูดถึงเรื่องสงขลา ตามหมายกำหนดการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จถึงประมาณ ๑๗ นาฬิกา ทรงเจิมเทียนชัยของสถานีตำรวจตระเวนชายแดนเขต ๓
ที่กองกำกับการเขต ๙ คือหลังจากทรงศีลแล้วก็ทรงเจิม
หลังจากนั้น อาตมาก็นำเสด็จสู่พระวิหาร ทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา กลับลงมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถวายเครื่องไทยทาน
พระสงฆ์ถวายพระพร ถวายอดิเรก แล้วก็เสร็จพิธี
ต่อไปตามกำหนดการเป็นการเยี่ยมเยียนประชาชน แต่ที่ไหนได้ เมื่อทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุแล้ว พระองค์ก็ทรงพระเมตตามาตรัสถามเรื่องธรรมะ
ความจริงที่ท่านถาม ไม่ได้ถามเรื่องบ้านเมืองกิจการงาน เป็นเรื่องธรรมะ การปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา
พระราชดำรัสที่ตรัสถาม อาตมาเกือบจะจนแต้มหลายหน นี่พูดกันอย่างจริงๆ ของจริงเป็นของจริง เพราะว่าพระปรีชาสามารถที่ตรัสออกมา ทำให้อาตมาคิดว่า
นี่พระองค์ทรงปฏิบัติได้ดีจริงๆ ไม่ใช่ลอกตำรากัน
ในช่วงเวลานั้น สมเด็จพระบรมราชินีนาถกับสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงทั้งสองพระองค์ ก็เสด็จเข้าเยี่ยมราษฎร แบ่งงานกันทำ
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสร็จภารกิจจากการสั่งสนทนากับอาตมาแล้ว ก็เสด็จไปร่วมเยี่ยมเยียนราษฎร คลุกคลีกับราษฎรอย่างกันเอง ประทับนั่งคุย
ราษฎรหลายคนน้ำตาไหลพราก โดยส่วนใหญ่ปลื้มปีติมาก
คณะศิษย์ฯ เฝ้ารับเสด็จ ม.ล.วรวัฒน (ใส่สูทสีดำ) คุณอำไพ พวงทอง,
คุณชัยวัฒน์ นาคสวัสดิ์, คุณพรนุช คืนคงดี, คุณบุษกร คืนคงดี, คุณเพ็ญศรี (แดง) วัสนชิน
ในเวลานั้น เลยแจ้งกับเจ้าหน้าที่ไปว่า ราษฏรที่เขามีเงินน้อย น่าจะให้เขาเอาสตางค์ใส่พาน ถ้าเขาอยากถวายพระองค์เท่าไรก็ได้ ดีกว่าซื้อพวงมาลัย
แต่เขาไม่ทำกัน
ความจริงในที่ทุกสถาน ถ้าเจ้าหน้าที่ประกาศว่า ราษฏรคนใดจะถวายพวงมาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัง สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอละก้อ คิดเป็นเงินไปเถอะ แต่ไม่บังคับ มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ ไม่ต้องใช้พานก็ได้ ใช้มือส่งถวายท่านก็รับ อย่างนี้..จะมีประโยชน์มาก
ทีนี้กลับมาถึงเรื่องที่พระองค์ตรัสถามอยู่ตอนหนึ่งว่า
...ที่หลวงพ่อก็ดี อาจารย์องค์อื่นก็ดี มักจะขู่อยู่เสมอว่า คนที่เจริญสมาธิจะต้องมีศีลบริสุทธิ์ แต่กระผมเห็นว่า
ถึงแม้ว่าศีลไม่บริสุทธิ์ก็เจริญสมาธิได้..?
นี่สิ..บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย เห็นน้ำพระทัยของพระองค์ไหม เอาเวลาที่ไหนมาเจริญสมาธิ เหน็ดเหนื่อยทั้งวันทั้งคืน
ตอนนี้อาตมาจึงได้ถวายพระพรว่า
คนที่มีศีลบริสุทธิ์ หรือไม่มีศีลบริสุทธิ์ ก็มีสมาธิได้ ฝึกสมาธิได้ แต่ว่าผลย่อมต่างกัน ตอนที่คนที่มีศีลบริสุทธิ์
เขามีผลอย่างคนมีศีลบริสุทธิ์ คนที่มีศีลไม่บริสุทธิ์ ก็มีผลอย่างคนที่มีศีลไม่บริสุทธิ์
แล้วก็ตอนหนึ่งที่พระองค์ตรัสว่า "พระองค์หญิงวิภาวดีมีความปรารถนานิพพาน" อันนี้ถ้าจำพลาดไปก็ต้องขอพระราชทานอภัย แต่คงไม่ผิดตามใจความ
"...พระองค์หญิงวิภาวดีมีความหวังตั้งใจเพื่อนิพพาน เห็นว่าจะเป็นการไกลเกินไป" (หรือยังไงไม่ทราบ หรือว่ายากเกินไป จะมีผลน้อยหรือจะไม่มีผลเลยก็ได้
เป็นความหมาย แต่ว่าพระองค์ไม่ได้ตรัสยาว)
อาตมาก็ได้ถวายพระพรว่า สำหรับคนที่ตั้งใจจริง ย่อมมีผล เป็นของไม่หนักในเรื่องพระนิพพาน
นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัท พระองค์ตรัสมากกว่านี้ พระองค์ตรัสไปก็ทรงดูอากาศไป ตรัสไป ม.ล.วรวัฒน บอกว่าใช้เวลาทั้งหมด ๓๕ นาที..มืด
เมื่ออากาศสลัวตาก็เปิดไฟฟ้า พระองค์ก็เสด็จลงไปเยี่ยมประชาชน มีคนบางคนเขาบอกว่า อาตมาไปหน่วงเหนี่ยวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เขามา
แนะนำว่าอาตมานั่งที่เก้าอี้ พระองค์นั่งคุกเข่าก็ต้องลุกขึ้นยืน
ความจริงไม่พากย์กันไว้เสียก่อนนี่..คนพากย์ เอ๊ย..คนบอกบท ไม่ได้บอกไว้เสียก่อน อยู่ๆ ก็คิดว่าเก้าอี้มีตั้งหลายตัว คิดว่าพระองค์จะประทับบนเก้าอี้
มาถึงปั๊บ..! พระองค์ทรงนั่งคุกเข่าลงข้างหน้า พระวรกายตรง..ตั้งตรง อาตมาก็ตกใจ
เออ..นี่คนชั้นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน มาถึงมานั่งคุกเข่าลงข้างหน้า ไอ้เก้าอี้เขาตั้งให้ก็เฉพาะกันพอดี ยกเท้าขึ้นมาพับเพียบก็ไม่ได้
เลยต้องนั่งห้อยขาคุยกับเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ แหม..นึกในใจว่า ไอ้เรานี่มันซวยจริงๆ ถ้ายกขาขึ้นมาทำท่าพับเพียบก็ต้องหล่นแน่
ดีไม่ดีก็ไปทับพระองค์เข้าอีก..."
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
◄ll กลับสู่สารบัญ
|
|
[ ตอนที่ 6 ]
(อัพเดท 20 สิงหาคม 2560)
พิธีพุทธาภิเษกที่กองกำกับการ
ตำรวจตระเวนชายแดน เขต ๙ (ค่ายเสนาณรงค์)
...เป็นอันว่า วันนั้นตามหมายกำหนดการก็ควรจะเสร็จเวลา ๖ โมงเย็น เมื่อเวลาค่ำแล้ว พระอาทิตย์ตกแล้ว เขาเปิดกระแสไฟฟ้า
พระองค์ก็เสด็จเข้าพลับพลาที่ประทับ ผู้ว่าราชการจังหวัดก็เชิญบุคคลที่จะโดยเสด็จพระราชกุศลมาถวายเงินกี่สิบราย อาตมาจำไม่ได้ รายละ ๕,๐๐๐ บาท
อันนี้น่าจะขอบใจท่านผู้ว่าราชการจังหวัดคนนั้น และขอบคุณในความดีของบรรดาท่านพุทธศาสนิกชน ที่เขาถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศล
แล้วก็มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัด จัดการเรื่องทะนุบำรุงบริเวณเขตนั้นที่เขาถวายไว้ ทั้งพระ ทั้งวิหาร ทั้งที่ดิน
ถ้ามีอะไรบกพร่องสลายตัวลงไป ต้องซ่อมแซม โดยจะใช้เงินจำนวนนั้นเข้ามาบูรณะปฏิสังขรณ์ หน้าที่ของอาตมาในการที่จะต้องเข้าไปยุ่งกับพระพุทธรูปองค์นี้
ก็หมดไปตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นไป เพราะมอบหมายการบำรุงรักษาไว้กับเจ้าคณะจังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัดแล้ว
องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเวลานั้น ก็ทรงแสดงความเมตตา ถามว่าใครเป็นเจ้าของที่ ท่านก็เรียกผู้ว่าราชการจังหวัด เรียก ร.ต.ต.ชัยณรงค์
เจ้าของที่เข้าไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ไม่ได้ทรงยืนหรือนั่งอยู่เฉยๆ ให้คนเข้าไปหา ทรงเดินออกมาหาเขาด้วย
แหม..แสดงพระองค์วันนั้นเห็นชัด เห็นชัดว่าไม่ได้ทรงถือตัวว่าเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นกันเองกับบรรดาประชากรทั้งหมด
ยังความปลาบปลื้มปีติยินดีให้กับประชาชน คนที่น้อมเกล้าฯ ถวายของทุกอย่างแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์
วันนั้นว่ากันหมดกระเป๋า มีอะไรก็ถอดถวายกัน ปลื้มใจ..ดีใจ บางคนกราบถวายบังคมทูลด้วย ร้องไห้ไปด้วย น้ำตาไหลไปตาม ๆ กัน ไม่ใช่บางคน..หลายคน !
วันนั้นอาตมาจะต้องเข้าพิธีพุทธาภิเษกที่ กองกำกับการ ตำรวจตระเวนชายแดน เขต ๙ จังหวัดสงขลา ซึ่งมี พ.ต.อ. เจิดจำรัส เป็นผู้นิมนต์ไว้
คิดว่าจะเข้าไปในพิธีประมาณ ๑ หรือ ๒ ทุ่ม กว่าจะออกจากที่นั่นได้ หลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับ เห็นจะเป็นเวลาประมาณ ๒ ทุ่ม
พอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับ ก็มีคนเข้ามาหา ขอน้ำมนต์บ้าง ขอให้จับศีรษะบ้าง..ว่ากันไป !
