พิธีบวงสรวงพิเศษ ณ วัดท่าซุง/ พระครูปลัดอนันต์ ไปที่บ้านสายลม
วันที่ ๑ ส.ค. เวลา ๐๘.๐๐ น. ฉันเช้าแล้ว พระครูปลัดอนันต์ พร้อมด้วยพระสงฆ์วัดท่าซุง รวม ๔ รูป เดินทางไปบ้าน พล.อ.อ.อาทร โรจนวิภาต ที่ดอนเมือง
เพื่อรับสังฆทานและฉันเพล เมื่อฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว เดินทางเข้าบ้านสายลม
เวลา ๑๙.๐๐ น. ลงรับแขกและรับสังฆทาน เวลา ๒๒.๐๐ น. ขึ้นพัก
วันที่ ๒, ๓, ๔ ส.ค. รับสังฆทาน ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ น. - ๑๕.๐๐ น. และเจริญพระกรรมฐาน ตั้งแต่เวลา ๑๙.๐๐ น. ถึง ๒๐.๐๐ น.
เสร็จแล้วรับสังฆทานต่อ และสนทนาธรรมจนถึงเวลา ๒๒.๐๐ น.
(หมายเหตุ วันที่ ๒ - ๓ ส.ค. ฝึกมโนมยิทธิ ตั้งแต่เวลา ๑๒.๓๐ น. ถึง ๑๕.๐๐ น.)
วันที่ ๕ ส.ค. เดินทางกลับวัด ฯ
พิธีบวงสรวงพิเศษ ณ พระราชานุสาวรีย์
เมื่อวันที่ ๒ ส.ค. ทางวัดท่าซุงได้ทำพิธีบวงสรวงเป็นกรณีพิเศษ เพื่อร่วมกันอธิษฐานขอให้ประเทศชาติได้ปลอดภัยและเจริญรุ่งเรือง
ผ่านพ้นจากวิกฤตการและภยันตรายต่างๆ อนึ่ง ตามหลักดาราศาสตร์จะมี "สุริยคราส" เกิดขึ้นในประเทศแถบเอเซียนี้ (ตามข่าวแจ้งว่าภริยาผู้นำของประเทศกัมพูชา
ก็ยังมีการกระทำพิธีเรื่องของประเทศ ณ ปราสาทเขาพระวิหารอีกด้วย)
เวลา ๐๘.๓๐ น. พระครูสังฆรักษ์สุรจิต สุรจิตโต รองเจ้าอาวาสวัดท่าซุง พร้อมด้วยพระสงฆ์วัดท่าซุงและญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย
ได้ร่วมกันกระทำพิธีบวงสรวง ณ พระราชานุสาวรีย์ หน้าวิหาร ๑๐๐ เมตร โดยมีบายศรีชุดใหญ่ และเครื่องสังเวยครบชุด แวดล้อมด้วยฉัตรทั้ง ๙ ชั้น
หลังจากเปิดเทปพระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ บวงสรวงแล้ว พระสงฆ์ได้เจริญพระพุทธมนต์บท อุปปาตะสันติ เป็นเวลา ๑ ชั่วโมง ๒๔ นาที
ซึ่งเป็นพุทธมนต์สำหรับระงับเหตุเภทภัย เป็นการอาราธนาคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ไว้อย่างครบถ้วน ทั้งที่มีมาในอดีต ในปัจจุบัน
และจะมีมาในอนาคตทุกๆ กัป รวมตลอดไปจนถึงท่านที่ทรงคุณ ทรงอำนาจ ทรงฤทธิ์ ในทางที่ดีอื่นๆ เช่น เทวดา อินทร์ พรหม ยักษ์ นาค คนธรรพ์ ครุฑ อสูรเป็นต้น
เพื่อขอความเป็นมงคล ความสงบ ความสวัสดี ความไม่มีโรค ชัยชนะ และอายุ รวมทั้งขอให้ท่านคุ้มครองให้พ้นจากเหตุเภทภัยนานัปการ
อันจะบังเกิดขึ้นในกาลทุกเมื่อ ทั้งยังเป็นการทดแทนคุณของแผ่นดิน ต่อองค์ประมุขและบรรพบุรุษทั้งหลายด้วย
หลังจากเสร็จพิธีแล้ว รองเจ้าอาวาสวัดท่าซุงก็ได้ปะพรมน้ำพระพุทธมนต์ ให้แก่บรรดาผู้ร่วมพิธีทั้งหลายอีกด้วย
ซึ่งมีเด็กนักเรียนโรงเรียนพระสุธรรมยานเถระ ต่างก็มาร่วมพิธีอันเป็นศุภมงคลนี้ด้วย
ประวัติคัมภีร์อุปปาตะสันติ
อุปปาตะสันติ เป็นพิธีกรรมมาแต่โบราณ ทางเมืองเหนือเรียกว่า มหาสันติหลวง แปลว่า บทสวดเพื่อสงบเคราะห์กรรม สวดเพื่อสงบเหตุร้าย
และสวดเพื่อสงบสิ่งที่กระทบกระเทือน "คัมภีร์อุปปาตะสันติ" เป็นวรรณกรรมภาษาบาลีของล้านนาไทย แต่งโดย พระมหามังคละสีลวังสะ
พระเถระนักปราชญ์ของชาวเชียงใหม่รูปหนึ่ง ในสมัยของ พระเจ้าพระเจ้าติโลกราช รัชกาลที่ ๑๑ แห่งราชวงศ์เม็งราย (ระหว่าง พ.ศ. ๑๙๘๕ - ๒๐๓๐)
เป็นคาถาล้วน จำนวน ๒๗๑ คาถา คัมภีร์อุปปาตะสันติ เป็นคัมภีร์ของไทยแต่ต้นฉบับได้จากเมืองไทย แต่ไปอยู่เมืองพม่าเสียนาน (เหมือนกับ
พุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก ที่ "คณะตามรอยพระพุทธบาท" เป็นผู้บุกเบิกนำออกมาเผยแพร่) จนแทบกล่าวได้ว่า คนไทยในสมัยหลังๆ นี้ไม่มีใครรู้จัก
ไม่เคยได้ยินแม้แต่ชื่อของคัมภีร์นี้ แต่บัดนี้เป็นที่ยินดียิ่งที่ ท่านเจ้าคุณธรรมคุณาภรณ์ (เช้า ฐิตะปัญโญ) ป.ธ.๙ วัดมหาโพธาราม
ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ท่านได้ชำระคัมภีร์นี้เป็นภาษาบาลีอักษรไทย เพื่อความสะดวกแก่ผู้อ่านที่ไม่สันทัดบาลี โดยได้ต้นฉบับภาษาบาลีอักษรพม่าจาก
ท่านอาจารย์ธัมมานันทะ แห่งวัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง
นับว่าเป็นการนำคัมภีร์ของล้านนาไทยโบราณกลับคืนมาสู่เมืองไทยให้ชาวไทยในยุคปัจจุบันได้รู้จัก ได้ศึกษาได้สวดได้ฟังให้เกิดประโยชน์ทางสันติ
เพื่อความสงบระงับจากภัยพิบัติทั้งปวง และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชาวล้านนาไทย ตลอดจนชาวโลกทั้งหลาย หลักฐานคัมภีร์ อุปปาตะสันติ ฉบับหนึ่งในล้านนาไทย
ซึ่งเขียนไว้ในสมุดข่อย หมึกจีน อาบน้ำชาด ที่เรียกว่าประวัติย่อ ดังนี้
ในปีจุลศักราช ๑๒๗๙ ปีดับไก๊ เดือน ๘ เหนือ เพ็ญวันศุกร์ ปีกุน สัปตศก พ.ศ.๒๔๗๘ เจ้าภาพเขียนต้นฉบับนี้ คือ นายบ้านประตูท่าแพ
เป็นประธานพร้อมทั้งภริยาลูกและญาติทุกคน ได้จ้างคนเขียนธรรม ๕ ผูกคือ มลชัย ๑ ผูก อินทนิล ๑ ผูก สังยมาปริตตคลสูตร ๑ มังผูกนัครฐาน ๑ ผูกอุปปาตสันติ ๑ ผูก
รวม ๕ ผูก พร้อมทั้งสร้างบ่อน้ำถวาย ท่านครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดศรีโสดา และถนนขึ้นดอยสุเทพ ขอกุศลบุญเยี่ยงนี้จงเป็นปัจจัยค้ำชูตัวแห่งผู้ข้า ฯ
ทั้งหลายทุกคนตราบถึงนิพพานในอนาคตกาลโน้นเทอญฯ
มีคำเล่าว่า สมัยแต่งอุปปาตะสันตินั้น ที่เมืองเชียงใหม่นั้นมีโจรผู้ร้ายและ คนอัทธพาลชุกชุมมากผิดปกติ มีเหตุร้ายและสิ่งกระทบกระเทือนอยู่เสมอ
พระสีลวังสะเถระ จึงให้พระสงฆ์ สามเณรและประชาชนพากันสวดและฟังอุปปาตะสันติ เพื่อกลับร้ายให้กลายเป็นดี มีผู้เลื่อมใสคัมภีร์นี้มาก
และถือว่าเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์
ต่อมาชาวพม่ามีความเลื่อมใสนำคัมภีร์นี้เข้าไปในประเทศพม่า เข้าใจว่านำเข้าไปที่ เมืองอังวะ ก่อนแล้วแพร่หลายไปทั่วประเทศพม่าสมัย ๕๐๐ ปีที่ล่วงแล้ว
ชาวพม่าทั้งพระสงฆ์และประชาชนถือว่า คัมภีร์อุปปาตะสันติ มีความศักดิ์สิทธิ์มาก นิยมท่อง นิยมสวดและนิยมฟังอย่างกว้างขวาง มีคำเล่ากันว่า
สมัยหนึ่งพวกจีนมาตีเมืองอ้งวะ ประเทศพม่า ชาวพม่าทั้งพระสงฆ์ ข้าราชการ และประชาชนพากันสวดคัมภีร์อุปปาตะสันติ พวกจีนได้ฟังอุปปาตะสันติโฆษณาคือ
เสียงกึกก้องของอุปปาตะสันติ ก็มีความกลัวแล้วพากันหนีกลับไป
ความหมาย "คัมภีร์อุปปาตะสันติ" ฉบับภาษาบาลี
๑. อุปปาตะสันติ แยกเป็น ๒ คำ คือ "อุปปาตะ" และ "สันติ" อุปปาตะ แปลว่า เคราะห์กรรม, เหตุร้าย, อันตราย และแปลว่าสิ่งกระทบกระเทือน
รวมคำ "อุปปาตะสันติ" แปลว่า บทสวดสงบเคราะห์กรรม, บทสวดสงบอันตราย, บทสวดสงบเหตุร้าย, และ บทสวดสงบสิ่งกระทบกระเทือน
๒. คัมภีร์อุปปาตะสันติ เป็นวรรณคดีบาลีลานนาไทย พระสีลวังสะมหาเถระ แต่งที่เชียงใหม่ สมัยกรุงศรีอยุธยา ระหว่าง พ.ศ. ๑๘๙๓ ถึง พ.ศ. ๒๐๑๐
