แจ้งข่าว..กำหนดการเดินทาง /งานวัดท่าซุง ประจำเดือน "เมษายน" ปี 2556
เดือน เมษายน
เข้าสายลม
วันที่ ๒๙ มีนาคม - ๒ เมษายน ๒๕๕๖
วันที่ ๒๙ มี.ค. หลวงพ่อเจ้าคุณพระภาวนากิจวิมล พร้อมด้วยพระสงฆ์ ๓ รูป ฉันภัตตาหารเช้าแล้ว เดินทางไปบ้าน
พล.อ.อ.อาทร โรจนวิภาต ที่ดอนเมือง เพื่อรับสังฆทานและฉันภัตตาหารเพล หลังจากฉันเพลเสร็จแล้ว เดินทางเข้าบ้านสายลม
เวลา ๑๙.๐๐ น. ลงรับแขก รับสังฆทาน
เวลา ๒๑.๓๐ น. ขึ้นพัก
วันที่ ๓๐ - ๓๑ มี.ค. - ๑ เม.ย. รับสังฆทาน ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ น. ถึง ๑๕.๐๐ น. และเจริญพระกรรมฐาน
ตั้งแต่เวลา ๑๙.๐๐ น. ถึง ๒๐.๐๐ น. เสร็จแล้วรับสังฆทานต่อ และ สนทนาธรรมจนถึงเวลา ๒๑.๓๐ น.
วันที่ ๓๐ - ๓๑ มี.ค. ฝึกมโนมยิทธิ ตั้งแต่เวลา ๑๒.๓๐ น. ถึงเวลา ๑๕.๐๐ น.
วันที่ ๒ เม.ย. เดินทางกลับวัด
หมายเหตุ : ก่อนเวลาเจริญพระกรรมฐาน ท่านเจ้าคุณพระภาวนากิจวิมล (เจ้าอาวาส) จะออกมารับสังฆทานเวลา 18.45 น.
(แลกคูปองสังฆทานที่เจ้าหน้าที่ก่อนเวลา 15 นาที) ต่อจากนั้นเวลา 19.00 น. (คืนวันเสาร์, อาทิตย์, จันทร์) จะเริ่มฝึกกรรมฐานแบบสุขวิปัสโก
โดยเปิดวีดีโอคำสอนจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน ประมาณ 30 นาที แล้วหลวงพ่อกล่าวนำสมาทานพระกรรมฐาน เสร็จแล้วจะนั่งสมาธิอีกประมาณ 20 นาที
จากนั้น ดร.ปริญญา นุตาลัยจะกล่าวนำเพื่อถวายสังฆทาน แล้วเจ้าภาพเข้าแถวถวายสังฆทานกัน โดยท่านเจ้าคุณพระภาวนากิจวิมล
เป็นผู้รับสังฆทานจากญาติโยมพุทธบริษัท จนถึงเวลา 21.15 น. ต่อจากนั้นจะเป็นการสวดมนต์ทำนองสรภัญญะ บทพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ นำสวดโดย ดร.ปริญญา นุตาลัย
ต่อด้วยสวดพระคาถาเงินล้าน จบแล้วนำกล่าวอุทิศส่วนกุศล เสร็จแล้วท่านเจ้าคุณพระภาวนากิจวิมล สวดให้พรแก่ญาติโยมเป็นเสร็จพิธี
(ขั้นตอนจะเป็นแบบนี้ทั้งสามวัน)
ความเป็นมา "บ้านสายลม"
เจ้าของบ้านเดิม คือ พล.อ.ท.ม.ร.ว.เสริม ศุขสวัสดิ์ และภรรยา คุณเฉิดศรี (อ๋อย) ศุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา (เสียชีวิตทั้งสองท่านแล้ว) ส่วนใหญ่เรียกกันว่า
