หลักการปฏิบัติธุดงค์ (ตอนที่ 6 กำเนิดเป็นปิบผลิมาณพ)
...ในระหว่างที่คนทั้งสองนั้นอยู่ในพรหมโลก พระศาสดาของเราทั้งหลายทรงอุบัติขึ้นในโลกประกาศพระธรรมจักรอันประเสริฐ เสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์โดยลำดับ
เมื่อครั้งพระศาสดาประทับอยู่ในกรุงราชคฤห์นั้น ปิบผลิมาณพนี้ก็จุติมาบังเกิดในท้องภรรยาหลวงของกบิลพราหมณ์ ในหมู่บ้านของพวกพราหมณ์ชื่อ "มหาติตถะ"
ในนครมคธ
นางภัททากาปิลานี ก็มาเกิดในท้องของภรรยาหลวงของพราหมณ์ โกลิยโคตร ในสาคลนคร ในนครมคธเช่นกัน เมื่อท่านทั้งสองนั้นเติบโตขึ้นโดยลำดับ
จนกระทั่งเมื่อ นางภัททา มีอายุได้ ๑๖ ปี และ ปิบผลิมาณพ มีอายุได้ ๒๐ ปี บิดามารดาได้เคี่ยวเข็นให้ท่านแต่งงานเพื่อดำรงวงศ์ตระกูล
ด้วยอำนาจบุพเพสันนิวาสท่านทั้งสองก็ต้องแต่งงานกัน แต่ก็ถือพรหมจรรย์จนกระทั่งออกบวช แล้วได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ดังที่เล่าผ่านไปแล้ว
ฉะนั้น อาการทรงรับพระมหากัสสปะเข้าในพระธรรมวินัย และโปรดให้รับพระพุทธโอวาท ๓ ข้อ พระอรรถกถาจารย์แยกเป็นวิธีอุปสัมปทาอย่างหนึ่ง ดุจประทานแก่
พระนางมหาปชาบดีโคตมี ด้วยให้รับ ครุธรรม ๘ ประการ แต่วิธีหลังแลเห็นชัด เพราะเป็นครั้งแรกที่ประทานสัมปทาแก่สตรีให้เป็นภิกษุณี
และไม่ได้ประทาน "เอหิภิกขุนีอุปสัมปทา" เลย ส่วนวิธีต้น เห็นไม่พ้นไปจากประทาน "เอหิภิกขุอุปสัมปทา"
พระมหากัสสปะได้ฟังพุทธโอวาททรงสั่งสอนแล้ว บำเพ็ญเพียรไม่ช้านัก ในวันที่แปดแต่อุปสมบท ได้สำเร็จพระอรหัต
ท่านได้รับยกย่องจากพระศาสดาโดยอาการเฉพาะพระองค์ คือทรงรับผ้าสังฆาฏิของท่านไปทรง ประทานผ้าสังฆาฏิของพระองค์ให้แก่ท่าน
ตรัสว่ามีธรรมเครื่องอยู่เสมอด้วยพระองค์ และทรงสรรเสริญว่าเป็นผู้ปฏิบัติมักน้อย สันโดษ ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายให้ถือเอาเป็นตัวอย่างว่า
ภิกษุทั้งหลาย กัสสปะผู้นี้ เป็นผู้สันโดษ ยินดีด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เภสัช ตามมีตามได้ ไม่มักมาก
และกล่าวสรรเสริญคุณของความสันโดษด้วยปัจจัยสี่นั้น เธอไม่ถึงความแสวงหาไม่ควร เหตุปัจจัยสี่นั้น แสวงหาไม่ได้ ก็ไม่สุะดุ้งตกใจ แสวงหาได้แล้ว
ก็ไม่เป็นคนกำหนดในปัจจัยสี่นั้นบริโภค ท่านทั้งหลายพึงศึกษาตามอย่างนั้น ท่านทั้งหลายอันเราสั่งสอนแล้ว พึงปฏิบัติเพื่อเป็นเช่นนั้นเถิด
ภิกษุทั้งหลาย กัสสปะเข้าไปใกล้สกุลชักกายและใจห่าง ประพฤติตนเป็นคนใหม่ ไม่คุ้นเคยเป็นนิตย์ ไม่คะนองกาย วาจา ใจ ในสกุลเป็นนิตย์
