Not logged in [Login - Register]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites ตั้งหัวข้อใหม่
[*] posted on 21/6/18 at 20:32 [ QUOTE ]

ความเห็นพระวินัยเรื่อง "ข้อห้ามรับทองเงิน" ด้วยเหตุผลที่ดีงาม


สารบัญ (เลือกคลิกที่รายการ)

[01]
ตอนที่ ๑ เรื่องเงินๆ ทองๆ
[02] ตอนที่ ๒ เงินเปรียบเหมือนอสรพิษ
[03] ตอนที่ ๓ พระสงฆ์ไทยฝ่ายเถรวาท
[04] ตอนที่ ๔ พระมหานิกายปฏิบัติ "ธุดงควัตร"
[05] ตอนที่ ๕ มหาปเทส ๔
[06] ตอนที่ ๖ เรื่อง สิกขาบทเล็กน้อย
[07] ตอนที่ ๗ โทษละเมิดพระวินัย

[08] ตอนที่ ๘ คำสอน “หลวงพ่อปาน” เรื่องเงิน

เรื่องเงินๆ ทองๆ


...ก่อนที่จะเข้าประเด็นในความเห็นเรื่องนี้ คงต้องย้อนกลับไปเรื่องเงินๆ ทองๆ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้สัก ๓ เรื่องใหญ่ๆ ผู้อ่านคงจำเหตุการณ์เหล่านี้ได้ คือ...

- ๑. เงินของผู้ยากไร้ (เป็นเรื่องระหว่างข้าราชการ กับ ชาวบ้าน)
- ๒. เงินค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียน (เป็นเรื่องระหว่างข้าราชการ กับ เด็ก)
- ๓. เงินทอนวัด (เป็นเรื่องระหว่างข้าราชการ กับ พระภิกษุ)

ทั้ง ๓ เรื่องนี้ สังเกตได้ว่าเป็นเหตุมาจากเรื่องเงินๆ ทองๆ ทั้งนั้น ระหว่างข้าราชการกับฆราวาส และ ระหว่างข้าราชการกับพระภิกษุ จนบานปลายมาถึงปัจจุบันนี้

จึงขอนำประเด็นข้อที่ ๓ "เงินทอนวัด" มาเน้นย้ำกันอีกครั้งว่า ชาวพุทธทั้งหลายคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ธรรมเนียมการรับเงินทองของพระ (ทุกนิกาย) มีมานานแล้ว

ลูกชาวบ้านเมื่อบวชเข้ามาแล้ว จึงเรียกว่า "พระภิกษุ" ชาวบ้านแม้แต่พ่อแม่ก็ต้องกราบไหว้ พร้อมกับบำรุงด้วยปัจจัย ๔ เพื่อปฏิบัติกิจในพระพุทธศาสนาต่อไป

พระจึงจำต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับเงินทองโดยปริยาย หมายความว่ามีผู้ถวายปัจจัย จะเป็นโยมผู้อุปฐากก็ดี หรือชาวบ้านทั่วไปก็ดี ส่วนใหญ่แบ่งเป็น ๒ ประเภทดังนี้


- ๑. ปาฏิปุคคลิกทาน เป็นเงินที่ถวายเป็นส่วนตัว เพื่อค่านุ่งห่ม, ที่อยู่อาศัย, ยา, และ ค่าอาหาร เป็นต้น

- ๒. สังฆทาน ถวายสงฆ์ ๔ รูปขึ้นไปเป็นส่วนรวม เช่น เป็นค่าอาหาร และค่ากระแสไฟฟ้า เป็นต้น

ส่วนเรื่อง "เงินทอนวัด" คำว่า "วัด" หมายถึงเป็นนิติบุคคล งบประมาณที่กรมศาสนามอบให้ก็มี ๒ ประเภทเช่นกัน คือ

๑. เงิน "นิตยภัต" เป็นเงินเดือนที่ถวายแด่พระสงฆ์ที่ดำรงสมณศักดิ์ (ผู้รับ - เป็นทั้งพระลูกวัดและเจ้าอาวาส - มหานิกาย และ ธรรมยุต)

๒. เงิน "บำรุงวัด" เป็นเงินที่ถวายเพื่อบูรณปฏิสังขรณ์วัด หรือเพื่อเป็นทุนการศึกษาของพระภิกษุสามเณร (ผู้รับ - ต้องเป็นเจ้าอาวาส หรือ รองเจ้าอาวาส, ผู้ช่วยเจ้าอาวาส - มหานิกาย และ ธรรมยุต)

...สรุปเงินทองทั้งสองประเภทนี้ จึงเป็นเงินงบประมาณของรัฐที่บำรุงพระพุทธศาสนา ถือเป็นความเห็นชอบร่วมกันระหว่าง "โยม" กับ "พระ" ที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาแต่โบราณกาล

แต่สมัยโบราณมีการ "ทอนเงิน" กลับไปหรือไม่ก็ไม่ทราบได้ ฉะนั้น เพื่อความเข้าใจง่ายๆ แบ่งเป็น ๒ ข้อ คือ

- ข้อที่ ๑ เป็นเงินเพื่อถวายส่วนองค์ (ปาฏิปุคคลิกทาน)
- ข้อที่ ๒ ถวายเป็นเงินเข้าวัดเพื่อส่วนรวม (สังฆทาน, วิหารทาน)


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน



[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 21/6/18 at 20:35 [ QUOTE ]


[ ตอนที่ 2 ]

(Update 23 มิถุนายน 2561)


"เงิน" เปรียบเหมือน "อสรพิษ"