เป็นคาถาล้วนจำนวน ๒๗๑ คาถา จัดเข้าในหนังสือประเภท เชียงใหม่คันถะ คือ คัมภีร์เชียงใหม่มีอายุประมาณ ๖๐๐ ปีเศษแล้ว (มีอายุกาลเดียวกับ
"คัมภีร์ชินกาลมาลีปกรณ์" แต่งโดย พระรัตนะมหาเถระ ชาวเชียงใหม่เช่นกัน)
๓. บุคคลและสภาวะที่อ้างถึงในคัมภีร์อุปปาตะสันติมี ๑๓ ประเภทคือ
๓.๑ พระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตถึงปัจจุบัน (เน้นที่ ๒๘ พระองค์)
๓.๒ พระปัจเจกพุทธเจ้า
๓.๓ พระพุทธเจ้าในอนาคต ๑ พระองค์ คือ พระศรีอาริยเมตไตรย
๓.๔ โลกุตตรธรรม ๙ และพระปริยัติธรรม ๑
๓.๕ พระสังฆรัตนะ
๓.๖ พระเถระชั้นผู้ใหญ่ ๑๐๘ รูป
๓.๗ พระเถรีชั้นผู้ใหญ่ ๑๓ รูป
๓.๘ พญานาค
๓.๙ เปรตบางจำพวก
๓.๑๐ อสูร
๓.๑๑ เทวดา
๓.๑๒ พรหม
๓.๑๓ บุคคลประเภทรวม เช่น เทวดา ยักษ์ ปีศาจ คือผีที่ทำสิ่งใดๆ อย่างโลดโผน และวิชชาธรหรือพิทยาธร (สันสกฤตเรียก วิทยาธร) ถ้าเป็นภาษาอังกฤษเรียกพวก
เซอเร่อ คือ พ่อมด แม่มด หรือผู้วิเศษ พวกวิชชาธร เป็นพวกรอบรู้เรื่องเครื่องรางและเสน่ห์ต่างๆ สามารถไปเหาะเหิรเดินอากาศได้
อานุภาพของอุปปาตะสันติ
ผู้ใดสวดหรือฟัง อุปปาตะสันติ อันกล่าวแล้วด้วยประการฉะนี้บุคคลนั้นจะพึงชนะจากสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง จักเจริญด้วยคุณ ณ ประการคือ อายุ วรรณะ สุขะ
ความวิบัติย่อมไม่มาแผ้วพานย่อมได้รับความอิ่มใจในกาลทุกเมื่อ
ยาพิษและศาสตราวุธย่อมไม่กล้ำกรายย่อมชนะข้าศึกทั้งมวล โรคาพยาธิย่อมไม่เบียดเบียนย่อมเจริญด้วยทรัพย์ศฤงคาร ภัยจากมนุษย์ อมนุษย์และสัตว์ร้ายน้อยใหญ่
ย่อมสงบไปด้วยเสียงแห่งการสวด อุปปาตะสันติ
ผู้ที่สวด อุปปาตะสันติ แล้วอุทิศให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วก็ดี ที่ยังมีชีวิต ทวยเทพเทวดาทั้งหลาย ท้าวพระยามหากษัตริย์ทั้งหลายอยู่ก็ดี
จักช่วยให้เขาเหล่านั้นพ้นจากมหันตทุกข์ย่อมเข้าถึงสุขในกาลทุกเมื่อ จักเป็นผู้เจริญด้วยเดช และสิริมงคลด้วยกฤตยานุภาพแห่งพระคาถา อุปปาตะสันติ
- เหตุร้ายอันเกิดจากภัยธรรมชาติ มีแผ่นดินไหว และน้ำท่วมเหตุร้ายอันเกิดจากสุริยุปราคาจันทรุปราคา เป็นต้น
- เหตุร้ายอันเกิดจากฟากฟ้า เหตุร้ายอันเกิดจากบาปกรรมเหตุร้ายทั้งปวงจักพินาศไปด้วยเดชแห่ง อุปปาตะสันติ
เรื่องราวเย็นอกเย็นใจที่สังคมมุ่งหวังและเสาะแสวงหา ที่กล่าวถึงในคัมภีร์อุปปาตะสันติ มีประการที่สำคัญ ๓ อย่างคือ
ก. สันติ หรือ มหาสันติ ความสงบ ความราบรื่น ความเยือกเย็น ความไม่มีคลื่น
ข. โสตถิ ความสวัสดี ความปลอดภัย ความเป็นอยู่เรียบร้อย หรือตู้นิรภัย
ค. อาโรคยะ ความไม่มีสิ่งเป็นเชื้อโรค ความไม่มีโรคหรือความมีสุขภาพสมบูรณ์
คัมภีร์อุปปาตะสันติ มีข้อความขอความช่วยเหลือ ขอให้พระรัตนตรัยและบุคคล พร้อมทั้งสิ่งทรงอิทธิพลในจักรวาลรวม ๑๓ ประเภทดังกล่าวมาแล้วช่วยสร้างสันติ
หรือ มหาสันติ ช่วยสร้าง โสตถิ และ อาโรคยะ ช่วยปรุงแต่งสันติและอาโรคยะ ขอให้ช่วยรวมสันติ รวม โสตถิ และรวม อาโรคยะ และขอให้ช่วยเป็นตู้นิรภัยคุ้มครองและ
กำจัดเหตุร้ายอันตรายหรือสิ่งกระทบกระเทือนต่างๆ อย่าให้เกิดมีในตน ในครอบครัว ในหมู่คณะ หรือในวงงานของตน และในวงงานของคนอื่นทั่วไป
๔. อานิสงส์การสวดและการฟัง อุปปาตะสันติ มีคุณประโยชน์ตามที่กล่าวไว้ ในท้ายคัมภีร์ มีดังนี้
๔.๑ ผู้สวดหรือผู้ฟังอุปปาตะสันติ ย่อมชนะเหตุร้ายทั้งปวงได้ และมีวุฒิภาวะคือ ความเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาณ
๔.๒ ผู้สวดหรือผู้ฟังอุปปาตะสันติ ย่อมได้ประโยชน์ที่ตนต้องการ คือ ผู้ประสงค์ความปลอดภัยย่อมได้ความปลอดภัย คนอยากสบายย่อมได้ความสุข คนอยากมีอายุยืน
ย่อมได้อายุยืน คนอยากมีลูก ย่อมได้ลูกสมประสงค์
๔.๓ ผู้สวดหรือผู้ฟังอุปปาตะสันติ ย่อมไม่มีโรคลมเป็นต้นมาเบียดเบียน ไม่มีอกาละมรณะคือตายก่อนอายุขัย ทุนนิมิตรคือลางร้ายต่างๆมลายหายไป
๔.๔ ผู้สวดหรือผู้ฟังอุปปาตะสันติ เมื่อเข้าสนามรบย่อมชนะข้าศึก ทั้งปวงและแคล้วคลาดจากอาวุธทั้งปวง
๕. เดชของอุปปาตะสันติ การสวดอุปปาตะสันติเป็นประจำ ย่อมมีเดชดังนี้
๕.๑ อุปปาตะ คือเหตุร้ายหรือสิ่งกระทบกระเทือน อันเกิดจากแผ่นดินไหวเป็นต้น ย่อมพินาศไป (ปะถะพะยาปาทิสัญชาตา)
๕.๒ อุปปาตะ คือ คือเหตุร้ายหรือสิ่งกระทบกระเทือน อันเกิดจากลูกไฟที่ตกจากอากาศหรือสะเก็ดดาว ย่อมพินาศไป (อุปปาตะจันตะลิกขะชา)
๕.๓ อุปปาตะ คือ คือเหตุร้ายหรือสิ่งกระทบกระเทือน อันเกิดจากการเกิดจันทรุปราคา หรือ สุริยุปราคา เป็นต้น ย่อมพินาศไป (อินทาทิชะนิตุปปาตา)
๖. คัมภีร์อุปปาตะสันติ เป็นคัมภีร์ไทย แต่ต้นฉบับได้จากเมืองไทย ไปอยู่เมืองพม่าเสียนาน จนแทบกล่าวได้ว่า คนไทยสมัยหลังไม่มีใครรู้จัก
ไม่เคยได้ยินแม้แต่ชื่อ ข้าพเจ้าจึงชำระและจัดพิมพ์เป็นอักษรไทย ด้วยวิธีเขียนให้คนอ่านคำบาลีทั่วไป สำหรับต้นฉบับนั้น ข้าพเจ้ามีแต่ฉบับเมืองพม่า
และเป็นอักษรพม่า โดย ท่านอาจารย์ธรรมานันทะธัมมาจริยะ ครูพระไตรปิฏก ประจำวัดโพธาราม (ปัจจุบันท่านอยูที่ วัดท่ามะโอ จ.ลำปาง) ได้กรุณาถวาย
ข้าพเจ้าจึงขอขอบคุณอย่างยิ่งไว้ในที่นี้
การที่ข้าพเจ้าได้ชำระและจัดพิมพ์ "อุปปาตะสันติ" เป็นอักษรไทยขึ้นเป็นครั้งแรกนี้ ข้าพเจ้าถือว่าเป็นการนำ "คัมภีร์ไทยโบราณ" กลับคืนสู่เมืองไทย
เพื่อให้คนไทยได้รู้จัก ได้ศึกษา ได้สวด และได้ฟังให้เกิดประโยชน์ทางสันติ ทางโสตถิและทางอาโรคยะ สืบไป
ในที่สุดนี้ข้าพเจ้าขอถือโอกาสเชิญชวนมวลพุทธศาสนิกชนชาวไทย พร้อมกันยกมือสาธุแสดงความชื่นชมโสมนัสต่อการกลับมาโดยสวัสดีของ "คัมภีร์อุปปาตะสันติ"
โดยทั่วกันทุกท่านเทอญ ฯ
จากบทความของ - ท่านเจ้าคุณพระเทพเมธาจารย์
วัดโพธาราม จ.นครสวรรค์
๗ สิงหาคม ๒๕๐๕
สำหรับบทสวดมนต์มีความยาวมาก จะขอนำมาเป็นตัวอย่างโดยย่อ ดังนี้
อุปปาตะสันติ
บทสวดสงบเหตุร้าย
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ.
ขอความนอบน้อมของข้าพเจ้าจงมีแด่พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
คันถารัมภะ (คำเริ่มต้นคัมภีร์)
(ก) สุทุททะโส อะยัง ธัมโมโลกัตถัง ชินะเทสิโต
มะหาสันติกะโร โลเกสัพพะสัมปัตติทายะโก.
ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ เพื่อประโยชน์ของสัตว์โลก เป็นธรรมที่เห็นได้ยากยิ่ง สำหรับธรรมที่จะกล่าวต่อไปนี้
เป็นธรรมที่สามารถกระทำความสงบอันประเสริฐ และสามารถประทานซึ่งสมบัติทั้งปวง
(ข) สัพพุปปาตูปะสะมะโณภูตะยักขะนิวาระโณ
อะกาละมัจจุสะมะโณโสกะโรคะวินาสะโน.
เป็นเครื่องสงบเหตุร้ายทั้งปวง เป็นเครื่องป้องกันอมนุษย์และยักษ์ เป็นเครื่องระงับความตายก่อนกำหนดเวลา เป็นเครื่องขจัดความเศร้าโศกและโรค
(ค) ปะระจักกะปะมัททะโนรัญโญ วิชะยะวัฑฒะโน
สัพพานิฏฐะหะโร สันโตธัมมัง วักขามิ ภูตะโต.
