Not logged in [Login - Register]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites ตั้งหัวข้อใหม่
[*] posted on 8/7/08 at 19:53 [ QUOTE ]

หลักการปฏิบัติธุดงค์ (ตอนที่ 12 ตอนจบ พระมหากัสสปในประเทศไทยและจีน)


 « ตอนที่ 11 พระมหากัสสปปรินิพพาน

พบหลักฐานว่าสมัยพุทธกาล
พระมหากัสสปได้นำพระพุทธศาสนาเข้ามาในประเทศไทย


...เรื่องพระพุทธศาสนาเข้ามาในประเทศไทย พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน ได้เล่าเรื่องนี้ไว้ในเทปชุดเดินทางไป ภาคใต้ เมื่อเดือนเมษายน ปี 2521 ไว้ดังนี้

"...ถอยหลังลงไปตั้งแต่ สมัยพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ก็มีพระจำพรรษาตั้งแต่ภาคใต้ของประเทศไทยถึงภาคเหนือ ภาคเหนือจริงๆ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ พระมหาโมคัลลาน์ มาคุม คือ เป็นสายของพระมหาโมคัลลาน์ แดนเหนือออกไปด้านเชียงตุงติดต่อประเทศจีน

แล้วก็ในเขตจีนเป็นสายของ พระมหากัสสป ความจริง ก็ไม่ไกลกันนักแต่มันเดินยาก แต่ท่านผู้นั้นท่านเหาะ แล้วสำหรับใต้ล่องลงมานี่ นับตั้งแต่ จังหวัดสุพรรณบุรี มาถึง จังหวัดนครปฐม เพชรบุรี เป็นต้น

แล้วก็แดนประจวบคีรีขันธ์ ตอนนี้เป็นสายของ พระมหากัจจายนะ กับ พระอนุรุทธ มักจะมากันเสมอ ๆ ต่ำลงมาจากประจวบคีรีขันธ์ ถึงจังหวัดชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี สายนี้ก็เป็นสาย พระโสณะกุฏิกัณณะ ที่มากันเป็นปกติ

สายใต้ลงไปจากนั้นก็เป็นสายลูกศิษย์ของพระพวกนั้น ที่กล่าวมาแล้ว ที่สอนต่อๆ กันมาเป็นอันว่า ประเทศไทยรับคำสอน ของพระพุทธศาสนามาก่อน ที่เราคิดว่ารับพระพุทธศาสนาเข้ามาประเทศไทย

เวลานั้น ไอ้เมืองมันมากอยู่กันเป็นหย่อมๆ มีพระราชาที่เขาเรียกว่า "พ่อเมือง" คนก็มีหลายเผ่าด้วยกัน คนไทยเวลานี้มาเรียกว่า "ไทยๆ" สมัยนั้นเขาก็ไม่เรียกว่า "ไทย"

รวมความว่า เป็นเผ่าคล้ายคลึงกันคนในดินแดน แผ่นนี้จะเรียกเป็นเผ่าใหญ่ๆ จริงๆ แล้วมันมีอยู่ 7 เผ่าด้วยกัน เวลาจะพูด ต้องพยายามเรียนภาษากันอยู่เจ็ดเผ่าด้วยกัน นับตั้งแต่โน่นแน่ะ..เชียงตุงมานั่นแหละ จนกระทั่งปลายเขตแดนของสิงคโปร์ มี 7 เผ่าที่เป็นเผ่าใหญ่ แล้วเผ่ากระจอกงอกง่อย ก็มีอีกตั้งเยอะแยะ

แต่บางทีก็เป็นเผ่าไทยด้วยกัน แต่เรียกชื่อต่างกันเสียอีก แต่ว่าพูดกันรู้เรื่องว่า ฉันพวกเผ่านายดำ ฉันพวกเผ่านายเขียว ฉันพวกเผ่านายขาว เนื้อแท้มันพูดเหมือนกันจริยาอาการต่างๆ วัฒนธรรมเหมือนกัน มันก็เผ่าเดียวกัน แต่ก็ยังไม่ยอมรวมกันถือว่าอยู่กันเป็นหมู่บ้าน เมืองสมัยนั้นก็เป็นหมู่บ้าน ที่มีความสำคัญเพียงเท่านี้

ในช่วงนั้น ที่มีพระอรหันต์มาเรื่อย ๆ หมออาชีวกโกมารภัจ ก็เคยมาเที่ยว ถ้าจะถามว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เคยเสด็จไหม

ก็ต้องตอบว่า เวลานั้นพระพุทธเจ้ามาในเขตนี้หลายวาระ แล้วก็คราวหนึ่งทำให้คนสำเร็จอรหันต์ไปไม่น้อย การเสด็จมาของพระองค์ ใช้เวลาเดินนานหน่อย เพราะนาน ๆ จะได้เดิน ส่วนมากท่านเหาะมา มาคราวหนึ่ง ก็มีพระติดตามไม่น้อยกว่า 500 รูป

ที่มากันอย่างนั้นก็เพื่อเป็นกำลังใจของคน คือ เวลาก่อนหน้านั้นหมอผี มันมีมาก ดินแดน ดินเดียเขาเล่นสมาธิจิตกัน เล่นกำลังจิต

แต่ดินแดนแห่งนี้ เขาเล่นผีกัน นับถือผีอยู่ก่อน ให้ผีเป็นเจ้า ผีเป็นนาย ทำอะไรก็ต้องเชื่อผี จนกระทั่ง มีการตั้งศาลพระภูมิขึ้นมา อันนี้เราก็เรียกว่า ผีเหมือนกัน เพราะว่า กำลังใจของคนพวกนี้ ยอมรับนับถือผี มาเป็นตัวอย่าง เป็นเหตุ

เมื่อองค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์เสด็จมา ก็เอาผีพวกนี้ มาแสดงตัวให้ปรากฏ สมเด็จพระบรมสุคต ให้บุคคลทั้งหลายเห็นว่า ผีที่เขาบูชานั้น เป็นตัวเป็นตนขึ้นมา อันนี้เราก็เรียกว่าผีเหมือนกัน เพราะว่ากำลังใจของคนพวกนี้ ยอมรับนับถือผีมาเป็นตัวอย่างเป็นเหตุ

เมื่อองค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์เสด็จมา ก็เอาผีพวกนั้นมาแสดงตัวให้ปรากฏ สมเด็จพระบรมสุคตให้บุคคลทั้งหลายเห็นว่า ผีที่เขาบูชานั้น เป็นตัวเป็นตนขึ้นมา เห็นกันจนผีเห็นคน คนเห็นผี

ในเมื่อผีเหล่านั้น เห็นพระพุทธเจ้าก็มากราบพระพุทธเจ้า และแสดงว่า ยอมรับนับถือพระพุทธเจ้า อันนี้ เองเป็นเหตุให้ผู้ได้เห็น เกิดมีใจเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ฉะนั้นเมื่อพระพุทธเจ้าเทศน์อะไรลงไปเขารับฟังทันที สมเด็จพระชินสีห์เทศน์จึงมีผลให้คน เป็นพระอริยเจ้า

โทณะพราหมณ์เป็นชาวนครปฐม

หลังจากที่ พระพุทธเจ้านิพพานแล้ว มีพราหมณ์คนหนึ่ง ชื่อว่า โสณะพราหมณ์ เป็นพราหมณ์อยู่ที่ กุสินารามหานคร ชื่อเก่าของเขานะ "โสณะพราหมณ์" โสณะพราหมณ์ นี่จะแปลว่าอะไร ไม่ต้องพูด แต่ว่าเป็นพราหมณ์ที่บอกอรรถปัญหาแก่พระราชา เป็นปุโรหิต เป็นคนมีความรู้ดี พ่อแม่ ให้นามว่า "โสณะ ๆ"