ความจริงมันเหนื่อยมาตั้งแต่เช้า ร่างกายก็ไม่ค่อยดี ป่วยด้วย ลูบกันไปคลำกันไป กว่าจะเสร็จพิธีก็เกือบ ๔ ทุ่ม เข้าไปถึงกองกำกับการเขตฯ รถกำลังแน่น
เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องขอทางให้ ไปถึงก็ไปนั่งอ่อนใจหาที่อาบน้ำ กว่าจะเข้าพิธีกับเขาได้ก็นาน
พิธีการวันนั้น ไปนั่งปลุกเสกอยู่พักหนึ่งแล้วก็นอน มันไม่ไหว นอนตื่นขึ้นมาประมาณตีสอง ก็ว่ากันใหม่อีกที เรียกว่าวันนั้นก็เหมา คือปลุกทั้งคืน
แต่ความจริงไม่ได้เต็มคืนหรอก เข้าก็ดึก ดึกมากก็พัก พัก..เช้ามืดตื่นขึ้นมาก็ว่ากันไป..สะดวกดีเหมือนกัน
ขออนุโมทนา
......เป็นอันว่า ชาวสงขลาที่รัก และชาวกระบี่ ชาวภูเก็ต ชาว ตรัง ชาวพังงา ชาวสตูล ชาวปัตตานี ยะลา นราธิวาส โอ๊.. เยอะแยะที่ใกล้ๆ พากันไปที่นั่น
อาตมาขอขอบคุณท่าน การขอบคุณก็น่าจะขอบคุณบรรดาประชาชนทั่วประเทศไทย ที่เมตตาสงเคราะห์อาตมา จะไปทางไหนก็สงเคราะห์ที่นั่น ด้วยจตุปัจจัยบ้าง
โดยเฉพาะในการก่อสร้างวิหารคราวนี้ อาตมามอบภาระในการก่อสร้างให้ หม่อมหลวงวรวัฒน นวรัตน ลูกศิษย์คนสนิท แท้ ๆ นะ ท่านผู้นี้ก็มีคุณอย่างเลิศ
เจ้าหน้าที่การช่างก็แสนจะดี ทำงานทุกอย่างโดยไม่เรียกค่าจ้างรางวัล สำหรับ ม.ล.วรวัฒน นี่ อาตมาให้ฉายาพิเศษว่า ขุนกระบี่ เพราะว่าทำงานดี
อ่อนน้อม แล้วก็การทำงานคล่องตัวมาก
เป็นอันว่า กิจการงานทุกอย่างสำเร็จขึ้นมาได้ เพราะอาศัยความสามัคคีของท่านพุทธบริษัทหลายท่านถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศล ในการสร้างวิหารทานคราวนี้
ฝ่ายผู้ว่าราชการจังหวัดบอกว่ามากเกินไป จนกระทั่งแบ่งเอาไว้ถวายในวันหลัง
ที่เห็นกำลังใจศรัทธาของบรรดาพี่น้องชาวสงขลาและหาดใหญ่ มีน้ำใจประกอบไปด้วยความดี คือมีกุศลศรัทธาเป็นกรณีพิเศษ ยากที่เราจะพึงหาได้
เงินทุกบาททุกสตางค์ที่พระองค์ท่านได้ทรงรับไว้ ไม่เคยเอาติดกระเป๋ากลับไป มอบไว้เป็นการบำรุงวิหาร...สวัสดี
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
◄ll กลับสู่สารบัญ
|
|
[ ตอนที่ 7 ]
(อัพเดท 26 สิงหาคม 2560)
พระราชพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
และพระบารมีในหลวง เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2519
บันทึกเรื่องราวโดย ร้อยตรี ม.ล.วรวัฒน นวรัตน
อดีต ผอ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิต จังหวัดกระบี่
...เมื่องานก่อสร้าง วิหารพระพุทธมหามงคลบพิตร เสร็จลง ในหลวงและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ
ได้เสด็จมาทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ในพระเศียรของพระพุทธรูปในวิหาร ข้าพเจ้าเป็นผู้ประสานงานที่หาดใหญ่ นึกเป็นห่วงว่า วันที่ในหลวงเสด็จถ้าฝนตก
ประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จจะเดือดร้อน เนื่องจากไม่มีเต็นท์สำหรับราษฎร
ข้าพเจ้าจึงให้ นายปลั่ง ขาวบาง บน กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ขออย่าให้ฝนตกในบริเวณงานวันนั้น ขณะที่กำลังมีงาน แต่หลวงพ่อบอกว่า
เสด็จในกรมฯ ไม่ทรงรับการบนครั้งนี้ ท่านอธิบายว่าในหลวงเป็นคนมีบุญมาก ไปที่ใดฝนต้องตก อย่างน้อยที่สุดต้องโปรยลงมาเป็นละออง จะห้ามไม่ให้ตกเลยนั้น
ห้ามไม่ได้
ปรากฏว่าวันงานตั้งแต่เช้าขึ้นมาแสงแดดแจ่มใส แต่พอตกตอนสายเมฆรวมตัวกัน เหมือนเป็นร่มคันใหญ่มหึมาแผ่บางๆ กั้นกันแดดไว้พอเย็นสบาย
พอตกบ่ายก่อนถึงเวลาเสด็จประมาณ 1 ชั่วโมง ฝนตกลงมาซู่หนึ่งแล้วหยุดตก เป็นอันว่าจริงตามธรรมเนียม เรื่องฝนตกในงานที่ในหลวงเสด็จนี้
ข้าพเจ้าได้ประสบมาด้วยตนเองอีก 2 ครั้ง คือ ในงานพระราชพิธีเปิดเขื่อนบางลาง อำเภอบันนังสตาร์ จังหวัดยะลา
ก่อนเวลาเสด็จประมาณ 1 ชั่วโมง ฝนตกหนัก ลมพายุพัดแรงมาก กระหน่ำจนพวกเรากลัวว่าเต็นท์ที่กางรับเสด็จจะปลิวลอยไปตามลม พวกวิศวกรอาวุโสที่แต่งตัวเต็มยศ
เครื่องแบบสีขาวยังยอมไม่กลัวเปื้อน ช่วยกันจับเสาเต็นท์ช่วยกันโหนไว้ เสาละ 2 3 คน นึกในใจว่า ถ้าเต็นท์หลุดพ้นจากพื้นดิน ลอยตามแรงลมละก็
คอขาดกันเป็นแถว เจ้านายเล่นงานตายแน่ๆ
แต่พอทันทีที่ ฮ. พระที่นั่งแตะพื้นดิน เพลงสรรเสริญพระบารมีดังขึ้นเท่านั้นเอง ฝนหยุดตก ลมหยุดพัด นิ่งสงบลง พวกเราถอนหายใจเฮือกโล่งไปได้
ไม่ต้องโหนเสาเต็นท์เป็นลิงเป็นค่างต่อหน้าพระที่นั่งอีกต่อไป ทั้งนี้ เป็นเพราะบารมีปกเกล้าโดยแท้จริง
.....อีกครั้งหนึ่งที่ข้าพเจ้าประสบก็คือ ตอนที่เสด็จพระราชดำเนินไปวัดท่าซุง งานนี้เป็นฤดูฝนทิ้งช่วงยาว อากาศร้อนจัด
ทุ่งนาแถบจังหวัดอุทัยธานี จังหวัดสิงห์บุรี อ่างทอง ชัยนาท ขาดน้ำ แผ่นดินแห้ง ต้นข้าวในนาสีเหลือง ทำท่าจะตายมิตายอยู่ จะรอมร่อ ก่อนวันมีงาน
บริษัทเฟคเตอร์ นำเอาเครื่องแอร์ประมาณ 3 เครื่องมาตั้งเป่าลมเย็นถวายในหลวง
ข้าพเจ้านึกในใจว่า ถ้าในหลวงเสด็จที่ใดแล้วอากาศร้อนจัด แดดไม่ร่ม ฝนไม่ตก ก็แปลกประหลาดมากแล้ว ครั้นถึงวันที่เสด็จพระราชดำเนิน ตอนเช้ายังมีแดดตามปกติ
พอตกตอนสายเมฆบางๆ เริ่มรวมตัวเหนือท้องฟ้าวัดท่าซุง เหมือนเป็นร่มขนาดมหึมากั้นกันแสงแดด ทำให้อากาศไม่ร้อนจัด มีลมพัดมาพอเย็นสบาย
ต่อมา ได้เวลาอีกประมาณสองชั่วโมง จะถึงกำหนดที่ในหลวงเสด็จ มีฝนไล่ช้างตกลงมากราวใหญ่แล้วก็หยุดตก หลวงพ่ออธิบายว่าตอนที่ฝนตกนั้น
เทวดาที่เป็นกองหน้ามาถึงแล้ว มีหน้าที่ลาดตระเวนดูแลความปลอดภัยให้ในหลวง และสมเด็จฯ ครั้นพิธีการเสร็จ ในหลวงและสมเด็จฯ เสด็จพระราชดำเนินกลับ
ข้าพเจ้าขับรถฝ่าฝนตั้งแต่ออกจากจังหวัดอุทัยธานี จนถึงเข้าเขตกรุงเทพฯ ที่ปัดน้ำฝนประจำรถต้องทำงานไม่ได้หยุด ตลอดระยะทางอันยาวไกลนั้น แผ่นดินที่แห้งแล้ง
ทุ่งนาที่กำลังขาดน้ำ ต้นข้าวที่กำลังจะตายก็กลับชุ่มชื่น ได้น้ำฝนมาต่อชีวิตให้เจริญงอกงามต่อไปได้
นี่คือการแสดงออกของฟ้าและดินให้พวกเราได้ประจักษ์ในพระบุญญาธิการของในหลวงและสมเด็จฯ
เมื่อในหลวงและสมเด็จฯ พร้อมด้วยพระเจ้าลูกเธอ ทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุลงในพระเศียรพระพุทธมหามงคลบพิตร ที่ตำบลน้ำน้อย อำเภอหาดใหญ่
เสร็จแล้วและทรงเยี่ยมเยียนราษฎรที่มาเฝ้ารับเสด็จ จนสมควรแก่เวลาแล้ว ก็เสด็จพระราชดำเนินกลับ หลวงพ่อได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนหนึ่ง
ในพระเศียรพระพุทธมหามงคลบพิตรด้วย และหลวงพ่อได้แบ่งพระบรมธาตุส่วนหนึ่งให้พวกเราที่เป็นลูกหลานหลวงพ่อได้มีโอกาสบรรจุด้วย
ข้าพเจ้าไม่ได้เข้าไปบรรจุด้วย เพราะยืนอยู่ห่าง นึกเสียดายที่ไม่มีโอกาส แต่ขณะนั้น มีพระบรมธาตุองค์หนึ่งหล่นจากที่เก็บ ตกลงมาบนพื้นวิหารกลิ้งหายไป
หลวงพ่อสั่งว่า ใครหาพบให้คนนั้นเป็นผู้นำไปบรรจุในพระเศียร ลูกศิษย์คนอื่นๆ ช่วยกันหาพักใหญ่ไม่มีใครพบ ข้าพเจ้าจึงเข้าไปช่วยหาด้วย
มองหาอย่างละเอียดก็ไม่พบ แต่ขณะนั้นเอง รู้สึกว่าเท้าข้าพเจ้าได้เหยียบเม็ดอะไรเล็กๆ จึงยกเท้าขึ้นมองดู
ปรากฏว่า ตนเองได้เหยียบเอาพระบรมธาตุเข้าไว้อย่างเต็มเปา รู้สึกทั้งดีใจและตกใจพร้อมกัน ดีใจที่เป็นผู้พบพระบรมธาตุโดยไม่ได้คิดฝัน
