ประวัติ "ท้าวเวหน" เทวดาผู้รักษาวัดท่าซุง (คุ้มขุนไกร ศาลพระภูมิของวัดท่าซุง)
สารบัญ (เลือกคลิกที่รายการ)
[01] ตอนที่ ๑ ประวัติ นายวงษ์ สังข์สุวรรณ
[02] ตอนที่ ๒ ศีลสองของ "หลวงพ่อปาน"
[03] ตอนที่ ๓ ชีวิตครอบครัว "สังข์สุวรรณ"
[04] ตอนที่ ๔ ผลของบุญ
[05] ตอนที่ ๕ เรื่องของเงินกับพระ
[06] ตอนที่ ๖ ลุงวงษ์เข้ามาอยู่วัด
[07] ตอนที่ ๗ เฉลยปริศนา "ลุงวงษ์" คือท่านขุนไกร
[08] ตอนที่ ๘ ประวัติ "ขุนไกรพลพ่าย"
[09] ตอนที่ ๙ ประวัติ "ขุนไกรพลพ่าย" (ต่อ)
[10] ตอนที่ ๑๐ ประวัติ "ขุนไกรพลพ่าย" (จบ)
[ ตอนที่ 1 ]
(รูปปั้น "พ่อขุนไกร" ภายในศาลพระภูมิของวัดท่าซุง)
"...วัดท่าซุง ซึ่งพระเดชพระคุณหลวงพ่อ "พระราชพรหมยาน" ได้ก่อสร้างเพื่อเป็นพุทธสถาน
และเพื่อต่ออายุพระพุทธศาสนาให้อยู่ครบ ๕,๐๐๐ ปี
และเพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้มาสักการะ เพราะว่าสถานที่นี้เคยเป็นสถานที่มีพระอริยเจ้ามาก่อน
ดังนั้นจึงมีเทวดาอารักษ์คอยปกปักรักษาวิหารวัตถุและทรัพย์สมบัติต่างๆ อันเป็นสมบัติของพระพุทธศาสนา
...เทวดาทั้งหลายที่ท่านดูแล ณ ที่นี้ มีโดยประมาณ ๑,๐๐๐ องค์ โดยมีหัวหน้าเทวดา ซึ่งคอยกำกับดูแลวัดท่าซุง คือ "ท่านท้าวเวหน" หรือชื่อเดิมของท่านคือ
"ขุนไกร"
บริเวณที่สร้างคุ้ม พระเดชพระคุณหลวงพ่อกล่าวว่า เป็นสถานที่ประชุมของเทวดาทั้งหลาย ที่ท่านดูแลรักษาวัดท่าซุง.."
(ศาลพระภูมิ ใหญ่ที่สุดในโลก)
"...พระเดชพระคุณหลวงพ่อจึงได้สร้างคุ้มไว้ให้ ซึ่งนับว่าคุ้มท้าวเวหน หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "ศาลพระภูมิ" ถือว่าใหญ่ที่สุดในโลกก็ว่าได้
คงไม่มีใครสร้างศาลพระภูมิได้ใหญ่เท่านี้
การสร้างให้ใหญ่ ใช่ว่าเทวดาท่านจะได้ประโยชน์จากความใหญ่โตของสิ่งก่อสร้าง เพราะว่าวิมานที่แท้จริงของท่านใหญ่โตและสวยงามกว่านี้มากนัก
ซึ่งไม่สามารถจะเปรียบเทียบกันได้เลย แต่การสร้างให้ใหญ่เช่นนี้ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพท่าน ที่ท่านมีเมตตาดูแลรักษาทุกสิ่งทุกอย่างของวัดท่าซุง
อันเป็นสมบัติของสงฆ์
แต่ท่าน "ท้าวเวหน" เป็นใครมาในอดีต จำต้องขออนุญาตนำประวัติจากหนังสือ "วงษานุสรณ์" ที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ
พิมพ์ไว้เป็นที่ระลึกงานเผาศพพี่ชายของท่าน เมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๑๔ ซึ่งผู้เขียนเก็บเอาไว้นานแล้ว อันมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ประวัติ นายวงษ์ สังข์สุวรรณ
โดย พระมหาวีระ ถาวโร (หลวงพ่อพระราชพรหมยาน)
...หนังสือ "วงษานุสรณ์" ที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้ไม่ใช่หนังสือไว้อาลัยคนตาย เป็นหนังสือเล่าเรื่องที่ผ่านมา ซึ่งท่านผู้ตายมีส่วนเกี่ยวข้องการเขียน
ก็เขียนตามอารมณ์ของคนเขียน ไม่ได้เอาแบบแผนของใคร
เพราะทราบดีว่า "หนังสือแจกงานศพ" แม้จะเขียนวิจิตรพิสดารก็หาคนอ่านจบยาก เมื่อเริ่มเขียน ตั้งใจจะจบลงเพียง ๑๐ หน้ากระดาษ
เห็นจะเป็นเพราะน้ำลายแตกหรืออย่างไรไม่ทราบ จึงเขียนมากไปตามที่ท่านเห็นอยู่นี้