ต่อมา คนเรียกกันว่า โทณะพราหมณ์ "โทณะ" เขาแปลว่า "ทะนาน" ตอนที่ตวงพระบรมสารีริกธาตุ แบ่งกันกับพระราชาเมืองอื่น ปรากฏว่า โทณะพราหมณ์ซ่อนพระเขี้ยวแก้วไว้ในผม พระอินทร์เห็นว่า ไม่สมควรกับโทณะพราหมณ์ จึงเอาพระเขี้ยวแก้วไปบรรจุที่พระจุฬามุนีเจดีย์สถาน บนชั้นดาวดึงส์เทวโลก

ในเมื่อแจกของหมด แกก็มาคลำดู เห็นหายไปจากมวยผม จึงได้ขอทะนาน ที่ใช้สำหรับตวงพระบรมสารีริกธาตุเอาไปบูชา เป็นทะนานทอง ทะนานนี้ภาษาบาลี เขาเรียกว่า "โทณะ" เมื่อตาพราหมณ์คนนี้ แกรับทะนานมาแล้ว เขาจึงให้ชื่อว่า "พราหมณ์ทะนาน" หรือว่าพราหมณ์ผู้รับทะนาน

ความจริงเมืองนครปฐม ที่เราเรียกกันว่า ทวาราวดี รู้จักกับพระพุทธเจ้า รู้จักกับพระอรหันต์ รู้จักกับพระพุทธศาสนา มาตั้งแต่พระพุทธเจ้ายังอยู่ การเดินไปเดินมาจาก กรุงกบิลพัสดุ์มหานคร ถึงจังหวัดนครปฐม หรือทวาราวดี ใช้เวลาเดินจริงๆ ไม่เกิน 17 วัน

พ่อค้าใช้เวลาเดินประมาณเดือนเศษๆ นับว่าใช้เวลานานเพราะ มีน้ำหนักมาก ถ้าลองนึกดูว่า คนสมัยนี้กับสมัยตอนที่ท่านเป็นหนุ่ม ใครมันเดินสู้กันได้ และสมัยที่ท่านเป็นหนุ่มก็เดินสู้คนเก่าๆ เขาไม่ได้ เขาเดินกันเป็นปกติ เป็นอันว่าการรอนแรมมาเป็นของไม่ยาก

โทณะพราหมณ์เมื่อได้รับทะนานทองแล้ว ก็เดินทางมาสู่เมือง ทวาราวดี เพราะโดยปกติแกมาเสมอๆ มีที่หมู่บ้านหนึ่ง เขาเรียกว่า "บ้านพราหมณ์" ใกล้ ๆ กับ พระประโทน นั่นแหละ หมู่บ้านพราหมณ์ก็เป็นหมู่บ้านของอีตาโทณะพราหมณ์นั่นเอง เมื่อได้มาแล้ว แกก็ทำเจดีย์ ขึ้นเป็นองค์ย่อมๆ บรรจุทะนาน ที่ตวงพระบรมสารีริกธาตุไว้ ณ ที่นั้นแล้วก็ทำการบูชาเป็นอันว่า พระประโทนนี่ก็ก่อนพระปฐมเจดีย์องค์ใหญ่

การที่พระอริยสงฆ์สมัย พระมหินทรเถระ ประกาศพระศาสนา ก็เดินทางมาขึ้นที่จังหวัดนครปฐมก่อน เป็นจุดแรกที่พระพวกนั้น มาปักหลัก นำพระพุทธศาสนาเข้ามาเผยแพร่ แต่ความจริงพระพุทธศาสนาได้มีมาก่อนนั้นอย่างที่เล่ามาแล้ว เป็นแต่เพียงท่านทั้งหลายเอาพระไตรปิฎกที่เขียนเป็นหนังสือมายืนยันว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าน่ะมี ตำรา ไม่ใช่จำกันเฉยๆ

(หมายเหตุ : "พระมหินทรเถระ" เป็นพระโอรสสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ได้นำพระพุทธศาสนาไปที่ประเทศศรีลังกา ส่วน พระโสณะ พระอุตตระ เดินทางมาในประเทศไทย เมื่อปี 235 หลังสังคายนาพระไตรปิฎก ครั้งที่ 3)

แล้วบรรดาพระอรหันต์เหล่านั้น ก็มาประกาศชักจูงให้เจริญความดี ตามคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ความจริงการเอาความดี มาเสริม ความดีที่มีอยู่แล้วมันก็เป็นของไม่ยาก ถ้าจะพูดกันไปจริงๆ ในเขตสุวรรณภูมิส่วนนี้ ก็ถือว่ามีพระสำรองอยู่แล้ว คือพระอรหันต์ และพระอริยะเจ้าทั้งหลาย

เมื่อพระอรหันต์มาพบพระอรหันต์ด้วยกันเข้า ของมันก็ไม่ยาก อ่านตำรับตำราทบทวนกันเดี๋ยวเดียวเห็นว่าใช้ได้ ต่างคนต่างก็ลอกเอาเป็นแบบเป็นแผนไป เพื่อให้เป็นพื้นฐานแน่นอน เพื่อสอนแก่บรรดาประชาชนทั้งหลาย และคนส่วนใหญ่ในเมืองนี้ ก็นับถือพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว ดังนั้น จังหวัดนครปฐม จึงต้องถือว่าเป็นเมืองแม่ในการประกาศพระศาสนา..."



ตำนานพระธาตุพนม (อุรังคนิทาน)

ตาม “ตำนานพระธาตุพนม” ตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า “..องค์พระธาตุพนมซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดนครพนมนั้น สร้างครั้งแรกในราว พ.ศ. ๘ ในสมัยอาณาจักรศรีโคตบูรกำลังเจริญรุ่งเรืองอยู่ โดยท้าวพระยาทั้ง ๕ และพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ อันมี พระมหากัสสปะเถระเจ้าเป็นประธาน ได้สร้างขึ้นเมื่อวันเพ็ญเดือน ๑๒ พุทธศักราชล่วงไปได้ ๗ ปี ๗ เดือน….”

ลักษณะการก่อสร้างในสมัยแรกนั้น ใช้ดินดิบก่อขึ้นเป็นรูปเตาสี่เหลี่ยม แล้วเผาให้สุกทีหลัง กว้างด้านละ ๒ วาของพระมหากัสสปะ สูง ๒ วา ข้างในเป็นโพรง มีประตูเปิดทั้ง ๔ ด้าน เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็ได้อัญเชิญ “พระอุรังคธาตุ” ของพระพุทธเจ้าที่พระมหากัสสปะเถระนำมาจากประเทศอิเนเดีย ประดิษฐานไว้ข้างใน แล้วปิดประตูทั้ง ๔ ด้าน แต่ยังปิดไม่สนิททีเดียว ยังเปิดให้คนเข้าไปสักการะบูชาได้อยู่บางโอกาส

ในตำนานพระธาตุพนมบอกว่า "ยังมิได้ฐานปนาให้สมบูรณ์" นี้ก็หมายความวว่า ยังมิได้ปิดประตูพระธาตุให้มิดชิดนั่นเอง พึ่งมาสถาปนาให้สมบูรณ์ในราว พ.ศ. ๕๐๐ ซึ่งจังหวัดนครพนมปัจจุบันในยุคนั้นคือ อาณาจักรโคตรบูรณ์ โดยมี “นครเรณู” เป็นราชธานี ยุคนั้นเป็นยุคละว้า ต่อมาเมื่อพวกขอมเป็นใหญ่ เลยเปลี่ยนเป็นนครพนมมาจนทุกวันนี้ ในการสร้างพระธาตุพนมในครั้งนั้น มีพระราชา ๕ นครเป็นผู้อุปถัมภ์ในการสร้างคือ