"...ในปัจจุบันมีการวิพากย์วิจารณ์ในแง่มุมต่างๆ หลายฝ่าย โดยมิได้แยกประเด็นดังที่กล่าวมาแล้วเบื้องต้น คือเป็นการเหมารวมไปหมด จนกระทั่งมีความคิดที่จะปฏิรูปคณะสงฆ์กันทั้งประเทศ

ซึ่งสาเหตุมาจากเงินเป็นหลัก เพราะโยมเข้าวัดก็อยากทำบุญ พระอยู่วัดก็มีค่าใช้จ่ายประจำเดือน เช่น ค่าน้ำค่าไฟ ค่าภัตตาหาร เป็นต้น จึงต้องตั้งตู้บริจาคเอาไว้

จะเรียกว่ายังไงดี ทั้งนี้ก็อยู่ที่ "ใจ" ด้วยก็แล้วกัน ว่าจะทำเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม หรือทำเกินสมณสารูป คือเกินจากความเป็นพระ ทางพระเรียกกันว่า "โลภ" ทางโลกเรียกว่า "ลาภ" สองคำนี้วิ่งเข้าหากันง่าย

เงิน..จึงไม่เข้าใครออกใคร ท่านเปรียบเหมือน "อสรพิษ" ทำให้เสียความเป็นพระ และเสียความเป็นคนได้ง่าย รวมความว่าจะแก้อย่างไรก็ยาก ตราบใดที่คนเรายังมีกิเลส คือ "ความโลภ" กันอยู่

แม้จะมีมรรคทายกเป็นผู้เก็บเงินไว้ก็ตาม วัดบางแห่งก็ยังมีปัญหาในเรื่องนี้ พระบางวัดจึงต้องตัดสินใจรับผิดชอบเอง เพื่อป้องกันรักษาผลประโยชน์ไว้โดยชอบธรรม

ความจริงถ้าแก้ทั้งสองฝ่ายก็ดี คือทั้ง "พระ" และ "โยม" พระพุทธเจ้าสอนให้ตัด "โลภะ" ด้วยการให้ทาน ส่วนพระก็ไม่โลภแทนโยม นำทรัพย์เหล่านั้นไปตามวัตถุประสงค์จริงๆ อย่างนี้ก็ชื่อว่าได้บุญทั้งสองฝ่าย

แต่ทั้งนี้ต่างก็มีความหวังดีซึ่งกันและกัน จึงมีการแสดงความคิดความเห็น ทั้งฝ่ายพระสงฆ์และประชาชนทั้งหลาย สรุปประเด็นได้เป็น ๒ ฝ่าย คือมีความเห็นว่า


- ๑. พระรับเงินทองได้ และ
- ๒. พระไม่ควรรับเงินทอง

เรื่องนี้ไม่ควรนำไปสู่ความร้าวฉานในวงการพุทธศาสนา ควรทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ เนื่องจากในอดีตต้องมีทำสังคายนากัน เพราะเหตุเรื่องข้อวัตรปฏิบัตินี่แหละ..."


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน



[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 22/6/18 at 06:40 [ QUOTE ]


[ ตอนที่ 3 ]

(Update 24 มิถุนายน 2561)


พระสงฆ์ไทยฝ่าย "เถรวาท"


"...ในยุคปัจจุบันนี้ พระสงฆ์ในประเทศไทยได้แบ่งเป็น ๒ นิกาย คือ "มหานิกาย" และ "ธรรยุติกนิกาย" หรือ เรียกสั้นๆ ว่า "ธรรมยุต" ซึ่งเป็นคณะสงฆ์ที่ "พระวชิรญาณเถระ" หรือรัชกาลที่ ๔ ทรงตั้งขึ้น

ซึ่งมีข้อวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัดขึ้น โดยเฉพาะสาย "หลวงปู่มั่น" หรือ "สายพระป่า" นิยมธุดงค์เข้าป่าปฏิบัติธรรม เพื่อแสวงหาที่สงบวิเวก ที่เรียกว่า "อรัญวาสี" ด้วยการสมาทานธุดงค์ในบางข้อ

แต่สาย "หลวงพ่อชา" ก็รักษาข้อวัตรแบบสายหลวงปู่มั่นเหมือนกัน แต่ท่านก็ยังอยู่ใน "มหานิกาย" ด้วยเหตุผลบางอย่างของท่าน ซึ่งมีประวัติพระอาจารย์เหล่านี้ สามารถปฏิบัติเข้าภูมิธรรมหลายรูป

ฉะนั้น พระสายหลวงปู่มั่นจึงมีทั้ง "ธรรมยุต" และ "มหานิกาย" ผู้เขียนก็เคยไปศึกษาปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่เทศก์ วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย มาแล้ว

โดยการแนะนำของหลวงพ่อฯ ก่อนที่จะไปได้กราบเรียนถามท่าน ท่านให้ไปกราบหลวงปู่เทศก์, หลวงปู่ฝั้น, หลวงปู่ขาว และ หลวงพ่อชา เป็นต้น

เมื่อไปถึงจึงทราบว่าพระที่ไม่รับเงิน เวลาเดินทางต้องมีลูกศิษย์ถือเงินแทน แต่ถ้าจำเป็นหาคนไม่ได้ ท่านใช้ตั๋วไปรษณีย์ติดตัวไป ส่วนญาติโยมก็ถวายเป็นใบปวารณาแทน

