กำหนดการ...งานทำบุญประจำปี วัดสุขุมาราม (พระนอน) จ.พิจิตร วันที่ 27-28 มกราคม 2567
กำหนดการ
งานทำบุญประจำปีพระพุทธไสยาสน์ ความยาว ๕๐ เมตร
ณ วัดสุขุมาราม ตำบลวังตะกู จังหวัดพิจิตร
ระหว่างวันที่ ๒๗ ๒๘ มกราคม ๒๕๖๗
.
วันเสาร์ที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๖๗ (ค้าง ๑ คืนที่พระนอน)
เวลา ๑๗.๓๐ น. พระภิกษุสงฆ์ทุกรูปและคณะพุทธบริษัททุกท่าน ร่วมสวดมนต์ ทำวัตรเย็น
พร้อมเจริญพระกรรมฐานที่วิหารพระพุทธไสยาสน์
เวลา ๑๘.๓๐ น. พระครูปลัดสุวัฒนรัตนคุณ เป็นประธาน นำพระภิกษุสงฆ์และพุทธบริษัท เวียนเทียนรอบพระพุทธไสยาสน์
เวลา ๒๑.๐๐ น. เสียงธรรมตามสาย
* (เปิดรับลงทะเบียนนอนเต็นท์ บริเวณหน้าวิหารพระพุทธไสยาสน์ ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ น. เป็นต้นไป)
วันอาทิตย์ที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๖๗
เวลา ๐๔.๐๐ น. เสียงธรรมตามสาย
เวลา ๐๕.๐๐ น. พระภิกษุสงฆ์ทุกรูปและคณะพุทธบริษัททุกท่าน ร่วมสวดมนต์ทำวัตรเช้า
พร้อมเจริญพระกรรมฐานที่วิหารพระพุทธไสยาสน์
เวลา ๐๖.๔๕ น. เริ่มพิธีตักบาตรอาหารแห้ง แด่พระภิกษุสงฆ์รอบวิหารพระพุทธไสยาสน์
(ข้าวสารอาหารแห้งมีจำหน่ายที่บริเวณงาน)
เวลา ๐๗.๓๐ น. ถวายภัตตาหารเช้าแด่พระภิกษุสงฆ์ที่ศาลาการเปรียญ
เวลา ๐๙.๐๐ น. พระครูปลัดสมนึก สุธมฺมถิรสทฺโธ ทำพิธีบวงสรวงและรับสังฆทาน ที่วิหารพระพุทธไสยาสน์
เวลา ๑๐.๓๐ น. พระเถรานุเถระที่นิมนต์มา เจริญพระพุทธมนต์ เนื่องในงานทำบุญประจำปีที่วิหารพระพุทธไสยาสน์
เวลา ๑๑.๐๐ น. ถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุสงฆ์ที่วิหารพระพุทธไสยาสน์
หมายเหตุ : ท่านที่ประสงค์จะร่วมพิธีในช่วงค่ำวันเสาร์ที่ ๒๗ มกราคม ทางวัดสุขุมาราม
จัดเตรียมกางเต็นท์ไว้ให้จำนวน ๖๐ หลัง ส่วนผู้ประสงค์จะนำเต็นท์มาเอง ก็สามารถนำมากางได้ในบริเวณที่เจ้าหน้าที่จัดเตรียมไว้ให้
* (ทุกท่านที่นอนเต็นท์ต้องเตรียมเครื่องนอน และของใช้ส่วนตัวมาเอง)
กำหนดการทั้งหมดนี้ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เหมาะสมในภายหลังก็ได้
ประวัติความเป็นมาของวัดสุขุมาราม
.....หลวงปู่เขียน ธัมรักขิโต วัดสำนักขุนเณร อ.บางมูลนาก เป็นประธานในการสร้างครั้งแรก เดิมท่านเรียกวัดนี้ว่า "สลักแกง"
วัดสุขุมารามได้เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 10 เดือนเมษายน พ.ศ.2499 ด้วยมีประชาชนเป็นจำนวนมาก จึงได้แยกตัวมาก่อสร้างวัดขึ้นใหม่ (ใกล้ตลาดวังตะกู) โดยมี
กำนันสันต์ นางหลี ตีประเสริฐ กำนันตำบลวังะกูในสมัยนั้นได้ชักชวนประชาชนในตำบลวังตะกู หมู่ที่ 11 ร่วมกันก่อสร้าง โดยมี หลวงปู่เขียน ธมรกขิโต
เป็นประธานที่ปรึกษา มี พระอาจารย์เสริม ภู่ประเสริฐ เป็นเจ้าอาวาส
ภายหลัง ท่านพระครูวิจารณ์วิหารกิจ (สุรินทร์ ฐิตพโล) เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันนี้
ได้ปรารภกับคณะศิษยานุศิษย์ว่ามีความประสงค์จะสร้างพระพุทธรูปสักหนึ่งองค์ บนที่ดินที่ซื้อใหม่ด้านหลังวัด โดยสร้างเป็นพระพุทธไสยาสน์ความยาว 25 วา
เพื่อถวายไว้ในพระศาสนาและได้ประกาศบอกบุญระยะหนึ่ง
ต่อมา ท่านพระครูปลัดอนันต์ พัทธญาโณ (ภายหลังได้รับสมณศักดิ์เป็น ท่านเจ้าคุณพระราชภาวนาโกศล) เจ้าอาวาสวัดจันทราราม (ท่าซุง) จังหวัดอุทัยธานี
ซึ่งเป็นศิษย์รูปหนึ่งที่ท่านพระครูวิจารณ์วิหารกิจ ได้นำไปฝากฝังปฏิบัติธรรมอยู่กับ หลวงพ่อพระราชพรหมยาน อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าซุง
ทราบเรื่องจึงได้รับภาระดำเนินการเริ่มตั้งแต่ให้สถาปนิกออกแบบองค์พระให้ได้พุทธลักษณะที่งดงาม ให้วิศวกรคำนวนโครงสร้างอาคารและฐานราก
รวมทั้งเป็นผู้นำศรัทธาคณะศิษย์รวบรวมปัจจัยในการก่อสร้าง และซื้อที่ดินขยายเพิ่มเติมจากเดิมเป็น 27 ไร่ และได้เริ่มงานก่อสร้างโดยตอกเสาเข็ม
