Not logged in [Login - Register]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites ตั้งหัวข้อใหม่
[*] posted on 8/7/08 at 17:43 [ QUOTE ]

หลักการปฏิบัติธุดงค์ (ตอนที่ 4 เกิดสมัยพระปทุมุตตระพุทธเจ้า)


 « ตอนที่ 3 ประวัติพระมหากัสสปเถระ

เกิดสมัยของพระปทุมุตตระพุทธเจ้า


กระทำมหาทาน "พระปทุมุตตระพุทธเจ้า" กับภิกษุหกล้านแปดแสนองค์

...ได้ยินว่า ในอดีตกาล ปลายแสนกัป ในสมัยของพระพุทธเจ้าพระนาม "พระปทุมุตตระ" เมื่อพระองค์เสด็จเข้าไปอาศัยกรุงหงสวดี ประทับอยู่ในเขมมฤคทายวัน มีเศรษฐีผู้หนึ่งชื่อว่า "เวเทหะ" มีทรัพย์สมบัติ ๘๐ โกฎิ เมื่อรับประทานอาหารเช้าแล้วก็สมาทานอุโบสถศีล ถือของหอมและดอกไม้เป็นต้นไปพระวิหาร เพื่อบูชาองค์พระศาสดา

ครั้นถึงแล้วจึงไหว้แล้วนั่งอยู่ในพระวิหารนั้น ขณะนั้นพระปทุมุตตระพุทธเจ้าได้กระทำการสถาปนาสาวกองค์ที่ ๓ นามว่า มหานิสภเถระ ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะผู้เป็นยอดของภิกษุผู้สอนธุดงค์ เวเทหะอุบาสกได้ฟังพระดำรัสนั้นแล้วก็บังเกิดความเลื่อมใส จนเมื่อเวลาจบพระธรรมกถาแล้ว หมู่พุทธบริษัทอื่นก็ได้ออกไปจากพระวิหารแล้ว เวเทหะอุบาสกจึงถวายบังคมพระศาสดาแล้วกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์ทรงรับอาราธนาของข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้

พระศาสดาตรัสว่า อุบาสก ภิกษุสงฆ์มากนะ

อุบาสกทูลถามว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ภิกษุสงฆ์ทั้งสิ้นมีประมาณเท่าไร พระพุทธเจ้าข้า?

พระศาสดาตรัสว่า มีประมาณหกล้านแปดแสนองค์

อุบาสกกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขออาราธนาพระภิกษุสงฆ์ทั้งหมด แม้แต่สามเณรรูปเดียวก็อย่าเหลือไว้ในวิหาร

พระศาสดาทรงรับนิมนต์ด้วยดุษณีภาพ เวเทหะอุบาสกรู้ว่าพระศาสดาทรงรับนิมนต์แล้ว จึงทูลลาแล้วกลับไปยังเรือนของตน แล้วตระเตรียมมหาทานในวันรุ่งขึ้น พร้อมกับส่งคนให้ไปกราบทูลเวลาภัตตาหารแด่พระศาสดา.

ในวันรุ่งขึ้นพระศาสดาทรงถือบาตรและจีวร มีภิกษุสงฆ์ห้อมล้อมไปยังเรือนของเวเทหะอุบาสก ทรงประทับนั่งบนอาสนะที่อุบาสกจัดไว้ถวาย ทรงเสวยภัตาหาร มีข้าวต้มเป็นต้น ในระหว่างนั้น เวเทหะอุบาสกก็นั่งอยู่ที่ใกล้พระศาสดา.