ตกใจที่ทำบาปมากโดยไม่รู้ตัว จึงรีบขอขมาโทษต่อพระบรมธาตุองค์นั้น แล้วอาราธนานำขึ้นไปบรรจุลงในพระเศียรเป็นคนสุดท้าย
พระบรมธาตุที่หลวงพ่อนำมาครั้งนี้มีลักษณะเป็นเม็ดเล็กๆ เป็นแก้วใสสีต่างๆ กัน มีหลายสีหลายขนาด จำนวนรวมกันประมาณ 1 กำมือ
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
◄ll กลับสู่สารบัญ
|
|
[ ตอนที่ 8 ]
(อัพเดท 2 กันยายน 2560)
พระพุทธรูปทองคำองค์ใหญ่
ฝังใต้ดินที่อำเภอหาดใหญ่
(เล่าโดย ร้อยตรี ม.ล.วรวัฒน - คุณกานดา นวรัตน)
...ขณะที่คณะหลวงพ่อแล่นรถจากเมืองตรังเข้าเขตอำเภอหาดใหญ่ พรหมองค์หนึ่งไปต้อนรับหลวงพ่อ
แล้วรายงานตัวว่ามีหน้าที่เฝ้าพระพุทธรูปทองคำ
ซึ่งฝังอยู่ใต้ดินที่ตำบลน้ำน้อย อำเภอหาดใหญ่ มีขนาดย่อมกว่าพระพุทธรูปทองคำ วัดไตรมิตร กทม. เล็กน้อย ที่พระอุระของพระพุทธรูปทองคำใต้ดินองค์นี้
บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเอาไว้ได้
คนทั่วไปปัจจุบันไม่ทราบ จึงเดินข้ามไปมาเป็นบาปโดยไม่ตั้งใจ คณะหลวงพ่อเป็นคณะบุญ พระพรหมจึงมาแจ้งให้ทราบ
และขอให้ช่วยสร้างสิ่งก่อสร้างอะไรสักอย่างเอาไว้บนดินตรงจุดนั้น คนที่เดินไปมาจะได้อ้อมหลบไป ไม่เดินข้ามพระ เกิดบาปอีกต่อไป
หลวงพ่อถามพรหมว่าจะยอมให้ขุดขึ้นมาหรือไม่ พรหมตอบว่า คนไทยปัจจุบันศีลธรรมยังไม่ดี ถ้าขุดขึ้นมาปรากฏว่าเป็นพระทองคำแท้ จะเกิดการฆ่ากันตายแย่งชิงกัน
แม้จะเอาตำรวจ ทหารมาเฝ้าก็ไม่ได้
เพราะว่าพระพุทธรูปองค์นี้ถอดได้เป็นชิ้นๆ 9 ชิ้น คนโกงจะเอาของปลอมมาใส่แทน เอาของจริงไป ตำรวจ ทหารอาจหลับยาม สมรู้ร่วมคิดกันได้
หลวงพ่อรับปากพรหมองค์นี้แล้ว พรหมก็บอกจุดที่อยู่ให้หลวงพ่อพาพวกเราไปดู ก็พบว่าจุดที่ตั้งตรงกับที่พรหมบอกไว้ทุกประการ
บริเวณนั้นอยู่ติดคลองน้ำน้อย ทางหลวงหาดใหญ่ สงขลา เลขที่หลัก กม. ก็ตรงกับที่พรหมบอกไว้ คณะหลวงพ่อจึงมั่นใจมาก เกิดความศรัทธา
ตกลงกันว่าจะสร้างวิหารเล็กๆ คลุมพื้นดินตรงจุดนั้น
พวกเราจึงลงจากรถ เข้าไปติดต่อเจ้าของที่ดิน ชื่อ นางใล่ นามสกุล ชูโตชะนะ มีบุตรชายบุญธรรมชื่อ ร.ต.ต.ชัยณรงค์ ชูโตชะนะ
เมื่อได้รับอนุญาตจากเจ้าของที่ดินให้สร้างวิหารได้โดยไม่คิดราคาที่ดิน
ท่านเจ้าของที่ดินศรัทธาหลวงพ่อมาก กราบเรียนท่านหลวงพ่อจะเอาที่กว้างเท่าไรก็เอา จะยกให้ถวายวัดหรือถวายในหลวง
คณะศิษย์หลวงพ่อขณะนั้น อันมี พลอากาศโท ม.ร.ว.เสริม ศุขสวัสดิ์ เป็นหัวหน้าคณะทางกรุงเทพฯ หาเงินทุน โดยรวบรวมจากคณะศิษย์ทั้งปวง
ส่งไปให้ข้าพเจ้าก่อสร้างวิหาร
รวมกับเงินทุนที่ คุณมนตรี ตระหง่าน ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และคุณเจริญจิตต์ ณ สงขลา ปลัดจังหวัดสงขลา รวบรวมได้จากชาวเมืองสงขลา
เป็นเงินทุนจากกรุงเทพฯ เกือบ 2 แสนบาท และเงินทุนจากสงขลาแสนกว่าบาท รวมกันแล้วมีจำนวนประมาณกว่า 3 แสนบาท ใช้เงินทุนนี้สร้างวิหารตรีมุขขึ้น
มี คุณณรงค์ ณ ตะกั่วทุ่ง ช่างสถาปนิกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เขต 3 กระบี่ เป็นผู้ออกแบบ มี คุณปลั่ง ขาวบาง ช่างโยธา จากโรงไฟฟ้าลิกไนต์กระบี่
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เขต 3 เป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้าง
มี คุณสวาท ภัทรพรนันท์ หัวหน้าโรงไฟฟ้าแกสเทอร์ไบน์หาดใหญ่ เป็นผู้ช่วยติดต่ออำนวยความสะดวก โดยมีข้าพเจ้าเป็นผู้ประสานงาน
พวกเราเริ่มงานกันโดยไปติดต่อร้านค้า อำเภอหาดใหญ่ อาศัยชื่อเสียงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เขต 3 เป็นเครื่องช่วยให้ร้านค้าทั้งหลายเกิดความเชื่อถือ
ตกลงใจให้ซื้อของเชื่อโดยจ่ายเงินเป็นงวดๆ
พอได้เงินจาก คุณเฉิดศรี ศุขสวัสดิ์ แม่งานทางกรุงเทพฯ ก็เอาไปจ่ายร้านค้า แล้วเอาใบรับเงินไปหักล้างเงินเบิกมา ตามแบบการใช้เงินของราชการ
พอเงินทางกรุงเทพฯ หมด ก็เบิกจากกองทุนจังหวัดสงขลา ใช้เงินจากสงขลาไปประมาณ 6 7 หมื่นบาท
ยังมีเงินทุนที่ชาวเมืองสงขลาบริจาคคงเหลืออยู่ประมาณ 1 แสนบาท คณะศิษย์หลวงพ่อไม่ได้เบิกมาใช้ และมิได้เกี่ยวข้องด้วย
ตั้งแต่เสร็จงานสร้างวิหารนี้เป็นต้นมา
งานก่อสร้างนี้ ใช้เงินเฉพาะการซื้อวัสดุ อุปกรณ์ ส่วนแรงงานและการขนส่ง ได้อาศัยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เขต 3 ช่วยสงเคราะห์ให้เปล่าโดยไม่คิดมูลค่า
การก่อสร้างวิหารนี้จึงใช้เงินน้อยกว่าปกติ รวมแล้วเพียงประมาณ 2.3 2.4 แสนบาท
ทั้งนี้ หลายอย่างทุ่นรายจ่ายลงไป เช่น กระเบื้องมุงหลังคา เราก็ส่งรถการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ มา ซื้อไปจากกรุงเทพฯ ราคาจึงต่ำกว่าจะซื้อที่หาดใหญ่
หลวงพ่อและหลวงปู่ใช้ทิพจักขุญาณ
...หลวงพ่อได้สั่งไว้ว่า ก่อนจะเริ่มงานก่อสร้าง หลวงพ่อจะไปบวงสรวงพรหมผู้คุ้มครององค์พระพุทธรูปทองคำใต้ดิน วันที่มีพิธีบวงสรวง
หลวงพ่อได้พา หลวงปู่สิม วัดถ้ำผาปล่อง อำเภอเชียงดาว และ หลวงปู่ครูบาธรรมชัย วัดทุ่งหลวง จังหวัดเชียงใหม่ และ หลวงปู่ครูบาชัยวงศา
วัดพระบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ไปร่วมพิธีด้วย หลวงพ่อได้ให้หลวงปู่ทั้งสาม ตรวจดูพระพุทธรูป
ข้าพเจ้าแปลกใจที่เห็น หลวงปู่ครูบาธรรมชัย องค์เดียวลงนั่งยองๆ ดู แต่หลวงพ่อและหลวงปู่องค์อื่นๆ ยืนดู สักครู่เมื่อการตรวจดูเสร็จสิ้นลง
หลวงพ่อเล่าให้ฟังว่า
เมื่อครู่ หลวงปู่ครูบาธรรมชัยถูกนักเลงดีเล่นตลก คือ พรหมท่าน เอามือมาแกล้งปิดตาหลวงปู่ครูบาธรรมชัยยืนดูไม่เห็น ท่านจึงต้องนั่งลงดู จึงเห็น
ประวัติพระพุทธรูปทองคำองค์นี้
......หลวงพ่อเล่าประวัติพระพุทธรูปทองคำองค์นี้ให้พวกเราฟังว่า ทำด้วยทองคำเนื้อเก้า บริสุทธิ์เกือบ 100% ตามปกติทองคำบริสุทธิ์ 100%
เนื้ออ่อนเกินไปไม่แข็งแรงพอ เอามาหล่อพระพุทธรูปองค์ใหญ่ไม่ได้ จำเป็นต้องเอาโลหะอื่นๆ เช่น ทองแดงมาผสมเพิ่มความแข็งแรง
ขนาดของพระพุทธรูปองค์นี้ โตเกือบเท่าองค์ที่อยู่ วัดไตรมิตร กรุงเทพฯ สร้างในสมัยกรุงสุโขทัย มีรวม 3 องค์เป็นชุดเดียวกัน
องค์ที่สามปัจจุบันจมอยู่ในแม่น้ำโขง พบแล้วแต่ยังไม่ยอมขึ้นมา
แม้ว่าบริษัทอิตาเลียนไทย ซึ่งกู้เรือรบศรีอยุธยา ขนาดหนัก 2,000 ตัน ที่ถูกทิ้งระเบิดจมแม่น้ำเจ้าพระยา ยังกู้ได้สำเร็จ
แต่พระพุทธรูปที่จมแม่น้ำโขงอยู่ กู้เท่าไรก็ไม่สำเร็จ จะใช้รถแทรกเตอร์ผูกลวดสลิงดึง หรือจะใช้รอกกว้านช่วยดึงก็ไม่สำเร็จ ลวดสลิงขาด
พระพุทธรูปเลื่อนไหลไกลออกไป สู่ร่องน้ำลึกเข้าทุกที ผลสุดท้ายต้องยุติเลิกล้มความพยายาม บริษัทอิตาเลียนไทยยอมแพ้
ทั้งนี้เพราะเทวดาที่เฝ้าองค์พระพุทธรูปไม่ยอมให้นำขึ้นมา เนื่องจากยังไม่ถึงเวลาจะขึ้น ต้องรอให้ศีลธรรมคนไทยดีขึ้นถึงระดับเสียก่อน
จะได้ไม่เกิดการฆ่าฟันกัน แย่งชิงกันเป็นเจ้าของพระทองคำ และป้องกันคนโกงจะเอาชิ้นส่วนปลอมมาใส่แทน เอาชิ้นส่วนที่เป็นทองคำแท้ไป
เมื่อสร้างวิหารพระเสร็จลง ท่านพลเอกบุญชัย บำรุงพงศ์ มีจิตศรัทธามอบพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ ขนาดหน้าตักเกือบ 4 ศอก หนึ่งองค์
