Not logged in [Login - Register]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites ตั้งหัวข้อใหม่
[*] posted on 8/7/08 at 19:51 [ QUOTE ]

หลักการปฏิบัติธุดงค์ (ตอนที่ 8 พระมหากัสสปกับพระอานนท์)


 « ตอนที่ 7 พระมหากัสสปเถระโปรดพุทธบริษัท

พระมหากัสสปกล่าวตักเตือนพระอานนท์


[๕๑๘] สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัสสป อยู่ ณ พระเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน เขตพระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้น ท่านพระอานนท์ เที่ยวจาริกไปในทักขิณาคิรีชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่

ก็โดยสมัยนี้แล ภิกษุผู้เป็นสัทธิวิหาริก (ลูกศิษย์) ของท่านประมาณ ๓๐ รูป โดยมากยังเป็นเด็กหนุ่ม พากันลาสิกขา เวียนมาเพื่อความเป็นหินเพศ ฯ (หินเพศ เป็นเพศที่ต่ำทราม ท่านหมายถึงจะสึกกลับไปเป็นเป็น "ฆราวาส" อีกนั่นเอง)

[๕๑๙] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เที่ยวจาริกไปตามชอบใจในทักขิณาคิรีชนบท แล้วกลับไปสู่พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน เขตพระนครราชคฤห์ เข้าไปหาท่านพระมหากัสสปถึงที่อยู่

ครั้นเข้าไปหาแล้ว อภิวาทมหากัสสปแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อท่านพระอานนท์นั่งเรียบร้อยแล้ว ท่านพระมหากัสสปได้กล่าวปราศรัยกะท่านพระอานนท์ว่า

อาวุโสอานนท์ พระผู้มีพระภาคทรงอาศัยอำนาจประโยชน์เท่าไรหนอ จึงทรงบัญญัติ การขบฉันถึง ๓ หมวด ในตระกูลเข้าไว้ ฯ

[๕๒๐] ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ข้าแต่ท่านกัสสปผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงอาศัยอำนาจประโยชน์ ๓ ข้อ จึงได้ทรงบัญญัติการขบฉันถึง ๓ หมวดในตระกูลเข้าไว้ คือ

๑. เพื่อข่มคนหน้าด้าน
๒. เพื่อให้ภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รักอยู่เป็นสุข และ
๓. เพื่ออนุเคราะห์ตระกูล

โดยเหตุที่พวกมีความปรารถนาลามก อาศัยสมัครพรรคพวกแล้วจะพึงทำสงฆ์ให้แตกกันไม่ได้
พระผู้มีพระภาคทรงอาศัยอำนาจประโยชน์ ๓ ข้อเหล่านี้แล จึงได้ทรงบัญญัติการขบฉันถึง ๓ หมวดในตระกูลเข้าไว้ ฯ

[๕๒๑] ก. อาวุโสอานนท์ เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอเที่ยวไปกับภิกษุเหล่านี้ ผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้จักประมาณในโภชนะ ไม่ประกอบความเพียร เพื่อประโยชน์อะไรเล่า

เธอมัวแต่จาริกไปเหยียบย่ำข้าวกล้า มัวแต่จาริกไปเบียดเบียนตระกูล อาวุโสอานนท์ บริษัทของเธอย่อมลุ่ยหลุดไป สัทธิวิหาริกของเธอซึ่งโดยมากเป็นผู้ใหม่ ย่อมแตกกระจายไป เธอนี้ยังเป็นเด็ก ไม่รู้จักประมาณ ฯ

อ. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ บนศีรษะของกระผม ผมหงอกแล้วมิใช่หรือ ถึงอย่างนั้น พวกกระผมก็ยังไม่พ้นจากท่านพระมหากัสสปว่าเป็นเด็ก ฯ

ก. ก็เป็นจริงอย่างนั้น อาวุโสอานนท์ เธอยังไปเที่ยวกับภิกษุใหม่ๆ เหล่านี้ ผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้จักประมาณในโภชนะ ไม่ประกอบความเพียร

เธอมัวแต่จาริกไปเหยียบย่ำข้าวกล้า มัวแต่จาริกไปเบียดเบียนตระกูล อาวุโสอานนท์ บริษัทของเธอย่อมลุ่ยหลุดไป สัทธิวิหาริกของเธอซึ่งโดยมากเป็นผู้ใหม่ ย่อมแตกกระจายไป เธอนี้ยังเป็นเด็ก ไม่รู้จักประมาณ ฯ

(หมายเหตุ : ความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากัสสปกับพระอานนท์นั้น ความจริงท่านสนิทสนมกัน ด้วยพระมหากัสสปท่านรักและเอ็นดูพระอานนท์

จึงเห็นพระอานนท์เป็นเด็กอยู่เสมอ ส่วนพระอานนท์ก็เคารพพระมหากัสสปเช่นกัน แต่ลูกศิษย์ไม่เข้าใจ จึงมีเรื่องเกิดขึ้นจนได้ เรื่องนี้น่าจะเป็นอุทาหรณ์สอนใจได้เป็นอย่างดี)


ภิกษุณีถุลลนันทากล่าวปรามาสพระมหากัสสป

[๕๒๒] ภิกษุณีถุลลนันทา ได้ยินแล้วคิดว่า ทราบว่าพระผู้เป็นเจ้าอานนท์ผู้เป็นมุนีเปรื่องปราชญ์ ถูกพระผู้เป็นเจ้ามหากัสสปรุกรานด้วยวาทะว่า "เป็นเด็ก" ไม่พอใจ จึงเปล่งวาจาแสดงความไม่พอใจว่า

อะไรเล่า..พระผู้เป็นเจ้ามหากัสสป ผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ จึงสำคัญพระคุณเจ้าอานนท์ผู้เป็นมุนีเปรื่องปราชญ์ ว่าตนควรรุกรานด้วยวาทะว่าเป็นเด็ก ท่านพระมหากัสสปได้ยินภิกษุณีถุลลนันทากล่าววาจานี้แล้ว ฯ

