Not logged in [Login - Register]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites ตั้งหัวข้อใหม่
[*] posted on 29/6/08 at 17:38 [ QUOTE ]

ประวัติงานศูนย์สงเคราะห์ฯ และ มูลนิธิหลวงพ่อปาน - พระมหาวีระ ถาวโร


ศูนย์สงเคราะห์ผู้ยากจนในถิ่นทุรกันดาร
ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙
ร่วมกับ "กองทุนหลวงพ่อปาน - พระมหาวีระ ถาวโร (ฤาษีลิงดำ)”



(เทปชุดนี้เป็นการบันทึกเสียงนอกสถานที่เท่าที่ยังมีเหลืออยู่ เป็นงานแจกของในถิ่นทุรกันดาร ที่หลวงพ่อเพิ่งเริ่มตั้งศูนย์สงเคราะห์ฯ กันใหม่ๆ มีเจ้าหน้าที่กองทุนร่วมเดินทางกันมากมาย แม้เสียงจะไม่ค่อยชัด

แต่ขอให้พยายามฟังทุกขั้นตอน แล้วตั้งจิตอนุโมทนาไปด้วย เท่านี้ก็จะสามารถย้อนรำลึกบุญ "งานสาธารณประโยชน์" ร่วมไปกับท่านได้อย่างเต็มที่ ถ้าจะนับเวลาในวันนั้น วันที่ 27 พ.ย. 2521 จนถึงวันนี้ 6 ส.ค. 2551 ได้บันทึกเสียงไว้เป็นเวลาไม่นานนัก แค่ 30 ปีเอง เพิ่งจะได้ฟังกันในวันนี้แหละ)


(จึงขอเชิญรับฟังได้เลย โปรด "คลิก" แต่เสียงจะยังไม่มาทันที แล้วแต่ความเร็วเน็ตของท่าน จะต้องรอโหลดสักครู่ จึงจะมีเสียงมา แล้วค่อยเลือกรับฟังตามอัธยาศัย นับว่าเป็นของหายาก มีอยู่เพียงแค่นี้เอง ขอขอบคุณพระเจ้าที่ตึกกองทุนด้วย)

หลวงพ่อแจกวัตถุสิ่งของ
ณ วัดพระบาทห้วยต้ม
เมื่อ วันที่ 27 พ.ย. 2521
ลำดับที่รายการคลิกฟังเสียง
01หลวงพ่อวางแผนก่อตั้ง โรงเรียนราชานุเคราะห์ 2
กับ พ.อ.ชวาล กาญจนกุล
02หลวงพ่อกล่าวปราศรัยกับชาวกะเหรี่ยง
วัดพระบาทห้วยต้ม
03เด็กน้อยชาวกะเหรี่ยง ชื่อ "นอนุ" ได้กล่าวนำ
สมาทานศีลกับหลวงพ่อ
04เด็กน้อยชาวกะเหรี่ยง ชื่อ "นอนุ" กล่าวคำ
ถวายทานและหลวงพ่อให้พร
.

(คลิปเสียงชุดนี้ ลิขสิทธิ์เป็นของวัดท่าซุง จัดทำโดย พระเจ้าหน้าที่ตึกกองทุน)



(เด็กชายนอนุ กำลังกล่าวคำอาราธนาศีล และคำถวายทานแด่พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ
ภาพต่อมาเป็นการถ่ายภาพร่วมกับ ดช.นอนุ และพ่อของเขา ตั้งแต่เมื่อ ปี 2519)

)


ความเป็นมาของศูนย์สงเคราะห์ผู้ยากจนในถิ่นทุรกันดาร

การสงเคราะห์ช่วยเหลือราษฎรยากจนในแดนทุรกันดารของพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (พระมหาวีระ ถาวโร) และคณะศิษยานุศิษย์วัดจันทาราม (ท่าซุง) อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี ได้เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๒ นับตั้งแต่ท่านมาอยู่วัดใหม่ๆ โดยร่วมแรงร่วมใจบริจาควัตถุปัจจัยออกเยี่ยมราษฎรยากจนในถิ่นทุรกันดาร ตลอดจนเยี่ยมบำรุงขวัญตำรวจทหารชายแดนในจังหวัดต่าง ๆ