"ท่านเจ้ากรมเสริม" ได้อุทิศบ้านที่ซอยสายลมนี้ให้เป็นสถานที่ปฏิบัติ ตั้งแต่สมัยพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ) มีชีวิตอยู่
ท่านได้ใช้เป็นที่รับสังฆทาน, สอนธรรมะ และมีการฝึกมโนมยิทธิ ในวันเสาร์อาทิตย์ทุกต้นเดือน (ในการฝึกมโนมยิทธิ มีเฉพาะวันเสาร์และวันอาทิตย์ต้นเดือน
เริ่มเวลา 12.00 - 15.00 น. รอบเดียว ควรมาถึงก่อนเวลาอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมง หรือครึ่งชั่วโมง)
โดยท่านเจ้าคุณพระภาวนากิจวิมล (พระครูปลัดอนันต์ พัทธญาโณ) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดท่าซุงองค์ปัจจุบัน
ยังเดินทางมาที่บ้านสายลมเหมือนสมัยหลวงพ่อยังมีชีวิตอยู่ ทุกวันเสาร์และอาทิตย์ต้นเดือนเช่นเดิม
ซึ่งปัจจุบันบ้านสายลมได้ปรับปรุงอาคารและสร้างอาคารกรรมฐานใหม่ 3 ชั้น เพื่อรองรับพุทธศาสนิกชนผู้สนใจในปฏิปทาของพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดท่าซุง
ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดย
ชั้น 1 จำหน่ายวัตถุมงคล หนังสือ เทป วีซีดี นิตยสารธัมมวิโมกข์ (เปิดทุกวัน เว้นวันอาทิตย์ 9.00 - 17.00 น.)
ชั้น 2 เป็นห้องฝึกญาน 8
ชั้น 3 เป็นห้องไว้ฝึกมโนมยิทธิสำหรับผู้มาฝึกใหม่ จำนวนหลายห้อง
ส่วนกำหนดการรับสังฆทานของบ้านสายลม คือ (สามารถตรวจสอบกำหนดวันได้จากเว็บไซต์นี้)
วันเสาร์-อาทิตย์ 9.00-11.00 น., 12.00-15.30 น. และ 20.00-21.00 น.
วันจันทร์ 10.00-11.00 น. , 12.00-15.30 น. และ 20.00-21.00 น.
อนึ่ง เวลาฝึกมโนมยิทธิ 12.00 - 15.00 น. เป็นประจำทุกวันเสาร์อาทิตย์ต้นเดือน สามารถฝึกได้ทุกเพศทุกวัย
โดยจะมีครูผู้สอนคอยกำกับและตรวจสอบอารมณ์อยู่ตลอดเวลา (ส่วนที่วัดท่าซุงมีสอนทุกวัน เว้นวันขึ้นปีใหม่)
การเตรียมตัว
สำหรับท่านที่จะมาฝึก ควรจะมาถึงที่บ้านสายลมอย่างน้อยตั้งแต่ 11.00 น. เพื่อทานอาหาร ทำธุระส่วนตัวให้เรียบร้อย เมื่อพร้อมให้ไปที่ตึกกรรมฐานใหม่
โดยตรงทางขึ้นบันไดให้หยิบดอกไม้ธูปเทียนบูชาครู ใส่เงินเหรียญบูชาครู สลึงนึงขึ้นไป แล้วแต่ศรัทธาของท่าน และเดินขึ้นไปชั้นสาม
จะมีครูผู้สอนคอยจัดกลุ่มให้นั่งเป็นวง ๆ ตามที่ครูเห็นเหมาะสม จะมีแบ่งวงชายและหญิง นั่งทำใจให้สงบ หรือซ้อมภาวนา นะมะพะธะ ไปสบาย ๆ
