Not logged in [Login - Register]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites ตั้งหัวข้อใหม่
[*] posted on 30/8/13 at 18:44 [ QUOTE ]

มงคลจักวาฬใหญ่ (สิริธิติมะติเต - บทสร้างเสริมบารมี) บาลีและคำแปล (VEDIO - MP3)


มงคลจักวาฬใหญ่






..........สิริธิติมะติเตโชชะยะสิทธิมะหิทธิมะหาคุณาปะริมิตะปุญญาธิการัสสะ สัพพันตะรายะนิวาระณะสะมัตถัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ท์วัตติงสะมะหาปุริสะลักขะณานุภาเวนะ อะสีต์ยานุพ์ยัญชะนานุภาเวนะ อัฏฐุตตะระสะตะมังคะลานุภาเวนะ ฉัพพัณณะรังสิยานุภาเวนะ เกตุมาลานุภาเวนะ ทะสะปาระมิตานุภาเวนะ ทะสะอุปะปาระมิตานุภาเวนะ ทะสะปะระมัตถะปาระมิตานุภาเวนะ สีละสะมาธิปัญญานุภาเวนะ พุทธานุภาเวนะ ธัมมานุภาเวนะ สังฆานุภาเวนะ เตชานุภาเวนะ อิทธานุภาเวนะ พะลานุภาเวนะ เญยยะธัมมานุภาเวนะ

จะตุราสีติสะหัสสะธัมมักขันธานุภาเวนะ นะวะโลกุตตะระธัมมานุภาเวนะ อัฏฐังคิกะมัคคานุภาเวนะ อัฏฐะสะมาปัตติยานุภาเวนะ ฉะฬะภิญญานุภาเวนะ จะตุสัจจะญาณานุภาเวนะ ทะสะพะละญาณานุภาเวนะ สัพพัญญตะญาณานุภาเวนะ เมตตาการุณามุทิตาอุเปกขานุภาเวนะ สัพพะปะริตตานุภาเวนะ ระตะนัตตะยะสะระณานุภาเวนะ ตุยหัง สัพพะโรคะโสกุปัททะวะทุกขะโทมะนัสสุปายาสา วินัสสันตุ สัพพะ อันตะรายาปิ วินัสสันตุ สัพพะสังกัปปา ตุยหัง สะมิชฌันตุ ทีฆายุตา ตุยหัง โหนตุ สะตะวัสสะชีเวนะ สะมังคิโก โหตุ สัพพะทา ฯ อากาสะปัพพะตะวะนะภูมิคังคามะหาสะมุททา อารักขะกา เทวะตา สะทา ตุม์เห อะนุรักขันตุ ฯ