ต่อมาคณะศิษยานุศิษย์และบรรดาผู้มีจิตศรัทธาได้บริจาคทรัพย์ เครื่องอุปโภคบริโภคมากขึ้น พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ จึงให้จัดตั้งกองทุนโดยใช้ชื่อว่า “กองทุนหลวงพ่อปาน - พระมหาวีระ ถาวโร (ฤาษีลิงดำ)”

โดยนำทุนที่มีอยู่ออกใช้เพื่อบรรเทาทุกข์ยากของผู้ขาดแคลนในแดนทุรกันดาร เป็นการสงเคราะห์อย่างปัจจุบันทันด่วน ซึ่งสิ่งที่กองทุนสงเคราะห์มากในระยะนั้นได้แก่ ข้าวสาร เกลือแกง ผ้าห่มกันหนาว ยาแก้ไข เป็นต้น

การเดินทางไปยังถิ่นทุรกันดารต่าง ๆ ก็ต้องใช้พาหนะหลายประเภทที่จะบรรทุกของไปให้ถึงที่กันดารนั้น และต้องใช้คนมาก ทั้งพระภิกษุ คณะศิษย์ฯ เจ้าหน้าที่แผนกต่าง ๆ โดยมีพระเดชพระคุณหลวงพ่อเป็นองค์อำนวยการร่วมไปทุกครั้ง


ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จมาทรงประกอบพิธีตัดลูกนิมิตผูกพัทธสีมาพระอุโบสถวัดจันทาราม (ท่าซุง) จังหวัดอุทัยธานี เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๒๐ นั้น

พระเดชพระคุณหลวงพ่อและพระสงฆ์ได้นำราษฎรที่เคยหลงผิดเป็นชอบ และได้กลับใจมาร่วมพัฒนาตนเองและท้องถิ่นเป็นพลเมืองดีเหล่านั้น เข้าเฝ้าเบื้องพระยุคลบาทถวายความจงรักภักดี พร้อมทั้งได้กราบบังคมทูลให้ทรงทราบถึงความเป็นไปของตนอย่างละเอียด

ดังนั้นเมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงนิมนต์พระเดชพระคุณหลวงพ่อให้เข้าเฝ้าที่พระราชวังสวนจิตรลดา ทรงมีพระราชปรารภว่า พระองค์ทรงห่วงใยในราษฎรอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี

ที่เคยหลงผิดไปและกลับใจมาเป็นพลเมืองดีเข้ากับบ้านเมือง ทรงขอให้หลวงพ่อช่วยหาทางให้ราษฎรเหล่านี้ได้มีการทำมาหากิน มีสัมมาอาชีวะ เพื่อเขาเหล่านั้นจะได้ไม่คิดหลงผิดเข้าป่าไปอีก

และมีพระราชดำรัสขอให้หลวงพ่อพระมหาวีระ ถาวโร ช่วยเหลือแทนพระเนตรพระกรรณ ให้ความอุปการะสงเคราะห์แก่ราษฎรที่ยากจนอดอยาก ให้คลายความทุกข์และความขาดแคลน ซึ่งราษฎรชาวไทยผู้ยากไร้เช่นนี้มีอยู่มากมายในถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ

ความทุกข์ความเดือดร้อนของราษฎรเหล่านั้นเสมือนความทุกข์ของพระองค์เอง ด้วยควรจักต้องช่วยเหลือให้เขาบรรเทาทุกข์ลงบ้างตามสมควร เพื่อจะได้มีกำลังกายกำลังใจตั้งตัวทำมาหาเลี้ยงตนเองได้ต่อไปไม่อดอยาก

ประกอบกับในกลางปี พ.ศ.๒๕๒๐ เป็นต้นมา ในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วไป เกิดภัยธรรมชาติรุกราน ไม่มีฝนตกต้องตามฤดูกาล พื้นดินแห้งแล้งขาดน้ำ ทำไร่ทำนาปลูกพืชผลไม่ได้