ลืมเรื่องวุ่นวายปัญหาส่วนตัวไปซักชั่วโมง รอครูผู้สอนให้คำแนะนำและอธิบายขั้นตอนต่าง ๆ อย่ามาสายเกิน 12.00 น. เพราะจะไม่อนุญาตให้เข้ามาฝึก
ประตูห้องฝึกจะล็อค
การแต่งกายสุภาพ (ไม่จำเป็นต้องใส่ชุดขาว)
เลขที่ 9 ซ.8 ถ.พหลโยธิน (ซอยสายลม 1) สามเสนใน พญาไท กรุงเทพฯ 10400
โทร.: 02-616-7177, 02-271-3868 , 02-272-6759 (หยุดวันอาทิตย์)
แผนที่-การเดินทาง
ขับรถส่วนตัว
วิ่งถนนพหลโยธิน เข้าซอยสายลม (พหลฯ ซ.8) ตรงเข้ามาเมื่อตรงผ่านกรมไปรษณีย์โทรเลขมาแล้ว ถนนจะบังคับเลี้ยวขวา แล้วให้ตรงมาเรื่อยๆ
(ไม่ต้องเลี้ยวซ้ายตามทางหลักอีก) ตรงเข้ามาอีกเล็กน้อยจะมีแยกซ้ายมือ ให้เลี้ยวเข้าซ้ายนั้นแล้วหาที่จอดรถ
(อย่าจอดรถขวางประตูบ้านคนอื่นหรือกีดขวางการจราจร) ซึ่งบ้านสายลมจะอยู่ห่างจากแยกทางซ้ายเพียงประมาณ 50 เมตร จะเห็นอาคารกรรมฐานใหญ่ชัดเจน (หมายเหตุ.
มีเส้นทางอื่นๆ ก็เข้ามาได้ เช่นเข้าจาก ถ.วิภาวดีรังสิต)
โดยสารรถประจำทาง
สาย 8, 26, 29, 34, 39, 59, 77 ปอ. 3, ปอ.9, ปอ.10, ปอ. 29 และ ปอ.77 ลงซอยพหลโยธิน ซ.8 (ซอยสายลม 1) แล้วนั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้าง บอกว่า มาบ้านหลวงพ่อ
(บ้านสายลม บ้านเจ้ากรมเสริม ) หรือเดินเข้ามาเองก็ได้ประมาณ 10 นาที
รถไฟฟ้า BTS
ลงที่สถานี อารีย์ แล้วลงฝั่งตึก IBM แล้วเดินมาปากซอยพหลโยธิน ซ.8 (ซอยสายลม 1)
credit - www.praruttanatri.com และ www.sptcenter.org/spt/บ้านสายลม
เล่าเรื่องบ้านสายลม
โดย .. ลูกสาวท่านโกษา
ท่านเจ้ากรมเสริม และ คุณเฉิดศรี (อ๋อย) นั่งอยู่ทางด้านขวา
.........พุทธบริษัทลูกศิษย์เจ้าประคุณพระราชพรหมยานเถระ ส่วนใหญ่คงจะได้เคยไปกราบนมัสการ และทำบุญกับหลวงพ่อที่ บ้านสายลม บ้างไม่มากก็น้อย
บางคนอาจจะเคยได้ยินชื่อ เคยโทรศัพท์มาติดต่อถามไถ่ แต่ยังไม่เคยมาก็มี แต่ทุกคนก็รู้กันเป็นส่วนใหญ่ว่า บ้านเลขที่ ๙ ซอยสายลม ๑ เป็นสำนักในกรุงเทพ ฯ
ของหลวงพ่อ จึงจะขอเล่าประวัติของบ้านไว้ ก่อนที่จะหายไปกับสายลมเหมือนชื่อซอย
บ้านสายลม เป็นบ้านของ พลอากาศโทหม่อมราชวงศ์เสริม ศุขสวัสดิ์ อดีตเจ้ากรมสื่อสารทหารอากาศและเจ้ากรมสื่อสารทหาร กับ คุณเฉิดศรี