พระมหาเถระจำเป็นต้องประกาศคุณธรรมของตนเอง

[๕๒๓] ครั้งนั้นแล ท่านมหากัสสปจึงกล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า อาวุโสอานนท์ ภิกษุณีถุลลนันทายังไม่ทันพิจารณา ก็กล่าววาจาพล่อยๆ เพราะเราเองปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ไม่นึกเลยว่าเราบวชอุทิศศาสดาอื่น นอกจากพระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ครั้งก่อน เมื่อเรายังเป็นคฤหัสถ์เคยคิดว่า ฆราวาสช่างคับแคบเป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาปลอดโปร่ง ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียว ประดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่ายนัก ทางที่ดี เราควรปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

สมัยต่อมา เราทำผ้าสังฆาฏิแห่งผ้าที่เก่า ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต อุทิศเฉพาะท่านผู้เป็นพระอรหันต์ในโลก เมื่อบวชแล้วยังเดินไปสิ้นระยะทางไกล ได้พบพระผู้มีพระภาคระหว่างเมืองราชคฤห์กับบ้านนาฬันทคาม กำลังประทับนั่งอยู่ ณ พหุปุตตเจดีย์

พอพบเข้าแล้วก็รำพึงอยู่ว่า เราพบพระศาสดา ก็เป็นอันพบพระผู้มีพระภาคด้วย เราพบพระสุคต ก็เป็นอันพบพระผู้มีพระภาคด้วย เราพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เป็นอันพบพระผู้มีพระภาคด้วย

อาวุโส..เรานั้นจึงซบเศียรเกล้าลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาค ณ ที่นั้นเอง ได้กราบทูลกะพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นพระศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นพระศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก ดังนี้ ฯ

[๕๒๔] เมื่อเรากราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะเราว่า ดูกรกัสสป ผู้ใดเล่ายังไม่ทราบชัดถึงสาวกผู้ประมวลมาด้วยจิตทั้งหมด อย่างนี้แล้วจะพึงพูดว่ารู้ ยังไม่เห็นเลยจะพึงพูดว่าเห็นศีรษะของบุคคลนั้นพึงแตก

ดูกรกัสสป แต่เรารู้อยู่ จึงพูดว่ารู้ เห็นอยู่ จึงพูดว่าเห็น เพราะเหตุนั้นแหละกัสสป เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า

เราจักเข้าไปตั้งหิริโอตตัปปะอย่างแรงกล้าในภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระ ผู้นวกะ ผู้มัชฌิมะ ...

เราจักฟังธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งประกอบด้วยกุศล จักกระทำธรรมนั้นทั้งหมดให้เกิดประโยชน์ ใส่ใจถึงธรรมนั้นทั้งหมด จักประมวลมาด้วยจิตทั้งหมด เงี่ยโสตสดับพระธรรม

เราจักไม่ละกายคตาสติที่สหรคตด้วยกุศลความสำราญ ดูกรกัสสป เธอพึงศึกษาอย่างนี้แหละ

ดูกรอาวุโส พระผู้มีพระภาคทรงโอวาทเราด้วยพระโอวาทนี้เสด็จลุกจากอาสนะแล้วทรงหลีกไป ดูกรอาวุโส เราเป็นหนี้ บริโภคก้อนข้าวของราษฎรถึงหนึ่งสัปดาห์ วันที่ ๘ พระอรหันตผลจึงปรากฏขึ้น

คราวนั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกจากหนทางตรงไปยังโคนต้นไม้แห่งหนึ่ง เราจึงเอาผ้าสังฆาฏิแห่งผ้าที่เก่าปูเป็นสี่ชั้นถวาย แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนผ้าผืนนี้ เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพระองค์ตลอดกาลนาน

ดูกรอาวุโส พระผู้มีพระภาคก็ประทับนั่งบนอาสนะที่จัดถวาย ครั้นประทับนั่งแล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะเราว่า กัสสป..ผ้าสังฆาฏิแห่งผ้าที่เก่าของเธอผืนนี้อ่อนนุ่ม เราก็กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดอนุเคราะห์ทรงรับผ้าสังฆาฏิแห่งผ้าที่เก่าของข้าพระองค์เถิด

พระองค์ตรัสว่า ดูกรกัสสป เธอจักครองผ้าบังสุกุลที่ทำด้วยผ้าป่านซึ่งยังใหม่หรือ เราก็กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักครองผ้าบังสุกุลที่ทำด้วยผ้าป่านซึ่งยังใหม่ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้ ฯ

[๕๒๕] ดูกรอาวุโส เราได้มอบถวายผ้าสังฆาฏิแห่งผ้าที่เก่าแด่พระผู้มีพระภาค และได้รับผ้าบังสุกุลที่ทำด้วยผ้าป่านซึ่งยังใหม่ของพระผู้มีพระภาค

ดูกรอาวุโส ก็เมื่อบุคคลจะพูดให้ถูก พึงพูดถึงผู้ใดว่า บุตรผู้เกิดแต่อก เกิดแต่พระโอฐ ของพระผู้มีพระภาค เกิดแต่พระธรรม อันธรรมนิรมิตแล้ว เป็นธรรมทายาท จึงรับผ้าบังสุกุลที่ทำด้วยผ้าป่านซึ่งยังใหม่

เขาเมื่อจะพูดให้ถูก พึงพูดถึง ผู้นั้นคือเราว่า บุตรผู้เกิดแต่อก เกิดแต่พระโอฐ ของพระผู้มีพระภาค เกิดแต่พระธรรม อันธรรมนิรมิตแล้ว เป็นธรรมทายาท รับผ้าบังสุกุลที่ทำด้วยผ้าป่านซึ่งยังใหม่ ฯ

[๕๒๖] ดูกรอาวุโส เราหวังสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม แล้วเข้าถึงปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่ ดูกรอาวุโสเราหวัง ฯลฯ[อนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙ และอภิญญา ๙ มีเปยยาลอย่างนี้]

[๕๒๗] ดูกรอาวุโส เราทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันรู้ยิ่งเองในทิฏฐธรรม เข้าถึงอยู่ ผู้ใดสำคัญเราว่า ควรปกปิดด้วยอภิญญา ๖ ผู้นั้นก็ควรสำคัญช้าง ๗ ศอกหรือ ๗ ศอกครึ่งว่า จะพึงปกปิดด้วยใบตาลได้ ฯ

ก็และภิกษุณีถุลลนันทาเคลื่อนจากพรหมจรรย์เสียแล้ว ฯ

ที่มา - พระไตรปิฎกเล่มที่ 16 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 8 สังยุตตนิกาย นิทานวรรค กัสสปสังยุตต์ จีวรสูตร



พระมหากัสสปเถระถูกกล่าวโทษ

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภพระมหากัสสปเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อุยยุญชันติ" เป็นต้น.