นายวงษ์ สังข์สุวรรณ เป็นบุตรชายคนโตของ นายควง - นางสมบุญ สังข์สุวรรณ เกิดที่ ต.สาลี อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี
มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม ๕ คนคือ
๑. นายวงษ์ สังข์สุวรรณ (เกิดปี ๒๔๕๓ ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๓ ถึงแก่กรรมที่วัดท่าซุง อายุ ๖๐ ปี)
๒. นางสำเภา ยาหอมทอง (สังข์สุวรรณ) เกิดปี ๒๔๕๗ ถึงแก่กรรมเมื่อปี ๒๕๔๕ อายุ ๘๘ ปี อยู่บ้านสาลี อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี
๓. พระมหาวีระ สังข์สุวรรณ (พระราชพรหมยาน)
๔. พระมหาเวก (หวั่น) สังข์สุวรรณ (ต่อมาได้อุปสมบทเป็น พระครูพิศาลวุฒิธรรม (พระมหาเวก อักกวังโส) อยู่วัดดาวดึงษาราม กทม. เกิดวันที่ ๑๕ กรกฎาคม๒๔๖๓
มรณภาพเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๘)
๕. ด.ญ. อุบล สังข์สุวรรณ (เดิมชื่อ "พัว" เกิดปี พ.ศ.๒๔๖๘ ถึงแก่กรรมตั้งแต่อายุ ๔ ขวบ)
เมื่อโตอายุมากพอสมควร บิดามารดาส่งไปอยู่สำนัก "หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค" สมัยนั้นยังหาโรงเรียนยาก ต้องอาศัยศาลาวัดเรียนหนังสือ
มีพระสงฆ์ที่พอมีความรู้สอนให้ตามความสามารถ
ต่อเมื่ออายุได้ ๑๔ ปี ทางราชการจึงได้เริ่มตั้งโรงเรียนประชาบาลขึ้นที่วัดบางนมโค มีครูประจำ ๒ คนคือ "ครูสุวรรณ สว่างล้ำ"
ขณนั้นท่านเป็นพระดำรงตำแหน่งครูใหญ่ และท่านกำนันเกา เวียงวัง กำนันตำบลบางนมโค เป็นครูน้อย นายวงษ์ สังข์สุวรรณ เรียนสอบได้ประถมปีที่ ๒
ก็ต้องออกจากโรงเรียน เพราะโตเกินไป
พูดเรื่องเรียนเพลินไป เกือบลืมบอก วัน เดือน ปี เกิด นายวงษ์ เกิดปีจอ พ.ศ. ๒๔๕๓ เดือนยี่ (มกราคม) วันที่เท่าไหร่ ตรงกับวันขึ้นแรมเท่าไร
ผู้เขียนจำไม่ได้..."
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
◄ll กลับสู่สารบัญ
|
|
[ ตอนที่ 2 ]
[ Update 18 มีนาคม 2561]
ศีลสองของ "หลวงพ่อปาน"
...สมัยอยู่วัดกับหลวงพ่อปาน ที่วัดนี้ ถ้าเป็นศิษย์แท้ไม่ใช่ศิษย์จอมปลอมแล้วต้องรักษา "ศีลสอง" อย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นศิษย์ประจำ หรือศิษย์ที่อยู่ภายนอก คือคนที่ถวายตัวเป็นศิษย์ "ศีลสอง" ที่ต้องรักษาคือ...
๑. ต้องเว้นจากการดื่มสุราเมรัยอย่างเด็ดขาด
๒. เว้นจากการลักขโมยอย่างเด็ดขาด
ถ้าใครบอกว่าเป็นศิษย์หลวงพ่อปานแต่ยังบกพร่องเรื่อง "ศีลสองข้อ" นี้แล้วท่านผู้รับฟังอย่าเชื่อเขาเลย ถ้าเขาจะเป็นศิษย์หลวงพ่อปาน
เป็นศิษย์ประเภทอ้างอิง อาศัยชื่อท่านเป็นปัจจัยเท่านั้น เนื้อแท้แล้ว คงเป็นประเภทศิษย์คิดล้างครู ไม่ใช่ศิษย์ประเภทเชิดชูครูบาอาจารย์
หน้าที่ของศิษย์ "วัดบางนมโค"
...สำนักบางนมโค นอกจากศิษย์จะต้องรักษาศีลสองให้เคร่งครัดแล้ว กิจที่ต้องทำประจำคือ ต้องหัดหุงข้าวกะทะให้คล่อง ต้องเข้าเวรกันหุงข้าวถวายพระเป็นประจำวัน
นอกจากงานหุงข้าว ก็มีหน้าที่เอาอาหารแจกคนไข้ ที่มาขอให้หลวงพ่อปานรักษาโรค
เป็นพวกที่มีความยากจนมาก เงินไม่มีจ่าย ค่ายารักษาโรคก็ไม่มีให้ คนประเภทนี้ คณะศิษย์วัดต้องเข้าเวรกันแจกอาหาร นอกจากจะแจกคนไข้แล้ว
