Not logged in [Login - Register]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites ตั้งหัวข้อใหม่
[*] posted on 20/5/08 at 14:48 [ QUOTE ]

เบื้องหน้า..เบื้องหลัง..ความสำเร็จ และงานต่างๆ ของวัด


สารบัญ (เลือกคลิกที่รายการ)

[01]
ตอนที่ 1 เบื้องหลัง..ความสำเร็จ
[02] ตอนที่ 2 เบื้องหลัง "งานตามรอยพระพุทธบาท"
[03] ตอนที่ 3 เบื้องหลัง..การสร้างวัดพระร่วง
[04] ตอนที่ 4 ตามรอยพ่อ..ณ ศรีสัชนาลัย
[05] ตอนที่ 5 ตามรอยพ่อ..ณ ศรีสัชนาลัย
[06] ตอนที่ 6-9 ตามรอยพ่อแม่..ณ ศรีสัชนาลัย

[10] ตอนที่ 10 เบื้องหน้าความสำเร็จ คือ "สมเด็จองค์ปฐม"

@ เบื้องหลัง..ความสำเร็จ (ตอนที่ 1)


...นับเป็นเวลานานนับสิบปีที่วัดท่าซุงได้เจริญรุ่งเรือง หลังจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยานมรณภาพไปแล้ว เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2535

นับตั้งแต่ท่านเริ่มมาอยู่ที่วัดท่าซุง เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2511 (ขอย้ำว่าท่านมาวันนี้ ตามที่เคยเห็นป้ายพลาสติกที่ท่านเขียนไว้หน้ากุฏิ)

ต่อจากนั้นได้เริ่มจัดงานปฏิบัติธุดงควัตร ซึ่งมีผู้ร่วมปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก รวมทั้งญาติโยมพุทธบริษัทและเพื่อนภิกษุทั้งหลาย

...โดยเฉพาะที่เดินทางมาจากภาคอีสาน ถ้าหากมีใครตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ? คลิปวีดีโอทั้งหลายที่นำมาเป็นบางส่วนนี้ คงจะเป็นคำตอบได้เป็นอย่างดีว่า

...ต้องเป็นผลงานของท่านเจ้าคุณพระราชภาวนาโกศลอย่างแน่นอน ตามที่มีผู้บันทึกผลงานของท่านไว้มากมาย แต่เบื้องหลังแห่งความสำเร็จ ผู้บันทึกอาจมองไม่เห็นว่า พระในวัดท่าซุงท่านทำงานกันอย่างไร มีการวางนโยบายไว้แบบไหนบ้าง

...แน่นอน..เรื่องภายในแบบนี้ไม่มีวันรู้ เพราะความไม่เข้าใจในการทำงานของพระบางรูป ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จเหล่านี้ ถ้าท่านผู้ชมไม่มีอคติใดๆ ภาพในอดีตเหล่านี้จะเป็นหลักฐาน ในการสนองนโยบายของเจ้าอาวาสวัดท่าซุง เพื่อโครงข่ายสายวัดท่าซุงได้กว้างไกลมากขึ้น
.
...นั่นเป็นผลการทำงานหลังจากหลวงพ่อฯ มรณภาพ พระชัยวัฒน์ อชิโต ในฐานะผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดท่าซุง ได้รับภาระในการรับสมัครบวชพระ ช่วยบริหารกิจการภายในให้มีระเบียบวินัยที่ดี และช่วยจัดงานปฏิบัติธุดงค์ นับตั้งแต่ปี 2536-2550 แม้งานภายนอกวัดก็ได้ประสานงานต่างๆ ดังนี้
.
1. ติดต่อเพื่อสร้างสถานที่ปฏิบัติธรรม "ศูนย์โคราช"
2. ติดต่อเพื่อไปสอนกรรมฐานที่ อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว
3. ไปสร้างวิหารน้ำน้อย และสอนกรรมฐานที่ภาคใต้ (สุราษฎร์, ภูเก็ต, หาดใหญ่)
4. ไปบวงสรวงที่พระธาตุจอมกิตติ และพระธาตุดอยตุง จ.เชียงราย เป็นประจำทุกปี
5. ไปร่วมสร้างวัดธรรมยาน จ.เพชรบูรณ์

6. เป็นผู้ประสานงานทอดกฐิน 45 วัด ณ วัดพุทธโมกข์ จ.สกลนคร
7. ไปสร้างวัดสิริเขตคีรี (วัดพระร่วง) จ.สุโขทัย
8. ไปร่วมงานที่สำนัก ณ ประเทศเยอรมัน
9. ไปร่วมสร้างพระนอน วัดสุขุมาราม จ.พิจิตร
10. จัดทำเว็บไซต์วัดท่าซุง
11. จัดทำหนังสือตอบปัญหา เล่มที่ 1-11 และ มิลินทปัญหา
.
...รวมทั้งไปเยี่ยมเยียนคณะศิษย์วัดท่าซุงเกือบทุกภาคของประเทศ เนื่องจากมีการพบรอยพระพุทธบาทบ้าง และไปไหว้พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองเป็นต้น จึงเป็นเหตุให้ได้รู้จักกับพระภิกษุและญาติโยมมากมาย จึงได้ช่วยประสานให้งานสำเร็จได้ทุกแห่ง ผู้คนก็หลั่งไหลมาร่วมงานกันมากขึ้น

..โดยเฉพาะการบุกเบิกงานทั้งหลายเหล่านี้ ที่จะกล่าวถึงไม่ได้นั่นก็คือ หลวงพี่โอ หรือ พระครูสมุห์พิชิต ฐิตวีโร ในฐานะผู้ช่วยเจ้าอาวาสเช่นกัน ส่วนต่างประเทศก็มอบหมายให้ พระครูภาวนาธรรมนิเทศก์ (อาจินต์) รับหน้าที่ไปเลย นี่..เบื้องหลังความสำเร็จ พระวัดท่าซุงท่านทำงานกันเป็นทีมอย่างนี้..


---โปรดติดตามตอนต่อไป---

@ เบื้องหลัง "งานตามรอยพระพุทธบาท" (ตอนที่ 2)

...เมื่ออาทิตย์ที่แล้วได้เล่าเรื่อง "เบื้องหลังความสำเร็จ" (ตอนที่ 1) โดยเฉพาะวัดท่าซุง พระอาจารย์ชัยวัฒน์ อชิโต ในฐานะผู้ช่วยเจ้าอาวาส และภิกษุภายในวัดต่างก็ช่วยงานกันเป็นทีม จนงานของท่านเจ้าคุณพระราชภาวนาโกศลสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

ส่วนเบื้องหลัง "งานตามรอยพระพุทธบาท" ท่านยังไม่เคยเปิดเผยให้ใครรู้มาก่อน ส่วนใหญ่จะรู้เฉพาะคนใกล้ชิดเพียงไม่กี่คน แต่วันนี้ท่านจะได้เปิดเผยความเป็นมาของงานที่ผ่านมา

โดยเฉพาะ "วัดพระพุทธบาท สระบุรี" ขอเล่าเพิ่มเติม (จากคุณปัณณวิชญ์) ว่า การเดินทางไปครั้งนี้ (7 ก.ค.61) ได้ทำบุญย้อนหลัง เพราะเพิ่งทราบว่าทางวัดได้บูรณะพระมณฑปผ่านไปไม่นาน จึงได้ร่วมกันทำบุญเป็นกรณีพิเศษ ตอนแรกที่เดินเข้ามาพระอาทิตย์ยังไม่ทรงกลด แต่ค่อยๆ ชัดขึ้นตามลำดับ นับเป็นที่อัศจรรย์มาก

...แต่ถ้าจะย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2538 พระอาจารย์ชัยวัฒน์ได้นำคณะไปจัดงานย้อนยุค ซึ่งเป็นจังหวะที่ทางวัดกำลังซ่อมพระมณฑปพอดี หลังเสร็จงานในตอนเย็นแล้ว (ประมาณห้าโมงเย็น)

มองขึ้นไปดูบนท้องฟ้า เห็นแสงหลายหลากสีค่อยๆ ขึ้นบนหลังก้อนเมฆ (เหมือนคนนอน) ตามรูปภาพที่เห็นนี้แหละ ซึ่งเหมือนกับรูปหลวงพ่อฯ นอนมรณภาพ ซึ่งจะต้องไปจัดงานครบรอบ 3 ปีมรณภาพที่วัดท่าซุงพอดี

...การจัดงานตามรอยพระพุทธบาท หลังจากหลวงพ่อฯ มรณภาพแล้ว ปรากฏว่าได้บูรณะครบทั้ง 4 ภาค โดยไม่ได้นัดหมายกัน คือไม่รู้มาก่อนนั่นเอง นับว่าเป็นเรื่องแปลกมาก ได้แก่..

1. ปี 2536 ภาคเหนือ - วัดพระพุทธบาทสี่รอย จ.เชียงใหม่
2. ปี 2537 ภาคใต้ - วัดมหาธาตุ จ.นครศรีธรรมราช
3. ปี 2538 ภาคอีสาน - วัดพระธาตุพนม จ.นครพนม
4. ปี 2538 ภาคกลาง - วัดพระพุทธบาท จ.สระบุรี

...จึงขอให้ทุกท่านอนุโมทนาด้วยกัน งานตามรอยพระพุทธบาท ได้ทราบว่าเป็นงานของ "สมเด็จองค์ปฐม" นั่นเอง พระองค์ท่านต้องการให้ฟื้นฟูพุทธสถานของ "สมเด็จองค์ปัจจุบัน" และพระพุทธเจ้าองค์ก่อน คือ

สมเด็จพระกกุสันโธ, พระพุทธโกนาคม และพระพุทธกัสสปะ เพื่อให้คณะศิษย์ภายหลังได้สร้างสมบุญบารมี หลังจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ มรณภาพเมื่อปี 2535

อีกทั้งได้ทำตามคำสั่งของ "สมเด็จองค์ปฐม" ที่ได้มาสั่งหลวงพ่อไว้เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2535 ก่อนมรณภาพเพียงเดือนเดียว ทรงมีพระพุทธบัญชาให้โดยเสด็จพระราชกุศล เพื่อเร่งบุญบารมีให้เต็มเร็ว (ขอนำข้อความที่บันทึกไว้ดังนี้)

22 ก.ย. 35 ไปเที่ยวเมืองนิพพาน
(1) เข้าสมาบัติบนวิมาน
(2) ไปวิมานพระพุทธกัสสป
(3) ไปวิมานสมเด็จพระทีปังกร
(4) ย้อนมาวิมานองค์ปฐม
(5) กลับเข้ากาย ภูมิเทวดาอุ้มเด็กมาขอส่วนบุญ
มีศิษย์เป็นแสน 10% ไปนิพพานได้
เหลือจากนั้นให้เร่ง โดยเสด็จพระราชกุศล เพื่อ
ให้บารมีเต็มเร็วๆ

...อีกทั้งเมื่อวันบวงสรวง "งานพระเจ้าพรหมมหาราช" ในวันเข้าพรรษา ปี 2535 อันเป็นปีสุดท้ายที่ท่านได้ทำพิธีบวงสรวงที่วัดท่าซุง หลังจากกล่าวคำบวงสรวงเสร็จแล้ว ท่านได้หันมาพูดกับคนที่อยู่ใกล้ๆ ว่า

"...พระท่านมาสั่งให้ข้าเดินทางทั่วประเทศ ข้าจะไปไหวหรือเปล่าหว่า..?"

