ประวัติ "หลวงพ่อจง" วัดหน้าต่างนอก จ.อยุธยา
สารบัญ (เลือกคลิกที่รายการ)
ตอนที่ 1 คำชี้แจงประวัติ "หลวงพ่อจง"
ตอนที่ 2 หลวงพ่อบรรยาย (เมื่อปี 2516)
ตอนที่ 3 ผีนางไม้ วัดไทรใหญ่
ตอนที่ 4 หลวงพ่อจงให้หวย
ตอนที่ 5 หลวงพ่อจงสงเคราะห์คนจน
[ ตอนที่ 1 ]
ประวัติ "หลวงพ่อจง" วัดหน้าต่างนอก จ.อยุธยา
พระอาจารย์ชัยวัฒน์ อชิโต เรียบเรียง
คำชี้แจง
...ประวัติหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอกนี้ เป็นเรื่องเล่าโดยพระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ สมัยที่จัดพิมพ์ "หนังสือประวัติหลวงพ่อปาน" ครั้งแรกๆ
สมัยนั้นคงคิดว่าหนังสือจะหนาเกินไป จึงได้ตัดเรื่องนี้ออกไป นอกจากนี้ยังมีประวัติ "หลวงพ่อยิ้ม" อีกด้วย จึงขอทยอยลงให้อ่านกันไปเรื่อยๆ
เพื่อความรู้ความเข้าใจในเรื่องจริยาวัตรของพระสมัยก่อนๆ แต่ตอนแรกนี้ขอลงประวัติจากเว็บไซด์ของวัดก่อน ดังนี้
ข้อมูลจาก - www.watnatangnok.com
"...หลวงพ่อจง พุทธัสสโร
ท่านมีนามเดิมว่า จง กำเนิดมาในตระกูลชาวนาในท้องที่ตำบลหน้าไม้ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เรียกว่าเป็นเชื้อสายแห่งคนดีศรีอยุธยาอีกคนหนึ่ง ที่ทั่วสรรพางค์กายล้วนเต็มเปี่ยมด้วยเลือดนักสู้ สมชาติชายไทย บิดาท่านมีนามว่า นายยอด มารดานามว่า
นางขลิบ ซึ่งท่านทั้งสองมีบุตร-ธิดาด้วยกันทั้งสิ้น 3 คน คือ
1. เด็กชายจง ต่อมาคือ หลวงพ่อจง พุทธัสสโร เป็นบุตรคนโต
2. เด็กชายนิล เป็นคนรอง ต่อมาคือพระอธิการนิล เจ้าอาวาสวัดหน้าต่างใน
3. เด็กหญิงปลิก เป็นน้องคนเล็ก และเป็นผู้หญิงคนเดียว
สำหรับวันเดือนปีเกิดหรือวันถือกำเนิดของหลวงพ่อจง พุทธัสสโร นั้น เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่ล่วงเลยผ่านพ้นมานาน
อีกทั้งการบันทึกก็มิได้มีหลักฐานที่เด่นชัด เป็นแต่ระบุไว้พอรู้ความว่า
ท่านได้กำเนิดในสมัยต้น รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี ณ วันพฤหัสบดี เดือน 4 ปีวอก อันเป็นวันขึ้น 8 ค่ำ ที่ตรงกับวันที่ 6 เดือนมีนาคม พ.ศ.2415
และด้วยเวลานั้นยังไม่มีการใช้ชื่อสกุล จึงไม่มีการระบุ "ชื่อ - นามสกุล" เดิมของท่านไว้
เข้าวัด อยู่วัด
...ชีวิตของหลวงพ่อจง พุทธัสสโร ในวัยเด็กไม่มีสิ่งใดผันแปร คงเป็นไปอยู่เรื่อย ๆ มาเรียง ๆ ราบเรียบดังเช่นน้ำในอ่างดังเช่นที่กล่าวมาแต่ต้น
จนกระทั่งอายุได้ 12 ปี ความเปลี่ยนแปลงจึงเกิดขึ้น คือทางพ่อแม่มีความเห็นถึงอุปนิสัยของเด็กชายจง บุตรชายคนโตตรงกันว่า เป็นผู้มีความชอบวัด ติดวัด
รักชอบในอันที่จะไปวัดมากกว่าที่เที่ยวเตร่หาความสนุกในที่ใด ๆ ทั้งหมด
ดังนั้น ท่านจึงสรุปความตรงกันว่า เมื่อเด็กชายจงชอบวัด ต้องการจะไปวัดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แทนที่ตนหรือคนอื่น ๆ
ที่เกี่ยวข้องจะต้องลำบากจูงมือนำพาลัดเลาะคันนา ถึงแม้จะไม่ห่างไกลเท่าใดนักก็ตามเถิด แต่เมื่อต้องทำอยู่ทุกบ่อย
ก็ให้เกิดความคิดว่าน่าที่จะให้ไปอยู่วัดเสียเลย
คิดเห็นตรงกันดังนั้นแล้ว จึงได้เผยความคิดเห็นดังกล่าวให้เจ้าตัว คือเด็กชายจงได้รับรู้ด้วย แทนที่จะคิดเสียใจน้อยใจในทำนองที่ว่า พ่อแม่จะตัดหางปล่อยวัด
หรือเลยเถิดไปถึงว่าพ่อแม่สิ้นรักสิ้นเมตตาตนแล้ว
กลับเป็นความปลื้มปิติใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะวัดเป็นที่ร่มเย็น เป็นที่ปรารถนาของตนอยู่แล้ว เด็กชายจงจึงรับคำพ่อแม่อย่างเต็มอกเต็มใจไม่มีอิดออด
เวลาต่อมา เด็กชายจงจึงได้รับการบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดหน้าต่างใน อันเป็นวัดใกล้บ้าน ที่เด็กชายจงเคยไปมาหาสู่อยู่เสมอนั่นเอง
และนับเป็นเรื่องแปลกประหลาดมหัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง ตั้งแต่ได้บรรพชาเป็นสามเณรแล้ว โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ รวมทั้งโรคหูอื้อ ตาฝ้าฟาง
ที่เป็นเรื้อรังมานานปีกลับหายไปจนหมดสิ้น
สามเณรจงกลับมีสุขภาพสมบูรณ์พลานามัยดีมาก เป็นสุขอยู่ในเพศพรหมจรรย์ ดุจเป็นนิมิตให้ทราบว่า ท่านจะต้องครองเพศมีชีวิตอยู่ใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ไปตลอดชีวิต
สมดังพุทธอุทานที่ว่า...