จิตไม่ข้องอยู่ในสกุลเหล่านั้นเพิกเฉย ตั้งจิตเป็นกลางว่า ผู้ใคร่ลาภ ก็จงได้ลาภ ผู้ใคร่บุญ ก็จงได้บุญ ตนได้ลาภมีใจฉันใด ผู้อื่นได้ก็มีใจฉันนั้น
ภิกษุใดแสดงธรรมแก่ผู้อื่น ด้วยคิดว่า ไฉนหนอ เขาพึงตั้งใจฟังธรรมของเรา ครั้นฟังธรรมแล้วจะพึงเลื่อมใสในธรรม เลื่อมใสแล้วจะพึงทำอาการของผู้เลื่อมใส
ธรรมเทศนาของภิกษุนั้นไม่บริสุทธิ์
ส่วนภิกษุใด แสดงธรรมแก่ผู้อื่นด้วยคิดว่า ธรรมอันพระศาสดากล่าวดีแล้ว ไฉนหนอเขาจะพึงฟังธรรมของเรา ครั้นฟังแล้วจะพึงรู้ธรรมนั้น
ครั้นรู้แล้วจะพึงปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น ภิกษุนั้น อาศัยความที่แห่งธรรมเป็นธรรมอันดี อาศัยกรุณาและเอ็นดูแสดงธรรมแก่ผู้อื่น
ธรรมเทศนาของภิกษุนั้นบริสุทธิ์แล้ว กัสสปะก็เหมือนอย่างนั้น เราสอนท่านทั้งหลาย ยกกัสสปะขึ้นเป็นตัวอย่าง ท่านทั้งหลายอันเราสอนแล้ว
จงปฏิบัติเพื่อเป็นอย่างนั้น
พระมหากัสสปะนั้น โดยปกติถือธุดงค์ ๓ อย่าง คือ ถือทรงผ้าบังสุกุลจีวรเป็นวัตร ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ถืออยู่ป่าเป็นวัตร
พระศาสดาทรงยกย่องว่า เป็นเยี่ยมแห่งภิกษุผู้ทรงธุดงค์ ครั้งหนึ่งท่านเข้าไปเฝ้าพระศาสดาที่เวฬุวัน พระศาสดาตรัสแก่ท่านว่า
กัสสปะ..เดี๋ยวนี้ท่านแก่แล้ว ผ้าป่าบังสุกุลจีวรที่เขาไม่นุ่งห่มของท่านนี้หนักนัก ท่านทรงจีวรที่คฤหบดีถวายเถิด จงฉันโภชนะในที่นิมนต์เถิด
และจงอยู่ในที่ใกล้เราเถิด
ท่านทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าเคยอยู่ในป่า เที่ยวบิณฑบาต ทรงผ้าบังสุกุลจีวร ใช้แต่ผ้าสามผืน มีความปรารถนาน้อย สันโดษ ชอบเงียบสงัด ไม่ชอบระคนด้วยหมู่
ปรารภความเพียรและพูดสรรเสริญคุณเช่นนั้นมานานแล้ว พระศาสดาตรัสถามว่า
กัสสปะ..ท่านเห็นอำนาจประโยชน์อะไร จึงประพฤติตนเช่นนั้น และสรรเสริญความเป็นเช่นนั้น ท่านทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าเห็นอำนาจประโยชน์สองอย่าง
คือการอยู่เป็นสุขในบัดนี้ของตนด้วย อนุเคราะห์ประชุมชนในภายหลังด้วย ประชุมชนภายหลังทราบว่า สาวกของพระพุทธเจ้า ท่านประพฤติตนอย่างนั้น จักถึงทิฏฐานุคติ
ปฏิบัติตามที่ตนได้เห็นได้ยิน ความปฏิบัตินั้น จักเป็นไปเพื่อประโยชน์และสุขแก่เขาสิ้นกาลนาน
พระศาสดาประทานสาธุการว่า ดีละ..ดีละ..กัสสปะ ท่านปฏิบัติเพื่อประโยชน์และสุขแก่ชนเป็นอันมาก ท่านจงทรงผ้าบังสุกุลจีวรของท่านเถิด
ท่านจงเที่ยวบิณฑบาตเถิด ท่านจงอยู่ในป่าเถิด
ด้วยความมักน้อยสันโดษ และปฏิบัติเคร่งครัดอย่างนี้ พระมหากัสสปะ ย่อมเป็นที่นับถือของสกุลทั้งหลาย มีคำกล่าวว่า ในกรุงราชคฤห์