...นี่เป็นคำพูดของหลวงพ่อฯ จากการบอกเล่าของ คุณธำรง อารีกุล (เป็นน้องชายของ คุณปรีชา อารีกุล ซึ่งในเวลานี้ก็จะยังคอยช่วยอยู่ที่โต๊ะบายศรี ผู้อ่านยังสามารถตรวจสอบเรื่องนี้ได้)

...ด้วยเหตุนี้ พระอาจารย์จึงต้องเดินทางไปทั่วประเทศและต่างประเทศ เช่น ลาว, เขมร, เวียดนาม, เชียงตุง, เมียนมาร์, สิบสองปันนา, จีน, อินเดีย, ศรีลังกา, อินโดนีเซีย โดยทำบุญไปทั่วประเทศ คล้ายกับโดยเสด็จพระราชกุศล แตกต่างกันที่พวกเราต้องเดินทางไปทำด้วยตนเองเท่านั้น

นับตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา ท่านได้ฟื้นฟูพุทธสถานที่สำคัญแบ่งเป็น 4 หมวด ดังนี้

1. พระธาตุเจดีย์ คู่บ้านคู่เมือง จำนวน 600 กว่าแห่ง
2. รอยพระพุทธบาท จำนวน 600 กว่าแห่ง
3. ต้นศรีมหาโพธิ์
4. พระพุทธรูป คู่บ้านคู่เมือง

...สถานที่เหล่านี้ ส่วนใหญ่ท่านได้ร่วมปัจจัยบูรณะทุกแห่ง พร้อมทั้งทำพิธีบวงสรวงสมโภชด้วยบายศรีทุกแห่ง (เปิดเทปเสียงหลวงพ่อฯ) พร้อมกับอธิษฐานขอให้พระพุทธศาสนาได้ตั้งมั่นอยู่ในเขตนี้ครบถ้วน 5,000 ปี

...เนื่องจากเป็นงานของสมเด็จองค์ปฐม พระอาทิตย์จึงได้ทรงกลด หรือเกิดปาฏิหาริย์ในที่บางแห่ง เพื่อเป็นการรับรองว่าเป็นของจริงนั่นเอง

..."คณะตามรอยพระพุทธบาท" จึงได้อัญเชิญ "พระพุทธรัศมีทรงกลด" มาเป็นสัญลักษณ์นั่นเอง แม้แต่ในเฟซบุค (โลโก้) นี้ก็เช่นกัน

...การเล่าเบื้องหลังความจริงทั้งหมด ท่านบอกว่ามิได้นำมาโอ้อวดแต่ประการใด เพราะปกติท่านไม่เคยเล่าให้ใครฟัง แต่เห็นว่าบางคนไม่ค่อยเชื่อถือเรื่องรอยพระพุทธบาท บ้างก็ว่าเป็นรอยธรรมชาติเป็นต้น

ฉะนั้น ชาตินี้ถ้าใครได้ไปไหว้รอยพระพุทธบาทสักครั้งก็จะเป็นบุญยิ่ง มิฉะนั้นก็จะเสียดายตลอดไป เพราะตามคติความเชื่อของคนโบราณที่พูดว่า

"ถ้าได้ไปกราบไหว้รอยพระพุทธบาทสักครั้งในชีวิต ผลบุญนั้นจะได้ไปสวรรค์"

โปรดอย่าได้สงสัยหรือลังเลใจเลย กราบไหว้ไปแล้วก็ให้นึกถึงพระพุทธเจ้า จะเป็นพระบาทหรือพระธาตุทุกแห่ง แล้วเราจะได้ไปพระนิพพานเร็ว ตามพระพุทธบัญชาที่ตรัสไว้ให้ครบถ้วน 100 % ตามลายมือที่ได้เห็นอยู่นี้

เพื่อเป็นการสนองงานตามพระพุทธบัญชา ที่พระอาจารย์ชัยวัฒน์ต้องมาทำแทนในรอบนอก ด้วยเหตุหลวงพ่อต้องมรณภาพไปเสียก่อน เป็นการช่วยเหลือท่านเจ้าคุณพระราชภาวนาโกศล ซึ่งท่านมีหน้าที่ต้องทำงานภายในวัดท่าซุงเป็นหลัก

ในเวลาต่อมา ผลจากการฟื้นฟูรอยพระพุทธบาทไปทั่วประเทศ ทำให้พระอาจารย์ชัยวัฒน์รู้จักกับญาติโยมมากขึ้น ครั้นเมื่อหลวงพ่อเจ้าคุณพระราชภาวนาโกศล มีนโยบายเดินทางไปสอนพระกรรมฐาน พระอาจารย์ชัยวัฒน์จึงช่วยประสานงานให้ตามที่ได้แจ้งสถานที่ต่างๆ ไว้เมื่อตอนที่แล้ว

** หมายเหตุ ท่านเจ้าคุณฯ ได้พูดให้พระที่ไปสอนพระกรรมฐานที่บ้าน คุณสุทัศน์-คุณทิพยา วิลาวัลย์ อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว ขณะที่นั่งฉันเช้ากับพระจากวัดท่าซุง ท่านพูดสั้นๆ กับ "พระโอ่ง" ว่า

"..ท่านชัยวัฒน์ มีหน้าที่ไปรวมคน.."

ทั้งนี้ เพื่อเร่งรัดให้ลูกหลานทุกคนได้เข้าถึงธรรมาพิสมัย ได้แก่ "พระโสดาบัน" เบื้องต้นเป็นอย่างน้อย และเป็นพระอรหันต์ในเบื้องปลายต่อไป นั่นแหละคือ..เบื้องหลังของความสำเร็จ จากการทำงานกันเป็นทีมดังนี้

** หมายเหตุ (สำคัญมาก) คณะทีมงานของหลวงพ่อฯ (ทั้งพระและฆราวาส) ท่านบอกพวกนี้งานหนักและก็เหนื่อยหน่อย แต่ก็เข้มแข็ง

เพราะสร้างบารมีร่วมกับท่านมา 16 อสงไขย ส่วนที่เหลือนั้นท่านบอกที่บ้านสายลม (ตุลาคม 2535 เดือนที่มรณภาพ) ว่าได้สร้างบารมีร่วมกับท่านมาแล้ว 10 อสงไขย

แต่ท่านก็บอกว่า ตามปกติพระสาวกแค่ 1 อสงไขยเท่านั้น ฉะนั้นพวกนี้ความจริงเต็มล้นแล้วนะ จะไปนิพพานเสียตั้งนานแล้ว แต่ต้องลงมาเพื่อช่วยพระพุทธศาสนา แค่ยังขาดความมั่นใจเท่านั้นก็จะไปได้

แต่พวกชอบสบายๆ ท่าน (ลุงนายบัญชีมาบอกหลวงพ่อ) ว่าก่อนตายต้อง "ปวดท้อง" ให้เห็นทุกข์ก่อนนะ จึงจะไปได้.." ***

โดยเฉพาะที่ "รอยพระพุทธหินดาด" อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี ถ้าอยากจะพิสูจน์ว่าเป็นของพระพุทธเจ้า "สมเด็จองค์ปฐม" หรือไม่ หากท่านได้มโนมยิทธิจริง ท่านก็จะรู้เห็นได้ตามความเป็นจริงเช่นกัน

สำหรับการฟื้นฟูสังเวชนียสถานที่สำคัญทั่วชมพูทวีปในครั้งนี้ (หลังกึ่งพุทธกาล) ส่วนใหญ่จะอยู่นาน เพื่อเป็นปูชนียสถานคู่กับพระธรรมคำสั่งสอนของวัดท่าซุง ตลอด 5,000 ปีเช่นกัน


--(โปรดติดตามตอนต่อไป)--

@ เบื้องหลัง..การสร้างวัดพระร่วง (ตอนที่ 3)

...เมื่อตอนที่แล้วได้เล่าเรื่อง "เบื้องหลัง..ความสำเร็จ" (ตอนที่ 1) และ เบื้องหลัง..งานตามรอยพระพุทธบาท (ตอนที่2) ส่วนในตอนนี้จะเป็นตอนที่ 3 เบื้องหลัง..การสร้างวัดพระร่วงผดุงธรรม (วัดสิริเขตคีรี) ว่าเป็นเพราะเหตุใด จึงต้องไปสร้างวัดที่นี่

ทั้งนี้ เนื่องมาจากการติดตามร่องรอยของพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระมหาวีระ ถาวโร นั่นเอง ตอนนั้นท่านยังไม่ได้เป็นเจ้าคุณพระราชพรหมยาน หลวงพ่อได้ออกเดินทางไปเยี่ยมเยียนทหารตำรวจตระเวณชายแดน และราษฎรในถิ่นทุรกันดารอยู่เสมอ