๑. นครโคตรบูร หรือ “อำเภอเรณู” ในจังหวัดนครพนมในปัจจุบัน อันมี พระยานันทเสน เป็นเจ้าเมือง

๒. นครจุลณี นครนี้สร้างในราว พ.ศ. ๒๕๐ ต่อมาได้ถูกพวกเวียตนามทำลาย และได้ตั้งชื่อใหม่ว่า “ตังเกี๋ย” อันมีฮานอยเป็นเมืองหลวง อันมี พระยาจุลณีพรหมทัต เป็นเจ้าเมือง

๓. นครสังขปุระหรือ "นครอินทปัตถ์" ซึ่งมี พระยาอินทปัตถนคร เป็นผู้ครองนคร ต่อมาในราว พ.ศ. ๑๔๓๒ พระเจ้ายโสวรมันได้เปลี่ยนเป็น “กัมพูปุระ” หรือ “ยโสธรปุระ” ต่อมาในราว พ.ศ. ๑๔๘๗ พระเจ้าราเชนทร์วรมันที่ ๒ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "นครทม" ถัดมาในราว พ.ศ.๑๖๕๕–๑๗๐๕ ในสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ (พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์) "นครวัด" ได้สร้างขึ้นในราว พ.ศ. ๑๖๒๘

๔. นครหนองหารหลวง คือจังหวัด “สกลนคร” ในปัจจุบัน มี พระยาสุวรรณภิงคาร เป็นเจ้าเมือง

๕. นครหนองหารน้อย ปัจจุบันคือ “ตำบลน้ำฆ้อง” ในเขตอำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี มี พระยาคำแดง เป็นเจ้าเมือง

ในครั้งที่พระมหากัสสปเถระ มาเป็นประธานในการสร้างพระธาตุนครพนมนั้น เป็นยุคของพวกละว้าและไทยเป็นใหญ่มาก่อนขอม และมีอาณาจักรใหญ่อยู่ ๔ อาณาจักรคือ

๑. อาณาจักรโคตรบูรณ์ คือ “อำเภอเรณู” ในปัจจุบัน

๒. อาณาจักรสยัมภูปุระ หรือ “สยาม” มีนคร “ชะเลียง” หรือสวรรคโลกเป็นราชธานี

๓. อาณาจักรทวาราวดี คือ “นครปฐม” ในปัจจุบัน

๔. อาณาจักรโยนก - เชียงแสน (ยางคปุระ) มี "นครเงินยาง” หรือ "นครเชียงลาว” เป็นราชธานี และอาณาจักรนี้เป็นต้นเค้าของ “อาณาจักรเชียงแสน”


ที่มา - http:// blog.eduzones.com/tambralinga/print.php



ประวัติพระธาตุขามแก่น


พระธาตุขามแก่นเดิมมีชื่อว่า “พระธาตุบ้านขาม” หรือ “พระธาตุใหญ่บ้านขาม” พ.ศ.2499 เปลี่ยนชื่อเป็น พระธาตุขามแก่น มีเรื่องเล่ามาดังนี้

นับจากเดิมตั้งแต่สมัยองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ของเราได้ทรงตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว พระองค์ได้เสด็จจาริกเที่ยวประกาศพระพุทธศาสนาเผยแผ่พระธรรมของพระองค์ที่ได้ตรัสรู้นั้นให้เวไนยสัตว์ทั้งหลายรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมที่ควรรู้ควรเห็น สาวกที่ตรัสรู้ในพุทธกาลมีมากมาย พระองค์มีพระชนมายุได้ 80 ปี พระองค์ก็เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ในวันอังคารขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง

เมื่อพระองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปเถระเจ้าพร้อมด้วยพระอรหันต์สาวกทั้งหลายและมีกษัตริย์พร้อมด้วยราชบริพารได้มานมัสการถวายพระเพริงพระพุทธสรีระของพระองค์ท่าน เมื่อถวายพระเพลิงเสร็จก็ได้ประกาศให้กษัตริย์ในชนบทต่างๆ ได้มารับแจกพระสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า โทณะพราหมณ์ ผู้เป็นปราชญ์ฉลาดมีทะนานทองเป็นเครื่องตวงให้แก่กษัตริย์ต่างๆ ด้วยความเรียบร้อย

ส่วนพระบรมธาตุกระโยงหัว (กระโหลกพระเศียร) ของพระองค์ ฆฏิการพรหมนำไปประดิษฐานไว้ในพรหมโลก พระธาตุเขี้ยวหมากแง (พระธาตุเขี้ยวแก้ว) พระอินทร์นำไปประดิษฐานไว้ในชั้นดาวดึงส์ พระธาตุกระดูกด้ามมีด (พระรากขวัญ) พระยานาคนำไปประดิษฐานไว้ในเมืองนาค

เหลือแต่ พระอังคาร ของพระองค์ ยังไม่มีการแจกสันปันส่วนกันอย่างไร กษัตริย์นครต่างๆ เมื่อได้รับแจกแล้วก็ได้นำไปประดิษฐานไว้ในเมืองของตน เว้นแต่นครที่อยู่ในปัจจันตประเทศเป็นประเทศที่อยู่ห่างไกลมัชฌิมประเทศจึงมิได้รับแจก

ครั้นต่อมา โมริยกษัตริย์ เจ้าผู้ครองเมืองโมรีย์ที่อยู่ในปัจจันตประเทศอยู่ห่างไกลกรุงกุสินารา ก็ได้ทราบว่าพระสารีริกธาตูได้แจกหมดแล้วเหลือแต่พระอังคาร กษัตริย์โมรีย์จึงได้รับพระอังคารของพระพุทธเจ้า โดยบรรจุไว้ในกระอูบทองรองรับไปสถาปนาไว้ในนครโมรีย์ เป็นที่เคารพสักการะต่อไป

ครั้นกาลสมัยล่วงเลยมาประมาณพุทธศักราชล่วงได้ 8 ปี พระมหากัสสปเถระเจ้ามีความปราถนาที่จะนำเอา “พระอุรังคธาตุ” ของพระพุทธเจ้าไปประดิษฐานไว้ “ภูกำพร้า” ซึ่งได้นามว่า “พระธาตุพนม” ในเวลานี้ ดำริแล้วก็นำมาตามพุทธประสงค์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็จัดการก่อสร้างพระธาตุพนมขึ้น มีพระมหากัสสปเถระเจ้าพร้อมด้วยพระอรหันต์ 500 องค์เป็นประธาน

และมีพระยาทั้ง 5 เป็นศาสนูปถัมภกคือ พระยาอินทปัฏฐนคร พระยาคำแดง พระยานันทเสน พระยาสุวรรณภิงคาร พระยาจุลณีพรหมทัต จัดการก่อสร้างขึ้นจนแล้วเสร็จ สำเร็จในเวลาอันควร

ครั้นต่อมาในปีที่ก่อสร้างพระธาตุพนมเสร็จนั้น โมรียกษัตริย์ พร้อมด้วยพระอรหันต์ในเมืองโมรีย์ ได้ทราบข่าวว่ามีการก่อสร้างพระธาตุพนมขึ้น พระองค์มีความศรัทธาเลื่อมใส ทรงดำริจะนำเอาพระอังคารของพระพุทธเจ้าที่ได้รับมาสถาปนานั้น ไปบรรจุไว้ในพระธาตุพนมร่วมกับพระอุรังคะธาตุของพระพุทธเจ้าเช่นเดียวกัน

