Not logged in [Login - Register]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites ตั้งหัวข้อใหม่
[*] posted on 29/6/08 at 17:32 [ QUOTE ]

ป่าใหม่ธุดงค์ (หลังวัดท่าซุง)


บริเวณหลังวัดมี ๒ แห่ง ครั้งแรกสมัยที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ ยังมีชีวิตอยู่ (ปัจจุบันเรียกว่า "ป่าศรีไพร" สำหรับพราหมณ์หญิงเข้าอยู่ธุดงค์) จะมีเนื้อที่ประมาณ ๑๐๐ ไร่ ซึ่งไม่ได้ก่อสร้างถาวรวัตถุใดๆ พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯท่านได้เก็บไว้ปลูกต้นไม้ มีอยู่คราวหนึ่ง ที่พระท่านมาบอกให้พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ สร้างเจดีย์ใหญ่ ซึ่งพื้นที่ๆ จะก่อสร้างเจดีย์ใหญ่ๆ ก็ไม่มีแล้ว จะมีแต่พื้นที่ของป่า ๑๐๐ ไร่

พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ ได้กราบทูลต่อพระว่า ถ้าจะให้สร้างเจดีย์ใหญ่ๆ ไม่มีสถานที่จะสร้าง ถ้าจะให้สร้างบริเวณป่า ๑๐๐ ไร่จะไม่สร้าง เพราะต้องการให้เป็นบริเวณที่ปลูกต้นไม้ เพื่อให้ผู้คนได้อาศัยความร่มรื่น จิตจะได้เป็นสุข และเพื่อให้สัตว์ทั้งหลายได้อาศัยป่าเพื่ออยู่อาศัย จะได้ร่มเย็นเป็นสุข

ดังนั้นบริเวณป่า ๑๐๐ ไร่ จึงไม่ได้ทำการก่อสร้างสิ่งใดๆ พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ ท่านได้มรณภาพในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ประมาณต้นปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ท่านเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันคือ ท่านพระครูปลัดอนันต์จึงได้ร่วมกับญาติโยมปลูกต้นไม้บริเวณป่า ๑๐๐ ไร่ โดยได้ติดต่อขอกล้าไม้จากกรมป่าไม้บ้าง จัดซื้อมาบ้าง ญาติโยมถวายมาบ้าง มีทั้งประเภทไม้ผล ไม้ป่า ไม้ดอกยืนต้น ประมาณ ๒๐,๐๐๐ ต้น

และต่อมาปี ๒๕๓๙ ได้จัดซื้อที่ดินนอกกำแพงหลังวัด เพื่อขยายพื้นที่ออกไปอีกประมาณ ๒๐๐ ไร่ แล้วเริ่มกิจกรรมการปฏิบัติธรรม ในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ กลางเดือนธันวาคม วัดท่าซุงได้จัดกิจกรรม การปฏิบัติธุดงควัตร อันเป็นการปฏิบัติธรรมร่วมกันทั้งพระสงฆ์และฆราวาส โดยใช้บริเวณป่า ๒๐๐ ไร่ เป็นสถานที่ธุดงค์สำหรับพระสงฆ์ เณร และพราหมณ์ชายเข้าไปที่บริเวณสวนไผ่อีกด้วย ส่วนพราหมณ์หญิงให้พักที่ป่าเก่า (ป่าศรีไพร) และอาคาร ๒๕ ไร่

เมื่อพูดถึงการธุดงค์ ท่านทั้งหลายอาจจะเข้าใจว่า การธุดงค์จะต้องออกปฏิบัติธรรมตามป่า ตามเขา ไปหาสถานที่สงบสงัด ไปหาความวิเวก เพื่อปฏิบัติธรรม ศึกษาพระธรรมแห่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งมีข้อกำหนดในการปฏิบัติธุดงค์ ๑๓ ข้อ

พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯได้กล่าวว่า การธุดงค์นั้นจะใช้สถานที่ใดเป็นเขตธุดงค์ก็ได้ จะเป็นป่าเขาลำเนาไพร หรือวัด หรือกุฏิ โดยเลือกสมาทานกฎธุดงควัตรทั้ง ๑๓ ข้อ ว่าจะสมาทานข้อใดบ้าง แล้วจึงปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามที่ได้สมาทานไว้ เพราะการธุดงค์เป็นการหาความสงบสงัด เพื่อพิจารณาธรรม ใคร่ครวญธรรม ปฏิบัติธรรม โดยใช้จิตเป็นสำคัญ เพราะ จิตเท่านั้นที่เข้าซึ้งถึงธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กายไม่สามารถถึงซึ่งธรรมได้