ให้เป็นพระประธานในวิหาร
ข้าพเจ้าจัดทีมการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เขต 3 มารับไปจากกรุงเทพฯ โดยไม่คิดรวมราคาก่อสร้างวิหาร ทำให้ประหยัดเงินไปได้มาก ในวันที่จะยกพระประธานเข้าตั้งในวิหาร
หลวงพ่อได้ไปทำพิธีบวงสรวงอีกครั้ง
พอเสร็จพิธีบวงสรวง หลวงพ่อเล่าว่า เมื่อสักครู่นี้ พรหมท่านขยับเลื่อนองค์พระใต้ดินเข้ามาอยู่ใต้พระประธาน ซึ่งอยู่ในวิหารเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ เพราะจุดที่ฝังพระไว้ใต้ดินไม่สามารถตอกเสาเข็มลงไปได้ อาจทำให้เกิดอันตรายต่อพระพุทธรูปใต้ดิน
หรือทำอันตรายต่อห้องใต้ดินที่คนสมัยก่อนสร้างเอาไว้ได้
หลวงพ่อเล่าเพิ่มเติมว่า พระที่อยู่ในวิหารให้ชื่อว่า พระพุทธมหามงคลบพิตร ใช้ชื่อเดียวกับพระที่อยู่ใต้ดิน
สมัยก่อนพระทองคำองค์นี้ ชาวเมืองตั้งบูชาอยู่ในตัวเมืองสงขลา ต่อมาตอนที่พม่ายกกองทัพไปตีภาคใต้ ชาวเมืองกลัวว่า ชาวพม่าจะปล้นชิงเอาพระทองคำไป
ชาวเมืองสงขลาจึงนำเอาพระทองคำขึ้นบนเรือแล่นหนีเข้าไปในป่าลึก
จนถึงคลองน้ำน้อยเห็นเป็นทำเลที่เหมาะสม จึงอาราธนาพระทองคำขึ้นจากเรือ ทำการขุดดินเป็นหลุมขนาดใหญ่และลึก ก่ออิฐเป็นกำแพงกั้นยาแนวกันน้ำรั่วซึม
แล้วบรรจุองค์พระทองคำเอาไว้พร้อมด้วยเพชร พลอย เครื่องประดับมีค่าสูงจำนวนมากมายเป็นพุทธบูชา ทำผนังหลังคาปิดกั้นเอาไว้อย่างแข็งแรงดีแล้ว
เก็บรักษาความลับไว้เป็นอย่างดีไม่มีคนอื่นทราบ อนุชนรุ่นหลังจึงไม่มีใครรู้ความลับนี้
หลวงพ่อได้อธิบายประวัติพระพุทธรูปทองคำมหามงคลบพิตร ว่าสร้างในสมัย พระเจ้าขุนรามคำแหงมหาราช กรุงสุโขทัย มีการทำพิธีตรึงแผ่นดินไทยไว้
ทิศเหนือที่เชียงแสน ทิศใต้ที่สงขลา เลยเขตนี้ออกไปไม่แน่นอน ยามใดไทยมีอำนาจก็มาอยู่รวมกับคนไทย ยามใดไทยถอยอำนาจลงก็แยกตัวออกไปเป็นประเทศอื่น
แต่ว่า สมัยต่อไปภายหน้าพวกดังกล่าวนี้ คือ กลันตัน ตรังกานู ปะลิส ไทรบุรี และดินแดนเหนือเชียงรายขึ้นไป จะกลับมารวมกับไทยอีก ทั้งนี้
เพราะเขาเห็นว่าไทยรวย จะมาช่วยกันใช้เงินของไทย
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
◄ll กลับสู่สารบัญ
|
|
[ ตอนที่ 9 ]
(อัพเดท 9 กันยายน 2560)
บูรณะพระวิหารน้ำน้อย
เป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗
...ผู้เขียนได้รวบรวมประวัติการสร้างไว้เพียงเท่านี้ ต่อไปก็จะขอย้อนกลับเข้ามาถึงเหตุการณ์ ในปัจจุบันนี้
ตามที่ได้เคยเล่าไปใน ธัมมวิโมกข์ แล้วว่า นับตั้งแต่นั้นมาตราบเท่าพระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ ท่านได้มรณภาพไป พระวิหารหลังนี้ก็ถูกทอดทิ้งไปนานถึง ๑๘ ปี
(๒๕๑๙-๒๕๓๗)
คงมีแต่ นางกิ้มไล่ เจ้าของที่ดินเท่านั้น ที่คอยเฝ้าดูแลอยู่เป็นประจำ นานๆ จึงจะมีคนมาบูชากราบไหว้สักทีหนึ่ง แม้แต่ผู้เขียนเองก็ลืมไปแล้ว
จนกระทั่งย้ายมาประจำอยู่ที่ วิหารสมเด็จองค์ปฐม เมื่อปี ๒๕๓๖
วันหนึ่งมีคนมาเที่ยวจากหาดใหญ่ จึงได้ถามถึงวิหารที่ "บ้านน้ำน้อย" ว่ารู้จักไหม เขาบอกว่ารู้จัก ใครไปบนอะไรก็มักจะได้ผล
แต่ไม่รู้ว่าใครมาสร้างเอาไว้ ทราบแต่ว่าชาวบ้านแถวนั้น เขาเรียกกันว่า พระผุด
จึงนึกในใจว่า แหม..คุณโยมหม่อมนี่ ท่านเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน ตามที่หลวงพ่อชื่นชมไว้จริงๆ ไม่ยอมเขียนป้ายบอกไว้เลยว่าใครเป็นผู้สร้างกัน
และมีประวัติความเป็นมาอย่างไรบ้าง
ต่อมาจึงได้ปรึกษากับคุณโยมหม่อม (มล.วรวัฒน) และพวกชาวปักษ์ใต้ด้วยกัน มี คุณธนนันท์ (อ้อย) ช่วยรอด เป็นต้น
เพื่อช่วยกันฟื้นฟูสถานที่สำคัญที่ครูบาอาจารย์ไปสร้างไว้ ถึงแม้ท่านจะเคยบอก ว่าไม่เกี่ยวข้องแล้วก็ตาม
แต่พวกเราก็เห็นว่าควรรักษา สมบัติของพ่อ ไว้ ซึ่งปัจจุบันนี้มีเพียงแค่ ๒ แห่ง เท่านั้นที่ท่านทำไว้ เพื่อป้องกันผืนแผ่นดินไทย นั่นก็คือที่
พระธาตุจอมกิตติ เป็นการรักษาเขตแดนทางภาคเหนือ ส่วนภาคใต้ก็มีพระวิหารหลังนี้ ที่เป็นสิริมงคลแก่ดินแดนทางภาคใต้เช่นกัน
.....ฉะนั้น ครั้นถึง วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๗ หลังจากเดินทางไปกราบไหว้รอยพระพุทธบาท ณ เกาะแก้วพิศดาร จ.ภูเก็ต
แล้วคณะศิษย์จากส่วนกลางและชาวปักษ์ใต้อีกหลายจังหวัด จึงได้เดินทางไปร่วมฉลองพระวิหาร เนื่องในการบูรณะเป็นครั้งแรก พร้อมทั้งอัญเชิญรูปหล่อของ
หลวงปู่ปาน และหลวงพ่อ เพื่อนำไปประดิษฐานไว้ในพระวิหารอีกด้วย
แต่ก่อนที่จะถึงวันงานนั้น ก็ได้มีการประสานงานกับ คุณอ้อย พร้อมกับ คุณแย้ม - คุณแฉล้ม, คุณนคร, คุณสมพงษ์, คุณนิโรจน์, คุณปรีชา
และชาวหาดใหญ่-ชาวสงขลาหลายท่าน เพื่อเตรียมการซ่อมแซมให้ทันงาน ทุกท่านได้เข้ามาช่วยทั้งแรงกายและทุนทรัพย์
นับว่ามีผลในการฟื้นฟูเป็นอย่างมากทีเดียว
การบูรณะครั้งแรก จึงได้มีการปรับปรุงครั้งใหญ่ นับตั้งแต่กระเบื้องหลังคา ฉัตรที่อยู่บนวิหาร ฝ้าเพดาน พร้อมทั้งเดินสายไฟและเปลี่ยนหลอดไฟใหม่
แล้วก็ทาสีใหม่ทั้งหมด ส่วนองค์พระประธานก็ได้ปิดทองใหม่ และประดับกระจก ติดประตูเหล็กยืดกันขโมย
ส่วนทางเข้าก็มีป้ายพระวิหาร เผื่อคนเดินทางผ่านไปมาจะได้เห็นง่าย พร้อมทั้งถมดินข้างหน้าให้ สูงขึ้นมาอีก ภายในวิหารก็จารึกประวัติไว้บนป้ายหินอ่อน
และนำรูปภาพสมัยที่หลวงพ่อมากับหลวงปู่ทั้งหลาย และขณะที่นั่งสนทนากับ ในหลวง ติดไว้ที่ข้างฝาผนัง
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรักษาประวัติความเป็นมาให้คนภาย หลังได้ทราบเรื่องราวเอาไว้ ครั้นถึงวันงานพวกชาวหาดใหญ่ สงขลาก็นำอาหารมาจัดเลี้ยง
พร้อมทั้งกางเต้นท์จัดสถานที่ไว้เป็นอย่างดี มีการผูกผ้าประดับประดาด้วยธงทิวทั้งหลาย (คณะท่านเจ้าอาวาส วัดท่าข้าม มาช่วยผูกผ้าทุกปี)
ทางเข้าก็ทำเป็นซุ้มประดับด้วยดอกไม้สวยงาม พร้อมป้ายอักษรต้อนรับ
......เมื่อขบวนแห่รูปหลวงปู่หลวงพ่อผ่านซุ้มประตูแล้ว คณะที่มาจึงได้ร่วมกันทำบุญเป็นค่าซ่อมแซมวิหารครั้งใหญ่ ประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ บาทเศษ
ปรากฏว่าพอเสร็จงานพิธีแล้ว ฝนก็ตกลงมาทันที ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ฝนก็หยุดให้เป็นจังหวะ ไม่ว่าจะจัดริ้วขบวน หรือทำพิธีบวงสรวง และฟ้อนรำเป็นการสมโภช
ก็สามารถทำได้โดยสะดวก ฉะนั้น เมื่อกลับมาถึงวัดแล้ว ฝนตกจนน้ำท่วมหาดใหญ่ แต่ก็ไม่ท่วมหนักเหมือนปี ๒๕๔๓
เป็นอันว่า พระวิหารหลังนี้ก็อยู่ในสภาพที่ดีต่อไป เริ่มมีลูกศิษย์หลวงพ่อไปกราบไหว้กันมากขึ้น จนเป็นที่รู้จักกันทั่วไป
ถึงกับมีคนมาสร้างห้องส้วมไว้ให้ แต่ก็มีคนมาปลูกบ้านอาศัยอยู่ใกล้ ๆ จนมีเรื่องฟ้องร้องกันถึงศาล แล้วก็ชนะไปในที่สุด เขาจึงย้ายออกไปแต่โดยดี
ต่อมาคณะพัทลุง หาดใหญ่ และ "คณะมาลัยจากฟ้า" จังหวัดสงขลา ก็ได้รวมตัวกันมาทะนุบำรุงวิหารอยู่เป็นประจำ
ปัจจุบันก็มีการนั่งกรรมฐานกันในวันหยุดปลายเดือนทุกเดือน บางครั้งก็นัดกันมาทำกิจกรรมต่างๆ เพื่ออุทิศตนให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไป...สวัสดี
