Not logged in [Login - Register]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites ตั้งหัวข้อใหม่
[*] posted on 17/10/18 at 22:03 [ QUOTE ]

เฉลย..ปมปริศนา "บั้งไฟพญานาค" ในวันออกพรรษา !!!


สารบัญ (เลือกคลิกที่รายการ)

[01]
ตอนที่ ๑ ปมปริศนา "บั้งไฟพญานาค" ในวันออกพรรษา
[02] ตอนที่ ๒ ปรากฏการณ์พิเศษ "นาคี ๒"
[03] ตอนที่ ๓ พญานาคราชถวาย "แก้วมณีรัตนะ" บูชาพระพุทธเจ้า
[04] ตอนที่ ๔ 7 สถานที่ในตำนาน...ตามรอยพญานาค
[05] ตอนที่ ๕ 7 จุดชม "บั้งไฟพญานาค"
[06] ตอนที่ ๖ เฉลยปมปริศนา "บั้งไฟพญานาค"

[07] ตอนที่ ๗ เฉลยปมปริศนา "บั้งไฟพญานาค" (จบ)

[ ตอนที่ 1 ]

ปมปริศนา..บั้งไฟพญานาค


...ผู้เขียนได้พบบทความนี้ เล่าประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับ "บั้งไฟพญานาค" จะเป็นจริงหรือไม่ก็ไม่ขอรับรอง เพราะเป็นเรื่องเล่าต่อๆ กันมา แต่ประวัติ "วันออกพรรษา" นั้นมีมาในพระไตรปิฎกแน่นอน

"...เรื่องก็มีอยู่ว่า กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เมื่อหลายพันปีก่อนสมัยพุทธกาล บนผืนแผ่นดินอันสะอาดบริสุทธิ์ของประเทศลาวในปัจจุบัน

ชาวเมืองเป็นผู้มีศีลมีธรรม มีจิตใจที่งดงาม เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน มีความเคารพผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้เฒ่าผู้แก่ ดูแลมารดาบิดากันเป็นปกติ

พระราชาผู้ปกครองบ้านเมืองทรงมีธรรมราชาครบถ้วน ๑๐ ประการ แล้วก็มีปุโรหิตท่านหนึ่ง เป็นคนจิตใจงาม เป็นผู้มีปัญญามาก

เวลาจะตัดสินคดีความอะไรก็บริสุทธิ์ยุติธรรม ท่านชำนาญในไตรเพท มีหน้าที่ประกอบพิธีกรรมบวงสรวงพญานาค โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล

เพราะมีความเชื่อว่า "นาค" เป็นผู้ให้น้ำ ท่านก็ประกอบพิธีอย่างนี้ทุกปีๆ จนกระทั่งหมดอายุขัย ด้วยใจที่ผูกพันกับพญานาคมาก

กอปรกับบุญกุศลที่ท่านปุโรหิตทำในระดับที่ดีของชาวโลก ในยุคที่พระพุทธศาสนายังไม่บังเกิดขึ้น

เมื่อละโลกแล้ว ท่านจึงไปเกิดเป็นพญานาค มีกายสีทองสวยงาม เป็นหัวหน้าปกครองชุมชน นาคในระดับล่าง อยู่ใต้ลำน้ำโขง ซึ่งจะเป็นภพซ้อนภพ มีอายุยืนมาก

...พญานาคมีอยู่ ๓ ระดับ คือ ระดับล่าง ระดับกลาง ระดับสูง ระดับสูงก็อยู่บนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ระดับกลางๆ ก็ลดหย่อนลงมา

ระดับล่างก็อยู่ในระดับพื้นมนุษย์ มีบ้านเมืองที่สวยสดงดงามพอสมควร ท่านเป็นผู้ปกครอง ชุมชนนาคในละแวกลำน้ำโขงนั้น ซึ่งกว้างขวางมาก

พญานาคท่านนี้ เมื่ออยู่ในเมืองนาค ท่านจะแปลงกายเป็นกายทิพย์ ที่คล้ายๆ มนุษย์ มีเครื่องประดับงดงาม

แล้วท่านปรารถนาพุทธภูมิมานาน ตั้งแต่ก่อนจะมาเกิดเป็นปุโรหิต แม้มาเป็นปุโรหิตก็มีความรู้สึกเช่นนี้อยู่ลึกๆ ในใจ


เหตุการณ์ในวัน "เทโวโรหณะ"

"...ครั้นเวลาล่วงเลยมาถึงสมัยพุทธกาลขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสมณโคดม พอใกล้ถึงวันออกพรรษา เหล่าเทวดาก็โจษกันไปทั่วว่า

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จลงจาก "ดาวดึงส์" จนเสียงอื้ออึงโจษขานดังไปทั่ว พร้อมๆ กับเสียงดนตรีสวรรค์ดังไปถึงนาคพิภพ ทำให้อาสนะของพญานาคที่เคยอ่อนนิ่มกลับแข็งกระด้างขึ้นมา สงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น

พญานาคและบริวาร จึงออกมาจากนาคพิภพ ขึ้นไปอยู่บนผิวน้ำของแม่น้ำโขงในวัน "เทโวโรหณะ" ออกพรรษา สายตาก็มองไปบนท้องฟ้า ตอนนั้นเมฆบนท้องฟ้าก็ยังฟูฟ่องล่องลอยอยู่เยอะแยะ

แต่สักพักหนึ่งเมฆก็แวบหายไป ท้องฟ้าเริ่มเปิดออก มีลำแสงฉัพพรรณรังสีพุ่งออกมา ท้องฟ้ากลวงเข้าไป เหมือนไม่มีท้องฟ้า

ในบริเวณนั้น คือท้องฟ้าเปิดจนมองเห็นสวรรค์ ในลำแสงนั้นก็จะเห็นเหล่าทวยเทพทั้งหลาย ในภพ ๓ เต็มไปหมดเลย ยกเว้นอรูปพรหม ๔ ชั้น "อสัญญีสัตตาพรหม" หรือพรหมรูปฟัก ที่ไม่ได้มา นอกนั้นมาหมดเลย

ท้าวมหาราชทั้ง ๔ คอยอารักขา นาค ครุฑ ยักษ์ คนธรรพ์ โดยเฉพาะคนธรรพ์จะร้องรำทำเพลง ประโคมดนตรีตลอดเวลา พลุสวรรค์หลากสี

แต่ไม่ได้ดังตุ้มๆ เหมือนพลุในเมืองมนุษย์ แต่ดังเป็นเสียงดนตรีสวรรค์ ดอกไม้ทิพย์สวยสดงดงาม หอมฟุ้ง ตลบอบอวลไปทั่ว

บริเวณสองข้าง ทางก็เต็มไปด้วยทวยเทพทุกชั้น ผู้ปกครองของสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น เทพอัปสรเรียงกันลงมาเป็นกระบวน

ถัดจากนางเทพอัปสรก็จะมีเหล่าเทวดายืนเรียงรายกันเต็มไปหมดเลย มีบันไดทองคำใส บันไดแก้ว เพชร บันไดเงิน ทอดลงมาจากดาวดึงส์จนถึงพื้นโลกมนุษย์ (ตรงประตูเมืองสังกัสนคร)

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอยู่ตรงกลางบันไดแก้ว เพชรที่มีหลากสี ทั้งม่วง คราม น้ าเงิน เขียว เหลือง แสด แดง ตามหลังมาด้วย "ปัญจสิกขเทวบุตร" และ "มาตุลีเทพสารถี"

ส่วนบันไดทองคำใสก็เป็นของเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่ มี "ท้าวสุยามา" ผู้ปกครองสวรรค์ชั้นยามา ถือพัดวีชนี

"ท้าวสักกเทวราช" หรือพระอินทร์ ถือปาริฉัตกะ (ฉัตร) ถัดมาก็ "ท้าวสันตดุสิต" ผู้ปกครองสวรรค์ชั้นดุสิต "ท้าวนิมมานรมิต" ผู้ปกครองสวรรค์ชั้นนิมมานรดี

ถัดมาก็ "ท้าวปรนิมมิต" ผู้ปกครองสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี และตามด้วยเหล่าเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่ทั้งหลาย.."