ดังนั้น วัดท่าซุงจึงได้เริ่มจัดงานธุดงค์ โดยได้ใช้บริเวณป่า ๑๐๐ ไร่ เป็นสถานที่ธุดงค์ ทางวัดได้ริเริ่มงานธุดงค์ปีแรก พ.ศ. ๒๕๓๖ และได้ปฏิบัติต่อเนื่องเรื่อยมา ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ท่านเจ้าอาวาสได้ซื้อที่ดินอันเป็นป่าที่ค่อนข้างจะสมบูรณ์ ซึ่งเป็นที่ดินติดกับวัดและติดกับป่า ๑๐๐ ไร่ บริเวณที่ใช้ในงานธุดงค์ โดยซื้อที่ดินประมาณ ๒๐๐ไร่ ซึ่งจะใช้เป็นสถานที่สำหรับกิจการธุดงค์ต่อไป ในเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ช่วงงานธุดงค์ ทางวัดท่าซุงได้ทำการหล่อรูปพระมหากัสสป เพื่อประดิษฐานไว้ในเขตธุดงค์ เพราะ ท่านเป็นพระผู้เลิศด้านธุดงควัตร และท่านได้ตั้งปฏิปทาไว้ในการธุดงค์ตลอดชีวิต

ป่าใหม่แห่งนี้ ท่านพระครูปลัดอนันต์ได้รวบรวมเนื้อที่เพิ่มจากของเก่าจากเดิมมีประมาณร้อยไร่เศษเป็นประมาณ ๒๐๐ไร่เศษ โดยได้รับเงินบริจาคจากศรัทธาญาติโยมพุทธบริษัททั่วไป


ประโยชน์ของป่าใหม่แห่งนี้คือ ใช้เป็นที่อยู่ของสัตว์และสิ่งมีชีวิตทั้งหลายโดยจะคงสภาพป่าตามเดิมไว้ไม่ทำลายสถานที่ เนื้อที่ป่าใหม่นี้ร่มรื่นอย่างมากเหมาะสำหรับพระลูกศิษย์หลวงพ่อที่ถือธุดงค์เป็นวัตร ได้มีที่ปฏิบัติบูชา

ในขณะเดียวกันช่วงกลางเดือนธันวาคมของทุกปี จะเต็มไปด้วยพระใหม่ พระเก่า พระอาคันตุกะ ที่ถือบวชธุดงค์ ได้มีพื้นที่ปักกลดพอเพียง และไม่ให้ดูหนาแน่นติดกันเกินไป ถ้าเดินแบบช้าๆควบคู่กับภาวนาจะใช้เวลาเดินจากป่าใหม่ไปถึงศาลา ๑๒ ไร่ประมาณครึ่งชั่วโมงเศษ

ภายในบริเวณป่าใหม่จะมีห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ อ่างล้างหน้าสำหรับทำธุระส่วนตัว อีกทั้งยังมีสระน้ำใหญ่สร้างความเย็นชุ่มฉ่ำ หล่อเลี้ยงสัตว์และสิ่งมีชีวิตทั้งหลายได้ดื่มกิน อีกทั้งยังเย็นตาเย็นใจ

ปัจจุบันนี้ได้มีญาติโยมพุทธบริษัทที่มีจิตศรัทธาและทราบความต้องการของวัดได้นำต้นไม้หายากต่างๆ ต้นไม้ประเภทสมุนไพร และต้นไม้ทั่วไป มาถวายวัดเนื่องๆหรือบางท่านก็นำปัจจัยมาถวาย เพื่อให้พระครูท่านได้นำไปซื้อต้นไม้ตามที่ทางวัดกำลังขาดและต้องการที่จะนำมาปลูกในป่าใหม่แห่งนี้






(เมื่อวันเข้าพรรษา วันที่ 18 ก.ค. 2551 เวลาตอนเย็นหลังจากเสร็จงานพระเจ้าพรหมมหาราชแล้ว ปรากฏว่าเกิดมีลมพายุพัดมาอย่างรุนแรง จึงทำให้ต้นไม้ภายในวัดล้มระเนระนาดเต็มไปหมด หลังจากนั้นจึงต้องช่วยกันทำความสะอาดและตัดกิ่งไม้ แม้แต่ภายในป่าธุดงค์ก็มีต้นไม้ล้มมากมายเช่นกันตามภาพที่เห็น)