สำหรับพระสายเหนือคือ "ครูบาเจ้าศรีวิชัย" แม้ท่านรับเงินทองก็ตาม แต่พระสายนี้ก็ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ที่เรียกกันว่า "พระสุปฏิปันโน" เช่น หลวงปู่ชุ่ม โพธิโก สามารถเข้านิโรธสมาบัติได้ถึง ๗ วัน


...เป็นอันว่า ประเทศไทยฝ่ายเถรวาท (ไม่รวมมหายาน) มี ๒ นิกายอย่างนี้ ภายใต้การปกครองของ "มหาเถรสมาคม" ด้วยการแบ่งพระทั้งสองนิกายเข้ามาบริหารคณะสงฆ์ไทย

แต่เวลาทำสังฆกรรม เช่นลง "ปาฏิโมกข์" เป็นต้น พระทั้งสองฝ่ายก็ไม่ลงทำอุโบสถร่วมกัน ต่างก็แยกทำสังฆกรรมกันมาตั้งแต่สมัยก่อนแล้ว

ฝ่ายญาติโยมก็เลือกกันเอาเอง ด้วยการศึกษาข้อวัตรปฏิบัติ แล้วก็ไปทำบุญกันตามอัธยาศัย บางคนก็ชอบพระที่เคร่งครัดตามป่าเขา บางคนก็ศรัทธาพระในบ้านในเมืองแบบเดิม

ฉะนั้น "พระมหานิกาย" ที่เรียกว่า "คามวาสี" หรือ "สายพระบ้าน" จึงยังคงถือปฏิบัติแนวทางเดิม ที่เคยศึกษาเล่าเรียนกันมาจากโบราณาจารย์ ถือข้อวัตรปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

โดยเฉพาะ "พระโบราณาจารย์" สายหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ท่านก็ศึกษาพระธรรมวินัยมาจาก "หลวงพ่อสุ่น" วัดบางปลาหมอ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของรัชกาลที่ ๖

อีกทั้งหลวงพ่อเนียม วัดน้อย และ หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน (วัดอัมพวัน) จ.สุพรรณบุรี ก็เป็นอาจารย์ฝ่ายพระกรรมฐานด้วย


ปรากฏว่าท่านสามารถปฏิบัติเข้าภูมิธรรมได้เช่นกัน ดังจะเห็นได้ว่าท่านมรณภาพในท่านอนสีหไสยาสน์เหมือนกันทั้งสองรูป

ฉะนั้น คำสอนในเรื่องพระธรรมวินัยที่หลวงพ่อ "พระราชพรหมยาน" วัดท่าซุง ได้เล่าเรียนมาจากครูบาอาจารย์สมัยนั้น จึงสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้ด้วย

โดยเฉพาะคำสอนในด้านพระวินัย (ศีล ๒๒๗) หลวงพ่อพระราชพรหมยานได้อบรมสั่งสอนพระภิกษุวัดท่าซุงมาหลายครั้ง โดยบันทึกไว้เป็นเทปคาทเซท และเปิดเสียงตามสายภายในวัดมานานหลายสิบปีแล้ว..."


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน



[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 23/6/18 at 06:39 [ QUOTE ]


[ ตอนที่ 4 ]

(Update 25 มิถุนายน 2561)


พระมหานิกายปฏิบัติ "ธุดงควัตร"


"...ความจริงพระมหานิกาย (คามวาสี) หากประพฤติธุดงควัตรแล้ว ก็เหมือนกับพระธรรมยุต (อรัญวาสี) เพราะต้องสมาทานธุดงค์แล้วเข้าป่า ห้ามรับเงินทองของมีค่าใดๆ ทั้งสิ้น

ตัวอย่างเช่น "หลวงพ่อจง" วัดหน้าต่างนอก ท่านก็สามารถเดินธุดงค์ไปถึง "สุวรรณวิหาร" ประเทศอินเดีย หรือแม้แต่ประวัติของหลวงพ่อเรา ท่านก็บิณฑบาตกับต้นไม้ได้เช่นกัน

ฉะนั้น ก่อนที่จะรับฟังความเห็นของหลวงพ่อฯ ผู้เขียนขอย้อนเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล ๓ ครั้ง จึงขอลำดับเหตุการณ์แต่พอสังเขปก่อน คือ

...๑. ต้นบัญญัติ
...๒. เมณฑกานุญาต
...๓. มหาปเทส ๔


- (๑.) ต้นบัญญัติ สิกขาบทที่ ๘ โกสิยวรรค (นิสสัคคิย์ปาจิตตีย์) ห้ามรับทองเงิน

...เจ้าของบ้านที่ "พระอุปนนทะศากยบุตร" เข้าไปฉันเป็นนิตย์ เตรียมเนื้อไว้ถวายเวลาเช้า แต่เด็กร้องไห้ขอกินในเวลากลางคืน จึงให้เด็กกินไป

รุ่งเช้าจึงเอากหาปณะ (เงินตรามีราคา ๔ บาท) ถวาย พระอุปนนทะก็รับ มีผู้ติเตียน พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ดังนี้

"...ห้ามภิกษุรับเอง ใช้ให้รับทอง เงิน หรือยินดีทอง เงิน ที่เขาเก็บไว้เพื่อตน ทรงปรับอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด..."