ก็ต้องคอยแจกอาหารให้แมวและสุนัขเป็นประจำวันอีก
ใครละเลยอาจมีโทษอย่างใดอย่างหนึ่งที่หลวงพ่อกำหนดไว้ กิจเหล่านี้ นายวงษ์ หรือเด็กชายวงศ์ สมัยนั้นทำได้ดีไม่เคยถูกลงโทษ เพราะปกติเป็นคนหัวอ่อน
ไม่ดื้อด้าน และดูเหมือนว่าไม่มี "ปริญญาเกเร" อย่างผู้เขียน
ผู้เขียนเองก็เข้าเวรกับเขาเหมือนกัน แต่ทว่าสันดานเกมันมีมากสักหน่อย ดูเหมือนว่าบ่อยครั้งที่นายวงษ์ผู้เป็นพี่ชาย ต้องทำงานแทนให้เสมอ
เพราะเกรงว่าเจ้าน้องชายจอมเกเรจะถูกลงโทษเ
พราะอาศัยหลงพ่อปานท่านสงเคราะห์พวกเรามาตั้งแต่เด็ก ให้เว้นการดื่มสุราเมรัย และเว้นจากการลักขโมย
เมื่ออกมาจากสำนักท่านแล้วก็ไม่มีใครเป็นคนติดสุราเมรัยกันเลย
เรื่องลักขโมยก็ไม่มีอาชีพอย่างนั้น แถมมาอยู่บ้าน ท่านพ่อท่านแม่ ท่านก็ไม่ติดสุราเมรัย แถมไม่ชอกการพนัน ถ้าทราบว่าใครเข้าใกล้วงการพนันเมื่อไร
เป็นถูกลงโทษทันทีก็เลยได้ศีลข้อที่ ๓ เข้าไว้อีกข้อหนึ่ง คือ "ศีลเว้นการพนัน"
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
◄ll กลับสู่สารบัญ
|
|
[ ตอนที่ 3 ]
[ Update 26 มีนาคม 2561]
ชีวิตครอบครัว "สังข์สุวรรณ"
"...ต่อมาพวกน้องๆ มีโอกาสไปเรียนที่กรุงเทพ แต่นายวงษ์ก็ไม่มีโอกาส เพราะเป็นบุตรชายคนโต ต้องทำเงินส่งน้องๆ
จึงมีการศึกษาด้านหนังสือน้อยไป
แต่ได้กำไรที่ได้รับการศึกษาทางใจ คือรักษาศีลสองข้อเคร่งครัด และแถม "ศีลเว้นการพนัน" อีกข้อหนึ่งเป็นทุน ที่จะทำตนให้พ้นจากอบายได้ส่วนหนึ่ง
ต่อมาก็ได้แต่งงานกับ "นางไถ้" มีบุตรชายและหญิงรวมกัน ๔ คน ต่อมานางไถ้ภรรยาเดิมตายก็ได้แต่งงานกับ "นางเฟือง" ที่อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท
อยู่ด้วยกันจนถึงวันมรณะ
นายวงษ์ตายเมื่อเช้าตรู่ เวลา ๐๕.๐๐ น วันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๑๓ ของทางราชการ ถ้านับตามแบบของพระก็ต้องถือว่า เป็นวันที่ ๒ เพราะยังไม่ได้อรุณของวันที่
๓..."
โรคที่ทำให้ตาย
"...นายวงษ์ ตามปกติเป็นคนไม่ใคร่มีโรคภัยไข้เจ็บ แต่อาศัยกฏธรรมดาของสังขาร ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เป็นสัจธรรม คือ "ความจริง"
ที่ไม่มีอะไรมาเปลี่ยนแปลงขัดขวางได้
โรคที่ทำให้ตายทราบจากตัวผู้ตายเองแจ้งให้ทราบว่า ตายเพราะลำไส้มีอาการเกร็งตีบ โรคนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่เจ้าตัวและหมอประจำตัวอาจไม่เข้าใจ
อาการเป็นลมแล้วหมดแรง ถามจากภรรยาผู้ตายว่า เคยเป็นมาแล้วกี่ปี ได้รับคำตอบว่า เป็นมาประมาณ ๒ ปี
อาการอย่างนี้เป็นอาการของการถ่ายไม่หมด อาจเป็นเพราะกระเพาะยาน หรืออาการเกร็งตีบของลำไส้ก็ได้ หมอท่านเคยบอกว่าอย่างนั้น
แต่สำหรับรายนี้ได้รับแจ้งว่า ตายเพราะอาการของโรคนี้เป็นปัจจัยใหญ่ และมีอาการโรคอย่างอื่นผสมอีก ตามโอกาสที่ร่างกายจะรับอาการของโรคต่างๆ ได้
โรคนี้เมื่อปีที่แล้วเคยเป็น ๓ ครั้ง ได้แนะนำให้ใช้ยาที่ไม่เป็นอันตรายแก่ลำไส้ ให้ใช้เป็นยาถ่ายเบาๆ เพื่อกันแก๊สเมื่อมีอาหารคั่ง
แต่ผู้ตายเป็นคนกลัวยาก็รู้สึกหนักใจมาก ต้องคอยเตือนกัน.."