ธรรมเนียมของพระพุทธเจ้าผู้จะเสด็จจาริก

ความพิสดารว่า ในสมัยหนึ่ง พระศาสดาทรงจำพรรษาอยู่ในกรุงราชคฤห์ รับสั่งให้แจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายว่า " โดยกาลล่วงไปกึ่งเดือน เราจักหลีกไปสู่ที่จาริก."

ได้ยินว่า การรับสั่งให้แจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายว่า "บัดนี้เราจักหลีกไปสู่ที่จาริกโดยกาลล่วงไปกึ่งเดือน" ดังนี้ ด้วยทรงประสงค์ว่า "ภิกษุทั้งหลายจักทำกิจต่าง ๆ มีการระบมบาตรและย้อมจีวรเป็นต้นของตนแล้ว จักไปตามสบาย ด้วยอาการอย่างนี้ "

นี้เป็นธรรมเนียนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้มีพระประสงค์จะเสด็จจาริกไปกับพวกภิกษุ. ก็เมื่อภิกษุทั้งหลายกำลังทำกิจต่าง ๆ มีการระบมบาตรเป็นต้นของตนอยู่. แม้พระมหากัสสปเถระ ก็ชักจีวรทั้งหลายแล้ว.

พวกภิกษุ (กล่าวหา) ว่าพระเถระละญาติและอุปัฏฐากไปไม่ได้

พวกภิกษุยกโทษว่า "เพราะเหตุไร พระเถระจึงชักจีวร ? ในพระนครนี้ ทั้งภายในและภายนอก มีมนุษย์อาศัยอยู่ ๑๘ โกฏิ

บรรดามนุษย์เหล่านั้น พวกใดไม่เป็นญาติของพระเถระ, พวกนั้นเป็นอุปัฏฐาก, พวกใดไม่เป็นอุปัฏฐาก, พวกนั้นเป็นญาติ ชนเหล่านั้นย่อมทำความนับถือ ( และ ) สักการะแก่พระเถระด้วยปัจจัย ๔

พระเถระนั้น จักละอุปการะมีประมาณเท่านั้นไป ณ ที่ไหนได้; แม้หากพึงไปได้ ก็จักไม่ไป เลยจากซอกชื่อ "มาปมาทะ".

ดังได้สดับมา พระศาสดาเสด็จถึงซอกใดแล้ว ย่อมตรัสบอกภิกษุทั้งหลาย ผู้ควรที่พระองค์พึงให้กลับอีกว่า

"เธอทั้งหลายจงกลับเสียแต่ที่นี้, อย่าประมาท," ซอกนั้นชาวโลกเรียกว่า "ซอกมาปมาทะ," คำนั่นภิกษุทั้งหลายกล่าวหมายเอาซอกมาปมาทะนั้น.

รับสั่งให้พระมหากัสสปกลับ

แม้พระศาสดาเสด็จหลีกไปสู่ที่จาริกพลางดำริว่า " ในนครนี้ทั้งภายใน ทั้งภายนอก มีมนุษย์อยู่ ๑๘ โกฏิ. อันภิกษุจะต้องไปในที่ทำการมงคลและอวมงคลของมนุษย์ทั้งหลายมีอยู่, เราไม่อาจทำวิหารให้เปล่าได้เราจักให้ใครหนอแลกลับ."

ลำดับนั้น พระองค์ได้ทรงมีพระปริวิตกอย่างนี้ว่า "ก็พวกมนุษย์เหล่านั้น เป็นทั้งญาติเป็นทั้งอุปัฏฐากของกัสสป, เราควรให้กัสสปกลับ."

พระองค์ตรัสกะพระเถระว่า " กัสสป เราไม่อาจทำวิหารให้เปล่าได้, ความต้องการด้วยภิกษุ ในที่ทำมงคลและอวมงคลทั้งหลาย ของพวกมนุษย์มีอยู่, เธอกับบริษัทของตน จงกลับเถิด." พระเถระทูลว่า "ดีละ พระเจ้าข้า" แล้วพาบริษัทกลับ.

ภิกษุทั้งหลายโพนทะนาว่า " ผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านเห็นไหมละ, พวกเราพูดประเดี๋ยวนี้เองมิใช่หรือ ? คำที่พวกเราพูดว่า 'เพราะเหตุไร พระมหากสัสปจึงชักจีวร ? ท่านจักไม่ไปกับพระศาสดา,' ดังนี้นั่นแลเกิด เป็นจริง แล้ว."

ทรงชี้แจงเหตุที่พระมหากัสสปกลับ

พระศาสดาทรงสดับถ้อยคำของภิกษุทั้งหลายแล้วเสด็จกลับประทับยืน ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอกล่าวชื่ออะไรกันนั่น ?" ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า "พวกข้าพระองค์ กล่าวปรารภพระมหากัสสปเถระ พระเจ้าข้า" ดังนี้แล้ว กราบทูลเรื่องราวทั้งหมดตามแนวความที่ตนกล่าวแล้วนั่นแล.