คำแปล มงคลจักวาฬใหญ่

ด้วยอานุภาพแห่งพระมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ผู้ตรัสรู้ชอบโดยพระองค์เอง
ผู้มีบุญญาธิการอันกำหนดมิได้ ด้วยพระฤทธิ์อันใหญ่ และพระคุณอันใหญ่
สำเร็จด้วยพระสิริ พระปัญญาเป็นเครื่องตั้งมั่น พระปัญญาเป็นเครื่องรู้ พระเดชและพระชัย ผู้สามารถห้ามสรรพอันตราย
ด้วยอานุภาพแห่งอนุพยัญชนะ ๘๐ ด้วยอานุภาพแห่งมงคล ๑๐๘ ประการ ด้วยอานุภาพแห่งพระรัศมีมีพรรณ ๖ ประการ
ด้วยอานุภาพแห่งพระเกตุมาลา
ด้วยอานุภาพแห่งพระบารมี ๑๐ ประการ ด้วยอานุภาพแห่งพระอุปปารมี ๑๐ ประการ ด้วยอานุภาพแห่งพระปรมัตถปารมี ๑๐ ประการ
ด้วยอานุภาพแห่งศีล สมาธิ ปัญญา ด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธรัตนะ ด้วยอานุภาพแห่งพระธรรมรัตนะ ด้วยอานุภาพแห่งพระสังฆรัตนะ
ด้วยอานุภาพแห่งพระเดช ด้วยอานุภาพแห่งพระฤทธิ์ ด้วยอานุภาพแห่งพระกำลัง ด้วยอานุภาพแห่งพระเญยยธรรม
ด้วยอานุภาพแห่งพระธรรมขันธ์ ๘ หมื่น ๔ พัน ด้วยอานุภาพแห่งโลกุตตรธรรม ๙ ประการ ด้วยอานุภาพแห่งอริยมรรค ๘ ประการ
ด้วยอานุภาพแห่พระสมาบัติ ๘ ประการ ด้วยอานุภาพแห่งพระอภิญญา ๖ ประการ ด้วยอานุภาพแห่งพระญาณในสัจจะ ๔
ด้วยอานุภาพแห่งพระญาณมีกำลัง ๑๐ ประการ ด้วยอานุภาพแห่งพระสัพพัญญุตญาณ
ด้วยอานุภาพแห่งพระเมตตา พระกรุณา พระมุทิตา พระอุเบกขา แห่งพระปริตรทั้งปวงด้วยอานุภาพแห่งอันระลึกถึงพระรัตนตรัย
แม้เหล่าโรค โศก อุปัทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปยาส ทั้งปวง ของท่าน จงสิ้นสูญไป แม้เหล่าอันตรายทั้งปวง จงสิ้นสูญไป
สรรพดำริทั้งหลายของท่านจงสำเร็จด้วยดี ความเป็นผู้มีอายุยืนจงมีแก่ท่าน ท่านจงเป็นผู้มีความพร้อมเพรียงด้วยความเป็นอยู่สิ้น ๑๐๐ ปี ทุกเมื่อ
เทพเจ้าทั้งหลาย ผู้คุ้มครองสถิตย์อยู่ในอากาศและบรรพตไพรสณฑ์ ภูมิสถาน
แม่น้ำคงคามหาสมุทร จงตามรักษาท่านทั้งหลายทุกเมื่อ เทอญ
ขอให้ทุกสิ่งในมงคลทั้งปวง จงมีแก่ท่าน ขอเหล่าเทพดาทั้งมวล จงปกปักรักษาท่าน ด้วยพุทธานุภาพ ธัมมานุภาพ และสังฆานุภาพ ขอความสวัสดี จงมีแด่ท่านเมื่อ เทอญ
ได้มีการป้องกันความชั่วร้าย ของพวกนักษัตร ยักษ์ และภูตแล้ว ด้วยอำนาจพระปริตร จงกำจัดอุปัทวะทั้งหลาย ที่เกิดมีแต่นักษัตร ยักษ์ และภูตเหล่านั้นเสีย ฯ

ตำนานมงคลจักรวาฬใหญ่

มนต์บทนี้ชื่อว่า “ มงคลจักรวาฬ ” หากแต่นิยมเรียนกว่า “มงคลจักรวาฬใหญ่” เพิ่มคำว่า ใหญ่ต่อท้ายอีกคำหนึ่ง ทั้งนี้ก็เพราะมีมนต์บทหนึ่งเรียกว่า “มงคลจักรวาฬน้อย” เกิดตามขึ้นมา มงคลจักรวาฬ เดิมจึงได้รับยกขึ้นเป็น มงคลจักรวาฬใหญ่ แต่ มงคลจักรวาฬน้อย นิยมใช้เป็นคาถาสวดอนุโมทนาอวยพรในตอนเช้า ต่อ ยถา สัพพี ในเวลาพระฉันเช้าเสร็จแล้ว ไม่นิยมให้สวดเวลาเย็น เหมือนมงคลจักรวาฬใหญ่