"สาธุ โข ปัพพัชชา...การบรรพชายังประโยชน์ให้สำเร็จ"
ดังนั้น เมื่ออายุครบอุปสมบทในปี พ.ศ.2435 โยมบิดามารดาจึงจัดพิธีอุปสมบทให้ได้เป็นพระภิกษุต่อไป ณ พัทธสีมาวัดหน้าต่างในที่พำนักอยู่ โดยมี
พระอุปัชฌาย์สุ่น (หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ) เจ้าอาวาสวัดบางปลาหมอ เป็นพระอุปัชฌาย์
พระอาจารย์อินทร์ เจ้าอาวาสวัดหน้าต่างนอก เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระอาจารย์โพธิ์ เจ้าอาวาสวัดหน้าต่างใน เป็นพระอนุสาวนาจารย์
จากพิธีอุปสมบทในครั้งนั้น พระภิกษุจงได้รับสมญานามตามเพศภาวะว่า พุทธัสสโรภิกขุ และพำนักเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย ตลอดจนวิชาการต่าง ๆ
ที่พระภิกษุพึงจะต้องเรียนรู้เท่าที่มีอยู่ในสมัยนั้น ณ วัดหน้าต่างในนั่นเอง
ต่อมาท่านก็ได้ไปเรียนวิชาฝ่ายกรรมฐาน กับ พระอาจารย์หลวงพ่อปั้น วัดพิกุล แล้วก็ได้กลับมาเป็นเจ้าอาวาสวัดหน้าต่างนอก (ยังมีประวัติของท่านอีก
แต่ขอลัดถึงตอนสุดท้ายในชีวิตของท่าน ดังนี้)
ย้อนอดีตในวาระสุดท้าย
...เมื่ออรุณทอแสงจับขอบฟ้าวันที่ 24 มกราคม 2508 ทุกคนผู้เป็นศิษย์ใครบ้างจะรู้ว่า วันนี้แล้วสัญญาณแห่งความวิปโยคจะเริ่มขึ้น
ตอนสายมีข่าวว่าหลวงพ่ออาพาธด้วยโรคอัมพาต หมดความรู้สึกทางซีกขวาไปแถบหนึ่ง ได้แพร่สะพัดไปสู่บรรดาศิษย์ทั้งหลายและแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วปานกระแสลมกล้า
ตอนสายวันนั้นที่กุฎีหลวงพ่อคราคร่ำไปด้วยผู้มาเยี่ยมอาการอาพาธของหลวงพ่อ ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตสาเหตุของการอาพาธครั้งนี้มีอยู่ว่า
เมื่อเวลาประมาณ 06.00 น. เช้าวันที่ 24 มกราคม หลวงพ่อเข้าสุขาตามเวลาปกติ ขณะเสร็จกิจแล้วท่านลุกขึ้นมากุฎีไม่ได้ เพราะซีกกายข้างขวาของท่านหมดความรู้สึก
นายขัน และ พระเพ็ง ขนติโก ผู้ปฏิบัติหลวงพ่อเห็นว่า ท่านเข้าสุขานานเกินควร จึงตามเข้าไปเปิดประตูสุขาพบว่า หลวงพ่อกำลังพยายามจะทรงกายลุกขึ้น
จึงช่วยพยุงท่านมายังเตียงนอน สังเกตเห็นว่าปากข้างขวาของท่านเบี้ยวผิดปกติ ได้ยินเสียงหลวงพ่ออุทานว่า
"เขาเอาเราแน่ละคราวนี้..เขายึดเราหมดแล้ว"
เสมือนหนึ่งหลวงพ่อทราบว่า กายนครของท่านจะต้องประสบภาวะขั้นสุดยอดของกฏธรรมดาในอนาคตอันใกล้นี้ ปัจฉิมอุทานของหลวงพ่อคราวนี้
ทำให้ทุกคนใจหายวาบหนักใจในอาพาธของหลวงพ่อเป็นอย่างยิ่ง
เพราะแต่ไหนแต่ไรมาหลวงพ่อไม่เคยอุทานเช่นนี้เลย ทุกคนซ่อนความทุกข์ใจไว้ภายใน เฝ้าปรนนิบัติพยาบาลท่านเป็นอย่างดี
ระยะ 7 วันแรก หลวงพ่อพูดได้เกือบปกติ ฟังชัด เมื่อล่วง 7 วันแล้วเสียงของท่านเริ่มน้อยลง แหบเครือลงโดยลำดับ เพราะความชราแห่งสังขารอันเก่าแก่ยาวนานถึง 99
ปี ประกอบกับฉันอาหารได้น้อยด้วย
ต่อมาคณะศิษย์มีหลวงพ่อนิลเป็นประธาน ได้พร้อมใจกันมอบให้นายแพทย์สถานีอนามัยชั้นหนึ่งวัดโพธิ อำเภอบางบาล ร่วมด้วย นายประทิน อัมพานนท์ สถานีอนามัยพระขาว
เป็นผู้ถวายการรักษาท่าน
ในระยะนี้อาการของท่านทรงอยู่และดีขึ้นเล็กน้อย ด้วยความเอาใจใส่และความสามารถของแพทย์ ทุกคนภาวนาว่าแม้หลวงพ่อจะไม่หายขาดก็ขอให้พอทุเลาพอนั่งได้ก็ยังดี
เพราะโรคนี้ใคร ๆ ก็รู้ว่า เป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้ยาก
วันแล้ววันเล่าผ่านไป อาการของหลวงพ่อเริ่มทรุดลง พูดไม่ได้ยินเสียง หายใจไม่สะดวก มีเสมหะมาก สังเกตว่าหลวงพ่อมีทุกขเวทนาอย่างหนัก
แต่เสียงครวญครางอย่างสามัญชนมิได้มีรอดจากปากให้ใครได้ยินเลย