...หลังจากทรงบัญญัติสิกขาบทนี้แล้ว ต่อมาภายหลังยังมีเหตุการณ์ "เดินทางไกล" ที่มีความจำเป็นเกิดขึ้นอีก พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตให้ผ่อนผันได้ ดังนี้

- (๒.) เมณฑกานุญาต

...เมณฑกคฤหบดีทราบว่า สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจะเสด็จเดินทางไกลไป "อังคุตตราปะ" จึงกราบทูลขอร้องให้ทรงอนุญาตเสบียง จึงทรงอนุญาตดังต่อไปนี้

...๑. ทรงอนุญาตของ ๕ อย่าง ที่เกิดจากโค (ปัญจโครส) คือ นมสด, นมส้ม, เปรียง, เนยข้น, เนยใส.

...๒. ทรงอนุญาตให้แสวงหาเสบียงทางได้ คือ ข้าวสาร, ถั่วเขียว, ถั่วราชมาส, เกลือ, งบน้ำอ้อย, น้ำมัน, เนยใส ตามความต้องการ

...๓. เมื่อมีคนมอบเงินทองแก่ "กัปปิยการก" (คือผู้ที่ควรถือเงินแทนพระ) ทรงอนุญาตให้ยินดีเฉพาะของที่ควร ซึ่งจะได้มาจากเงินทองนั้น แต่ไม่ทรงอนุญาตให้ยินดีตัวเงินทอง หรือให้แสวงหาเงินทองเลย

ความข้อนี้ ทรงบัญญัติเพื่อเป็นการเจริญศรัทธาแก่ชาวบ้าน และเพื่อเป็นการอนุเคราะห์แก่พระสาวกในกาลข้างหน้า จะได้ไม่ลำบากต่อการดำรงชีวิต จึงตรัสเป็นพระพุทธพจน์ไว้ว่า

"...ภิกษุทั้งหลาย ชาวบ้านมีศรัทธาเลื่อมใสมอบเงินทองไว้ในมือ กัปปิยการก สั่งว่า พวกท่านจงจัดหาของที่สมควรมาถวายแก่พระคุณเจ้าด้วยเงินทองนี้..."

"...ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ยินดีสิ่งของที่เป็น กัปปิยะ (คือของที่ควร) จากเงินทองนั้น แต่เรามิได้กล่าวไว้เลยว่า ภิกษุพึงยินดี พึงแสวงหาทองและเงินโดยปริยายไรๆ"


อ้างอิง - วิ.มหาวิ. ๒/๑๔๙ , วิ.มหาวิ.อฏ. ๑/๘๖๒

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน



[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 24/6/18 at 06:13 [ QUOTE ]


[ ตอนที่ 5 ]

(Update 28 มิถุนายน 2561)


มหาปเทส ๔


"...จากตอนที่ผ่านมานั้น ผู้เขียนได้ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน "สมัยพุทธกาล" ให้เห็นชัดขึ้นไปแล้ว ดังนี้

- ข้อ ๑. "ต้นบัญญัติ" จะเห็นว่าต้องอาบัติหมดทั้ง ๓ ลักษณะ
...(ก) ห้ามภิกษุรับเอง (หรือ)
...(ข) ใช้ให้รับทอง เงิน
...(ค) หรือยินดีทอง เงิน ที่เขาเก็บไว้เพื่อตน

- ข้อ ๒. "เมณฑกานุญาต" คือขณะเดินทางไกล ให้แสวงหาเสบียงอาหารและเภสัชทั้ง ๕ ได้ ในระหว่างนั้น ถ้ามีชาวบ้านถวายเงินไว้กับลูกศิษย์ เพื่อนำไปซื้อของที่ควรมาถวายพระได้ แต่ไม่ทรงอนุญาตให้ไปเรี่ยไรชาวบ้าน


- ต่อไปข้อ ๓. มหาปเทส ๔

ดังจะเห็นได้ว่า การบัญญัติสิกขาบทในตอนต้น แล้วทรงผ่อนผันไปตามเหตุความจำเป็นภายหลัง แสดงถึงศีลของพระภิกษุ เนื่องด้วยปัจจัย ๔ จะต้องอยู่กับธรรมเนียมของชาวบ้าน อีกทั้งสถานการณ์แต่ละยุคแต่ละสมัยก็ไม่เหมือนกัน

โดยเฉพาะภายหลังปรินิพพานแล้ว เกิดข้อกังขาในสิกขาบทหลายประการ บ้างก็รังเกียจผู้ที่ย่อหย่อน บ้างก็ดูหมิ่นผู้ที่เคร่งกว่า จนเกิดข้อพิพาทกันไปหลายนิกาย ชาวบ้านชาวเมืองก็พลอยแตกแยกไปด้วย

ในเรื่องการรักษาข้อบัญญัตินี้ มีเรื่องซับซ้อนมาก จนต้องทำสังคายนามาหลายครั้งแล้ว ส่วนพระผู้ปฏิบัติบางท่านก็ยก "มหาปเทส ๔" มาเทียบเคียง (อ่านรายละเอียด.. คลิกที่นี่) ดังนี้


- (๓.) มหาปเทส ๔

[๙๒] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายเกิดความรังเกียจในพระบัญญัติบางสิ่งบางอย่างว่า สิ่งใดหนอ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตไว้ สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาต

จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระมีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสประทานสำหรับอ้าง ๔ ข้อ ดังต่อไปนี้.

...๑. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่เราไม่ได้ห้ามไว้ว่า สิ่งนี้ไม่ควร หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นไม่ควรแก่เธอทั้งหลาย.

...๒. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่เราไม่ได้ห้ามไว้ว่า สิ่งนี้ไม่ควรหากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ควร ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร สิ่งนั้นควรแก่เธอทั้งหลาย.

...๓. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่เราไม่ได้อนุญาตไว้ว่า สิ่งนี้ควรหากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นไม่ควรแก่เธอทั้งหลาย.

