@ ตามรอยท่านแม่..ณ ศรีสัชนาลัย ปี 2542 (ตอนที่ 6)
...ในตอนที่แล้ว หลังจากเล่าประวัติจบแล้ว เสียงพระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ ชุมนุมเทวดาก็ดังก้องไปทั่วบริเวณนั้น หลังจากที่ "หลวงพี่โอ"
เป็นประธานในการจุดธูปเทียนที่โต๊ะบายศรี
ทุกคนที่นั่งรายล้อมอยู่บริเวณเมืองเก่า ต่างก็นั่งพนมมือหลับตาตั้งจิตอธิษฐานไปตามกระแสเสียงของท่าน
เพื่อเป็นการย้อนรำลึกนึกถึงท่านผู้ทรงคุณความดีทั้งหลายในอดีต
ต่อมาได้สรงน้ำพระบรมธาตุเจดีย์แล้ว พวกเราได้ออกมารำถวายมือที่ชื่อว่า ดาวดึงสเทวโลก พร้อมทั้งผู้เขียนได้บรรยายต่อไปอีกว่า
...พระร่วงโรจนฤทธิ์ทรงอานุภาพยิ่งใหญ่ ประเทศน้อยใหญ่พากันมาสวามิภักดิ์ พอมีพระชนมายุ ๔๐ พรรษา ทรงได้ช้างเผือกงาดำ และ เขี้ยวงูใหญ่
เท่าผลกล้วยเป็นคู่บารมี เรื่องนี้ตามตำนานบอกว่า ด้วยอานิสงส์ที่ทรงสร้างหุ่นช้างใส่ดอกไม้ถวายแก่พระพุทธเจ้ามาแต่ชาติก่อน
ต่อมาพระองค์ได้โปรดให้เชิญเจ้าเมืองมอญ พม่า และขอม มาร่วมงานพระราชพิธีลบศักราช โดยนิมนต์พระสงฆ์ ๕๐๐ รูป มีพระอชิตะเถระ พระอุปคะตะเถระ พระมหาเถรไลยลาย
และพระพุทธโฆษาจารย์ แห่ง วัดเขารังแร้ง และชุมนุมพระสงฆ์เจ้าทั้งหลาย ณ วัดโคกสิงคาราม กลางเมืองสัชนาไลย
บรรดาท้าวพระยาในชมพูทวีปคือ ไทย ลาว มอญ จีน พม่า ลังกา พราหมณ์เทศเพศต่างๆ พระองค์ให้ทำหนังสือไทยเฉียง มอญ พม่า ไทย และขอมเฉียงขอมมีมาแต่นั้น
นอกจากนั้นพระร่วงยังโปรดให้สร้าง "ถนนพระร่วง" จากศรีสัชนาลัยมายังสุโขทัย พร้อมทั้งบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามหลายแห่ง ที่เมืองพิษณุโลก สวรรคโลก
และสุโขทัย
ต่อมา พระร่วงกับพระลือก็ได้เสด็จไปเมืองจีน พระเจ้ากรุงจีนได้ถวายพระธิดาชื่อว่า พระนางวิสุทธิเทวี (บางแห่งเรียก พสุจเทวี) ให้เป็นพระมเหสีของพระร่วงด้วย
และยังให้ชาวจีนอีก ๕๐๐ คน มาตั้งเตาเผาเครื่องถ้วยชาม ที่เรียกว่า เตาทุเรียง
ในตอนนี้ท่านถึงกับปรารภออกมาว่า เกิดคราวไรไม่ค่อยพ้นลูกสาวเจ๊กสักที ก็เพราะมีเชื้ออยู่นี่เอง..
