Not logged in [Login - Register]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites ตั้งหัวข้อใหม่
[*] posted on 7/8/08 at 23:11 [ QUOTE ]

ประวัติการสร้างวัดท่าซุงของหลวงพ่อฯ (พระครูปลัดอนันต์บันทึก ตอนที่ 1)


บันทึกโดย.. พระครูปลัดอนันต์ พทฺธญาโณ




ตอนที่ 2 »  ตอนที่ 3 » 


อารัมภกถา

ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย วันนี้ก็เป็นวันเริ่มต้นที่จะทำหนังสือ ประวัติของหลวงพ่อพระราชพรหมยาน หรือหลวงพ่อวัดท่าซุง ที่ท่านได้มรณภาพลงไปแล้ว พวกเราที่อยู่เบื้องหลังก็ดำริจัดทำหนังสือเล่มหนึ่ง คือ ประวัติของหลวงพ่อพระราชพรหมยานนี้ ให้ท่านสาธุชนที่อยู่เบื้องหลังได้รับทราบถึงความเป็นมาของท่าน นั้นว่าเป็นอย่างไร

แต่อันที่จริงหนังสือที่ท่านเขียนไว้ขณะท่านที่มีชีวิตอยู่นั้น หาประมาณไม่ได้ หลายเล่มเต็มที ซึ่งล้วนแต่ท่านเป็นผู้พูดไว้ทั้งสิ้น แต่หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ญาติโยม พุทธบริษัททั้งหลายช่วยกันเรียบเรียงขึ้นมา อาตมาเองในฐานะที่อยู่ร่วมกับท่านมา ๒๐ ปี ก็จะขอพูดสำหรับส่วนที่อยู่กับท่านเท่านั้น แต่ความลึกซึ้งของท่านนั้น ก็จะไม่ขอเข้าไปมาก เพราะว่าจะเป็นผู้ไม่รู้จริง จะขอพูดส่วนที่รู้จริงที่อยู่กับท่านเท่านั้น





มาอยู่กับหลวงพ่อ


อาตมาเองบวชเมื่อพ.ศ. ๒๕๑๖ ได้มาอยู่ร่วมกับท่านประมาณเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ อาตมาเองนั้นไม่ใช่ผู้ถึงผู้นับถือศาสนามากนัก เป็นผู้ที่ชาวบ้านเรียกว่า มิจฉาทิฐิ เต็มอัตรา แต่ความที่เป็นมิจฉาทิฐินั้น คือ เป็นผู้ที่เห็นผิด เห็นผิดเพราะเราเคยเจอแต่พระที่ไม่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เราเป็นผู้โง่เขลาบาปัญญา ก็เห็นพระในพุทธศาสนาที่ห่มผ้าเหลือง ที่บิณฑบาตชาวบ้านกินนั้น เป็นพวกเลวทั้งหมด

นี่เป็นความผิดอย่างมหันต์ ที่ท่านทั้งหลายที่อยู่เบื้องหลังไม่ควรนำมาเป็นตัวอย่าง เพราะว่าพระในพุทธศาสนานั้นที่ห่มผ้าเหลือง ชาวบ้านเรียกว่า พระผู้ประเสริฐ แต่พระพุทธเจ้ารับเองนั้น คือพระอริยเจ้าตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป ถ้าพระอย่างเราที่ห่มผ้าเหลืองนั้น ท่านเรียกว่า สมมติสงฆ์ คือ เอาผ้าเหลืองมาหุ้มห่อกาย ทำตัวแบบพระ เป็นผู้ซึ่งกำลังจะปฏิบัติตัวให้เป็นพระ ถ้าจะปฏิบัติตัวให้เป็นพระก็ยังพอไหว้ พอกราบกันได้ อย่างพระผู้ที่หวังว่า จะให้กิเลสหมดไปเสียจากใจ

แต่ส่วนหนึ่งที่อาตมาได้พบนั้น ก็จะเป็นพวกที่พอกพูนสะสมโลภโมโทสันเยี่ยงฆราวาสเขาทำ เมื่อเรามาพบเช่นนั้น ก็หมดความนับถือพระในพุทธศาสนาทั้งหมด เพราะเราเป็นผู้เลวเอง เป็นผู้ขาดปัญญาเอง เป็นผู้มีอกุศลกรรมสิงใจเอง จึงทำให้เราไม่พบพระที่ประเสริฐ ไม่พบพระที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ก็พาให้เราฝังใจ ไม่เคารพ ไม่เชื่อฟัง ไม่ปฏิบัติตามเรื่อยมา

จนครั้นเมื่อมาบวชด้วยมีศรัทธานิดเดียว แต่ก็ยังดี เมื่อบวชแล้วด้วยความที่เราเป็นมิจฉาทิฐินั้น ก็ค้นคว้าหาสิ่งที่เป็นสัมมาทิฐิ คือ มาพบพระรูปหนึ่งท่านแนะนำพระซึ่งท่านได้แนะนำว่า พระที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบนั้นมีอยู่ ผู้ที่แนะนำนั้น จะขอกล่าวนามท่าน ก็คือ พระครูสุรินทร์ หรือที่ท่านเรียกกันว่า พระครูวิจารณ์วิหารกิจ อยู่วัดสุขุมาราม อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร

ท่านเป็นพระที่เคารพ หลวงปู่ปาน เป็นชีวิตจิตใจ เป็นผู้ที่เคารพ หลวงพ่อราชพรหมยาน เป็นชีวิตจิตใจ อาตมาบวชประมาณ ๑ เดือน หรือ ๒ เดือน ท่านก็มาคุยว่า พระที่ปฏิบัติดีอย่างนี้มีอยู่ แต่ท่านก็ไม่ได้คุยมาก เป็นผู้แนะนำว่า ให้อ่านหนังสือเล่มนี้ดูซิ คือ ประวัติหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค

เมื่ออ่านแล้วนี้ ก็มีความซาบซึ้ง จิตที่เคยเห็นผิดนั้น ก็มีความสนใจขึ้น คิดว่าพระในพระพุทธศาสนานี้ ที่ดีมีอยู่ เรายังไม่ได้พบท่านเอง เรามีกรรมหนาเอง ท่านเป็นผู้จุดแสงสว่างให้เราได้พบ เมื่ออ่านประวัติหลวงพ่อปานแล้ว ก็มีความเร่าร้อนจิต อยากจะพบหลวงพ่อ

ขณะนั้นชาวบ้านเขาเรียกว่า หลวงพ่อมหาวีระ ถาวโร ก็อยากจะพบหลวงพ่อมหาวีระ เมื่ออ่านหนังสือมากขึ้น ก็มีความเคารพรักท่านมากขึ้น ก็อยากจะมาพบ เมื่อออกพรรษาแล้ว อาตมาอยู่ที่วัดปากคลองบางปลากด อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสรรค์ เมื่อออกพรรษแล้วก็มาพบขออยู่กับท่าน อันที่จริงๆมาก่อนออกพรรษแล้วไม่ทราบว่าวันที่เท่าไหร่ (ไม่นึกเลยว่าจะมาพูดเล่าประวัติตัวเอง ไม่นึกจะมาพูดเรื่องการทำหนังสืออย่างนี้)

แต่เมื่อมาแล้วมาพบท่านแล้ว วันนั้นมาถึงประมาณ ๔ โมงเช้า เห็นพระที่ออกพรรษาแล้ว ก็เตรียมตัวจะสึกกัน ที่จะอยู่ต่อพรรษาต่อไปก็เหลือน้อย เมื่อถึง ๕ โมงแล้ว ท่านฉันอาหารเพล ก็รอพบท่าน ท่านฉันอาหารเพลแล้วก็เข้าไปกราบท่าน ท่านก็ทักขึ้นมาว่า “ไอ้คนที่บวชเป็นพระน่ะ ไอ้บวชเพื่อที่จะมีเมียนี่ ข้าไม่อยากคบเลย” ท่านพูดเปรยๆ มาเฉยๆ แต่แทงใจดำพอดี

แล้วท่านก็ถาม “คุณ ระงับนิวรณ์ ๕ ได้หรือยัง” ไอ้เราเองขณะนั้นยังไม่ทราบเลยว่า นิวรณ์ ๕ เป็นยังไง เพราะไม่ได้สนใจ แล้วก็ไม่ทราบว่านิวรณ์เป็นยังไงด้วยซ้ำ ตอบท่านว่า “ยังครับ” พระครูสุรินทร์ ก็แนะนำว่า “พระท่านสนใจปฏิบัติพระกรรมฐาน อยากจะมาอยู่กับหลวงพ่อด้วย”

ท่านก็บอกว่า “ถ้าอยู่กับฉัน ต้องเอาจริงนะ อย่าสนใจเสียงนกเสียงกา เสียงเห่าเสียงหอนของหมา ให้ตั้งใจปฏิบัติ” เมื่อท่านพูดแบบนั้นแล้ว ท่านก็คุยเรื่องอื่นต่อ แต่เราดูท่านแล้วนี่เป็นผู้ที่น่าเกรงขาม ไม่เหมือนกับพระทั่วไปที่เคยสัมผัสมา ท่านก็บอกให้เราไปหาที่พักให้เรียบร้อย ตกเย็นๆก็จะมีการทำวัตร สวดมนต์ นั่งกรรมฐาน กันเป็นปกติ

ขณะนั้นมันก็ใกล้จะหนาวๆ แล้วนี่ ถึงเย็นๆ ก็ต้องไปนั่งฝึกกรรมฐานกันที่ตึก ที่เราเรียกว่า ตึกขาว ที่เขาป้ายข้างตึกที่เขาเขียนว่า ตึกอะไรหล่ะ เรียกว่า ตึกสุขุมวัฒนี นวพันธ์นี่ ซึ่งตึกนี้เป็นตึกเจริญพระกรรมฐานของวัดรุ่น พ.ศ. ๒๕๑๖ เมื่อตอนเย็นขึ้นไปนั่งพระกรรมฐานแล้ว จิตของเราไม่เคยฝึกมันก็ดิ้นรน ฟุ้งซ่าน ไปตามอารมณ์ของกิเลสทุกอย่างที่มีอยู่ในตัว

ท่านก็สอนว่า ต้องตัดความกังวลห่วงใยทั้งหมดที่มีอยู่ อย่าตามคิดถึง อย่าสนใจจริยาของผู้อื่น ให้สนใจจริยาของเรา เมื่อท่านเทศน์จบท่านก็ให้แผ่พรหมวิหาร ๔ ไปในทิศทั้งปวง ท่านก็บอกว่า ไม่ใช่เขียนหนังสือแต่ว่า เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ต้องทำจิตใจให้รักคนอื่นเหมือนรักตัวเรา มีความเมตตาสงสารคนอื่นเหมือนสงสารตัวเรา ให้มีศีลบริสุทธิ์ผุดผ่อง

เมื่อท่านสอนเสร็จ ก็ให้นั่งกรรมฐาน จิตของเราก็ฟุ้งซ่าน เต็มอัตราศึก สุดที่จะฟุ้งซ่านได้ เมื่อนั่งกรรมฐานเสร็จ ก็อุทิศส่วนกุศลก่อนที่จะอุทิศส่วนกุศล ท่านก็บอกว่า พระใหม่เอ๊ย พระใหม่ที่มาใหม่ ก็คือ เรา ตอนนั้นมีพระนั่งกรรมฐานซัก ๗-๘ องค์ได้ บอก