คำว่า “ มงคลจักรวาฬ” ซึ่งเป็นนามของมนต์บทนี้นั้น เดิมเป็นชื่อของจักรวาฬ คือส่วนหนึ่งของพื้นโลกที่เราอยู่อาศัยนี้ ด้วยจักรวาฬนั้นมีมากจักรวาฬด้วยกัน จักรวาฬหนึ่งๆก็มีชื่ออยู่อย่างหนึ่ง แต่สำหรับจักรวาฬนี้ เรียกว่า “มงคลจักรวาฬ” ด้วยเป็นจักรวาฬที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบังเกิดขึ้น

ความจริง เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบังเกิดขึ้นและประทับอยู่แสดงธรรมสั่งสอนประชา สัตว์ ตลอดเสด็จปรินิพพาน อยู่ในจักรวาฬนี้ ดังนั้น จักรวาฬนี้จึงเรียกว่า “ มงคลจักวาฬ” นี้เป็นหลักยืนยันได้ว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายที่ล่วงลับไปมากแล้วก็ดี หรือที่จะมาตรัสรู้ในกาลต่อไปอีกก็ดี พระพุทธเจ้าเหล่านั้นทุกพระองค์ๆจะต้องมาบังเกิดเฉพาะในจักรวาฬนี้จักรวาฬ เดียว ดังนั้น จักรวาฬนี้ นักปราชญ์จึงขนานนามว่า “ มงคลจักรวาฬ” คือเป็นจักรวาฬที่รวมอยู่แห่งสรรพมงคลอันสูงสุด ทั้งสิ้น

ครั้นมนต์บทนี้ ได้ประมวลสรรพมงคล บรรดาที่เกิดในองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหมด คือทั้งที่เป็นสัมโภคกายและธรรมกาย หรือจะว่าได้อัญเชิญบรรดาคุณสมบัติของพระพุทธเจ้า ที่เป็นมงคล ทั้งพระกาย พระจิต และพระธรรมสิ้นเชิง มาประดิษฐานลงไว้ในจักรวาฬนี้ ดังนั้นมนต์บทนี้จึงได้นามว่า “มงคลจักรวาฬ”

เพื่อมิให้ท่านทั้งหลายต้องคิดเป็นปัญหาติดใจสงสัยอยู่อีกว่า อะไรบ้างที่เป็นมงคล ในมงคลจักรวาฬนี้ จะขอพรรณนาความในมนต์มงคลจักรวาฬใหญ่นี้ มาเป็นเครื่องประดับความรู้ ในมงคลจักรวาฬใหญ่นี้ ในตอนต้นและตอนกลาง ได้พรรณนาอ้างพระคุณสมบัติของพระพุทธเจ้าทั้งหมด ซึ่งเป็นมงคลอันวิเศษ และขออานุภาพนั้นทั้งมวล ให้ช่วยอภิบาลรักษา บันดาลให้เกิดสิริสุขทุกประการ ในตอนท้ายก็ขออานุภาพของเทพเจ้าช่วยตามรักษาอีกด้วย ต่อไปนี้จะได้พรรณนาเนื้อแท้ในมงคลจักรวาฬใหญ่สืบไป ความว่า

พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงบุญญาธิการอันกำหนดนับไม่ได้ ด้วยทรงฤทธิ์อันใหญ่และและทรงพระคุณอันใหญ่ซึ่งสำเร็จด้วย
ก. สิริ คือ ศรีเสาวลักษณ์ที่ล่วงเทวดาและมนุษย์
ข. ธิติ คือ พระปัญญาที่หนักแน่นในภายใน
ค. มติ คือ พระปัญญาที่สำแดงให้ปรากฏในภายนอก
ง. ชยะ คือ พระชัยที่ทรงชำนะสรรพศัตรูและภัยพิบัติและสามารถห้ามเสียซึ่งสรรพอันตราย ทั้งมวล ทรงอุบัติขึ้นในมงคลจักรวาฬนี้ เพื่อเป็นมงคลแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายผู้ต้องการด้วยมงคลอำนวยหิตานุหิต อิฏฐวิบุลมนุญผลแก่ชนทั่วหน้า ด้วยพระอานุภาพที่จะพึงพรรณนาเป็นสัตตวีสติปเภท สำแดงออกซึ่งมงคลวิเศษ ๒๗ ประการ ตามบาลีมงคลจักรวาฬบรรหารไว้ในประการต้นว่า