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
◄ll กลับสู่สารบัญ
|
|
[ ตอนที่ 4 ]
[ Update 3 เมษายน 2561]
ผลของบุญ
"...นายวงษ์ สังข์สุวรรณ เป็นศิษย์สำนัก "หลวงพ่อปาน" ตั้งแต่สมัยเด็กๆ และเมื่อโตก็เก็บเอาคำสอนของท่านมาใช้
ไม่ใช่เก็บคำสอนไว้ในตู้อย่างบรรดาท่านนักพ่นทั้งหลายที่เคยเห็น
เรื่องของนายวงษ์ หรือที่ผู้เขียนเรียกว่า "ลุงวงษ์" แกก็ได้รับมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษอย่างหนึ่ง คือเรื่องของ "ภาวนา" ท่านแม่ท่านพ่อเป็นบริษัทของ
"หลวงพ่อปาน"
หลวงพ่อปานท่านเป็นนักเทศน์ นักภาวนา นักเสียสละ ที่หาพระที่ทำอย่างท่านได้น้อยองค์ ไม่ใช่ไม่มี มีพระทำอย่างนั้นได้หลายท่าน
แต่ถ้าเอาปริมาณพระในประเทศไทยที่บวชนานและบวชไม่นาน ภายในเข้าพรรษาที่นับได้ปีละไม่น้อยกว่า สองแสนองค์มาเปรียบเทียบ
แล้วก็จะได้พระนักเสียสละอย่างหลวงพ่อปานไม่ถึงร้อยละ ๓% ของจำนวนพระที่มีในประเทศไทย
เมื่อมาอยู่กับหลวงพ่อปาน เมื่อท่านเป็นต้นตอของการภาวนา ก็เลยได้รับการศึกษาต่อจากท่านอีก การภาวนาว่า "อรหัง" หรือ "พุธโธ"
ที่ท่านนักปฏิบัติเรียกว่าล้าหลังเกินไปนั้น
ลุงวงษ์ทำจนเป็นอุปนิสัยปัจจัยประจำ ก่อนนอนเมื่อถึงเวลา ๒๐.๐๐ น. ตรง แกจะเข้าที่บูชาพระแล้วสมาทานกรรมฐานตามที่หลวงพ่อปานสอน ผลนี้จะมีเพียงใด
ลุงวงษ์เท่านั้นที่จะทราบได้ไม่มีคนอื่นใดที่จะกล้าพยากรณ์
ลางสังหรณ์
...ก่อนที่ลุงวงษ์จะตายเมื่อต้นเดือนตุลาคม ๒๕๑๓ น้ำท่วมเต็มที่ อาคารทุกหลังน้ำขึ้นสูงกว่าพื้นมาก ตอนน้ำมากนี่แหละ ปรากฏลางสังหรณ์ขึ้น
เพราะลุงวงษ์ต้องเปียกน้ำทั้งวัน ร่วมกับพระช่วยกันขนย้ายหนีน้ำ
วันนั้นดูเหมือนจะเป็นวันที่ ๑๐ ตุลาคม เมื่อลุงวงษ์นำอาหารไปเลี้ยงพลพรรค (สุนัข) เมื่อมองหน้าความรู้สึกก็ปรากฏแก่อารมณ์ว่า อีกไม่กี่วันลุงวงษ์จะตาย
เมื่อความรู้สึกเกิดขึ้น ก็รู้สึกตกใจนิดหน่อย เพราะความรู้สึกอย่างนี้ไม่เคยพลาด แต่ก็ไม่แน่ใจ คิดว่าตนเองกำลังป่วยไข้ อุปาทานอาจเข้าครอบงำ
ทำให้เกิดความรู้สึกอย่างนั้นก็ได้
แต่อารมณ์อย่างนั้นมีปรากฏขึ้นอีก เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม คราวนี้แน่ใจว่าลุงวงษ์ต้องตายแน่ๆ ทั้งๆ ที่ขณะนั้นแกยังไม่ป่วยไข้อะไรเลย
อารมณ์อย่างนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ก็จะไม่อธิบายให้ทราบ เพราะถ้าบอกไว้ในที่นี้ ก็จะกลายเป็นปัญหาโลกแตก เหมือนเรื่องวิญญาณ "มิตร ชัยบัญชา"...
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
◄ll กลับสู่สารบัญ
|
|
[ ตอนที่ 5 ]
[ Update 19 เมษายน 2561]
เรื่องของเงินกับพระ
"...เมื่อความแน่ใจว่า "ลุงวงษ์" จะตายเกิดขึ้นก็ตรวจเงินในกระเป๋า เรื่องเงินนี้ที่ทาง "พระวินัย" ท่านห้ามพระจับ บางท่านไม่จับ
แต่ให้คนอื่นรับแทน และเก็บไว้เพื่อท่าน ท่านเองก็รับทราบจำนวนเงินของท่านว่ามีเท่าไร อาการอย่างนี้ ทางพระวินัยไม่ได้ลดโทษ
เรื่องพระจับเงิน หรือไม่รับเอง ให้คนอื่นรับแทน หรือให้คนอื่นเก็บแทน ก็มีโทษเท่ากัน ไม่มีเงินก็ไปไหนไม่ได้ หิยก็ขอเขากินไม่ได้ ร้านค้าเขาไม่ยกเว้นพระ
จะต้องการอะไรก็ต้องใช้เงิน
พระวินัยมาตรานี้ เหมือนกับมาตรารับของโจร ในประมวลกฎหมายอาญา นักวินัยหรือนักกฎหมาย ก็ลองชช่วยกันพิจารณาเองก็แล้วกัน
ว่ามีทางใดบ้างจะหลีกเลี่ยงได้ เมื่อเลี่ยงไม่ได้ก็ทำตามที่จำเป็น ดีกว่ามานั่งโกหกชาวบ้าน ทำตนเป็นคนไม่ยินดีในทรัพย์ แต่ก็รับเงินที่เขาถวายทุกคราว
