Not logged in [Login - Register]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites ตั้งหัวข้อใหม่
[*] posted on 19/3/18 at 10:49 [ QUOTE ]

(ตอนจบ-ปิดฉากบันทึก) "บุพเพสันนิวาส" เสียงสะท้อนจากประวัติศาสตร์


สารบัญ (เลือกคลิกที่รายการ)

01.
เปิดจดหมาย "โกษาปาน"
02. บุคคลสำคัญสมัยอยุธยา
03-05. "บุพเพสันนิวาส" ความรักเพราะเหตุ ๒ ประการ
06-07. เปิดจดหมาย "โกษาเหล็ก"
08. เปิดบันทึก "บาทหลวงฝรั่ง" เหตุ “โกษาเหล็ก” ต้องโทษ
09-10. เปิดหนังสือเก่า “เจ้าพระยาโกษาเหล็ก” (2493)
11-16. เสียงสะท้อนจาก "ประวัติศาสตร์"
17-18. เปิดบันทึกต้นฉบับเดิมสมัย "สมเด็จพระนารายณ์"
19. เปิดบันทึกภายหลัง ราชทูตเดินทางกลับจากฝรั่งเศส
20. เปิดบันทึกสุดท้าย สมัยสมเด็จพระนารายณ์
21. ชมเชยคณะผู้จัดสร้างละคร "บุพเพสันนิวาส

22. ปิดฉากบันทึกตำนาน สมัยสมเด็จพระนารายณ์
@ เพจ https://www.facebook.com/TMC-187638881366793/

เปิดจดหมาย "โกษาปาน" เอ่ยถึง ‘ขุนศรีวิสารวาจา’
พร้อมภาพวาดตัวจริง โดยจิตรกรฝรั่งยุคพระนารายณ์


ขอบคุณ "บทความ" และ "รูปภาพ" วันที่ ๑๔ มี.ค. ๒๕๖๑ จาก - https://www.matichon.co.th/news/856515

..โด่งดังฉุดไม่อยู่จริงๆ สำหรับละคร ‘#บุพเพสันนิวาส’ ซึ่งเรียงร้อยเรื่องราวแสนสนุก โดยอิงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ยุค "สมเด็จพระนารายณ์" ซึ่งแน่นอนว่าตัวละครหลายคนที่โลดแล่นอย่างมีสีสันนั้น เคยมีตัวตนอยู่จริง

หนึ่งในนั้นก็คือ ‘หมื่นสุนทรเทวา’ ที่สวมบทบาทโดยพระเอกหนุ่มแววตาอบอุ่น อย่าง โป๊บ ธนวรรธน์ โดยในภายหลังจะได้รับการอวยยศเป็น ‘ขุนศรีวิสารวาจา’ หนึ่งใน ๓ ราชทูตที่เดินทางไปยังฝรั่งเศส

นำโดย "ออกพระวิสุทธสุนธร" ซึ่งรู้จักกันต่อมาในนาม "พระยาโกษาธิบดี" (ปาน) เป็นราชทูต, "ออกหลวงกัลยาราชไมตรี" เป็นอุปทูต และ "ออกขุนศรีวิสารวาจา" เป็นตรีทูต โดยมีผู้ติดตามไปอีกจำนวนหนึ่ง

บันทึกของ "บาทหลวงเดอ ชัวซีย์" เขียนบันทึกเอาไว้ว่า นอกจากคณะราชทูตประกอบด้วยบุคคล ๓ คนคือ ราชทูต อุปทูต และตรีทูตแล้ว ยังมีขุนนางติดตามไปในขบวนด้วยอีก ๒๐ คน

ในจำนวนนี้เป็นอักษรเลข ๔ คน บรรดาศักดิ์ของขุนนางทั้งคณะคือ ออกพระ ๑ คน ออกหลวง ๑ คน ออกขุน ๒ คน ที่เหลือคือออกหมื่น และยังมีคนรับใช้เดินทางไปด้วยอีก ๒๐ คน

ทั้งหมดได้รับการต้อนรับจากพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ หรือ เลอรัว-โซแลย (le Roi-Soleil) ซึ่งหมายถึง "สุริยกษัตริย์" ณ พระราชวังแวร์ซายส์ ใน พ.ศ. ๒๒๒๙

เมื่อเดินทางกลับมา ยังมีจดหมายเขียนถึง “เมอร์สิเออร์ มาร์กีส์ เดอ เซนเญอเล” เพื่อแสดงความซาบซึ้งใจ ที่ได้รับความสะดวกสบาย

ระหว่างการพำนักอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส และพรรณนาถึงบุญญาธิการของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ตอนท้ายขอให้กรุงศรีอยุธยาและฝรั่งเศส มีสัมพันธไมตรีอันดีต่อกันสืบไป




ราชทูตไทยสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จากซ้าย "ออกพระวิสุทธสุนธร" ซึ่งรู้จักกันต่อมาในนาม "พระยาโกษาธิบดี" (ปาน) ราชทูต, "ออกหลวงกัลยาราชไมตรี" อุปทูต และ "ออกขุนศรีวิสารวาจา" ตรีทูต



...ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทยโดย "ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร" (องค์การมหาชน) มีเอกสารสำคัญซึ่งออกพระวิสุทธสุนธร เอ่ยถึง "ขุนศรีวิสารวาจา" หรือ "หนุ่มโป๊บ" ธนวรรธ์ ในเรื่อง

โดยเป็นจดหมายที่เขียนถึง ‘เมอร์สิเออร์ เดอ ลายี’ (Monsieur de Lagny) ผู้อำนวยการบริษัทอีสต์อินเดียของฝรั่งเศส เนื้อหากล่าวแสดงความขอบคุณต่อเมอร์สิเออร์ เดอ ลายี

และฝากฝังให้ช่วยดูแลนักเรียนไทยในฝรั่งเศส รวมทั้งขอให้เป็นธุระนำเครื่องราชบรรณาการที่เหลืออยู่ส่งมายังกรุงศรีอยุธยา ข้อความตอนหนึ่ง มีดังนี้ (เขียนตามต้นฉบับการสะกดแบบโบราณ)


...หนังสือออกพระวิสุทสุนธร ราชทูต ออกหลวงกัลยาราชไมตรี อุปทูต แลออกขุนศรีวีสารวิจาตรีทูต มาเถีงมูสูลายี ซึ่งได้บังคับกุมปนัญีทังปวง

ด้วยท่านสำแดงความยีนดีแลนับถือใด้ ให้สำเรจการทั้งปวง ตามพระราชหฤไทยพระมหากระสัตราธีเปนเจ้าอัตโน แลบัดนี้ใด้พบท่าทางอันจะเขียนมาให้ท่าน แจ้งว่ามีน้ำใจย้อนยินดีตอท่าน


(อ่านเอกสารฉบับเต็ม ทั้งต้นฉบับโบราณ และฉบับคำอ่านปัจจุบัน คลิกที่นี่)




หนังสือ ออกพระวิสุทธสุนธร ถึง เมอร์สิเออร์ เดอ ลายี ภาพจากฐานข้อมูลจา่รึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)



...นอกจากนี้ ยังมีการบันทึกภาพของทูตทั้ง ๓ ไว้โดยจิตรกรชาวตะวันตก ภาพส่วนหนึ่ง มีดังนี้



ขุนศรีวิสารวาจา วาดโดย Jean Hainzelman (ชอง ไฮเซลมาน) จิตรกรเยอรมันที่พำนักในฝรั่งเศส


ภาพเขียนฝีมือ Jacques Vigoureux Duplessis



(โปรดติดตามตอนต่อไป)



◄ll กลับสู่ด้านบน


[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 19/3/18 at 15:15 [ QUOTE ]


[ ตอนที่ 2 ]

(Update 21 มีนาคม 2560)


บุคคลสำคัญสมัยอยุธยา
เจ้าพระยาโกษาเหล็ก และ เจ้าพระยาโกษาปาน

Credit - https://teen.mthai.com/variety/145775.html


....บุคคลที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ "เจ้าพระยาโกษาเหล็ก" และ "เจ้าพระยาโกษาปาน" ที่เราได้ยินชื่อจากละครเรื่องบุพเพสันนิวาสนั้น ทั้งสองเป็นพี่น้องที่มีความสำคัญมาก

หรือจะเรียกว่าเป็นผู้พลิกชะตาแผ่นดินในสมัยอยุธยา มีความสามารถทั้งด้านการสู้รบ การเจรจาค้าขายกับต่างชาติ ทำให้แม่การะเกด หรือ เกศสุรางค์ สนใจเรื่องราวของท่าน วันนี้ทีนเอ็มไทยจะพาไปติดตามประวัติของทั้งสองท่านกัน…


เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) เป็นบุตรชายคนโตของ "เจ้าแม่วัดดุสิต" (พระนมในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) กับ ขุนนางเชื้อสาย มอญ ท่านเกิดในรัชสมัย "สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง" มีน้องชาย ๑ คน คือ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) และน้องสาว ๑ คน ชื่อ แช่ม หรือ ฉ่ำ


(สุรศักดิ์ ชัยอรรถ รับบท เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ขุนศึกคู่พระทัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช)

ท่านและน้องชายต่างเป็นข้าหลวงคนสำคัญของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กล่าวคือ เมื่อกลุ่มขุนนางอาวุโสซึ่งเป็นกลุ่มที่ให้การช่วยเหลือให้สมเด็จพระนารายณ์ได้ขึ้นครองราชย์หมดอำนาจลง

กลุ่มขุนนางหนุ่มซึ่งนำโดยท่านและน้องชาย จึงขึ้นมามีอำนาจแทน ท่านได้เป็นแม่ทัพในราชการสงคราม หลายครั้ง ในต้นแผ่นดิน "สมเด็จพระนารายณ์มหาราช" และถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ. ๒๒๒๖


พระยาโกษาธิบดี (ปาน) หรือ โกษาปาน (รับบทโดย ชาติชาย งามสรรพ์)

...ผู้เป็นน้องของพระยาโกษาเหล็ก ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากสมเด็จพระนารายณ์ไม่แพ้พี่ชาย ตั้งแต่ครั้งดำรงตำแหน่งออกพระวิสุทธสุนทร

โดยได้รับแต่งตั้งให้เป็นราชทูตไทยออกไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ. ๒๒๒๘ และได้เข้าเฝ้าฯ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ณ พระราชวังแวร์ซาย นับเป็นราชทูตไทยคนแรกที่ได้เดินทางออกจากแผ่นดินไทยไปสู่แผ่นดินต่างประเทศ


ย้อนรู้จักตัวละครจากบุพเพสันนิวาส
ที่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์

Credit - https://drama.kapook.com/view189245.html


...เรียนรู้เรื่องราวแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ผ่านตัวละครในบุพเพสันนิวาส ที่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์

ถ้าใครได้ชมละครพีเรียดย้อนยุค "บุพเพสันนิวาส" เชื่อว่าต้องรู้สึกคุ้นหูกับชื่อตัวละครบางตัวเป็นแน่แท้ เพราะเคยได้ยินชื่อมาตั้งแต่สมัยเรียนชั้นประถม

และยิ่งเห็นแม่หญิงการะเกดทำท่าทางดีอกดีใจเมื่อได้เจอบุคคลเหล่านั้น ก็ยิ่งชวนให้คนดูอยากรู้ตามไปด้วยว่า บุคคลเหล่านั้นมีความสำคัญอย่างไรในหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศไทย

กระปุกดอทคอม จึงอยากพาแฟนละครทุกคนย้อนกลับไปในแผ่นดินสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา เพื่อรู้จักกับตัวละครในละครบุพเพสันนิวาสที่มีตัวตนจริง เพื่อที่เราจะได้เข้าใจประวัติศาสตร์มากขึ้น และยังช่วยให้ชมละครได้อย่างมีอรรถรสมากขึ้นด้วย

พ่อเดช หรือ "พี่หมื่น" ของแม่การะเกด พระเอกของเรื่องที่รับบทโดย "โป๊ป ธนวรรธน์" คือบุคคลหนึ่งที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์

โดยเป็นบุตรชายของ "ออกญาโหราธิบดี" หรือพระโหราธิบดี พระมหาราชครูของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีพี่ชายคือ "ศรีปราชญ์" กวีเอกคนสำคัญของไทย

ซึ่งในละครช่วงแรก ๆ เราจะยังไม่ได้เห็นศรีปราชญ์ เพราะตามท้องเรื่อง ศรีปราชญ์ได้ถูกเนรเทศไปยังเมืองนครศรีธรรมราชแล้ว


...หมื่นสุนทรเทวา ภายหลังได้อวยยศเป็น "ขุนศรีวิสารวาจา" ก่อนที่ในปี พ.ศ. ๒๒๒๙ จะได้รับเลือกให้เป็นตรีทูต ๑ ใน ๓ ของคณะทูตจากกรุงศรีอยุธยา เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งประเทศฝรั่งเศส


...พ่อของพระเอกอย่าง "ออกญาโหราธิบดี" ที่รับบทโดยนักแสดงรุ่นใหญ่ "หนิง นิรุตติ์" เป็นพระมหาราชครูของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และเป็นบุคคลสำคัญของวงการแต่งหนังสือเลยทีเดียว

เพราะท่านเป็นผู้ประพันธ์หนังสือ "จินดามณี" เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๑๕ ซึ่งถือเป็นหนังสือแบบเรียนเล่มแรกของไทยที่มีเนื้อหาครอบคลุมสระ พยัญชนะ วรรณยุกต์ จึงกลายมาเป็นต้นแบบของแบบเรียนในปัจจุบัน

และยังเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของแบบเรียนไทย ทำให้หนังสือแบบเรียนไทยในยุคต่อมาหลายเล่มใช้ชื่อตามว่า "จินดามณี" อาทิ จินดามณีฉบับความแปลก จินดามณีครั้งแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ ฯลฯ

ทั้งนี้ "พระโหราธิบดี" เป็นผู้ที่ทำนายทายทักได้อย่างแม่นยำ โดยเคยทายจำนวนหนู (สัตว์) ที่พระเจ้าปราสาททองครอบไว้อย่างถูกต้อง และเคยทายว่าไฟจะไหม้ในพระราชวังในสามวัน

พระเจ้าปราสาททองทรงเชื่อจึงเสด็จพระราชดำเนินไปอยู่นอกวัง ต่อมาได้เกิดเหตุฟ้าผ่าถูกหลังคาพระมหาปราสาททำให้เกิดไฟไหม้ลามไปดังคำทำนาย


...ส่วนเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) หรือ โกษาเหล็ก (รับบทโดย สุรศักดิ์ ชัยอรรถ) ท่านมีความเฉลียวฉลาด และเชี่ยวชาญการรบตามหลักพิชัยสงคราม

จึงเป็นแม่ทัพคนสำคัญที่ออกไปรับมือกับพม่าจนได้รับชัยชนะมาหลายครา เปรียบเสมือนเป็นนักรบคู่ใจของสมเด็จพระนารายณ์

จนเรียกกันทั่วไปว่า "ขุนเหล็ก" และได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากสมเด็จพระนารายณ์เป็นอย่างยิ่ง เปรียบเสมือนพระสหายสนิท หรือพี่น้องแท้ ๆ ของพระองค์ก็มิปาน


(โปรดติดตามตอนต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน



[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 19/3/18 at 22:22 [ QUOTE ]


[ ตอนที่ 3 ]

(Update 22 มีนาคม 2561)


"บุพเพสันนิวาส" ความรักเพราะเหตุ ๒ ประการ


....คำว่า "บุพเพสันนิวาส" อันเป็นมูลเหตุแห่งความรักที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ใน "พระไตรปิฎก" เล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๙ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑ "สาเกตชาดกที่ ๗" เหตุให้เกิดความรักว่า

“...ความรักนั้น ย่อมเกิดขึ้นด้วยเหตุสองประการ คือ ด้วยการอยู่ร่วมกันในกาลก่อน ด้วยความเกื้อกูลต่อกันในปัจจุบัน เหมือนดอกอุบลและชลชาติ เมื่อเกิดในน้ำ ย่อมเกิดเพราะอาศัยเหตุสองประการ คือน้ำและเปือกตม ฉะนั้น..”


ที่มา - http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=1839&Z=1847

ปฐมกาล "บุพเพสันนิวาส"
ระหว่าง "สุเมธฤาษี" กับ "สุมิตตากุมารี"
สมัยสมเด็จพระพุทธทีปังกร (๔ อสงไขย)


...ปฐมกาล คือชาติแรกที่ "พระนางพิมพา" ได้พบพระโพธิสัตว์และอธิษฐานจิตเป็นครั้งแรก ให้ได้เป็นสามีภรรยาและช่วยเหลือกันตลอดไป และตั้งความปรารถนาเป็นพระสาวิกา ตั้งแต่สมัยเมื่อ ๔ อสงไขยล่วงมาแล้ว

โดยสมัยนั้น พระนางได้เกิดเป็นกุมารีนางหนึ่ง ซึ่งเป็นสาวแรกรุ่นโสภาอายุได้ ๑๖ ปี เป็นบุตรีของคฤหบดีชาวปัจจันตคาม แห่ง "อมรวดีนคร"

ครั้งนั้น ชาวอมรวดีนครได้ทูลเชิญเสด็จ "สมเด็จพระทีปังกรบรมโลกนาถเจ้า" พร้อมพระสาวกขีณาสพสี่แสนรูป จึงมีการประกาศให้มหาชนช่วยกันแผ้วถางทางเพื่อรับเสด็จ

เช้าวันที่พระทีปังกรพุทธเจ้าจะเสด็จพุทธดำเนินมานั้น นางก็มีศรัทธามาร่วมถากทางกับชาวบ้านทั้งหลายด้วย ครั้นได้ทอดทัศนาเห็น "สุเมธฤาษี" ผู้มีฤทธิ์เหาะมาจากป่าใหญ่ ก็ให้มีความแปลกประหลาดใจเป็นอันมาก

กาลต่อมา เมื่อเห็นมหาชนพากันแกล้งชี้มือบอกฤาษีผู้ขออนุญาตให้ไปทำทาง ณ บริเวณที่เต็มไปด้วยโคลนเลน ซึ่งเป็นสถานที่จะทำให้สำเร็จได้ยากลำบาก

แต่ฤาษีผู้มีฤทธิ์ก็รับทำจำยอมแต่โดยดี "เจ้าสุมิตตากุมารี" ก็มีความเห็นใจและสงสารท่านฤาษี จึงช่วยแผ้วถางและขนดินจากที่อื่นมาเทถมในที่นั้นด้วยใจภักดี แล้วก็คอยชำเลืองดูร่างฤาษีผู้ศักดิ์สิทธิ์ มีฤทธิ์เหาะเหิรเดินอากาศได้อยู่ไปมา

แต่พอได้เสวนาการพระพุทธฎีกา หลังจากฤาษีได้ทอดกายาเป็นสะพานให้เสด็จดำเนินแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทีปังกรบรมศาสดา ทรงประกาศแก่ปวงมหาชนว่า "สุเมธฤาษี" จักได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตกาลอีกนานหนักหนา

สุมิตตากุมารีก็บังเกิดความยินดีปรีดา รีบวิ่งไปแสวงหาดอกไม้ ได้ดอกอุบลสดใหม่มา ๘ ดอก แล้วจึงซบกายถวายบังคมลงตรงเบื้องพระพักตร์ กระทำการสักการะบูชาสมเด็จพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า กล่าววาจาตั้งปณิธานตามความประสาใจของนางในขณะนั้นว่า


“..ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ด้วยเดชะอานิสงส์ที่ข้าพระบาทได้กระทำสักการะบูชา แก่สมเด็จพระพุทธองค์เจ้าในกาลบัดนี้ ขอให้สุเมธฤาษี จงเป็นสามีของข้าพระบาท สมใจปรารถนาในภายภาคหน้าด้วยเถิด

ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ บุญกุศลใดๆ อันเกิดจากพลีกำลังกายถากถางทาง เพื่อเสด็จพระพุทธดำเนินในครั้งนี้ก็ดี

และบุญกุศลที่ได้ถวายสักการบูชาสมเด็จพระทศพลด้วยดอกอุบลอันงามนี้ก็ดี ขอให้สุเมธฤาษีนี้จงได้เป็นสามี แห่งข้าพระบาทผู้มีวาสนาน้อย ในอนาคตด้วยเถิด...”


(โปรดติดตามตอนต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน



[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 21/3/18 at 16:09 [ QUOTE ]


[ ตอนที่ 4 ]

(Update 23 มีนาคม 2560)


พระโพธิสัตว์ต้องมีคู่บารมี


...ฝ่าย "สุเมธฤาษีโพธิสัตว์" ผู้ซึ่งได้รับคำพยากรณ์จากพระโอษฐ์ แห่งองค์สมเด็จพระชินสีห์ทีปังกรเจ้า ว่าจักได้สำเร็จซึ่งพระพุทธภูมิในอนาคตภายภาคหน้า

ครั้นได้เสวนาการกุมารีงามโสภาชาวปัจจันตคาม เจ้ามาตั้งความปรารถนาและจะได้ตนเป็นสามี เฉพาะพระพักตร์สมเด็จพระทีปังกรพุทธเจ้าอย่างตรงแท้ ตามประสาใจนางเช่นนั้น ก็ให้พลันสะดุ้งตกใจเป็นล้นพ้น

ทั้งนี้ก็เพราะว่า ในขณะนั้นตนเป็นผู้ได้บรรลุถึงฝั่งแห่งฌานสมาบัติ อันกิเลสราคะสงบซบอยู่ด้วยอำนาจแห่งกำลังฌาน จะได้มีตัณหาความยากได้ใคร่ดี ในนางกุมารีน้อยแม้แต่สักนิดหนึ่งก็หามิได้

ดังนั้น ท่านสุเมธฤาษีผู้มีฤทธิ์จึงมีวาจากล่าวห้ามปราม ความปรารถนาแห่งเจ้าสุมิตตากุมารีขึ้นว่า

“...ดูกร เจ้าผู้มีพักตร์อันเจริญ อันความปรารถนาแห่งเจ้าที่จะได้เราเป็นสามีนี้ แม้จะเป็นความปรารถนาที่ดี แต่เราจะได้ชอบใจไปด้วยแม้แต่สักนิดหนึ่งก็หามิได้

ขอเจ้าจงถอนความปรารถนาเช่นนั้นเสียในกาลบัดนี้ ขอเจ้าอย่าพึงกระทำความปรารถนาอย่างนั้นเลย จงปรารถนาอย่างอื่นเถิด..”

สุมิตตากุมารีสาวงามแห่งปัจจันตคาม ซึ่งมีความปรารถนาในใจอันมั่นคงแรงกล้า แม้จะถูกฤาษีออกวาจากล่าวห้ามปรามฉะนี้เป็นหลายหนหลายครั้ง นางก็ยังยึดมั่นอยู่ในความปรารถนาดั้งเดิม หาแปรไปเป็นอื่นไม่

สมเด็จพระพุทธทีปังกรบรมศาสดาจารย์ พระองค์ผู้ทรงมีพระญาณอันยาวไกล เมื่อทรงอนุเคราะห์เหตุอันจักพึงมีในอนาคตกาลแจ้งประจักษ์ในพระญาณแล้ว จึงทรงมีพระมหากรุณาตรัสแก่สุเมธดาบสว่า

“...ดูกร สุเมธดาบสเอ๋ย ตัวท่านอย่าได้ห้ามซึ่งความปรารถนาแห่งกุมารีน้อยนี้เลย ด้วยว่าในอนาคตกาลภายหน้า เมื่อตัวท่านบำเพ็ญพุทธบารมีธรรมเพื่อบ่มพระบรมโพธิญาณให้เต็มเปี่ยมบริบูรณ์นั้น

กุมารีมีจิตมั่นคงนี้จักเป็นที่พึ่งอาศัยของท่าน และท่านจักได้บำเพ็ญบารมีเป็น "ภริยาทาน" บริจาคในกาลภายหน้าได้ ก็โดยอาศัยกุมารีนี้แลเป็นปัจจัยสำคัญ

ดูกร สุเมธดาบส ถึงเราตถาคตนี้เมื่อยังสร้างพระบารมีท่องเที่ยวอยู่ในกระแสวัฏสงสาร ได้อาศัยสตรีภาพจึงมีโอกาสบำเพ็ญภริยาทานเหมือนกัน

เพราะฉะนั้นขอท่านจงอย่าห้ามความปรารถนาแห่งนาง จงปล่อยให้เป็นไปตามประสาแห่งใจนางในกาลบัดนี้เถิด”

สุเมธฤาษีได้สวนาการพระพุทธฎีกา แห่งองค์สมเด็จพระทรงสวัสดิโสภาคย์ฉะนี้ ก็มีความเลื่อมใสเชื่อฟังด้วยดี น้อมเศียรศิโรตม์อันทรงไว้ซึ่งชฎา รับพระพุทธฎีกา สาธุ สาธุ สาธุ ดังนี้แล้วก็ค่อยคลานออกมา

เพื่อเปิดโอกาสให้สมเด็จพระพุทธองค์ทรงพาพระภิกษุสงฆ์ เสด็จพระพุทธดำเนินไปยังปัจจันตคามตามคำอาราธนาของชาวประชาต่อไป ดังนี้


(โปรดติดตามตอนต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน



[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 21/3/18 at 16:10 [ QUOTE ]


[ ตอนที่ 5 ]

(Update 24 มีนาคม 2560)


สมัยพุทธกาลนี้


...ปรากฏว่าเป็นเวลามากมายหลายชาติทีเดียว ในกาลครั้งยังต้องท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร เพื่ออบรมบ่มพระสัมโพธิญาณพุทธบารมีอยู่นี้ ที่อดีตสุเมธฤาษีได้เป็นสามีร่วมรักกับเจ้าสุมิตตากุมารี ตามแรงอธิษฐานของนาง เมื่อครั้งถวายดอกอุบล ๘ ดอก แด่สมเด็จพระทีปังกรพุทธเจ้า

......บางคราวเกิดเป็นมนุษย์บุรุษสตรี ทั้งสองก็ต้องเป็นคู่สามีภริยากัน แม้บางคราวจะเกิดในกำเนิดสัตว์เดียรฉาน ก็ได้เป็นคู่สู่สมภิรมย์รักไม่พรากจากกันไปได้ตลอดกาล อันแสนจะยาวนานถึง ๔ อสงไขยกับเศษอีก ๑๐๐,๐๐๐ มหากัป นี้


ในชาติอันเป็นที่ปัจฉิมสุดท้าย สุเมธฤาษีและสุมิตตากุมารี บุรุษสตรีซึ่งเป็นสามีภรรยาคู่สร้างกันมาแต่ปางบรรพ์ สุดที่จะนับประมาณชาติที่เกิดได้นั้น ต่างก็พากันมาบังเกิดในมนุษยโลกเรานี้

โดยสุเมธฤาษีได้มาอุบัติในขัตติยะตระกูล ณ กรุงกบิลพัสดุ์บุรี ทรงพระนามว่า เจ้าฟ้าชายอังคีรสราชกุมาร หรืออีกพระนามหนึ่งว่า เจ้าฟ้าชายสิทธัตถะราชกุมาร

ส่วนสุมิตตากุมารีสาวโสภาแห่งปัจจันตคามคู่สร้าง ได้มาบังเกิดในขัตติยะตระกูล ณ กรุงเทวทหนคร เป็นเจ้าหญิงทรงโฉมวิไลลักษณ์ยิ่งนัก

เมื่อทรงจำเริญวัฒนาแล้วก็ได้เป็นเอกอัครมเหสีของเจ้าฟ้าชายสิทธัตถะราชกุมาร แห่งกรุงกบิลพัสดุ์บุรี ทรงพระนามว่า "สมเด็จพระพิมพายโสธราเทวี" สมดังคำอธิษฐานไว้เมื่อ ๔ อสงไขยที่ผ่านมา ด้วยประการฉะนี้แล


(โปรดติดตามตอนต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน



[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 22/3/18 at 10:53 [ QUOTE ]


[ ตอนที่ 6 ]

(Update 25 มีนาคม 2560)


เปิดจดหมาย "โกษาเหล็ก"


..."บุพเพสันนิวาส"..เป็นละครอิงประวัติศาสตร์ ที่จัดสร้างขึ้นเมื่อ ๒ ปีที่แล้ว อีกทั้งการจัดงาน "อุ่นไอรัก คลายความหนาว" ของรัฐบาล ที่เชิญชวนให้แต่งชุดไทยกัน ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๖๐ จนถึงต้นปี ๒๕๖๑ มาแล้วนั้น

ครั้นเมื่อทางไทยทีวีสีช่อง ๓ จัดฉายละครเรื่องนี้อีก นับตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา รวมทั้งสองเรื่องบวกกันนี้ จึงเท่ากับทำให้ชาวไทยหวลรำลึกถึงประวัติศาสตร์ชาติไทย, ขนบธรรมเนียมประเพณีไทย, โบราณราชประเพณี ตลอดจนถึงคำพูดแบบโบราณๆ ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาที่ผ่านมาหลายร้อยปีแล้ว

ครั้นได้ดูละครหรือศึกษาประวัติศาสตร์สมัย "สมเด็จพระนารายณ์มหาราช" กันแล้ว บางตอนก็มีความเข้าใจ แต่บางตอนก็อาจเกิดความสับสน คือตัดสินใจไม่ได้แน่ชัด

เพราะการบันทึกประวัติศาสตร์สมัยก่อน อาจจะมีความประสงค์ให้เป็นเช่นนั้น ยกตัวอย่างกรณีการอสัญกรรมของ "เจ้าพระยาโกษาเหล็ก"

บทวิเคราะห์กรณีอสัญกรรม
ของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก)

ผู้เขียนอยากจะวิเคราะห์ว่า มีลักษณะคล้ายกับการสวรรคตของ "สมเด็จพระเจ้าตากสิน" หรือไม่ ด้วยเหตุผลของการบ้านการเมืองสมัยนั้น จึงไม่สามารถบันทึกความเป็นจริงได้

เพราะบั้นปลายชีวิตของพระองค์ก็ทรงผนวชไปจำศีลอยู่ภายในถ้ำ จังหวัดนครศรีธรรมราช ส่วนเจ้าพระยาโกษาเหล็ก ตามประวัติก็ถูกลงโทษจนตาย

ในตอนนี้จะขอเปิด "จดหมาย..โกษาเหล็ก" กันบ้าง (นิทานอิงประวัติศาสตร์ "ฉบับวัดท่าซุง") กลับมีความเชื่อว่า

ในชีวิตบั้นปลายของ "เจ้าพระยาโกษาเหล็ก" ท่านได้มาบูรณะวัดท่าซุงเป็นครั้งแรก จะเป็นสมัยหลวงพ่อใหญ่ (ปาน) เป็นเจ้าอาวาส หรือสมัยหลวง"พ่อจันทร์" เป็นเจ้าอาวาสก็เป็นได้

ประการสำคัญต้นตระกูล (มอญ) เดิมของเจ้าพระยาทั้งสองนั้น มีพื้นเพอยู่ที่ "บ้านสะแกตรัง" หรือ "สะแกกรัง" ในปัจจุบันนี้ ซึ่งอยู่ใกล้กับ "วัดท่าซุง" เป็นอย่างมาก โดยต้นตระกูลของท่านอพยพมาจากหงสาวดี (พะโค) ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวร

ก่อนอื่นขอนำหนังสือเล่มนี้มาให้อ่านกัน ดังจะเห็นได้ว่าท่านผู้เขียน (ส.ธ.) มิได้มีความรู้พิเศษของท่านเท่านั้น (แต่ท่านบอกว่าเป็น "นิทาน") ท่านยังเป็นผู้ค้นคว้าหาความรู้จากตำรับตำราไปด้วยกัน ข้อมูลของท่านตอนแรกจะมากจาก "หนังสือประวัติศาสตร์" บางตอนค่อนข้างจะสับสน แต่ลงท้ายท่านจะสรุปให้เข้าใจในที่สุด

ฉะนั้น ผู้อ่านควรอ่านทบทวนให้ดีแล้วจะแจ่มแจ้ง พร้อมกับดูละครไปด้วยความเข้าใจ แต่ถึงอย่างไร..ขอติงผู้โพสต์รูปภาพของท่านที่ไปคู่กับนักแสดงละครสักหน่อยว่า อย่าตรงไปตรงมาจนเกินไป เพราะคนเล่นเฟซมีหลายกลุ่ม กรุณาพิจารณาทบทวนให้ดีด้วย...