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
◄ll กลับสู่สารบัญ
|
|
[ ตอนที่ 10 ]
(อัพเดท 16 กันยายน 2560)
ท่านพระครูปลัดอนันต์และคณะครูฝึก
เริ่มเดินทางไปสอนมโนมยิทธิทางปักษ์ใต้ ปี ๒๕๓๙
...หลังจากการบูรณะพระวิหารเม่ื่อปี ๒๕๓๗ เสร็จแล้ว จะขอเล่าย้อนกลับไปสักเล็กน้อยว่า ต่อมาก็นึกถึงความประสงค์เดิมของ
นางกิ้มไล่ ชูโตชนะ ที่จะทูลเกล้าฯ ถวายที่ดินนี้แด่ ในหลวง จนบัดนี้ก็ยังไม่สามารถจะทำได้
อีกทั้งสังขารของคุณยายก็ร่วงโรยไปตามวัย (อายุ ๘๗ ปี) เกรงจะไม่ทันได้ทูลเกล้าถวายเสียก่อน
ผู้เขียนจึงได้ปรึกษากับ ม.ล.วรวัฒน นวรัตน และ นายอำเภอวิวัฒน์ เรืองมณี ถึงแม้ทั้งสองท่านจะเกษียณไปแล้ว
แต่ก็ยังมีความเข้าใจในการดำเนินเรื่องเป็นอย่างดี
โดยการทำเรื่องกราบบังคมทูลถวายที่ดิน เมื่อวันที่ ๑๘ พ.ย. ๒๕๓๗ ซึ่งตรงกับวันที่ไปฉลองนั่นแหละ ต่อมาทางสำนักราชเลขาธิการก็ได้แจ้งมาว่า
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ทรงรับไว้แล้ว พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทางศึกษาธิการจังหวัดสงขลาเป็นผู้ดูแล
ทั้งนี้ ได้มีการมอบโฉนดที่ดินให้แก่ ท่านศึกษาธิการจังหวัด อันมี ท่านครูปลัดอนันต์ เป็นประธาน
พร้อมด้วยคณะศิษย์และลูกหลานของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ ทั้งภาคใต้และกรุงเทพฯ ร่วมเป็นสักขีพยานในงานพิธีครั้งนี้ด้วย เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๔๑
เมื่อท่านทั้งสองดำเนินการให้แล้ว รู้สึกดีใจที่คุณยายจะได้นอนตาหลับ และคงจะมีความสุขใจที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อเคยเมตตาสงเคราะห์ทำ สถูป
เป็นที่บรรจุอัฐิไว้ ที่ด้านหลังพระวิหาร ๒ องค์ คือทั้งสามีและของคุณยายเอง ที่ได้ถวายที่ดินให้แม้เพียงแค่ ๒ งานเศษเท่านั้น
หลวงพ่อท่านก็ยังมีน้ำใจถึงเพียงนี้
เพราะฉะนั้น หลังจากกาลเวลาผ่านไปนานหลายปี ครั้งแรกที่ได้พบกันลองย้อนถามคุณยายว่า ยังจำหลวงพ่อได้ไหม คุณยายมองแล้วยิ้ม ๆ บอกด้วยสำเนียงปักษ์ใต้ว่า
ยังจำได้เป็นอย่างดี ยังระลึกถึงท่านอยู่เสมอ
พอบอกว่าจะมาบูรณะพระวิหาร คุณยายถึงกับดีใจ พร้อมทั้งเล่าว่า ก่อนที่หลวงพ่อจะมาสร้างพระวิหาร ที่ดินตรงนี้เคยปลูกพืขผักอะไรก็ไม่ได้ผล
แต่ที่ของคนอื่นเขาปลูกกันได้ นับว่าเป็นเรื่องแปลกมากทีเดียว
หลังจากนั้นมาคุณยายก็ไม่เหงาอีกแล้ว มีคนมาเยี่ยมเยียนอยู่เสมอ เมื่อรู้ว่าหลวงพ่อมาสร้างวิหารไว้ตรงนี้ จนกระทั่ง ถึงปี ๒๕๓๙ มีคณะชาวสุราษฎร์ ภูเก็ต
และหาดใหญ่ อยากจะนิมนต์ให้ท่านเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันนี้ คือ ท่านพระครูปลัดอนันต์ไปสอนพระกรรมฐานทางปักษ์ใต้บ้าง
ท่านจึงได้มอบหมายให้ผู้เขียนไปประสานงานกับทางใต้ แล้วท่านก็ได้เดินทางไปพร้อมกับคณะครูฝึกมโนมยิทธิ นับตั้งแต่สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต และหาดใหญ่
และได้จัดงานพิธีฉลองพระวิหาร เนื่องในโอกาสครบรอบ ๒๐ ปี เมื่อวันที่ ๒๕ ส.ค. ๒๕๓๙ พร้อมทั้งได้บูรณะพื้นบริเวณรอบพระวิหารด้วย
หลังจากนั้นท่านก็ได้นำคณะศิษย์เดินทางไปกราบไหว้เป็นประจำทุกปี
......แต่ในวันที่ทำพิธีนับเป็นที่อัศจรรย์มาก หลังจากท่านเจ้าอาวาสกดปุ่มเพื่อเปิดป้ายพระวิหารฯ พระสงฆ์เจริญชัย มงคลคาถา
ปี่พาทย์บรรเลงเพลงมหาฤกษ์มหาชัย พร้อมกับพลุ ๙ นัด ดังขึ้นสนั่นหวั่นไหว
ทันใดนั้นจะมีหยาดฝนโปรยปราย ลงมาทันทีที่พิธีเสร็จสิ้นลง มิใช่เป็นฝนที่ตกลงมาจนเปียก เป็นแต่เพียงละอองฝอยๆ เท่านั้น ทั้งๆ
ที่ในขณะนั้นไม่มีวี่แววว่าฝนจะตกเลย และอากาศในวันนั้นก็เหมือนเป็นใจ ไม่มีแสงแดดเลย อากาศคลึ้มเย็นสบายๆ ตลอดเวลา
แล้วท่านก็ได้เดินทางไปอีกทุกปี จนกระทั่งถึงปี ๒๕๔๓ ได้เกิดอุทกภัยร้ายแรงครั้งใหญ่ในตัวเมืองหาดใหญ่ รวมถึงบริเวณบ้านน้ำน้อยนี้ด้วย
เพราะว่าน้ำไม่น้อยสมชื่อเสียแล้ว
ถ้าดูตามภาพประกอบที่ คุณปรีชา อ่อนดี ถ่ายส่งมาให้ จะเห็นว่าระดับน้ำสูงมาก ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็มีการนำดินมาถมเป็นแนวคันดินไว้ข้างพระวิหารแล้ว
แต่ก็ไม่สามารถจะช่วยได้ โดยเฉพาะพัดลมที่ ท่านอาจินต์ ซื้อไว้ประจำที่นี่ก็พลอยถูกน้ำท่วมไปด้วย
ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการ จึงได้มีการประชุมปรึกษาหารือ พร้อมทั้งออกแบบแปลนเพื่อสร้างใหม่ เดิมคิดเอาไว้ว่า จะขอซ่อมแซมเฉพาะด้านบนหลังคา
แต่เมื่อมีน้ำท่วมใหญ่เกิดขึ้น ประจวบกับกรมทางหลวงจะปรับปรุงถนนหน้าพระวิหาร ให้สูงขึ้น
ฉะนั้น ถ้ามองดูภาพรวมในอนาคตแล้ว จะเห็นภาพวิหารหลังเก่าต่ำลงไปอีก ต่อไปกระแสน้ำที่พัดผ่านด้านหน้า พระวิหารลงไปในลำคลอง คงจะไหลเชี่ยวแรงขึ้นอีก
นับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง
เมื่อได้ปรึกษากันอย่างรอบคอบแล้ว ต่างเห็นสมควรว่าจะต้องสร้างใหม่เลยดีกว่า เพื่อรักษาทรัพย์สมบัติที่ครูบาอาจารย์สร้างไว้ให้
ดีกว่าจะปล่อยให้เสียหายไปกับธรรมชาติ และก่อนที่จะสายเกินไป เราควรจะรีบทำให้ดีไปเสียเลย เพื่อรองรับกับจำนวนคนทั้งหลาย ที่นับวันจะเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ
อีกทั้งกำลังใจและกำลังทรัพย์ ก็พอจะรวมตัวกันได้ในขณะนี้
เพราะฉะนั้น ถึงแม้พระเดชพระคุณหลวงพ่อจะจากไปนานแล้ว แต่พวกเราก็ได้ช่วยกันสืบทอดเจตนารมย์ไว้ทุกประการ โดยเฉพาะภาคใต้ก็มีสถานที่นี้เพียงแห่งเดียว
ที่ พระพรหมผู้อารักขาพระพุทธรูปทองคำที่ฝังอยู่ไว้ใต้ดิน ได้กล่าวไว้กับหลวงพ่อก่อนที่จะสร้างวิหารหลังนี้ว่า...
ผมเห็นว่ามีแต่ลูกศิษย์ของท่านเท่านั้น ที่มีความศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา
ผมจึงได้ขอให้ท่านสร้างวิหารในครั้งนี้...
จึงหวังว่าทุกท่านที่เคยร่วมสร้างไว้สมัยพระเดชพระคุณหลวงพ่อ หรือท่านที่ยังไม่มีโอกาส
ก็จะมีโอกาสได้ร่วมสร้างในครั้งนี้กับท่านเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน เพื่อเป็นการบูชาคุณทั้ง ๓ สถาบัน คือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
เนื่องจากสถานที่นี้เป็นที่สำคัญมาก เพราะเป็นที่รวมทั้ง ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายอาณาจักรและพุทธจักร เพื่อเป็นสิริมงคล แก่อาณาเขตภาคใต้ โดยที่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาร่วมพิธี พร้อมกับ พระสุปฏิปันโน อันมี หลวงพ่อและหลวงปู่ทั้งหลาย
เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๖ ส.ค. ๒๕๑๙ และจะครบรอบ ๒๕ ปีในปีนี้ ซึ่งบังเอิญตรงกันอย่างเหลือเชื่อใน วันอาทิตย์ที่ ๒๖ ส.ค. ๒๕๔๔
ฉะนั้น ต้องถือว่าเป็นฤกษ์งามยามดีที่จะเริ่มงานกัน ภายใต้ "คณะกรรมการ" ที่ได้รับมอบหมาย จะได้เข้ามาช่วยดำเนินการต่อไปจนแล้วเสร็จ
โดยไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงใดๆ ทั้งสิ้น ทุกคนทำกันด้วยความเสียสละอย่างแท้จริง...
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
◄ll กลับสู่สารบัญ
|
|
.