อาการอย่างนี้เข้าใจว่าเป็นประเภท "ต่อหน้ามะพลับ ลับหลังตะโก" คนยากลำบากใจ คนคบเราดีชั่วเพียงใด มีดีตรงไหน ชั่วตรงไหน
เปิดให้ชาวบ้านเขาพิจารณาเอาเอง เขาอยากไหว้เขาก็ไหว้ ไม่อยากไหว้ก็ให้เป็นภาระของเขาเอง อย่ามาหลอกให้เขาหลงว่าเลิศเพื่ออะไรกัน
ความคิดอย่างนี้ เป็นความคิดของคนป่าคนดงอย่างผู้เขียน ท่านที่อยู่สถานที่เจริญแล้ว ท่านจะทำอย่างไรจึงควร นั่นเป็นภาระของท่าน
เพราะทุกท่านต้องปฏิบัติตนให้สมควรแก่กาลและประเทศ คือเวลาและสถานที่
เตรียมทุนจัดงานศพ "ลุงวงษ์" ไว้ล่วงหน้า
...เรื่องของเงินกับพระขอผ่านไป มาว่ากันเรื่องเงินทุน เมื่อทราบว่าลุงวงษ์จะตาย ในฐานะที่ต้องรับภาระไม่ว่าป่วยหรือตายก็ต้องใช้เงิน
มาตรวจเงินในกระเป๋าวันนั้น เห็นมีอยู่ ๑๐๓.๒๕ บาท
หยิบสมุดธนาคารออมสินขึ้นมาดู เห็นเลข ๘๖ บาท ตั้งแต่ ๒๕๑๒ จนกระทั่งจวนสิ้น ๒๕๑๓ เลขมันก็ไม่งอกออกมาเลย
แสดงว่าเป็นคนมีฐานะมั่นคง มีเงินคงคลังไม่คลอนแคลน ๒ ปีก็คงมีเงิน ๘๖ บาทเป็นปกติ อย่างนี้แสดงว่ารักษาระดับเศรษฐกิจไว้ทรงตัว
เมื่อเอาเงินสดที่มีอยู่ กับเงินในออมสินมารวมกัน ก็มีไม่ถึง ๒๐๐ บาท เรื่องความหนักชักจะมีขึ้นบ้าง แล้วอารมณ์นั้นก็สลายตัวไป เพราะคิดว่าสุดแล้วแต่เรื่อง
เมื่อแกจะตาย ใครจะห้าม มีเท่าไรทำเท่านั้น หมดเรื่องวิตกกันที
แต่อีกอารมณ์อันหนึ่งก็คิดว่า ใครนะที่มีอำนาจยับยั้งได้ ถ้าจะชลอไปให้ลุงวงษ์ตายหลังงานกฐินก็จะดี เพราะเวลานี้ใกล้เข้ามาแล้ว แต่ก็เป็นบุญแท้ๆ
ที่แกมาตายเมื่องานกฐินผ่านไป คือเช้าตรู่จะถึงวันที่ ๓ พ.ย. พ้นทุกข์ไปได้..."
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
◄ll กลับสู่สารบัญ
|
|
[ ตอนที่ 6 ]
[ Update 27 เมษายน 2561]
ลุงวงษ์เข้ามาอยู่วัด
...เรื่องนี้ขอแจ้งไว้เพื่อทราบว่า ด้วยมีหลายคนสงสัยว่า ลุงวงษ์มาอยู่วัดเพื่ออะไร มาอาศัยวัดกินเพราะความยากจนหรือ ขอบอกเพียงสั้นๆว่า
ลุงวงษ์อยู่วัดเพราะผู้เขียนขอร้องให้มาช่วยควบคุมงานภายใน และช่วยสร้างอาคารทุกหลังที่เห็นภาพ และที่ไม่ได้นำภาพมาลง
นอกจากจะมาช่วยแล้ว ลุงวงษ์ได้มอบเงินค่าเช่านาของแกร่วมในงานก่อสร้างด้วยปีละ ๑,๐๐๐ บาททุกปี เท่านี้ก็พอจะทราบแล้วว่า ลุงวงษ์มาอาศัยอยู่วัด
หรือวัดอาศัยลุงวงษ์
ความประสงค์ที่แท้ก็อยากให้ลุงวงษ์มาอยู่วัด เพื่อตัดความเห็นว่า ขันธ์ห้าเป็นเรา เป็นของเรา เรามีในขันธ์ และขันธ์ห้ามีในเรา
และตัดความสงสัยในผลการปฏิบัติ ทำศีล ๕ ให้มีครบประจำตลอดวัน
ผลนี้จะพึงมีเพียงใด ลุงวงษ์เท่านั้นที่จะได้ ขอตอบว่า ลุงวงษ์ตาย ผู้เขียนไม่เสียดาย เพราะลุงวงษ์ทิ้งความหนักไปสู่ความเบา ไม่หนาว ไม่หิว ไม่ร้อน
มีความเบาพอแก่ความประสงค์ของผู้เขียน เท่านี้ก็เป็นที่พอใจแล้ว
ถือว่าได้สนองความดีของลุงวงษ์ ตามสมควรแก่ความสามารถแล้ว และไม่ใช่ถือว่าชำระหนี้บุญคุณหมด เรื่องบุญคุณไม่มีใครชำระหมดได้
นอกจากพวกมิจฉาทิฏฐิเท่านั้น ที่จะคิดว่าชำระหนี้ความดีหมด เรื่องนี้เป็นเรื่องของธรรมของดไม่พูดอีก
หนังสือแจกงานศพ เขียนมาก คนรับไปก็อ่านไม่หมด ขอสรุปเอาง่ายๆ ว่า เรื่องของพี่วงษ์ผ่านไป มาพูดเรื่องสร้างวัดท่าซุงดีกว่า
ที่เอารูปวัดที่สร้างมาลงไว้ในหนังสือบางส่วน ก็เพราะพี่วงษ์มีส่วนร่วมในงานก่อสร้าง จัดเครื่องมือทำงาน ช่างกลับแล้ว ก็เลิกงานไม่ได้
ต้องเก็บเครื่องมือของใช้ กว่าจะได้พักก็ค่ำ