นิทานอิงประวัติศาสตร์
โดย ส.ธ. (พิมพ์เผยแพร่เมื่อปี พ.ศ.2530)



เหตุที่เขียนหนังสือเล่มนี้

...ขอบอกเหตุที่เขียนสักนิด เหตุที่ทำให้เขียนก็เพราะว่า ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี้ คือ นายพจน์ ภู่อารีย์ ท่านช่วนให้ไปร่วมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ (เพื่อถวายพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เนื่องในวาระพระชนมายุครบ ๕ รอบ)

เมื่อเห็นท่านประกาศปรารภท่านพระราชบิดาของ "สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช" ฟังแล้วก็สนใจขึ้นมาทันที

แต่ต่อมาก็หาหนังสืออ่านประวัติของท่าน ปรากฏว่าเอาหนังสือที่เขียนยืนยันแน่นอนตลอดเรื่องไม่ได้เลย บางตอนท่านก็บอกว่า "อาจจะ" หรือ "ถ้าว่า" ไม่รับรองจริงจัง

จึงคิดถึงนิทานที่ "ท่านครูสุวรรณ สว่างล้ำ" ครูใหญ่ที่ท่านเคยเล่านิทานประวัติศาสตร์ให้ฟัง เมื่อผู้เขียนมีอายุย่างเข้าปีที่ ๖ นึกได้เท่าไรจำได้เพียงใดก็เอามาพูดเท่าที่นึกได้และจำได้ และต่อด้วยความรู้ที่ท่านเขียนย่อประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา

ของท่านย่อมากจัดจนในที่บางแห่งน่าจะมี แต่ของท่านก็ไม่มี แต่ก็ถือว่าท่านมีคุณที่ทำให้มีเรื่องเขียน และเอาหนังสือที่เล่าเป็นประวัติศาสตร์ของ "ท่านคุณพระบริหารเทพธานี" ท่านเขียนให้สำนักงานพิมพ์ เอามาลอกและต่อเติมความคิดเห็นตามอารมณ์ของคนแก่

รวมความแล้ว หนังสือเล่มนี้เอาเป็น "นิทาน" ก็ไม่ชัด เอาเป็น "ประวัติศาสตร์" ก็ไม่ได้แน่นอน เอาเป็นหนังสืออ่านตามใจชอบดีกว่า

ตอนไหนเป็นประโยชน์ก็เอาตอนนั้นไปทำประโยชน์ ตอนไหนไร้ประโยชน์ก็อ่านผ่านไป ขอขอบคุณท่านทั้งหลายที่ช่วยคัดลอก และแก้ไขให้เป็นหนังสืออ่านได้ และท่านผู้จัดการในการพิมพ์

ผลความดีใดที่จะพึงได้ในการทำหนังสือเล่มนี้ ขอความดีนั้นจงสนองทุกท่านที่สงเคราะห์ ตามที่ทุกท่านปรารถนาเถิด

- หมายเหตุ ถ้าร่างกายยังไม่ตาย จะเล่านิทานประวัติศาสตร์ ตอน ทวาราวดี และ อู่ทอง จนถึงเชื่อม อยุธยา เล่าเป็นนิทาน จะมีทั้งหนังสือและเสียงจากเทป

ทุกท่านที่อ่านหรือฟังจงเข้าใจว่า เรื่องที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นนิทาน จะเอาถูกเอาผิดกับนิทานไม่ได้ สำหรับท่านที่ชอบเผลอ จงอย่าเผลอว่าเป็นประวัติศาสตร์จริง แต่ตอนใดตรงกับประวัติศาสตร์ก็เอาไปใช้ได้ ตอนไหนไม่ตรงก็เอาเป็นนิทานแก้ว่างไปพลางๆ ก็แล้วกัน

ส.ธ.
๒๐ ธันวาคม ๒๕๓๐


ประวัติ "สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก"

...วันนี้เป็นวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๐ เริ่มเขียนตามหนังสือที่ "พระบริหารเทพธานี" เรียบเรียงไว้ ท่านนำมาจากหนังสือ เรื่องมอญที่เกี่ยวกับไทย หน้า ๖๖ ซึ่งรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทรงพระราชนิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษ พระราชทานแก่ เซอร์ ยอห์น เบาริง ฯลฯ

ในหนังสือนั้นมีเนื้อความดังนี้ (ผู้เขียนขอคัดลอกถ้อยคำตามหนังสือนั้นโดยตรง ไม่ตัดลัดหรือดัดแปลง แต่ทว่า ตอนใดวรรคใดถ้าอ่านไม่เข้าใจ จะวงเล็บความเห็นไว้

แต่ก็ไม่รับรองเหมือนกันว่า การออกความเห็นนั้นจะถูกต้องเสมอไป เพราะภาษาหนังสือสมัยเก่ากับความเข้าใจของคนสมัยนี้ มีความรู้สึกไม่ใคร่เหมือนกัน)

ต้นพระราชวงศ์จักรี

นับจำเดิมแต่รัชกาล "สมเด็จพระนเรศวรมหาราช" ปิตรึกะ (มอญ) บรรพบุรุษเป็นชาวหงสาวดี ราชธานีของแคว้นพะโค ได้รับราชการเป็นทหารในคราวที่พม่ามีชัยแก่กรุงศรีอยุธยา พ.ศ. ๒๑๑๒

ครั้นเมื่อสมัย "สมเด็จพระนเรศวร" ประกาศอิสรภาพ พ.ศ. ๒๑๒๗ "ปิตรึกะ" บรรพบุรุษก็ได้ตามเสด็จเข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยา พร้อมกับ "พระยาเกียรติ พระยาราม" และ "เถรคันฉ่อง" (แปลว่า "พระผู้ใหญ่")

ได้ตั้งเคหสถานบ้านเรือนอยู่ในที่ที่พระราชทานให้ คือ "วัดขมิ้นขุนแสน" ที่ตั้งที่ว่าการอำเภอกรุงเก่า (สมัยนี้เขาเรียก "อำเภอกรุงเก่า" หรือ "อำเภอเมือง" ก็ไม่ทราบ เพราะไม่ได้ไปเมืองกรุงเก่ามานานแล้ว)

ต่อมามีพวกมอญตามมามากขึ้น คนกลุ่มนี้จึงแยกสถานที่กันอยู่ คนส่วนใหญ่อยู่ที่เขตเมืองอุทัยธานี ตั้งต้นกลุ่มอยู่ที่บ้านสะแกตรัง (กรัง)

สมัยนั้นพวกมอญอพยพสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่เป็นสิ่งที่นมัสการ ใกล้กับที่อยู่ของปฐมวงศ์นั้น พระพุทธรูปองค์นั้นยังมีอยู่ถึงทุกวันนี้ (สมัยที่ท่านเขียนหนังสือนี้)

ต่อจากรัชกาล "สมเด็จพระนเรศวรมหาราช" แล้วก็ไม่ปรากฏเรื่องราวของราชวงศ์ จนถึงสมัย "สมเด็จพระนารายณ์มหาราช" จึงปรากฏผู้สืบต่อราชวงศ์คือ เจ้าพระยาโกษา (เหล็ก) เจ้าพระยาโกษา (ปาน) บุตร "เจ้าแม่วัดดุสิต"

เจ้าแม่วัดดุสิต

...เจ้าแม่วัดดุสิตนั้นมีพระนามเดิมว่า “ บัว ” ท่านเป็นราชนิกูล (คือราชวงศ์) เห็นในรัชกาล "สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง" เกิด พ.ศ. ใด มีบรรดาศักดิ์ว่าอย่างใดไม่ปรากฏ และสามีท่านเป็นขุนนาง

ส่วน "ก.ร.ส. กุหลาบ" บอกว่า "สมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส" รับสั่งว่า "พระวันรัต" (ฉิม) ปธ.๙ ประโยคเล่าว่า "เจ้าฟ้ารัศมี" (หญิง) กับ "เจ้าฟ้าจีก" (ชาย) ได้เล่าให้ท่านฟังว่า

สมเด็จพระเอกาทศรถ มีพระราชธิดาซึ่งเกิดจากหลานสาว "พระยาเกียรติ" คนหนึ่ง ชื่อ "เจ้าครอกบัว" เจ้าครอกบัวมีภัสดา (ภัสดา แปลว่า สามี) "เจ้าครอกอำภัย" หลานพระเจ้าปราสาททอง ทำราชการทั้งสอง ในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง


...(เป็นอันว่า ตอนนี้เข้าใจยากเหมือนกัน ผู้คัดลอกคือผู้เขียนเองก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ท่านเจ้าครอกทั้งสองท่านเป็นอะไรกัน และใครเป็นภัสดาของเจ้าครอกบัว อ่านของท่านไม่เข้าใจ คำว่า "เจ้าครอก" เขานิยมเรียกกันเฉพาะ "สนมเอก" ในสมัยนั้น)

"เจ้าครอกบัว" เป็นสนมเอก "พระนารายณ์" ราชโอรสของท่าน (ตอนนี้เฝือมากและสับสนมาก เพราะตามความเป็นมาแล้ว "เจ้าครอกบัว" เป็นพระนมของพระนารายณ์ และเป็นพระพี่เลี้ยงด้วย แต่ตอนนี้ย่องมายกขึ้นเป็นพระสนมเอก ดู ๆ แล้วคิดว่าพระนารายณ์ท่านมีพระสนมแก่มากไปหน่อย)

ท่านกล่าวต่อไปว่า "พระนารายณ์" ทรงแต่งตั้งให้ "ท่านเจ้าครอกบัว" เป็น "พระองค์เจ้า" ในแผ่นดินของพระองค์ ทรงรับสั่งเรียกว่า “เจ้าแม่วัดดุสิต” มีบุตรธิดารวมกัน ๓ คนคือ

๑. เจ้าพระยาโกษา (เหล็ก)
๒. ท้าวจุฬาลักษณ์ (แจ่ม)
๓. เจ้าพระยาโกษา (ปาน)


...(เรื่องบุตรและธิดาของท่านเจ้าครอกบัวนี้มีการสับสนมาก เพราะที่ทราบกันมาท่านมีบุตรเพียง ๒ คนคือ ท่านโกษา (เหล็ก) และ ท่านโกษา (ปาน)

แต่ในหนังสือของท่านมี "ท่านจุฬาลักษณ์" เข้ามาอีกคน สงสัยว่าอาจจะเขียนเกินไปนิดหนึ่งก็ได้ เพราะท่านจุฬาลักษณ์นี้ไปซ้ำกับ "ท่านศรีจุฬาลักษณ์" ตอนนี้ต้องคิดมากหน่อย)

สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงพระราชทานให้ ท่านเจ้าแม่วัดดุสิต “ บัว ” เป็นพระนมสมเด็จพระนารายณ์ เพราะพระราชชนนีของสมเด็จพระนารายณ์ สิ้นพระชนม์เสียตั้งแต่พระนารายณ์มีพระชนมายุ ๙ วัน (เป็นอันว่าตอนนี้กับตอนต้นขัดกันอย่างไม่เลี้ยงเลย ให้ถือเอาตอนนี้ว่าถูกต้อง)

"เจ้าแม่วัดดุสิต" จึงได้เป็นพระนมและพระพี่เลี้ยง ตลอดมาจนพระนารายณ์มหาราชครองราชย์สมบัติ เมื่อพระนารายณ์ครองราชสมบัติแล้ว จึงยกพระพี่เลี้ยงคือ "เจ้าแม่วัดดุสิต" เป็น "พระองค์เจ้า" ใน พ.ศ. ๒๑๙๙ ให้สร้างตำหนักขึ้นที่ "วัดดุสิตาราม" มีพระนามเรียกกันว่า "เจ้าแม่วัดดุสิต" ตั้งแต่นั้นมา

บุตรเจ้าแม่วัดดุสิต

...(หนังสือหน้าเดียวกันขัดคอกัน เพราะตอนที่ผ่านมาท่านบอกว่า "เจ้าแม่วัดดุสิต" มีบุตรธิดารวม ๓ คน แต่มาตอนนี้ท่านบอกว่ามี ๒ คน * เอาตอนนี้เป็นตอนถูกต้องก็แล้วกัน)

บุตรชายเจ้าแม่วัดดุสิต มี ๒ คน คือ เจ้าพระยาโกษา (เหล็ก) กับ เจ้าพระยาโกษา (ปาน) ท่านเขียนไว้ว่า มีบุตรติดมารดา แล้วหญิงคนนั้นมาได้กับสามีของท่านเจ้าแม่คนหนึ่ง

...(ตอนนี้เห็นจะเป็นหญิงที่เป็นหม้าย สามีไม่ได้อยู่ด้วยกัน มีลูกคนหนึ่งคือ "พระเพทราชา" มาได้เสียเป็นภรรยาของสามีท่านเจ้าแม่วัดดุสิต)

พูดตามท่านต่อไป ท่านว่ามีหญิงหม้ายมีลูกติดเป็นชายมา ๑ คน ลูกคนนั้นต่อมาเป็นพระราชามีพระนามว่า "พระเพทราชา"

หญิงคนนั้นมาเป็นภรรยาของสามี "เจ้าแม่วัดดุสิต" ต่อมาหญิงคนนั้นก็มีธิดา ซึ่งเกิดจากสามีของท่าน "เจ้าแม่วัดดุสิต" อีกคนหนึ่งเป็นหญิง ชื่อว่า "ท้าวศรีจุฬาลักษณ์"


...(ตอนนี้ชักยุ่ง เพราะไปชนกับท่านจุฬาลักษณ์ (แจ่ม) เข้าเลยไม่รู้ว่าใครเป็นใคร)

ท้าวศรีจุฬาลักษณ์นี้เป็นพระสนมเอกของ "พระนารายณ์มหาราช" ท่านว่าพระนารายณ์มหาราชทรงเคารพเจ้าแม่วัดดุสิตมาก ท่านเคารพเสมือนว่าเป็นพระราชชนนีของท่าน

...(ความจริงคนสมัยนั้นท่านดี มีความกตัญญูมาก ที่ท่านเคารพอย่างนั้น น่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีของอนุชนทุกชั้น เพราะท่านเจ้าแม่วัดดุสิต ท่านเลี้ยงมาตั้งแต่อายุ ๙ วัน ก็น่าจะเคารพอย่างนั้น)

รัชกาลที่ ๓๐ พระนารายณ์มหาราช

...พ.ศ. ๒๒๐๓ เมืองเชียงใหม่เวลานั้นเรียกว่า "ลานนา" เป็นเมืองขึ้นของพม่า มาขอรวมอยู่กับไทย เพราะพม่ามัวยุ่งอยู่กับศึกฮ่อ

"พระนารายณ์" ได้ส่งกองทัพไทยไปเพื่อรักษาเมืองเชียงใหม่ ทัพไทยไปไม่ทันถึงเชียงใหม่ พอดีพม่าปราบกองทัพฮ่อได้ เชียงใหม่เลยต้องเป็นเมืองขึ้นของพม่าต่อไป

ทัพไทยเลยร่วมรายการมวยด้วย ไหน ๆ ก็ยกทัพมาแล้วอย่าให้เสียศักดิ์ศรีทัพไทยเลยตีดะลงมาเท่าที่จะตีได้ พอตีได้ถึงเมืองลำปางเป็นที่พอใจแล้วก็เลิกทัพกลับเมืองอยุธยา

พ.ศ. ๒๒๐๕ พระนารายณ์ยกทัพไปตีเชียงใหม่ได้ ลานนาจึงกลับมาขึ้นกับไทยตามเดิม
หมายเหตุ เมืองเชียงใหม่เป็นเมืองมหาเสน่ห์ เจ๊กแย่งไปไทยแย่งมา พม่าดึงไปไทยดึงมา มันน่าปวดหัวแทนคนเชียงใหม่เหลือเกิน

พ.ศ. ๒๒๐๖ มอญ ๒๓ หัวเมือง ประมาณ ๑๐,๐๐๐ คนเศษ อพยพหนีพม่าเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์เพื่อพึ่งไทย พม่ายกทัพมาขอคืนและยึดไทรโยค พระนารายณ์ทรงสั่งให้ พระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ยกทัพไปจัดการพม่า (รบ) มังสุระราชา แม่ทัพพม่าถูกปืนจึงยกทัพหนีไป

พ.ศ. ๒๒๐๗ พระนารายณ์ยกทัพใหญ่ไปตีพม่า ตีได้เมืองรายทางแล้วล้อมอังวะ นานมากเข้าเสบียงจะหมดจึงยกทัพกลับ

พ.ศ. ๒๒๓๑ พระนารายณ์สวรรคต พระเพทราชาครองราชย์สมบัติสืบต่อมา


...(พระเพทราชา นี้ไม่ใช่โอรสพระนารายณ์ ตามที่อ่านมาก็หาที่ไม่พบว่าเป็นลูกใคร แต่ในนิทานมี ท่านว่า พระเพทราชา เป็นลูกติดแม่ หมายถึงหญิงคนนั้นมีสามีและมีลูกชายคนหนึ่งแล้วติดแม่มา

สามีตาย และมีสามีใหม่ สามีคนนั้นเป็นสามีของ "ท่านเจ้าแม่วัดดุสิต" มารดา "ท่านโกษาธิบดี" (เหล็กและปาน) ท่านบัวเลี้ยงมาตั้งแต่เด็ก

ตามประวัติมารดาของ "ท่านบัว" ชื่อ "สีมา" เป็นหลาน "พระยาราม, พระยาเกียรติ" ต่อมาได้เข้าเป็นสนมเอกของ "พระเอกาทศรถ" แล้วคลอดบุตรเป็นหญิงชื่อว่า "บัว" รวมความว่าเป็นเจ้าที่สืบเชื้อสายจาก "พระเจ้าพรหมหาราช" เวียงชัยบุรี เชียงแสน

ใครเป็นพ่อท่านโกษาทั้งสอง

ต่อมาท่านบัวก็ถึงอายุ ๑๓ ปี ได้ถวายตัวเป็นพระสนมเอก เรื่องนี้ "ท่านครูสุวรรณ" ท่านวินิจฉัยว่า พ่อท่านโกษาทั้งสอง คือโกษา (เหล็ก), โกษา (ปาน) ท่านบอกว่าเป็นลูก "พระเจ้าปราสาททอง" ท่านบอกว่า เรื่องสามีท่านบัวนี้ หนังสือทุกเล่มอ้อมแอ้ม พูดไม่เต็มปาก

และท่านบัวนี้ก็เลี้ยง "พระนารายณ์" มาตั้งแต่พระองค์อายุได้ ๙ วัน "พระเจ้าปราสาทอง" ให้ท่านบัวเป็นแม่นมเลี้ยงพระนารายณ์ด้วย ท่านบัวต้องให้นมลูกสาวด้วยคือ "ท่านแจ่ม" (ท้าวจุฬาลักษณ์) คนที่ท่านบัวเลี้ยงร่วมกันมาก็คือ

...๑. เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก)
..๒. ท่านท้าวจุฬาลักษณ์ น้องท่านเหล็ก พี่ท่านปาน
..๓. พระนารายณ์มหาราช

ในขณะที่ "ท่านแจ่ม" เกิดได้สองเดือน พระนารายณ์ก็คลอดจากครรภ์มารดา ซึ่งเป็นพระสนมเอกของพระเจ้าปราสาททอง เมื่อคลอดออกมาได้ ๙ วัน มารดาท่านก็ตาย พระเจ้าปราสาททองจึงให้ท่านบัวเลี้ยง และเป็นพี่เลี้ยงจนครองราชย์สมบัติ

...๔. ต่อมาท่านปานก็คลอด
...๕. ต่อมาเขาเอา "พระเพทราชา" มาให้ท่านเลี้ยง ท่านบัวก็เลี้ยงอีก

เป็นอันว่าคนที่ท่านบัวเลี้ยงมี ๕ คนคือ ท่านเหล็ก, ท่านแจ่ม, ท่านปาน, พระนารายณ์, พระเพทราชา

..."พระเพทราชา" มาจากไหน พูดสั้นๆ ก็คือ "พระเพทราชา" มีมารดาเป็นคนจีน อายุ ๒๐ ปี มีบุตรชายเล็กๆ ๑ คน สามีตาย สามีเป็นพระยาซึ่งเป็นเพื่อนรักสนิทกันมากกับ "พระยากลาโหม" (พระยาสุริยวงศ์)

เมื่อพระยากลาโหมยึดอำนาจก็ร่วมมือกันทำ ต่อมาก่อนที่พระยาคนนี้จะตาย ก็ฝากลูกฝากเมียกับอดีตท่านพระยากลาโหม (พระเจ้าปราสาททอง) ขอให้พระเจ้าปราสาททองเลี้ยงดูอุปการะด้วย

ต่อมา "มารดา" ของพระเพทราชาก็มีธิดาอีกคนหนึ่ง ชื่อว่า "ท้าวศรีจุฬาลักษณ์" (เป็นสนมเอกพระนารายณ์) พูดง่ายๆ ว่า "พระเพทราชา" ก็กลายเป็นพี่เมียของ "พระนารายณ์" ด้วย (ตามประวัติหากันไม่พบว่า "พระเพทราชา" มาจากไหน ท่าน "ครูสุวรรณ" ท่านว่ามาตามนี้)

รัชกาลที่ ๓๑ พระเพทราชา

พ.ศ. ๒๒๓๑ พระนารายณ์มหาราชสวรรคตแล้ว พระเพทราชาครองราชสมบัติสืบต่อมา
พ.ศ. ๒๒๔๕ พระเพทราชาสวรรคต "พระเจ้าเสือ" พระราชบุตรบุญธรรมครองราชสมบัติสืบต่อมา

พระเจ้าเสือนี้ชาวบ้านเขาลือกันว่าเป็นลูกเมียเก็บของพระนารายณ์ เมื่อคลอดแล้วพระนารายณ์ฝากพระเพทราชาเลี้ยงไว้ เขาว่ามาอย่างนี้ก็ต้องคิด


...เมื่อได้อ่านมาถึงตอนท้ายคงจะชัดเจนขึ้น ความจริงหนังสือ "นิทานอิงประวัติศาสตร์" ของท่าน "ส.ธ." ยังมีมากกว่านี้อีก

โดยเฉพาะเมื่อถึงรัชกาล "สมเด็จพระเจ้าเสือ" ทรงตั้งให้ "นายขุนทอง" บุตรชายคนใหญ่ของ เจ้าพระยาโกษา (ปาน) เป็นพระยาวรวงศาธิราชสนิท และท่านพระยาวรวงศาธิราชสนิทมีบุตรชายคนใหญ่ชื่อ "ทองคำ" ได้เป็น "จมื่นมหาสนิท"

...* (ตอนนี้ "ครูสุวรณ" ท่านว่า "นายขุนทอง" เป็นบุตรชายของเจ้าพระยาโกษา (เหล็ก) ให้ถือเอาเป็นบุตรท่านเจ้าพระยาโกษา (ปาน) ก็แล้วกัน เพราะตามที่ท่านค้นคว้ามาอาจจะมีหลักฐานดีกว่า)

ต่อมาทรงเลื่อนให้ "จมื่นมหาสนิท" เป็น "พระยาราชนิกูล" ท่านพระยาราชนิกูลมีบุตรชายคนใหญ่ชื่อ "ทองดี" เกิดที่บ้านสะแกตรัง

ต้นตระกูลเดิมอยู่ "บ้านสะแกตรัง"

...สมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ราชวงศ์นี้ได้ย้ายเคหสถานมาอยู่ "บ้านสะแกตรัง" (สมัยนี้เรียกเพี้ยนมาเป็น "สะแกกรัง") จังหวัดอุทัยธานี


...(ตามที่ "ครูสุวรรณ" ท่านเล่าให้ฟัง ท่านบอกว่า ตระกูลนี้มีพวกพ้องอยู่ที่ "บ้านสะแกตรัง" มาตั้งแต่ก่อน "เจ้าพระยาโกษาเหล็ก" เกิด) เป็นที่ตั้งดั้งเดิมของคนกลุ่มนี้ บางส่วนอยู่ที่อยุธยา แต่ส่วนใหญ่อยู่ที่เมืองอุทัย เพราะถิ่นนั้นเป็นถิ่นมอญ

