Not logged in [Login - Register]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites ตั้งหัวข้อใหม่
[*] posted on 29/7/09 at 08:48 [ QUOTE ]

มรดกของแผ่นดิน..พุทธศิลป์ "วัดท่าซุง" (สกุลไทย ฉบับที่ 2708)


มรดกของแผ่นดิน..พุทธศิลป์วัดท่าซุง (ตอนที่ 1)

(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร "สกุลไทย" ฉบับที่ 2708)


เรื่องโดย : “ดวงลดา”
ภาพประกอบ : ดวงลดา / ราชาวดี


ตอนเที่ยวชม "มณฑปท้าวมหาราช"


บนเส้นทางหลวงในวสันต์ฤดู

แป้งกำลังเห่ออยากหัดถ่ายรูป ... เธอจึงชักชวน "พี่ด้า" ผู้เป็นเพื่อนสนิทรุ่นพี่ไปเที่ยววัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี ในวันหยุดสุดสัปดาห์วันหนึ่งของฤดูฝน

แป้งกับพี่ด้าได้ยินชื่อเสียงวัดท่าซุงของ "หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ" มานาน แต่ไม่เคยมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมเลยสักครั้ง ครั้งนี้โอกาสกำลังเหมาะ ดินฟ้าอากาศก็เย็นสบายกำลังดี กัลยาณมิตรทั้งสองจึงพร้อมอกพร้อมใจนัดแนะวันเดินทาง

“เอารถพี่ด้าไปนะ”
คุณแป้งรีบบอก ข้างพี่ด้าก็พยักหน้าหงึกตามเคย ด้วยตามใจกันมาจนเคยชิน

“เอากล้องดิจิตัลพี่ด้าไปด้วยนะ”
พี่ด้าก็พยักหน้าหงึกอีก แน่ล่ะ..ไปหัดถ่ายรูปนี่ ต้องเอากล้องไปอยู่แล้ว

“เอากล้องฟิล์มพี่ด้าไปด้วยนะ”
พยักหน้าให้อีกสองหงึก..ได้เลย..!

“เอาขาตั้งกล้องไปด้วยนะ”
คราวนี้พี่ด้าเหล่ตามอง และเริ่มส่งค้อนน้อยๆ นี่เธอจะเอาอะไรไปเองมั่งไหมเนี่ย...

“แป้งแบกให้เอง”
สงสัยรู้ตัวว่าเดี๋ยวจะโดนค้อน เธอรีบทำเสียงประจบนิดๆ อย่างที่รู้ว่า พี่ด้าได้ฟังแล้วเป็นเสร็จ ... (คือใจอ่อน)

ฤกษ์ของเราเป็นเช้าตรู่วันอาทิตย์ แสงตะวันสดใสเริงแรงอยู่เบื้องบนทำให้เราอุ่นใจได้ว่า แม้กำลังเป็นช่วงฤดูฝนมาเยือน วันนี้น่าจะเป็นวันที่ปลอดโปร่งจากสายฝนอีกวันหนึ่ง เพราะสำหรับตากล้องแล้ว ภาพที่บันทึกผ่านเลนส์จะสวยสดใสได้ ก็ต้องพึ่งพาประกายแดดสวยสดใสเช่นกัน

๖ โมงเช้า รถพี่ด้าจอดพรืดรออยู่หน้าบ้านแป้ง คุณเธอเปิดประตูบ้านออกมายิ้มตาใสแจ่ม เอ่ยทักอย่างอารมณ์ดี

“นัดเที่ยวเช้าๆ ล่ะ ตรงเวลาเป๊ะ ... นัดอย่างอื่นล่ะไม่ตื่นหรอก รอแล้วรออีก”
แป้งไม่ได้หมายถึงพี่ด้าหรอก แต่หมายถึงทั้งคู่นั่นแหละ!

จากกรุงเทพฯ พี่ด้าขับสบายๆ ไม่เร่งรีบเพราะมีแป้งคอยกำกับความเร็ว โดยใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑ ถนนพหลโยธิน แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข ๓๒ สายเอเชีย ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี ชัยนาท ประมาณ ๒๒๐ กิโลเมตร ขับรถกำลังเพลินก็ถึงแยกซ้ายมือเพื่อเข้าสู่จังหวัดอุทัยธานี

สองสาวชอบฤดูฝนของบ้านเรา ด้วยตลอดเส้นทางที่ผ่าน จะเห็นต้นข้าวเขียวเป็นประกายล้อแดด พลางไหวใบเรียวสวยใหญ่น้อยไปกับสายลมราวกับเต้นรำ โดยมีฉากหลังเป็นฟ้าสีครามสวยสะอาดดูแล้วโปร่งใจนัก เขียวของใบข้าวคือสีเขียวของชีวิตจริงๆ ... ทำให้ต้องหวนรำลึกถึงบุญคุณของน้ำฟ้าที่หยาดโปรยลงมายังความชุ่มชื้นแก่พืชพรรณธัญญาหาร ดุจดังบรรณาการของแผ่นดิน

“ไม่น่าเชื่อว่า บ้านเราจะประสบกับภัยแล้งเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ธ ทรงช่วยอำนวยให้ฝนหลั่ง ... จริงๆ นะ”

แป้งรำพึงอย่างตระหนักลึกซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณขององค์พระประมุขของเรา ที่พระราชทานฝนหลวงแก้ภัยแล้งให้แก่พสกนิกรชาวไทย ขณะทอดตามองทิวทัศน์สองข้างทาง