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน



[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 17/10/18 at 22:12 [ QUOTE ]


[ ตอนที่ 2 ]

ปรากฏการณ์พิเศษ "นาคี ๒"



...เมื่อวานนี้ได้นำบทความเรื่อง "บั้งไฟพญานาค" มาให้อ่านกัน นับเป็นเรื่องที่แปลกมาก บังเอิญตรงกันโดยไม่ได้นัดหมาย นั่นก็คือภาพยนต์เรื่อง "นาคี ๒" ออกฉายพอดี

ผู้เขียนเองก็ไม่ทราบมาก่อน เพิ่งดูข่าวว่าคนแห่ไปดูมากมายเป็นประวัติการณ์ คนเต็มแน่นทุกรอบ รายได้พุ่งกระฉูด

ถามว่า แล้วเกี่ยวอะไรกับเพจนี้ละ อ๋อ..ตอบได้เลยว่า ไม่ได้อาศัยกระแสดอกนะ มันบังเอิญจริงๆ ที่ผู้เขียนก็เกิดในตระกูล "นาค" คือนามสกุล "นาคสวัสดิ์" ไงละ

นามสกุลเดียวกับ คุณรัตติพงศ์ นาคสวัสดิ์ คนทัพทัน อุทัยธานี ศิษย์เก่าพระสุธรรม ทำงานที่สำนักงานเขตบางซื่อ แต่เพิ่งจะมารู้จักกันในเพจนี่แหละ

อีกทั้งผู้เขียนก็มีสมบัติ คือ "ดวงแก้ว" ของพญานาคเพียบเลย ตอนนี้ถวายบูชาไว้ในตู้กระจก เป็นสมบัติของสมเด็จองค์ปฐมไปแล้ว ถามว่าได้ผลไหม ตอบว่าท่านช่วยหลายเรื่อง เอ้า..ขอเข้าเรื่องต่อจากเมื่อวานกันนะ


เหตุการณ์ในวัน "เทโวโรหณะ" (ต่อ)


"...แต่ในตำนานกล่าวไว้เป็นแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ซึ่งเป็นวันถัดจากวันออกพรรษา ซึ่งอยู่ในระยะเวลาที่คาบเกี่ยวกัน

เพราะหลังเที่ยงคืนของวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ก็เป็นวันแรม ๑ ค่ำแล้ว หรือที่ชาวโลกเรียก วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ นั้นว่า "เทโวโรหนะ"

ในคืน ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ "ท้าวสักกเทวราช" ทรงเนรมิตบันได ๓ ประการถวายพระพุทธเจ้า คือ บันไดทอง, บันไดเงิน, บันไดแก้วมณี

หัวบันไดพาดอยู่ที่ยอดเขาสิเนรุ เชิงบันไดอยู่ที่ประตูเมือง "สังกัสสนคร" เวลาเสด็จลงทรงพุทธดำเนินทาง "บันไดแก้วมณี" ที่อยู่ตรงกลาง

ส่วนเหล่าเทพยดาทั้งหลายลงทาง "บันไดเงิน" เหล่าท้าวมหาพรหมลงทาง "บันไดทอง" เรียกการเสด็จครั้งนั้นว่า "เทโวโรหนะ"


ประเพณี "ตักบาตรเทโว"

...ความเดิมมีว่า ในพรรษาที่ ๗ นับแต่วันตรัสรู้ พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อเทศน์โปรดพระพุทธมารดา

ที่ได้อุบัติเป็นเทพบุตรอยู่ในชั้นดุสิต โดยลงมาฟังธรรมที่ชั้นดาวดึงส์ จนบรรลุโสดาปัตติผล ครั้นถึงวันมหาปวารณา (วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑) จึงเสด็จลงจากเทวโลก

ในขณะที่เสด็จลงจากเทวโลก ได้มีเนินเป็นอันเดียวกันจนถึงพรหมโลก เมื่อทรงแลดูข้างล่าง สถานที่นั้นก็มีเนินอันเดียวกันจนถึงอเวจีมหานรก

ทรงแลดูทิศใหญ่และทิศเฉียง จักรวาลหลายแสนก็มีเนินเป็นอันเดียวกัน เทวดาก็เห็นพวกมนุษย์ แม้พวกมนุษย์ก็เห็นเทวดา

สัตว์นรกก็เห็นมนุษย์และเทวดา ต่างก็เห็นกันเฉพาะหน้าทีเดียว ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเปล่งฉัพพรรณรังสี รัศมี ๖ ประการ พวยพุ่งออกจากพระวรกาย

ด้วยเหตุนี้ ชาวเมืองสังกัสสนครที่รอต้อนรับอยู่ โดยเฉพาะ "พระเจ้าปเสนทิโกศล" พร้อมด้วยชาวเมืองสาวัตถี ต่างก็ปลาบปลื้มใจ เพราะเฝ้ารอรับเสด็จมานานถึง ๓ เดือน

ในตอนนี้ "พระเจ้าปเสนทิโกศล" และประชาชนทั้งหลาย ต่างก็ตั้งจิตปรารถนา "พุทธภูมิ" ในบาลีได้กล่าวว่า แม้แต่มดดำมดแดงก็อยากจะเป็นพระพุทธเจ้าด้วย

เพราะว่านอกจากความเป็น "พระพุทธเจ้า" จะสวยงามด้วยพระพุทธลักษณะแล้ว ยังประดับด้วยรัศมีเหมือนพระอาทิตย์ทรงกลด และแวดล้อมด้วยท้าวมหาพรหมและท้าวสักกเทวราชที่ติดตามมาด้วย

ฉะนั้น "วันเทโวโรหนะ" จึงแปลว่า "ลงจากเทวโลก" จึงทำให้เกิดประเพณีทำบุญตักบาตรที่เรียกวา "ตักบาตรเทโว" เป็นการใส่บาตรพระพุทธเจ้าซึ่งมีอานิสงส์มาก ดังนี้.."


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน



[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 18/10/18 at 03:57 [ QUOTE ]


[ ตอนที่ 3 ]

พญานาคราชถวาย "แก้วมณีรัตนะ" บูชาพระพุทธเจ้า



"...วันเทโวโรหนะ" แปลว่า "ลงจากเทวโลก" จึงทำให้เกิดประเพณีทำบุญตักบาตรที่เรียกวา "ตักบาตรเทโว" เป็นการใส่บาตรพระพุทธเจ้าซึ่งมีอานิสงส์มาก

นับเป็นประเพณีของชาวพุทธที่มีมาแต่โบราณ นิยมอัญเชิญพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตร แห่ขบวนนำหน้าหมู่พระสงฆ์ทั้งหลาย

คล้ายสมมติเหตุการณ์ ตอนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จลง ณ ประตูเมืองสังกัสสนคร ฉะนั้น จึงนิยมถวาย "ข้าวต้มโยน"

เดิมเรียก "ข้าวต้มมัด" ซึ่งห่อข้าวนึ่งหรือข้าวเหนียวด้วยใบตอง แต่เนื่องจากมีพระสงฆ์มากเข้าไม่ถึง จำต้องโยนเข้าไปใส่บาตรของพระสงฆ์

...ส่วนปรากฏการณ์ "บั้งไฟพญานาค" จะปรากฏอยู่ในวันคืนวันออกพรรษา ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ ซึ่งลูกไฟจะขึ้นจากน้ำตั้งแต่หัวค่ำตามลำน้ำโขง

ซึ่งมีประชาชนไปรอดูกันเป็นจำนวนมาก บั้งไฟจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นในช่วงดึก หรืออาจจะเลยช่วงเวลาเที่ยงคืนออกไป ซึ่งเป็นวันแรม ๑ ค่ำ

การเกิด "บั้งไฟพญานาค" ตามความเชื่อในทางพระพุทธศาสนานั้น เชื่อว่า พญานาคทั้งหลายถวายแก้วมณี คือดวงแก้วของพญานาค เป็นพุทธบูชาแด่พระพุทธองค์ในคืนออกพรรษา

บ้างก็จะเรียกว่า "พญานาคพ่นไฟ" บูชาไฟ เป็นพุทธบูชา โดยดวงแก้ว หรือดวงไฟที่ว่านั้น พวยพุ่งออกจากปากของพญานาค ขึ้นสู่ท้องฟ้า เพื่อเป็นพุทธบูชาและรับเสด็จพระพุทธเจ้าด้วยความปีติยิ่ง

ซึ่งไม่ใช่เฉพาะลำน้ำโขงเท่านั้น หากแต่คืนดังกล่าว ในแม่น้ำ คุ้งน้ำ หรือตามป่าเขาที่มีลำธารไหลผ่าน ที่เชื่อกันว่ามีพญานาคอาศัยอยู่ใต้บาดาล

ณ บริเวณนั้นก็จะปรากฏดวงไฟประหลาดพวยพุ่งสู่ท้องฟ้า ลักษณะเช่นเดียวกับที่เกิดบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง



...กล่าวกันว่า พญานาคนั้นจะร้อนในปากตลอดเวลา เพราะมีไฟอยู่นั่นเอง ทำให้ไม่สามารถหุบปากได้ ไฟในปากพญานาคจะคายออกมาเป็นแก้วก็ได้ หรือจะทำให้เกิดไฟอันร้อนรุ่มก็ได้ สุดแล้วแต่ปรารถนา