เมื่อผู้เขียน (ส.ธ.) มาอยู่วัดท่าซุงนี้ในระยะต้น เมื่อถึงเวลาสงกรานต์จะมีญาติโยมมี "โยมห้อย บุญญาน้อย" เป็นหัวหน้า เอาธงแบบ "มอญ" มาขึ้นเป็นประจำ และวัฒนธรรมต่างๆ ของมอญยังมีอยู่ เช่น เจดีย์เป็นต้น เจดีย์เป็นสัญลักษณ์แบบมอญ)

...(ครูสุวรรณท่านเล่าให้ฟังว่า "ท่านทองดี" คลอดในเรือ สถานที่ปัจจุบันอยู่เยื้อง "โรงเรียนพระสุธรรมยานเถระวิทยา" ไปทางด้านเหนือไม่มาก อยู่ทางฝั่งตะวันออกของโรงเรียนนี้)

เมื่อท่านทองดีเจริญวัยแล้ว จึงได้ย้ายที่อยู่จากบ้านสะแกตรังเข้าไปรับราชการที่กรุงศรีอยุธยา ตั้งบ้านเรือนอยู่ในกำแพงพระนคร ที่ตำบลป่าตอง ใกล้วัดบรมพุทธาราม คือ "วัดกระเบื้องเคลือบ" ซึ่งเป็นวัดของ "พระเพทราชา" ทรงสร้างที่บ้านเดิมของพระองค์

(โปรดติดตามตอนต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน



[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 23/3/18 at 10:52 [ QUOTE ]


[ ตอนที่ 7 ]

(Update 26 มีนาคม 2560)


จาก หนังสือ "เรื่องจริงอิงนิทาน (พิเศษ)"


...หนังสือเล่มนี้เป็นการคัดลอกมาจากเทปชุด "ฤาษีสอนลูก" โดย คุณพรนุช คืนคงดี และคุณสมพร บุณยเกียรติ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๔ ตามความรู้ของครูบาอาจารย์ที่ได้ฝึกฝนวิชาความรู้ของพระพุทธเจ้า

จนเกิดญาณหยั่งรู้เรื่องที่เป็นอดีตและอนาคตตามสมควร ตามเนื้อเรื่องท่านได้สอนลูกและเล่าเรื่องชาติก่อนของท่านไปด้วย โดยนับตั้งแต่สมัยโยนกเชียงแสน จนถึงสมัยสุโขทัยและอยุธยา ดังมีรายนามต่อไปนี้

๑. พระเจ้ามังรายนราช (สมัยนครโยกนกเชียงแสน)
๒. สามเณร (สมัยนครโยกนกเชียงแสน)
๓. พระเจ้าพรหมมหาราช (สมัยนครโยกนกเชียงแสน)
๔. พระร่วงโรจนฤทธิ์ (สมัยศรีสัชนาลัย)
๕. พ่อขุนศรีเมืองมาน (สมัยสุโขทัย)
๖. ขุนหลวงพะงั่ว (สมัยอู่ทอง - อยุธยา)
๗ เศรษฐีอำไพ (สมัยอยุธยา)
๘. ขุนแผน (สมัยอยุธยา)
๙. สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (สมัยอยุธยา)
๑๐. พระยาโกษาเหล็ก (สมัยอยุธยา)



อนุสาวรีย์ "เจ้าพระยาโกษาเหล็ก ประดิษฐานอยู่ ณ วัดท่าซุง"


...วาระที่ ๑๐ ก็ลงมาเกิดเป็น "ขุนเหล็ก" หรือ “พระยาโกษาเหล็ก” เกิดควบคู่กับ "สมเด็จพระนารายณ์มหาราช" รุ่นราวคราวเดียวกัน "ขุนเหล็ก" มีน้องชายชื่อ "ขุนปาน" หรือ "พระยาโกษาปาน"

ประวัติของ "เจ้าพระยาโกษาเหล็ก" และสมัยหลังน้องชายก็เป็นเจ้าพระยาโกษาปาน ทำอะไรบ้างก็รู้กันตามประวัติศาสตร์แล้ว แต่งานจริง ๆ ทำมากกว่านั้น มีงานหนักมาก

เจ้าพระยาโกษาเหล็กนี่เป็นเชื้อสายของสุโขทัย ตอนนี้ท่านก็มาถึงไทย และขยายไทยให้เข้าสู่สภาพปกติ เพราะตอนนั้นไม่สู้ปกตินัก เจ้าพระยาโกษาเหล็กและเจ้าพระยาโกษาปาน เคยเดินทางถึงต่างประเทศ

ทั้ง ๒ คน มีฝีมือดีเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมาก อันดันแรกเป็นเพื่อนเล่นกัน ต่อมาเป็นหัวหมู่ทะลวงฟันมีฝีมือดี ต่อมาเป็นแม่ทัพ สมัยนั้นมีแม่ทัพนายกองเก่ง ๆ หลายท่านด้วยกัน เช่น พระยาพิชัยดาบหัก และอีกหลายคน ไม่ใช่เก่งคนเดียว เก่งคนเดียวนี่เก่งไม่ได้

บั้นปลายของชีวิตท่านลาราชกิจราชการ เพราะเป็นคนแก่ ไปจำศีลภาวนาเจริญพระกรรมฐานวิปัสสนาญาณ ให้ทาน ตามปกติของคนแก่

ตายจาก "เจ้าพระยาโกษาเหล็ก" ด้วยกำลังของฌานไปเป็นพรหมตามเดิม นอนสบายได้พักหนึ่ง ก็ต้องเสด็จลงมาอีกแล้วกรุงศรีอยุธยาแตกยับเยิน

วาระที่ ๑๑ นี้ ท่านพรหม "พระเจ้ามังรายมหาราช" ก็มาเกิดเป็นขุนดาบของ "พระเจ้าตากสินมหาราช" อีก


หนังสือ “ฤๅษีทัศนาจร” เล่มที่ ๑



ตอน ปรารภเรื่องการตั้งโรงพิมพ์ (ที่บ้านสายลม)

...อันดับแรก แกก็มีทุนอยู่หนึ่งล้านแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ท่านเจ้าพระยาโกษาปาน" หรือ "เจ้าพระยาโกษาป่อง" ซึ่งเป็นน้อง "เจ้าพระยาโกษาเหล็ก"

ที่บรรดาเด็กให้สมญาว่า "เจ้าพระยาโกษาป่อง" (อันนี้ไม่ใช่ตัวจริง เขาสมมติขึ้น) นี่ท่านก็มีทุนประจำอยู่หนึ่งล้านเหมือนกัน

แต่สองล้านของฤาษีลิงดำ หรือ "พระยาโกษาป่อง" นี่ใช้ไม่หมด เพราะว่าเทิดทูนไว้บนศีรษะ เลยไม่ต้องใช้กัน ถ้าใครจะมาทวงเงินในอัตราหนึ่งล้านบาท ก็บอกว่าเอาเลย พ่อเทวดาอยากได้ดึงเอาไปเลยจากหัว ถ้าดึงเอาไปไม่ได้แสดงว่าคนดึงไร้สมรรถภาพ เป็นอันว่าหนี้สินไม่ต้องเอากัน

นี่เป็นอันว่าเวลานี้ เรื่องของโรงพิมพ์นี่ตั้งขึ้นมาได้แล้วแต่เงินมันไม่พอ ถ้าบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายสนใจ อยากจะบำเพ็ญกุศลด้วย จะช่วยกันคนละ ๕ สตางค์ ๑๐ สตางค์ สลึง สองสลึง ทำได้ตามอัธยาศัย ติดต่อได้ที่พระยาโกษาป่อง น้องชายพระยาโกษาเหล็ก

ตอน ”เทวดาชวนขุดทอง”

...เมื่อแผ่นดินสะเทือน แผ่นดินสั่นเกิดขึ้น ดร.ปริญญา ก็บอกว่าเป็นปรากฏการณ์ของธรรมชาติบ้าง แต่ทว่าเจ้าลิงนี่สิ ฤาษีลิงดำหัวหน้าทัศนาจรมันไม่ว่าอย่างนั้น พอแผ่นดินสะเทือน ก็กำหนดจิตคิดว่านี่มันเรื่องอะไร

พอมีความดำริเท่านั้น ก็ปรากฎว่า บรรดาปิยสหาย คราวนี้ไม่ใช่หมาแล้ว กลายเป็นผี มีศักดิ์ศรีใหญ่ แต่งตัวสีแดงพรืดไปหมด ประมาณ ๗๐ - ๘๐ คน แล้วก็ประมาณสีเขียวสีดำอีกหลายร้อยคน เห็นบริเวณนั้นเกลื่อนกล่นไปหมด จึงถามว่า

...“นี่…พ่อเทวดา แกมาทำอะไรกันอยู่ที่นี่ และทำไมแผ่นดินมันถึงสะเทือน” เขาก็ชี้ไปที่ "ท่านเจ้าพระยาโกษาป่อง" การไปคราวนี้ "ท่านเจ้าพระยาโกษาป่อง" น้องชาย "เจ้าพระยาโกษาเหล็ก" ท่านไปด้วย

(ความจริงชื่อนี้สมมติขึ้นมา อย่าคิดว่ามันเป็นเรื่องจริงๆ ล้อกัน และ "เจ้าพระยาโกษาป่อง" เป็นใครก็อย่าคิด อย่าถาม ถามก็ไม่บอก) แกก็เลยบอกว่า

“..เจ้าพระยาโกษาป่อง มันคิดจะขุดทรัพย์ มันคิดว่าที่นี่มีทรัพย์มาก มันอยากจะได้ทรัพย์ใต้แผ่นดิน ในเมื่อมันคิดอย่างนั้นก็เลยทำให้มันรู้ว่ามีจริง..”


บทสรุป "เจ้าพระยาทั้งสอง"

...ตามที่ได้นำข้อมูลทั้งหลายมาลงให้อ่านกันนี้ อาจจะมีข้อความที่ยืดยาวไป แต่ด้วยเหตุแห่งความสับสนมานาน จึงต้องทำให้มีหลักฐานมากมายเช่นนี้

สรุปความตามท้องเรื่อง ตามที่หลวงพ่อฯ ท่านพูดล้อเล่นกับท่านเจ้ากรมเสริม (พล.อ.ท.ม.ร.ว.เสริม สุขสวัสดิ์) อดีตเจ้าของบ้านสายลมว่า "ท่านเจ้าพระยาโกษาป่อง"


ด้วยเหตุนี้ ท่านเจ้ากรมเสริมจึงได้นำไปตั้งเป็นนามปากกาว่า "ป่อง โกษา" ในหนังสือ "ล่าพระอาจารย์" และ "พระธรรมจากพระไตรปิฎก" หรือ "ก.ษ.ป." จาก "เรื่องน่ารู้ในพระไตรปิฎก" และหนังสือต่างๆ ของวัดท่าซุง

โดยเฉพาะหนังสือ "ประวัติหลวงพ่อปาน" หรือหนังสือเก่าๆ หลายเล่มของวัด ท่านเจ้ากรมเสริมเป็นผู้จัดทำให้หลวงพ่อฯ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น งานหนังสือหรืองานการทูต จึงเป็นของเก่าติดตามมาตั้งแต่ชาติก่อนนั่นเอง

โดยเฉพาะสมัยชาติอดีต "ท่านเจ้ากรมเสริม" มิได้เป็นเคยเป็นแค่น้องของหลวงพ่อฯ เท่านั้น แม้ชาติก่อนๆ ก็เคยเกิดร่วมสมัยเดียวกัน หลวงพ่อฯ มักจะเรียกท่านเจ้ากรมเสริมว่า "พระราชาช้าง" อยู่เสมอ (ท่านบอกว่า รูปร่างแบบนี้เคยอยู่ชั้นจาตุมหาราช ฝ่ายกุมภัณฑ์ มาก่อน)

สำหรับบุคคลที่สำคัญนั่นก็คือ "เจ้าพระยาผู้พี่" ตามที่ "เปิดจดหมาย..ของโกษาเหล็ก" ไปแล้ว ไม่เห็นท่านกล่าวถึงการถูกลงโทษจาก "สมเด็จพระนารายณ์" เลย

แต่กลับบอกว่าลาออกจากราชการ (ท่านไม่บอกสาเหตุ) แล้วมาสร้างวัดปฏิบัติธรรมจนถึงวันตาย ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ใกล้บ้านเกิดเมืองนอน ของท่านนั่นเอง (บริเวณนี้ชาวบ้านยังเรียก "เกาะลูกมอญ" อยู่)

แม้ในชาติปัจจุบันนี้..ท่านก็ยังได้ชี้จุดที่ท่านเคยนั่งสมาธิตาย อยู่ใต้โคนโพธิ์ต้นหนึ่งภายในวัดท่าซุงแห่งนี้..สวัสดี

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน



[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 23/3/18 at 16:22 [ QUOTE ]


.

[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 24/3/18 at 08:51 [ QUOTE ]


[ ตอนที่ 8 ]

(Update 27 มีนาคม 2560)


เปิดบันทึกบาทหลวงฝรั่ง
เหตุ “โกษาเหล็ก” ต้องราชทัณฑ์ มัดมือโยงก่อนโบย !

Credit - https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_870720


...เป็นหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ สำหรับเรื่องราวของ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) พระยาพระคลังข้าหลวงคนสำคัญของสมเด็จพระนารายณ์ ถูกบันทึกไว้

โดยหนังสือบันทึกความทรงจำของบาทหลวง เดอะ แบส เกี่ยวกับชีวิตและมรณกรรมของ ก็องสตังซ์ ฟอลคอน เขียนโดย บาทหลวง เดอะ แบส แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร เล่าถึงเหตุการณ์ที่โกษาเหล็กหรือพระยาพระคลังต้องราชทัณฑ์ไว้

บันทึก ระบุว่า “มร. ก็องสตังซ์ ฟอลคอน เป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้เขาเข้าเฝ้าอยู่เนืองๆ ทรงพอพระราชหฤทัยให้เขาเล่าถึงพระกฤดาภินิหารแห่งกษัตริย์ต่างๆ ในทวีปยุโรป กำลังทหารของแต่ละประเทศ วิธีการปกครองบ้านเมืองและตำราพิชัยสงคราม

ในการเข้าเฝ้ากราบทูลตามกระแสรับสั่งนี้เอง ที่เขาได้สำแดงออกให้ประจักษ์ซึ่งความจงรักอันยิ่งใหญ่ และความภักดีอันลึกซึ้งที่เขามีอยู่เป็นนิจ ในองค์พระผู้เป็นคริสต์ศาสนูปถัมภก

ด้วยว่ากิตติศัพท์ได้กำจายไปในชมพูทวีป ถึงการพิชิตและชัยชนะอันใหญ่หลวง ที่พระองค์ได้ทรงมีต่อกษัตริย์ผู้ทรงอำนาจหลายพระองค์ในยุโรป ที่ได้รวมกำลังกันกระทำยุทธนาการต่อพระองค์ท่าน


มร. ก็องสตังซ์ถวายความพอพระทัยให้แก่พระเจ้ากรุงสยาม โดยเล่ารายละเอียดถวายให้ทรงทราบ ในขณะนั้นมิใช่ว่าเขามีใจผูกพันอยู่กับประเทศฝรั่งเศสโดยตรงนัก แต่หากเขาตระหนักในพระราชอัธยาศัย ในการรณรงค์ของพระเจ้ากรุงสยามดีอยู่ว่า

ไม่มีสิ่งไรที่พระองค์จะโปรดปราน การเล่าพระราชอิริยาบถของวีรบุรุษ ผู้เป็นที่ชื่นชมแด่ชนทั้งปวงไปทั่วสกลโลก พระองค์นั้นถวายให้ทรงทราบ พระเจ้ากรุงสยามผู้ทรงปราถนาจะดำเนินตามรอยพระบาทอยู่ทุกประการ ถ้าว่าสามารถที่จะเป็นไปได้ อย่างน้อยที่สุดก็ใคร่ที่จะทรงเอาอย่างในพระปัญญาสามารถ ที่ทำให้ข้าศึกไม่อาจล่วงล้ำเข้ามาได้

โดยอาศัยป้อมปราการที่พระองค์ทรงตีได้ หรือที่โปรดให้สร้างขึ้นไว้ตามชายราชอาณาเขตนั้น พระองค์รับสั่งแก่ มร. ก็องสตังซ์ว่า พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์โดยทำนองเดียวกันนั้น

และทรงปราถนาให้เขาออกเดินทางสำรวจไปให้ทั่วราชอาณาจักร เพื่อพิจารณาแหล่งแห่งที่ที่ควรจะได้สร้างป้องปราการขึ้นให้เขาทำแผนผังมาถวาย เพื่อที่พระองค์จะได้ทรงพิจารณาสั่งการต่อไป


ภาพแนวกำแพงและแนวเสาเข็มป้อมเล็กที่บางกอก จากหอจดหมายเหตุ

มร. ก็องสตังซ์ไม่ได้เป็นนายช่าง แต่ด้วยอัจฉริยวุฒิของเขาประกอบกับความปราถนาอันแรงกล้า ที่จะปฏิบัติการให้เป็นที่พอพระราชหฤทัย แม้จะมีความรู้ด้อยในศิลปะ (การก่อสร้าง)

แต่เขาก็ได้เคยเห็นการก่อสร้างป้อมปราการในทวีปยุโรปมาแล้ว จึงพยายามฟื้นความทรงจำทำแผนผังขึ้นมาได้อย่างค่อนข้างจะถูกต้องพอที่จะจัดสร้างขึ้นได้ ณ แหล่งแห่งที่ที่เขาเห็นสมควร โดยพิจารณาพื้นที่ประกอบกับชัยภูมิ ตอนขากลับจากการสำรวจก็ได้นำแผนผังนั้นไปให้พวกชาวอังกฤษช่วยกันดูเพื่อขอรับคำแนะนำบ้าง

ครั้นแล้วก็นำเข้าถวายให้ทอดพระเนตร ในหลวงทรงมีน้ำพระทัยกรุณาผู้ออกแบบอยู่แล้วก็พอพระราชหฤทัย และทรงมีหมายรับสั่งให้หัวเมืองต่างๆ ที่ถูกกำหนดนั้นให้สร้างป้อมปราการขึ้น ตามแผนผังนั้นโดยมิชักช้า

คนสยามนั้นโดยธรรมดาแล้วเป็นคนขี้เกียจ ยิ่งเป็นงานหลวงแล้วยิ่งคร้านใหญ่ด้วย จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญชาไป โดยค่าใช้จ่ายของตนเองไม่ได้รับค่าแรงเป็นเครื่องยังชีพแต่ประการใด

ทั้งเครื่องไม้เครื่องมือในการหักร้างถางพงหรือก่อสร้างก็ไม่จ่ายให้ทั้งสิ้น การกะเกณฑ์ครั้งใหม่นี้เป็นที่สะดุ้งหวาดเสียวกันอยู่ และเพื่อที่จะเอาตัวรอด จึงได้ชวนกันเข้าติดต่อกับท่านพระคลัง โดยรวบรวมเงินได้ห้าสิบชั่ง ประมาณเท่ากับ ๑,๕๐๐ ลีวร์ของเรา มามอบให้เป็นกำนัล เพื่อขอให้กราบทูลในหลวงให้ทรงยับยั้งการก่อสร้างนี้ไว้


พระคลังจึงได้เข้าเฝ้าถวายความเห็นแก่ในหลวงว่า อันเมืองป้อมนี้มิได้เคยมีเป็นประเพณีมา ในราชอาณาจักรอย่างเช่นในทวีปยุโรป

ด้วยคนสยามนั้นไม่รู้จักวิธีที่จะแก้ไขการถูกล้อม (อยู่ภายในป้อม) ได้ กลับจะทำให้ได้รับความเดือดร้อนมากกว่าจะเป็นประโยชน์เสียอีก

เพราะข้าศึกจะสามารถเข้าทำการยึดเอาได้โดยง่าย และยากนักที่คนสยามจะขับไล่ให้พ้นไป กลับจะทำให้ฝ่ายข้าศึก มีสถานที่อันมั่นคงอยู่ในราชอาณาจักรเสียอีก

อนึ่งนั้น มร. ก็องสตังซ์ ผู้ออกแบบแปลนแผนผังการก่อสร้างป้อมปราการนี้ก็เป็นคนหนุ่ม ซึ่งไม่มีความชำนิชำนาญในงานประเภทนี้ และจะทำให้ในหลวงทรงเปลืองพระราชทรัพย์ไปโดยไม่จำเป็นเสียอีก


เหตุผลของท่านพระคลังนั้นไม่เลวเลย แต่เป็นคราวเคราะห์ร้ายของท่าน โดยในหลวงทรงทราบว่า ท่านได้นำความนี้มากราบทูลเพราะเงินที่ได้รับ มากกว่าจะมีความผูกพันอย่างจริงใจ ในผลประโยชน์แห่งราชบัลลงก์

พระองค์ทรงมีพระประสงค์จะให้พระคลังสารภาพความจริงนี้ออกมาด้วยตนเอง และทรงมีรับสั่งสอบถามว่า มิได้รับสิ่งไรบ้างเทียวหรือ ที่เข้ามากราบทูลให้ทรงยับยั้งการก่อสร้างเมืองป้อมไว้เช่นนี้ พระคลังเข้าใจว่าในหลวงมิได้ทรงล่วงความรู้นัย จึงกราบทูลปฏิเสธและยืนกรานไม่ยอมสารภาพอยู่กระนั้น


ข้างฝ่ายในหลวงนั้น เมื่อทรงมีรับสั่งตำหนิความประพฤติอันขลาด ที่เห็นแก่ได้ในผลประโยชน์เล็กน้อยดังนั้นแล้ว ก็รับสั่งต่อไปว่า พระองค์เป็นบุคคลแรกที่จะกล่าวประณาม คนที่พระองค์เคยทรงไว้วางพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่งมาแต่หนหลัง

แล้วทรงขับพระคลังออกเสียจากที่เฝ้าอย่างกริ้วเป็นที่สุด และรับสั่งให้ขุนนางผู้ใหญ่คนหนึ่ง ติดตามไปโบยเสียด้วยหวายในทันใดนั้น

อันเป็นการลงทัณฑ์ที่เป็นสิ่งธรรมดาที่สุดในหมู่ชนชาวสยาม แต่ไม่เคยได้กระทำแก่ผู้มีหน้าที่ราชการในตำแหน่งสูง นอกจากว่าจะมีความผิดเป็นอุกฤษฏ์โทษเท่านั้น

วิธีลงทัณฑกรรมนี้คือ เขาจับผู้กระทำผิดมัดมือโยงทั้งสองข้าง แล้วเฆี่ยนหลังอันเปลือยเปล่าลงมาถึงบั้นเอว ด้วยหวายเส้นเล็กๆ พันด้วยเชือกเส้นเล็กๆ ที่แข็งมาก จำนวนครั้งที่โบยนั้นเป็นไปตามโทษานุโทษ

แต่โดยธรรมดาแล้วการโบยนั้น ก็ถลกหนังออกจากหลังนั่นทีเดียว ท่านพระยาพระคลังได้รับการลงโทษทัณฑ์โบยอย่างหนัก ประกอบด้วยความอับอายขายหน้า จึงล้มป่วยลงเป็นไข้มีอาการหนัก พระยาพระคลังนั้นถึงแก่อนิจกรรมในเวลาไม่ช้าต่อมา..”


ที่มา - “บันทึกความทรงจำ ของ บาทหลวง เดอะ แบส เกี่ยวกับชีวิตและมรณกรรมของก็องสตังซ์ ฟอลคอน”. เขียนโดย บาทหลวง เดอะแบส. แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร. ศรีปัญญา. 2550 /ศิลปวัฒนะธรรม

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน



[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 24/3/18 at 15:41 [ QUOTE ]


[ ตอนที่ 9 ]

(Update 28 มีนาคม 2561)


เปิดหนังสือเก่า “เจ้าพระยาโกษาเหล็ก” (พิมพ์เมื่อปี 2493)


...เรื่องราวของโกษาเหล็ก หรือ "ขุนเหล็ก" กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง โดยเฉพาะหนังสือ “เจ้าพระยาโกษาเหล็ก” ของ ป. พิศนาคะ เป็นหนังสือเก่าที่จัดพิมพ์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2493 จึงขอนำเรื่องราวมาจากเว็บไซด์ rungsimun.com ดังต่อไปนี้...

เรื่องย่อ “ขุนเหล็ก ภาค 1”

..."ขุนเหล็ก" คือ ทหารเอกคู่ใจแห่ง "เจ้าฟ้านารายณ์" พระโอรสองค์รองของ "สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง" ขุนเหล็กเป็นบุตรชายคนโตของ "พระนมบัว" ซึ่งมีเชื้อสาย "วงศ์พระร่วง" และเป็นพระนมเอกใน "เจ้าฟ้านารายณ์"

ขุนเหล็กมีน้องสาวคนรอง ชื่อ "คุณแจ่ม" และมีน้องชายคนเล็ก ชื่อ "คุณปาน" เมื่อครั้งยังเยาว์วัย ขุนเหล็กเป็นพระสหายสนิทที่ร่วมเรียน ร่วมเล่น และร่วมซ้อมดาบ ร่วมซ้อมขี่ม้ากับพระนารายณ์ และสหายคนอื่นๆ

ซึ่งต่อมาก็คือ ทหารเอกทั้ง 9 ของเจ้าฟ้านารายณ์ ประกอบด้วย "คุณทองคำ" บุตรชายของ "พระนมเปรม" เจ้าน้อย เจ้าชู และ เจ้าสังข์

จนกระทั่งเข้าสู่วัยหนุ่ม "ขุนเหล็ก" ต้องเดินทางไปฝึกดาบและร่ำเรียนวิชาต่างๆ กับ "ครูเดช" และ "เจ้าคุณชุ่ม" ที่เมืองสวรรคโลก จนเวลาล่วงเลยไปถึง 7 ปี ขุนเหล็กได้ร่ำเรียนวิชาต่างๆ จนสำเร็จดีแล้ว

และเมื่อได้รับสาส์นเรื่องที่ "พระสุธรรมราชา" หมายที่จักชิงพระราชบัลลังก์ จากการส่งข่าวของ "เจ้าปาน" แล้ว ขุนเหล็กจึงต้องเดินทางกลับกรุงศรีอยุธยาโดยทันที

พร้อมด้วย "เจ้าทิป" บุตรชายออกยาเมืองสวรรคโลก ที่มีความสามารถในเชิงทวน และ "เจ้าสอน" เพื่อมาถวายตัวเป็นข้าในเจ้าฟ้านารายณ์

ต่อมาเมื่อ "สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง" ได้เสด็จสู่สวรรณคาลัย และได้มอบพระขรรค์แสงไชยศรีให้ "เจ้าฟ้าไชย" พระโอรสองค์โตเป็นกษัตริย์ปกครองแผ่นดินต่อจากพระองค์นั้น

ก็สร้างความไม่พอพระทัยแก่ "พระสุธรรมราชา" ผู้เป็นพระอนุชาของพ่อเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างมาก เช่นนั้นพระสุธรรมราชาจึงได้หารือกับ "เจ้าฟ้านารายณ์" เรื่องที่จะชิงพระราชสมบัติจากเจ้าฟ้าไชย ซึ่งในการครานั้น ขุนเหล็กและข้าในเจ้าฟ้านารายณ์คนอื่นๆ ก็ร่วมปฏิบัติกิจในครั้งนี้จนสำเร็จ

เมื่อ "พระสุธรรมราชา" ได้เป็นกษัตริย์องค์ต่อมา พระองค์ก็ทรงไม่สามารถปกครองแผ่นดินโดยธรรมได้ และยังได้กระทำการอันไม่สมควรต่อ "พระราชกัลยาณี" ผู้ที่เป็นพระนัดดาในสายโลหิตเดียวกัน

ซึ่งสร้างความไม่พอพระทัยต่อ "เจ้าฟ้านารายณ์" เป็นอย่างมาก พระองค์จึงได้รับสั่งให้ "ขุนเหล็ก" เรียกประชุมเหล่าขุนนางข้าราชการ เพื่อที่จะยกไพร่พลเข้าต่อตีชิงพระราชบัลลังก์จากพระศรีสุธรรมมาราชาคืน โดยที่พระองค์ได้ทรงเป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยาแทนสืบต่อมา

เมื่อกิจครานั้นผ่านไป เหล่าขุนนางข้าราชาการและขุนศึกทั้งหลายก็ได้เลื่อนยศด้วยกันทั้งสิ้น คือ
- พระนมบัว ได้เลือนยศเป็น "เจ้าแม่วัดดุสิต"
- พระนมเปรม เป็น "ท้าวศรีสัจจา"
- คุณทองคำ เป็น "พระเพทราชา"
- เจ้าสอนเป็น "พระยาสุรสงคราม"
- เจ้าทิปเป็น "พระยาศรีหราชเดโชไชย"


(...จากหนังสือฉบับนี้ จึงได้ทราบว่าพระมารดาของ "พระเพทราชา" หรือ "คุณทองคำ" ชื่อว่า "พระนมเปรม" และเพิ่งทราบว่าเดิมเรียกกันว่า "ขุนเหล็ก" แล้วได้ "คุณนิ่ม" ลูกสาวเจ้าเมืองสวรรคโลกมาเป็นศรีภรรยา)

(อีกทั้งได้เล่าเรียนวิชาการจากเมืองสวรรคโลก เหมือนกับชาตินี้ (ตำราพระร่วง "มหาพิชัยสงคราม" จากอาจารย์แจง) และชาติก่อนๆ สมัย "พระเจ้าพรหมมหาราช" ก็ได้ "นางปทุมวดี" ลูกสาวเจ้าเมืองมาครอง

จนกระทั่งได้เกิดมาเป็น "พระร่วงโรจนฤทธิ์" ผู้เป็นต้นตำราพระร่วงนั่นเอง จะเห็นว่าเรื่องนี้มีความสัมพันธ์กันมาตั้งแต่อดีต อ่านเรื่องราวของท่านต่อไป...)