ถึงเวลาที่คนไทยเราควรจะสำนึกตัวบ้างนะ เล่นตัดไม้ทำลายป่ากันโครมๆ ทำตัวเองกันแท้ๆ ฝนแล้งก็เดือดร้อนถึงท่าน ฝนมากไปก็เดือดร้อนถึงท่าน อีกทั้งเมื่อแลเห็นภัยธรรมชาติต่างๆ นานาที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ ในหลายจุดหลายมุมบนโลก น่าจะเข้าใจได้แล้วว่าธรรมชาติกำลังส่งสัญญานเตือนมนุษย์โลกให้ตระหนักถึงผลกระทบจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างขาดจิตสำนึกอยู่

สองสาวพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับภัยพิบัติต่างๆ ที่ว่ากันยืดยาว พลางแลดูตากันแล้วต่างถอนหายใจคนละเฮือก! คนเล็กๆ อย่างเราทำได้ก็เพียงถนอมรักษา หรือทำร้ายธรรมชาติให้น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ เมื่อใดมีจังหวะก็ลุกขึ้นมาแอบตักเตือนเพื่อนพ้อง (อย่างท่านผู้อ่าน) ให้ตระหนักกันบ้าง ทำได้น้อยนิดก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย จริงไหม

คุยไปขับไปอย่างเพลิดเพลิน ก็ถึงตัวเมืองอุทัยธานี พี่ด้าขับต่อออกไปทางอำเภอมโนรมย์อีกประมาณ ๖ กิโลเมตร ถึงที่หมายเอาตอน ๙ โมงกว่าๆ

พอถึงตัววัด เราจึงประจักษ์แก่ตาตัวเองว่า "วัดท่าซุง" หรือ "วัดจันทาราม" นั้นใหญ่อลังการจริงๆ วัดนี้เดิมเป็นวัดที่สร้างในสมัยอยุธยา ต่อมา หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ (พระมหาวีระ ถาวโร หรือ พระราชพรหมยาน) ได้มาปลูกสร้างถาวรวัตถุใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมากมาย วัดท่าซุงจึงมีปูชนียสถานต่างๆ ที่น่าสนใจให้เยี่ยมชมเรียงรายทั้งฝั่งซ้ายขวาของถนน

เดิมวัดนี้มีเนื้อที่ประมาณ ๖ไร่เศษ ในปีพ.ศ. ๒๕๑๗ คณะศิษย์และลูกหลานของหลวงพ่อฤๅษีลิงดำได้ร่วมกันซื้อที่ดินฝั่งตรงข้ามวัดเก่า เพื่อสร้างโบสถ์แทนโบสถ์เก่าที่ชำรุดทรุดโทรม ต่อมาก็มีสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาซื้อที่ดินถวายวัดมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบัน มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ ๕๑๐ ไร่ โดยแยกเป็นเนื้อที่วัด ๒๘๐ ไร่ เนื้อที่ป่า ๒๓๐ ไร่ มีสิ่งปลูกสร้าง และถาวรวัตถุมากมายเสียจนเราไม่รู้จะเริ่มต้นที่ตรงไหนก่อน

พี่ด้าตัดสินใจเลี้ยวรถเข้าไปในวัดฝั่งที่ติดกับแม่น้ำสะแกกรัง พอจอดรถแล้วเงยหน้าขึ้นมาเห็นมณฑปท้าวมหาราชทั้ง ๔ สองสาวจึงเลือกที่จะกราบสักการะปูชนียสถานแห่งนี้ก่อน


มณฑปท้าวมหาราชใต้ริ้วเมฆสวยในวันฟ้าใส

ที่มณฑป มีเทวรูปของ "ท้าวมหาราช" ก็คือ ท้าวจัตุโลกบาลทั้ง ๔ องค์เป็นโลหะผสมทองคำสุกปลั่ง มีเครื่องประดับเป็นสีเงิน ดูสง่างามในท่าประทับยืนสูงเกือบ ๒ เมตรกว่าๆ มีกระจกแก้วล้อมอยู่ ด้านหน้ามีชื่อระบุไว้ว่าองค์ไหนเป็นองค์ไหน ได้แก่ ท้าวธตรฐ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักษ์ และท้าวกุเวร (เวสสุวัณ)

พี่ด้าไปแอบกางตำรามา จึงทราบว่าท่านเป็นเทวดาอยู่ในสวรรค์ชั้นที่ ๑ ที่เรียกว่า "ชั้นจาตุมหาราชิก" มีหน้าที่เป็นผู้รักษาด่านหน้าของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อป้องกันพวกอสูรซึ่งเป็นศัตรูของเทพชั้นดาวดึงส์จะยกขึ้นมาตีเอาถิ่นสวรรค์ชั้นนั้น และมีหน้าที่เป็นผู้ตรวจดูโลกซึ่งเป็นที่อยู่ของหมู่มนุษย์อีกด้วย

ตามความเชื่อที่อิงแนบอยู่กับศาสนาพราหมณ์นั้น โลกมีเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลาง ท้าวมหาราช ๔ องค์จะแบ่งกันครอบครองทิศทั้ง ๔ ดังนี้

ด้านทิศตะวันออกของเขาพระสุเมรุ เป็นที่อยู่ของท้าวธตรฐ มีพวกคนธรรพ์เป็นบริวาร

ด้านทิศใต้ของเขาพระสุเมรุ เป็นที่อยู่ของ ท้าววิรุฬหก มีพวกกุมภัณฑ์เป็นบริวาร พวกกุมภัณฑ์นี้ ได้แก่พวกราษส