พระศาสดาทรงสดับคำนั้นแล้ว ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอกล่าว (หา) กัสสปว่า ข้องแล้วในตระกูลและในปัจจัยทั้งหลาย,' (แต่ความจริง) เธอกลับแล้ว ด้วยทำในใจว่า 'เราจักทำตามคำของเรา (ตถาคต).' ก็กัสสปนั่น แม้ในกาลก่อน เมื่อจะทำความปรารถนานั่นแล ก็ได้ทำความปรารถนาว่า

'เราพึงเป็นผู้ไม่ข้องในปัจจัย ๔ มีอุปมาดังพระจันทร์ สามารถเข้าไปสู่ตระกูลทั้งหลายได้,' กัสสปนั่น ไม่มีความข้องในตระกูลหรือในปัจจัยทั้งหลาย; เราเมื่อจะกล่าวข้อปฏิบัติอันเปรียบด้วยพระจันทร์ และข้อปฏิบัติแห่งวงศ์ของพระอริยะ ก็กล่าวอ้างกัสสปให้ เป็นต้น."

พระศาสดาตรัสถึงการตั้งความปรารถนาเดิมของพระเถระ

ภิกษุทั้งหลายทูลถามพระศาสดาว่า "ก็พระเถระตั้งความปรารถนาไว้เมื่อไร ? พระเจ้าข้า."
พระศาสดา. พวกเธอประสงค์จะฟังหรือ ? ภิกษุทั้งหลาย.
พวกภิกษุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้าข้า.

พระศาสดาตรัสแก่ภิกษุเหล่านั้นว่า "ภิกษุทั้งหลาย ในที่สุดแห่งแสนกัลป์แต่กัลป์นี้ พระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลก"

ดังนี้แล้ว ตรัสความประพฤติในกาลก่อนของพระเถระทั้งหมด ตั้งต้นแต่ท่านตั้งความปรารถนาไว้ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า "ปทุมุตตระ"

ความตั้งปรารถนาเดิมนั้น "พระธรรมสังคาหกาจารย์" ให้พิสดารแล้ว ในพระบาลีอันแสดงประวัติของพระเถระนั่นแล.

ตรัสเปรียบพระเถระด้วยพระยาหงส์

ก็พระศาสดาครั้นตรัสบุรพจริตของพระเถระนี้ให้พิสดารแล้ว จึงตรัสว่า
"ภิกษุทั้งหลาย เพราะอย่างนี้แล เราจึงกล่าวข้อปฏิบัติอันเปรียบด้วยพระจันทร์ และข้อปฏิบัติแห่งวงศ์ของพระอริยะ อ้างเอากัสสปบุตรของเราให้เป็นต้น.

ชื่อว่าความข้องในปัจจัยก็ดี ตระกูลก็ดี วิหารก็ดี บริเวณก็ดี ย่อมไม่มีแก่บุตรของเรา. บุตรของเราไม่ข้องในอะไร ๆ เลย เหมือนพระยาหงส์ ร่อนลงในเปือกตม เที่ยวไปในเปือกตมนั้นแล้ว ก็บินไปฉะนั้น" ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรมจึงตรัสพระคาถานี้ว่า:-

อุยยุญชันติ สะตีมันโต นะ นิเกเต ระมันติ เต หังสาวะ ปัลละลัง หิตฺวา โอกะโมกัง ชะหันติ เต.

"ท่านผู้มีสติย่อมออก. ท่านย่อมไม่ยินดีในที่อยู่; ท่านละความห่วงใยเสีย เหมือนฝูงหงส์ ละเปือกตมไปฉะนั้น."

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บาทพระคาถาว่า อุยยุญชันติ สะตีมันโต ความว่า ท่านผู้ถึงความไพบูลย์แห่งสติ คือว่าท่านผู้มีอาสวะสิ้นแล้วย่อมขวนขวาย ร่ำอยู่ในคุณอันตนแทงตลอดแล้ว มีฌานและวิปัสสนาเป็นต้น

ด้วยนึกถึง ด้วยเข้าสมาบัติ ด้วยออกจากสมาบัติ ด้วยตั้งใจอยู่ในสมาบัติ และด้วยพิจารณาถึงบาทพระคาถาว่า นะ นิเกเค ระมันติ เต คือชื่อว่าความยินดีในที่ห่วงของท่าน ย่อมไม่มี.

บทว่า หังสาวะ นี้ เป็นแง่แห่งเทศนา. ก็นี้ความอธิบายในคำนี้ว่า :- ฝูงนกถือเอาเหยื่อของตน ในเปือกตมอันบริบูรณ์ด้วยเหยื่อแล้ว ในเวลาไป ไม่ทำความห่วงสักหน่อยในที่นั้นว่า "น้ำของเรา, ดอกปทุมของเรา, ดอกอุบลของเรา, ดอกบุณฑริกของเรา. หญ้าของเรา" หาความเสียดายมิได้เทียว ละประเทศนั้น บินเล่นไปในอากาศ ฉันใด :

พระขีณาสพทั้งหลายนั่น ก็ฉันนั้นแล แม้อยู่ในที่ใดที่หนึ่ง ไม่ข้องแล้วในสกุลเป็นต้นเทียวอยู่ แม้ในคราวไป ละที่นั้นไปอยู่ หาความห่วงหาความเสียดายว่า " วิหารของเรา, บริเวณของเรา, อุปัฏฐากของเรา" มิได้เทียว ไปอยู่.

บทว่า โอกโมกัง คือ อาลัย, ความว่า ละความห่วงทั้งปวงเสีย. ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

ที่มา - เว็บ //th.wikisource.org/wiki/



พระมหากัสสปเถระเดินทางไปทำอุโบสถ

[๑๖๒] ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระมหากัสสปมาจากอันธกวินทวิหาร สู่พระนครราชคฤห์เพื่อทำอุโบสถ ในระหว่างทางข้ามแม่น้ำ เกือบถูกน้ำพัดไป จีวรของท่านเปียก. ภิกษุทั้งหลายได้ถามท่านพระมหากัสสปว่า

อาวุโส..เพราะเหตุไร จีวรของท่านจึงเปียก? ท่านตอบว่า

อาวุโสทั้งหลาย ผมมาจากอันธกวินทวิหารสู่พระนครราชคฤห์ เพื่อทำอุโบสถ ณ ที่นี้ ได้ข้ามแม่น้ำ ในระหว่างทาง เกือบถูกน้ำพัดไป เพราะเหตุนั้น จีวรของผมจึงเปียก.

ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สีมานั้นใดอันสงฆ์สมมติไว้แล้วให้มีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกัน สงฆ์จงสมมติสีมานั้น ให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร.

ในคัมภีร์ "ธัมมปทัฏฐกถา" กล่าวว่า

ครั้งหนึ่ง พระอนุรุทธเถรเจ้า มีจีวรนุ่งเก่าแล้ว พระผู้เป็นเจ้าจึงไปเที่ยวหาผ้าในที่ต่าง ๆ ที่กองหยากเยื่อ เป็นต้น ในครั้งนั้นมีเทพธิดานางหนึ่งชื่อว่า ชาลินี ได้เห็นพระอนุรุทเถรเจ้าไปเที่ยวแสวงหาผ้าในที่ต่าง ๆ เหล่านั้น นางชาลินีเทพธิดาก็เกิดมีความเลื่อมใสศรัทธาในจริยาวัตรของพระอนุรุทธ

เมื่อพระอนุรุทธเห็นผ้านั้นแล้ว จึงได้ถือเอาด้วยการบังสุกุลว่า “ผ้านี้เป็นผ้าบังสุกุลอันอุกฤษ์หนอ” อาศัยต้นเหตุนี้ พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจึงนิยมกระทำมาจนทุกวันนี้ การทอดผ้าป่าทำกันหลายอย่าง คือ

ทำเป็นแบบหยวกกล้วยลอยไปก็มี
ทำเป็นถังมีของใส่ตั้งไว้
ทำเป็นโครงร่างมนุษย์มีสิ่งของใส่ไปก็มี
ทำเป็นโอ่งมีของใส่ตั้งไว้

เมื่อภิกษุเห็นเข้าก็จะบังสุกุลนำเอาไป สิ่งของต่าง ๆ ที่จัดไปทอดก็มี ข้าวสารบ้าง ไม้ขีดไฟ ผ้า กล้วย อ้อย น้ำตาล มะพร้าว ฯลฯ การทอดผ้าป่าไม่มีกำหนดเหมือนทอดกฐิน จะทอดได้ทุกฤดูกาล แต่นิยมทำต่อท้ายทอดกฐิน คือ เมื่อทอดกฐินแล้วก็จัดการทอดผ้าป่าตามไปด้วย ซึ่งเรียกว่า "ผ้าป่าหางกฐิน"

เวลาจะทอดผ้าป่านั้น ท่านให้ตั้งใจถวายต่อสงฆ์ไม่เจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง โดยการนำไปวางเสมือนว่าเป็นผ้าทิ้งอยู่ในป่า เมื่อภิกษุสามเณรมาพบเข้าก็ทำพิธีบังสุกุลเอาไป ก็เป็นอันหมดพิธี ไม่มีพิธีมากมายเหมือนการทอดกฐิน

เรื่องเกี่ยวกับการทอดผ้าป่าและอานิสงส์ มีเรื่องเล่ากันว่า เมื่อองค์สัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีพระชนมชีพอยู่ เมื่อวันเพ็ญเดือนสิบสองล่วงไปแล้ว พระมหากัสสปเถระ มีความประสงค์จะแสวงหาผ้าจีวร

พระผู้เป็นเจ้าจึงได้ถวายบังคมลาสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วถือเอาบริขารของท่านออกจากพระเชตวันมหาวิหาร แล้วเข้าไปในประเทศราวป่าแห่งหนึ่ง เพื่อจะเที่ยวแสวงหาผ้าบังสุกุลจีวร

ในกาลครั้งนั้น เมื่อพระมหากัสสปเถระกำลังออกเที่ยวหาผ้าบังสุกุลจีวรนั้น ด้วยอำนาจบารมีของท่าน จึงได้บันดาลให้บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของสมเด็จพระอินทราราชเกิดแข็งกระด้างผิดปกติ

พระอินทร์ได้พิจารณาดูก็ทรงแจ้งด้วยทิพยญาณว่า พระผู้เป็นเจ้ามหากัสสปมีความปรารถนาจะได้ซึ่งผ้าสาฏกเพื่อจะทำเป็นผ้าบังสุกุลจีวร

เมื่อท้าวเธอทรงทราบเช่นนี้แล้ว ก็มีพระทัยโสมนัสยิ่งนัก จึงทรงดำริว่า เรื่องนี้อาตมาจะนิ่งไว้ให้เนิ่นนานมิสมควร จำเป็นอาตมาจะลงสู่โลกมนุษย์ เพื่อช่วยให้พระผู้เป็นเจ้ากัสสปได้ผ้าบังสุกุลจีวรสมความปรารถนา

ครั้นทรงคิดเช่นนั้นแล้ว ก็นำเอาผ้าทิพย์เสด็จออกจากปราสาทลงสู่มนุษยโลก และท้าวเธอก็นำเอาผ้าทิพย์ผืนนั้นไปวางไว้ที่คาคบไม้ และทรงเนรมิตเป็นหนทางแคบ ๆ พอจะเดินได้โดยองค์เดียว

เมื่อทำทุกสิ่งทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว พระอินทร์ก็แปลงเพศเป็นพราหมณ์เข้าไปหาพระมหากัสสปเถระ ถวายนมัสการแล้วกล่าวว่า

ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า มีบุคคลเอาผ้าบังสุกุลจีวรมาพาดไว้ ณ ที่นั้น ขอนิมนต์พระผู้เป็นเจ้าได้พิจารณาเอาเป็นผ้าบังสุกุลเถิด

เมื่อพระมหากัสสปเถระได้ยินดังนั้น ก็เดินไปตามทางแคบ ๆ และบังสุกุลเอาผ้านั้น เมื่อได้กระแอมกระไอถึง 3 ครั้ง ครั้นไม่มีเจ้าของแน่แล้ว พระผู้เป็นเจ้าก็ชักเอาเป็นผ้าบังสุกุลด้วยพระบาลีว่า

