หนังสืออ่านเล่น เล่มที่ 8 โดย.. ส. สังข์สุวรรณ
หนังสืออ่านเล่น
เล่มที่ ๘
โดย ส. สังข์สุวรรณ
(ฉบับอินเทอร์เน็ต : จัดพิมพ์โดย..พระเจ้าหน้าที่สำนักพิมพ์เวฬุวัน)
เนื้อหาของสารบัญ เล่มที่ ๘
1. คำปรารภ
2. วิหาร ๑๐๐ เมตร
3. จุไรท่องดวงพระจันทร์
4. จุไรท่องดวงจันทร์ (ตอนที่ ๒)
5. จุไรกับราคาวัดท่าซุงและถามสร้างวิหาร ๑๐๐ เมตร
6. จุไรถามสร้างวิหาร ๑๐๐ เมตร (ต่อ)
7. ความเป็นมาของมณฑปหน้าวิหาร ๑๐๐ เมตร
1
คำปรารภ
ท่านผู้อ่านโปรดทราบ หนังสืออ่านเล่นเล่ม ๘ นี้ ก็คงมีความมุ่งหมายให้เป็นหนังสืออ่านเล่นตามเดิม ไม่ใช่ตำราเรียน เรื่องราวต่าง ๆ ที่มี จุไร
เป็นตัวแสดง และมี คุณป้าน้อย เป็นตัวพี่เลี้ยง โปรดทราบว่า จุไร และ ป้าน้อย ก็เป็นบุคคลของนิทาน ไม่มีตัวตนจริง
เรื่องราวต่าง ๆ ที่เป็นเรื่องของดวงจันทร์ก็ดี เรื่องสวรรค์เทวดานางฟ้าก็ดี เป็นเรื่องของนิทาน แต่ทว่า
เรื่องของวิหารหรืออาคารต่าง ๆ เป็นเรื่องจริง ที่นำมาเป็นนิทานก็เพื่อให้ผู้อ่านไม่เครียดเกินไป
เพราะถ้าจะเล่าความเป็นมาของวัดเนื่องในการก่อสร้าง ผู้อ่านก็จะเบื่อและเครียด จึงนำมาร่วมกับนิทาน จะได้อ่านแบบอ่านนิทาน
ไม่หนักอารมณ์ เรื่องความเป็นมาของราคาก่อสร้าง รวมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เป็นเรื่องจริง
นอกนั้นเป็นเรื่องนิทานทั้งหมด ขอให้อ่านแบบอ่านนิทาน คือ อ่านแล้วก็ผ่านไป
ในที่สุดนี้ ขออวยพรให้ท่านผู้อ่าน จงร่ำรวย มีความสุขสมหวังตามที่
ตั้งใจไว้จงทุกประการเถิด
ส.สังข์สุวรรณ
๑๒ ตุลาคม ๒๕๓๒
ll กลับสู่สารบัญ
2
วิหาร ๑๐๐ เมตร
ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย ก่อนอื่นก็ขอแจ้งให้ทราบว่าตามธรรมดานิทาน ก็เป็นเรื่องจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง ถึงแม้จะเป็นเรื่องจริง แต่หาหลักฐานไม่ได้
ก็ต้องบอกว่าเป็นนิทาน คำว่า นิทาน โบราณท่านจะแปลว่าอะไรไม่ทราบ แต่อาตมาขอตีความหมายว่า เรื่องมาจากที่ไกล
นั่นก็หมายความว่า ทบทวนกันได้ยาก แต่ว่าต่อไปก็จะขอให้บรรดาพุทธบริษัทอ่านเรื่องจริง คือ มีเรื่องจริงในนิทาน ทั้งนี้ก็เพราะว่า
ในระยะนี้มีข่าวทางโทรทัศน์หลาย ๆ ช่อง มาขอถ่ายภาพที่วัด แต่ละท่านต่างก็ประกาศด้วยความหวังดี
มีบางรายหลายท่านประกาศบอกว่า เป็นวัดพันล้าน นั่นหมายความว่า การก่อสร้างวัดนี้ ใช้เงินถึงพันล้านบาท แต่บางแห่งท่านประกาศว่า เป็นวัด ๔ พันล้าน
ฟังแล้วก็น่าปลื้มใจ บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย เพราะว่า ราคาแพงดี และก็สามารถหาเงินสร้างได้อย่างดี
แต่ความจริงมันไม่ใช่อย่างนั้น เรื่องพันล้านก็ดี ๔ พันล้านก็ดี ที่พูดมานั้น ท่านประมาณตามราคาปัจจุบัน แต่ว่าวัดนี้นะ
สร้างกันมาตั้งแต่เริ่มต้น คือว่า จริง ๆ แล้ววัดนี้ อาตมามาอยู่ใหม่ ๆ มีกุฏิอยู่ ๓ หลัง มีสภาพผุพัง มีดีอยู่หลังเดียว คือ กุฏิเจ้าอาวาส
และเจ้าอาวาสก็ไม่ใช่อาตมาเป็นเจ้าอาวาส หอสวดมนต์เก่ามีอยู่ ก็โย้ใกล้จะล้ม ศาลาการเปรียญก็เย้ ใกล้จะล้ม วิหารก็พังโล่ หลังคาโปร่งฟ้า ไม่ใช่มองเฉย ๆ
ไม่ใช่มองทะลุฝา หมายความว่า หลังคาพังมาเลยด้านหนึ่ง โบสถ์ก็แตกร้าว
ถ้าพูดถึงว่า ค่าของวัตถุในเวลานั้น เกือบไม่มีค่า อาตมามาอยู่ที่วัดนี้ ตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๑ ก็มาเริ่มช่วยสร้างหอสวดมนต์
ซึ่งเจ้าอาวาสตั้งเสาไว้ ๘ ปี (มีเฉพาะเสานะ ๘ ปี) การก่อสร้างในช่วงแรก ๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ถึง พ.ศ. ๒๕๑๖ ก็ไม่ได้ทำอะไรมาก
ได้สร้างกระท่อมอยู่หลังหนึ่ง ที่โคนต้นโพธิ์ เวลานี้ รื้อแล้ว ไปสร้างแบบไว้ในสระ แต่ว่าแบบในสระนั่นสวยกว่ามาก ต่อมาก็สร้างกุฏิตึกชายน้ำ
ซึ่งความจริงก็สร้างหนีน้ำ เพราะทราบว่าน้ำจะท่วมสูง ถ้าขืนอยู่ในกระท่อมน้ำท่วมตาย
สร้างตึกหลังนั้นก็ไม่มีทุน ทำแบบลวก ๆ ให้มันทันกับเวลาที่น้ำจะท่วม ต่อมาก็สร้างศาลาที่หลวงพ่อ ๔ องค์อยู่ เห็นศาลาเก่ามันโย้เย้มาก
เกรงว่าจะพังลงมา ก็ทำแบบลวก ๆ อีกเหมือนกัน ราคาก็ไม่แพง และในช่วงหลังต่อมาก็สร้างห้องกรรมฐานข้างตึกชายน้ำ
และก็สร้างตึกขาวด้านนอก หมายความว่า ตึกชั้นเดียว ไม่ใช่ ๔ ชั้น และก็ทางเป๊ปซี่คือ คุณประสิทธิ์ ตัณฑเศรษฐี
เวลานั้นเป็น รองผู้จัดการใหญ่ เวลานี้เป็น ผู้จัดการใหญ่ นำผ้าป่ามาทอด มาขุดน้ำบาดาลให้แสนเศษ ประมาณแสนสาม
และต่อมาท่านก็นำผ้าป่ามาช่วยในการสร้างศาลาอีกแสนห้า แต่ยอดเงินไม่แน่นอนนะ จำไม่ค่อยได้ ไม่ได้เอาตำรามาอ่าน ก็รวมความว่า ใช้เวลา ๖ ปี ไม่เต็ม ๖
ปีนัก ก็ใช้เงินไปจริง ๆ ประมาณ ๔ แสนเศษ และก็สร้างอาคารเสริมศรีอีกหลังหนึ่ง
เนื้อที่ของวัดจริง ๆ เวลานั้นหรือเวลานี้ก็เหมือนกัน เป็นเนื้อที่ของวัดเดิม ๖ ไร่ แต่ว่าเวลานี้ญาติโยมซื้อถวายเข้ามาแล้ว ๒๐๐ ไร่เศษ
การก่อสร้างจริง ๆ มาเริ่มกันจริง ๆ พ.ศ. ๒๕๑๗ เพราะว่าเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๖
ท่าน ดร.เดือน บุนนาค อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ คุณหญิงเยาวมาลย์ บุนนาค สองสามีภรรยากับคณะ นำพระพุทธรูปองค์หนึ่งมาถวาย
เป็นพระประธานในพระอุโบสถปัจจุบัน และท่านก็ให้เงินไว้หมื่นบาท เป็นทุนเริ่มต้นสร้างพระอุโบสถ
และงานจริงจังที่จะทำการก่อสร้างจริง ๆ เป็นเงินเป็นทองขึ้นมา คือ ใช้เงินใช้ทองมาก ก็เริ่มจากปีนั้น แต่ทว่าบรรดาผู้ฟัง
หรือท่านผู้อ่านทั้งหลายโปรดทราบ ราคาของในระยะนั้น มันยังไม่แพง ความจริงมันก็แพงขึ้นมาก
อย่างไม้แป (ไม้ยางหน้าสามคูณหนึ่งนิ้วครึ่ง) เวลานั้นศอกละ ๙๐ สตางค์ แต่เดี๋ยวนี้ ศอกละ ๑๒ บาท เหล็ก ๔ หุน เวลานั้น เส้นละ ๒๐ บาท เวลานี้ เส้นละ
ร้อยกว่า ก็ลองเทียบราคากัน ฉะนั้น ราคาที่บรรดาท่านทั้งหลายประกาศออกไปว่า พันล้านบ้าง ๔ พันล้านบ้าง
ก็ถือว่า เป็นราคาประเมินปัจจุบัน แต่ความจริงไม่ตรง ค่าใช้จ่ายจริง ๆ จ่ายประเภทสร้างจริงจัง เริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๑๗ ถึงสิ้นเดือนสิงหาคม ๒๕๓๒
จ่ายไปทั้งหมด (ค่าใช้จ่ายนะ ไม่ใช่เฉพาะก่อสร้างนะ) เรียกว่า จ่ายทุกอย่าง ขึ้นชื่อว่า เป็นการจ่ายก็ลงบัญชีหมด
จะกินจะใช้ เครื่องมือเครื่องไม้ก็ตาม เดินทางก็ตามทั้งหมดชื่อว่า จ่าย จ่ายทุกประเภททั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะก่อสร้าง
รวมยอดที่จ่ายจริง ๆ ๓๕๓,๓๒๗,๔๖๙ บาท ๓๖ สตางค์ นี่บัญชี เขาจดเรียบร้อย
ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า จ่ายจริง ๆ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๗ ถึงเดือนสิงหาคม ๒๕๓๒ จ่ายไปแล้วทั้งสิ้น ในการก่อสร้างบ้าง กินบ้าง ใช้บ้าง เดินทางบ้าง
ป่วยไข้ไม่สบายบ้าง ทุกอย่าง ในการจ่ายค่าอาหารพระบ้าง กระแสไฟฟ้าบ้าง
ทั้งหมด ๓๕๓,๓๒๗,๔๖๙ บาท ๓๖ สตางค์ ก็เป็นอันว่า ไม่ถึงพันล้าน ทีนี้มาว่ากันถึง การรับเงิน เงินนี่ ได้มาจากไหน
ก็ต้องขอบอกว่า บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายถวายมาเพื่อการก่อสร้างจริง ๆ ๑๙๗,๘๓๔,๙๙๓ บาท ๗๕ สตางค์
ถ้ารับตามนี้ จ่ายตามนี้ละก็ขาดดุลไป ๑๕๕,๔๙๒,๔๗๕ บาท ๖๑ สตางค์ แต่ความจริง เงินขาดดุลนี้ไม่ใช่เงินเอามาจากไหน
ก็เป็นเงินที่บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทผาติกรรมสังฆทานบ้าง บริจาคเรื่องวัตถุมงคลบ้าง และทำบุญไม่จำกัดประเภทบ้าง
คือวางเฉย ๆ มาถึงก็ใส่บาตรบ้าง มาถึงก็ประเคนบ้าง ใส่ซองประเคนบ้าง ไม่บอกว่า ทำบุญอะไร เอามารวมกัน และอีกส่วนหนึ่งก็คือ ถวายไว้ใช้ส่วนตัว
ว่า ส่วนนี้ขอถวายหลวงพ่อไว้ใช้ส่วนตัว
รวมเงิน ๔ ประเภท คือ
๑. สังฆทาน
๒. วัตถุมงคล
๓. ทำบุญไม่จำกัดประเภท ถวายเฉย ๆ
๔. ถวายไว้ใช้ส่วนตัว
รวมแล้วได้เงิน ๑๕๕,๔๙๒,๔๗๕ บาท ๖๑ สตางค์ ทั้งหมดนี้ว่ากันถึง สิ้นสิงหาคม ๒๕๓๒ ไม่มีหนี้สิน เป็นอันว่า
หนี้ในช่วงนี้ไม่มี ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่า อาตมาใกล้ตายเต็มที เวลานี้งานจริง ๆ ก็ทำแบบเรียกว่า พอไปได้
ค่อย ๆ พาย ค่อย ๆ แจว ค่อย ๆ ถ่อ บางครั้งก็ถึงขั้น ปักหลัก หยุดเฉย ๆ ก็มี ถ้าเงินไม่พอจ่าย จะมากเกินไปก็หยุดพักชั่วคราวบ้าง ผ่อนช่างเสียบ้าง
เวลานี้รู้สึกว่างานช้าลง เพราะเกรงว่า ถ้าตายในช่วงที่มีหนี้มาก ๆ
จะเป็นภาระหนักกับบรรดาพระสงฆ์ที่อยู่รับภาระเบื้องหลัง ทีนี้ก็มาคุยกันเรื่อง วิหาร ๑๐๐ เมตร วิหาร ๑๐๐ เมตรนี่ บรรดาญาติโยมพุทธบริษัท หรือหลาย
ๆ ท่านสงสัยกันเหลือเกินว่าสร้างขึ้นมาได้อย่างไร
มีหลายท่านพยากรณ์ราคา (เอา ราคาเยอะเสียอีกแล้ว) บางท่านถามว่า ถึง ๑๐๐ ล้าน ไหมครับ บางท่านถามว่า ถึง ๗๐ ล้าน ไหมครับ บางท่านก็ถามว่า ถึง ๓๐
ล้าน ไหมครับ แต่ท่านที่ถามว่า ๓๐ ล้าน บอกว่า สร้างไม่ได้แน่
แต่อาตมาก็ขอบอกว่า ทั้งหมดจริง ๆ ราคา ๑๐ ล้านเศษ ไม่ใช่ ๓๐ ล้าน ไม่ใช่ ๑๐๐ ล้าน ไม่ใช่กี่ร้อยล้าน ไม่ใช่อย่างนั้น
ราคาจริง ๆ ๑๐ ล้านเศษ ๆ เฉพาะตัวอาคารที่เป็นคอนกรีตทั้งหมด รวมช่อฟ้า หน้าบัน พระพุทธรูป
อะไรต่ออะไรหมดเสร็จ ไม่เกิน ๗ ล้านบาท และก็ค่าหินอ่อนอีก ๑,๒๖๔,๓๔๑ บาท ค่ากระจกที่ปิด ๔,๔๗๗,๗๘๕ บาท รวมค่าหินอ่อน กับค่ากระจกก็ ๕,๗๔๒,๑๒๖ บาท
และต่อไปก็ค่าแรงงานอีกไม่มากนัก เพราะแรงงานนี่ เอาคนใกล้ ๆ ตำบลนี้มาทำงานกัน
เป็นอันว่า ช่างก่อสร้าง ๓ ช่าง ๓ กลุ่ม หัวหน้าช่างจบ ดุษฎีบัณฑิตประถม คำว่า ดุษฎีบัณฑิตประถม ก็เพราะว่า
ในสมัยนั้นวิชาการที่บังคับให้เรียนในโรงเรียน บังคับจบกันแค่ ป.๔ ฉะนั้นทั้ง ๓ ช่างนี้จบ ป. ๔ ทั้งหมด
เรียกว่า เรื่องประถมนั้นไม่ต้องเรียนกันอีก เป็น ดุษฎีบัณฑิต ไปเลย เขาเรียกว่า ดุษฎีบัณฑิตประถม และสำหรับช่างปั้น ช่างทำความสวยงาม คือ นายประเสริฐ
แก้วมณี กับ นางจำเนียร แก้วมณี ภรรยา สามีเป็นช่างปั้น
ภรรยาเป็นช่างประดับ ทั้ง ๒ คนนี่ เก่งมาก ก็จบชั้นเดียวกัน คือ ป.๔ เหมือนกัน เป็นอันว่า ช่างที่นี่เป็น ช่าง ป.๔ และเจ้าอาวาสเองก็เป็นคน ป. ๔
เหมือนกัน
ทีนี้มาว่าถึงการเริ่มต้น ในการสร้างวิหาร ๑๐๐ เมตร ขอเล่าตามความจริง นั่นก็คือว่า เดิมทีเดียว ไม่ได้คิดจะสร้างวิหาร ๑๐๐ เมตร ใหญ่โตมโหฬารแบบนี้
การสร้างมีอย่างนี้ จะเล่าให้ฟัง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๘ กับ พ.ศ. ๒๕๒๙ สองปีนี่
อาตมาเกือบจะเอาชีวิตไม่รอดหลายครั้ง อยู่ในขั้นที่เรียกว่า เข้าตรีฑูต หรือดีไม่ดีก็เป็นจตุฑูต ตรีฑูต แปลว่า สาม จตุฑูต แปลว่า สี่ แต่ฑูต
ไม่ทราบว่าเขาเรียกว่าอะไร หมายความว่าอย่างไร อยู่ในสภาพที่เรียกว่าไม่ควรจะมีชีวิตอยู่
แต่ว่าเวลานั้น ได้คุณหมอ คือ ท่านศาสตราจารย์นายแพทย์ประสิทธิ์ ฟูตระกูล ท่านสงเคราะห์ให้การรักษาเป็นอย่างดี เมื่อมีทุกข์เมื่อไร
หมอประสิทธิ์ถึงเมื่อนั้น ขณะที่ปัสสาวะไม่ออก มันคั่งหนัก ท้องโป่ง คุณหมอประสิทธิ์ก็วิ่งมาจากกรุงเทพฯ อุตส่าห์สวนให้
ก็รวมความว่า ได้รับความเมตตาปรานีจากท่านมาก และก็อีกหลาย ๆ หมอ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๙ อาตมาก็มีความรู้สึกว่า เราคงไม่รอดในปีนี้แน่
เพราะสภาพของร่างกายอยู่ในสภาพที่ใช้อะไรไม่ได้เลย ดูด้านประสาททั้งหมด หมดสภาพ
จึงนั่งนึกถึงพระพุทธเจ้า แต่ความจริงเรื่องพระพุทธเจ้า นึกถึงท่านทุกวัน
นึกถึงภาพพระพุทธรูปที่แทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบ้าง บางครั้งก็ปรากฏเป็นนิมิตบ้าง ความชื่นใจก็ปรากฏ แต่มานึกในใจว่า เราอยากจะทำพระใหญ่ ๆ
แต่ไม่ใหญ่มากนัก พอเป็นนิมิตติดใจให้หนัก เพื่อเกิดความชุ่มชื่น พระยืนสัก ๓๐ ศอก และก็พระนั่ง หน้าตักสัก ๘ ศอก ช่วงนั้นพระยืน
๓๐ ศอก สร้างแล้วกำลังสร้าง ไปคิดถึงว่าพระนั่ง เราจะมีเงินที่ไหนไปสร้าง
ต่อมาก็มีท่านผู้มีศรัทธา คือ คุณสุชาดี มณีวงศ์ เจ้าของรายการกระจกหกด้าน ช่อง ๗ เวลาประมาณ ๑๙ นาฬิกาเศษ
เป็นเวลาของท่านทุกวัน คุณสุชาดีนี่มาทำบุญหลายอย่าง ศรัทธาสูงส่งมากมีกำลังใจสูง แต่ทว่ามีเงินก้อนหนึ่ง ซึ่งเป็นเงินก้อนใหญ่มาก คือ จำนวน ๑๐๐,๐๐๐
บาท
ท่านจัดเช็คมาถวาย ก็ถามเธอว่า ต้องการให้ทำอะไร คุณสุชาดีก็บอกว่า สุดแล้วแต่หลวงพ่อ ตามอัธยาศัย ทำอะไรก็ได้ ก็จึงบอกคุณสุชาดี ว่า
เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน อาตมาคิดจะสร้างพระหน้าตัก ๘ ศอก จะตั้งไว้ในเขตพื้นที่ ๑๐๐ เมตร ด้านหลัง จะทำแท่นสูง ๆ หน่อย
แล้วก็จะทำหลังคา ๔ เสา มีหลังคามุงเป็นสังกะสี คิดว่าเงินแสนบาทคงพอ คุณสุชาดีก็บอกว่า ตามใจอะไรก็ได้ทั้งนั้น ขอให้ทำก็แล้วกัน ต่อมา คุณจันทนา วีระผล ทราบข่าว ก็เซ็นเช็คให้อีก ๑๐๐,๐๐๐ บาท
เป็นเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท จะสร้างพระหน้าตัก ๘ ศอก อาตมาก็คิดว่า เอาละ ถ้าได้อีก ๑๐๐,๐๐๐ บาท แทนที่จะใช้หลังคาสังกะสี ก็ทำหลังคาให้มันดีสักหน่อย
มีช่อฟ้า หน้าบัน เอาเล็ก ๆ ราคาก็ไม่แพงมากนัก
ถ้าหากว่าไม่พอ มีญาติโยมทั้งหลายที่มีจิตเมตตาถวายเป็นส่วนตัว ก็จะร่วมด้วย คือ ต้องร่วมกันแน่ และขณะที่คิดว่าจะสร้างพระหน้าตัก ๘ ศอก และพระยืนสูง
๓๐ ศอก ก็นึกในใจว่า ขอพระได้โปรดเมตตา ถ้าร่างกายมันจะตายเวลานี้ ก็ให้มันตายไป
เพราะกำลังใจจริง ๆ ไม่อยากจะอยู่ เพราะร่างกายมันเต็มไปด้วยความทุกข์ แต่ถ้ามันยังไม่ตาย ก็ขอให้มีโอกาสได้สร้างพระหน้าตัก ๘ ศอก
องค์หนึ่ง จิตใจจะได้ชุ่มชื่น นึกถึงพระ ใจก็สบาย
ต่อมาเวลาไม่นานนัก ล่วงมา จำได้ว่า เดือนธันวาคม จะเป็น พ.ศ. ๒๕๒๙ หรือ ๒๕๓๐ จำไม่ได้แน่ มาดูป้ายที่หน้าวิหารก็แล้วกัน เวลานี้ที่กำลังพูดนี่
กำลังป่วย ก็หารือกับพระท่านว่า สำหรับพระ ๘ ศอก เราจะสร้างที่ไหนกันดี จึงจะเหมาะ
พระท่านก็บอกว่า ถ้าสร้างที่ร้อยไร่ มันลึกไปข้างหลัง และเป็นที่ลุ่ม ไม่ดี ทางที่ดีก็ซื้อที่ของ จ่าเพราะ ซึ่งติดกับหลังโรงพยาบาล เนื้อที่ติดกับวัด
ถ้าซื้อที่ตรงนั้น และสร้างตรงนั้นจะเหมาะดีมาก ในเวลานั้นก็ปรากฏว่า จ่าเพราะท่านกำลังขายกันอยู่
เลยกราบเรียนกับพระท่านบอกว่า เขากำลังขายกัน มีคนมาขอซื้อ เขาขายกันไร่ละสี่หมื่น ถ้าคิดเป็นงานก็งานละหนึ่งหมื่น พระท่านก็บอกว่า ไม่เป็นไรหรอก
ไปเรียกเขามาถามเถิด ฉันจะแนะนำให้เขาช่วย ให้ขายให้
ก็ไปเชิญจ่าเพราะมา ท่านก็ดี ท่านบอก ไอ้เรื่องจะขายไม่เป็นไรครับ ถ้าหลวงพ่อต้องการผมก็จะให้ทั้งหมด คือ ขายให้
และลดราคาลงจากไร่ละสี่หมื่นลงมาบ้าง และก็แถมถวายพิเศษ เนื้อที่ประมาณ ๓ ไร่เศษ ให้อีกด้วยในพื้นที่นั้น
ก็เป็นอันว่า เนื้อที่ ๒๗ ไร่ จ่าเพราะคิดจริง ๆ ประมาณ ๒๔ ไร่ ก็ถือว่า ท่านเป็นนักบุญ
เมื่อได้ที่มาแล้ว ในระหว่างนั้นเป็นระหว่างเข้าพรรษา ต่อมาถึงเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. นั้น (พ.ศ. ไปดูที่หน้าวิหารนะ ถ้าใครสงสัย) ก็ปรึกษาพระท่านอีก
พระท่านบอกว่า ถึงวาระที่จะทำได้แล้ว ก็บอกว่า ผมป่วยมาก เดินไม่ค่อยจะไหว ท่านบอกว่า ไม่เป็นไร นั่งรถไป ไปถึงที่ตรงนั้นก็ลง ฉันจะแนะนำให้
เมื่อท่านว่าอย่างนั้นก็ไปตามท่านสั่ง ในเมื่อเป็นความประสงค์ของพระ พระองค์นี้เป็นพระวัดไหน ไม่ต้องถามนะ
ถ้าขืนถามเข้า เดี๋ยวจะไปกวนใจท่าน ท่านเป็นพระที่มีความสำคัญมาก มีความรู้มากจริง ๆ และพูดอะไรไม่เคยผิด เมื่อไปถึงที่ตรงนั้น ก็เลยถามท่านว่า
พระจะสร้างตรงไหนครับ ท่านก็บอกว่า เอาตรงนี้ก็แล้วกัน พระอยู่ตรงนี้นะ และถามว่าอาคารจะทำอย่างไรครับ
ปักเสา ๔ เสา หรือปักเสา ๘ เสา คือเสาร่วมใน กับเสาระเบียง ท่านบอกว่า ไม่ควรหรอก เพราะว่าเวลานี้คุณมีทุน ๒๓๐,๐๐๐ บาทเศษ มีคนทำบุญเข้ามาอีก
แต่ว่าต่อไปข้างหน้า เมื่อเริ่มทำเข้า พระองค์นี้มีความสำคัญมาก (ท่านหมายถึง พระพุทธรูปนะ ที่จะทำ) ให้ตั้งตรงนี้นะ
เพราะตรงนี้ แต่เดิมทีเดียวโบราณเขาฝังพระบรมสารีริกธาตุไว้ มีพระบรมสารีริกธาตุเก่าอยู่ทับลงไป
คนจะได้ไม่ทำลายพระบรมสารีริกธาตุ และไม่เดินข้ามไปข้ามมา เอาห้องพระอยู่ตรงนี้ และกำหนดตัวอาคาร ไม่ใช่โรงเฉย ๆ ทำยกพื้นขึ้นมาประมาณ ๑ เมตร
ยกเสาขึ้นมาประมาณ ๑ เมตร แล้วก็ทำพื้น เอากว้าง ๒๘ เมตร เอายาว ๑๐๐ เมตร พอท่านบอกอย่างนี้ก็ลมขึ้นเลย (ลมขึ้น คือ ลมหายใจออก ลมลง คือ ลมหายใจเข้า)
ก็เป็นอันว่า งง พอท่านบอกอย่างนี้ ก็ งงติ้ว คิดอย่างไรกันแน่ จะไปได้หรือ
แต่ว่า ก็ลองฟังท่านดู ท่านอธิบายให้ฟังว่าทำอย่างนี้นะ ยังไม่ต้องใช้เงินมาก เรามีเงิน ๒๓๐,๐๐๐ บาทเศษ เอาแค่เงินที่มีอยู่ก่อน อันดับแรก
เรียกช่างมาตีผัง กำหนดอาคารแบบนี้ เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตั้งต้นจากทิศตะวันตกหันทางยาวไปทางทิศตะวันออก
ตอนที่ตั้งปกตินี่ เดิมทีเดียวอาตมาจะเอายาวจากเหนือไปใต้ จากใต้ไปเหนือ แต่ท่านบอกว่า อย่างนั้นไม่ควร ต้องเอายาวไปทิศตะวันออก ตั้งต้นทางทิศตะวันตก