"..พระใหม่เอ๊ย พระมาบอกว่า ให้เดินเข้ามหาสติปัฏฐานสูตรนะ มีหนังสือไหม มีหนังสือไหม มีหนังสือมหาสติปัฏฐานสูตรไหม

บอกไม่มีครับ มหาสติปัฏฐานสูตร เราเองนะไม่เคยอยู่ในหัว ในสมองเลย เพราะไม่เคยรู้จัก ไอ้ความที่เราไม่เคยสนใจมาก่อน จึงไม่รู้จักหนังสือธรรมะทุกอย่าง ท่านบอกว่า ไม่มีให้ไปขอครูนนทาเขา ให้ครูนนทาเขาหยิบให้ เมื่อหยิบมา เมื่อสั่งแล้ว ท่านก็เลิกกรรมฐาน

เราก็มาเอาหนังสือที่ครูนนทาให้มา ก็มาอ่าน อ่านแล้วก็รู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้ไม่มีฤทธิ์ ไม่มีเดชเลย เป็นหนังสือสุขวิปัสสโก หาฤทธิ์หาเดชไม่ได้ ไม่ชอบใจในจิต เพราะเราอยากได้ฤทธิ์และเดช อยากมีตาทิพย์หูทิพย์ จะได้ไปคุยโม้อวดชาวบ้านเขาได้ว่า เราก็เก่งเหมือนกันสามารถมีหูทิพย์ตาทิพย์ได้ นี่มันเป็นกิเลสเต็มขั้น ท่านสาธุชนหรือผู้อ่านอย่าเอาเป็นเยี่ยงอย่าง เรื่องความอยากห้ามกันไม่ได้ แต่อย่าผิดธรรมนองคลองธรรมอย่างอาตมานะ ข้อควรอย่าเข้าไปใกล้ มันทางแห่งการลงอบายภูมิทั้งนั้น

เมื่ออยู่กับท่านตั้งแต่บัดนั้นมา ก็นั่งกรรมฐานกันเกือบทุกวัน งานการทางวัดมีอยู่ก็ทำ ทำเป็นกิจวัตร คือ ทำวัตร ฉันเช้า แล้วก็ลงมือทำงาน มีการก่อสร้าง ขณะที่มาตอนนั้นกำลังขัดหิน ขัดอยู่ที่พื้นที่วงศานุสรณ์นั้น ไปช่วยเขากวาดน้ำ ขัดพื้น เป็นงานที่ทำร่วมกัน ทั้งพระภิกษุและฆราวาส



หลวงพ่อสร้างวัด


ขณะที่มาอยู่ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๖ นั้น ทางวัดไม่มีเงินทองมาก ไม่มีพุทธบริษัทมาสงเคราะห์เหมือนสมัยนี้ ถือว่าอยู่กันตามอัตภาพ มีเงินก็ก่อสร้าง ถ้าประหยัดแรงงานได้พระก็ทำหันทุกวัน ไม่ได้ขาด ไม่มีวันพระ วันโกน อันที่จริงเรื่องทำงานนั้นเป็นงานที่สาธารณประโยชน์ เป็นงานการกุศล ทำแล้วก็ได้สบายใจ

เมื่ออยู่กันไป พ.ศ. ๒๕๑๖ นั้น หลวงพ่อท่านจะสร้างโบสถ์เพิ่มขึ้นมาอีก ๑ หลัง เพราะหลังเก่านั้น เป็นที่ทรุดโทรมมาก หลังคาก็รั่วโหว่ ฝาผนังก็ผุ ก็ดำริว่า ท่านจะสร้างพระอุโบสถ บูรณะของเก่า แต่ท่านเจ้าอาวาสผู้นิมนต์ท่านมานั้น ยอมให้สร้างเหมือนกันแต่ต้องควบคุมการเงินเอง

ฉะนั้นเป็นสิ่งที่ผิดปกติ ผิดปกติ คือ ไม่ได้หาเงินเอง แต่จะเอาเงินไปเก็บเอง ในฐานะตัวเองเป็นเจ้าอาวาส การที่จะทำอะไรอย่างนี้ เป็นการที่ทำลายศรัทธาของคนผู้มีศรัทธา เพราะว่าผู้ที่เอาเงินมาให้คือ ผู้มีศรัทธานั้น เขาไม่ไว้ใจเจ้าอาวาส เพราะว่าเคยสร้าง สั่งของมาแล้วเป็น ๑๐ ปี ยังทำไปไม่ถึงไหน แต่ออกเงินให้ชาวบ้านเขากู้ บริษัทของตัวเองก็กินเหล้าเมายา เป็นที่ไม่ไว้วางใจของคนดี คนดีที่มีศีลมีธรรม

เมื่อท่านเจ้าอาวาสยืนยันมาอย่างนั้น หลวงพ่อท่านก็ไม่ตกลงด้วย เพราะว่าเจ้าของเงินที่บริจาคมานั้นเขาไม่ไว้ใจ เจ้าอาวาสท่านจึงสั่งซื้อที่ตรงข้ามกับวัด คือฝั่งถนนที่ปัจจุบันเขียนว่า ศูนย์ศิษย์หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค นั่น ๑๑ ไร่ ขณะนั้นยังเป็นป่า ป่ารกชัฏ เป็นป่าไผ่แถบหนึ่ง ตกลงมีโยมที่เป็นเจ้าของขายให้ในราคาถูก ไร่ละหมื่นบาท คือทำบุญด้วยเมื่อท่านตกลงซื้อที่จะสร้างพระอุโบสถขึ้นมาใหม่ โดยไม่ต้องผ่านเจ้าอาวาส

เมื่อตกลงซื้อที่แล้ว ก็ต้องถากถางป่าที่ยังรกชัฏอยู่ อันที่จริงสมัยก่อนนั้นเราก็ไม่ค่อยมีเงินมาก ไม่ใช่ไม่มีเงินมาก คือ ไม่มีเงิน คือ ทำก่อนผ่อนทีหลัง จะหารถแทรกเตอร์มาดันป่าก็ไม่มี ฉะนั้นจึงต้องหาแรงงานชาวบ้านส่วนหนึ่ง จ้างเอามาฟัน ส่วนหนึ่งพระฟัน คือฟันป่าไผ่ให้เตียน เมื่อฟันป่าให้ล้มลงแล้ว ปล่อยให้แห้งสักช่วงหนึ่ง ก็จุดไฟเผาให้ลง เพื่อจะทำการวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถ

เมื่อป่าไผ่เตียนลงแล้ว ท่านก็ดำริขึ้นมาว่า ก่อนจะวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถนั้น ให้สร้างกำแพงรอบวัดก่อน ให้จ้างคนมา พระส่วนหนึ่ง ญาติโยมส่วนหนึ่ง มาทำกำแพงรอบวัด ทั้งหมด ๑๑ ไร่ เมื่อทำกำแพงลงไปแล้ว ก็เริ่มสร้างกุฏิหลังแรก ฝั่งพระอุโบสถปัจจุบันนี้ คือ ตึกเศรษฐี อยู่ที่มุมเศรษฐีหลังแรกหลังใหญ่ ปัจจุบันทางขึ้นศาลา ๓ ไร่ ศาลา ๒ ไร่

ตอนนั้น เมื่อลงขุดหลุมเสาแล้ว อาตมาเองก็ไปช่วยเขา ตั้งแต่ถมดินทุกอย่าง ก่ออิฐ ฉาบปูน ขนอะไรทุกอย่าง เมื่อสร้างหลังนั้นขึ้นมาแล้วก็สร้างกุฏิขึ้นพร้อมกันทีเดียว ๑๐ หลัง ตั้งเสา เสา เสา เสา เอาดินถมพื้น ขุดหลุม เทปูนทุกอย่าง ทำไปรวมกับช่างบางส่วน ขณะนั้นพระที่บวชอยู่ด้วยกันที่เป็นช่าง คือ พระวิเชียร ท่านเป็นช่าง เป็นหัวหน้าพระทำงานก่อสร้างครั้งนั้น พระก็ไม่มีกี่องค์ ก็มีอาตมา พระอนันต์ ๒. หลวงพี่โอ หลวงพี่พระครูสมุห์พิชิต ๓. พระวิเชียร ๔. พระน้อม แล้วก็ ๕. สามเณรสมศักดิ์ มีอยู่แค่นี้ที่ทำงานก่อสร้างกัน

เมื่อขึ้นตึก ๑๐ หลังนั้นทั้งหมดแล้ว ขึ้นเป็นเสา เสา ก็ถึงเวลาที่จะวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถ ในวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๑๗ ตรงกับวันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๔ ปี ฉลู การวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถนั้น ผู้ที่วางศิลาฤกษ์คือ หม่อมเจ้าสืบ ศุขสวัสดิ์ ทานบิดาของท่านเจ้ากรมเสริม ศุขสวัสดิ์ การวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถนั้น ก่อนวางศิลาฤกษ์จะขอเล่า อาจจะนอกเรื่องไปบ้าง ขอท่านผู้อ่านอย่าถือว่า มันจะดีหรือไม่ดีเล่าสู่กันฟัง

ก่อนวางศิลาฤกษ์นั้น หลวงพ่อท่านจะบวงสรวงก่อนงาน ๑ วัน มีจัดพิธีกรรมก่อน เมื่อจัดพิธีกรรมมีเครื่องบวงสรวงจัดที่หน้าอุโบสถปัจจุบันนั้นยังเป็นที่ดินยังรกขรุ ๆขระ ๆ เพราะยังไม่ได้เกรด ได้ปรับอะไร ก็มีเจ้าของโรงสีเจ้าอยู่ข้างวัดยาง แกจะสร้างโรงสีใหม่ คือ โรงสีข้าวที่ข้างวัดยางนั้น ก็เอาชิ้นส่วนของโรงสีนั้นมาร่วมพิธีบวงสรวงด้วย หลวงพ่อก็บวงสรวง พอบวงสรวงเสร็จ ท่านก็บอก

“เฮ้ย.. เจ้าของโรงสีเอ๊ย เข้ามาใกล้ๆนี่ พระภูมิเจ้าที่ เขามาขอนะเดือนหนึ่งแกทำเป็นแปะซะให้เขาสักครั้งได้ไหม เทวดาเขามาขอแป๊ะซะสักตัว เดือนละครั้งได้ไหม”

เจ้าของโรงสีก็บอก “ได้ครับ”

ก็เป็นอันว่าบวงสรวงเสร็จก็เลิกกันไป เจ้าของโรงสีก็กลับไปสร้างโรงสีต่อ ต่อมาเมื่อสร้างโรงสีเสร็จก็มีโรงสีแข่งกันสองโรง โรงเก่ากับโรงใหม่ โรงใหม่ขณะนั้นคนเข้าเยอะ ทำอะไรก็เจริญรุ่งเรืองมาก มีความคล่องตัวทุกอย่าง โรงสีเก่านี้มีอยู่ต้องล้มกิจการไปโดยปริยาย

นี่จะว่าบวงสรวงไม่มีผลก็ไม่ได้ เพราะว่าหลวงพ่อท่านพูดก่อนที่โรงสีจะเสร็จว่า เทวดา พระภูมิเจ้าที่เขามาขอแป๊ะซะเดือนละชุดท่านว่าจะช่วย ก็ตรงตามนั้น หลวงพ่อท่านเป็นผู้ที่รู้จริง อย่างอาตมานั้น รู้เหมือนกันแต่ไม่จริง รู้ตามเขาว่า รู้ตามท่านบอก อย่างหลวงพ่อท่านรู้จริง

