แก้สงสัยเรื่อง "ปีเกิด" ของหลวงพ่อพระราชพรหมยาน
(Update 20 มีนาคม 2563)
แก้สงสัยเรื่อง "ปีเกิด" ของหลวงพ่อ
พระราชพรหมยานมหาเถระ
"...ตามหนังสือหลายเล่ม หลวงพ่อเกิดปี ๒๔๖๐ บวชปี ๒๔๘๐ แล้วอยู่กับหลวงปู่ปาน ๓ ปี หลวงปู่ปานมรณภาพปี ๒๔๘๑ แล้วจะถึง ๓
ปียังไง..?
เรื่องนี้มีคำตอบ ซึ่งหลวงพ่อเจ้าคุณพระภาวนากิจวิมล (หลวงพ่ออนันต์ พัทธญาโณ) สมัยนั้นเคยกราบเรียนถามหลวงพ่อพระราชพรหมยาน ใน "อารัมภกถา"
ของหลวงพ่ออนันต์ ดังต่อไปนี้
"..เรื่องวันเกิดจริงของหลวงพ่อนั้น ผู้เขียนเคยกราบเรียนถามท่านว่า
หลวงพ่อครับ ถ้าหลวงพ่ออยู่กับหลวงปู่ปาน ๓ ปี หลวงพ่อเกิด พ.ศ. ๒๔๖๐ บวชปี ๒๔๘๐ แล้วหลวงปู่ปานตาย ๒๔๘๑ เป็น ๓ ปี ได้ไงครับ ?
ท่านตอบว่า "คุณเป็นคนแรกที่ถามฉัน ที่ฉันเกิดปี พ.ศ. ๒๔๖๐ เพราะเขากำหนดให้พระมี "ใบสุทธิ" ครั้งแรกปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ท่านอุปัชฌาย์ พระครูรัตนาภิรมณย์
วัดบ้านแพน ท่านก็เลยเขียนในใบสุทธิให้ บวชปี ๒๔๘๐ แล้วก็นับย้อนไป ๒๐ ปี ฉันเลยเกิด พ.ศ. ๒๔๖๐
ผู้เขียนไม่ได้กราบเรียนถามท่านว่า ท่านเกิดจริง พ.ศ. อะไร แต่จากคำบอกเล่าของท่านและเหตุผลอื่นๆ ประกอบกัน ก็พอจะหาวันเกิดท่านได้ดังนี้
(๑) ท่านเล่าว่า สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทัยมหาเถระ) เคยดูดวงท่านว่า "ไอ้นี่มันฝืนดวงนี่หว่า เพราะดวงท่านมีอาทิตย์ พุธ ศุกร์ กุมลัคนา ราศีมิถุน
ไม่น่าจะบวชได้นาน"
(๒) หลวงปู่บุดดา ถาวโร เคยทักท่านว่า "ถาวโร" นี่เป็น "ฉายา" ของพระเกิดวันเสาร์นี่
(๓) พี่สาวท่านเกิดปีขาล พ.ศ.๒๔๕๗
(๔) ดาวอาทิตย์ พุธ และศุกร์ โคจรมาอยู่ใน "ราศีมิถุน" พร้อมกันในช่วง พ.ศ.๒๔๕๘ - ๒๔๖๐ นั้นมีเพียงระหว่างวันพฤหัสที่ ๖ กรกฏาคม ๒๔๕๙ ถึงวันเสาร์ที่ ๑๕
กรกฏาคม ๒๔๕๙ เท่านั้น และในช่วงนั้นมีวันเสาร์อยู่ ๒ วันคือ วันที่ ๘ และ ๑๕ แต่วันที่ ๑๕ กรกฏาคม เป็นวันที่ดาวอาทิตย์ย้ายราศี
(๕) ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าท่านเกิด วันเสาร์ที่ ๘ กรกฏาคม ๒๔๕๙ ตรงกับปีมะโรง วันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๘ ส่วนวันเกิดตามใบสุทธิคือ วันพฤหัสที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๔๖๐
ก็ตรงกับ วันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๘ เช่นเดียวกัน หรือถ้าจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ถ้านับทางจันทรคติ อายุท่านลดลงไป ๑ ปีพอดี
(๖) เวลาเกิดของท่าน (เวลาตกฟาก) คือ "เวลาพระออกบิณฑบาต"
คัดลอกจาก - หนังสือ ประวัติหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อวัดท่าซุง) วัดจันทาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี หน้า ๗๖
Cr. พระครูสังฆรักษ์สมหมาย โกวิโท - โพสต์ลงในเพจ วัดป่าโนนสมบูรณ์
สรุปความเห็นในเรื่องนี้
...ถ้าเอาประเด็นการตั้งฉายา "ถาวโร" ของท่านเป็น "วันเสาร์" วันเกิดที่แน่นอนก็ต้องเป็น วันเสาร์ที่ ๘ กรกฏาคม ๒๔๕๙ ท่านอุปสมบทเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม
๒๔๗๙ หลวงปู่ปานมรณภาพเมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๔๘๑ รวมที่หลวงพ่ออยู่กับหลวงปู่ปาน ๒ ปี กับ ๑๐ วัน