เป็นเครื่องย่ำยีกำลังของข้าศึก เป็นเครื่องจำเริญชัยชนะแด่พระราชา เป็นเครื่องนำสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาทั้งปวงออกไป เป็นธรรมอันประเสริฐ ข้าพเจ้า
(พระสีละวังสะมหาเถระ) จักแสดงคุณธรรมเช่นนั้น ตามสภาพที่เป็นจริง
(ฆ) วัตถุตตะยัสสะ โย ยัตถะสังวัณเณติ คุณุตตะเม
ตัสสะ ตัตถะ สุขาโรคฺยะ-โสตถิโย โหนติ สัพพะทา.
ณ ที่ใด มีผู้กล่าววาจาสรรเสริญพระคุณอันประเสริฐของพระรัตนตรัย ด้วยจิตที่เลื่อมใส ณ ที่นั้น ความสุข ความสบาย และความสวัสดี
ย่อมมีแก่ผู้นั้นตลอดกาลทุกเมื่อ
(ในสารมัณฑกัป ๔ พระองค์)
(พระพุทธเจ้าในอดีต ๒๘ พระองค์)
๑.ตัณหังกะโร มะหาวีโรสัพพะโลกานุกัมปะโก
วันตะสังสาระคะมะโนสัพพะกามะทะโท สะทา.
พระตัณหังกร สัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้แกล้วกล้ามาก ผู้อนุเคราะห์สัตว์โลกทั้งปวง ผู้คลายตัณหาอันเป็นเหตุท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏได้แล้ว
ผู้ประทานสิ่งที่น่าปรารถนาทั้งปวงให้ ในกาลทุกเมื่อ
๒. สัพพาภิภู สัพพะวิทูสัพพะเทวะคะรุตตะโม
สัพพาสะวะปะริกขีโณสะทา โสตถิง กะโรตุ โน.
ผู้ทรงครอบงำธรรมทั้งปวง ทรงรู้แจ้งธรรมทั้งปวง ทรงเป็นครูผู้ยอดเยี่ยมของมนุษย์และเทวดาทั้งปวง ทรงสิ้นอาสวะทั้งปวงแล้ว โปรดประทานความสวัสดี
แก่พวกข้าพระองค์ ในกาลทุกเมื่อเถิด
๓.วะระลักขะณะสัมปันโนเมธังกะโร มะหามุนิ
ชุตินธะโร มะหาสิรีสุวัณณะคิริสันนิโภ.
พระจอมมุนีพระนามว่า เมธังกร ผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยพระลักษณะอันเลิศ ผู้ทรงไว้ซึ่งพระรัศมี ผู้ทรงมีพระสิริยิ่งใหญ่ รุ่งเรืองดุจสุวรรณคีรี
๔.ทิพพะรูโป มะหากาโยมะหานาโถ มะหัพพะโล
มะหาการุณิโก สัตถามะหาสันติง กะโรตุ โน.
ผู้ทรงมีพระรูปเพียงดังท้าวมหาพรหม มีพระวรกายอันประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ ทรงเป็นที่พึ่งอันประเสริฐมีพระกำลังมาก ทรงประกอบด้วยพระมหากรุณา
ทรงเป็นพระศาสดา โปรดประทานความสงบอันยิ่งใหญ่ แก่พวกข้าพระองค์เถิด
๕.มะหาโมหะตะมัง หันตฺวาโย นาโถ สะระณังกะโร
เทวาเทวะมะนุสสานังโลกานัญจะ หิตังกะโร.
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า สรณังกร ทรงเป็นที่พึ่ง ทรงกำจัดความมืดมนคืออวิชชาได้แล้ว ทรงกระทำประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลก กล่าวคือเหล่าทวยเทพ อสูร
และมนุษย์ทั้งหลาย
๖.พฺยามัปปะภาภิรุจิโตนิโคฺรธะปะริมัณฑะโล
นิโคฺรธะปักกะพิมโพฏโฐสะทา โสตถิง กะโรตุ โน.
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า สรณังกร พระองค์นั้น ผู้ทรงรุ่งเรืองด้วยพระรัศมีแผ่ออกไปหนึ่งวาโดยรอบ ผู้ทรงมีพระวรกายเป็นปริมณฑลดุจต้นนิโครธ
(ความสูงของกายเท่ากับความยาวของวา) ผู้ทรงมีพระโอฏฐ์แดงเรื่อดุจผลตำลึงสุก ที่ต้นนิโครธ (นิสสยะฉบับพม่า แปลว่า ดุจผลนิโครธสุก) โปรดประทานความสวัสดี
แก่พวกข้าพระองค์ ในกาลทุกเมื่อเถิด
๗.อะสีติระตะนุพเพโธทีปังกะโร มะหามุนิ
ปะภา นิทธาวะเต ตัสสะฐาเน ทฺวาทะสะ โยชะเน.
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า ทีปังกร มีพระวรกายสูงแปดสิบศอก ทรงเป็นพระมหามุนี พระรัศมีของพระองค์แผ่ออกไปในที่สิบสองโยชน์
๘.วัสสัสสะตะสะหัสสานิฐัตฺวา โลเก วินายะโก
โลกาโลกะกะโร สัตถาสะทา โสตถิง กะโรตุ โน.
พระองค์ทรงพระชนม์อยู่ในโลกหนึ่งแสนปี ทรงนำเวไนยสัตว์สู่พระนิพพาน ทรงเป็นพระศาสดาผู้ประทานแสงสว่างแก่โลก โปรดประทานความสวัสดี แก่พวกข้าพระองค์
ในกาลทุกเมื่อเถิด (ยังมีต่อ)
(พระปัจเจกพุทธเจ้า)
๖๐.สัพเพ ปัจเจกะสัมพุทธานิโรธะฌานะโกวิทา
นิราละยา นิราสังกาอัปปะเมยยา มะเหสะโย.