แม้กระทั่งน้ำจะใช้ดื่มบริโภคก็หายาก นาล่ม ผลประโยชน์ที่เคยได้สูญเสียไปหมดสิ้น บางตำบลหมู่บ้านถึงกับทิ้งไร่นาบ้านช่องของตนเข้าไปอยู่ในป่าตามยถากรรม


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชปรารภอยากให้หลวงพ่อพระมหาวีระ ถาวโร ตั้งศูนย์สงเคราะห์ราษฎรยากจนในถิ่นทุรกันดารขึ้น โดยมีศูนย์กลางปฏิบัติงานที่วัดจันทาราม (ท่าซุง) อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี

ทรงรับสั่งให้หลวงพ่อพระมหาวีระ ถาวโร เป็นองค์อำนวยการของศูนย์สงเคราะห์ฯนี้ และทรงพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท และยาป้องกันรักษาไข้มาเลเรีย ๔ หีบใหญ่ ให้ศูนย์สงเคราะห์ฯ นี้เป็นทุนเริ่มแรกอีกด้วย

พระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่จัดตั้งศูนย์สงเคราะห์ผู้ยากจนในแดนทุรกันดาร มีความมุ่งหมาย คือ

๑. ช่วยสงเคราะห์การกินอยู่ และสิ่งของที่ใช้จำเป็นแก่ราษฎรผู้ขาดแคลนยากจนจริง ๆ เป็นครั้งคราว เพื่อแก้ไขเฉพาะหน้าให้ราษฎรผู้ยากไร้เหล่านั้นมีกำลังกายกำลังใจพอช่วยตนเองได้

๒. แนะนำในการทำมาหากิน การประกอบอาชีพที่เหมาะสมแก่ท้องถิ่น ตลอดจนช่วยหาแหล่งน้ำให้

๓. แนะนำการเกษตร การกสิกรรม การพัฒนาท้องถิ่นที่ตนอาศัยอยู่ ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและประเทศชาติ

๔. ช่วยเหลือการจัดตั้งสร้างโรงเรียน เพื่อให้เยาวชนได้รับการศึกษา และจริยธรรมปลูกฝังปัญญาในทางที่ชอบ รู้จักรักชาติไทย รู้คุณของผืนแผ่นดินไทยที่ตนได้กำเนิดเกิดมาอยู่อย่างร่มเย็น

รู้ตอบแทนและหวงแหนต่อสู้ศัตรูที่เป็นภัยมารุกรานประเทศชาติ ตลอดจนให้วิชาความรู้ ความสามารถนำมาประกอบสัมมาอาชีวะ ดำรงชีพเป็นพลเมืองดีต่อไป

๕. จัดตั้งธนาคารข้าวทั่วไปทุกท้องถิ่น เพื่อช่วยเหลือเพื่อนร่วมถิ่นฐานเดียวกันตามระเบียบของธนาคารข้าว ทั้งในการแก้ไขปัญหาระยะยาว


นอกจากพระราชประสงค์ทั้งหมดนี้แล้ว ในวโรกาสที่หลวงพ่อท่านพาคณะบริจาคเงินโดยเสด็จพระราชกุศลให้กับศูนย์สงเคราะห์ราษฎรยากจนในแดนทุรกันดาร เมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๑ ณ พระราชวังสวนจิตรลดา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำรัสว่า

“ขอขอบใจท่านทั้งหลาย ที่นำเงินมาบริจาคช่วยศูนย์สงเคราะห์ผู้ยากจนในแดนทุรกันดารฯ ความจริงการบริจาคเงินนั้น ก็เพียงแต่นำเงินมามอบให้ ซึ่งภาระยังไม่ควรจะหยุดอยู่แค่นั้น

เพราะเจตนาของศูนย์ฯ ไม่ประสงค์แต่จะเพียงรับเงินบริจาคอย่างเดียวเท่านั้น แต่เราต้องการให้นักวิชาการ หรือผู้ที่มีความรู้และผู้ที่มีจิตเสียสละไปช่วยราษฎรที่ยากจน เพื่อแนะนำให้เขาทั้งหลายได้มีอาชีพเลี้ยงตนเองได้