ดังนั้นความปรารถนาด้วยปีติ อันซาบซึ้งที่มีต่อองค์สมเด็จพระจอมไตร จึงปรากฏเป็นดวงไฟสวยงามทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้านภากาศ สรรเสริญพุทธคุณอย่างยิ่งใหญ่

บ้างก็เชื่อว่า ลูกไฟที่ปรากฏนั้น อาจจะเป็นการจำแลงกาย หรือดวงจิตของพญานาค ที่ขึ้นไปรับเสด็จพระพุทธเจ้า ขณะเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

เพราะก่อนหน้าวันออกพรรษาไม่กี่วัน ก็มักจะเห็นรอยพญานาคปรากฏบนบก เสมือนแสดงให้เห็นว่า พญานาคบางส่วน อาจจำแลงกายเป็นลักษณะของงู เพื่อมารอรับเสด็จพระพุทธเจ้า


ฝ่าย "พญาศรีสุทโธนาคราช" และบริวารแสนโกฐิ พร้อมใจต้อนรับพระพุทธองค์เสด็จจากดาวดึงส์ พญานาคราชได้ตั้งสัจจะขอถวายอัญมณี ดวงไฟแห่งนาคราช สมบัติล้ำค่าแห่งเมืองบาดาล เป็นพุทธบูชา

เมื่อถึงเพลาแห่งรัตติกาล พญานาคถวายอัญมณีพวยพุ่งขึ้นเหนือน่านน้ำโขง ประกายแดงอมชมพู อย่างสวยงามยิ่ง...นั่นแล"


ที่มา - https://pantown.com/group.php?display=content&id=73366&name=content1&area=

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน



[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 19/10/18 at 10:33 [ QUOTE ]


[ ตอนที่ 4 ]

7 สถานที่ในตำนาน...ตามรอยพญานาค (ที่มีอยู่จริงในปัจจุบัน)
โดย นพ.ฐาปนันท์ มหิศนันท์


...ผู้เขียนได้นำเรื่องราวเกี่ยวกับพญานาคมาลงให้อ่านกันนี้ แม้ว่าไม่เกี่ยวกับวัดท่าซุงแต่อย่างใดก็ตาม แต่เป็นการให้ความรู้ตามความเชื่อของชาวไทย ไม่ได้นำมีเจตนาที่จะทำให้ใครเสียหาย

ส่วนที่นำเรื่อง "พ่อปู่พญาศรีสุทโธ" มากล่าวถึงนั้น เป็นเพราะสมัยนี้ท่านมีชื่อเสียงมาก โดยเฉพาะมีคนเอาประวัติของท่านมาลงในเว็บต่างๆ

ส่วนใหญ่จะนำมาเล่ากันโดยไม่มีหลักฐานอ้างอิง ทั้งๆ ที่ "ตำนานพระธาตุพนม" ได้กล่าวถึงพญานาคไว้อีกหลายท่าน

อย่าลืมว่า "ตำนานพระธาตุพนม" (อุรังคนิทาน) เป็นเอกสารที่สำคัญทางภาคอีสาน โดยพระอรหันต์ได้บันทึกไว้เกี่ยวกับสถานที่สำคัญที่พระพุทธเจ้าเสด็จ และเกี่ยวเนื่องกับบ้านเมืองในอดีตอีกด้วย

การที่ผู้เขียนต้องหยิบยกเรื่องนี้มากล่าว พร้อมทั้งตั้งชื่อคำท้ายว่า "พญาศรีสุทโธ" กับตำนานพญานาค..ที่ถูกลืม

หมายถึงสมัยนี้ไม่ค่อยมีคนสนใจใน "ตำนานพระธาตุพนม" กัน แม้ในเว็บไซด์ก็หาอ่านยากเต็มที ซึ่งในตอนท้ายผู้เขียนจะนำอ้างอิงให้เข้าใจกัน

ในตอนนี้ ขอยกตัวอย่างบทความของ "นพ.ฐาปนันท์ มหิศนันท์" ที่ได้ให้ความรู้ไว้ใน pantip.com ตามที่ท่านวิเคราะห์ไว้

ถ้าถามผู้เขียนว่าครบถ้วนไหม คงจะตอบว่ายังไม่ครบถ้วน เพราะสังเกตได้ว่าคุณหมอก็ไม่ได้อ่าน "ตำนานพระธาตุ" อย่างครบถ้วนเช่นกัน ท่านเขียนบทความมีว่าดังนี้



...ความลี้ลับ ตำนานแห่งเมืองใต้บาดานและตำนานของพญานาค ที่หลายคนยังไม่เคยรู้จัก หรือยังไม่ได้สัมผัสกับตำนานสถานที่ ที่เกี่ยวข้องกับพญานาค ซึ่งมีอยู่จริงในปัจจุบัน

(บทความนี้ถูกโยงกับตำนานพื้นบ้านท้องถิ่น บางเนื้อหาอาจไม่เป็นวิทยาศาสตร์ โปรดใช้วิจารณญาณในการรับชม )

สถานที่แรก ที่วินาทีนี้ใครๆ ก็รู้จัก ใครก็อยากไป หลังจากที่เรื่อง"นาคี 1" ละครดังช่อง 3 จบลง ยิ่งทำให้ผู้คนเข้าไปเที่ยวชมกราบไหว้มากขึ้นกว่าเดิม


...1. คำชะโนด
ตำนานทางเชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์ และเมืองบาดาลของพญานาค ที่บนโลกนี้มีเพียง 3 สถานที่ และหนึ่งในนั้นคือคำชะโนด ตั้งอยู่ที่ อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี

ตำนานกล่าวถึงความขัดแย่งระหว่างพญานาค คือ สุทโธนาค และ สุวรรณนาค จนพระอินทร์ทราบเรื่อง จึงสั่งให้พญานาคทั้งสองแข่งกันสร้างแม่น้ำขึ้นคนละสาย

ในที่สุด สุทโธนาคสร้างแม่น้ำได้สำเร็จก่อน (คือแม่น้ำโขงในปัจจุบัน) จึงเป็นผู้ชนะ และ สุทโธนาค ก็ได้ขอทางขึ้นลง ระหว่างเมืองบาดาลกับเมืองมนุษย์ไว้อีก 3 แห่ง

หนึ่งในนั้นก็คือ คำชะโนด ซึ่งมีต้นชะโนดขึ้นเป็นสัญลักษณ์ โดยให้สุทโธนาคพร้อมบริวารสามารถกลายร่างเป็นมนุษย์ และตั้งบ้านเมืองปกครองอยู่ที่คำชะโนดสืบมา

ตรงกลางคำชะโนดมีบ่อน้ำอยู่กลางดงชะโนด เป็นบ่อน้ำผุด ที่มีน้ำซึมจากใต้ดินตลอดเวลา ทำให้ชาวบ้านเชื่อกันว่าบ่อน้ำจากพ่อปู่สุทโธนาคประทานมาให้ และอีกความมหัศจรรย์ของคำชะโนคคือ

เป็นเกาะที่ไม่เคยถูกน้ำท่วม เชื่อว่าคำชะโนดมีลักษณะเป็นเกาะลอยกลางน้ำ โดยเกิดจากการสานตัวกันของรากต้นชะโนด จึงทำให้ไม่ถูกน้ำท่วม แม้ว่าน้ำจะเคยท่วมทั่วบริเวณโดยรอบก็ตามที


...2. ถ้ำดินเพียง หรือ ถ้ำพญานาค
ตำนานลี้ลับถึงถ้ำที่เชื่อมต่อโลกมนุษย์และโลกบาดาน ดินแดนแห่งพญานาค ถ้ำเพียงดิน เป็นถ้ำที่อยู่ใต้ดินลึงลงไปในบริเวณวัดวัดถ้ำเพียงดินหรือวัดถ้ำศรีมงคล ตั้งอยู่ที่ บ้านดงต้อง ต.ผาตั้ง อ.สังคม จ.หนองคาย

ชาวบ้านเชื่อว่า ถ้ำนี้สามารถเดินเชื่อมต่อลงไปใต้แม่น้ำโขงผ่านไปยังประเทศลาวได้ โดยใช้เวลา 9 วัน 9 คืน นอกจากนี้ยังเชื่อว่าสามารถเชื่อมต่อไปยัง คำชะโนด ที่จังหวัดอุดรธานีได้ด้วย โดยมีเรื่องเล่าว่า ในถ้ำแห่งนี้เป็นเส้นทางที่พระธุดงด์จากลาว ใช้ข้ามฝั่งลอดใต้แม่น้ำโขงมายังประเทศไทย

เหตุที่หลายคนเรียกถ้ำนี้ว่า ถ้ำพญานาค มาจากตำนานความเชื่อว่า ที่แห่งนี่เป็นทางเข้าออกของธิดาพญานาค ซึ่งมาหลงรักเจ้าชายของเมืองโลกมนุษย์