พระอรหันต์ยอดแก้ว พระอรหันต์ธรังษี พระอรหันต์คันทีเถระเจ้า กับคณะรวม 9 องค์ และ พระยาหลังเขียวเจ้านคร พร้อมด้วยราชบริพาร จำนวน 90 คน ก็เชิญพระอังคารของพระพุทธเจ้าออกเดินทางไปประดิษฐานไว้ในพระธาตุพนม การออกเดินทางของพระอรหันต์ทั้ง 9 และพระยาหลังเขียว ก็มุ่งหน้ามาทางทิศเหนือ

แต่พอมาถึงดอนมะขามแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ตั้งพระธาตุบ้านขามปัจจุบัน เวลาก็ค่ำแสงพระอาทิตย์ก็หรี่ลับลงไป จึงได้พากันพักแรมคืนในสถานที่นี้ และสถานที่นี้ภูมิประเทศก็ราบเรียบมีห่วยสามแยก น้ำไหลผ่านรอบๆ ดอน และในที่พักมีต้นมะขามใหญ่ต้นหนึ่งซึ่งตายล้มลงแล้ว เปลือกกะพี้และกิ่งก้านสาขาไม่มี เหลือแต่แก่นข้างในเท่านั้น ต้นมะขามที่เหลือแต่แก่นนี้เป็นที่เก็บสิ่งของและรองรับพระอังคารของพระพุทธเจ้า

เมื่อรุ่งเช้าพระอรหันต์ทั้ง 9 และพระยาหลังเขียวพร้อมด้วยบริวารตื่นนอนแล้ว ก็จัดเตรียมการเดินทางมุ่งหน้าไปสู่สถานที่ก่อสร้างพระธาตุพนมต่อไป พอไปถึงพระธาตุพนมปรากฎว่าการก่อสร้างได้เสร็จเรียบร้อยแล้ว จะเอาอะไรเข้าไปบรรจุอีกไม่ได้ ได้แต่พากันนมัสการพระธาตุพนมเท่านั้น แล้วก็พากันเดินทางกลับถิ่นเดิม ตั้งใจว่าจะนำเอาพระอังคารของพระพุทธเจ้า ไปสถาปนาไว้ที่นครของตนอย่างเดิม แล้วก็พากันกลับตามสายทางเดิม

เมื่อมาถึงที่พัก ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระธาตุบ้านขามในปัจจุบัน ก็ได้พบเห็นต้นมะขามที่ตายล้มลงนั้น กลับลุกขึ้นผลิดอกออกผลแตกกิ่งก้านสาขา มีใบเขียวชอุ่มแลดูงามตา จะเป็นด้วยเทพเจ้าแสร้งนิมิตหรือ อำนาจอภินิหารพระอังคารของพระพุทธเจ้าก็ไม่ทราบ เห็นเป็นที่อัศจรรย์ดังนี้

พระอรหันต์ทั้ง 9 องค์ พร้อมด้วยพระยาหลังเขียว จึงได้ตกลงเห็นดี ก่อสร้างพระธาตุครอบต้นมะขาม บรรจุพระอังคารของพระพุทธเจ้าไว้พร้อมด้วยแก้วแหวนแสนสารพัดนึก โดยทำเป็นพระพุทธรูปแทนพระองค์ เข้าบรรจุไว้ในพระธาตุนี้ทั้งสิ้น การก่อสร้างพระธาตุบ้านขามนี้เดิมก็เป็นเหมือนรูปที่เรามองเห็นอยู่ ณ ปัจจุบันนี้

เมื่อก่อสร้างเสร็จแล้ว พระยาหลังเขียวก็จัดการสร้างบ้านสร้างเมือง ส่วนพระอรหันต์ทั้ง 9 องค์ ก็จัดการสร้างวัดวาอารามขึ้น คือวิหารและพัทธสีมาเป็นของคูเคียงกันกับพระธาตุ เหตุการณ์เป็นดังนี้จึงได้นามว่า "พระธาตุขามแก่น" และพระธาตุขามแก่นจึงมิได้ปรากฏนามใน “ตำนานอุรังคธาตุ” เหมือนพระธาตุทั้งหลาย.....

ที่มา - www.kkcity.th.gs/web-k/kcity/kk02.html



ความเป็นมาของตำนานพื้นเมืองเหนือ

นักปราชญ์ชาวล้านนาได้แต่ง "ตำนานพื้นเมืองเชียงแสน" ขึ้นตั้งแต่สมัยโบราณและมีการคัดลอกสืบต่อๆ กันมา ปรากฏต้นฉบับหลายสำนวนด้วยกัน ชึ่งแต่ละสำนวนก็มีรายละเอียดแตกต่างกันออกไป

ในที่นี้ขอกล่าวถึง "ตำนานพื้นเมืองเชียงแสน" ฉบับใบลานของ "วัดร่ำเปิง" ตำบลนางแล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ตามบันทึกที่ปรากฏท้ายเรื่องเรียกชื่อว่า "ตำนานเมืองโยนกนครราชธานีชัยบุรีช้างแส่น" ชึ่งคัดลอกด้วยอักษรธรรมล้านนาหรือ "ตัวเมือง" เมื่อปีจ.ศ.1241 (พ.ศ.2442)

ตำนานเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึง "ศากยวงศ์" และประวัติของพระพุทธเจ้าโคตมะ หลังจากที่ทรงตรัสรู้แล้วได้เสด็จไปโปรดสัตว์ตามที่ต่างๆ รวมทั้งการเสด็จมาถึงเมืองโยนกนคร ราชธานีไชยบุรีศรีช้างแสน หรือเมืองเชียงแสน

ในสมัยของ พระยาเทวกาล กษัตริย์แห่งเมืองราชคฤหนคร ทรงมีโอรส 30 องค์ ธิดา 30 องค์ โอรสองค์แรกชื่อ "พิมพิสาร" องค์ที่สองชื่อ "สิงหนวติ" ต่อมาสิงหนวติได้เสด็จไป สร้างเมืองพันธุสิงหวตินคร โดยมีพระยานาคชื่อ "พันธุนาคราชา" มาช่วยเหลือสามปีหลังจากนั้น สิงหนวติทรงมีชัยชนะต่อพวกขอมแห่งเมืองอุโมงคเสลานคร บ้านเมืองก็มีความเจริญรุ่งเรืองสืบมา

พระพุทธเจ้าโคตมะ ได้เสด็จมาโปรดสัตว์ในเมืองพันธุสิงหนวติ ขณะนั้นช้างทรงของพระยาสิงหนวติส่งเสียงร้องและวิ่งหนีไป พระพุทธองค์ทรงทำนายว่า ต่อไปเมืองนี้ จะได้ชื่อว่าโยนกนครราชธานีไชยบุรีศรีช้างแส่น และจะเปลี่ยนเป็นเชียงแสน ทรงประทานเกศาไว้บรรจุที่ พระธาตุจอมกิตติ และทำนายเหตุการณ์ในอนาคตถึงสถานที่สำคัญต่างๆ เช่น