โปรดเข้าใจว่าการที่เราเพียงนำสิ่งของไปช่วยนั้น เป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนชั่วคราว ซึ่งจะมีวันสิ้นสุด โดยที่ผู้รอรับการช่วยเหลือ เขารอรับสิ่งของที่จะนำไปนั้น และถ้าเขาไม่ได้ตามที่เขาหวังไว้ ก็จะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

ฉะนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายควรที่จะหาวิธีการช่วยเหลือ หาอาชีพให้ราษฎรที่ยากจนในท้องถิ่นทุรกันดาร ได้ประกอบอาชีพตั้งหลักตั้งฐานอยู่ในท้องถิ่นของตน เลี้ยงตนเองและครอบครัวอย่างมีความผาสุกต่อไป

ขอให้ท่านทั้งหลายจงอย่าคิดว่าเมื่อเราช่วยเหลือครั้งนี้แล้วก็หยุด ถ้ามีโอกาสที่เราจะช่วยได้ก็จงช่วยกันต่อ ๆ ไป และการที่ช่วยเหลือนี้ก็อย่าคิดว่าเราจะไม่ได้รับผลตอบแทน

ซึ่งแท้ที่จริงแล้วการเสียสละของท่านทั้งหลาย ในส่วนที่เป็นกุศลนี้มีคุณค่ามหาศาล ยากที่จะหาสิ่งตอบแทนใดมาเทียบกันมิได้นับว่าการกระทำของท่านทั้งหลายเป็นสิ่งที่น่าชมเชย และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง..”



พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (พระมหาวีระ ถาวโร) ให้ข้อคิดเห็นว่า

“...การปฏิบัติงานของศูนย์สงเคราะห์ผู้ยากจนในแดนทุรกันดารนี้ ควรจะมีอยู่ทั่วประเทศไทย มิใช่มีที่วัดจันทาราม จังหวัดอุทัยธานี ศูนย์กลางปฏิบัติงานเพียงแห่งเดียว สำหรับสถานการณ์ของประเทศที่เป็นอยู่ในขณะนี้

ถ้าทุกฝ่ายไม่ช่วยเหลือกัน ชาติของเราก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้ เมื่อชาติอยู่ไม่ได้ ศาสนาก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน ท้องถิ่นที่อยู่ในตอนนี้จะเหมาะสมยิ่ง เพราะรับกับเหตุการณ์และสถานการณ์บ้านเมืองได้พอดี ไม่ผิดวินัยสงฆ์

ทั้งวัดวาอารามทั่วไปก็เป็นศูนย์รวมใจรวมศรัทธาของชาวไทยอยู่แล้ว ควรอย่างยิ่งที่พระสงฆ์ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ มีจำนวนประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ องค์ วัดประมาณ ๒๐,๐๐๐ วัด จะต้องรวมตัวกันสงเคราะห์ราษฎรผู้ยากไร้จำนวนมากมายเหล่านั้นด้วยวัตถุและจิตใจ

ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปถ้าร่วมมือสงเคราะห์กันให้จริงจัง ไม่เป็นแต่เพียงสนองพระราชปณิธานขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น ยังเป็นการช่วยรักษาสืบศาสนสมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้อยู่ครบถึง ๕,๐๐๐ ปี ตามพุทธพยากรณ์อีกด้วย”

การดำเนินงานช่วยเหลือราษฎรยากจนในท้องถิ่นทุรกันดารในจังหวัดต่าง ๆ


เมื่อหลวงพ่อพระมหาวีระ ถาวโร ได้รับพระราชปรารภให้ตั้งศูนย์สงเคราะห์ผู้ยากจนในแดนทุรกันดารแล้ว หลวงพ่อท่านได้เชิญเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ฝ่ายบริหารของจังหวัดอุทัยธานีมาประชุม ให้เจ้าหน้าที่ออกสำรวจหาราษฎรผู้ยากไร้จริง ๆ ในเขตอำเภอ ตำบล หมู่บ้านต่าง ๆ ของจังหวัดอุทัยธานีโดยด่วน