เมื่อท่านเจ็บปวดก็เป็นเพียงแสดงอาการส่ายหน้าไปมาให้เป็นที่สังเกตว่าท่านไม่สบายเท่านั้น หลวงพ่อมีใจแท้อยู่เหนือเวทนาทั้งปวง ไม่หวั่นไหว
ใช้อธิวาสขันตีที่ท่านมีอยู่เป็นปกตินิสัย ข่มความทุกข์ทรมานอันเกิดจากอาพาธกล้าได้อย่างน่าสรรเสริญยิ่ง
หลวงพ่อใช้ธรรมโอสถรักษาใจของท่านเองให้มั่นคงแจ่มใส ในยามที่ร่างกายเจ็บไข้ ได้นิมนต์พระมหาแสวง ฐิติสมฺปนฺโน ป.ธ. 5 วัดสันติการาม มาสวดสาธยายบทต่างๆ
ดังนี้
ทวัตติงสาการ, โพชฌงคปริตร, อุณหิสวิชัย, คาถาพระพุทธคุณ ธรรมคุณ และสังฆคุณ อยู่เป็นนิจ แสดงว่า อาพาธนั้นจะชนะท่านได้ก็เพียงภายนอกเท่านั้น
แต่ภายในอาพาธจะกล้ำกลายท่านไม่ได้เลย
ระยะที่หลวงพ่ออาพาธหนัก บรรดาศิษย์และผู้ที่เคารพนับถือทั้งใกล้และไกลไปมาเยี่ยมเยือน สดับตรับฟังอาการอยู่ทุกวันอย่างแน่นขนัด
ทุกคนมีใจตรงกันอยู่จุดเดียว คือ สนองพระคุณหลวงพ่อให้สมกับที่ท่านได้บำเพ็ญประโยชน์เป็นบุรพการีแก่ทุกคนมานานแสนนาน
บางท่านแนะนำให้นำพาหลวงพ่อไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลสงฆ์บ้าง โรงพยาบาลอื่น ๆ บ้าง บรรดาศิษย์ขอขอบพระคุณในความปรารถนาดีของท่านเหล่านั้น
แต่ไม่สามารถทำได้
เพราะเสียงส่วนใหญ่เห็นว่า หลวงพ่อชราภาพมากแล้วและอาการอาพาธก็หนัก ถ้าพาท่านเดินทางไปอาจเป็นการกระทบกระเทือนบอบช้ำ
จนเป็นเหตุให้ท่านถึงมรณภาพเสียกลางทางก็อาจเป็นได้
จึงตกลงกันว่าขอให้หลวงพ่อได้หลับตาจากไปในท่ามกลางการสนองพระคุณของญาติและศิษย์ บนสยนาสนะที่หลวงพ่อเคยอาศัย
ในท่ามกลางสถานวิเวกอันน่าอภิรมย์ด้วยดวงจิตอันสงบเถิด
วันแห่งการมรณภาพ
"...แล้ววาระแห่งความโศกสลดก็มาถึง วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2508 ค่ำลงแล้ว
ดวงจันทร์ใกล้วันมาฆะปุรณมีทอแสงจ้าแจ่มใส คล้ายเป็นประทีปส่องทางให้ท่านได้เดินทางไกลไปสู่สุคติภพอันสงบ
ตอนหัวค่ำดูเหมือนหลวงพ่อจะมีอาการทุเลากว่าเวลาอื่นที่ผ่านมา ไม่มีวี่แววว่าอาการจะทรุดหนักลงเลย บรรดาผู้ที่นั่งเฝ้าอาการอยู่ดูอุ่นใจขึ้น
ถวายยาประจำตามปกติแล้ว ก็ผลัดเปลี่ยนกันเข้าประคองท่าน พัดวีถวายเท่าที่สามารถจะทำได้ แม้ว่าหลวงพ่อจะผ่ายผอมจนผิดตา แต่ก็มีรัศมีอิ่มเอิบใบหน้ายิ้มแย้ม
แสดงถึงความเมตตาอยู่เป็นนิจ
เวลาล่วงไป เสียงนาฬิกาบอกเวลาเที่ยงคืน พระจันทร์โคจรขึ้นสู่วันใหม่ ดิถีแห่งวันมาฆปุรณมี วันจาตุรงคสันนิบาตแห่งพระพุทธศาสนาเริ่มขึ้นแล้ว
หลวงพ่อหลับตานิ่งสนิท นาน ๆ จึงจะหายใจยาวสักครั้งเงียบสงัด
ทุกคนเฝ้าอาการอยู่ด้วยหัวใจอันหดหู่ แสนห่วง ไม่มีใครปริปากหนึ่งนาฬิกาผ่านไป หลวงพ่อสงบไม่ไหวติง จับชีพจรดูยังเต้นอยู่แต่ช้าและลึกลงทุกขณะ
เมื่อเข็มนาฬิกาบอกเวลา 01.55 น. ของวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2508 หลวงพ่อก็จากพวกเราไปด้วยอาการอันสงบ ปราศจากอาการกระวนกระวายโดยสิ้นเชิง
ท่ามกลางความโศกเศร้าอาดูร พิลาปรำพันของญาติและศิษย์ทั้งหลาย สิริประมวลอายุได้ 93 ปี 10 เดือน กับ 17 วัน ครองสมณเพศมาโดยตลอด 72 พรรษา
นับแต่เริ่มอาพาธมาจนถึงวาระสุดท้ายรวม 24 วัน
หลวงพ่อถึงมรณภาพในวันมาฆะปุรณมี มาฆฤกษ์ วันจาตุรงคสันนิบาตแห่งพระพุทธศาสนา เป็นสัญลักษณ์ว่า หลวงพ่อจากไปดีแล้ว ไปประเสริฐแล้ว
ขอให้ดวงวิญญาณอันเปี่ยมไปด้วยความดีงาม สงบบริสุทธิ์ด้วยสีลาทิคุรในพระพุทธศาสนายาวนานถึง 72 พรรษาของหลวงพ่อที่เคารพอย่างสูงสุด จงไปสู่สัคคาลัย
ได้สถิติอยู่ด้วยปรมสันติสุขในวิสุทธิวิมานเถิด. .."