เพื่อรองรับฐานองค์พระและวิหาร ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 การก่อสร้างได้ดำเนินไปตามลำดับมาจนถึงปัจจุบัน ดังนี้
วันที่ 20 มกราคม 2551 ทำพิธีเทคอนกรีตหล่อองค์พระ (องค์พระและเสาวิหารเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังวิหารเป็นโครงเหล็กถัก
มุงด้วยแผ่นเมทัลชีท)
วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2552 ทำพิธีเทคอนกรีตหล่อส่วนพระเศียร และทำพิธีบรรจุพระพุทธไสยาสน์จำลอง ขนาด 9 นิ้ว และพระเครื่องพระพุทธไสยาสน์ ดังนี้
1. พระพุทธไสยาสน์ขนาด 9 นิ้ว เนื้อทองเหลือง จำนวน 840 องค์
2. พระพุทธไสยาสน์ขนาด 9 นิ้ว เนื้อดินเผา จำนวน 84,000 องค์
3. เหรียญพระพุทธไสยาสน์เนื้อโลหะและเนื้อดินเผา จำนวน 84,000 องค์
โดยพระพุทธรูปเนื้อดินเผาบรรจุใต้ฐานองค์พระพุทธไสยาสน์ และก่อผนังกั้นเป็นส่วน ๆ ตลอดแนวความยาว 50 เมตร ส่วนพระพุทธรูปเนื้อทองเหลือง
และพระเครื่องขนาดเล็ก บรรจุภายในองค์พระ ทั้งนี้เพื่อเป็นการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา ตามธรรมเนียมปฏิบัติแต่ครั้งโบราณ
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2553 อัญเชิญพระพุทธรูปสมเด็จองค์ปฐม (จำลองลักษณะนูนสูง) ขนาดหน้าตัก 3 ศอก ประดิษฐานบนหน้าบันวิหาร
วันที่ 23 มกราคม 2554 ทำพิธีบรรจะพระเนตรที่ทำด้วยนิล จากอำเภอพ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี และเปลือกหอยมุก จากเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี
วันที่ 7 พฤษภาคม 2554 ทำพิธีเททองหล่อพระพุทธบาท ที่วัดจันทราราม(ท่าซุง) จังหวัดอุทัยธานี โดยจำลองแบบลายลักษณ์ 108 ประการ
จากพระพุทธบาทพระพุทธไสยาสน์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ซึ่งเป็นงานลงรักประดับมุก โดยฝีมือช่างสิบหมู่ สมัยราชกาลที่ 3
โดยประยุกต์เป็นงานหล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ และปั้นลายเป็นลักษณะนูนสูง โดยประติมากรช่างสิบหมู่ในสมัยปัจจุบัน
ซึ่งดำเนินการติดตั้งแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2554 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระชนมายุครบ 84 พรรษา
เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2554 ในปัจจุบันี้ การดำเนินงานก่อสร้างองค์พระและวิหาร ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทั้งการปิดทององค์พระ การปูพื้นวิหาร
และการปรับปรุงภูมิทัศน์รอบๆ วิหาร
ความสำคัญ
- เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษาในวันที่ 5 ธันวาคม
2554
- เพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งความสมัครสมานสามัคคีของประชาชนชาวไทยทั่วทุกสารทิศ
- เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม
- เป็นสวนสาธารณะสำหรับออกกำลังกาย และผักผ่อนหย่อนใจ
- เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดพิจิตร
ลักษณะของสิ่งของ
.....เป็นพระพุทธไสยาสน์ (พระนอน) ความยาว 25 วา โดยจำลองแบบลายลักษณ์ 108 ประการ จากพระพุทธบาทพระพุทธไสยาสน์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
(วัดโพธิ์) ซึ่งเป็นงานลงรักประดับมุกโดยฝีมือช่างสิบหมู่สมัยราชกาลที่ 3 โดยประยุกต์เป็นงานหล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ และปั้นลายเป็นลักษณะนูนสูง
โดยประติมากรช่างสิบหมู่ ในสมัยปัจจุบันพระพุทธไสยาน์องค์นี้ ใช้งบประมาณทั้งหมดในการสร้างครั้งนี้ ประมาณ 95 ล้านบาท
ที่มา - watsukumaram.com (บันทึกไว้เมื่อปี 2554)
- อ่านรายละเอียดการสร้าง http://www.watthasung.com/wat/viewthread.php?tid=1586
◄ll กลับสู่สารบัญ
|