เพราะในขณะนั้นพอดีเกิดมีภัยธรรมชาติรุกรานในจังหวัดต่าง ๆ นั่นคือฝนแล้ง ไม่มีฝนตกต้องตามฤดูกาล ราษฎรไม่มีน้ำใช้ทำนาปลูกพืชผลผัก แม้น้ำดื่มบริโภคก็แทบจะหาได้ยาก ความขัดสนขาดแคลนน้ำเป็นความเดือดร้อนยิ่งใหญ่ทั่วไปหมด รวมทั้งในจังหวัดอุทัยธานี

ฉะนั้นความจำเป็นที่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจะต้องร่วมมือช่วยเหลือสำรวจหาราษฎรผู้ประสบเคราะห์กรรมที่มีจำนวนมากมาย จะต้องทำงานอย่างเร่งด่วน เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้านี้ให้บรรเทาลงไป

ในขณะเดียวกัน หลวงพ่อท่านเองก็ได้ออกเดินทางไปกับหน่วยทหารกองทัพภาคที่ ๓ กองกิจการพลเรือน และกองทัพภาคที่ ๔ ที่กำลังปฏิบัติการอยู่ตามป่าตามเขาในท้องถิ่นกันดารของจังหวัดต่าง ๆ

ซึ่งกำลังมีภัยธรรมชาติขาดน้ำขาดฝนเช่นเดียวกันกับที่จังหวัดอุทัยธานีกำลังประสบอยู่ เช่น จังหวัดน่าน จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดเชียงราย จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดราชบุรี จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดตาก จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดพะเยา ฯลฯ

การสำรวจหาข้อมูลครั้งนี้ได้พบว่า มีราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดารอดอยากมายมายแทบทุกหมู่บ้าน ไม่มีข้าวและอาหารกิน เสื้อผ้าแทบไม่มีใส่กันเลยทั้ง ๆ ที่อากาศหนาวเย็น ผ้าจะห่มกายก็แทบจะไม่มี ความเจ็บไข้ด้วยโรคขาดอาหาร โรคต่าง ๆ คุกคามอยู่ทุกครัวเรือน

ราษฎรพากันทิ้งไร่นาทิ้งบ้านเดินเข้าป่าเข้าดง ขุดกลอยขุดมันเท่าที่จะใช้กินต่างอาหารพอประทังชีวิตไปวันหนึ่ง ๆ เป็นความทุกข์เดือดร้อนอย่างใหญ่หลวงน่าเวทนายิ่งนัก เพราะราษฏรในท้องถิ่นทุรกันดารที่ดำรงชีวิตอยู่ทั้งหมดก็ด้วยการปลูกพืชทำไร่ทำนา เลี้ยงปากท้องพอช่วยตนเองได้นั้น

อาศัยธรรมชาติของแผ่นดินที่มีความชุ่มฉ่ำ เป็นธรรมชาติเอื้ออำนวยตลอดเวลามา เมื่อฝนแล้งขาดน้ำแผ่นดินแห้งแตกเป็นระแหงกว้างไกลสุดสายตาประมาณมิได้

ก็เสมือนขาดน้ำมาหล่อเลี้ยงชีวิตของตนวันแล้ววันเล่า จะหันหน้าไปพึ่งพาใครเล่า เพราะพี่น้องร่วมถิ่นฐานต่างก็หมดเนื้อประดาตัวสูญสิ้นไปหมด และต่างก็ต้องการความช่วยเหลือเช่นเดียวกัน

ด้วยเหตุนี้ หลวงพ่อท่านและคณะสำรวจจึงเร่งรีบจดจำนวนราษฎรที่จำเป็นต้องช่วยเหลือโดยฉับพลัน ด้วยการออกบัตร มีชื่อ นามสกุล ตำบลที่อยู่ มอบไว้กับหัวหน้าบ้านเป็นหลักฐาน ซึ่งทางกองสำรวจผู้ทำงานหนักก็มีบันทึกต้นขั้วตรงกัน เพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือจากศูนย์สงเคราะห์ฯนี้โดยเร็วที่สุด