[ ตอนที่ 11 ]
(อัพเดท 23 กันยายน 2560)
เริ่มงานก่อสร้างวิหารหลังใหม่
.....ก่อนที่จะเล่าเรื่องการก่อสร้างวิหารหลังใหม่ ขอเล่าย้อนตามบันทึกจากผลงานที่ คุณสมพงษ์ พันธ์อมรชัย แจ้งไว้ว่า
มีการบริจาคเงินจากหลายท่าน เพื่อนำมาซื้อต้นไม้และปุ๋ย พร้อมกับวางท่อน้ำร่วมกับเจ้าหน้าที่ อบต.บ้านน้ำน้อย เป็นต้น
จนกระทั่งการรื้อพระวิหารเพื่อสร้างใหม่
ทาง บริษัท ยูโนแคล จำกัด ก็ได้ส่งรถยกพร้อมกับพนักงานมาช่วยเหลือเป็นอย่างดี ทำให้งานสะดวกยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะการยกพระประธานออกมาไว้ที่วิหารหลังเล็กชั่วคราว จึงต้องขออนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง
.....เป็นอันว่า หลังจากในที่ประชุมเมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๔๔ ขอให้ ร.อ.วิวัฒน์ เรืองมณี กรรมการที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ประสานงานกับทางราชการ
เพื่อขออนุมัติดำเนินการบูรณะ โดยทำหนังสือถึง ประธาน อบต.น้ำน้อย เพื่อแจ้งเรื่องนี้ว่า
.....เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๔๔ ข้าพเจ้าได้นำคณะกรรมการ ประกอบด้วย พระมหาอำนวย ฐานวโร เจ้าอาวาส วัดชัยชนะสงคราม นายสมชัย เจริญชีพ นายสุนทร ตันติวิท
นายธนะสถิต พลับทอง นางธนนันท์ ช่วยรอด และ นายนคร รัศมีมณฑล ไปประชุมที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สงขลา ผลจากการประชุมอนุมัติให้คณะกรรมการดังกล่าว
ดำเนินการบูรณะได้ตั้งแต่วันที่ ๒๘ มี.ค. ๔๔ เป็นต้นไป
พร้อมกันนี้ พระครูปลัดอนันต์ ก็ได้ทำหนังสือถึง ท่านศึกษาธิการจังหวัดสงขลา เพื่อยืนยันเรื่องการจัดหาเงินทุนในการก่อสร้างครั้งนี้
คิดว่าประมาณ ๒ ปี คงจะแล้วเสร็จ ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
(จดหมายที่พระชัยวัฒน์ทำถึงท่านศึกษาธิการก่อน)
เรื่อง พระวิหารพุทธมหามงคลบพิตร ต.น้ำน้อย อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
เจริญพร ท่านศึกษาธิการจังหวัดสงขลา
.....เนื่องจากการที่พระเดชพระคุณ หลวงพ่อพระราชพรหมยาน ได้สร้างพระวิหารไว้ ณ ที่นี้ ร่วมกับคณะศิษย์ทั้งหลายอันมี พล.อ.ท. ม.ร.ว.เสริม - คุณเฉิดศรี
ศุขสวัสดิ์ เป็นหัวหน้า เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ โดยมี ร.ต. ม.ล.วรวัฒน นวรัตน อดีตผู้อำนวยการการไฟฟ้าฝ่ายผลิต จ.กระบี่ เป็นผู้ดำเนินการ ก่อสร้างนั้น
ในครั้งแรกหลวงพ่อได้เจรจาขอซื้อที่ดินบริเวณนี้ แต่เจ้าของที่ดิน คือ นางกิ้มไล่ ชูโตชะนะ ไม่ยินดีขาย
แต่ยินดีมอบให้หลวงพ่อก่อสร้างพระวิหารได้ตามต้องการ และจะขอนำที่ดินดังกล่าวทูลเกล้าถวายในหลวง เพราะว่าสามีของนางเสียชีวิตไปก่อนแล้ว
และนางไม่มีบุตรสืบตระกูล เกรงว่าใครที่มาภายหลัง จะมีจิตโลภยึดพระวิหารไว้เป็นสมบัติส่วนตัว แต่ก็มีปัญหาจากบุคคลภายนอก ที่เข้ามาขออาศัยภายหลัง
แล้วคิดจะยึดที่บริเวณนั้นเป็นของๆ ตน จนกระทั่งต้องมีการฟ้องร้องกัน แล้วนางก็ชนะคดีความไปในที่สุด
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ความดำริที่นางจะยกที่ดินแห่งนี้ ก็ยังไม่มีใครดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์ นับตั้งแต่ปี ๒๕๑๙ เป็นต้นมา
จนกระทั่งพระเดชพระคุณหลวงพ่อมรณภาพไปในปี ๒๕๓๕ ครั้นถึงปี ๒๕๓๗ อาตมาได้ทราบข่าวว่า พระวิหารแห่งนี้ชำรุดทรุดโทรมลงไป ไม่มีใครที่จะบูรณปฏิสังขรณ์
อาตมาจึงได้เดินทางไปตรวจดูสภาพด้วยตนเอง เห็นว่าถ้าไม่รีบซ่อมแซม จะเกิดการเสียหายมากขึ้น เพราะในขณะ นั้นไม่มีใครดูแลรับผิดชอบ
นอกจากนางกิ้มไล่แต่เพียงผู้เดียว ที่จะคอยเปิดปิดพระวิหาร ซึ่งในเวลา นั้นยังไม่มีคนมากราบไหว้เท่าใดนัก
ลูกศิษย์บางคนก็ไม่รู้ว่าเป็นสถานที่ครูบาอาจารย์มาสร้างเอาไว้
ฉะนั้น อาตมาในฐานะที่เคยบริจาคทรัพย์ร่วมกับท่าน และเคยเดินทางไปร่วมงาน พระราชพิธีบรรจุ พระบรมสารีริกธาตุบนพระเศียรของพระพุทธรูปในพระวิหาร
เมื่อวันที่ ๒๖ ส.ค.๒๕๑๙ (ตอนนั้นอาตมายังเป็นฆราวาส แล้วได้เข้าพิธีอุปสมบทเมื่อปี ๒๕๒๐) ทำให้ทราบ เรื่องเหล่านี้ได้ดี
จึงได้มอบหมายให้คณะศิษย์ชาวหาดใหญ่และสงขลาหลายท่าน อันมี คุณธนนันท์ ช่วยรอด คุณธนะสถิต พลับทอง คุณนคร รัศมีมณฑล เป็นต้น เป็นผู้ดำเนินการซ่อมแซม
โดยอาตมาได้นำคณะญาติโยมพุทธบริษัทเดิน ทางไปฉลองพระวิหาร เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๗ พร้อมกับได้ร่วมกัน สมทบทุนเป็นค่าซ่อมฉัตร หลังคา เพดาน ทาสีใหม่
และปิดทององค์ พระพุทธรูป อีกทั้งได้อัญเชิญ รูปหล่อหลวงปู่ปานและหลวงพ่อ ไปประดิษฐานไว้ในพระวิหาร เป็นเงินทั้งสิ้น ๒ แสนบาทเศษ
ในครั้งนั้น อาตมาได้เชิญ ร.ต.ม.ล.วรวัฒน นวรัตน ซึ่งเกษียณอายุราชการแล้วร่วมเดินทางไป ด้วย เพื่อปรึกษาหารือร่วมกับคณะศิษย์ชาวหาดใหญ่
โดยมีอดีตท่านนายอำเภอ คือ ร.อ.วิวัฒน์ เรืองมณี รับเป็นผู้ประสานงานให้ เพราะเห็นใจนางกิ้มไล่ที่จะต้องรอคอยในการถวายที่ดินของตนแด่ในหลวง นับเวลาเป็นสิบๆ
ปีทีเดียว จนกระทั่งอายุล่วงเลยวัยชราไปมากแล้ว อาตมาเกรงว่าจิตใจจะไม่เป็นสุข จึงได้พยายามสอบถามผู้ดำเนินการอยู่เสมอ
เพื่อที่จะให้ทันเวลาก่อนที่จะสายเกินไป
ต่อมา พระครูปลัดอนันต์ พทฺธญาโณ เจ้าอาวาสวัดท่าซุงองค์ปัจจุบัน ได้เดินทางไปพร้อมกับคณะศิษย์ เมื่อวันที่ ๒๔ ส.ค. ๒๕๓๙
เพื่อร่วมงานพิธีบำเพ็ญกุศล เนื่องในโอกาสที่พระวิหารมีอายุครบ ๒๐ ปี พร้อมทั้งได้ร่วมกันสมทบทุนเทพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กรอบพระวิหาร เป็นเงินเกือบ ๒
แสนบาทอีกด้วย
ในระหว่างนั้นก็มีการปรึกษาหารือ พร้อมทั้งหาวิธีเร่งรัดในการปฏิบัติ จนกระทั่งมีการทูลเกล้าถวายที่ดินแห่งนี้เป็นผลสำเร็จ
สมเจตนารมณ์ของนางกิ้มไล่มานาน ทั้งนี้ เพราะการดำเนินงานของ ร.ต. ม.ล.วรวัฒน นวรัตน และ ร.อ.วิวัฒน์ เรืองมณี
ตลอดถึงคณะศิษย์ชาวหาดใหญ่และสงขลาทั้งหลาย
ซึ่งพวกเราคณะศิษย์ทุกคน อันมี พระครูปลัดอนันต์ พทฺธญาโณ เป็นองค์ประธาน ที่ได้ร่วม บูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารหลังนี้
เพื่อให้เป็นที่เคารพกราบไหว้บูชาของชาวหาดใหญ่ ชาวสงขลา และชาว ใต้ทุกจังหวัด ตลอดถึงคณะศิษย์จากภาคต่างๆ
ที่จะต้องเดินทางไปทำพิธีสักการบูชาเป็นประจำทุกปี
จึงมีความปีติยินดีซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับอยู่ใน ความอุปถัมภ์ของพระองค์
แล้วทรงมอบหมายให้ทางจังหวัดดูแล เพื่อพิทักษ์รักษาสถานที่แห่งนี้ ให้เป็นที่กราบไหว้ของเหล่าคณะศิษย์ของหลวงพ่อและบุคคลอื่นๆ ตลอดไป
ซึ่งบัดนี้ก็ได้มาอยู่ในความอุปการะ ของท่านศึกษาธิการ อาตมาจึงมีความสบายใจขึ้น ที่พระวิหารหลังนี้จะได้ปลอดภัยจากผู้ที่ไม่หวังดีต่อไป
แต่ในปัจจุบันนี้ หลังคาพระวิหารเริ่มชำรุดอีกแล้ว จำเป็นจะต้องหางบประมาณมาซ่อมแซม แต่ไม่ อยากจะรบกวนงบของทางราชการ
ทางคณะศิษย์วัดท่าซุงจะดำเนินการหาทุนซ่อมแซมเอง ซึ่งพระครูปลัดอนันต์ พทฺธญาโณ จะเดินทางไปที่พระวิหารพร้อมกับคณะศิษย์ในวันที่ ๒๓ ส.ค. ๒๕๔๑
ณ โอกาสนี้ อาตมาจึงขออนุญาตดำเนินการซ่อมแซมพระวิหารหลังนี้ ในปี ๒๕๔๒ โดยมอบหมายให้ คณะศิษย์ชาวหาดใหญ่ เป็นตัวแทนของวัดท่าซุง
เพื่อที่จะได้ประสานงานกับท่านศึกษาธิการโดยตรง
และสามารถดำเนินการให้สำเร็จสมความประสงค์ได้ทุกประการ เพราะได้เคยร่วมงานกันมานาน จึงได้ รับความไว้วางใจจากทางวัด