และตรงนี้สร้างพระพุทธรูปหน้าตัก ๘ ศอก
อันดับแรก ยังไม่ต้องทำอะไรมาก ให้ช่างเขาตั้งตอหม้อก่อน และก็ทำพื้น เฉพาะจริง ๆ ที่พระพุทธรูปจะตั้ง หลังจากนั้นก็ให้ช่างปั้นพระพุทธรูปเริ่มทำ
เราก็ยกเสาตรงนี้ ตรงที่มีพระพุทธรูป ยกเสาขึ้น และก็เทพื้นแบน ๆ ชั้นบน แทนที่จะเป็นหลังคา
ก็เป็นพื้นอีกชั้นหนึ่งไม่เอามาก เอาห้องสั้น ๆ และเสาที่ตั้งไปนั่น ถ้าใครยังไม่ให้สตางค์มาเรายังไม่สร้างต่อ เมื่อท่านบอกอย่างนั้น ก็ตัดสินใจว่า
โอ
ถ้าอย่างนี้ไปรอด เราไม่ทำวู่วาม ไม่หักโหมเกินไป ในที่สุด ก็สั่งช่างตีผังทำตามนั้น
ต่อมา เมื่อญาติโยมพุทธบริษัททราบเข้า ต่างคนต่างก็ช่วยกันคนนั้นก็ทำบุญ คนนี้ก็ทำบุญ ทำบุญสร้างพระหน้าตัก ๘ ศอก
ทำบุญสร้างวิหารพระ ๘ ศอก ต่างคนต่างทำบุญ เงินก็ค่อย ๆ มา พื้นก็ค่อย ๆ ขยายไป ๆ
ในที่สุด ภายใน ๒ เดือน พื้นของอาคาร ๑๐๐ เมตรก็เต็ม เป็นตัวอาคารภายในก่อน ยังไม่มีเฉลียง หลังจากนั้นญาติโยมพุทธบริษัทไป ๆ มา ๆ เมื่อเห็นเข้าก็ชอบใจ
ต่างคนต่างให้ต่างคนต่างถวาย ก็ค่อย ๆ สร้างตั้งเสาสูงขึ้น
จะเห็นว่า ในช่วงแรกจะมีช่างไม่กี่คน เพราะ ถ้าช่างมากจริง ๆ หาสตางค์ไม่ทัน
อาศัยที่บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทเมตตาเรื่อย ๆ ก็ทำไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งการตั้งเสาเสร็จ และกำแพงก็ก่อ พื้นชั้นบนก็ก่อ
ต่อมา พระที่เคยแนะนำ ท่านก็มาหา เมื่อท่านมีเวลาว่าง ก็มาเยี่ยม แล้วท่านก็บอกว่า คุณ เป็นอย่างไร พอหาทันไหม ก็บอกว่า ถ้าสร้างเบา ๆ แบบนี้พอไหวครับ
ญาติโยมก็มีเมตตามาก ช่วยกัน และต่างคนต่างก็ช่วย ความจริงเงินทองไม่ได้มีมามากนัก
บางคนก็ ๕ บาท ๑๐ บาท ๒๐ บาท ๓๐ บาท ๑๐๐ บาทบ้าง ๑,๐๐๐ บาท นาน ๆ ที นาน ๆ มี ๑๐,๐๐๐ บาทครั้ง ก็รวมความว่า ของใหญ่ มาจากของเล็ก ของมาก มาจากของน้อย
ต่อไปก็ค่อย ๆ ทำดาดฟ้าเสร็จ ทำกำแพงเสร็จ
ท่านก็บอกว่า ข้างบนทำทรงไทยนะ เอาเล็ก ๆ สร้างแบบธรรมดา ๆ อย่าให้วิจิตรพิสดารนัก เอาแบบหลังคาชั้นเดียว คือว่า
ไม่ต้องสวยสดงดงามอะไร ใช้สัดส่วนตามนี้ ท่านก็บอกสัดส่วนให้
บอกว่า ทำเป็นมุข ๓ มุข เป็นยอด ๓ ยอด หมายถึง เป็นการบูชาพระไตรสรณาคมน์ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
เมื่อสร้างหลังคาเสร็จ เรื่อย ๆ มา ทีนี้เพิ่มช่างอีกนิดหนึ่ง รู้สึกว่าญาติโยมให้มากขึ้น พออาคารโตขึ้นญาติโยมก็ให้มากขึ้น
ต่อมา ท่านก็บอกว่า คนที่มาที่นี่ ไม่มีใครเขานั่งแต่ในวิหารอย่างเดียวนะ เขาจะต้องมีที่โปร่งให้ด้วย ควรทำเฉลียงออกไปอีก ๖ วา
(กว้าง ๑๒ เมตร) ยาวเท่าตัวอาคาร เพราะคนไปคนมา เขาอยากโปร่ง เขาจะได้พักข้างนอก
หรือบางคนเสร็จภารกิจบ้าง แต่เพื่อนยังไม่เสร็จภารกิจ คนที่เสร็จแล้ว ก็ไปพักคอยข้างนอก จะได้มีความสุข หลังจากนั้น เมื่อท่านสั่ง ก็ทำ ค่อย ๆ ทำไป
เวลาทำไม่รุกรานนัก เพราะถ้ารุกราน หาเงินไม่ทัน เพราะหลังนี้คิดในใจแล้ว ไม่อยากเป็นหนี้
เพราะเป็นหนี้มาก อาการใกล้ตายเต็มที ถ้าตายลงไปเวลานั้นเสร็จ พระเจ้าที่อยู่เบื้องหลังลำบากหมด เขาก็จะมาทวงสตางค์พวกเธอ พวกเธอก็จะหาให้ไม่ได้
ก็จะลำบาก เลยทำแบบทะนุถนอมงานช้า ๆ เมื่อสร้างเฉลียงเสร็จ
ท่านก็บอกว่า เอาอย่างนี้ดีไหม พระพุทธรูป เป็นพุทธบูชา เราบูชา ท่านเป็นองค์แทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
พระพุทธรูป ให้เป็นพระพุทธชินราช ดีไหม
เป็นอันว่า ท่านสั่งแบบปรึกษา ความจริงเป็นคำสั่งของท่าน แต่ฟังแล้ว ลีลาเหมือนกับปรึกษา ก็เลยกราบเรียนท่านบอกว่า ดี ท่านบอกว่า
ถ้าอย่างนั้นให้ช่างเขาทำเป็นพระพุทธชินราช จะสวยงามดี เอ้า
ว่าอะไรก็ว่าตามกัน
เพราะว่า ท่านพูดมา ท่านบอกมาไม่ผิดจริง ๆ พระองค์นี้ ถ้าใครไปพบเข้านะ อย่าบอกว่า อาตมาบอกนะ แต่ว่าอยู่ที่ไหนไม่ยืนยัน
เพราะว่า ท่านห้ามบอกสถานที่ของท่าน แต่บังเอิญโชคดี ไปพบท่านละก็ ทุกอย่าง ท่านบอกไม่ผิด ถ้าเราถวายความเคารพด้วยความจริงใจ
หลังจากท่านสั่งทำพระพุทธรูปแล้ว คือ กำลังทำพระ ท่านก็บอกว่า ห้องพระนี่ เฉพาะเพดานที่พระพุทธรูปอยู่ คือ ตั้งพระพุทธรูป เราปิดกระจกหน่อยดีไหม
จะได้เป็นเงาสะท้อนขึ้น มองสูง ๆ
ในเมื่อท่านแนะนำแบบนั้นก็บอกว่า เอ้า
กระจก ก็ติดเป็นกระจก เพราะท่านบอกให้ปิดกระจกก็ปิด ซื้อกระจกเขามา ในตอนต้น กระจกเงาไม่ค่อยจะดีนัก ก็พบอย่างไร
ก็ซื้ออย่างนั้น เพราะคนไม่มีสตางค์
ซื้อเขามากล่องละ ๗,๕๐๐ บาท ต่อมา ก็มาพบกระจกที่มีเงาดีมาก กล่องละ ๘,๕๐๐ บาท เมื่อพบเข้าแล้ว ก็สั่งซื้อกระจก ซื้อแบบ ๘,๕๐๐ บาท เป็นพื้นฐาน
เอามาทีละกล่อง ค่อย ๆ ปิดไปทีละน้อย ๆ
ในที่สุด ตรงเพดานพระก็มีกระจกแพรวพราว เป็นเงาดี ท่านก็บอกว่า เอาอย่างนี้ดีไหม ห้องพระที่เป็นผนังนี่ ปิดกระจกเสียให้รอบตัว เต็มห้อง
ก็เลยกราบเรียนท่านว่า ถ้ามีคนเขามาทำบุญเงินไม่คั่น งานก็ไม่หยุด
ท่านก็เลยบอกว่า เอาอย่างนี้ซิ การจะทำงานนะ ต้องบอกราคาของเขา เราทำงุบงิบอย่างนี้ ก็ไม่มีใครเขารู้ เขาก็หนักใจ กระจกเวลานี้เราใช้อย่างดี กล่องละ
๘,๕๐๐ บาท ในกล่องใหญ่ ก็มีกล่องเล็กอยู่ ๑๐๐ กล่อง
ก็เป็นอันว่า ราคากระจกกล่องเล็ก คือ กล่องละ ๘๕ บาท บอกญาติโยมเขาอย่างนี้ ใครจะรับคนละกี่กล่องก็ได้ ตามใจชอบ คนละกล่อง คนละ ๒ กล่อง หรือ ๔ คน ๑
กล่องก็ใช้ได้ เมื่อได้บทอย่างนี้ ท่านเตือนให้ เวลานั้นก็ป่วยคิดอะไรไม่ออก
ก็เป็นอันว่า ตกลงตัดสินใจตามนั้น ก็จัดบอกบุญเป็นกล่อง ๆ คราวนี้รู้สึกว่า ญาติโยมดีใจมาก รับกันทั่วฐานะ ไม่ว่าใคร ต่างคนต่างก็รับ
เห็นที่ปิดแล้วก็ชอบอกชอบใจ ต่างคนต่างรับ แล้วต่อมามีญาติโยมพุทธบริษัทถามว่า เสาที่ปิด คือ ท่านบอกว่า ปิดห้องพระแล้ว ลองปิดเสาดูซิ มันสวยไหม
ก็เลยนึกขึ้นมาได้ว่า เห็นที่เชียงใหม่กับลำพูน เขาปิดเสาโบสถ์เสาวิหาร สวย ๆ แวววาวดี นึกชอบใจมานาน พอท่านพูดขึ้นมาก็นึกออก บอกว่า ดีด้วยครับ
เมื่อขณะที่ปิดไปแล้ว ๒-๓ ต้น ก็มีญาติโยมพุทธศาสนิกชนช่วย
ร่วมกันซื้อกระจก ก็ให้คุณนิรัตน์ช่วยคิดราคา คุณนิรัตน์ เลาหะสุรโยธิน คนนี้ช่วยงานก่อสร้าง ตอนหลังช่วยมาก งานประดับประดาปิดกระจก
การซื้อของก็ถูกลง เพราะ พ่อค้า ซื้อของพ่อค้า ถูกลงมาก
แกช่วยวัดได้ดีมากช่วยวัดจริง ๆ หลายล้าน ลดไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศาลา ๔ ไร่ลดไปล้านกว่า ศาลา ๑๒ ไร่ นี่ลดค่าของไปได้
ความจริงไม่ใช่ให้ลด แต่ว่าการซื้อของ เขาทำอย่างนี้ อย่างพวกเรา ก็ไปเจอะกับตัวแทนของบริษัท ของเขาพบตัวแทนบริษัท
ลดราคาแล้วยังไม่พอใจ ไปหาผู้จัดการ เขาจะซื้อด้วยเงินสด ในเมื่อผู้จัดการบอกราคาลดแล้ว ยังไม่พอใจ ไปหาเจ้าของบริษัทห้างร้านจริง ๆ เลย
ทางนั้นก็ลดลงมาให้อีก ก็รวมความว่า ได้ลดลงมาก
ตอนนี้ให้คุณนิรัตน์ลองคิดราคาเสา ค่าเหล็ก ค่าปูน ค่าทราย ค่าแรงงาน ค่ากระจก ค่าแรงงานปิด ทั้งหมด ต้นละเท่าไร คุณนิรัตน์ก็คำนวณตามความเป็นจริงว่า
ต้นละ ๑๒,๐๐๐ บาท พอทราบว่าต้นละ ๑๒,๐๐๐ บาท
บรรดาญาติโยมพุทธบริษัท ทีนี้ต่างคน ต่างก็เป็นเจ้าของเสากัน หลายคนเป็น ๑ ต้นก็ได้ ไม่จำกัด ก็รวมความว่า เมื่อเสาแพรวพราวขึ้น ตอนนี้ก็มาถึงข้างฝา
ปิดบ้างแล้วบางฝา หลัง ๆ พระพุทธรูป คนนั้นก็ชอบ คนนี้ก็ชอบต่างคนต่างซื้อให้ ต่อมาฝาก็เสร็จ ภายในเสร็จ
ก็ภายนอก ทีแรกจะปิดแค่เล็กน้อย ปิดแค่มณฑปบนหลังคา และช่อฟ้า หน้าบันนิดหน่อย แต่ทว่าเมื่อทำเข้าแล้ว บรรดาท่านพุทธบริษัท ต่างคนต่างเห็นชอบ
ต่อคนละนิด ต่อคนละหน่อย ผลที่สุด เต็มหลัง
รวมความว่า วิหาร ๑๐๐ เมตร ที่แพรวพราวเป็นระยับขึ้นมา การสร้างจริง ๆ มาจากการเริ่มต้นนิดเดียวคือจากเงินของ คุณสุชาดี
มณีวงศ์ เจ้าของรายการกระจกหกด้าน ช่อง ๗ สี และของคุณจันทนา วีระผล สองท่านนี้ให้คนละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท เริ่มต้น
แต่ความจริง ตอนแรกไม่คิดว่าเริ่มต้น คิดว่า ทำกันจบแค่ ๒๐๐,๐๐๐ บาท คือ ปั้นแท่นแล้ว ก็ปั้นพระ เมื่อปั้นพระเสร็จ ก็ทำอาคาร ๔ เสาปักขึ้นไป
เป็นเสาร่วมใน และก็ปักอีก ๔ เสา เป็นเสาร่วมนอก ทำหลังคาให้มีช่อฟ้า หน้าบันเล็กน้อย เท่านั้นพอ
แต่ ไป ๆ มา ๆ ด้วยบุญบารมีของบรรดาญาติโยมพุทธบริษัท ต่างคนต่างก็คิด ต่างก็ช่วยกัน จนกระทั่งวิหารหลังนี้เสร็จ ราคาจริง ๆ ไม่แน่นอนนัก
กะโดยประมาณว่า เฉพาะตัวอาคารที่ยังไม่ประดับรวมช่อฟ้า หน้าบัน พระพุทธรูป เสร็จทั้งหมดคงไม่เกิน ๗,๐๐๐,๐๐๐ บาท
แล้วก็ราคาหินอ่อนที่ปูทั้งหมด เป็นเงิน ๑,๒๖๔,๓๔๑ บาท ค่ากระจกทั้งหมด ๔,๔๗๗,๗๘๕ บาท รวมค่ากระจกและค่าหินอ่อนแล้วเป็นเงิน ๕,๗๔๒,๑๒๖ บาท
กับค่าแรงงานอีกบ้างพอสมควรที่ยังขาดไป
เป็นอันว่า วิหารหลังนี้ เสร็จด้วยความดีของบรรดาญาติโยมพุทธบริษัท ฉะนั้น ของที่บรรดาท่านทั้งหลายที่รวมกันคนละนิดคนละหน่อย
อย่างกระจกนี่ บางท่านก็ช่วย ๑ กล่อง บางท่านก็ช่วย ๒ คน ๑ กล่อง อย่างนี้เป็นต้น
กล่องเล็กนะ กล่องละ ๘๕ บาท ท่านก็ช่วยมากบ้าง น้อยบ้าง ส่วนใหญ่ก็คนละกล่อง ๒ กล่อง ไม่มาก ไม่หนักใจ ไม่หนักทรัพย์สิน แต่อย่าลืมว่า
คนที่มาที่นี่มาก ไม่ใช่มาวันละมาก คือ มากันทุกวัน
วันละน้อยบ้าง มากบ้าง วันละ ๒๐ คนบ้าง ๓๐ คนบ้าง ๒-๓ คนบ้าง บางทีก็เป็นร้อยคนบ้าง ทีนี้เวลามีงานหนัก ๆ อย่างงานเป่ายันต์เกราะเพชร งานกฐิน
งานเข้าพรรษา ออกพรรษา งานสงกรานต์ ญาติโยมรู้กัน ต่างคนต่างก็คนละกล่อง ๒ กล่อง
เป็นเจ้าของกระจกกันบ้าง เป็นเจ้าของทองบ้าง ทุกอย่างต่างคนต่างช่วยกัน วิหารหลังนี้เกิดขึ้นมาได้ สำเร็จรูปตามกำลังศรัทธาของบรรดาญาติโยมพุทธบริษัท
ทีนี้มาว่าถึงว่า มีอะไรบ้าง จากวิหารนี้
ความจริงเมื่อตอนก่อนพระที่แนะนำท่านก็บอกว่า มีพระบรมสารีริกธาตุตรงนี้ และให้สร้างพระพุทธรูปทับ ก็ทำตามท่าน ขณะที่ทำ ในระยะนั้น วิหารยังไม่มีหลังคา
มีแต่พื้นล่าง มีแต่เสาบน เสาพื้นบนตั้งแล้ว แต่ยังไม่เทพื้น
ในเวลากลางคืน ปรากฏว่า มีดาวขึ้นจากดิน คนที่เห็นคนแรกคือ พ.ต.พงษ์เทพ แกมานอนเป็นเพื่อนในเวลาว่าง พ.ต.พงษ์เทพเห็นก็คิดว่า
ไฟอะไรนะ แต่ไฟนี้สีน่ารัก
สีสวย สีขาวนวล ๆ โตมาก โตกว่าบาตรพระ ๒-๓ เท่า
ลอยไม่สูงนัก ไล่ ๆ กับยอดไม้ ลอยวนไปวนมาทางร้อยไร่ เธอก็ขี่มอเตอร์ไซค์ไป ค่อย ๆ ตามไป กลางคืนค่อนข้างดึก ในทัศนะแบบนี้ บรรดาท่านพุทธบริษัท
เท่าที่เคยปรากฏมา เป็นพระบรมสารีริกธาตุ และแสงโคมที่ลอยนั้น ไม่ใช่ลอยสีด้าน ๆ ธรรมดา สว่างมาก
และอาการอย่างนี้ย่อมปรากฏกับคนเยอะ คนเห็นกันมาก ที่พูดนี่ไม่ใช่โฆษณานะโยมนะ พูดกันตามความเป็นจริงว่าเขาเห็นกัน และก็การสร้างวิหารหลังนี้
ความจริงไม่ใช่สร้างแต่วิหาร ก็ต้องสร้างอาคารรอบ ๆ หลังวิหารออกมา เป็นหอพักนักเรียนสตรี
เพราะนักเรียนสตรีเธอไม่ยอมไปพักหอพักข้างนอก มันไปพักใกล้กับผู้ชาย บางคนเขาอาจจะมองในด้านไม่ดีนัก เธอขอพักข้างใน และแยกมาจากพระ นี่ไกลกัน
และต้องทำรอบ ๆ อาคาร
ทีนี้ พระพุทธรูป ที่ตั้งรอบวิหาร ๑๐๐ เมตร ด้านหน้า ถ้าถามว่า พระพุทธรูป ทำทำไมเยอะแยะนัก พระพุทธรูป ๔ ศอก ก็ต้องตอบว่า
ทุกอย่างที่วัดนี้ ทำตามความประสงค์ของญาติโยม
ถ้าเจตนาเต็มจริง ๆ เนื่องในการหยุดสร้าง อาตมารู้สึกเต็มมาตั้งแต่สร้างพระอุโบสถเสร็จ เมื่อสร้างพระอุโบสถแล้ว
ขณะที่สร้างพระอุโบสถ ก็สร้างโรงพยาบาลขั้นต้นด้วย พร้อม ๆ กันนั้นก็สร้างอาคารรอบ ๆ พระอุโบสถ
พอสร้างช่วงนั้นเสร็จ ก็มีความรู้สึกเต็มแล้ว พอใจอย่างยิ่ง ตั้งใจอยากจะหยุดตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา งานก่อสร้างนี่เบื่อมานานแล้ว คือ เบื่อ เบื่อจริง
ๆ มันหนัก หนักอกหนักใจ หนักทรัพย์สิน หนักทุกอย่าง มันหนักหมด
ถ้าช่างเป็นคนดีก็ดีไป ถ้าช่างเลว ๆ ก็กลุ้มใจจากช่างอีก มันก็วุ่นวายไปหมด ที่ทำไปทำไป ก็ถือว่า วัตถุ ไม่ใช่สมบัติของเรา แต่ว่า อานิสงส์
มันเป็นสมบัติของเรา และก็เป็นสมบัติของทุกคน ที่เขาทำบุญมา พระท่านก็เตือน บอกว่า ทำเพื่อเป็นการแนะนำเขา
หลังจากนั้นมา ก็มีญาติโยมพุทธบริษัท ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๑ ท่านนั้นก็จะสร้างห้องกรรมฐาน ท่านนี้ก็จะสร้างห้องกรรมฐาน
จะสร้างกุฏิกรรมฐาน อาตมาก็มีความรู้สึกว่า ถ้าหากว่าจะสร้างเฉพาะห้องกรรมฐาน คือ กุฏิเป็นไม้ ไม่ช้าปลวกก็กินหมด
ในเมื่อปลวกกินหมด มันก็เสียสตางค์กันเปล่า ๆ ก็มาคิดในใจ บอกว่า เอาอย่างนี้ก็แล้วกันนะญาติโยม ถ้าทำอาคารเป็นไม้ กับทำอาคารเป็นตึก
ตึกมีความมั่นคงกว่า แต่ราคาเท่ากัน จะเอาอะไร ญาติโยมก็สละเป็นห้องมา ตึกหรือไม้ เอาทั้งนั้น
อาตมาก็ทำเป็นตึก เพราะมันพังยาก พระพุทธรูปหน้าตัก ๔ ศอกก็เหมือนกัน ที่เรียกว่า พระชำระหนี้สงฆ์ จริง ๆ แล้ว เดิมทีเดียวไม่คิดว่าเป็น
พระชำระหนี้สงฆ์ เพราะ อาตมานึกอยากจะสร้างพระพุทธรูปหน้าตัก ๔ ศอก มาตั้งแต่เด็ก
เวลานั้นเข้าไปโบสถ์หลังไหนก็ตาม ถ้าโบสถ์หลังนั้นมีพระพุทธรูปหน้าตัก ๔ ศอกละก็ ชื่นอกชื่นใจมาก ตั้งแต่อายุ ๑๐
ปีกว่านิดหน่อย นั่งมองพระ จำภาพพระ ไม่อยากจะเลิก ก็นั่งนึกมาตั้งแต่เด็กว่า ในชีวิตของเรา จะมีโอกาสได้สร้างพระพุทธรูปหน้าตัก ๔
ศอกสักองค์ไหม
ต่อมา มาเจอะหลวงพ่อปานเข้า ท่านก็บอกว่า พระประธานหน้าตัก ๔ ศอก เขาถือว่า เป็นพระมาตรฐาน ในเมื่อมีบริเวณสถานที่อยู่ ก็ลองให้ช่างวัดดู ว่าตรงนี้
ฉันจะสร้างพระพุทธรูปหน้าตัก ๔ ศอก จะได้สักกี่องค์ ทีแรก ตั้งใจจะสร้างสัก ๒ องค์ก็พอ
แต่ช่างวัดดูแล้ว บอก ตรงนี้สร้างได้ ๒๘ องค์ ก็สั่งช่างทำ ราคาเท่าไร ช่างอย่าเพิ่งทวงสตางค์กันนะ ปูน ทราย หิน ฉันมีเสร็จ แต่เงินค่าจ้างรอ ๆ ก่อน
ช่างประเสริฐนี่เป็นคนทำ ช่างเขาบอก ไม่เป็นไรครับ หลวงพ่อมีเมื่อไร ก็ให้เมื่อนั้น
แต่ในช่วงทำ ให้ผมมีข้าวกินก็แล้วกัน เป็นอันว่า เขาก็ทำ อาตมาก็ให้ทำ
เมื่อทำไป และสร้างพระขึ้นมา ๒๘ องค์ ต่อมาญาติโยมพุทธบริษัทรู้เข้า คนนั้นก็ขอเป็นเจ้าของ คนนี้ก็ขอเป็นเจ้าของ
ตอนนี้ราคาพระแต่ละองค์ จะตั้งราคาเท่าไร
เรื่องการตั้งราคานี่ทุกอย่าง อาตมาก็ไม่ได้ตัดสินใจเอง ถ้ามีอะไรข้องใจ ก็ถามพระที่มีความเคารพ ท่านก็คิด คิดไปคิดมา ท่านก็บอกว่า ถ้าไม่ปิดทององค์ละ
๑๐,๐๐๐ บาท อาตมาก็เสียววาบ ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่า ๑๐,๐๐๐ บาท จริง ๆ แล้ว มันก็ไม่เหลืออะไรเลย
คือ ไม่ได้พูดว่าการค้ากำไรนะ เวลานั้นต้องปั้นกันขึ้นมาเอง ไม่ใช่ว่าหล่อแบบไว้ ทั้งค่าจ้างช่าง ค่าอะไรต่ออะไรเสร็จ ก็หมด ท่านบอก หมดก็หมดไป ไม่ต้องมีกำไร เป็นอันว่า คิดในใจว่า ไม่ขาดทุนบุญตัวแล้ว ก็ยอมรับ บอกญาติโยมว่า ถ้าหากว่าไม่ปิดทององค์ละ ๑๐,๐๐๐ บาท
คราวนี้เขาถามว่า ปิดทอง ก็ถามท่านอีกส่งข่าวไปหาท่าน แล้วท่านก็มาบอก ถ้าปิดทององค์ละ ๕๐,๐๐๐ บาท ทั้งค่าแรงงาน ค่าทอง ค่าสี
เสร็จ ก็อยู่ในเกณฑ์นั้น นั่นราคาในช่วงนั้นนะ บรรดาญาติโยมพุทธบริษัท แต่ในช่วงนี้ ๕๐,๐๐๐ บาท มันตึงตัวมาก ไม่ใช่ตึงอย่างเดียว มันปริ ปริไปเลย
เป็นอันว่าพระ ๒๘ องค์ เพียงไม่ถึง ๒ เดือน มีเจ้าภาพหมด อาตมาก็ เอ้า
มีเจ้าภาพแล้ว ก็แล้วกันไป เราก็ทำเท่านั้นแหละ ต่อมา เมื่อทำศาลา ๓ ไร่ขึ้น
ก็สร้างพระเพื่อตัวเองขึ้นมาอีก ในเมื่อสร้างพระเพื่อตัวเองอีก ญาติโยมรู้
ลูกสาวคุณหญิงเยาวมาลย์ทราบ ก็ขอเป็นเจ้าภาพ เพื่ออุทิศให้คุณพ่อ คุณแม่ เอาเข้าแล้ว ที่ศาลา ๔ ไร่ ก็เช่นเดียวกัน
ต่อมาญาติโยมส่งสตางค์กันมาเลยคราวนี้ ฉันขอสร้างพระ ๔ ศอก ๑ องค์ ผมขอสร้างพระ ๔ ศอก ๑ องค์ ว่ากันไปว่ากันมา มากันอีก ๑๐๙ องค์
ไม่มีที่จะสร้าง ต้องไปสร้างที่หน้าอาคาร ๑๒ ไร่ ที่หน้าอาคาร ๑๒ ไร่ จริง ๆ เกือบจะไม่พอ ในเมื่อสร้างที่นั่นแล้ว ก็ยังไม่จบ
ก็มีญาติโยมส่งสตางค์มาอีก ขอสร้างอีก เวลานี้ก็ยังมี จึงมาสร้างกันที่หน้า ๑๐๐ เมตร อีก ๖๔ องค์
ก็ยังไม่แน่ว่า จะพอเหมือนกัน ยังไม่ทราบเลย ยังไม่ได้ถามบัญชีเขาว่า เงินที่ญาติโยมที่เขาส่งมาสร้างพระนี่ กี่องค์กันแน่ ที่ยังไม่ได้สร้าง
ก็รวมความว่า ที่วัดนี้ทั้งหมด ที่ว่า ใหญ่โตมโหฬารนี่
ความจริงไม่ใช่กำลังใจของอาตมาโดยตรง กำลังใจอาตมาโดยตรง ก็แค่สร้างแค่บริเวณพระอุโบสถ กับโรงพยาบาลที่ว่า ราคาทั้งหมด
ผ่านมาแล้ว ทั้งหมด ๓๕๓,๓๒๗,๔๖๙ บาท ๓๖ สตางค์
ว่า สร้างทั้งหมด รวมสร้างตรงโรงพยาบาลด้วย รวมสร้างโรงเรียนด้วย ซื้อพื้นที่ด้วยเสร็จหมดทุกอย่าง ก็เป็นเงินแค่ ๓๕๓,๓๒๗,๔๖๙ บาท ๓๖ สตางค์
ก็มากสำหรับอาตมา ทีนี้เงินที่ถวายมาเพื่อการก่อสร้างจริง ๆ เป็นเงิน ๑๙๗,๘๓๔,๙๙๓ บาท ๗๕ สตางค์
ถ้าลบกันออกมาแล้วก็ขาดไป ๑๕๕,๔๙๒,๔๗๕ บาท ๖๑ สตางค์ ความจริง เงินนี่ไม่ได้มาจากไหน ไม่ใช่งอกเอง ที่จ่ายไปได้ทั้งหมด เพราะเป็นเงิน ๑. ผาติกรรม
สังฆทาน อันนี้ไม่น้อยเลย วัตถุมงคลก็มาก และท่านที่ทำบุญไม่จำกัดประเภท อันนี้เยอะ
