Not logged in [Login - Register]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites ตั้งหัวข้อใหม่
[*] posted on 10/7/08 at 21:45 [ QUOTE ]

ปกิณกะพิธี..คำอาราธนาศีล-อาราธนาพระปริตร-อาราธนาธรรม-คำถวายทานต่างๆ


ปกิณกะพิธี


สารบัญ

(เลือก "คลิก" อ่านได้แต่ละตอน)


01.
มารยาทในการกราบไหว้
02. การเคารพพระสงฆ์
03. การถวายของพระ
04. มารยาทไทย..การยืน
05. การเดิน
06. การนั่ง
07. การคลาน
08. การแสดงความเคารพ
09. การเข้าพบผู้ใหญ่ การส่งของและรับของ
10. การรับของจากพระสงฆ์
11. การเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
12. การเข้าเฝ้ารับพระราชทานของ
13. การกราบถวายบังคมลาถึงแก่กรรม
14. ข้อปฏิบัติในการจัดพิธี
15. การจัดตั้งที่บูชาในพิธี
16. ข้อปฏิบัติในพิธีต่างๆ ให้ถูกต้องตามประเพณี
17. วิธีประเคนของพระ
18. วิธีทำหนังสืออาราธนาและทำใบปวารณาถวายจตุปัจจัย
19. มารยาทในการรับประทานอาหาร
20. วิธีอาราธนาศีล, อาราธนาพระปริตร, อาราธนาธรรม

ความหมาย

พิธีกรรมที่จะกล่าวในบทนี้เป็นพิธีเบ็ดเตล็ดเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติบางประการ ในการ ประกอบพิธีต่าง ๆ ที่กล่าวแล้วในหมวดต้น ๆ มาชี้แจงเพื่อความรู้ และเพื่อเป็นทางปฏิบัติ แต่จะกล่าวเฉพาะเรื่องที่มิได้ชี้แจงไว้ข้างต้นเพียง ๕ เรื่องเท่านั้น คือ

๑. วิธีแสดงความเคารพพระ

๒. วิธีประเคนของพระ

๓. วิธีทำหนังสืออาราธนา และทำใบปวารณาถวายจตุปัจจัย

๔. วิธีอาราธนาศีล อาราธนาพระปริตร อาราธนาธรรม

๕. คำถวายทานต่างๆ



(ภาพทั้งหมดจาก polyboon.com)

"มารยาทในการกราบไหว้"

๑. วิธีแสดงความเคารพพระ

ความมุ่งหมายของการแสดงความเคารพพระ ก็เพื่อแสดงให้ปรากฏว่า ตนมีความนับถือ ด้วยกายและใจจริง การแสดงให้ปรากฏนี้ส่วนใหญ่แสดงออกทางกาย ซึ่งส่อซึ้งถึงน้ำใจอย่างเด่นชัด พระที่ควรแก่การแสดงความเคารพ ได้แก่ พระพุทธรูปหรือปูชนียวัตถุ มีพระสถูปเจดีย์ เป็นต้น ๑ พระภิกษุสามเณรผู้ทรงเพศอุดมกว่าตน ๑ การแสดงความเคารพต่อพระดังกล่าวนี้ จะนำมาชี้แจงในที่นี้เพียง ๓ วิธี คือ

ก. ประนมมือ
ข. ไหว้
ค. กราบ


ก. "ประนมมือ" ตรงกับหลักที่กล่าวไว้ในบาลีว่า “ทำอัญชลี” คือ การกระพุ่มมือทั้งสอง ประนม ให้ฝ่ามือทั้งสองประกบกัน นิ้วทุกนิ้วของมือทั้งสองแนบชิดตรงกัน ไม่มีเหลื่อมล้ำกว่ากัน หรือกางให้ห่าง ตั้งกระพุ่มมือ ที่ประนมด้วยอาการนี้ไว้ในระหว่างอก ให้ตั้งตรงขึ้นข้างบน มีลักษณะ คล้ายดอกบัวตูม แนบศอกทั้งสองข้าง ชิดชายโครง ไม่ให้กางห่างออกไป แสดงอาการอย่างนี้ เรียกว่าประนมมือ เป็นการแสดง ความเคารพ เวลาสวดมนต์ หรือฟังพระสวดและฟังเทศน์ เป็นต้น แสดงอย่างเดียวกัน ทั้งชายทั้งหญิง

ข. "ไหว้" ตรงกับที่กล่าวไว้ในบาลีว่า “นมัสการ” หรือ “วันทา” คือการยกมือที่ประนมขึ้น พร้อมกับก้มศีรษะลงเล็กน้อย ให้มือประนมจดหน้าผาก นิ้วหัวแม่มือทั้งสองอยู่ระหว่างคิ้ว อย่างนี้เรียกว่า "ไหว้" ใช้แสดงความเคารพพระ ในขณะนั่งเก้าอี้ หรือยืนอยู่ ไม่ใช่นั่งราบกับพื้น แสดงอย่างเดียวกันทั้งชายและหญิง

การไหว้เป็นประเพณีไทยโบราณ เป็นวิธีเคารพแก่ผู้ควรเคารพ จึงเลือกใช้ให้เหมาะสมแก่กาลเทศะ
๑. การไหว้ มีหลายวิธี มีทั้งนั่งไหว้ ยืนไหว้ เพื่อเคารพบุคคลธรรมดาที่เป็นผู้ใหญ่กว่าตน
ก. วิธีการนั่งไหว้ นั่งพับเพียบ พนมมือทั้งสองข้างขึ้นไว้ระดับอก ก้มศีรษะลง ให้หัวแม่มือจรดกันที่หว่างคิ้ว
ข. วิธียืนไหว้ ถ้าจำเป็นต้องไหว้เพราะอยู่นอกสถานบ้านเรือน เมื่อพบคนที่ต้องเคารพตามหนทางก็ให้พนมมือทั้งสองขึ้นระดับอก ก้มศีรษะลงจนหัวแม่มือจรดกันระหว่างคิ้ว

๒. การรับไหว้ เมื่อมีผู้ทำความเคารพให้แก่เรา ควรรับไหว้ คือ เคารพตอบเพื่อมิให้เสียมารยาทหรือทำให้ผู้แสดงความเคารพต้องกระดากใจหรือโกรธจนเป็นเหตุให้นึกไม่อยากจะเคารพต่อไปได้ วิธีรับไหว้ ยกมือทั้งสองประนมไว้ระดับอก แล้วยกขึ้นสูงมาก หรือน้อยตามฐานะผู้ไหว้และของผู้รับไหว้

๓. วิธีนั่งลงศอก เป็นวิธีเคารพผู้ใหญ่ที่มีอาวุโสสูงมากอีกแบบหนึ่งในเวลานั่งพับเพียบอยู่กับพื้น ในเมื่อผู้ใหญ่มาพูดคุยด้วย ถ้าจะนั่งตัวตรง ๆ ก็รู้สึกว่าเคารพไม่พอ จึงก้มตัวลงให้แขนทั้งสองวางลงบนตัก มือประสานกัน เงยหน้าขึ้นในโอกาสที่ต้องพูดโต้ตอบ หรือนั่งเฉย ๆ เงยหน้าพอควรถ้าไม่ได้พูดโต้ตอบกับผู้ใหญ่

๔. เมื่อนั่งเก้าอี้อยู่ ถ้าผู้สูงศักดิ์หรือผู้ที่เราเคารพอย่างสูงมายืนหรือนั่งพูดอยู่ ใกล้ ๆ เราจะนั่งอย่างเคารพในลักษณะทอดศอกลงบนเข่าของเรา มือประสานกัน พูดโต้ตอบกับท่านก็ได้ ดีกว่านั่งเก้าอี้ตรงเฉยเสีย ห้อยเท้าให้ชิดกันและเก็บเท้าให้ชิดกันให้มากที่สุด

ค. "การกราบ" วิธีกราบ นั่งในท่าหมอบ พนมมือให้ชิดกันลงบนพื้นไว้ข้างหน้า ก้มศีรษะลงกับพื้นให้หว่างคิ้วจรดนิ้วหัวแม่มือ กราบหรือหมอบกราบ จะปฏิบัติกับผู้สูงศักดิ์ เจ้านายและผู้อาวุโส และกราบครั้งเดียวไม่แบมือลงกับพื้น

◄ll กลับสู่ด้านบน



การเคารพพระสงฆ์
ศาสนาเป็นสถาบันสำคัญยิ่งสำหรับคนในชาติ เพราะคำสอนของทุกศาสนาย่อมเป็นหลักทางใจและเป็นแนวดำเนินชีวิตให้อยู่ในทำนองคลองธรรม เพื่อความสงบสุขของคนในชาติ คนไทยได้ชื่อว่าเป็นคนใจบุญ มีจิตใจโอบอ้อมอารี ทั้งนี้เพราะเรามีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ และมีการปฏิบัติศาสนประเพณีตลอดปีมิได้ขาด การเคารพพระพุทธรูป ซึ่งถูกสมมติเป็นตัวแทนของพระพุทธองค์ และการเคารพพระสงฆ์ของพระพุทธเจ้า มีรายละเอียดดังนี้

๑. การกราบพระแบบเบญจางคประดิษฐ์
ชาย นั่งท่าพรหม เข่ายันพื้น ปลายเท้าตั้ง ก้นนั่งทับบนส้นเท้า ตัวตรง ประนมมือขึ้นระดับอก
หญิง นั่งท่าเทพธิดา เข่ายันพื้น ปลายเท้าราบไปกับพื้น ก้นนั่งบนส้นเท้า ตัวตรง ประนมมือขึ้นระดับอก
ทั้งชายและหญิง ไหว้ยกมือที่ประนมขึ้น พร้อมกับก้มศีรษะลงรับมือเล็กน้อย นิ้วหัวแม่มือจรดหว่างคิ้ว
ปลายนิ้วชี้จรดตีนผม