...๔. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่เราไม่ได้อนุญาตไว้ว่า สิ่งนี้ควรหากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ควร ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร สิ่งนั้นควรแก่เธอทั้งหลาย.


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน



[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 26/6/18 at 06:53 [ QUOTE ]


[ ตอนที่ 6 ]

(Update 29 มิถุนายน 2561)


เรื่อง สิกขาบทเล็กน้อย


"...ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ ได้ชี้แจงต่อพระเถระทั้งหลายว่า ท่านเจ้าข้า เมื่อจวนจะปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับข้าพเจ้าว่า

"...ดูกรอานนท์ เมื่อเราล่วงไป สงฆ์หวังอยู่ จะพึงถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียก็ได้..."

พระเถระทั้งหลายถามว่า "ท่านพระอานนท์ ก็ท่านทูลถามพระผู้มีพระภาคหรือเปล่าว่า พระพุทธเจ้าข้า ก็สิกขาบทเหล่าไหน เป็นสิกขาบทเล็กน้อย.?"

พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า "เว้นปาราชิก ๔ นอกนั้น เป็นสิกขาบทเล็กน้อย" ฯลฯ.


"เรื่อง ไม่บัญญัติ และ ไม่ถอนพระบัญญัติ"


...ครั้งนั้น "ท่านพระมหากัสสปะ" ประกาศให้สงฆ์ทราบด้วย ญัตติทุติยกรรมวาจา ว่า ดังนี้

"ท่านทั้งหลาย ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สิกขาบทของพวกเรา ที่ปรากฏแก่คฤหัสถ์มีอยู่ แม้พวกคฤหัสถ์ก็รู้ว่า สิ่งนี้ควรแก่สมณะเชื้อสายพระศากยบุตร สิ่งนี้ไม่ควร.

ถ้าพวกเรา จักถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสีย จักมีผู้กล่าวว่า พระสมณโคดมบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลายเป็นการชั่วคราว.

พระศาสดาของพระสมณะเหล่านี้ ยังดำรงอยู่ตราบใด สาวกเหล่านี้ก็ยังศึกษาในสิกขาบททั้งหลายอยู่ตราบนั้น. เพราะเหตุที่ พระศาสดาของสมณะเหล่านี้ปรินิพพานแล้ว พระสมณะเหล่านี้ จึงไม่ศึกษาในสิกขาบท.

ในบัดนี้ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์ไม่พึงบัญญัติสิ่งที่ไม่ทรงบัญญัติไม่พึงถอนพระบัญญัติสิ่งที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว พึงสมาทานประพฤติในสิกขาบททั้งหลายตามที่ทรงบัญญัติแล้ว."


"...สรุปความว่า การบัญญัติพระวินัยของพระสงฆ์ เหมือนกับการออกกฎหมายแก่ประชาชน สาวกทั้งหลายจึงไม่สามารถจะเพิกถอนอะไรได้

เพราะไม่สามารถจะวินิจฉัยได้ว่า ข้อไหนเป็น "สิกขาบทเล็กน้อย" แต่ก็ประพฤติไปตามความเข้าใจ ในแต่ละยุคแต่ละสมัยไปตามกาลเวลา..."

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน



[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 28/6/18 at 06:21 [ QUOTE ]


[ ตอนที่ 7 ]
(Update 4 กรกฎาคม 2561)

โทษละเมิดพระวินัย
โดย หลวงพ่อพระราชพรหมยาน


- อธิบาย "สิกขาบทที่ ๘" ที่วัดท่าซุง

"...นี่ก็มาคุยกันถึงสิกขาบทนี้ พระวินัยกล่าวว่า ภิกษุรับเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นรับก็ดี ซึ่งเงินและทอง หรือว่ายินดีซึ่งเงินและทองที่เขาเก็บไว้เพื่อตน ต้องอาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์

ท่านดูสิกขาบทนี้ว่าอะไรตอนไหนที่เราพอจะเลี่ยงกันได้บ้าง รับเองก็ดี ใช้ผู้อื่นรับก็ดี หรือว่ายินดี เงินและทองที่เก็บไว้เพื่อตน เป็นอาบัติเท่ากัน ไม่ได้ลดสิกขาบทนี้ โทษนี้ไม่ได้ลด

เวลานี้เราจะทำอย่างไรกัน น่ากลัวจะแย่กระมัง ขึ้นรถยนต์ รถไฟ ขึ้นเครื่องบิน จะไปไหน ขึ้นรถสามล้อ เขาก็เก็บสตางค์

เดินไปตามทางหิวขึ้นมา จะกินอะไรเขาก็เก็บสตางค์ เขาไม่ได้มองเครื่องแบบ ว่าถ้าพระสงฆ์หัวโล้น ห่มเหลือง เขาไม่เก็บสตางค์ ค่ากระแสไฟฟ้าที่เราจะใช้จ่ายอยู่ทุกวันนี้ เราก็เสียสตางค์

น้ำจะกินเข้าไปทุกหยด มันก็เป็นเงินเป็นทอง เราก็เสียสตางค์ เพราะว่าเราต้องใช้เครื่องกระแสไฟฟ้าปั่น อุปกรณ์ทั้งหลายต่างๆ มันสึกหรอลงไป เราก็เสียสตางค์ เพราะว่าต้องซ่อมต้องแซม

อาคารต่างๆ ที่เราจะสร้างขึ้นมา มันก็เสียสตางค์ เสียเงิน ถ้ามันบุบสลาย ทรุดโทรมลงไป เราก็เสียเงิน อันนี้มันเสียทั้งหมด