ส่วนด้านทิศตะวันตกเป็นที่อยู่ของ ท้าววิรูปักษ์ มีพวกนาคเป็นบริวาร

และด้านทิศเหนือเป็นที่อยู่ของ ท้าวกุเวร มีพวกยักษ์เป็นบริวาร


สำหรับใครที่อยากอยู่ในสวรรค์ชั้นนี้ ใน อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ข้อ ๔๙ หน้า ๖๐ บาลีฉบับสยามรัฐ พระพุทธเจ้าตรัสกับ พระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องขวาไว้เกี่ยวกับการให้ทานว่า

"ดูกร สารีบุตร..! ในการให้ทานนั้นบุคคลมีความหวัง ให้ทานมีจิตผูกพันในผลแห่งทานแล้ว ให้ทาน มุ่งการสั่งสมทาน ให้ทานด้วยคิดว่า เราตายไปแล้วจักได้เสวยผลแห่งทานนี้ เขาผู้นั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นจาตุมหาราช"

หรือในส่วนที่เกี่ยวกับ ปุญญกิริยาวัตถุสูตร (อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ข้อ ๑๒๖ หน้า ๒๔๕ บาลีฉบับสยามรัฐ) พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า

"ดูกร เธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย..! บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานมีประมาณยิ่ง ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณยิ่ง ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไปแล้วเขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดา ชั้น จาตุมหาราช”

สรุปว่า ทำความดีให้ถึงพร้อมด้วยทาน ศีล และภาวนาไปเถิด ตายไปแล้วจะไม่ตกต่ำไปกว่าความเป็นมนุษย์เป็นแน่...!

ที่มา - www.bloggang.com 17 กรกฎาคม 2550

((( โปรดติดตามตอนที่ 2 ต่อไป )))


[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 4/8/09 at 08:17 [ QUOTE ]


(Update 04/08/52)

มรดกของแผ่นดิน..พุทธศิลป์ "วัดท่าซุง" (ตอนที่ 2)

(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร สกุลไทย ฉบับที่ 2708)

เรื่องโดย : “ดวงลดา”
ภาพประกอบ : ดวงลดา / ราชาวดี


ตอนชมความงดงามของ "วิหารแก้วร้อยเมตร"

เช้านี้ฟ้าสีครามแขวนริ้ว เมฆขาวราวกับเกลียวคลื่น อยู่เหนือหลังคามณฑปสีเงินยวง แป้งเลยอดใจไม่ได้ ต้องถือกล้องดิจิตัลเดินบันทึกภาพไปรอบๆ ยกใหญ่

ข้างๆ มณฑปท้าวมหาราช คือ มณฑปแก้ว ภายนอกเป็นสีเงินแวววาวทั้งหลัง ราวกับชะลอประกายสุกสว่างของแก้วมณีอันมีค่าทั้งหลายมาไว้ที่ตัวมณฑป ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระรูปจำลององค์เป็นทองคำของพระพุทธเจ้าองค์พระสมณโคดมอยู่หลายอิริยาบถ มีสมเด็จพระสิขีทศพลที่ ๑ และหุ่นขี้ผึ้งของหลวงพ่อฤๅษีลิงดำในอิริยาบถนั่ง

นอกจากนี้ยังมีองค์จำลองพระสาวกและพระพรหมอีกด้วย การสักการะนั้นทางวัดจะมีพานธูปเทียนแพจัดไว้สวยงามให้สำหรับนำไปกราบสักการะ จึงไม่ต้องมีการจุดธูปจุดเทียน ซึ่งถูกใจพี่ด้า ผู้ไม่ถูกกับควันธูป เพราะจะสำลักควันน้ำหูน้ำตาไหลเอาง่ายๆ

หลวงพี่ผู้ดูแลมณฑปอยู่แนะนำให้เราไปเยี่ยมชม วิหารแก้ว ๑๐๐ เมตร ซึ่งอยู่อีกฝั่งถนน เพื่อแป้งจะได้ถวายสังฆทานได้ด้วย

การชักชวนกันมาเที่ยวชมวัดท่าซุงเพื่อถ่ายรูปนั้น ที่แท้แล้วก็เป็นวัตถุประสงค์รอง วัตถุประสงค์หลักก็คือ การได้มาไหว้พระทำสังฆทาน ซึ่งแป้งได้ตระเตรียมซื้อหาทีละชิ้นทีละอัน อย่างใคร่ครวญถึงความจำเป็นเหมาะสม ในสิ่งที่จะถวายด้วยตัวเอง น่าอนุโมทนาจริงๆ

พี่ด้าต้องขับรถย้อนขึ้นไปเล็กน้อย แล้วเลี้ยวซ้ายข้ามไปยังฝั่งตรงข้าม เพราะวิหารแก้วอยู่ไกลเกินกว่าจะเดินไหว

ลานจอดรถกว้างขวางนั้น มีรถจอดอยู่ไม่น้อย แต่ที่ทำเอาสองสาวถึงกับอึ้งก็คือ ความใหญ่โตของตัววิหาร ด้านหน้ามีพระบรมรูปจำลองของบรรพกษัตริย์รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๕ ในอิริยาบถนั่ง และยังมีรูปหล่อหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ซึ่งเป็นพระอาจารย์อีกรูปหนึ่งของหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ และหลวงพ่อใหญ่อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าซุงอยู่ด้วย