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าทั้งปวง ทรงปรีชาญาณในนิโรธสมาบัติและฌานสมาบัติ ทรงปราศจากความกำหนัดยินดี หมดความรังเกียจ ทรงคุณอันหาประมาณมิได้
ทรงแสวงหาคุณอันประเสริฐ
๖๑.ทูเรปิ วิเนยเย ทิสฺวาสัมปัตตา ตังขะเณนะ เต
สันทิฏฐิกะผะเล กัตฺวาสะทา สันติง กะโรนตุ โน.
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านี้ เห็นหมู่เวไนยสัตว์แม้ในที่ไกล ก็ทรงเสด็จไปช่วยเหลือสัตว์เหล่านั้น ให้ได้รับประโยชน์โดยพลัน โปรดประทานความสงบ
แก่พวกข้าพระองค์ ในกาลทุกเมื่อเถิด (ยังมีต่อ)
(พระธรรมรัตนะ : นวโลกุตตรธรรม ๙ และปริยัติธรรม ๑)
๖๒.สฺวากขาตะตาทิสัมปันโนธัมโม สะปะริยัตติโก
สังสาระสาคะรา โลเกตาเรติ ชินะโคจะโร.
พระธรรม พร้อมทั้งปริยัติที่สมบูรณ์ด้วยคุณ มีความเป็นธรรม ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้วเป็นต้น เป็นอารมณ์ของพระพุทธเจ้า
เป็นเหตุยังสัตว์โลกให้ข้ามพ้นสาครคือ สังสารวัฏ
๖๓.กิเลสะชาละวิทธังสีวิสุทโธ พุทธะเสวิโต
นิพพานะคะมะโน สันโตสะทา โสตถิง กะโรตุ โน.
ขอพระธรรมอันบริสุทธิ์ยิ่ง อันมีปกติทำลายข่ายคือกิเลส เป็นธรรมที่พระพุทธองค์ทรงเจริญแล้ว เป็นธรรมอันประเสริฐอันยังสัตว์ให้ถึงพระนิพพาน
โปรดประทานความสวัสดี แก่พวกข้าพระองค์ ในกาลทุกเมื่อเถิด (ยังมีต่อ)
(พระสังฆรัตนะ)
๖๔.สีลาทิคุณะสัมปันโนสังโฆ มัคคะผะเล ฐิโต
ชิตินทฺริโย ชิตะปาโปทักขิเณยโย อะนุตตะโร.
พระสงฆ์ผู้สมบูรณ์ด้วยคุณมีศีลเป็นต้น ดำรงอยู่ในมรรคและผล ชนะอินทรีย์แล้ว ชนะบาปแล้ว เป็นทักขิเณยยบุคคลผู้ยอดเยี่ยม
๖๕.อะนาสะโว ปะริสุทโธนิราสาโส ภะวาภะเว
นิพพานะโคจะโร สันโตสะทา โสตถิง กะโรตุ โน.
ขอพระอริยสงฆ์ผู้ไม่มีอาสวะ ผู้บริสุทธิ์ ผู้หมดความปรารถนาในภพน้อยภพใหญ่ ผู้มีจิตจดจ่อในพระนิพพาน เป็นสัตบุรุษ ขอจงประทานความสวัสดี แก่พวกข้าพเจ้า
ในกาลทุกเมื่อเถิด (ยังมีต่อ)
(พระเถระชั้นผู้ใหญ่ ๑๐๘ องค์)
๖๖.อัญญาตะโกณฑัญญัตเถโรรัตตัญญูนัง อัคโค อะหุ
ธัมมะจักกาภิสะมะโยสะทา โสตถิง กะโรตุ โน.
พระอัญญาโกณฑัญญะเถระ เป็นผู้เลิศกว่าเหล่าภิกษุผู้รู้ราตรี ผู้บรรลุเป็นพระโสดาบันด้วยพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ขอจงประทานความสวัสดี แก่พวกข้าพเจ้า
ในกาลทุกเมื่อเถิด
๖๗.วัปปัตเถโร มะหาปัญโญมะหาตะมะวิโนทะโน
มะหาสันติกะโร โลเกมะหาสันติง กะโรตุ โน.
พระวัปปะเถระ ผู้มีปัญญามาก ผู้กำจัดความมืดคือโมหะ ผู้กระทำความสงบอันประเสริฐในโลก ขอจงประทานความสงบอันประเสริฐ แก่พวกข้าพเจ้าเถิด
๖๘.ภัททิโย ภัททะสีโล จะทักขิเณยโย อะนุตตะโร
โลกัตถะจะริโต เถโรสะทา โสตถิง กะโรตุ โน.
พระภัททิยเถระ ผู้มีศีลงาม ผู้เป็นทักขิเณยยบุคคลผู้ยอดเยี่ยม ผู้บำเพ็ญประโยชน์แก่โลก ขอจงประทานความสวัสดี แก่พวกข้าพเจ้า ในกาลทุกเมื่อเถิด
๖๙.มะหานาโม มะหาปัญโญมะหาธัมมะวิทู สุโต
มะหาขีณาสะโว เถโรมะหาสันติง กะโรตุ โน.
พระมหานามะเถระ ผู้มีปัญญามาก ผู้ตรัสรู้ธรรมอันประเสริฐ ผู้มีชื่อเสียง เป็นพระขีณาสพผู้ประเสริฐ ขอจงประทานความสงบอันยิ่งใหญ่ แก่พวกข้าพเจ้าเถิด
๗๐.อัสสะชิตเถโร มะหาปัญโญชิตะมาโร ชิตินทฺริโย
ชิตะปัจจัตถิโก โลเกสะทา โสตถิง กะโรตุ โน.
พระอัสสชิเถระ ผู้มีปัญญามาก ผู้ชนะมาร ผู้ชนะอินทรีย์ ผู้ชนะศัตรูในโลก ขอจงประทานความสวัสดี แก่พวกข้าพเจ้า ในกาลทุกเมื่อเถิด
๗๑.อะนุปุพพิกะถัง สุตฺวายะโส เอกัคคะมานะโส
อัคคะธัมมะมะนุปปัตโตโสตถฺยาโรคฺยัง ทะทาตุ โน.