สกุลที่ไม่ใช่ญาติก็คงเป็นอุปัฏฐากของท่าน แต่ท่านก็มิได้พัวพันห่วงใยอยู่ในสกุลเหล่านั้น ถึงคราวที่พระศาสดาจะเสด็จจาริกไปโปรดสัตว์
ท่านก็เตรียมตัวตามเสด็จโดยฐานเป็นสาวก แต่พระศาสดาตรัสให้อยู่เพื่อเจริญศรัทธา และปสาทะของชาวกรุงราชคฤห์ก็มี
พระมหากัสสปะนั้น ดีในการปฏิบัติ แต่หาพอใจในการสั่งสอนภิกษุสหธรรมิกไม่ ท่านระอาภิกษุปูนหลังว่าเป็นผู้ว่ายาก
ธรรมเทศนาอันเป็นอนุศาสนีของท่านจึงไม่มี คงมีแต่ธรรมภาษิตเนื่องมาจากสากัจฉา กับเพื่อนสาวกบ้าง กล่าวบริหารพระพุทธดำรัสบ้าง
อย่างไรก็ดีเรื่องที่เกี่ยวกับท่าน พระธรรมสังคาหกาจารย์ รวมสังคีติไว้หมวดหนึ่งในสังยุตนิกาย เรียกว่า กัสสปสังยุต
เป็นการไว้เกียรติคุณแห่งพระเถรเจ้า
พระมหากัสสปเถระ
กับการบัญญัติพระวินัยบางข้อ
ในการบัญญัติพระวินัยของพระพุทธองค์นั้น จะทรงบัญญัติขึ้นก็ต่อเมื่อมีเหตุให้ทรงต้องบัญญัติ จะไม่ทรงบัญญัติโดยไม่มีเหตุ พระวินัยที่ทรงบัญญัติขึ้นนั้น
หลายข้อก็มีเหตุเกี่ยวเนื่องกับพระมหากัสสปเถระดังนี้
อุปสมบทกรรม สวดอุปสัมปทาเปกขะระบุโคตร
ครั้งหนึ่ง มีผู้ประสงค์จะบวชในสำนักของท่านพระมหากัสสป
ท่านพระมหากัสสปจึงส่งทูตไปยังสำนักท่านพระอานนท์เพื่ออาราธนาท่านพระอานนท์ให้มาสวดอุปสัมปทาเปกขะ
ซึ่งการสวดอุปสัมปทาเปกขะนี้ผู้สวดจะต้องระบุนามของพระอุปัชฌาย์
ท่านพระอานนท์จึงตอบปฏิเสธไปเนื่องจากท่านไม่สามารถจะระบุนามของพระมหากัสสปได้ เพราะพระมหากัสสปเป็นที่เคารพของท่าน
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคจึงตรัสอนุญาตให้สวดระบุโคตรแทนการระบุนามได้.
อุปสมบทคู่
สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัสสปมีผู้ประสงค์จะบวชอยู่ ๒ คน ทั้งสองแก่งแย่งกันเพื่ออุปสมบทก่อน ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูล เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตให้ทำการอุปสมบทภิกษุ ๒ รูปในอนุสาวนาเดียวกัน.
พระมหากัสสปเถระเดินทางไปทำอุโบสถ
สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัสสปมาจากอันธกวินทวิหาร สู่พระนครราชคฤห์ เพื่อทำอุโบสถ ในระหว่างทางข้ามแม่น้ำเชี่ยวท่านเกือบถูกน้ำพัดไป จีวรของท่านเปียก
ภิกษุทั้งหลายจึงถามท่าน ท่านจึงเล่าเรื่องดังกล่าวให้ฟัง ภิกษุทั้งหลาย จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติพระวินัยว่า
สีมานั้นใดอันสงฆ์สมมติไว้แล้วให้มีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกัน สงฆ์จงสมมติสีมานั้น ให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร.