อิมัง วัตถัง ปังสุกูลจีวรัง อัสสามิกัง มัยหัง ปาปณาติ แปลว่า ผ้านี้หาเจ้าของมิได้ อาตมาจะถือเอาเป็นผ้าบังสกุล

ในขณะที่พระมหากัสสปพิจารณาถือเอาเป็นผ้าบังสุกุลนั้น พระอินทร์ซึ่งแปลงองค์เป็นพราหมณ์ก็ปรากฏตัวขึ้นแล้วถามว่า “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ผ้านั้นมีเจ้าของหรือหาไม่”

พระมหากัสสปจึงตอบว่า “ดูก่อนอุบาสก ผ้านี้หาเจ้าของมิได้”

พราหมณ์ผู้เป็นพระอินทร์จึงเล่าเรื่องราวที่พระองค์ได้เสด็จลงมาถวายผ้าบังสุกุล พระมหากัสสปก็กล่าวว่า “สาธุ”

ครั้นแล้วพระมหากัสสปก็กลับสู่พระเชตวันมหาวิหารแล้ว จึงนำผ้าบังสุกุลไปถวายสมเด็จพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงรับผ้าบังสุกุลนั้นไว้

วันรุ่งขึ้นพระอินทร์ก็ได้จัดโภชนาหารอันเลิศรสมาถวายพระภิกษุสงฆ์ มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระประธาน

เมื่อประทับบนอาสนะแล้ว ก็ถวายอาหารบิณฑบาตแด่ภิกษุสงฆ์ พร้อมด้วยเครื่องปัจจัยทานอย่างอื่นอีกเป็นอีกมาก และได้ถวายผ้าบังสกุล เมื่อเสร็จแล้วก็ทูลถามถึงอานิสงส์ถวายผ้าบังสุกุลว่า

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า บุคคลที่นำผ้าบังสุกุลมาถวายจะได้อานิสงส์ประการใด ขอได้โปรดเทศนาแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด”

สมเด็จพระบรมศาสดาจึงทรงแสดงอานิสงส์ผู้ถวายผ้าบังสุกุลว่า เมื่อผู้นำผ้าบังสุกุลไปถวายภิกษุสงฆ์ในพระศาสนาแล้ว บุคคลนั้นเมื่อเกิดในชาติหน้าจะบริบูรณ์งดงามด้วยศรีแห่งกาย เป็นที่ชอบแก่เทวดาและมนุษย์ จะปราศจากโรคภัยไข้เจ็บทั้งปวง

อนึ่ง แผ่นธรณีอันหนาแน่นได้ 2 แสน 9 หมื่นโยชน์นี้ก็ดี อากาศอันกว้างขวางหาที่สิ้นสุดมิได้ก็ดี จะนำมาเปรียบกับผลานิสงส์ของบุคคลที่ได้ถวายผ้าบังสุกุลมิได้ ดังนี้แล.

ที่มา - เว็บ //cul.hcu.ac.th/phaba.htm



พราหมณ์ผู้บูชาแม่น้ำคงคา

เช้าวันหนึ่ง พระอานนท์ เข้าไปบิณฑบาตในเมืองสาวัตถี ได้พบพราหมณ์นามว่า สังครวะ ผู้มีความเชื่อถือว่า บุคคลจะบริสุทธิ์ได้ด้วยการอาบน้ำในแม่น้ำคงคาวันละ ๓ ครั้ง คือ เช้า กลางวัน และเย็น

บาปอันใดที่ทำในเวลาราตรี บาปนั้นย่อมล้างได้ลอยได้ ด้วยการอาบน้ำในเวลาเช้า และอาบน้ำในเวลากลางวัน เพื่อล้างบาปที่ทำตั้งแต่เช้าจนเที่ยง อาบน้ำในเวลาเย็น เพื่อล้างบาปอันอาจจะเกิดขึ้นในเวลาหลังเที่ยง น้ำที่จะอาบนั้นต้องเป็นน้ำในแม่คงคา

โดยถือว่าได้ไหลมาจากแดนสวรรค์ ผ่านเศียรพระศิวะผู้เป็นเจ้ามาแล้ว ไม่เพียงแต่ล้างบาปอย่างเดียวเท่านั้น แต่สามารถบำบัดโรคภัยไข้เจ็บอีกด้วย และเมื่ออาบน้ำในพระแม่คงคาทุกวัน ตายแล้วย่อมไปสู่สวรรค์ ได้สถิตอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นของธรรมดาที่จะมองเห็นโยคีและผู้บำเพ็ญพรตนิกายต่างๆ ทั้งสองฝั่งแม่น้ำคงคาตอนเหนือแถบภูเขาหิมาลัย ทรมานตนอยู่ด้วยวิธีแปลกๆ ตามแต่ตนจะเห็นว่าอย่างไรไหนดี และสามารถเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้าได้

บางพวกนอนบนหนาม บางพวกคลุกตนด้วยขี้เถ้า บางพวกยืนยกขาข้างเดียวอ้าปากกินลมชมจันทร์ บางพวกยืนเอามือเหนี่ยวกิ่งไม้จนเล็บยาวออกมาแทบจะทะลุหลังมือ บางพวกบูชาไฟ และบูชาพระอาทิตย์

แต่ก็มีอยู่ไม่น้อยที่โยคีบางพวกบำเพ็ญเพียรทางจิตจนได้บรรลุฌานขั้นต่างๆ สามารถมองเห็นเหตุการณ์ทั้งอดีต อนาคต เหมือนประสบมาเอง บางคนสามารถได้เจโตปริยญาณ คือรู้วาระจิตของผู้อื่น ตอบปัญหาได้โดยที่ผู้ถามเพียงนึกถามอยู่ในใจเท่านั้น

พระอานนท์ได้เห็น "สังครวพราหมณ์" ผู้ถือการลงอาบน้ำในแม่น้ำคงคาเป็นอาจิณวัตรดังนั้นแล้ว มากราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