พบพระภิกษุผู้ถือธุดงควัตร

ระหว่างนั้น พระมหานิสภเถระ ผู้ซึ่งได้รับการสถาปนาเป็นเอตะทัคคะผู้เป็นยอดของภิกษุผู้สอนธุดงค์เมื่อวันวาน กำลังเที่ยวบิณฑบาต เดินไปยังถนนหน้าบ้านท่านเวเทหะอุบาสกนั้น อุบาสกเห็นพระเถระเดินบิณฑบาตอยู่ จึงลุกขึ้นไปไหว้พระเถระแล้วกล่าวนิมนต์ว่าว่า

ท่านผู้เจริญ..ขอท่านจงให้บาตร พระเถระได้ให้บาตร อุบาสกกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ขอนิมนต์เข้าไปในเรือนนี้แหละ ขณะนี้พระศาสดาก็ประทับนั่งอยู่ในเรือน

พระเถระกล่าวว่า ไม่ควรนะอุบาสก

อุบาสกรับบาตรของพระเถระใส่บิณฑบาตเต็มแล้ว ได้ นำออกไปถวาย จากนั้นได้เดินส่งพระเถระไป แล้วกลับมานั่งในที่ใกล้พระศาสดา กราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระมหานิสภเถระนี้ แม้ข้าพระองค์กล่าวว่า พระศาสดาประทับอยู่ในเรือน ท่านก็ไม่ปรารถนาจะเข้ามา พระมหานิสภเถระนั่น มีคุณยิ่งกว่าพระองค์หรือหนอ อันธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่มีวรรณมัจฉริยะ (ตระหนี่คุณความดีของคนอื่น)

ลำดับนั้น พระศาสดาทรงตรัสว่า ดูก่อนอุบาสก เรานั่งคอยภัตตาหารอยู่ในเรือน แต่พระมหานิสภเถระนั้นไม่นั่งคอยภิกษาในเรือนอย่างนี้ เราอยู่ในเมือง พระมหานิสภเถระนั้นอยู่ในป่าเท่านั้น เราอยู่ในที่มุมบัง พระมหานิสภเถระนั้นอยู่กลางแจ้งเท่านั้น ดังนั้น พระมหานิสภเถระนั้นมีคุณอย่างนี้

ตั้งความปรารถนาจะเป็นเอตทัคคะ

เวเทหะอุบาสกนั้น ตามปกติก็เป็นผู้เลื่อมใสดียิ่งอยู่แล้ว เมื่อได้ฟังพระพุทธดำรัสดังนั้น จึงเป็นเสมือนไฟที่ลุกโพลงอยู่ แล้วยังถูกราดซ้ำด้วยน้ำมันฉะนั้น และคิดว่า สมบัติอื่นเราไม่ต้องการ เราเพียงปรารถนาความเป็นยอดของภิกษุทั้งหลายผู้ถือธุดงค์เป็นวัตรในสำนักของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต.

เวเทหะอุบาสกนั้นจึงได้นิมนต์พระศาสดาอีก และได้ทำการถวายมหาทานอย่างนั้นต่อไปอีก ๗ วัน ในวันที่ ๗ ได้ถวายไตรจีวรแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน เมื่อถวายทานแล้วเวเทหะอุบาสกได้หมอบกราบพระบาทของพระศาสดา แล้วกราบทูลว่า

"..ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรม ของข้าพระองค์ ผู้ถวายมหาทาน ๗ วัน ข้าพระองค์มิได้ปรารถนาสมบัติของเทวดา หรือสมบัติของท้าวสักกะ มาร และพรหม แม้สักอย่างหนึ่ง

ด้วยผลแห่งการถวายมหาทานนี้ จงเป็นปัจจัยให้ข้าพระองค์ได้เป็นยอดของภิกษุผู้ทรงธุดงค์ ๑๓ เช่นเดียวกับตำแหน่งของพระมหานิสภเถระ ในสำนักของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต.."