ในสมัยนั้นประมาณปี พ.ศ.2519-2520 พระองค์หญิงวิภาวดีรังสิต เสด็จแทนพระองค์ไปด้วยกับหลวงพ่อที่จังหวัดสุโขทัย เข้าไปในป่าลึกด้านอำเภอศรีสัชนาลัยบ้าง ครั้งสุดท้ายก็ได้ไปที่ศาลแม่ย่า (ศาลเก่า) ที่จังหวัดสุโขทัย ด้วยขบวนรถบัสติดตามนับสิบคัน ผู้เขียนก็ได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปด้วย

เพราะฉะนั้น ในฐานะที่พอจะรับรู้ข้อมูลและความสำคัญในสถานที่แต่ละแห่ง หลังจากหลวงพ่อมรณภาพแล้ว จึงพยายามชักชวนลูกศิษย์หลวงพ่อย้อนรอยไปตามสถานที่ต่างๆ เช่น วิหารน้ำน้อย หาดใหญ่ หรือ พระธาตุจอมกิตติ และพระธาตุดอยตุง เป็นต้น

ซึ่งเป็นเรื่องประวัติความเป็นมาสมัยพระเจ้าพรหมมหาราช แต่ทางด้าน อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย หลวงพ่อได้แค่เดินทางมาเท่านั้น แต่ท่านไม่ได้สร้างอะไรไว้เป็นหลักฐานเลย

ด้วยเหตุนี้ หลังจากงานพิธีฉลองชัย ณ อาณาจักรสุโขทัย ในปี 2541 โดยการทำพิธีบริเวณลานพ่อขุน ในอุทยานประวัติสุโขทัยแล้ว

ต่อมาปี 2542 ผู้เขียนจึงเริ่มมาทำพิธีบวงสรวง ณ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย (บริเวณวัดโคกสิงคาราม หรือวัดเจดีย์เจ็ดแถว)

โดยชักชวน "คณะศิษย์หลวงพ่อจังหวัดสุโขทัย" มาร่วมพิธีด้วย โดยเฉพาะในขณะที่ฟ้อนรำชุดศรีสัชนาลัยนั้น ปรากฏว่าชาวบ้านท่าชัย (ใกล้วัดพระร่วง) ได้เห็นเกล็ดเงินทองลอยละลิ่วลงมาระยิบระยับ พอลงมาถึงพื้นก็หายไป

พร้อมกับมีสายฝนโปรยปรายลงมาเบาๆ หลังจากนั้นก็มีเหตุให้สร้างวัดพระร่วง โดยที่มิได้ตั้งใจมาก่อน เดิมคิดว่าจะสร้างแค่พระเจดีย์องค์เดียว แต่กลับกลายเป็นพระจุฬามณีไป จึงเป็นเหตุให้พบรอยเท้าเล็กๆ ที่น้ำไม่แห้งตลอดหน้าแล้ง จึงเรียกว่า "บ่อน้ำพระร่วง"

ส่วน "รอยเท้าพระร่วง" ชาวบ้านแถวนี้ชื่อ "เจริญ" ได้เล่าว่าเคยเห็นมาแล้ว ระยะทางก่อนถึงวัดพระร่วงประมาณ 1 ก.ม. มีรอยเท้าอยู่บนลานหินตามธรรมชาติ ยาวประมาณศอกเศษ มีนิ้วเท้าครบถ้วน

บริเวณนั้นชาวบ้านเรียก "ตลาดผี" ทั้งที่สมัยก่อนไม่มีบ้านคน ภายหลังมีพ่อเลี้ยงคนหนึ่งมาขุดออกไป ปรากฏว่ารอยเท้าพระร่วงเสียหายไปหมด นับว่าเป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง

ต่อมาปี 2543 ผู้เขียนจึงได้ชักชวนคณะศิษย์หลวงพ่อวัดท่าซุงมาร่วมกันสร้างวัดนี้ ด้วยการจัดงานทอดกฐิน 3 ปีซ้อน คือปี 2543 - 2545 พร้อมกับจัดงานพิธีลอยกระทงทรงประทีปโคมลอยไปด้วย

พร้อมกันนี้ได้อาราธนา ท่านเจ้าคุณพระราชภาวนาโกศล, พระครูสมุห์พิชิต (โอ), พระครูภาวนาธรรมนิเทศก์ (อาจินต์) และเพื่อนพระภิกษุอีกหลายวัดมาร่วมงาน จนกระทั่งมีการจัดงานฝังลูกนิมิตพระอุโบสถ เมื่อปี 2549

...พร้อมกับสร้าง "พระพุทธพรชัยมงคลมุนี" (เป็นประตูด้านทิศเหนือ) ครบถ้วนทุกทิศของประเทศ ซึ่งมีชื่อเดียวกันหมด คือ

1. วัดพระพุทธบาทบ้านหลักศิลา อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ (ประตูทิศตะวันออกเฉียงเหนือ)
2. วัดแหลมสน อ.หลังสวน จ.ชุมพร (ประตูทิศใต้)
3. วัดเขาดินเหนือ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี (ประตูทิศตะวันตก)
4. วัดถ้ำรัตนบุปผา อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี (ประตูภาคกลาง)

---พระประธานโล้น---

...ผู้เขียนเพิ่งได้รับความรู้จาก พระอาจารย์วันชัย ฐานวโร เจ้าอาวาสวัดสิริเขตคีรี ท่านบอกว่าคนโบราณเขาเรียกพระที่สร้างกลางแจ้งว่า "พระประธานโล้น" เนื่องจากสร้างองค์ใหญ่บนที่สูงบ้าง หรือถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์บ้าง ไม่สามารถจะสร้างหลังคาคลุมได้ แต่เพื่อให้องค์พระเด่นสามารถมองเห็นได้แต่ไกล

อีกทั้งสมัยพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยานยังมีชีวิตอยู่ สมัยนั้นยังไม่มีการสร้างพระใหญ่ อยากมากก็หน้าตัก 8 ศอก (ในวิหารแก้วร้อยเมตร) ท่านจึงได้บอกว่าไม่อยากสร้างพระให้อยู่กลางแจ้ง

แต่พระพุทธเจ้าได้มาบอกหลวงพ่อว่า ถ้าเจ้าภาพเขามีศรัทธาก็ทำได้ (อ้างอิงท่านวันชัยเคยอ่านพบในหนังสือธัมมวิโมกข์)

ซึ่งปัจจุบันนี้มีการสร้างพระให้ใหญ่กว่า 8 ศอกมากมาย ซึ่งผู้เขียนถือว่าไม่ได้ขัดคำสั่งครูบาอาจารย์แต่อย่างใด แต่ถ้าองค์เล็กๆ ขนาดหน้าตัก 4 ศอก ก็น่าจะสร้างอยู่ในศาลา


---โปรดติดตามตอนต่อไป---

@ ตามรอยพ่อ..ณ ศรีสัชนาลัย (ตอนที่ 4)

...ในตอนนี้ ขอเล่าเรื่องการสร้าง "วัดสิริเขตคีรี" เดิมไม่คิดว่าจะต้องไปสร้างวัดแห่งนี้ จนเป็นที่สวยงามและรู้จักกันเป็นอย่างดี ก่อนอื่นก็เล่าเหตุการณ์ตั้งแต่ต้นก่อนว่า เริ่มต้น ปี ๒๕๔๒ หลังจากไปทอดกฐินและพักค้างคืนที่แห่งนี้แล้ว

รุ่งเช้าวันที่ ๒๑ พ.ย. ๒๕๔๒ พวกเราก็ต้องทำพิธีบวงสรวงที่บริเวณ "เมืองเก่า" คือ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย โดยทำพิธีกันที่ "วัดเจดีย์เจ็ดแถว" (วัดโคกสิงคาราม) และผู้เขียนได้บรรยายไปตามประวัติว่า

“...บรรดาญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย การที่ท่านทั้งหลายมายืนอยู่ ณ ที่นี้ ในเวลานี้นั้น เป็นการ "ตามรอยพ่อ" ต่อมาจาก งานพิธีสุโขทัย ปี พ.ศ. ๒๕๔๑ ที่ได้จัดงานย้อนยุคผ่านไปแล้ว

การที่ได้มีโอกาสเดินทางมาในครั้งนี้ ถือว่าเป็นงานตอนสุดท้าย เพราะตอนแรกคนมีจำนวนมาก ไม่สามารถมาทำพิธี ณ ที่นี้ได้ จึงจำเป็นต้องตัด ตอนมาครั้งนี้ ด้วยจำนวนคนที่พอเหมาะพอดี

ทั้งนี้ เพื่อความมุ่งมั่นอย่างแท้จริง จึงได้จัดงานด้วยหวังว่า ผู้ที่เคยเกี่ยวข้องกันมากับท่านในอดีต อันเป็นผืนแผ่นดินที่ท่านเคยสร้างมาก่อนกรุงสุโขทัย

โดยเฉพาะสมัยที่หลวงพ่อฯ ท่านมีชีวิตอยู่ หลังจากเดินทางลงมาจากจังหวัดน่าน แล้วผ่านภายใน "อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย" ที่ พระแท่นศิลาอาสน์ จ.อุตรดิตถ์ ท่านก็จะต้องแวะที่ "ศรีสัชนาลัย" อยู่เสมอ

เพราะฉะนั้นในปี ๒๕๔๑ ที่ผู้เขียนได้จัดงานผ่านมานั้น จึงไม่สามารถแวะที่นี้ได้ วันนี้และเวลานี้ที่จะต้องรอคอยโอกาสก็ได้มาถึงแล้ว นับเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์เช่นเดียวกันกับที่ "พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ" เคยพาคณะศิษย์มาแล้ว ซึ่งในจำนวนที่มาในครั้งนั้น จะมีศิษย์ที่มีอาวุโสหลายท่านที่มาด้วยในครั้งนี้

ตามที่กล่าวไว้แล้วว่า แผ่นดินนี้มีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อน เดิมเรียกกันว่า “ชะเลียง” ต่อมาก็เรียกกันว่า “ศรีสัชนาลัย” ซึ่งแปลว่า “ที่อยู่ของคนดี” เป็นเมืองที่ตั้งก่อนสุโขทัย ประมาณ ๗๐๐ ปีเศษ

ราว พ.ศ.๑๔๐๐ ท่านฤาษีสัชนาลัย กับ ท่านฤาษีสิทธิมงคล เป็นผู้แนะนำสถานที่ให้สร้างบ้านเมืองบริเวณเมืองชะเลียงเดิม แล้วให้นามเมืองใหม่นี้ว่า “สวรรคโลก” อันมี "พระยาธรรมราชา" เป็นกษัตริย์ปกครองเมือง แล้วท่านฤาษีได้สั่งสอนบรรดาพราหมณ์ทั้งหลายว่า

“...สูเจ้าทั้งหลาย อย่าประมาทลืมตน อย่าได้เมามัวแก่ตัณหา ปู่จะสั่งสอนเจ้าไว้..”