มีเพียง "ขุนเหล็ก" เท่านั้นที่ยังไม่ได้รับการเลื่อนยศแต่อย่างใด แต่ขุนเหล็กก็ยังคงเป็นที่ปรึกษาของเจ้าฟ้านารายณ์เสมอมา

ขุนเหล็กมีภรรยา 1 คนคือ "คุณนิ่ม" ซึ่งเป็นพี่สาวของ "คุณทิป" และเป็นบุตรีของท่าน "พระยาเกษมสงคราม" เจ้าเมืองสวรรคโลก

ตำแหน่ง "พระยาโกษาธิบดี"

ต่อมาขุนเหล็กได้ควบคุมให้ทหารซ้อมกลศึก และสั่งให้ทหารนำไม้ไผ่ที่มีปลายแหลมปักลงดิน แต่มีทหารนายหนึ่งขัดคำสั่ง ไม่นำปลายแหลมของไม่ไผ่ปักลงดิน

ขุนเหล็กจึงสั่งให้เอาทหารนายนั้นไปตัดหัวเสียบประจาร เนื่องจากไม่ยอมทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ด้วยความเที่ยงตรงและรอบรู้ทุกด้าน ต่อมาเมื่อ อัครมหาเสนาบดี "อับดูร์ ลัคซัค" ได้กระทำผิด โดยที่ไม่ได้ตั้งใจทำราชการอย่างจริงจัง

กลับใช้อำนาจข่มแหงรังแกขุนนางน้อยใหญ่ ชอบอวดอำนาจพกปืนไฟเป็นนิตย์ หากไม่พอใจใครก็ใช้ปืนไฟสังหาร สมเด็จพระนารายณ์จึงทรงให้นำไปลงทัณฐ์ แล้วแต่งตั้งให้ "เจ้าคุณเหล็ก" เป็น "พระยาโกษาธิบดี" คนใหม่แทน

ทำศึกสงครามกับพม่า"

ต่อมากรุงอังวะได้ยกทัพมาต่อตีกับทัพกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2224) โดยในครานั้นกองทัพกรุงศรีอโยธยามี "เจ้าพระยาโกษาธิบดีเหล็ก" เป็นแม่ทัพใหญ่ได้ต่อตีทัพอังวะพ่ายให้กลับไป ทัพพระยาสีหราชเดโชไชยที่ดักรออยู่ด้านหลังก็เข้าตีซ้ำ จนไพร่พลทัพหน้าของอังวะล้มตายเสียเป็นอันมาก

เมื่อกองทัพเจ้าพระยาโกษาธิบดีแลทัพพระยาสีหราชเดโชไชยเข้ามาสมทบกันแล้ว จึงร่วมกันตามตีทัพอังวะไปจนถึงทัพหลวง "มังสุรราชา" แม่ทัพใหญ่พม่าจึงนำพลออกต่อสู้ แต่ด้วยไพร่พลเสียกระบวนทัพไปเสียแล้ว ประกอบกับ "มังสุรราชา" ถูกปืนไฟบาดเจ็บ กองทัพหลวงอังวะจึงแตกพ่าย

เจ้าพระยาโกษาธิบดีเหล็ก แล พระยาสีหราชเดโชไชย เห็นเป็นทีจึงเข้าตีซ้ำ แลร่วมกันขับไล่กองทัพอังวะออกไปจนสุดขอบเขตขัณฑสีมา

สมเด็จพระนารายณ์ทรงโปรดให้เกณฑ์ไพร่พลจำนวนหกหมื่น (พ.ศ. 2225) ยกทัพขึ้นไปตีตอบโต้พม่า เยี่ยงสมเด็จพระบูรพกษัตริย์ "สมเด็จพระนเรศวรมหาราช" ที่ทรงกระทำไว้เป็นแบบอย่าง

ในครานั้นทรงโปรดให้กองทัพกรุงศรีอยุธยายกทัพไปเป็น ๔ ทาง คือ พระยารามเดโชไชย คุมกองทัพเชียงใหม่ ไปทางเมืองผาปูนทางหนึ่ง พระยากำแพงเพชร คุมกองทัพหัวเมืองเหนือ ยกไปทางด่านแม่ละเมาทางหนึ่ง

เจ้าพระยาโกษาธิบดีเหล็ก เป็นแม่ทัพใหญ่ พระยาสีหราชเดโชไชย เป็นแม่ทัพหน้า พระยาวิชิตภักดี คุมยกกระบัตรทัพ พระยาสุรินทรภักดี คุมทัพเกียกกาย

แลพระยาสุรสงคราม คุมทัพเป็นกองหลัง ยกไปทางด่านพระเจดีย์สามองค์ทางหนึ่ง แลให้ พระยาเกียรติ แล สมิงพระราม คุมกองทัพมอญยกไปทางเมืองทวาย เพื่อป้องกันมิให้เมืองทวายตีโอบหลังอีกทางหนึ่ง

เจ้าพระยาโกษาธิบดีเหล็ก จึงเรียกให้กองทัพทั้งหมดมาประชุมทัพกันที่เมืองเมาะตะมะ ก่อนยกทัพเข้าตีเมืองรายทางจนสำเร็จ แล้วยกทัพไปต่อตีเมืองอังวะ แต่เจ้าเมืองอังวะไม่ยอมออกมาต่อตีด้วย ไม่ว่าพระยาโกษาธิบดีเหล็กจักเขียนจดหมายไปท้ารบเพียงใดก็ไม่ยอมออกมา

ท่านพระยาโกษาฯ จึงได้สั่งทหารให้ล่าทัพกลับกรุงศรีอยุธยา แต่ก่อนที่จะล่าทัพกลับนั้น ท่านพระยาโกษาธิบดีเหล็กก็ได้ให้เชลยพม่านำหนังสือของท่านอีกฉบับหนึ่ง เข้าไปส่งในเมืองให้พวกพม่าอ่านเล่นกัน จักได้เข็ดขยาด มิกล้าตามไปต่อตีถึงกรุงศรีอโยธยาอีกต่อไป

และหลังจากเสร็จการศึกในกรุงอังวะและคืนกรุงศรีอยุธยามาแล้ว พระยาโกษาธิบดีเหล็กทหารเอกแห่งพระนารายณ์ก็ได้พบหน้า "บุตรชาย" ซึ่งเกิดจากภรรยาคนเดียวคือ "คุณหญิงนิ่ม" และท่านได้กลับมารับราชการเป็น "ออกญาพระคลัง" และกรุงศรีอโยธยาก็ปลอดจากการรุกรานของทัพพม่าต่อมาอีก 70 ปี


ที่มา - http://www.rungsimun.com/_m/article/content/content.php?aid=263990

...หมายเหตุ - พออ่านมาถึงตอนใกล้จบรู้สึกเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ที่พระยาโกษาธิบดีเหล็กกลับมาได้พบหน้าบุตรชาย แต่ไม่บอกว่าชื่อ "ขุนทอง" (ต้นจักรีวงศ์) หรือไม่ เพราะหลวงพ่อฯ พูดไว้ในหนังสือ "นิทานอิงประวัติศาสตร์" เป็นนัยๆ ว่า

..."ครูสุวรณ" ท่านว่า "นายขุนทอง" เป็นบุตรชายของเจ้าพระยาโกษา (เหล็ก) ให้ถือเอาเป็นบุตรท่านเจ้าพระยาโกษา (ปาน) ก็แล้วกัน..."

...ส่วนการเอาชนะพม่าได้ในครั้งนี้ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ได้แสดงปรีชาสามารถในเชิงจิตวิทยา ด้วยการแต่งหนังสือเป็นเชิงท้าทายพม่าให้ออกมาสู้รบกันข้างนอกเมืองด้วย เพราะได้ล้อมพม่าไว้เป็นเวลานาน จนใกล้จะขาดแคลนเสบียงอาหารแล้ว

ชั้นเชิงในการแต่งหนังสือนั้น ทำให้พม่าเสียทีหลงกลไทย เป็นเหตุให้แพ้พ่ายแก่ไทยในที่สุด เมื่อชนะแล้วก็ยังได้ส่งหนังสือเข้าไปยังเมืออังวะอีก

จนเป็นเหตุให้เมืองอังวะคิดว่าเป็นกลลวงอีกคำรบหนึ่ง จึงรู้สึกขยาดและครั่นคร้ามต่อกองทัพไทยเป็นยิ่งนัก หลังจากนั้นก็มิปรากฏว่าอังวะจะกล้ายกทัพออกจากเมืองมารุกรานไทยอีกเป็นเวลานานทีเดียว

เจ้าพระโกษาธิบดี (เหล็ก) ท่านเป็นแม่ทัพไทยที่มีความช่ำชองในการศึกษา และมีจิตใจที่เด็ดเดี่ยวกล้าหาญสมกับเป็นแม่ทัพใหญ่ ในเชิงพิชัยยุทธนั้นท่านมีความเฉลียวฉลาดและลึกซึ้งเป็นยิ่งนัก จึงกล่าวได้ว่าท่านกรำศึกษาอย่างโชกโชน คู่ราชบัลลังก์ของสมเด็จพระนารายณ์

พ.ศ. 2226 เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ได้เกิดล้มป่วยลงเนื่องจากผ่านการรบทัพจับศึกมาอย่างตรากตรำลำบากเป็นเวลานาน

ซึ่งในระหว่างที่ล้มป่วยนั้น สมเด็จพระนารายณ์ทรงให้บรรดาแพทย์หลวงทั้งปวงมาทำการรักษาพยาบาลอย่างใกล้ชิด ด้วยเพราะทรงรักใคร่เป็นห่วงเป็นใยเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) เสมือนหนึ่งดั่งพี่น้องแท้ ๆ ของพระองค์

แต่ทว่าในที่สุดเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ก็ถึงแก่อสัญกรรมท่ามกลางความโศกเศร้าเสียพระทัยของสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งกล่าวกันว่าทรงหลั่งน้ำพระเนตรด้วยความอาลัยรักในขุนศึก ซึ่งเปรียบเป็นเสมือนพระสหายสนิท และเป็นทั้งพี่น้องที่เห็นกันมาตั้งแต่ยังพระเยาว์

(ใน "วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี" กล่าวว่าท่านถึงแก่อสัญกรรม เนื่องจากเมื่อมีการสร้าง "ป้อมปราการ" จำเป็นต้องมีการเกณฑ์แรงงานในการก่อสร้าง แต่บางคนไม่อยากทำจึงนำเงินไปให้ท่าน

และท่านได้กราบบังคมทูลต่อสมเด็จพระนารายณ์ว่า ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างป้อมปราการ ท่านจึงถูกสมเด็จพระนารายณ์สั่งลงทัณฑ์โดยการเฆี่ยนจนถึงอสัญกรรม)

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ทรงทำการฌาปนกิจศพเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) อย่างยิ่งใหญ๋ สมเป็นเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่ง และหลังจากนั้นก็ได้ทรงสนับสนุนให้ "ขุนปาน" ผู้เป็นน้องชายคนเดียวของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ขึ้นเป็นแม่ทัพใหญ่แทนพี่ชายสืบต่อไป


ที่มา - thainews360.com/เปิดที่มา-โกษาเหล็ก-แ/

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน



[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 25/3/18 at 09:16 [ QUOTE ]


[ ตอนที่ 10 ]

(Update 29 มีนาคม 2561)


เปิดหนังสือเก่า “เจ้าพระยาโกษาเหล็ก” (พิมพ์เมื่อปี 2493)


...เรื่องราวของโกษาเหล็ก หรือ "ขุนเหล็ก" กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง โดยเฉพาะหนังสือ “เจ้าพระยาโกษาเหล็ก” ของ ป. พิศนาคะ เป็นหนังสือเก่าที่จัดพิมพ์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2493 จึงขอนำเรื่องราวตอนที่ 2 จาก rungsimun.com ต่อไป ดังนี้

เรื่องย่อ “ขุนเหล็ก ภาค 2”

....เมื่อเจ้าพระยาโกษาธิบดีเหล็กได้นำทัพขึ้นไปตีหักเอาเมือง จิตตอง สิเรียม ย่างกุ้ง หงสาวดี แปร จนมาถึง "พุกาม" เมืองหน้าด่านสุดท้ายของกรุงอังวะ (จิตตอง คือ สะเทิม)

มังจาเลราชบุตรแห่งพระเจ้ากรุงอังวะ ก็ได้เกณฑ์ไพร่พลจากกรุงอังวะมาตั้งรับทัพกรุงศรีอโยธยาเสียสิ้น แลได้ให้แม่ทัพนายกองยกทัพออกมาต่อรบ กองทัพไทยพยายามตีเอาเมืองพุกามหลายครั้ง แต่ก็ไม่สามารถตีหักเอาเมืองได้

เนื่องด้วยชาวเมืองต่างก็ช่วยกันป้องกันกันเป็นสามารถ เจ้าพระยาโกษาธิบดีเห็นไพร่พลต่างก็อดอยากล้มเจ็บเสียเป็นอันมากแล้ว จึงถอยทัพกลับกรุงศรี

เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) จึงให้ทัพชาวเชียงใหม่ที่ติดตามไปด้วย เดินรั้งทัพอยู่เบื้องหลัง แลได้ให้เลิกทัพกลับไปโดยลำดับมารควิถี ตราบเท่าถึงเมืองหงสาวดี ก็ให้หยุดยั้งทัพอยู่ที่นั้น

ในเพลานั้นเอง ฝ่ายแสนท้าวพระยาเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเดินรั้งทัพหลังเห็นว่าทัพกรุงศรีอโยธยาตีเมืองอังวะมิได้อย่างเด็ดขาด ก็บังเกิดความเกรงกลัวพระเจ้าอังวะ จึงปลีกตัวแยกทัพหนีไปทางเมืองเชียงใหม่

เมื่อความทราบถึงเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ผู้เป็นแม่ทัพใหญ่ จึงได้บัญชาให้พระยากำแพงเพชรแลพระยารามเดโช (ชู) นำไพร่พลเมืองเหนือจำนวนสองหมื่นคน ยกติดตามไปตีตอบใต้ถึงเมืองเชียงใหม่ เมื่อสำเร็จจึงยกทัพกลับและได้นำตัว "เครือฟ้า" คนรักของ "เจ้าคุณทิป" เดินทางกลับมายังกรุงศรีอยุธยา


- ตอนนี้ผู้เรียบเรียงขอแทรกเรื่องให้ละเอียดอีกสักนิดว่า (สมเด็จพระนารายณ์เสด็จประทับอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ ๑๕ วัน ทรงจัดวางการปกครองบ้านเมือง ตั้งท้าวพระยาผู้ใหญ่ที่มีความสามิภักดิ์เป็นพระยาเมืองเชียงใหม่ และให้กองทัพพระยาสีหราชเดโชไชยตั้งอยู่รักษาการ

แล้วโปรดให้กวาดครอบครัวและทรัพย์สิ่งของซึ่งได้ในการสงคราม มีช้างม้าและเครื่องศัสตราวุธเป็นต้นลงมากรุงศรีอยุธยา และเมื่อเสด็จกลับจากเมืองเชียงใหม่ ให้เชิญพระพุทธรูปอันทรงพระนามว่า "พระพุทธสิหิงค์"

อันเป็นของ "สมเด็จพระร่วงสุโขทัย" ซึ่ง สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ เคยได้มาไว้กรุงศรีอยุธยาแต่ก่อนนั้น กลับคืนลงมากรุงศรีอยุธยาด้วย

ครั้นเสด็จกลับมาถึงพระนครจึงพระราชทานบำเหน็จรางวัล "เจ้าพระยาโกษาฯ ขุนเหล็ก" และข้าราชการที่มีบำเหน็จความชอบในการสงครามครั้งนั้นทั่วกัน

มีเรื่องเนื่องในการปูนบำเหน็จครั้งนี้ ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารเรื่อง ๑ ว่าเมื่อสมเด็จพระนารายณ์เสด็จประทับอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ครั้งนั้น ได้นาง "กุลธิดา" ชาวเชียงใหม่เป็นบาทบริจาคนหนึ่ง

นางนั้นมีครรภ์ขึ้น จะทรงเลี้ยงดูก็ละอายพระทัย เมื่อปูนบำเหน็จข้าราชการ จึงพระราชาทานนางนั้นแก่พระเพทราชา ด้วยได้รบพุ่งมีความชอบในครั้งนั้น

นางคลอดบุตรเป็นชาย พระเพทราชาให้ชื่อว่า "นายเดื่อ" แล้วถวายเป็นมหาดเล็ก สมเด็จพระนารายณ์ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงทำนุบำรุง ด้วยทรงทราบว่าเป็นพระราชบุตร

และกุมารนั้นก็ถือว่าตัวเป็นพระราชบุตร จึงทะนงองอาจต่างๆ จนที่สุดคิด อ่านให้พระเพทราชาชิงราชสมบัติเมื่อสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ในเวลาต่อมา)


...หลังจากนั้น ๑๐ ปีต่อมาที่เมืองตะนาวศรี "ฟอลคอน" เดิมเป็นชาวกรีกเมื่ออายุ ๑๖ ปีได้ถูกพ่อนำมาขายให้เป็นกลาสีเรือของชาวอังกฤษถึง ๑๒ ปี

ต่อมาได้รับการชักชวนจากสหาย คือ "ริชาร์ด" และ "ไวท์" ให้เข้ามาค้าขายและได้ลักลอบขายศาสตราวุธ ปืนไฟ และกระสุนดินดำให้กับพวกขบฏทางใต้ แต่เรือได้เจอกับพายุจนเรือแตก ต่อมา "พระยาสุรสงคราม" และ "ฮาจิ" จึงมาพบเข้าและได้ช่วยเหลือเอาไว้ และพาทั้งสามมาพบกับเจ้าพระยาโกษา(เหล็ก)

ท่านเห็นว่า "ฟอลคอน" ผู้นี้เป็นกลาสีเรือของชาวอังกฤษมาหลายปี น่าจะรู้เล่ห์เหลี่ยมของชาววิลาสที่มาค้าขายน่าจะเป็นประโยชน์ต่อแผ่นดิน จึงนำตัวเข้ามาช่วยดูแลบาญชีต่างๆ จนได้รับความดีความชอบ เนื่องด้วยสามารถจับผิดเล่ห์เหลี่ยมกลโกงของพวกแขกมัวส์ได้

สมเด็จพระนารายณ์จึงทรงแต่งตั้งให้ "ฟอลคอล" เป็น "ออกหลวง" คอยช่วยงานเจ้าพระยาโกษาฯ(เหล็ก) และเป็นคนโปรดของสมเด็จพระนารายณ์ ถึงกับได้ตามเสด็จพระองค์พร้อมด้วย เจ้าฟ้าน้อย(พระอนุชา) กรมหลวงโยธาเทพ(พระราชธิดา)ไปทอดพระเนตรการสร้างพระราชวังที่เมืองลพบุรีด้วย

ต่อมาได้เกิดเรื่องมิงามขึ้นเมื่อ "ศรีปราชญ์" ได้แต่งโคลงเกี่ยวพาราสี "ท้าวศรีจุฬาลักษณ์" (พระสนมเอกของสมเด็จพระนารายณ์) จนต้องถูกเนรเทศไปอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช

และต่อมาก็เกิดเรื่องที่ "ริชาร์ด" และ "ไวท์" ได้ก่อเรื่องฉุดหญิงชาวบ้าน(กลิ่น) แต่คุณหลวงสรศักดิ์(เดื่อ) มาพบเข้าและช่วยเหลือไว้จนมีเรื่องชกต่อยกัน

เมื่อเจ้าพระยาโกษาฯ(เหล็ก) สอบสวนความแล้วพบว่า ทั้งสองมีความผิดจริงจึงสั่งให้นำไปจำขัง แต่ต่อมาทั้งสองก็ถูกปล่อยตัวเพราะ "ฟอลคอน" เป็นผู้ช่วยเหลือออกมา

หลังจากนั้นก็เกิดเหตุที่ "ฮาจิ" และพวกแขกมัวส์แอบเอาเครื่องราชบรรณาการจากพระเจ้าสุไลมานและสมเด็จพระนารายณ์ไปขายและถูกจับได้ โดยการทูลฟ้องจากฟอนคอล

สมเด็จพระนารายณ์จึงทรงสั่งให้ลงราชทัณฑ์ "ฮาจิ" และพวกแขกมัวร์ และทรงแต่งตั้งให้ "ฟอลคอล" เป็น "เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์" ที่พระสมุหนายกแทน

ซึ่งต่อมา "ฟอลคอน" ก็ถูก "คุณหลวงสรศักดิ์" ชกต่อยจนสลบ ด้วยเหตุที่ไม่พอใจที่ "ฟอลคอน" เกณฑ์เหล่าพระภิกษุสงฆ์มาสร้างป้อมปราการ ซึ่งเมื่อ "ฟอลคอน" เดินทางไปทูลฟ้องสมเด็จพระนารายณ์ถึงเมืองลพบุรี แต่พระองค์ก็ไม่ทรงลงทัณฑ์อันใดคุณหลวงสรศักดิ์

หลังจากนั้นมินาน "เจ้าฟ้าน้อย" ทรงถูกใส่ร้ายว่าแอบเป็นชู้กับ "ท้าวศรีจุฬาลักษณ์" (โดยการร่วมมือกันของ "พระปีย์" และคนสนิทของท้าวศรีจุฬาลักษณ์)

จนถูกลงพระราชทัณฑ์โบยโดยพระปีย์จนสลบ แลเมื่อฟื้นขึ้นมาพระองค์ก็ถึงกับพิการ ส่วน "ท้าวศรีจุฬาลักษณ์" ถูกนำตัวไปถูกน้ำโดยการตัดสินผิดโดย "พระเพทราชา"

และต่อมา เจ้าพระยาโกษาฯ(เหล็ก) ก็ถูกสมเด็จพระนารายณ์สั่งให้ลงราชทัณฑ์ เนื่องด้วย "ฟอลคอน" มาเท็จทูลฟ้องว่าเจ้าพระยาโกษาฯ(เหล็ก)ได้รับสินบนจากชาวบ้านให้มาทูลขอให้ยกเลิกการสร้าง "ป้อมปราการ" จนอาการสาหัส ซึ่งในระหว่างนั้นได้มีคณะราชฑูตจากพระเจ้ากรุงปารีสเข้ามาถวายพระราชสาส์น เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีด้วย

หลังจากนั้นเจ้าพระยาโกษาฯ ก็สิ้นชีวิตักษัยลงเนื่องจากแผลติดเชื้อ และในเพลาต่อมา "เจ้าคุณทิป" ก็ตรอมใจตายตามไปอีกคน

เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้สูญเสียแม่ทัพเหล็กผู้เป็นเสาหลักแห่งกรุงศรีอโยธยาไปแล้ว ก็ทรงเศร้าโศกพระทัยเป็นยิ่งนัก ใคร่จักระงับพระราชหฤทัยด้วยทิพย์รสแห่งการกวี เป็นเหตุให้ทรงรำลึกถึง "ศรีปราชญ์" รัตนกวีคู่พระทัยขึ้นมาได้

จึงทรงโปรดให้นำตัวเจ้าศรีปราชญ์คืนมายังกรุงศรีอโยธยา แต่หาได้ตัวกลับคืนมาไม่ ด้วยศรีปราชญ์ ได้ถูกเจ้าพระยานครกุมเอาตัวไปล้างเสียแล้ว

จึงทรงพิโรธตรัสสั่งให้ "พระยารามเดโช" นำทัพไปกุมเอาตัว "เจ้าพระยานคร" ล้างเสียด้วยดาบเล่มเดียวกัน กับที่ใช้ประหารศรีปราชญ์ เพื่อให้ตายตกไปตามกัน แลทรงโปรดให้พระยารามเดโช ได้ขึ้นเป็นที่เจ้าพระยารามเดโช อยู่รั้งเมืองศิริธรรมโศกราชนับแต่นั้น

เถิงปีพุทธศักราช 2228 สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงโปรดแต่งตั้งให้ "ออกพระวิสูตรสุนทร" หรือ "ออกพระวิสูตรโกษา" เป็นอัครราชฑูต "ออกหลวงกัลยาราชไมตรี" เป็นอุปฑูต "ออกขุนศรีวิสารวาจา" เป็นตรีฑูต พร้อมด้วยผู้ติดตามอีก 20 คน

เชิญพระราชสาสน์แลเครื่องราชบรรณาการไปเจริญทางพระราชไมตรีตอบแทนพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งนับได้ว่า เป็นคณะราชฑูตแห่งกรุงศรีอโยธยา ที่ออกเดินทางไปฝรั่งเศสเป็นครั้งที่ 3

แต่ครานี้เป็นการจำเริญทางพระราชไมตรีได้สมบูรณ์ที่สุด ด้วยมิเพียงแต่พระเจ้าหลุยส์เลอครังแห่งกรุงฝรั่งเศสจักทรงโปรดปรานในตัวอัครราชฑูต จนถึงกับโปรดให้เขียนรูปราชฑูตแลบันทึกถ้อยคำเป็นจดหมายไว้ทุกประการ

แล้วบรรดาเสนาบดีแลขุนนางน้อยใหญ่ รวมถึงบุตรธิดาของเสนาบดีทั้งหลาย ยังชื่นชอบในอัธยาศัยของพระวิสูตรสุนทรเป็นอันมาก การจำเริญทางพระราชไมตรีระหว่างกรุงศรีอโยธยาแลกรุงฝรั่งเศสในครานั้น จึงอาจถือได้ว่า เป็นการจำเริญทางพระราชไมตรีที่สำคัญที่สุดคราหนึ่งแห่งกรุงศรีอโยธยา


ที่มา - http://www.rungsimun.com/_m/article/content/content.php?aid=365590

สรุปประวัติ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก)

เกิด - พ.ศ. 2175 (หรือ พ.ศ. 2173)
เสียชีวิต - ปีกุน พ.ศ. 2226 (หรือ พ.ศ. 2204)
สัญชาติ - ไทยเชื้อสายมอญ
บิดามารดา - หม่อมเจ้าเจิดอำไพ (บางแห่งว่าเจิดอภัย หรือ ครอกอำภัย) กับ เจ้าแม่วัดดุสิต มีบุตรธิดารวม 3 คน คือ
1. เจ้าพระยาโกษา (เหล็ก)
2. ท้าวจุฬาลักษณ์ (แจ่ม)
3. เจ้าพระยาโกษา (ปาน)
ภรรยา - คุณหญิงนิ่ม บุตรีเจ้าเมืองสวรรคโลก (พระยาเกษมสงคราม)
บุตรชาย - 1 คน (ไม่แน่ว่าชื่อ "ขุนทอง" หรือไม่)


...หมายเหตุ - กรณีบอกว่าสิ้นใน พ.ศ. 2204 เพราะอ้างอิงตามพระราชพงศาวดารที่ชำระสมัยหลัง เนื่องจากพงศาวดารเก่าขาดไป

ซึ่งข้อมูลหลายตอนไม่ตรงกับหลักฐานร่วมสมัย และมีเนื้อหาพิสดารมาก และยังกล่าวไปอีกว่า "โกษาปาน" ได้เป็นแม่ทัพไปตีเชียงใหม่แทนหลังไปฝรั่งเศสอีก

ตามหลักฐานร่วมสมัย (บันทึกของบาทหลวงฝรั่ง) "โกษาเหล็ก" สิ้นในปีกุน เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1683 (พ.ศ. 2226) แต่สิ้นเพราะเหตุใดกันแน่ คงไว้รอวินิจฉัยกันอีกครั้งหนึ่ง...สวัสดี


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน



[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 25/3/18 at 09:29 [ QUOTE ]


[ ตอนที่ 11 ]

(Update 30 มีนาคม 2561)


เสียงสะท้อนจาก "ประวัติศาสตร์"


...นับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เมื่อบทละคร "บุพเพสันนิวาส" ออกมาโด่งดังในยุคนี้ ย่อมมีเสียงสะท้อนเป็นธรรมดา โดยเฉพาะกรณีการอสัญกรรมของบุรุษเหล็กอย่างเช่น..พระยาโกษาเหล็ก จะต้องได้รับโทษทัณฑ์ถึงเพียงนี้เชียวหรือ ลองดูผลสะท้อนจากสื่อต่างๆ มีดังนี้

- 1. "ไทยโพสต์" จากคอลัมภ์ - กาลครั้งหนึ่ง: 'โกษาเหล็ก' ผู้เป็นมากกว่าทหารเอกคู่ใจ 'เจ้าฟ้านารายณ์'

...ในละครบุพเพสันนิวาส "ขุนเหล็ก" เจ้าพระยาโกษาธิบดีเหล็กถูกโบยจนเสียชีวิตไปแล้ว พร้อมๆ กับบทสนทนาระหว่าง เจ้าพระยาโกษาธิบดีเหล็ก กับสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ท่อนที่ว่า

"...ไอ้เหล็ก กูจะถามมึง...มึงรับเงินสินบนมาจากไอ้พวกไม่อยากให้สร้างป้อมหรือไม่?" จนถึง..
"ไอ้เหล็ก มึงตอบกูมาอีกที ข้าจะถามเอ็งเป็นครั้งสุดท้าย...เอ็งยังยืนกรานคำตอบเดิมอยู่ฤๅ?"