และก็มีมากที่ท่านถวายไว้ใช้ส่วนตัว เดือนละหลายแสน บางเดือน ๑๐๐,๐๐๐ บ้าง ๒ แสน ๔ แสน บางเดือนถึง ๘ แสนก็มี ทุกท่านเป็นห่วง เพราะว่าสตางค์ที่ได้มา
ไม่ค่อยจะเก็บไว้ใช้ เพราะว่า ใช้ในการก่อสร้างหมด
อาตมาก็คิดเหมือนกัน ถ้าเราจะเก็บไว้ใช้ มันก็ได้ มีสิทธิ์ แต่ทว่ามันเก็บไว้มากเกินไป ก็ไม่เป็นเรื่อง นอกจากจะเก็บไว้ยืนยัน
ป้องกันทรัพย์เบื้องหลัง พระเบื้องหลังที่อาตมาตายไปแล้ว พอมีผลเลี้ยงพระต่อไปได้เท่านั้นเอง ที่หวังอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ทุนอีกประเภทหนึ่ง คือ ทุนสงเคราะห์นักเรียนอันนี้มาก บรรดาท่านทั้งหลายที่นิยมสงเคราะห์นักเรียนนี้มาก ไม่ใช่น้อย
เป็นอันว่า เริ่มสบายใจ หากว่าอาตมาจะตายเวลานี้ พระเณรก็ไม่อด คนงานของวัดก็ไม่อด
อย่างค่ากระแสไฟฟ้านี่ เดือนที่แล้วมาที่พูดนี่ เดือนกันยายน เดือนสิงหาคมนี่ จ่ายไปแล้ว ๗๐,๐๐๐ บาทเศษ ที่จริงค่ากระแสไฟฟ้านี่ก็ไม่แพง เพราะเมื่อ
เดือนตุลาคม ๒๕๓๑ องค์การไฟฟ้ามาเก็บ ซึ่งกระแสไฟต่ำกว่านี้เยอะ ๑๒๐,๐๐๐ บาทเศษ
ต่อมาปั่นไฟใช้เอง ก็เสียไปจริง ๆ ระยะต้น เดือนละ ๕๐,๐๐๐ บาทเศษ ต่อมาก็เพิ่มกระแสไฟเข้ามา อันนี้ไม่แน่นอน กำลังเพิ่มกระแสไฟให้เต็มอัตรา
เพราะอาคารที่สร้างใหม่อีกมาก ก็คิดในใจว่าจะต้องเสียค่ากระแสไฟฟ้าจริง ๆ เดือนละประมาณ แสนเศษ ๆ
อันนี้พระที่ท่านเมตตา ท่านบอกว่า เงินส่วนนี้ ที่เขาทำบุญมา เป็นเงินที่มีไว้ เพื่อยืนยันความเป็นอยู่ของพระเบื้องหลัง ท่านแนะนำอย่างไร
ก็ว่ากันไปตามนั้น หมายถึง ว่าอะไร ว่าตามกัน ถ้าถามว่า พระองค์นี้อยู่วัดไหน ก็ตอบไม่ได้เลย
เพราะท่านสั่งปิด ก็มีคนหลาย ๆ คนที่พบท่าน แต่บางทีอาจจะไม่เข้าใจในท่าน เอาละ บรรดาญาติโยมพุทธบริษัททุกท่าน วันนี้พูดไปพูดมา
ได้เรื่องได้ราวบ้างหรือเปล่า ก็ไม่ทราบ ก็สรุปแล้วรวมความว่า
ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในวัดท่าซุง ไม่ใช่กำลังใจของเจ้าอาวาสโดยเฉพาะ เป็นน้ำใสใจจริงของบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทชายหญิง
ตั้งใจทำบุญกันโดยตรง
เอาละเวลานี้ก็หมดเวลาแล้ว ขอลาก่อน ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล สมบูรณ์พูนผล จงมีแด่พุทธศาสนิกชนผู้อ่าน และผู้ฟังทุกท่าน
สวัสดี
ll กลับสู่สารบัญ
|
|
3
จุไรท่องดวงพระจันทร์
ท่านผู้อ่านทั้งหลาย ตอนนี้ก็ขอพาบรรดาท่านทั้งหลายมาพบกับ จุไร เพราะว่าจุไร หายหน้าหายตาไปนาน ทั้งนี้ก็เพราะว่า
เธอกำลังเร่งรัดในการทำกรรมฐาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กำลังเรียนหนังสือ ทั้ง ๒ อย่างนี้ควบคู่กัน โอกาสจึงไม่ค่อยจะมีมาคุยกัน แต่ว่าวันนี้จุไรว่าง
พอมีโอกาส ก็ขอนำเรื่องราวของจุไรมาเล่าสู่กันฟังดังนี้
เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๓๒ จุไร พร้อมกับ บิดาและมารดาได้พากันไปที่วัดท่าซุง อ.เมือง จ.อุทัยธานี วันนั้นเป็นวันแรก ที่วัดท่าซุงทำการเปิดวิหาร
๑๐๐ เมตร เพื่อฝึกพระกรรมฐาน เธอกับมารดาและบิดา ทั้ง ๓ คน เมื่อได้มีโอกาสบำเพ็ญกุศลเบื้องต้นในห้องรับแขกแล้ว ก็ตามพระไปที่วิหาร ๑๐๐ เมตร
ครั้นถึงวิหาร ๑๐๐ เมตร ก็นึกเอะใจว่า เอ วิหารทุก ๆ แห่ง เขาไม่มีกระจก และก็พื้น แต่ความจริง ถ้าพื้นเป็นหินอ่อน ก็เป็นของธรรมดา แต่ว่าวิหารหลังนี้ก็แปลก ใช้หินอ่อนแผ่นเล็ก ๆ เธอทราบจากพระบอกว่า หินอ่อนแผ่นเล็ก ๆ ก็เป็นเศษจากหินอ่อนแผ่นใหญ่ แต่ว่าราคาถูกลงมา
ทั้งนี้เพราะมีเนื้อที่หลายพันตารางเมตร ในเมื่อมีเนื้อที่มาก ก็มีความจำเป็นอยู่เอง ต้องใช้ของที่ราคาถูก ทั้ง ๆ ที่คิดว่าถูก ราคาก็ ล้านเศษ
ก็เป็นอันว่า เธอได้เข้าไปภายในวิหาร ๑๐๐ เมตร อันดับแรกก็ตกตะลึง เพราะภายในมีไฟช่อเต็มราว สว่างไสวมาก และทั้งเสาก็ดี ฝาก็ดี เพดานก็ดี
แพรวพราวเป็นระยับ ซึ่งไม่เคยเห็นที่อื่นมาก่อน ต่อไป ก็มีโอกาสไปมนัสการพระพุทธชินราช เป็นพระประธาน หน้าตัก ๘ ศอก
และข้าง ๆ นั้น ก็เป็นห้องพระบรมสารีริกธาตุ ก็มนัสการด้วย ขณะที่ไหว้พระพุทธชินราชก็ดี ไหว้พระบรมสารีริกธาตุก็ดี จิตใจก็ปลื้มปีติ มีความอิ่มเอิบ
ซึ้งใจ
ต่อมา เวลานั้น ก็ถึงเวลาแนะนำกรรมฐานพอดี ทว่าท่านที่มาทั้งหลายพากันถวายสังฆทานเสร็จ เธอก็บอกกับแม่ บอกว่า คุณแม่เจ้าขา
เวลานี้หลวงปู่จะสอนกรรมฐานแล้ว
ในขณะที่แม่กับพ่อได้ฟังก็ต่างคนต่างมารวมกันที่เขาเจริญพระกรรมฐาน วันนั้นจุไรเธอเลยแปลกใจอยู่เรื่องหนึ่ง ในเรื่องของกรรมฐาน เธอบอกว่า
หลวงปู่สอนพระกรรมฐานวันนี้แปลก เพราะการสอนพระกรรมฐานวันก่อน ๆ เท่าที่เคยฟังมา ไม่มีพระสูตรแทรก
แต่ว่าวันนี้ มีพระสูตรแทรก และเป็นพระสูตรที่มีความสำคัญแปลกไปกว่าอย่างอื่น อ้างอิงถึงว่า ทาน
เป็นปัจจัยให้ได้อรหันต์ในเบื้องหน้า หมายความว่า ชาติก่อนโน้นเคยให้ทานมา ผลของทาน เป็นปัจจัยให้สำเร็จพระอรหันต์ในชาตินี้
แต่ว่าท่านผู้นั้นในท้องเรื่องของนิทาน ก็มีความเป็นว่า
ท่านเป็นคนฆ่าสัตว์ คือ ฆ่านก ดักนก ยิงนก ต่อนก เอามาขาย ถ้าวันไหนเหลือ ก็เก็บไว้วันพรุ่งนี้ ย่างไว้ ถ้าเหลือมาก ๆ ย่างบ้าง
เก็บเป็นบ้าง เวลาเก็บเป็น ๆ ก็เกรงว่านกจะบินหนีไป หักแข้งนกเสียบ้าง หักกระดูกปีกบ้าง ปล่อยให้นกได้รับความทรมานเจ็บปวด ท่านก็ไม่คำนึง
เป็นแต่เพียงว่า ท่านต้องการว่า วันพรุ่งนี้ยังมีเนื้อสดของนกขายก็แล้วกัน บาปของท่านขนาดนี้ ความจริงแล้วก็ต้องลงอบายภูมิ
ในเมื่อจุไรเธอฟังไป เธอก็คิด ต่อไป พระ คือ หลวงปู่ ท่านก็บอกว่า โดยเฉพาะบุคคลคนนี้ ขอออกชื่อ นึกชื่อออกว่า ท่านติสสะ
ต่อมามีชื่อต่อข้างหน้าว่า ปูติคัต ก็รวมชื่อเดียวกันว่า ปูติคัตติสสะ ซึ่งแปลเป็นใจความว่า ท่านติสสะที่มีร่างกายเน่า
เมื่อท่านติสสะมีร่างกายเน่า ขณะที่เป็นพรานนก ฆ่านกทุกวันเป็นประจำ เพราะเป็นอาชีพ แต่ว่ามาวันหนึ่ง มีพระอรหันต์มาบิณฑบาต ท่านก็ไม่รู้ว่า
พระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ แต่มีความรู้สึกว่า เราเป็นคนมีบาป สร้างบาปทุกวัน แต่ว่าวันนี้ พระท่านมาโปรด ก็ขอทำบุญสักครั้งหนึ่ง
จึงนิมนต์พระท่านหยุด แล้วก็รับบาตรท่านมา สั่งคนในบ้าน บอกว่า ให้ทำแกง ทำกับข้าวให้อร่อยที่สุด ด้วยเนื้อนกเมื่อทำเสร็จแล้ว ก็ใส่บาตรพระไป
ตามที่รับคำแนะนำมานั้น บอกว่า สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส ที่พระถามว่า ท่านปูติคัตทำบาปอะไรมาไว้ ร่างกายของปูติคัตจึงเน่า กระดูกก็แตก
เดิมทีเป็นตุ่มเล็ก ๆ ทั่วตัว
หลังจากนั้น ตุ่มเล็ก ๆ ก็โตเท่าเมล็ดถั่วเขียว ทุกหัวเหมือนกัน หลังจากนั้น ก็โตเท่าเมล็ดถั่วเหลือง โตเท่าผลมะตูม หรือโตเท่าผลส้ม
ก็รวมความว่าโตเต็มที่ แล้วก็แตกเป็นน้ำเหลืองทั้งตัว เน่า ลุกไม่ขึ้น ต่อมา กระดูกของร่างกายก็แตก ได้รับทุกขเวทนามาก พระถามว่า ท่านปูติคัตทำบาปอะไรไว้
จึงได้รับทุกขเวทนาอย่างนี้
ตอนนั้น ตามคำสอนของพระ ท่านก็บอกว่า ปูติคัตเดิมทีเป็นพรานนก ตามที่กล่าวมาแล้ว เพราะบาปฆ่านก บาปหักกระดูกนก หักแข้ง หักขา
หักกระดูกปีก ฉะนั้น บาปฆ่านก เป็นเหตุให้เป็นหนองทั้งตัว บาปหักกระดูกแข้ง กระดูกขา เป็นเหตุให้กระดูกในร่างกายแตก ลุกไม่ขึ้น มีทุกขเวทนามาก
จนกระทั่ง พระพุทธเจ้าต้องไปรักษาพยาบาลเอง แต่ขณะที่พระพุทธเจ้าทรงเช็ดร่างกายที่เปื้อนไปด้วยน้ำเลือด น้ำเหลือง แห้งดีแล้ว ร่างกายเธอก็เบา จุไร
ได้ยินพระท่านแนะนำ หลวงปู่ท่านแนะนำว่า
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ติสสะ ร่างกายของเธอนี้ ไม่นานนัก ก็จะมีวิญญาณไปปราศแล้ว ร่างกายนี้จะเป็นของทับแผ่นดิน
ซึ่งไม่มีใครเขาต้องการ เหมือนกับท่อนไม้ที่ไร้ประโยชน์
พอท่านปูติคัตฟังอย่างนี้ จิตก็จับ คือ ร่างกายของเรา ไร้ประโยชน์ อีกไม่ช้าไม่นานก็มีวิญญาณไปปราศแล้ว คือ วิญญาณออกแล้ว
เมื่อวิญญาณออกไป ร่างกายนี้ไม่มีใครเขาต้องการ ไม่ว่าศพไหนทั้งหมด เธอก็คิดต่อศพทุกศพ ขณะที่มีชีวิตอยู่ จะรักกันแสนรักขนาดไหนก็ตาม
แต่เมื่อกลายเป็นศพแล้วทุกคนก็ส่งศพเข้าวัดบ้าง ส่งศพเข้าโรงพยาบาลบ้าง ส่งศพเข้าหลุมฝังศพบ้าง ส่งศพไปเผาเสียบ้าง
รวมความว่าความรักเดิม ไม่มีความหมาย เธอก็คิดตาม ในเมื่อท่านปูติคัตคิดตามอย่างนั้นแล้ว ในที่สุด ท่านก็บรรลุอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ
และในเวลาเดียวกันนั้นเอง ก็นิพพาน
ต่อมา พระก็ถามพระพุทธเจ้าว่าปูติคัตที่มีกระดูกแตก เน่า เพราะฆ่านก เพราะหักกระดูกนก
พระก็ถามต่อไปว่า เพราะอะไร เวลานี้พระปูติคัตไปไหน
พระพุทธเจ้าก็ตอบว่า ท่านปูติคัตไปนิพพาน
พระก็ถามว่า ปูติคัตป่วยขนาดนี้ และก็ไปนิพพาน ได้อาศัยกรรมอะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัย สมัยชาติก่อนทำอะไรไว้ พระเจ้าข้า
พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในสมัยชาติก่อน เมื่อปูติคัตเป็นพรานฆ่านก
เวลานั้นได้ถวายอาหารกับพระสงฆ์จริง ครั้งหนึ่งในชีวิต คือ ในชีวิตของเขา ถวายครั้งเดียว อาศัยที่ถวายทานแก่พระอรหันต์ครั้งนั้น
เป็นปัจจัยให้ปูติคัตได้เป็นพระอรหันต์ในชาตินี้ แล้วก็ไปนิพพาน
เมื่อจุไรเธอฟัง ก็หนักใจ เพราะว่า คำว่า ทาน เคยได้ยินพระเทศน์ หรือว่าทายกตามวัด หรือคนที่มีความรู้ธรรมะทั้งหลาย เคยพูดกัน บอกว่า ขึ้นชื่อว่า
ทานอย่างเดียว ไม่สามารถจะไปนิพพานได้ แต่ว่าพระสูตรนี้ พระพุทธเจ้าทรงยืนยันว่า อาศัยอานิสงส์ของทาน ไปนิพพานได้
แต่ในเมื่อเธอคิดตามแล้ว ก็คิดว่า เราเป็นเด็ก นั่นเป็นเรื่องของผู้ใหญ่เขาคิดว่า ทานไปนิพพานไม่ได้ ทีนี้พระท่านบอกว่า พระพุทธเจ้ายืนยันว่า
อานิสงส์ของทานไปนิพพานได้ หลังจากฟังแล้ว เธอก็เล่าให้แม่ฟังตามความคิดเห็น
ต่อมา ก็ถึงเวลาเจริญพระกรรมฐาน ในเมื่อพระท่านให้สัญญาณบอกว่า เวลานี้เป็นเวลาเจริญพระกรรมฐานแล้ว ทุกคนที่มาฝึกใหม่ก็เข้าห้องฝึก คนที่ฝึกเก่าได้แล้ว
ยังไม่คล่องตัว ก็เข้าห้องซ้อม คนที่ได้แล้ว รู้สึกว่ามีการคล่องตัว ก็อยู่ห้องโถง นั่งกันตามแบบสบาย ๆ เสาเยอะ ตอนโคนเสาเป็นหินอ่อน ๘ เหลี่ยม
ต่อโคนเข้าไปก็เป็นกระจกเงาแพรวพราวเป็นระยับ
แต่ทว่าจุไรเธอเป็นเด็ก เป็นเด็กอายุเพียง ๕ ปีเศษ ๆ หรือ ๗ ปี มองหน้ากันแล้ว ก็ไม่แน่ใจนักในอายุ เธอก็คิดว่า คนอย่างเรา ถ้าจะพิงเสา
เดี๋ยวเขาจะหาว่าเป็นคนแก่ ในที่สุด ก็ไม่พิงเสา หันหน้าไปตรงพระพุทธชินราช ลืมตาจับภาพพระพุทธชินราช ชื่นใจ สบายจิต หลับตานึกถึงภาพพระพุทธชินราชติดตา
เห็นสภาพชัดเจน แจ่มใสมาก แล้วก็หลับตา ภาวนา คาถาภาวนาก็ไม่จำกัด แต่วันนั้นรู้สึกว่า จุไรเธอจะภาวนาว่า นะ มะ พะ ธะ
เพราะเป็นคำภาวนาของ มโนมยิทธิ ความจริงมโนมยิทธินี้หลวงปู่ของจุไรเคยบอกว่า คำภาวนานั้นมีเยอะ ไม่มีคำจำกัดเฉพาะ นะ มะ พะ ธะ แต่ว่าท่านพิสูจน์แล้ว
เห็นว่า นะ มะ พะ ธะ มีความคล่องตัว และแจ่มใส
จึงนำมาสอนพุทธบริษัท ความจริงคาถาภาวนาอย่างอื่นก็ใช้ได้ มีเยอะ หลายสิบอย่างเมื่อเธอจับลมหายใจเข้าออก และก็ภาวนาตาม และคิดตามว่า ตามปกติธรรมดา
พระบังสุกุลคนตายว่า
อนิจฺจา วต สงฺขารา ซึ่งแปลว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ
อุปฺปาทวยธมฺนิโม เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมไป
อุปฺปชฺชิตวา นิรุชฺฌนฺติ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป คือตาย
เตสํ วูปสโม สุโข การเข้าไปสงบกาย ชื่อว่า เป็นสุข
อันนี้เป็นคาถาภาวนาสำหรับคนที่ตายแล้ว ที่เรียกว่า ผี แต่ว่าคาถาบังสุกุลคนเป็น อจีรํ วตยํ กาโย
ทว่าเมื่อแปลตามความหมายเข้าจริง ๆ คือว่า อีกไม่นานนัก ร่างกายนี้จะมีวิญญาณไปปราศแล้ว ก็เหมือนกับของที่เขาทิ้ง เป็นของที่บุคคลพึงทอดทิ้ง ไม่ต้องการ
เหมือนกับท่อนไม้ ที่ไร้ประโยชน์ (ถือเอาใจความ)
เธอก็แปลกใจว่า บังสุกุลเป็น ก็น่าจะบังสุกุล ให้บุคคลนี้มีความสุข มีความเจริญ มีความร่ำรวย มีความปรารถนาสมหวัง ปลอดภัยอันตรายอย่างใดอย่างหนึ่ง
แต่พระกลับบอกว่า อีกไม่นานนัก เธอจะตายแล้ว แต่ในฐานะที่เป็นเด็กก็ไม่อยากจะคิดค้านพระ ก็เลยน้อมมาคิดถึงว่า ใครบ้าง ที่เกิดแล้วไม่ตาย มีไหม
เธอก็นึกว่า เธอยังไม่ตาย จุไรยังไม่ตาย คุณพ่อยังไม่ตาย คุณแม่ยังไม่ตาย คุณปู่คุณย่ายังไม่ตาย คุณยายคุณตายังไม่ตาย
แต่ว่าคุณทวดตาย และไปดูเด็กรุ่นน้อง ข้างๆ บ้าน เขาตายไปก่อนหลายคน ก็เลยคิดตามความเป็นจริงว่า เราก็จะตายเหมือนกัน ถ้าเราจะตายจริง ๆ
เราจะไปสวรรค์ชั้นไหน
ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ก็มีสนุกสนานมาก น่าไป ชั้นยามา ก็นั่งสวดมนต์บ้าง เจริญกรรมฐานบ้าง ชั้นดุสิต เป็นเรื่องของพระโพธิสัตว์ ชั้นนิมมานรดี
ก็เป็นหน้าที่ของเทวดาที่เนรมิตต่าง ๆ ชั้นปรนิมฯ ก็มีอำนาจมาก แต่ทว่าจริง ๆ แล้ว ก็ไม่น่าไป คือว่า ทุกคนที่เกิดมาแล้วก็ตาย
เทวดาก็จุติ น่าจะไปนิพพานมากกว่า เธอก็คิดว่า นิพพานจะไปได้หรือไม่ได้ หลวงปู่เคยบอกว่า ให้ตั้งใจไว้ก็แล้วกันว่า จะไปนิพพาน
เวลานั้นเธอก็ตั้งใจคิดว่า ถ้าตายเมื่อไร ไปนิพพานเมื่อนั้น เพียงเท่านี้ ก็ปรากฏว่า ในเวลานั้น ภาพพระพุทธรูปที่เห็นเป็นพระพุทธชินราช เป็นปูนอยู่
เวลาที่เธอภาวนา และคิดอย่างนี้ ใจก็จับ นึกถึงภาพพระพุทธชินราชไปด้วย เป็นอันว่า พระพุทธชินราชองค์นั้นค่อย ๆ มีเนื้อปรากฏขึ้น
เหมือนกับคนธรรมดา แต่ว่าเป็นพระที่สวยมาก ผิวพรรณผ่องใส จีวรก็สวย รัศมีกายก็สวย ลุกขึ้นจากแท่น แล้วบอกกับเธอว่า ให้ออกมาจากอก ตามความรู้สึกของเธอว่า
ออกไปจากอก
เมื่ออกมันแหวกขึ้น ออกไป พอไปยืนข้าง ๆ ท่าน ท่านก็บอกว่า ร่างกายเดิมมันนั่งตรงนี้นะ ร่างกายที่มีเนื้อ มีหนังที่เราคิดว่า ไม่ช้ามันจะตาย
มันนั่งตรงนั้น เวลาที่เราออกมาแล้วมายืนตรงนี้ ร่างกายมีสภาพเหมือนร่างกายตาย ต่อไปนี้ ร่างกายมันจะเป็นอย่างไรก็เป็นเรื่องของร่างกาย
เราไปเที่ยวกันดีกว่า ดีกว่ามานั่งเฉย ๆ ในที่นี้ จุไร ก็กราบท่าน บอกว่า ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าจะไปทางไหน จุไรไปด้วยเจ้าค่ะ ก็เป็นอันว่า
พระท่านก็ค่อย ๆ พาลอยขึ้นไปอย่างช้า ๆ (คำว่า ช้า ๆ ก็ใช้เวลาไม่ถึง ๒ นาที ถ้าคำว่า ไปเร็ว ๆ พอนึกปั๊บ ก็ถึงปุ๊บ) ค่อย ๆ ลอยขึ้นไปบนอากาศ
เข้าไปใกล้ดวงจันทร์เข้าไปทุกที ๆ ผลที่สุด ก็ถึงดวงจันทร์ จุไรเธอก็สงสัยว่า พระท่านจะพามาดวงจันทร์ทำไม ดวงจันทร์นี่มันของเก่าเต็มที่แล้ว
เวลานี้ใคร ๆ เขาก็มากันได้ ฝรั่งมาตั้งสถานที่ต่าง ๆ มาเที่ยวกัน เป็นอันว่า ฝรั่งที่มาเที่ยวกันก่อน เขาถ่ายอุจจาระ
ปัสสาวะไว้ที่ดวงจันทร์กันบ้างหรือเปล่า ก็ไม่ทราบ
ก็คิดว่า มันเป็นของเก่า แต่ว่าไม่กล้าฝืน พระต้องเป็นพระ เพราะเธอมีความเคารพ ในที่สุด พระท่านก็พาลงไปหยุดที่พื้นผิวของดวงจันทร์
ท่านถามจุไรว่า หลานรัก ดวงจันทร์นี่มีอะไรแปลกประหลาดบ้างไหม
จุไรเธอก็ดูไปรอบ ๆ เธอก็บอกว่า ตามปกติที่มาดวงจันทร์ ก็ไม่เคยไปเที่ยวครบบริเวณของดวงจันทร์ ไปเฉพาะจุด
แต่ว่าสำหรับสถานที่นี้ไม่เคยมา
ท่านก็บอกว่า ใช่ ที่ตรงนี้ หลานไม่เคยมาจริง ขอหลานจุไรตามหลวงปู่มา
ท่านใช้ศัพท์ว่า หลวงปู่ เหมือนกัน จุไรก็เดินตามท่านไปประเดี๋ยวเดียว การเดิน เป็นการเดินผิดปกติ คือ เท้าไม่ถึงพื้น รู้สึกว่า เดินช้า ๆ
แต่มันไปเร็ว ก็ไปหยุดอยู่ที่จุดหนึ่ง ปรากฏว่า ในสถานที่นั้น มีอาคารย่อม ๆ แต่ความจริง ถ้าคิดตามของโลกมนุษย์มันก็ไม่ย่อม
มีความกว้างประมาณ ๑๐ เมตร มีความยาวประมาณ ๑๗ เมตร และมีความสูงประมาณ ๗ เมตร และก็มีเสาอะไรต่ออะไรต่อที่ยอดอีกเยอะแยะ อีกหลายเสา
และก็ไปดูอาคารหลังนั้น มันไม่มีคนเลย มันมีแต่เครื่องจักรกล ที่ไม่รู้เรื่องจริง ๆ แถมมีลูกตา คำว่ามีลูกตา คือ มีกล้อง มีกล้องส่องไปข้างหน้า
แล้วก็มีจออยู่ข้างหลังแต่ละกล้อง ๆ ก็มีจอทั้งหมด เธอก็ไปดู จอเขาเขียนว่า ที่นั่น ที่นี่ ที่นี่ ที่โน่น ก็รวมความว่า
อาคารหลังนี้ เป็นลูกตาดู สำหรับดูมนุษย์โลกหรือโลกชมพู ดูทั้งตะวันออกกลาง ตะวันออกไกล เอเชีย ดูหมด ภาพเห็นชัดเจนแจ่มใสมาก แต่เธอก็แปลกใจว่า ไม่มีคน
แล้วก็ทำไว้ทำไม ทำไว้ให้ใครดู
จึงได้กราบทูลถามองค์สมเด็จพระบรมครูว่า อาคารหลังนี้ เขาเรียกว่าอะไรเจ้าค่ะ ท่านก็บอกชัดเจนแจ่มใสหมด อธิบาย
เธอก็เข้าใจ ในที่สุด เธอก็มาดูภาพที่จอ เห็นชัดเจนแจ่มใส การเคลื่อนไหวทั้งหมดก็เป็นอันว่า รู้การเคลื่อนไหวของโลก ทั้งโลก ก็แปลกใจ แต่เพียงว่า
ไม่มีคน แล้วเขาจะให้ใครดู
ก็ถามพระท่านว่า เขาทำไว้ทำไม
พระท่านก็บอกว่า ที่นี้คนทำท่านไม่บอก ว่า จะเป็นคนในโลกชมพูไปทำ หรือชาวโลกพระจันทร์ทำ ท่านไม่บอก
ท่านบอกว่า กล้องอยู่ตรงนี้จออยู่ตรงนี้ แต่ทว่ายังมีจออีกจอหนึ่ง ซึ่งอยู่ไกลไปจากนี้มาก คือว่า ไกลจากนี้เยอะ
จะมีเจ้าหน้าที่คอยดูอยู่
จุไรเธอจึงถามท่านว่า แล้วมันจะไปได้อย่างไร เพราะมันไกลแสนไกล