ฉะนั้นท่านสาธุชนที่อยู่เบื้องหลัง ด้านหลังจะขอบอกเสียเลยว่า พระในพุทธศาสนานั้น มีเป็นแสนๆองค์ หรือหลายแสนองค์ ที่รู้จริงๆจากใจ จากตัวท่านเองจริงๆ นั้น รู้จริงๆนั้นมีน้อย รู้ตามตำรานั้นมีมาก คือรู้ตามขี้ปากของคนพูดมาแล้วจำมาพูดต่อนั้นมีมาก ฉะนั้นท่านทั้งหลายเมื่ออ่านหนังสือแล้ว ก็อย่าตกใจ เพราะคนนั้นมีบารมีไม่เท่ากัน จะให้รู้เหมือนกันทุกคนนั้นเป็นไปไม่ได้

แต่เมื่อท่านทั้งหลายเป็นผู้มีปัญญา เมื่อพบสิ่งที่ดี สิ่งที่ประเสริฐ สิ่งที่เป็นของจริงแล้ว จงนำไปประพฤติปฏิบัติ ก็จะถือว่า ท่านเป็นผู้ที่ประเสริฐตาม เป็นผู้ที่ประเสริฐไปด้วย ถ้าท่านไม่เอาคำสั่งสอนของผู้ที่ประเสริฐไปประพฤติปฏิบัติ ท่านคงจะชอบเดียรถีย์ก็ตามใจ



ความดำริ


สำหรับอาตมานั้น เมื่ออยู่กับท่านมา ๒๐ ปี รู้ว่าท่านเป็นผู้ประเสริฐ แต่ก็ไม่ขอพูดว่าท่านประเสริฐกว่าใครทั้งหมด หรือประเสริฐกว่าพระองค์ใดในตอนนี้ เพราะอาตมาพูดไม่ได้ เพราะเราไม่ทราบว่าพระองค์อื่นท่านทำอย่างไร แต่เมื่ออยู่กับพระเดชพระคุณท่าน ท่านสอนให้เราละความชั่วทุกอย่าง โดยท่านไม่ปรานีคนชั่ว

ท่านลงสอนกรรมฐานทุกคราว ท่านจะตำหนิพระที่ทำไม่ดี ทำตัวเป็นเดียรถีย์ในพุทธศาสนา จะเรียกว่าพระไม่ได้ ท่านบอกพวกนี้เป็นโจร อาศัยผ้าเหลืองหุ้มห่อกายมาหากินในพุทธศาสนา เมื่อท่านปรารภอย่างนี้ทุกวัน เราเองก็ไม่ใช่พระที่ดี ก็ยังมีนิวรณ์เต็มอัตราคือ คิดชั่วอยู่เป็นประจำคิดชั่วในที่นี้คือ นิวรณ์คุมใจอยู่เป็นประจำคือ

๑.ชอบเสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสที่นิ่มนวล นึกถึงคนสวยคนงาม ก็ตามคิดถึง อยู่เป็นนิจ อย่างนี้คือ นิวรณ์ ตัวที่ ๑
๒.นิวรณ์ตัวที่ ๒ คือมักโกรธ ใครทำไม่ถูกใจก็โกรธ มีใครทำไม่ถูกใจก็นึกว่า คนนั้นมัน ด่าเราวันนั้นวันนี้ อารมณ์ก็เร่าร้อน
๓.ง่วงเหงาหาวนอน
๔.อารมณ์ฟุ้งซ่าน คิดนอกลู่นอกทางเป็นประจำ
๕.สงสัยไม่หยุดหย่อน

แล้วก็เมื่อท่านสอนท่านตำหนิอยู่อย่างนี้ทุกวัน จิตเราก็ชั่วเป็นประจำอย่างนี้ก็ละอายใจ เมื่อเห็นครูบาอาจารย์ก็หลบ เพราะจิตเราชั่ว ท่านบอกคนก็ดี พระก็ดี ถ้านิวรณ์คุมใจ เป็นทาสนิวรณ์นั้น จะเอาอะไรมาดี ความดีก็ไม่มีในตัว ห่มผ้าเหลือง ก็ไม่ใช่พระ เป็นเปรตอาศัยพุทธศาสนาหากิน เราก็นึกอยู่ในใจเพียงว่า เราเป็นเปรตทุกวัน เป็นเปรตอยู่ทุกวัน ครูบาอาจารย์ก็สอนให้เราระงับความชั่ว เราก็ระงับไม่ได้สักที อย่างนี้ก็อาศัยผ้าเหลืองเขาหลอกชาวบ้านหากินไปวันๆ

แล้วความอายใจที่ท่านตำหนิอยู่อย่างนี้ทุกวัน คือ นึกว่า ชาตินี้จะพ้นนรกหรือเปล่าก็ยังไม่ทราบ แต่ก็นึกว่า เอา เอาล่ะ คนเราน่ะ เกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่ มันจะดีเลยไม่ได้ ก็ต้องมาฝึกทำความดีกันต่อไป ถ้าจะลงนรกก็ยอมละ แต่ข้าขอปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ นึกเข้าข้างตัวเองว่า พระพุทธเจ้า ท่านก็บำเพ็ญบารมีมามาก ๖ ปี กว่าท่านจะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าได้ เราก็พึ่งบวชมาพรรษาเดียว ๒ พรรษา จะให้เป็นอย่างงั้น ก็จะเก่งเกินพระพุทธเจ้าไป ก็นึกเข้าข้างตัวเอง ก็ฝืนทนมาว่า ๖ ปีนี้

ถ้าเราปฏิบัติแล้วไม่ได้มรรคได้ผลอะไรเลย ก็จะสึกเหมือนกัน สึกแล้วก็คงจะไปหาสิ่งที่ปรารถนาจะได้ ของสวยงามๆ อ่อนๆ นิ่มๆ ที่ทุกคนปรารถนาคือ รูปเสียงกลิ่นรสสัมผัส สิ่งที่ถูกใจ เมื่อบวชอยู่กับท่านต้นๆพรรษา ๑ พรรษา ๒ พรรษา ๓ ก็ทำไปทำมาเป็นปกติ มองดูแล้วตัวเองไม่มีความเจริญทางด้านสมาธิ หรือปัญญาอะไรเลย มีแต่ความฟุ้งซ่านเข้ามาประทับจิตอยู่เสมอ

ท่านทั้งหลายที่อ่าน ยังไม่ได้บวชอยากจะบวช ก็จงจำไว้ว่า ความตั้งใจนั้นเป็นสิ่งที่ดี การปฏิบัติธรรมนั้น แม้จะไม่ได้วันนี้ วันหนึ่งก็ต้องเป็นของเรา เมื่อบวชมาได้สัก ๓ พรรษาได้ก็นึกเข้าใจ เอ๊! เรานี่บวชมาแล้ว ไม่มีความเจริญเลย สมาธิก็ไม่เคยทรงตัว เป็นภาพนิวรณ์ปกติหาความเจริญใส่จิตไม่ได้ ปกติเป็นคนขี้เกียจ อยากได้อย่างเดียวก็คือ สำเร็จโดยไม่ต้องออกแรง

คิดอยู่อย่างนั้น ก็เกิดความละอายใจ พอเราบวชมาแล้วก็โกหกชาวบ้านเขาหากินอยู่เป็นประจำ มีอยู่วันหนึ่ง คิดอย่างนี้ก็ออกบิณฑบาตสายเรือ เรียกว่า ไปทางน้ำ ต้องพายกันไป ๒ องค์ ระยะทางประมาณ ๓ กิโลเมตรได้ ไปกลับเป็นสายเรือประจำของทางสายแม่น้ำสะแกกรัง

เมื่อพายไปก็คิดไปว่า เรานี่ไม่อยากจะอยู่แล้ว ก็คิดไป เอ! บิณฑบาต เขาก็หาว่าเราเป็นพระ หาว่าเราเป็นผู้ประเสริฐ ยกมือไหว้เมื่อให้ก็ยกมือไหว้ เมื่อให้แล้วก็ยกมือไหว้ เราก็ยังเลวเต็มอัตราศึก ปกตินึกละอายใจก็พายเรือไป ก็นึก ก็มองเห็นแพผักตบชวาลอยน้ำ มีเรือวิ่งสวนมา มีคลื่นกระทบแรงๆ เรือเราก็เรือเล็กพอเรือเครื่อง เรือเร็วสวนมา เราก็ปรับเรือให้รับคลื่น ไม่ให้เรือเราล่ม ก็เอาสิ่งที่เห็นด้วยตานั้นมาคิดปรับกับตัวเองว่า ชีวิตตัวเราเองนั้นน่าจะเปรียบเหมือนกับกองสวะที่ลอยตามน้ำไปนี่

เพราะกอสวะมันไม่มีหางเสือ มันไม่มีสมอง มันก็ลอยตามยถากรรมของมัน มันอาจจะแปะตรงนั้นก็ได้ มันอาจจะแปะตรงตลิ่งตรงนี้ก็ได้ พอลอยไปตามยถากรรม หาจุดหมายปลายทางไม่ได้ ชีวิตของตัวเราเองนั้นน่ะ เมื่อมีมันสมองแล้วนี่จะปล่อยให้ชีวิตล่องลอยเหมือนกอผักตบชวาอย่างนั้นรึ

ใจก็มาตามคิด ไม่ใช่ เมื่อเรามีมันสมองแล้วนี่ ก็ต้องบังคับมันให้เข้าตามทิศทางสิ่งที่ดีได้ ไม่ใช่ปล่อยชีวิตเหมือนแพสวะ ลอยตามน้ำไปหาจุดหมายปลายทางไม่ได้ เมื่อเรามีมันสมองมีปัญญา เกิดมาเพื่อปรารถนาพระนิพพาน ปรารถนาพระนิพพาน เมื่อตั้งจิตปรารถนาอย่างนี้แล้ว ก็ต้องใช้ปัญญาของตัวเอง การจะไปพระนิพพานได้ ทำยังไง ก็ต้องมีศีลบริสุทธิ์ มีจิตตั้งมั่น ตัดสังโยชน์ ๓ ได้ ก็จะเป็นพระอริยเจ้าเบื้องต้น

เมื่อมีแบบแผนอย่างนี้แล้ว เมื่อมีปัญญาก็ต้องหัดจิตของเราให้เข้าตามแบบแผน ที่พระพุทธเจ้าวางไว้ พอคิดได้อย่างนั้น ก็นึกว่า เอาล่ะ อดทน เมื่อเห็นแพสวะอย่างนี้แล้ว เราก็จะไม่เป็นแพสวะ เราต้องตั้งมั่นเป้าหมายของชีวิตว่า ชาตินี้ที่ปรารถนาคือพระนิพพาน แต่การปฏิบัติธรรมนั้นก็ต้องมีอุปสรรค มีสิ่งที่กระทบกระเทือนกระทั่งใจ มีความเบื่อหน่าย มีอุปสรรคนานาประการไม่เหมือนกันทุกคน

อุปสรรคนั้นก็เหมือนเรือที่เราพายลอยตามน้ำไปตามนั้น ก็ต้องมีเรือที่เป็นเรือใหญ่กว่า มีลูกคลื่นกระทบมาที่เรือเรา เมื่อมีอุปสรรคกระทบกระแทกเรือเราอย่างนั้น เราก็ต้องมีความสามารถในการเอาตัวรอด ไม่ให้เรือร่มได้โดยใช้ความสามารถพิเศษที่มีอยู่ ฉะนั้นการปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน ก็ต้องมีอุปสรรคในการกระทำความดีก็ต้องต่อสู้เหมือนกับเรือกระทบกับคลื่นใหญ่