ได้สะท้อนสังคมไทยตั้งแต่อดีตจนมาถึงปัจจุบัน ในหลากหลายแง่มุม โดยเฉพาะความโปร่งใส ซึ่งสังคมไทยในปัจจุบันโหยหาอย่างถึงที่สุด

มาทำความรู้จักขุนเหล็ก ทหารเอกคู่ใจแห่งเจ้าฟ้านารายณ์กันอย่างละเอียด เพราะบทบาทในละครบุพเพสันนิวาสนั้นเพียงน้อยนิด ขณะที่ขุนเหล็กกับเจ้าฟ้านารายณ์ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ว่ารู้จักกันตั้งแต่เยาว์ เป็นทั้งเพื่อน ทั้งนาย และเจ้าชีวิต ตลอดจนวาระสุดท้ายที่เราเห็นในบุพเพสันนิวาส

ขุนเหล็กเป็นบุตรชายคนโตของพระนมบัว ซึ่งมีเชื้อสายวงศ์พระร่วงและเป็นพระนมเอกในเจ้าฟ้านารายณ์ ขุนเหล็กมีน้องสาวคนรองชื่อ "คุณแจ่ม" และมีน้องชายคนเล็กชื่อ "คุณปาน"


.. (อ่านต่อได้ที่ : http://www.ryt9.com/s/tpd/2802850 (ซึ่งเป็นข้อมูลเดียวกันกับที่ลงไปตอนที่แล้ว)

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน



[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 27/3/18 at 19:02 [ QUOTE ]


[ ตอนที่ 12 ]

(Update 31 มีนาคม 2561)


เสียงสะท้อนจาก "ประวัติศาสตร์"


...2. วิพากษ์ประวัติศาสตร์ จาก https://www.facebook.com/WipakHistory มรณกรรมของโกษาเหล็ก - คอรัปชั่น ?

...หลักฐานร่วมสมัยของต่างประเทศหลายชิ้นระบุว่า เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) เป็นอัครมหาเสนาบดีที่ทรงอิทธิพลที่สุดในราชสำนัก มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดมีความสามารถ

...นิโกลาส์ แชรแวส (Nicolas Gervaise) มิชชันนารีฝรั่งเศส ซึ่งอยู่ในกรุงศรีอยุทธยาช่วง ค.ศ. ๑๖๘๑ ถึง ๑๖๘๕ (พ.ศ. ๒๒๒๔ ถึง พ.ศ. ๒๒๒๘) ได้กล่าวถึงท่านไว้ว่า

“...ท่านเป็นสหายร่วมนมกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงสยาม จึงได้รับพระมหากรุณาทรงใช้สอยใกล้ชิดพระองค์มาก กอปรด้วยเป็นผู้มีจริยวัตรและสติปัญญาอันเลิศ

ฉะนั้นเมื่อรับราชการอยู่ในราชสำนักได้ไม่นาน ก็ได้รับตำแหน่ง "พระคลัง" ซึ่งท่านก็ได้ปฏิบัติราชการสนองพระมหากรุณาธิคุณได้อย่างเหมาะสมแก่ตำแหน่งหน้าที่ทุกประการ

จนในลางครั้งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมอบหน้าที่จักรีให้ปฏิบัติจัดทำด้วย โดยทรงพิจารณาเห็นว่าไม่มีบุคคลอื่นใดที่เหมาะสมแก่ตำแหน่งเท่าท่านผู้นี้เลย

ท่านได้ถึงแก่อสัญกรรมท่ามกลางชื่อเสียงอันหอมหวนว่า เป็นผู้มีความสามารถปราดเปรื่องและดำเนินรัฐประศาสโนบายได้อย่างยอดเยี่ยมในรอบศตวรรษ...”


แต่ว่าท่านกลับถูกสมเด็จพระนารายณ์ลงพระราชอาญาอย่างหนัก จนเป็นเหตุให้ถึงแก่อสัญกรรมใน พ.ศ. ๒๒๒๖ จากบันทึกของบาทหลวง "เดอะ แบส" ผู้มีความใกล้ชิดกับ "คอนสตันซ์ ฟอลคอน"

"เดอ แบส" ระบุว่า เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) มีข้อเสียอยู่อย่างหนึ่งคือเป็นผู้ที่มี “ความลุ่มหลงในการสั่งสมทรัพย์สมบัติ ชอบรับของกำนัล”

โดยเฉพาะการติดสินบนในการสร้างป้อมปราการด้วยเงินเพียง ๕๐ ชั่งมาก ถามว่ามีค่าเท่าไหร่ ถ้าเทียบจากเอกสาร "คำให้การชาวกรุงเก่า"

ที่เรียบเรียงจากปากคำของเชลยไทยสมัยเสียกรุงครั้งที่สองแล้ว ก็เท่ากับเบี้ยหวัดของ "สมุหนายก" และ "สมุหพระกลาโหม" ในสมัยอยุทธยาตอนปลายทั้งปี คงไม่ห่างไกลกับสมัย "สมเด็จพระนารายณ์" มากนัก


...ข้อควรพิจารณาในที่นี้คือ เจ้าพระยาโกษาธิบดีถูกลงพระราชอาญาเพราะรับสินบนมาจึงหรือไม่..?

ในบริบทของสังคมไทยสมัยโบราณ ขุนนางไม่ได้รับเงินพระราชทานนอกเหนือจากเบี้ยหวัดเงินปี ขุนนางจึงสามารถหาผลประโยชน์ทางอื่นจากตำแหน่งของตน

เช่นการเรียกเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวเนื่องกับกรมกองของตน โดยอาจไม่ได้ส่งถึงท้องพระคลังเต็มจำนวน แต่เก็บไว้เองบางส่วน

และการรับของกำนัลหรือสินบน ที่มีผู้มาติดต่อราชการมอบให้ในรูปแบบที่เรียกว่า “สินน้ำใจ” เป็นเรื่องค่อนข้างปกติในยุคนั้น

การปกครองระบอบศักดินาในสมัยโบราณ จึงมักมีปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวงของขุนนาง ที่ราชสำนักไม่สามารถตรวจสอบได้อยู่มาก

การที่เจ้าพระยาโกษาธิบดีจะรับเงินจากไพร่ที่ไม่อยากสร้างป้อม หรือรับเงินจากฟอลคอนตอนมาฝากตัวรับราชการ อาจจะไม่ใช่เรื่องผิดตามบริบทสมัยโบราณ

เพราะถือเป็น “สินน้ำใจ” ตราบเท่าการรับ “สินน้ำใจ” นั้นไม่กระทบต่อผลประโยชน์ของพระเจ้าแผ่นดินและราชการ

ซึ่งการรับ “สินน้ำใจ” ในครั้งนี้นำมาสู่การทูลขอไม่ให้สร้างป้อม ที่ขัดพระราชประสงค์ของสมเด็จพระนารายณ์โดยตรง จึงน่าจะเป็นเหตุให้ถูกลงพระราชอาญา มากกว่าเหตุผลที่ว่ารับเงินสินบนนั้นมาอย่างเดียวเท่านั้น

มีข้อควรพิจารณาอย่างหนึ่งว่า "เดอ แบส" เข้ามาในสยามหลังจาก "เจ้าพระยาโกษาธิบดี" ถึงแก่อสัญกรรมไปแล้วหลายปี

ข้อมูลส่วนใหญ่ของเขา น่าจะมาจากคำบอกเล่าของ "ฟอลคอน" เป็นหลัก นอกจากนี้เขาเป็นคนที่ใกล้ชิดและชมชอบฟอลคอน เขาจึงบันทึกถึง "ฟอลคอน" ในแง่บวกอยู่เสมอ ดังที่เห็นว่าเขาเขียนถึง "ฟอลคอน" อย่างดีในช่วงมรณกรรมของเจ้าพระยาโกษาธิบดี


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน



[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 27/3/18 at 20:14 [ QUOTE ]


[ ตอนที่ 13 ]

(Update 1 เมษายน 2561)


เปิดกำพืด "คอนสแตนติน ฟอลคอน"
โดย : โรม บุนนาค


...เจ้าพระยาฝรั่งหนึ่งเดียวของกรุงศรีอยุธยา บาทหลวงว่าซื่อตรงฉลาด พ่อค้าทหารว่าโกงปลิ้นปล้อน คอนสแตนติน ฟอลคอน รับบทโดย "หลุยส์ สก็อต" ละครบุพเพสันนิวาส ที่กำลังฮิตในขณะนี้

เรื่องราวที่เอามาเล่าครั้งนี้ ปรากฏอยู่ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑๘ แปลจากหนังสือภาษาอังกฤษ ที่ไม่ปรากฏชื่อคนเขียน https://th.wikisource.org/wiki/ประชุมพงศาวดาร_ภาคที่_๑๘

ซึ่งสันนิฐานกันว่าคือ "ยอร์ช ไวท์" พ่อค้าชาวอังกฤษที่เป็นนายจ้างเก่าของ "คอนสแตนติน ฟอลคอน" และเป็นผู้นำฟอลคอนมาอยู่กรุงศรีอยุธยา จนมีวาสนาได้เป็น "เจ้าพระยาวิชเยนทร์" อัครมหาเสนาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ซึ่งได้เปิดเผยวาสนาบารมีอันสูงส่งของลูกจ้างเก่าว่า "พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔" ของฝรั่งเศส เรียกเขาว่า “สหายที่รัก” ในจดหมายโต้ตอบกันไปมา

และยังส่งเครื่องบรรณาการไปถวายพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษถึง ๖๐๐ ชั่ง (๔๘,๐๐๐ บาท) “เป็นพยานให้เห็นว่า เป็นการที่ฝรั่งได้เป็นใหญ่กว่าเจ้าของเมือง”

"คอนสแตนติน ฟอลคอน" เกิดที่หมู่บ้านคัสโตด บนเกาะเชฟโลเนียร จากครอบครัวที่เป็นเจ้าของร้านขายข้าวแกงเล็กๆ พออายุ ๑๐ ขวบก็อาศัยเรือกำปั่นชาวอังกฤษไปอยู่ที่เกาะอังกฤษด้วย

จนอายุ ๒๐ จึงมาทำงานกับ "ยอร์ช ไวท์" ในตำแหน่งรับใช้ในเรือสำเภาที่ค้าขายแถวอ่าวเปอร์เซีย อีก ๕ ปีต่อมาจึงเข้ามาเป็นผู้จัดการห้างของยอร์ช ไวท์ในกรุงศรีอยุธยา

ในช่วงดูแลห้างให้ยอร์ช ไวท์ในกรุงศรีอยุธยานี้ ฟอลคอนก็มั่งคั่งขึ้นจนสามารถซื้อเรือสำเภาได้ลำหนึ่ง ชื่อ “แมรี” และเป็นนายเรือแล่นสำเภาไปค้าขายเอง

แต่ก็เป็นทั้งโชคร้ายและโชคดีของฟอลคอน พอเรือออกไปปากอ่าวเจ้าพระยา เขาก็ถูกคลื่นลมตีกลับเข้ามาถึง ๒ ครั้ง แต่ฟอลคอนก็ยังมุมานะฝ่าคลื่นลมออกทะเลไปจนได้

การฝ่าคลื่นลมไปในทะเลด้วยตัวเองในครั้งนี้ ฟอลคอนได้ประสบเคราะห์กรรมอย่างหนัก โดยเรือไปอับปางแถวมะละกา แต่ฟอลคอนก็ยังโชตดีที่เอาชีวิตรอดตะเกียกตะกายไปขึ้นฝั่งได้ และยังกอดเงินสด ๒,๐๐๐ เหรียญไว้ไม่ยอมปล่อย

ขณะที่เขาหลับเพราะความอ่อนเพลียอยู่ที่ชายหาดนั้น ก็นิมิตเห็นคนผู้หนึ่งท่าทางคล้ายกษัตริย์ เสด็จมาประทับทอดพระเนตรเขาด้วยพระอาการยิ้มแย้ม และตรัสว่า

“กลับไป..กลับไปยังที่ๆ เจ้ามา” ฟอลคอนจำคำนี้ไว้มั่น และคิดจะนำเงิน ๒,๐๐๐ เหรียญซื้อเรือใหม่กลับไปกรุงศรีอยุธยาอีก

เช้าวันต่อมา ฟอลคอนก็เห็นคนๆ หนึ่งเดินตรงมาหา ผ้าผ่อนเปียกและอยู่ในสภาพอิดโรย ดูก็รู้ว่าน่าจะเป็นคนเรือแตกเช่นเดียวกับเขา เครื่องแต่งตัวทำให้นึกถึงราชทูตสยามที่กำลังเดินทางไปเปอร์เซีย

เมื่อไต่ถามก็ได้ความว่าเป็นจริงตามนั้น ฟอลคอนจึงชวนท่านราชทูตกลับไปด้วยกัน โดยเขาจะหาซื้อเรือใหม่ ทำให้ท่านราชทูตดีใจเป็นล้นพ้น

เมื่อกลับมาถึงกรุงศรีอยุธยา ท่านราชทูตก็พาฟอลคอนไปพบเจ้าพระยาพระคลัง และกล่าวสรรเสริญฟอลคอนมากมาย หลังจากนั้นฟอลตอนก็ฝากตัวรับใช้เจ้าพระยาพระคลัง (ขุนเหล็ก)

จนเป็นคนโปรดที่รักใคร่สนิทสนม และสนับสนุนให้เขาเข้าทำงานในกรมพระคลังสินค้า ซึ่งฟอลคอนก็ทำงานได้ดีจนเป็นที่พอพระราชหฤทัยสมเด็จพระนารายณ์ ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นลำดับ

จนเมื่อเจ้าพระยาพระคลังถึงแก่พิราลัย ฟอลคอนซึ่งเป็นพระวิชเยนทร์ ก็ได้รับโปรดเกล้าฯขึ้นเป็น "เจ้าพระยาวิชเยนทร์" ว่าราชการพระคลัง และ อัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือ รวมทั้งเมืองตะนาวศรี

ฟอลคอนได้กีดกันบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ และฮอลันดาที่ผูกขาดการค้าในสยาม เปิดทางให้บริษัทของฝรั่งเศสเข้ามาจนเป็นตัวหลัก ขณะเดียวกันก็ทำการค้าของตัวเองแทรกอยู่ด้วย จนร่ำรวยมั่งคั่ง

มักมีคำถามจากคนในยุคนี้ว่า เจ้าพระยาฝรั่งหนึ่งเดียวของกรุงศรีอยุธยาผู้นี้ เป็นคนดีหรือคนเลวกันแน่ ซึ่งนักการเมืองยุคนี้ก็มักถูกมองสองด้านเช่นนี้ ฟอลคอนก็เช่นกัน

มีหนังสือของชาวตะวันตกที่เขียนถึงฟอลคอนไว้หลายเล่ม เล่มหนึ่งได้พรรณนาถึงเขาไว้ว่า เป็นคนเจ้าเล่ห์ปลิ้นปล้อน ทำอะไรก็ชุ่ยๆ ใจง่าย ยอมทำทุกอย่างที่เป็นประโยชน์แก่ตัว ไม่เลือกดีชั่ว

แต่ก็ยอมรับว่าเป็นคนมีสติปัญญา สามารถจะทำในสิ่งที่ปรารถนาให้สำเร็จได้ บางเล่มก็ว่าเขาเป็นคนมีสติปัญญา และความเพียรพยายามมุมานะอย่างยิ่ง

สามารถแหวกว่ายผ่านกระแสกีดกันของข้าราชการสยาม จนก้าวขึ้นตำแหน่งสูงสุดของข้าราชการได้ ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ได้กล่าวไว้ในคำนำของหนังสือฉบับที่แปลข้อเขียนของ "ยอร์ช ไวท์" นี้ไว้ว่า

“...อันประวัติของวิชเยนทรมีปรากฏหลายความ ถ้าพวกบาทหลวงแต่งมักจะสรรเสริญว่า วิชเยนทร์เป็นคนซื่อตรงฉลาดเฉลียว

ถ้าพวกพ่อค้านายทหารแต่ง มักจะติเตียนว่าเป็นคนโกงปอกปลิ้น แต่สังเกตดูเข้าใจว่าจะกล่าวเกินไปด้วยกัน จะเชื่อฟังว่าจริงแท้ทีเดียวไม่ได้ด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย...”

มีเอกสารหลายเล่มที่กล่าวถึงฟอลคอนต้องตรงกันว่า ขณะที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงใช้เจ้าพระยาวิชเยนทร์เปิดสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส เพื่อคานอำนาจการคุกคามของฮอลันดาและอังกฤษนั้น

พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ก็ทรงใช้ฟอลคอนให้สนองพระราชประสงค์ของพระองค์ และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เซนต์ไมเคิล พร้อมตำแหน่งเคานต์แห่งฝรั่งเศสให้ฟอลคอน

อีกทั้งใบแปลงสัญชาติจากกรีกเป็นฝรั่งเศส และโฉนดที่ดินในกรุงปารีสอีกแปลงหนึ่ง เป็นรางวัลในการทำตามแผนนี้

สมเด็จพระนารายณ์ก็ทรงรู้ดีว่า ฟอลคอนและบาทหลวงฝรั่งเศสกำลังคิดอะไร แต่พระองค์ก็จำต้องใช้เขา จึงทรงควบคุมไม่ให้เกินขอบเขต ที่จะเป็นอันตรายต่อพระราชอาณาจักร

ฟอลคอนยังมีความทะเยอทะยานสูง และเชื่อมั่นในกำลังทหารฝรั่งเศสใต้บังคับบัญชาของนายพลเดฟาซ ที่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงส่งมาช่วยคุ้มครองสยาม

แต่เมื่อสมเด็จพระนารายณ์สวรรคต พระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์ ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านตะวันตกชิงยึดอำนาจได้ก่อน เจ้าพระยาวิชเยนทร์จึงต้องพบจุดจบที่หลักประหาร

หลังการตายของคอนสแตนติน ฟอลคอน อดีตคนรับใช้ในสำเภาสินค้า เป็นที่เปิดเผยว่า เขาถือหุ้นอยู่ในบริษัทอิสต์อินเดียของฝรั่งเศส ที่ผูกขาดการค้าในสยามแทนอังกฤษถึง ๔๐ เปอร์เซ็นต์

โดยใช้เงินสดเข้าหุ้น ๓ แสนฟรังก์ หลังจากที่เขาแก้ไขสัญญาให้บริษัทฝรั่งเศสค้าขายได้ทั่วราชอาณาจักร โดยไม่ต้องเสียภาษีทั้งขาเข้าขาออก และผูกขาดการซื้อดีบุกที่เมืองถลาง

ถ้าเขาพาลูกเมียหนีออกจากเมืองไทยตามคำเรียกร้องของเมีย ตอนสถานการณ์ไม่สู้ดีในปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ เขาก็จะได้เสวยสุขอยู่ในฝรั่งเศสจากผลงานที่ทำมา

แต่ฟอลคอนทะเยอทะยานสูงกว่านั้น และเชื่อในกำลังของนายพลเดฟาซ ที่ซ่อนเจตนาจะยึดครองสยาม เจ้าพระยาฝรั่งหนึ่งเดียวของกรุงศรีอยุธยา จึงต้องจบชีวิตที่หลักประหาร หลังการเข้ายึดอำนาจของ "พระเพทราชา" และ "พระเจ้าเสือ" ในเวลาต่อมานั่นเอง


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน



[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 29/3/18 at 19:22 [ QUOTE ]


[ ตอนที่ 14 ]

(Update 2 เมษายน 2561)


เสียงสะท้อนจาก "ประวัติศาสตร์"


...จดหมายเหตุราชอาณาจักรสยาม (Description du royaume de Siam) ของ ซิมง เดอ ลาลูแบร์ (Simon de la Loubère) ราชทูตฝรั่งเศส ซึ่งเดินทางเข้ามาสยามเมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๐ บันทึกไว้ใกล้เคียงกับ "เดอ แบส"

แต่กล่าวว่าความผิดที่ทำให้ท่านโดนลงพระราชอาญาเป็นเรื่อง “ชู้สาว” ซึ่งไม่ได้ลงรายละเอียดไว้ เพียงแต่กล่าวถึงเรื่องที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงลงพระราชอาญาบาทบริจาริกาที่ลักลอบคบชู้ไว้ก่อนหน้า และกล่าวต่อว่า

“ความเห็นของคนทั่วๆ ไปในสยามกล่าวกันว่า เกี่ยวกับความผิดทำนองนี้เองที่ยังความสิ้นวาสนาให้แก่พระยาพระคลัง (Barcalon) ผู้เป็นพี่ชายหัวปีผู้ล่วงลับไปแล้วของเอกอัครราชทูตสยาม ที่จำทูลพระราชสารมาสู่พระราชาธิราช (ฝรั่งเศส)

พระมหากษัตริย์เจ้านายของพระยาพระคลังตรัสให้ลงพระราชอาญาโบยอย่างหนัก และทรงห้ามมิให้เข้าเฝ้า แต่มิได้ทรงถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่แต่ประการใด

ตรงกันข้ามพระองค์ยังทรงใช้สอยพระยาพระคลังตลอดระยะเวลา ๖ เดือน ที่ท่านยังทนพิษบาดแผลที่ได้รับพระราชอาญาอยู่ได้ และพระองค์ทรงปรุงโอสถด้วยพระราชหัตถ์เองพระราชแทนแก่พระยาคลัง

ในการล้มเจ็บลงครั้งสุดท้ายนั้นด้วยว่า ไม่มีผู้อื่นใดกล้าวางยาให้ท่านได้ เพราะเกรงจะถูกกล่าวหาว่า วางยาผิดให้แก่บุคคลผู้เป็นคนโปรดยิ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”

ลาลูแบร์ บันทึกต่อไปว่า ผู้ที่ทำหน้าที่โบยเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) คือ ออกหลวงสุรศักดิ์ (Oc-Loüang Sourasac) หรือ "สมเด็จพระเจ้าเสือ" ในอนาคต และในการโบยครั้งนั้น "เจ้าแม่วัดดุสิต" มารดาของเจ้าพระยาโกษาธิบดี ได้ขอรับพระราชทานอภัยโทษด้วย

“เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามมีพระบรมราชโองการให้โบยพระยาพระคลังผู้ใหญ่ ผู้เป็นพี่ชายของท่านเอกอัครราชทูตผู้นี้เป็นครั้งสุดท้ายนั้น

ออกหลวงสุรศักดิ์บุตรของออกพระพิพิธราชา [พระเพทราชา-ผู้เขียน] ก็เป็นผู้ลงอาญาโบยตามพระบรมราชโองการ ต่อหน้าพระที่นั่ง

ท่านพระนมของพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นมารดาของพระยาพระคลัง ลงหมอบกราบแทบเบื้องยุคลบาท เพื่อขอรับพระราชทานโทษบุตรของตน”


...เมื่อวิเคราะห์แล้ว ผู้เขียนเชื่อว่าสาเหตุที่เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ถูกลงอาญาเนื่องจากถูกกล่าวหาว่ารับสินบนตามที่ "เดอ แบส" บันทึกสมเหตุสมผลมากกว่าเรื่อง “ชู้สาว” ที่ลาลูแบร์ระบุ

และก็น่าเชื่อว่า "เดอ แบส" ได้ข้อมูลเรื่องนี้มาจาก "ฟอลคอน" ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์โดยตรง แต่อย่างที่กล่าวไว้ ต้องพิจารณาว่า "เดอ แบส" เขียนเนื้อหาถึง "ฟอลคอน" ในแง่บวกอยู่มาก


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน



[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 29/3/18 at 19:23 [ QUOTE ]


[ ตอนที่ 15 ]

(Update 2 เมษายน 2561)


เสียงสะท้อนจาก "ประวัติศาสตร์"


...บันทึกของ "เดอ แบส" แตกต่างจากหลักฐานของ "เชอวาลิเยร์ เดอ ฟอร์แบ็ง" (Claude, chevalier de Forbin) นายทหารจากคณะทูตฝรั่งเศส

ซึ่งรับราชการอยู่ในราชสำนักอยุทธยาในบรรดาศักดิ์ “ออกพระศักดิสงคราม” ผู้ที่ไม่ชอบ "ฟอลคอน" เนื่องจากถูก "ฟอลคอน" วางแผนประทุษร้ายหลายหน

ฟอร์แบ็งระบุว่า เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ถูกลงพระราชอาญาเพราะถูก "ฟอลคอน" วางแผนกล่าวหาเพื่อกำจัดท่าน

“แรกเริ่มนั้น เขาได้ไปฝากตัวรับใช้ พระคลัง (Barkalon) ผู้เป็นอัครมหาเสนาบดี ด้วยกิริยาสุภาพนุ่มนวล ขยันหมั่นเพียร และเอาการเอางานเป็นอย่างยิ่งไม่ทำให้ท่านต้องขายหน้า

ในไม่ช้าก็ได้รับความไว้วางใจจากผู้เป็นนาย ที่มอบผลตอบแทนให้เขาจำนวนมาก และนำเขาไปถวายตัวต่อพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะข้าหลวงเพื่อรับราชการ

พระเจ้าอยู่หัวทรงไว้วางพระทัยเขาในเวลาไม่นาน แต่ด้วยความอกตัญญูอันน่ารังเกียจ ข้าหลวงใหม่คนโปรดผู้นี้ ไม่ปรารถนาจะมีคู่แข่งแย่งผลประโยชน์ ที่จะได้รับพระราชทานจากพระเจ้าอยู่หัว จึงได้ใช้อำนาจในราชการที่มีทำให้พระคลังเป็นที่หวาดระแวง

เป็นเหตุให้หลังจากนั้นพระเจ้าอยู่หัวทรงปลดเสนาบดีผู้จงรักภักดี และถวายงานเป็นที่เรียบร้อยมาโดยตลอดนั้นออกเสีย

นี่แหละคือสิ่งที่ ม.กงสต็องซ์ ทำกับท่าน เหยื่อคนแรกที่ถูกสังเวยต่อความทะเยอทะยานของเขา และทำให้เขากลายเป็นที่เกลียดชังของคนทั้งแผ่นดิน”

หลังการอสัญกรรมของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) สมเด็จพระนารายณ์ทรงโปรดให้จัดงานศพอย่างใหญ่โตสมเกียรติยศทุกประการ และพระราชทานเพลิงศพด้วยพระองค์เอง ปรากฏในบันทึกของ "นิโกลาส์ แชรแวส" ระบุว่า