ตัวเองเป็นช่างด้วย งานหลายชิ้นที่มีขึ้นเพราะน้ำมือของพี่วงษ์ โดยที่ไม่ต้องอาศัยช่าง เมื่อพี่วงษ์มีความสัมพันธ์ในงานก่อสร้างทุกส่วน
จึงได้นำรูปงานก่อสร้างบางส่วนมาลงไว้ในหนังสือ เพื่อเป็นอนุสรณ์ความดี
ท่านผู้อ่านคงจะสงสัยว่า ผู้เขียนและพี่วงษ์มาอยู่วัดท่าซุงเพื่ออะไร มาอาศัยวัดท่าซุงอยู่ เพราะไม่มีที่อยู่กระนั้นหรือ หรือว่าใครเชิญมา
จะบอกให้ทราบเพียงย่อๆ เพื่อทราบไว้
พระมหาวีระ ถาวโร
หนังสือที่ระลึกงานฌาปนกิจศพ นายวงษ์ สังข์สุวรรณ
เมื่อวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๔
...ผู้เรียบเรียงขออธิบายเพิ่มเติม : ต่อมาเมื่อเผาศพลุงวงษ์แล้ว หลวงพ่อก็ได้ปั้นรูปไว้เป็นอนุสรณ์ที่หน้าตึกกรรมฐานเก่าข้างหอฉัน
เพราะหลังจากท่านตายไปแล้ว หลวงพ่อบอกว่าท่านไปเป็นเทวดารักษาวัดมีชื่อว่า "ท้าวเวหน"
ปัจจุบันจึงได้หล่อรูปท่านไว้ที่นี่ และท่านบอกว่า สมัยกรุงศรีอยุธยา "ลุงวงษ์" เคยเกิดเป็นขุนไกร (พ่อของขุนแผนอีกด้วย)
หลังจากหลวงพ่อมรณภาพแล้ว ในวันงานทำบุญประจำปีทุกปี จะมีการทำพิธีบวงสรวงที่นี่ เมื่อท่านเจ้าอาวาส (พระราชภาวนาโกศล) ทำพิธีบวงสรวงเสร็จแล้ว
จึงมีการแสดงรำดาบ เพื่อเป็นการรำถวายแด่เทพเจ้าทั้งหลายอันมี "ท้าวเวหน" หรือ "พ่อขุนไกร" เป็นต้น
เรียบเรียงโดย พระชัยวัฒน์ อชิโต (ธัมมวิโมกข์ ฉบับที่ ๒๔๓)
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
◄ll กลับสู่สารบัญ
|
|
[ ตอนที่ 7 ]
[ Update 6 พฤษภาคม 2561]
เฉลยปริศนา "ลุงวงษ์" คือท่านขุนไกร
...เมื่อตอนที่แล้วเป็นตอนจบของการเล่าใน "หนังสือที่ระลึกงานฌาปนกิจศพ" นายวงษ์ สังข์สุวรรณ ซึ่งเป็นพี่ชายของหลวงพ่อฯ เมื่อปี ๒๕๑๔
แต่ตอนนั้นหลวงพ่อก็ไม่ได้กล่าวถึง "ท่านขุนไกร" ว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไร โดยเฉพาะรูปปั้นของท่านขุนไกร หลวงพ่อกลับเอากระดูกของ "ลุงวงษ์" บรรจุไว้
เรื่องนี้จึงเป็นปริศนามานาน จนกระทั่งวันหนึ่งหลวงพ่อได้เล่าว่า...
"...ท่านท้าวมหาราชท่านมาบอกว่า "ท่านท้าวเวหน" เป็นเทวดาชั้นจาตุมหาราช ท่านคือ "ขุนไกร" บิดาของ "ขุนแผน" หรือ
"พระยากาญจนบุรี"
อาตมาให้ "ช่างประเสริฐ" ที่วัดท่าซุงปั้นรูปท่านไว้แต่ไม่มีแบบปั้น จึงบอกว่าให้ปั้นตามใจชอบ ช่างจึงปั้นรูปหน้าคล้าย "ลุงวงษ์" พี่ชายของอาตมาที่ตาย
และเคยอยู่ที่วัดท่าซุง
เมื่อปั้นเสร็จแล้วจึงนำกระดูกลุงวงษ์เข้าบรรจุไว้ ให้ชื่อว่า "นายวงษ์ สังข์สุวรรณ" ที่รูปนั้น แต่ความจริงเป็นรูปของ "ขุนไกร"
ที่ว่าเป็นรูปของ "ท่านขุนไกร" จริงๆ ก็เพราะว่า มีครั้งหนึ่งที่อาตมาไปกรุงเทพฯ ก็มีคนจะมาถ่ายรูปท่านขุนไกร คนที่อยู่วัดก็ดี พระก็ดี
ไม่มีใครรู้จักท่านขุนไกร
คนที่มาก็บอกว่าท่านขุนไกรไปเข้าทรงที่ "แม่สอด" การเข้าทรงของท่านพูดอะไรก็ตรงไปตรงมา จริงทุกอย่าง แต่ทว่าพอเขาจะถ่ายรูปท่านก็บอก
"...มึงจะถ่ายอะไรวะ ถ่ายรูปเวลานี้ มึงก็ถ่ายรูปอีคนทรง มันจะติดกูได้อย่างไร รูปกูเขาปั้นไว้ที่วัดท่าซุง ห่างจากอำเภอเมืองไปประมาณ ๖ กิโลเมตร
จังหวัดอุทัยธานี เขาปั้นไว้เหมือนเปี๊ยบเชียว ไปขอถ่ายที่นั่น..."
พระที่วัดก็เลยบอกว่า รูปอื่นไม่เห็นมี มีแต่รูปปั้นคุณลุงวงษ์ เวลานั้นรูปปั้นใหญ่มีรูปเดียวยังไม่มีรูปใคร เขาก็ถ่ายภาพไป
จึงได้ทราบว่า "ท่านท้าวเวหน" ก็คือ "ท่านขุนไกร" บิดาของ "ท่านขุนแผน" หรือ "ท่านพระยากาญจนบุรี..."