เมื่อคิดอย่างนั้นแล้ว ก็ เออ! มีความชื่นใจขึ้นมาอีก พอพายเรือต่อไปเรื่อยๆ ก็จะถึงปลายทางก็คิดว่า การพายเรือนั้น ไม่ใช่พายทีเดียว จ้ำทีเดียวถึงจุดหมายปลายทาง มันต้องพายบ่อยๆ พายถูกทาง พายโดยอุตสาหะ ก็จะถึงจุดหมายปลายทาง ก็คิดมาเปรียบเทียบกับชีวิตของตัวเองว่า เมื่อพายเรือไปบ่อยๆแล้ว ก็จะถึงจุดหมายปลายทาง ชีวิตเรายังมีเวลาอีกหลายปีอยู่

การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน ถ้าเราปฏิบัติไม่หยุดไม่หย่อน ปฏิบัติไปตามกำลังของเราเรื่อยๆ โดยไม่ผิดทาง ก็จะถึงจุดหมายปลายทางเหมือนเราที่กำลังพายเรือนี้เหมือนกัน ฉะนั้นเมื่อพายเรือกลับมาถึงวัด ก็มีความคิดว่า เออ เราจะอดทนต่อไป

เมื่อฉันเช้าเสร็จแล้ว ก็เข้ามาที่กุฏิ ก็อธิษฐานต่อหน้าพระว่า เราจะบวชต่อไปอีกดีหรือเปล่า ถ้าจะบวชต่อไปอีกก็ขอให้หลวงพ่อปาน หลวงพ่อช่วยตอบให้ด้วย ก็ไปเปิดประวัติหลวงพ่อปาน อ่าน คือ เปิดไม่ได้เรียงหน้า ๑ หน้า ๒ เปิดหน้าไหนก็อ่านหน้านั้น เมื่ออธิษฐานเสร็จก็เปิด หลวงปู่ปานก็ตอบอกมาเลยว่า ถ้าอยากดี ก็อย่าใจร้อน จะเสียผลให้ปฏิบัติไปเรื่อยๆ มักได้ผลเอง ตรงนี้เป็นคำตอบที่ว่า ชื่นใจ เราก็ปิดหนังสือ เราไม่อ่านต่อ มีกำลังใจปฏิบัติต่อไปอีก

เมื่ออยู่กันต่อไป ก็ทำงานกันเป็นปกติ ก็ขอวกมาเล่าถึงตอนที่วางศิลาฤกษ์พระอุโบสถแล้ว ซึ่งขณะนี้ พ.ศ. ๒๕๓๘ นั้นได้รื้อหลังเก่าออกหมด ได้สร้างเข้ามาแทนที่ใหม่ ช่วงหลัง ๑๐ หลัง ตอนนั้นแต่ละหลังข้างบนเป็นไม้ ไม้ยาง ข้างล่างเป็นคอนกรีตฉาบปูน แต่ขณะนี้ได้รื้อแล้วทั้ง ๑๐ หลังนั้น ได้สร้างเป็นคอนกรีต ทั้งบน ทั้งล่างหมด ขอให้ญาติโยมทั้งหลายทราบไว้ด้วย



สอนกรรมฐาน


เมื่อหลวงพ่อท่านได้ สร้างพระอุโบสถนั้น พ.ศ. ๒๕๑๗ คือพรรษานั้น คือพรรษาที่ พระบวชกันร่วม ๒๐ องค์อยู่ร่วมกัน เพราะท่านปรารภไว้ว่า จะสอนพระกรรมฐาน ๔๐ กลางวัน พร้อมทั้ง มหาสติปัฏฐานสูตร ด้วย คือสอนเป็นวิชาการ สอนกลางวันเวลาบ่ายโมง

หลวงพ่อจะสอนเป็นแบบอย่าง ท่านบอกว่า แม้พวกเราจะไม่รู้ ไม่เข้าใจทั้งหมดจะได้รู้เป็นแบอย่างว่า กรรมฐานนั้นไม่ใช่มีกองเดียวไม่ได้มีแบบเดียว

ต่อไปภายภาคหน้า ถ้าข้าตายไปแล้ว พวกแกจะได้ไม่ทะเลาะกับคนอื่นเอา อย่าทำตัวเป็นตาบอดคลำช้าง คือคนตาบอดนี้ บอดต่อบอดคุยกันก็จะเถียงกัน ภาษาชาวบ้านเขาว่า โง่ต่อโง่คุยกันก็จะเถียงกัน คนรู้กับผู้รู้ เขาจะไม่เถียงกัน ที่เถียงกันในการปฏิบัติพระกรรมฐานนั้น คนโง่ต่อคนโง่ คนตาบอดกับคนตาบอดคลำช้างเหมือนกันมาเถียงกัน

คนตาบอดคนหนึ่งมาคลำช้างจับช้าง ก็จะบอกว่า ช้างนี่เหมือนไม้กวาด ไอ้บอดอีกคนตาบอดอีกคนมาคลำช้าง ก็จะเข้าใจว่าช้างนี่เหมือนปลิง อีกคนตาบอดมาคลำช้างอีกก็จะบอกว่าช้างเหมือนเสา

ฉะนั้น การปฏิบัติพระกรรมฐานก็เหมือนกัน ถ้ารู้ไม่ครบ รู้นะไม่ใช่ปฏิบัติได้ทั้งหมด ที่ปฏิบัติได้ทั้งหมด ต้องพระพุทธเจ้า หรือผู้ที่มาจากพุทธภูมิ ถ้ารู้ไม่ครบหรือไม่เข้าใจจะเถียงกันเหมือนตาบอดคลำช้าง ดังนั้นพระเดชพระคุณหลวงพ่อจึงลงมือสอน กรรมฐาน ๔๐ กับ มหาสติปัฏฐานสูตร สลับกัน ท่านสอนที่ตึกเสริมศรีปัจจุบัน

ตอนกลางวันนั้น บ่ายโมงท่านสาธุชนคิดดูบ่ายโมง เวลาที่ง่วงนอนดีที่สุด คือ พระฉันเพล ๕ โมง พัก ๒ ชั่วโมง ก็ลงมาฟังคำสอน หลวงพ่อสอนสนุก ท่านสอนทุกวันเสาร์อาทิตย์เว้นวันพระ ที่ท่านกำหนด สอนตอนบ่ายวันเสาร์และอาทิตย์ก็เพื่อให้ญาติโยมที่อยู่ทางกรุงเทพ ได้มีโอกาสมารับคำสอนด้วย สอนพื้นฐาน เมื่อสอนเสร็จท่านก็สั่งติดลำโพงขยายเสียงในห้องทุกห้องที่มีอยู่ ตอนเย็นๆก็เปิดเสียงตามสายออกมาให้ญาติโยมฟัง

ท่านบอกว่า ให้ผ่านหูผ่านตาไปเรื่อยๆ เมื่อฟังเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง ก็ไม่เป็นไร จิตจะไปจดไปจำ เมื่อใครเขามาสอบมาถามก็ยังมีความเข้าใจบ้างเป็นการยัดเยียดให้เกิดปัญญา กระทั่งปัจจุบันนี้ ๒๐ กว่าปีแล้วก็ยังทำอยู่ คือเปิดเสียงตามสายไปยังห้องทุกห้อง ตอน ๔ โมงเย็นครั้งหนึ่ง ตอน ๓ ทุ่ม ครั้งหนึ่ง ตอนตี ๔ ครั้งหนึ่ง เพื่อให้ญาติโยมที่มาประจำอยู่ที่วัดนั้น รับทราบข้อวัตรปฏิบัติและธรรมะก่อนนอนก็เป็นบุญ ตื่นมาก็เป็นบุญ เอาไม้กวาดลานวัดก็เป็นบุญ อยู่ในวัดถ้าไม่ชั่วจริงๆ มันตกนรกไม่ได้ แต่ก็ยังมีผู้ที่ต้องการตกนรกยังอยู่อีกเยอะ

ฉะนั้น ท่านสาธุชน ผู้ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ คงไม่หนักใจ เล่าย้อนไปย้อนมา อาจจะไม่ได้สาระอะไรมาก ก็ขอเล่าต่อเลยว่า เมื่อท่านสอนกรรมฐาน ๔๐ และมหาสติปัฏฐานสูตร เสร็จภายในพรรษา ออกพรรษานั้น ก็สอนพระธรรมวินัย พระวินัยอีก เพื่อให้พระอยู่ในศีลในธรรมกัน พระวินัยตอนนั้นมีประมาณ ๔ ม้วน คือม้วนละ ๙๐ นาที เมื่อสอนพระวินัยแล้ว มีตอนหนึ่งที่อาตมาจำไม่ลืม ก็คือ คนในวัดก็ดี พระในวัดก็ดี

ท่านบอกว่า แม้นข้าจะตายไปจากร่างกายแล้ว พวกที่อยู่เบื้องหลังนั้น ถ้ามันยังทำเลวกันอยู่ ข้าจะไม่ปล่อยให้พวกเดียรถีย์นี้อยู่ในวัดนี้ เมื่อข้าตายไปแล้ว ก็จะคอยดู มันทำความดีกันรึเปล่า ถ้าไม่ทำความดี ข้าจะจัดการมันทุกคน เป็นสิ่งที่อาตมาเองก็กลัวเหมือนกัน กลัวว่ามันจะเลวจนท่านจะไม่รับให้อยู่ในวัดนี้

ฉะนั้น ท่านทั้งหลายเมื่อเข้ามาอยู่ในสถานที่นี้แล้วก็ขอให้ตั้งจิตตั้งสติ ตั้งความดีไว้ว่า จะประกอบแต่ความดี อันที่จริงไม่ใช่ขู่ แต่เล่าตามความเป็นจริงที่อาตมาอยู่มานาน ไม่ใช่อยู่มานานแล้วจะเป็นผู้ที่ประเสริฐ อยากจะประเสริฐเหมือนกัน แต่ยังอดเลวไม่ได้



ความเป็นอยู่สมัยแรก


หลวงพ่อสมัยก่อนท่านอยู่ที่วัดก็มีลูกศิษย์นิดๆ หน่อยๆ แต่ก็สอนกรรมฐานทุกวัน ถึงท่านจะแก่คนไปมากไปน้อยก็สอนกรรมฐานทุกวัน พอสอนไปตอนหลังนี่ท่านแก่มาก ก็สั่งอาตมาบอกว่า นันต์ แกอย่าลืมนะว่าวัดนี่ที่ข้าสร้างมาได้หลายร้อยล้านนี่ ข้าไม่ได้สร้างด้วยอะไรเลย สร้างด้วยกรรมฐาน แกอย่าทิ้งกรรมฐานนะ ถ้าแกทิ้งกรรมฐานเมื่อไหร่ วัดจะพัง เพราะข้าสร้างมาข้าสร้างด้วยกรรมฐานนะวัดนี้

ท่านบอกว่าท่านสร้างไปนี่ถ้าเราทำจิตดีนี่เทวดาท่านก็ช่วยเกื้อหนุน พระท่านก็ช่วย มีรุ่นก่อนๆ ที่ท่านสร้างเขาเรียกว่า ตึกริมน้ำ ท่านไม่มีลูกศิษย์มากนี่ พ.ศ. ๒๕๑๓ นี่ยังไม่มีลูกศิษย์ การเงินก็ยังได้วันใช้วัน อะไรอย่างนี้ กฐินทีก็ใช้หนี้เขาทีหนึ่ง ท่านเล่าให้ฟังว่า เมื่อสร้างกุฏิหลังนี้ไม่มีเงินเลย พระอินทร์มาบอกว่า คุณเทวดาน่ะร้อนไปทั้งดาวดึงส์แล้วนะ ท่านช่วยยังไงล่ะ ช่วยหาเงินเพราะเป็นหนี้เขานี่ เป็นหนี้เขากฐินทีก็ใช้เขาที กฐินทีก็จ่ายหนี้ทีหนึ่ง