๑. ทวตฺตึสมหาปุริสลกฺขณานุภาเวนะ ด้วยอานุภาพแห่งพระมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ คือ

๑. มีพื้นฝ่าพระบาททั้ง ๒ เสมอเป็นอันดี
๒. มีฝ่าพระบาททั้ง ๒ ประกอบด้วยลายลักษณะกงจักร
๓. ส้นพระบาทยาวมีสีแดงงาม
๔. มีนิ้วพระบาทและนิ้วพระหัตถ์ยาวเรียว
๕. มีพื้นฝ่าพระบาทและฝ่าพระหัตถ์อ่อนนุ่ม
๖. มีฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทประดับด้วยลายตาข่าย นิ้วพระบาทเสมอกัน ชิดเสียดสีกันสนิท
๗. มีอัฐิข้อพระบาทตั้งอยู่บนหลังพระบาท
๘. มีลำพระชงฆ์เรียว ดังแข้งเนื้อทราย
๙. เมื่อเสด็จประทับยืนโดยปกติ พระหัตถ์ทั้งสองเหยียดลงถึงพระชาณุ
๑๐. มีพระคุยห (ของลับ) ซ่อนอยู่ในฝัก ดุจฝักบัวกำบังเม็ดไว้
๑๑. มีพระฉวีวรรณเหลืองงาม ดังสีทองทั่วพระกาย
๑๒. มีพระฉวีอันละเอียด มิได้มีธุลีละอองติดต้องพระกาย
๑๓. มีเส้นพระโลมาเฉพาะขุมละเส้น
๑๔. มีเส้นพระโลมาดำสนิท
๑๕. มีท่อนพระกายตั้งตรง ดุจกายท้าวมหาพรหม
๑๖. มีพระมังสะ ในที่ ๗ แห่ง ( คือ หลังพระบาททั้ง ๒ พระอังสาทั้ง ๒ และลำพระศอ )
๑๗. มีพระสกลกายบริบูรณ์ ดุจกิ่งท่อนหน้าแห่งพระยาราชสีห์
๑๘. มีพระปฤษฎางค์บริบูรณ์ เรียบราบเสมอกัน
๑๙. มีปริมณฑลพระกายบริบูรณ์ เหมือนมณฑลไม้ไทร
๒๐. มีลำพระศอกลมงาม
๒๑. มีพระเส้นประสาทสำหรับรับรสอาหารถึง ๗,๐๐๐ เส้น
๒๒. มีพระหนุเหมือนคางพระยาราชสีห์
๒๓. มีพระทนต์ถ้วน ๔๐ ซี่บริบูรณ์ คือ เบื้องบน ๒๐ เบื้องล่าง ๒๐ เท่ากัน
๒๔. มีพระทนต์เรียบเรียงเสมอเป็นอันดี
๒๕. มีระเบียบพระทนต์ชิด สนิทกันเป็นอันดี
๒๖. มีพระเขี้ยวทั้ง ๔ อันขาวบริสุทธิ์
๒๗. มีพระชิวหาอ่อน และ ยาว
๒๘. มีพระสุรเสียงไพเราะ กังวาล เหมือนเสียงพรหม
๒๙. มีดวงพระเนตรดำสนิทยิ่งนัก
๓๐. มีดวงพระเนตรผ่องใส
๓๑. มีพระอุณาโลมชาติขึ้นที่ระหว่างพระโขนงทั้ง ๒ ระหว่างพระนลาต วงเวียนเป็นทักษิณาวัฎ มีพรรณขาว และอ่อนดุจสำลี อันประชีได้ ๑๐๐ ครั้ง
๓๒. มีพระอณุหิส กรอบพระนลาตและพระเศียรบริบูรณ์