(โปรดติดตามตอน "หลวงพ่อเล่า" ต่อไป)
ll กลับสู่สารบัญ
|
|
ตอนที่ 2
ประวัติหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก
บรรยายโดย..หลวงพ่อพระมหาวีระ ถาวโร (เมื่อปี 2516)
"...วันนี้จะนำเรื่องของพระที่เป็นพวกเดียวกัน เนื่องด้วย หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค มาเล่าให้บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทฟัง
ท่านผู้นั้นคือ หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก
สำหรับหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอกนี้ คิดว่าบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทคงจะรู้จักได้ดี เพราะว่ามีชื่อเสียงมาก เนื่องว่าท่านตายหลังหลวงพ่อปาน
เพิ่งจะตายมาได้ไม่กี่ปีนี่เอง
สำหรับหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอกนี้ ที่นำมาเล่าในเรื่องหลวงพ่อปานก็เพราะว่า ท่านบวชไล่เรี่ยกัน และเจริญกรรมฐานมาจากสำนักเดียวกับหลวงพ่อปาน
แต่หลวงพ่อจงไม่ทำการก่อสร้าง มุ่งเฉพาะเจริญพระกรรมฐาน และสงเคราะห์บรรดาพุทธบริษัทด้านอื่น มีการลงเลขลงยันต์ ขอน้ำมนต์ อะไรก็ช่างเถอะ
แบบนี้หลวงพ่อจงตามใจพุทธบริษัททุกท่าน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเงินแล้วหลวงพ่อจงไม่สนใจ ใครไปหาท่านจะถวายหรือไม่ถวายก็ตาม และจะไปหาเวลาไหนก็ตาม ตี ๑ ตี ๒ ก็ตาม
ถ้าตื่นขึ้นมาแล้วก็ทำให้ตามประสงค์และในตอนต้นท่านก็เป็นนักธุดงค์
หลวงพ่อปานก็ดี หลวงพ่อจงก็ดี มีประวัติการธุดงค์มาก ที่อาตมานำมาเล่าให้พุทธบริษัทฟังเพียงเล็กน้อย ก็เพราะว่าเป็นเรื่องที่อาตมาพอจะรู้ได้
สำหรับที่ไม่ได้ติดตามท่านไป และท่านมาเล่าให้ฟังหลายรายการ ที่ไม่นำมาเล่าให้บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทฟังเพราะเกรงว่าจะเป็นการเฟ้อเกินไป
เพราะเวลานี้นักธุดงค์แบบนั้นไม่ค่อยมี มีแต่ธุดงค์ปักกลดใกล้บ้าน สำหรับหลวงพ่อปานก็ดี หลวงพ่อจงก็ดี เคยธุดงค์ผ่านประเทศพม่าไปถึงพุทธคยาประเทศอินเดีย
นี่ท่านไปถึงระดับนั้น
หลวงพ่อนิล วัดหน้าต่างใน
...นี่ก็มาเล่ากันถึงหลวงพ่อจง สำหรับหลวงพ่อจงนี้ เป็นพระที่อยู่ในขั้นมัธยัสถ์มาก คำว่า "มัธยัสถ์" ในที่นี้หมายความถึงเรื่อง "ศีลาจารวัตร"
คือการประพฤติในศีลดีมาก
การเงินไม่สนใจได้เท่าไรก็ตาม การก่อสร้างก็ไม่สร้าง แต่ว่ามีพระน้องชายอยู่องค์หนึ่ง ชื่อ "หลวงพ่อนิล" อยู่วัดหน้าต่างใน
ความจริงวัดหน้าต่างนอกกับวัดหน้าต่างในมีเขตรั้วติดกัน น้องชายเป็นช่าง หลวงพ่อจงเป็นประธาน
ใครไปใครมาเขาก็เอาเงินมาถวาย ก็มอบให้หลวงพ่อนิลไป หลวงพ่อนิลก็ทำการก่อสร้าง องค์นี้ก็ดีเหมือนกันดีจริงๆ เรื่องการก่อสร้าง ไม่งุบงิบเงินของชาวบ้าน
เรียกว่าไม่หาผลกำไรจากการก่อสร้าง นี่มันผิดกันนะ วัดที่จะเจริญรุ่งเรืองได้ก็ต้องมีพระแบบนี้ พระรู้จักเสียสละ
ที่นี้หลวงพ่อจงเป็นพระเจริญกรรมฐาน เขากล่าวกันว่าหลวงพ่อจงเป็นผู้ทรงอภิญญา ที่อาตมาจะเล่าเรื่องของท่านให้ฟัง แต่การปฎิบัติจะปฎิบัติมาอย่างไร
เรื่องนี้อาตมาไม่พูดให้ฟังเพราะเวลานี้คำสั่งสอน ข้อวัตรปฎิบัติของพระพุทธเจ้าก็ยังคงสมบูรณ์บริบูรณ์อยู่
และแนวการปฎิบัติของหลวงพ่อจงและหลวงพ่อปานก็แบบเดียวกัน คือว่าปฎิบัติในแนวทางกรรมฐาน ๔๐ อย่าง เรียกว่าปฎิบัติแบบครบจำนวน ไม่ใช้ปฎิบัติแบบใดแบบหนึ่ง
เพราะว่าพระมีเวลามาก
นี่จะว่ากันถึงเรื่องปาฎิหาริย์ พระที่ธุดงค์กันดีๆและเข้าป่าไปไกลๆ กระทั่งประเทศอินเดียได้ก็ต้องมีความดีเป็นพิเศษ
ความดีเป็นพิเศษด้านจิตใจนี่ก็เล่าให้ฟังกันไม่ได้ ก็ไม่ได้คุยให้ฟัง จะเล่าให้ฟังถึงปาฎิหาริย์ส่วนหนึ่ง
หลวงพ่อจงย่นหนทาง
"...คือว่าในคราวหนึ่ง หลวงพ่อปานได้สร้างศาลาหน้ามุขของวัดบางนมโคเสร็จเรียบร้อยแล้ว วันนั้นก็เป็นวันฉลองศาลา
การมีงานฉลองของหลวงพ่อปานนี้ บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทโปรดทราบว่าไม่มีมหรสพใดๆ ถึงแม้ว่าปี่พาทย์ก็ไม่มีนะ ถ้าเป็นงานของท่าน
หากว่าเป็นงานประจำปีของวัดท่านก็ไม่ห้าม ถือว่าเป็นงานของประชาชน