แต่ช่างช่วงนั้นก็เรียกว่าไม่มีเงินก็เชื่อเครดิตพระก็ปล่อย ปล่อยทำไปเรื่อย ช่างแถวนั้นรวยทุกคนที่ปล่อยเครดิตให้นะ รวยทุกคนเพราะหลวงพ่อนี่ท่านไม่ค่อยทิ้งคน ท่านไม่ทิ้งผู้มีบุญคุณกับท่าน อย่างโยมกิมกียังงี้ให้มาขายในร้านในวัดเลยเพราะว่าหลวงพ่อแต่ก่อนไปอยู่วัดใหม่ๆ บิณฑบาตไม่ได้ก็ต้องผูกปิ่นโตเขา

อาจารย์ยกทรง - “นี่รุ่นเก่าเหมือนกันหรือโยมกิมกีนี่”

พระครูปลัดฯ - “ใช่รุ่น ๑ เลย ทำอาหารถวายหลวงพ่อท่าน เช้าก็ไปเอาอาหารมา”

อาจารย์ยกทรง - “ตอนที่จะเริ่มสร้างวัดใหม่นี่ ท่านพระครูเจ้าอาวาสนี่มาอยู่กับหลวงพ่อหรือยังครับ”

พระครูปลัดฯ - “อยู่แล้ว ฝั่งนั้นนะ ไปอยู่พรรษานั้น พ.ศ. ๒๕๑๖”

อาจารย์ยกทรง - “เริ่มยังไงก่อนครับ”

พระครูปลัดฯ - “มาอยู่กำลังสร้างตึกเสริมศรีพอดี ฝั่งเก่านะ ฝั่งใหม่ยังไม่มีอะไรเลย ยังเป็นป่าเป็นดงอยู่ เพราะแถวโบสถ์เป็นที่ลุ่มทั้งนั้น ลุ่มแค่คอเรานี่ถมพื้นดินขึ้นมาตั้งร่วม ๒ เมตรได้มั้ง”

อาจารย์ยกทรง - “ริเริ่มรุ่นนั้นใหม่ๆนี่พระทุกองค์เจริญกรรมฐานแล้วต้องทำงาน หรือเปล่าครับ หรือว่าเจริญกรรมฐานแล้วไม่ต้องทำงาน”

พระครูปลัดฯ - “โอ้โฮ้ ทำเหมือนกรรมกรนี่แหละ”

อาจารย์ยกทรง - “พระรุ่นนั้นนะเหรอ”

พระครูปลัดฯ - “ใช่ ทำจนคนไปวัดว่า เฮ้ย ใช่พระรึเปล่าหว่า เขาคุยกัน คือเราใส่งอบกันกลางวันแสกๆ นี่ใส่งอบกันเพราะหัวล้านนี่หลวงพ่อก็ไปซื้องอบมาให้ใส่กัน ชาวบ้านบอก เฮ้ย ใช่พระรึเปล่าวะ เราก็ทำไม่รู้ไม่ชี้ หลวงพ่อท่านสอนไม่ให้พระสำอาง สำอางคือว่า นอนจนตัวขาวแล้วไม่ทำอะไร ดีแต่พูดปากก็ว่าไอ้นั่นไม่ดีไอ้นี่ไม่ดี ท่านไม่ชอบคนพูด ส่วนมากท่านชอบคนทำงาน สังเกตดูท่านชอบคนทำ ถ้าคนดีแต่พูดไม่ค่อยเอา”

อาจารย์ยกทรง - “แหม...เรียกว่ารุ่นแรกนี่เหนื่อยมากที่สุดนะ”

พระครูปลัดฯ - “คือทำงานทุกวันนะทุกวันต้องออกมาแต่เช้ายันเพล พอเพลก็มาพักสักครึ่งชั่วโมง”

อาจารย์ยกทรง - “พอฉันเพลเสร็จแล้วก็ต่ออีกยังงั้นเหรอครับ”

พระครูปลัดฯ - “ทำงานเอง เดี๋ยวนี้ถึงติดพวกล้างชามเองยังงี้ ไม่ว่าอะไร ฉันแล้วก็ล้างเองอะไรเอง ลูกศิษย์ลูกหาไม่ต้องไปสนเพราะไม่มีเราก็ทำเองได้เลย”

อาจารย์ยกทรง - “หัดให้ช่วยตัวเองมาตั้งแต่ต้น ตอนที่อยู่กับหลวงพ่อใหม่ๆ อาหารการขบฉันสบายดีเหรอครับ”

พระครูปลัดฯ - “เรื่องอาหารนี้มันก็ตอนนั้นเราไม่รู้หลวงพ่อจ่ายยังไง อาหารก็ทำเสริมตอนกลางวันอย่างสองอย่าง อาหารพอฉัน เพราะพระมีน้อย ๕ องค์ ๑๐ องค์”

อาจารย์ยกทรง - “อ้อ แค่นั้นเองเหรอครับ”

พระครูปลัดฯ - “ใช่ เพิ่งขยับมาตอนนี้ ประมาณ ๕๗ องค์ ก็ฉันมื้อเดียวเสียบ้าง อะไรบ้าง เวลากลางวันก็เหลือโหรงเหรง”

อาจารย์ยกทรง - “มื้อเดียวนี่ไปติดใจธุดงค์หรือยังไงครับ”

พระครูปลัดฯ - “ติดใจธุดงค์ แต่ไม่ใช่ว่าฉันมื้อเดียวแต่โอวัลติน ๕ แก้วนะ ตอนธุดงค์ใหม่ๆ จะนั่งกรรมฐาน ตอนเที่ยงก็แก้วหนึ่ง ก่อนจะนั่งแก้ว ขากลับอีกแก้ว ขากลับอีกแก้ว เวลาจะสวดมนต์เย็นนั่งกรรมฐานอีกแก้ว ร้านอาหารเขาก็เลี้ยงดีฉันเท่าไหร่ก็ไม่ว่าอะไรก็ดีเหมือนกัน

อาจารย์ยกทรง - “บ่ายจัดๆ รู้สึกหิวเหมือนกับฉัน ๒ มื้อ ไหมครับ หรือว่ายังไง”

พระครูปลัดฯ - “ไม่หิว เหมือนปกติเลยนะ หรือว่าไม่ได้ทำงานหนักก็ไม่รู้”

อาจารย์ยกทรง - “ได้ข่าวว่าท่านอาจารย์ประทีปเป็นเจ้าอาวาสชั่วคราวเหรอครับ”

พระครูปลัดฯ - “ใช่ เพราะไม่มีใครเลย ไม่มีพระเหลือองค์เดียว ธุดงค์หมดก็ดีอันที่จริงก็เป็นดำริของหลวงพ่อท่านเคยไปตรวจงานเหมือนกันบอกว่าต่อไปสถานที่นี้เป็นที่ธุดงค์พวกแกก็เปลี่ยนกันมาซี จะให้อยู่เป็นเดือนเลยด้วยซ้ำ ใครอยากจะอยู่ก็อยู่ไปเลยสักเดือนครึ่งเดือนก็เปลี่ยนกันไป เปลี่ยนกันทำงาน เปลี่ยนกันทำ

อันที่จริงก็คงจะเป็นท่านคอยช่วยด้วย เพราะเราไม่เคยคิดเลยในใจ เพราะเราไม่ค่อยรู้เท่าไหร่ พอตรวจงานพระสุรจิตนี่จะรู้ไปตรวจงานท่านจะดำริ พระสุรจิตท่านควบคุมงานก่อสร้างอยู่ ไปกับหลวงพ่อก็เล่าให้ฟังว่าตรงนี้ต่อไปจะเป็นสถานที่ธุดงค์นะ พวกแกก็เปลี่ยนกันมา

พอท่านมรณภาพแล้วก็ เอ๊..จะคิดอะไรนะที่ทำให้คนมาวัดแล้วกลับไปได้บุญมากที่สุด เรื่องอะไรท่านก็ทำหมดแล้วใช่ไหม ก็มาเรื่องปฏิบัติธรรมนี่นะถึงจะตรง ต้องรักษาจิตใจของคน ถ้าจิตคนดีวัดก็ทรงตัวอยู่ได้ กิจกรรมอะไรถึงจะทำให้คนรวมตัวกัน เราก็คิดว่าคนจนไปวัดได้ ก็คิดได้เรื่องธุดงค์นี่แหละ”



เทวดาช่วยสร้างวัด


สมัยก่อนหลวงพ่อมีคนมาน้อย แต่ท่านก็สร้างตึกริมน้ำ เงินก็ไม่มี สั่งไม้มา สั่งปูน สั่งทรายมา เวลานั่งกรรมฐานท่านปู่พระอินทร์ก็มาบอกหลวงพ่อ ให้อุทิศส่วนกุศลให้แก่เทวดาที่ปกปักรักษาเรา และเทวดาทั่วสากลพิภพ ทั้งนี้เพื่อให้เขาดลใจให้ญาติพี่น้องของเขามาทำบุญ คือเราไม่เห็นเทวดา แต่จะมีความรู้สึกสะดุดใจอยากไปทำบุญ อันนี้เป็นคำยืนยันอย่างหนึ่งนะ

ทีนี้ก่อนหลวงพ่อจะมรณภาพ มีการเป่ายันต์ครั้งสุดท้ายงวดนั้นรู้สึกว่าได้เงินตั้ง ๑๕ ล้านบาท หลวงพ่อเล่าให้ฟังว่า ต้องไปขอบคุณเขาที่ดาวดึงส์ที่ช่วยสงเคราะห์ แต่พระพุทธเจ้าพูดยิ่งกว่านั้น ตรัสว่า “ขอบใจท่านทั้งหลาย ที่ช่วยลูกชายฉัน” โอ้โฮ้ พูดมากไม่ได้มันปีติอยู่เรื่อย แต่ในเทปมี ฉะนั้นวัดเราที่หลวงพ่อสร้างได้ใหญ่โตเช่นนี้เพราะเทวดาช่วย



ท่านท้าวมหาราชช่วย


ความจริงท่านท้าวมหาราชนี่ท่านช่วยหลวงพ่อตลอดช่วยดูแลวัด ช่วยในงานก่อสร้างวัด แม้ร่างกายหลวงพ่อตั้งแต่ปี ๓๐ หลวงพ่อป่วยมาก ท่านบอกว่าเหมือนต้นไม้ที่ตายแล้ว มีใบร่วงหมดแล้ว จะเดินไปไหน ท่านบอกว่าท้าวมหาราชช่วยประคองตลอด เดินเองจริงๆเดินไม่ไหวหรอกพอท่านวางก็แทบจะหมดแรง ท่านช่วยหลวงพ่อมาตลอด แม้แต่ศพหลวงพ่อ ท่านก็ช่วยดูแลตลอด