จุไรถามพระท่านบอกว่า คนที่ดูจอที่สองต่อไป หรือต้นจอ นั่นเขาอยู่โลกนี้หรือโลกอื่น
ท่านก็ยิ้ม ท่านบอกว่า เรื่องนี้ ไม่ใช่หน้าที่ของเธอที่จะรู้ เป็นแต่เพียงพามาให้ดูว่า
ความศิวิไลซ์ในด้านปัญญาของมนุษย์ไม่ใช่เรื่องเล็ก
ขนาดโลกพระจันทร์มายังโลกชมพู เป็นของไม่ยาก สำหรับการดู และเวลานี้ การไปการมา ของโลกมนุษย์ และโลกพระจันทร์ ก็เป็นของไม่หนัก ฝรั่งเขามาได้แบบสบาย
ๆ ท่านก็ให้ดูภาพข้าง ๆ จอ ซึ่งเป็นภาพเล็ก ๆ จะว่าเป็นภาพถ่าย ก็ไม่เชิง เธอก็ดูแล้วเห็นว่า เอ๊
คนโลกพระจันทร์นี่ เขาจมูกโด่ง ๆ เหมือนกันนะ เหมือนกับ
ชาวยุโรป ชาวอเมริกา ในโลกชมพู
ก็ถามท่านว่า คนที่ทำพวกนี่มีจมูกโด่ง ๆ ก็อยากจะทราบว่า เขาเป็นฝรั่งใช่ไหม
ท่านบอกว่า ที่โลกพระจันทร์เขาไม่เรียกว่า ฝรั่ง ที่โลกพระจันทร์นี้ เขาก็เรียกกันตามธรรมดา ๆ ว่า คน ท่านก็ยิ้ม ๆ
แล้วก็ถามท่านว่า อานุภาพของอาคารหลังนี้ ตาต่าง ๆ มีอานุภาพประเภทใดบ้าง
ท่านก็บอกว่า เฉพาะอานุภาพของสถานี สถานีนี้ไม่มีอะไรอย่างอื่น นอกจากดู อย่างเดียว เป็นกล้องส่งรายงานไปให้กับต้นทางว่า
อะไรจะเกิดที่ไหนบ้าง มุมไหนของโลกชมพู ใครจะทำอะไร มีการเคลื่อนไหวแบบไหน และภาพที่ปรากฏก็มีการบันทึกภาพไว้ด้วย
นั่นก็หมายความว่า จุไรก็เข้าใจ เพราะที่บ้านเธอมี วิดีโอเทป ก็คล้าย ๆ กับวิดีโอเทป แต่ความจริงอาจจะไม่ใช่ นักวิทยาศาสตร์เขาเก่ง
เธอก็มองต่อไปถามพระท่านบอกว่า อานุภาพแห่งการใช้อาวุธมีไหม
ท่านบอกว่า สถานีนี้ไม่มี เพราะว่า สถานีนี้ มีความต้องการอย่างเดียวคือการเคลื่อนไหว
แล้วท่านก็ชี้ให้ดูไกล ๆ ออกไปในอากาศ ก็จะมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ลอยไปตามกระแสของโลก ลอยเร็วมาก
ก็ถามท่านว่า นั่นอะไร
ท่านก็บอกว่า สิ่งสภาพใหญ่มีทางเกะกะนิดหน่อย อันนี้เป็น จรวด มีความเร็วสูง แต่อันนั้นเป็น ดาวเทียม
ท่าทางเก้งก้างมาก ความจริง สภาพของจรวดก็ดี สภาพของดาวเทียมก็ดี รู้สึกว่า มีเยอะแยะ มีสภาพแตกต่างกัน
ก็ถามท่านว่า จรวดก็ดี ดาวเทียมก็ดี เป็นของใคร
พระท่านก็ตอบว่า เป็นชาวโลกชมพู โลกที่หนูอยู่
แล้วเธอก็ถามท่านว่า ชาวโลกชมพู จะมีสิทธิ์มาจับจองสถานที่แห่งนี้ ในโลกพระจันทร์ เป็นที่อยู่ได้ไหม
พระท่านก็ยิ้ม ท่านก็บอกว่า นั่นเป็นความสามารถของนักวิทยาศาสตร์
หลังจากนั้นท่านก็บอกว่า ประเดี๋ยวก่อนนะ เราหยุดกันตรงนี้ก่อน มาสังเกตความวิจิตรพิสดารของเครื่องประดับ ในการสร้างอาคารหลังนี้ จะดูซิว่า
มันเหมือนอะไรในโลกมนุษย์
จุไรก็เข้าไปดูมันก็มีเหล็ก มีอะไรต่ออะไร เหมือนกับที่ข้างบ้านเขาทำกัน นั่นหมายความว่า เขาไม่ได้ทำจรวด ทำอาคารด้วยเหล็ก แต่ว่าทุกสิ่งทุกอย่าง
มันก็เป็นของแข็งคล้ายคลึงกัน และไปดูจอ ก็คล้าย ๆ จอโทรทัศน์ที่บ้าน แต่ว่าไม่เหมือนจริง ๆ มันมีสภาพคล้ายคลึงกัน
ก็กราบเรียนท่านว่า อันนี้มันเหมือนกับโลกที่อยู่จริง ๆ
ท่านก็บอกว่า ใช่ ที่ไหนมีคน ที่นั่นความสามารถย่อมมีเสมอกัน
แต่ชาวโลกพระจันทร์จริง ๆ อาจจะมีความสามารถมากกว่าโลกชมพูก็ได้ แต่ว่าถ้าเราถือว่า ชาวโลกพระจันทร์มีความสามารถยิ่งกว่าชาวโลกชมพู ก็ไม่แน่นัก
ถ้าคิดอย่างนี้ มันอาจจะเป็นความโง่ของเราก็ได้ เพราะชาวโลกชมพู ถ้าไม่เก่งจริง ก็ไม่สามารถมาโลกพระจันทร์ได้ ก็รวมความว่า
วันนี้ก็อยู่กันแค่สถานีแรก เพราะว่ายังเคลื่อนย้ายไปไม่ไหว เวลามันจะหมด
สวัสดี
ll กลับสู่สารบัญ
4
จุไรท่องดวงจันทร์ (ตอนที่ ๒)
ท่านผู้อ่านทั้งหลาย เรื่องราวต่าง ๆ ของจุไร ขอได้โปรดทราบว่าเป็นนิทาน อย่าถือว่า เป็นเรื่องจริงจัง ก็มาคุยกันต่อไป ในเมื่อจุไรไปกับพระแล้ว
พระท่านก็แนะนำให้รู้จักสถานีหมายถึงว่า กล้องส่องทางไกล ส่องมายังมนุษยโลก แต่ว่าจุไรเองก็ยังไม่ทราบว่า เป็นมนุษย์ชาวโลกชมพูทำ
หรือว่าเป็นมนุษย์ในโลกพระจันทร์ทำ
เธอก็มารำพึงในใจว่า นี่เรามาคนเดียว พระท่านก็นำมา และก็ไม่ได้ชวนใครมาด้วย ถ้ารู้ตัวอยู่ก่อน ก็จะชวนคุณแม่มาด้วย
แต่ว่ามองดูคุณแม่ เห็นว่านั่งสงบ มีอารมณ์สงัด มองดูไปอีกคนหนึ่ง คือ คุณป้าน้อย นามสกุล กานดา (สำหรับชื่อนี่ ท่านผู้ฟัง ท่านผู้อ่านได้โปรดทราบว่า
ไม่มีเจตนาจะนำใคร มาเป็นตัวเรื่องในนิทาน ด้วยเป็น ชื่อที่ตั้งขึ้น และนามสกุลที่ตั้งขึ้น ถ้าบังเอิญไปชนกับชื่อของใคร นามสกุลของใครเข้า
ก็ขอได้โปรดอภัยด้วย ไม่มีเจตนาเป็นอย่างอื่น)
ก็รวมความว่า มองเห็นป้าน้อย ก็คิดในใจว่า ถ้าบารมีของพระมีความเข้มข้น และไม่เกินวิสัยที่จะสงเคราะห์ได้ ขอให้ป้าน้อยขึ้นมาที่นี่ เพียงคิดเท่านี้
ก็ปรากฏว่ามีแสงสว่างเป็นสาย ๖ สีพุ่งลงมาที่ป้าน้อย แล้วป้าน้อยก็ลอยขึ้นไปตามแสง ก็เป็นอันว่า ป้าน้อย นามสกุล กานดา จุไรก็พบ ได้เป็นเพื่อนคุยกัน
ในเมื่อพระท่านกำลังจะพาไปสถานที่อื่น
จุไรก็ถามป้าน้อยว่า ป้าเคยมาที่นี่ไหม
ป้าน้อยก็บอกว่า ป้าไม่เคยมาจ้ะ
จุไรก็ชี้ให้ดูว่า ป้า ดูอะไรนี่แน่ะ ลูกตาหลายตาเยอะเชียว ส่องลงมาโลกชมพูที่เราอยู่ แล้วก็มีจอข้างหลังเยอะ
เห็นภาพโลกชมพูชัดเจน ใครจะไป ใครจะมา ไปไหน มาไหน เห็นชัดหมด
ป้าน้อยก็เอามือไปจับ ๆ ป้าน้อยเป็นผู้ใหญ่ อายุประมาณเห็นจะ ๖๐ กว่าหรือ ๗๐ ก็เป็นอันว่า จับไปจับมา ก็ไปขยับ ไปจับปุ่มอะไรเข้าก็ไม่ทราบ
ภาพนั้นก็มีการเคลื่อนไหว หมายความว่า ดูภาพจุดนี้แล้วก็เห็นจุดโน้นได้ ตามปุ่มต่าง ๆ ป้าน้อยดูแล้ว ก็บอกจุไรว่า ของอัศจรรย์จริง ๆ นะ แต่ความจริง
มันก็ไม่แปลกมากนัก
เพราะว่า เวลานี้ชาวโลกชมพู เขาไปดวงจันทร์ ไปดวงอังคารกัน คนในโลกชมพูก็สามารถเห็นภาพได้ทุกคน ถ้าดูโทรทัศน์ แล้วเขาสามารถจะพูดกันได้
ฉะนั้นสถานีนี้จะเป็นใครทำไม่สำคัญ แต่ว่าป้าน้อยมองไปมองมา
ป้าน้อยบอก จุไรหลานรัก นี่หลานเห็นภาพเป็นเงา ๆ ไหม
จุไรก็บอก ไม่เห็นเจ้าค่ะ คุณป้า
ป้าน้อยก็บอกว่า ป้าเห็นเงา ๆ เงาของคนจมูกโด่ง ๆ
จุไรก็บอกว่า เหมือนที่ภาพตรงนี้ไหม
ก็ชี้ไปมุมสถานี เป็นภาพเล็ก ๆ
ป้าน้อยก็บอกว่า ใช่ เหมือนกัน เป็นคนจมูกโด่ง ๆ เข้าใจว่าจะเป็นฝรั่ง
พระท่านก็ยิ้ม ท่านก็บอกว่า น้อยเอ๊ย ชาวโลกนี้เขาไม่มีฝรั่ง ไม่มีไทย ไม่มีลาว ไม่มีเจ๊กนะ
ก็รวมความว่า ป้าน้อยก็ยังไม่ทราบว่า ชาวโลกไหนทำกัน
พระท่านก็บอกว่า น้อยและหลานจุไรไปกับหลวงปู่ หลวงปู่จะพาเดินไป ค่อย ๆ เดินนะ ไปแล้วก็ดูซ้ายดูขวา ว่ามันจะมีอะไรบ้าง
ในเมื่อจุไรกับป้าน้อย เดินเคียงคู่กันไป พระนำหน้า ก็มองทางซ้าย มองทางขวา สายตากวาดไปในที่ต่าง ๆ มาดูทางด้านขวาก็ปรากฏว่า มีปุ่มโลหะ
ตั้งอยู่หลาย ๆ ปุ่ม
ก็กราบทูลถามพระท่านว่า ปุ่มทั้งหลายเหล่านั้นเป็นอะไร
ท่านก็บอกว่า แต่ละปุ่ม เป็นสถานีย่อย ๆ แต่ละคนเขาทำไว้ คือ ทั้งนี้เขาอยากจะดูความเคลื่อนไหวของชาวโลกชมพู
ป้าน้อยก็กราบทูลท่านว่า ถ้าอย่างนั้นปุ่มทั้งหลายเหล่านี้ ชาวโลกพระจันทร์ทำหรือชาวโลกชมพูทำ
ท่านก็ยิ้มเฉย ๆ ท่านไม่บอก หันดูไปทางซ้ายก็ปรากฏว่า มีภาพคล้าย ๆ เรือ จะเป็นเรือบิน ก็ไม่ใช่ ภาพก็ไม่ค่อยจะเหมือนกัน หัวมันป้าน ๆ
แต่มีสภาพคล้าย ๆ กับเครื่องไอพ่น แต่หางและหัว ไม่เหมือนเครื่องไอพ่นในโลกมนุษย์
ป้าน้อยก็ถามพระท่านว่า ไอ้นั่นเป็นเรือใช่ไหม
ท่านก็ตอบว่า ใช่
ถามท่านว่า เรืออะไร
ท่านก็บอกว่า เรือบิน
ถามว่า บินไปไหน
ท่านก็บอกว่า บินไปโลกชมพู
และถามท่านว่า จุดที่เขาจะไปตรงไหน
ท่านก็ชี้จุด ไปจุดเขตของคนจมูกโด่ง คนจมูกฟีบอย่างชาวเอเชียนี้ เขาไม่ลงมา
เพราะว่าชาวเอเชียยังมีความฉลาดไม่พอเท่าเขา แต่ชาวจมูกโด่ง ๆ อันนี้รู้สึกว่าเขาฉลาดมาก เขาไม่สนใจความฉลาดของชาวเอเชีย
จุไรจึงกราบเรียนท่านว่า หลวงปู่เจ้าคะ จะไปชมเรือได้ไหม
ท่านก็บอกว่า ได้
จึงพากันไป เลี้ยวซ้ายเดินไปนิดเดียวก็ถึงเรือเข้าไปในเรือก็ปรากฏว่า ไม่มีคนอีก
คนสักคนก็ไม่มี ร่องรอยของคนก็ไม่มี ก็ปรากฏว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง ทำความสะอาดเรียบร้อยหมด เก็บงำไว้อย่างดี ปิดมิดชิด แต่ว่าฝาประตูเปิด
ตามปกติเขาปิดสนิท แต่ว่า พอพระท่านเอามือเข้าไปแตะ ประตูก็เลื่อนออก ไม่ใช่ดึงออกประตูเลื่อนออกเอง จึงพาเข้าไปชมในเรือ
ไม่มีอะไรเป็นอาวุธ ที่นั่งเรียบร้อย ไม่ใช่นั่งอย่างเดียว นอนก็ได้ ที่นั่งกว้างขวาง ทางเดินก็กว้างขวาง แต่สิ่งที่ประหลาดที่สุด ก็คือ
ไม่มีส้วม และก็มีจุด ๆ หนึ่ง มีกล่องคล้าย ๆ กล่องแก้ว แต่ว่าแข็งมาก อาจจะเป็น เหล็กใส เก็บยาแบบแค็ปซูลไว้เยอะ เขาเขียนหนังสือไว้
พระท่านก็อ่าน ท่านก็บอกว่านั่นเป็นยา ยาที่เป็นอาหาร คนทุกคนที่ไปกับยานพาหนะอันนี้ จะไปไกลแสนไกลถึงไหนก็ตาม
วันหนึ่งกินยาแค่เม็ดเดียว จะสามารถทรงร่างกายได้ และมีกำลังดี
จุไรเธอก็กราบทูลหลวงปู่ว่า ถ้าอย่างนั้นหนูอยากจะได้บ้าง จะเอาได้ไหม
ท่านก็บอกว่า เป็นอทินนาทาน เจ้าของเขายังถือว่า เป็นของเขาอยู่ เขาไม่ได้ทิ้ง เขาเก็บไว้มิดชิดอย่างนี้ และเรือเขาก็ปิดสนิท
อย่างเราเข้ามาด้วยปาฏิหาริย์ เอาของเขาไม่ได้
รวมความว่า ทั้งสองคน ทั้งป้าทั้งหลาน ต่างคนต่างนึกเสียดาย อยากจะได้ยา แต่ก็ไม่กล้าพูด ไม่กล้าบอก ไม่กล้าแสดงกิริยา เพราะเกรงใจพระท่าน
พระท่านก็บอกว่า ไปกันดีกว่า ไปข้างหน้าจะพบอะไรดีกว่านี้
เดินกันไปสักครู่เดียว คือ ประเดี๋ยวเดียว ใช้เวลาประมาณสัก ๑ นาที แต่มาไกลมาก เป็นการเดินแบบลอย
ขานั้นรู้สึก ก้าวไปก้าวมา ก้าวเท้าซ้าย ก้าวเท้าขวา แต่ว่ามันเร็วจัด ก้าวช้า ๆ แต่รู้สึกว่าเร็วมาก ก็ไปพบสถานีประหลาดอีกสถานีหนึ่ง
สถานีนี้มีสภาพเป็นเงาคล้าย ๆ กระจกทั้ง ๔ ด้าน แต่ทว่า ไม่มีลูกตาส่อง มีความใหญ่โตน้อยกว่าสถานีอื่น จะเน้นจุดนี้ก่อน ความใหญ่โตของสถานีนี้
ก็มีความยาวประมาณ ๘ เมตร กว้างประมาณ ๕ เมตร สูงประมาณ ๗ เมตรเหมือนกัน อีกด้านหนึ่งของสถานีก็มีจอเยอะ จอดู เห็นหมดเหมือนกัน ดูโลกมนุษย์
ชมพูทวีป หรือว่าโลกชมพู เห็นหมดทุกอย่างการเคลื่อนไหวทุกอย่าง เห็นหมด ป้าน้อยก็เป็นคนซน มือก็แหย่ตรงนั้น แหย่ตรงนี้ ก็ปรากฏผลว่า พอแหย่ปั๊ป
มันก็ย้ายที่มอง
ที่มองต่าง ๆ ตามจุดต่าง ๆ มันมีปุ่มสำหรับบังคับ ที่นี่มองจุดนั้น ออกขึ้นจอนี้ พอกดปุ่มนี้ ขึ้นจอนั้น และก็ย้ายปั๊ป ไอ้จอนั่นแหละ
จะย้ายที่เคลื่อนไหวไปได้ คล้าย ๆ กับหน้ากล้องส่าย แต่ว่าสภาพของกล้องไม่มี ป้าน้อยก็ดี จุไรก็ดี ก็แปลกใจ
พระท่านก็บอว่า ลูกและหลานรัก สถานีนี้ ถึงแม้จะเล็กกว่าสถานีก่อน ก็มีอานุภาพมากกว่าสถานีก่อนมาก
ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่า สถานีนี้ นอกจากจะดูโลกชมพูได้แล้ว การเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของโลกชมพู จะเป็นจุดไหนก็ตาม ตามที่เขาต้องการ เขาจะทราบหมด
และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ของที่เก็บไว้ในตึก ในราม ในตู้ ถ้าเขาต้องการจะเห็น เขาก็เห็นภาพได้ด้วย อัศจรรย์มาก นอกจากการดูภาพได้แล้ว
ก็ยังมีสิ่งอัศจรรย์ คือ อาวุธสำคัญ คำว่า อาวุธนี้ไม่ใช่อาวุธทำลายคนอื่น แต่ว่าเป็นการทำลายอาวุธ ที่จะมาทำอันตรายประเทศของเขา
ป้าน้อย คันปาก ทนไม่ไหว กราบเรียนท่านว่า คำว่า ประเทศของเขา ชื่อประเทศอะไร เจ้าคะ
ท่านก็ยิ้ม ท่านก็ตอบว่า ชื่อประเทศที่ฉันไม่บอก นั่นก็หมายความว่า ประเทศนั้นชื่อว่า ท่านไม่บอก คือว่า ไม่บอกประเทศให้
ป้าน้อยก็ถามต่อไปว่า ประเทศที่ทำ เจ้าของเขาอยู่โลกชมพู หรือว่าโลกพระจันทร์
ท่านก็ตอบว่า ท่านไม่มีสิทธิ์จะบอก
ป้าน้อยก็ มองไปมองมา ตามทัศนะของคนผู้ใหญ่ สนใจมาก และรู้สึกว่า พิถีพิถัน มองไปมองมาก็เห็นภาพจมูกโด่ง ๆ ปรากฏเป็นภาพขึ้นมา
เธอก็ถามพระท่านว่า พวกที่ทำนี่ เป็นฝรั่งใช่ไหม
ท่านก็บอกว่า ที่นี่เขาไม่มีฝรั่ง แต่ก็เป็นนักวิทยาศาสตร์ของชาวโลก ที่เขาทำได้ เขามีความเก่งกาจมาก
ป้าน้อยก็รำพันในใจว่า นักวิทยาศาสตร์นี้ เขาเป็นช่างประดิษฐ์ คิดค้นต่างๆ สิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไป ก็เป็นไปได้
อย่างโลกพระจันทร์ กับโลกชมพู ไกลกันแสนไกล ชาวโลกชมพูก็มาได้ แค่เห็นทุกสิ่งทุกอย่าง คนอยู่ต้นทางก็เห็นหมด ทั่วโลกก็เห็นหมด
รวมความว่า ถ้าใครดูโทรทัศน์ ต่างคนต่างเห็น ต่างคนต่างรู้ได้ยินเสียงเขาพูดกันเป็นความมหัศจรรย์ของมันสมอง ยากนักก็ถือว่า เป็นคนมีบุญ
เธอก็หันเข้าไปปรึกษากับจุไรว่า หลานคิดไหมว่า นักวิทยาศาสตร์นี่เขามาจากไหน
จุไรก็บอกว่า นักวิทยาศาสตร์เป็นคนช่างคิด เป็นคนช่าง
ประดิษฐ์ ถ้าชาติก่อนจริง ๆ น่าจะมาจากชั้นนิมมานรดี เพราะว่าเทวดาชั้นนิมมานรดีนี่ เป็นนักเนรมิต ถ้าเทวดาชั้นปรนิมฯ ต้องการอะไร
เทวดาชั้นนิมมานรดีก็เนรมิตให้หมด
การเนรมิต หรือประดิษฐ์ หรือคิดค้น มันก็มีสภาพเหมือนกัน
ถ้าเป็นคน ต้องคิด ต้องทำ ถ้าเป็นเทวดา ก็นึกเอาเฉย ๆ เพราะเทวดาไม่มีธาตุ ๔ แต่มนุษย์เรามีธาตุ ๔ ก็ทำ จับของที่เป็นส่วนหนึ่งของธาตุ ๔
มาปรับปรุงได้ พระท่านก็หันมายิ้ม
ท่านบอกว่า การตัดสินใจอย่างนั้นดี เพราะความเป็นจริงนักวิทยาศาสตร์จริง ๆ มาจากชั้นนิมมานรดีเกือบทั้งหมด
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ทั้งหมดเสียจริง ๆ
ป้าน้อยก็กราบทูลถามท่านว่า ที่ว่าไม่ใช่ทั้งหมด ที่ไปจากชั้นนิมมานรดีนี่ เขาทำอะไร
ท่านบอกว่า ถ้าไปจากเทวดาชั้นนี้นะ จะคิดเฉพาะด้านสันติอย่างเดียว อย่างการมาเที่ยวโลกพระจันทร์ เที่ยวโลกพระอังคาร
เที่ยวโลกพระพุทธ เที่ยวโลกพระศุกร์ เที่ยวที่ไหนก็ตาม หรือเที่ยวโลกเกตุ นักคิดเพื่อเที่ยว นี่มาจากชั้นนิมมานรดี แต่พวกค้นคิดอาวุธนี่
ไม่ใช่มาจากชั้นนิมมานรดี ทั้งนี้เพราะอะไร ก็เพราะว่า อาวุธ เป็นเครื่องทำลายประหารชีวิต คิดจะสร้างบาป อันนี้ต้องมาจากชั้นอื่น
ก็ถามว่า ชั้นอื่นสามารถทำได้หรือ
ท่านก็เลยบอกว่า เขาสามารถทำได้เหมือนกัน
ป้าน้อยก็กราบเรียนถามท่านว่า เพราะอะไร ในเมื่อก่อนนี้เขาเป็นเทวดาแล้ว เมื่อมาเกิดเป็นคน น่าจะสร้างความดี สร้างบารมีต่อ
ทำไมต้องสร้างอาวุธเข่นฆ่ากัน
ท่านก็ตอบว่า มีเยอะไป คนที่ไปจากชั้นดี มีบารมีมาก พอเกิดเป็นมนุษย์ ก็ลืมความดี ลืมบุญกุศลที่ตนทำ เพราะระลึกชาติไม่ได้
ขาดการศึกษาด้านนี้โดยเฉพาะ แต่ว่าวิชาการด้านอื่นเขาดี เขาก็ทำคิดจะฆ่าคนโน้น คิดจะฆ่าประเทศนี้ คิดจะฆ่าเหล่าทหารเหล่านั้น
ก็รวมความว่า การเห็นผิด การเข้าใจผิด เพราะมิจฉาทิฐิ คือ บาป เข้าสนองใจ เป็นของมีจริง
ท่านก็เลยบอกว่า การคุยกันเรื่องนี้ก็ดี แต่ว่ามันก็ไม่ดีหรอก มันช้าเกินไป เราตรวจดูกันต่อไป คือ สถานีนี้จะเห็นว่า มีปุ่ม ๆ
หนึ่งจะสามารถเปล่งแสงออกไปได้ คือ รังสีต่าง ๆ
ป้าน้อยก็ถามว่า รังสีต่าง ๆ นี่ เขาใช้อะไร
ท่านบอกว่า ถ้าปุ่มนี้นะ เมื่ออาวุธข้าศึกเข้ามาในข่ายที่เขาต้องการจะป้องกัน เมื่อกดปุ่มนี้ลงไป รังสีจะพุ่งไปที่อาวุธนั้น
อาวุธจะเบนทิศทาง เขาจะเบนไปไกลแสนไกลอย่างไรก็ได้ ให้เบนกลับหลัง หันกลับที่เดิมก็ยังได้
นั่นหมายความว่า อาวุธนั้นจะไปทำลายเจ้าของเอง และปุ่มที่สองปุ่มนี้เขาจะยับยั้งอานุภาพของอาวุธ สมมติว่าถ้ายิงจรวดมากระทบรังสีนี้เข้า จรวดนั้นจะด้าน
ถ้าไปตกปุ๊ปที่ใดที่หนึ่งก็ตาม จะด้านเฉย ๆ ไม่มีการระเบิด จะต้องการให้ไปตกที่ไหน ก็ใช้รังสีจุดเดิมสั่งเบนทิศทาง แต่ว่าสำหรับปุ่มที่สาม
เมื่ออาวุธยิงเข้ามา เขากดรังสีนี้ปรากฏขึ้น อาวุธนั้นจะทำลาย จะแตกในอากาศ
ป้าน้อยก็ถามว่า สำหรับสถานีนี้ จะสั่งการให้อาวุธไปลงที่ไหนนั้นได้ไหม
ท่านบอกว่า ได้เลย สมมติว่าถ้าเขาเองยิงจรวด จะไปที่ใดที่หนึ่งก็ตาม บังเอิญจรวดของเขา (ก็ดูตามภาพในจอ) จะลงผิดที่ผิดทาง
ที่เขาต้องการ เขาจะกดปุ่ม เบนจรวดนั้นให้ลงเฉพาะจุดที่เขาต้องการได้ทันที
ก็รวมความว่า สถานีนี้ เป็นสถานีที่มีอานุภาพมากกว่าสถานีก่อน
ป้าน้อยก็กราบทูลถามท่านว่า แล้วสถานีนี้ ฐานที่ตั้ง คือ คนสั่งการอยู่ที่ไหน
ท่านบอกว่า อย่าถามท่านเลย เป็นกฎของกรรม
ท่านก็หันมาถามจุไรว่า หลานรัก อยากจะเที่ยวต่อไปไหม
จุไรก็กราบเรียนบอกว่า อยากจะเที่ยวต่อไปเจ้าค่ะ
ท่านบอกจะให้ดูอีกสถานีหนึ่ง เป็นสถานีเล็ก ๆ ท่านก็พาไป เมื่อเข้าไปถึง เป็นสถานีย่อม ๆ อาคารกว้างจริง ๆ ประมาณ ๔ คูณ ๔ คือ กว้าง ๔ เมตร
และก็ยาว ๔ เมตร เป็นสี่เหลี่ยม สูงประมาณ ๗ ศอก ไม่โตเลย ๗ ศอก ก็ ๓ เมตรครึ่ง ต่ำ ๆ แคระ ๆ
แต่ลักษณะก็คล้าย ๆ กับสถานีที่สอง มีอะไรคล้ายคลึงกันมาก
ท่านก็บอกว่า ดูที่จอให้ดีซิ
พอมองที่จอ สถานีนี้มองเฉพาะเอเชียอย่างเดียว ถ้าจะเบนทิศทาง ไปทางยุโรป หรืออเมริกาจะจางมาก ดูไม่ถนัด ดูได้เหมือนกัน แต่ไม่ถนัด รู้สึกจาง ๆ
มาก
จุไรก็กราบเรียนถามว่า หลวงปู่เจ้าค่ะ อยากจะทราบว่า สถานีนี้ ใครสร้าง
ท่านก็เลยบอก ให้ถามป้าน้อยเขาซิ ป้าน้อยเขาคนชอบดู ป้าน้อยเป็นคนชอบพิสูจน์
ป้าน้อยก็นั่งมองดูสถานี สักครึ่งนาที ก็ตอบออกมาว่า เอ๊ะ!