สมเด็จพระบรมศาสดาทรงตรวจดูว่า ที่เวเทหะอุบาสกปรารถนาตำแหน่งอันใหญ่นี้ จะสำเร็จหรือไม่ ครั้นทรงเห็นว่าความปรารถนาของอุบาสกนั้นสำเร็จ จึงทรงตรัสว่า ความปรารถนาในตำแหน่งนั้นของท่านจักสำเร็จในสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม ที่จักอุบัติขึ้นในอนาคตอีกแสนกัปนับจากนี้ ท่านจะเป็นพระสาวกที่ ๓ ของพระโคดมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่า"มหากัสสปเถระ"

เวเทหะอุบาสกได้ฟังพุทธพยากรณ์นั้นแล้ว ก็ปิติยินดีเป็นอย่างยิ่ง ด้วยทราบว่าพุทธพยากรณ์ของพระบรมศาสดาย่อมไม่มีเปลี่ยนเป็นอื่น ดังนั้นในระหว่างช่วงอายุที่เหลืออยู่ของอุบาสกนั้น เขาก็ได้ทำการถวายทานโดยประการต่าง ๆ รักษาศีล กระทำกุศลกรรมนานับประการ เมื่อเวเทหะอุบาสกสิ้นชีพแล้วก็ไปเกิดในสวรรค์.

เอกสาฏกพราหมณ์


นับแต่นั้น เขาได้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสุคติภูมิทั้งทั้งในภูมิเทวดาและมนุษย์ภูมิ จนในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ ในสมัยของ พระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งทรงประทับอยู่ในมฤคทายวัน กรุงพันธุมดี

อุบาสกนั้นก็จุติจากเทวโลกไปเกิดในตระกูลพราหมณ์เก่าแก่ตระกูลหนึ่ง.อาศัยอยู่กับนางพราหมณี พราหมณ์ และ พราหมณีนั้น มีผ้านุ่ง อยู่เพียงผืนเดียวเท่านั้น คนทั้งหลายจึงเรียกพราหมณ์นั้นว่า เอกสาฏกพราหมณ์ เมื่อเหล่าพราหมณ์ประชุมกัน ด้วยกิจบางอย่าง พราหมณ์ก็ต้องให้นางพราหมณีอยู่บ้าน ตนเองไปประชุมกับเหล่าพราหมณ์ เมื่อถึงคราวพวกพราหมณีประชุมกัน ตัวพราหมณ์เองก็ต้องอยู่บ้าน นางพราหมณีจะห่มผ้านั้นไปประชุม

พระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม

ในสมัยพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามวิปัสสีนั้น พระพุทธองค์จะทรงแสดงพระรรมเทศนาทุก ๆ ๗ ปี ในปีนั้น ซึ่งเป็นเวลาถึงกำหนดที่พระพุทธองค์จะทรงแสดงพระธรรมเทศนา ก็ได้มีความโกลาหลขึ้นอย่างใหญ่หลวง เทวดาทั้งหลายทั่วชมพูทวีป ได้บอกแก่เอกสาฏกพราหมณ์นั้นว่า พระศาสดาจะทรงแสดงธรรมในวันนี้ พราหมณ์ได้ทราบข่าวนั้น ก็พูดกะนางพราหมณีว่า

"..มหาจำเริญ เธอจักฟังธรรมกลางคืนหรือกลางวัน .."

นางพราหมณีพูดว่า "พวกฉันชื่อว่าเป็นหญิงแม่บ้าน ไม่อาจฟังกลางคืนได้ขอฟังกลางวันเถิด"

แล้วให้พราหมณ์อยู่เฝ้าบ้าน ส่วนตนเองนั้นก็ห่มผ้าซึ่งมีอยู่เพียงผืนเดียวไปฟังธรรมในตอนกลางวันพร้อมกับพวกอุบาสิกา ครั้นเมื่อฟังธรรมแล้ว ก็กลับมาพร้อมกับพวกอุบาสิกา ครั้นถึงเวลาค่ำพราหมณ์ ได้ให้นางพราหมณีอยู่บ้าน ตนเองก็ห่มผ้านั้นไปฟังพระธรรมเทศนายังพระวิหาร

เวลานั้นสมเด็จพระบรมศาสดาประทับนั่งบนธรรมาสน์ที่เขาตกแต่งไว้ท่ามกลางพุทธบริษัท ทรงแสดงธรรมกถาอันวิจิตร เมื่อพราหมณ์นั่งฟังธรรมอยู่ท้ายเหล่าพุทธบริษัท ก็บังเกิดปิติ ขึ้นทั่วทั้งร่างในเวลาปฐมยามนั่นเอง พราหมณ์นั้นจึงดึงผ้าที่ตนห่มออกมาคิดว่า จะถวายผ้าที่ตนห่มนั้นแด่พระทศพล