เป็นอันว่าเราป่วยไข้ไม่สบาย ถ้าไปโรงพยาบาล ก่อนจะไปถึง ค่ารถเขาก็เก็บสตางค์ อาหารการบริโภคไม่มี เราใช้จ่ายเราก็เสียสตางค์

บางทีเราป่วยไข้ไม่สบาย ไม่ได้ไปโรงพยาบาล ต้องซื้อยากินเอง เราก็เสียสตางค์ มันหนาวจัด ผ้าห่มมันเล็กไป ซื้อผ้าห่มใหม่ มันก็เสียสตางค์ ไอ้นี่มันก็ต้องจ่ายเงินกันเรื่อย

ไม่มีใครเขายกโทษให้กับพระเลย เราไปนั่งนึกดูว่า นับถอยหลังไปคิดดูอีกทีว่า ก่อนที่องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน ตอนนั้นองค์สมเด็จพระพิชิตมาร ได้ทรงตรัสกับพระอานนท์ว่า


“...อานันทะ ดูก่อน อานนท์ เมื่อตถาคตนิพพานไปแล้ว สิกขาบทในพระวินัย บางสิกขาบท ที่ไม่ถูกต้องไม่สมควรแก่กาลสมัย สิกขาบทนั้นให้บรรดาสงฆ์ทั้งหลายเพิกถอนได้”

มีทั้งหมด ๒๒๗ นี่ ผมเห็นว่ามีสิกขาบทเดียวสิกขาบทนี้ เพราะเวลานี้มีความจำเป็น พระพุทธเจ้าคงจะทราบดี

เพราะองค์สมเด็จพระชินสีห์เป็นสัพพัญญู รู้อดีต รู้อนาคต ปัจจุบัน ทั้งหมด ถ้าไม่รู้อย่างนี้ องค์สมเด็จพระบรมสุคต คงไม่ทรงอนุญาตไว้


(Update 5 กรกฎาคม 2561)


...ฉะนั้น เวลานี้มีพระบางพวก เวลาคนเขาเอาเงินถวาย..ไม่รับ แต่ก็ยินดีในเงินทองนั้น จดจำในการที่เขาเก็บเงิน มีพระบางองค์พวกที่ไม่รับเงิน เวลามาทำงานร่วมกัน แจ้งรายการยอดไว้เสมอว่า

เวลานี้ลูกศิษย์นับไว้ได้เท่านั้น เท่านี้แล้ว เวลาเขาประเคนน่ะไม่รับ แต่ว่าตอนเย็น ลูกศิษย์ไปบอกว่าวันนี้ได้สตางค์เท่านั้น วันนั้นได้สตางค์เท่านั้น จำยอดเงินเข้าไว้

ไอ้จำยอดเงินนี่ มันเป็นการยินดีหรือเปล่า ถ้าไม่ยินดีล่ะก็ ควรจะบอกลูกศิษย์ บอกนี่เอาไปถวายท่านเจ้าอาวาสซะเถอะ เพราะท่านต้องใช้ หรือว่าถวายเจ้าภาพ

เพราะเจ้าภาพทำงานฝังลูกนิมิต ทำงานยกช่อฟ้า ทำงานเททอง ท่านต้องใช้จ่ายเงินในงานนี้เป็นแสน แต่ส่วนเงินที่เขาถวายเรามานี่ ก็ทำบุญกับวัดไปแล้วกัน แต่นี่ท่านไม่ได้เป็นอย่างนั้น

ท่านจำยอดเงินเลยว่าได้เท่าไหร่แล้ว แต่ว่ามีหลายองค์ ท่านแสนดี พวกนี้มีจิตปกติ จิตอีกขั้นหนึ่ง ไม่หยิบเงิน ไม่หยิบทองเหมือนกัน ได้มาเท่าไหร่ ตอนเย็นก็ประกาศ

รวมกำลังใจบรรดาท่านพุทธบริษัท ถวายเป็นสังฆทานทุกวัน อันนี้ถูกต้อง องค์นี้ทำถูก แต่องค์ที่พูดเมื่อตะกี้นี้ไม่ถูก


(Update 6 กรกฎาคม 2561)

...นี่เป็นอันว่าเรื่องการรับเงินรับทองนี่ เราจะทำอย่างไร เรารับเองก็เป็นอาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์ ให้เด็กรับ ผู้ใหญ่รับแทน ก็เป็นอาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์

และเรายินดี หรือว่านั่นทรัพย์สินของเรามีเท่านั้น เท่านี้ เราก็เป็นอาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์ เป็นใจผม ผมว่ารับเองดีกว่า เพราะว่าหนีไม่รอด

ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าถ้าเราไม่รับ ทำท่าเหมือนคนเคร่งครัด มัธยัสถ์ ไม่ยินดีในเงินและทอง แต่เนื้อแท้จริงๆ ในดวงจิต เรายินดีในเงินและทอง นี่มันก็ไปต้องโทษในการหลอกลวงชาวบ้านอีกจุดหนึ่ง ใช่ไหมขอรับ เพราะเราพอใจ

ถ้าไม่รับเราไม่พอใจ ก็อย่าไปสนใจมันเลย ก็บอกกับเจ้าภาพเขาได้ บอกโยม อาตมาน่ะ ไม่ใช้เงินไม่ใช้ทองนะ ญาติโยมไม่ต้องถวายหรอก เอาเงินทองไว้ใช้อย่างอื่น