“...เจ้าพระยาพระคลังคนหลังที่สุดนั้น แม้จะเป็นพระสหายร่วมน้ำนมของพระเจ้าแผ่นดิน และมีสายสัมพันธ์กับพระบรมวงศ์อยู่ ก็ยังต้องนำไปเผานอกเมือง ในสถานที่ไม่สู้ไกลจากพระบรมมหาราชวังนัก

การปลงศพเจ้าพระยาพระคลังในครั้งนั้น ได้กระทำโดยสมเกียรติตามอันดับศักดิ์ทุกประการ ครั้งนั้นช่างมีผู้คนมาชุมนุมกันคับคั่งเสียนี่กระไร ในลำน้ำมีเรือเต็มไปหมด

พระเจ้าแผ่นดินทรงพระราชทานเรือพระที่นั่งมาร่วมขบวนด้วยเป็นหลายลำ สังฆราชชั้นผู้ใหญ่สองรูปตามศพ พร้อมด้วยขุนนางชั้นผู้ใหญ่และผู้มีเกียรติอีกเป็นอันมาก

การแต่งประดับประดาเชิงตะกอนนั้น วิจิตรบรรจงยิ่งกว่าการตกแต่งประดับประดาใดๆ ของเราเสียอีก พระเจ้าแผ่นดินทรงประทับพระเนตรอยู่ตรงสีหบัญชร แล้วพระราชทานเพลิงโดยสายชนวนอันล่ามไปจนถึงพระราชวัง”


..."ฟอลคอน" จะวางแผนใส่ความเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) จริงหรือไม่ คงสรุปชัดเจนไม่ได้ แต่ความจริงที่เกิดขึ้นคือ "ฟอลคอน" เป็นผู้ได้ประโยชน์สูงสุดจากเหตุการณ์นี้

เพราะในทางปฏิบัติ "ฟอลคอน" ก็คือ “โกษาธิบดี” ต่อจากเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) แม้ว่าจะปฏิเสธไม่รับตำแหน่ง “โกษาธิบดี” เพราะไม่อยากถูกเพ่งเล็งก็ตาม

ผู้ได้ดำรงตำแหน่ง "โกษาธิบดี" ต่อมาคือ "ออกญาวัง" ซึ่งเป็นคนที่ "ฟอลคอน" เสนอ แต่เพราะคิดจะกำจัด "ฟอลคอน" จึงถูกปลดไป

คนต่อมาเป็นคนไทยที่เขาเสนอ ซึ่งอยู่ในตำแหน่งไม่นานก็เสียชีวิต เช่นเดียวกับ "ออกญาพระเสด็จเจ้ากรมธรรมการ" ซึ่งว่าที่ "โกษาธิบดี" ในช่วงปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ที่ปรากฏในหลักฐานร่วมสมัยของฝรั่งเศสระบุว่า “เป็นหุ่นตัวหนึ่งเท่านั้น” ในขณะที่ "ฟอลคอน" เป็นผู้ควบคุมการต่างประเทศของอยุทธยาตัวจริง


เอกสารอ้างอิง
- แชรแวส, นิโกลาส์. ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม. นนทบุรี: ศรีปัญญา, ๒๕๕๐.
- เดอะ แบส, บาทหลวง. บันทึกความทรงจำของบาทหลวง เดอะ แบส เกี่ยวกับชีวิตและมรณกรรมของ ก็องสตังซ์ ฟอลคอน. พิมพ์ครั้งที่ ๒. นนทบุรี: ศรีปัญญา, ๒๕๕๐.
- ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยารวม 3 เรื่อง. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2553.
- ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๔๘ จดหมายเหตุของมองซิเออร์เซเบเรต์ ราชทูตฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตอนที่ ๒ พิมพ์ในงานปลงศพ นางนนทประชา (สายหยุด เจียรณัย) เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๗๒ พิมพ์โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ ถนนบำรุงเมือง ในพระนคร
- ลาลูแบร์, ซิมอน เดอ. จดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม. นนทบุรี: ศรีปัญญา, ๒๕๔๘.
- Dhiravat na Pombejra. A Political History of Siam under the Prasatthong Dynasty 1629-1688. Doctoral dissertation, School of Oriental and African Studies, the University of London, 1984.
- Forbin, Claude de. Mémoires du comte de Forbin. Amsterdam: chez François Girardi, 1748.
- Hutchinson, E.W. Adventurer in Siam in the Seventeenth Century. London: Royal Asiatic Society, 1940.
- Record of the Relations Between Siam and Foreign Countries in the 17th Century Volume III. Bangkok: Vajirayana National Library, 1916.


(ภาพจากจดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ พ.ศ. 2236)

...ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (ฝรั่งเศส: Simon de La Loubère) (21 เมษายน พ.ศ. 2185-26 มีนาคม พ.ศ. 2272) เป็นราชทูตจากประเทศ ฝรั่งเศส ได้เดินทางมาประเทศไทยพร้อมกับ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน)

เนื่องด้วยเป็นราชทูตเจริญสัมพันธไมตรีกับไทย ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 โดยเดินทางมาที่กรุงศรีอยุธยา พร้อมด้วยทหารของฝรั่งเศส จำนวนประมาณ 600 คน ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

สิ่งที่สำคัญของ "ลา ลูแบร์" ก็คือ "จดหมายเหตุลา ลูแบร์" บอกถึงชีวิตความเป็นอยู่ สังคม ประเพณี ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม หลายสิ่งหลายอย่าง ของคนในสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงนับได้ว่าเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรอีกด้วย


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน



[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 29/3/18 at 19:25 [ QUOTE ]


[ ตอนที่ 16 ]

(Update 3 เมษายน 2561)


เสียงสะท้อนจาก "ประวัติศาสตร์"


3. จาก https://teen.mthai.com/variety/145775.html

"บุคคลสำคัญสมัยอยุธยา เจ้าพระยาโกษาเหล็ก"


...ในปลายสมัยของพระนารายณ์มีความรู้สึกต่อต้านชาวต่างชาติ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝรั่งเศส) ในหมู่ขุนนางไทยและพระสงฆ์ "พระเพทราชา" เจ้ากรมช้าง (ซึ่งต่อมาเป็นกษัตริย์องค์ที่ 28 ของอยุธยา) ทรงเป็นผู้นำในการต่อต้านครั้งนี้

"โกษาปาน" ได้เข้าเป็นฝ่ายของพระเพทราชา เมื่อพระเพทราชาปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ "โกษาปาน" ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้เจรจากับนายพลฝรั่งเศส ที่คุมป้อมอยู่ที่เมืองบางกอกให้ถอนทหารออกไปจากอาณาจักรไทยได้สำเร็จ

พระยาโกษาธิบดี (ปาน) เป็นชายหนุ่มที่มีรูปงาม กิริยามารยาทเรียบร้อย มีไหวพริบดีรู้จักโต้ตอบ ได้ถูกเรื่องราวและกาลเทศะ ไม่มีอาการประหม่าสะทกสะเทิ้นเขินอาย เป็นคนช่างสังเกตจดจำสิ่งที่พบเห็นได้ทุกอย่างเมื่อเปลี่ยนแผ่นดินเป็นสมเด็จพระเพทราชานั้น พระยาโกษาธิบดี (ปาน ) นั้นได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยาโกษาธิบดี

แต่ด้วยเหตุที่เป็นคนซื่อสัตย์ต่อสมเด็จพระนารายณ์ฯ ดังนั้นเมื่อเห็นว่าสมเด็จพระเพทราชากระทำการไม่สมควรกรณี แต่งตั้งทั้งพระมเหสีและพระขนิษฐาของสมเด็จพระนารายณ์เป็นพระมเหสี

จึงทำให้สมเด็จพระเพทราชานั้นทรงกริ้วเป็นอันมาก จึงหาเหตุให้ต้องพระราชอาญา เมื่อ พ.ศ. 2243 ภรรยาตลอดจนทรัพย์สมบัติของท่านก็ถูกริบหมด และมีโทษโบยด้วยเชือกจนสลบ

เล่ากันว่าหลังนั้นไม่มีเนื้อดีจนมีการกล่าวกันว่า เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) นั้นมีความเกรงกลัวพระราชอาญาเสีย จนไม่กล้าที่จะกราบทูลเรื่องสำคัญๆ จนในที่สุดถึงแก่อสัญกรรม ด้วยความโทมนัสที่ถูกพระราชอาญาและต้องโทษโบยอยู่เสมอ

ส่วนครอบครัวของท่านก็ได้แตกฉานซ่านเซ็นไปอยู่คนละทิศละทาง เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งสุดท้าย "คุณทองดี" (ลูกคุณทองคำ) ซึ่งเป็นหลานปู่ของ "โกษาปาน" ได้อพยพไปอยู่กับเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง)

ต่อมาเมื่อเหตุการณ์สงบได้มาตั้งนิวาสสถานอยู่ ณ ตำบลสะแกกรัง เมืองอุทัยธานี ท่านผู้นี้ปรากฏว่าเป็นบิดาของ "สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช" ปฐมกษัตริย์ในราชวงศ์จักรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ออกญาโกษาธิบดี (ปาน) ได้รับการยกย่องสรรเสริญในเรื่องความสามารถ ทำให้ไทยเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติ และจากบุคลิกของท่านที่เฉลียวฉลาด มีมารยาทเรียบร้อย ช่างสังเกต ช่างจดจำ พูดจาหลักแหลมคมคาย

ทำให้ท่านประสบความสำเร็จในการประกาศชื่อเสียง และเกียรติคุณของประเทศชาติ จากผลงาน การเป็นหัวหน้าคณะราชทูตไทยไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศฝรั่งเศส จนประสบผลสำเร็จของออกญาโกษาธิบดี (ปาน) ทำให้ไทยรอดพ้นจากการคุกคามของฮอลันดา


....สมัยที่ข้าพเจ้า (เจริญ ตันมหาพราน) ยังเป็นเด็กนักเรียน(ราว พ.ศ.2500-2504) โทรทัศน์ช่อง ๔ บางขุนพรหม เคยนำเรื่อง "ทหารเอกพระนารายณ์มหาราช" บทประพันธ์ของ ระพีพร ออกอากาศเดือนละ ๑ ตอน

จำได้ว่ามี ทัต เอกทัต รับบทเป็น "เจ้าพระยาโกษาเหล็ก" สมควร กระจ่างศาสตร์ รับบทเป็น "เจ้าพระยาโกษาปาน" ผู้คนติดกันมาก และกล่าวขานกันเกรียวกราวเช่นกัน


ที่มา - ข้อมูลและภาพจาก wiki/เจ้าพระยาโกษาธิบดี_(เหล็ก), wiki/เจ้าพระยาโกษาธิบดี_(ปาน), ละครบุพเพสันนิวาส

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน



[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 29/3/18 at 19:33 [ QUOTE ]


[ ตอนที่ 17 ]

(Update 4 เมษายน 2561)


เปิดบันทึกต้นฉบับเดิม
สมัย "สมเด็จพระนารายณ์"


...จากกระแสละคร "บุพเพสันนิวาส" ช่วงพระยาโกษาปานพร้อมด้วยคณะทูต จะลงเรือเดินทางไปประเทศฝรั่งเศส แต่ก็ผ่านพ้นจากกระแสน้ำวนไปได้ ทำให้ชาวฝรั่งเศสทึ่งต่อชาวไทยเป็นอันมาก แม้แต่ นสพ.ไทยรัฐ ยังพาดหัวไว้ดังนี้

"เรืองอาคม ! คณะทูตสยามเลื่องลือ รอดวังน้ำวน ปืนฝรั่ง 500 กระบอกยิงไม่โดน"
https://www.thairath.co.th/content/1242522


...เรื่องนี้ทำให้คนไทยหันมาสนใจประวัติศาสตร์กันมากขึ้น ต่างก็ไปขุดคุ้ยหาเรื่องราว แล้วก็โยงกันมาหา "วัตถุมงคล" สำคัญของวัดท่าซุงจนได้ นั่นก็คือ "ธงมหาพิชัยสงคราม"

ความจริงแล้วก็ไม่เกี่ยวกันสักนิด ถ้าได้อ่านตามต้นฉบับเดิม แล้วสังเกตข้อความที่วงเล็บไว้ (ตัวสีแดง) ที่เอาไปโยงให้น่าเชื่อถือยิ่งขึ้น จึงขอให้ผู้อ่านเทียบเคียงกับต้นฉบับเดิมด้วย แต่ก่อนอื่นขอตัดตอนเฉพาะที่กล่าวถึงไว้ อันมีข้อความที่คัดลอกกันมาตามเว็บไซด์และเฟศบุคต่างๆ ดังนี้


"...พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ จึงทรงตรัสถามเจ้าพระยาโกษาปานว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราช มียอดทหารเช่นนี้อีกเท่าใด เจ้าพระยาโกษาปานกราบทูลตอบว่า

ชายสยามเหล่านี้ เป็นเพียงประชาชนชาวบ้านธรรมดาทั่วๆ ไป ที่เกณฑ์มาเป็นกลาสีเรือเท่านั้น ส่วนทหารของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเจ้านั้น เยี่ยมยอดกว่านี้มากมาย


*** (ความจริงแล้ว กลาสีเรือทั้ง ๑๐๐ คนนี้ คือหน่วยอาทมาต ที่ได้ศึกษา "วิชาชาตรี" เจนจบใน "ตำหรับพิชัยสงคราม" มาเป็นอย่างดีแล้ว)

พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ตรัสสรรเสริญ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ว่ามีบารมี ที่มีทหารหาญ ที่แกร่งกล้าและคงทนแก่ศาสตราวุธ จึงสามารถรักษาประเทศสยาม ให้เป็นเอกราชไว้ได้.."

...จากเนื้อเรื่องที่เล่ามา แล้วมีการอธิบายประกอบในวงเล็บ ***(สีแดง) โดยเติมตามความเห็นของผู้เขียนบทความนี้ไปด้วย คือคำว่า "วิชาชาตรี" และ "ตำหรับพิชัยสงคราม" ซึ่งไม่เกี่ยวกับต้นฉบับแต่อย่างใดเลย

แต่ถ้าจะวินิจฉัยวิชาการอยู่ยงคงกระพันของชาวไทยสมัยนั้น โดยเฉพาะ "เจ้าพระยาโกษาเหล็ก" และ "พระยาสีหราชเดโชไชย" ต่างก็ได้ร่ำเรียนวิชาจาก "ตำราพระร่วง" ที่เมืองสวรรคโลกกันมาแล้ว เพียงแต่ในประวัติมิได้กล่าวถึงแค่นั้นเอง

นี่เป็นข้อความที่ปรากฏใน "Facebook/สมบัติพ่อให้ หลวงพ่อฤาษีลิงดำ" ซึ่งไม่เกี่ยวกับวัดท่าซุงแต่อย่างใด แต่อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิด ส่วนเว็บไซด์พระเครื่อง amulet2u.com ก็เอาข้อมูลที่ผิดพลาดมาลงเช่นกัน

โดยเฉพาะ "Facebook/สมบัติพ่อให้ หลวงพ่อฤาษีลิงดำ" นำมาโพสต์โดยตั้งหัวข้อว่า "สมบัติพ่อให้ : ธงมหาพิชัยสงคราม หลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง อุทัยธานี" (ตามภาพประกอบที่ ๑)

โดยอธิบายเรื่องราวตอนต้นนั้น เป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับที่หลวงพ่อเล่าไว้จริง แต่ตอนท้ายกลับเอาคำบอกเล่าจากพระรูปอื่นมาลงต่อ (ตามภาพประกอบที่ ๒) คนอ่านไม่ได้พิจารณาคิดว่า เป็นข้อมูลของวัดท่าซุงทั้งหมด จากนั้นจึงคัดลอกต่อๆ กันไป (ตามภาพประกอบที่ ๓)

(ตามภาพประกอบที่ ๑ เฟซบุคที่ไม่ใช่ของวัดท่าซุง)



(ตามภาพประกอบที่ ๒ โยงเรื่องเข้ามาจนได้)



(ตามภาพประกอบที่ ๓ เพื่อให้เป็น "ธงมหาพิชัยสงคราม")



จากต้นแบบเดิมที่คัดลอกกันมา แล้วก็มีการต่อเติม
จากนั้นก็มีการตัดต่อโยงให้มีส่วนเกี่ยวข้องกับวัดท่าซุงจนได้



เปิดบันทึกต้นฉบับเดิม
พระราชพงศาวดารกรุงสยาม "ฉบับบริติชมิวเซียม"

"...ฉะนั้น ตามหลักฐานประวัติศาสตร์ของไทย นับว่ามีพระราชพงศาวดารหลายฉบับ ที่มีการบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ไว้มากมาย

ณ โอกาสนี้จะขอนำ "พระราชพงศาวดารกรุงสยาม ฉบับบริติชมิวเซียม" มาโดยย่อ ซึ่งยังคงสำนวนแบบโบราณไว้ แต่มีวงเล็บและหัวข้อเพิ่มเพื่อความเข้าใจง่าย ดังนี้ว่า


หนังสือ "พระราชพงศาวดารกรุงสยาม" นี้ เป็นสมบัติของ "บริติชมิวเซียม" ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ปรากฎในประวัติว่า J.Hurst Hayes Esq. เป็นผู้มอบให้เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๘ (พ.ศ. ๒๔๙๑)

การที่จะพบหนังสือพระราชพงศาวดารเรื่องนี้ ก็เนื่องจาก "นายขจร สุขพานิช" ซึ่งได้รับทุนจากต่างประเทศ ให้ไปทำการค้นคว้าเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย ณ ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอังกฤษ ได้พบหนังสือเรื่องนี้เข้าเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑

จึงได้ถ่ายไมโครฟีล์มเล่มต้นและเล่มปลายส่งไปให้กรมศิลปากรพิจารณา กรมศิลปากรเห็นว่าพระราชพงศาวดารฉบับนี้อาจมีประโยชน์ในการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย จึงขอให้ถ่ายไมโครฟีล์มส่งเข้ามาให้หมดทั้ง ๓๐ เล่ม

การพิมพ์ครั้งนี้ กรมศิลปากรได้ให้พิมพ์ตามต้นฉบับเดิม มิได้ตัดคำว่าศักราชและวันออก ทั้งนี้เพื่อให้ผู้สนใจได้พิจารณาว่าการเขียนพระราชพงศาวดารนั้นเป็นมาอย่างไร

กรมศิลปากร
๒๒ มกราคม ๒๕๐๗


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน





[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 2/4/18 at 15:06 [ QUOTE ]


[ ตอนที่ 18 ]

(Update 5 เมษายน 2561)


เปิดบันทึกต้นฉบับเดิม
ราชทูตเดินทางไปฝรั่งเศส


...สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว (สมเด็จพระนารายณ์) ได้ทรงฟัง "พระยาวิชาเยนทร์" กราบทูลพรรณนาสมบัติ ณ เมืองฝรั่งเศสวิเศษต่าง ๆ มิได้ทรงเชื่อ

พระราชดำริจะใคร่เห็นความจริง จึ่งมีพระราชดำรัสแก่เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ว่า เราจะแต่งกำปั่นให้ไปถึงเมืองฝรั่งเศส จะได้ผู้ใดเป็นนายกำปั่นออกไปสืบดูของวิเศษ ยังจะมีจริงสมเหมือนคำพระยาวิชาเยนทร์หรือประการใด

เจ้าพระยาโกษาจึ่งกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าไม่เห็นผู้อื่น ซึ่งจะเป็นนายกำปั่นไปถึงเมืองฝรั่งเศส ได้เห็นแต่ "นายปาน" ผู้น้องข้าพระพุทธเจ้าผู้เดียว อาจไปสืบข้อราชการ ณ เมืองฝรั่งเศส ดุจกระแสพระดำริได้ จึ่งมีพระราชโองการตรัสให้หา "นายปาน" เข้ามาเฝ้าแล้วตรัสว่า

"...ไอ้ปานมึงมีสติปัญญาอยู่ กูจะใช้ให้เป็นนายกำปั่นไป ณ เมืองฝรั่งเศส สืบดูสมบัติพระเจ้าฝรั่งเศส ยังจะสมดังคำพระยาวิชาเยนทร์กล่าวหรือจะมิสมประการใด..."

นายปานกราบทูลพระกรุณารับอาสาจะไปเมืองฝรั่งเศส สืบให้ได้ราชการตามรับสั่ง แล้วกราบบังคมลาออก ไปจัดแจงการทั้งปวงในกำปั่น ให้เที่ยวสืบหาคนดีมีวิชาก็ได้ "อาจารย์คนหนึ่ง" ได้เรียนในพระกรรมฐานชำนาญญาณกระสินธุ์ (กสิณ) และรู้วิชาการต่าง ๆ แต่เป็นนักเลงสุรา ยอมจะไปด้วย

นายปานมีความยินดีนัก แล้วจัดหาพวกฝรั่งเศสเป็นล้าต้า ต้นหน คนท้าย ลูกเรือ พร้อมเสด็จ ก็ให้เจ้าพระยาโกษาพาเข้าเฝ้ากราบถวายบังคมลา

ทรงพระกรุณาตรัสสั่งให้แต่งพระราชสาส์น แล้วตั้งให้ "นายปาน" เป็นราชทูต กับข้าหลวงอื่นเป็นอุปทูตและตรีทูต ให้จำทูลพระราชสาส์น

คุมเครื่องมงคลบรรณาการออกไปจำเริญทางพระราชไมตรี ณ เมืองฝรั่งเศส ตามราชประเพณี แล้วพระราชทานรางวัล และเครื่องยศแก่ทูตานุทูตโดยควรแก่ฐานาศักดิ์

รอดจากวังน้ำวนในท้องทะเลจนฝรั่งทึ่ง

ครั้นได้ฤกษ์ นายปานราชทูต กับอุปทูต ตรีทูต ก็กราบถวายบังคมลา พาพรรคพวกบ่าวไพร่มาลงกำปั่นใหญ่ ใช้ใบออกจากพระนครไปในท้องทะเลประมาณ ๔ เดือน ก็บรรลุถึงวนใหญ่ ใกล้ปากน้ำเมืองฝรั่งเศส

บังเกิดเหตุลมพายุใหญ่พัดกำปั่นไปในกลางวนเวียนอยู่ถึง ๓ วัน บรรดาคนในกำปั่นร่ำร้องไห้รักชีวิตอื้ออึงไป ด้วยกำปั่นลำใดลงสู่วนนั้นแล้ว ก็จมลงสิ้นลำกำปั่นทุก ๆ ลำ

ซึ่งจะรอดพ้นวนไปนั้นหามิได้มีสักลำหนึ่ง แต่นายปานราชทูตยังมีสติอยู่ จึ่งปรึกษาอาจารย์ว่า กำปั่นเราลงเวียนอยู่ในวนถึง ๒ - ๓ วันแล้ว ท่านจะคิดอ่านประการใด กำปั่นจึงจะพ้นวนได้ เราทั้งหลายจึ่งจะรอดจากความตาย

ฝ่ายอาจารย์จึงเล้าโลมเอาใจราชทูตว่า ท่านอย่าตำใจ เราจะแก้ไขให้พ้นภัยจงได้ แล้วให้แต่งเครื่องสักการบูชา จุดธูปเทียน

แล้วอาจารย์จึ่งนุ่งขาว ห่มขาว เข้านั่งสมาธิเจริญพระกรรมฐานทางวาโยกระสินธุ์ (กสิณ) ณ ครู่หนึ่ง จึ่งบันดาลเกิดมหาวาตะพายุใหญ่ หวนหอบเอากำปั่นนั้น ขึ้นพ้นจากวนได้

คนทั้งหลายมีความยินดียิ่งนัก ก็แล่นใบไปถึงเมืองปากน้ำเมืองฝรั่งเศส จึ่งให้บอกแก่นายด่านและผู้รักษาเมือง กรมการ ว่ากำปั่นมาแต่พระมหานครศรีอยุธยา โปรดให้ทูตานุทูตจำทูลพระราชสาส์น คุมเครื่องมงคลราชบรรณาการมาจำเริญทางพระราชไมตรีพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส

เจ้าเมืองกรมการก็บอกข้อราชการขึ้นไป ให้กราบบังคมทูลให้ทราบ พระเจ้าฝรั่งเศสจึ่งโปรดให้เสนาบดีจัดแจงเรือแห่ลงมารับ พระราชสาส์น กับทั้งทูตานุทูตขึ้นไปยังพระนคร ให้สำนักที่อยู่ ณ ตึกสำหรับรับแขกเมือง

แล้วโปรดให้ทูตานุทูตเข้าที่เสด็จออก จึ่งถวายพระราชสาส์นและเครื่องมงคลราชบรรณาการ พระเจ้าฝรั่งเศสดำริพระราชปฏิสันถารให้เลี้ยงทูตตามธรรมเนียม

สั่งให้ล่าม ถามทูตถึงทางอันมาในทะเลนั้น สะดวกดีหรือว่ามีเหตุประการใดบ้าง ครั้นได้ทรงทราบว่ากำปั่นตกเวียนอยู่ในวนใหญ่ถึง ๓ วัน จึ่งขึ้นจากวนได้ สงสัยพระทัยนัก

ด้วยแต่ก่อนแม้นว่ากำปั่นลำใดตกลงในวนนั้นแล้ว วนก็ดูดจมลงไปสิ้น มิอาจรอดขึ้นได้แต่สักลำหนึ่ง จึงให้ล่ามซักถามทูตอีก

ทูตก็ให้การยืนคำอยู่ มิได้ทรงเชื่อ จึ่งให้สืบถามบรรดาฝรั่งเศสลูกเรือ ๆ ก็ให้การสมคำราชทูตทั้งสิ้น เห็นเป็นมหัศจรรย์นัก จึ่งให้ซักถามราชทูตว่า คิดอ่านแก้ไขประการใด กำปั่นจึ่งรอดพ้นจากวนได้


วาทะของราชทูตที่ผูกใจพระเจ้าฝรั่งเศส

ราชทูตให้กราบทูลว่า ข้าพเจ้าคิดกระทำสัตยาธิษฐาน ขอเอาพระกฤษฎานุภาพแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองฝ่าย ซึ่งเริ่มแรกจะผูกพระราชสัมพันธมิตรแก่กัน ขอจงอย่าได้เสียสูญขาดทางพระราชไมตรีจากกันเลย เอาความสัตย์ข้อนี้เป็นที่พำนัก

ด้วยพระเดชาพระคุณพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองฝ่าย ก็บันดาลเกิดมหาวาตะพายุใหญ่ พัดหวนหอบเอากำปั่นขึ้นพ้นจากวนได้

พระเจ้าฝรั่งเศสได้ทรงฟังคำราชทูต เห็นจริงด้วย พระราชดำริว่า พระเจ้ากรุงศรีอยุธยามีบุญมากเสมอด้วยพระองค์ ก็ทรงพระมหากรุณาแก่ราชทูต พระราชทานรางวัลเป็นอันมาก

อยู่มาเพลาวันหนึ่ง จึ่งให้หาทูตานุทูตเข้ามาเฝ้าหน้าพระลาน แล้วให้หาพลทหารฝรั่งเแม่นปืน ๕๐๐ เข้ามายิงให้แขกเมืองดู ให้แบ่งกันออกเป็นสองพวก ๆ ละ ๒๕๐ ยืนเป็นสองแถว ยิงปืนให้กระสุนกรอกเข้าไปในลำกล้องปืนแห่งกันและกันทั้งสองฝ่าย มิได้พลาดผิดแต่สักครั้ง

แล้วให้ล่ามถามราชทูตว่า ทหารแม่นปืนดังนี้พระนครศรีอยุธยามีหรือไม่ ราชทูตให้ล่ามกราบทูลว่า ทหารแม่นอย่างนี้ พระเจ้ากรุงศรีอยุธยามิได้นับถือใช้สอย พระเจ้าฝรั่งเศสได้ทรงฟังเคืองพระทัย จึ่งให้ซักถามทูตว่า พระเจ้ากรุงไทยนับถือทหารมีฝีมือประการใดเล่า

ราชทูตก็กราบทูลว่า พระเจ้ากรุงไทยทรงนับถือใช้สอยทหารคนดีมีวิชา อันทหารแม่นปืนดังนี้ จะยิงใกล้และไกลก็หามิได้ถูกต้องกาย ทหารบางจำพวกเข้าไปในระหว่างข้าศึกมิได้เห็นตัว ลอบตัดเอาศีรษะนายทัพ นายกองพวกข้าศึกมาถวายได้