แต่ครั้นพอถึงวันออกพรรษา ธิดาพญานาคต้องกลับสู่เมืองบาดาล เพื่อไปเล่นน้ำกับพญานาคด้วยกัน เจ้าชายตามมาพบรู้ว่าคนรักของตนเป็นพญานาค จึงขอตัดขาดจากกันที่ถ้ำแห่งนี้ (ฟังเรื่องราวคล้ายๆ กับละครเรื่อง นาคี 1 เลยทีเดียวนะครับ)

ภายในถ้ำมีน้ำไหลผ่านตลอดทั้งปี ลักษณะเป็นถ้ำที่มีทางเชื่อมต่อกันหลายทาง คล้ายๆ กับใยแมงมุม (จึงต้องมีคนนำทางเมื่อจะเข้าไปในถ้ำ ซึ่งเป็นคนของทางวัดจะนั่งรอที่หน้าทางเข้า)

บางช่วงเป็นช่องทางแคบๆ ต้องคานเข้าไป บางช่วงเป็นห้องใหญ่สามารถจุคนได้ร้อยคน ภายในถ้ำประดับไฟแสงสีสวยงาม ไม่ได้ดูน่ากลัวอย่างที่คิดนะครับ

ภายในถ้ำแบ่งออกเป็นห้องต่างๆ ตามความเชื่อของคนในชุมชน เช่น ห้องธิดาพญานาคทั้ง 4 นาง ห้องเก็บหีบศพพญานาค แผ่นคําภีร์ศิลาพญานาค และยังมีเจดีย์ภายในถ้ำ


...3. วัดไทย และ ถ้ำพญานาค
ถ้ำพญานาค หรือ ถ้ำเมืองบาดาลจำลอง ตั้งอยู่ที่ วัดไทย อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย

ตามความเชื่อโบราณ เชื่อว่าเมืองหลวงของพญานาคอยู่บริเวณแม่น้ำโขงหน้าวัดไทย ในคืนหนึ่ง เจ้าอาวาสวัดไทยได้นิมิตว่า มีหญิงชาย ร่างกายสีดำมานิมนต์ให้สร้างสัญลักษณ์ประจำเมืองบาดาล หรือเมืองพญานาคไว้เมืองมนุษย์ ณ บริเวณ วัดไทย

จึงได้ก่อสร้างเป็นอุโมงค์รูปพญานาค สูง 19 เมตร ทางเข้าจะเชื่อมเข้าไปในลำตัวของพญานาค ภายในแบ่งเป็น ถ้ำจำลอง 7 ห้อง แต่ละห้องแสดงถึงเรื่องราวของเมืองบาดาล

ริมฝั่งโขงหน้าวัดไทย เป็นจุดชมบั้งไฟพญานาคที่ได้รับความนิยมที่สุดของ จ.หนองคาย วันออกพรรษา 15 ค่ำเดือน 11 ขอเชิญทุกท่านมาพิสูจน์ตำนานแห่งพญานาคกันนะครับ



4. แก่งอาฮง
แม่น้ำโขงมีความยาวกว่าสี่พันกิโลเมตร ทอดตัวไหลผ่านถึง 6 ประเทศ ใครเลยจะรู้ว่าจุดที่ลึกที่สุดของแม่น้ำโขง หรือที่เรียกว่าสะดือแม่น้ำโขง ตั้งอยู่ที่ แก่งอาฮง จ.บึงกาฬ ประเทศไทยเรานี้เอง

ที่ใต้สะดือแม่น้ำโขงนั้นมีถ้ำขนาดใหญ่ เชื่อว่าเป็นเมืองหลวงของพญานาค ถือว่าเป็นจุดศูนย์กลางการปกครองนาคพิภพ โดยถ้ำแห่งนี้สามารถใช้สัญจรไปฝั่งลาวได้ซึ่งจะไปทะลุที่ ภูงู ส่วนทางออกอีกด้านคือ คำชะโนด

จุดนี้เป็นจุดชมบั้งไฟพญานาคที่มีความพิเศษคือ ลูกไฟจะมีขนาดใหญ่สีเขียวลอยขึ้นจากกลางน้ำ ตำนานเล่าขานว่า

ถ้ามีคนตกน้ำตกตายเหนือแก่งอาฮงขึ้นไป ไม่ว่าที่ใดหากหาศพไม่พบก็จะหาได้ที่แก่งอาฮง เชื่อกันว่าศพจะไหลไม่พ้นแก่งอาฮง เพราะตกลงไปในจุดที่เป็นคุ้งน้ำไหลวน และเป็นจุดที่ลึกที่สุดของแม่น้ำโขงนั่นเอง


...5. สระมุจลินท์ หรือ สระพญานาค
สระน้ำที่มีตำนานอันเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอาณาจักรล้านช้าง ตั้งอยู่ที่ วัดพระธาตุบังพวน อ.เมือง จ.หนองคาย

ตำนานกล่าวว่า เมื่อครั้งได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า มาบรรจุไว้ในองค์พระธาตุได้เกิดปรากฏการณ์ประหลาด มีสายน้ำพวยพุ่งออกมาจากพื้นดิน

"พระมหาเทพหลวง" ได้สังเกตเห็นว่ามีสายน้ำพุ่งขึ้นมาตลอดเวลา จากปล่องภูพญานาคที่เฝ้ารักษาพระธาตุบังพวน จึงได้ชักชวนญาติโยมขุดสระรองรับน้ำเอาไว้ และสร้างรูปปั้นพญานาค 7 เศียรไว้กลางสระแห่งนี้

ปัจจุบันสระมุจลินท์แห่งนี้ถือเป็นสระน้ำ สำคัญประจำจังหวัดหนองคาย น้ำในสระแห่งนี้ถูกนำไปใช้ในพิธีสรงมูรธราชาภิเษก พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา และพิธีศักดิ์สิทธิ์สำคัญของประเทศไทย


...6. พระธาตุกลางน้ำ หรือ พระธาตุหล้าหนอง
พระธาตุกลางน้ำ ตั้งอยู่กลางแม่น้ำโขง เขตเทศบาลหนองคาย โดยตำนานกล่าวถึง การอัญเชิญพระธาตุของพญานาคเมื่อกว่า 200 ปีก่อน

เมื่อ 200 ปีก่อน เกิดเหตุการณ์องค์พระธาตุพังทลายลงกลางแม่น้ำโขง ทำให้ชาวเมืองหนองคายเชื่อว่า เป็นเพราะอิทธิฤทธิ์ของพระญานาค ทำการอัญเชิญพระธาตุไปประดิษฐานที่ถ้ำบาดาลไว้มิให้สูญหาย

ซึ่งในช่วงหน้าแล้ง จะปรากฏพระธาตุที่โผ่พ้นจากแม่น้ำโขง ส่วนในช่วงหน้าฝนพระธาตุจะจมอยู่ใต้แม่น้ำโขงจนไม่สามารถเห็นองค์พระธาตุ ปัจจุบันได้จำรองพระธาตุขึ้นมาใหม่ซึ่งอยู่ตำแหน่งเดิม ก่อนที่จะพังลงสู่แม่น้ำโขง


7. หลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย
ตำนานพระพุทธรูปหนึ่งเดียวที่พญานาคได้มาร่วมสร้าง หลวงพ่อพระใส ประดิษฐานอยู่ ณ วัดโพธิ์ชัย ตั้งอยู่ในเขต อ.เมือง จ.หนองคาย

ตำนานกล่าวว่า ในสมัย "พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช" ทรงมีพระราชธิดา 3 พระองค์ พระธิดาทรงขอพรจากราชบิดา เพื่อสร้างพระพุทธรูปประจำพระองค์ขึ้น โดยมีข้าราชบริพารและชาวบ้าน ได้ระดมช่างกำลังคนมาช่วยกันสร้าง

การหล่อทองเป็นไปด้วยความยากลำบากใช้เวลาหล่อทองถึง 7 วัน 7 คืน แต่ทองก็ยังไม่ละลาย ทำให้ไม่สามารถประกอบพิธีเททองหล่อพระพุทธรูปตามขั้นตอนได้

เข้าวันที่ 8 ตอนใกล้เพล ในขณะที่หลวงตากับเณรน้อยกำลังช่วยสูบลมหล่อทองอยู่นั้น ก็ปรากฏมีชีปะขาวคนหนึ่งอาสามาช่วย หลวงตากับสามเณรจึงหยุดพักและขึ้นไปฉันเพล

เวลานั้นชาวบ้านก็ต่างแปลกใจ ที่เห็นชีปะขาวจำนวนมากมายกำลังเททองหล่อพระพุทธรูปอยู่ จากนั้นทองทั้งหมดได้ถูกเทลงในเบ้าหล่อทั้ง 3 เบ้า เรียบร้อยแล้ว และชีปะขาวได้หายตัวไป

ชาวบ้านเชื่อกันว่า เหตุอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นนี้ เป็นอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ของเหล่ากายทิพย์พญานาค ที่มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา เป็นผู้สร้างพระพุทธรูปในครั้งนั้น.."