"พระองค์ผู้เจริญ! สังควรพราหมณ์เวลานี้อยู่ในวัยชรา มีอัธยาศัยงามพอสนทนาได้อยู่ แต่อาศัยความเชื่อถือเก่าๆ จึงยังมองไม่เห็นทางปฏิบัติที่ถูกต้อง ขอพระผู้มีพระภาคจงอาศัยพระมหากรุณา เสด็จไปโปรดสังควรพราหมณ์สักครั้งเถิด"

พระพุทธองค์ทรงรับอาราธนาของพระอานนท์ด้วยอาการดุษณี วันรุ่งขึ้นเสด็จไปสู่นิเวศน์ของพราหมณ์นั้นเหมือนเสด็จเยี่ยมอย่างธรรมดา เมื่อสัมโมทนียกถาล่วงไปแล้ว พระพุทธองค์จึงตรัสว่า

"พราหมณ์! เวลานี้ท่านยังอาบน้ำดำเกล้าในแม่คงคาวันละ ๓ ครั้งอยู่หรือ?"
"ยังทำอยู่พระเจ้าข้า" พราหมณ์ทูลด้วยอาการนอบน้อม

"ท่านเห็นประโยชน์อย่างไรนะพราหมณ์ จึงต้องอาบน้ำดำเกล้าเฉพาะแต่ในแม่น้ำคงคาเท่านั้น ที่อื่นจะอาบได้หรือไม่ ที่ตถาคตถามนี้ ถามเพื่อต้องการความรู้ความเห็นเท่านั้น อย่าหาว่าตถาคตละลาบละล้วงในเรื่องส่วนตัวเลย"

"พระโคดมผู้เจริญ! ข้าพเจ้าได้รับฟังมาตั้งแต่อายุยังเยาว์ว่า แม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ สามารถชำระบาปมลทินทั้งปวงได้ เพราะได้ไหลผ่านเศียรพระศิวะผู้เป็นเจ้าลงมา เป็นแม่คงคาสวรรค์

ข้าพเจ้าจึงเลื่อมใส และปฏิบัติตามบุรพชน ซึ่งเคยถือปฏิบัติกันมา และข้าพเจ้าเชื่อว่าสามารถชำระบาปได้จริงๆ" พราหมณ์ทูลด้วยความมั่นใจ

"พราหมณ์! พระผู้มีพระภาคตรัสด้วยพระสุรเสียงที่อ่อนโยนนิ่มนวลและอย่างกันเอง "ขอให้ท่านนึกว่าเราสนทนาเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจกันเถิด ตถาคตจะขอถามท่านว่า บาปมลทินนั้นอยู่ที่กายหรืออยู่ที่ใจ?"

"อยู่ที่ใจซิ..พระโคดม"

"เมื่อบาปมลทินอยู่ที่ใจ การลงอาบน้ำชำระกายน้ำนั้นจะสามารถซึมซาบลงไปล้างใจด้วยหรือ?"

"แต่พระโคดมต้องไม่ลืมว่าน้ำนั้นมิใช่น้ำธรรมดา มันเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อกันว่าสามารถล้างบาปมลทินภายในได้"

"ท่านคิดว่าความเชื่อสามารถเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงซึ่งมีอยู่ในตัวมันเองอยู่แล้ว ให้เป็นอีกอย่างหนึ่งตามที่เราเชื่อหรือ?"

"เป็นไปมิได้เลย พระโคดม ความเชื่อมิอาจบิดเบือนความจริงได้ ความจริงย่อมทรงตัวของมันอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม"

"เป็นอันท่านยอมรับว่า ความเชื่อไม่อาจไปบิดเบือนความจริงได้ ก็การที่ท่านเชื่อว่า แม่น้ำคงคาสามารถล้างมลทินภายในได้นั้น มันจะเป็นจริงอย่างที่ท่านเชื่อละหรือ?

ดูก่อนพราหมณ์! อุปมาเหมือนบุรุษผู้หลงทางในป่า แล้วบ่ายหน้าไปทางทิศหนึ่ง ซึ่งตนเข้าใจว่าเป็นทิศตะวันออก แต่ความจริงมันเป็นทิศตะวันตก ความเชื่อของเขาไม่อาจจะไปเปลี่ยนทิศตะวันตกให้เป็นทิศตะวันออกได้ฉันใด

ความเชื่อของพราหมณ์เป็นอันมาก ที่เชื่อว่าแม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ สามารถล้างบาปได้ ก็ไม่อาจทำให้แม่น้ำนั้นล้างบาปได้จริงเลย จึงชวนกันเข้าใจผิดเหมือนบุรุษผู้หลงทางในป่านั้น

"ดูก่อนพราหมณ์! เปรียบเหมือนบุรุษผู้หนึ่งมีหม้อทองแดงอยู่ใบหนึ่ง มันเปื้อนเปรอะด้วยสิ่งปฏิกูลทั้งภายในและภายนอก เขาพยายามชำระล้างด้วยน้ำจำนวนมาก แต่ล้างแต่ภายนอกเท่านั้น หาได้ล้างภายในไม่ ท่านคิดว่าสิ่งปฏิกูลภายในจะพลอยหมดไปด้วยหรือ?"

"เป็นไปมิได้เลย พระโคดมผู้เจริญ บุรุษผู้นั้นย่อมเหนื่อยแรงเปล่า ไม่อาจทำให้ภายในหม้อสะอาดได้ สิ่งสกปรกเคยเกรอะกรังอยู่อย่างไรก็คงอยู่อย่างนั้น"

"ดูก่อนพราหมณ์! เรากล่าวกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ว่าเป็นสิ่งทำให้จิตใจสกปรก และสามารถชำระล้างได้ด้วยธรรม คือความสุจริต มิใช่ด้วยการอาบน้ำธรรมดา น้ำดื่มของบุคคลผู้มีกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ย่อมเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปในตัวแล้ว

"นี่แน่ะ..พราหมณ์! มาเถิดมาอาบน้ำในธรรมวินัยของเรานี้ ซึ่งลึกซึ้งสะอาด ไม่ขุ่นมัว มีศีลเป็นท่าลง บัณฑิตสรรเสริญ เป็นที่ที่ผู้รู้นิยมอาบกัน อาบแล้วข้ามฝั่งได้โดยที่ตัวไม่เปียก"