สำหรับชาย กราบโดยก้มตัวลง ให้แขนและมือทาบพื้น หน้าผากจรดพื้นพอดี ข้อศอกทั้งสองข้างต่อกับ
หัวเข่า ส่วนผู้หญิง ปฏิบัติเช่นเดียวกัน แต่ให้ศอกคร่อมหัวเข่า


เมื่อกราบอย่างเบญจางคประดิษฐ์ ๓ ครั้งแล้ว ทั้งชายและหญิงให้ยกมือขึ้นประนมไว้ นิ้วหัวแม่มือจรดหว่างคิ้ว ปลายนิ้วชี้จรดตีนผม พร้อมกับก้มศีรษะลงรับมือเล็กน้อย

การกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ ผู้กราบนั่งกระหย่งเท้าพนมมือยกขึ้นระหว่างคิ้ว ปลายนิ้วจรดไรผม แล้วกราบแบมือลงราบกับพื้นสามครั้ง ให้หน้าผากจรดพื้นระหว่างมือที่แบกราบ เมื่อจบแล้วพนมมือขึ้นจบเหนือคิ้วอีกครั้งหนึ่ง เรียกว่า กราบในท่าเบญจางคประดิษฐ์ คือ ตั้งลงแห่งองค์ ๕ ได้แก่ เข่าทั้งสอง ฝ่ามือทั้งสอง หน้าผากหนึ่ง ให้เข่าและศอกตรงกัน อย่าให้ข้อศอกอยู่ในระหว่างเข่าและกางออกไปข้างนอก

การกราบสามครั้งมีความหมายดังนี้
การกราบครั้งที่ ๑ กราบเพื่อระลึกถึงองค์พระพุทธเจ้า
การกราบครั้งที่ ๒ กราบพระธรรม คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
การกราบครั้งที่ ๓ กราบพระสงฆ์ ผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า

ผู้หญิงนั่งพับเพียบพนมมือระหว่างคิ้ว หมอบกราบแบมือทั้งสองข้างลงกับพื้นสามครั้งก็ได้


◄ll กลับสู่ด้านบน


๒. การถวายของพระ
ชาย ถวายได้โดยตรงต่อมือของท่าน คุกเข่ากราบแบมือครั้งเดียว
หญิง ต้องคอยให้พระปูผ้าชิ้นเล็กที่เรียกว่า ผ้ากราบ เพื่อรับเสียก่อน จึงวางถวายลงบนผ้านั้น เมื่อถวายแล้วกราบอีกครั้งโดยหมอบกราบแบมือครั้งเดียว

การกราบบุคคล และกราบศพ เป็นการกราบด้วยวิธีกระพุ่มมือ และกราบเพียงครั้งเดียวไม่แบมือ ดังนี้

๑) หากบุคคลหรือศพอาวุโสกว่าให้ประนมมือไหว้ ให้ปลายนิ้วจรดจมูก หรือจรดหว่างคิ้วก็ได้ถ้าคนเสมอกันประนมมือเพียงระหว่างอก
๒) นั่งพับเพียบเก็บเท้า ตามแบบนั่งพับเพียบ
๓) หมอบลงตามแบบหมอบ
๔) มือทั้งสองกระพุ่มทอดลงกับพื้นไม่แบมือ
๕) ก้มศีรษะลงจรดสันมือ กราบเพียงครั้งเดียว
๖) เสร็จแล้วลุกขึ้นนั่งพับเพียบตามปกติ

ศพพระสงฆ์จะกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์สามครั้งก็ได้ สำหรับนาคกราบลาบวช หรือจะกราบบิดามารดาตอนรับผ้าไตรใช้แบบเบญจางคประดิษฐ์ สามครั้ง

◄ll กลับสู่ด้านบน


มารยาทไทย

มารยาทในอริยาบทต่าง ๆ ตามแบบวัฒนธรรมไทย มีแบบเฉพาะที่พึงปฏิบัติทั้งในเวลาศาสนพิธีและพิธีอื่น ดังต่อไปนี้

๑. การยืน
การยืนมีแบบที่ควรทราบและถือปฏิบัติทั้งในเวลายืนตามลำพัง ยืนเฉพาะหน้าผู้ใหญ่และยืนแสดงความเคารพในโอกาสต่าง ๆ ดังนี้
๑) การยืนตามลำพัง ควรอยู่ในลักษณะสุภาพ สบาย ขาชิด ตั้งตัวตรง ไม่หันหน้าหรือแกว่งแขนไปมา


๒) การยืนเฉพาะหน้าผู้ใหญ่ ควรยืนตรง ขาชิด ปลายเท้าห่างกันเล็กน้อย มือทั้งสองแนบข้างลำตัว ถ้าอยู่ต่อหน้าผู้ใหญ่ที่มีอาวุโสสูงหรือพระสงฆ์ หรือเป็นการยืนหน้าที่ประทับควรค้อมส่วนบนตั้งแต่เอวขึ้นไปเล็กน้อยมืออยู่ในลักษณะคว่ำซ้อนกัน จะเป็นมือข้างไหนทับมือข้างไหนก็ได้ หรือจะประสานมือทั้งสองอย่างหลวมๆ หงายมือทั้งสองสอดนิ้วเข้าระหว่างช่องนิ้วของแต่ละมือก็ได้

๓) การยืนถวายความเคารพพระมหากษัตริย์หรือพระมเหสี ถ้าแต่งเครื่องแบบให้ยืนตรง แล้วกระทำวันทยาหัตถ์ ถ้าไม่ได้สวมหมวก ให้ยืนตรงแล้วถวายคำนับ การถวายคำนับให้ก้มศีรษะ และส่วนไหล่ลงช้า ๆ ให้ต่ำพอสมควรแล้วกลับมายืนตรง อย่าผงกศีรษะ ถ้าสวมหมวกอื่นที่มิใช่ประกอบเครื่องแบบต้องถอดหมวกก่อนแล้วจึงถวายคำนับ

สำหรับหญิง ให้ยืนตรงเท้าชิด หันหน้าไปทางพระองค์ท่าน ชักเท้าข้างใดข้างหนึ่งไปทางหลังโดยวาดปลายเท้าไปทางอีกด้านหนึ่งของเท้าที่ยืน ทำพร้อมกับย่อเข่าอีกข้างหนึ่งลงช้าๆ เมื่อจวนจะต่ำสุดให้ยกมือทั้งสองวางประสานกันบนหน้าขาที่ย่อให้ต่ำลง โดยให้หน้ามือประสานกันและให้ค่อนไปทางเข่า ก้มศีรษะลงเล็กน้อย จากนั้นเงยศีรษะขึ้นพร้อมกับชักเท้าที่ไขว้กลับที่เดิมและตั้งเข่าตรง

๔) การยืนแสดงความเคารพเมื่อมีการบรรเลงเพลงเคารพ เพลงเคารพได้แก่เพลงชาติ เพลงสรรเสริญพระบารมี เพลงมหาฤกษ์ และเพลงมหาชัย

เมื่อได้ยินเพลงสรรเสริญพระบารมีให้ยืนขึ้นแล้วระวังตรง หันหน้าไปทางพระองค์ท่านหรือพระบรมฉายาลักษณ์หรือประธานที่ชวนเชิญถวายพระพรในขณะนั้น ให้ยืนตรงอยู่จนจบเพลง ถ้าเป็นการบรรเลงที่ปรากฏพระองค์ต้องถวายความเคารพเมื่อเห็นพระองค์ครั้งหนึ่ง

เมื่อได้ยินเพลงชาติ ให้ยืนระวังตรง จนจบเพลง แล้วจึงเปลี่ยนอิริยาบถ เป็นอย่างอื่นแล้วแต่กรณี

เมื่อได้ยินเพลงมหาฤกษ์ ซึ่งใช้ในการเริ่มพิธีสำคัญ ๆ ให้ยืนขึ้น อย่างสุภาพหันหน้าไปทางประธานในพิธี เมื่อจบเพลงแล้วจึงเปลี่ยนอิริยาบถเป็นอย่างอื่นแล้วแต่กรณี

เมื่อได้ยินเพลงมหาชัย ซึ่งใช้แสดงความเคารพต่อพระบรมวงศานุวงศ์ ควรปฏิบัติเช่นเดียวกับได้ยินเสียงเพลงสรรเสริญพระบารมี

๕) ในเวลาที่อยู่ต่อหน้าพระที่นั่ง เวลาจะลุกขึ้นยืนหรือเคลื่อนที่ไปไหน ต้องถวายความเคารพก่อนทุกครั้ง การยืนรับเสด็จเวลาเสด็จพระราชดำเนินผ่านสำหรับชายยืนตรงถวายคำนับ หญิงถอนสายบัว ถ้าแต่งเครื่องแบบและสวมหมวกให้ทำวันทยาหัตถ์

◄ll กลับสู่ด้านบน


๒.การเดิน
การเดิน มีการเดินตามลำพัง การเดินกับผู้ใหญ่ การเดินนำเสด็จ และตามเสด็จและการเดินไปในโอกาสต่าง ๆ มีแบบและวิธีปฏิบัติที่ควรทราบดังนี้
๑) การเดินตามลำพัง ให้เดินอย่างสุภาพ หลังตรง ก้าวเท้าไม่ยาวไม่สั้นเกินควร แกว่งแขนแต่พองาม

๒) การเดินกับผู้ใหญ่ ให้เดินทางซ้ายเยื้องมาทางหลังของผู้ใหญ่ อยู่ในลักษณะนอบน้อมไม่ส่ายตัว โยกศีรษะถ้าเป็นการเดินระยะใกล้ ๆ มือทั้งสองควรประสานกัน