วิหารแก้วที่เห็นตรงหน้า มีหลังคาเป็นจัตุรมุข ๓ ยอด ด้านนอกด้านใน ปิดกระจกเงาใสจากชั้น ๒ ถึงยอดหลังคา กระจกใสสว่างสะท้อนเงาเมฆบนท้องฟ้า สวยสง่างามราวกับวิมานจำแลงลงมาตรงหน้าทีเดียวล่ะ ตัววิหารมีขนาดกว้าง ๒๘ เมตร ยาว ๑๐๐ เมตร สูง ๘ เมตร ที่เรียกวิหารแก้ว ๑๐๐ เมตรก็คงด้วยความยาวของตัววิหารกระมัง

แดดยามสายเริ่มจัดจ้าจนรู้สึกได้ พี่ด้าจอดรถแล้วคว้ากระเป๋ากล้อง อีกมือหนึ่งคว้าร่มเดินกางหลบไอแดดลิ่วตัวปลิว แป้งส่งเสียงประท้วง

“เอาขาตั้งกล้องไปด้วยสิพี่”
“ก็ใครบอกจะแบกให้ล่ะ”
พี่ด้ายังคงไม่สน เดินลิ่ว แป้งค้อนขวับ แล้วคว้าขาตั้งกล้องไปแบบจำยอมหน่อยๆ



ภายในวิหารแก้วร้อยเมตรอันวิจิตร


เมื่อเข้าไปถึงภายในวิหารเป็นต้องตกตะลึง ด้วยเสาเป็นโมเสกสีขาวตกแต่งกระจกแก้วแวววาว มีนับร้อยต้น งดงามแพรวพรายราวสรวงสวรรค์

พี่ด้าต้องยอมรับว่าแป้งคิดถูกที่หอบขาตั้งกล้องมาด้วย เพราะแม้ภายในจะตกแต่งด้วยกระจกเงาที่เสาทุกต้น ที่ข้างฝาทุกด้านและเพดานทั้งวิหาร อีกทั้งเพดานวิหารมีช่อไฟระย้าทั้งช่อใหญ่และช่อเล็กรวมทั้งหมด ๑๑๙ ช่อ แต่โดยรวมแล้วแสงก็ค่อนข้างน้อย เพราะตกแต่งด้วยไฟใช้เป็นสีส้มสลัวดูงดงาม พี่ด้าไม่ชอบใช้ไฟแฟลชในการถ่ายรูปเพราะไม่ต้องใจที่มันทำให้รูปออกมาดูแข็งกระด้าง จึงถูกใจที่มีขาตั้งกล้องมาช่วย เพื่อรูปที่ออกมาจะได้ไม่พร่าไหว

ภายในกว้างขวางใหญ่โต ทางด้านขวามือทอดยาว จะแลเห็นองค์พระประธานแบบทรงพระพุทธชินราช มีรูปปั้นพระอรหันต์สาวก ๗ องค์ ส่วนวิหารที่ทอดยาวมาทางด้านซ้าย ประดิษฐานรูปหล่อหลวงพ่อฤๅษีลิงดำลักษณะยืนถือไม้เท้า และมีบุษบกตั้งศพพระเดชพระคุณหลวงพ่อซึ่งไม่เน่าไม่เปื่อยอยู่เบื้องหลัง

เวลาเปิดให้ชมวิหารแก้ว ๑๐๐ เมตร คือ ระหว่าง ๙.๐๐-๑๒.๓๐ น. และ ๑๔.๐๐-๑๗.๐๐ น. ช่วงที่ปิดนั้นเป็นช่วงเวลาสำหรับสานุศิษย์เจริญกรรมฐาน


ธูปเทียนแพในวัดที่ไม่ต้องใช้ธูปที่พี่ด้าชอบมาก

สองสาวกราบพระพุทธประธานทองคำ แล้วมากราบศพหลวงพ่อด้วยพานธูปเทียนแพของทางวัด ตรงองค์พระประธานที่สร้างตามแบบพระพุทธชินราชนั้น งดงามตามแบบพุทธศิลป์ "สมัยสุโขทัย" อันได้ชื่อว่าเป็นพุทธศิลป์ที่งดงามที่สุดอยู่แล้ว

เมื่อกราบพระแล้วเงยหน้ามองพระพักตร์ จึงได้เห็นความงามอันเนื่องมาจากพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณในพระพุทธองค์ ที่ผู้หล่อปั้นได้ถ่ายทอดมาไว้ได้อย่างครบครัน องค์พระเป็นโลหะผสมทองคำ ประดับตกแต่งด้วยแก้วแหวนมณีงดงาม เรืองรองดุจสัญลักษณ์ของพลังศรัทธาของชาวพุทธ ที่มีต่อพุทธบารมีและบารมีของหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ

พออิ่มอกอิ่มใจในภาพที่เห็นด้วยสองตาแล้ว ก็เริ่มกางขาตั้งกล้อง ตั้งต้นถ้อยทีถ้อยถ่ายภาพ แลกเปลี่ยนชี้ชวนมุมกล้องและวิธีการบันทึกภาพอย่างเพลิดเพลิน พี่ด้าน่ะเป็นตากล้องสมัครเล่นมานานแล้ว แต่หลังๆ ฝีมือชักจะรกเรื้อค่าที่มัวแต่ทำงานทำการตัวเป็นเกลียว เลยต้องรื้อฟื้นเสียบ้าง ส่วนเจ้าแป้งนั้นเคยร่ำเรียนมาเพราะเป็นหนึ่งในวิชาที่ต้องเรียน แต่ก็สนิมขึ้นด้วยเหตุผลเดียวกัน ถือว่าสบโอกาสได้เคาะสนิมกันคราวนี้