บุคคลคนเดียวกันนี้ คือ พระเจ้ามังรายมหาราช (ผู้สร้างพระธาตุดอยตุง) ที่ได้ลงมาเกิดเป็น "พระร่วงโรจนฤทธิ์" สร้างความเจริญมั่นคง
ขยายอาณาเขตออกไปครองมอญ พม่า ขอมไว้ได้หมด อาณาจักรยาวเหยียด แต่ในที่สุดพระองค์ก็สวรรคต เพราะเหตุนี้ท่านจึงกล่าวไว้กับลูกๆ ตอนหนึ่งว่า
...เห็นไหมลูกรักของพ่อ ถ้าตัณหามันยังไม่หมดเพียงใดก็ต้องเกิดอีก ตัณหาคือ ความรักติดอยู่ในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ
"ความโลภ" อยากจะรวย อยากจะเป็นใหญ่ ความบ้าอยากจะมีอำนาจเหนือคน "ความหลง" คิดว่ามันจะไม่แก่ไม่ตาย นี่เป็นปัจจัยให้เกิดความทุกข์
ฉะนั้น ขอบรรดาลูกรักทั้งหมด จงอย่ามีความปรารถนาตามนั้น ลืมมันเสียเรื่องขันธ์ ๕ มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา..ลูกรัก! ถ้ามันเป็นเรา เป็นของเราจริง
ก็ดูตัวอย่าง พระเจ้ามังราย ระยะเวลาเพียงสองพันปีก็เกิดถึง ๔ วาระแล้ว นี่แค่สมัยความเป็นคนไทย สมัยอื่นท่านจะไปเกิดที่ไหนอีกก็ไม่ทราบ
ทั้งนี้ เนื่องจากทนไม่ไหวเพราะพวกลูกๆ หลานๆ ไม่สามารถรักษาความเป็นไทยไว้ได้ ถึงแม้จะเหนื่อยเพื่อคนไทยมามาก แต่ก็วางมือไม่ได้ วางมือทีไรยุ่งทุกที
ในฐานะที่ปรารถนาพระโพธิญาณนี่ ต้องต่อสู้กับความทุกข์ เพื่อให้ความสุขแก่คนอื่น จะมัวมานั่งแช่มชื่นมีความสุขนั้น ไม่ใช่วิสัยของพระโพธิสัตว์...
นี่คือความทุกข์ยากในใจของบุคคลผู้เป็นพ่อของคนไทยทั้งหลายในกาลก่อน วันนั้น พวกเราจึงร่วมกันร้องเพลง พ่อ
เพื่ออุทิศให้แด่พ่อของเราที่มีน้ำใจอันประเสริฐต่อลูกของท่านทุกคน มีบางคนน้ำตาไหลเมื่อได้ยินเสียงเพลงนี้
...เมื่อก่อนครั้งฉันเป็นเด็กน้อยคอยแต่คลาน พ่อหัดตั้งไข่ให้จนฉันเดินเป็น..เตาะแตะ ก้าว..ทีละน้อย ค่อยๆ เข็น จับเกาะพ่อเดินเล่นตามประสาเยาว์วัย
พ่อถอดรองเท้าไว้ให้เห็นตรงนอกชาน ฉันเจ้าเด็กน้อยลองใส่สวยเดินภูมิใจ อยากใส่ไว้ให้เหมือน แม้จะหนักยังเดินไหว พ่อยิ่งใหญ่เหมือนภูเขาเราจะตาม...
ข้างหน้าที่ทิ้งไว้ คือรอยเท้าที่พ่อเดิน ลูกเหยียบย่างไม่ห่างเหินเดินตาม ย่ำบุกป่าเขาลำเนาไพรไม่ครั่นคร้าม เด็กน้อยตามอย่างพ่อ ไม่ท้อเดินไป
เติบใหญ่ถึงวันนี้ พบชีวิตที่ผกผัน
ฉันจึงได้รู้ว่าการเดินไม่ง่ายดังใจ วันที่ถูกทุกข์ทับถมขมขื่นใจสักเพียงไหน รองเท้าพ่อคู่ใหญ่ยังสอนใจเรา วันที่ถูกทุกข์ทับถมขมขื่นใจสักเพียงไหน
พ่อยิ่งใหญ่เหมือนภูเขาเราจะตาม...