๓) การเดินนำเสด็จและตามเสด็จ ควรปฏิบัติดังนี้
การเดินนำเสด็จ ให้เดินหน้าระยะห่างพอสมควรทางด้านซ้ายของพระองค์ท่าน ในกรณีที่เสด็จพระราชดำเนินบนลาดพระบาท ผู้เดินนำเสด็จต้องไม่เดินบนลาดพระบาทให้เดินในลักษณะเอียงตัวน้อย ๆ มาทางพระองค์ท่าน เพื่อได้สังเกตทราบหากจะประทับยืนค้อมร่างกายส่วนบนเล็กน้อย มือทั้งสองประสานกัน และยกขึ้นเหนือแนวเข็มขัดเล็กน้อยเมื่อถึงที่จะอัญเชิญประทับ ซึ่งเท่ากับกราบบังคมทูล ฯ ว่าถึงที่ประทับแล้วเมื่อจะถอยออกไป ให้ถวายคำนับครั้งหนึ่ง ก่อนที่ผู้นำจะนั่งที่ ต้องถวายคำนับอีกครั้งหนึ่ง

การเดินตามเสด็จ ให้เดินเบื้องหลังพระองค์ท่านในอิริยาบถเดินกับผู้ใหญ่ คือเดินอย่างสุภาพหน้ามองตรง อยู่ในอาการสำรวมไม่ยิ้มหัวทักทาย หรือทำความเคารพพูดคุยกับผู้อื่น

๔) การเดินเข้าสู่ที่ชุมชน ควรเดินเข้าไปอย่างสุภาพ เมื่อผ่านผู้ที่นั่งอยู่ก่อน ควรก้มตัวลงเล็กน้อยถ้าผู้นั่งเป็นผู้อาวุโสมากก็ก้มตัวให้มาก และระวังอย่าให้เสื้อผ้าหรือร่างกายไปกรายผู้อื่นถ้าไม่มีการกำหนดที่นั่ง ก็ให้นั่งเก้าอี้ที่สมควรโดยสุภาพ อย่าลากเก้าอี้ให้ดังอย่าโยกย้ายเก้าอี้ไปจากระดับที่ตั้งไว้

การเข้าสู่ที่ชุมนุมที่นั่งกับพื้นควรเดินอย่างสุภาพ เวลาผ่านผู้ที่นั่งอยู่ก่อนควรค้อมตัวลงให้มากหรือน้อยสุดแท้แต่ระยะใกล้หรือระยะไกล ระวังอย่าให้เสื้อผ้าหรือส่วนของร่างกายไปกรายผู้อื่นถ้าผ่านระยะใกล้มากใช้การเดินเข่า

วิธีการเดินเข่าให้นั่งคุกเข่าตัวตรง มืออยู่ข้างลำตัวแกว่งได้เล็กน้อย ยกเข่าขวาซ้ายไปข้างหน้าสลับข้างกันปลายเท้าตั้งช่วงเท้าพองาม ไม่กระชั้นเกินไป การเดินเข่าไม่นิยมใช้ในกรณีเข้าเฝ้าหรือเข้าพบผู้ใหญ่

๕) การเดินในที่ที่พระมหากษัตริย์หรือพระมเหสีประทับอยู่ เวลาเดินผ่านหน้าหรือหลังที่ประทับ ให้ลุกขึ้นจากที่แล้วถวายความเคารพ แล้วเดินอย่างสุภาพเมื่อจะผ่านที่ประทับให้หันไปถวายความเคารพ เมื่อผ่านไปแล้วให้หันไปเคารพ และก่อนจะนั่งที่ใหม่ให้ถวายความเคารพก่อนนั่ง

การเดินไปทำธุระใด ๆ เมื่อลุกจากที่และถวายความเคารพแล้วเดินไปยังที่จะทำกิจธุระเมื่อถึงที่ให้ถวายความเคารพแล้วจึงทำกิจธุระนั้น ขณะทำกิจธุระจะนั่งย่อเข่า หรือคุกเข่าหรือหมอบแล้วแต่กรณี ทำกิจธุระเสร็จแล้วลุกขึ้น ถอยหลังหนึ่งก้าว ถวายความเคารพแล้วเดินถอยหลังสามก้าว ถวายความเคารพ แล้วเดินกลับที่นั่ง ก่อนจะนั่งถวายความเคารพอีกครั้ง

๖) การเดินขึ้นลงเมรุ ในงานศพที่เสด็จพระราชดำเนิน ควรปฏิบัติโดยลำดับ ดังนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ พระบรมวงศานุวงศ์ประธานองคมนตรี นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี คณทูตานุทูต ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ประชาชนทั่วไป พระภิกษุสามเณร เป็นอันดับสุดท้าย

การปฏิบัติในการเดินขึ้นสู่เมรุ ให้ลุกจากที่นั่งถวายความเคารพ เมื่อผ่านที่ประทับถวายความเคารพลงจากเมรุถึงพื้นถวายความเคารพ เมื่อผ่านที่ประทับถวายความเคารพ ก่อนจะนั่งถวายความเคารพ

◄ll กลับสู่ด้านบน


๓. การนั่ง
การนั่ง การหมอบ และการนั่งคุกเข่าในงาน และในโอกาสต่าง ๆ มีวิธีปฏิบัติดังนี้

๑) นั่งเก้าอี้ ให้นั่งตัวตรง หลังพิงพนักเก้าอี้ เท้าวางชิดกัน เข่าแนบชิดกัน มือทั้งสองวางบนหน้าขาถ้าเป็นเก้าอี้ท้าวแขน เมื่อนั่งตามลำพัง จะเอาแขนพาดบนท้าวแขนก็ได้ ไม่ควรนั่งเอาปลายเท้าหรือขาไขว้กันอย่างนั่งไขว่ห้างควรนั่งเต็มเก้าอี้ อย่านั่งโดยโยกเก้าอี้ให้ยกหน้าหรือเอนหลัง
การนั่งลงศอกในกรณีนั่งเก้าอี้ ให้น้อมตัวลงเงยหน้าเล็กน้อย วางแขนทั้งสองลงบนหน้าขามือประสานกัน

๒) นั่งกับพื้น ให้นั่งพับเพียบในลักษณะสุภาพ ยืดตัว ไม่ต้องเก็บปลายเท้า แต่อย่าเหยียดเท้าถ้านั่งต่อหน้าผู้ใหญ่ให้เก็บปลายเท้า มือประสานกันไม่ท้าวแขน

๓) การหมอบ ให้นั่งพับเพียบเก็บปลายเท้าก่อน แล้วหมอบลงไปให้เข่าข้างหนึ่งอยู่ระหว่างแขนทั้งสองข้างแขนวางราบกับพื้นตลอดครึ่งแขน ส่วนมือถึงศอกประสาน หรือประณมแล้วแต่กรณี

๔) การนั่งคุกเข่าให้นั่งตัวตรง วางก้นบนส้นเท้าปลายเท้าตั้ง มือทั้งสองประสานกัน หรือจะวางคว่ำบนหน้าขาก็ได้

๕) การนั่งหน้ารถพระที่นั่ง หรือรถที่นั่ง ก่อนที่จะขึ้นนั่งให้ถวายความเคารพก่อน แล้วขึ้นนั่งโดยหันหลังขึ้นนั่งพร้อมกับยกขาขึ้นตามไปด้วยนั่งตัวตรง ขาชิด เข่าชิด หลังแตะพนักแต่ไม่พิง มือประสานบนตัก สำรวมอิริยาบถแต่ให้ผึ่งผาย ไม่เหลียวหน้าไปทางใด

◄ll กลับสู่ด้านบน



๔.การคลาน
การคลาน เป็นมารยาทที่ปฏิบัติเวลานั่งอยู่กับพื้น แล้วต้องเคลื่อนที่ไปปฏิบัติกิจธุระต่างๆ มีแบบปฏิบัติดังนี้
การคลานลงมือ ใช้ในกรณีไม่ได้ถือของ โดยเริ่มจากนั่งคุกเข่าตัวตรง แล้วโน้มตัวลงเอานิ้วมือจรดพื้นโดยใช้ฝ่ามือติดพื้น นิ้วมือชิดกัน ปลายนิ้วชี้ไปข้างหน้า ปลายเท้าตั้ง คลานโดยสืบเข่าและมือไปข้างหน้า สลับข้างกัน อย่าให้ส่วนหลังโค้ง และอย่าให้หลังแอ่นจะทำให้สะโพกยกให้คลานตรง ๆ อย่าส่ายสะโพก คลานให้ระยะห่างของมือและเท้าเท่ากันตลอดทาง ให้มือขวาห่างกันเท่ากับความกว้างของช่วงไหล่อย่าก้มหน้า

การคลานยกของ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าคลานโยก ยกของมือเดียวคลานแบบหนึ่ง ยกของสองมือคลานอีกแบบหนึ่งการยกของคลานสำหรับหญิง ถ้าเป็นของเล็กยกมือเดียว ถ้าเป็นของใหญ่ยกสองมือสำหรับผู้ชายจะต้องยกสองมือเสมอ

การคลานยกมือเดียว(สำหรับหญิงเท่านั้น) ให้ถือของด้วยมือขวาวางของไว้บนฝ่ามือ แขนขวาตั้งฉากกับลำตัวก้าวเข่าไปข้างหน้า พร้อมกับลากขาอีกข้างหนึ่งตามไป มือซ้ายแตะพื้นอย่างหย่งมือคือปลายนิ้วจรดพื้น ฝ่ามือพ้นพื้น เมื่อเข่าทั้งสองเสมอกันแล้ว ลดเข่าลงพร้อมกันปลายเท้าต้องตั้งอยู่เสมอ ตัวตั้งตรง หน้าตรง ให้ทำสม่ำเสมอตลอดระยะทางโดยไม่หยุดชะงักเป็นตอนๆ ถ้าจะถอยหลังก็คลานถอยหลังไปเหมือนเดินเข่า