งานการปรับปรุงป่าธุดงค์แห่งใหม่

พระครูปลัดอนันต์ พทฺธญาโณ เจ้าอาวาส ให้พระสำออย, พระสงฆ์และฆราวาสช่วยกันปรับพื้นที่ในป่าธุดงค์ ให้เป็นพื้นที่เรียบไม่เป็นหลุมเป็นบ่อ เพื่อความสะดวกในการอยู่อาศัยตอนธุดงค์ และสะดวกในการตัดหญ้า ในส่วนของสระน้ำก็ปรับขอบให้เรียบร้อย มีทางเดินรอบสระ ทางด้านหลังศาลา ๑๒ ไร่ เพื่อทำเป็นเขื่อนกั้นน้ำสูง ๑ เมตรครึ่ง ยาว ๑.๕ กิโลเมตร

ในปี ๒๕๕๑ ท่านเจ้าอาวาสก็ได้ซื้อที่ดินขยายออกไปอีกจากเดิม ประมาณเกือบ ๑๐๐ ไร่ ซึ่งเป็นที่นาของ นายช่างประเสริฐ - นางจำเนียร แก้วมณี ขายให้ราคาถูก ขณะนี้กำลังใช้รถแบ็คโคปรับปรุงพื้นที่ให้เสมอกัน และขุดบ่อน้ำนำดินมาถมในที่ลุ่ม ต่อไปก็จะปลูกป่าถาวร เป็นต้นไม้ใหญ่ น้ำท่วมไม่ตาย เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติธรรมต่อไป

**ต่อไปป่าใหม่ธุดงค์นี้ จะมีความพร้อมในการรองรับนักปฏิบัติที่จะมาปัดกลดธุดงค์ได้เป็นจำนวนมาก



คำสมาทานธุดงค์

๑. คะหะปะติจีวะรัง ปฏิกขิปามิ ปังสุกูลิกังคัง สะมาทิยามิ คือ การสมาทานถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร

๒. จะตุตถะจีวะรัง ปฏิกขิปามิ เตจีวะริกังคัง สะมาทิยามิ คือ การสมาทานถือทรงผ้าไตรเป็นวัตร

๓. อะติเรกะลาภัง ปฏิกขิปามิ ปิณฑะปาติกังคัง สะมาทิยามิ คือ การสมาทานถือการบิณฑบาตรเป็นวัตร

๔. โลลุปปะจารัง ปฏิกขิปามิ สะปะทานะจาริกังคัง คือ การสมาทานเที่ยวบิณฑบาตรไปตามแถวเป็นวัตร

๕. นานาสะนะโภชะนัง ปฏิกขิปามิ เอกาสะนิกังคัง สะมาทิยามิ คือ การสมาทานถือการนั่งฉันอาสนะเดียวเป็นวัตร

๖. ทุติยะภาชะนัง ปฏิกขิปามิ ปัตตะปิณฑิกังคัง สะมาทิยามิ คือ การสมาทานถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร

๗. อะติริตตะโภชะนัง ปฏิกขิปามิ ขะลุปัจฉาภัตติกังคัง สะมาทิยามิ คือ การสมาทานถือการห้ามภัตอันนำมาถวายเมื่อภายหลังเป็นวัตร

๘. คามันตะเสนาสะนัง ปฏิกขิปามิ อารัญญิกังคัง สะมาทิยามิ คือ การสมาทานถืออยู่ป่าเป็นวัตร

๙. ฉันนัง ปฏิกขิปามิ รุกขะมูลิกังคัง สะมาทิยามิ คือ การสมาทานถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร

๑๐. ฉันนัญจะ รุกขะมูลัญจะ ปฏิกขิปามิ อัพโภกาสิกังคัง สะมาทิยามิ คือ การสมาทานถือการอยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร

๑๑. อะสุสานัง ปฏิกขิปามิ โสสานิกังคัง สะมาทิยามิ คือ การสมาทานถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร

๑๒. อเสนาสะนะโลลุปปัง ปฏิกขิปามิ ยะถาสันถะติกังคัง สะมาทิยามิ คือ การสมาทานถือการอยู่ในเสนาสนะอันท่านจัดให้อย่างไรเป็นวัตร

๑๓. เสยยัง ปฏิกขิปามิ เนสัชชิกังคัง สะมาทิยามิ คือ การสมาทานถือการนั่งเป็นวัตร

****************************


[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
ตั้งหัวข้อใหม่

Go To Top