ในราว พ.ศ.๑๔๓๘ พระยาธรรมราชา ได้โปรดให้สร้าง เมืองสัชนาลัย ขึ้นใกล้กับ เมืองสวรรคโลก เนื่องจากที่ตั้งเมืองเดิมถูกน้ำเซาะ จึงเสด็จไปเสวยราชย์ที่เมืองสัชนาลัย แล้วได้มีกษัตริย์ปกครองสืบต่อกันมาอีกหลายพระองค์ จนถึงสมัยพระร่วงโรจนฤทธิ์...


---(โปรดติดตามตอนต่อไป)---

@ ตามรอยพ่อ..ณ ศรีสัชนาลัย ปี 2542 (ตอนที่ 5)

...ขอเล่าเรื่องการสร้าง "วัดสิริเขตคีรี" เดิมไม่คิดว่าจะต้องไปสร้างวัดแห่งนี้ จนเป็นที่สวยงามและรู้จักกันเป็นอย่างดี ก่อนอื่นก็เล่าเหตุการณ์ตั้งแต่ต้นก่อนว่า เริ่มต้น ปี ๒๕๔๒ หลังจากไปทอดกฐินและพักค้างคืนที่แห่งนี้แล้ว

...รุ่งเช้าวันที่ ๒๑ พ.ย. ๒๕๔๒ พวกเราก็ต้องทำพิธีบวงสรวงที่บริเวณ "เมืองเก่า" คือ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย โดยทำพิธีกันที่ "วัดเจดีย์เจ็ดแถว" (วัดโคกสิงคาราม) ในตอนนี้ ผู้เขียนได้บรรยายไปตามประวัติต่อไปเป็นตอนที่ 2 อีกว่า...

...เป็นอันว่า หลังจากการตายของ "พระเจ้าพรหมมหาราช" ผ่านไป ๘๐๐ ปีท่านจึงได้จุติจากพรหม ลงมาเกิดเป็นลูกชายของ "นางนาค" กับ "พระยาอภัยคามินี" และการที่ถูกแม่ทิ้งไว้ที่เขาหลวง แต่มีงูใหญ่แผ่แม่เบี้ยรองรับไว้

...ท่านบอกว่าเป็นเพราะจากกรรมที่ตีขอมฆ่าขอมระเนระนาด ทำให้เขาต้องพลัดพรากจากกัน แต่ก็ยังมีผลบุญที่ตามมาส่งผล จึงทำให้มีคนช่วยเหลือภายหลัง

คือต่อมามีพรานป่าได้มาพบทารกแล้ว จึงนำไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม หลายปีต่อมา พระยาอภัยคามินีได้โปรดให้เกณฑ์ชาวบ้านตัดไม้ ในป่า เพื่อนำมาสร้างปราสาท ณ บริเวณวัดมหาธาตุ เมืองสุโขทัย พรานป่าได้พากุมารน้อยมาด้วย

ขณะทำงานก็เอาเด็กไปนอนไว้ในที่ร่ม ที่ปราสาทยังสร้างไม่เสร็จ ก็เกิดเหตุอัศจรรย์ ปราสาทโอนไปเอียงมาเหมือนมีลมแรงพัดหวั่นไหวไปทั้งหลัง พระยาอภัยคามินี ทรงทราบข่าว จึงรับสั่งให้เอาตัวนายพรานมาถาม จนทราบเรื่องราวแล้วก็ทรงจำผ้ากำพลกับแหวนนั้นได้ จึงทรงขอมาเลี้ยงไว้ แล้วให้นามว่า “อรุณกุมาร”

และพระมเหสีองค์ใหม่ประสูติราชโอรสอีกองค์หนึ่ง จึงให้นามว่า “ฤทธิกุมาร” ในตอนนี้ พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ เล่าว่า พี่น้องสองคนนี้รักกันมาก ต่อมาอรุณกุมารก็มีนามว่า “พระร่วงโรจนฤทธิ์” ส่วนฤทธิกุมารมีนามว่า “พระลือ" ต่อมาพระลือได้มาครองเมืองนครสวรรค์ และ พระร่วง ก็ได้อภิเษกกับราชธิดาเจ้าเมืองศรีสัชนาลัย

เมื่อพระองค์ได้ขึ้นครองเมืองศรีสัชนาลัยแล้ว จึงได้ทรงสร้างพระมหาวิหารและพระพุทธรูปไว้หน้า "พระมหาธาตุ" คือเจดีย์องค์ใหญ่แถวใกล้ๆ วัดเจดีย์เจ็ดแถวนี้ แล้วสร้างพระอุโบสถ สร้างวิหาร เจดีย์ที่ต้นรังให้ชื่อว่า วัดเขารังแร้ง ณ วัดโคกสิงคาราม

...ซึ่งเป็นวัดที่ พระนางพสุจเทวีอัครมเหสี (พระนางวิสุทธิเทวี) ทรงสร้างไว้ใจกลางเมืองศรีสัชนาลัย

อันเป็นที่ประดิษฐาน "พระอัฐิธาตุ" ของพระราชวงศ์สุโขทัย ภายหลังบ้านเมืองรกร้าง สมัยนี้จึงเรียกว่า “วัดเจดีย์เจ็ดแถว” โดยมีรูปทรงแบบเดียวกับ วัดมหาธาตุ สุโขทัย ที่เราเคยไปทำพิธีมาเมื่อปีที่แล้ว

...เพราะฉะนั้น ผู้จัดจึงเลือกสถานที่นี้ เป็นที่กระทำพิธีกัน เนื่องจากเห็นว่ามีความเก่าแก่กว่า วัดช้างล้อม ที่สร้างสมัย พ่อขุนรามคำแหง

เป็นอันว่า ในดินแดนนี้ที่เรียกว่า “แคว้นชะเลียง” ท่านก็ได้ลงมาเกิดติดต่อกันถึง ๒ ชาติ คือ พระร่วงโรจนฤทธิ์ และ พ่อขุนศรีเมืองมาน ดังที่ได้เคยจัดงานพิธี ณ กรุงสุโขทัย เมื่อปี 2541 กันมาแล้ว

...การที่พวกเรามาในครั้งนี้ ก็ถือว่ามาย้อนงานแผ่นดินพ่อจนครบถ้วนทั้งสองสมัย นับเป็นบุญวาสนาบารมีเป็นอย่างยิ่ง ที่ทุกคนตัดสินใจมาด้วยกัน ทั้งๆ ที่ไม่แจ้งรายละเอียดให้ทราบไว้ก่อนล่วงหน้า...


---(โปรดติดตามตอนต่อไป)---



[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 8/9/18 at 14:35 [ QUOTE ]


@ ตามรอยท่านแม่..ณ ศรีสัชนาลัย ปี 2542 (ตอนที่ 6)


...ในตอนที่แล้ว หลังจากเล่าประวัติจบแล้ว เสียงพระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ ชุมนุมเทวดาก็ดังก้องไปทั่วบริเวณนั้น หลังจากที่ "หลวงพี่โอ" เป็นประธานในการจุดธูปเทียนที่โต๊ะบายศรี

ทุกคนที่นั่งรายล้อมอยู่บริเวณเมืองเก่า ต่างก็นั่งพนมมือหลับตาตั้งจิตอธิษฐานไปตามกระแสเสียงของท่าน เพื่อเป็นการย้อนรำลึกนึกถึงท่านผู้ทรงคุณความดีทั้งหลายในอดีต

ต่อมาได้สรงน้ำพระบรมธาตุเจดีย์แล้ว พวกเราได้ออกมารำถวายมือที่ชื่อว่า “ดาวดึงสเทวโลก” พร้อมทั้งผู้เขียนได้บรรยายต่อไปอีกว่า

“...พระร่วงโรจนฤทธิ์ทรงอานุภาพยิ่งใหญ่ ประเทศน้อยใหญ่พากันมาสวามิภักดิ์ พอมีพระชนมายุ ๔๐ พรรษา ทรงได้ช้างเผือกงาดำ และ เขี้ยวงูใหญ่ เท่าผลกล้วยเป็นคู่บารมี เรื่องนี้ตามตำนานบอกว่า ด้วยอานิสงส์ที่ทรงสร้างหุ่นช้างใส่ดอกไม้ถวายแก่พระพุทธเจ้ามาแต่ชาติก่อน

ต่อมาพระองค์ได้โปรดให้เชิญเจ้าเมืองมอญ พม่า และขอม มาร่วมงานพระราชพิธีลบศักราช โดยนิมนต์พระสงฆ์ ๕๐๐ รูป มีพระอชิตะเถระ พระอุปคะตะเถระ พระมหาเถรไลยลาย และพระพุทธโฆษาจารย์ แห่ง วัดเขารังแร้ง และชุมนุมพระสงฆ์เจ้าทั้งหลาย ณ วัดโคกสิงคาราม กลางเมืองสัชนาไลย

บรรดาท้าวพระยาในชมพูทวีปคือ ไทย ลาว มอญ จีน พม่า ลังกา พราหมณ์เทศเพศต่างๆ พระองค์ให้ทำหนังสือไทยเฉียง มอญ พม่า ไทย และขอมเฉียงขอมมีมาแต่นั้น

นอกจากนั้นพระร่วงยังโปรดให้สร้าง "ถนนพระร่วง" จากศรีสัชนาลัยมายังสุโขทัย พร้อมทั้งบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามหลายแห่ง ที่เมืองพิษณุโลก สวรรคโลก และสุโขทัย

ต่อมา พระร่วงกับพระลือก็ได้เสด็จไปเมืองจีน พระเจ้ากรุงจีนได้ถวายพระธิดาชื่อว่า พระนางวิสุทธิเทวี (บางแห่งเรียก พสุจเทวี) ให้เป็นพระมเหสีของพระร่วงด้วย และยังให้ชาวจีนอีก ๕๐๐ คน มาตั้งเตาเผาเครื่องถ้วยชาม ที่เรียกว่า “เตาทุเรียง”

ในตอนนี้ท่านถึงกับปรารภออกมาว่า “เกิดคราวไรไม่ค่อยพ้นลูกสาวเจ๊กสักที ก็เพราะมีเชื้ออยู่นี่เอง..”