การสำรวจของหลวงพ่อท่านและคณะผู้ร่วมปฏิบัติงาน ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เฉพาะหน้าและประโยชน์ในทางพัฒนาในระยะยาวต่อไปมากมาย เช่น

การดำริให้ราษฎรมีทางทำการกสิกรรม การเกษตรหาแหล่งน้ำ และสร้างโรงเรียนให้เด็กได้ศึกษา การบันทึกเพื่อการพัฒนาในอนาคตอันใกล้

เมื่อราษฎรมีกำลังกายแข็งแรงตั้งตนเองได้ จะได้ร่วมกันพัฒนาท้องถิ่นของตนต่อไปไม่สิ้นสุด การปฏิบัติการสำรวจตั้งแต่ต้นมาจนบัดนี้

ศูนย์สงเคราะห์ฯ ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากหน่วยทางการทหาร ตำรวจ ในจังหวัดต่าง ๆ ตั้งแต่ภาคเหนือสุดถึงภาคใต้ ทำให้ศูนย์สงเคราะห์ผู้ยากจนตามพระราชประสงค์ฯ นี้ได้ทำงานเพื่อบรรเทาความทุกข์อดอยากของราษฎรในแดนทุรกันดารได้ทันเหตุการณ์

ราษฎรไม่สิ้นหวัง ได้ที่พึ่งทั้งกายและใจ พออิ่มปากอิ่มท้อง ไม่ต้องหนีภัยธรรมชาติเข้าป่าเข้าดงพบอันตรายที่จะสูญเสียมากไปกว่าที่เป็นอยู่โดยคาดไม่ถึงก็เป็นได้

ในเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๓ ซึ่งในเวลานั้นมีอุทกภัยใหญ่เกิดขึ้นในจังหวัดอุทัยธานี ที่ตั้งศูนย์กลางปฏิบัติงานสงเคราะห์ก็เกิดความเสียหายอย่างหนัก หลวงพ่อมีความห่วงใยในงานสงเคราะห์นี้มาก หลวงพ่อปรารภว่า

“ถ้าการสงเคราะห์มีแต่เพียงจัดหาทรัพย์สิ่งของต่าง ๆ ได้มาแล้วบริจาคช่วยไปอย่างนี้ เรื่อย ๆ ไม่ช้าจะหมดกำลัง งานจะต้องสะดุดหยุดอยู่ คนยากจนซึ่งมีจำนวนมากมายก็จะมีความทุกข์เดือดร้อนเพิ่มขึ้นเพราะขาดที่พึ่ง

ดังนั้นหลวงพ่อจึงได้วางรากฐานให้แก่ศูนย์สงเคราะห์ฯ โดยขั้นต้นตั้งเป็นกองทุนหลวงพ่อปาน - พระมหาวีระ ถาวโร เพื่อนำดอกผลไปใช้เป็นทุนสำรองประคับประคองงานศูนย์ฯ ให้ดำเนินไปโดยไม่ขัดข้องในระยะหนึ่งก่อน

ต่อมาคณะศิษยานุศิษย์ พุทธบริษัท และประชาชน ได้บริจาคทรัพย์ถวายหลวงพ่อ ซึ่งเป็นองค์ศูนย์รวมความศรัทธาทั้งมวล พระเดชพระคุณหลวงพ่อเล็งเห็นว่า

งานของศูนย์สงเคราะห์เป็นงานที่ช่วยเหลือและทำประโยชน์ในเหตุการณ์เฉพาะหน้า ควรจะจัดตั้งมูลนิธิเพื่อเก็บดอกผลไว้ใช้ประโยชน์ในการสงเคราะห์ระยะยาวต่อไป

ดังนั้นจึงได้มอบหมายให้ พลเรือเอกจิตต์ สังขดุลย์ ผู้ซึ่งรับสนองพระราชดำรัสจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเรื่องศูนย์สงเคราะห์ฯ และเป็นผู้ประสานงานด้านต่าง ๆ ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ

จัดตั้งคณะกรรมการทำตราสารและจดทะเบียนมูลนิธิ “พระมหาวีระ ถาวโร” ขึ้นเมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๒๐ โดยพระเดชพระคุณหลวงพ่อ เป็นองค์ประธานกิติมศักดิ์ และ พลเรือเอกจิตต์ สังขดุลย์ เป็นประธานกรรมการ มีคณะกรรมการทั้งหมด ๑๔ ท่าน

ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๒๔ จาก “มูลนิธิพระมหาวีระ ถาวโร” เป็น “มูลนิธิหลวงพ่อปาน - พระมหาวีระ ถาวโร” มีชื่อย่อว่า ม.ป.ร. และชื่อภาษาอังกฤษว่า “VENERABLE PAN-PHRA MAHAVEERA THAVARO FOUNDATION”

เครื่องหมายของมูลนิธินี้คือ รูปพระอินทร์ประทับอยู่บนพระแท่นห้อยพระบาทข้างขวา พระหัตถ์จับคนโทแก้วหลั่งน้ำ มีคาถา “สหัสสเนตโต เทวินโท ทิพจักขุง วิโสธายิ” อยู่ข้างบนของรูป

ข้างใต้รูปมีชื่อ มูลนิธิหลวงพ่อปาน - พระมหาวีระ ถาวโร ทั้งหมดนี้อยู่ในวงกลม สำนักงานของมูลนิธิตั้งอยู่เลขที่ ๖๐/๓ หมู่ที่ ๑ ตำบลน้ำซึม อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี และมีคณะกรรมการสงฆ์และฆราวาสจำนวน ๒๐ ท่าน

วัตถุประสงค์สำคัญของมูลนิธิหลวงพ่อปาน - พระมหาวีระ ถาวโร ก็คือทำนุบำรุงพระบวรพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง สงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ประสบความทุกข์ยาก และช่วยงานสาธารณประโยชน์ส่งเสริมการศึกษา

เผยแพร่ความรู้ทางพระพุทธศาสนา และวิทยาการอื่น ๆ ที่ไม่ขัดกับกฎหมาย ทั้งยังให้ความร่วมมือกับองค์การการกุศลอื่น ๆ เพื่อสาธารณะประโยชน์เป็นต้น วัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ ตรงกันกับหลักปฏิบัติงานของศูนย์สงเคราะห์ฯ อยู่แล้ว

พระเดชพระคุณหลวงพ่อเป็นองค์ประธานกิติมศักดิ์ของมูลนิธิฯ และองค์อำนวยการของศูนย์สงเคราะห์ฯ มีความเห็นว่าควรจะให้ศูนย์สงเคราะห์ และมูลนิธิฯ ประสานงานกันและดำเนินงานควบคู่กันไปโดยตลอด

และในขณะนั้นทันตแพทย์หญิงลัดดา จารุวัสตร์ ซึ่งเป็นผู้แทนทำงานรับผิดชอบเกี่ยวกับศูนย์สงเคราะห์ฯ มาเป็นเวลานาน ก็เป็นประธานกรรมการของมูลนิธิฯ ด้วย จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะร่วมกันปฏิบัติงานสาธารณกุศลให้บรรลุเป้าหมาย เพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวมเช่นกัน

ศูนย์สงเคราะห์ผู้ยากจนในแดนทุรกันดาร และมูลนิธิหลวงพ่อปาน - พระมหาวีระ ถาวโร ได้ร่วมกันปฏิบัติงานตามวัตถุประสงค์ โดยทะนุบำรุงบูรณะปฏิสังขรณ์วัด สงเคราะห์พระสงฆ์ที่ขาดแคลนปัจจัย

เผยแพร่ความรู้ทางพระพุทธศาสนาและธรรมปฏิบัติทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ที่ประเทศอังกฤษ และประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศนิวซีแลนด์ เป็นต้น