ถ้าจะถือเอาตามที่ท่านเล่าไว้ในหนังสือ "ประวัติหลวงพ่อปาน" ว่าบวชเมื่อกรกฎาคม ๒๔๘๐ ท่านคงจะเล่าเอาตามใบสุทธิ ถึงแม้จะชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร
แต่ก็ไม่เห็นจะเสียหายตรงไหน
ลูกศิษย์ไม่ได้รู้ดีกว่าอาจารย์แต่อย่างใด เพียงแค่สงสัยคนที่ไม่ใช่ลูกศิษย์ ทำไมต้องมาจับผิดอาจารย์คนอื่นเท่านั้นเอง
แล้วทำไมไม่พิสูจน์ตอนที่ท่านมีชีวิตอยู่ละ จะได้หายสงสัยข้องใจ
ส่วนที่บอกว่ามีเงื่อนงำรอการพิสูจน์ อยากถามว่าเหตุการณ์ผ่านมาตั้งนาน ทำไมไม่พิสูจน์เสียเองว่า การเล่าประวัติของท่านนั้น
มีบุคคลใดที่ได้รับความเสียหายบ้าง
แล้วทำไมไม่หันกลับมามองคุณประโยชน์ที่ได้รับ กับคนที่อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว หันกลับเข้ามาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ว่ามีจำนวนมากน้อยสักเท่าใด
ผู้คนแห่แหนเข้ามาวัดท่าซุงมากมายขนาดไหน ถามว่าคนที่โพสต์ หรือคนที่ทำคลิป ทำได้เหมือนท่านหรือไม่
ส่วนประวัติ "หลวงพ่อเนียม" มรณภาพปี ๒๔๕๐ และ "หลวงพ่อโหน่ง" มรณภาพปี ๒๔๗๗ ตามที่หลวงพ่อเล่าไว้ในหนังสือ "ประวัติหลวงพ่อปาน" และใน
"ปฏิปทาท่านผู้เฒ่า" นั้น
น่าจะเป็นการเล่าเพื่อเป็นบุคคลตัวอย่างในการปฏิบัติ ซึ่งลูกศิษย์ภายหลังไม่ถือว่าเป็นข้อเสียหาย หรือผิดศีลในข้อมุสาวาท
เนื่องจากเป็นอุบายในการให้ความรู้แก่ศิษย์เท่านั้น ท่านไม่ได้มุ่งในการแสวงหาลาภหรือชื่อเสียงแต่อย่างใด
ดังนั้น ครูบาอาจารย์ย่อมหาวิธีสอนอย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นประโยชน์แก่ลูกศิษย์ที่มุ่งเอาเนื้อหาสาระในการสั่งสอนเป็นสำคัญ ส่วนการที่จะไปสาวหาประวัติ
เพื่อจับผิดครูบาอาจารย์ จะทำไปเพื่อประโยชน์อะไร
ในเมื่อสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ทำไมไม่นำเรื่องนี้เอามาประเด็น ในเมื่อท่านมรณภาพไปหมดแล้ว คนที่ไม่เป็นศิษย์ จะนำหลักฐานมาพูดอย่างไรก็ได้
เพราะไม่ให้ความเคารพนับถือกันอยู่แล้ว
เรื่องนี้ผู้เป็นลูกศิษย์ที่มีความเคารพนับถือ เหมือนกับเป็นพ่อแม่ของตนเอง เมื่อท่านให้กำเนิดเราเกิดมาแล้ว จะไปนั่งถามหาประวัติพ่อแม่ปู่ย่าตายายว่า
เกิดเมื่อไร ตายเมื่อไร เพื่อประโยชน์อะไรกัน
ส่วนคนภายนอกที่ไม่เกี่ยวกัน ทำไมต้องเสือกยุ่งเรื่องประวัติของท่าน การที่ท่านจะทัน "เป่ายันต์เกราะเพชร" ในวันเสาร์ ๕ จริงหรือไม่
ไม่เห็นเป็นประเด็นสำคัญ สำคัญว่าท่านทำพิธีแล้วมีผลเป็นอย่างไรบ้าง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสำคัญอยู่ที่การประพฤติปฏิบัติ คุณธรรมความดีไม่ได้อยู่ที่การศึกษาว่า มีความรู้เฉพาะฌานโลกีย์นี้เท่านั้น
แต่พวกเราที่เป็นศิษย์ย่อมสนใจในคำสอน ที่ท่านมุ่งเน้นในเรื่อง "โลกุตรฌาน" เป็นสำคัญมากกว่า
ใครที่กล่าวหาอยู่ในเงามืด ใครจะจับผิดที่ไม่ได้แสดงตน ใครจะวิพากย์วิจารณ์อยู่เบื้องหลัง ใครจะหมิ่นประมาทเหมือนคนขลาดก็ตาม
จึงไม่เป็นเรื่องสำคัญของลูกศิษย์ เพราะทุกคนก็มีวิจารณญาณที่จะแยกแยะเป็นของตนเองอยู่แล้ว
ฉะนั้น ผู้ที่เป็นศิษย์จึงไม่จำเป็นต้องมาเสื่อมศรัทธา ในเรื่องประวัติของครูบาอาจารย์เพราะคนภายนอก ความจริงอยู่ที่สังขารของท่านไม่เน่าเปื่อย
เรื่องนี้ใครๆ ก็เลียนแบบไม่ได้อยู่แล้ว นี่แหละ..คือความจริงเป็นสิ่งที่ไม่ตาย
พระอาจารย์ชัยวัฒน์ อชิโต
20 มีนาคม 2563
|