บุคคลคนเดียวกันนี้ คือ พระเจ้ามังรายมหาราช (ผู้สร้างพระธาตุดอยตุง) ที่ได้ลงมาเกิดเป็น "พระร่วงโรจนฤทธิ์" สร้างความเจริญมั่นคง ขยายอาณาเขตออกไปครองมอญ พม่า ขอมไว้ได้หมด อาณาจักรยาวเหยียด แต่ในที่สุดพระองค์ก็สวรรคต เพราะเหตุนี้ท่านจึงกล่าวไว้กับลูกๆ ตอนหนึ่งว่า

“...เห็นไหมลูกรักของพ่อ ถ้าตัณหามันยังไม่หมดเพียงใดก็ต้องเกิดอีก ตัณหาคือ ความรักติดอยู่ในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ "ความโลภ" อยากจะรวย อยากจะเป็นใหญ่ ความบ้าอยากจะมีอำนาจเหนือคน "ความหลง" คิดว่ามันจะไม่แก่ไม่ตาย นี่เป็นปัจจัยให้เกิดความทุกข์

ฉะนั้น ขอบรรดาลูกรักทั้งหมด จงอย่ามีความปรารถนาตามนั้น ลืมมันเสียเรื่องขันธ์ ๕ มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา..ลูกรัก! ถ้ามันเป็นเรา เป็นของเราจริง ก็ดูตัวอย่าง พระเจ้ามังราย ระยะเวลาเพียงสองพันปีก็เกิดถึง ๔ วาระแล้ว นี่แค่สมัยความเป็นคนไทย สมัยอื่นท่านจะไปเกิดที่ไหนอีกก็ไม่ทราบ

ทั้งนี้ เนื่องจากทนไม่ไหวเพราะพวกลูกๆ หลานๆ ไม่สามารถรักษาความเป็นไทยไว้ได้ ถึงแม้จะเหนื่อยเพื่อคนไทยมามาก แต่ก็วางมือไม่ได้ วางมือทีไรยุ่งทุกที ในฐานะที่ปรารถนาพระโพธิญาณนี่ ต้องต่อสู้กับความทุกข์ เพื่อให้ความสุขแก่คนอื่น จะมัวมานั่งแช่มชื่นมีความสุขนั้น ไม่ใช่วิสัยของพระโพธิสัตว์...”

นี่คือความทุกข์ยากในใจของบุคคลผู้เป็นพ่อของคนไทยทั้งหลายในกาลก่อน วันนั้น พวกเราจึงร่วมกันร้องเพลง “พ่อ” เพื่ออุทิศให้แด่พ่อของเราที่มีน้ำใจอันประเสริฐต่อลูกของท่านทุกคน มีบางคนน้ำตาไหลเมื่อได้ยินเสียงเพลงนี้

“...เมื่อก่อนครั้งฉันเป็นเด็กน้อยคอยแต่คลาน พ่อหัดตั้งไข่ให้จนฉันเดินเป็น..เตาะแตะ ก้าว..ทีละน้อย ค่อยๆ เข็น จับเกาะพ่อเดินเล่นตามประสาเยาว์วัย พ่อถอดรองเท้าไว้ให้เห็นตรงนอกชาน ฉันเจ้าเด็กน้อยลองใส่สวยเดินภูมิใจ อยากใส่ไว้ให้เหมือน แม้จะหนักยังเดินไหว พ่อยิ่งใหญ่เหมือนภูเขาเราจะตาม...

ข้างหน้าที่ทิ้งไว้ คือรอยเท้าที่พ่อเดิน ลูกเหยียบย่างไม่ห่างเหินเดินตาม ย่ำบุกป่าเขาลำเนาไพรไม่ครั่นคร้าม เด็กน้อยตามอย่างพ่อ ไม่ท้อเดินไป เติบใหญ่ถึงวันนี้ พบชีวิตที่ผกผัน

ฉันจึงได้รู้ว่าการเดินไม่ง่ายดังใจ วันที่ถูกทุกข์ทับถมขมขื่นใจสักเพียงไหน รองเท้าพ่อคู่ใหญ่ยังสอนใจเรา วันที่ถูกทุกข์ทับถมขมขื่นใจสักเพียงไหน พ่อยิ่งใหญ่เหมือนภูเขาเราจะตาม...”

เมื่อจบเพลงนี้แล้ว หลายคนที่จะต้องซับน้ำตา เพราะความซาบซึ้งในพระคุณอันใหญ่หลวงของพ่อ ต่อจากนั้นพวกเราก็ออกมาร่วมกันรำ เพื่อเป็นการฉลองความสำเร็จของท่านพ่อและท่านแม่ ตลอดถึงท่านปู่ท่านย่าอีกด้วยไว้ เป็นอนุสรณ์แห่งแผ่นดิน ณ เมืองศรีสัชนาลัย เพื่อขออำลาอาลัยแผ่นดินไทยทั้งหลาย ที่ได้เคยเกิดมาร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน

เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ ได้บันทึกอยู่ในความทรงจำของทุกคน เพราะหลังจากการทำพิธีบวงสรวงพลี เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและบูชาท่านพ่อขุนไทยทั้งหลายแล้ว ต่อมามีพวกท่าชัย ๓ - ๔ คน ที่อยู่ในพิธีครั้งนั้น ได้มาเล่าให้ฟังภายหลังว่า

ในขณะที่กำลังฟ้อนรำสมโภชกันอยู่นั้น ปรากฏว่ามีละอองฝนโปรยปรายอยู่เฉพาะรอบนอก ส่วนพวกเราที่อยู่ในพิธีหน้าพระเจดีย์เจ็ด แถวนั้นกลับไม่มีฝนเลย และในจำนวนนั้นที่นั่งอยู่ห่างๆ รอบนอก บางคนก็ได้มองเห็น "เกล็ดสีเงิน" ลอยลงมาจากท้องฟ้าเป็นระยิบระยับไปหมด !!!


---(โปรดติดตามตอนต่อไป)---

@ ตามรอยท่านพ่อท่านแม่..ณ ศรีสัชนาลัย ปี 2543 (ตอนที่ 7)

...หลังจากได้ทำพิธีบวงสรวงที่เมืองเก่า (อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย) กันแล้ว พวกเราก็ย้อนกลับมาที่ "พุทธอุทยานพระร่วงผดุงธรรม" เพื่อทำพิธีถวายผ้ากฐินกัน โดยรวบรวมเงินกันทำบุญทั้งสิ้น ๕,๒๕๗,๕๗๐ บาท ซึ่งยังมียอดเงินที่สมทบภายหลังอีกบ้าง จึงถือว่าได้ปลดหนี้ปลดภาระให้แก่ท่านวันชัยไปด้วย

ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๓ อันเป็นปีที่ ๑ ของการทอดกฐินเพื่อสร้าง "พระจุฬามณี" โดยมีญาติโยมขอรับเป็นเจ้าภาพกันประมาณ ๑๑๐ กอง (กองละ ๕,๐๐๐ บาท) ทั้งกรุงเทพฯ และตามต่างจังหวัด พวกเราจึงได้จัดเตรียมงานกันอย่างเต็มที่ เผื่อว่าจะมีคนเดินทางมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก

---เหตุที่สร้างพระจุฬามณี---
...ส่วนเหตุที่จะต้องสร้างพระจุฬามณีนี้ ผู้เขียนได้แจ้งไปในซองกฐินว่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ผู้เขียนดำริว่าเราได้ไปกราบไหว้รอยพระพุทธบาทและพระเจดีย์มาทั่วทุกภาคของประเทศแล้ว ต่อไปเราจะสร้างเองบ้างละ จึงได้ปรึกษากับ พระอาจารย์วันชัย และคณะท่าชัย, คณะจังหวัดสุโขทัย, คณะพิษณุโลก, พร้อมกับคณะศิษย์หลวงพ่อฯ หลายจังหวัด

ต่างก็มีความเห็นว่า ควรจะร่วมมือกันจัดสร้างปูชนียสถานที่สำคัญแห่งนี้ไว้ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งแผ่นดินของท่านเป็นครั้งสุดท้าย โดยประดิษฐานไว้ที่ตรงหัวใจของประเทศ เพราะเคยเป็นเมืองที่รุ่งเรืองมาก่อน นั่นก็คือ เมืองศรีสัชนาลัย อันเป็นสมัยที่พระเดชพระคุณท่านเคยเป็น พระร่วงโรจนฤทธิ์ ผู้มีวาจาสิทธิ์ ทั้งนี้ เพื่อให้สมกับคำว่า “รุ่งโรจน์” พร้อมไปด้วย “ฤทธิ์” ในกาลต่อไป

ฉะนั้น ทางภาคเหนือก็มีพระธาตุจอมกิตติแล้ว ภาคใต้ก็มีพระพุทธรูปองค์นี้อยู่ที่ภูเก็ตแล้ว (สมเด็จองค์ปฐม ปางประทับรอยพระพุทธบาท) ยังเหลือแต่ตรงหัวใจของประเทศนี้แหละ ที่น่าจะมีอะไรเป็นสิริมงคลบ้าง จึงได้ลงมติจัดงานพิธีดังนี้

- ปีที่ ๑ จะจัดงานพิธีทอดกฐิน วันเสาร์ที่ ๑๑ พ.ย. ๒๕๔๓ (วันลอยกระทง) เพื่อทำพิธีวางศิลาฤกษ์และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