หรือรู้จักกันทั่วไปในนามของ คุณอ๋อย ผู้เป็นภรรยา คุณอ๋อยซื้อที่นี้ไว้เมื่อกว่า ๖๐ ปีมาแล้ว ด้วยราคา ตารางวาละ ๙ บาท เมื่อที่นี่ยังไม่มีรถเมล์ผ่าน
ยังเป็นทุ่งนา บ้านที่สร้างตอนแรกมีลักษณะเป็นกระท่อมมากกว่า และเกือบจะเป็นบ้านหลังเดียวของซอย
เล่ากันว่าเปิดวิทยุทีหนึ่งได้ยินเกือบถึงปากซอยความที่เงียบ คุณอ๋อยกับเพื่อนบ้านเป็นผู้ไปปักป้ายหน้าซอยว่า ซอยสายลม เพราะลมแรงจริง ๆ
เจ้ากรมเสริม อย่างที่หลวงพ่อเรียกและ คุณอ๋อย มีความเคารพหลวงพ่อเป็นอย่างสูงและเริ่มไปทำบุญกับหลวงพ่อที่วัดท่าซุงอย่างสม่ำเสมอติดต่อกันเป็นเวลานานกว่า
๓๐ ปี (เจ้ากรมเล่าไว้ในหนังสืองานศพคุณอ๋อย) ถ้าใครไปวัดและข้ามไปด้านที่ติดกับแม่น้ำก็จะเห็นชื่อทั้ง ๒ ท่านปรากฏอยู่ตามถาวรวัตถุอยู่ประปราย
คุณอ๋อยเองพื้นเพเป็นชาวอุทัย แต่ก็ติดตามคุณพ่อซึ่งเป็นนายอำเภอและข้าหลวงหลายจังหวัด
การได้ไปปฏิบัติธรรมและทำบุญที่วัดท่าซุงนั้นจึงเหมือนกลับไปเยือนบ้านเก่าด้วย
ความที่ทั้ง ๒ ท่าน เป็นผู้มีเพื่อนมาก ไม่ช้าท่านก็ชักชวนเพื่อนในวงการต่าง ๆ เข้ามากราบนมัสการหลวงพ่อมากขึ้น
และการที่ท่านเป็นผู้ที่มีความเลื่อมใสศรัทธาปสาทะในปฏิปทาของหลวงพ่อเป็นอย่างสูง
จึงได้กราบอาราธนาหลวงพ่อให้เข้ามาสอนพระกรรมฐานและพักที่บ้านสายลมเป็นประจำกว่า ๔๐ ปีมาแล้ว
นอกจากหลวงพ่อท่านจะเริ่มเข้ามาสอนพระกรรมฐานและพักที่บ้านสายลมเป็นประจำทุกเดือนแล้ว บ้านสายลมยังเป็นที่วางจำหน่ายวัตถุมงคล หนังสือ
และเทปของหลวงพ่อแต่เพียงแห่งเดียวนอกจากวัดท่าซุง
หลวงพ่อท่านเล่าว่า สถานที่นี้เคยเป็นวัดมาก่อน ท่านเจ้าอาวาสสมัยนั้นมีนามว่า หลวงตาแสง และเดี๋ยวนี้ท่านก็ยังคงคุ้มครองดูแลอยู่
บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายจึงมักเรียกบ้านสายลมว่า วัดหลวงตาแสง หลวงตาแสงนั้นตามที่หลวงพ่อเล่า ท่านบรรลุอรหัตผล ณ ทีนี้
และยังมีอีกหลายองค์ที่ได้บรรลุมรรคผลในทีนี้ หลวงพ่อท่านว่า ที่ใดก็ตามที่เคยเป็นวัด เคยมีผู้บรรลุมรรคผลที่นั่นจะทำกรรมฐานได้ผลดี เมื่อสมัยแรก ๆ
ที่หลวงพ่อมาโปรดพุทธบริษัทที่นี่ ท่านจะทำบวงสรวงในวันเกิดท่านเจ้ากรมคือ วันที่ ๒ เมษายน ต่อมาการบวงสรวงในเดือนเมษายนของทุกปี