ในเวลาเดียวกันนั้นความหวงแหนในผ้าห่มซึ่งตนมีเพียงผืนเดียวก็บังเกิดขึ้นแก่พราหมณ์นั้น และคิดว่า พราหมณีกับเรามีผ้าห่มผืนเดียวเท่านั้น ผ้าห่ม ผืนอื่นใด ๆ เราก็ไม่มี และถ้าไม่มีผ้าห่มก็ออกไปข้างนอกไม่ได้ พราหมณ์นั้นจึงตกลงใจไม่ต้องการถวายโดยประการทั้งปวง

ครั้นเมื่อปฐมยามผ่านไป พราหมณ์ก็เกิดปีติเหมือนอย่างที่เกิดเมื่อช่วงปฐมยามขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งในช่วงมัชฌิมยาม พราหมณ์คิดเหมือนอย่างนั้น แล้วไม่ได้ถวายเหมือนเช่นนั้นอีก ครั้นเมื่อมัชฌิมยามล่วงไป ปีติเหมือนอย่างนั้นนั่นแหละ ก็เกิดขึ้นแก่พราหมณ์อีกเป็นครั้งที่สาม

ในช่วงปัจฉิมยาม พราหมณ์นั้นตัดสินใจว่า เป็นไรเป็นกัน ค่อยรู้กันทีหลัง คิดดังนั้นแล้วก็ดึงผ้าห่มมาวางแทบพระบาทพระบรมศาสดา ปรบมือขึ้น ๓ ครั้งแล้ว และร้องว่า

"..ชิตัง เม, ชิตัง เม, ชิตัง เม.." (เราชนะแล้ว ๆ ๆ).

เวลานั้น พระเจ้าพันธุมราชประทับนั่งสดับธรรมอยู่ภายในม่านหลังธรรมาสน์ ได้ทรงสดับดังนั้น จึงส่งราชบุรุษให้ไปถามพราหมณ์นั้นว่า เขาพูดทำไม เมื่อราชบุรุษไปถาม พราหมณ์จึงกล่าวว่า

"..คนอื่นนอกจากข้าพเจ้า เมื่อจะเอาชัยชนะต่อกองทัพข้าศึก จะต้องขึ้นพาหนะ เช่นช้างเป็นต้น ถือโล่หนัง และดาบเป็นอาวุธ เข้าต่อกรกับข้าศึกจึงจะได้ชัยชนะ แต่ชัยชนะเช่นนั้นไม่น่าอัศจรรย์ ส่วนตัวเราได้ทำลายจิตตระหนี่แล้ว ถวายผ้าที่ห่มอยู่แด่พระทศพล ชัยชนะของเรานั้นจึงน่าอัศจรรย์.."

ราชบุรุษจึงไปกราบทูลเรื่องราวนั้นแด่พระราชา พระราชารับสั่งว่า พวกเราไม่รู้สิ่งที่สมควรแก่พระทศพล แต่พราหมณ์นั้นรู้ จึงทรงรับสั่งให้ส่งผ้าสำรับหนึ่ง คือผ้านุ่งกับผ้าห่ม ไปพระราชทาน พราหมณ์เห็นผ้าคู่นั้นแล้วคิดว่า

ถ้าเรามิได้กระทำอะไรพระราชาก็คงไม่พระราชทานอะไรให้แก่เรา เป็นเพราะเรากล่าวคุณทั้งหลายของพระบรมศาสดาหรอก ท่านจึงได้พระราชทาน ดังนั้นจะมีประโยชน์อะไรแก่เรากับรางวัลที่ได้รับโดยอาศัยพระคุณของพระบรมศาสดา คิดดังนั้นจึงได้ถวายผ้าสำรับนั้นแด่พระทศพลเสียเลย