การคลานยกของสองมือ เป็นการคลานเหมือนคลานเช่น ในการแสดงโขน ละคร โดยถือของสองมือในระดับหน้าท้องแขนตั้งฉาก ไม่กางศอก นั่งคุกเข่า ยกเข่าไปข้างหน้า ตัวเฉียง พร้อมกับวาดเท้าอีกข้างหนึ่งไปหาเท้าของเข่าที่ยกไปปลายเท้าตั้ง ทำเช่นนี้สลับข้างกันไป ระหว่างคลาน ลำตัวตั้งตรง ค่อนข้างยกอก

คลานถอยหลัง ยกเท้าข้างหนึ่ง วาดเท้าอีกข้างหนึ่งตามไปวางเท้าของขาที่ยกไปทำสลับกันไป
ถ้าเป็นแบบหญิง ให้ยกเข่าข้างหนึ่งตั้ง ลากขาอีกข้างหนึ่งตาม เมื่อเข่าเสมอกันลดลงพร้อมกัน ให้เข่าที่ตั้งถึงพื้นเข่าของขาที่ลากมาอยู่สูงกว่าพื้นเล็กน้อยยกเข่าข้างที่ไม่จรดพื้นไปข้างหน้า แล้วลากขาของเข่าที่จรดพื้นตามไป แล้วทำเช่นข้างต้นทำเช่นนี้สลับกันไปไม่หยุดชะงัก ส่วนการคลานถอยหลังใช้แบบเดินเข่า

◄ll กลับสู่ด้านบน

๕.การแสดงความเคารพ

๑) การแสดงความเคารพระหว่างบุคคล การแสดงความเคารพขณะยืนอยู่ทำได้หลายวิธีด้วยกัน เช่น ในกรณีที่แต่งเครื่องแบบและสวมหมวกใช้วิธีวันทยาหัตถ์ถ้าไม่สวมหมวกใช้วิธีก้มศีรษะในกรณีที่ไม่ได้แต่งเครื่องแบบแต่มีหมวกเฉพาะชายใช้การเปิดหมวกส่วนหญิงจะส วมหมวกหรือไม่ก็ตามใช้ไหว้โดยไม่ต้องถอดหมวก สำหรับชายถ้าจะไหว้ก็ควรถอดหมวกเสียก่อน หรือถ้าไม่ได้สวมหมวกก็ใช้การไหว้

การแสดงความเคารพเมื่อนั่งอยู่กับพื้น ถ้าผู้ที่จะเคารพเป็นผู้ที่มีอาวุโสพอสมควรก็นั่งพับเพียบเก็บเท้ายกมือไหว้พร้อมกับน้อมตัวก้มศีรษะ

การแสดงความเคารพเมื่อนั่งเก้าอี้ ถ้าผู้ที่จะเคารพมีอาวุโสน้อย ก็หันไปไหว้ธรรมดาถ้าผู้ที่จะเคารพมีอาวุโสมาก ก็หันไปน้อมตัวไหว้ ในกรณีที่ผู้ที่จะเคารพยังไม่ได้นั่งเก้าอี้ก็ให้เดินไปนั่งเก้าอี้ก่อนแล้วจึงไหว้

๒) การถวายความเคารพพระมหากษัตริย์และพระมเหสี ตามประเพณีไทยแต่โบราณใช้การถวายบังคม ซึ่งยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบันทำได้ทั้งชายและหญิง แต่โอกาสที่หญิงจะถวายบังคมมีน้อย เพราะโดยมากใช้วิธีกราบการถวายบังคมมีวิธีการ ดังนี้

- นั่งคุกเข่ายกอก วางมือคว่ำบนหน้าขา สำหรับชายแยกเข่าออกเล็กน้อยสำหรับหญิงให้นั่งพองามนั่งบนส้นเท้าปลายเท้าตั้ง
- ยกมือขึ้นประนมตรงระหว่างอก แล้วทอดมือที่ประณมนั้นไปข้างหน้าให้ปลายมือต่ำลงระดับท้องแต่ไม่ถึงห้อยพร้อมกับโน้มตัวไปข้างหน้า แล้วยกปลายมือกลับขึ้นวนหัวแม่มือทั้งสองจรดหน้าผากลำตัวเฉพาะเหนือเอวเอนไปข้างหลัง ชายเอนมากกว่าหญิง เงยหน้าขึ้นให้ตาอยู่ระดับนิ้วหัวแม่มือระดับของลำตัวในขณะมือจรดอยู่ในระดับจรดหน้าผาก จะต้องเอนเล็กน้อยไม่ใช่ตั้งตรง หรือแหงนแค่คอท่าเอนนี้ลำตัวจะโค้งเล็กน้อย ศอกจะถ่างออก
- ลดมือลงพร้อมกับโน้มตัวไปข้างหน้า ให้มือลงมาถึงระดับหน้าท้อง ปลายมือต่ำ
- ยกปลายมือขึ้นในท่าประณม ปลายมือตั้งพร้อมกับเลื่อนมือขึ้นสูงระดับอกและยกตัวขึ้นตรง ทำเช่นนี้สามครั้ง แล้วเปลี่ยนจากท่านั่งเป็นท่าหมอบ
การถวายบังคมนี้ ถวายความเคารพเฉพาะพระพักตร์ หรือระยะใกล้พระองค์พอสมควรเมื่อถวายบังคมตอนเสร็จผ่านแล้ว ตอนเสด็จผ่านอีกไม่ต้องกราบ แต่ควรอยู่ในอาการสุภาพ

◄ll กลับสู่ด้านบน

๖.การเข้าพบผู้ใหญ่ การส่งของและรับของ

๑) การเข้าพบผู้ใหญ่ ถ้าผู้ใหญ่ยืนอยู่ให้ผู้เข้าพบเดินอย่างสุภาพเข้าไปใกล้พอสมควร อย่าให้ตรงหน้าผู้ใหญ่นักไหว้แล้วยืนสำรวมมือประสานกัน ถ้าผู้ใหญ่นั่งเก้าอี้ให้เดินอย่างสุภาพ เมื่อใกล้ผู้ใหญ่ให้ไหว้แล้วนั่งเก้าอี้ อย่านั่งตรงหน้าผู้ใหญ่ทีเดียว หรือจะเดินเข้าไปอย่างสุภาพไปนั่งเก้าอี้แล้วหันมาไหว้
การเข้าพบผู้ใหญ่ที่นั่งอยู่กับพื้น ให้เดินเข้าไปอย่างสุภาพ เมื่อเข้าไปในระยะพอสมควรแล้วลงคลานลงมือเข้าไปใกล้ นั่งพับเพียบเก็บเท้า ถ้าเป็นผู้มีอาวุโสน้อยใช้ไหว้แล้วนั่งแบบนั่งต่อหน้าผู้ใหญ่ ถ้าเป็นผู้มีอาวุโสมากใช้กราบแล้วนั่งลงศอกหรือหมอบ

๒) การส่งของให้ผู้ใหญ่ เมื่อผู้ส่งของและผู้รับของนั่งบนเก้าอี้ด้วยกัน ผู้ส่งก็น้อมตัวส่งให้ด้วยมือขวาถ้าของไม่หนัก ถ้าเป็นของหนักควรน้อมส่งให้ด้วยมือทั้งสอง ถ้าผู้รับนั่งอยู่บนเก้าอี้ผู้ส่งเดินเข้ามายืนระยะห่างพอสมควร แล้วโน้มตัวส่งให้ แต่ถ้าผู้ใหญ่อาวุโสมากผู้ส่งอาจเข้าไปนั่งคุกเข่าส่งให้ การส่งของให้ผู้ใหญ่ที่นั่งกับพื้น ผู้ส่งควรเดินเข้าไปในระยะอันควรแล้วลงนั่งพับเพียบ หรือเดินเข้าไปใกล้พอสมควรแล้วคลานไปนั่งส่งของให้แล้วไหว้หรือวางของลงก่อนแล้วไหว้ แล้วยกของส่งให้

๓) การแจกของชำร่วย ตามปกติของชำร่วยจะวางไว้บนพานหรือถาด ผู้แจกจับภาชนะสองมือ ถ้าเป็นพานก็จับที่คอพานแล้วยื่นพานให้ผู้รับแจกหยิบเอาเอง อย่าหยิบส่งให้ เว้นแต่แจกของชำร่วยในงานมงคลสมรสซึ่งเจ้าบ่าวเป็นผู้ถือพานใส่ของชำร่วยตามแบบดังกล่าว และให้เจ้าสาวหยิบของชำร่วยให้โดยย่อตัวลงเล็กน้อย หรือย่อลงเข่าข้างเดียว หรือนั่งลงเข่าทั้งสองข้าง หรือนั่งพับเพียบตามแต่ผู้รับจะนั่งอยู่บนเก้าอี้หรือพื้นหรือมีอาวุโสอย่างไร แล้วหยิบของชำร่วยส่งให้ผู้รับ

◄ll กลับสู่ด้านบน



๔) การรับของจากพระสงฆ์ ถ้าพระสงฆ์ยืนอยู่หรือนั่งในที่สูง ให้ผู้รับเดินเข้าไปด้วยกิริยาอาการสำรวมเมื่อได้ระยะพอสมควรให้ยืนตรง น้อมตัวลงไหว้ แล้วยื่นมือทั้งสองเข้าไปรับพร้อมกับน้อมตัวลงเล็กน้อย สำหรับชายรับของจากมือของท่านได้ สำหรับหญิงให้แบมือทั้งสองชิดกันคอยรับสิ่งของที่ท่านจะปล่อยลงมาในมือให้ เมื่อรับสิ่งของแล้ว ถ้าสิ่งของเล็กนิยมน้อมตัวลงไหว้ พร้อมกับสิ่งของในมือ ถ้าสิ่งของนั้นใหญ่และหนักก็ไม่ต้องไหว้รับแล้วค่อยหันตัวกลับเดินไปได้