แต่งานที่ท่านจัดเป็นส่วนตัวนี้ มหรสพไม่มี ปี่พาทย์ที่เขาจะมาช่วยก็ไม่รับท่านบอกว่าหนวกหู ท่านมีการสวดมนต์เย็น แล้วก็มีการถวายภัตตาหารเช้า
แล้วก็มีเทศน์หนึ่งกัณฑ์
พระที่ท่านนิมนต์มาท่านก็คัดพระที่ท่านชอบใจ ถ้าหากว่าแล้วก็จะถามว่าคนจะมาสักกี่คน งานของหลวงพ่อปานบรรดาญาติโยมพุทธบริษัท
มีงานครั้งใดท่านต้องตั้งโรงครัวเลี้ยงคนที่มาในงานต้องหุงข้าว ๘ กะทะ ยังไม่ทันคนกินเลย
ลองคิดดูก็แล้วกันว่าข้าว ๘ กะทะตั้งพร้อมกันต้องหุงกันทั้งวัน คิดดูว่าคนจะมากน้อยสักเพียงไร คนนะมากจริงๆ หลวงพ่อปานท่านทำอะไรขึ้นมาก็คนมาก
ศาลาหน้ามุขท่านสร้างขึ้นมาราคา ๖ พันบาท เดี๋ยวนี้ก็สัก ๒-๓ แสนสมัยนั้น ๖ พันบาท พอเริ่มเข้าตอนเย็นไม่ทันจะสวดมนต์เย็นเสร็จ
บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทก็นำเงินมาถวายครบ กว่างานจะจบก็ได้เงินอีกสัก ๒-๓ หมื่นบาทไปสร้างโบสถ์ได้อีก ๒ หลัง
โบสถ์ธรรมดานะ โบสถ์สมัยก่อนสร้างกันหมื่นบาทก็สวยแล้ว ถ้าสร้างกันเป็นกรณีพิเศษก็ ๓ หมื่นก็เด่นบอกไม่ถูก เพราะค่าของเงินแพง
ทีนี้งานฉลองหน้ามุขคราวนั้น หลวงพ่อปานมีคำสั่งให้อาตมาเองไปรับหลวงพ่อจงที่วัดหน้าต่างนอก ระยะทางไกลกันสัก ๑๐ กิโลนะจากวัดบางนมโคถ้าไปทางเดิน
ถ้าไปทางเรือก็ต้องอ้อมห่างกันประมาณ ๑๕ กิโลเพราะแม่น้ำมันโค้งมาก อาตมาก็ลงเรือของนายปั๋งสมัยนั้นมีเจ้าของเรือเร็วคนหนึ่งชื่อนายปั๋ง
นายปั๋งอาสานำเรือเร็วพาไป
ครั้นไปถึงวัดของหลวงพ่อจงปรากฎว่ามีแขกนั่งอยู่ ๔ คน แขกนี่ไม่ใช่แขกจริงๆ นะเป็นคนไทยเขากำลังจะรดน้ำมนต์ ก็ไปนิมนต์ท่านว่า
เวลานี้ใกล้จะถึงเวลาสวดมนต์แล้วขอรับ หลวงพ่อปานใช้ให้กระผมมารับหลวงพ่อเอาเรือเร็วมารับ
ท่านก็บอกว่า คุณไปก่อนเถอะประเดี๋ยวฉันจะเดินไป ก็กราบเรียนท่านว่าการเดินไปช้านะขอรับ กระผมเอาเรือเร็วมารับหลวงพ่อรดน้ำมนต์เสร็วแล้วก็ไปกับผม
ท่านก็ไม่ยอมรับฟังท่านก็ไล่ให้กลับ
บอกว่าไปเถอะประเดี๋ยวฉันไปทัน ถามว่าหลวงพ่อจะไปอย่างไง ท่านก็ตอบว่าฉันจะเดินไปอาตมาก็ประวิงเวลา
ในที่สุดท่านก็ไล่ให้กัลับในเมื่อท่านไล่ให้กลับก็กลับ
พอกลับมาถึงวัด อีตอนที่จะมาน่ะหลวงพ่อจงเริ่มรดน้ำมนต์คนที่มาหาคนแรก คือรดเป็นรายบุคคล พอเรือเร็ววิ่งมาถึงวัดก็เข้าไปกราบหลวงพ่อปานที่ที่รับแขก
ไปรายงานท่านว่าหลวงพ่อจงไล่ให้กระผมมาก่อนขอรับ แล้วก็ท่านกำลังรดน้ำมนต์อยู่ ๔ คน
ท่านบอกว่ารดน้ำมนต์เสร็จแล้วท่านจะเดินมา กระผมจะคอยท่านก็ไล่ให้กลับ กระผมก็เลยกลับ กลับมารายงานให้หลวงพ่อทราบว่าประเดี๋ยวหลวงพ่อจงท่านจะมา
ท่านจะเดินมาเอง
หลวงพ่อปานพอได้ฟังก็หัวเราะชอบใจ บอกว่า ลิงดำเอ๊ย..! หลวงพ่อจงเล่นกลกับเอ็งเข้าแล้วละ เอ็งลองไปดูบนศาลาการเปรียญซิ พระมาครบแล้วหรือยัง
พอขึ้นไปถึงศาลาการเปรียญก็ต้องตกใจ หลวงพ่อจงมานั่งอยู่หัวแถวเพราะท่านเป็พระอาวุโส พอท่านเห็นหน้าอาตมาท่านก็กวักมือให้เข้าไปหา
อาตมาก็เข้าไปกราบท่าน ท่านก็ว่าเรือเร็วของคุณนี่มันช้าจริงนะ ฉันเดินมาถึงก่อนตั้งนาน แหมเรื่องนี้เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์
ในบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทฟังแล้วอัศจรรย์ไหม ?
นี่เป็นตอนหนึ่งของหลวงพ่อจงนะ เป็นเรื่องปาฎิหาริย์เล่าสู่กันฟัง ความรู้ในพระพุทธศาสนาน่ะยังมีอยู่ และความสำคัญในความรู้ คือผลแห่งความรู้ก็ยังมี
หากว่าบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทปฎิบัติถึงก็จะเห็นว่าเป็นความอัศจรรย์ แต่หากว่าเราไม่ทำกันไปเปิดแต่หนังสืออ่านแล้วมานั่งสงสัย
อย่างนี้เราก็จะพากันว่าความรู้ที่พระพุทธเจ้าสั่งสอนเป็นเรื่องเลอะเทอะพิสูจน์ไม่ได้ นี่เราต้องพิสูจน์กันด้วยการปฎิบัติตามทางที่ท่านสอน
อย่าไปเอาวัตถุมาเป็นเครื่องพิสูจน์อันนี้ใช้ไม่ได้
อาตมาเคยได้ยินนายแพทย์คนหนึ่งพูดว่า เวลานี้พระมีมากการศึกษาก็มาก ทำไมจึงไม่มีพระอรหันต์ ฟังแล้วก็ตกใจ เพราะว่าท่านเป็นนายแพทย์ท่านศึกษาในด้านวัตถุ
เรื่องของพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของจิตใจ จัดเป็นนามธรรม ค้นคว้าด้านหนึ่งแล้วก็ไปพิสูจน์อีกด้านหนึ่ง จะให้มันลงกันมันก็ลงกันไม่ได้
ข้อนี้ขอผ่านไป..."