“จริงๆ พวกเรียนคอมเมอเชียลอาร์ตมา ฝีมือทางนี้ต้องพอมี เพราะเขาบังคับให้เรียน”
แป้งเล่าถึงวิชาชีพสาขาพาณิชย์ศิลป์ของตัวเองให้พี่ด้าฟังพลาง กดชัตเตอร์ไปพลาง

“ส่วนเราพวกเรียนควายอาร์ตมา ฝีมือทางนี้หากจะมีต้องหัดเอาด้วยความมานะประดุจควายไถนา”
พี่ด้าทำเสียงก้ำกึ่งระหว่างคำว่าควายอาร์ตกับไฟน์อาร์ตหน้าตาเฉยเป็นการทิ้งมุก เจ้าแป้งได้ทีรีบทำตาเจ้าเล่ห์แล้วพูดเสียงขรึม

“จริง” หนอยแน่ะ ... เอาเถอะ ถือว่าพี่ด้าพลาดไปก็แล้วกัน ฝากไว้ก่อน..!

จริงๆ แล้ว การถ่ายภาพเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ที่ว่าเป็นศาสตร์เพราะเป็นเรื่องของการวัดแสง เวลาในการเปิดรูรับแสงของกล้อง การตั้งค่าความเร็วของชัตเตอร์ ว่าต้องการภาพแบบไหนควรต้องทำแบบไหน ซึ่งค่อนข้างตรงไปตรงมา


พระพุทธชินราชจำลองในเงาสะท้อนกระจก

ส่วนที่ว่าเป็นศิลป์เพราะ เมื่อตั้งค่าได้ทุกอย่างตามต้องการแล้ว สิ่งที่ตามมาคือ เรื่องของ สีสัน แสงและเงา มุมกล้อง องค์ประกอบภาพ และอื่นๆ อีกมากมายในเรื่องเกี่ยวกับความงาม ซึ่งเป็นเรื่องของมุมมองของใครของมันจริงๆ

พี่ด้ากับแป้งมัวแต่เพลิดเพลินกับการบันทึกภาพจนใกล้เวลาปิดวิหาร สังฆทานเลยยังไม่ได้ถวาย ไม่เป็นไร ไปทานข้าวเที่ยงกันก่อน รอถวายช่วงบ่ายได้อยู่แล้ว

มื้อเที่ยงของเราฝากท้องไว้ที่เรือนแพของร้านแห่งหนึ่งริมแม่น้ำสะแกกรัง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบริเวณวัดนั่นเอง เมื่อมองไปตามลำน้ำสีปูนที่ไหลรินเอื่อย จะเห็นเรือนแพมีกระชังเลี้ยงปลาสวาย ปลาแรด และปลาเทโพบ้างเล็กน้อย ปลาแรดในกระชังของที่นี่นับว่าขึ้นชื่อมาก เพราะเนื้อแน่นนุ่มและหวาน

ว่ากันว่าเป็นเพราะน้ำที่นี่มีการไหลเวียนดีและอาจมีแร่ธาตุบางอย่างอยู่ ปลาแรดจึงมีเนื้อนุ่ม จึงจัดเป็นเมนูแนะนำแถมอยู่ในคำขวัญประจำจังหวัดอุทัยธานีอีกด้วย

ยิ่งตกบ่ายแสงแดดยิ่งส่องประกายสะท้อนสายน้ำสะแกกรังระยิบระยับ เราเพลินกับอาหารและภาพตรงหน้า พอหนังท้องตึงพี่ด้าก็กลัวหนังตาจะพลอยหย่อนไปด้วย จึงกระตุ้นเตือนเพื่อนรุ่นน้องให้เริ่มกิจกรรมชมวัดท่าซุงต่อได้แล้ว...

((( โปรดติดตามตอนที่ 3 ตอนสุดท้าย )))


[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 11/8/09 at 08:23 [ QUOTE ]


(Update 11/08/52)

มรดกของแผ่นดิน พุทธศิลป์วัดท่าซุง (ตอนที่ 3)

(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร สกุลไทย ฉบับที่ 2708)


เรื่องโดย : “ดวงลดา”
ภาพประกอบ : ดวงลดา / ราชาวดี


ตอนชม "ปราสาททองคำ และ วิหารสมเด็จองค์ปฐม"


โลหะปราสาทอันงดงาม

เราย้อนกลับมาที่วัดฝั่งเดียวกันกับวิหารแก้วอีกครั้ง คราวนี้ขับเลยเข้าไปลึก จึงได้เห็นกำแพงแก้วอันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์เป็นสีทองในปางสมาธิ ประทับนั่งเรียงรายมากมายรายล้อมบริเวณวัดอันมีเนื้อที่ไพศาล นับกันไม่ถูกไม่ถ้วนทีเดียว น่าจะถึงกับเป็นพันองค์ได้ เป็นพระพุทธรูปที่ศิษยานุศิษย์ร่วมใจน้อมสร้างถวายวัดทั้งสิ้น ไม่เรียกว่า "พลังศรัทธา" ก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรแล้ว

กำแพงแก้วพระพุทธนั้นทอดยาวมาตามทาง จนเราลุมาถึงปูชนียสถานอีกแห่งคือ ปราสาททองคำ รูปลักษณ์คล้าย "โลหะปราสาท" แต่เป็นสีทองลวดลายวิจิตร ยอดปราสาทประดิษฐานพระพุทธรูปเป็นโลหะสีทองในปางลีลา แดดจัดยามบ่ายใต้ฟ้าสีครามขับประกายสีทองของปราสาทที่เห็นอยู่ตรงหน้าที่งดงามจนแทบลืมหายใจ รู้สึกราวกับได้เห็นทิพย์วิมานสรวงสวรรค์ชะลอลงมาอยู่ตรงหน้า