เมื่อจบเพลงนี้แล้ว หลายคนที่จะต้องซับน้ำตา เพราะความซาบซึ้งในพระคุณอันใหญ่หลวงของพ่อ ต่อจากนั้นพวกเราก็ออกมาร่วมกันรำ
เพื่อเป็นการฉลองความสำเร็จของท่านพ่อและท่านแม่ ตลอดถึงท่านปู่ท่านย่าอีกด้วยไว้ เป็นอนุสรณ์แห่งแผ่นดิน ณ เมืองศรีสัชนาลัย
เพื่อขออำลาอาลัยแผ่นดินไทยทั้งหลาย ที่ได้เคยเกิดมาร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน
เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ ได้บันทึกอยู่ในความทรงจำของทุกคน เพราะหลังจากการทำพิธีบวงสรวงพลี เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและบูชาท่านพ่อขุนไทยทั้งหลายแล้ว
ต่อมามีพวกท่าชัย ๓ - ๔ คน ที่อยู่ในพิธีครั้งนั้น ได้มาเล่าให้ฟังภายหลังว่า
ในขณะที่กำลังฟ้อนรำสมโภชกันอยู่นั้น ปรากฏว่ามีละอองฝนโปรยปรายอยู่เฉพาะรอบนอก ส่วนพวกเราที่อยู่ในพิธีหน้าพระเจดีย์เจ็ด แถวนั้นกลับไม่มีฝนเลย
และในจำนวนนั้นที่นั่งอยู่ห่างๆ รอบนอก บางคนก็ได้มองเห็น "เกล็ดสีเงิน" ลอยลงมาจากท้องฟ้าเป็นระยิบระยับไปหมด !!!
---(โปรดติดตามตอนต่อไป)---
@ ตามรอยท่านพ่อท่านแม่..ณ ศรีสัชนาลัย ปี 2543 (ตอนที่ 7)
...หลังจากได้ทำพิธีบวงสรวงที่เมืองเก่า (อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย) กันแล้ว พวกเราก็ย้อนกลับมาที่ "พุทธอุทยานพระร่วงผดุงธรรม"
เพื่อทำพิธีถวายผ้ากฐินกัน โดยรวบรวมเงินกันทำบุญทั้งสิ้น ๕,๒๕๗,๕๗๐ บาท ซึ่งยังมียอดเงินที่สมทบภายหลังอีกบ้าง
จึงถือว่าได้ปลดหนี้ปลดภาระให้แก่ท่านวันชัยไปด้วย
ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๓ อันเป็นปีที่ ๑ ของการทอดกฐินเพื่อสร้าง "พระจุฬามณี" โดยมีญาติโยมขอรับเป็นเจ้าภาพกันประมาณ ๑๑๐ กอง (กองละ ๕,๐๐๐ บาท)
ทั้งกรุงเทพฯ และตามต่างจังหวัด พวกเราจึงได้จัดเตรียมงานกันอย่างเต็มที่ เผื่อว่าจะมีคนเดินทางมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก
---เหตุที่สร้างพระจุฬามณี---
...ส่วนเหตุที่จะต้องสร้างพระจุฬามณีนี้ ผู้เขียนได้แจ้งไปในซองกฐินว่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๒
ผู้เขียนดำริว่าเราได้ไปกราบไหว้รอยพระพุทธบาทและพระเจดีย์มาทั่วทุกภาคของประเทศแล้ว ต่อไปเราจะสร้างเองบ้างละ จึงได้ปรึกษากับ พระอาจารย์วันชัย
และคณะท่าชัย, คณะจังหวัดสุโขทัย, คณะพิษณุโลก, พร้อมกับคณะศิษย์หลวงพ่อฯ หลายจังหวัด
ต่างก็มีความเห็นว่า ควรจะร่วมมือกันจัดสร้างปูชนียสถานที่สำคัญแห่งนี้ไว้ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งแผ่นดินของท่านเป็นครั้งสุดท้าย
โดยประดิษฐานไว้ที่ตรงหัวใจของประเทศ เพราะเคยเป็นเมืองที่รุ่งเรืองมาก่อน นั่นก็คือ เมืองศรีสัชนาลัย อันเป็นสมัยที่พระเดชพระคุณท่านเคยเป็น