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
ll กลับสู่สารบัญ
|
|
ตอนที่ 3
ผีนางไม้ วัดไทรใหญ่
บรรยายโดย..หลวงพ่อพระมหาวีระ ถาวโร (เมื่อปี 2516)
"...นี่จะเล่าเรื่องของหลวงพ่อจงต่อไป อีกคราวหนึ่งทางวัดไทรใหญ่ อำเภอไทรน้อย อยู่ในเขตจังหวัดนนทบุรี เขาจะฝั่งลูกนิมิตโบสถ์
คราวนั้นอาตมาก็รับนิมนต์ไปด้วย หลวงพ่อจงท่านก็ไป อาตมาไปในฐานะลูกศิษย์ของหลวงพ่อปาน หลวงพ่อจงไปในฐานะของท่าน
ที่นี้เวลารับแขก รับแขกกันที่ศาลาการเปรียญ หลวงพ่อจงท่านเป็นคนลง นะหน้าทอง นะ อะไรต่ออะไรก็ตาม อาตมามีหน้าที่อยางเดียวก็คือคุย
เพราะว่าอาตมามีหน้าที่อย่างเดียวก็คือคุย เพราะว่ามีคนมาหาหลวงพ่อจงเต็มศาลาการเปรียญทั้งวัน
ท่านก็ลงนะหน้าทองให้ สำหรับบาตรทางวัดก็ตั้งไว้ได้เงินเท่าไรก็เป็นเรื่องของวัด ข้างตัวท่านเองท่านไม่มีราคา และหากว่าว่างก็ไม่รังเกียจ
ทำได้ทั้งกลางวันและกลางคืน
กุฏิมีเสาตกน้ำมัน
...ทีนี้ตกเวลากลางคืน ถึงเวลาพักผ่อนก็เป็นเวลาที่มหรสพเลิกแล้วเป็นเวลาสักหกทุ่ม เขาก็จัดกุฎิให้พักหลังหนึ่งเป็นกุฎิ ๒ ชั้น
อาตมากับหลวงพ่อจงพักอยู่ด้วยกัน
ทีนี้เวลาประมาณตี ๒ อาตมาไม่รู้ว่าฉันอะไรเข้าไปอยากจะไปส้วม ไอ้ส้วมวัดนั้นก็อยู่ไกลกันเหลือเกินเป็นส้วมสมัยเก่า ต้องเดินจากกุฎิไปในป่าช้า..ก็ไป
ในเมื่อมันปวดท้องส้วมนี่ก็ทนไม่ไหว ถ้วขืนทนมันก็จะเกิดการขายหน้าขึ้นมา ก็ไปส้วมกลับมา แล้วก็งานวัดขนาดนั้นไฟฟ้าก็สว่างเต็มวัด
ตานี้พอเดินผ่านกุฎิหลังหนึ่ง ปรากฏว่าได้ยินเสียงผู้หญิงร้องครวญคราง แสดงถึงความเจ็บปวดก็เดินหันกลับเข้าไปดูคิดว่าผู้หญิงป่วย
หรือมีคนมานอนป่วยในกุฎิหลังนี้ ก็ปรากฎว่ากุฎิหลังนี้ใส่กุญแจเรียบร้อย
พอเข้าไปในกุฎิหลังนั้น เสียงครวญครางก็เงียบหายไปแล้วเดินอ้อมไปดูทางด้านหลังหน้าต่างปิด ไปเคาะประตูเรียกก็ไม่ปรากฎมีคน เดินกลับออกมาอีกห่างประมาณ ๔-๕
วา ก็ได้ยินเสียงผู้หญิงคนนั้นร้องครวญครางอีก แสดงถึงความเจ็บปวดอีกวาระหนึ่ง ก็กลับเข้าไปดูใหม่
อีคราวนี้เข้าไปดันประตูก็ดันไม่เข้า ขึ้นไปเปิดหน้าต่างบานใดบานหนึ่งก็เปิดไม่ออก ก็กลับถอยออกมา พอถอยออกมาสัก ๓-๔วา ก็ได้ยินเสียงร้องครวญครางอีก
คราวนี้เอาใหม่เข้าไปดูหน้าต่างบานหนึ่งรู้สึกว่าจะอ่อนแอมาก เลยเอาไม้กระทุ้งเสียกลอนหัก เปิดเข้าไปเดินเข้าไปดูในกุฏิหลังนั้น
ปรากฎว่าไม่มีสิ่งมีชีวิตเลย มืดไปหมด เอาไฟฉายฉายดู จะหาคนหรือสัตว์หรือแมวสักตัวก็ไม่มี ก็รู้ได้ทันทีว่าเสียงที่ร้องนี้เป็นเสียงของผี
เรื่องผีนี่เป็นเรื่องธรรมดาที่อาตมาพบมามากแล้วไม่รู้สึกหนักใจ เมื่อรู้ว่าเป็นเรื่องของผีก็เลยเดินกลับเสียงร้องก็หายไป
พอกลับมาถึงกุฎิชั้นบนที่พักอยู่กับหลวงพ่อจง
เมื่อขณะที่ไปปรากฎว่าหลวงพ่อจงจำวัด เมื่อกลับขึ้นมาปรากฎว่าหลวงพ่อจงลุกขึ้นนั่ง อาตมาขึ้นไปท่านก็ยิ้มกวักมือเรียกให้เข้าไปหา
ก็นอนอยู่คนละมุมคนละด้าน
ท่านถามว่าเจอะนักเลงโตเข้าเรอะ ก็ถามว่าอะไรล่ะขอรับหลวงพ่อ ท่านก็ว่าเมื่อกี้เธอไปส้วมได้ยินเสียงผู้หญิงร้องใช่ไหม ก็กราบเรียนท่านว่าใช่
ท่านก็เลยบอกว่าไม่ใช่คนหรอก..นางไม้
ถามว่าหลวงพ่อทราบได้อย่างไรขอรับ เพราะกุฎิหลังนั้นอยู่ห่างไปถึง ๒๐ วา แล้วเสียงร้องครวญครางก็ไม่ดังนัก หลวงพ่อท่านก็บอกว่าฉันรู้
รู้ตั้งแต่เธอเดินไปแล้วว่า ขากลับเขาจะแกล้งร้อง
ถามว่าเขาร้องทำไม บอกเขาแกล้งร้องหลอกเธอน่ะซิ แล้วถามถึงความประสงค์ ท่านบอกไม่ใช่อะไรหรอกเพราะเขารู้ว่าเธอไม่กลัวผี
ก็เลยถามว่าผู้หญิงคนนั้นเขาเป็นอะไร
ท่านก็เลยบอกว่า ผู้หญิงคนนั้นเขาอยู่ที่กุฎินั้น ฉ้นดูแล้วเพราะเห็นเสาตกน้ำมัน เสาด้านทิศตะวันออกมุมด้านทิศเหนือนั่นละนะ แต่อยู่แถบตะวันออกเป็น