- ปีที่ ๒ จะจัดงานพิธีทอดกฐิน วันที่ ๓๑ ต.ค. ๒๕๔๔ (วันลอยกระทง) เพื่อทำพิธีเททอง

- ปีที่ ๓ จะจัดงานพิธีทอดกฐิน วันที่ ๑๙ พ.ย. ๒๕๔๕ (วันลอยกระทง) เพื่อทำพิธียกฉัตรและบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

นี่ก็เป็นแผนงานที่จัดเตรียมไว้ทั้งสามปี คิดในใจว่าภายใน ๓ ปี หากพระจุฬามณียังไม่เสร็จ เราก็ขอเป็นหนี้ต่อไป ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยคิดจะสร้างให้มากมาย หวังเพียงแค่พระพุทธรูปและพระจุฬามณีสำเร็จก็พอแล้ว

ได้เงินประมาณ ๕,๓๕๘,๒๘๐ บาท รวม ทั้งเครื่องบริวารกฐินอีกมากมาย เสร็จแล้วจึง ได้เริ่ม พิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อเวลา ๑๓.๓๐ น. โดยมี หลวงพี่โอเป็นประธานในการจุดธูปเทียนที่โต๊ะบวงสรวงในภาคบ่าย

เมื่อพระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ ได้ทำพิธีบวงสรวงแล้ว ผู้เขียนจึงได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ญาติโยมสรงน้ำแล้วไว้ในผอบศิลา พร้อมทั้งอัญเชิญ แผ่นดวงชะตาประเทศไทย แผ่นศิลาจารึก และ แผ่นดวงชะตา ของทุกคน แล้วตั้งเป็นขบวนแห่โดยพระภิกษุสามเณรนำญาติโยมร่วมเดินขบวนจากด้านล่างขึ้นไปบนพระจุฬามณี อันประดิษฐานอยู่บนเนินเขาน้อยๆ

เสียงการเจริญพระพุทธคุณดังก้องไปทั่วบริเวณนั้น หยุดการส่งเสียงเรียกขานใดๆ ทั้งสิ้น ในขณะที่ขบวนแห่เดินขึ้นไปเรื่อยๆ มีบางคนที่ยืนรอยู่ข้างทางต่างก็พนมมืออธิษฐานร่วมบุญกุศลในครั้งนี้กันอย่างเต็มที่ ท่ามกลางท้องฟ้าที่แจ่มใส บอกเหตุแห่งความเจริญ ณ สถานที่แห่งนี้ในกาลข้างหน้า

ขบวนพระสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกาเดินขึ้นไปไม่ไกลเท่าใดนักก็ถึงพระจุฬามณี แล้วจึงได้อัญเชิญผอบพระบรมสารีริกธาตุและวัตถุสิ่งของต่างๆ ไว้บนโต๊ะหมู่บูชา สำหรับโต๊ะหมู่บูชานี้ถวายโดย

คณะลูกสัมพเกษี คือ คุณจารุภา (หลี) คุณประดิษฐ์ (ก๊วยเจ๋ง)โดยมีคุณรัศมี (แมว) เป็นเจ้าภาพใหญ่ ส่วนบายศรีก็มี คุณใหญ่ เกาะกูด และ กลาง โพธาราม ร่วมกันเป็นเจ้าภาพด้วย...


---(โปรดติดตามตอนต่อไป)---

@ ตามรอยท่านพ่อ-ท่านแม่..ณ ศรีสัชนาลัย ปี 2543 (ตอนที่ 8)

...เมื่อปี ๒๕๔๒ หลังจากได้ทำพิธีบวงสรวงที่เมืองเก่า (อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย) กันแล้ว พวกเราก็ย้อนกลับมาที่ "พุทธอุทยานพระร่วงผดุงธรรม" เพื่อทำพิธีถวายผ้ากฐินกัน โดยรวบรวมเงินกันทำบุญทั้งสิ้น ๕๒๕,๗๕๗ บาท ซึ่งยังมียอดเงินที่สมทบภายหลังอีกบ้าง จึงถือว่าได้ปลดหนี้ปลดภาระให้แก่ท่านวันชัยไปด้วย (มีคลิปวีดีโอ 1)

ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๓ อันเป็นปีที่ ๑ ของการทอดกฐินเพื่อสร้าง "พระจุฬามณี" โดยมีญาติโยมขอรับเป็นเจ้าภาพกันประมาณ ๑๑๐ กอง (กองละ ๕,๐๐๐ บาท) ทั้งกรุงเทพฯ และตามต่างจังหวัด (มีคลิปวีดีโอ 2)

จากนั้นได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ญาติโยมสรงน้ำแล้วไว้ในผอบศิลา พร้อมทั้งอัญเชิญ แผ่นดวงชะตาประเทศไทย แผ่นศิลาจารึก และ แผ่นดวงชะตา ของทุกคน แล้วตั้งเป็นขบวนแห่โดยพระภิกษุสามเณรนำญาติโยมร่วมเดินขบวนจากด้านล่างขึ้นไปบนพระจุฬามณี อันประดิษฐานอยู่บนเนินเขาน้อยๆ

ครั้นได้จัดเครื่องพิธีเสร็จแล้ว ญาติโยมพุทธบริษัทก็มานั่งห้อมล้อมอยู่ที่ปากหลุมห้องพระธาตุ โดยมีผู้ที่ไม่ได้ร่วมขบวนแห่ต่างก็มานั่งรอในพระจุฬามณีอยู่ก่อนแล้วเป็นจำนวนมาก พอขบวนแห่มาถึงจึงต้องนั่งเบียดกันแน่นไปหมดในบริเวณนั้น

เมื่อได้เวลาอันเป็นอุดมฤกษ์ จึงได้เริ่มพิธีอันเป็นมหามงคลต่อไป โดยประธานฝ่ายฆราวาสจุดธูปเทียนที่โต๊ะหมู่บูชา ทายกนำกราบพระ แล้วอาราธนาพระปริตร พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์เป็นสิริมงคล และเพื่อทำพิธีบูชาพระเคราะห์ ๑๐๘ ไปด้วย

ต่อจากนั้น ท่านเจ้าอาวาส, หลวงพี่โอ, ผู้เขียน, ท่านสมศักดิ์, ท่านอาจินต์, ท่านวันชัย, และ ท่านมหาเพิ่มทรัพย์ ต่างก็เดินลงไปที่ก้นหลุมที่ทำไว้เป็นห้องสี่เหลี่ยม ๔ x ๔ เมตร แล้วก็ได้ช่วยกันตอกไม้มงคลและวางอิฐเงินอิฐทอง ที่เจ้าภาพกฐินแต่ละคณะนำมาวางรอไว้ก่อนแล้ว

ต่อจากนั้นจึงได้วางแผ่นศิลาฤกษ์ และแผ่นดวงเมืองไทยไว้ตรงกลางหลุม "แผ่นดวงชะตา" เป็นของเจ้าภาพและผู้ร่วมบุญทุกคน ได้เขียนดวงชะตาของตนเองลงในแผ่นนี้ แล้วนำมาบรรจุไว้ใต้ฐานองค์พระพุทธรูป “ปางประทับรอยพระพุทธบาท” อันประดิษฐานอยู่ภายในพระจุฬามณี

ทั้งนี้ เพื่อเป็นความหมายว่า "ดวงชะตา" ของเราอยู่ภายใต้ฝ่าพระบาทของพระพุทธองค์ ซึ่งพระพุทธรูปองค์นี้ ส่วนพระพักตร์เป็นของสมเด็จองค์ปฐม การทำพิธีอย่างนี้ก็เพื่อเป็นเคล็ดพิธีว่า เราจะไม่กลับมาเกิดอีก ขอฝากดวงชะตาชาตินี้ไว้ใต้ผืนแผ่นดินนี้เป็นครั้งสุดท้าย ต่อไปจะไม่มีชะตาชีวิตอย่างนี้อีกแล้ว

โดยมีญาติโยมนั่งและยืนพนมมือมุงดูอยู่ข้างบน ผู้เขียนแหงนมองขึ้นไปโดยรอบ เห็นแต่ละคนมีใบหน้ายิ้มแย้ม ต่างก็ช่วยกันส่งวัตถุสิ่งของต่างๆ โดยเฉพาะผอบหินและพระเจดีย์หินอันเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ได้ถูกวางไว้บนแผ่นดวงชะตาของประเทศไทย พร้อมกับแผ่นดวงชะตาของพวกเราทุกคน ได้ถูกบรรจุรวมไว้กับพระบรมสารีริกธาตุ

ต่อจากนั้นพวกที่อยู่ข้างบน ต่างก็ช่วยกันส่งอิฐเงินอิฐทองที่มีมากมายนับร้อยก้อนลงมาวางเรียงไว้ก้นหลุมทั้งหมด แล้วก็โปรยกลีบดอกไม้หลายหลากสี มองดูแล้วสวยงามมาก ทั้งสีเหลืองสีแดงและสีขาว ภาพการทำพิธีแบบโบราณ คือวิธีการฝังไว้ใต้ดินนี้ เป็นภาพที่ไม่ค่อยจะได้เห็นบ่อยนัก

ในขณะที่ทำพิธีอยู่นี้ พระภิกษุสงฆ์ที่นั่งอยู่บนอาสนะหลายสิบรูป ต่างก็เจริญชัยมงคลคาถา เสียงฆ้องกลองและเสียงพิณพาทย์ก็ได้บรรเลงขึ้น พร้อมกับเสียงพลุ ๒๑ นัด ดังลั่นตลอดพิธี

จึงถือว่าสถานที่แห่งนี้เป็นมหามงคลยิ่ง ที่จะได้เป็นที่สถิตของพระบรมสารีริกธาตุไว้ใต้ดินภายในพระจุฬามณี ในขณะที่จะเสร็จพิธีนี้ พอดีมีโยมผู้หญิงคนหนึ่งถวายสร้อย ส่งลงมาให้ผู้เขียนอีก ซึ่งขณะนั้นพระองค์อื่นก็เดินขึ้นไปหมดแล้ว ส่วนผู้เขียนก็คิดว่าจะเดินขึ้นบันไดตามไปทีหลัง