พระพุทธานุญาตการเย็บดามผ้าด้วยด้าย
สมัยหนึ่ง ผ้าอุตราสงค์ที่ทำด้วยผ้าบังสุกุล ของท่านพระมหากัสสปเป็นของหนัก ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
จึงทรงอนุญาตให้ทำการเย็บดามด้วยด้าย
สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๖ เรื่องภิกษุชาวรัฐอาฬวี
สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน อันเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นภิกษุทั้งหลายชาวรัฐอาฬวี
สร้างกุฎีซึ่งมีขนาดใหญ่ไม่มีกำหนด (ในขณะนั้นยังไม่มีพุทธบัญญัติเรื่องขนาดของกุฎี) กุฎีเหล่านั้นจึงไม่สำเร็จ
พวกภิกษุเหล่านั้นจึงต้องมีการวิงวอน มีการขอเขาอยู่ร่ำไป ประชาชนที่ถูกเบียดเบียนด้วยการวิงวอนด้วยการขอ พอเห็นภิกษุทั้งหลายแล้ว หวาดบ้าง สะดุ้งบ้าง
หนีไปเสียบ้าง เดินเลี่ยงไปเสียทางอื่นบ้าง เมินหน้าเสียบ้าง ปิดประตู เสียบ้าง แม้พบแม่โคเข้าก็หนี สำคัญว่าพวกภิกษุ.
ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปจำพรรษาอยู่ในพระนครราชคฤห์ แล้วออกเดินทางมุ่งไปรัฐอาฬวี เที่ยวจาริกไปโดยลำดับถึงรัฐอาฬวีแล้ว
พักอยู่ที่อัคคาฬวเจดีย์ในรัฐอาฬวีนั้น ครั้นเวลาเช้า ท่านพระมหากัสสปเข้าไปบิณฑบาต ในรัฐอาฬวี
ประชาชนเห็นท่านพระมหากัสสปแล้วหวาดบ้าง สะดุ้งบ้าง หลบหนีไปบ้าง เดินเลี่ยงไปทางอื่นบ้าง เมินหน้าบ้าง ปิดประตูบ้านบ้าง ครั้นท่านกลับจากบิณฑบาตแล้ว
เรียกภิกษุทั้งหลายมาถามถึงเหตุดังกล่าว ภิกษุจึงกราบเรียนเรื่องนั้นให้ท่านพระมหากัสสปทราบ
ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาค เสด็จจาริกไปถึงรัฐอาฬวีแล้ว ประทับอยู่ที่อัคคาฬวเจดีย์ในรัฐอาฬวีนั้น ท่านพระมหากัสสปจึงเข้าไปเฝ้า
แล้วได้กราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
ประชุมสงฆ์ทรงบัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ แล้วทรงสอบถามภิกษุชาวรัฐอาฬวี ถึงเหตุดังกล่าวว่าจริงหรือไม่ ภิกษุชาวรัฐอาฬวีเหล่านั้นทูลรับว่า
จริง พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ การกระทำของพวกเธอนั่น
ไม่เป็นไป เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้
การกระทำของพวกเธอนั่นเป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และ เพื่อความเป็นอย่างอื่น ของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว
ครั้นพระผู้มีพระภาค ทรงติเตียนภิกษุชาวรัฐอาฬวีโดยอเนกปริยายดั่งนี้ แล้วตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก
ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด
อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยายแล้ว จึงทรงบัญญัติพระวินัยไว้ดังนี้
พระบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุผู้จะสร้างกุฎีอันหาเจ้าของมิได้ เฉพาะตนเอง ด้วยอาการ ขอเอาเอง พึงสร้างให้ได้ประมาณ ประมาณในการสร้างกุฎีนั้นดังนี้ โดยยาว ๑๒ คืบ
โดยกว้างในร่วมใน ๗ คืบ ด้วยคืบสุคต พึงนำภิกษุทั้งหลายไปเพื่อแสดงที่ ภิกษุเหล่านั้นพึงแสดงที่อันไม่มีผู้จองไว้ อันมีชานรอบ
หากภิกษุสร้างกุฎีด้วยอาการขอเอาเอง ในที่อันมีผู้จองไว้ อันหาชานรอบมิได้ หรือไม่นำภิกษุทั้งหลายไปเพื่อแสดงที่
หรือสร้างให้ล่วงประมาณเป็นสังฆาทิเสส.ดังนี้:-
ตอนที่ 7
พระมหากัสสปเถระโปรดพุทธบริษัท »
|