เมื่อเข้าไปใกล้ตัวปราสาท จึงได้เห็นความวิจิตรงดงามของผนัง ประตู หน้าต่าง เพดาน ทั้งภายนอกภายใน ไม่มีจุดไหนที่จะละจะเว้นความประณีตบรรจง ลวดลายไทยอันอ่อนช้อยมากลาย ศิลปะการปิดทองล่องชาด กรุกระจกสี ละเอียดลออไปหมด

เทพารักษ์ที่อารักขาประตูก็งดงามอ่อนช้อย นาคที่เลื้อยพันอยู่ข้างบันไดก็ดูดุดันน่าเกรงขามแต่ไม่ทิ้งความงามเช่นกัน สองสาวคิดคำกล่าวได้แค่เพียง ... งามเหนืองาม ด้วยล้ำเลิศเหนือคำบรรยายใด ผู้สร้างสร้างด้วยใจ ผู้ลงมือประดิดประดอยก็ถอดใจใส่ลงไปในทุกลวดลาย จึงเรียกพลังศรัทธาจากมหาชนให้ร่วมสร้างได้ถึงเพียงนี้


เทวารักษาปราสาท

ปราสาทนี้ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ จึงเปิดให้ชมเพียงชั้นล่างชั้นนี้ มีบันไดให้ขึ้นไปชั้นบนที่ไม่แน่ใจว่าอนุญาตให้ผู้หญิงขึ้นไปได้หรือไม่ มีป้ายขอความร่วมมืออย่าจับต้องลวดลายใดๆ ของตัวปราสาท ด้วยอาจเป็นเหตุให้ทองสุกปลั่งนั้นชำรุดเสียหายก่อนเวลาอันควรได้

น่าเสียดายที่มีเพียงตัวปราสาทให้ได้เยี่ยมชม แต่ไม่มีประวัติชัดเจนเกี่ยวกับตัวปราสาทให้ผู้มาเยือนได้ทราบว่า สร้างเพื่ออะไร และเมื่อใด แม้กระทั่งชื่อศิลปินผู้รังสรรค์ความงามอันวิจิตรตระการตาก็ไม่มีการระบุแต่อย่างใด แต่ถ้าวัดจากหัวใจของผู้มาเยือนอย่างพี่ด้าแล้ว เธอถึงกับออกปากว่า

“หลวงพ่อคงตั้งใจสร้างให้เป็นมรดกแผ่นดิน”

เพราะลำพังเพียงแต่เงินก็ไม่อาจจะสร้างได้ ใจต้องถึงพร้อม บารมีต้องถึงพร้อม ไม่อย่างนั้นจะไปสรรหาช่างฝีมือมาได้จากไหนที่จะถอดใจใส่ในงานได้งดงามถึงเพียงนี้ ซึ่งลูกศิษย์ของหลวงพ่อคงซาบซึ้งใจและบารมีของท่านเป็นอย่างดีทุกๆ คนอยู่แล้ว

เป็นพุทธศิลป์ร่วมสมัยในวันนี้ ที่ในอีก ๒-๓ ร้อยปีข้างหน้า คงจะกลายเป็นมรดกของแผ่นดินที่ลูกหลานภาคภูมิใจเป็นแน่

สองสาวใช้ทั้งกล้องฟิล์มและกล้องดิจิตัลเก็บรายละเอียดลวดลายต่างๆ ไม่มีใครเร่งใคร ไม่มีการเบื่อหน่ายรอคอยกันและกัน มีแต่เออออห่อหมกไปด้วยกันอย่างคนที่เข้าถึงใจกันและกัน ด้วยต่างก็เป็นคนที่มีศิลปะในหัวใจกันทั้งคู่

ลวดลายไทยบนเพดานสวยถูกใจแป้งมาก แต่แสงน้อยเกินกว่าจะไม่ใช้ขาตั้งกล้อง เธอจึงตั้งขาตั้งพร้อมกับหงายเลนส์กล้องดิจิตัลซูมหาเพดาน จากนั้นก็มุดตัวลงไปที่พื้น เงยแหงนหน้ามองเพดานผ่านจอ LCD ที่เป็นแบบพลิกพับได้พลางโอดครวญ

“ทำไมมันลำบากยังงี้เนี่ย”
พี่ด้าทำตาปริบๆ พลางสะกิด

“ทำไมไม่พับจอ LCD กลับขึ้นมาทางนี้ให้ตัวเองดูง่ายๆ เล่า จะได้มองลงไปตรงๆ ที่จอ ไม่ต้องทำท่ากายกรรมมุดลงไปแล้วเงยขึ้นมายังงั้นหรอก”

แป้งเลยถึงกับหัวเราะขำตัวเองออกมาอย่างสุดกลั้น แทบจะยกขาตั้งกล้องไล่ทุบพี่ด้าเอาโทษฐานบอกเธอช้า!