สถานีนี้จมูกไม่โด่งนะ จมูกแฟบ ๆ ใส่เสื้อคอตั้ง
ก็รวมความว่า นักวิทยาศาสตร์ที่ทำนี่ เป็นคนจมูกต่ำ ๆ และก็ใส่เสื้อคอตั้ง จุไรเธอก็มองบ้าง
จุไรบอก เอ๊ะ! นี่มีขากถุยด้วยนะคะ นอกจากจะมี เสื้อคอตั้ง จมูกไม่โด่ง ยังมีขากถุย ก็มีอย่างนี้ด้วย
พระท่านก็ยิ้ม ท่านบอกว่า เออ ดีมากใช้กำลังใจได้ดี แต่ก็อย่ารู้ละเอียดเลยนะ เอาแค่นั้นก็แล้วกัน
ก็รวมความว่า ๓ สถานี ไม่รู้ว่า ใครเป็นใครกันแน่
พระท่านก็บอกว่า เท่าที่พามาดูนี่เพราะการมาครั้งแรกน่ะ มันไม่มี เวลานี้ สถานีทั้ง ๓ นี่ เกิดขึ้นมาใหม่ จึงมาให้ดู
จะได้ทราบว่า เวลานี้ คนเรามีปัญญา สามารถดีมาก และเก่งกาจขึ้นมามาก สามารถจะทำอะไรก็ได้ อยู่คนละโลก มองกันเมื่อไรก็ได้ รู้สภาพความเป็นมา
ถ้ามีภาพอะไรที่ต้องการก็สามารถบันทึกภาพไว้ได้
ท่านก็เลยบอกว่า เท่าที่ดูนี่ ไม่มีความหมายอย่างอื่น ให้ดูเฉย ๆ และไม่ต้องการให้รู้อะไร
แต่สิ่งที่มีประโยชน์ยิ่งกว่านั้นมีอยู่
นั่นคือ ท่านพาไปอีกจุดหนึ่ง ไกลจากที่นั้นพอควร ถ้าจะเทียบกับเมืองมนุษย์เราละก็ ใช้ระยะทางไกลประมาณ ๕๐ กิโลเมตร
ขณะที่ลอยเคว้งคว้างไปในอากาศ ต่ำ ๆ มองเห็นทรายเบื้องหน้าขาวพรึบ แต่ไม่ใช่ขาวเป็นสีเงินเฉย ๆ มีแพรวพราวเป็นระยับ จับแสง คล้ายกับต้องแสงอาทิตย์
แล้วมีประกายขึ้นมา สวยมาก พระท่านก็พาลงที่นั่น
ท่านบอกว่า ถ้าลักษณะทรายแบบนี้นะ มีที่ไหน ที่นั่นมีทองคำ และเป็นทองคำที่มีกำลังหนาแน่นมาก เป็นทองคำที่ขุดไม่ลึก แต่เอามือกวาด
ๆ ทรายออก ก็ถึง ทองคำ แต่ไม่ใช่ ทองคำแท่ง เป็น แร่ทองคำ และไม่ใช่แร่ถลุง เป็นทองคำแท้ เม็ดเล็ก ๆ
ท่านบอกว่า พิสูจน์ดูก็ได้ ทั้งสองคน
ทั้งป้าทั้งหลานก็นั่งลง เอามือกวาด ๆ ทราย กวาดลึกลงไปประมาณสัก ครึ่งฟุต ก็ปรากฏว่า เห็นเม็ดทองเหลืองอร่าม เป็นทองร้อยเปอร์เซ็นต์ ทุกคนก็ตะลึง
พระท่านบอกว่า ดูได้นะ แต่ว่าอย่าหยิบเอาไป
ป้าน้อยก็กราบเรียนถามท่านว่า มีเจ้าของหรือ
ท่านก็ตอบว่า เธอไม่ได้นำขันธ์ ๕ มา แบกไปไม่ไหวหรอก ที่มาที่นี่ ก็อยากจะบอกให้ทราบว่า ทองจุดนี้ เป็นสายเดียวกับทองที่
เชียงราย และลำปาง
หนูจุไรก็ถามบ้างว่า มันคนละโลกนะเจ้าคะ เชียงราย และ ลำปางนี่ เป็นของโลกชมพู แต่ว่าสถานที่นี้เป็น โลกพระจันทร์
ท่านก็หันมาถามบอกว่า นักวิทยาศาสตร์เขาบอกแล้วใช่ไหมว่า ในอากาศมันมีกระแสไฟฟ้าเดินเป็นปกติ
ทุกคนก็ งง ในที่สุด
ท่านก็บอกว่า เอาละ เวลาเขาจวนจะเลิกกันแล้ว การเจริญพระกรรมฐานในวิหาร ๑๐๐ เมตร วิหารแก้วนะ เขาจะเลิกกันแล้ว
ประเดี๋ยวเขาจะคอย ในเมื่อเขาเลิกกัน เขาจะเห็น คน ๒ คน นั่งเฉย ๆ ดีไม่ดีเขาคิดว่า ตาย เขาจะนำไปฝัง จะลำบากเปล่า ๆ
ท่านก็พากลับ แต่ว่าก่อนที่จะกลับ ก็แวะไปที่เชียงราย กับที่ลำปาง ท่านบอกว่าจุดนี้เป็นทอง เฉพาะที่เชียงราย จุดนี้นะ
มีทองคำ แต่กระแสจุดใหญ่ ๆ ของทองคำยังไม่มีใครทราบ และสายเดิมของทองคำ เดินสายตามทางนี้ ยิ่งไกลออกไป ยิ่งมีความจางสูงเวลานี้ สายที่ไกลออกไป
มีความจางสูง
และก็มีกระแสข้าง ๆ ในระหว่างนานมาแล้ว ประมาณสัก ๓๐ ปี ๓๐ ปีเศษผ่านมานี่ ชาวเขา เขาขุดได้กันทุกวัน เวลานี้เขายังขุดกันอยู่ แต่ว่าความจริง
ที่เขาจุดจริง ยังไม่ถูกสาย ถ้าสายจริง ๆ ต้องดูภูเขาลูกนี้ มีลักษณะแบบนี้ จุดสีขาวอยู่ตรงนี้ โขดหินนี่อยู่ตรงนี้ ลักษณะของเขาเป็นอย่างนี้
ข้างซ้ายของเขา ข้างขวาของเขา เป็นอย่างนี้
ถ้าหากเดินตามสายนี้ ยืนจากเขาลูกนี้ออกไป หันหน้าไปทางทิศใต้ ขุดตามทางสายนั้น เขาจะเจอะแหล่งทองคำ ที่มีความสำคัญมาก แต่ทว่าเราเป็นนักบุญ
ก็ไม่ควรที่จะเข้ามายุ่งกับทองคำประเภทนี้ ก็เป็นหน้าที่ของนักธรณีวิทยาของกรมทรัพยากร หรืออะไรก็ไม่ทราบ คือว่า ทางราชการเขารู้ไม่ใช่ไม่รู้
แต่วาระมันยังไม่ถึง
คือว่า ยังไม่มีคนมาทำสัมปทานละมั้ง เพราะนั่นเป็นหน้าที่ของบ้านเมือง เรื่องเราไม่เกี่ยว เวลานี้ อีกประเดี๋ยวเดียวก็หมดเวลา ขอลาก่อน
ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล จงมีแด่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนผู้อ่านทุกคน
สวัสดี
ll กลับสู่สารบัญ
|
|
5
จุไรกับราคาวัดท่าซุง
และถามสร้างวิหาร ๑๐๐ เมตร
ตอนนี้ให้ชื่อว่า จุไรกับราคาวัดท่าซุง เมื่อจุไรกับป้าน้อย กลับมาจากดวงจันทร์แล้ว และก็ไปแวะที่จังหวัดเชียงราย ไปดูสถานที่ทองคำก็พอดีหมดเวลา
ในที่สุด สองป้าหลานก็กลับมาที่วัดท่าซุงตามเดิมต่างคนต่างลืมตาขึ้น ก็เห็นคนที่มาฝึก นั่งกันสะพรั่ง คนทั้งหลายไม่ไปที่รับแขก
ทั้งนี้ก็เพราะว่า สงสัยป้าน้อยกับจุไร คิดว่าสองคนนี้ทำไมนั่งกรรมฐานนานนัก และในที่สุดคุณแม่ของจุไรก็ถามว่า ลูกรักไปไหนมา
จุไรก็บอกว่า ความจริงไม่ได้ตั้งใจจะไปไหน แต่ทว่าขณะที่นั่งไป และพิจารณาร่างกายว่า อีกไม่นานนัก
ร่างกายนี้จะมีวิญญาณไปปราศจากร่าง ออกไปแล้ว ก็เป็นของที่ทุกคนทิ้ง เหมือนกับท่อนไม้ที่ไร้ประโยชน์
ตามที่หลวงปู่ท่านพูด นั่งคิดไป ก็ดูภาพพระพุทธรูปไป ในที่สุด อารมณ์เผลอ มีความรู้สึกเหมือนกับว่า มีพระท่านหนึ่ง รูปร่างสวยสดงดงามมาก มาบอกว่า
จะนั่งพิจารณาทำไม ไปเที่ยวกันเถิด แล้วก็พาไปที่ดวงจันทร์
และบรรดาทุกคนก็ถามว่า มีอะไรบ้าง จุไรก็เล่าให้ฟัง ตามที่กล่าวมาแล้ว แต่ทว่าในการเล่า ก็บอกว่า เหลียวไปเหลียวมาที่ดวงจันทร์ มีพระกับจุไรสองคน
แต่เป็นการบังเอิญอย่างยิ่ง คิดว่าเหงา คุณแม่ก็ไม่ไป เลยคิดถึงป้าน้อยเห็นว่า ป้าน้อย เป็นคนคล่องในการสอนกรรมฐาน หรือขณะสอนกรรมฐานอยู่
ก็คิดนึกถึงป้าน้อย
อยากให้ป้าน้อยไปด้วย และทุกคนก็พูดว่า น่าจะเป็นความจริง ทั้งนี้เพราะว่า คุณน้อย นามสกุล กานดา ปรากฏว่า ในขณะที่เธอกำลังสอนกรรมฐานอยู่
เวลานั้นคุณน้อยก็บอกว่าเป็นความจริงตามนั้น ขณะที่กำลังสอนกรรมฐานอยู่ก็ได้ยินเสียงเด็กเรียก จำเสียงได้ว่า เป็นเสียงของจุไร
ก็คิดในใจว่าหลานรักไปเที่ยวที่ดวงจันทร์
แต่ความจริง เห็นจุไรอยู่ที่ดวงจันทร์ อาจจะมีความกลัว หรืออันตรายเกิดขึ้น จึงให้บอกให้ ชาโดว์ สอนต่อไป และเธอเองก็ไปที่ดวงจันทร์ ไปพบจุไร
เรื่องก็มาลงกันตรงนี้
ก็เป็นอันว่า ทุกคนก็เข้าใจ เมื่อเข้าใจ ต่อไปทุกคนก็ไปสถานที่รับแขก คือว่า เวลานั้น จุไรถามว่า หลวงปู่ไปไหน
ทุกคนก็บอกว่าท่านนั่งอยู่ร่วมด้วยประมาณ ๑๕ นาที
เสียงสัญญาณบอกเวลาของท่านว่า หมด ท่านก็ไปรับแขกที่สถานีรับแขก จุไรจึงถามป้าน้อยว่า จะไปที่รับแขกไหม ป้าน้อยก็บอก ป้าเพลีย
จะต้องนั่งพักเสียหน่อยหนึ่ง จุไรก็บอกว่า ถ้าอย่างนั้น ป้ากับหนู ก็คุยกันสองคนก็แล้วกัน หนูก็เพลียเหมือนกัน หลังจากนั่งกันเรียบร้อยแล้ว
มนัสการพระพุทธชินราชแล้ว ก็นั่งคุยกันต่อหน้าพระ ทั้งสองคนมีจิตอิ่มเอิบ เอิบอิ่มมาก
จุไรจึงถามป้าน้อยว่า คุณป้า เมื่อวานนี้ เห็นหลวงปู่ท่านแจกของเด็กนักเรียนชั้นประถมที่วัดท่าซุง สถานที่รับแขก
เห็นท่านประกาศว่า หนังสือเรียนสำหรับ ป . ๑ ถึง ป.๖ ครบชุด จำนวนหนังสือทั้งหมด ๓,๗๒๗ เล่ม เป็นเงินที่ซื้อมา ๖๕,๘๙๗ บาท และชุดเครื่องแบบนักเรียนชายหญิง
มีเสื้อ กางเกง และกระโปรง รวมแล้วจำนวน ๒๐๙ ชุด
เป็นเงิน ๒๘,๒๓๑ บาท รวมแล้ว ทั้งค่าหนังสือ และค่าเครื่องแบบนักเรียน ราคา ๙๔,๑๒๘ บาท อันนี้ เป็นรายการที่หลวงปู่ท่านแจก
เด็กนักเรียนประถม และคุณป้าทราบไหมว่า นักเรียนมัธยม ท่านแจกไหม
คุณป้าก็บอกว่า ภาระนักเรียนมัธยม อยู่ที่หลวงปู่องค์เดียว
เครื่องแบบ คนละ ๒ ชุด หนังสือเรียนทั้งหมด อาหารกลางวันฟรี และอาหารเช้า เย็น และยังสงเคราะห์อย่างอื่นอีกมาก ก็รวมความว่า
หลวงปู่มีภาระหนัก ต้องเลี้ยงลูกจริง ๆ ๓๐๐ คน และเลี้ยงอย่างแพงด้วย
จุไรจึงถามว่า หลวงปู่ต้องจ่ายเดือนละเท่าไร
ป้าน้อยก็ตอบว่า ไม่ได้ถาม เพราะว่า ท่านต้องจ่ายค่าครูผู้สอนด้วย และก็อาหารนักเรียนด้วย หนังสือเรียนทั้งหมดด้วย
อุปกรณ์การศึกษา และก็อาหารการบริโภค ทั้งเช้าและเย็นด้วย แต่ว่าท่านอาศัย บรรดาลูกหลานของท่าน ต่างคนต่างช่วยเข้ามา คนละไม้ละมือ แต่ว่าเห็นประกาศไว้ว่า
ให้นักเรียนฟรีหมด ทั้ง ๓ เทอม
นั่นก็หมายความว่า นักเรียนบางรุ่น ที่เข้ามาอยู่หอพัก ตามปกติ ต้องเสียค่าอาหารเดือนละ ๖๐๐ บาท ค่าข้าวสารเดือนละ ๘๐ บาท
แต่หลวงปู่ท่านต้องซื้อข้าวสารจริง ๆ ถังละ ๑๓๔ บาท ก็เป็นอันว่า หลวงปู่ต้องจ่ายแทนเด็กไปจริง ๆ อ้อ. ขอโทษ ๑๔๓ บาท ต้องจ่ายแทนเด็กไปจริง ๆ ๖๓ บาท ต่อ
๑ ถัง
เด็กหอพักกี่คน ต้องจ่ายแทนคนละ ๖๓ บาท เหมือนกันหมด และสำหรับอาหารการบริโภคก็เช่นเดียวกัน ถ้าบกพร่องก็หามาเสริมให้ อาศัยลูกหลานของท่านมาก
จุไรก็บอกว่า โอ้โฮ คุณป้า หลวงปู่ท่านมีภาระหนักมากนะ
คุณป้าก็บอกว่า ท่านมีภาระหนัก ความจริงเวลานี้ ท่านก็แก่มากแล้ว อายุมากแล้ว และก็ป่วยไข้ไม่สบายตลอดเวลา
การป่วยของท่าน ป่วยทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นโรคทางท้อง อืดและก็เสียดทุกวัน แต่ก็ทนทำทุกอย่างก็เพราะรักลูก รักหลาน
และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลูกหลานของท่านก็ดีมาก ต่างคนต่างก็ช่วยกันคนละไม้ คนละมือ ไม่หนักนัก ในที่สุดก็สามารถเป็นไปได้ เงิน ๓ เทอม
ที่ให้นักเรียนฟรีทุกประเภท ประกาศว่า เทอมละ ล้านบาทเศษ ไม่ใช่น้อยเลย นี่ยังไม่คิดค่าเงินเดือนครู
จุไรจึงถามต่อไปว่า คุณป้า คุณป้ามาที่วัดเสมอทุกเดือนใช่ไหม
ป้าน้อยก็บอกว่า หลานรัก ป้าไม่ได้มาทุกเดือน บางเดือนมาหลายครั้ง และก็มาช่วยหลวงปู่ท่านสอนกรรมฐานบ้าง ช่วยทำอาหารบ้าง
หาเงินมาทำอาหารถวายพระบ้าง ถวายหลวงปู่บ้าง ป้ามีความห่วงท่านมาก เพราะท่านก็อายุมากแล้ว งานท่านก็หนัก
จุไรจึงถามว่า คุณป้าอยากจะถามจริง ๆ เถิดว่า วัดท่าซุง ตั้งแต่หลวงปู่มาอยู่นี่ จนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้นะ
ค่าก่อสร้างสิ้นไปเท่าไร หมดเงินไปเท่าไร
ป้าน้อยก็บอกว่า ค่าก่อสร้างวัดนี้นะ มีเท่าไรเดี๋ยวป้าจะอ่านให้ฟัง ป้าน้อยก็หยิบเอา หนังสืออ่านเล่น เล่มที่ ๘
มาเปิดตรงหน้าต้น ก็เลยบอก
หลวงปู่ท่านประกาศไว้ที่หน้าต้นนี่ ให้บรรดาประชาชนรู้ว่า ราคาสร้างวัดจริง ๆ นั้น ไม่มีใครรู้
จุไรก็บอกว่า หนูรู้
ป้าน้อยก็ถามว่า หนูรู้มาจากไหน
จุไรก็บอกว่า หนูรู้มาจากโทรทัศน์ แต่ราคาทางโทรทัศน์ไม่เหมือนกัน การดูโทรทัศน์ครั้งแรก ช่องหนึ่ง ก็ช่องหนึ่ง คนละช่อง
คำว่า ช่องหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่า ช่อง ๑ เลยทีเดียว คือ ช่องแรกที่ดู เขาบอกว่า วัดท่าซุง เป็น วัดพันล้าน ต่อมาอีกช่องหนึ่ง รายการต่อมา ออกข่าว วิหาร
๑๐๐ เมตร เหมือนกัน วิหารแก้ว บอกว่า วัดท่าซุง เป็น วัดราคา ๔ พันล้าน
หนูก็คิดว่า เวลาห่างกันไม่เกินหนึ่งเดือน ทำไมหลวงปู่จ่ายเงินไปถึง ๓ พันล้าน ก็น่าแปลกใจ ท่านได้เงินมาจากไหน
ป้าน้อยฟังหลานสาวแล้วก็ยิ้ม ก็บอกว่า จุไรหลานรัก ป้าจะอ่านให้ฟัง นี่เป็นการประกาศให้ทราบของหลวงปู่ คอยฟังให้ดีนะ
ท่านบอกว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ปีนั้น เป็นปีเริ่มสร้างพระอุโบสถ และก็สร้างโรงพยาบาล
จนกระทั่ง ถึงเดือนสิงหาคม ๒๕๓๒ ค่าใช้จ่ายทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะค่าก่อสร้าง ค่ากิน ค่าของใช้ ค่าพาหนะทุกอย่าง ค่ายารักษาโรค ที่ขึ้นชื่อว่า จ่าย
ก็จด เจ้าหน้าที่เขามีหน้าที่จด คือ ป้านนทา อนันตวงศ์ คนนี้ จดตรงไปตรงมาเปี๊ยบ ก็สรุปแล้วว่า ค่าใช้จ่ายทุกอย่างของวัดท่าซุง ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๗
ถึง เดือนสิงหาคม ๒๕๓๒
จ่ายไปแล้วจริง ๕๓,๓๒๗,๔๖๙ บาท ๓๖ สตางค์ มันยังไม่ถึง พันล้าน และท่านบอกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในรายจ่ายทั้งหมดนี้
มีเงินค่าก่อสร้าง ที่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนถวาย เพื่อค่าก่อสร้างโดยตรง ๑๙๗,๘๓๔,๙๙๓ บาท ๗๕ สตางค์
ฉะนั้น รายรับ ๑๙๗ ล้าน เอาถ้วนก่อน และก็รายจ่าย ๓๕๓ ล้านเศษทั้งนั้นนะ ก็ยังจ่ายเกินไป ๑๕๕,๔๙๒,๔๗๕ บาท ๖๑ สตางค์ ที่จ่ายเกินไปนี่
เงินที่ได้มาจ่ายเกินไป คือ
๑. เงินผาติกรรมสังฆทาน
๒. เงินค่าวัตถุมงคล ที่คนรับวัตถุมงคลไปแล้ว มอบสตางค์ให้แก่วัด
๓. คนที่ทำบุญไม่จำกัดประเภท วางเฉย ๆ และประการที่
๔. เงินที่ถวายเป็นส่วนตัว เพื่อหลวงพ่อใช้เป็นส่วนตัว
รวมความว่าเงิน ๔ ประเภทนี้ หลวงปู่จัดมารวมในการใช้จ่ายในวัดทั้งหมด ๑๕๕,๔๙๒,๔๗๕ บาท ๖๑ สตางค์
จุไรก็บอกว่า โอ้โฮ เงินเยอะเหลือเกินนี่นะ และการก่อสร้างหลวงปู่ เห็นประกาศว่าเป็นหนี้เสมอ ๆ ใช่ไหม
ป้าน้อยก็บอกว่า ใช่ หลวงปู่สร้างนะ เป็นหนี้ ถ้าไม่เป็นหนี้ก่อน ก็ไม่มีเงินสร้าง และเมื่อทำไปแล้ว
ญาติโยมหรือท่านที่มีศรัทธา เห็นเข้ามีความเลื่อมใส ก็ช่วย ดูตัวอย่าง วิหาร ๑๐๐ เมตร ที่หลานนั่งอยู่นี่ หลานสงสัยไหมว่า ราคาเท่าไร
จุไรมองไปมองมา ก็บอก หนูเป็นเด็ก หนูกะประมาณราคาไม่ได้ แต่ว่าเมื่อตอนเช้า ตอนสายนิด ระหว่างเช้า เห็นคนเขาคุยกัน บอกว่า
เขามาดูวิหาร ๑๐๐ เมตรแล้ว เห็นว่า ราคาอาจจะถึง ๑๐๐ ล้านบาท
ป้าน้อยก็ยิ้ม ก็นั่นแหละการคาดคะเนราคา ไม่เสมอกันกับความเป็นจริง แต่ความเป็นจริง หลวงปู่ท่านบอกแล้วว่า วิหาร ๑๐๐ เมตรนี่
เสียค่าใช้จ่ายจริง ๆ ๑๐ ล้านเศษ ไม่ใช่ เป็นร้อย เป็นพันล้าน ๑๐ ล้านเศษ ประมาณ ๑๗ ล้านกว่า
ป้าน้อยก็บอกว่า ดูตัวอย่าง อย่างหินอ่อนนี่ ท่านซื้อมา ๑,๒๖๔,๓๔๑ บาท และก็กระจกทั้งหลังนี่ท่านซื้อมา ๔,๔๗๗,๗๘๕ บาท
รวมสองอย่างนี้ ทั้งหมดราคา ๕,๗๔๒,๑๒๖ บาท และการก่อสร้างในฐานะที่ เป็นปูน หิน ทราย เหล็ก ทั้งหมด รวมทั้งค่าจ้างด้วยประมาณ ๗ ล้านเศษ คิดเฉลี่ยแล้ว
ตามอัตรานี้ประมาณ ๑๒ ล้านเศษ
นี่ยังไม่ได้คิดค่าแรงงาน รวมค่าแรงงานทั้งหมด รวมค่าของจุกจิกทุกอย่าง เครื่องประดับประดาทั้งหมดแล้ว แต่ว่ายังไม่คิดค่าโคมไฟ ค่าโคมไฟนี่จริง ๆ
ก็เป็นเรื่องเขามีเจ้าของ ท่านบอกว่าประมาณ ๑๗ ล้านเศษ ๆ ไม่แพง
จุไรก็ถามว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หินก็ดี กระจกก็ดี ย่อมมีราคาแพง หลวงปู่ท่านเอาสตางค์ที่ไหนมาซื้อ
ป้าน้อยก็บอกว่า ท่านซื้อตามเงินที่คนทำบุญ เพราะว่า อัตราค่าหินนี่ หินจริง ๆ หินแผ่นเล็ก หินอ่อน ราคา ตารางเมตรละ ๒๕๐
บาท และกระจก กล่องละ ๘๕ บาท
ท่าน ก็บอกราคาจริง ๆ แก่ญาติโยมว่า หินนี่ ตารางเมตรละ ๒๕๐ บาท และกระจก กล่องละ กล่องเล็ก ๆ นะ กล่องย่อม กล่องละ ๘๕ บาท
ทีนี้ คนที่มีศรัทธา ก็เบาใจ คนหนึ่งจะเอา ๑ ตารางเมตรก็ได้ หรือ ๓-๔ คน จะเอา ๑ ตารางเมตรก็ได้ กระจกคนหนึ่งรับกระจก ๑ กล่องก็ได้ หลาย ๆ คนรับกระจก
๑ กล่องก็ได้ อาศัยของน้อยราคาถูก แต่ว่าคนทำบุญไม่หนักใจ จึงช่วยกันเข้ามา ในเมื่อได้มาเท่าไร ท่านก็ปิดกระจกเท่านั้น
จุไรจึงถามว่า การเป็นมาของการสร้างวิหาร ๑๐๐ เมตรนี่ คุณป้าทราบไหมว่า หลวงปู่ตั้งใจจะทำขนาดไหนกันแน่
และมีเหตุผลเป็นมาประเภทใด
คุณป้าน้อยก็บอกว่า หลาน เวลานี้เราคุยกันสองคนสบาย ไม่มีใครขัดคอ ความจริงเป็นอย่างนี้นะ หลวงปู่เล่าให้ป้าฟังว่า เมื่อปี
พ.ศ. ๒๕๒๘ กับ พ.ศ. ๒๕๒๙ หลวงปู่ป่วยหนักมาก เกือบจะเอาชีวิตไม่รอดหลายครั้ง
ท่านก็มีความรู้สึกว่า ขณะนี้ได้สร้างพระ ๓๐ ศอกองค์หนึ่งแล้ว ชื่นใจ นอนหลับตา ลืมตาเมื่อไร ก็เห็นภาพพระ ชัดเจนแจ่มใส
จับอารมณ์ทรงตัว และความรู้สึกอยากจะสร้างท่านก็เลยคิดในใจว่า ถ้าบุญบารมียังจะสามารถทรงชีวิตอยู่ได้ ขอให้อาการที่เป็นอยู่นี้ บรรเทาลงบ้าง
ไม่ใช่หายเลย เพราะเวลานั้น อาการเครียดมาก
ปัสสาวะคั่งหลายหน ถ่ายปัสสาวะไม่ออก เรียกว่า คาท่อปัสสาวะ ไม่ถ่ายปัสสาวะ ท้องโป่ง เจ็บมาก จนกระทั่งศาสตราจารย์นายแพทย์ประสิทธิ์ ฟูตระกูล
อยู่จุฬาลงกรณ์ อุตส่าห์มาสวนปัสสาวะออก น้ำออกตั้ง ลิตรครึ่ง และในกาลต่อมาก็เป็นอีก เขาสันนิษฐานกันว่า อาจจะเป็นลูกหมากโตก็ได้ แต่หลวงพ่อก็บอกว่า
ไม่ใช่ลูกหมากโต
ท่านบอกว่า ท่านโกมารภัจจ์บอกนี่คุณน้อยพูดนะ ท่านโกมารภัจจ์บอกว่า ไม่ใช่ลูกหมากโต ถ้าไปรักษาลูกหมากโตจะผิด
จะเจ็บตัวเปล่าเพราะจะต้องถูกผ่า ความจริงอาการทางอุจจาระแข็ง อุจจาระไปเบียดทางเดินของปัสสาวะ ท่านให้ไปล้างท้อง ในเมื่อล้างท้อง ก็บรรเทา
แล้วก็หายไป ฉะนั้น อาการขัดเบาปรากฏขึ้น ก็มีการล้างท้อง ก็หายไป ก็เป็นอันว่า ไม่ต้องผ่าท้องปีนั้น
หลวงปู่ท่านบอกว่า มันอาจจะไม่สิ้นปี อาจจะตายก็ได้ จึงตั้งใจคิดว่า ถ้าหากบุญวาสนาบารมี มีจริง ก็ขอให้มีโอกาสสร้างพระ
สักองค์หนึ่ง คือ พระหน้าตัก ๘ ศอก หรือว่าถ้าจะตายจริง ๆ ก็ไม่ว่า ตายขณะนี้ก็ไม่แปลก ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่า บุญทำมามากแล้ว
มันจะไปไหนก็ไปเถิด ท่านว่าอย่างนั้น
และป้าน้อยก็บอกว่า หลานรัก พวกเราไม่อยากให้หลวงปู่ตาย อยากให้หลวงปู่มีชีวิตอยู่ เพื่อเป็นมิ่งขวัญของเราต่อไป
เป็นกำลังใจของพวกเราต่อไป หลังจากนั้นไม่ช้านัก คุณสุชาดี มณีวงศ์ เจ้าของรายการกระจกหกด้าน ช่อง ๗ เวลาประมาณ ๑๙ นาฬิกาเศษ ๆ นิดหน่อย ก็มาที่วัด
ท่านทำบุญอย่างอื่น หลายรายการแล้ว
แต่ก็มีรายการพิเศษ คือ เซ็นเช็คมา ๑๐๐,๐๐๐ บาท ถวายหลวงปู่ บอกว่า หลวงปู่จะทำอะไรก็ได้ตามอัธยาศัย นี่ป้าเรียก หลวงปู่ ตามหลานนะ
ตามปกติเขาเรียกว่า หลวงพ่อ คือ เขาไม่อยากให้ท่านแก่มาก ถ้าเรียกหลวงปู่ หลวงตา ท่านจะแก่มาก ก็เลยเรียก หลวงพ่อกัน ถึงเอาไว้ เมื่อถวายหลวงปู่ท่านไป
๑๐๐,๐๐๐ บาท เซ็นเช็คมา หลวงปู่ก็บอกว่า เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน เวลานี้ ฉันอยากจะสร้าง พระหน้าตัก ๘ ศอก ไว้ที่ร้อยไร่ ขอร่วมบุญด้วยก็แล้วกันนะ
เขาก็ดีใจโมทนา
ต่อมา คุณจันทนา วีระผล ทราบเข้า ก็เซ็นเช็คถวายมาอีก ๑๐๐,๐๐๐ บาท ถือว่าเป็นรายการพิเศษจริงๆ หลวงปู่ท่านบอกว่า ท่านสร้างอะไร ไม่เคยมีทุน
แต่รายการนี้ มีทุนเป็นพิเศษ นอกจากสร้างพระ ๓๐ ศอกที่มีทุน อย่างอื่นไม่มีทุน อย่างหมอประสิทธิ์ ฟูตระกูล นี่ก็ให้ทุนหลายหมื่นบาท ดูเหมือนจะเป็น ๖๐,๐๐๐
บาท
ก็รวมความว่า มีคนช่วยกันมาแล้วสองแสน ท่านก็คิดว่า ท่านแก่แล้ว ถ้าขืนทำอะไรใหญ่โต มันจะไม่ทันตาย จะเป็นภาระหนักกับพระ ก็บอกกับเจ้าของเงินว่า