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
◄ll กลับสู่สารบัญ
|
|
[ ตอนที่ 8 ]
[ Update 15 พฤษภาคม 2561]
ประวัติ "ขุนไกรพลพ่าย"
... ขุนไกรพลพ่าย (ขุน-ไกรฺ-พน-ละ-พ่าย) หรือเรียกโดยย่อว่า "ขุนไกร" เป็นชื่อบรรดาศักดิ์ฝ่ายทหารของตัวละครตัวหนึ่ง
ในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน
- พื้นเพ
ขุนไกรเป็นบิดาของ "พลายแก้ว" ผู้ต่อมามีบรรดาศักดิ์ว่า "ขุนแผน" และเป็นสามีของ "นางทองประศรี" ขุนไกรต้องโทษประหารชีวิตตั้งแต่บุตรยังเล็กๆ
พื้นเพขุนไกรเป็นคน "บ้านพลับ" จังหวัดกาญจนบุรี พบรักกับ "นางทองประศรี" ชาวบ้าน "วัดตะไกร" จังหวัดเดียวกัน จังหวักาญจนบุรี
เขตหมู่บ้านทั้งสองนี้ ปัจจุบันจะคงอยู่หรือไม่ไม่อาจทราบได้ ทั้งสองเมื่อสมรสกันแล้วก็พากันไปตั้งครอบครัวใหม่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี
มีบุตรด้วยกันเพียงคนเดียวคือ "พลายแก้ว" ด้านลักษณนิสัยของขุนไกรนั้น เสภาขุนช้างขุนแผนบรรยายว่า
...เป็นทหารชาญชัยใจฉกรรจ์ คุมไพร่ทั้งนั้นได้เจ็ดร้อย
อาจองคงกระพันชาตรี เข้าไหนไม่มีที่จะถอย
รบศึกศัตรูอยู่กับรอย ถึงมากน้อยทหารไม่หนีมา
กรมการเมืองสุพรรณสั่นหัว เข็ดขามคร้ามกลัวใครไม่ฝ่า
โปรดปรานเป็นทหารอยุธยา มีสง่าอยู่ในเมืองสุพรรณ
- เศรษฐกิจ
ส่วนด้านเศรษฐกิจนั้น ขุนไกรเป็นข้าราชการที่มีฐานะมั่งมีพอสมควร โดยศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายว่า
ครอบครัวของขุนแผน ขุนช้าง และนางพิมนั้นปรากฏว่าเป็นครอบครัวที่มีฐานะดี ร่ำรวย มีทั้งทรัพย์และผู้คนไว้ใช้สอยทุกครอบครัว
ที่เป็นเช่นนี้เพราะข้าราชการสมัยนั้น ไม่มีกฎบังคับว่าต้องอุทิศเวลาทั้ง ๒๔ ชั่วโมงให้แก่ทางราชการ แต่มีสิทธิที่จะทำมาหากินในทางส่วนตัวได้
จึงสามารถสร้างฐานะของตนให้ดีได้ตาม ๆ กัน คติที่ว่ามีทางทำมาหากินให้ร่ำรวยได้ในราชการนั้น ถึงในปัจจุบันนี้ก็ดูเหมือนจะยังไม่หมดไป
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
◄ll กลับสู่สารบัญ
|
|
[ ตอนที่ 9 ]
[ Update 24 พฤษภาคม 2561]
ประวัติ "ขุนไกรพลพ่าย" (ต่อ)
- เชื้อชาติ
...หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช สันนิษฐานว่าขุนไกรเป็นชาวมอญ โดยให้ข้อสังเกตว่า สังเกตดูจากคำนำหน้านาม ที่เรียกผู้ชายในตระกูลของขุนไกรว่า "พลาย"
เช่น พลายแก้ว พลายงาม แล้ว สันนิษฐานว่า "ขุนไกร" จะเป็นมอญ หรือเป็นคนมีเชื้อมอญ ที่อพยพเข้ามาอยู่ในพระราชอาณาจักร
คำว่า "พลาย" นั้นเป็นภาษามอญ แปลว่าหนุ่ม หรือแปลว่าผู้ชายที่แข็งแรง ในภาษาไทยก็ยังใช้ แต่ใช้เรียกช้างตัวผู้ว่า "ช้างพลาย"
- ชีวิตราชการ
...นอกจากนี้ ด้วยเหตุที่ขุนไกรเป็นข้าราชการทหาร สังกัดกรมอาทมาต ซึ่งเป็นกรมของสายลับ มีหน้าที่ไปแฝงตัวสอดแนมอยู่ตามประเทศเพื่อนบ้านของไทยแล้ว
ในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวจะใช้คนไทย ซึ่งไม่ชำนาญภาษาเพื่อนบ้าน และมีความแตกต่างกับคนเหล่านั้นอยู่อักโขก็ไม่เหมาะสม
และคนมอญนั้นนอกจากพูดภาษาพม่าได้ดีเป็นภาษาที่สองของตนแล้ว ยังมีความเป็นอยู่เฉกเช่นเดียวกับชาวพม่าอีก
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช จึงสันนิษฐานด้วยเหตุข้างต้นว่า ขุนไกรผู้สังกัดกรมดังกล่าวน่าจะมีเชื้อมอญ
ชีวิตราชการขุนไกรเป็นข้าราชการทหารสังกัดกรมอาทมาต ซึ่งเป็นกรมของสายลับ มีหน้าที่ไปแฝงตัวสอดแนมอยู่ตามประเทศเพื่อนบ้านของไทย