ทหารบางจำพวกก็คงทนอาวุธต่าง ๆ จะยิงฟันแทงประการใดก็มิได้เข้า และทหารมีวิชาอย่างนี้ จึ่งทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงใช้สอยสำหรับพระนคร

พระเจ้าฝรั่งเศสมิได้ทรงเชื่อ ตรัสว่าราชทูตไทยเจรจาอ้างอวดเกิดนัก จึ่งสั่งให้ซักถามว่าทหารไทยมีวิชาเหมือนว่านั้น มีมาในกำปั่นบ้างหรือไม่ จักให้สำแดงถวายจะได้หรือมิได้

ราชทูตได้เห็นวิชาของอาจารย์ ประจักษ์จักษุอยู่แล้วจึ่งให้ทูลว่า ทหารที่เกณฑ์มาสำหรับกำปั่นนี้ เป็นทหารกองนอก มีวิชาแต่อย่างกลาง จะสำแดงถวายให้ปรากฏก็ได้ จึ่งสั่งให้ถามว่าจะสำแดงได้อย่างไร

ราชทูตให้ทูลว่า ขอรับพระราชทานให้ทหารที่แม่นปืนทั้ง ๕๐๐ นี้ จงระดมยิงทหารของข้าพระพุทธเจ้าโดยไกลและใกล้

ทหารข้าพระพุทธเจ้าจะห้ามกระสุนปืนทั้งสิ้น มิให้ตกต้องกาย พระเจ้าฝรั่งเศสได้ทรงฟัง เกรงพลทหารจะยิงทหารไทยตาย จะเสียทางพระราชไมตรีไป จึ่งสั่งให้ห้ามการนั้นเสีย ราชทูตให้กราบทูลว่า

พระองค์อย่าทรงพระวิตกเลย ทหารข้าพเจ้ามีวิชา อาจห้ามได้ซึ่งกระสุนปืนมิให้ต้องกายได้เป็นแท้ จะเป็นอันตรายนั้นหามิได้

เวลาพรุ่งนี้ขอให้ตั้งเบญจา ๓ ชั้นในหน้าพระลาน ให้ดาดเพดานผ้าขาว และปักราชวัติฉัตรธงล้องรอบ แล้วให้ตั้งเครื่องโภชนาหารมัชชมังสาสุราบานไว้ให้พร้อม

ให้ป่าวร้องชาวพระนครมาคอยดูทหารข้าพระพุทธเจ้า จะสำแดงวิชาให้ปรากฏเฉพาะหน้าพระที่นั่ง แล้วถวายบังคมลาออกไปสู่ที่สำนัก

ทหารไทยแสดงวิชาคาถาอาคมให้ฝรั่งกลัว

พระเจ้าฝรั่งเศสสั่งให้จัดแจงการทั้งปวง ให้พร้อมตามคำราชทูตทุกประการ ครั้นรุ่งเช้า ราชทูตจึ่งให้อาจารย์แต่งศิษย์ประมาณ ๑๖ คน ให้ผูกเครื่องล้วนลงเลขยันต์คาถาสาตราคมเสร็จแล้ว

ให้อาจารย์นุ่งขาว ใส่เสื้อครุยขาว และพอกเกี้ยวพันผ้าขาว ศิษย์ ๑๖ คนนั้นใส่กางเกง เสื้อ หมวกปัศ ตูแดงทั้งสิ้น เป็น ๑๗ คน กับทั้งอาจารย์ใหญ่ พาเข้ามาสู่หน้าพระลาน กราบถวายบังคมแล้วให้ขึ้นนั่งบนเบญจา แล้วให้กราบทูลว่า

ขอให้ทหารแม่น ปืน ๕๐๐ ยิงทหารทั้ง ๑๗ คน ซึ่งนั่งอยู่บนเบญจานั้น พระเจ้า ฝรั่งเศสก็สั่งทหารทั้ง ๕๐๐ ให้ระดมยิงทหารไทยพร้อมกัน

ด้วยอำนาจคุณพระรัตนตรัย และคุณเลขยันต์ สรรพอาคมคาถา วิชา คุ้มคอรงป้องกันอันตราย พลฝรั่งทั้งหลายยิงปืนนกสับ ทั้งใกล้และไกลเป็นหลายครั้ง เพลิงปากนกก็มิได้ติดดินดำ และมิได้ลั่นทั้งสิ้น

ทหารไทยทั้ง ๑๗ คนก็รับพระราชทานโภชนาหาร และมัชชมังสาสุราบานเป็นปรกติ มิได้มีอาการสะดุ้งหวั่นไหว พลทหารฝรั่งทั้งปลายก็เกรงกลัวย่อท้อรอหยุดอยู่สิ้น

อาจารย์ทหารไทยจึ่งร้องอนุญาตไปว่า ท่านจงยิงอีกเถิด ทีนี้เราจะให้เพลิงติดดินดำ จะให้กระสุนออกทั้งสิ้น พลทหารพร้อมกันยิงอีกนัดหนึ่ง เพลิงก็ติดดินดำ

กระสุนก็ออกจากลำกล้องตกลงตรงปากบอกบ้าง ห่างออกไปบ้าง ลางกระสุนก็ไปตกลงที่ใกล้เบญจา แต่จะได้ถูกต้องทหารไทยผู้ใดผู้หนึ่งหามิได้

พระเจ้าฝรั่งเศสทอดพระเนตร เห็นดังนั้นก็ทรงเชื่อ เห็นความจริงของราชทูต ทรงพระโสมนัสตรัสสรรเสริญวิชาทหารไทยว่า ประเสริฐหาผู้เสมอมิได้ สั่งให้พระราชทานเงินทองเสื้อผ้าเป็นรางวัลแก่ทหารไทยเป็นอันมาก ให้เลี้ยงดูเสร็จแล้วกลับไปสู่ที่สำนัก

จำเดิมแต่นั้นมาก็ทรงเชื่อถือถ้อยคำราชทูต จะเพ็ดทูลประการใดก็เชื่อถือ มิได้มีความสงสัย ทรงพระมหาการุญภาพแก่ราชทูตยิ่งนัก

อยู่มาวันหนึ่ง จึงสั่งให้ถามทูตว่า ทหารไทยที่มีคุณวิชาวิเศษประเสริฐดังนี้ ในพระนครศรีอยุธยามีเท่านี้และหรือ หรือยังมีทหารอื่นอยู่อีกมากน้อยเท่าไร

ราชทูตให้กราบทูลว่า ทหาร เหล่านี้เป็นแต่กองนอก สำหรับเกณฑ์จ่ายมากับเรือลูกค้าวานิช มีวิชาเพียงนี้เป็นแต่อย่างต่ำ

อันทหารกองในสำหรับรักษาพระนครนั้น มีวิชาการต่าง ๆ วิเศษกว่านี้มีมากกว่ามาก ได้ทรงฟังก็เชื่อถือ พระราชดำริก็เกรงฝีมือทหารไทยยิ่งนัก

พระเจ้าฝรั่งเศสมีพระกายสีต่าง ๆ

และพระเจ้าฝรั่งเศสนั้น เสด็จออกเหนือราชาอาสน์อันสูง เพลาเช้าแลเห็นสีพระกายแดง เพลากลางวันเห็นพระกายมีสีอันเขียว เพลาเย็นเห็นสีพระกายขาว ราชทูตเข้าเฝ้าเป็นหลายเวลา ได้เห็นดังนั้นมีความสงสัยนัก

อยู่มาวันหนึ่งจึ่งตรัสถามทูตว่า ตัวท่านเป็นขุนนางผู้ใหญ่ หรือเป็นขุนนางผู้น้อย กล่าวถ้อยคำสัตย์จริงยิ่งนัก อนึ่งอย่าง ธรรมเนียมพระนครศรีอยุธยา

ถ้าและขุนนางผู้ใดพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาทรงพระเมตตาโปรดปรานมากกว่าข้าราชการทั้งปวง และพระราชทานอภัยแก่ขุนนางผู้น้นเป็นประการใด เราก็จะโปรดปรานประทานอภัยแก่ท่านเหมือนฉะนั้น

ราชทูตคิดจะใคร่เห็นพระกายซึ่งมีสีต่าง ๆ หลายวันมาแล้ว ครั้นได้โอกาสจึ่งให้กราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นแต่ข้าราชการผู้น้อยสำหรับใช้แต่ไปมาค้าขายในนานาประเทศ ทั้งสติปัญญาก็น้อยนัก อันข้าราชการผู้ใหญ่ซึ่งมีสติปัญญายิ่งกว่าข้าพระพุทธเจ้านั้นมีเป็นอันมาก

อนึ่งอย่างธรรมเนียมข้างกรุงพระนครศรีอยุธยา ถ้าพระองค์ทรงพระมหากรุณาขุนนางผู้ใดมากกว่าข้าราชการทั้งปวง ก็พระราชทานอภัยโปรดให้ผู้นั้นเข้าเฝ้าใกล้พระองค์ กราบถวายบังคมถึงพระบาทยุคลทุกครั้ง

พระเจ้าฝรั่งเศสได้ทรงฟังก็เชื่อ จึ่งโปรดพระราชทานอภัยให้ราชทูตเข้าไปถวายบังคมถึงฝ่าพระบาททุกเวลาเฝ้า ราชทูตจึ่งได้เห็นราชอาสน์ อันเรี่ยรายไปด้วยทับทิมโดยรอบในเพลาเช้า

เพลากลางวันนั้นเรี่ยรายไปด้วยพลอยมรกต เพลาเย็นเรี่ยรายไปด้วยเพชร แสงแก้วขึ้นจับพระองค์ จึ่งมีสีต่าง ๆ อย่างละ ๓ เวลา

ปรากฏครั้นอยู่มาวันหนึ่ง เสด็จออกประพาสพระอุทยาน ทรงม้าสีขาวเป็นราชพาหนะ ประดับด้วยเครื่องม้าล้วนแล้วด้วยแก้วต่าง ๆ และมีพลอยทับทิมดวงหนึ่งใหญ่เท่าผลหมากสงทั้งเปลือก ผูกห้อยคอม้าพระที่นั่ง

แสงทับทิมนั้นจับพระองค์และตัวม้าแดงไปทั้งสิ้น พร้อมด้วยราชบริพารแห่แหนไปเป็นอันมาก โปรดให้ราชทูตตามเสด็จด้วย

ครั้นถึงพระอุทยาน จึ่งตรัสสั่งให้ถามทูตว่า พลอยทับทิมดวงใหญ่เท่านี้ พระนครศรีอยุธยามีมากหรือน้อย ราชทูตให้กราบทูลว่า

ข้าพระพุทธเจ้าเป็นแต่คนภายนอกมิใช่ชาวพระคลัง ซึ่งจะกราบทูลว่ามีมากน้อยเท่าใดนั้น เกรงจะเป็นเท็จ แต่รับพระราชทานเห็นครั้งหนึ่ง

เมื่อพระเจ้ากรุงไทยเสด็จออกไปประพาสพระอุทยาน ทรงม้าพระที่นั่งสีขาว มีพลอยทับทิมดวงหนึ่งผูกคอม้าพระที่นั่ง มีสัณฐานใหญ่ประมาณเท่านี้

พระเจ้าฝรั่งเศสได้ทรงฟังก็เข้าพระทัยในคำราชทูต ทรงพระโสมนัสตรัสสรรเสริญว่า ราชทูตเจรจาไพเราะ ควรจะเอาไว้เป็นอย่าง

ได้สั่งให้จดหมายเอาถ้อยคำไว้เป็นฉบับสืบไปภายหน้า แล้วเสด็จเที่ยวประพาสอุทยานจนเพลาเย็น ก็เสด็จกลับเข้าพระราชวัง


ขอเข้าชมพระราชสมบัติตามคำสั่งพระเจ้ากรุงไทย

เวลาวันหนึ่งราชทูตเข้าเฝ้า จึ่งให้กราบทูลพระกรุณาว่า ลูกค้า ณ เมืองนี้เข้าไปค้าขาย ณ พระนครศรีอยุธยา กราบทูลพระเจ้าอยู่หัวกรุงไทยสรรเสริญของวิเศษต่าง ๆ และภายในพระราชนิเวศน์ว่างามหาที่สุดมิได้

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะใคร่เห็นความจริง จึ่งดำรัสใช้ข้าพระพุทธเจ้าให้จำทูลพระราชสาส์น กับทั้งเครื่องมงคลราชบรรณาการ ออกมาจำเริญทางพระราชไมตรีด้วย

พระเจ้าฝรั่งเศสได้ทรงฟังก็ทรงโสมนัส ดำรัสสั่งให้ข้าหลวงพาทูตานุทูตเข้าไปเที่ยวชมท้องพระโรงข้างใน และพระราชฐานทั่วทั้งสิ้น ตรัสสั่งว่าให้จำเอาไปทูลพระเจ้ากรุงไทยเถิด

เจ้าพนักงานกรมวังก็พาพวกแขกเมือง เข้าไปชมพระราชนิเวศน์สถานที่ข้างในตามรับสั่ง ราชทูตก็จดหมายแต่บรรดาที่ได้เห็นนั้นทุกประการ ถูกต้องสมคำ "พระยาวิชาเยนทร์" ซึ่งกราบทูลนั้น แล้วกลับออกมาเฝ้า ทูลสรรเสริญสมบัติในพระราชฐานว่า งานเสมอทิพพิมานในเทวโลก

พระเจ้าฝรั่งเศสก็ทรงพระโสมนัสเชื่อถือถ้อยคำราชทูต ทรงพระการุญภาพเป็นอันมาก พระราชประสงค์จะใคร่ได้พืชพันธุ์ไว้ จึ่งพระราชทานนางข้าหลวงให้เป็นภรรยาราชทูตคนหนึ่ง

แล้วพระราชทานเครื่องแต่งตัวอย่างฝรั่ง ล้วนประดับด้วยพลอยต่างๆ กับฉลองพระองค์ทรงองค์หนึ่ง แล้วให้เขียนรูปราชทูต และจดหมายถ้อยคำไว้ทุกประการ

และราชทูตอยู่สมัครสังวาสกับด้วยภรรยาจนมีบุตรชายคนหนึ่ง มีรูปร่างเหมือนบิดา อยู่ (มา) ประมาณ ๓ ปี ราชทูตจึงให้กราบทูลถวายบังคมลา แล้วให้ฝากบุตรภรรยาด้วย พระเจ้าฝรั่งเศสก็พระราชทานเงินทองเสื้อผ้า และสิ่งของวิเศษต่าง ๆ แก่ทูตานุทูตเป็นอันมาก..."
จบ

...หมายเหตุ : บันทึกเรื่องนี้สอนให้คิดได้มากมาย เช่น พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสอาจคิดว่า "ท่านโกษาปาน" มีวิชาคงกะพัน อยากได้เชื้อสายที่คงกะพันอยู่ในฝรั่งเศส

หรืออาจคิดว่า "ท่านโกษาปาน" ฉลาดทางการเจรจา จึงอยากได้เชื้อสายไว้บ้าง แต่นับว่าท่านโกษาปานทำงานสำเร็จสมดังมุ่งหมาย

พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสจึงเจริญพระราชไมตรีกับกรุงสยาม และไม่อยากเป็นศัตรูด้วยเกรงขาม ในอานุภาพแห่งทหารไทยที่แสดงไว้แต่ครั้งกระโน้น..

อ้างอิง - https://th.wikisource.org/wiki/พระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียม_หน้าที่_๓๗๑-๗๔๓

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน



[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 2/4/18 at 15:07 [ QUOTE ]


[ ตอนที่ 19 ]

(Update 6 เมษายน 2561)


เปิดบันทึกภายหลัง
ราชทูตเดินทางกลับจากฝรั่งเศส


...ต่อมา "มองสิเออร์ เลอกงต์ ญัง เดอ วีเซ" ผู้ติดตามคณะราชทูตไทย ตั้งแต่ขึ้นฝั่งจนส่งลงสำเภากลับ และบันทึกบทบาทของราชทูตไทยไว้โดยละเอียด

โดยนำออกพิมพ์เผยแพร่ในปี พ.ศ.๒๒๒๙ (ค.ศ.๑๖๘๖ ปีเดียวกับตอนคณะทูตกลับอยุทธยา) ในชื่อ “Voyage des Ambassadeurs de Siam en France” โดย Jean Donneau de Visé

ซึ่งกล่าวถึงความประทับใจของคนทั้งหลาย ต่อความเฉลียวฉลาดมีไหวพริบ และมีคารมเป็นเลิศของโกษาปาน โดยเฉพาะคำกราบบังคมทูลพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ในวันเข้าเฝ้าเพื่อทูลลากลับนั้น เป็นที่ประทับพระราชหฤทัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เป็นอย่างมาก

ทรงรับสั่งให้จดไว้ทุกตัวอักษรแล้วพิมพ์แจกจ่ายให้อ่านกันทั่วราชสำนัก แต่มิได้กล่าวถึงเรื่องอาจารย์ขี้เมา และเรื่องพระราชทานนางข้าหลวงให้ทำพันธุ์ไว้เลย

ที่สำคัญระบุว่าโกษาปานไปถึงเมืองเบรสต์ เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๒๒๙ และกลับไปเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๒๓๐ อยู่ฝรั่งเศสเพียง ๘ เดือนเศษ ไม่ใช่ ๓ ปี

ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชหัตถเลขาภาษาอังกฤษไปถึง "เซอร์จอห์น บาวริ่ง" ที่เคยเป็นราชทูตอังกฤษเข้ามาใน พ.ศ.๒๓๙๘ และมีความสัมพันธ์สนิทสนมกันเป็นการส่วนพระองค์

ทรงขอให้หาหนังสือที่เกี่ยวกับราชทูตฝรั่งเศสเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมาถวาย และทรงกล่าวถึงเรื่องที่ "โกษาปาน" ไปฝรั่งเศสไว้เช่นกันว่า


“…คณะเอกอัครราชทูตสยามไปเจริญทางพระราชไมตรียังกรุงฝรั่งเศส เพื่อเป็นการตอบแทนในรัชกาลเดียวกันนั้น

คณะเอกอัครราชทูตนี้ กล่าวกันว่าบรรพบุรุษของเราคนหนึ่งได้เป็นหัวหน้า ในกรุงสยามนี้ก็มีจดหมายเหตุรายการหรือรายละเอียดแต่งขึ้นไว้

นัยว่าเป็นจดหมายเหตุของคณะเอกอัครราชทูตในเมื่อกลับมาจากฝรั่งเศส แต่สำนวนและข้อความไม่เป็นที่พอใจที่เราจะเชื่อได้

เพราะว่าเป็นการกล่าวเกินความจริงไปมาก กับทั้งยังขัดต่อความรู้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งเรารู้ในเวลานี้ ว่า เป็นการเป็นไปที่แท้จริงแห่งโลกนั้นมาก

ด้วยผู้แต่งจดหมายเหตุของคณะเอกอัครราชทูตสยามในครั้งนั้นคงจะคิดว่า ไม่มีใครในกรุงสยามจะได้ไปดูไปเห็นประเทศฝรั่งเศสอีกเลย...”


...แม้พระราชพงศาวดารฉบับนี้ จะบันทึกความเป็นจริงของประวัติศาสตร์ไว้ ซึ่งมีคุณค่าอย่างมากต่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ แต่ก็นำเรื่องเก่าๆ ที่บันทึกกันไว้มารวมไว้ด้วย ให้คนรุ่นหลังพิจารณากลั่นกรองเอาเอง เพื่อให้รู้ความเป็นไปต่างๆ ของยุคสมัย

ราชทูตถึงแก่กรรม

...จากหนังสือเล่มนี้ฉบับแปลไทย "โกษาปานไปฝรั่งเศส" โดย มองสิเออร์ เลอกงต์ ญัง เดอ วีเซ หน้า ๓๙๐ ตอน "ราชทูตถึงแก่กรรม" ได้เล่าไว้ว่า ถัดจากไปตีเมืองเชียงใหม่มานี้แล้ว เจ้าพระยาโกศาธิบดีได้ดิบได้ดีในราชการประการใดไม่ปรากฏฯ

แต่ว่าในรัชการของพระเพทราชาฯ ไม่ทรงโปรดเหมือนพระนารายณ์ กลับลงโทษต่างๆ นานา เพราะทรงระแวงสงสัยไม่ไว้พระทัยในเจ้าพระยาโกศาธิบดีเลย.......ฯลฯ

ภายหลังที่เจ้าคุณอัครราชทูตกลับมา (จากฝรั่งเศส) ถึง ๑๒ ปี ตกอยู่ในตอนปลายรัชกาลของพระเพทราชานั้นเอง ยังจะถือเป็นยุติทีเดียวไม่ได้ มายุติแต่ตามจดหมายของท่านบาทหลวงโบรล์ต์ นั้นเขียนเป็นใจความในปลายจดหมายของท่านว่า

"เคราะห์ดีเสียอีกที่เจ้าพระยาพระคลัง (เจ้าคุณอัครราชทูต) ชิงตายไปก่อนเมื่อสัก ๒ เดือนมานี้แล้ว หาไม่คงถูกประหารชีวิตเหมือนขุนนางผู้ใหญ่ ๔๘ คนที่ไปตีนครราชสีมาไม่สำเร็จ ถูกสงสัยว่าเข้ากับกบฏเลยรับสั่งให้จับมาตระเวนกลางเมือง แล้วสับฟันศรีษะเป็นแฉกๆ....ฯลฯ

ที่จริงซึ่งเจ้าพระยาพระคลังมาถึงแต่ความตายคราวนี้ ก็เหมือนกับว่าถูกประหารชีวิตเหมือนกันก็ว่าได้ เพราะที่ท่านตายนี้มิใช่อื่นไกลเลย เป็นผลแห่งการที่ท่านได้รับพระราชทานอาชญาถูกเฆี่ยนตีอย่างสาหัสประการหนึ่ง

และอีกประการหนึ่ง เพราะคับแคบใจมานมนานในการพระเจ้าแผ่นดินทรงกระทำแก่ตนอย่างโหดร้ายเหมือนประมาณครั้งหนึ่งเมื่อ ๔ ปีล่วงมานี้แล้ว (ภายหลังกลับจากฝรั่งเศส ๘ ปี)

ขณะกำลังเฝ้าอยู่หน้าพระที่นั่ง จะทรงกริ้วอย่างไรไม่ปรากฏ ทรงคว้าพระแสงดาบฟันเอาราชทูตจมูกแหว่ง ดูน่าอุจาดและสงสารที่สุด นับแต่วันนั้นมา ก็มีแต่ถูกระแวงสงสัยทุกอย่าง ไม่เป็นอันกินอันนอนเป็นปกติดังเดิม....

.....ฟ. ฮีแลร์ 4 พฤศจิกายน 1923



เจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์ ผู้แต่งตำรา 'ดรุณศึกษา'


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน



[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 5/4/18 at 16:21 [ QUOTE ]


[ ตอนที่ 20 ]

(Update 7 เมษายน 2561)


เปิดบันทึกสุดท้าย
สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช


...สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นพระอนุชาต่างพระมารดาใน "สมเด็จเจ้าฟ้าไชย" และยังมีพระอนุชาต่างพระมารดาอีก ได้แก่
- เจ้าฟ้าอภัยทศ (เจ้าฟ้าง่อย),
- เจ้าฟ้าน้อย,
- พระไตรภูวนาทิตยวงศ์,
- พระองค์ทอง
- พระอินทราชา

พระองค์ทรงมีพระมเหสี ๒ องค์ คือ "พระกระษัตรีย์" และ "พระพันปี" พระกระษัตรีย์ทรงมีพระราชธิดาองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า "พระสุดาเทวี" และทรงรับ "พระศรีสิงห์" (ลูกของพี่ชาย คือ เจ้าฟ้าไชย) ไว้เป็นพระโอรสบุญธรรม

สมเด็จพระนารายณ์ใน "พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา" เล่าว่า เมื่อแรกเสด็จพระบรมราชสมภพนั้น พระญาติเห็นพระโอรสมี ๔ กร พระราชบิดาจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า "พระนารายณ์ราชกุมาร"

ส่วนในหนังสือ "คำให้การชาวกรุงเก่า" และ "คำให้การขุนหลวงหาวัด" เล่าว่า เมื่อเพลิงไหม้พระที่นั่งมังคลาภิเษก พระโอรสเสด็จไปช่วยดับเพลิง ผู้คนเห็นเป็นสี่กร จึงพากันขนานพระนามว่า "พระนารายณ์"




บุญญาภินิหารของ "สมเด็จพระนารายณ์"

...พระราชประวัติของ "สมเด็จพระนารายณ์" นั้นเกี่ยวกับเรื่องปาฏิหาริย์อยู่มาก เมื่อเทียบกับกษัตริย์องค์ก่อนๆ ด้วยเหตุนี้เอง พระราชประวัติของพระองค์จึงกล่าวถึงปาฏิหาริย์มหัศจรรย์ตามลำดับ คือ

เมื่อพระนารายณ์มีพระชนม์ได้ ๕ พรรษา ขณะเล่นน้ำ พระองค์ทรงถูกอสนีบาต พวกพี่เลี้ยง นางนม สลบหมดสิ้น แต่พระองค์ไม่เป็นไรแม้แต่น้อย ครั้นมีพระชนมายุได้ ๙ พรรษา พระองค์ทรงถูกอสนีบาตที่พระราชวังบางปะอิน แต่พระองค์ก็ปลอดภัยดี

แม้แต่ช้างเถื่อนซึ่งยังมิได้ฝึกหัด พระองค์ก็สามารถขึ้นทรงช้างเถื่อนนั้น โดยมิได้ทำพยศแต่อย่างใด จนกระทั่งคราวหนึ่งช้างเถื่อนกำลังตกมัน พระองค์ก็ทรงอีก อยู่ในบังคับบัญชาของพระองค์ทุกอย่าง ต่อหน้าทูตฝรั่งที่มาเข้าเฝ้า

สมเด็จพระนารายณ์ทรงรับการศึกษาจาก "พระโหราธิบดี" ซึ่งเป็นข้าราชการระดับสูงในพระราชวัง และ "พระอาจารย์พรหม" พระพิมลธรรม รวมทั้ง "สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์" และพระสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์ระดับสูงในพระนคร

โดยเฉพาะ "พระอาจารย์พรหม" ท่านนี้มีอายุมากเป็นผู้เฒ่า ใบหูทั้งสองข้างยานถึงบ่า เป็นผู้ชำนาญในทางเวทมนตร์ มีอานุภาพเหาะเหินเดินอากาศได้ เพราะฉะนั้น สมเด็จพระนารายณ์จึงมีบุญญาภินิหารและอิทธิฤทธิ์มาก

วันหนึ่ง เสด็จทรงเรือพระที่นั่งเอกไชยในเวลาน้ำขึ้น รับสั่งว่าให้น้ำลดแล้วทรงเอาพระแสงฟันลง น้ำก็ลดลงตามพระราชประสงค์

ครั้นน้ำลดลงแล้ว จึงรับสั่งให้น้ำขึ้นแล้วทรงพระแสงฟันลงอีก น้ำก็ขึ้นตามพระราชประสงค์ พระองค์มีพระราชประสงค์อย่างไร ก็เป็นไปตามนั้นทั้งสิ้น


พระราโชบายของ "สมเด็จพระนารายณ์"

...สมเด็จพระนารายณ์มิใช่จะทรงมีความชำนาญเรื่องช้าง หรือเรื่องคาถาอาคมแต่เพียงอย่างเดียว พระองค์ยังทรงมีพระปรีชาสามารถเป็นเลิศด้วย

เพราะในสมัยนั้นทรงมีพระทัยระแวงเกรง "ฮอลันดา" ยกมาย่ำยี และได้ทรงทราบถึงพระเดชานุภาพของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ในยุโรปมาแล้ว จึงเต็มพระทัยเจริญทางพระราชไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ไว้ เพื่อให้ "ฮอลันดา" เกรงขาม

ด้วยเหตุนี้ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ จึงได้มีการส่งทูตไปสู่พระราชสำนักฝรั่งเศส และต้อนรับคณะทูตฝรั่งเศสอย่างเป็นงานใหญ่ถึงสองคราว