เอ้า...ถ้าหากว่าจะพึงสงเคราะห์ ก็สงเคราะห์ในสิ่งจำเป็นอย่างอื่นก็แล้วกัน แต่นี่ไม่อย่างนั้น ท่านชอบใจ ต่อหน้าชาวบ้านท่านไม่รับ แต่ว่าท่านคอยนับยอดเงินไว้เสมอว่า มีจำนวนเท่าไหร่

อย่างนี้ผมว่าใจด้านเกินไป เป็นการหลอกลวงบรรดาประชาชนทั้งหลาย ทีนี้ชาวบ้านที่ไม่รู้ความจริงน่ะมีอยู่มาก เห็นว่าพระไม่รับเงินไม่รับทองแบบนั้น บอกว่า

โอ้โฮ...ท่านเคร่งครัด ท่านมัธยัสถ์จริงๆ ท่านดีจริงๆ ท่านวิเศษจริงๆ นี่พอโดนกันตอนนี้ แล้วเราก็เมาความดี เมาความดีที่มันเป็นความเลว

โทษที่จะพึงได้คือ "อเวจีมหานรก" เพราะว่าถ้ากำลังใจอย่างนี้ ผมว่าไม่ใช่นักบวชแล้ว ชาวบ้านถ้าเขาหลอกลวงกัน ชาวบ้านเขาเลว ถ้าพระหลอกลวง แล้วพระจะเป็นพระดีได้อย่างไร


(Update 8 กรกฎาคม 2561)

...เป็นอันว่า สำหรับสิกขาบทนี้ สำหรับสำนักของเรา ผมอนุญาตเลย ว่าใครเขาถวายเงิน ถวายทองที่ไหน รับได้ที่นั่น

เพราะว่ารับหรือไม่รับ ให้คนอื่นรับมันก็เป็นอาบัติ เขาเก็บไว้เรารู้จำนวนอยู่ เราก็เป็นอาบัติ รับก็รับ ถ้าเขาถามว่าทำไมจึงรับ ก็บอกเขาเลยว่า สิกขาบทนี้มันเป็นอย่างนี้ แล้วไอ้เงินทองนี่มันก็มีความจำเป็น

นี่ถ้ารับเข้ามาแล้ว แล้วก็มีมุมหนึ่ง ว่าเราเป็นคนโลภในทรัพย์สินหรือเปล่า ตอนนี้ต้องทำใจให้ดีนะขอรับ อย่าลืมตัวนะว่า

เขาถวายเราเข้ามาในฐานะที่เป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ถ้าเราเป็นลูกชาวบ้านธรรมดา ไม่มีใครเขาให้ ก่อนที่เขาจะให้ เขาก็ยกมือไหว้ก่อน ด้วยการแสดงความเคารพ ผู้ให้ไหว้ผู้รับ

ถ้าขอทานละก็ ผู้รับไหว้ผู้ให้ นี่เราผู้ให้ไหว้ผู้รับ ในฐานะที่เราเป็นปูชนียบุคคล จงนำเงินจำนวนนั้นมาใช้ ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ในสภาวะความเป็นพระ เป็นเณรจริง ๆ คือ

หนึ่ง..ถ้ามีความจำเป็นในสมณบริโภค จีวรขาด สบงขาด ยารักษาโรคไม่มี และอาหารไม่มี ใช้ได้กินได้ตามเขตนี้

จะให้เขากู้ก็ไม่ได้ จะให้เขายืมก็ไม่ได้ จะไปซื้อไร่ ซื้อนา ค้าขาย มันไม่ได้ทั้งหมด ต้องใช้เฉพาะเรื่องของพระ นี่สมมุติว่า ถ้าเขาให้มากเกินไปล่ะ ทำอย่างไร ?


(Update 9 กรกฎาคม 2561)

...ถ้าเขาให้มากเกินไป มันก็เป็นของไม่ยาก เราก็บำรุงพระสงฆ์ในขอบเขตของเรา เอาเข้าไปไว้ในส่วนกลาง เห็นพระระหว่างพวกเราไม่มีข้าวจะกิน ไม่มียารักษาโรค ไม่มีผ้าผ่อนท่อนสไบ เราก็ช่วยในระหว่างพวกเรา

หรือมิฉะนั้นก็นำไปก่อสร้างเป็นถาวรวัตถุ เอาไปช่วยในหมู่คณะจัดเป็น "สังฆทาน" ทำเงินของชาวบ้านให้มีอานิสงส์มากขึ้น เขาให้มาเป็นส่วนตัว เป็น "ปาฏิปุคลิกทาน"

ถ้าเราไปร่วมใช้จ่ายในส่วนรวม ในสิ่งที่มันขาดอยู่ เป็น "สังฆทาน" ทำให้ชาวบ้านมีอานิสงส์

ถ้าวัดวาอารามมีการทรุดโทรม เอาเงินมาช่วยทะนุบำรุงหรือก่อสร้าง เป็น "วิหารทาน" แสดงว่าอานิสงส์ของชาวบ้านที่ถวายเงินมา ก็ได้ขึ้นไปอีกส่วนหนึ่ง

วิหารทานมันมีอานิสงส์สูงกว่าสังฆทานมาก หรือมิฉะนั้น ถ้าบังเอิญเกิดเห็นมีใครเขาป่วยไข้ไม่สบายไม่มีที่พึ่ง ถ้าเราไม่ช่วยจะตาย หรือทุกขเวทนาจะครอบงำ