และพระเถระเหล่าใด ผู้ได้ฌานและไม่ได้ฌานก็ดี พระเถระเหล่าใด ผู้ถูกกำหนดด้วยการบรรลุอริยสัจธรรมก็ดี ขอพระเถระทั้งปวง ที่กล่าวมาแล้วนี้
จงประทานความสวัสดี ชัยชนะ ความไม่มีโรค และอายุ แก่พวกข้าพเจ้า ในกาลทุกเมื่อเถิด (ยังมีต่อ)
(พระเถรีชั้นผู้ใหญ่ ๑๓ รูป)
๑๗๒.รัตตัญญูนัง ภิกขุนีนังโคตะมี ชินะมาตุจฉา
ฐะปิตา อัคคัฏฐานัมหิสะทา โสตถิง กะโรตุ โน.
พระโคตมีเถรี ผู้เป็นพระน้านางของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ ในตำแหน่งผู้เลิศกว่าบรรดาภิกษุณีผู้รู้ราตรี ขอพระเถรี ได้โปรดประทานความสวัสดี
แก่พวกข้าพเจ้า ในกาลทุกเมื่อเถิด
๑๗๓.มะหาปัญญานะมัคคัฏฐาเขมาเถรีติ ปากะฏา
สาวิกา พุทธะเสฏฐัสสะสะทา โสตถิง กะโรนตุ โน.
พระพุทธสาวิกาผู้ประเสริฐสุด ปรากฎนามว่า พระเขมาเถรี ผู้ดำรงอยู่ในตำแหน่งผู้เลิศกว่า เหล่าบรรดาภิกษุณีผู้มีปัญญามาก ขอพระเถรีจงประทานความสวัสดี
แก่พวกข้าพเจ้า ในกาลทุกเมื่อเถิด
๑๗๔.เถรี อุปปะละวัณณา จะอิทธิมันตีนะมุตตะมา
สาวิกา พุทธะเสฏฐัสสะสะทา โสตถิง กะโรตุ โน.
พระอุบลวรรณาเถรี เป็นพุทธสาวิกาผู้ประเสริฐสุด เป็นผู้เลิศกว่า เหล่าบรรดาภิกษุณีผู้มีฤทธิ์ ขอจงประทานความสวัสดี แก่พวกข้าพเจ้า ในกาลทุกเมื่อเถิด
๑๗๕.วินะยัทธะรีนัง อัคคาปะฏาจาราติ วิสสุตา
ฐะปิตา อัคคัฏฐานัมหิสะทา โสตถิง กะโรตุ โน.
พระเถรีผู้ปรากฏชื่อว่า พระปฏาจารา พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ในตำแหน่งผู้เลิศกว่า เหล่าบรรดาภิกษุณีผู้ทรงพระวินัย ขอจงประทานความสวัสดี แก่พวกข้าพเจ้า
ในกาลทุกเมื่อเถิด
๑๗๖.ธัมมักกะถิกะปะวะราธัมมะทินนาติ นามิกา
ฐะปิตา อัคคัฏฐานัมหิสะทา โสตถิง กะโรตุ โน.
พระภิกษุณีทั้งหลาย ผู้เป็นพระเสขบุคคลมีพระโสดาบันเป็นต้น เป็นผู้ยิ่งยวดด้วยศรัทธา ปัญญา และศีล เป็นผู้เผากิเลสได้เป็นบางส่วน ขอจงประทานความสวัสดี
แก่พวกข้าพเจ้า ในกาลทุกเมื่อเถิด (ยังมีต่อ)
(พญานาค)
๑๘๗.สุมะโน สุมะนะจะโล อะระวาเฬระปัตตะโก
จัมเปยโย มุจะลินโท จะ กัมพะโล ภุชะคิสสะโร.
สุมนะนาคราช สุมนจละนาคราช อรวาฬะนาคราช เอฬปัตตกะนาคราช จัมเปยยะนาคราช มุจลินทะนาคราช กัมพละนาคราช ผู้เป็นใหญ่แห่งนาคราช
๑๘๘.กาละนาโค มะหากาโฬสังขะปาโล มะโหทะโร
มะณิกัณโฐ มะณิอักขิ นันทะนาโคปะนันทะโก.
กาละนาคราช มหากาฬะนาคราช สังขปาละนาคราช มโหทระนาคราช มณิกัณฐะนาคราช มณิอักขินาคราช นันทะนาคราช อุปนันทะนาคราช
๑๘๙.วะรุโณ ธะตะรัฏโฐ จะกุงคุวิโลปะลาละโก
จิตฺระนาโค มะหาวีโร ฉัพฺยาปุตโต จะ วาสุกี.
วรุณะนาคราช ธตรัฏฐะนาคราช กุงคุวิละนาคราช อปลาลกะนาคราช จิตระนาคราช มหาวีระนาคราช ฉัพยาปุตตะนาคราช วาสุกีนาคราช
๑๙๐.กัณหาโคตะโม ภุชะคินโทอัคคิธูมะสิโข ตะถา
จูโฬทะโร อะหิจฉัตโตนาคา เอราปะถาทะโย.
กัณหาโคตมะนาคราช นาคผู้เป็นจอมนาค อัคคิสิขะนาคราช ธูมะสิขะนาคราช อหิจฉัตตะนาคราช จูโฬทระนาคราช พญานาคทั้งหลาย มีเอราปะถะนาคราชเป็นต้น
(ยังมีต่อ)
(อสูร)
๑๙๓.เย ปะหาราทะสัมพะระ- พะลฺยาสุระคะณา จะ เย
เวปะจิตตาสุระคะณาจันทาสุระคะณาทะโย.