"เสาตกน้ำมัน"
เมื่อทราบแล้วก็มานอนกัน ต่างคนต่างนอน ตอนเช้าถึงเวลาฉันเช้า ถามเจ้าอาวาสว่ากุฏิหลังนั้นมีใครอยู่หรือเปล่า ท่านก็ตอบว่าไม่มีใครอยู่ได้หรอกขอรับ
ทั้งนี้ก็เพราะกุฎิหลังนี้มีเสาตกน้ำมัน ใครอยู่ไม่ได้ พระองค์ไหนก็อยู่ไม่ได้ ถูกหลอกเสียจนอยู่ไม่ได้
หลวงพ่อจงเป็นพระอภิญญา
...ที่นำเรื่องนี้มาเล่าให้บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทฟัง ก็เพื่อจะได้ทราบว่าความรู้ในพระพุทธศาสนาน่ะ ที่บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทเรียนกัน
ศึกษากันในด้านเจริญพระกรรมฐาน
ถ้าหากว่าจิตเข้าถึง "อภิญญา" คือทรงกสิณ ๑๐ แล้ว ฝึกอภิญญาจนคล่องก็จะได้อย่างหลวงพ่อจงนี้แหละ หลวงพ่อจงเป็นพระอภิญญานะ เรียกว่าเป็นพระอภิญญาจริงๆ
แต่สำหรับตัวท่านไม่สนใจงานก่อสร้าง ก็หมายความว่างานสร้างเป็นหน้าที่ของน้องชาย
ตัวท่านมีหน้าที่อย่างเดียวคือรับใช้ประชาชน ในเมื่อประชาชนจะไปใช้ท่านละก็ไม่ต้องห่วง เวลาไหนก็ได้ จะทำน้ำมนต์หรือตะกรุด
หรือจะทำอะไรต่ออะไรก็ได้ทุกอย่าง ทำได้ทุกเวลา
ไปถึงดึกดื่นเที่ยงคืนอย่างไรก็ตาม ถ้าปรากฎว่าหลวงพ่อจงตื่นขึ้นมาแล้ว ก็เป็นว่าท่านทำให้ทันที เคยถามเรื่องนี้กับท่านว่า หลวงพ่อทำไมทำอย่างนี้ครับ
ท่านก็เหนื่อยแย่ซิครับควรจะมีเวลาแน่นอน
ท่านบอกว่าไม่เป็นไรหรอกคุณ เราใช้หนี้เขาเสียให้หมด เราใช้เสียชาตินี้ชาติเดียว ชาติหน้าจะได้ไม่มีเจ้าหนี้มาคอยทวงเรา
นี่แสดงว่าท่านเป็นพระไม่ต้องการการเกิดต่อไปนะ บรรดาญาติโยมพุทธบริษัท นี่เป็นเหตุการตอนที่ ๒ ของหลวงพ่อจงนะ..."
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
ll กลับสู่สารบัญ
|
|
ตอนที่ 4
หลวงพ่อจงให้หวย
บรรยายโดย..หลวงพ่อพระมหาวีระ ถาวโร (เมื่อปี 2516)
"...ทีนี้ตอนต่อไปก็มีหลายเรื่องที่บรรดาญาติโยมพุทธบริษัท นี่จะมาเล่ากันถึงเรื่องการให้หวย
หลวงพ่อจงนอกจากว่าจะลงเลขลงยันต์แล้วก็มีการให้หวยด้วย ท่านเป็นคนตามใจคน
แต่ว่าการให้หวยของท่านนี่ ทุกคราวไม่ผิดตัวหน้าก็ผิดตัวหลัง ไม่ผิดตัวหลังก็ผิดตัวหน้า ประมาณ ๗-๘ งวด เลขชุดที่ท่านให้ไปนี่แหละจะตรง
หมายความว่า งวดที่ ๑, ๒, ๓, ๔, ๕, ๖, ๗ บางทีก็งวดครั้งที่ ๘ ตรงพอดี บางทีก็งวดที่ ๑๐ เคยให้ลูกศิษย์คนหนึ่งไปขอ
บอกลองขอหวยหลวงพ่อจงดูแล้วก็เล่นตามท่านไป
ครั้งแรก ๑ บาท ครั้งที่สอง ๒ บาท ครั้งที่สาม ๓ บาท ว่าไป ว่าถึงกี่บาทมันจึงจะถูก อย่าไปดัดแปลงตัวเลขของท่าน บางคราวก็ ๘ บาท บางคราวก็ ๑๒ บาทจึงจะถูก
แต่ว่าไม่เคยเกิน ๑๒ บาท
ตานี้คราวหนึ่งมีชาวพระนครไปทอดผ้าป่ากับนำเงินไปถวาย ๒-๓ หมื่นบาท และก็เอาเรือของบริษัทสุพรรณขนส่งบรรทุกกันไปเต็มลำ วัดของท่านอยู่ลึกเข้าไปถึงท่าน้ำ
ประมาณ ๕ หรือ ๑๐ เส้น แล้วก็มีกอไผ่บังมองไม่เห็นเรือ
ทีนี้เวลาที่เขาจะกลับเขาก็เลยขอหวยท่าน ท่านก็บอกว่าหวยไม่มีหรอก เห็นไอ้เรือ บขส.มันมาตายอยู่ เรือ บขส. มันมาตายที่หน้าวัดลำหนึ่ง
พวกหน้าวัดก็รู้ทัน
พอกลับไปถึงกรุงเทพก็เอาหมายเลขที่ข้างเรือไปเล่น ตัดเอาเลขท้าย ๓ ตัว ถูกเป็นการใหญ่ แล้วก็กลับมาหาท่านอีกเอาเงินมาถวายท่าน มาขอหวยท่านใหม่
ท่านบอกว่าเวลานี้ไม่เห็นไอ้เรือ บขส. มันตายนี่ มันไม่ตายเสียแล้ว กลับไปเถอะ ถ้าวันไหนไอ้เรือ บขส. มันมาตายหน้าวัดค่อยเอาเลข เวลานี้เรือ
บขส.หน้าวัดมันไม่ตายก็อย่าเอาเลขทำบุญเอาบุญก็แล้วกัน
นี่ก็จัดว่าเป็นอภิญญาอย่างหนึ่ง การรู้เลขหวยนี่พระรู้ได้แต่ทว่าบอกไม่ได้ เรื่อพระรู้ได้นี่อย่ามาถามอาตมาเข้านะ อาตมาไม่รู้กับเขานะ นี่หมายความว่า
พระที่ท่านที่รู้อภิญญาน่ะท่านรู้ได้ แต่ว่าบอกไม่ได้ บอกตรงๆ กันไม่ได้..."