บ่ายคล้อยมากแล้วเมื่อสองสาวเดินออกมาภายนอกปราสาท รถของเราจอดอยู่ใต้แสงตะวันเริงแรงอย่างนี้ คงมีสภาพไม่ต่างจากเตาอบ

พี่ด้าเดินลิ่วไปสตาร์ทเครื่องเปิดแอร์รอ เพราะรู้ใจเพื่อนดีว่า ถ้าขึ้นรถมาเจอไอร้อนผ่าวอาการไมเกรนเจ้าแป้งเธอจะกำเริบเอาได้ ขณะที่เจ้าตัวยังสาละวนกับการเก็บภาพช่อฟ้าใบระกา และหางหงส์อันเป็นองค์ประกอบของหน้าบัน สีทองอร่ามตัดกับฟ้าสีน้ำเงินแสนสวยทำให้แป้งลืมไอร้อนระอุของตะวันกล้าไปได้

พี่ด้าเคลื่อนรถมาใกล้พลางเปิดกระจกชะโงกหน้ามาสั่งแป้ง
“เอาภาพนาคตรงบันไดนั่นด้วยแป้ง ให้มองเห็นบันไดทอดยาวอยู่ข้างหลังด้วยนะ”



พญานาคเฝ้าเชิงบันได

แป้งถึงกับค้อนเข้าให้ มีการสั่งมุมกล้องอีกต่างหากอย่างกับสั่งพิซซ่าแน่ะ ทั้งนี้เป็นเพราะพี่ด้าผู้ที่มองภายนอกแล้วดูเป็นสาวมาดมั่นขาลุย ที่แท้แล้วเป็นโรคกลัวผิวผ่องเธอจะหมองไหม้เสียยิ่งสิ่งใด เวลาจะออกแดดเป็นต้องพะรุงพะรังไปด้วยแว่นกันแดด หมวก แล้วยังมีร่มอีกด้วย ไม่ต้องพูดถึงกิจกรรมทาครีมกันแดดที่มีทุก ๒ ชั่วโมงเลยล่ะ

เมื่อแดดกล้าถึงเพียงนี้จึงสะดวกเธอยิ่งนักที่จะนั่งบงการมุมกล้องเอาจากในรถ ส่วนคุณแป้งผู้มีเมลานีนใต้ผิวน้อยกว่าหลายเท่าก็ผจญแสงตะวันต่อไปสิ อย่างไรผิวก็ไม่หมองอยู่แล้ว!

พอขึ้นรถได้ แป้งถึงกับออกปากความเรื่องมากกลัวแดดของผู้เป็นเพื่อนรุ่นพี่
“เราสองคนนี่ เอาเข้าจริงๆ ก็เรื่องมากกันทั้งคู่เลยนะ ... แค่คนละเรื่องคนละแบบเท่านั้นเอง”
พี่ด้าทำเป็นพูดเสียงขรึมตอบเจ้าแป้ง

“น้ำมันย่อมไหลไปรวมกับน้ำมัน น้ำเน่าย่อมไหลไปรวมกับน้ำเน่า”
“ดังนั้นพวกน้ำเน่าอย่างเราจึงไปด้วยกันได้”

เจ้าแป้งพูดแทรกต่อประโยคพี่ด้าออกมาทันควัน ตามด้วยเสียงหัวเราะลั่นรถพร้อมเพรียงกันของสองสาว .. ให้มันทันกันได้อย่างนี้ทุกทีสิน่า!

ไม่ไกลจากตัวปราสาททองคำนัก คือ มณฑปองค์พระปฐม เป็นที่ประดิษฐาน "สมเด็จองค์พระปฐม" พระพุทธสิกขีทศพลที่ ๑ หน้าตัก ๔ ศอก เป็นพระหล่อด้วยโลหะผสมทองคำตามแบบพระพุทธชินราชในเรือนแก้วอันงดงาม ตัวองค์พระทรงเครื่องเป็นเงินและแก้ว สะท้อนแสงสวยงามเป็นประกายอยู่ภายในตัวมณฑป ภายในองค์พระบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ มณฑปทั้งหมดตกแต่งด้วยกระจกแก้วทั้งข้างนอกข้างในสวยงามมาก

<
ที่นี่สองสาวได้พบหลวงพ่อนั่งจิบน้ำชาคุยกับญาติโยมอยู่ จึงย้อนกลับไปที่รถเพื่อนำของสังฆทานที่เตรียมไว้มาถวาย ท่านก็รับของถวายแล้วมีปฏิสันถารกับพวกเราอยู่ครู่หนึ่ง ซึ่งก็บอกเล่าความเป็นมาขององค์พระปฐมให้ได้ทราบว่า เป็นพระพุทธรูปที่สร้างสมมติให้เป็นองค์พระพุทธเจ้าพระองค์แรก จึงเรียกว่า "องค์พระปฐม" นั่นเอง

อีกทั้งได้เมตตาเล่าประวัติสั้นๆ ของหลวงพ่อฤๅษีลิงดำให้พวกเราได้ฟังกันว่า ท่านมรณภาพที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อตุลาคม ๒๕๓๕ ตลอดระยะเวลาที่อุปสมบทอยู่ ท่านก็ได้ทำหน้าที่ของพระสงฆ์อย่างสมบูรณ์ทั้งทางด้านเผยแผ่ศาสนา และสงเคราะห์เกื้อกูลมหาชน ด้วยการสร้างวัด สร้างโรงเรียน สร้างศูนย์สงเคราะห์ต่างๆ มากมาย ด้วยความเมตตาอย่างยิ่งของท่าน

จึงไม่น่าแปลกใจที่ แม้ท่านจะมรณภาพไปนานแล้ว แต่บารมีและคุณงามความดีของท่านที่มีมากมายมหาศาลก็ยังคงอยู่ให้ได้สัมผัสทั้งด้วยตาและด้วยใจแก่มหาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยามที่ได้มาเยือนวัดท่าซุงแห่งนี้