พระนอนหลวงดอยเรือ ดอยรวก กว๊านปูเข้า ดอยจองแกง บ้านต้นแก้ว พรธาตุถ้ำแก้วหัวฝาย น้ำแม่ใส (แม่น้ำสาย) ดอยโยนกปัพพะตะ พระธาตุดอยรัง บ้านเรือง พระธาตุดอยเวา พระธาตุดอยแว่น ดอยฟ้าอารามป่าเหมือด เกาะดอนแท่น พระธาตุดอยชัน (ดอยจัน) พระเจ้าหลวงสวนดอก แม่น้ำของ (แม่น้ำโขง) เมืองค้าง (เมืองคาง) พระบาทผาเรือ ถ้ำผา เมืองไชยนารายณ์ บ้านมหาโกฏ น้ำแม่ต่ำ ดอยตุง พระธาตุย้าง ถ้ำปลา กว๊านทวน ดอยช้างงู บ้านพาน พระธาตุจอมทอง พระธาตุจอมกิตติ เวียงกำแพงเป๊ก และแม่ลาก

ครั้งถึงรัชสมัยของ พระยาอชุตราช ทรงสร้างพระธาตุดอยตุง พระธาตุเจ้าถ้ำปุ่ม ถ้ำเปลวปล่องฟ้า ต่อมาในสมัยของ พระองค์มังรายนราช ทรงมีโอรสสององค์คือ พระองค์เชือง และพระองค์ไชยนารายณ์ ซึ่งในเวลาต่อมาได้เป็นผู้สร้างเมืองไชยนารายณ์และวิหารสวนดอก

ในสมัยของพระองค์พัง (พังคราช) พระยาขอมดำแห่งเมืองอุโมงคเสลานครเป็นใหญ่ จึงขับไล่พระองค์พังให้ไปอยู่ ณ เวียงสี่ตวง ต่อมาจึงได้โอรสชื่อพรหมกุมาร เมื่ออายุ 13 ปี พรหมกุมารได้ช้างเผือกแก้วพานคำ ต่อจากนั้นมาอีก 3 ปี จึงเข้าทำการสู้รบกับพระยาขอมดำ และเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ หลังจากนั้นจึงอัญเชิญให้พระองค์พังกลับไปครองเมืองโยนก ตามเดิม

ต่อมา เมืองพรหมกุมารได้นางแก้วสุภาเป็นคู่ครอง จึงออกไปสร้างเวียงไชยปราการ ถึงศักราชได้ 302 กษัตริย์เมืองโยนก ไชยนารายณ์และไชยปราการ ได้สร้าง พระธาตุเจ้าจอมทอง ณ บริเวณกลางเวียงไชยนารายณ์

ศักราช 359 พระองค์พรหมสวรรคต พระองค์ไชยสิริได้ครองเมืองไชยปราการสืบต่อ อยู่ต่อมาไม่นานพระยาสุธรรมวดียกทัพมาจากเมืองมอญ พระองค์ไชยสิริจึงพาผู้คนอพยพหนีไปและเผาเมืองทิ้ง โดยเสด็จไปสร้างกำแพงเพชร

ศักราช 476 พระองค์มหาชัยชนะได้เป็นกษัตริย์ในเมืองโยนก วันหนึ่งผู้คนทั้งหลายที่อยู่ภายในตัวเมืองได้กินปลาไหลเผือกทำให้เวียงโยนกล่มลงเป็นหนองน้ำ เหลือ แต่แม่ม่ายที่ไม่ได้กินปลาไหลตัวนั้น ส่วนภายนอกตัวเมืองขุนและพันนาบ้านนอกของชนบทเห็นเหตุการณ์เช่นนั้น จึงรับตัวแม่ม่ายไปเลี้ยงดูและพากันอพยพไปสร้างเมืองใหม่คือ เวียงเปิกสา (เวียงปรึกษา) โดยมีขุนลังเป็นกษัตริย์องค์แรก เวียงเปิกสามีกษัตริย์ปกครองเมืองสืบต่อมาอีก 11 รัชสมัย ส่วนรายละเอียดเป็นสำนวนที่แปลจากอักษรล้านนาแล้วมีดังนี้..

ที่มา - เว็บ ://kanchanapisek.or.th/kp8/culture/chr/chr602.html



ตำนานเมืองโยนกไชยบุรีศรีช้างแส่น


ในครั้งพุทธกาล หลังจากพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้สัพพัญญูได้สิบห้าวัสสา ( พรรษา ) ในวัสสาที่สิบห้า พระพุทธเจ้าเข้าไปเมตตา พระยาศรีสุทโธทนะ ผู้เป็นพุทธบิดา นางปชาบดีโคตมี นางยโสธราพิมพา และ นันทกุมาร รวมทั้งชาวเมืองกบิลพัสดุ์ แล้วก็อยู่ใน “นิโคธาราม” เทศนามหาเวสสันดรชาดก ออกวัสสาแล้วเสด็จไปโปรดสัตว์ในบ้านน้อย เมืองใหญ่ และราชธานีทุกแห่ง

จากบ้านน้อยเมืองใหญ่ก็ไปหนอาคเนย์ ก็ไปถึงเมืองพันธุสิงหนวัตินคร เพื่อจักไปเมตตา พระยาสิงหนวัติ และชาวเมือง เมื่อนั้นมีพระยาตนหนึ่ง เป็นเจ้าเมืองสุธรรมวดี มีชื่อว่า ศรีอโศก ท่านบังเกิดศรัทธามากนักสละเมืองแล้วก็ไปเป็นอุบาสก ติดตามอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าทุกแห่ง พระพุทธเจ้าไปถึงสันเขาที่หนึ่งริมเวียงสินธุสิงหนวัติ ทางตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณพันวา เป็นหุบเขาสองสัน เป็นห้วยน้อย และเป็นป่าไม้ยางพรายมีร่มอันควรรื่นรมย์ เหมือนดังกุฏิในเขาวงกต

พระพุทธเจ้าไปพบ พระมหากัสสป และลูกศิษย์ห้าร้อยองค์ที่นั่น พระมหากัสสปเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงที่นั่น ก็พาบริวารแห่งตนไปรับพระพุทธเจ้าที่สันเขานั้น พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า ท่านทั้งหลายมาที่นี่แล้วจะไปที่ไหน มหากัสสปเถระกราบทูลว่า ผู้ข้าทั้งหลายมาไหว้ ไม้ศรีมหาโพธิ์ ที่มีในสถานที่นี่ พระพุทธเจ้าว่าดีแล้ว ต้นศรีมหาโพธิ์ต้นนี้วิเศษนักเป็นต้นที่พระตถาคตตรัสรู้ เทวบุตรตนชื่อ สุริตตะอะนาม เอาแก่นเม็ดมาปลูกไว้ที่นี่ ให้เป็นที่บูชาแก่คนและเทวดาทั้งหลาย

พระธาตุดอยกู่แก้ว

พระพุทธเจ้าลูบเอาเกศาเส้นหนึ่งให้ มหากัสสป และพระยาอโศก พร้อมกันเอาใส่กระบอกไม้ไผ่รวก ใส่ในอูปแก้ว แล้วขุดเอายอดดอยที่นั่นให้เป็นอุโมงค์เป็นสถานที่บรรจุ พระอินทร์ใส่ยนต์ถือดาบศรีกัญชัยเฝ้าอยู่แล้วถมให้ดี พระพุทธเจ้าทำนายว่าตถาคตนิพพานไปแล้ว ให้ มหากัจจายนเถระ เอา “ธาตุกระดูกตีน” (กระดูกตาตุ่ม) ตถาคตมาบรรจุไว้ที่นี่ จักได้ชื่อว่า ดอยกู่แก้ว พระพุทธเจ้าและสาวกก็เสด็จเข้าสู่เวียงพันธุสิงหนวัตินคร ยามเช้าก็ไปบิณฑบาตที่คุ้มของพระยาสิงหนวัติ (ปัจจุบันคือ วัดพระธาตุดอยกู่แก้ว อยู่ใกล้ทะเลสาปเชียงแสน)