หลวงพ่อท่านจึงให้ถือเป็นวันไหว้ครูของบ้านสายลม
เมื่อสมัยที่หลวงพ่อมาโปรดพุทธบริษัทที่บ้านสายลมใหม่ ๆ นั้น ตัวบ้านยังมีขนาดเล็กห้องที่เป็นห้องพระกรรมฐานนั่งกันได้ประมาณ ๒๐ คน ก็ชักจะแน่น ๆ แล้ว
เวลานั้นคนเก่า ๆ คงจะจำได้ว่า คุณอ๋อยจะเป็นต้นศรัทธาคอยดูแลควบคุมความประพฤติของบรรดาลูกศิษย์ให้ดูงามอยู่เสมอ
ใครที่นั่งขัดสมาธิกับหลวงพ่อจะโดนคุณอ๋อยเอ็ด ใครกิริยาวาจาไม่สุภาพเรียบร้อยจะถูกดุ ใครมีปัญหาหัวใจปรึกษาคุณอ๋อยได้ ลูกศิษย์หลวงพ่อรุ่นแรก ๆ
จึงไม่มีใครไม่รู้จักบ้านสายลม และเจ้าของบ้านคือเจ้ากรมเสริมและคุณอ๋อย
หลวงพ่อท่านจะใช้คุณอ๋อยในการจัดการเรื่องธุรการต่าง ๆ ของวัดที่ต้องเนื่องกับทางโลกคุณอ๋อยก็จะใช้ลูกทั้ง ๕ คน
ซึ่งก็มีความศรัทธาและมีความเคารพต่อหลวงพ่อเช่นเดียวกันเป็นมือเป็นไม้ รวมทั้งกลุ่มลูกศิษย์ลูกหาที่รับหน้าที่ไปตามความถนัด
เจ้ากรมและคุณอ๋อยตลอดจนผู้ทำงานวัดจะมั่นในหลักที่หลวงพ่อสอนในเรื่องการรักษาสมบัติของสงฆ์ และยึดเป็นสรณะในการทำงานถวายวัด
งานวัดในสมัยแรก ๆ จะมีคุณอ๋อยเป็นหัวแรง ตั้งแต่งานเล็กงานน้อย จนถึงงานใหญ่ เช่นการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงยกช่อฟ้าพระอุโบสถ
พระลูกศิษย์หลวงพ่อจะมีความคุ้นเคยกับ " โยมอ๋อย "เป็นอย่างดี ลูกศิษย์หลวงพ่อที่ไม่รู้จักบ้านสายลมและครอบครัวของเจ้ากรมกับคุณอ๋อยแทบจะไม่มี
โยมอ๋อยติดตามหลวงพ่อไปโปรดพุทธบริษัทในที่ต่าง ๆ เป็นแรงสำคัญในการที่หลวงพ่อไปให้กำลังใจทหารตามชายแดน ทำพิธีทางศาสนาเพื่อบรรเทาเคราะห์ของประเทศชาติ
นำพุทธบริษัทออกไปนมัสการพระอริยสงฆ์ (ล่าพระอาจารย์) บ้านสายลมจึงเคยเป็นที่พักของพระอริยสงฆ์ นับตั้งแต่ หลวงปู่คำแสนเล็ก หลวงปู่คำแสนใหญ่
หลวงปู่ธรรมชัย หลวงปู่วงศ์ ส่วนหลวงปู่ชุ่ม นั้นท่านว่าเจ้ากรมและคุณอ๋อยเคยเป็นโยมท่านมาก่อน ท่านขอให้ถ่ายรูปร่วมกันไว้
และเมื่อท่านละสังขารก็ยังมาตั้งศพไว้ที่บ้านสายลมอยู่วันหนึ่ง กล่าวได้ว่าการที่หลวงพ่อท่านมาโปรดพุทธบริษัทที่บ้านสายลมนั้น
ได้นำมงคลมาสู่บ้านสายลมเป็นเอนกอนันต์ และบ้านสายลมก็ยังรับใช้พระพุทธศาสนาโดยยึดปฏิปทาหลวงพ่ออยู่อย่างต่อเนื่องและเหนียวแน่น