ไม่ไกลจากมณฑปองค์พระปฐม เป็นวิหารของพระอนาคตวงศ์ หรือ พระศรีอาริยเมตไตรย เป็นรูปหล่อในลักษณะเทพยดาอิริยาบถประทับยืน ซึ่งจัดสร้างขึ้นในปีพ.ศ. ๒๕๓๗ หลังหลวงพ่อมรณภาพแล้ว โดยใช้ทองคำที่พุทธบริษัทนำมาถวายเพื่อหล่อรูปน้ำหนักชั่งได้ ๕๐ กิโลกรัมเศษ ตัววิหารนั้นสร้างอย่างกลมกลืนกับปูชนียสถานต่างๆ ในวัด คือ ใช้สีเงินยวงประดับตกแต่งด้วยแก้วกระจกเงา

ซึ่งพระศรีอาริยเมตไตรยนั้น ในตำนานทางพุทธศาสนาแล้ว ท่านจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอีกล้านปีเศษๆ ข้างหน้า พุทธศาสนานิกชนส่วนมากจึงมักจะตั้งใจอธิษฐานว่า หากไม่พ้นทุกข์คือเห็นนิพพานในชาตินี้ ก็ขอให้ได้เกิดแล้วพ้นทุกข์ในพุทธกาลของท่าน

ส่วนพี่ด้านั้นมักจะอธิษฐานต่อหน้าพระรัตนตรัยทุกคราวที่ก้มลงกราบอภิวาทเสมอว่า

“สรณะอื่นของข้าพเจ้าไม่มี พระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ เป็นสรณะอันประเสริฐของข้าพเจ้า
ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ข้าพเจ้าพึงเจริญในพระศาสนาของพระศาสดา”


ไม่ได้ขอให้พ้นทุกข์พ้นโศกพ้นโรคพ้นภัย หรือขอโชคลาภแต่อย่างใด เพราะรู้ว่าเป็นเรื่องร้องขอไม่ได้ ทุกข์โศกเป็นเรื่องของใจเจ้าตัว โรคภัยเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต และโชคลาภเป็นสิ่งที่อยากได้ต้องสร้างเอง! คิดผิดแผกจากชาวโลกเขาหรือเปล่าไม่รู้สิ ...

เย็นย่ำมากแล้ว ถึงเวลาอำลาวัดท่าซุงเดินทางกลับกรุงเทพฯ ทั้งๆ ที่ยังมีปูชนียสถานอีกหลายแห่งในวัดท่าซุง ที่เรายังไม่ได้เยี่ยมชมเพราะเวลาจำกัด ที่จำกัดก็เพราะมัวแต่พิรี้พิไรถ่ายรูปมุมใกล้ มุมไกล แนวตั้ง แนวนอน ซูมเข้าซูมออก จนแทบจะตีลังกาลงไปเก็บภาพตามประสาผู้มีศิลปะในหัวใจนั่นเองแหละ ไม่ใช่อะไร เมื่อเวลาหมดสองสาวก็เลยได้แต่หมายมั่นจะกลับมาอีกครั้งเมื่อโอกาสอำนวย

จนแม้เมื่อออกเดินทางพ้นเขตวัดท่าซุงมาแล้วก็ตาม ความรู้สึกแรกยามได้เห็นปูชนียสถานอันงดงามอลังการของวัดท่าซุง ยังกระจ่างชัดในความทรงจำ สะท้อนให้ผู้มาเยือนได้ประจักษ์ถึงพลังศรัทธามหาชน ที่มีต่อพระพุทธศาสนาที่ "หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ" เผยแผ่

จริงแท้อย่างคำละตินที่ว่า “ชีวิตนั้นสั้น..แต่ศิลปะนั้นยืนยง (Ars longa, vita brevis) ” เพราะไม่ว่ากาลเวลาจะล่วงเลยไปเพียงใด งานศิลป์ชิ้นนี้จะยังคงอยู่ให้ได้เห็นได้ชื่นชม ยิ่งเป็นพุทธศิลป์บนแผ่นดินไทยอันเป็นแผ่นดินทองของพระพุทธศาสนาแล้ว สิ่งที่เห็นยิ่งมิใช่เพียงแค่ศิลปะที่สะท้อนความประณีตงดงามของใจศิลปินผู้ลงมือรังสรรค์ผลงานเท่านั้น แต่ยังสะท้อนพลังศรัทธาในพระพุทธศาสนาของผู้สร้าง ซึ่งก็คือ "หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ" และศิษยานุศิษย์ ที่มุ่งสร้างถวายเพื่อบูชาพระรัตนตรัยอีกด้วย

ความวิจิตรบรรจงสร้างของ วิหารแก้ว ปราสาททองคำ อันงดงามโดดเด่น จึงสามารถกล่าวได้ว่าเป็นของดีที่มีเพียงแห่งเดียวในเมืองไทย ที่จะดำรงคงอยู่ในรูปถาวรวัตถุเป็นมรดกแก่แผ่นดินให้ลูกหลานได้ภาคภูมิใจสืบไปอีกแสนนาน...!



สอบถามข้อมูล : สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ภาคกลาง เขต ๗ โทร. ๐ ๓๖๔๒ ๒๗๖๘-๙
การเดินทาง : ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑ ถนนพหลโยธิน แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข ๓๒ สายเอเชีย ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี ชัยนาท เลี้ยวแยกซ้ายมือเพื่อเข้าสู่จังหวัดอุทัยธานี ระยะทางประมาณ ๒๒๐ กิโลเมตร


ที่มา - www.bloggang.com/viewdiary.php?id=april500008&month=07-2007&date=17&group=7&gblog=1 17 กรกฎาคม 2550


[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
ตั้งหัวข้อใหม่

Go To Top