พระราชาตรัสถามว่า พราหมณ์ทำอย่างไร ทรงสดับว่า พราหมณ์ถวายผ้าสำรับนั้นนั้นแด่พระตถาคต จึงรับสั่งให้ส่งผ้าคู่ ๒ สำรับพระราชทานไปอีก พราหมณ์นั้นได้ถวายผ้าคู่ ๒ สำรับนั้นแด่พระศาสดา พระราชาก็ทรงส่งผ้าคู่ ๔ สำรับไปพระราชทานอีก พราหมณ์ก็นำผ้าที่ได้รับถวายพระศาสดาอีกเช่นเดิม ทำเช่นนี้จนกระทั่งพระราชาทรงส่งผ้าไปพระราชทาน ถึง ๓๒ สำรับ

พราหมณ์จึงคิดว่า การทำดังนี้ เป็นเหมือนตั้งใจจะให้พระราชทานเพิ่มขึ้นแล้วจึงจะรับเอา จึงถือเอาผ้า ๒ สำรับ คือ เพื่อตนเองสำรับ ๑ เพื่อนางพราหมณีสำรับ ๑ แล้วถวายพระทศพล ๓๐ สำรับ แต่นั้นมาพราหมณ์ก็ได้เป็นผู้คุ้นเคยกับพระบรมศาสดา

ครั้นวันหนึ่งพระราชาทรงสดับธรรมในสำนักของพระบรมศาสดาในฤดูหนาว ได้พระราชทานผ้ากัมพลแดงสำหรับห่ม ส่วนพระองค์มีมูลค่าพันหนึ่งแก่พราหมณ์ แล้วรับสั่งว่า นับแต่นี้ไป ท่านจงห่มผ้ากัมพลแดงผืนนี้ฟังธรรมเถิด พราหมณ์นั้นคิดว่า ผ้ากัมพลแดงนี้จะมีประโยชน์อะไรกับกายอันโสโครก เปื่อยเน่าของเรานี้ จึงได้ถวายทำเป็นเพดานเหนือเตียงของพระตถาคตภายในพระคันธกุฎี

อยู่มาวันหนึ่ง พระราชาเสด็จไปพระวิหารแต่เช้าตรู่ ประทับนั่งในที่ใกล้พระบรมศาสดาในพระคันธกุฏี ในขณะนั้น พระพุทธรัศมีมีพรรณ ๖ ประการ ส่องไปกระทบที่ผ้ากัมพล สีแดงของผ้ากัมพลก็บรรเจิดจ้าขึ้น พระราชาทอดพระเนตรเห็นก็จำได้จึงกราบทูลพระศาสดาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผ้ากัมพลผืนนี้ของข้าพระองค์ ๆ ให้เอกสาฏกพราหมณ์

พระทศพลทรงตรัสว่ามหาบพิตร พระองค์พระราชทานเพื่อบูชาพราหมณ์ พราหมณ์ถวายเพื่อบูชาอาตมภาพ พระราชาทรงเลื่อมใสว่า พราหมณ์รู้สิ่งที่เหมาะที่ควร พระองค์เองกลับไม่รู้ จึงพระราชทานสิ่งที่เป็นของเกื้อกูลแก่มนุษย์ทุกอย่าง ๆ ละ ๘ ชนิด ๘ ครั้ง ให้เป็นของประทานชื่อว่า สัพพัฏฐะกะทาน แล้วทรงตั้งให้เป็นปุโรหิต

พราหมณ์นั้นคิดว่า ชื่อว่าของ ๘ ชนิด ๘ ครั้ง ก็เป็น ๖๔ ชนิด จึงตั้งสลากภัต ๖๔ ที่ ถวายแด่พระสงฆ์ แล้วให้ทาน รักษาศีลตลอดชีวิต จุติจากชาตินั้นไปเกิดในสวรรค์.

ตอนที่ 5 เกิดในระหว่างกาลของพระพุทธโกนาคมน์ และพระพุทธกัสสป » 



[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
ตั้งหัวข้อใหม่

Go To Top