จะสร้างพระหน้าตัก ๘ ศอก ไว้ที่ร้อยไร่ และก็สร้างแท่นขึ้นให้สูงหน่อย กันน้ำท่วม หลังจากนั้นก็ตั้งเสา ๔ เสา ทำหลังคาตรง และตั้งอีก ๔ เสา
ทำหลังคาเฉลียง มีช่อฟ้า หน้าบัน การดำริเป็นเช่นนี้
ในกาลต่อมา ท่านป่วยหนักลงไป พอจะลุกขึ้นเดินใกล้ ๆ ได้ไม่ไกลนัก ท่านก็ให้เจ้าหน้าที่ของวัด นำรถมารับท่าน ตั้งใจจะไปหาสถานที่ในร้อยไร่ สร้างพระ ๘
ศอก ท่านคิดว่า ท่านอาจจะตายเสียก่อนก็ได้ ปรากฏว่าเวลานั้น หลวงปู่องค์สำคัญ ที่หลวงปู่ของเรามีความเคารพนับถือมาก ท่านมาที่วัดพอดี ในเมื่อท่านมาสถานที่
ที่หลวงปู่ของเราพักอยู่ ไม่เห็น
ก็ถามพระว่า ท่านมหาวีระไปไหน
พระก็บอกว่า หลวงพ่อไปที่ร้อยไร่ครับ ท่านก็นั่งรถของท่านตามไปทันที พอไปถึงแล้ว
ท่านก็ถามว่า จะทำอะไร
ก็กราบเรียนท่านบอกว่า จะสร้าง พระพุทธรูปหน้าตัก ๘ ศอก
ท่านถามว่า จะทำอย่างไร ทำตรงไหน
ก็ชี้สถานที่ให้ท่านทราบ ท่านก็บอกว่า สถานที่ที่ตรงนี้ มันไม่เหมาะ มันลุ่ม และอยู่หลังวัดเกินไป คนที่จะมาไหว้ ก็มาลำบาก
และอีกประการหนึ่ง ถามว่า อาคารจะมีไหม
หลวงปู่ก็กราบเรียนท่าน บอกว่า มีอาคาร
ท่านถามว่า อาคารจะทำอย่างไร
ก็บอกว่า ปักเสาแรก ๔ เสา ทำเป็นตัวอาคาร หลังคาข้างบน มีช่อฟ้า หน้าบัน และปักอีก ๔ เสา เป็นเฉลียง
ท่านบอกว่า อย่างนี้ก็ไม่เหมาะสม ไม่สมควรกับพระที่มีความสำคัญมาก และก็บอกว่า เธอน่ะ แก่แล้วนะ ฉันก็รู้ว่า เธอแก่
ที่มานี่ห่วงเธอ เธอคิดว่า เธอแก่แล้ว เธอจะไม่ทำอะไรต่อไป ฉันก็คิดว่า ในเมื่อเราแก่แล้ว ควรจะทำการก่อสร้างทิ้งทวน นั่นหมายความว่า
ทำที่ระลึกสำคัญไว้จุดหนึ่ง ก่อนจะตาย เมื่อเวลาเราจะตาย จะได้เอาเป็นนิมิต ที่มีความสำคัญ ติดตา ติดใจไป
หลวงปู่กราบเรียนถามท่านว่า จะให้ทำอย่างไรครับ
หลวงปู่ที่เคารพของหลวงปู่ของเรา ที่หลวงปู่ของเราเคารพมาก ท่านก็สั่งว่าที่ตรงนี้ไม่เหมาะ ที่จ่าเพราะตรงโน้น หลังโรงพยาบาล ๒๗ ไร่เศษ เขากำลังขาย
ให้ไปซื้อที่นั่น
หลวงปู่กราบเรียนท่านบอกว่า เงินไม่มี
ท่านบอก ไม่เป็นไร เรื่องการเงิน ในเมื่อทำการซื้อ ประกาศเข้าก็มีคนเขาทำบุญมาเอง ตามกำลังศรัทธา อย่าตั้งกฎเรี่ยไร
ไปเรียกเขามาถามซิ
หลวงปู่ก็เลยกราบเรียนท่านบอกว่า เกรงใจเขา เขาเริ่มขายไปบ้างแล้ว
ท่านก็บอกว่า ไม่เป็นไร เขายังไม่ใช่ขายจริง ๆ เป็นแต่เพียงว่า มัดจำกัน เขาสามารถจะคืนกันได้ และก็ยกที่อื่นให้แทนได้
เขามีที่อีกต่างหาก ที่ชิดน้ำ
ในที่สุด หลวงปู่ก็กลับมาที่ศาลา ๒ ไร่ ก็ให้ ดาบตระกูล เปาริก ไปเชิญ จ่าเพราะ มา จ่าเพราะมา ก็ถามถึงราคาซื้อที่
จ่าเพราะก็กราบเรียนกับหลวงปู่ของเราว่า ถ้าหลวงพ่อต้องการจะซื้อ กระผมจะถวายครับ คำว่า ถวาย ไม่ได้ถวายทั้งหมด
คือว่า จะยอมขายให้ ในเมื่อหลวงปู่ของเราถามเขาว่า ราคาไร่ละเท่าไร เขาบอกว่า ไร่ละ ๔๐,๐๐๐ บาท กำลังขายอยู่เวลานี้นะ ไร่ละ ๔๐,๐๐๐ บาท และที่ที่เป็นทาง
หลวงพ่อทำทางเข้ามา ๓ ไร่เศษ อันนี้ ผมขอถวายไม่คิดเป็นเงิน และส่วนที่คิดราคานั้นก็คิดลดลงมาตามสมควร รู้สึกลดลงมาเป็นหมื่น ก็เป็นอันว่า
เป็นการตกลงซื้อ แต่ยังไม่มีเงินให้
สวัสดี
ll กลับสู่สารบัญ
|
|
6
จุไรถามสร้างวิหาร ๑๐๐ เมตร (ต่อ)
เมื่อจุไรฟังป้าน้อย ป้าน้อย นามสกุล กานดา นะ ก็อย่าลืมว่า ชื่อนี่สมมติขึ้นมาไปตรงกับ ชื่อของใคร และนามสกุลของใคร ก็ขออภัยด้วย
เพราะไม่มีเจตนาอย่างอื่น จุไรจึงถามป้าน้อยว่า คุณป้าที่นี่ราคาแพง ตั้งไร่ละ ๔๐,๐๐๐ บาท แต่ที่ ๒๗ ไร่เศษ เจ้าของตัดเศษทิ้งไป ส่วนที่เป็นเศษก็ดี
ยกพื้นที่อีก ๓ ไร่ ให้กับหลวงปู่ไม่เอาสตางค์
และก็ที่ทั้งหมด ที่เอาสตางค์ ก็ลดให้อีกหลายหมื่นบาท อยากจะถามว่า คุณจ่านี่อยู่ที่ไหน จ่าเพราะ ป้าน้อยก็บอกว่า ป้าก็เห็นว่า คุณจ่าเพราะนี่เคยมาทำบุญที่ศาลาพระพินิจ และก็บางครั้งเมื่อ ตาสง่า ไม่อยู่ ก็เป็นคนอาราธนาพระ อาราธนาธรรมแทน ก็อยู่ข้าง ๆ
กับโรงเรียนนี่เอง
และการก่อสร้างทั้งหมด คุณป้าน้อยก็บอกว่า หลานรักจำไว้นะ ที่หลวงปู่ประกาศไป สร้างวัดทั้งหมดด้วย สร้างโรงพยาบาลด้วย สร้างโรงเรียนด้วย
ซื้อที่อีกด้วย เพราะที่ที่วัดนี้จริง ๆ นะ มีแค่ ๖ ไร่ แต่เวลานี้ มีเนื้อที่เพิ่มขึ้น ๒๐๐ ไร่เศษ เป็นที่ซื้อใหม่ และจุไรก็ถามป้าน้อยต่อไปว่า
ในเมื่อตกลงซื้อที่แล้ว หลวงปู่เอาสตางค์ที่ไหนมาซื้อคะ
ป้าน้อยก็บอกว่า จ่าเพราะท่านไม่เร่งรัด ท่านบอกว่า จะให้เมื่อไรก็ได้ เพราะทราบว่าหลวงปู่ไม่มีสตางค์ ต่อมา
เมื่อประกาศยอมรับซื้อแล้ว จ่าเพราะก็พร้อมจริง ๆ จะให้โอนเมื่อไรก็ได้ จ่ายสตางค์หมด หรือจ่ายสตางค์ไม่หมด ยังไม่จ่ายสตางค์เลย โอนก็ได้ เชื่อใจกัน
เพราะว่า จ่าเพราะนี่ ยอมรับนับถือหลวงปู่มาก
และในที่สุด หลวงปู่ก็ประกาศให้บรรดาลูกหลานทราบ ลูกหลานทราบ ต่างคนก็ต่างทำบุญกัน คนละเล็ก คนละน้อย ตามกำลัง ต่างกำลัง
บางคนถึง ๑๐๐,๐๐๐ บาท อย่างเจ๊จันทนา วีระผล นี่คนอื่นเรียกว่า เจ๊ นะหลาน ป้าเรียกท่านว่า คุณแม่ คุณแม่จันทนา วีระผล คนนี้ ๑๐๐,๐๐๐ บาท
และคุณแม่จันทนานี่ ป้าเรียก แม่ นะ ก็ทำบุญอีกทุกเดือน เดือนละ ๗,๐๐๐ บาท เป็นประจำ ในเมื่อหลวงปู่เข้ากรุงเทพฯ คุณแม่ก็ต้องมาทำบุญ เดือนละ ๗,๐๐๐ บาท
แล้วหลังจากนั้น คนมากด้วยกัน ทำบุญคนละไม่มากนัก รายละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท เห็นจะมีรายเดียว นอกจากนั้นเป็น ๑,๐๐๐ บาทบ้าง บางรายก็ถึง ๑๐,๐๐๐ บาทบ้าง บางรายก็
๒๐ บาท ๓๐ บาทบ้าง รวมกันมากคนเข้าเพียงเดือนเดียวก็สามารถชำระหนี้ได้
เมื่อชำระหนี้เสร็จ ตอนที่หลวงปู่ท่านจะตีผัง ทำอาคาร ๑๐๐ เมตร แต่ความจริง ไม่ใช่อาคาร ๑๐๐ เมตร ท่านตั้งใจว่า จะทำเป็นเสาตั้งขึ้น สูงประมาณ ๑ เมตร
ใช้เนื้อที่ประมาณ ๔ ห้อง ยาวประมาณ ๔ ห้อง กว้างประมาณ ๒ ห้อง จะสร้างแท่นพระบนพื้น แล้วก็ทำหลังคา มีช่อฟ้า หน้าบัน จั่วเล็ก ๆ
และนอกจากนั้น พื้นต่อไป ก็ไม่มี ท่านกะเท่านี้ คิดว่า เงินมีอยู่ ๒๐๐,๐๐๐ บาทเศษ ๆ สร้างเท่าที่เงินจะพึงมี ทั้งนี้เพราะท่านรู้ตัวว่า ท่านแก่แล้ว
และก็ป่วยไข้ไม่สบายมาก ถ้าขืนทำใหญ่ ๆ ความตาย จะเข้ามาถึงเมื่อไร ก็ไม่ทราบ จะเป็นเรื่องหนักใจกับพระที่อยู่เบื้องหลัง แต่ทว่าหลานรัก เหตุการณ์ต่าง ๆ
ก็กลับกลายอีก
ในเมื่อการซื้อที่เสร็จ โอนที่เสร็จ หลวงปู่ท่านจะไปตีผังทำเล็ก ๆ คำว่า ผัง ก็คือ กะพื้นที่ทำการก่อสร้าง ขณะที่ท่านไปที่นั้น
ก็มี คุณนิรัตน์ เลาหะสุรโยธิน กับภรรยา คือ คุณสุรัตนา และก็ช่างเชียร ช่างชิต และหลาย ๆ คน และก็นายดาบตระกูล เปาริก และก็จ่าตำรวจ พเยาว์
นามสกุลจำไม่ได้
อยู่ที่นั้นก็บังเอิญ หลวงปู่ใหญ่ คำว่า หลวงปู่ใหญ่ ก็หมายความว่า ท่านเป็นพระผู้ใหญ่จริง ๆ และก็เป็นพระที่หลวงปู่ของเรา เคารพนับถือมาก
ท่านก็มาพอดี และท่านก็ถามว่า จะสร้างที่ตรงไหน หลวงปู่ของเราก็กราบเรียนท่านบอกว่า จะสร้างที่ตรงนี้ ท่านถามว่า จะสร้างใหญ่สักเท่าไร
หลวงปู่ก็บอกว่า ใช้ที่ยาวสัก ๔ ห้อง ห้องละ ๔ เมตร และกว้างสัก ๒ ห้อง เท่านี้ก็พอ ทำพระ ๘ ศอกขึ้น แล้วก็ตั้งเสา ทำหลังคา ตามที่พูดมาแล้ว
ท่านก็บอกว่า ทำเท่านั้นก็ดี แต่ว่าทางที่ดีแล้ว ควรจะกะให้ยิ่งไปกว่านั้น เอาแค่สตางค์ที่ญาติโยมทำบุญมา แล้วก็ทำต่อไป ถ้าเรายังไม่ได้สตางค์
เราก็ยังไม่ทำ กำหนดพื้นที่ไว้ก่อน เราทำเฉพาะเงินที่เรามีอยู่
หลวงปู่ของเราก็ถามหลวงปู่ใหญ่ ท่านบอกว่า จะให้ทำอย่างไร
ท่านก็เลยบอกว่า เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ตีผังเข้า ทีแรกคุณจะเอายาวไปทางไหน
หลวงปู่ของเราก็กราบเรียนท่านบอกว่า ทีแรกจะเอายาว จากใต้ไปเหนือ
หลวงปู่ใหญ่ท่านบอกว่า ไม่ถูก ทางที่ดีต้องยาว จากตะวันตกไปตะวันออก หันหน้าไปทางทิศเหนือ แล้วก็ไม่ใช่ยาว ๔ ห้อง
ต้องเป็นยาวจริงๆ ๑๐๐ เมตร คือ ๒๕ ห้อง และกว้าง ๒๘ เมตร คือ ๗ ห้อง ตั้งเป็นอาคาร เรียกว่า อาคาร ๑๐๐ เมตร ทำเสาตอม่อให้ครบพื้นที่
เข้าใจว่าเวลานี้เงินมี ๒๐๐,๐๐๐ บาทเศษ กว่าจะตั้งเสาเสร็จ ก็คงมีคนมาทำบุญพอ มากบ้าง น้อยบ้าง อย่าหนักใจ เมื่อตั้งเสาเสร็จแล้ว ถ้ามีเงิน
ต่อไปก็เทพื้นให้เต็ม ที่เป็นพื้นแรก เมื่อเทพื้นเสร็จ ก็ตั้งพระพุทธรูป ถัดเข้ามาหนึ่งห้อง จากทิศตะวันตกหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ห้องทางซ้ายพระพุทธรูป
เป็นห้องบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
และหลังจากนั้น ถ้ามีสตางค์ก็ปั้นพระขึ้นมา ต่อมา ถ้าใครเขามีสตางค์มาให้อีก ก็ตั้งเสาไปตามสตางค์ที่มี หมดสตางค์เมื่อไร หยุดเมื่อนั้น
ได้สตางค์มาใหม่ ก็ทำต่อไป ถ้าตั้งเสาเสร็จ และมีคนให้สตางค์อีก ก็ทำพื้นชั้นบน เรียกว่า ดาดฟ้า เมื่อทำดาดฟ้าแล้ว ถ้าทำอย่างนี้ คนที่มาไหว้พระพุทธรูป ๘
ศอก เขาไหว้สบาย มีพื้นที่นั่งและหลังคาให้เขา แต่ให้ทำตามสตางค์ สตางค์ไม่มีก็เลิก
หลังจากนั้น ท่านก็บอกว่า ถ้าเขาให้สตางค์มาอีก (คำว่าเงิน ท่านเรียก สตางค์ พระผู้ใหญ่) ก็ก่อฝาขึ้น มีช่องโปร่งกลาง
มีช่องระบายอากาศผ่านได้ ต่อมา ถ้ามีสตางค์อีก ก็ตั้งอาคารทรงไทยข้างบน ไม่ต้องใหญ่โต ใช้กว้างเพียงแค่ ๔ เมตร ทำยอด เป็นแบบยอดปราสาท ๓ ยอด เป็นการบูชา
พระไตรสรณคมน์ คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์
ท่านก็แนะนำต่อไปว่า เท่าที่บอกมาทั้งหมดนี้นะราคาประมาณ ๔ ล้านเศษ ๆ ท่านบอกราคาเสร็จ ต่อมา ในเมื่อท่านสั่ง
หลวงปู่ของเราเชื่อท่านมานาน ยอมรับนับถือมานาน เมื่อท่านสั่งตามนั้น ก็สั่งช่าง ตีผังตามนั้น ในเมื่อสั่งช่างตีผัง หลวงปู่ใหญ่ท่านก็นั่งมอง ท่านก็ติบ้าง
ชมบ้าง ต่อบ้างเติมบ้าง ขยับนี้นิดขยับนี้หน่อย
ท่านก็ชี้บอกว่า ตรงที่สั่งให้สร้างพระพุทธรูปตรงนี้ และทำห้องพระบรมสารีริกธาตุตรงนี้ เพราะข้างล่างมีพระบรมสารีริกธาตุ
เป็นการรักษาของสำคัญของพระพุทธศาสนาเอาไว้ หลังจากนั้นท่านก็บอกว่า ฉันจะลาละนะ ฉันมาธุระเท่านี้ เห็นคุณกำลังจะตีผังเล็ก ๆ ก็ไม่เหมาะ
แต่ความจริง เราเป็นคนแก่ เราแก่แล้ว และใกล้จะตายแล้ว ก็ทำทิ้งทวน อาคารใหญ่ไว้เป็นหลังสุดท้ายของชีวิต หลังจากนี้ไปอาคารใหญ่ ๆ
จะไม่มีอีก ฉันจะไม่แนะนำให้สร้าง เลิกกัน เพราะว่า อย่างไร ๆ ก็ปล่อยมันไป ตายเพียงแค่นี้
แล้วท่านก็บอกว่า ฉันจะลา ก่อนที่ท่านจะขึ้นรถ ท่านก็บอกว่า เรื่องการเงินไม่สำคัญ ฉันจะช่วยให้คนมาทำบุญเอง
นั่นก็หมายความว่า ท่านจะแนะนำลูกศิษย์ลูกหาของท่าน ที่มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาช่วยกันทำบุญ
จุไรก็กราบเรียนคุณป้าน้อย ถามว่า คุณป้าเจ้าขา อยากจะทราบว่า หลวงปู่ใหญ่นี่อยู่ที่ไหน หนูอยากจะไปกราบบ้าง
ป้าน้อยก็บอกว่า ป้าน่ะเห็นเวลาท่านมาหาหลวงปู่ของเรานะ เวลาท่านมาหาหลวงปู่ของเราป้าเห็น ป้าได้ยินท่านพูด
ท่านมีร่างกายแก่แล้ว แต่เสียงเพราะมาก ลีลาการพูด ก็เพราะ มีเหตุมีผล น่ารัก ยิ้มแย้มแจ่มใส ดูปากก็สดชื่น เห็นแล้วก็ชื่นใจ น่าเลื่อมใส แต่ป้าเอง
ก็ไม่กล้าถามท่านว่า ท่านอยู่วัดไหน ครั้นไปถามหลวงปู่เราเข้า หลวงปู่ของเราก็บอกว่า ท่านไม่ให้บอกชื่อ วัดของท่าน ฉันจะบอกได้อย่างไร
เป็นอันว่า ถ้าใครเขายอมรับนับถือท่าน เขาบูชาท่าน เขาไหว้พระพุทธรูป ก็ถึงพระทุกองค์อยู่แล้ว
และคนทุกคนต้องเป็นสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่นับถือพระพุทธศาสนานะ พระทุกองค์ก็ถือว่า เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ถ้าเราถึงพระพุทธเจ้า
ถือว่าเราถึงทุกองค์
ในเมื่อหลวงปู่ของเรา ท่านบอกกับป้าอย่างนี้ ป้าก็ไม่รู้จะตอบอย่างไร หลังจากนั้น จุไรก็ถามป้าน้อยบอกว่า และอาคารหลังนี้เป็นกระจกมาได้อย่างไร
ป้าน้อยก็เล่าให้ฟังว่า ฟังไปก่อนป้าจะเล่าให้ฟัง เมื่องานทำแบบค่อย ๆ ทำ เป็นงานช้า ๆ ไม่ใช่งานเร่งรีบ เมื่อทำไปถึงขึ้น ตั้งคานทรงไทยบนหลังคาแล้ว
แต่ว่าอาคารทรงไทยและอาคารใหญ่ยังไม่เสร็จ
เป็นแต่เพียงว่า มีกำแพง เริ่มมีอาคารทรงไทย คนก็ค่อยทำบุญมากขึ้น ๆ ตามลำดับ ทุกคนเห็นเข้าก็ปลื้มใจ คิดว่าหลวงปู่ของเราท่านทำของชิ้นสุดท้าย
ท่านจะตายไปกับของชิ้นนี้หรือไม่ ก็ไม่ทราบ แต่ป้าขอบอกอะไรอีกนิดหนึ่ง ช่างที่ทำนี่เป็นสองกลุ่มนะ คือ ช่างที่วัดเวลานั้น
สองกลุ่ม สำหรับ ช่างพร หนูสำเภา เป็นหัวหน้าในการก่อสร้าง ๒๐ ไร่ ทาง ๒๐ ไร่โน้น
ทางด้านใต้ติดกับคลองยาง ช่างชิต เป็นหัวหน้าการก่อสร้างวิหาร ๑๐๐ เมตร และก็ ช่างวิเชียร เป็นช่างก่อสร้างอาคารรอบ ๆ
หอพักหญิงข้างหลังวิหาร นั่นสร้างพร้อมกัน แล้วก็รอบตัวอาคาร สร้างพร้อมกัน การสร้างทีเดียวพร้อมกันหลาย ๆ อย่าง ก็เป็นการหนักเงินมาก แต่หลวงปู่ท่านก็อดทน
ท่านก็บอกกับป้าบอกว่า ไหน ๆ พ่อก็จะตายแล้ว มันเป็นวันเวลาใกล้ตายเข้ามาเต็มที การประวิงเวลา ตามหลักวิชาการก็ดี
บนบานศาลกล่าวก็ดี จะมีผลเพียงใด ฉันไม่ทราบ ฉันทราบแต่เพียงว่า ชีวิตฉัน เดินใกล้ความตายเข้าไปทุกวัน ฉันก็ไปหนักใจอยู่นิดว่า ฉันจะสร้างเสร็จ
หรือไม่เสร็จ และไม่แน่ใจ
ก็เป็นอันว่า ถ้าสร้างเสร็จ ก็เสร็จไป ถ้าไม่เสร็จ ก็ปล่อยให้เป็นภาระของคนเบื้องหลัง คนเบื้องหลัง พระเบื้องหลัง
ท่านเห็นควรสร้างต่อ ท่านก็สร้าง ท่านไม่เห็นสมควรสร้างต่อ ท่านก็ไม่สร้าง แต่การจะทำอะไรขึ้นมาทุกอย่างนี่ มันมีอานิสงส์ก่อน พอตั้งใจ
อานิสงส์ก็เกิดทันทีลงมือทำแม้แต่ยังไม่เสร็จ อานิสงส์ก็ได้ครบทันที เพราะตั้งใจทำให้เสร็จ
นี่หลวงปู่ของเรา ท่านพูดอย่างนี้นะ ต่อมาปรากฏว่า เมื่อสร้างพระพุทธรูปขึ้นมาแล้ว เป็นพระพุทธรูปพระชินราช ทำเสาขึ้นมา วันหนึ่งหลวงปู่ใหญ่ท่านก็มา
ท่านก็มาเรียกหลวงปู่ของเรา ไปที่วิหาร ๑๐๐ เมตร ท่านก็ชี้ให้ดูว่า เพดานของพระพุทธชินราชนี่ ถ้าเราจะปิดกระจกเงาสักหน่อยจะดีไหม
จะทำให้เกิดสวยสดงดงาม น่าเลื่อมใสขึ้น และน่าชื่นใจกับบุคคลผู้เห็น
หลวงปู่ของเราก็บอกว่า ดี
ท่านบอกว่า ถ้าบังเอิญคนเขาทำบุญมากกว่านั้น ปิดกระจกข้างหลังเสียด้วยนะ ปิดฝาหลังเป็นกระจกด้วย ปิดเพดานด้วย อย่างนี้
จะสร้างความสดชื่น กับบุคคลผู้พบเห็น
ในเมื่อหลวงปู่ของเรารับแล้ว ท่านก็กลับ ท่านมาประเดี๋ยวเดียว หลวงปู่ก็สั่งซื้อกระจก ความจริง กระจกนี่ ก็ซื้อมากไม่ได้ อันดับแรกจริง ๆ
ซื้อกระจกที่มีคุณภาพต่ำนิด เพราะยังไม่พบกระจก ที่มีคุณภาพสูงกว่า กล่องใหญ่ กล่องละ ๘,๗๐๐ บาท ขอโทษ! กล่องละ ๗,๕๐๐ บาท อันนี้ซื้อมา ๒-๓ กล่อง
และภายหลังต่อมาก็ซื้อกล่องใหญ่ คือ กล่องใหญ่นี่มี ๑๐๐ กล่องเล็ก กล่องละ ๘,๕๐๐ บาท ภายหลังนี่นะ อันนี้ซื้อมาก ต่อมา ในเมื่อหลวงปู่ท่านรู้ราคากระจก
ท่านก็บอกกับลูกหลานที่มาว่า กระจกปิดพระนี่นะ กล่องใหญ่ กล่องละ ๘,๕๐๐ บาท ถ้ากล่องเล็กละก็ กล่องละ ๘๕ บาท ใครจะทำบุญด้วยก็ได้นะ ตามกำลังศรัทธา
เอากันคนละกล่องเล็ก หรือ ๔ คนกล่องเล็ก หรือเอาคนละกล่องใหญ่ ก็ตามใจ ตามศรัทธา เพียงเท่านี้ละหลานรัก ปรากฏว่า เงินค่ากระจกมาลิ่ว มึง กล่อง กู
กล่อง กล่องเล็ก บางท่าน เอาลังใหญ่เลย ลังละ ๘,๕๐๐ บาท ก็มีหลาย ๆ ท่าน ขนาดบริจาคยกลัง แต่คนที่มีทุนน้อยก็มี ๓ คน ๔ คน กล่องเล็ก กล่องละ ๘๕ บาท
ท่านที่มีทุนมากหน่อย ก็คนละกล่องบ้าง ๒ กล่องบ้าง กล่องละ ๘๕ บาท ของมาก มาจาก ของน้อย เป็นอันว่า เงินค่ากระจกไม่คั่นก็ปิดได้ตลอด ในเมื่อปิดได้ตลอด
ฝาและเพดาน ต่อมาหลวงปู่ของเราก็คิดว่า ถ้าหากว่าจะปิดเสาด้วยจะดีไหม ก็ปรึกษากันบอกว่า การเห็นที่จังหวัดเชียงใหม่ เขาเอากระจกปิดเสาดูแล้วมันชื่นใจดี
ก็พอดีวันรุ่งขึ้นหลังจากที่ปรึกษากันแล้ว หลวงปู่กับพระ กับเจ้าหน้าที่ หลวงปู่ใหญ่ท่านก็มาบอก เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน อย่าปิดแต่เสาเลย
ปิดเพดานทั้งหมดหลัง ปิดฝาทั้งหมด ก็แล้วกัน ปิดเสาด้วย ก็กราบเรียนถามท่านว่า กระจก จะมีพอหรือ ค่าแรงงาน จะมีพอหรือ
ท่านบอกว่า ค่าแรงงาน เอาอย่างนี้ก็แล้วกันนะ เงินค่าวัตถุมงคลบ้าง เงินสังฆทานบ้าง และก็เงินถวายเป็นส่วนตัวบ้าง
และก็เงินที่เขาถวายไม่จำกัดประเภทบ้าง อย่างนี้ทั้งหมด เรามาใช้ค่าแรงงาน กับการก่อสร้างทุกอย่างได้
แล้วก็หันมาถามหลวงปู่ของเราว่า เงินที่ถวายเป็นส่วนตัว เธอเก็บไว้เท่าไร
หลวงปู่ของเราก็บอกว่า ไม่มี จ่ายหมดทุกเดือน พร้อมกับเงินสงฆ์ ทำการก่อสร้างบ้าง จ่ายภายในบ้าง ค่าอาหารการบริโภคของพระ
ค่ากระแสไฟฟ้า
ค่ากระแสไฟฟ้า เมื่อปีที่แล้วมา จ่ายเดือนสุดท้าย เดือนตุลาคมถึงเดือนละ ๑๒๐,๐๐๐ บาท จุไรฟังแล้วก็หูอื้อ บอก คุณป้า ค่าไฟฟ้านี่องค์การเก็บเดือนละ
๑๒๐,๐๐๐ บาท เชียวหรือ ป้าน้อยก็บอกว่าไม่ใช่ ๑๒๐,๐๐๐ บาทถ้วน นะหลานรัก ๑๒๐,๐๐๐ บาทเศษ แต่เวลานั้น ดวงโคมแสงสว่างไฟฟ้า ยังไม่สว่างเท่านี้
น้อยกว่านี้เยอะ น้อยกว่านี้เท่าตัวกว่า
เรียกว่า ถ้า คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ก็ประมาณ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ของปัจจุบัน หลวงปู่ของเราเห็นท่าสู้ไม่ไหว ก็ปั่นเครื่องใช้เอง ใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าเอง
หลังจากเขาเก็บเดือนละ ๑๒๐,๐๐๐ บาทเศษ พอปั่นเครื่องใช้เอง เดือนแรกเสีย ๕๐,๐๐๐ บาทเศษ ปั่นทั้งวัด ไม่ได้หรี่ไฟเลย
ก็เป็นอันว่า เวลานี้คิดว่า ถ้าติดไฟครบ คงจะต้องจ่ายเดือนละ ๑๐๐,๐๐๐ บาทเศษ แต่ว่า ถ้าคิดจะใช้ไฟองค์การอาจจะถึง ๓๐๐,๐๐๐ บาทเศษ ต่อมา
เมื่อหลวงปู่ใหญ่ท่านบอกอย่างนั้น หลวงปู่ของเราก็แจ้งให้บรรดาลูกหลานทราบ ทุกคนก็พร้อมใจกัน และต่อมาหลวงปู่ของเราก็คิดว่า เสาแต่ละต้น มีคนถามว่า
ราคาเท่าไร จึงให้เจ้าหน้าที่ไปคิด
คิดค่าเหล็ก ค่าทราย ค่าหิน ค่าปูน เสร็จ ค่าแรงงานด้วย ทำเสาแล้วก็คิด ค่ากระจกเท่าไร ค่าแรงงานของกระจกเท่าไร
เมื่อคิดเบ็ดเสร็จแล้ว ได้ราคาต้นละ ๑๒,๐๐๐ บาท พอบอกราคา ๑๒,๐๐๐ บาท ก็ปรากฏว่า มีเจ้าภาพเยอะขึ้น
เอาละ บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย เวลาหมดแล้ว ขอลาก่อน ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล จงมีแด่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนผู้อ่านทุกท่าน
สวัสดี
ll กลับสู่สารบัญ
ในวิหาร ๑๐๐ เมตร
ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย ต่อนี้ไปก็ฟังเรื่อง จุไรกับคุณป้าน้อย คุยกันต่อไป หลังจากที่คุย จบกันไปตอนหนึ่งแล้ว ทั้งสองคนป้าหลาน นั่งพัก ดื่มน้ำ
หายเหนื่อย จุไรก็เริ่มต้นขึ้นมาว่า คุณป้าเจ้าคะ เวลานี้เรานั่งกันอยู่หน้าพระพุทธชินราช และพระพุทธชินราชองค์นี้ สวยงามมากพอสมควร อยากจะถามว่า
ช่างที่ไหนปั้น
ป้าน้อย นามสกุล กานดา ก็ตอบว่า หลาน ช่างที่ปั้น และช่างที่ประดับ เขาเป็นช่างสองคน เป็นสามีภรรยากัน คือ นายช่างประเสริฐ แก้วมณี
สามี เป็นช่างปั้น และนางจำเนียร แก้วมณี ภรรยา เป็นช่างประดับ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทั้งพระพุทธรูปก็ดี คือ พระพุทธชินราชองค์นี้ พร้อมทั้งแท่น
แรงงานทั้งหมด ตั้งแต่ปั้น และประดับ
ตลอดจนปิดทองทั้งหมด นายช่างประเสริฐ กับ จำเนียร แก้วมณี สองสามีภรรยานี้ เขาถวายแรงงานทั้งหมด
และก็จุไรก็ถามคุณป้าน้อยว่า แรงงานของเขาเท่าไร
คุณป้าน้อย ก็บอกว่า แรงงานของเขาจริง ๆ ราคามันเป็นหมื่น แต่ทว่าเขาไม่ได้บอกหลวงปู่
หลวงปู่ถามเขาแล้ว เขาบอกราคาเป็นหมื่น ความจริงหลายหมื่น แต่เขาบอกว่า เขาไม่เอาค่าแรงงาน ทั้งนี้เพราะว่า
เขาเป็นช่างปั้นวัดนี้ทั้งหมด
จุไรจึงถามคุณป้าน้อยว่า คุณป้าเจ้าขา หนูอยากจะถามว่า พระพุทธรูปก็ดี ช่อฟ้า หน้าบันก็ดี ของวัดนี้ทั้งหมด เป็นฝีมือของใคร
คุณป้าน้อยก็บอกว่า ส่วนใหญ่เป็นฝีมือของช่างประเสริฐ เป็นช่างปั้น และการประดับประดา และการปิดทองเป็นฝีมือของ จำเนียร
ซึ่งเป็นภรรยา คอยควบคุมงาม แต่ว่าบางส่วน อย่างเช่น อุโบสถ เฉพาะตัวพระอุโบสถ ช่อฟ้า หน้าบันนี้ เป็นหน้าที่ของ ช่างเยี่ยม อำเภอโกรกพระ
จังหวัดนครสวรรค์
และจุไรก็ถามป้าน้อยว่า ฝีมือการปั้นของเขาทั้งหมด เรียกว่า ทั้งวัดที่เห็นมานี่ รู้สึกว่า วิจิตรพิสดาร สวยสดงดงาม น่ารัก
อยากจะทราบว่า ช่างปั้น ช่างประดับ ทั้งสองคนนี้ จบอะไรมา
คุณป้าก็ยิ้ม คุณป้าน้อยก็บอกว่า เห็นหลวงปู่ท่านบอกป้า ท่านบอกว่า สองคนนี่เป็น ดุษฎีบัณฑิตประถม คำว่า บัณฑิต ท่านอธิบายว่า
เป็นผู้รู้ ก็หมายความว่า เป็นผู้รู้ขั้นประถม จบประถมปีที่ ๔ ทั้งสองคน และช่างก่อสร้างทั้งหมด คือ ช่างชิต แก้วแดง ช่างวิเชียร พัฒนพันธ์ และก็ช่างพร
หนูสำเภา ช่างพเยาว์ ทั้งหมดนี้จบ ป. ๔ หมด
จุไร จึงบอกว่า เห็นคนที่เขามาดู เขาพูดว่า ช่างที่นี่ เห็นหลวงปู่บอกว่า จบ ป. ๔ เขาไม่เชื่อ เขาบอก ช่างจบ ป.๔ ทำไม่ได้
ป้าน้อยก็บอกว่า ฝีมือทุกอย่าง ช่างก่อสร้างก็ดี ช่างประดับก็ตาม ช่างปั้นก็ตาม ที่นี่ ป. ๔ ทั้งหมด ป้าจึงเรียกว่า
ดุษฎีบัณฑิตประถม คำว่า ดุษฎี หมายถึงว่า เงียบ
ไม่ต้องทำต่อไป จบ บัณฑิต ก็หมายถึง รู้ ประถม คือ ประถม ก็มีความรู้ จบประถมปีที่ ๔ ในระหว่างนั้น การเกณฑ์เข้าเรียน เกณฑ์แค่
ป. ๔
ต่อไปจุไรก็ถามว่า ที่พระบรมสารีริกธาตุ ที่เป็นเจดีย์ภายในวิหารนี้ ใครปั้น
ป้าน้อยก็บอกว่า เรื่องปั้น ก็เป็นช่างประเสริฐ ประดับ ก็เป็นช่างจำเนียรเหมือนกัน
แล้วเธอก็ถามว่า พระบรมสารีริกธาตุนี่ หลวงปู่ได้มาจากไหน
ป้าน้อยก็บอกว่า เห็นหลวงปู่ท่านบอกว่า ได้มาหลายทาง ส่วนหนึ่งที่ได้ มาจากการบูชา บูชาแล้วก็มาเอง ก็เยอะ และประการที่สอง
บรรดาญาติโยมให้มาก็มี บรรดาพระสงฆ์ทั้งหลาย ที่มีความเคารพในท่านให้มาก็มี และนอกจากนั้นส่วนใหญ่ ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต้องลงทุนกันมาก
คือ คณะชาวพิษณุโลก มี คุณลุงสันต์ ภู่กร กับคุณป้าเกศริน ภู่กร ทั้งสองคนได้นำคณะของท่าน ไปขอซื้อจากคนที่เขาขุด
เป็นพระบรมสารีริกธาตุ ที่เขาฝังไว้ เขาบอกว่า ตั้งแต่สมัย พระเจ้าศรีธรรมปิฎก คือ พระเจ้าพรหมมหาราช ฝังไว้ และก็วัตถุบูชามีพระพุทธรูป มีเทวรูปเยอะ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รายนี้ลงทุนมาก แค่ตลับใส่พระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งดูเหมือนว่า จะเป็นไม้จันทน์ เก่าแล้ว เขาเอาตั้ง ๒๐,๐๐๐
คนที่ขุดได้ เขาเรียกราคา ต้อง ๒๐,๐๐๐ บาท ท่านก็สู้ ทั้งนี้เพราะหวังเป็น พุทธบูชา
ในที่สุด จุไรก็ถามว่า เจดีย์ทอง ที่หลวงปู่มาตั้งทั้งสองข้างเป็นทองจริง ๆ หรือ
คุณป้าน้อยยิ้มก็บอกว่า เป็นทองจริง ๆ เอามาตั้งแบบนี้ไม่ได้ ต้องฝัง และที่ตั้งนี้ เป็นทองเหมือนกัน แต่เป็น ทองชุบ
หมายความว่า ชุบหนาแบบกระไหล่ ทั้งสององค์ แต่ที่เป็น ทองแท้ ๆ อยู่ข้างล่าง
เธอก็ถามว่า พระบรมสารีริกธาตุเท่าที่เห็น มีเท่านี้หรือมีอีก
คุณป้าน้อยก็บอกว่า มีอีกเยอะ ใส่เหยือกใหญ่ วันนั้นวันบรรจุ เห็นเทกันขนาดหนัก เทใส่เหยือกใช้เวลานาน พระบรมสารีริกธาตุ
ถ้าตวงเป็นลิตร ก็เกิน ๑๐ ลิตร
เธอก็ถามว่า ถ้าอย่างนั้น หลวงปู่ได้มาจากไหน
ป้าน้อยก็บอกว่า ก็เป็นธรรมดาที่ป้าบอกแล้วว่า คนอื่นให้มาบ้าง ท่านบูชาบ้าง
เธอก็ถามว่า ที่หลวงปู่บูชา เอามาให้บูชาที่นี่หรือเปล่า ที่ได้มา
ป้าน้อยบอกว่า วันนั้นท่านบรรจุหมด มีเท่าไรท่านบรรจุหมด แต่ก็ปรากฏว่า หลังจากบรรจุแล้ว ก็มีพระบรมสารีริกธาตุมาอีก
จุไรก็หันไปถามว่า เห็นคนเขาพูดกันว่า หลวงปู่ให้คนบรรจุเงินบ้าง ทองบ้าง สตางค์บ้าง ทองเหลือง ทองแดง ตามอัธยาศัย
สร้อยถนิมพิมพา ส่วนใหญ่ ลงไปในฐาน ที่ตั้งพระบรมสารีริกธาตุ อย่างนี้ขโมยจะเอาได้ไหม
ป้าน้อยก็บอกว่า ทั้งนี้ก็เป็นเรื่อง ความสามารถของขโมย เพราะการใส่ไปใต้แท่นพระบรมสารีริกธาตุ มันไม่ได้อยู่ตรงนั้น ความจริง
ท่านทำท่อฝังลงใต้ดินลึก และก็เป็นหลุมใหญ่ใต้วิหาร ทั้งนี้ก็กลบไว้ดี แม้แต่ช่างก่อสร้างก็ยังไม่ทราบ เวลาที่ทำจริง ๆ ช่างทำท่อบรรจุกับช่างก่อสร้าง
คนละคน
ช่างที่ทำท่อบรรจุ นี่เป็นช่างภายใน ถือเป็นความลับ ถ้าใส่ลงไปแล้ว หล่นไปปุ๊บก็จะไหลเลื่อนไปอยู่ใต้ดิน ลึกเป็นเมตร
และก็จะเป็นทางเลี้ยวไป ไม่ใช่ตรง อย่างนี้ก็ถือว่า ยากหน่อย ในการที่จะนำเอา
จุไรฟังแล้วก็กราบพระพุทธชินราช กราบพระบรมสารีริกธาตุ ตั้งใจบูชา และก็ถามต่อไปว่า คุณป้าเดินไปทางโน้นดีไหม
ไปทางทิศตะวันออก
ป้าน้อยก็บอกว่า ดีแล้วหลาน ป้านั่งนาน ๆ ป้าก็เมื่อย ไป ๆ ไปด้วยกันก็ดี
เมื่อเดินไปถึงด้านทิศตะวันออก จุไรเห็นรูปหลวงปู่ ปั้นเป็นรูปยืน เป็นรูปหล่อ เธอก็ถามว่า เอาช่างที่ไหนมาปั้นหุ่น
ป้าน้อยก็บอกว่า เป็นฝีมือของช่างประเสริฐ ช่างจำเนียร
แล้วจุไรก็ถามป้าน้อยว่า เวลาเขาหล่อ มีพิธีกรรมในการหล่อ หลวงปู่ทำอย่างไร
ป้าน้อยก็บอกว่า มีพิธีกรรมพิเศษ ที่ท่านเรียนมาจากหลวงพ่อปาน ป้าเองก็อธิบายไม่ได้ แต่มีสิ่งที่แปลกอยู่อย่างหนึ่งวันนั้น
ปรากฏว่า เวลาเททอง ลมแรงมาก ช่างเททองไม่ค่อยจะลงต้องใช้เวลานาน และช่างก็ปรารภว่า การเททองมีลมแรงแบบนี้ ทองจะขาดตอนกัน จะไม่ประสานกันสนิท
อย่างไร ๆ ก็ตาม รูปนี้ต้องเสีย แล้วก็ต้องแต่ง ต้องเติม กันมาก ฉะนั้นเวลาช่างทุบหุ่นออกดู จึงไม่ยอมทุบกลางวัน ทุบกลางคืน
ตอนดึก ซึ่งคนไปหมดแล้ว เมื่อหุ่นเย็นดีแล้ว ทองเย็นดีแล้วก็พยายามทุบหุ่น ตอนเช้า ช่างประเสริฐเป็นผู้รับผิดชอบ ไปดู กลับมา ยิ้ม เช้ามืดนะ ว่า
เธอต้องดูเช้ามืด
ทั้งนี้ก็เพราะว่า ถ้าเสียมาก ก็จะเข้าลัง ปกปิดทันที แล้วไปทำซ่อมกันทีหลัง เมื่อไปดูแล้ว ปรากฏว่า ทุกคน ทุกช่าง อัศจรรย์หมด ซึ่งตอนเช้า
ช่างมายืนยันกับหลวงปู่ ป้าก็นั่งอยู่ที่นั่น บอกว่า การเทแบบนี้ จะเรียบร้อยเกือบไม่ต้องแต่ง ไม่เคยมีปรากฏการณ์มาก่อน
ถ้าลมแรงแบบนี้ ทุกรายทั้งหมด น้ำทองที่ไหลไปจะต้องขาดตอน ไหลลงไปก่อนจะแข็งเร็ว ที่ไหลลงไปทีหลัง จะประสานไม่ทัน อย่างนี้ ต้องซ่อมกันหนัก แต่ภาพนี้
เกือบไม่ต้องซ่อม เกือบไม่ต้องแต่ง เป็นอันว่า จุดที่ต้องซ่อมจริง ๆ ไม่มีเลย เรียบร้อย แต่ว่าการแต่ง ต้องแต่งให้เรียบร้อยยิ่งไปกว่านั้น เรียบมากจริง ๆ
จุไรฟังแล้ว ก็เกิดความเลื่อมใส กราบ ดูถึงว่า ความอัศจรรย์
ป้าน้อยก็บอกว่า เรื่องนี้ป้าไม่ถือว่าเป็นเรื่องอัศจรรย์ ทั้งนี้ก็เพราะว่า การหล่อพระ ทุกช่างก็มีครูบาอาจารย์ มีวิธีกรรม
อาจจะเหมือน ๆ กันทุกช่างก็ได้
หลังจากนั้น จุไรก็หันมาทางข้างขวามือ ไปดูโลงศพ
แล้วเธอก็ถามว่า โลงศพของใคร เครื่องตั้งศพใคร ทำไมถึงมาตั้งในวิหารอันเป็นที่สักการะบูชา
แหม
เด็ก ๆ ความจริง เด็กเล็กขนาดอายุ ๗ ปี นี่ ไม่น่าฉลาดขนาดนี้
ป้าน้อยก็บอกว่า ความจริงโลงศพนี่ เป็นโลงของหลวงปู่ท่าน หลวงปู่ท่านเตรียมไว้ เพื่อเวลาที่ท่านตายจริง ๆ จะได้ไม่วุ่นวาย
เรื่องโลงศพ
และก็ประการที่สอง ท่านบอกว่า เรื่องที่ตั้งของศพ เมื่อสมัยหลวงพ่อปานมรณภาพ ก็ยุ่งมาทีหนึ่งแล้ว ต่างคนต่างทะเลาะกัน เถียงกันว่า
คนนั้นจะตั้งที่นั่น คนนี้จะตั้งที่นี่ ในที่สุด ก็ตั้งในกุฏิ กว่าจะปรึกษาลงตัวกันได้ ก็สามวัน เสียเวลางานต่าง ๆ ทำให้สมองมึน ดีไม่ดี คนก็มึนตึงไปด้วย
ก็รวมความว่า หลวงปู่ท่านเลยตัดสินใจว่า เอาอย่างนี้ดีกว่า ฉันสั่งตั้งเสียเอง ถ้าเวลาตายลงไป ตั้งตรงนี้ก็แล้วกัน ก็หมดเรื่องกันไป
ป้าน้อยก็เล่าต่อไปว่า เวลานี้ทราบว่า ดร.ปริญญา นุตาลัย กำลังจะจัดทำสถานที่ตั้งศพ และโลงศพ เป็นกรณีพิเศษ หมายความว่า จะทำให้เป็นที่พอใจของคณะศิษย์
ราคาจริง ๆ แล้ว เมื่อรวมกันแล้ว ท่านบอกว่า ประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ บาทเศษ ป้าเห็น ดร.ปริญญา นุตาลัย นำรูปมาให้หลวงปู่ท่านดูว่า จะเอาแบบไหน
ประดับประดาแบบไหน แล้วจุไรก็ถามว่า แล้วหลวงปู่ท่านว่าอย่างไร
ป้าน้อยก็บอกว่า หลวงปู่ท่านบอกว่าเรื่องทำแบบนี้ ให้เป็นที่พอใจของคนอยู่ก็แล้วกัน ก็ไม่น่าจะมาปรึกษาคนตาย
คนที่ตายตัดสินใจไปแล้วแต่ขัดข้อง อารมณ์ไม่ตรงกับคนอยู่ จิตใจคนอยู่ก็ไม่สบายใจ ให้ปรึกษาหารือ ตัดสินใจกันเอาเองก็แล้วกัน ก็เป็นอันหมดพิธีไป
แล้วก็จุไรก็ถามต่อไปว่า การตั้งเครื่องศพก่อน โดยมากไม่เห็นว่ามีที่ไหน เขาถือว่าเป็นการแช่งตัวเอง หนูอยากจะทราบว่า
เหตุผลความเป็นมา เป็นอย่างไร
ป้าน้อยก็บอกว่า การตั้งเครื่องศพก่อน ที่อื่นจะมี หรือไม่มี ป้าไม่ทราบ แต่หลวงปู่ท่านสั่งตั้งมานานแล้ว ตั้งแต่เดือนตุลาคม
พ.ศ. ๒๕๒๓ แต่ว่าป้าก็จำวันที่ไม่ได้
วันนั้นปรากฏว่า ตอนเช้า หลวงปู่ท่านสบายดี ท่านจำวัดที่กุฏิชายน้ำ เมื่อตื่นขึ้นมาแล้ว ล้างหน้าล้างตาเสร็จ ท่านก็ถือกระเป๋าเจมส์บอนเอกสาร
ลงมาจากข้างบน และก็แวะฉันภัตตาหารเช้า คือ ข้าวต้ม เมื่อฉันข้าวต้มเสร็จแล้ว ก็เข้า ตึกอินทราพงษ์ เป็นที่ทำงานของท่านกลางวัน
ท่านบอกว่า พอเข้าตึกอินทราพงษ์ ไอ้ท้องมันก็ป่วน ๆ มันอยากจะถ่ายท้อง จึงวางกระเป๋าเจมส์บอนที่เตียงนอน องค์ท่านเองก็เข้าไปในห้องน้ำห้องต้น คือ
ด้านทิศตะวันออก ที่ คุณหญิงเยาวมาลย์ บุนนาค สร้างถวายท่าน ความจริงห้องน้ำ ๒ ห้องนี่ คุณหญิงเยาวมาลย์ สร้างถวายทั้ง ๒ ห้อง
และก็มี อัญเชิญ มณีจักร สร้างอ่างอาบน้ำ ถวายท่าน ในห้องนั้น และพร้อมด้วยเครื่องทำน้ำร้อน น้ำอุ่น ท่านบอกว่า เมื่อเข้าไปในห้องน้ำแล้ว
พอนั่งบนโถส้วม คือ ใช้ส้วมโถ ก็ปรากฏว่า พอก้นถึงโถส้วม เวลานั้นหน้ามืด ไม่มืดแต่หน้า มันมืดทั้งหมด
ท่านบอก ตัวท่านเอง ท่านก็ไม่เห็น ท่านลองยกมือเข้ามาใกล้ตา ก็ไม่สามารถจะเห็นมือได้ มืดหมด แต่ใจปลอดโปร่ง สบาย อารมณ์จิตเป็นสุข
ท่านก็นึกในใจว่า เอาละ ถ้าวาระมาถึง ก็เป็นเรื่องของร่างกาย ถ้าความตายมาถึง เราก็มีความสุข เพราะเวลานี้ เรามีความทุกข์หนักในงาน ต้องรับแต่ผิด
ไม่มีรับชอบ
พ่อบ้านแม่เรือนนั้นน่ะ ส่วนใหญ่ก็รับแต่ผิด ไม่รับชอบ ถ้าทำดี เขาอาจจะชมนิดหน่อย หรือไม่ชมเลยก็ได้ ดีไม่ดี ถ้าดีเกินหน้าเขา แทนที่จะชม
กลับนินทาว่าร้าย เพราะ ความอิจฉาริษยา อย่างนี้ก็มีเยอะ แต่ว่าถ้าชั่วไปนิดเดียว ถูกซ้ำเติมอย่างหนัก ทำ ๑ อาจจะถูกกล่าวหา ๑๐ หรือ ๑๐๐
ก็รวมความว่า ท่านคิดในใจว่า ร่างกายมันตายเสียเวลานี้ ก็มีความสุข จิตเป็นสุขมาก เวลานั้น เมื่อนั่งสักประเดี๋ยวหนึ่ง ลืมตาดู ก็ไม่เห็นอะไรอีก
ก็หลับตาไปใหม่ คิดในใจว่า สถานที่ใด เราควรจะไป เราขอไปที่นั่น พอท่านตัดสินใจอย่างนี้แล้ว ก็ปรากฏว่า มีภาพข้างใน อทิสมานกาย
หรือตามภาษาหนังสือ เขาเรียกว่า จิต ความจริง มันเป็นกาย มีแขน มีขา มีหน้า มีตา เหมือนเรา แต่ว่าสภาพของมัน มีสภาพเบา โปร่ง เบา
มีความสวยสดงดงาม มีการคล่องตัวทุกอย่าง ไม่มีหนัก ไม่มีทุกขเวทนา ออกไปจากกายแล้ว ก็มีเครื่องแต่งตัวใหม่ ไม่ใช่นุ่งเหลือง ห่มเหลือง ตามที่เห็นกัน
เป็นลักษณะเครื่องแต่งตัวของเทวดา หรือนางฟ้า ที่เขาเห็น ๆ กัน แต่ว่าไม่ใช่ ภาพเทวดา หรือนางฟ้า ข้างโบสถ์ ที่ไม่มีเสื้อ มีสังวาลย์
ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะว่าเสื้อสังวาลย์ไม่มี แต่มีเครื่องประดับ มีเสื้อเต็ม เครื่องประดับประดามาก ร่างกายโปร่งใส ร่างกายก็ลอยขึ้นไปสูง เมื่อลอยขึ้นไปสูง
สูงสุด ใกล้ถึงจุดที่จะเป็นที่อยู่
ตอนนั้น ท่านบอกว่า ในอากาศเต็มไปหมด เห็นนางฟ้าบ้าง เทวดาบ้าง พรหมบ้าง พระอรหันต์บ้าง เต็มหมด เต็ม ลอดออกไปไม่ได้
ยังไม่ถึงจุดหมายปลายทาง และก็ในช่วงนั้นเอง ก็เห็นพระองค์หนึ่ง สวยสดงดงามมาก ใหญ่มาก มีแสงสว่างจัด มีแสงทั้ง ๖ แสงแพรว เปล่งปลั่ง ท่านเข้ามาใกล้
แล้วหลวงปู่ท่านก็กราบ เป็นพระที่ท่านรู้จักเป็นปกติ
พระองค์นั้นท่านก็ถามว่า เธอจะไปไหน
ตอนนี้หลวงปู่ท่านก็บอกว่า ผมจะไปในสถานที่ที่ผมควรไป
ท่านก็บอกว่า เธอยังไปไม่ได้หรอก ต้องกลับไปก่อน ทั้งนี้ก็เพราะว่า ภารกิจที่ฉันต้องการนั้น มีเยอะ งานที่จะทำข้างหน้ามีมาก
ยังไปไม่ได้ ช่วยกันก่อน
หลวงปู่ท่านก็กราบเรียนว่า เวลานี้นะ มันมืดหมด มองไม่เห็นอะไรเลย
ท่านถามว่า จิตเป็นสุขใช่ไหม
ก็กราบเรียนท่านบอกว่า จิตเป็นสุข
ท่านบอก จะเป็นอย่างไรก็ช่าง กลับไปก่อน ไปไม่ได้ เธอไม่มีทางจะไป
แล้วท่านก็สั่งให้นั่งพักประเดี๋ยวหนึ่ง แล้วท่านก็มาพูดกันเล็ก ๆ น้อย ๆ ทำให้มีความสุขใจ เป็นการให้กำลังใจ แล้วก็สั่งให้กลับ
ท่านบอก รีบกลับไป ดีไม่ดี คนข้างล่างเขาเห็นว่า ไม่มีลมหายใจที่ร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวลานี้ร่างกายอยู่บนโถส้วม
ถ้าเขามีความรู้ รู้ว่าพระตายบนโถส้วม จะเป็นเรื่องอัศจรรย์มาก
ก็เลยกลับลงมา กลับลงมา ก็เข้าร่างกายเดิม เมื่อเข้าร่างกายเดิม ก็มีความรู้สึก
ก็ลุกขึ้นจากโถส้วม ขยับตัวขึ้น มันก็ยังมืดตามเดิม เอามือคลำราวผ้า เมื่อพบราวผ้า ก็ค่อย ๆ ไต่ฝา เกาะราวผ้า เดินมาเรื่อย ๆ ออกจากประตูส้วม
มาถึงหน้าห้องบันทึกเสียงที่อยู่ติดกัน ก็ค่อย ๆ เอนกายลงไป แล้วก็ถอดแว่น และเอนกายลง เพราะตรงนั้นมีพรม เมื่อเอนกายลงไปแล้ว พอศีรษะถึงพื้น หลับตา
นึกในใจประเดี๋ยวหนึ่ง จิตเป็นสุข ค่อย ๆ ลืมตาขึ้น
ตอนลืมตาขึ้น เห็นลาง ๆ แล้วก็หลับตาไปใหม่ นึกถึงพระท่าน พออีกสักครู่หนึ่ง ลืมตาขึ้นมา ก็ค่อยเห็น แต่ยังไม่ชัดนัก และก็สว่างมากขึ้น
เวลานั้นก็เห็นพระองค์นั้น
ท่านบอกว่า เวลานี้เธอต้องถือว่า เธอตายไปแล้วนะ และก็วันนี้เป็นวันเกิดใหม่ ให้ถือฤกษ์เกิดตั้งแต่บัดนี้ เป็นต้นไป
ตามสัญญาจริง ๆ ของเธอ มีอายุที่ตกลงกันไว้ ๑๕ ปี แต่ว่านี่ มันได้ปีที่ ๑๓ เหลืออีก ๒ ปีข้างหน้า จะหมดสัญญา
แต่ว่าฉันยอมให้เธอหมดสัญญาไม่ได้ ถ้าถึง ๑๕ ปี ฉันจะเอาไว้ไม่ได้ ฉันจึงต้องทำให้ปรากฏการณ์แบบนี้ก่อน ต่อนี้ไป ขอให้เธออยู่ไปก่อน
ช่วยงานกัน
หลังจากนั้น พระท่านก็หายไป แสงสว่างก็ปรากฏ เมื่อแสงสว่างปรากฏแล้ว ก็หลับตาอีกนิดหนึ่ง นอนไปอีกหน่อยหนึ่ง ก็มีพระองค์หนึ่งท่านมา
ท่านก็บอกว่า เธอพยุงร่างกายออกไปแล้ว ร่างกายเป็นปกติ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป สั่งตั้งเครื่องศพทันที
ถือว่า ภาพเดิมมันตายไปแล้ว แต่ว่าไม่ต้องไปนอนในโลงศพ ตั้งไว้ เขียนชื่อเธอว่า มรณภาพตั้งแต่เมื่อไร ก็รวมความว่า ก็ตั้งตามนั้นตามคำสั่งของท่าน
อันนี้หลวงปู่เล่าให้ฟังแบบนี้ ต้นเหตุความเป็นมา ของการตั้งเครื่องศพ แล้วต่อมาเมื่ออายุครบ ผ่านเดือนที่แล้วมา ท่านก็ทำพิธีเผาหลอก เมื่อมันยังไม่ตาย
เมื่อครบอายุ ๑๕ ปี ตามกำหนดสัญญากันไว้ มันไม่ตายจริง ๆ มันเคยตายหลอก ๆ มาแล้ว ท่านก็เลยทำพิธีเผาศพหลอก ๆ แต่เผาไปครั้งหนึ่ง
แต่การที่ท่านมาบอกว่า เอาศพมาตั้งอย่างนี้ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๔ เป็นต้นมา พระองค์เดียวกัน ท่านบอกว่า ศพของเธอ อย่าเผานะ
ความจริงเวลานั้น ยังไม่มีลูกศิษย์ ลูกหากี่คน ลูกศิษย์เจริญกรรมฐาน มีจริง ๆ ๕ คน ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ และก็สอนใน หมวดสุกขวิปัสสโก ยังมีไม่กี่คน
แต่พระท่านสั่ง ศพของเธอนะ จงอย่าเผา เก็บเอาไว้
ก็กราบเรียนถามท่านว่า จะเก็บไว้ทำไม ต่อไปก็ไม่มีประโยชน์กับใคร
ท่านบอกว่า เก็บไว้เถิด มีประโยชน์
เป็นอันว่า เวลานั้น หลวงปู่คิดว่า จะตายใกล้ ๆ มันก็ยังไม่ตาย มาตอนนี้ มีลูกศิษย์ลูกหามากขึ้น ในเมื่อท่านสั่งตามนั้น ก็เห็นประโยชน์ เพราะว่า
การเผา กับไม่เผา มีประโยชน์ต่างกัน เมื่อเผาแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างมีสภาพสูญ
บางวัดเผาครูบาอาจารย์แล้ว ก็เงียบหายไปเลย แต่บางวัด ที่เก็บภาพครูบาอาจารย์ไว้ แต่ว่าทางภายในเขา มีความเคารพสักการะเป็นปกติ
เขาก็มีความรุ่งเรืองยิ่งขึ้น ดูตัวอย่าง วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
แต่ว่าหลวงปู่ท่านก็บอกกับป้าว่า ท่านมีบารมีไม่เสมอ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ท่านไม่สามารถจะเทียบบารมีกับท่านได้ แต่เอาเถิด
ในเมื่อพระท่านสั่งให้เก็บ ก็เก็บ ก็รวมความว่า ตั้งแต่บัดนั้น เป็นต้นมา ก็สั่งการเก็บศพ แต่ในเมื่อ โลงมาตั้ง ตัวยังไม่ตายก็แล้วไป ตายเมื่อไร
ความวุ่นวายของเรื่องศพก็หยุดเพียงนั้น
ทั้งนี้เพราะว่า เตรียมสถานที่ไว้แล้ว เอาละ บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน อ่านมาถึงตรงนี้ ก็จบกันเสียที ทั้งนี้เพราะอะไร ก็เพราะว่า เวลามันหมด
อ่านกันตอนต่อไป ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล สมบูรณ์พูนผล จงมีแด่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนผู้อ่านทุกท่าน
สวัสดี
ll กลับสู่สารบัญ
|