ถ้าพระสงฆ์นั่งเก้าอี้ ให้ผู้รับเดินเข้าไปด้วยอาการสำรวม เมื่อเข้าไปใกล้พอสมควรให้ยืนตรงแล้วนั่งคุกเข่าข้างซ้ายยันเข่าขวา น้อมตัวลงยกมือไหว้ ยื่นมือทั้งสองออกไปรับของเช่นที่กล่าวมาแล้วเมื่อรับของแล้ว ถ้าของนั้นเล็ก ก็น้อมตัวลงไหว้พร้อมกับของนั้นอยู่ในมือถ้าเป็นของใหญ่และหนัก นิยมวางของนั้นไว้ข้างตัวด้านซ้ายมือ น้อมตัวลงไหว้แล้วยกของนั้นด้วยมือทั้งสองประคองขึ้น ลุกขึ้นยืนหันหน้ากลับเดินไปได้

ถ้าพระสงฆ์นั่งกับพื้น ให้เดินเข้าไปด้วยกิริยาสำรวม เมื่อใกล้อาสนที่พระสงฆ์นั่งอยู่พอสมควรนั่งคุกเข่าลงแล้วเดินเข่าหรือคลานเข้าไปจนได้ระยะรับของแล้วนั่งคุกเข่าสำหรับชาย หรือนั่งพับเพียบสำหรับหญิง กราบแบบเบญจางคประดิษฐ์สามหนแล้วยื่นมือทั้งสองไปรับของ เมื่อรับของแล้วนิยมวางของนั้นไว้ข้างตัวด้านขวามือกราบสามหน แล้วหยิบของนั้นด้วยมือทั้งสองประคอง เดินเข่าถอยหลังไปจนห่างพอสมควรแล้วลุกขึ้นยืนหันกลับเดินไปได้

๕) การรับของพระราชทานจากผู้อื่นซึ่งเป็นประธานในงาน โดยมากตั้งโต๊ะบูชาประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์เสมอ ผู้รับจึงถือเสมือนรับพระราชทานจากองค์พระมหากษัตริย์เมื่อเข้าไปรับให้ถวายคำนับพระบรมฉายาลักษณ์ก่อน แล้วรับจากผู้มอบโดยไม่ต้องทำความเคารพผู้มอบเวลารับควรนั่งย่อเข่าข้างหนึ่งรับ เมื่อรับแล้วผู้รับหันหน้าไปทางพระบรมฉายาลักษณ์ถวายคำนับ เดินถอยหลังสามก้าว แล้วจึงกลับตัวเดินเข้าที่ ในการรับไม่ต้องทำ"เอางาน" แต่เมื่อรับแล้วต้องเชิญของเหมือนกับรับพระราชทานจากพระหัตถ์

◄ll กลับสู่ด้านบน

๗.การเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
๑) การเข้าเฝ้าเมื่อเสด็จพระราชดำเนิน เมื่อเสด็จพระราชดำเนินผ่าน จะเป็นโดยประทับยานพาหนะ หรือเสด็จพระราชดำเนินก็ตามจะต้องถวายความเคารพในวิธีที่เหมาะสม จะเป็นยืนตรงถวายความเคารพตามเพศ วันทยาหัตถ์กราบหรือไหว้

ถ้าเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์ ใช้ยืนตรงถวายคำนับ หรือวันทยาหัตถ์ หรือกราบ หรือไหว้ ตามความเหมาะสมของสถานที่และการแต่งกาย

ถ้าเสด็จพระราชดำเนินโดยลาดพระบาท นิยมการนั่งเฝ้า ฯ หรือยืนเฝ้าก็ได้ ให้อยู่ห่างจากลาดพระบาทพอสมควรถ้ายืนเฝ้า ฯ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินผ่านก็ถวายความเคารพตามเพศ ถ้านั่งเฝ้าฯ เมื่อเสด็จ ฯ มาใกล้ผู้เฝ้า ฯ หมอบ ขณะเสด็จ ฯ ตรงตัวกราบ แล้วหมอบอยู่จนเสด็จฯ ผ่านไปแล้ว จึงลุกขึ้นนั่ง หรือจะเพียงกราบเมื่อเสด็จ ฯ ผ่านเท่านั้นก็ได้

๒) การเฝ้า ฯ ในงานที่นั่งเก้าอี้หรือยืนเฝ้าฯ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึง ผู้เฝ้าฯ ลุกขึ้นหันหน้าไปทางพระองค์เมื่อเสด็จ ฯ ผ่านให้ถวายคำนับ ในขณะประทับอยู่ ปฏิบัติเช่นเดียวกับการนั่งในงาน ที่เสด็จพระราชดำเนินที่กล่าวแล้วในกรณีที่มีการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ต้องยืนจนจบเพลงแล้วถวายคำนับ แล้วจึงนั่ง

๓) การเฝ้า ฯ ในที่รโหฐาน ควรเข้าเฝ้าตามประเพณีไทย คือ คลาน หมอบกราบ เพราะเป็นการเฝ้า ฯ ภายใน ไม่เป็นพิธีการเมื่อจะเข้าเฝ้า ฯ ควรถอดรองเท้า โดยปฏิบัติตามลำดับ ดังนี้

- เข้าไปในที่เฝ้า ฯ กราบ
- คลานเข้าไปใกล้พระองค์ในระยะพอสมควร เฉลียงข้าง ไม่เฉพาะพระพักตร์แล้วกราบ
- หมอบเฝ้า ฯ มือประณม ระหว่างหมอบนี้จะกราบบังคมทูล หรือฟังพระราชกระแสหรือถวายของแล้วแต่กรณี
- เมื่อถวายบังคมลากลับ กราบ คลานถอยหลังมาระยะพอสมควร หรือจนสุดห้อง
- เมื่อจะลุกขึ้นในห้องที่เฝ้า ฯ ต้องกราบอีกครั้งหนึ่ง

◄ll กลับสู่ด้านบน

๔) การเข้าเฝ้ารับพระราชทานของ การเข้ารับพระราชทานของเป็นพิธีการใช้เดินย่อตัวรับพระราชทาน สำหรับแบบไทยหรือในพระราชสำนักหรือการเข้าเฝ้า ฯ รับพระราชทานโดยไม่เป็นพิธีการ ควรคลานและหมอบ ดังนี้

การเฝ้า ฯ รับพระราชทานของและเป็นพิธีการมีลำดับการปฏิบัติ ดังนี้
- ถวายคำนับตามเพศ แล้วเดินเข้าไปใกล้ พอสมควร
- ถวายคำนับตามเพศ แล้วย่อเข่าซ้ายลงตั้งเข่าขวา
- เอางาน (การเอางานเป็นการกระทำที่แสดงการถวายความเคารพ วิธีทำคือยกมือขวาขึ้นไปข้างหน้าให้เฉียงจากตัว ประมาณ ๔๕ องศา ปลายมือตรง นิ้วมือชิดกัน แล้วกระดกปลายมือขึ้นแล้วกลับที่เดิมเร็ว ๆ หนึ่งครั้ง ระวังอย่าให้ส่วนที่ยกขึ้นเลยข้อมือไป เวลาทำเอางานเมื่อรับพระราชทานของไม่ใช่พอกระดกมือขึ้น แล้วก็ช้อนมือลงในลักษณะหงายมือเพื่อรับของพระราชทานทีเดียว ต้องลดปลายมือลงเสียก่อน แล้วจึงช้อนมือ หรือแบมือรับพระราชทาน)

- รับพระราชทานของ ถ้าเป็นของเล็กน้อย รับด้วยมือขวา ถ้าเป็นของใหญ่รับด้วยมือทั้งสองข้างโดยยกขึ้นเกือบจะพร้อมกับมือที่เอางาน
- ลุกขึ้นยืน แล้วเดินถอยหลังครึ่งก้าวหรือหนึ่งก้าว แล้วถวายคำนับ
- เดินถอยหลัง ประมาณสามก้าว แล้วถวายคำนับ
- เดินตามปกติ

การเข้าเฝ้า ฯ รับของพระราชทานของตามประเพณีไทย มีลำดับการปฏิบัติ ดังนี้
- กราบ แล้วคลานมือเข้าไปใกล้พระองค์ ระยะพอรับของได้
- กราบ เอางาน รับพระราชทานของ
- คลาน ถอยหลัง

๕) การเข้าเฝ้า ฯ ทูลเกล้า ฯ ถวายของแบบพิธีการ มีลำดับการปฏิบัติ ดังนี้
- ถวายคำนับ แล้วเดินเข้าใกล้
- ถวายคำนับ แล้วย่อเข่าซ้าย ตั้งเข่าขวา
- ทูลเกล้า ฯ ถวาย โดยยกพานที่คอด้วยมือทั้งสองข้าง และน้อมตัวเล็กน้อย
- ลุกขึ้นถอยหลังครึ่งก้าวหรือเต็มก้าว แล้วถวายคำนับ
- ถอยหลังประมาณ สามก้าว แล้วถวายคำนับ
- เดินตามปกติ

๖) การเข้าเฝ้า ฯ ถวายดอกไม้ธูปเทียน ใช้ในกรณีทูลลาอุปสมบท ลาไปต่างประเทศ ธูปเทียนใช้ธูปเทียนแพขนาดกลางขึ้นไปการจัดให้ธูปไว้บน เทียนไว้ล่าง บนแพธูปเทียนวางกระทงดอกไม้ซึ่งมีกรวยปิดทั้งหมดนี้วางบนพานที่มีไม้แผ่นรองวางอยู่ เวลายกพานหรือวางพานให้ปลายธูปเทียนอยู่ทางด้านซ้ายมือของผู้ถือการเข้าเฝ้า ฯ เช่นนี้ส่วนมากทำให้ที่รโหฐาน มีลำดับการปฏิบัติดังนี้