แต่เมื่อญาติโยมส่งสร้อยมา จึงได้นำไปคล้องไว้ที่ยอดเจดีย์หินนั้น เพียงเส้นเดียวเท่านั้นเอง ผลปรากฏว่าเป็นที่ชอบใจ โดยเฉพาะคนที่ยังอยู่เมื่อเห็นว่ามีคนอื่นถวายอีก ทั้งๆ ที่ตนเองก็ถอดถวายไปก่อนแล้ว ภาพแบบนี้เหมือนกับที่เขาแขวนบูชาพระเขี้ยวแก้วที่ประเทศศรีลังกา จะเห็นว่าที่ผอบแก้วนั้น มีสร้อยสังวาลย์และของมีค่าต่าง ๆ ที่เป็นเครื่องประดับกายคล้องบูชาไว้มากมาย

จากภาพเหตุการณ์ที่วัตถุสิ่งของเครื่องบูชาอันมีค่าทั้งหลายนี้ ญาติโยมที่ร่วมพิธีในครั้งนั้น คงจะระลึกถึงภาพเหล่านี้ จากความทรงจำได้เป็นอย่างดี เพราะทุกคนได้ถวายไว้ เป็นพุทธบูชา ณ อาณาจักรศรีสัชนาลัย อันเป็น “แผ่นดินพ่อและแม่” ของพวกเราทุกคน โดยเฉพาะเครื่องประดับที่เป็นทองคำ คิดว่ารวมกันแล้วคงจะมีน้ำหนักหลายกิโลกรัม

นับว่าทุกท่านได้บูชาด้วยเครื่องประดับที่ล้ำค่าอันเป็นที่รักของตน อย่างไม่หวงแหนและเสียดาย เหมือนกับได้เคยกระทำแต่ชาติปางก่อนมาแล้วหลายวาระ เพื่อที่หวังผลคือความฝันอันสูงสุด และที่เป็นความสุขอย่างยอดเยี่ยม นั่นก็คือสุดยอดแห่งพระนิพพาน..ด้วยประการฉะนี้ !!!


---(โปรดติดตามตอนต่อไป)---

@ ตามรอยท่านพ่อ-ท่านแม่..ณ ศรีสัชนาลัย ปี 2548 (ตอนที่ 9)

...นับตั้งแต่การทอดกฐินเมื่อปี 2542 โดยเริ่มการสร้างศาลาปฏิบัติธรรม ณ วัดพระร่วงผดุงธรรม (วัดสิริเขตคีรี) ในเวลาต่อมาปี 2543 - 2544 - 2545 ได้มีการจัดงานทอดกฐิน 3 ปีซ้อน เพื่อสร้าง "พระจุฬามณี" และกลางคืนก็มีการจัดงานประเพณีลอยโคมใน "วันลอยกระทง" จนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

นับว่าเป็นเรื่องที่แปลกมาก ปี 2543-2545 ปฏิทิน 3 ปีนี้ สามารถจัดงานลอยกระทงได้ทุกปี พอถึง 2546 เป็นต้นมาก็ไม่สามารถจัดงานได้อีก เพราะวันลอยกระทงไม่ตรงกับวันหยุดนั่นเอง

...จากนั้นในปี 2548 ก็ได้มีการสร้างพระอุโบสถ 2 ชั้น (ชั้นล่างเป็นศาลาเอนกประสงค์ โดยมีสมเด็จองค์ปฐมเรือนแก้วเป็นประธาน) และชั้นบนมีสมเด็จองค์ปฐม ทรงเครื่องพระนิพพาน เป็นประธาน พร้อมด้วยพระอัครสาวกทั้งสอง ทรงเครื่องพระนิพพานด้วยเช่นกัน

พระอุโบสถประดับด้วยโมเสคสีมุก จากโรงงาน COTTO ด้วยกรรมวิธีพิเศษ จัดทำโดย คุณพิชิต ไม้พุ่ม กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCG (ปัจจุบันได้ไปช่วยงานที่วัดธรรมยาน)

หลังจากสร้างพระอุโบสถเรียบร้อยแล้ว จึงได้ทำพิธียกช่อฟ้า และ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ "สมเด็จองค์ปฐม" บนพระเศียรพระประธานในพระอุโบสถ โดยท่านเจ้าคุณพระราชภาวนาโกศล เป็นประธาน พร้อมด้วย พระครูสมุห์พิชิต (โอ) ฐิตวีโร และ พระครูภาวนาธรรมนิเทศก์ (อาจินต์) เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2548 **(ยังมีคลิปวีดีโออีก 2 ตอน)

...ครั้นถึงปี 2549 ก็สามารถจัดงานฝังลูกนิมิตได้เป็นผลสำเร็จ โดยขอพระราชทานวิสุงคามสีมา และตั้งเป็นวัดได้ชื่อว่า "วัดสิริเขตคีรี" พร้อมกับสร้าง "พระพุทธพรชัยมงคลมุนี" ประจำทิศเหนือ อีกองค์หนึ่งครบ 4 ทิศพอดี



[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 8/9/18 at 14:35 [ QUOTE ]


(ตอนที่ 10)
เบื้องหน้าความสำเร็จ คือ "สมเด็จองค์ปฐม"

...ขอย้อนไปเมื่อตอนที่แล้วได้เล่าว่า นับเป็นเวลานานนับสิบปีที่วัดท่าซุงได้เจริญรุ่งเรือง หลังจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยานมรณภาพไปแล้ว เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2535

นับตั้งแต่ท่านเริ่มมาอยู่ที่วัดท่าซุง เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2511 (ขอย้ำว่าท่านมาวันนี้ ตามที่เคยเห็นป้ายพลาสติกที่ท่านเขียนไว้หน้ากุฏิ)

ต่อจากนั้นได้เริ่มจัดงานปฏิบัติธุดงควัตร ปี 2536 ซึ่งมีผู้ร่วมปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก รวมทั้งญาติโยมพุทธบริษัทและเพื่อนภิกษุทั้งหลาย

โดยเฉพาะที่เดินทางมาจากภาคอีสาน ถ้าหากมีใครตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น คลิปวีดีโอทั้งหลายที่นำมาเป็นบางส่วนนี้ คงจะเป็นคำตอบได้เป็นอย่างดีว่า

แต่เบื้องหลังแห่งความสำเร็จ พระในวัดท่าซุงท่านทำงานกันอย่างไร มีการวางนโยบายไว้แบบไหนบ้างภาพในอดีตเหล่านี้จะเป็นหลักฐาน

ในการสนองนโยบายของเจ้าอาวาสวัดท่าซุง เพื่อโครงข่ายสายวัดท่าซุงได้กว้างไกลมากขึ้น พระชัยวัฒน์ อชิโต ในฐานะผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดท่าซุง ได้ดำเนินงานไปหลายแห่ง เช่น

...ในปี 2548 ก็ได้มีการสร้างพระอุโบสถ 2 ชั้น (ชั้นล่างเป็นศาลาเอนกประสงค์ โดยมีสมเด็จองค์ปฐมเรือนแก้วเป็นประธาน)

และชั้นบนมีสมเด็จองค์ปฐม ทรงเครื่องพระนิพพาน เป็นประธาน พร้อมด้วยพระอัครสาวกทั้งสอง ทรงเครื่องพระนิพพานด้วยเช่นกัน

พระอุโบสถประดับด้วยโมเสคสีมุก จากโรงงาน COTTO ด้วยกรรมวิธีพิเศษ จัดทำโดย คุณพิชิต ไม้พุ่ม กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCG (ปัจจุบันได้ไปช่วยงานที่วัดธรรมยาน)

หลังจากสร้างพระอุโบสถเรียบร้อยแล้ว จึงได้ทำพิธียกช่อฟ้า และ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ "สมเด็จองค์ปฐม" บนพระเศียรพระประธานในพระอุโบสถ

โดยท่านเจ้าคุณพระราชภาวนาโกศล เป็นประธาน พร้อมด้วย พระครูสมุห์พิชิต (โอ) ฐิตวีโร และ พระครูภาวนาธรรมนิเทศก์ (อาจินต์) เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2548

...ครั้นถึงปี 2549 ก็สามารถจัดงานฝังลูกนิมิตได้เป็นผลสำเร็จ โดยขอพระราชทานวิสุงคามสีมา และตั้งเป็นวัดได้ชื่อว่า "วัดสิริเขตคีรี" พร้อมกับสร้าง "พระพุทธพรชัยมงคลมุนี" ประจำทิศเหนือ อีกองค์หนึ่งครบ 4 ทิศพอดี


@ เบื้องหลังความสำเร็จ คือ "ท่านแม่วิสุทธิเทวี"


...เมื่อประมาณปี ๒๕๔๙ มีอยู่วันหนึ่ง..พี่น้อย (นิพา ในเมือง) ได้โทรศัพท์มาหาหลวงพี่ชัยวัฒน์จากอิตาลี ถามว่ามีเมือง "ราชนาลัย" ไหม หลวงพี่ตอบว่ามีแต่เมือง "สัชนาลัย" แต่ชื่อนั้นไม่สำคัญเท่ากับความสงสัย

หลวงพี่จึงถามว่ามีอะไรเหรอ พี่น้อยจึงได้เล่าเรื่องที่ "ท่านแม่" มาเข้าฝันให้หลวงพี่ฟัง (ท่านมาพร้อมกับลูกสะใภ้) ภายหลังก็มาเล่าเรื่องให้หลวงพี่ฟังด้วยตนเองถึงที่วัดท่าซุง

ความฝันที่เป็นจริง

พี่น้อยเล่าว่า ท่านได้เล่าเรื่องในอดีตของ เมืองสัชนาลัย พร้อมทำภาพให้เห็นไปด้วย บอกว่าท่านมาเข้าฝันเล่าเรื่องเดียวติดๆ กันทุกคืน

โดยทำภาพเหตุการณ์ในอดึตกาลเหมือนกับฉายภาพยนต์ พร้อมกับบุคคลที่เกี่ยวข้องในสมัยนั้นด้วย