ที่มา - https://pantip.com/topic/36089705

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน



[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 20/10/18 at 09:27 [ QUOTE ]


[ ตอนที่ 5 ]

7 จุดชม บั้งไฟพญานาค
By นพ.ฐาปนันท์ มหิศนันท์

...บั้งไฟพญานาค ปรากฏการณ์ลูกไฟมีสีแดงอมชมพูพวยพุ่งขึ้นมาจากลำน้ำโขงในคืนวันออกพรรษา ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์มหัศจรรย์ที่จะเกิดขึ้นเฉพาะจังหวัดหนองคายและจังหวัดบึงกาฬเท่านั้น

โดยเจาะจงปรากฏให้เห็นในคืนวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี (แต่ปีไหนมีเดือนแปดสองหนตามปฏิทินทางจันทรคติ บั้งไฟพญานาคจะปรากฏให้เห็นในคืนแรม 1 ค่ำ เดือน 11)

ใกล้เข้าถึงช่วงเวลาออกพรรษา สิ่งหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงนอกจากการทำบุญ ก็คือ บั้งไฟพญานาค หลายคน หลายแนวคิด ทั้งตำนาน ความเชื่อ การกระทำของมนุษย์ หลากหลายแนวคิดที่ยังต้องพิสูจน์กันต่อไป…

คุณพร้อมหรือยังกับการเดินทางมาหาคำตอบ ณ 7 จุด ชมบั้งไฟพญานาคที่ดีที่สุดในโลก แน่นอนครับ จุดชมบั้งไฟพญานาคมีอยู่สองจังหวัด ได้แก่ จังหวัดหนองคายและจังหวัดบึงกาฬ



.....มาเริ่มจุดแรกเลยครับ กับจุดยอดนิยมที่สุด

...1. อำเภอโพนพิสัย จ.หนองคาย และ บ้านโดน เมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาว
เป็นจุดชม ที่มีชื่อเสียงที่สุด เดินทางได้สะดวก อยู่ไม่ไกลจากตัวจังหวัด

อ.โพนพิสัย มีจุดชมหลายจุดครับ
ที่แนะนำจุดแรก คือ บริเวณหน้าวัดไทยและ ริมแม่น้ำโขงตลอดตัวเมืองโพนพิสัย
ซึ่งตรงกันข้ามกับ บ้านโดน เมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาว


ถือว่าเป็นจุดศูนย์กลางของกิจกรรมเลยที่เดียวครับ มีการบรวงสวง การแสดง งานวัด ที่จุดนี้ครับ
บริเวณริมโขงมีถนนเล็กๆ ทอดตัวยาวตามลำน้ำ และจุดนั่งชมบั้งไฟพญานาคริมแม่น้ำโขง สามารถชมวิวได้ตลอดเส้นทาง


นอกจากนี้บริเวณ วัดไทย ยังมีเสาหลักเมืองบาดาล รูปสามเหลี่ยม และถ้ำพญานาคจำลอง ซึ่ง ภายในแบ่งออกเป็น 7 ห้อง บอกเล่าเรื่องราวของเมืองบาดาลและตำนานพญานาค



จุดที่ 2 ของ อ.โพนพิสัย คือ บริเวณพุทธอุทยานนานาชาติ
โด่ดเด่นด้วยสถาปัตยกรรม เจดีย์ดอกบัว ริมฝั่งโขง




เป็นอีกหนึ่งจุด ที่พบว่ามีบั้งไฟพญานาคขึ้นมากเป็นอันดับต้นๆ เป็นจุดที่มีกิจกรรมทางศาสนา
มีกิจกรรม ลอยโคมเป็นพุทธบูชา มีกิจกรรมลอยประทีบเพื่อบูชารอยพระพุทธบาทใต้เมืองบาดาล


บรรยากาศ บอกได้เลยว่า คล้ายๆ กับ งานลอยโคมยี่เป็ง ของภาคเหนือเลยทีเดียวครับ
จุดนี้ อยู่ห่าง จากตัวเมืองหนองคาย ประมาณ 60 กม. ไปทาง อ.รัตนวาปี


นอกจากนี้ยังมีอีกจุด ที่เป็นจุดที่ธรรมชาติสวยงาม คือ บ้านหนองกุ้ง บริเวณจุดชมวิวแม่นำ้สองสี
ที่แม่น้ำสองสี คือ แม่น้ำงึมของประเทศลาวไหลลงสู่แม่น้ำโขง ซึ่งตรงกันข้ามกับ บ้านปากงึม ประเทศลาว


จุดนี้ อยู่ห่าง จากตัวเมืองหนองคาย ประมาณ 55 กม. ไปทาง อ.รัตนวาปี
ที่พักเป็นแบบโฮมสเตย์ ในบรรยากาศพื้นบ้านอีสาน บ้านที่ปลูกด้วยไม้แบบโบราณริมแม่น้ำโขง



...2. อำเภอรัตนวาปี จ.หนองคาย และ บ้านหนองเขียด เมืองท่าพะบาด ประเทศลาว
เป็นจุดที่พบว่ามีบั้งไฟขึ้นมากที่สุด มาหลายปีติดต่อกัน (เป็นสถานที่ทำงานของผมด้วย) รัตนวาปี มีจุดชมบั้งไฟพญานาคหลายจุดครับ แต่จุดที่มีชื่อเสียงมากที่สุด คือ บริเวณบ้านน้ำเป ซึ่งติดกับ พุทธอุทยานนานาชาติ ที่กล่าวไปข้างต้น ตรงข้ามกับเมืองท่าพะบาด ประเทศลาว


จุดนี้เป็นจุดที่มีการทำถนนริมแม่น้ำโขง สามารถชมบั้งไฟได้ตลอดลำน้ำ
มีที่พักในบรรยากาศ โฮมสเตย์ มีจุดจอดรถหลายจุด เช่น โรงเรียนบ้านน้ำเป
บรรยากาศวิถีชาวบ้าน การจับปลา ถือว่าเป็นเสน่ห์ของจุดนี้เลยครับ


จุดที่สองของ อ.รัตนวาปี คือ บ้านท่าม่วง จุดนี้เอง เคยบันทึกว่าพบบั้งไฟพญานาคมาที่สุดในโลก
พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เคยได้มาชมในจุดนี้
จุดนี้ที่พักเป็นแบบ โฮมสเตย์เช่นกันครับ อยู่ใกล้ตัวอำเภอรัตนวาปี ห่างจากอำเภอ 1 กม.


และอีกจุดของอำเภอรัตนวาปีที่นิยมชมทั้งฝั้งไทยและลาว คือ บ้านโพนแพง และ บ้านอาญา
เป็นจุดที่มีรีสอร์ทเล็กๆ ริมแม่น้ำโขง หลายเเห่ง


จุดนี้มีชื่อเสียงว่า มักพบรอยพญานาคตามริมแม่น้ำ บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของวัดที่อยู่ขนานกันสองฝั่งแม่น้ำโขง
โดยฝั่งลาวมี วัดพระบาทโพนสัน และฝั่งไทยคือ วัดราชโพนเงิน เป็นจุดที่มีตำนานเล่าขาน ของพญานาคที่มีส่วนหัวเป็นช้างเผือก



...3. อำเภอเมือง จ.บึงกาฬ และ เมืองปากซัน แขวงบอริคําไซ ประเทศลาว
บริเวณแก่งอาฮง และ วัดอาฮงศิลาวาส ตั้งอยู่ที่ บ้านอาฮง ต.หอคำ อ.เมือง จ.บึงกาฬ
จุดนี้เป็นจุดที่ชมบั้งไฟได้มากที่สุดในจังหวัดบึงกาฬ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับ เมืองปากซัน แขวงบอลิคําไซ


แก่งอาฮง อยู่ห่างจากตัวจังหวัดบึงกาฬ 20 กิโลเมตร เดินทางได้สะดวก
อีกทั้งที่วัดยังมีที่พัก ลานให้กางเต็นท์ ลานจอดรถกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมีโบสถ์หินอ่อน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำ ที่มีความงดงามริมแม่น้ำโขง


แก่งอาฮง เป็นจุดที่มีความเชื่อว่าลึกที่สุดของแม่น้ำโขง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า สะดือแม่น้ำโขง
คนเฒ่าคนแก่เคยวัดความลึกโดยใช้เชือกผูกกับก้อนหินหย่อนลงไป วัดได้ 98 วา
ทางวิทยาศาตร์ ได้คำนวนวัด ช่วงที่ลึกที่สุด ลึก 200 เมตร