ในด้านสาธารณะประโยชน์ช่วยเหลือราษฎรผู้ทุกข์ยาก ทางศูนย์สงเคราะห์ฯ ได้จัดหาเครื่องอุปโภคบริโภค พร้อมยารักษาโรคช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ผู้ประสบความยากไร้ในถิ่นทุรกันดาร ซื้ออุปกรณ์การศึกษา และเสื้อผ้าให้กับนักเรียนที่ขาดแคลน

พร้อมทั้งก่อสร้างสาธารณูปโภค เช่น ขุดบ่อบาดาล สร้างโรงเรียน และโรงพยาบาล เป็นต้น งานเหล่านี้ได้ดำเนินงานต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาหลายปี และเป็นงานสาธารณะกุศลที่ยังประโยชน์มหาศาลให้กับเหล่าประชาชนเป็นจำนวนมาก

เนื่องจากผู้มีจิตศรัทธาและบรรดาศิษยานุศิษย์ ได้บริจาคปัจจัยเพื่อใช้ในการกุศลเป็นจำนวนมาก พระเดชพระคุณหลวงพ่อจึงได้เมตตานำทุนทรัพย์สงเคราะห์อำนวยการให้สร้างเป็นอาคารเพิ่มเติม ณ โรงพยาบาลแม่และเด็ก วัดท่าซุง ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๖

เป็นตึก ๒ หลัง โดยให้ตึก “ปฐมราชานุสรณ์” ชั้นบนใช้เป็นที่ทำการแพทย์และพยาบาล ส่วนชั้นล่างเป็นห้องผ่าตัดใหญ่ ห้องเอ็กซเรย์ ห้องทำฟัน ห้องรอคลอด และห้องคลอด

ส่วนตึก “ปัญจมราชานุสรณ์” นั้นเป็นตึกพักคนไข้ มีเตียงคนไข้ประมาณ ๘๔ เตียง

อาคารทั้ง ๒ หลังนี้ นอกจากเป็นอาคารที่ทันสมัยติดตั้งระบบเครื่องไฟฟ้า ประปา และเครื่องปรับอากาศแล้ว ยังพร้อมด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ครบ อาทิเช่น

เครื่องเอ็กซเรย์ เครื่องทำฟัน และเครื่องมือแพทย์เป็นต้น ซึ่งมีมูลค่าประมาณ ๒๕ ล้านบาท นับว่าเป็นสาธารณกุศลที่ยังประโยชน์อันมหาศาลที่จะช่วยสงเคราะห์บรรเทาทุกข์ผู้เจ็บป่วย และประสบภัยพิบัติเกิดแก่ประชาชนในถิ่นนี้และในท้องถิ่นใกล้เคียงอีกด้วย

.


[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 6/8/08 at 17:31 [ QUOTE ]


อนึ่ง ในปี พ.ศ.๒๕๒๐ พระเดชพระคุณหลวงพ่อได้สร้างโรงพยาบาลแม่และเด็กมอบให้กับทางราชการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข คิดราคาที่ดิน อาคาร อุปกรณ์การแพทย์ ประมาณ ๑๐ ล้านบาท

เมื่อรวมกับการบริจาคในวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๘ ซึ่งเป็นวันทำบุญประจำปีของวัดและเป็นวันที่ พลตำรวจโท นายแพทย์สมศักดิ์ สืบสงวน ประธานมูลนิธิหลวงพ่อปาน - พระมหาวีระ ถาวโร กล่าวรายงานความเป็นมาของโรงพยาบาลแม่และเด็กวัดท่าซุง

ในงานพิธีเปิด “ปฐมราชานุสรณ์” และ “ปัญจมราชานุสรณ์” แล้ว จึงอาจจะประมาณมูลค่าของโรงพยาบาลนี้ได้ ๓๕ ล้านบาท และได้มอบอาคารโรงพยาบาลและทรัพย์สินให้กับทางราชการเรียบร้อยแล้ว


[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 24/4/18 at 21:12 [ QUOTE ]


.

[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 16/4/20 at 10:35 [ QUOTE ]


.

[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
ตั้งหัวข้อใหม่

Go To Top