เหตุที่มาของคำว่า “เมืองเชียงแสน”

เมื่อพระยาสิงหนวัติเห็นพระพุทธเจ้าเข้ามาเมตตา ก็มีใจศรัทธายินดีจึงป่าวร้องให้เสนาอามาตย์ และชาวเมืองมาใส่บาตร และถวายคิลานปัจจัย เป็นทานแก่พระพุทธเจ้าและอรหันต์เจ้าทั้งมวลแล้วนิมนต์พระพุทธเจ้าฉันข้าว ในขณะนั้นช้างมงคลของพระยาสิงหนวัติ เห็นพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ ก็ผุดลุกออกจากโรงไปยังริมฝั่งน้ำขรนทีหนอีสาน แล้วก็ร้องแส่นสะเดียนอยู่ที่นั้น หลังจากฉันเสร็จแล้ว

พระพุทธเจ้าก็เทศนาภัตตานุโมทนาสำแดงยังทานกถา ศีลกถา แก่พระยาสิงหนวัติและชาวเมืองทั้งมวลจบแล้ว พระพุทธเจ้าก็แย้มใคร่หัว (แย้มพระโอษฐ์) มหาสารีบุตร ทูลถาม พระองค์ตอบว่าตถาคตมาถึงที่นี่พร้อมด้วยภิกษุทั้งหลาย ช้างมงคลแห่งพระยาสิงหนวัติ ก็ผุดลุกหนีไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ แล้วก็ร้องแส่นสะเดียนอยู่ที่นั่น เหตุนั้นเมืองพันธุสิงหนวัติจะได้ชื่อว่า ไชยบุรีศรีช้างแส่น

อารามมหาโพธิ์

จากนั้นพระพุทธเจ้าก็พาพระอรหันต์ทั้งหลายเสด็จออกไปทางหนอิสาน ไปยังไม้ศรีมหาโพธิต้นน้อยที่ช้างไปร้องอยู่ที่นั่น พระพุทธองค์ขึ้นไปบนยอดเขาแห่งหนึ่ง แล้วประทับนั่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออกกล่าวว่า ภิกษุทั้งหลาย ต้นศรีมหาโพธิอยู่ที่เชิงเขาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ช้างมงคลของพระยาสิงหนวัติมาร้องอยู่ที่นั่น (อารามมหาโพธิ์ ปัจจุบันเป็นวัดร้างอยู่ริมแม่น้ำโขง ใกล้ตัวเมืองเชียงแสน)

เหตุนั้น เมื่อตถาคตนิพพานไปแล้วก็จักตั้งศาสนาไว้ห้าพันปี เมื่อศาสนาล่วงพ้นไปแล้วจะมีพระยาใหญ่ตนหนึ่งมียศศักดิ์มากนัก จะมาตั้งเวียงอยู่ที่นี่ จากนั้นคนทั้งหลายจะสร้างวัดวาอารามที่ต้นศรีมหาโพธินั้น เรียกชื่อว่า อารามมหาโพธิ เวียงแห่งนั้นชื่อว่า ไชยบุรีช้างแส่น จะเป็นที่ตั้งศาสนาและธาตุตถาคตจะมาบรรจุอยู่ในเวียงแห่งนี้มากนัก ภายหลังจากนั้น เวียงช้างแส่นจะแปรชื่อเป็น เชียงแสน

พระธาตุจอมกิตติ

พระมหากัสสปเถรเจ้าพร้อมด้วยภิกษุทั้งหลายพากันไปไหว้ต้นศรีมหาโพธิ เสร็จแล้วจึงกลับคืนมาที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ พระองค์ทรงยกพระหัตถ์เบื้องขวาขึ้นตั้งอุตมังคละลูบศีรษะได้เกศาเส้นหนึ่ง จึงมอบให้พระสารีบุตรนำไปบรรจุไว้เชิงเขาแห่งนั้นให้เป็นศรีเมือง

ครั้นเมื่อตถาคตนิพพานไปแล้วเก้าร้อยวัสสา จะมีลูกศิษย์ตถาคตชื่อว่า พุทธโฆษาจารย์ จะนำเอา พระธาตุกระดูกหน้าผาก แห่งตถาคตมาจากเมืองสาวัตถี มาบรรจุไว้ที่นี่ สถานที่นี้จะได้ชื่อว่า ธาตุเจ้าจอมกิตติ จะมียศศักดิ์รุ่งเรืองยิ่งนัก

พระยาอโศกก็รับเอาด้วยกลักที่ทำด้วยไม้ไผ่รวก แล้วใส่โกฏิแก้วปัทมราค และขุดให้เป็นอุโมงค์ลึกเจ็ดวา พระอินทร์เนรมิตรูปช้างทองคำตัวหนึ่ง ไว้ในอุโมงค์แห่งนั้น หันหน้าไปทางทักขิณะแล้ว จึงเอาเกศาธาตุขึ้นวางไว้หลังช้างตัวนั้น พระอินทร์ใส่รูปยนต์ถือดาบศรีกัญชัยเฝ้าไว้ ปิดอุโมงค์แล้วพระพุทธเจ้าจึงเสด็จไปหนปัจฉิม ไกลประมาณเจ็ดร้อยวา มีสันเขาลูกหนึ่งตัดไปใต้และเหนือ มีสัณฐานเป็นดังเรือที่คว่ำไว้ ประทับนอนที่นั่นหนึ่งคืน รุ่งเช้าจึงพูดกับมหาสารีบุตรเถรเจ้าว่า ตถาคตนิพพานไปแล้ว ศาสนาจะรุ่งเรืองภายหน้าคนทั้งหลายจะมาสร้างรูปตถาคตไว้ที่นี่ จะใส่ชื่อว่า พระนอนหลวงดอยเรือ

พระธาตุภูเข้า

พระพุทธเจ้าเสด็จไปบิณฑบาตที่บ้านแห่งหนึ่ง ณ เชิงเขาริมฝั่งน้ำขรนที (แม่น้ำโขง) บ้านนั้นชื่อว่า “บ้านมอน” จากนั้นจึงเสด็จขึ้นจอมเขาแห่งนั้น เมื่อฉันข้าวเสร็จแล้ว ขณะนั้นมีไม้รวกกอหนึ่งมีสามเล่ม ใบเขียวงามอ่อนน้อมค้อมลงมาบูชา ตถาคตไว้เกศาธาตุที่นี่เส้นหนึ่ง ดอยแห่งนี้จะได้ชื่อว่า ดอยรวก แม่น้ำน้อยอันไหลออกมาจากเชิงเขาทางเหนือจะได้ชื่อว่า “แม่รวก” พระพุทธเจ้าบ้วนปากพ่นลงไปในแม่น้ำขรนที กลายเป็นน้ำปั่นวนอยู่ที่นั่นจึงได้ชื่อว่า ผู่ข้าว ภายหน้าคนทั้งหลายจะเรียกว่า “กว๊านปูเข้า” (ปัจจุบันอยู่ใกล้สามเหลี่ยมทองคำ)

พระพุทธเจ้าก็ลูบอุตมังคละได้เกศาธาตุเส้นหนึ่งให้พระสารีบุตร พระยาอโศกและพระอินทร์ก็พร้อมกันบรรจุไว้ พระอินทร์ใส่ยนต์ไว้ แล้วพระพุทธเจ้าทำนายว่า ภายหน้าจะมีกษัตริย์ตนหนึ่ง ชื่อว่า "พระยาเกลา" จะมาสร้างเจดีย์ครอบธาตุเกศาที่นี่