พระร่วงโรจนฤทธิ์ ผู้มีวาจาสิทธิ์ ทั้งนี้ เพื่อให้สมกับคำว่า รุ่งโรจน์ พร้อมไปด้วย ฤทธิ์ ในกาลต่อไป
ฉะนั้น ทางภาคเหนือก็มีพระธาตุจอมกิตติแล้ว ภาคใต้ก็มีพระพุทธรูปองค์นี้อยู่ที่ภูเก็ตแล้ว (สมเด็จองค์ปฐม ปางประทับรอยพระพุทธบาท)
ยังเหลือแต่ตรงหัวใจของประเทศนี้แหละ ที่น่าจะมีอะไรเป็นสิริมงคลบ้าง จึงได้ลงมติจัดงานพิธีดังนี้
- ปีที่ ๑ จะจัดงานพิธีทอดกฐิน วันเสาร์ที่ ๑๑ พ.ย. ๒๕๔๓ (วันลอยกระทง) เพื่อทำพิธีวางศิลาฤกษ์และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
- ปีที่ ๒ จะจัดงานพิธีทอดกฐิน วันที่ ๓๑ ต.ค. ๒๕๔๔ (วันลอยกระทง) เพื่อทำพิธีเททอง
- ปีที่ ๓ จะจัดงานพิธีทอดกฐิน วันที่ ๑๙ พ.ย. ๒๕๔๕ (วันลอยกระทง) เพื่อทำพิธียกฉัตรและบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
นี่ก็เป็นแผนงานที่จัดเตรียมไว้ทั้งสามปี คิดในใจว่าภายใน ๓ ปี หากพระจุฬามณียังไม่เสร็จ เราก็ขอเป็นหนี้ต่อไป ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยคิดจะสร้างให้มากมาย
หวังเพียงแค่พระพุทธรูปและพระจุฬามณีสำเร็จก็พอแล้ว
ได้เงินประมาณ ๕,๓๕๘,๒๘๐ บาท รวม ทั้งเครื่องบริวารกฐินอีกมากมาย เสร็จแล้วจึง ได้เริ่ม พิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อเวลา ๑๓.๓๐ น. โดยมี
หลวงพี่โอเป็นประธานในการจุดธูปเทียนที่โต๊ะบวงสรวงในภาคบ่าย
เมื่อพระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ ได้ทำพิธีบวงสรวงแล้ว ผู้เขียนจึงได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ญาติโยมสรงน้ำแล้วไว้ในผอบศิลา พร้อมทั้งอัญเชิญ
แผ่นดวงชะตาประเทศไทย แผ่นศิลาจารึก และ แผ่นดวงชะตา ของทุกคน แล้วตั้งเป็นขบวนแห่โดยพระภิกษุสามเณรนำญาติโยมร่วมเดินขบวนจากด้านล่างขึ้นไปบนพระจุฬามณี
อันประดิษฐานอยู่บนเนินเขาน้อยๆ
เสียงการเจริญพระพุทธคุณดังก้องไปทั่วบริเวณนั้น หยุดการส่งเสียงเรียกขานใดๆ ทั้งสิ้น ในขณะที่ขบวนแห่เดินขึ้นไปเรื่อยๆ
มีบางคนที่ยืนรอยู่ข้างทางต่างก็พนมมืออธิษฐานร่วมบุญกุศลในครั้งนี้กันอย่างเต็มที่ ท่ามกลางท้องฟ้าที่แจ่มใส บอกเหตุแห่งความเจริญ ณ
สถานที่แห่งนี้ในกาลข้างหน้า
ขบวนพระสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกาเดินขึ้นไปไม่ไกลเท่าใดนักก็ถึงพระจุฬามณี แล้วจึงได้อัญเชิญผอบพระบรมสารีริกธาตุและวัตถุสิ่งของต่างๆ ไว้บนโต๊ะหมู่บูชา
สำหรับโต๊ะหมู่บูชานี้ถวายโดย
คณะลูกสัมพเกษี คือ คุณจารุภา (หลี) คุณประดิษฐ์ (ก๊วยเจ๋ง)โดยมีคุณรัศมี (แมว) เป็นเจ้าภาพใหญ่ ส่วนบายศรีก็มี คุณใหญ่ เกาะกูด และ กลาง โพธาราม
ร่วมกันเป็นเจ้าภาพด้วย...