เรานำไปใช้ในส่วนสาธารณประโยชน์ เกื้อกูลประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และปวงชนชาวไทย ช่วยกันทะนุบำรุงบุคคลในเขตประเทศไทยให้มีความสุข

แต่ว่าไม่ใช่ให้เป็นส่วนบุคคล ให้เป็นส่วนสาธารณะ สำหรับคราวคนที่อดข้าวจะตาย เราให้กินได้ คนที่ป่วยไข้ไม่สบาย เราช่วยได้

ดูอย่างที่ผมนำไปแจกจ่าย เอาของไปให้เป็นสาธารณประโยชน์ ไปขุดบ่อน้ำ ทำเหมืองฝาย นี่เราช่วยกันอย่างนี้เป็นส่วนสาธารณประโยชน์


...พระพุทธเจ้าไม่ห้าม แต่ว่าอย่ามากักเอาไว้ ไหนๆ ท่านห้ามแล้ว เราหลีกไม่ได้ เราก็ไม่หลีก ถ้าหลีกแล้ว มันหลอกลวงชาวบ้าน พวกที่ไม่รับสตางค์เนี่ย ไม่หยิบสตางค์ เคยมาขอสตางค์บ่อยๆ

จะสร้างโน้น สร้างนี้ ขอเป็นแสน ขอเป็นล้าน บางท่านนะ ไม่ใช่ทุกท่าน ก็เลยทำให้เห็นกำลังใจว่า จริยาที่ท่านทำกันน่ะ มันเป็นการหลอกลวงชาวบ้าน มันไม่ใช่ของดี

ฉะนั้น อาการอย่างนี้ ขอบรรดาเพื่อนภิกษุ สามเณรทั้งหลาย จงอย่าทำ เขาให้รับ อย่าทำเป็นคนใจด้าน เราหน้าด้านซะหน่อยดีกว่า ให้ใจมันดี อย่าไปหลอกลวงเขาด้วยกำลังใจ สิกขาบทนี้ขอผ่านไป..."


@ อ่านทุกสิกขาบทได้ที่นี่ http://www.watthasung.com/wat/viewthread.php?tid=1258

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน



[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 29/6/18 at 06:50 [ QUOTE ]


[ ตอนที่ 8 ]
(Update 18 กรกฎาคม 2561)

คำสอน “หลวงพ่อปาน” เรื่อง..เงิน
โดย หลวงพ่อพระราชพรหมยาน
(หนังสือ “พ่อรักลูก ๓” หน้า ๑๐๔)


(Cr. : Apimook Arayasirikul)


"...เหตุที่ไม่สะสมทรัพย์นั้น มีความเป็นมาอย่างไร ได้ตอบให้ทราบว่า มีมาตั้งแต่วันที่อุปสมบท (บวช) วันแรก

เมื่อออกจากโบสถ์แล้วพักเหนื่อยประมาณ ๑ ชั่วโมงเศษๆ หลวงพ่อปานท่านเรียกเข้าไปหาท่าน ท่านแนะนำว่า เรื่อง "การเงิน" เป็นเรื่องที่ต้องระวังมาก อย่าเผลอปล่อยให้ความโลภเข้าครอบงำจิต ขออธิบายโดยย่อว่า…

ท่านแนะนำว่า อย่าสะสมเงินไว้ให้มาก เมื่อมีคนถวายมา ให้แบ่งส่วนดังนี้

- ๑. ส่วนที่หนึ่ง…ร่วมสังฆทาน คือเอาเข้าโรงครัว

- ๒. ส่วนที่สอง…เอาไปเข้าร่วมวิหารทาน คือร่วมการก่อสร้าง

- ๓. ส่วนที่สาม…เอาไว้ใช้ส่วนตัว เมื่อมีความจำเป็น

- ๔. ในจำนวนเงินที่เอาไว้ใช้ส่วนตัวนั้น จงอย่าให้มีเกิน ๑,๐๐๐ บาท ถ้าเกินพันให้ทำบุญเสีย

- ๕. เงินในปีนี้ จงอย่าให้เหลือถึงปีหน้า ถ้าเหลือให้คิดว่า ปีหน้าเราจะทำอะไร ที่มีการใช้จ่ายเกินจำนวนเงินที่เหลือ และเมื่อถึงปีหน้าจริงๆ ให้ทำตามที่ตั้งใจไว้

เมื่อรับเงินท่านแนะนำว่า ให้คิดว่าถ้าเราไม่เป็นพระ ไม่มีใครให้เงินใช้ฟรีๆ อย่างนี้ เพราะเราบวชเป็นพระ จึงมีคนถวายเงิน จงอย่าเมาเงินที่ญาติโยมถวายมา จงใช้อย่างพระ, มีอย่างพระ..อย่ามีมากกว่าที่กำหนดให้

คำแนะนำของท่านมากกว่านี้ แต่เห็นว่าจะเฟ้อมากเกินไป จึงนำมากล่าวเพียงย่อๆ เมื่อฟังแล้วก็รับปฏิบัติ ความจริงทำแบบที่หลวงพ่อปานสอนมาเป็นปกติ ชินต่อการปฏิบัติเช่นนี้ จึงบอกว่า..

"...ไม่จำเป็นต้องเป็นพระอริยะก็ “ละ” การสะสมได้..."


@ อ่านทุกสิกขาบทได้ที่นี่ http://www.watthasung.com/wat/viewthread.php?tid=1258

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน



[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 4/7/18 at 15:09 [ QUOTE ]


.



[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 7/7/24 at 09:58 [ QUOTE ]


.

[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
ตั้งหัวข้อใหม่

Go To Top