พระพุทธเจ้าและภิกษุทั้งหลาย เลียบแม่น้ำน้อยนั้นขึ้นไปหนตะวันตกเฉียงเหนือไกลประมาณคราววันคืนปกติ ก็ไปถึงหัวดอยแห่งหนึ่งมีปลายอันเรียงงาม พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปบนยอดดอยแห่งนั้นแล้วนอนพักที่นั่น ขณะนั้นมีมหายักษ์ตนหนึ่งอยู้ทางทิศอุตระชื่อว่า อาฬวกยักษ์ มีใจหยาบช้ากล้าแข็งมากนัก มันรู้ว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงเมืองพันธุสิงหนวัติ ก็รำพึงว่าเทวดาทั้งหลายมาเล่าลือว่าสมณะองค์นั้นมีฤทธิบุญญามากนักจักเป็นฉันใดฤา อยากให้มาในที่นี้ กูอยากเห็น มันคะนึงว่าดังนี้

เสด็จโปรดอาฬวกยักษ์และจำพรรษา ณ เมืองอาฬวี (สิบสองปันนา)

พระพุทธเจ้าส่องมรรคญาณดู ก็รู้ความประสงค์ของยักษ์ก็มาเอาภิกษุทั้งหลายที่เป็นอรหันต์และไม่บรรลุอรหันต์ เหาะไปด้วยฤทธิญาณประมาณลัดนิ้วมือเดียว ก็ถึง “ปราสาทอาฬวกยักษ์” ยามเย็น

ส่วนมหากัสสปเถระและบริวารห้าร้อยองค์กระทำพ่ำเพ็งอยู่ปลายดอยแห่งนั้น รุ่งเช้าก็พาภิกษุบริวารออกบิณฑบาต ฉันเสร็จแล้วก็ออกเดินทางต่อไป

ฝ่ายพระพุทธเจ้าและภิกษุมาถึงแล้วก็สั่งสอนอาฬวกยักษ์ให้ตั้งอยู่ในศีลห้า อาฬวกยักษ์นิมนต์ให้พักนอนในปราสาทของของตน

วัสสาที่สิบหก (พรรษาที่ 16) พระพุทธเจ้าจำพรรษาแล้วก็เสด็จไปโปรดสัตว์มาถึงเมืองพันธุสิงหนวัตินครอีกครั้ง มาถึงดอนแห่งหนึ่งก็นอนอยู่ที่นั่นบ้านแห่งนั้นเป็นบ้านน้อย

นายบ้านรู้ว่าพระพุทธเจ้ามาเมตตาก็มีความเลื่อมใสศรัทธามากนัก ก็มาพิจารณาเอาผักอันเป็นกัปปิยะมาแกงปนกับข้าวให้ได้มาก (ผักอันเป็นกัปปิยะ คือ ผักที่ภิกษุได้มาไม่ผิดพระวินัย)

รุ่งเช้าก็พากันไปใส่บาตรพระพุทธเจ้ากระทำภัตกิจฉันข้าวแล้วก็เทศนาธรรมภัตตานุโมทนา ทรงลูบอุตมังคลเกศาให้พระยาอโศกและนายบ้านผู้นั้น

พระพุทธเจ้าทรงทำนายว่า เมื่อบรรจุเกศาธาตุไว้บนดอยแห่งนี้เป็นที่บูชาแก่คนและเทวดาทั้งหลาย สถานที่แห่งนี้จะได้ชื่อว่า ดอยจอมแกง

เพราะว่าอุบาสกนายบ้านเอาข้าวเอาแกงมาถวายทาน พระยาอโศกก็พร้อมบรรจุ นายบ้านนำเอาโกศแก้วมาใส่ บ้านแห่งนั้นได้ชื่อว่า “ถ้ำแก้ว” มาจนถึงบัดนี้

พระพุทธเจ้าเสด็จไปทางตะวันออกไกลประมาณสี่พันวา ข้ามน้ำรามไปถึงดอยที่เล็งเห็น "พวกอาฬวกยักษ์" ตอนแรกและพาภิกษุไปก่อนนั้น พระพุทธเจ้าประทับนั่ง หันหน้าไปทางทักขิณะแล้วยอพระหัตถ์ขวาลูบอุตมังคละได้เกศาธาตุเส้นหนึ่งมอบให้พระสารีบุตรและกล่าวว่า

ดูราสารีบุตร สถานที่แห่งนี้จะได้ชื่อว่า ธาตุเจ้าดอยโยนกปัพพะตะ (ปัพพะตะ = บรรพต คือภูเขา) เพราะตถาคตมาถึงที่นี่แล้วพาภิกษุทั้งหลายเหาะไปยังที่อยู่ของอาฬวกยักษ์ ต่อจากนี้ไปเมืองพันธุสิงหนวัตินครจะได้ชื่อว่า “เมืองโยนกนครราชธานีไชยบุรีศรีช้างแส่น” ดังนี้

ที่มา - www.thaitopsites.com/themiti/p02s01.html



ตำนานพระธาตุดอยตุง



พระธาตุดอยตุงได้บูรณะใหม่ เมื่อปี 2551

ประวัติความเป็นมาของพระธาตุดอยตุงที่ปรากฏใน ตำนานพระธาตุดอยตุง กล่าวว่า พระมหากัสสปเถระ ได้นำเอาพระบรมอัฐิธาตุ 500 องค์ กับ พระรากขวัญเบื้องซ้าย หรือ "กระดูกด้ามมีดเบื้องซ้าย" มาถวายให้ พระยาอชุตราช กษัตริย์ผู้ครองเมืองโยนกเชียงแสน ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าสิงหนวัติ

ดังนั้นพระยาอชุตราชพร้อมทั้งพระมหากัสสปเถระ ก็อัญเชิญพระธาตุขึ้นบรรจุบนดอยตุงในบริเวณที่เชื่อว่าครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับนั่งบนก้อนหินก้อนหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายมะนาวผ่าครึ่ง บริเวณดอยตุงดังกล่าวนี้ เป็นที่อยู่ของชนเผ่ามิลักขุหรือลัวะ มีหัวหน้าชื่อ ปู่ลาวจก

เมื่อพญาอชุตตราชได้บรรจุพระธาตุบนดอยตุงแล้วได้พระราชทานทองคำให้แก่ปู่ลาวจก เพื่อแลกเป็นค่าที่ดินกว้างโดยรอบ พระธาตุออกไปด้านละ 3,000 วา สำหรับถวายเป็นคามเขตแด่องค์พระธาตุ พร้อมทั้งถวายมิลักขุ 500 ครอบครัว ให้เป็นข้าพระธาตุดูแลรักษาพระบรมธาตุด้วย

ส่วนพระมหากัสสปเถระ ได้อธิษฐาน ผ้าตุงทิพย์ ยาว 7,000 วา ประดิษฐานไว้ ณ ที่แห่งนี้ ซึ่งต่อมาได้เรียกว่าชื่อ "ดอยตุง" ตามตุงทิพย์ดังกล่าว ต่อมาอีกช่วงเวลาหนึ่ง ได้มี พระมหาวชิรโพธิ์ ได้นำพระบรมอัฐิธาตุ 150 องค์ มาถวาย พระยามังราย กษัตริย์ในรัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์สิงหนวัติ ผู้ครองเมืองโยนกเชียงแสน (พระยามังรายนี้ คนองค์กับ พระเจ้าเม็งรายมหาราช)