๒. ด้วยอานุภาพแห่งพระอสีตยานุพยัญชนะ พระลักษณะน้อย อีก ๘๐ ทัศ คือ

๑. นิ้วพระหัตถ์ นิ้วพระบาท เหลืองงาม
๒. นิ้วพระหัตถ์ นิ้วพระบาท เรียวออกไปโดยลำดับแต่ต้นจนปลาย
๓. นิ้วพระหัตถ์ นิ้วพระบาทกลม
๔. พระนขา ๒๐ มีสีแดง
๕. พระนขา ๑๐ งอนงาม ช้อนขึ้นเบื้องบน
๖. พระนขา มีพรรณอันเกลี้ยงกลมสนิทมิได้มีริ้วรอย
๗. ข้อพระหัตถ์และข้อพระบาท ซ่อนอยู่ในพระมังสะมิได้สูงขึ้นปรากฏ
๘. พระบาททั้ง ๒ เสมอกัน
๙. พระดำเนินงาม ดุจการดำเนินแห่งกญชรชาต
๑๐. ดำเนินงาม ดุจสีหราช
๑๑. ดำเนินงาม ดุจดำเนินแห่งหงษ์
๑๒. ดำเนินงาม ดุจอุสุภราช
๑๓. ขณะเมื่อจะย่างดำเนิน ยกพระบาทเบื้องขวาไปก่อน
๑๔. พระชาณุมณฑลเกลี้ยงเกลางามบริบูรณ์ มิได้เห็นอัฐิสะบ้า
๑๕. มีบุรุษพยัญชนะบริบูรณ์ มิได้มีกิริยามารยาทคล้ายสตรี
๑๖. พระนาภีมิได้พร่อง
๑๗. พระอุทร มีสัณฐานอันลึก
๑๘. ภายในพระอุทรมีรอยเวียนเป็นทักขิณาวัฏ
๑๙. ลำพระเพลาทั้ง ๒ กลม งาม ดุจลำสุวรรณกัททลี
๒๐. ลำพระกรทั้ง ๒ งาม ดุจงวงแห่งเอราวัณเทพหัตถี
๒๑. พระอังคาพยพใหญ่น้อยจำแนกเป็นอันดี
๒๒. พระมังสะที่ควรจะหนา ก็หนา ที่ควรจะบาง ก็บาง ทั่วทั้งพระสรีระกาย
๒๓. พระมังสะมิได้หดหู่ในที่ใดที่หนึ่ง
๒๔. พระสรีระกาย ปราศจากต่อม และ ไฝ ปาน มูลแมลงวัน
๒๕. พระกายงามบริสุทธิ์พร้อมสมกันโดยลำดับ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง
๒๖. พระกายงามบริสุทธิ์พร้อมสิ้น ปราศจากมลทินทั้งปวง
๒๗. ทรงพระกำลังมาก เสมอด้วยกำลังแห่งกุญชรชาติ
๒๘. มีพระนาสิกสูง
๒๙. สัณฐานพระนาสิก งามเป็นสง่า
๓๐. สีพระโอฐเบื้องบนเบื้องต่ำ มิได้เข้าออกกว่ากัน เสมอเป็นอันดี มีพรรณแดงงามดุจสีผลตำลึงสุก
๓๑. พระทนต์บริสุทธิ์ ปราศจากมูลมลทิน
๓๒. พระทนต์ขาว ดุจสีสังข์
๓๓. พระทนต์เกลี้ยงสนิท มิได้เป็นริ้วรอย
๓๔. พระอินทรีย์ทั้ง ๕ มีจักขุนทรีย์ เป็นต้น งามบริสุทธิ์
๓๕. พระเขี้ยวทั้ง ๔ กลมบริสุทธิ์
๓๖. ดวงพระพักตร์มีสัณฐานยาวสวย
๓๗. พระปรางค์ทั้ง ๒ งามเปล่งเสมอกัน
๓๘. ลายพระหัตถ์ มีรอยลึก
๓๙. ลายพระหัตถ์ มีรอยยาว
๔๐. ลายพระหัตถ์ มีรอยตรง มิได้ค้อมคด
๔๑. ลายพระหัตถ์ มีรอยแดงใสสะอาด
๔๒. รัศมีพระกาย โอภาสเป็นปริมณฑล
๔๓. กระพุ้งพระปรางค์ทั้ง ๒ เคร่งครัดบริบูรณ์
๔๔. กระบอกพระเนตรกว้างและยาวงามพอสมกัน
๔๕. ดวงพระเนตร กอบด้วยประสาททั้ง ๕ มีขาวเป็นอาทิ ผ่องใส บริบูรณ์
๔๖. ปลายเส้นพระโลมาทั้งหลาย มิได้งอมิได้คด
๔๗. พระชิวหา มีสัณฐานอันงาม
๔๘. พระชิวหา อ่อน มิได้กระด้าง มีพระพรรณแดงข้น
๔๙. พระกรรณทั้ง ๒ มีสัณฐานยาว ดุจกลีบปทุมชาติ
๕๐. ช่องพระกรรณมีสัณฐานกลมงาม
๕๑. ระเบียบพระเส้นเอ็นทั้งปวง สละสลวย
๕๒. แถวพระเส้นเอ็นทั้งหลาย ซ่อนในพระมังสะทั้งสิ้น มิได้เป็นคลื่นฟู
๕๓. พระเศียรสัณฐานงาม เหมือนฉัตรแก้ว
๕๔. ปริมณฑลลนลาต กว้างยาวพอสมกัน
๕๕. พระนลาต มีสัณฐานงาม
๕๖. พระโขนง มีสัณฐานงาม ดุจคันธนูอันโก่งไว้
๕๗. พระโลมาที่พระโขนง มีเส้นละเอียด
๕๘. เส้นพระโลมาที่พระโขนงงอนขึ้น แล้วล้มราบไปโดยลำดับ
๕๙. พระโขนงนั้นใหญ่
๖๐. พระโขนงยาวสุดหางพระเนตร
๖๑. ผิวพระมังสะละเอียดทั่วทั้งพระกาย
๖๒. พระสรีระกายรุ่งเรืองไปด้วยสิริ
๖๓. พระสรีระกายมิได้มัวหมอง ผ่องใสอยู่เป็นนิตย์
๖๔. พระสรีระกายสดชื่น ดุจดวงดอกปทุมชาติ
๖๕. สรีระสัมผัส อ่อนนุ่มสนิท มิได้กระด้าง ทั่งทั้งพระกาย
๖๖. กลิ่นพระกายหอมระรื่น ดุจกลิ่นสุคนธกฤษณา
๖๗. พระโลมามีเส้นเสมอกันทั้งสิ้น
๖๘. พระโลมามีเส้นละเอียดทั่วทั้งกาย
๖๙. ลมอัสสาสะปัสสาสะอันหายพระทัยเข้าออกก็เดินละเอียด
๗๐. พระโอฐมีสัณฐานอันงามดุจแย้ม
๗๑. กลิ่นพระโอฐหอม ดุจกลิ่นอุบล
๗๒. พระเกษาดำเป็นแสง
๗๓. กลิ่นพระเกษาหอมระเหยตระหลบ
๗๔. พระเกษากลิ่นหอม ดุจกลิ่นโกมลบุบผชาติ
๗๕. พระเกษามีสัณฐานเส้นกลมสวยทุกเส้น
๗๖. เส้นพระเกษาดำสนิททั้งสิ้น
๗๗. พระเกษากอบด้วยเส้นอันละเอียด
๗๘. เส้นพระเกษา มิได้รู้สยองยุ่ง
๗๙. เส้นพระเกษาเวียนเป็นทักษิณาวัฏทุกเส้น
๘๐. เส้นพระเกษาวิจิตรไปด้วยระเบียบพระเกตุมาลา