...4. อำเภอสังคม
บริเวณจุดชมอ่างปลาบึก บ้านผาตั้ง อำเภอสังคม เป็นจุดที่มีภูมิประเทศสวยงาม มีโขดหินน้อยใหญ่กลางน้ำโขง มีที่พักหลากหลายรูปแบบ แต่เป็นจุดที่ไกลจากห่างจากอำเภอเมือง 95 กิโลเมตร



...5. อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
จุดนี้ชมได้ที่ วัดหินหมากเป้ง วัดที่สร้างบนโขดหินริมแม่น้ำโขง วัดนี้เคยเป็นวัดของ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี พระสงฆ์สายพระป่า หลวงปู่มั่น ที่ชมบั้งไฟพญานาค มีจุดเด่นคืออยู่บนลานหินขนาดใหญ่ริมแม่น้ำโขง



...6. บึงโขงหลง และ หาดคําสมบูรณ์ จ.บึงกาฬ
บริเวณบึงโขงหลง เป็นจุดหนึ่งที่สามารถชมบั้งไฟได้โดยที่ไม่ได้อยู่ริมแม่น้ำโขง
ซึ่งเป็นความแปลกของจุดนี้เลยครับ บึงโขงหลงอยู่ห่างจากแม่น้ำโขงถึง 10 กม.


จุดที่ชม คือบริเวณหาดคำสมบูรณ์ เป็นแหล่งพักผ่อนคลายร้อย มีกิจกรรมทางน้ำมากมายเลยครับ
อ.บึงโขงหลง อยู่ห่างจากจังหวัดบึงกาฬประมาณ 80 กม. อาจจะไกลครับ แต่ได้บรรยากาศอีกแบบครับ



7. อำเภอปากคาด จ.บึงกาฬ
บริเวณริมแม่น้ำโขง ของอำเภอปากคาด เป็นจุดหนึ่งที่ชมบั้งไฟได้เป็นอันดับสองของ จ.บึงกาฬ
มีถนนริมแม่น้ำโขง สามารถชมความงามของบั้งไฟพยานาคได้ยาวกว่า 1 กม.

จุดนี้เป็นลักษณะโค้งน้ำโขง ทำให้ชมได้สวยงามอีกด้วย
อำเภอปากคาด อยู่ห่างจาก จ.บึงกาฬประมาณ 40 กม. จุดที่ชมบั้งไฟพยานาค


สิ่งที่พลาดไม่ได้คือ การแสดงแสงสีเสียง เปิดตำนานบั้งไฟพญานาค
การแสดงที่บอกเล่าเรื่องราวตำนานความเชื่อต่อบั้งไฟพญานาคและพญานาค ตั้งแต่สมัยพุทธกาล


...ออกพรรษานี้ มาพิสูจน์บั้งไฟพญานาคกันได้นะครับ แล้วคุณจะได้รู้จักบั้งไฟพญานาคมากขั้นกว่าเดิมครับ ขอนำเสนอแต่เพียงเท่านี้ ขอบคุณครับ


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน



[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 21/10/18 at 09:26 [ QUOTE ]


[ ตอนที่ 6 ]

เฉลย..ปมปริศนา "บั้งไฟพญานาค"


"...เมื่อตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้นำข้อมูลและแผนผัง "7 จุดชมบั้งไฟพญานาค" ของ "นพ.ฐาปนันท์ มหิศนันท์" มาให้อ่านกันไปแล้ว

ทั้งนี้ เพื่อผู้อ่านจะได้นำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลและแผนผัง ตามที่ผู้เขียนได้ศึกษา และใช้เวลาเดินทางสำรวจทั่วประเทศ เป็นเวลา 20 กว่าปี

ปรากฏมี "รอยพระพุทธบาทอ" อยู่หลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตรงกับตำแหน่งที่ปรากฏ "บั้งไฟพญานาค" โดยแต่ละปีจะปรากฏขึ้นประมาณ 3-7 ลูก

...มากกว่า 90% ของจำนวนลูกบั้งไฟพญานาคในแต่ละปี จะพบที่จังหวัดหนองคาย หน้าวัดไทย, และบ้านน้ำเป อำเภอโพนพิสัย,

วัดอาฮง อำเภอบึงกาฬ, วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่, และอ่างปลาบึก อำเภอสังคม ซึ่งปรากฏว่าตรงกับตำแหน่งที่มี "รอยพระพุทธบาท" ปรากฏอยู่ด้วยทุกหนทุกแห่ง...!!!

และทุกคนที่ได้ศึกษาประวัติ "พญานาค" จะรู้จักในนาม "พญาศรีสุทโธนาคราช" เป็นส่วนใหญ่ แต่เท่าที่ผ่านมา

ยังไม่เห็นมีใครเคยเอ่ยนามถึง "พญาสุกขหัตถีนาคราช" ผู้พิทักษ์ลุ่มน้ำโขง ซึ่งกั้นเขตแดนระหว่างไทยกับลาว บริเวณเมืองบริคำไซ อยู่ตรงข้ามกับ อำเภอโพนพิสัย


...1. แผนผังจุดที่เกิด "บั้งไฟพญานาค" ริมแม่น้ำโขง ระหว่างจังหวัดเลย - หนองคาย - นครพนม


...2. แผนผังจุดที่เกิด "บั้งไฟ" ริมแม่น้ำโขง ณ บ้านตามุย อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี จะเห็นว่ามี "รอยพระพุทธบาท" ทั้งสองฝั่งโขง




รายชื่อรอยพระพุทธบาท (กรุณาดูควบคู่กับแผนที่)
ที่อยู่ริมแม่น้ำโขง ทางฝั่งประเทศลาว

๑. วัดพระพุทธบาทโพนฉัน เมืองท่าพระบาท แขวงบริคำไซ (ตรงข้าม อ.โพนพิสัย)
๒. พระพุทธบาทบ้านสุละ (รอยเกิบ) แขวงจำปาศักดิ์ (ตรงข้ามผาแต้ม จ.อุบลฯ)


รายชื่อรอยพระพุทธบาท (กรุณาดูควบคู่กับแผนที่)
ที่อยู่ริมแม่น้ำโขง ทางฝั่งประเทศไทย

๑. วัดพระพุทธบาท ต.พระบาท อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย (ใกล้วัดหินหมากเป้ง - หลวงปู่เทสก์)
๒. พระพุทธบาทกุญชร บ.ห้วยไฮ้ ต.พระพุทธบาท อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
๓. วัดสร้างฤาษี บ.ศูนย์กลาง ต.ด่านศรีสุข อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
๔. วัดพระพุทธบาทนาหงส์ บ.พระบาทนาหงส์ ต.พระบาทนาหงห์ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย
๕. วัดพระพุทธบาทผาจ่อง ต.ผาตั้ง อ.สังคม จ.หนองคาย

๖. พระพุทธหัตถ์คู่ถ้ำฝุ่น หน่วยพิทักษ์ป่าถ้ำฝุ่น อ.บึงกาฬ จ.หนองคาย
๗. พระพุทธบาท วัดถ้ำศรีวิไลย์ บ.โนนสว่าง ต.หนองแข็ง อ.บึงกาฬ จ.หนองคาย
๘. พระพุทธบาท วัดถ้ำศรีธน (สว่างอารมณ์) ต.ปากคาด อ.ปากคาด จ.หนองคาย
๙. พระพุทธบาท ภูควายเงิน อ.ปากคาน จ.เลย
๑๐. พระพุทธหัตถ์ วัดป่าดานเทพนิมิต ต.ศรีชมภู อ.โซ่พิสัย จ.หนองคาย

๑๑. พระพุทธบาทหลัง วัดถ้ำจันทร์ ต.ศรีชมภู อ.โซ่พิสัย จ.หนองคาย
๑๒. พระพุทธบาทถ้ำแคน ต.โพธิ์หมากแข้ง อ.บึงโขงหลง จ.หนองคาย
๑๓. วัดพระพุทธบาทเวินปลา ต.เวินพระบาท อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม
๑๔. พระพุทธบาท วัดป่าภูจ้อมก้อม ต.นากลางโพธิ์ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี
๑๕. พระพุทธบาท วัดท่าล้ง บ้านท่าล้ง (ใกล้ผาแต้ม) ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี


...รอยพระพุทธบาทที่กล่าวถึงนี้ มีหลายแห่งที่ปรากฏอยู่ใน ตำนานพระธาตุพนม (อุรังคนิทาน) ซึ่งเป็นหลักฐานการบันทึกไว้เหมือนกับ "ตำนานพระเจ้าเลียบโลก" ทางภาคเหนือ