โดยขุนไกรมีอำนาจควบคุมทหารเจ็ดร้อยนาย และประจำอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรีนั้นเอง นอกจากนี้ ในเขตจังหวัดสุพรรณบุรีมีฝูงควายป่าชุกชุม
ซึ่งรัฐบาลไทยสมัยนั้น จัดให้เป็นสัตว์อนุรักษ์พันธุ์ จึงมอบหมายให้ "ขุนไกร" มีหน้าที่อนุรักษ์พันธุ์ควายป่านั้นไว้ด้วย
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
◄ll กลับสู่สารบัญ
|
|
[ ตอนที่ 10 จบ ]
[ Update 7 มิถุนายน 2561]
ประวัติ "ขุนไกรพลพ่าย" (จบ)
การถึงแก่กรรม
(ขุนไกร คือ "ท้าวเวหน" เทวดาผู้รักษาวัดท่าซุง)
...ต่อมา "สมเด็จพระพันวษา" พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาในสมัยนั้น เสด็จทอดพระเนตรฝูงควายป่าดังกล่าว
ขุนไกรซึ่งคุมกองทหารมากมายจึงมีหน้าที่ถวายอารักขา และต้อนควายป่ามาให้ทอดพระเนตร
ในการออกจากบ้านไปทำหน้าที่ในวันนั้น เหตุที่ดวงขุนไกรถึงฆาต จึงปรากฏเป็นลางร้ายบอกเหตุต่าง ๆ นานาที่บ้านขุนไกร ดังเสภาขุนช้างขุนแผนว่า
...ให้มีลางคืนนั้นสนั่นอึง แมงมุมตีอกผึงหาหยุดไม่
สยอดสยองพองขนทุกคนไป เย็นยักเยือกจับใจไปทุกยาม
นอกจากนี้ ในคืนที่ขุนไกรอยู่บ้านเป็นครั้งสุดท้าย นางทองประศรียังหลับฝันร้ายว่า ฟันร่วงจากปากอีกด้วย ฝันเช่นนี้เชื่อกันว่าเป็นฝันร้ายนัก
เพราะถ้าใครฝันแล้ว บิดา มารดา สามี หรือภรรยาของผู้ฝันนั้นจะถึงแก่ความตาย
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายว่า
...เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องแปลก ผมเองเป็นคนไม่ค่อยจะเชื่อถือในโชคลางแต่อย่างใดเลย โดยเฉพาะเรื่องฝันนั้นถ้าจะว่าไปก็เกือบฝันไม่เป็น
และถ้าเกิดฝันขึ้นแล้วก็มักจะจำไม่ได้เมื่อตื่นขึ้น
แต่ในคืนก่อนที่พ่อผมจะตายนั้น ผมจำได้เป็นแน่นอนว่า ผมฝันว่าฟันผมยุ่ยเป็นแป้งไปทั้งปากจนไม่มีเหลือ
พอตื่นขึ้นในรุ่งเช้าวันนั้นอีกไม่กี่ชั่วโมงพ่อผมก็ตาย
- ถูกประหารชีวิต
วันที่ขุนไกรไปปฏิบัติหน้าที่ ฝูงควายป่าเกิดแตกตื่นเป็นโกลาหลอยู่หน้าที่นั่ง และมีที่ท่าว่าจะฝ่าเข้ามาถึงพระที่นั่ง
ขุนไกรจึงคว้าหอกไปยืนประจันกับฝูงควาย แล้วไล่แทงจนล้มตายสุมกันนับร้อยตัว เพื่อป้องกันพระองค์
ฝ่ายสมเด็จพระพันวษานั้นมีพระราชประสงค์อนุรักษ์ฝูงควายป่านั้นไว้ และสนพระราชหฤทัยในความเป็นอยู่ของควายฝูงนี้ยิ่งนัก
ถึงขนาดเสด็จมาทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง
แต่เมื่อขุนไกรผู้มีหน้าที่รักษาพันธุ์ควายป่ากลับประหารควายป่าเสียเอง จึงทรงพระโกรธยิ่ง มีรับสั่งให้ประหารชีวิตขุนไกรในทันทีทันใดนั้น
แล้วให้นำศพของขุนไกรเสียบขาหย่างถ่างไว้ประจาน กับให้ริบลูกเมีย ข้าทาสบริวาร ตลอดจนทรัพย์สินต่าง ๆ ของขุนไกรเข้าเป็นของหลวงสิ้น
"ขุนไกรนั้นพอได้ยินว่าตนจะถูกประหารชีวิต ก็ดูออกจะเสียสติไม่สมกับชายชาติทหารเลย เพราะร้องห่มร้องไห้และพรรณนาไปต่าง ๆ คร่ำครวญ
และเกลือกกลิ้งอยู่บนพื้นดินเหมือนคนขาดสติ..."
"หลวงฤทธานนท์" เพื่อนเก่าของขุนไกรซึ่งอยู่ ณ ที่นั้นด้วย จึงเข้ามาปลอบโยนจนขุนไกรได้สติ ยอมให้เพชฌฆาตมัดตัวกับหลักที่จะประหารชีวิต
ในท่านั่งประนมมือบนพื้นดินอย่างการประหารชีวิตทั่ว ๆ ไป แล้วหลับตานึกในใจว่า ขอตายอย่างชายชาติทหาร และชี้นิ้วสั่งให้เพชฌฆาตลงมือได้เลย
ระหว่างนั้น หลวงฤทธานนท์ได้แจ้งข่าวแก่นางทองประศรี นางจึงหอบลูกและเงินอีกสองถูงหลบหนีไปอาศัยกับญาติของสามีที่ ตำบลเขาชนไก่ จังหวัดกาญจนบุรี
และเริ่มนับหนึ่งตั้งเนื้อตั้งตัวใหม่ จนกลับมามั่งคั่งอีกครั้งหนึ่ง
ที่มา - https://th.wikipedia.org/wiki/ขุนไกรพลพ่าย
◄ll กลับสู่สารบัญ
|
|
|
|