และพระยามังรายได้ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุนั้นบนดอยตุงในบริเวณก้อนหินลักษณะรูปมะนาวผ่าครึ่งนั้นอีกครั้ง พร้อมทั้งถวายที่ดินและเหล่ามิลักขุ 500 ครอบครัว แด่พระธาตุเช่นครั้งแรก จากการประดิษฐานพระบรมอัฐิธาตุสองครั้งดังกล่าว จึงทำให้บนดอยตุงมี พระธาตุเจดีย์ตั้งอยู่สององค์เคียงคู่กันมาจนทุกวันนี้

หลังจากนั้นในตำนานได้กล่าวถึงการสืบทอดกษัติรย์ที่มาจาก "วงศ์ลวะจักกะ" หรือ "ปู่เจ้าลาวจก" มาจนถึงกษัตริย์ล้านนาในราชวงศ์มังรายที่ได้ทำนุบำรุงพระธาตุดอยตุง มีการกล่าวอ้างถึงพระนามพระยามังราย พระยาชัยสงคราม พระยาแสนภู พระยาคำฟู พระยาผายู พระยาเจ็ดพันตู พระยามหาพรหม พระยาแสนเมืองมา และ พระยากือนา

ที่ตำนานระบุว่าได้ถวายที่ดินและมิลักขุ 500 ครอบครัว พร้อมสาปแช่งผู้ที่จะมาล้มล้างการกระทำของพระองค์ จากนั้นกล่าวถึงพระยาติโลกหรือ พระเจ้าติโลกราช ได้ทรงถวายที่ดินและข้าคนไว้บำรุงพระธาตุเช่นเดิม โดยทรงมีพระราชโองการเป็นตราหลาบเงิน หรือการจารพระราชโองการบนแผ่นเงินไว้ รวมทั้งได้ทรงโปรดให้ตั้งตำนานหรือเขียนตำนานของพระธาตุดอยตุงไว้ด้วย

ในที่สุด พ.ศ. 2122 เมื่อดินแดนล้านนาอยู่ภายใต้การยึดครองของพม่าแล้ว ลูกเจ้าฟ้ามังทราจากเมืองหงสาวดีมาปกครองล้านนา ได้จารึกตราหลาบเงินอีกฉบับหนึ่ง เพื่อถวายทานมิลักขุและที่ดินตามประเพณีที่พระมหากษัตริย์ล้านนาได้ปฏิบัติในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เรื่องราวที่ปรากฏในตำนานได้จบลงเพียงเท่านี้.

ที่มา //kanchanapisek.or.th/kp8/culture/chr/chr603.html



ประวัติ "นิกาย" ในประเทศจีน


นิกายนี้ ภาษาแต้จิ๋วเรียกว่า "เสี่ยมจง" แต่เนื่องด้วยคนไทยเราทราบชื่อนิกายนี้ตามภาษาญี่ปุ่นมาว่า "เซ็น" ซึ่งเป็นมูลศัพท์เดียวกัน จึงขอเรียกตามญี่ปุ่นไปด้วย

นิกายนี้เป็นนิกายที่สำคัญยิ่งนิกายหนึ่ง ซึ่งมีความเจริญแพร่หลายอยู่ทุกยุคทุกสมัย คำว่า "เซ็น" มาจากศัพท์ว่า "ธฺยาน" หรือ "ฌาน" หมายถึงนิกายที่ปฎิบัติทางวิปัสสนา

ตามประวัติเล่ากันว่า ในสมัยพุทธกาล ณ ท่ามกลางประชุมบริษัท ๔ พระศาสดาได้ทรงชูดอกหนึ่ง มิได้ตรัสเทศนาว่าอย่างไร ที่ประชุมไม่มีผู้ใดเข้าใจความหมาย นอกจาก พระมหากัสสปเถระ รูปเดียวเท่านั้น ที่ยิ้มน้อยๆ อยู่ พระศาสดาจึงตรัสว่า

"ดูก่อน กัสสปะ ตถาคตมีธรรมจักษุครรถ์อันถูกต้องและนิพพานจิต ลักษณะที่แท้จริงย่อมไม่มีลักษณะได้มอบไว้ให้แก่เธอแล้ว"

เพราะฉะนั้น นิกายนี้จึงนับถือพระมหากัสสปเถระว่าเป็นปฐมาจารย์และถือว่าเป็นนิกายวิปัสสนาโดยเฉพาะ ไม่ต้องอาศัยตัวหนังสือหรือปริยัติธรรมใดๆ ไม่อยู่ในกรอบแห่งคำพูดใดๆ แต่ชี้ตรงไปยังจุดของจิตใจ เพราะฉะนั้น บางทีจึงมีนามเรียกว่า "การเผยแผ่นอกคำสอน"

นิกายเซ็นนับตั้งแต่พระมหากัสสปเถระ ได้มีเกจิอาจารย์สืบทอดมาอีก ๒๘ องค์ จนถึงสมัย ท่านโพธิธรรม (ตั๊กม่อโจวซือ) จึงได้นำคติของนิกายนี้มาสั่งสอนในประเทศจีน ในสมัย พระเจ้าเหลียงบูเต้ จักรพรรดิแห่งราชวงศ์เหลียง

แล้วต่อแต่นั้นมาก็มีคณาจารย์จีนสืบทอดมาอีก ๕ องค์ จึงนับว่าท่านโพธิธรรมผู้จาริกมาสู่ประเทศจีนในราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๐ เป็นปฐมาจารย์แห่งนิกายเซ็นในประเทศจีน คณาจารย์ฮุ่ยค้อ เป็นองค์ที่ ๒ ท่านฮุ่ยค้อได้มอบธรรมให้แก่ คณาจารย์เจ็งชั้ง เป็นองค์ที่ ๓ และท่านเจ็งชั้งได้มอบให้แก่ คณาจารย์เต้าสิ่ง เป็นองค์ที่ ๔

นิกายเซ็นแบ่งออกเป็น ๒ สำนัก คือ สำนักของคณาจารย์ฮ่งยิ่มเรียกว่า "สำนักอึ้งบ้วย" ซึ่งถือกันว่าเป็นสำนักที่สืบเนื่องมาโดยตรง และสำนักของคณาจารย์ฮวบย้ง เรียกชื่อว่า "สำนักงู่เท้า" ซึ่งเป็นสำนักแฝงเท่านั้น คณาจารย์ฮ่งยิ่มแห่งสำนักอึ่งบ้วยนับเป็นปฐมาจารย์ของนิกายเซ็นที่แยกสาขาออกมา.

ที่มา - www.fgs-th.com/home.html

หมายเหตุ : ปรมาจารย์ต๋าหมัว (ตักม้อ) พวกเรารู้จักและเรียกกันว่า "ตั๊กม้อ" ท่านเป็นเชื้อพระวงศ์ชาวอินเดียมาก่อน แล้วได้ออกบวชเป็นพระในพุทธศาสนา ดังจะเห็นได้ว่า ชาวจีนทั้งหลายมีความเคารพนับถือ พระมหา
กัสสปกับพระอานนท์เป็นอย่างยิ่ง

ฉะนั้น ภายในวัดวาอารามทุกแห่งในประเทศจีน จะเห็นรูปปั้นของท่านทั้งสองอยู่ด้านข้างของพระพุทธรูปทุกองค์ คล้ายกับที่บ้านเรานิยมปั้นรูปพระอัครสาวกทั้งสอง คือ พระโมคคัลลาน์และพระสารีบุตร ไว้เช่นกัน

((( จบบริบูรณ์ )))



[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
ตั้งหัวข้อใหม่

Go To Top