---(โปรดติดตามตอนต่อไป)---
@ ตามรอยท่านพ่อ-ท่านแม่..ณ ศรีสัชนาลัย ปี 2543 (ตอนที่ 8)
...เมื่อปี ๒๕๔๒ หลังจากได้ทำพิธีบวงสรวงที่เมืองเก่า (อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย) กันแล้ว พวกเราก็ย้อนกลับมาที่ "พุทธอุทยานพระร่วงผดุงธรรม"
เพื่อทำพิธีถวายผ้ากฐินกัน โดยรวบรวมเงินกันทำบุญทั้งสิ้น ๕๒๕,๗๕๗ บาท ซึ่งยังมียอดเงินที่สมทบภายหลังอีกบ้าง
จึงถือว่าได้ปลดหนี้ปลดภาระให้แก่ท่านวันชัยไปด้วย (มีคลิปวีดีโอ 1)
ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๓ อันเป็นปีที่ ๑ ของการทอดกฐินเพื่อสร้าง "พระจุฬามณี" โดยมีญาติโยมขอรับเป็นเจ้าภาพกันประมาณ ๑๑๐ กอง (กองละ ๕,๐๐๐ บาท)
ทั้งกรุงเทพฯ และตามต่างจังหวัด (มีคลิปวีดีโอ 2)
จากนั้นได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ญาติโยมสรงน้ำแล้วไว้ในผอบศิลา พร้อมทั้งอัญเชิญ แผ่นดวงชะตาประเทศไทย แผ่นศิลาจารึก และ แผ่นดวงชะตา ของทุกคน
แล้วตั้งเป็นขบวนแห่โดยพระภิกษุสามเณรนำญาติโยมร่วมเดินขบวนจากด้านล่างขึ้นไปบนพระจุฬามณี อันประดิษฐานอยู่บนเนินเขาน้อยๆ
ครั้นได้จัดเครื่องพิธีเสร็จแล้ว ญาติโยมพุทธบริษัทก็มานั่งห้อมล้อมอยู่ที่ปากหลุมห้องพระธาตุ
โดยมีผู้ที่ไม่ได้ร่วมขบวนแห่ต่างก็มานั่งรอในพระจุฬามณีอยู่ก่อนแล้วเป็นจำนวนมาก พอขบวนแห่มาถึงจึงต้องนั่งเบียดกันแน่นไปหมดในบริเวณนั้น
เมื่อได้เวลาอันเป็นอุดมฤกษ์ จึงได้เริ่มพิธีอันเป็นมหามงคลต่อไป โดยประธานฝ่ายฆราวาสจุดธูปเทียนที่โต๊ะหมู่บูชา ทายกนำกราบพระ แล้วอาราธนาพระปริตร
พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์เป็นสิริมงคล และเพื่อทำพิธีบูชาพระเคราะห์ ๑๐๘ ไปด้วย
ต่อจากนั้น ท่านเจ้าอาวาส, หลวงพี่โอ, ผู้เขียน, ท่านสมศักดิ์, ท่านอาจินต์, ท่านวันชัย, และ ท่านมหาเพิ่มทรัพย์
ต่างก็เดินลงไปที่ก้นหลุมที่ทำไว้เป็นห้องสี่เหลี่ยม ๔ x ๔ เมตร แล้วก็ได้ช่วยกันตอกไม้มงคลและวางอิฐเงินอิฐทอง
ที่เจ้าภาพกฐินแต่ละคณะนำมาวางรอไว้ก่อนแล้ว
ต่อจากนั้นจึงได้วางแผ่นศิลาฤกษ์ และแผ่นดวงเมืองไทยไว้ตรงกลางหลุม "แผ่นดวงชะตา" เป็นของเจ้าภาพและผู้ร่วมบุญทุกคน ได้เขียนดวงชะตาของตนเองลงในแผ่นนี้
แล้วนำมาบรรจุไว้ใต้ฐานองค์พระพุทธรูป ปางประทับรอยพระพุทธบาท อันประดิษฐานอยู่ภายในพระจุฬามณี
ทั้งนี้ เพื่อเป็นความหมายว่า "ดวงชะตา" ของเราอยู่ภายใต้ฝ่าพระบาทของพระพุทธองค์ ซึ่งพระพุทธรูปองค์นี้ ส่วนพระพักตร์เป็นของสมเด็จองค์ปฐม