เวลาที่วัดทำบุญใหญ่ที่หลวงพ่อจะบวงสรวงใหญ่มีอยู่คราวหนึ่ง พอบวงสรวงท่าน ท่านท้าวมหาราชก็ถามหลวงพ่อท่านจะต้องการอะไรไหมครับ หลวงพ่อบอกไม่ต้องการอะไรหรอก ท้าวมหาราชถามท่านท่านไม่ต้องการเงินเหรอ ต้องการทำบุญใหญ่ หลวงพ่อบอกต้องการนะต้องการแต่ไม่ขอ ท่านขออะไรรู้ไหม หลวงพ่อบอกขออากาศครึ้มๆ ไม่ให้ร้อนเกินไป ไอ้เราก็นึก แหม ตรงข้ามกับเราเลยนะ เรานี่จะขอเงินเลย หลวงพ่อบอกว่า ถ้าอากาศครึ้มใจคนจะดี ใจคนจะไม่เร่าร้อน เย็น เงินเขาก็จะให้เอง ตามกำลังศรัทธาของเขา

มีเรื่องอะไรท่านจะบอกก่อนเสมอ อย่างมากรุงเทพฯ ท่านจะเช็คก่อน ๗ วัน ๗ วันต่อไปนี้จะมีอะไรเกิดขึ้นที่นี่บ้าง ที่นั่นบ้าง คนจะมายังไงๆ ท่านรู้หมด



หลวงพ่อก่อนออกรับแขก


ก่อนออกรับแขกนี่หลวงพ่อจะดูคนมาก่อน บางทีท่านก็เล่าให้อาตมาฟัง วันนี้จะมีคนมาหา เป็นคนระดับไหน หมายความว่ามีความดีระดับไหน แล้วจะพูดยังไงจะทักมันยังไง พูดทุกคำมีเหตุมีผลหมด บางทีแม้แต่จะฉันอาหารวันนี้จะทักกับใครทักยังไง บางทีทัก “เออ ลูกสาวเอ้ย” เพราะว่าเป็นลูกสาวแม่เขาให้มาบอกอย่างงี้ บางทีออกรับแขกท่านกวาดตามองหาคนที่แม่เขาบอกมารึเปล่า

อย่างท่านแม่ศรีมาบอกว่า ลูกคนนี้มาให้ทักมันเสียหน่อย มีอยู่คราวหนึ่งแขกมารอข้างล่าง ก็เข้าไปกราบเรียนท่าน “หลวงพ่อครับแขกมา” ท่านบอกยังไงรู้มั้ย “ปล่อยมันก่อนไอ้นี่มันแอ๊ค แอ๊คว่ามันรวย มันใหญ่โตมาก” ขนาดยังไม่ลงนะ ท่านรู้แล้ว ปล่อยให้รอไปก่อน ท่านก็ไม่ยอมลง หลวงพ่อท่านรู้จริงๆ

คราวหนึ่งประมาณ พ.ศ. ๒๕๒๔ หรือ ๒๕๒๕ เห็นจะได้ เป็นตอนที่พระสมุห์บัญชา และ พระชัยศรี (ขณะนั้นยังบวชอยู่) เพิ่งเข้ารับหน้าที่เกี่ยวกับการจัดสถานที่รับแขกของหลวงพ่อ ที่ศาลานวราช มีอยู่วันหนึ่ง หลวงพ่อท่านมีอาการป่วยค่อนข้างมาก ทั้งสององค์ก็ได้ปรึกษากันว่า วันนี้อยากให้หลวงพ่อได้พักผ่อนสักวัน ถ้ามีแขกน้อยก็จะพยายามบอกให้แขกกลับไปก่อน

เผอิญวันนั้นมีแขกมาสองคน แกไม่ยอมกลับจะพบหลวงพ่อให้ได้ ตามปกติที่หลวงพ่อจะลงรับแขก ท่านจะต้องโทรศัพท์มาถามก่อนเสมอว่า มีแขกมารอ หรือยัง พระสมุห์บัญชากับพระชัยศรี ก็ปรึกษากันไว้ว่า ถ้าหลวงพ่อโทรศัพท์มา (โทรศัพท์มี ๒ เครื่องที่อยู่ห้องโถงเป็นที่สำหรับแขกหนึ่งเครื่อง และอยู่ห้องข้างหลังอีกหนึ่งเครื่อง) เราจะเข้าไปรับโทรศัพท์ข้างในให้แขกนั่งรออยู่ข้างนอก แล้วบอกหลวงพ่อว่าวันนี้ไม่มีแขกครับ เมื่อท่านโทรศัพท์มาถาม ก็บอกไปตามที่ตกลงกันไว้ ก็มีเสียงตวาดทางโทรศัพท์ว่า

“แล้วไอ้ที่เขานั่งคอยข้างนอก ๒ คนนั้นใครวะ” เท่านั้นทั้งสององค์ หน้าซีดเป็นไก่ต้มเหมือนขโมยที่ถูกจับได้คาหนังคาเขา

แสดงว่าหลวงพ่อท่านมีสายตาที่ยาวไกล มองได้ไกลมาก เพราะศาลานวราชกับตึกอินทราพงษ์ที่ท่านพัก ไม่ได้อยู่ใกล้กันเลย อยู่คนละฟากถนน และท่านก็อยู่ในห้องที่มิดชิด ท่านยังรู้ว่า ที่ศาลานวราชมีใครบ้าง

หลวงพ่อเองนี่รู้อะไรแล้วไม่ใช่ว่าจะเชื่อง่ายๆ เคยไปอ่านหนังสือของท่าน เรื่องท่านทองดี พ่อของรัชกาลที่ ๑ มาบอกกับท่านว่าแถวนี้นะเป็นบ้านเก่า ริมฝั่งแม่น้ำสะแกกรังตรงข้ามวัด หลวงพ่อบอกว่ามันต้องมีหลักฐานที่พิสูจน์ได้ด้วยตาเห็น มือจับได้จะให้เชื่อเลยน่ะเชื่อไม่ได้หรอก ท่านทองดีก็บอกว่า

พรุ่งนี้นะฝั่งข้างโน้น เขาจะรื้อบ้านกันตอนสายๆ ตอน ๔ โมงเขาจะเอาเงินพดด้วงมาให้ท่าน ก็เป็นจริงตามนั้น นี่แสดงว่าเทวดาพูดก็เป็นจริงตามนั้น พูดเฉยๆ ไม่มีหลักฐานก็เชื่อยากเหมือนกัน แต่หลวงพ่อท่านไม่ได้เชื่องมงาย ต้องพิสูจน์ให้เห็นด้วยตาท่านจึงจะเชื่อ พวกเราอย่าให้ใครเขาหลอกลวงก็แล้วกัน เขาพูดอะไรก็เชื่อเสียเงินไปเรื่อยๆ ก็เสีย ครูบาอาจารย์สอนมาดีแล้ว เราอย่าเชื่ออะไรง่ายๆ



หลวงพ่อเป็นคนละเอียดลออมาก


“แหม..ชอบใจที่บอกว่าหลวงพ่อให้ไปนับกระดาษห่อทองคำเปลว..”

โอ.. เรื่องเปลือกทองนี่โหดร้ายมาก หลวงพ่อสั่งให้นับ เวลาปิดทองโบสถ์ต้องใช้ทองเป็นหมื่นเป็นแสนเหมือนกันนี่ ปิดแล้วเอาเปลือกทองมา ที่ละห้าหมื่นๆ เราก็ต้องมานั่งนับเปลือกทอง เวลาช่างมาส่งต้องนับต่อหน้าช่างด้วยนะ นับไปก็นึก เอ๊..หลวงพ่อให้นับทำไมนะ จะขายได้สักเท่าไหร่นะไอ้เปลือกทองนี่ให้นับอยู่เรื่อย มารู้ตอนหลังท่านกันไม่ให้ช่างปิดทองลักทอง สมัยก่อนทองแผ่นละบาท แรงงานวันละ ๒๐ บาท มันลักไปวันละ ๑๐ แผ่น ๑๐ วันก็ ๑๐๐ แผ่น ที่ให้นับมันจะได้โกงไปไม่ได้มารู้ตอนหลัง

มีอยู่ทีหัวใจจะวายตายไปยกเมฆท่าน คิดว่าตัวเราฉลาดมากไปยกเมฆหลวงพ่อ หลวงพ่อสั่งบอกว่าเวลาเขาเบิกกลอนไปกี่ตัว แกทำบัญชีไว้นะ แล้วแกไปดูด้วยเขาใส่กลอนตามหน้าต่างถูกไหม ตะปูเบิกไปเท่าไหร่จดไว้ ไอ้เราก็ทำบ้าง ไม่ทำบ้าง ถามบ้าง ไม่ถามบ้าง ขี้เกียจทำยกเมฆบ้าง วันหนึ่งก็ไปกราบตอนเช้าๆ หลวงพ่อถาม

“นันต์ แกทำบัญชีเบิกหรือเปล่า” ทำครับ “แกทำไว้เรียบร้อย ใช่ไหม” ครับ ท่านมองลอดแว่นมาหาเลย “เดี๋ยวข้าจะขอดูบัญชีแกสักหน่อย” โอ้โฮ..หัวใจจะวายให้ได้ เวลาท่านดุนี่ด่า ๓ วัน ๓ คืน ถ้าลงเทปด้วยละก็ไม่ต้องแล้ว ประจานกันทุกวัน เทปเปิดตอนเย็นนี่ เปิดเทปทีก็แปล๊บ



เจอผีที่ตึกกลางน้ำ


ที่ตึกกลางน้ำมีอยู่หลายคราว เวลาหลวงพ่อมากรุงเทพ เราเฝ้าตึกองค์เดียว นอนดูเหมือนตึกทั้งตึกมันโยก เราก็เปิดไฟดูเท้าเราก็ส่าย ก็นึกเอ..แผ่นดินไหวรึไง อีก ๒-๓ วันหลวงพ่อมา บอก เมื่อคืนนี้เทวดาเขามาเดิน แสดงให้รู้ว่าเขานี่อยู่ยามนะ ดูแลทรัพย์สมบัติสงฆ์อยู่

หลวงพ่อนี่รู้แล้วว่าเทวดามาอยู่ยาม เราก็นึกอ๋อ..นึกว่าเพ้อไปคนเดียว เขาทำให้ดูว่าเขามาอยู่ยาม ตึกไหวทั้งหลังเลย ไม่ใช่เรานึกเองนะ มันโยกให้เห็นเลยแต่ไม่รู้สึกกลัวนะ เขาคงทำไม่ให้กลัว เทวดานี่ทำให้กลัวก็ได้ ไม่ให้กลัวก็ได้ นี่คงจะไม่อยากให้กลัวนะ แต่พระวิรัชนี่เห็นทั้งตัวเลย คือไปนอนอยู่ตึกกลางน้ำเหมือนกัน เห็นแต่งตัวเป็นเทวดาขาวแว๊บเลย



หลวงพ่อเป็นคนสันโดษ


หลวงพ่อท่านเป็นพระสันโดษ ไม่ทำอะไรฟุ่มเฟือย การกิน แม่ครัวทำอะไรมากๆ มันจะโดนดุ เวลาเขาทำพิธีบวงสรวง บวงสรวงเสร็จ แม่ครัวเขาจะหั่นหมูทำน้ำจิ้ม ท่านเห็นก็ว่า “แม่ครัวมันจังไรจริงๆ มันต้องใส่ผักใส่หญ้าบ้างซิ นี่ให้กินแต่เนื้อ ผักไม่ใส่เลย” ท่านไม่ให้กินดีมาก คนเราถ้ากินดีแล้วไปเจอกินไม่ดีมันกินยาก เป็นพระต้องกินได้ทุกอย่าง ไม่ใช่กินดีตลอด ชาวบ้านเขาให้ดีบ้างไม่ดีบ้าง มันต้องปรับตัวให้เข้าได้ทุกสภาวะ กลดก็อยู่ได้ อาหารไม่ดีก็อยู่ได้ ไปเลี้ยงดีเสียแล้วมันอยู่ยาก เป็นโทษแก่ตัวเหมือนกัน