ที่จะดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายในการบูรณะ ซึ่งจะต้องคัดเลือกบุคคลที่ทางวัดเห็นสมควร โดยเฉพาะบุคคลเหล่านั้น
จะต้องมีความซื่อสัตย์และมีความศรัทธาเสมอกันเป็นพื้นฐาน ถ้าหากนำบุคคลอื่นที่ไม่เคยเกี่ยวข้องกับพระวิหารมาก่อน เช่น ในการก่อสร้าง และการบูรณะ
หรือไม่เคยร่วมบริจาคทรัพย์ ตลอดถึงทำกิจกรรมร่วมกัน จะทำให้เกิดมีปัญหาและเป็นอุปสรรคได้ในภายหลัง เช่น
มีความเห็นไม่ตรงกับคณะกรรมการชุดเดิม ในด้านความไว้วางใจซึ่งกันและกัน อันเป็นชนวนให้แตกความ สามัคคีได้ เพราะถ้าพระองค์ทรงทราบว่ามีปัญหาเกิดขึ้น
ย่อมจะเป็นที่ระคายเคืองต่อเบื้องพระยุคลบาทได้
มิฉะนั้น ที่ดินแห่งนี้ที่ได้ทูลเกล้าถวายในหลวงไปแล้ว ก็จะมิได้เป็นไปตามความประสงค์ของ ผู้ถวาย ตามที่ได้เรียนท่านในเบื้องต้นแล้วว่า
นางกิ้มไล่ต้องการจะให้พระวิหารที่หลวงพ่อสร้างไว้นี้ ไม่ ตกไปเป็นของผู้อื่นที่มิได้เป็นลูกศิษย์ของท่าน นอกจากจะอยู่ในความคุ้มครองของส่วนทรัพย์สิน
พระมหากษัตริย์ อันมีท่านศึกษาธิการเป็นผู้แทนส่วนพระองค์เท่านั้น
และถึงแม้ทางวัดท่าซุงจะมีส่วนช่วยสนันสนุน มอบพระวิหารหลังนี้ให้แก่พระองค์ท่านแล้วก็ตามแต่ก็ยังต้องมีหน้าที่คอยทนุบำรุงและ ห่วงใยอยู่เสมอ
โดยนำคณะศิษย์ทั้งหลายจากส่วนกลางเดินทางไปกราบไหว้เป็นประจำทุกปี เพราะยัง ถือว่าเป็นพระวิหารที่หลวงพ่อสร้างไว้
โดยมีคณะญาติโยมเป็นผู้ร่วมกันบริจาคทรัพย์ ในการ ก่อสร้างและการบูรณะที่จะได้ดำเนินการ นับตั้งแต่ปลายปีนี้เป็นต้นไป และจะเดินทางไปร่วม งานฉลองครบรอบ ๒๓
ปี ในเดือน สิงหาคม ๒๕๔๒ ซึ่ง "คณะกรรมการ" จะซ่อมแซมพระวิหารให้แล้วเสร็จทันเวลาพอดี
ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ อาตมาจึงขอแจ้งเรื่องการซ่อมแซมพระวิหาร พร้อมกับขอเสนอบุคคล เหล่านี้เป็นกรรมการ เพื่อดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ต่อไป
ซึ่งจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้...
คุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นกรรมการ
๑. มีประวัติและประกอบอาชีพในทางสุจริต ไม่มีประวัติเสียหายในการงานและชื่อเสียงมาก่อน
๒. มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ได้เดินทางมาบำเพ็ญกุศล รักษาศีล และเจริญพระกรรมฐานอยู่ที่วัดท่าซุงเป็นประจำทุกปี เคยมีอุปการคุณ
คือช่วยเหลือทางวัดท่าซุงตลอดมา
๓. มีความประพฤติไม่บกพร่อง เช่น ไม่ดื่มสุรา ไม่เล่นการพนัน ไม่ติดยาเสพติด เป็นต้น เป็นผู้ทำประโยชน์ต่อส่วนรวมได้ดี โดยไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน
คือไม่เข้ามาเพื่อมุ่งหวังผลประโยชน์จากสถานที่นี้ บุคคลเหล่านี้ได้เคยร่วมงานกัน จนมีผลงานในการปฏิสังขรณ์พระวิหารหลังนี้มาแล้ว คือ...
๑. ร.ต. ม.ล.วรวัฒน นวรัตน กรรมการที่ปรึกษา
๒. ร.อ.วิวัฒน์ เรืองมณี กรรมการที่ปรึกษา
๓. คุณธนนันท์ ช่วยรอด กรรมการผู้ดำเนินงาน
๔. คุณธนะสถิต พลับทอง กรรมการผู้ดำเนินงาน
๕. คุณนคร รัศมีมณฑล กรรมการผู้ดำเนินงาน
เป็นอันว่า ผู้ที่จะเป็นกรรมการได้นั้น จะต้องมีคุณสมบัติดังกล่าวนี้ทั้ง ๓ ประการ อันมี...
๑. พระครูปลัดอนันต์ พทฺธญาโณ เจ้าอาวาสวัดท่าซุง อุทัยธานี ประธานกรรมการ
๒. พระมหาอำนวย ฐานวโร เจ้าอาวาสวัดชัยชนะสงคราม หาดใหญ่ กรรมการฝ่ายสงฆ์
๓. พระชัยวัฒน์ อชิโต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดท่าซุง อุทัยธานี กรรมการฝ่ายสงฆ์
เพื่อเป็นตัวแทนของวัดอันชอบธรรม ตามสิทธิโดยพฤตินัย ในฐานะที่เคยอุปถัมภ์พระวิหารมาก่อน จึงมีหน้าที่คอยพิทักษ์รักษาร่วมกับทางจังหวัดต่อไป
เพื่อมิให้เกิดความเสื่อมเสียตามหลักนิตินัย พร้อมทั้งเป็นผู้จัดหาเงินทุนมาทนุบำรุงพระวิหารหลังนี้
ทั้งนี้ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองและความสามัคคีเป็นอันดี เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของ นางกิ้มไล่ และ หลวงพ่อพระราชพรหมยาน หวังที่จะฝากพระวิหารหลังนี้
ให้อยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์สืบต่อไป จึงขอขอบคุณและอนุโมทนาไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย.
ขอเจริญพรด้วยความนับถือ
พระชัยวัฒน์ อชิโต
ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดท่าซุง
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
◄ll กลับสู่สารบัญ
|
|
[ ตอนที่ 12 ]
(อัพเดท 30 กันยายน 2560)
เริ่มงานก่อสร้างวิหารหลังใหม่ (ต่อ)
(จดหมายที่พระครูปลัดอนันต์ทำถึงท่านศึกษาธิการจังหวัด)
วัดจันทาราม (ท่าซุง) อ.เมือง จ.อุทัยธานี
วันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๔
เรื่อง โครงการบูรณะวิหารน้ำน้อย
เจริญพร ท่านศึกษาธิการจังหวัดสงขลา
......เนื่องด้วยอาตมาพร้อมด้วย คณะกรรมการที่ปรึกษา อันมี ร.อ.วิวัฒน์ เรืองมณี เป็นต้น มีความเห็นควรที่จะบูรณะพระวิหารเสียใหม่
เนื่องจากบริเวณนั้นน้ำท่วมทุกปี โดยเฉพาะปี ๒๕๔๓ ระดับน้ำท่วมสูงถึงหน้าต่างพระวิหาร
ซึ่งคณะกรรมการทั้งหมดก็ได้นำเสนอให้ท่านศึกษาธิการจังหวัดสงขลาทราบแล้ว พร้อมกับท่านได้กรุณาอนุมัติให้คณะกรรมการดำเนินการบูรณะได้
ตามแบบแปลนที่เสนอไปแล้วนั้น ซึ่งจะต้องใช้งบค่าก่อสร้างใหม่ประมาณ ๓ ล้านบาท
ทั้งนี้ อาตมาจะแจ้งข่าวการบูรณะนี้ ให้แก่บรรดาคณะศิษยานุศิษย์ทราบโดยทั่วไป คือทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
พร้อมทั้งจะนำบรรดาคณะศิษย์เดินทางไปทำบุญในเดือน สิงหาคมทุกปี จึงคิดว่าคงจะไม่มีปัญหาเรื่องเงินทุนบูรณะ อาตมาจึงขอยืนยันและรับรองเรื่องการ
สนับสนุนงบค่าก่อสร้างทั้งหมดนี้ อีกทั้งยังมีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเป็นวัสดุก่อสร้างด้วย คิดว่า คงจะแล้วเสร็จภายในกำหนด ๒ ปี อย่างแน่นอน
อาตมาจึงขอเจริญพรมาเพื่อทราบ และขอขอบคุณไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย.
ขอเจริญพรด้วยความนับถือ
(พระครูปลัดอนันต์ พทฺธญาโณ)
เจ้าอาวาสวัดจันทาราม (ท่าซุง)
(จดหมายที่ท่านนายอำเภอวิวัฒน์ทำมาถึงพระครูปลัดอนันต์)
(จดหมายที่พระครูปลัดอนันต์ทำถึงนายอำเภอวิวัฒน์)
(สำเนา)
วัดจันทาราม (ท่าซุง) อ.เมือง จ.อุทัยธานี
วันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๔
เรื่อง โครงการบูรณะวิหารน้ำน้อย
เจริญพร ท่านนายอำเภอวิวัฒน์ เรืองมณี
.....อาตมาได้รับจดหมายของท่านฯ ลงวันที่ ๒๒ มี.ค. ๔๔ และได้ทราบผลการ ดำเนินงานกับท่านศึกษาธิการจังหวัดแล้ว พร้อมกันนี้อาตมาก็ได้ฝากหนังสือฉบับนี้
เพื่อขอให้ท่าน นายอำเภอกรุณานำเสนอท่านศึกษาธิการจังหวัดด้วย เพื่อความมั่นใจในเรื่องการจัดหาเงินทุนเป็น ค่าก่อสร้างต่อไป
ส่วนเรื่องพระพุทธรูป และรูปหล่อหลวงปู่ปาน และหลวงพ่อพระราชพรหมยานนั้น เดิมทีตามที่ปรึกษากันว่า จะอัญเชิญไปฝากไว้กับท่านพระมหาอำนวย
วัดชัยชนะสงครามก่อน เพราะ ขณะที่คุยกันภายในวิหารนั้น ยังไม่มีใครรับที่จะจัดทำสถานที่ชั่วคราวไว้ในบริเวณนั้นก่อน
แต่ครั้นเมื่ออาตมากลับมาถึงวัดแล้ว ทราบว่าทางคณะผู้ดำเนินการฯ สามารถจัดทำสถานที่ชั่วคราวให้ได้อย่างปลอดภัย อีกประการหนึ่ง
ขณะนี้ก็เป็นเวลาใกล้จะถึงกำหนดงานประจำปีเดือนสิงหาคมแล้ว จึงคิดว่าถ้าองค์พระประธานและรูปครูบาอาจารย์ยังประดิษฐานอยู่ที่นั่นก่อน ก็คงจะเป็นการดีทีเดียว
อาตมาจึงขอแจ้งมาให้ทราบ พร้อมทั้งขอขอบคุณและอนุโมทนาไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย.