แต่การคบหาสมาคมกับชาติมหาอำนาจคือ "ฝรั่งเศส" ในยุคนั้นก็มิใช่ว่าจะปลอดภัย ด้วยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ มีพระราโชบายที่จะให้สมเด็จพระนารายณ์ และประชาชนชาวไทยรับนับถือคริสต์ศาสนา

ซึ่งบาทหลวงฝรั่งเศสนำมาเผยแผ่ โดยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงส่งพระราชสาสน์มาทูลเชิญสมเด็จพระนารายณ์เข้ารับนับถือคริสต์ศาสนา พร้อมทั้งเตรียมบาทหลวงมาไว้คอยถวายศีลด้วย

แต่สมเด็จพระนารายณ์ได้ทรงใช้พระปรีชาญาณตอบปฏิเสธอย่างทะนุถนอมไมตรี ทรงขอบพระทัยพระเจ้าหลุยส์ ที่มีพระทัยรักใคร่พระองค์ถึงแสดงพระปรารถนาจะให้ร่วมศาสนาด้วย

แต่เนื่องด้วยพระองค์ยังไม่เกิดศรัทธาในพระทัย ซึ่งก็อาจเป็นเพราะพระเป็นเจ้าประสงค์ที่จะให้นับถือศาสนาคนละแบบคนละวิธี

เช่นเดียวกับที่ทรงสร้างมนุษย์ให้ผิดแผกเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ หรือทรงสร้างสัตว์ให้มีหลายชนิดหลายประเภทก็ได้ หากพระเป็นเจ้ามีพระประสงค์จะให้พระองค์ท่านเข้ารับนับถือศาสนา

ตามแบบตามลัทธิที่พระเจ้าหลุยส์ทรงนับถือแล้ว พระองค์ก็คงเกิดศรัทธาขึ้นในพระทัย และเมื่อนั้นแหละ พระองค์ท่านก็ไม่รังเกียจที่จะทำพิธีรับศีลร่วมศาสนาเดียวกัน

นอกจากนี้พระองค์ยังทรงรับเอาวิทยาการสมัยใหม่มาใช้ เช่น กล้องดูดาว และยุทโธปกรณ์บางประการ รวมทั้งยังมีการรับเทคโนโลยีการสร้างน้ำพุ จากชาวยุโรป และวางระบบท่อประปาภายในพระราชวังอีกด้วย



...หากยังจำกันได้ ฉากขี่ม้าชมเมืองของ "ขุนเดช" และ "แม่การะเกด" รอบๆ เมืองละโว้ หลังจากที่พระเอกได้เข้าเฝ้า "สมเด็จพระนารายณ์" ในคืนที่มีการส่องกล้องดูดาวที่ลพบุรีด้วย

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน



[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 5/4/18 at 16:23 [ QUOTE ]


[ ตอนที่ 21 ]

(Update 9 เมษายน 2561)


คณะผู้จัดสร้างละคร "บุพเพสันนิวาส"
เป็นสื่อนำให้คนไทยสนใจประวัติศาสตร์


...ตามบันทึกหรือจดหมายประวัติศาสตร์ มีทั้งของไทยคือ "พระราชพงศาวดารต่างๆ" และ "บันทึก" ของชาวฝรั่งเศส ที่อาจจะมีข้อมูลที่ไม่ตรงกันบ้างเป็นธรรมดา

แต่ถึงอย่างไรก็ตามละคร "บุพเพสันนิวาส" ก็ยังมีอิทธิพลต่อชาวไทยสมัยปัจจุบันนี้ ช่วยสร้างกระแสความสนใจ ต่อประวัติศาสตร์ของชาติไทยเป็นอย่างยิ่ง บ้างก็ช่วยกันค้นหาข้อมูล บ้างก็วิพากย์วิจารณ์ในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ก็มี

โดยเฉพาะประวัติของบุคคลสำคัญต่างๆ ในรัชสมัย "สมเด็จพระนารายณ์มหาราช" มีบรรพบุรุษหลายท่านที่สร้างเกียรติคุณความดีต่อผืนแผ่นดินไทยไว้เป็นอันมาก

ด้วยกุสโลบายอันชาญฉลาด บวกกับความสามารถในชั้นเชิงการทูต หรือแม้แต่การใช้วิชาคาถาอาคม ของคณะท่านชีปะขาวทั้ง ๑๗ คน ต่อหน้าทหารฝรั่งเศส ๕๐๐ คน

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการข่มขวัญชาวฝรั่งเศสให้เกรงกลัวหรือไม่ จึงทำให้ชาวไทยสมัยนั้นได้รอดพ้นจากปากเหยี่ยวปากกา จากชาติมหาอำนาจในอดีตทั้งหลาย

แต่ภายหลังไม่กี่ร้อยปี พวกนี้ก็แสดงธาตุแท้ออกมาจนได้ ทำให้ไทยต้องสูญเสียดินแดนบางส่วนให้แก่ฝรั่งเศสในสมัยรัชกาลที่ ๕ แล้วก็สงครามอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศสอีก เมื่อปี ๒๔๘๔

แสดงว่าสมัยนั้น ฝรั่งเศสเพียงแต่งอุบายหาเรื่องให้ "สมเด็จพระนารายณ์" เข้ารีตศาสนาอื่น เพื่อเป็นสะพานที่จะบุกยึดกรุงสยาม นั่นอาจเป็นเป้าหมายที่แท้จริงก็อาจจะเป็นได้เช่นกัน

อีกทั้งเหตุการณ์บ้านเมืองสมัยนั้น ภายในราชสำนักก็มีความวุ่นวาย รวมทั้งการแทรกแซงจากชาวต่างชาติ จึงยากที่จะบันทึกเรื่องราวไว้ได้ครบถ้วน

ถึงแม้ว่าจะมีข้อมูลที่แตกต่างกัน แต่การสร้างละครเรื่องนี้ ยังสะท้อนถึงความรักชาติ รักการแต่งกายตามขนบธรรมเนียมประเพณี รักความสามารถในบรรพบุรุษของเรา ชอบการพูดจาแบบโบราณๆ เช่นคำว่า "ออเจ้า" เป็นต้น

รวมถึงการยกย่องวีรกรรมของท่านไว้ แม้ชาวฝรั่งเศสก็ยังสรรเสริญ ด้วยความเสียสละของคณะราชทูต เพราะการเดินทางสู่ท้องทะเลเต็มไปด้วยภยันตราย คงประทับอยู่ในความความทรงจำของชาวไทยตลอดไป

เมื่อได้อ่านบทความที่ผู้เขียนเรียบเรียงไว้ตั้งแต่ต้น หากมีข้อผิดพลาดประการใด ที่อาจไม่ตรงกับเหตุการณ์จริง ต้องกราบขอขมาอภัยเป็นอย่างสูง ต่อบรรพบุรุษไทยในอดีตทั้งหลายด้วย


ประวัติศาสตร์ที่ยังค้างคาใจ

...ขอเข้าประเด็นที่ค้างคาใจสำหรับผู้คนสมัยนี้ บางรายก็วิพากย์วิจารณ์ไปตามสื่อออนไลน์ ยกตัวอย่างที่เป็นคำถามดังนี้ว่า

...๑. พระยาโกษาเหล็ก และ พระยาโกษาปาน ถูกเฆี่ยนจนเสียชีวิตจริงหรือ ?
...๒. ท่านอาจารย์ชีปะขาว แสดงอิทธิ์ฤทธิ์ให้เรือของราชทูตไทย ผ่านพ้นจากวังวนในทะเลได้จริงหรือ ?
...๓. มีการทดลองอาวุธปืนต่อหน้า พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เป็นไปได้จริงหรือ?

ความจริงผู้เขียนก็ได้นำข้อมูลมาเป็นคำตอบไปแล้ว ถ้าผู้อ่านพยายามอ่านให้ครบถ้วน ซึ่งมีหลักฐานมากมาย ยากที่จะนำมากล่าวอย่างละเอียดได้

แต่ก็ย่นย่อพอให้เป็นที่เข้าใจว่า เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) เป็นบุตรชายคนโตของ "เจ้าแม่วัดดุสิต" (พระนมในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) กับ ขุนนางเชื้อสายมอญ (หม่อมเจ้าเจิดอำไพ บางแห่งว่าเจิดอภัย หรือ ครอกอำภัย)

ท่านเกิดในรัชสมัย "สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง" เมื่อปี พ.ศ.๒๑๗๕ (หรือ พ.ศ.๒๑๗๓) มีน้องสาว ๑ คน ชื่อ ท้าวจุฬาลักษณ์ (แจ่ม) และน้องชาย ๑ คน คือ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน)

มีภริยา คือ "คุณหญิงนิ่ม" บุตรีเจ้าเมืองสวรรคโลก (พระยาเกษมสงคราม) ซึ่งเป็นพี่สาวของ "คุณทีป" (พระยาสีหราชเดโชไชย)

เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) เสียชีวิตเมื่อ ปีกุน พ.ศ.๒๒๒๖ (หรือ พ.ศ.๒๒๐๔) มีบุตรชาย ๑ คน (ไม่แน่ว่าชื่อ "ขุนทอง" ผู้เป็นต้นราชจักรีวงศ์หรือไม่)

แต่ประวัติศาสตร์บอกว่าเป็นบุตรของ "เจ้าพระยาโกษาปาน" ส่วนหนังสือ "นิทานอิงประวัติศาสตร์" โดย ส.ธ. พูดเป็นนัยๆ ว่าเป็นบุตรของ "เจ้าพระยาโกษาเหล็ก" เรื่องนี้อาจจะมีอะไรที่ซ่อนเงื่อนอยู่ก็ได้)


ปิดฉาก "ฟอลคอน" เป็นภาพสุดท้าย


รูปภาพและบทความจาก - bloggang.com

...ส่วนฉากสุดท้ายของชีวิต "ก็องสต็อง ฟอลคอน" ก็เป็นดั่งที่เราได้อ่านกันในนิยายแล้วว่า ได้ถูกล่อลวงออกไปเพื่อลงโทษประหารชีวิต สิ้นสุดอำนาจบารมีต่างๆ ที่เพียรสร้างโดยอาศัยฝรั่งเศสเป็นฐาน

ในนิยายอาจบอกเราให้เห็นภาพเพียงลางๆ ว่ามีการฆ่าด้วยดาบ แต่จากภาพที่นักวิชาการฝรั่งเศสค้นคว้ามา พบข้อมูลว่า

วิธีการลงโทษประหารชีวิตที่ "ฟอลคอน" ได้รับนั้น น่าจะเป็นทำนองเดียวกันกับภาพวาดจีนที่เห็นนี้ มีการผ่าท้อง และตัดร่างออกเป็นท่อนๆด้วย

เป็นความตายที่น่าอดสู สำหรับขุนนางฝรั่งผู้มีอำนาจมากมาย แห่งรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ยามผลัดเปลี่ยนแผ่นดินเสียจริงๆ

รายละเอียดเหล่านี้ เป็นเกร็ดเสริมเหตุการณ์ในช่วงที่ "ขุนศรีวิสารวาจา" จากแม่การะเกดคู่หมั้นไปไกลยังฝรั่งเศส เหตุการณ์ที่นางเอกแสนเก่งของเราไม่ได้มีส่วนร่วม

แต่กระนั้นก็ทราบว่าเป็น "คณะราชฑูตสยาม" ชุุดที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศเป็นอย่างมาก เราได้มองเห็นประวัติศาสตร์สยามบางส่วน ผ่านสายตาศิลปินฝรั่งเศสที่ได้รับมอบให้บันทึกเหตุการณ์นั้นๆ ลงบนภาพพิมพ์ไม้และภาพเขียน

ต้องยอมรับว่าฝรั่งเขาช่างแก่บันทึกกันเสียเหลือเกิน จึงได้มีหลักฐานประกอบมากมาย และทำให้ได้มีโอกาสเห็นใบหน้าพ่อเดช "ขุนศรีวิสารวาจา" พระเอก "บุพเพสันนิวาส" ในที่สุด...


(โปรดติดตาม "ตอนจบ" ต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน



[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 7/4/18 at 09:34 [ QUOTE ]


[ ตอนที่ 22 ตอนจบ ]

(Update 11 เมษายน 2561)


ปิดฉากบันทึกตำนาน
สมัย "สมเด็จพระนารายณ์"


...เมื่อตอนที่แล้วได้นำเรื่องการเสียชีวิตของ "เจ้าพระยาโกษาเหล็ก" ว่าเป็นเพราะเหตุอะไรกันแน่ (ตามที่นำมาลงในตอนที่แล้ว สามารถย้อนอ่านได้)

เพราะตาม "พระราชพงศาวดาร" ของไทย หรือบันทึกของ "ชาวฝรั่งเศษ" ต่างก็เล่ามูลเหตุไม่ตรงกัน ส่วนละคร "บุพเพสันนิวาส" ยกเอาตอนถูกลงโทษเฆี่ยนตีมาแสดง จึงขอสรุปการบันทึกของชาวฝรั่งเศสมีดังนี้

...๑. บาทหลวง "เดอ แบส" ผู้ใกล้ชิดกับ "คอนสตันซ์ ฟอลคอน" ระบุว่า เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) มีข้อเสียอยู่อย่างหนึ่งคือเป็นผู้ที่มี “ความลุ่มหลงในการสั่งสมทรัพย์สมบัติ ชอบรับของกำนัล” โดยเฉพาะการติดสินบน ในการสร้างป้อมปราการด้วยเงินเพียง ๕๐ ชั่ง

...๒. ราชทูตฝรั่งเศส ซิมง เดอ ลาลูแบร์ (Simon de la Loubère) ซึ่งเดินทางเข้ามาสยามเมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๐ บันทึกไว้ใกล้เคียงกับ "เดอ แบส" แต่กล่าวว่าความผิดที่ทำให้ท่านโดนลงพระราชอาญาเป็นเรื่อง “ชู้สาว” ซึ่งไม่ได้ลงรายละเอียดไว้

...๓. หลักฐานของ "เชอวาลิเยร์ เดอ ฟอร์แบ็ง" (Claude, chevalier de Forbin) นายทหารจากคณะทูตฝรั่งเศส ระบุว่า เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ถูกลงพระราชอาญาเพราะถูก "ฟอลคอน" วางแผนกล่าวหาเพื่อกำจัดท่าน

ถ้าผู้อ่านได้อ่านหลักฐานทั้งหมดแล้ว จะเห็นว่าบันทึกภายหลังการเสียชีวิตของ "เจ้าพระยาโกษาเหล็ก" ต่างก็บันทึกตามที่ตนเองได้รับทราบมา (คือไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์) ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับเหตุการณ์จริงก็ได้

โดยเฉพาะการบันทึกภายใน "ราชสำนัก" แม้ในพงศาวดารของไทยก็กล่าวแบบกว้างๆ ไม่ค่อยจะระบุให้แน่ชัด ผู้ศึกษาภายหลังต่างก็สับสนไปกับเหตุการณ์ทั้งหลาย


(อนุสาวรีย์ "พระยาโกษาเหล็ก" หน้าพระจุฬามณี วัดท่าซุง )

...แม้แต่ท่าน ส.ธ. ที่ได้เล่าไว้ในหนังสือ "นิทานอิงประวัติศาสตร์" ก็บอกว่าบั้นปลายชีวิตของ "ขุนเหล็ก" ได้มาสร้างวัดท่าซุง เพราะหมู่บ้านมอญที่ "บ้านสะแกตรัง" ของท่านอยู่ใกล้กัน

หรือแม้แต่ "ขุนปาน" ก็มีประวัติถูกเฆี่ยนตีเช่นกัน ไม่ทราบว่าบั้นปลายชีวิตของท่าน กลับมาช่วยพี่ชายสร้างวัดท่าซุงด้วยหรือไม่ เพราะชาตินี้ท่านก็ได้เกิดร่วมสมัยเดียวกัน แล้วกลับมาสร้างวัดท่าซุงครั้งที่ ๓ อันเป็นชาติสุดท้ายอีกด้วย

ฉะนั้น ไม่มีใครทราบดีเท่ากับตัวท่านเอง การบันทึกประวัติศาสตร์สมัยนั้น อาจจะมีส่วนคล้ายๆ กับสมัย "พระเจ้าตากสิน" กับ "รัชกาลที่ ๑" ซึ่งมีชาวต่างชาติ คือ "ชาวจีน" เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยที่มาทวงเงินที่ยืมไว้

จนต้องวางแผนผลัดเปลี่ยนแผ่นดินกัน โดยพระเจ้าตากสินได้ไปบวชเป็นพระอยู่ที่ "ถ้ำเขาขุนพนม" จ.นครศรีธรรมราช มิได้ถูกท่อนจันทน์จนสวรรคต ตามที่ประวัติศาสตร์บันทึกไว้

นับเป็นเหตุการณ์ที่คล้ายๆ กับสมัย "สมเด็จพระนารายณ์" เนื่องจากบุคคลภายในราชสำนักเอง หรือความสัมพันธ์กับชาวต่างชาติ คือ "ฮอลันดา" และ "ฝรั่งเศส" อาจจะเป็นการวางแผนไว้ จนไม่สามารถบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ได้


ป้ายขนาดใหญ่ติดบน "เขาสะแกกรัง" จ.อุทัยธานี



พระยาโกษาเหล็กรับสินบนจริงหรือ ?

...ข้อนี้อยากจะนำเหตุผลมาโต้แย้งสักหน่อย เพราะตามความใน "พระราชพงศาวดาร" กล่าวไว้ตอนหนึ่ง ซึ่งขัดแย้งกับคุณสมบัติของ "พระยาโกษาเหล็ก" ข้อที่ชาวฝรั่งเศสบันทึกว่า "มีความลุ่มหลงในการสั่งสมทรัพย์สมบัติ ชอบรับของกำนัล"

โดยเฉพาะเห็นแก่สินบนเพียง ๕๐ ชั่ง เพื่อช่วยกราบทูลยับยั้ง "สมเด็จพระนารายณ์" มิให้ทรงสร้างป้อมปราการ เรื่องนี้นับว่าน่าขันมาก หากมีคนเชื่อถือก็แย่แล้ว

เพราะตาม "พระราชพงศาวดาร" กล่าวไว้ตอนไปทำศึกสงครามกับเมืองเชียงใหม่ มีชัยชนะแล้วกลับมาพร้อมกับ "พระพุทธสิหิงค์" อันล้ำค่า

สมเด็จพระนารายณ์จึงทรงปูนบำเน็จให้แก่ "เจ้าพระยาโกษาเหล็ก" และแม่ทัพนายกองเป็นอันมาก นั่นแสดงว่า เจ้าพระยาโกษาเหล็กมีทรัพย์สมบัติพร้อมทุกอย่าง ไม่จำเป็นต้องคอรับชั่นตามที่ชาวฝรั่งเศสบันทึกไว้

ส่วนเรื่อง "ชู้สาว" ก็ไม่สมคล้องกับประวัติศาสตร์ไทย เพราะตามชีวประวัติของท่านก็มี "คุณหญิงนิ่ม" เป็นภริยาแต่เพียงผู้เดียว แม้แต่ลูกก็มีเพียงคนเดียวเท่านั้น พิเคราะห์แล้วก็ไม่น่าจะเป็นเพราะสาเหตุนี้


อาจารย์ชีปะขาวมีอิทธิฤทธิ์จริงหรือ ?

...สำหรับข้อที่ ๓ "อาจารย์ชีปะขาว" ช่วยเรือของราชทูตไทยให้รอดตายมาได้ แล้วยังแสดงความสามารถในเรื่อง "วิชาคาถาอาคม" เช่นยิงไม่ออก หรือคงกระพันชาตรี เป็นต้น ให้ชาวฝรั่งเศสชมอีกด้วย

เรื่องนี้ถึงแม้ชาวฝรั่งเศสไม่บันทึกไว้ แต่คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อถืออยู่ เพราะเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ตามประวัติที่ลงให้อ่านผ่านไปแล้ว แม้แต่ "สมเด็จพระนารายณ์" ก็เคยศึกษาวิชาการกับ "อาจารย์พรหม" มาแล้ว

สมัยโบราณการรบ ต้องมีวิชาคาถาอาคม และการทำเครื่องรางของขลัง เช่น ผ้ายันต์ ผ้าประเจียด ตะกรุด เป็นต้น เพื่อไว้ป้องกันอันตราย ส่วนการล่องหนหายตัวเป็นเรื่องปกติธรรมดา

แม้แต่การทำศึกสงครามกับเมือง "เชียงใหม่" หรือกับพม่าที่เมือง "อังวะ" ก็ตาม เจ้าพระยาสีหราชเดโชไชย (คุณทีป) ลูกชายของเจ้าเมืองสวรรคโลก ซึ่งเป็นน้องเขยของเจ้าพระยาโกษาเหล็ก

ตามประวัติ "เจ้าพระยาสีหราชเดโชไชย" เก่งในเรื่อง "ทวน" เป็นเลิศ ขณะที่กำลังรบกับข้าศึกอยู่นั้น ท่านสามารถล่องหนหายตัวได้ จนข้าศึกมองเห็นแค่อาวุธลอยอยู่บนอากาศเท่านั้น

มีอยู่คราวหนึ่ง ท่านรบกับทหารพม่า แต่ก็ต้องยอมแพ้เพราะข้าศึกมีจำนวนมากกว่า นั่นหมายถึงทหารของท่าน ๕๐๐ คน หนังเหนียวฟันแทงไม่เข้าจริง เรียกว่ารบจนหมดแรง

ทหารทั้งหมดจึงถูกทหารพม่าจับตัวไปขังคุก แต่วันดีคืนดีท่านก็สะเดาะโซ่ตรวนกลับมาได้อย่างปลอดภัยทั้ง ๕๐๐ คน ทหารพม่าเข้าไปสำรวจดูในคุก เห็นแต่โซ่ตรวนที่ถูกทิ้งไว้เท่านั้นเอง

แม้ "พระยาโหราธิบดี" ก็ทำนายแม่น กราบทูลแด่สมเด็จพระนารายณ์ว่า ทหารไทยทั้ง ๕๐๐ คนไม่เป็นอันตราย แล้วจะกลับมาภายในไม่ช้านี้ พอถวายคำทำนายจบ "เจ้าพระยาสีหราชเดโชไชย" พร้อมทหารทั้ง ๕๐๐ คนก็มาถึงพอดี

จึงคิดว่าสมัยนั้น ท่านคงจะได้เล่าเรียนวิชา "ตำรามหาพิชัยสงคราม" ซึ่งอาจจะเป็นมรดกตกทอดมาถึง "ท่านอาจารย์แจง" ชาวสวรรคโลก ต่อมาท่านอาจารย์แจงได้นำมาถวาย "หลวงปู่ปาน" วัดบางนมโค

จนกระทั่งแพร่หลายทั่วไปในชื่อว่า ธงมหาพิชัยสงคราม, ยันต์เกราะเพชร, และพระเครื่อง ๖ แบบ ของหลวงปู่ปาน แล้วสืบต่อมาถึงรุ่นสุดท้ายของ "ตำราพระร่วง" นั่นก็คือ "หลวงพ่อพระราชพรหมยาน" วัดท่าซุง อีกด้วย

เรื่องแบบนี้คงไม่แปลก ถ้าจะย้อนไปเมื่อไม่นานมานี่เอง คือเรื่องของ "ขุนพันธ์" และ "หลวงพ่อเสือดำ" เจ้าอาวาส วัดศรีนวลธรรมวิมล กรุงเทพฯ

ท่านได้เล่าประวัติของ "เสือใบ" และ "เสือมเหศวร" ต่างก็มีวิชาคาถาอาคม เรื่องยิงไม่เข้าฟันไม่ออก ขอให้ไปถามท่าน หรือศึกษาประวัติกันเองก็แล้วกัน

แต่คงไม่ดูหมิ่นวิชาความรู้ของคนโบราณ เพราะการทำไม่ได้ หรือการทำไม่ถึง สำหรับวิชาการสมัยใหม่นี้ นั่นไม่ได้หมายความว่า วิชาเหล่านี้ไม่มีอยู่จริง


คาถาบุพเพสันนิวาส (ฝันเห็นเนื้อคู่)


(อนุญาตให้แชร์ต่อกันได้ แต่ห้ามคัดลอกคาถาออกไป )

...โดยเฉพาะ "คาถาบุพเพสันนิวาส" (ฝันเห็นเนื้อคู่) ของพระอาจารย์รูปหนึ่ง ท่านได้มาจากพระธุดงค์ ตามที่ท่านเล่าไว้ในนิตยสาร "คนพ้นโลก" เมื่อปี ๒๕๒๗ เล่าว่า ท่านท่องคาถาบทนี้แล้ว นอนกลางคืนก็ฝันว่า

ท่านกำลังขี่ม้าไปในที่แห่งหนึ่ง ขณะเดินทางมีผู้หญิงคนหนึ่งดึงจีวรท่านไว้ แต่ท่านก็สะบัดหลุดไปได้ ตอนหลังท่านก็ได้พบผู้หญิงคนนี้จริงๆ แล้วก็สามารถผ่านพ้นไปได้

ส่วนพระอาจารย์ชัยวัฒน์ก็ได้คาถาบทนี้มานานแล้ว ประมาณปี ๒๕๒๘ ท่านก็นำมาท่องเพียงไม่กี่จบ กลางคืนก็นอนไม่ค่อยหลับกระสับกระส่าย ท่านบอกกังวลว่าเมื่อไหร่จะฝันสักที

ครั้นถึงเวลาจวนใกล้รุ่ง ท่านก็ง่วงหลับไปเอง จากนั้นก็ฝันเห็นตัวเองยืนอยู่บนแพ ได้เดินทางล่องแพไปในที่แห่งหนึ่ง พร้อมกับหญิงชายประมาณ ๔-๕ คู่ พอแพเข้าเทียบริมน้ำแล้ว ในภาพเห็นคนเดินขึ้นฝั่งเป็นคู่ๆ เหลือแต่ตัวท่านเดินขึ้นฝั่งเพียงผู้เดียวเท่านั้น

แม้ถึงกระนั้น ท่านก็ยังไม่มั่นใจตัวเอง พอถึงอีกคืนหนึ่ง จึงท่องคาถานี้อีกเพื่อความมั่นใจ แต่ปรากฏว่าไม่ฝันอีก เพราะนั่นเป็นนิมิตหมายบอกให้ทราบแล้ว ว่าท่านไมมีคู่นั่นเอง เพราะตามภาพมาเพียงคนเดียว

สำหรับวิธีการทำคาถาบทนี้ ภายหลังมีการแนะนำเพิ่มขึ้น คือให้จุดธูปเทียนบูชาพระ และตั้งน้ำสะอาด ๑ ขัน แล้วสวดคาถาตามอายุ (สำหรับผู้เขียนว่ากี่จบก็ได้) ก่อนเข้านอนให้นำน้ำนั้นมาล้างหน้า (วันไหนก็ได้) ท่านว่ากลางคืนจะฝันเห็นคู่ครองของตน

โดยบอกขั้นตอนเยอะมาก พร้อมกับอธิบายว่าเป็นคาถาท่องให้พบเนื้อคู่ แต่ความจริงบอกเกินตำราเดิม ท่านบอกว่าเพียงแค่ฝันเห็นคู่ครองเท่านั้น

อีกทั้งบอกเพิ่มว่า เป็นคาถาที่ใช้สำหรับผู้ที่มีอายุมากแล้วทั้งหญิงชาย แต่ไม่เคยพบกับความรักมาก่อน เหมาะสำหรับผู้ที่กำลังเป็นหม้าย หรือกำลังขาดความรัก หรือภาวนาให้รู้ว่าคู่วาสนาของตนจะมีหรือไม่

เอาเป็นอันว่าลองเอาไปท่องกันดูนะ จะเป็นจริงหรือไม่ก็ไม่ขอรับรอง เพราะคนอื่นเขาได้ผลแล้ว ทั้งนี้อยู่ที่ความศรัทธาด้วย หากไม่แน่ใจก็อย่าเอาไปเลย เสียเวลาเปล่าๆ

ถ้าได้ผลอย่างไรก็เล่าสู่กันฟังบ้างก็แล้วกัน จบเสียทีนะเรื่องนี้ จบพร้อมกับละคร "บุพเพสันนิวาส" พอดี..ขอให้หลับฝันดีนะ..ออเจ้าทั้งหลาย..สวัสดี


เผย..เหตุประหาร "ฟอลคอน" ขุนนางสุดโปรดในสมเด็จพระนารายณ์



◄ll กลับสู่ด้านบน





[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
ตั้งหัวข้อใหม่

Go To Top