แต่อยู่กับหลวงพ่ออยู่ตั้งแต่จนมานะหลวงพ่อจะไปไหนก็ลำบาก จะไปเทศน์ที่ ๐๔ ตาคลี อาตมาไปบิณฑบาตสายเรือ หลวงพ่อบอก “นันต์ แกไปบอกโยมเอี้ยงทีนะ ตอนเที่ยงแล้วให้มารับข้า จะไปเทศน์ที่สถานีวิทยุ ๐๔ ตาคลี” ไปเทศน์ที่ ๐๔ ต้องเอาครูนนทาไปด้วย ครูนนทาเป็นคนรวยใช่ไหม ไอ้โจรก็จะมาจับเรียกค่าไถ่ สมัยก่อนไม่มีตำรวจมากอย่างนี้ มีแต่จ่าตระกูล จ่าตระกูลก็มาเย็น ก็ต้องให้ตามไปด้วย จะไปรถเมล์สองแถวหน้าวัด

ตอนมาสายลมทีแรกท่านก็นั่งรถเมล์มาเอง ต่อมาท่านเจ้ากรมฯ ต้องไปรับไปส่ง คนก็ไม่มาก เรื่องก่อสร้างพอถึงปีทีก็จะจ่ายหนี้กันที ก่อนกฐินก็สร้างกันไปเรื่อย แต่หลวงพ่อท่านขยันนะ ลงกรรมฐานทุกวัน สอนกรรมฐานทุกวัน เวลาว่างท่านจะอัดเทป เวลาตีสี่ครึ่งท่านจะเดินจงกรม



หลวงพ่อบนเครื่องบิน


พระวิรัชนี่ หลวงพ่อไปต่างประเทศต้องขลุกอยู่กับหลวงพ่อตลอด พระวิรัชบอกว่า เวลาขึ้นเครื่องบินบางครั้งท่านเข้านิโรธสมาบัติไปเลย มีคราวหนึ่งหลวงพ่อบอกพระวิรัชว่า “แป๊ะ เวลาเขาเอาอาหารมาไม่ต้องปลุกข้านะ” ท่านก็จับกระโถนไว้เผื่อจะอาเจียน พระวิรัชบอกว่า บางทีเห็นมือที่จับกระโถน มือแข็งแกะไม่ออก ท่านก็ป่วยมาก ป่วยหนักและเรื่องอาหารท่านก็สั่งว่า ถ้าเขาเอาอาหารมาข้าไม่กินละนะ แกกินเลย ข้าไม่กิน

ทีนี้อาหารบนเครื่องบินชั้นหนึ่งเขาก็ทำพิเศษมา พระวิรัชก็เสียดาย บอก “หลวงพ่อครับ ฉันอาหารหน่อยครับ” ท่านก็บอกว่า “แป๊ะ..ข้าพูดยังไงก็เป็นยังงั้นนะ พูดแล้วข้าตัดเลยให้กินอีกก็กินไม่ได้ ข้าไม่เหมือนแกเห็นแล้วมันอยาก” พระวิรัชคงเสียดายอาหารดีๆ (พระวิรัชมาเล่าเพิ่มเติมตอนหลังว่า หลวงพ่อท่านมีสัจจบารมีดีมาก พูดคำไหนเป็นคำนั้น)

[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 3/2/09 at 18:09 [ QUOTE ]


หลวงพ่อดุมาก


มาหาท่านครั้งแรก ไอ้เรามันไม่เคยเจอพระดุ เราก็เดี๋ยวจะไปเดี๋ยวจะถามยังงั้นยังงี้นะ รู้จักหลวงพ่อจากอ่านหนังสือหลวงปู่ปานอย่างเดียวครั้งแรกเลย ตอนนั้นบวชแล้วสิ มาท่านก็เลี้ยงหมา ก๊อก..ก๊อก..
ฉันเพลเสร็จท่านจะมาเลี้ยงหมาท่านเป็นกะละมังๆ เลยมาตักทำเองเลย ท่านบอกให้พระเลี้ยงนี่หมามันจะติดสีเหลือง อย่างน้อยก็เป็นเทวดา เสร็จแล้วก็ไปล้างชามท่าน้ำนั่นนะ เลี้ยงปลาอีกที เรียกว่า ปลาตะเพียนทอง มันก็มากินล้างกะละมัง เสร็จก็กลับ

เราไปใหม่ก็นั่งรอท่านข้างใน โอ้โห..ตาท่านคมกริบ มองเพ่ง..ไอ้คนสมัยนี้มันบวช เป็นพิธีกรรมเท่านั้นแหละ มันบวชมันกลัวมีเมียไม่ได้มันถึงบวช ... ว่าเรารึเปล่าวะเนี่ย ว่าเรารึเปล่า (หัวเราะ) แข็งปั้กลงมาถึงใจเลยนะ ตอนหลังนี่ (“เดี๋ยวสิ..เดี๋ยวสิ..หลังจากนั้นมีอะไรต่อรึเปล่า”) ตอนนี้บอกไม่ได้ (หัวเราะ) เป็นความลับพูดเป็นสาธารณชนไม่ได้ (หัวเราะ) โอ้..ท่านจวกปั๋งๆๆ มาเลย โดนดีเลยนะ

พระครูสุรินทร์ท่านก็มาฝากบอกว่า ฝากด้วย..พระท่านอยากจะมาปฏิบัติธรรม หลวงพ่อก็ถามว่า ระงับนิวรณ์ได้รึยัง เราบอกนิวรณ์นี่อะไรวะ (หัวเราะ) ไม่ต้องรู้ว่ามีอะไรเลย คือไม่รู้เรื่องเลย

อาจารย์ยกทรง : “เรียกว่ามาอย่างบริสุทธิ์เลยนะ แหม..เอ้อ อย่างนี้ก็ดีนะ ลูกหลานจะได้รู้ไว้”

เราบอกอะไรวะ ตัวอะไรวะ ไม่รู้เรื่องเลย

อาจารย์ยกทรง : “นี่ต้องอย่างนี้ เจ้าอาวาสต้องเก่งมาอย่างนี้นะ”

บอกหลวงพ่อครับ ญาติผมที่อยู่นี่นครสรรค์ แล้วก็แถวๆ นี้แถวมโนรมย์นี่มีญาติเยอะครับ มีพี่น้องอยู่แถวนี้ครับ ท่านบอก เออ..พี่นงพี่น้องไม่สำคัญนะ ระวังอย่าฟังเสียงนกเสียงกา หมาหอนให้มันมากนักนะ เราก็เอ..หมายความว่ายังไงวะ คิดไปคิดมาพี่น้องเราด่าหลวงพ่อทุกคนเลย (หัวเราะ) ก็พี่น้องเราอยู่แถวนั้นใช่ไหม พี่น้องเกลียดหลวงพ่อทั้งนั้น ท่านถึงบอกว่าอย่าฟังหมาเห่าหมาหอนมากนัก

ทีนี้วันแรก ไอ้เราก็ส่วนมากอาบน้ำแม่น้ำน่าน มาถึงที่นี่มันก็มีน้ำประปาใช่ไหม ไอ้ตรงที่พระฉันเก่ามันมีห้องน้ำอยู่ห้องหนึ่ง ก็อาบซู่ๆ เสียงท่านพูดออกมา ฮื่อท่าน้ำมันก็มีอยู่ข้างๆ ไม่ใช่สำอางมาอาบน้ำประปานี่ (หัวเราะ)

อาจารย์ยกทรง : "อู้ฮู้..ประเดิมใหม่ๆ เลยหรือ"

อู้ฮู้ จวก..เขาให้คนอาบน้ำในแม่น้ำไงเล่า แถวนั้นเขาอาบน้ำในแม่น้ำกันทั้งนั้น ตั้งแต่นั้นเข็ดเลยไม่อาบอีกแล้ว (หัวเราะ) ต้องอาบน้ำที่แพ ท่านประหยัด แถวนั้นไม่มีปลูกดอกไม้อะไรหรอก ตึกเสริมศรีนะ เพราะว่าท่านให้ตักน้ำในแม่น้ำมารดนี่ (หัวเราะ) น้ำก๊อกอะไรนี่ท่านไม่ให้รดหรอก เพราะว่าเปลืองมันต้องใช้คลอรีน ต้องใช้ไฟฟ้าสูบมา ใครจะขยันนักละ

ทีนี้บางคนก็เอาน้ำมาล้างรถ พอท่านเห็นท่านก็จวกเอา ไอ้ขี้ข้าพวกนี้ โอ้ด่าเจ็บทั้งนั้นเลย เรียกว่าล้างทีเดียวชาตินี้ไม่ได้ล้างอีกต่อไปเลย ท่านเป็นคนละเอียดถี่ถ้วน ใช้คุ้มค่าเงินที่บริจาคไปนี่ใช้คุ้มค่า ไม่ฟุ่มเฟือย ท่านละเอียดเรื่องเงิน แล้วไม่ไว้ใจคนหรอกเรื่องเงินน่ะ ต้องรู้ทุกอย่างเรื่องเงินทอง ทีนี้ก็เอ๊ะ..ทำไมถึงดุ ชักกลัวละซิคราวนี้ทีนี้ลงเทศน์เมื่อไหร่เอาเมื่อนั้น (หัวเราะ) ก็เทศน์กันที่แคบๆ นี่อย่างกับห้องนี้มันเล็กกว่าอีกนี่

อาจารย์ยกทรง : “ไม่มีทางหลบเลยหรือครับ”

ก็หนีกันไม่จนหรอกมองเห็นกันหมด คนน้อยก็เทศน์คนมากก็เทศน์ เทศน์ลงทุกวัน เราคุยกันอย่างนี้เราจะรู้เราจะคุยอะไรกันบ้าง ทีนี้มีพี่สะใภ้ท่านอยู่คนหนึ่งท่านก็เทศน์ เรื่องอะไร เรื่องคนในครัวนะ เออ .. พระท่านก็บิณฑบาตมานะ ท่านก็ฉันอย่างนั้น แต่อีแม่ครัวจัญไรนี่สิ มันต้องทำพิเศษกินอีก

ท่านก็ว่า เราก็แหม...กูว่าแล้วมันต้องยายนี่แน่ เต็มที่เลย (หัวเราะ) พอตกกลางคืนเอาใหม่ท่านเทศน์อีก ให้ทุกคนมันดูตัวมันนั่นแหละไม่ใช่ไปดูตัวบุคคลอื่น ดูจิตของตัวเอง ไอ้ตัวเองดูตัวมันเองซะบ้าง อู้ฮู้..ว่ากูนี่หว่าเนี่ย (หัวเราะ) ไม่ต้องไปฟ้องนะคิดในใจนะ เราคุยกันนึกๆว่าโอ้ว่ายายคนนั้นแหละ

ครูบาอาจารย์นี่รู้จริงไม่มีโมเม ตอนหลังๆนี่ชักเบาแล้ว ซักห้าปีสิบปีนี่นะ เบาเรื่องนี้ เมื่อก่อนนี่นะโอ้โฮ เรียกว่าพรรษาแรกคุยกันไม่รู้เรื่อง ว่าเอ๊ะหลวงพ่อทำไมถึงสั่งงานอย่างเดียวกันนี่สามคนสี่คน สั่งคนนี้ พอเจอเราสั่ง เจอพี่โอสั่ง แต่งานอย่างเดียวกัน มันเบลอเพราะกลัวกันนี่ เดี๋ยวมันไม่ทำ มันกลัวมันเบลอจนลานเกินไป