ฝ่ายเจ้ากรมท่านเป็นผู้มีความรักทางวิชาการ ท่านศึกษาพระไตรปิฎก เมื่อมีปัญหาใดทางพุทธศาสนา ท่านก็จะกราบเรียนถามหลวงพ่อ
และไม่มีปัญหาใดที่หลวงพ่อตอบให้หายข้องใจไม่ได้ เมื่อฟังท่านเทศน์และเล่าเรื่องเกร็ดทางศาสนาและความรู้พิเศษต่าง ๆ มากเข้าเจ้ากรม ฯ
จึงอาราธนาให้หลวงพ่อท่านอัดลงเทป และเจ้ากรมก็ลงมือถอดเทปเองจัดพิมพ์เป็นหนังสือ และเพื่อตัดปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์
หลวงท่านจึงมอบลิขสิทธิ์หนังสือที่จัดพิมพ์ในตอนต้นทั้งหมดให้เจ้ากรม เจ้ากรมก็เอาเงินตัวเองลงทุนพิมพ์หนังสือจำหน่าย
เงินที่ได้ก็ใช้เป็นทุนหมุนเวียนพิมพ์ต่อไปและถวายวัดสนับสนุนกิจการของโรงเรียนสุธรรมวิทยาเพื่อเป็นธรรมทานด้วย
ต่อมาเมื่อ คุณอรอนงค์ อรรถไกวัลวที เพื่อนของคุณอ๋อยขออนุญาตหลวงพ่อนำหนังสือประวัติหลวงพ่อปานไปพิมพ์แจกในงานศพมารดาของเธอ
ก็ปรากฏว่าเป็นที่สนใจของพุทธบริษัทในวงกว้างขึ้นอีกมาก จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเติบโตและการขยายตัวของสำนักของหลวงพ่อที่ซอยสายลม
เจ้ากรมกับคุณอ๋อยต่อเติมบ้านอีกหลายครั้งเพื่อให้พอรับกับศรัทธาที่หลั่งไหลเข้ามาเรื่อย ๆ แต่ก็แคบเกินไปทุกที เมื่อคุณอ๋อยเจ็บหนักเมื่อปี ๒๕๑๙
ก่อนเสียชีวิต คุณอ๋อยได้กล่าวกับหลวงพ่อขอถวายบ้านสายลมให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม
เมื่อคุณอ๋อยสิ้นชีวิตไปแล้วเจ้ากรมก็ยังดำเนินตามแนวปฏิบัติแต่ดั้งเดิมมาโดยตลอด จนกระทั่งหลวงพ่อท่านมรณภาพไป
เจ้ากรมและลูก ๆ ก็ได้กราบอาราธนาให้ท่านเจ้าอาวาส พระครูปลัดอนันต์ พัทญาโณ
ไปโปรดพุทธบริษัทเช่นเดียวกับที่หลวงพ่อเคยทำต่อเนื่องกันมาจนปัจจุบันอย่างไรก็ตามความที่มีพุทธบริษัทมาทำบุญปฏิบัติพระกรรมฐานกันมากขึ้น บรรยากาศเก่า ๆ
ที่เคยมีคุณอ๋อยเป็นต้นศรัทธาดูแลทุกอย่าง ใครเข้ามาในบ้านสายลมจะต้องพบคุณอ๋อยก่อน ก็เปลี่ยนไปตามกาลเวลา บ้านสายลมเป็นสาธารณะ มากขึ้น
ลูกศิษย์ที่เข้ามาทำบุญไม่เคยเห็นหน้าเจ้าของบ้านระเบียบวินัยถดถอยไปบ้าง เมื่อเจ้ากรมสิ้นชีวิตลงใน ปี ๒๕๔๑ ลูก ๆ