การทำพิธีอย่างนี้ก็เพื่อเป็นเคล็ดพิธีว่า เราจะไม่กลับมาเกิดอีก ขอฝากดวงชะตาชาตินี้ไว้ใต้ผืนแผ่นดินนี้เป็นครั้งสุดท้าย
ต่อไปจะไม่มีชะตาชีวิตอย่างนี้อีกแล้ว
โดยมีญาติโยมนั่งและยืนพนมมือมุงดูอยู่ข้างบน ผู้เขียนแหงนมองขึ้นไปโดยรอบ เห็นแต่ละคนมีใบหน้ายิ้มแย้ม ต่างก็ช่วยกันส่งวัตถุสิ่งของต่างๆ
โดยเฉพาะผอบหินและพระเจดีย์หินอันเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ได้ถูกวางไว้บนแผ่นดวงชะตาของประเทศไทย พร้อมกับแผ่นดวงชะตาของพวกเราทุกคน
ได้ถูกบรรจุรวมไว้กับพระบรมสารีริกธาตุ
ต่อจากนั้นพวกที่อยู่ข้างบน ต่างก็ช่วยกันส่งอิฐเงินอิฐทองที่มีมากมายนับร้อยก้อนลงมาวางเรียงไว้ก้นหลุมทั้งหมด แล้วก็โปรยกลีบดอกไม้หลายหลากสี
มองดูแล้วสวยงามมาก ทั้งสีเหลืองสีแดงและสีขาว ภาพการทำพิธีแบบโบราณ คือวิธีการฝังไว้ใต้ดินนี้ เป็นภาพที่ไม่ค่อยจะได้เห็นบ่อยนัก
ในขณะที่ทำพิธีอยู่นี้ พระภิกษุสงฆ์ที่นั่งอยู่บนอาสนะหลายสิบรูป ต่างก็เจริญชัยมงคลคาถา เสียงฆ้องกลองและเสียงพิณพาทย์ก็ได้บรรเลงขึ้น พร้อมกับเสียงพลุ ๒๑
นัด ดังลั่นตลอดพิธี
จึงถือว่าสถานที่แห่งนี้เป็นมหามงคลยิ่ง ที่จะได้เป็นที่สถิตของพระบรมสารีริกธาตุไว้ใต้ดินภายในพระจุฬามณี ในขณะที่จะเสร็จพิธีนี้
พอดีมีโยมผู้หญิงคนหนึ่งถวายสร้อย ส่งลงมาให้ผู้เขียนอีก ซึ่งขณะนั้นพระองค์อื่นก็เดินขึ้นไปหมดแล้ว ส่วนผู้เขียนก็คิดว่าจะเดินขึ้นบันไดตามไปทีหลัง
แต่เมื่อญาติโยมส่งสร้อยมา จึงได้นำไปคล้องไว้ที่ยอดเจดีย์หินนั้น เพียงเส้นเดียวเท่านั้นเอง ผลปรากฏว่าเป็นที่ชอบใจ
โดยเฉพาะคนที่ยังอยู่เมื่อเห็นว่ามีคนอื่นถวายอีก ทั้งๆ ที่ตนเองก็ถอดถวายไปก่อนแล้ว ภาพแบบนี้เหมือนกับที่เขาแขวนบูชาพระเขี้ยวแก้วที่ประเทศศรีลังกา
จะเห็นว่าที่ผอบแก้วนั้น มีสร้อยสังวาลย์และของมีค่าต่าง ๆ ที่เป็นเครื่องประดับกายคล้องบูชาไว้มากมาย
จากภาพเหตุการณ์ที่วัตถุสิ่งของเครื่องบูชาอันมีค่าทั้งหลายนี้ ญาติโยมที่ร่วมพิธีในครั้งนั้น คงจะระลึกถึงภาพเหล่านี้ จากความทรงจำได้เป็นอย่างดี
เพราะทุกคนได้ถวายไว้ เป็นพุทธบูชา ณ อาณาจักรศรีสัชนาลัย อันเป็น แผ่นดินพ่อและแม่ ของพวกเราทุกคน โดยเฉพาะเครื่องประดับที่เป็นทองคำ
คิดว่ารวมกันแล้วคงจะมีน้ำหนักหลายกิโลกรัม
นับว่าทุกท่านได้บูชาด้วยเครื่องประดับที่ล้ำค่าอันเป็นที่รักของตน อย่างไม่หวงแหนและเสียดาย เหมือนกับได้เคยกระทำแต่ชาติปางก่อนมาแล้วหลายวาระ
เพื่อที่หวังผลคือความฝันอันสูงสุด และที่เป็นความสุขอย่างยอดเยี่ยม นั่นก็คือสุดยอดแห่งพระนิพพาน..ด้วยประการฉะนี้ !!!