โดยเฉพาะดินแดนแห่งนี้มีความเจริญรุ่งเรือง พืชสวนไร่นามีความอุดมสมบูรณ์ เพราะมีลำน้ำยมไหลผ่านรอบเมือง ชาวบ้านชาวเมืองต่างมีความอยู่ดีกินดีมีความสุข

ฉะนั้น บริเวณนี้จึงเป็นที่หมายปองของผู้ที่ต้องการดูแล แต่ด้วยพ่อแม่เป็นครอบครัวใหญ่มีลูกมาก ใครๆ ก็อยากได้ไว้เป็นเจ้าของ แต่ผลที่สุดก็เป็นบุคคลผู้หนึ่งที่ได้ครอบครองดินแดนแห่งนี้

ทั้งที่ไม่น่าเป็นไปได้ว่าจะรอดชีวิตมาได้อย่างไร เพราะตอนเด็กๆ ป่วยไข้ไม่สบายอยู่เสมอ พ่อแม่ต้องคอยเลี่ยงดูอุ้มชูมาโดยตลอด

พี่น้องทั้งหมด ๗ คน มีทั้งหญิงและชาย ช่วงตอนเล็กๆ นั้นก็ได้อาศัยนักพรตผู้ทรงศีลมีชื่อว่า "ท่านมเหศักดิ์" ที่มาช่วยรักษาทุกวันถ้วน ๑๕ ค่ำ จนกระทั่งหายเป็นปกติ นี่เป็นถ้อยคำบอกเล่าของท่านแม่

จากนั้นก็ได้เล่าเหตุการณ์งานที่ทำอยู่เวลานี้ โดยทำภาพให้เห็นบุคคลอื่นๆ ว่า มีทั้งผู้ที่ร่วมงานมากมายและผู้ที่ไม่เข้าใจบางคน

ท่านทำภาพให้เห็นเหมือนฉายสไลด์ สามารถพิสูจน์บุคคลในภาพที่เห็นได้ โดยมีบางคนที่พี่น้อยไม่รู้จักมาก่อน พร้อมทั้งท่านแม่ได้ทำภาพเหตุการณ์ในอนาคต หลังจากลาโลกนี้ไปแล้วด้วย

ด้วยเหตุที่หลวงพี่ฟังคำบอกเล่าข้างเดียว ถึงแม้อยากจะเชื่อแต่ก็ต้องการจะพิสูจน์ด้วยว่า ผู้ที่เข้าฝันนั้นเป็นใคร แต่งตัวลักษณะอย่างไร เรื่องที่เล่าควรจะเชื่อถือได้แค่ไหน

ฉะนั้น เมื่อพี่น้อยเดินทางมาถึงเมืองไทย ประมาณปี ๒๕๔๙ ช่วงนั้นน้ำท่วมวัดท่าซุงอย่างหนัก แต่หลวงพี่ก็ยังจัดงานฝังลูกนิมิตที่ วัดสิริเขตคีรี (วัดพระร่วงผดุงธรรม) อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย โดยให้พี่น้อยเดินทางล่วงหน้าไปเตรียมงานก่อน



...ครั้นไปถึงแล้วพี่น้อยเดินเข้าไปที่ มณฑปท่านแม่วิสุทธิเทวี (อยู่ตรงข้ามมณฑปพระร่วงโรจนฤทธิ์) ที่อยู่ด้านหน้าพระจุฬามนี

พี่น้อยถึงกับตกตะลึงทันที ปลื้มใจสุดขีดจนถึงกับกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ เพราะรูปปั้นของท่านแม่นั้น เหมือนกับที่ฝันเห็นทุกประการ

ทั้งรูปร่างหน้าตาและเครื่องประดับกาย ที่ไปเข้าฝันถึงบ้านที่ประเทศอิตาลี (พี่น้อยเป็นคนอุดรธานี ได้แต่งงานกับสามีชาวอิตาลีมานานหลายปีแล้ว)

เรื่องนี้จึงสร้างกำลังใจและความประทับใจให้แก่หลวงพี่เป็นอย่างมาก ท่านจึงมอบเส้นเกศาหลวงพ่อฯ ให้เป็นรางวัล

ซึ่งภายหลังไม่คาดคิดว่าจะแปรเป็นพระธาตุ นับว่าเป็นเรื่องอัศจรรย์ใจมาก อีกทั้งเป็นเหมือนท่านจะยืนยันความน่าเชื่อถือของเรื่องราวในอดีต ตามที่ท่านแม่มาเข้าฝันไว้นั้น ว่าเป็นความจริงทุกประการ...


คุณนิพา (น้อย) ในเมือง บูชาเส้นเกศา
ของหลวงพ่อฯ จนเป็นกลายพระธาตุ
ถ่ายภาพและบันทึกโดย คุณขนิษฐา (ปุ๊ก) อยู่คุ้มญาติ




รูปที่ 8 - 9 ภาพถ่ายครั้งล่าสุด แบบใช้แฟลซ กับไม่ใช้เจ้าค่ะ ซึ่งก่อนหน้าพี่น้อยได้อัญเชิญพระธาตุ และเกศา ไปบรรจุในผอบใบใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมเล็กน้อยซักพักนึงแล้ว

ในวันที่ลูกไปถ่ายรูปคือวันที่ 11 มีนาคม 2556 หลังจากที่พี่น้อยโทรมาหา ให้มาดูอะไรบางอย่าง

ที่ปรากฎเกิดเป็นอัศจรรย์อีก เรื่อง "เส้นเกศาสีขาว" ที่เหลืออยู่ ที่ยังไม่ได้กลายเป็นพระธาตุ

พี่น้อยได้อธิษฐานขอไว้เก็บเป็นที่ระลึก อย่าได้กลายเป็นพระธาตุไปแบบเส้นอื่นๆ ซึ่งรวม "เส้นเกศาสีดำ" ที่ยังไม่กลายเป็นพระธาตุ มีทั้งหมดรวม 5 เส้นเจ้าค่ะ

"เส้นเกศาสีขาว" ของพระเดซพระคุณหลวงพ่อฯ กลายเป็นพระธาตุทั้งเส้น และขยายใหญ่ขึ้น เห็นชัดได้ด้วยตาเนื้อ

โดยที่พี่น้อยไม่ต้องใช้แว่นขยายส่องดู ไม่ต้องหมุนหามุม หาแสงเหมาะๆ เพื่อมอง เพราะว่าเส้นเกศาขาวจนเกือบใสเจ้าค่ะ ซึ่งบางครั้งกล้องดิจิตัลที่ลูกถ่ายภาพมาทั้งหมด ก็ถ่ายติดเห็นเส้นเกศาชัดบ้าง ไม่เห็นเลยก็มีเจ้าค่ะ

รายละเอียดเกี่ยวกับ "เกศาของพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน กลายเป็นพระธาตุ" ลูกก็รวบรวมได้ตามความทรงจำเพียงเท่านี้

หากพี่น้อยได้มีโอกาสพบกับหลวงพ่อชัยวัฒน์ ก็คงจะได้เล่ารายละเอียดอื่นๆ ที่พี่น้อยประสบมาด้วยตัวเองถวายให้หลวงพ่อได้ทราบเพิ่มอีกในภายหลังเจ้าค่ะ

ด้วยความเคารพหลวงพ่อชัยวัฒน์อย่างสูง

ปุ๊ก


เบื้องหลังความสำเร็จ คือ "ท่านแม่"

...เรื่องราวเหล่านี้ แม้เป็นความฝัน แต่ก็เป็นเสมือนเป็นพลังในด้านกำลังใจ เพราะการทำงานอยู่เบื้องหลังความสำเร็จ นับเป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก ต้องต่อสู้กับอุปสรรคทางใจทุกอย่าง

อนึ่ง การที่ "เส้นเกศาของหลวงพ่อฯ" กลายเป็นพระธาตุนั้น นับว่าเป็นพยานยืนยันแห่งความฝันว่า เป็นความจริงแน่นอน เพราะเส้นเกศาที่เก็บไว้ไม่ว่าที่ไหน ก็ยังไม่ปรากฏว่าเป็นพระธาตุเลย

ฉะนั้น เบื้องหลังความสำเร็จและเป็นรางวัลแก่ชีวิต มิใช่มีท่านแม่เป็นกำลังใจอยู่เบื้องหลังเท่านั้น ส่วนเบื้องหน้าความสำเร็จนั่นก็คือ

"สมเด็จองค์ปฐมบรมครู" ผู้เป็นประธานของงาน "ตามรอยพระพุทธบาท" นับตั้งแต่ครั้งแรกจนปัจจุบันนี้ อย่างไม่ต้องสงสัย

อีกทั้งท่านแม่ได้ทำภาพสถานที่อยู่สุดท้ายให้เห็น ถ้าฝันนั้นเป็นจริงก็ยิ่งมีกำลังใจเพิ่มทวี เพราะตรงกับผู้ที่ขึ้นไปเห็นไว้ก่อนหน้าแล้ว

สุดท้ายนี้ ต้องขอขอบคุณและอนุโมทนากับ คุณขนิษฐา (ปุ๊ก) อยู่คุ้มญาติ ไว้ ณ โอกาสนี้ ที่เป็นธุระช่วยเหลือพี่น้อยเป็นอย่างดี

ในการถ่ายภาพและลำเลียงเรื่องเล่าสู่กันฟังเป็นอย่างดี ทั้งนี้ เพื่อหวังบุญกุศลเท่านั้น ที่จะได้ช่วยกันจรรโลงพระพุทธศาสนา ในด้านการช่วยเสริมสร้างความศรัทธาให้เกิดขึ้น

...เมื่อผู้อ่านเกิดความเชื่อถือในพระองค์ท่านแล้ว ผู้นั้นก็จะได้ปฏิบัติตามแนวทางที่ท่านสอนไว้ แล้วมรรคผลก็บังเกิดกับผู้เลื่อมใสนั้น

พวกเราจึงหวังเพียงแค่ส่วนผลบุญนี้ ที่เปรียบเสมือนสะพานแห่งความศรัทธา เพี่อนำพาข้ามสู่ฝั่งพระนิพพานไปในที่สุด ขอเชิญร่วมแสดงความยินดีและอนุโมทนาด้วยกัน สวัสดี..."



[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
ตั้งหัวข้อใหม่

Go To Top