๓. พระอานุภาพแห่งอัฏฐุตตรสตมงคล รอยพระบาทของพระทศพลทรงลายลักษณมงคล ๑๐๘ ประการ ซึ่งเป็นบุญญาภินิหาร จึงพึงมีพร้อมในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้น จำแนกออกเป็นละสิ่งละพรรณ มี หอก พระขันธ์ มลกุฎ แว่น ปราสาท เป็นต้น
๔. ด้วยอานุภาพแห่งพระฉัพพรรณรังสี พระรัศมี ๖ ประกาi
๕. ด้วยอานุภาพแห่งพระเกตุมาลา
๖. ด้วยอานุภาพพระบารมี ๑๐ ประการ
๗. ด้วยอานุภาพแห่งพระอุปบารมี ๑๐ ประการ
๘. ด้วยพระอานุภาพแห่งพระปรมัตถบารมี ๑๐ ประการ
๙. ด้วยอานุภาพแห่งศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นไตรสิกขา คุณวิเศษ ๓ ประการ
๑๐. ด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธรัตนะ
๑๑. ด้วยอานุภาพแห่งพระธรรมรัตนะ
๑๒. ด้วยอานุภาพแห่งพระสังฆรัตนะ
๑๓ ด้วยอานุภาพแห่งพระเดช
๑๔. ด้วยอานุภาพแห่งพระฤทธิ์
๑๕. ด้วยอานุภาพแห่งพระกำลัง
๑๖. ด้วยอานุภาพแห่งพระเญยยธรรม
๑๗. ด้วยอานุภาพแห่งพระธรรมขันธ์ทั้ง ๘ หมื่น ๔ พัน
๑๘. ด้วยอานุภาพพระโลกุตตรธรรม ๙ ประการ
๑๙. ด้วยอานุภาพพระอัฏฐิงคิกมรรค ๘ ประการ
๒๐. ด้วยอานุภาพแห่งพระสมาบัติ ๘ ประการ
๒๑. ด้วยอานุภาพแห่งพระอภิญญา ๖ ประการ
๒๒. ด้วยอานุภาพแห่งพระอริยสัจจญาณ ๔ ประการ
๒๓. ด้วยอานุภาพแห่งพระทศพลญาณ ๑๐ ประการ
๒๔. ด้วยอานุภาพแห่งพระสัพพัญญุตญาณ
๒๕. ด้วยอานุภาพแห่งพระเมตตา พระกรุณา พระมุทิตา และพระอุเบกขา
๒๖. ด้วยอานุภาพแห่งพระสรรพปริตรทั้งมวล
๒๗ ด้วยอานุภาพแห่งพระรัตนตรัยสรณะวิเศษ