จึงขอนำเรื่องราวใน "ตำนานพระธาตุพนม" มากล่าวไว้พอสังเขป ดังนี้


เส้นทางที่พระพุทธเจ้าเสด็จ
เลียบแม่น้ำโขง ระหว่างไทย - ลาว

.....ตามประวัติ พระธาตุพนม ก่อนที่พระพุทธองค์จะเสด็จไปที่ พระธาตุพนม พระองค์ได้เสด็จไปที่เวียงจันทน์ก่อนคือ "ดอนกอนเนา" (วัดโพนพระเนา) และ "หนองคันแทเสื้อน้ำ" (พระธาตุหลวง) ในเมืองเวียงจันทน์


พระพุทธบาทโพนฉัน (ริมแม่น้ำโขง) ฝั่งประเทศลาว


.....แล้วพระพุทธองค์ได้ไปประทับที่ โพนจิกเวียงงัว (ธาตุบุ หนองคาย) และ ภูเขาลวง (พระธาตุบังพวน หนองคาย) แล้วไปฉันเพลที่ใกล้ “เวินหลอด”

คนทั้งหลายจึงเรียกที่นั่นว่า “เวินเพล” (สมัยก่อนเรียก "บ้านโพนเพล" ปัจจุบันเพี้ยนไปเป็น "บ้านโพนแพง" แล้ว) เมื่อฉันเพลแล้ว พญาสุกขหัตถีนาคราช เนรมิตเป็นช้างถือดอกไม้มาขอรอยพระพุทธบาท

พระองค์ได้ประทับรอยพระพุทธบาทไว้ที่แผ่นหินใกล้ริมแม่น้ำ ชั่วเสียงช้างร้องได้ยิน บัดนี้เรียกว่า “พระบาทโพนฉัน” (บางครั้งเรียก "โพนสัน") แขวงบริคำไซ ประเทศลาว (ตรงข้ามกับ บ้านโพนแพง อ.รัตนวาปี สมัยก่อนเรียกกันว่า "โพนเพล - โพนฉัน")


พระบาทเวินปลา (ริมแม่น้ำโขง) จ.นครพนม


...แต่นั้นพระองค์ก็เสด็จไปสู่เมืองศรีโคตบอง (นครพนม) มีพญาปลาตัวหนึ่งได้เห็นพระรัศมีของพระพุทธเจ้า จึงมาวนเวียนขอรอยพระพุทธบาทไว้สักการบูชา

พระพุทธองค์จึงทรงพระเมตตาอธิษฐานรอยพระพุทธบาท ไว้บนก้อนหินในน้ำที่นั้น คนทั้งหลายจึงเรียกที่นั้นว่า “พระบาทเวินปลา” มาเท่ากาลบัดนี้.."


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน



[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 22/10/18 at 09:39 [ QUOTE ]


[ ตอนที่ 7 จบ ]

เส้นทางที่พระพุทธเจ้าเสด็จ
เลียบแม่น้ำโขง ระหว่างไทย - ลาว



พระธาตุอิงรัง สุวรรณเขต ประเทศลาว


...ตาม "อุรังคนิทาน" ประวัติพระธาตุพนม พระอรหันต์สมัยนั้นได้บันทึกไว้ว่า เส้นทางที่พระพุทธเจ้าเสด็จเลียบแม่น้ำโขง ระหว่างไทย - ลาว

ได้เสด็จจารึกมาที่ พระพุทธบาทโพนฉัน (ริมแม่น้ำโขง) ฝั่งประเทศลาว ตรงข้ามกับ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย แล้วมาที่ พระบาทเวินปลา (ริมแม่น้ำโขง) จ.นครพนม

ต่อจากนั้นพระพุทธองค์ก็เสด็จมาทางอากาศ ประทับแรมที่ ภูกำพร้า (พระธาตุพนม) หนึ่งคืน ตอนเช้าจึงเสด็จไปอิงต้นรังต้นหนึ่ง

คือ พระธาตุอิงรัง สุวรรณเขต ประเทศลาว แล้วเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในเมืองศรีโคตบอง

ครั้งนั้น เจ้าเมืองศรีโคตบองมีนามว่า "พระยาศรีโคตบูร" ได้เห็นพระศาสดาเสด็จมาดังนั้น จึงทูลอาราธนาให้พระองค์เข้าไปรับบิณฑบาตในพระราชฐาน

เมื่อองค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ ทรงรับข้าวบิณฑบาตแล้ว ก็ส่งบาตรให้พระยาศรีโคตบูร เพื่อเสด็จมาประทับที่ใต้ต้นรังดังเดิม

ฝ่ายเจ้าเมืองเมื่อรับเอาบาตรจากพระพุทธองค์แล้ว ก็ยกขึ้นเหนือพระเศียรทำความปรารถนาพุทธภูมิ แล้วจึงนำบาตรไปถวายพระองค์ที่ประทับอยู่

พระพุทธองค์ทรงรับบาตรแล้วเสด็จกลับมาทางอากาศที่ภูกำพร้า เพื่อกระทำภัตกิจ ณ สถานที่นั้น

เมื่อพระยาศรีโคตบูรได้ทอดพระเนตรพระพุทธองค์เสด็จไปทางอากาศดังนั้น ก็ทรงปีติยกพระหัตถ์ขึ้นประนมทอดพระเนตรพระศาสดาจนสุดสายตา

จึงคำนึงในพระทัยว่า อยากจะเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ดังนี้แล้ว จึงเสด็จกลับคืนสู่พระราชนิเวศน์

ต่อจากนั้น พระศาสดาก็ได้พยากรณ์ว่า หลังจากตถาคตปรินิพพานไปแล้ว "พระมหากัสสป" จะนำ "พระอุรังคธาตุ" มาบรรจุไว้ที่นี้

ตรัสดังนี้แล้วจึงเสด็จไปสู่เมืองหนองหารหลวง แล้วประทับรอยพระพุทธบาทไว้ ณ "พระธาตุเชิงชุม" จ.สกลนคร

แล้วจึงเสด็จต่อไปที่ ดอยแท่น (พระธาตุภูเพ็ก) แล้วไปทรมานพญานาคที่ ภูกูเวียน ได้ประทานรอยพระพุทธบาทไว้

พระพุทธบาทบัวบก, พระพุทธบาทบัวบาน, พระพุทธบาทผาแดง (อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี) เป็นต้น

ตาม "ตำนานอุรังคธาตุ" กล่าวถึงแหล่งโบราณคดีบนเทือกเขาภูพาน (ภูกูเกวียน) นี้ว่าเป็นที่อยู่ของพญานาคชื่อ "สุวรรณนาคราช" และ "พุทโธปาปนาคราช"

ซึ่งแต่เดิมหนีจาก "หนองแส" (ตาลีฟู) มาตามลำน้ำโขง แล้วมาอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ ซึ่งเรื่องนี้ยังมีปรากฏอยู่ใน "ตำนานพระธาตุเชิงชุม" อ.เมือง จ.สกลนคร อีกว่า

ในขณะนั้น "พญาสุวรรณนาคราช" ผู้มีเกล็ดเป็นทองคำก็สำแดงตัวให้ปรากฏ ถือน้ำเต้าทองคำอันเต็มด้วยน้ำหอมอันเป็นทิพย์บอกว่า

“ข้าพเจ้าคือ "สุวรรณนาคราช" เป็นผู้เฝ้าพิทักษ์รอยพระพุทธบาทอยู่ที่ภูน้ำรอดนี้”

ดังนี้แล้วจึงเอาน้ำหอมรดสรงอภิเษก "เจ้าภิงคาร" ให้เป็นพระยาเสวยเมืองมีชื่อว่า "พระยาสุวรรณภิงคาร" แล้วพระบาทท้าวเธอจึงพาไพร่พลสร้างเมืองขึ้น ณ ที่นั้นเรียกว่า "เมืองหนองหารหลวง" สืบมา

(หมายเหตุ : พระธาตุเชิงชุม เดิมชื่อ "ภูน้ำรอด" เมืองหนองหารหลวง คือ เมืองสกลนคร ในปัจจุบันนี้)


ขอเล่าเรื่องต่อไปอีกว่า ต่อมาเมื่อองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้มาประทับรอยพระพุทธบาท ณ "พระธาตุเชิงชุม"

แล้วจึงได้เสด็จกลับคืนมาประทับที่ "ภูกูเวียน" ทรงเปล่งรัศมีให้เข้าไปในเมืองนาคปู่เวียน ขณะนั้น "สุวรรณนาคราช" ได้เห็นพระรัศมี จึงออกมาจากแม่น้ำขึ้นไปสู่บนยอดเขา แล้วพ่นพิษออกมาเป็นควัน เขาลูกนั้นก็มืดมัวไปทั้งสิ้น