- เมื่อเข้าไปในห้องเฝ้า ฯ อย่าสวมรองเท้า วางพานไปข้างตัว แล้วกราบ
- ถือพานเดินเข้าไประยะพอสมควรแล้วเปลี่ยนเป็นคลาน
- เมื่อคลานเข้าใกล้พอสมควรแล้ววางพานลงข้างตัว แล้วกราบ
- ยกพานวางบนโต๊ะ หรือบนพื้นเบื้องหน้าให้ตัวตรง ห่างตัวพอกราบได้
- เปิดกรวยกระทงดอกไม้ แล้วกราบให้ตรงกับพานดอกไม้ แล้วหมอบประณมมือ
- ถ้าพระราชทานพระบรมราโชวาท เมื่อจบกราบครั้งหนึ่ง
- เมื่อกลับ กราบแล้วคลานถอยหลัง
- ก่อนจะออกจากห้องเฝ้า ฯ กราบอีกครั้งหนึ่ง

◄ll กลับสู่ด้านบน

๗) การกราบถวายบังคมลาถึงแก่กรรม ข้าราชการชั้นสัญญาบัตร หรือพระสงฆ์ชั้นสัญญาบัตรขึ้นไป เมื่อถึงแก่กรรม สมควรที่จะมีการนำดอกไม้ธูปเทียนไปถวายบังคมลาพร้อมกับแจ้งการถึงแก่กรรม ต่อสำนักพระราชวัง ในการนี้เจ้าภาพหรือทายาทของผู้ถึงแก่กรรมจะต้องนำสิ่งของเหล่านี้ไปคือ
- ดอกไม้กระทง ธูปไม้ระกำหนึ่งดอก เทียนขี้ผึ้งหนึ่งเล่ม
- หนังสือกราบถวายบังคมลา ซึ่งมีข้อความว่า

"ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาท ปกเกล้า ฯ ดอกไม้ธูปเทียนของข้าพระพุทธเจ้า..........ข้าราชการสังกัดกระทรวง......... อายุ.......... ปี กราบถวายบังคมลาถึง........... (แก่กรรมหรืออย่างอื่นตามฐานันดรศักดิ์ ของผู้ถึงแก่กรรม) ด้วยโรค.............ที่ ............... เมื่อวันที่.......... เวลา..........น.
ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ขอเดชะ"

สิ่งเหล่านี้วางบนพาน แล้วนำไปวางที่พระบรมฉายาทิสลักษณ์ที่สำนักพระราชวัง แล้วผู้นำเข้าไปก็ถวายความเคารพเป็นเสร็จการ

◄ll กลับสู่ด้านบน

ข้อปฏิบัติในการจัดพิธี

งานพิธีต่าง ๆ ตามประเพณีไทย จะมีพิธีสงฆ์เป็นองค์ประกอบสำคัญ และจะมีพิธีอื่นเช่นพิธีโหร พิธีพราหมณ์ หรือพิธีที่ประชาชนในท้องถิ่นยึดถือ เป็นส่วนประกอบตามความประสงค์ของผู้จัดพิธีนั้น
ถ้าเป็นงานพระราชพิธี หรือรัฐพิธี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเป็นประธานแห่งพิธีนั้นบางครั้งบางงานก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ หรือองคมนตรีหรือข้าราชบริพารผู้ใหญ่ทรงเป็นประธาน หรือเป็นประธานของพิธีนั้นแทนพระองค์

ถ้าเป็นพิธีของราชการ หัวหน้าส่วนราชการนั้นก็จะเป็นประธานของพิธี ถ้าเป็นคณะบุคคลประธาน หัวหน้า ผู้นำ หรือนายกของคณะบุคคลนั้น ก็จะเป็นประธานในพิธี
ถ้าเป็นพิธีของครอบครัว หัวหน้าครอบครัวก็จะเป็นประธานของพิธี หรืออาจเรียกว่าเจ้าภาพและถ้าเป็นพิธีส่วนบุคคลเจ้าของผู้จัดให้มีพิธีนั้นก็เป็นเจ้าภาพ

◄ll กลับสู่ด้านบน

การจัดตั้งที่บูชาในพิธี

ถ้าเป็นงานพิธีของส่วนรวม พระราชพิธี รัฐพิธี หรือพิธีของส่วนราชการต่าง ๆจะมีการจัดตั้ง ธงชาติไทย โต๊ะหมู่บูชา และพระบรมฉายาลักษณ์ด้วย เนื่องจากประชาชนชาวไทยมีสถาบันหลักทั้งสามคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นที่เคารพเทอดทูน เวลามีงานพิธีจึงเชิญสัญญลักษณ์ทั้งสามมาประดิษฐานในที่บูชาด้วย

การจัดตั้ง ธงชาติ โต๊หมู่บูชา พระพุทธรูป และพระบรมฉายาลักษณ์ ควรตั้งบนยกพื้นเบื้องหน้าและอยู่ตรงกลางของที่ประชุม ถ้างานนั้นมีการนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ด้วยก็ควรตั้งทางขวาสุดของแถวอาสนสงฆ์ที่นิมนต์มาเจริญพระพุทธมนต์ และตั้งเป็นลำดับเดียวกันคือ ธงชาติอยู่ทางขวาสุด ถัดมาเป็นโต๊ะหมู่บูชาพระพุทธรูปอยู่กลาง และพระบรมฉายาลักษณ์อยู่ทางซ้ายถัดจากโต๊ะหมู่บูชา

ในเวลาเริ่มพิธี ประธานในพิธีต้องแสดงความเคารพสิ่งทั้งสามนั้นด้วย คือ กราบพระพุทธรูปที่โต๊ะบูชาคำนับธงชาติ และถวายคำนับพระบรมฉายาลักษณ์ ตามลำดับ
ในงานพิธีต่าง ๆ มักจะตั้งที่ทรงกราบด้วย ที่ทรงกราบนี้ใช้เฉพาะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสมเด็จพระบรมราชินีนาถ และพระราชโอรส นอกนั้นไม่ควรใช้ ควรปูพรมหรือผ้าขาวสำหรับให้ประธานในพิธีนั่งกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ได้ จะเหมาะสมที่สุด
ถ้าเป็นงานรัฐพิธีและมีการตั้งเก้าอี้รับแขก ก็อนุโลมให้ใช้ที่กราบหรือหมอนกราบก็ได้การกราบบนที่กราบ หรือหมอนกราบนี้ ถือว่าเป็นการกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ด้วย

◄ll กลับสู่ด้านบน

ข้อปฏิบัติในพิธีต่าง ๆ ให้ถูกต้องตามประเพณีบางประการ มีดังนี้

๑) เมื่อประธานในพิธีเริ่มจุดธูปเทียน ผู้ร่วมในพิธีถ้านั่งเก้าอี้ให้ทุกคนยืนขึ้นประณมมือถ้านั่งกับพื้น สถานที่ไม่สะดวกในการยืนก็ไม่ต้องยืน พึงนั่งประณมมือโดยพร้อมเพรียงกัน

๒) ในพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดธูปเทียนข้าราชบริพารในพิธีมงคล พึงยืนอย่างเดียว ไม่ต้องประณมมือ เพราะเป็นผู้เข้าเฝ้าโดยถือว่าเป็นพระราชกุศลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยเฉพาะ ผู้อื่นเพียงแต่ทำความเคารพพระองค์เท่านั้น
ส่วนชาวบ้านทั่ว ๆ ไปในการเช่นนี้ ควรประณมมือโดยตลอด

๓) การจุดเทียนน้ำมนต์ในขณะพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เจ้าภาพควรจุดตอนพระสงฆ์เริ่มสวดมงคลสูตร(อเสวนา จ พา ลานํ ฯลฯ ) พิธีกรต้องเตรียมจุดเทียนชะนวนไว้ตอนพระสวด นโมแปดบทการดับเทียนชะนวนไม่ควรใช้การเป่าดับ ควรใช้วิธีอื่นเช่นมือ กระดาษ หรือใช้วิธีเอาปลายเทียนคว่ำลงแล้วใช้มือดับ
ธูปเทียนที่โต๊ะบูชานั้น ใช้เทียนสองเล่ม ธูปสามดอก และต้องจุดเทียนเล่มทางขวาของพระพุทธรูปแล้วจึงจุดเล่มซ้าย จากนั้นจึงจุดธูปสามดอก ปักไว้ในกระถางธูปตามลำดับ

๔) ในพิธีมงคลสมรส มีพิธีหลั่งน้ำ ประธานในพิธีนำคู่บ่าวสาวไปกราบพระพุทธรูปที่โต๊ะบูชาแล้วจึงนำคู่บ่าวสาวมายังที่หลั่งหรือรดน้ำ พิธีกรรมที่ประธานในพิธีต้องปฏิบัติตอนนี้คือสวมพวงมาลัย สวมมงคลคู่ หลั่งน้ำสังข์ และเจิมหน้าคู่บ่าวสาวตามลำดับ การเจิมหน้าควรเจิมด้วยนิ้วชี้ตามแบบของสำนักพระราชวัง

๕) ในงานอวมงคลทำบุญหน้าศพ ถ้ามีเครื่องทองน้อย (ประกอบด้วยกรวยดอกไม้สามที่ธูปหนึ่งเทียนหนึ่ง)ถ้าเจ้าภาพจะบูชาศพให้หันดอกไม้เข้าหาศพ ถ้าจะให้ศพบูชาพระให้หันดอกไม้ออกไปทางพระเวลาจุด จุดพร้อมกัน โดยจุดบูชาพระรัตนตรัยก่อน แล้วจึงจุดบูชาศพทีหลัง จุดธูปเทียนบูชาศพใช้ธูปเทียนอย่างละหนึ่งเท่านั้น

๖) พระสงฆ์ที่ถวายศีลเทศน์บนธรรมมาสน์ในพระราชพิธี รัฐพิธีและพิธีต่าง ๆ ที่มีเทศน์ ให้ใช้พัดรอง ไม่ต้องใช้พัดยศ แต่ถ้าถวายศีลนอกธรรมมาสน์ต้องใช้พัดยศ