รวมเป็นอานุภาพ ๒๗ ประเภท ดังพรรณนามา จงบรรเทาสรรพอนิฏฐารมณ์ภัยพิบัติ กำจัดโรค โศก อุปัทวทุกขโทมนัส และอุปายาส ตลอดสรรพอันตรายทั้งหลายของทุกๆท่านให้ศูนย์สิ้นไป ขอให้สรรพสิริสุข สวัสดิ์พิพัฒนคุณมนุญผลใด ๆ อันอยู่ในวิสัยที่ท่านทั้งหลายได้ดำริไว้ จงสำเร็จด้วยดีดังใจทุกประการ

อนึ่ง ขอให้ทุกๆท่าน จงเจริญด้วยชนมายุยืนนาน กำหนดด้วย ๑๐๐ ปี มีความพร้อมเพรียงเป็นอยู่ด้วยดีตลอดกาลเป็นนิตย์ ขอให้เทพเจ้าผู้สิงสถิตอยู่ในอากาศ บรรพตไพรสนฑ์ ภูมิพิมาน ตลอดมหาสมุทร บาดาน และแม่น้ำคงคา จงมีจิตเมตตา ตามรักษาท่านทั้งหลายให้ ปลอดภัยได้สุขทุกเมื่อทุกสถาน สิ้นข้อความของมนต์ "มหามงคลจักวาฬ" แต่เพียงนี้


[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
ตั้งหัวข้อใหม่

Go To Top