ขอเจริญพรด้วยความนับถือ
(พระครูปลัดอนันต์ พทฺธญาโณ)
เจ้าอาวาสวัดจันทาราม (ท่าซุง)
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
◄ll กลับสู่สารบัญ
|
|
[ ตอนที่ 13 ]
(อัพเดท 7 ตุลาคม 2560)
เสร็จงานก่อสร้างวิหารหลังใหม่
(จดหมายที่พระชัยวัฒน์ทำถึงท่านนายอำเภอวิวัฒน์)
วิหารสมเด็จองค์ปฐม วัดท่าซุง
๔ เม.ย. ๒๕๔๔
เจริญพร ท่านนายอำเภอวิวัฒน์
.....อาตมาได้รับจดหมายของท่านแล้ว จึงขอขอบคุณและอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ช่วยกรุณา ประสานงานกับทางจังหวัดด้วยความเรียบร้อย
ทำให้การดำเนินงานของพวกเราคงจะต่อเนื่องกันไป จนกว่าจะเสร็จสมบูรณ์
แต่เป็นธรรมดาของงาน เมื่อร่วมกันแล้ว จะต้องพบกับปัญหาหรืออุปสรรคเป็นธรรมดา ท่านเจ้าอาวาสก็เห็นใจพวกเราทุกคนที่อยู่ทางโน้น
อยากจะให้งานทุกอย่างราบรื่นไปด้วยดี โดยเฉพาะทางด้านท่านศึกษาธิการจังหวัด ท่านเจ้าอาวาสก็ได้ทำหนังสือแนบมาด้วยแล้ว
จึงขอให้ท่านนายอำเภอช่วยอ่านก่อนด้วย เพื่อจะได้รับทราบข้อมูลต่อเนื่องกัน คิดว่าคงจะไม่มี ปัญหาเรื่องเงินค่าก่อสร้าง เพราะเจ้าอาวาสรับผิดชอบอยู่แล้ว
ขอให้ท่านนายอำเภอแจ้งให้ท่านศึกษาธิการทราบ และฝากขอบคุณท่านด้วยที่ได้ช่วยกรุณาอนุมัติให้ดำเนินการได้
ส่วนเรื่องการฝากพระพุทธรูปและรูปหล่อหลวงปู่-หลวงพ่อนั้น อาตมาต้องขออภัยท่านนายอำเภอ และฝากกราบขอขมาท่านหลวงพ่อพระมหาอำนวยด้วย
ที่ตอนนั้นยังไม่ได้ปรึกษากันให้ละเอียด อาตมาก็เป็นห่วงองค์พระฯ เกรงจะไม่ปลอดภัย
แต่เมื่อมีคนทำที่อยู่ชั่วคราวได้ ก็ขอไว้ที่เดิมไปก่อน จนกว่าจะผ่านงานสิงหาคมไปแล้ว ถ้าเห็นสมควรอย่างไร ก็จะได้ปรึกษาหารือกันอีกครั้งหนึ่ง
หากที่เดิมปลอดภัยก็ไว้ที่เดิม หากที่เดิมไม่ปลอดภัย ก็ต้องหาที่ให้เหมาะสมต่อไป
สุดท้ายนี้ อาตมาหวังใจว่าท่านคงจะช่วยดำเนินงานต่อไป หากมีอะไรกับทางจังหวัดที่จะได้ ช่วยประสานงาน อาตมาและท่านเจ้าอาวาสก็จะขอความร่วมมือกับท่านอำเภออีก
ทั้งนี้ งานที่ผ่านมาก็ได้อาศัยการประสานของท่านนายอำเภอ ซึ่งเป็นไปด้วยความสะดวกและราบรื่นทุกประการ.
ขอเจริญพรด้วยความนับถือยิ่ง
พระชัยวัฒน์ อชิโต
....ต่อไปนี้ก็จะเป็นรายงานการก่อสร้างจาก คุณธนนันท์ (อ้อย) โดยเริ่มงานปักเสาเข็มเมื่อเดือนเมษายน ๒๕๔๔ หลังจาก คุณชุมนุมพร (ขนม) ส่งแบบแปลนไปให้แล้ว
และได้มีการปรึกษาหารือกันอีกครั้ง ณ วิหาร ๑๐๐ เมตร เมื่องาน วันวิสาขบูชา (วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๔๔)
และเมื่อเดินทางกลับไปแล้ว คุณไพจิตร (อู๊ด) คุณธนนันท์ (อ้อย) คุณนคร และ คุณสุนทร ก็เริ่มงานทันที คืองานตอกเสาเข็มและโครงสร้าง
ส่วนงานตบแต่งลวดลายเป็นช่างจากวัดท่าซุง
โดยที่ คุณปรีชา อ่อนดี คุณนิโรจน์ และ คุณสมพงษ์ พันธ์อมรชัย พร้อมด้วยพนักงานยูโนแคล จ.สงขลา ช่วยกันรื้อพระวิหาร ในขณะที่มีอายุใกล้ ๒๕ ปี
อีกทั้งนำรถยกพระพุทธรูปมา ประดิษฐานไว้ที่วิหารชั่วคราวด้วย
ทั้งนี้ เพื่อให้ทันพอที่จะใช้สถานที่จัดงานพิธีบวงสรวง วันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๔๔ ซึ่งในปีนี้จะต้องขออภัยท่านทั้งหลายด้วย ที่อาจจะไม่สะดวกกับการจัดงาน
เพราะกำลังเริ่มงานก่อสร้างกัน คิดว่าปีหน้าคงจะได้จัดงานฉลองกันอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ เพราะมีผู้มีจิตศรัทธาที่ทราบข่าวจาก ธัมมวิโมกข์ แล้วได้ร่วมทำบุญกันมากมาย เพื่อสมทบกับเงินที่รับบริจาคเมื่อปีก่อนๆ แล้วบ้าง ตามบัญชีรายรับ -
รายจ่าย ดังนี้
เมษายน - พฤษภาคม ๒๕๔๔
จ่าย ค่าทดสอบสภาพดิน ๒๐,๐๐๐ บาท
ค่าเสาเข็ม ๑๐๕,๖๐๐ บาท
ค่าวัสดุ ค่าแรงและเบ็ดเตล็ด ๓๕๗,๖๔๕ บาท
ค่าแรงตอกเสาเข็ม ๑๕,๐๐๐ บาท
รวมจ่ายทั้งสิ้น ๔๙๘,๒๔๕ บาท
หมายเหตุ ค่าแรงตอกเสาเข็ม ราคาเต็ม ๓๐,๐๐๐ บาท
คุณเฉลา โชติช่วง ทำบุญค่าแรงตอกเสาเข็ม ๑๕,๐๐๐ บาท แล้วยังมีรายชื่อผู้บริจาคอีกมากมายทั่วประเทศ ซึ่งไม่สามารถจะลงรายละเอียดได้
จึงขออนุโมทนาทุกท่านและขอยุติไว้เพียงแค่นี้.
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
◄ll กลับสู่สารบัญ
|
|
[ ตอนที่ 14 ตอนจบ ]
(อัพเดท 14 ตุลาคม 2560)
ประมวลภาพขณะกำลังก่อสร้าง
เขื่อนข้างวิหาร และห้องน้ำใหม่
(ถ่ายภาพเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2553)
โดย..อาจารย์คุณ (คณะมาลัยจากฟ้า จังหวัดสงขลา)
...ด้านข้างพระวิหารติดกับคลองน้ำน้อย ในฤดูฝนบางปีจะมีน้ำไหลหลากมาก ด้วยเหตุนี้
จำเป็นต้องก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กกั้นคันดินริมคลองน้ำน้อย ด้วยการทำเขื่อนจากด้านข้างพระวิหารมาจนถึงมุมริมถนน
จากนั้นจะต้องถมดินให้เสมอกับเขื่อน
ส่วนมุมพระวิหารด้านใน เดิมมีห้องน้ำอยู่ต่ำกว่าพื้นเดิมมาก การที่ห้องน้ำเดิมต่ำ เพราะต้องถมดินให้สูงเพื่อสร้างพระวิหาร เมื่อสร้างเขื่อนเสร็จแล้ว
ต้องถมดินให้ได้ระดับนับร้อยคัน จากนั้นจึงสร้างห้องน้ำใหม่
ขณะนี้กำลังก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กกั้นคันดินริมคลองน้ำน้อย
ทำเขื่อนจากด้านข้างพระวิหารมาจนถึงมุมริมถนน
ภาพถ่ายระยะไกล จะเห็นคลองน้ำน้อยอยู่ข้างพระวิหาร
ด้านนี้เป็นมุมจากภาพที่เห็นด้านหน้าถนน จะเห็นสะพานข้ามคลองน้ำน้อย
ด้านข้างพระวิหารจะต้องถมดินให้เสมอกับเขื่อน
มุมพระวิหารด้านใน เดิมมีห้องน้ำอยู่ต่ำกว่าพื้นเดิมมาก
การที่ห้องน้ำเดิมต่ำ เพราะต้องถมดินให้สูงเพื่อสร้างพระวิหาร
ภาพถ่ายจากมุมบน จะเห็นความสูงของเขื่อนที่สร้างแบบถาวรคงทน
สร้างเขื่อนเสร็จแล้ว คงต้องถมดินให้ได้ระดับนับร้อยคัน
แบบแปลนบริเวณโดยรอบวิหารที่จะสร้างห้องน้ำใหม่
(พื้นที่ดินข้างเคียงที่เป็นคำพูด หมายถึงเจ้าของที่ดินบอกถวายด้วยวาจาเท่านั้น
ยังไม่มีการถวายอย่างเป็นทางการ คือถวายโฉนดที่ดินนั่นเอง)
ภาพถ่ายระยะไกล จะมองเห็นสะพานรถไฟข้ามคลองน้ำน้อย
ถนนสายหาดใหญ่ - สงขลา (เส้นเก่า)
ภาพมุมด้านหลังพระวิหาร อ.คุณกำลังวัดพื้นที่ที่จะสร้างห้องน้ำใหม่
ทั้งนี้ เพื่อนำข้อมูลกราบเรียนเสนอท่านพระครูปลัดอนันต์
วัดพื้นที่ด้านความยาวและด้านความกว้างด้วย
ตอนนี้ใครที่ไปเที่ยมชมพระวิหาร จะมีกองดินกีดขวางอยู่บ้าง
ด้านนี้เขื่อนคอนกรีตเสร็จแล้ว เริ่มถมดินให้เต็มระดับไปเลย
ป้ายคลองน้ำน้อยอยู่ด้านหน้า เคยไปหลายครั้งเพิ่งจะเห็นนี่แหละ
ป้ายริมถนนบอกทางเข้า "วิหารพระพุทธมหามงคลบพิตร"
ก่อนจบขอแนะนำ "เว็บไซด์รีวิว..การท่องเที่ยว
กราบไหว้ "พระพุทธมหามงคลบพิตร"
http://travel.gimyong.com/?swp=content&t=911
|
|
งานบูรณะวิหารน้ำน้อย อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
ณ วันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๖๒
|
|
|
|
|