๗) การกรวดน้ำ เพื่ออุทิศส่วนกุศลในพิธีต่าง ๆ ด้วย ต้องคำนึงถึงประเพณีที่มีมาแต่โบราณกาลด้วยวิธีที่นิยมคือ เริ่มต้นเตรียมน้ำสะอาด ใส่ภาชนะไว้พอสมควร จะเป็นคณฑีขวดเล็กแก้วน้ำ หรือขัน อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ พอพระสงฆ์เริ่มอนุโมทนาด้วยบท ยถาฯลฯ ก็เริ่มกรวดน้ำโดยตั้งใจนึกอุทิศส่วนบุญ มือขวาจับภาชนะน้ำรินใช้มือซ้ายประคองแล้วว่าบทกรวดน้ำในใจจนจบพร้อมกับพระว่า ยถา ฯลฯ จบ พอพระสงฆ์รับ สพฺพี ฯลฯก็วางแก้วน้ำ ประณมมือรับพรด้วยความเคารพ การหลั่งน้ำกรวด ถ้าเป็นพื้นดินควรหลั่งลงบนพื้นที่สะอาดหมดจด ถ้าอยู่บนเรือหรือสถานที่ไม่ใช่พื้นดิน ต้องหาภาชนะอื่นที่สมควรเช่นถาดหรือขัน รองรับน้ำที่กรวดเสร็จแล้วจึงนำไปเทลงบนดินที่สะอาด อย่าใช้กระโถนหรือภาชนะสกปรกรองเป็นอันขาดเพราะน้ำที่กรวดเป็นสักขีพยานในการทำบุญของตนว่า ทำด้วยใจใสสะอาด

◄ll กลับสู่ด้านบน

๒. วิธีประเคนของพระ

การประเคนของพระ คือ การถวายของให้พระได้รับถึงมือ ของที่ประเคนนั้น ต้องเป็น ของที่คนเดียวพอยกได้อย่างธรรมดา ไม่ใช่ของหนัก หรือใหญ่โตจนเกินไป ไม่มีวัตถุอนามาส คือ เงินทอง หรือของกะไหล่ด้วยเงินแท้หรือทองแท้ปนอยู่ด้วย เพราะเป็นของไม่เหมาะแก่ภาวะ ของพระที่จะรับได้ และถ้าเป็นของเคี้ยวของฉัน ต้องประเคนได้เฉพาะในกาล เวลาวิกาลตั้งแต่ เที่ยงแล้วไปจนถึงย่ำรุ่งวันใหม่ ไม่ควรนำมาประเคน วิธีประเคนนั้นพึงปฏิบัติ ดังนี้

ก. พึงนำของประเคนเข้าไปให้ใกล้พระผู้รับ ประมาณ ๑ ศอก (ไม่ถึงศอก หรือไม่ เกินศอกคืบก็ได้) จะนั่งหรือยืนแล้วแต่สถานที่ที่พระนั่งอยู่นั้นอำนวย

ข. จับของที่ประเคนด้วยมือทั้งสองก็ได้ มือเดียวก็ได้ ยกให้สูงขึ้นเล็กน้อย แล้วน้อม ถวายพระซึ่งท่านจะยื่นมือทั้งสองออกมาจับ ถ้าผู้ถวายเป็นสตรี พึงวางของลงบนผ้ากราบ ที่พระปูรับอยู่ข้างหน้า เสร็จแล้วพึงไหว้หรือกราบแล้วแต่กรณี หนหนึ่ง

หลักสำคัญของการประเคนนี้ ต้องแสดงออกด้วยความเคารพ ไม่ใช่เสือกไส หรือทิ้ง ให้โดยไม่เคารพ

◄ll กลับสู่ด้านบน



๓. วิธีทำหนังสืออาราธนาและทำใบปวารณาถวายจตุปัจจัย

การอาราธนาพระ ก็คือการนิมนต์พระสงฆ์ไปประกอบพิธีต่าง ๆ ต้องทำให้เป็น กิจจะลักษณะ แต่ปางก่อนใช้อาราธนาด้วยวาจาเป็นพื้น แต่ในปัจจุบันนี้มีนิยม ทำหนังสืออาราธนา ความมุ่งหมายก็เพื่อแจ้งกำหนดงานและรายการให้พระสงฆ์ทราบ หนังสืออาราธนานี้ เรียกกันว่า ฎีกานิมนต์พระ มีข้อความที่จะแสดงเป็นตัวอย่าง ดังนี้

“ขออาราธนาพระคุณเจ้า (พร้อมด้วยพระสงฆ์ในวัดนี้อีก...รูป) เจริญพระพุทธมนต์ (หรือสวดพระพุทธมนต์ หรือแสดงพระธรรมเทศนาแล้วแต่กรณี) ในงาน.....ที่บ้านเลขที่..... ตำบล.....อำเภอ......กำหนดวันที่.....เดือน......พ.ศ.......เวลา.....น.

(หากจะอาราธนาให้รับอาหารบิณฑบาต เช้า หรือ เพล ให้บอกด้วย ถ้าต้องการ ตักบาตรหรือปิ่นโต ก็ต้องบอกไว้ในฎีกาให้นำไปด้วย)

ถ้างานนั้นมีเรือหรือรถรับส่ง ก็ให้หมายเหตุบอกไว้ท้ายฎีกานั้น เพื่อพระจะได้ทราบ ล่วงหน้า การวางฎีกานิมนต์พระนี้ ถ้าเป็นพระวัดเดียวกัน ไม่ต้องทำฎีกานิมนต์ เป็นรายองค์ ก็ได้ เป็นแต่ระบุจำนวนพระหรือรายชื่อพระที่ต้องการให้ทางวัดจัดนิมนต์ ต่อให้ก็ได้

และในการถวายไทยธรรมแก่พระสงฆ์ ที่นิมนต์มาประกอบพิธีต่าง ๆ ก็มี นิยมถวายค่า จตุปัจจัยเป็นพิเศษจากไทยธรรมอีกส่วนหนึ่งด้วยในการถวายค่าจตุปัจจัยนี้ นิยมทำใบปวารณา ถวาย คือ ถวายด้วยใบปวารณาความมุ่งหมายก็เพื่อสงเคราะห์ ให้ภิกษุได้รับค่าจตุปัจจัยนั้น โดยชอบด้วยวินัย ใบปวารณานี้ มีแบบนิยมเป็นฉบับ ดังนี้

“ขอถวายจตุปัจจัยอันควรแก่สมณบริโภค แด่พระคุณเจ้าเป็น มูลค่า.....บาท ....สต. หากพระคุณเจ้าต้องประสงค์สิ่งใดอันควรแก่สมณบริโภคแล้ว ขอได้โปรดเรียกร้องจากกัปปิยการก ผู้ปฏิบัติของพระคุณเจ้า เทอญ”

ใบปวารณานี้ นิยมกลัดติดกับผ้าที่ทอดในงานอวมงคล หรือถวายเฉพาะใบ หรือไม่ ก็ใส่ซองแล้วรวมถวายไปกับเครื่องไทยธรรมในทุก ๆ งาน ส่วนเงินค่าจตุปัจจัยนั้น มอบไปกับ กัปปิยการก คือศิษย์ผู้มากับพระนั้น

◄ll กลับสู่ด้านบน


[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 25/4/09 at 09:35 [ QUOTE ]





มารยาทในการรับประทานอาหาร

1. เมื่อได้รับเชิญไปรับประทานอาหารในงานพิธีใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารแบบไทยแบบฝรั่ง ย่อมใช้มารยาทสุภาพเช่นเดียวกัน ถ้าเป็นการรับประทานแบบนั่งเก้าอี้ก็ต้องนั่งตัวตรงเรียบร้อยและใช้เครื่องใช้ในการรับประทานอาหารที่เป็นส่วนของตน เช่น จาน ชาม ช้อน ส้อม มีด จานแบ่ง ผ้าเช็ดมือ เป็นต้น ถ้าเป็นอาหารไทยต้องใช้ช้อนกลางตักอาหารที่เป็นของกลาง ไม่ใช้เครื่องมือของตนเองตักอาหารซึ่งเป็นของกลาง

2. เวลารับประทานอาหารต้องรับประทานโดยระมัดระวัง ไม่ทำให้เลอะเทอะ มูมมาม ควรหุบปากเวลาเคี้ยวอาหารเพื่อระวังมิให้มีเสียงดัง

3. ไม่ใช้มือของตนแตะต้องหรือหยิบอาหารที่ผู้อื่นจะบริโภค หรืออาหารที่เป็นของกลาง

4. ในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น ต้องรอให้ผู้มีอาวุโสกว่านั่งก่อนจึงนั่ง และผู้มีอาวุโสเริ่มรับประทานก่อนจึงรับประทานอาหาร

5. ถ้านั่งเก้าอี้ควรนั่งตัวตรง ไม่เท้าศอกบนโต๊ะอาหาร ถ้านั่งกับพื้นควรนั่งพับเพียบเรียบร้อยและตั้งตัวตรง ไม่เท้าแขน

6. การใช้ผ้าเช็ดมือ เมื่อเข้านั่งโต๊ะอาหารก่อนจะรับประทานควรหยิบผ้าเช็ดมือปูที่ตัก ก่อนดื่มควรใช้ผ้าเช็ดมือเช็ดปากก่อนทุกครั้ง เพื่อกันมิให้แก้วเป็นคราบ ดื่มเสร็จแล้วเช็ดอีกครั้ง ระหว่างรับประทานอาหาร ถ้ามีความจำเป็นต้องลุกไปจากโต๊ะควรวางผ้าเช็ดมือไว้ที่เก้าอี้กล่าวคำขอโทษเสียก่อนจึงลุกไป