อาจารย์ยกทรง :“เรียกว่าพอเข้าไปใกล้ พอสั่งอะไรก็ ครับ ครับ ครับ”

พระฉันอาหารกันท่านดูว่า เออ..พระฉันอาหารมีรสชาติอย่างไรบ้าง เป็นห่วง แต่เมื่อฉันเสร็จแล้วสักพักหนึ่ง ท่านบอกว่าท่านได้ยินเสียงหมามันกัดกันหรือไงนี่ (หัวเราะ)

อาจารย์ยกทรง :“อู้ฮู้ ใช้ศัพท์อย่างนั้นเลยหรือครับ”

ใช้อย่างนี้ กินข้าวดังจ๊วบๆ นี่มันไม่ใช่คนไม่ใช่พระหรอก คนก็ยังเลวเกินไปนี่เขาเรียก "หมู" หมูคือสัตว์เดรัจฉาน

พระคุณของหลวงพ่อ


เรื่องของหลวงพ่อนี่พูดถึงพระคุณของท่านทีไรเราทนไม่ไหว น้ำตามันไหลเอง เพราะว่าเราเป็นหนี้บุญคุณท่านมาก ไม่รู้ว่าจะเอาอะไรทดแทน แค่ดูแลให้ดีที่สุดตามภูมิปัญญาที่เราจะทำได้ ถือว่านิดหน่อยเท่านั้นเอง ได้คุยกับคนอยู่คน เมื่อตอนจะมานี่บอกว่า

“เวลาเห็นธรรมจิตเป็นสมาธิแล้วนี่ เขาจะเห็นคุณที่หลวงพ่อสอน ตรงทุกอย่าง เวลาขึ้นไปบนดาวดึงส์ที่บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ กราบพ่อแม่ทุกๆชาติ แกก็จะรู้คุณว่าพ่อแม่เราทุกชาติสอนให้เราเป็นคนดี ให้เรามีทาน ที่เรามีของกินทุกวันนี้เพราะพ่อแม่สอนไว้ ให้ทำบุญกับพระ ทำให้เรามีกินอยู่ทุกวันนี้”

โอ้โฮ .. จิตต้องมีสมาธิยิ่งจริงๆ จึงจะเห็นตรงนี้ ได้ยินแล้วก็ชื่นใจ ที่เขาบอกว่า พุทโธอัปปมาโณ ธัมโมอัปปนาโม สังโฆอัปปมาโน คุณของพระพุทธเจ้า คุณของพระธรรม คุณของพระอริยสงฆ์ประมาณมิได้ ถ้าเราพูดอย่างนี้คนที่ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา ก็เอ๊..ไม่น่าจะถึงขนาดนั้น

แต่เมื่อมีสมาธิ มีปัญญาแล้วนี่มันทำอะไรทดแทนไม่ได้จริงๆ คนที่ฝึกมโนมยิทธิแล้วร้องไห้บอก “ไม่มีอีกแล้วๆ” นี่จิตมันรวมหมดเลยนะ สมาธิ ปัญญา ปิติ มันเกิดรวมกันทีเดียว ทนไม่ไหวหรอก พอถึงตอนนี้มันรวมกันหมด โอ..ทำไมหลวงพ่อจึงเมตตาอย่างนี้ ทำไมพระพุทธเจ้าจึงเมตตาอย่างนี้ มันรวมกันทีเดียวกันเลย

อาจารย์ยกทรง :“พูดถึงพระคุณ แหม..หลวงพ่อกว่าจะลงรากปักโคนมาได้”

ตามภาษาก็บอกว่า ค่อยๆ สอน นิดก็เอาหน่อยก็เอา ไม่ใช่ปุ๊บปั๊บจะสอนเรื่องนิพพานเลย อันไหนที่เป็นบุญ ท่านสะสมทุกอย่างให้กำลังใจในการทำความดีทุกอย่าง ถ้าเราเชื่อหลวงพ่อ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ก็ไม่มีอะไรมีปัญหา เพราะว่าเราเหมือนเกิดทันพระพุทธเจ้า หลวงพ่อเทศน์แต่ละครั้ง ท่านมักจะบอก วันนี้องค์ปฐมมานะ มาเทศน์อย่างนี้ๆ วันนี้องค์ปัจจุบันมา วันนี้พระพุทธกัสสปมา

ท่านมีประวัติหลักฐานทุกอย่าง เหมือนเราได้ฟังคำสอนจากพระพุทธเจ้าโดยตรง เราโชคดีที่สุด หมายความว่า ไม่เสียชาติเกิดแล้ว เจอพระรู้จักพระ เจอพระอรหันต์ก็รู้จักพระอรหันต์ ฟังธรรมทุกอย่างด้วยความพอใจ ด้วยศรัทธา ด้วยปัญญา ไม่มีเบื่อ ทำงานกับท่านไม่มีเบื่อเลย

หลวงพ่อผู้มีทิพจักขุญาณแจ่มใส


อาจารย์ยกทรงบอกว่า ขนาดคนขอยืมเงินทำบุญ อยู่ห้องโน้นที่หน้าห้องส้วม ทำบุญจนหมดตัวแล้วหลวงพ่อพูดอะไรไม่รู้ เอาไม่อยู่ขอยืมเงินเพื่อน ให้กูร้อยหนึ่งน่า เดี๋ยวกูมาใช้มึง เวลาถวายปุ๊บ หลวงพ่อก็แซวเลย “ให้กูร้อยเถอะจะรีบใช้มึง” แล้วแกก็กลับไปนินทาหลวงพ่อ อะไรวะกำแพงขวางยังมองเห็นอีก โอ้โฮ ทำไมถึงตายาวขนาดนั้น แล้วอีกคนหนึ่งก็เร่งรีบเช่าสามล้อเข้าปากทางถนนใหญ่ ความจริงวันนั้นหมดเวลาแล้ว

เราก็บอกหลวงพ่อนิมนต์เถอะครับ หลวงพ่อบอกเดี๋ยวรออีกคนหนึ่ง ไอ้เราก็ไม่กล้าขัดใจก็คุยโน่นคุยนี่ถ่วงไป ประมาณสัก ๒๐ ทีก็มาถวายเยอะ เจ้าคนนั้นศรัทธาแรงเต็มที่ ๒๐ บาท เราก็เลยกระซิบถาม หลวงพ่อ ๒๐ บาท ก็ยังคอยเหรอ หลวงพ่อบอกเขามาไกล เขาลำบาก เราอยู่ใกล้ลุกเมื่อไหร่ก็ไปได้

ตรงนี้ท่านเคยสอนพระไว้ ไม่ให้เสียพระง่ายๆ เขาทำบุญ ๑๐ บาท ๒๐ บาท มากบ้าง น้อยบ้าง อย่าไปดูถูกเขา ท่านให้ดูกำลังใจคน ถ้าแกคิดอย่างนี้แกจะตกนรกง่ายที่สุด เขาทำบุญมากทำบุญน้อย ต่อไปแกจะโลภ หลวงพ่อบอกต้องดูกำลังใจคน แกจะวัดด้วยเงินหรืออะไรไม่ได้ ท่านสอนเรานะ

ท่านถือว่ากำลังใจสำคัญยิ่งอย่างโยมคนเมื่อกี้มาจากชลบุรี เป็นคนมีอายุแล้ว การเดินทางไกลก็ย่อมไม่สะดวก อย่างหลวงพ่อดาบสเทศน์ คนที่ขึ้นรถลงเรือมาไกลอย่างนี้ ถือว่าเอาชีวิตมาทำบุญ เพราะว่าการขึ้นรถออกจากบ้านมาแล้ว มันสามารถจะตายได้ทุกเวลาเช่นกัน ชีวิตเรายังไม่ห่วง เรียกว่า ปรมัตถบารมีจริงๆ

หลวงพ่อบูชาพระพุทธเจ้าอย่างยิ่ง


มีเกร็ดอยู่เกร็ดหนึ่ง คือมาวิเคราะห์กันเรื่องของแจก ของแจกนี่เรามาวิเคราะห์กันแล้วมันแพง ทีนี้ก็ปรึกษากับพระวิรัช เพราะพระวิรัชเป็นคนทำเรื่องวัตถุมงคล บอกวิรัชว่าของที่จะแจกนี่มันแพง ถึงครึ่งต่อครึ่งนี่ตั้ง ๘๐ กว่าบาท จึงถามหลวงพ่อว่า หลวงพ่อครับ ของที่จะแจกนี่เอาพระผงไม่ดีหรือครับ

หลวงพ่อบอกว่า “แป๊ะ..นันต์..ของนี่นะ นี่มันรูปข้า แต่พระผงเป็นรูปพระพุทธเจ้า เป็นของสูงแกรู้ไหม รูปพระพุทธเจ้าเป็นของสูง สูงยิ่งที่สุดแล้ว” เราก็โอ้โฮ นึกไม่ถึง เรานึกว่าของถูกก็แจกตามถูก แต่เรามันหยาบไม่คิดถึงคุณค่าของความดี ถึงบางอ้อตอนนั้นเอง หลวงพ่อท่านบูชาพระพุทธเจ้าจริงๆ เราแค่มองเพียงวัตถุ นี่เป็นตำราอย่างดีเลย

วิธีสอนคน


หลวงพ่อท่านมีวิธีสอนคน สอนชนิดที่เรียกว่าต้องจำตลอดชีวิต สอนพระทำยังไงถึงจำ สมัยก่อนหลวงพ่อลงเทศน์ เวลาจวกพระบนอาสน์สงฆ์นะพระนั่งคอตก เหงื่อหยดลงศอกติ๋งๆๆ แล้วจำตลอดไป ไม่กลัวตายเลย หลวงพ่อไม่กลัวลูกศิษย์อกแตกตายเลยเคยมีอยู่คราวหนึ่ง เดินทางมาสายลมและไปบ้านพลเอกทวนทองปุ๊บ แอร์มันเสีย ไอ้เราฉลาดมาก ลุกไปเปิดประตูปั๊บ เพื่อให้อากาศเข้ามามากๆ

หลวงพ่อบอก “ไอ้ระยำ..โง่เป็นควายเลย“ โอ้โฮ..เราก็หวังดีนะจะให้อากาศเข้า ท่านบอกว่า “แอร์มันเย็นอยู่ในห้องค่อยๆ รินมัน ให้อากาศมันถ่ายไปเปิดประตูความร้อนมันก็เข้ามาเต็มซิ” ไอ้เรารู้สึกหน้ามันเห่อ มันเบลอ มันชา ถ้าถ่ายรูปไว้คงจะน่าดูมาก

มีอยู่คราวหนึ่ง เราอยู่ด้วยกัน ก็คุยกันคุยค่อยๆ หลวงพ่ออยู่ในห้องน้ำ พออีกคนมาก็หยุดคุย เราก็คุยธรรมดาไม่ได้ว่าใครคุยเรื่องงาน รุ่งขึ้นอีกวันสองวัน หลวงพ่อบอก เวลาคุยกันนี่คนอื่นเขามาก็ต้องคุย คนอื่นมาปุ๊บหยุดคุย เขาหาว่านินทาเขา จะมีเรื่องมีราวกัน เราก็ไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้

ตอนที่ 2 »  ตอนที่ 3 » 


[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
ตั้งหัวข้อใหม่

Go To Top