ของเจ้ากรมก็พร้อมใจกันกราบยืนยันกับท่านเจ้าอาวาสว่า จะดำเนินตามปณิธานของท่านเจ้ากรมและคุณอ๋อยอยู่ต่อไปโดยให้บ้านเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม
อย่างไรก็ตาม ทาง มูลนิธิหลวงพ่อปาน-พระมหาวีระ ถาวโร เห็นว่ากิจการบุญของวัดขยายกว้างขวางขึ้นและมีพุทธบริษัทมาทำบุญมากมายขึ้นทุกวัน
จึงได้ขอซื้อที่ดินที่ติดกับบ้านสายลม เพื่อสร้างอาคารที่ทำการของมูลนิธิ และขยายที่ปฏิบัติธรรมออกไปให้เป็นสัดส่วน
ความจริงส่วนที่ซื้อใหม่นี้ก็เคยเป็นที่ดินของคุณอ๋อยมาก่อน แต่ตัดขายออกไปเมื่อหลายสิบปีมาแล้วเพื่อนำเงินมาปลูกบ้าน
และก็เป็นส่วนหนึ่งของวัดหลวงตาแสงเช่นกัน
ในการออกแบบอาคารนั้น ม.ล.ภาวินี สันติศิริ ลูกสาวคนที่ ๔ ของท่านเจ้ากรมได้จ้างสถาปนิกมาออกแบบ เพื่อที่จะให้เข้ากับอาคารเดิมได้ดี
โดยเธอเป็นผู้ออกเงินทำบุญ เมื่อได้แบบมาแล้วก็กราบถวายท่านเจ้าอาวาสเพื่อมอบให้แก่มูลนิธินำไปดำเนินการก่อสร้างต่อไป ในอาคารใหม่นี้จะมีห้องกรรมฐาน ๒ ชั้น
และมีพื้นที่จำหน่ายหนังสือและวัตถุมงคลโดยที่อาคารในที่เก่าก็ยังคงเก็บรักษาส่วนที่เป็นกุฏิดั้งเดิมของหลวงพ่อไว้
รวมทั้งห้องพระใหญ่จะยังคงเป็นที่ที่ท่านเจ้าอาวาสใช้รับแขก และโปรดพุทธบริษัท ตลอดจนเป็นที่พักของท่านและพระผู้ติดตามเช่นปัจจุบัน
ในส่วนใช้สอยของเจ้าของบ้าน เนื่องจากอาคารเดิมสร้างมา ๕๐ ปีแล้ว บรรดาลูก ๆ ของท่านเจ้ากรมและคุณอ๋อย
จึงเตรียมใช้เงินของตัวเองในการปรับปรุงใหม่เสียก่อนที่จะพังทลายลงมาเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยได้ดีขึ้น
โดยแต่ต้องรอหลังจากที่มูลนิธิสร้างอาคารใหม่เรียบร้อยแล้วเพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนการปฏิบัติธรรมของลูกศิษย์หลวงพ่อทั้งหลาย ฉะนั้น ในไม่ช้านี้
วัดหลวงตาแสงบ้านสายลม ก็จะขยายออกไปให้บรรดาลูกศิษย์หลวงพ่อมีที่ปฏิบัติพระกรรมฐานที่กว้างขวางสะดวกสบายขึ้น สมดังที่เจ้ากรมเสริมและคุณอ๋อยรวมทั้งลูก ๆ
ตั้งใจปฏิบัติมาโดยตลอด....
จากหนังสือธัมมวิโมกข์ ฉบับที่ ๒๕๐ ประจำเดือน มกราคม ๒๕๔๕
โพสต์ลงใน Facebook โดย achaya
ทำบุญพิธีไหว้ครูประจำปีที่บ้านสายลม
วันที่ ๓๑ มี.ค. เวลา ๐๘.๐๐ น.ทำพิธีบวงสรวง เวลา ๑๑.๐๐ น.
ถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์
ทำบุญวันจักรี
วันที่ ๖ เม.ย. เวลาประมาณ ๐๗.๓๐ น. ทำบุญใส่บาตรและถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์ ที่ศาลาพระพินิจอักษร (ทองดี)
บรรพชาสามเณร
วันที่ ๘ เม.ย. เวลา ๑๔.๓๐ น. บรรพชาสามเณร นักเรียนชาย ร.ร.พระสุธรรมยานเถระวิทยา และ นักเรียนหญิง
บวชชีกรรมบถ ๑๐ ประมาณ ๓๐๐ คน ถวายกุศลแด่พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ
วันที่ ๑๓ เม.ย. เวลา ๐๙.๐๐ น. พระภาวนากิจวิมล เป็นประธานทำพิธีบวงสรวงที่วิหารหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์
ในการก่อสร้างวิหารหลังใหม่ครอบวิหารหลังเก่า
ทำบุญวันสงกรานต์
วันที่ ๑๓ - ๑๔ - ๑๕ เม.ย. เวลาประมาณ ๐๗.๓๐ น. ทำบุญใส่บาตรและถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์ ที่ศาลา 12 ไร่
ตอนเย็นร่วมก่อพระเจดีย์ทรายถวายเป็นพุทธบูชาบริเวณหน้ามหาวิหารแก้ว ๑๐๐ เมตร
วันที่ ๑๓ - ๑๔ เม.ย. เวลา ๑๙.๐๐ น. มีสวดพระอภิธรรม ที่ศาลา12 ไร่
พิธีสะเดาะเคราะห์
วันที่ ๑๕ เม.ย. เวลา ๑๐.๐๐ น. ทำพิธีสะเดาะเคราะห์รอบที่ ๑ ณ ศาลา ๑๒ ไร่
เวลา ๑๔.๐๐ น. ทำพิธีสะเดาะเคราะห์รอบที่ ๒ เป็นรอบสุดท้าย
สรงนํ้าพระภิกษุ และ สามเณร
วันที่ ๑๕ เม.ย. ตอนบ่ายเวลาประมาณ ๑๕.๐๐ น. สรงนํ้าพระภิกษุ และ สามเณร ที่ศาลา ๑๒ ไร่
สอนพระกรรมฐานที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมศิษย์
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง (โคราช)
วันที่ ๒๖ - ๒๘ เม.ย. ๒๕๕๖
วันที่ ๒๖ เม.ย. เวลา ๑๙.๐๐ น. เจริญพระกรรมฐานมโนมยิทธิ เสร็จแล้วรับสังฆทาน และ สนทนาธรรม
วันที่ ๒๗ เม.ย. เวลา ๐๙.๓๐ น. ฝึกมโนมยิทธิ เสร็จแล้วรับสังฆทาน
เวลา ๑๙.๐๐ น. เจริญพระกรรมฐานมโนมยิทธิ เสร็จแล้วรับสังฆทานต่อและสนทนาธรรมกับญาติโยม
วันที่ ๒๘ เม.ย. เวลา ๐๙.๓๐ น. ฝึกมโนมยิทธิ รับสังฆทาน ฉันภัตตาหารเพล
เสร็จแล้วเดินทางกลับวัดท่าซุง
แผนที่เดินทางไปศูนย์ปฏิบัติธรรม (โคราช)
"คลิก" เพื่อขยายภาพ
เดินทางไปวัดเขาวง
วันที่ ๓๐ เม.ย. ท่านเจ้าคุณพระภาวนากิจวิมล เดินทางไปวัดเขาวงค้าง ๑ คืน เพื่อร่วมงานพิธีหล่อ
พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ ๑ ในวันที่ ๑ พ.ค.
|