7. ถือช้อนด้วยมือขวาและส้อมด้วยมือซ้ายในเวลารับประทานอาหารแบบไทย ถ้ารับประทานอาหารแบบฝรั่งที่ต้องใช้มีดกับส้อม ให้ถือมีดด้วยมือขวา ถือส้อมด้วยมือซ้าย

8. ผู้มีมารยาทไม่ควรพูดถึงสิ่งที่น่าเกลียดหรือน่าหวาดเสียวให้เป็นที่รังเกียจขณะรับประทานอาหาร

9. เราควรรู้จักกระเพาะอาหารของเราให้ดีว่าจะบรรจุอาหารสักเท่าใด แล้วแบ่งให้พอดีกับความต้องการของตน อย่าโลภตักแบ่งไปจนรับประทานไม่หมด และอย่าแบ่งโดยคุ้ยเขี่ยทำลายความสวยงามที่เขาตบแต่งอาหารไว้

10. ในการรับประทานอาหาร ไม่ควรคุยกันและไม่ควรกินเสียงดัง มูมมาม ควรใช้ช้อนกลางตักอาหาร




๔. วิธีอาราธนาศีล, อาราธนาพระปริตร, อาราธนาธรรม

การอาราธนา คือ การเชื้อเชิญพระสงฆ์ในพิธีให้ศีล ให้สวดพระปริตร หรือให้แสดงธรรม เป็นธรรมเนียมมีมาแต่ดั้งเดิมที่จะต้องอาราธนาก่อน พระสงฆ์จึงจะประกอบพิธีกรรมนั้น ๆ และการอาราธนาที่ถือเป็นธรรมเนียมกันมาก็มี ๓ กรณีเท่านั้น

วิธีอาราธนา นิยมกันว่า ถ้าพระสงฆ์นั่งบนอาสนะยกสูงเจ้าภาพและแขกนั่งเก้าอี้ ผู้อาราธนาเข้าไปยืนระหว่างเจ้าภาพกับแถวพระสงฆ์ตรงกับรูปที่ ๓ หรือที่ ๔ ห่างแถวพระสงฆ์ พอสมควรหันหน้าไปทางโต๊ะที่บูชา ประนมมือไหว้พระพุทธรูปก่อนแล้วยืนประนมมือตั้งตัวตรง กล่าวคำอาราธนาตามแบบที่ต้องการ ถ้าพระสงฆ์นั่งอาสนะต่ำธรรมดา เจ้าภาพและแขกอื่น ก็นั่งกับพื้น ผู้อาราธนาต้องเข้าไปนั่งคุกเข่าต่อหน้าแถวพระสงฆ์ตรงหัวหน้า กราบพระที่โต๊ะบูชา ๓ ครั้งก่อน แล้วประนมมือตั้งตัวตรง กล่าวคำอาราธนาที่ต้องการตามแบบ คือ

พิธีสวดมนต์เย็น อาราธนาศีล อาราธนาพระปริตร

พิธีเลี้ยงพระ อาราธนาศีล

พิธีถวายทานทุกอย่าง อาราธนาศีล

พิธีเทศน์ ถ้าเทศน์ต่อจากสวดมนต์ ตอนสวดมนต์ไม่ต้องอาราธนาศีล เริ่มต้นด้วย อาราธนาพระปริตร แล้วอาราธนาศีล ตอนพระขึ้นเทศน์ รับศีลแล้วอาราธนาธรรมต่อ แต่ถ้า สวดมนต์กับเทศน์ไม่ได้ต่อเนื่องกัน ถือว่าเป็นคนละพิธี ตอนสวดมนต์ก็อาราธนา ตามแบบ พิธีสวดมนต์เย็นที่กล่าวแล้ว ตอนเทศน์ก็เริ่มต้น ด้วยอาราธนาศีลก่อน จบรับศีลแล้วจึงอาราธนาธรรม

พิธีสวดศพต่าง ๆ เช่น สวดแจง สวดพระอภิธรรม เป็นต้น ถ้าไม่มีพิธีอื่นนำ หน้าให้ อาราธนาศีลก่อน ถ้ามีพิธีอื่นนำหน้าแล้วไม่ต้องอาราธนาศีล

คำอาราธนาศีล ๕ แบบที่ ๑



(แบบที่ ๑ เล่นอัตโนมัติ แบบที่ ๒ กดปุ่ม Play ก่อนแล้วรอสักครู่)


คำอาราธนาศีล ๕ แบบที่ ๒



มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ

ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ

ทุติยัมปิ..........

ตติยัมปิ..........

คำแปล

ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ๕ ประการ พร้อมด้วยไตรสรณคมณ์ เพื่อประโยชน์แก่การรักษา

ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ๕ ประการ พร้อมด้วยไตรสรณคมณ์ เพื่อประโยชน์แก่การรักษา แม้ครั้งที่สอง

ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ๕ ประการ พร้อมด้วยไตรสรณคมณ์ เพื่อประโยชน์แก่การรักษา แม้ครั้งที่สาม


คำอาราธนาพระปริตร



วิปัตติปะฏิพาหายะ สัพพะสัมปัตติสิทธิยา

สัพพะทุกขะวินาสายะ ปริตตัง พฺรูถะ มังคะลัง

วิปัตติปะฏิพาหายะ สัพพะสัมปัตติสิทธิยา

สัพพะภะยะวินาสายะ ปริตตัง พฺรูถะ มังคะลัง

วิปัตติปะฏิพาหายะ สัพพะสัมปัตติสิทธิยา

สัพพะโรคะวินาสายะ ปริตตัง พฺรูถะ มังคะลัง ฯ

คำแปล

ขอพระสงฆ์ทั้งหลาย จงสวดพระปริตรอันเป็นมงคล เพื่อป้องกันความวิบัติทั้งปวง เพื่อยังสมบัติทั้งปวงให้สำเร็จ เพื่อให้ทุกข์ภัย โรคทั้งปวงพินาศไปเถิด


คำอาราธนาธรรม



พรัหฺมา จะ โลกาธิปะตี สะหัมปะติ

กัตอัญชะลี อันธิวะรัง อะยาจะถะ

สันตีธะ สัตตาปปะระชักขะชาติกา

เทเสตุ ธัมมัง อนุกัมปิมัง ปะชัง ฯ

คำแปล

ท้าวสหัมบดีพรหมผู้เป็นอธิบดีของโลก กราบทูลวิงวอน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประเสริฐกว่าสัตว์ทั้งหลายที่มีธุลี คือ กิเลสในดวงตาเบาบางยังมีอยู่ในโลกนี้ ขอพระองค์ทรงแสดงธรรมอนุเคราะห์หมู่สัตว์นี้เถิด



คำถวายข้าวพระพุทธ

อิมัง สูปะพยัญชะนะสัมปันนัง สาลีนัง โภชะนัง อุทะกัง วะรัง พุทธัสสะ ปูเชมิ

(ข้าพเจ้าขอบูชาด้วยโภชนะข้าวสาลี พร้อมด้วยแกงกับและน้ำอันประเสริฐนี้แด่พระพุทธเจ้า)

คำลาข้าวพระพุทธ

เสสัง มังคะลัง ยาจามิฯ

(ข้าพเจ้าขอคืนเศษอันเป็นมงคลนี้ ข้าพเจ้าขอภัตต์ที่เหลือที่เป็นมงคลด้วยเถิด)

คำถวายภัตตาหาร

อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุโน ภันเต ภิกขุสังโฆ
อิมานิ ภัตตานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ

(ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ซึ่งภัตตาหารกับของที่เป็นบริวาร ทั้งหลายเหล่านี้แด่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับ ซึ่งภัตตาหารกับของที่เป็นบริวารทั้งหลายเหล่านี้ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดสิ้นกาลนานเทอญ)

คำถวายสังฆทาน

(ตั้ง นะโม ๓ จบก่อน)

"..ข้าแต่พระสงฆ์ทั้งหลายผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย พระพุทธปฏิมากร ผ้าไตรจีวร พร้อมด้วยของที่เป็นบริวาร ทั้งหลายเหล่านี้ แด่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์ทั้งหลายโปรดรับ พระพุทธปฏิมากร ผ้าไตรจีวร พร้อมด้วยของที่เป็นบริวาร ทั้งหลายเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดสิ้นกาลนานเทอญฯ.."

คำถวายผ้ากฐินทาน

(ตั้ง นะโม ๓ จบก่อน)

อิมัง ภันเต สะปะริวารัง กะฐินะจีวะระทุสสัง สังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุโน ภันเต สังโฆ
อิมัง สะปะริวารัง กะฐินะ ทุสสัง ปะฏิคคัณหาตุ ปะฏิคคะเหตะวา จะ อิมินา ทุสเสนะ กะฐินัง อัตถะระตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ
ทุติยัมปิ ...(กล่าวเหมือนข้างต้น)
ตะติยัมปิ ...(กล่าวเหมือนข้างต้น)

(ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายผ้ากฐินจีวร กับทั้งบริวารนี้ แด่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับผ้ากฐิน กับทั้งบริวารนี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย และเมื่อรับแล้ว ขอจงกรานใช้กฐินด้วยผ้านี้ เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดสิ้นกาลนานเทอญ)

คำถวายผ้าป่า

(ตั้ง นะโม ๓ จบก่อน)

อิมานิ มะยัง ภันเต ปังสุกูละจีวะรานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุโน ภันเต ภิกขุสังโฆ
อิมานิ ปังสุกูละจีวะรานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆารัตตัง หิตายะ สุขายะ

(ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายผ้าบังสุกุล จีวร กับทั้งบริวารเหล่านี้ แก่พระภิษุสงฆ์ ขอพระภิษุสงฆ์จงรับผ้าบังสุกุลจีวร กับทั้งบริวารเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดสิ้นกาลนานเทอญ ฯ)

ll กลับสู่ด้านบน


[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
ตั้งหัวข้อใหม่

Go To Top