พระพุทธองค์จึงทรงเนรมิตเป็นเปลวไฟ ทำให้สุวรรณนาคราชกระเด็นไปในน้ำปู่เวียน เปลวไฟได้ผุดแต่พื้นน้ำขึ้นมาไหม้เมืองนาค ตลอดไปถึงหนองบัวบาน

ซึ่งเป็นที่อยู่ของ "พุทโธปาปนาคราช" นาคทั้งหลายมาล้อมภูกูเวียนนั้นไว้ แล้วพ่นเปลวไฟขึ้นไปหาพระพุทธองค์

แต่เปลวไฟนั้นก็พุ่งกลับคืนมาไหม้นาคทั้งหลาย แล้วกลับไปบังเกิดเป็นดอกบัวบูชาพระตถาคตเป็นที่อัศจรรย์ จากนั้นจึงทรงสั่งสอนหมู่นาคเหล่านั้น ให้ตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์ตลอดไป

และใน "ตำนานพระพุทธบาทภูควายเงิน" เล่าว่า สถานที่นี้เป็นที่อยู่ของ "มลินทนาคราช" ผู้เป็นน้องของ "พุทโธปาปนาคราช" คือหลังจากที่ตนเองเลื่อมใสในพุทธศาสนาแล้ว จึงได้ขอให้พระพุทธเจ้าไปโปรดน้องด้วย

ต่อมามลินทนาคราชได้ฟังธรรมเทศนาแล้ว มีความปรารถนาจะบวช แต่พระพุทธเจ้าตรัสห้ามไว้ แล้วได้ประทานรอยพระพุทธบาทลงบนแผ่นหินภูเขา มีบาลีว่า

“..มลินทะนาคราชา ยะจิตโต โคตมะ พุทธเชษฐัง ปาทะวะรัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา”


เสด็จไปหลวงพระบาง

...ต่อจากนั้นองค์สมเด็จพระภควันต์จึงเสด็จไปสู่ ดอยนันทกังรี (หลวงพระบาง) ซึ่งเป็นที่อยู่ของนางนันทยักษ์

แต่ก่อนมีพญานาคตัวหนึ่ง ๗ เศียร ชื่อว่า “ศรีสัตตนาค” เข้ามาทูลขอให้พระศาสดาทรงย่ำรอยพระบาทไว้

องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคก็เสด็จย่ำพระบาทไว้ ณ ที่นั้น ทรงก้าวพระบาทข้ามตีนดอยข้างขวา แล้วทรงแย้มพระโอษฐ์ พระอานนท์จึงกราบทูลถาม พระศาสดาจึงตรัสว่า

“...เราเห็นนาค ๗ หัวเป็นนิมิต ต่อไปภายหน้านี้ จักบังเกิดเป็นเมืองมีนามว่า “เมืองศรีสัตตนาค” และที่พญานาคได้ให้ความสวัสดีแก่ "พระยาจันทบุรี" (เจ้าผู้นครเวียงจันทน์สมัยนั้น) จักร้างเสื่อมสูญไป...”

ตรัสดังนี้แล้วจึงเสด็จลงไปไว้รอยพระพุทธบาทเบื้องซ้ายที่แผ่นหินอันจมอยู่ในกลางแม่น้ำ ซึ่งคนทั้งหลายไม่สามารถจะมองเห็นได้

แล้วจึงเสด็จไปบนดอยนันทกังรี (ปัจจุบันคือ พระบาทภูสี อยู่ใกล้กับ พระธาตุภูสี หลวงพระบาง) อธิษฐานให้เป็นรอยพระบาททับหงอนนาคไว้

ซึ่งพญาศรีสัตตนาคได้สมมุติดอยนันทกังรีให้เป็นหงอนแห่งตน เพื่อมิให้ท้าวพญาในเมืองนั้นทำยุทธกรรมกัน จักแพ้พระพุทธศาสนาบ้านเมืองแล้ว พระศาสดาก็เสด็จกลับสู่กรุงสาวัตถี

เป็นอันว่า เส้นทางที่พระพุทธองค์ทรงเสด็จมาตามที่พระอรหันต์บันทึกไว้ใน "ตำนานพระธาตุพนม" จะสรุปได้ว่า

พระองค์เสด็จจากกรุงสาวัตถีมาสู่ "เวียงจันทน์" ก่อนแล้วจึงเสด็จมาทางภาคอีสานของไทย ก่อนที่จะกลับก็ได้เสด็จไปประทับรอยพระพุทธบาทที่หลวงพระบาง



...เป็นอันสรุปได้ว่า "ชื่อ" ของพญานาคราชที่ปรากฏอยู่ในตำนานนี้ จึงเป็น "ตำนานพญานาคที่ถูกลืม" บัดนี้ก็ได้นำรายชื่อของท่านมาให้รู้จักเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

...1. พญาศรีสุทโธนาคราช ผู้อารักขา "คำชะโนด" อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี
...2. พญาสุวรรณนาคราช เป็นผู้อารักขา "ภูน้ำรอด" (พระธาตุเชิงชุม) และรักษา "ภูกูเกวียน" (พระพุทธบาทบัวบก)
...3. พญาพุทโธปาปนาคราช เป็นผู้อารักขา พระพุทธบาทบัวบาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
...4. พญามลินทนาคราช เป็นผู้อารักขา พระพุทธบาทภูควายเงิน อ.ปากคาน จ.เลย
...5. พญาสุกขหัตถีนาคราช เป็นผู้อารักขา พระพุทธบาทโพนฉัน แขวงบริคำไซ ลาว
...6. พญาปัพพาลนาคราช เป็นผู้อารักขา พระธาตุบังพวน อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย
...7. พญาศรีสัตตนาคราช เป็นผู้อารักขา พระพุทธบาทภูสี เมืองหลวงพระบาง ลาว


"บั้งไฟพญานาค" ขึ้นตรงตำแหน่ง
ที่มี "รอยพระพุทธบาท" ทุกแห่ง



...รวมความว่าทำไมจึงมี "บั้งไฟพญานาค" ในวันออกพรรษา โดยเฉพาะจุดที่สำคัญที่ อ.โพนพิสัย ท่านผู้อ่านทั้งหลายคงจะได้คำตอบเป็นอย่างดีแล้วว่า มี "รอยพระพุทธบาท" ปรากฏอยู่ทั้งสองฝั่งโขง

นั่นก็คือ "พระพุทธบาทนาหงส์" (ฝั่งไทย) ที่อยู่ตรงข้ามกับ "พระพุทธบาทโพนฉัน" (ฝั่งลาว) อันมี "พญาสุกขหัตถีนาคราช" พร้อมหมู่นาคทั้งหลายเป็นผู้อารักขา

การที่มีบางคนไม่เข้าใจกัน เพราะพลาดไปในเรื่อง "ประวัติศาสตร์" นั่นเอง คนไทยและลาวจึงต้องมานั่งเถียงกันเรื่อง "บั้งไฟพญานาค" บางคนถึงกับปรามาสกันเลยก็มี

ทั้งๆ ที่ "ตำนานพระธาตุพนม" ก็บอกเอาไว้ชัดเจน แต่ก็ไม่มีใครสนใจอ่านกัน นับว่าเป็นเรื่องน่าเศร้าแท้ๆ ที่พระอรหันต์สมัยนั้นท่านอุตส่าห์บันทึกไว้นานนับพันปี


(หมายเหตุ : ข้อควรสังเกตไว้ด้วยว่า ตลอดแนวริมแม่น้ำโขงทั้งสองฝั่ง มิได้มีบั้งไฟพญานาคทุกแห่ง

โดยเฉพาะที่ อ.บุ่งคล้า จ.หนองคาย ผลสำรวจปรากฏว่าไม่มี "รอยพระพุทธบาท" แล้วก็ไม่มีปรากฏการณ์ "บั้งไฟพญานาค" อีกด้วย)


...เป็นอันว่า สมควรที่จะได้อนุโมทนาความดีของท่าน "พญานาคราชทั้งหลาย" ผู้มีหน้าที่อารักขา "รอยพระพุทธบาท" ตลอดแนวแม่น้ำโขงทั้งที่รู้จักนามหรือไม่ปรากฏนามก็ดีที่ได้แสดงความเคารพ

ด้วยการบูชาถวายดวงแก้วมณีก็ดี หรือ "ดวงประทีป" ที่เราเรียกกันว่า "บั้งไฟ" ก็ดี เป็นการบูชา "พระพุทธเจ้า" เนื่องในโอกาสที่เสด็จลงมาจากดาวดึงสเทวโลกนั่นเอง..สวัสดี


◄ll กลับสู่ด้านบน



[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 1/10/20 at 06:40 [ QUOTE ]


.

[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 17/10/24 at 05:29 [ QUOTE ]


.

[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
ตั้งหัวข้อใหม่

Go To Top