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้ พราหมณ์กล่าวด้วยความเบิกบานใจว่า แจ่มแจ้งจริงพระโคดม แจ่มแจ้งจริงเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง ส่องประทีปในที่มืด ให้ผู้มีนัยน์ตาดีได้เห็นรูป

ข้าพระพุทธเจ้าขอปฏิญาณตนเป็นอุบาสก ถึงพระองค์พร้อมด้วยพระธรรม และพระสงฆ์ผู้นำทางตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จวบจนสิ้นลมปราณ



พระมหากัสสปกับพระอานนท์

พระอานนท์..พุทธอนุชาเป็นผู้มีน้ำใจปรารถนาความสุขความสำเร็จแก่ผู้อื่น ในฐานะที่พอช่วยเหลือได้ดังในกล่าวมาแล้วนี้ คุณธรรมอีกอย่างหนึ่งของท่านซึ่งน่าประทับใจยิ่งนัก

คือมีความเคารพยำเกรงต่อพระเถระผู้ทรงคุณธรรมอันประเสริฐ ซึ่งพระศาสดาทรงยกย่องแล้ว มีพระสารีบุตรและพระมหากัสสปเป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระมหากัสสปนั้น พระอานนท์ไม่กล้าแม้แต่จะเอ่ยชื่อท่าน

คราวหนึ่ง พระมหากัสสป จะเป็นอุปัชฌายะให้อุปสมบทแก่กุลบุตรผู้หนึ่ง จึงส่งทูลไปนิมนต์พระอานนท์เพื่อสวดอนุสาวนา คือสวดประกาศเพื่อขอความยินยอมจากสงฆ์

ในการสวดนี้จะต้องระบุชื่อผู้เป็นอุปัชฌายะด้วยพระอานนท์ไม่รับ ท่านอ้างว่าท่านไม่สามารถเอ่ยชื่อ พระมหากัสสป ต่อหน้าท่านได้ พระผู้มีพระภาคทรงทราบเรื่องนี้แล้ว จึงทรงบัญญัติให้สวดอนุสาวนาระบุชื่อโคตรกันได้

อีกครั้งหนึ่งท่านมีหน้าที่ต้องให้โอวาทภิกษุณี ท่านขอร้องวิงวอนให้พระมหากัสสปไปกับท่าน เพื่อให้โอวาทภิกษุณีแทนท่าน เพราะเห็นว่าพระมหากัสสปเป็นนักปฏิบัติที่เคร่งครัด โอวาทของท่านคงจะเป็นประโยชน์แก่ภิกษุณีผู้ใคร่ต่อการปฏิบัติ พระมหากัสสปปฏิเสธถึงสองครั้ง

เมื่อพระอานนท์อ้อนวอนเป็นครั้งที่สาม ท่านจึงไป - ไปอย่างขัดพระอานนท์ไม่ได้ โดยปกติท่านเป็นผู้อยู่ป่า ไม่ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ เมื่อถึงสำนักภิกษุณีและให้โอวาทพอสมควรแล้ว ท่านก็ลากลับ

ต่อมาท่านได้ทราบว่า ภิกษุณีรูปหนึ่งติเตียนท่านว่า พระมหากัสสปไม่น่าจะกล่าวธรรมต่อหน้า "เวเทหิมุนี" คือนักปราชญ์อย่างเช่น พระอานนท์เลย การกระทำเช่นนั้น เหมือนพ่อค้าขายเข็มนำเข็มมาขายแก่นายช่างผู้ทำเข็ม..ช่างน่าหัวเราะ พระมหากัสสปกล่าวกับพระอานนท์ว่า

"อานนท์! เธอหรือเรากันแน่ที่ควรจะเป็นพ่อค้าขายเข็ม ก็พระศาสดาเคยยกย่องเธอบ้างหรือว่า มีวิหารธรรม คือธรรมเป็นเครื่องอยู่ประจำวันเสมอด้วยพระองค์

แต่เรานี่แหละพระศาสดายกย่องในท่ามกลางสงฆ์เสมอ ว่ามีธรรมเสมอด้วยพระองค์ เช่นเดียวกับที่ยกย่องพระสารีบุตรว่า สามารถแสดงธรรมได้เสมอพระองค์"


"ท่านผู้เจริญ" พระอานนท์กล่าวด้วยเสียงเรียบปกติ "อย่าคิดอะไรเลย สตรีส่วนมากเป็นคนโง่เขลามักขาดเหตุผล พูดพล่อยๆ ไปอย่างนั้นเอง"

การที่พระมหากัสสปกล่าวกับพระอานนท์อย่างนั้น มิใช่เพราะท่านน้อยใจหรือเสียใจในการที่ภิกษุณีกล่าวดูหมิ่นท่าน

แต่ท่านกล่าวด้วยคิดว่า คำพูดของท่านคงจะถึงภิกษุณีและเธอจะได้สำนึกตนแล้วกลับความเห็นเสีย การที่ภิกษุณีกล่าวเช่นนั้นเป็นการไม่สมควร จะเกิดโทษและทุกข์แก่เธอเอง ด้วยจิตคิดจะอนุเคราะห์อย่างนี้ พระมหากัสสปจึงกล่าวอย่างนั้น

โดยความเป็นจริงพระมหากัสสปมีความสนิทสนมและกรุณาพระอานนท์ยิ่งนัก กล่าวกันว่าแม้พระอานนท์จะมีอายุย่างเข้าสู้วัยชรา เกศาหงอกแล้ว พระมหากัสสปก็เรียกท่านว่า "เด็กน้อย" อยู่เสมอ และพระอานนท์เล่า ก็ประพฤติตนน่ารักเสียจริงๆ

ที่มา - เว็บ //se-ed.net/platongdham/pra_anon/19.htm

ตอนที่ 9 พระมหากัสสปกับพระสารีบุตร » 



[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
ตั้งหัวข้อใหม่

Go To Top