|
7
ความเป็นมาของมณฑปหน้าวิหาร ๑๐๐ เมตร
ท่านผู้อ่านทั้งหลาย ต่อนี้ไป สำหรับตอนนี้ ก็เป็นตอน ความเป็นมาของมณฑปทั้งสอง คำว่า มณฑปทั้งสอง นี้คือ มณฑปที่สร้างอยู่ที่หน้าวิหาร ๑๐๐ เมตร
ประดับกระจกเหมือนกัน และก็ปูหินอ่อนเหมือนกัน แต่มณฑปทั้งสองนี้ เป็นสถานที่ประดิษฐานพระต่างกัน
มณฑปด้านทิศตะวันออก ประดิษฐานรูปพระปัจเจกพุทธเจ้า ที่ท่านทำภาพท่านให้เห็น เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๓๒ เวลาตอนประมาณสัก ๔ ทุ่ม ขณะนั้นไม่ค่อยสบาย
ก็นอนภาวนา จับลมหายใจเข้าออกตามปกติ และก็มานึกถึงร่างกายว่า มันไม่ดี มีสภาพไม่เที่ยงแท้แน่นอน ความตายจะเข้ามาถึงเมื่อไรก็ได้
พอจิตสงบ อารมณ์สงัดก็ปรากฏว่า มีพระองค์หนึ่งห่มจีวรสีกรัก ห่มคลุม อายุยังไม่แก่นัก นั่งอยู่ข้างขวา นั่งอยู่บนเตียงข้างขวา
เมื่อเห็นพระท่านแล้ว ก็มีความรู้สึกว่า พระท่านมาเยี่ยม แต่ว่าเวลานี้ เราก็เพลียเต็มที เรื่องพระท่านมาเยี่ยม ก็ขอเป็นเรื่องของพระท่าน ขอบคุณท่าน
แต่การต้องการรู้อะไรทั้งหมดไม่มีแล้ว ต้องการจะหลับก็ตั้งใจ จับลมหายใจเข้าออกภาวนาต่อไป โดยไม่สนใจกับภาพของพระ ต่อมาสักครู่หนึ่ง ก็ปรากฏว่า
ท่านปรากฏขึ้นด้านซ้าย ตอนนี้เป็นเวลาดึก มองดูนาฬิกาเห็นว่าเวลาตีสอง เห็นท่านชัด ตอนนี้นอนตื่นขึ้นมาแล้ว เริ่มมีแรง ก็ลุกขึ้นมนัสการท่าน
ถามว่า ท่านเป็นใครขอรับ
ท่านก็เลยบอกว่า ฉันคือ พระปัจเจกพุทธเจ้า ที่ช่วยสงเคราะห์เธออยู่
แล้วก็ถามท่านบอกว่า ที่มาอย่างนี้ ต้องการให้ปั้นรูปเหมือนอย่างนี้ ใช่ไหมขอรับ
แต่ความจริง มณฑปด้านทิศตะวันออกนี้ ตั้งใจจะปั้นรูปพระปัจเจกพุทธเจ้า แบบพระพุทธรูป
ท่านก็เลยบอกว่า ฉันตั้งใจให้เธอเห็นภาพฉัน ก่อนนิพพาน แล้วก็ให้ปั้นตามนี้
แต่ความจริงที่พูดนี้ บรรดาท่านพุทธบริษัท เป็นเวลาที่ตื่นจากที่นอน ไม่ใช่นั่งเข้าฌาน
แล้วเวลาลุกขึ้นมนัสการท่าน แล้วก็กราบท่าน ก็ไม่ได้หลับตาเข้าฌาน เป็นการสภาพเวลาปกติ แต่ว่า ท่านก็สามารถบันดาลให้เห็นได้ชัด ๆ
และก็พูดกันรู้เรื่อง จึงได้ตัดสินใจว่า ให้เขาปั้นและหล่อรูป พระปัจเจกพุทธเจ้าแบบนี้ คล้ายคลึงกัน จึงได้ให้ประเสริฐปั้นแล้วก็มาให้ดู บอกลักษณะให้เธอ
แล้วเธอก็ปั้น
แต่ความจริงประเสริฐนี้ ก็เจริญกรรมฐานพอสามารถจะดึงภาพต่าง ๆ มาให้เห็นได้ เธอปั้นได้แบบใกล้เคียงมาก สำหรับ มณฑปด้านทิศตะวันตก
ตั้งใจจะประดิษฐานรูปหลวงพ่อปาน จะหล่อรูปหล่อเหมือนกัน แต่สำหรับรูปหลวงพ่อปานนี้ ตั้งใจจะหล่อ (ถ้ายังไม่ตาย) พ.ศ. ๒๕๓๔
แต่พระปัจเจกพุทธเจ้าจะหล่อเดือนมีนาคม ๒๕๓๓
ความจริง มณฑปนี้ยังไม่มีเจ้าภาพ ยังไม่มีใครร่วมทำบุญมา ก็พอดีเจ๊จันทนามรณภาพ เถ้าแก่สุวรรณ ก็คิดว่า เจ๊จันทนา สงเคราะห์วัดนี้ตลอดมา ตลอดจนลูกสาว
๒ คน ๒ หรือ ๓ ลูกสาว ๓ คน ลูกเขย ลูกสาวด้วย ต่างคนต่างสงเคราะห์เป็นรายเดือน เมื่อเข้ากรุงเทพแต่ละคราว ทุกคน (มักจะเป็นวันที่สองเป็นวันเสาร์)
ก็ต่างคนต่างมา
ถวายปัจจัยบ้าง ถวายของบ้าง ถวายสังฆทานบ้าง ปัจจัยถวายเป็นปกติ เป็นประจำเดือน หรือบางกรณีก็ทำบุญเป็นกรณีพิเศษ และเถ้าแก่สุวรรณ วีระผล ผู้สามี
เห็นว่าภรรยาสนใจวัดนี้ จึงตั้งใจว่า จะเอากระดูกมาบรรจุที่ใดที่หนึ่ง คือ ว่า ที่ใดที่หนึ่งก็ได้ ที่เห็นสมควร
ท่านมาถาม ก็เลยบอกว่า เจ๊จันทนามีคุณกับอาตมามาก ช่วยสงเคราะห์เรื่อยมา ตั้งแต่ พระจุฬามณี คือ เจดีย์หน้าตึกอำนวยการ
เริ่มต้นตั้งแต่ตอนนั้น เจ๊ได้เคยสงเคราะห์ค่ากระจก ค่ากระจกจะปิด
เจ๊ถามว่า ราคาเท่าไร อาตมาก็ตอบไม่ได้
ก็เลยบอกว่า เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ถ้ามีความประสงค์ใคร่จะสงเคราะห์ หรือทำบุญ เท่าไรก็ได้ ตามอัธยาศัย เจ๊จันทนาเลยบอกว่า ถ้าอย่างนั้นขอทำร่วมด้วย
นิด ๆ หน่อย ๆ เซ็นเช็คมาให้ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ก็ทำบุญกันเรื่อยมา เถ้าแก่สุวรรณ เมื่อพูดอย่างนั้น
อาตมาก็คิดว่า เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน กระดูกจะทำแท่นบรรจุ ที่มณฑปหลวงพ่อปาน และสำหรับรูปเจ๊จันทนา ก็ขอร้องให้เถ้าแก่กับลูก ๆ ทุกคน
ช่วยกันหล่อวางไว้บนแท่น ทั้งนี้ก็เพราะว่าวิหาร ๑๐๐ เมตร เจ๊และลูก ลงทุนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไฟฟ้าเจ๊ทำมาจริง ๆ รวมแล้วประมาณ ๑๗ ดวง
ก็เป็นอันว่า ตกลงกันว่า จะเอารูปเจ๊จันทนามาไว้ที่นั่น หล่อแล้วจะนำมา สำหรับ ท่านที่บำเพ็ญกุศลสร้างมณฑป โดยคณะท่านเถ้าแก่สุวรรณ วีระผล มี
เถ้าแก่สุวรรณ วีระผล หัวหน้า ถวายมา ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท คุณวิวัฒน์ บุตรเขย กับคุณจินตนา บุตรสาว จรัญวาศน์ และบุตรธิดา ถวายมา ๒๐๐,๐๐๐ บาท
คุณบุญเลิศ บุตรเขย กับคุณกรรณิการ์ บุตรสาว วิบูลย์ลาภ และพร้อมด้วยครอบครัว ก็ถวายมา ๑๐๐,๐๐๐ บาท
คุณนงลักษณ์ และบุตรธิดา (คุณนงลักษณ์นี่เป็นน้องสาวคุณจันทนา ) ถวายมา ๓๐,๐๐๐ บาท
ท่านพลตรีพัลลภ และคุณมาลินี (ท่านพลตรีพัลลภนี่เป็นบุตรเขย และคุณมาลินีเป็นบุตรสาว) โชติเลขาและบุตร ทำบุญมา
๒๐,๐๐๐ บาท
คุณสุมิตร วนิดา ศุภมาศ พันทิพา ชัยเกษม วัฒนศิริพงศ์ ทำบุญมา ๑๐,๐๐๐ บาท
คุณชุมศักดิ์ โอสนานนท์ ทำบุญมา ๕,๐๐๐ บาท
คุณนันทนา คุณสารสิน วีระผล ๓,๐๐๐ บาท
คุณใช่ แซ่โอ้ว ๖,๐๐๐ บาท
รวมแล้วรุ่นแรกบำเพ็ญกุศลมา ๑,๓๖๙,๐๐๐ บาท
แล้วต่อมา คุณอนุตร์ และคุณล้วนมณี อัศวานนท์
ถวายต่อมาอีก ๕๐,๐๐๐ บาท
รวมเงินค่ามณฑปแก้วสองหลังทั้งสิ้น ๑,๔๑๙,๐๐๐ บาท
ทีนี้สำหรับมณฑป บรรดาท่านพุทธบริษัท กำลังสร้างอยู่ประดับกระจกทั้งหมด และก็ปูหินอ่อน เป็นอันว่า มณฑปทางด้านทิศตะวันตก ที่ประดิษฐานรูปหลวงพ่อปาน
จะแล้วเสร็จก่อนธันวาคมให้ทันกับ การแห่รูปของ เจ๊จันทนา โดยมี ท่านเถ้าแก่สุวรรณ วีระผล เป็นหัวหน้าคณะ จะนำมาวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๓๒
และก็จะนำ สิงโตจากนครสวรรค์ เข้าขบวนแห่มาด้วย ถึง อุทัยธานี จะแห่เข้าไปในตลาด เต้นเข้าตลาด พอใกล้จะถึงวัด ก็เต้นมาประมาณครึ่งชั่วโมง ก็มาเต้นในวัด
ฉะนั้น ถ้าหากว่า บรรดาท่านพุทธบริษัทมีความประสงค์จะร่วมโมทนาด้วย วันนั้น คณะท่านเถ้าแก่สุวรรณ วีระผล จะถวายภัตตาหารแด่พระทั้งวัด
และก็อาจจะมีอะไรอีก สุดแล้วแต่ท่าน คราวนี้เวลาที่อาตมาจะพูดเอง มันก็เหนื่อยเหลือเกิน ก็ขอหยุดพูดแต่เพียงเท่านี้ ก็ขอให้ บรรดาป้ากับหลาน
เขาคุยกันดีกว่า เป็นอันว่า ในเวลานั้น เป็นเวลาบ่ายมากแล้ว สองป้าหลานคุยกันในวิหาร หลานสาวก็บอกว่า เวลานี้ก็เย็นแล้ว จวนจะกลับได้หรือยัง
ป้าน้อยก็บอกว่า ตามใจหลาน ทั้งสองคนป้าหลาน จึงเดินออกจากวิหาร แต่ก็พอดี จุไรหันเข้าไปเห็นที่นอน เตียงนอนเข้า
จึงถามป้าน้อยว่า คุณป้า นี่เตียงของใคร
คุณป้าน้อยก็ตอบว่า เป็นเตียงของหลวงพ่อ หลวงพ่อท่านจำวัดที่นี่
หลานจุไรก็ถามว่า หลวงปู่นะ ท่านจำวัดที่นี่ทุกวันหรือ
ป้าน้อยบอกว่า เมื่อกี้ป้าเผลอไป เรียก หลวงพ่อ เพราะตามปกติป้าเรียก หลวงพ่อ หนูเรียก หลวงปู่ ต่อไปนี้ ป้าก็ขอเรียกศัพท์ว่า
หลวงปู่ ตามหนู จะสะดวกดีป้าน้อยก็บอกว่า หลวงปู่ท่านมาจำวัดเป็นบางครั้งบางคราว
แต่ว่าท่านตั้งใจว่า ถ้าวาระแห่งชีวิตจะเข้ามาถึง นั่นหมายความว่าความตายจะเข้ามาถึง ถ้าบังเอิญท่านรู้ตัวก่อน ท่านจะมานอนตรงนี้
นั่นหมายความว่า ในยามป่วยไข้ไม่สบาย ตอนนั้นท่านจะนอนตรงนี้ และก็ตะแคงขวา เห็นพระพุทธชินราชได้ชัดเจน ตาจะจับอยู่ที่พระพุทธชินราช
ใจนึกถึงพระพุทธชินราช ก็เป็นการเจริญพุทธานุสสติ เป็นปกติ
หลานจุไรฟังแล้วก็รู้สึก งง จึงบอกว่า ป้าน้อยเจ้าคะ หลวงปู่นี่ รู้สึกเตรียมตายทุกอย่าง เตรียมมาตลอดเวลา
จะสร้างวัดเวลานี้ ก็มีความประหยัด นั่นก็หมายความว่า ไม่สร้างอะไรวู่วามเร็วให้เกินไป ไม่ต้องการให้หนี้คั่งค้าง ถ้าหนี้จะมี ก็เป็นแค่หนี้ประจำเดือน
นั่นหมายความว่า เวลาสิ้นเดือนที หลวงปู่ก็จ่ายเงินค่าวัตถุก่อสร้าง ครั้งหนึ่ง ถ้าบังเอิญก่อนสิ้นเดือน ยังไม่ถึงวันจ่าย
ตายไปก็มีหนี้กันแค่เดือนนั้น เป็นอันว่าหนี้เดือนก่อน ๆ ไม่มี เวลานี้ท่านค่อย ๆ โรย ๆ ลง งานโรย ๆ ลง คนงานน้อยลง แต่ว่าคนงานยัง ๓ กลุ่มตามเดิม
ขนาดคนงานน้อย ๆ ก็เห็นว่าจะเกิน ๒๐๐ คน งานรู้สึกว่าจะช้าเข้า แต่ว่า ค่าวัตถุก่อสร้าง เวลานี้แพงมาก
จุไรเธอบอกว่า หนูเคยอ่านธัมมวิโมกข์ ค่าใช้จ่ายของหลวงปู่ ทั้ง ๆ ที่ ท่านบอกว่า การก่อสร้างช้าลง โรยลง
แต่ว่าค่าใช้จ่ายมันไม่ลดลง
คุณป้าน้อยก็บอกว่า เวลานี้วัสดุก่อสร้าง ราคาขึ้นสูงมาก ทั้ง ๆ ที่ยับยั้งอยู่แล้ว แต่ยังมากเท่าเดิม
แล้วต่อไป จุไรก็พาป้าน้อยออกข้างนอก ออกมายืนดูมณฑปทั้งสอง
ก็ถามว่า คุณป้า มณฑปทั้งสองนี่ หลวงปู่จะทำแบบไหน
ป้าก็บอกว่า มียอดเดียวตามปกติ และก็ประดับกระจก ทั้งข้างหน้า ข้างใน ข้างในปูหินอ่อน
เธอก็ถามว่า มณฑปข้างขวามือ ทิศตะวันออกเป็นที่ประดิษฐานรูปของใคร
ป้าน้อยก็บอกว่า เป็นที่ประดิษฐานรูปของ พระปัจเจกพุทธเจ้า ที่หลวงปู่ท่านเห็น ท่านเห็นภาพ พระปัจเจกพุทธเจ้ามานั่งข้างเตียง
เมื่อตอนหัวค่ำ
ท่านไม่สนใจ เพราะท่านง่วง และเพลียมาก เพราะธรรมดา หลวงปู่นี่ ๓-๔ ปี มานี่ ไม่ดีเลย ร่างกายทรุดลงทุกวัน โรคก็กำเริบมากขึ้นทุกวัน
ยามรับแขกบางทีท่านบอกว่า นั่ง บางทีก็นั่งงง มองหน้าคนที่มา ดำบ้าง ขาวบ้าง ยาวบ้าง สั้นบ้าง แต่ว่า แขกก็สังเกตได้ยาก เพราะลีลาของท่าน
คล้ายกับคนไม่ป่วย แต่พอลุกขึ้น ก็ซวนเซจะล้ม แล้ว งง
แต่ท่านก็ทน ท่านบอกว่า คนทุกคนมาไกล การเดินทางของแขกแต่ละราย อย่างน้อยที่สุด ไปกลับเกิน ๑๐๐ กิโล แขกที่อยู่ใกล้ ๆ
อาจจะมีบ้าง นาน ๆ ครั้ง แต่ส่วนใหญ่ เป็นแขกต่างจังหวัด ต่างเมืองไกลมาก ท่านก็เห็นใจพวกมาวัด ทุกคนตั้งใจมา ทิ้งการงานมา เสียทรัพย์สิน
ทิ้งการงานด้วย
ต้องจ่ายทรัพย์ระหว่างทางด้วย ต้องเดินทางมา แล้วก็มาทำบุญด้วย ทำบุญ หรือไม่ทำบุญ ท่านบอก ไม่ได้สนใจ
ท่านตั้งใจต้อนรับด้วยความหวังดี ด้วยเจตนาดี ถือเป็นการขอบคุณ บรรดาท่านผู้มา
จุไรก็ถามว่า พระปัจเจกพุทธเจ้านี่ ตั้งตรงโน้น แล้วมณฑปทางซ้ายมือนี้ละ ทางทิศตะวันตก ตั้งรูปใคร
ป้าน้อยก็ตอบว่า หลานรักนี้เป็นรูปหลวงพ่อปาน อาจารย์ของหลวงปู่อย่างไรล่ะ
จุไรมองแล้วก็ งง คำว่า งง ก็หมายความว่า เธอไม่เข้าใจคำว่า พระปัจเจกพุทธเจ้า ก็เหมือนกับคนอีกหลายคน ที่เคยมาถามหลวงปู่ ป้าน้อยก็บอกอย่างนั้น
มีหลายคน บางทีป้าฟัง ขณะที่หลวงปู่รับแขก ที่ถามหลวงปู่ว่า ประวัติเป็นความมา พระปัจเจกพุทธเจ้า เป็นมาอย่างไร เขาไม่ทราบ และพระปัจเจกพุทธเจ้า
มีขึ้นสมัยไหน มีกี่องค์
เขาคงคิดว่า พระปัจเจกพุทธเจ้า มีน้อย เหมือนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น
ป้าน้อยเขาบอกว่า หลวงปู่ท่านบอกว่าตามบาลี ท่านตรัสว่า ในสมัยที่ว่างจากพระพุทธศาสนา คือ ศาสนาของ
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง ว่างลง
ระหว่างนั้นเป็นระหว่าง พุทธันดร คือ ช่วงระยะหนึ่ง ในช่วงนั้นในเมื่อ พระพุทธเจ้าไม่มี พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ตรัส ตรัสคราวเดียว
ในระยะนั้น จะมีพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นหมื่นองค์หรือเป็นแสนองค์ มีมาก แต่ละองค์ก็บรรลุเองเหมือนกันที่เรียกว่า พระปัจเจกพุทธเจ้า
หมายความว่า พระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้โดยเฉพาะ เฉพาะท่านท่านไม่ตามไปสอนใครนัก ไม่เหมือนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แต่ว่าใครต้องการฟังจากท่าน ท่านก็เทศน์สอน และก็ทำให้บุคคลทั้งหลายเหล่านั้นมีความเข้าใจ
แต่ว่าประวัติความเป็นมาจริง ๆ ในสมัยนี้เรานิยมกันว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นพระ ให้ลาภ อย่าง คาถาพระปัจเจกพุทธเจ้า ที่หลวงพ่อปานท่านเรียนมาจาก
ครูผึ้ง คาถาบทนี้ ช่วยคนให้มีความสุขเสียเยอะ คือ คนที่ตั้งใจทำจริง มีความเคารพจริง และมีใจเยือกเย็น ไม่เร่งรัด
แต่ก็มีหลายคนเหมือนกัน ที่ปฏิบัติไม่ได้ผล ที่เขามาต่อว่าหลวงปู่ก็มีเยอะ จุไรก็ถามว่า ในเมื่อมาต่อว่าหลวงปู่
หลวงปู่ว่าอย่างไร
ป้าน้อยก็ตอบว่า หลวงปู่ท่านก็ยิ้ม แล้วบอกว่า ในเมื่อคุณทำไม่มีผล แต่คนอื่นทำมีผล ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับศรัทธาของทุกคน
แล้วจุไรก็ถามว่า ในระหว่างนี้มีพระปัจเจกพุทธเจ้าไหม
ป้าน้อยก็บอกว่า ในระหว่างนี้ เป็นสมัยของ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า พระสมณโคดม
ระยะศาสนาที่พระองค์สอนยังไม่หมด ต้องรอ พ.ศ. ๕๐๐๐ เกินไปแล้ว เมื่อเกิน พ.ศ. ๕๐๐๐ ไปแล้ว จึงจะได้ชื่อว่า หมดสมัยคำสั่งสอนของท่าน
หลังจากนั้น ก็อาจจะมีพระปัจเจกพุทธเจ้าบรรลุขึ้นมามาก
จุไรก็ถามว่า ทำไมเขาจึงชอบนิยมกันว่า พระปัจเจกพุทธเจ้า เป็นพระนำลาภมาให้
คุณป้าน้อยก็บอกว่า ป้าเองก็ยังไม่เคยเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า เพราะว่าคนละสมัยก่อน แต่ทว่า คาถาของท่าน ที่หลวงพ่อปานนำมาแนะนำ
แก่บรรดาลูกหลานของท่าน และลูกศิษย์ลูกหาของท่านที่เขาทำจริง ๆ มีผลจริง ๆ เงินไม่ขาด บางท่านก็ร่ำรวยมาก
แต่ท่านที่ใช้แต่คำภาวนา บูชาเฉย ๆ ก็คงไม่มีลาภสักการะนัก เป็นแต่เพียงว่า ประเภทเบี้ยต่อไส้ นั่นก็คือ เวลาที่มันจะหมดตัว ก็มีขึ้นมา
แต่ก็เกือบจะขาดใจตาย แต่ท่านที่ปฏิบัติตามแบบฉบับจริง ๆ มีการสวดมนต์ มีการใส่บาตร นำคาถาไปเจริญภาวนา เป็น ฌาน ท่านผู้นี้ มีผลเป็นพิเศษ
แล้วจุไรก็ถามว่า ในเมื่อมณฑปของหลวงพ่อปานมีรูปคุณป้าจันทนา แล้วมณฑปพระปัจเจกพุทธเจ้าจะมีรูปใครอีก
ป้าน้อยก็บอกว่า จะมีรูปของ คุณพ่อสุวรรณ วีระผล สามีท่านจันทนา
หนูจุไรจึงถามว่า คุณป้า ท่านสุวรรณนี่ ความจริงเขาเรียก เถ้าแก่สุวรรณใช่ไหม
คุณป้าก็บอกว่า ใช่
แล้วคุณป้า ทำไมเรียก คุณพ่อสุวรรณ ล่ะจริง ๆ แล้ว ท่านเป็นเจ๊กใช่
ไหม
ป้าน้อยก็บอกว่า จริง ๆ แล้ว ท่านเป็นเจ๊ก เสียงท่านก็มีลีลาเสียงเจ๊กอยู่เยอะ ลีลาท่าทางท่าน มีลีลาเจ๊กอยู่เยอะ
หลานจุไรจึงถามว่า ถ้าอย่างนั้น แล้วคุณป้าทำไมไม่เรียกเตี่ย ล่ะ
ป้าน้อยก็บอกว่า ป้าเรียก เตี่ย มันก็ไม่ถูก ถึงเสียงของท่าน จะมีเสียงเจ๊กปนลีลาของท่าน จะมีลีลาเจ๊กปน แต่อย่าลืมนะว่า
ชื่อของท่าน เป็นชื่อไทย นามสกุลของท่านเป็นนามสกุลไทย แสดงว่า ท่านเป็นคนไทย ป้าเรียก เตี่ย ก็ไม่ถูก ต้องเรียก คุณพ่อ เพราะป้าเรียก คุณจันทนา
ว่า คุณแม่
จุไรฟังแล้วก็ยิ้ม จุไรก็ถ ามต่อไปว่า หลวงพ่อปาน ตามข่าวเล่าลือ เขาว่า เป็นพระที่มีลาภมากใช่ไหม
ป้าน้อยก็บอกว่า เห็นหลวงปู่ท่านบอก ท่านบอก หลวงพ่อปานมีลาภมาก เพราะเป็นพระไม่สะสมเงิน เงินอะไรได้มาก็ตาม
ถือว่าเป็นเงินส่วนกลางหมด
คำว่า เงินส่วนตัวจริง ๆ ไม่มี เว้นไว้แต่เพียงว่า เงินส่วนไหนที่บรรดาลูกศิษย์ลูกหา หรือท่านที่เคารพนับถือ ถวายมา เขาบอกว่า
ส่วนนี้ถวายเป็นส่วนตัวขอรับ ท่านก็จะเก็บไว้ส่วนหนึ่ง แต่เงินจำนวนนี้ ก็พยายามเอาไปรวมในการก่อสร้างบ้าง บำรุงสงฆ์บ้าง ใช้ค่าภัตตาหารบ้าง
อาหารบ้าง
เพราะ ที่วัดบางนมโคเอง ก็ทำอาหารเหมือนที่วัดท่าซุงเหมือนกัน ต้องแกง ต้องหุงข้าว ทุกวัน วัดท่าซุงเวลานี้ ก็เช่นเดียวกัน หลวงปู่ต้องจ่าย
ค่าอาหาร ค่าข้าว เดือนละมาก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัดบางนมโคใช้ตะเกียงน้ำมันของใครของมัน แต่ว่าที่วัดท่าซุง หลวงปู่ต้องจ่ายค่ากระแสไฟฟ้า
อย่างเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี่ ๗๐,๐๐๐ บาทเศษ และต่อไปก็ต้องเพิ่มมากขึ้น เพราะกระแสไฟเพิ่มขึ้น อาคารเพิ่มขึ้น แต่หลวงปู่ท่านคาดว่า
ค่ากระแสไฟฟ้าของวัดท่าซุง อาจจะมีกำลังต้องจ่ายจริง ๆ ถึงเดือนละ ๑๕๐,๐๐๐ บาท ถ้าติดครบถ้วน ก็เป็นอันว่า หลวงพ่อปาน หลวงปู่ปาน
ก็ขอเรียกหลวงปู่เหมือนกัน ท่านก็เป็นพระมีลาภมาก
ท่านจะไปนั่งที่ไหน ก็มีคนมาทำบุญมาก เวลาจะก่อสร้างโบสถ์ ก่อสร้างศาลา วัดไหนก็ตาม ท่านเป็นพระไม่มีทุน
แบบหลวงปู่ที่วัดท่าซุงนี่ก็เหมือนกัน เป็นพระไม่มีทุน นึกจะทำอะไร ก็ทำทันทีทันใด พ่อค้าก็เชื่อ ให้เกียรติ เขาไว้วางใจ ให้ของซื้อเชื่อก่อน
แต่หลังจากนั้นแล้ว เมื่อได้มา ท่านก็ชำระหนี้ไป หลวงพ่อปานก็เช่นเดียวกัน
เป็นอันว่า หลวงปู่ที่วัดท่าซุงนี้ ท่านเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อปาน และลอกแบบฉบับ บางอย่างมาไม่ครบ หลวงปู่ท่านก็บอกแล้ว ท่านลอกออกมาบางอย่าง
ไม่ใช่ครบถ้วน เอาแบบอย่างของหลวงพ่อปานมาใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องทรัพย์สินต่าง ๆ ใช้เหมือนกัน นั่นคือ ทุกอย่างที่ได้มาท่านถือว่า
เป็นของสงฆ์หมด
ไม่คิดว่า อะไรเป็นเรา เป็นของเรา ก็เป็นอันว่า หลวงปู่ที่วัดท่าซุง ท่านเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อปาน ท่านแบ่งคุณสมบัติมาบางอย่างไม่มากนัก
ท่านก็ยังเป็นพระที่มีลาภสักการะขนาดนี้ ถ้าหลวงพ่อปานที่เป็นอาจารย์ล่ะ จะมีลาภสักการะขนาดไหน
จุไรก็ถามว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านเจ้าของรูปทั้งสอง ได้มีโอกาสเอารูปของท่าน ไปตั้งไว้ที่มณฑปของหลวงพ่อทั้งสอง คือ
พระปัจเจกพุทธเจ้า และหลวงพ่อปาน ทั้งสององค์เป็นพระมีลาภ ถ้าบังเอิญ ตระกูลนี้ บูชารูปบิดามารดาของท่าน และบูชาพระปัจเจกพุทธเจ้าด้วย
บูชาหลวงพ่อปานด้วย จะไม่เป็นคนมีลาภมากหรือ
ป้าน้อยก็ยิ้มบอกว่า ต้องเป็นเช่นนั้นหลาน ปูชโก ลภเต ปูชํ วนฺทโก ปฏิวนฺทนํ ผู้บูชารับการบูชาตอบ ผู้ไหว้รับการไว้ตอบ
ในเมื่อเขาบูชาท่าน ท่านก็สงเคราะห์ เป็นของธรรมดา
จุไรจึงถามว่า ถ้าอย่างนั้น คนอื่นจะบูชาบ้าง จะมีผลไหม
ป้าน้อยก็บอกว่า ทุกคนมีผล ร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนกัน ขอบูชาด้วยความเคารพจริงก็แล้วกัน
เอาล่ะ ท่านผู้ฟังและท่านผู้อ่าน เวลานี้ก็พอดี หมดเวลาพอดี ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล สมบูรณ์พูนผล
จงมีแด่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชน ท่านผู้อ่านทุกท่าน
สวัสดี
ll กลับสู่สารบัญ
|
|
|