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
ll กลับสู่สารบัญ
|
|
ตอนที่ 5 จบ
หลวงพ่อจงสงเคราะห์คนจน
บรรยายโดย..หลวงพ่อพระมหาวีระ ถาวโร (เมื่อปี 2516)
"...แล้วนี่มีอยู่คราวหนึ่ง ว่ากันถึงเรื่องหวยมีผู้หญิงคนหนึ่งน้ำท่วมมากในหน้าน้ำ แกมีลูกอยู่ ๕ คน
ไอ้น้ำก็เกือบจะท่วมบ้านเข้าไปแล้วก็เลยพายเรือไปหาหลวงพ่อจงขอหวย
บอกเวลานี้จนมากข้าวปลาจะไม่มีให้ลูกกินแล้ว ข้าวใหม่ก็ยังไม่ออกไอ้ข้าวเก่าก็หมดไป ไปกู้ยืมเขาก็ไม่ได้เพราะเป็นคนจน
หลวงพ่อจงก็เขียนเลขให้ไป ๓ ตัว บอกว่าอย่าไปบอกใครนะเอาไปเล่นเถอะ เขามาขอตอนบ่ายพอตอนเย็นท่านมานึกขึ้นมาอย่างไงไม่ทราบ พายเรือไปเองที่บ้านนั้น
แล้วไปเรียกเจ้าของบ้านว่า
"อีหนูเอ๊ย..อีหนูออกมาหาหลวงพ่อหน่อย เขาก็ออกมาแล้วหลวงพ่อก็เลยบอกว่า เลขที่หลวงพ่อเขียนมาให้น่ะมันถูกนะอย่าไปบอกใครเขา
แต่วาสนาบารมีของเอ็งน่ะถูกได้เพียง ๕ บาทเท่านั้น อย่าชื้อให้เกิน ๕ บาทนะ มันจะบาป พ่อจะบาปด้วย"
เป็นอันว่ายายคนนั้น เป็นอันว่ายายคนนั้นแก่ก็รับวาจาแล้วก็มีสัจจะซื้อเพียงแค่ ๕ บาทก็ปรากฎว่าเลขถูก
นี่ละบรรดาญาติโยมพุทธบริษัท เรื่องราวของหลวงพ่อจงนะตามที่เล่ามานี้ ดูเหมือนว่าจะไม่มีประโยชน์กับบรรดาท่านนักปฎิบัติเลย
ถ้าจะพูดกันไปเรื่องราวของหลวงพ่อจงมีมากมาย
อาตมามีสัมผัสกับท่านมากมีความสัมพันธ์กับท่านมามาก พอหลังจากหลวงพ่อปานตายแล้ว อาตมาก็ไปขลุกขลักขลุกขลิกอยู่กับหลวงพ่อจง
มีเรื่องอีกเยอะที่จะเล่าให้บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทฟัง
แต่ว่าเวลานี้ก็จะหมดเสียแล้วนี่โยมเวลา ๓๐ นาทีนะมันนิดเดียวเท่านั้นแหละประเดี๋ยวมันก็หมด
เป็นอันสรุปกันง่ายๆ ว่า หลวงพ่อจงน่ะท่านเป็นพระบวชเข้ามาเพื่อละจริงๆ เรื่องทรัพย์สินต่างๆไม่มีความสนใจ ใครเขานิมนต์ไปทำอะไร
จะให้เท่าไรหรือไม่ให้ไม่สนใจ ก็ให้ส่งกลับถึงวัดก็แล้วกันนี่ประการหนึ่ง
เรียกว่าท่านเป็นผู้ละจริงๆ แล้วอีกประการหนึ่งเงินทองได้มาเท่าไรก็ตาม ถ้ามีใครเขาถวายมาก็เรียกหลวงพ่อนิลน้องชายมาบอกว่า
เงินทองนี่เป็นของสงฆ์นะ เอาไปสร้างให้มันถูกเรื่องถูกราว จะสร้างวัดนอกหรือวัดในก็ได้ รวมความว่าวัดหน้าต่างนอกและวัดหน้าต่างในนั้นติดกัน
หลวงพ่อนิลก็ต้องสร้างทั้งสองวัดเพราะหลวงพ่อจงเป็นคนหาเงินวันหนึ่งๆได้เงินมาก เขานิมนต์ไปไหนเขาก็ถวายมากๆ ก็มามอบให้หลวงพ่อนิลหมด
เป็นอันว่าหลวงพ่อจงเป็นนักปฎิบัติกรรมฐาน จัดว่าเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า
นี่เป็นตัวอย่างที่ดีของบรรดาท่านพุทธบริษัท คือว่าเป็นผู้มีความมัธยัสถ์ยึดมั่นใน ศีล สมาธิ ปัญญา ตามที่พูดมาเวลามันก็จะหมด
ต้องลาบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทเสียแล้ว
เรื่องราวของหลวงพ่อจงมีมาก แต่ว่าเล่างวดเดียวแค่นั้น พูดให้ฟังว่าเรื่องของหลวงพ่อปานน่ะ สมัยนั้นไม่ได้ดีแต่หลวงพ่อปานองค์เดียวนะ เพื่อนๆ
ของท่านก็มีดีอีกมาก แต่ว่ามีปฎิปทาคนละอย่าง..สวัสดี"
ll กลับสู่สารบัญ
|
|
|