---(โปรดติดตามตอนต่อไป)---
@ ตามรอยท่านพ่อ-ท่านแม่..ณ ศรีสัชนาลัย ปี 2548 (ตอนที่ 9)
...นับตั้งแต่การทอดกฐินเมื่อปี 2542 โดยเริ่มการสร้างศาลาปฏิบัติธรรม ณ วัดพระร่วงผดุงธรรม (วัดสิริเขตคีรี) ในเวลาต่อมาปี 2543 - 2544 - 2545
ได้มีการจัดงานทอดกฐิน 3 ปีซ้อน เพื่อสร้าง "พระจุฬามณี" และกลางคืนก็มีการจัดงานประเพณีลอยโคมใน "วันลอยกระทง" จนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
นับว่าเป็นเรื่องที่แปลกมาก ปี 2543-2545 ปฏิทิน 3 ปีนี้ สามารถจัดงานลอยกระทงได้ทุกปี พอถึง 2546 เป็นต้นมาก็ไม่สามารถจัดงานได้อีก
เพราะวันลอยกระทงไม่ตรงกับวันหยุดนั่นเอง
...จากนั้นในปี 2548 ก็ได้มีการสร้างพระอุโบสถ 2 ชั้น (ชั้นล่างเป็นศาลาเอนกประสงค์ โดยมีสมเด็จองค์ปฐมเรือนแก้วเป็นประธาน) และชั้นบนมีสมเด็จองค์ปฐม
ทรงเครื่องพระนิพพาน เป็นประธาน พร้อมด้วยพระอัครสาวกทั้งสอง ทรงเครื่องพระนิพพานด้วยเช่นกัน
พระอุโบสถประดับด้วยโมเสคสีมุก จากโรงงาน COTTO ด้วยกรรมวิธีพิเศษ จัดทำโดย คุณพิชิต ไม้พุ่ม กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCG
(ปัจจุบันได้ไปช่วยงานที่วัดธรรมยาน)
หลังจากสร้างพระอุโบสถเรียบร้อยแล้ว จึงได้ทำพิธียกช่อฟ้า และ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ "สมเด็จองค์ปฐม" บนพระเศียรพระประธานในพระอุโบสถ
โดยท่านเจ้าคุณพระราชภาวนาโกศล เป็นประธาน พร้อมด้วย พระครูสมุห์พิชิต (โอ) ฐิตวีโร และ พระครูภาวนาธรรมนิเทศก์ (อาจินต์) เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2548
**(ยังมีคลิปวีดีโออีก 2 ตอน)
...ครั้นถึงปี 2549 ก็สามารถจัดงานฝังลูกนิมิตได้เป็นผลสำเร็จ โดยขอพระราชทานวิสุงคามสีมา และตั้งเป็นวัดได้ชื่อว่า "วัดสิริเขตคีรี" พร้อมกับสร้าง
"พระพุทธพรชัยมงคลมุนี" ประจำทิศเหนือ อีกองค์หนึ่งครบ 4 ทิศพอดี
|