หมู่อสูรเหล่าใด คือ หมู่ปหาราทะอสูร หมู่สัมพระอสูร หมู่พลิอสูร หมู่เวปจิตตะอสูร หมู่จันทะอสูรเป็นต้น
๑๙๔.สัพเพ เตปิ มะหาเตชา ภูตะยักขะนิวาระณา
กะโรนตุ โน มะหาโสตถิงอาโรคฺยัญจะ ชะยัง สะทา.
แม้หมู่อสูรเหล่านั้นทั้งปวง มีเดชมาก ผู้สามารถป้องกันภูตและยักษ์ ขอจงประทานความสวัสดีอันประเสริฐ ความไม่มีโรค และชัยชนะ แก่พวกข้าพเจ้า
ในกาลทุกเมื่อเถิด
(เทวดา)
๑๙๕.เย ยักขา สัตตะสะหัสสาภุมมา กาปิละวัตถุกา
อิทธิมันโต ชุติมันโต วัณณะวันโต ยะสัสสิโน.
ยักษ์ผู้เป็นภุมมเทวดาเจ็ดพันตนเหล่าใด อยู่ในเมืองกบิลพัสดุ์ มีฤทธิ์ มีความเจริญรุ่งเรือง มีวรรณะ มีบริวารมาก
๑๙๖.สัพเพ ติสะระณา ยักขา มะเหสักขา ชุตินธะรา
กะโรนตุ โน มะหาโสตถิง อาโรคฺยัญจะ ชะยัง สะทา.
ยักษ์ (เทวดา) ทั้งปวง ผู้มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง มีศักดิ์ใหญ่ผู้ทรงไว้ซึ่งความรุ่งเรือง ขอยักษ์เหล่านั้น จงประทานความสวัสดีอันประเสริฐ
ความไม่มีโรค และชัยชนะ แก่พวกข้าพเจ้า ในกาลทุกเมื่อเถิด
๑๙๗.ฉะสะหัสสา เหมะวะตา ยักขา นานัตตะวัณณิโน
พุทธะปูชายะ นิระตาสะทา โสตถิง กะโรนตุ โน.
ยักษ์ (เทวดา) หกพันตน อยู่ที่เขาเหมวตา มีผิวพรรณวรรณะต่าง ๆ กัน ยินดีในการบูชาพระพุทธเจ้า ขอจงประทานความสวัสดี แก่พวกข้าพเจ้า
ในกาลทุกเมื่อเถิด
๑๙๘.สาตาคิรา ติสะหัสสายักขา นีลาทิวัณณิโน
นานาปะภายะ สัมปันนาสะทา โสตถิง กะโรนตุ โน.
ยักษ์ (เทวดา) สามพันตน อยู่ที่เขาสาตาคีรี มีผิวพรรณ วรรณะสีเขียวเป็นต้น ผู้สมบูรณ์ด้วยรัศมีต่าง ๆ ขอจงประทานความสวัสดี แก่พวกข้าพเจ้า
ในกาลทุกเมื่อเถิด
๑๙๙.เวสสามิตตา ปัญจะสะตายักขา นานัตตะวัณณิโน
อิทธิมันโต ชุติมันโต วัณณะวันโต ยะสัสสิโน
โมทะมานา อะภิกกามุง สะทา โสตถิง กะโรนตุ โน.
ยักษ์ (เทวดา) ห้าร้อยตน อยู่ที่เขาเวสสามิตตะมีผิวพรรณวรรณะต่าง ๆ กัน มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง มีวรรณะ มีบริวาร บันเทิงอยู่ มาชุมนุมกัน
ขอจงประทานความสวัสดี แก่พวกข้าพเจ้า ในกาลทุกเมื่อเถิด
๒๐๐.กุมภีโร ราชะคะหิโก เวปุลลัสสะ นิเวสะนัง
ภิยโย นัง สะตะสะหัสสัง ยักขานัง ปะยิรุปาสะติ
โส ยักเขหิ ปะริวาโร สะทา โสตถิง กะโรตุ โน.
เทวดาชื่อว่า กุมภีระ อยู่ในพระนครราชคฤห์ วิมานของท้าวเธอนั้น ได้แก่ยอดเขาเวปุลละ ท้าวเธอนั้น เป็นผู้อันหมู่ยักษ์หลายแสนตนเข้ามาปรนนิบัติรับใช้
ขอท้าวกุมภีระผู้มียักษ์เป็นบริวารนั้น จงประทานความสวัสดี แก่พวกข้าพเจ้า ในกาลทุกเมื่อเถิด
๒๐๑.ปุริมัญจะ ทิสัง ราชาธะตะรัฏโฐ ปะสาสะติ
คันธัพพานัง อะธิปะติมะหาราชา ยะสัสสิ โส.
ท้าวมหาราชนามว่า ธตรัฏฐะ ปกครองอยู่ในทิศบูรพา เป็นอธิบดีของพวกคนธรรพ์ ท้าวเธอมีบริวารมาก
๒๐๒.ปุตตาปิ ตัสสะ พะหะโวอินทะนามา มะหัพพะลา
โส ราชา สะหะ ปุตเตหิสะทา โสตถิง กะโรตุ โน.
แม้บุตรของท้าวเธอก็มีมาก นามว่า อินทะ มีกำลังมาก ขอท้าวธตรัฏฐะกับบุตรทั้งหลาย จงประทานความสวัสดี แก่พวกข้าพเจ้า ในกาลทุกเมื่อเถิด
๒๐๓.ทักขิณัญจะ ทิสัง ราชาวิรุฬโห ตัง ปะสาสะติ
กุมภัณฑานัง อะธิปะติมะหาราชา ยะสัสสิ โส.
ท้าวมหาราชนามว่า วิรุฬหกะ ปกครองอยู่ในทิศทักษิณ เป็นอธิบดีของพวกกุมภัณฑ์ ท้าวเธอมีบริวารมาก
๒๐๔.ปุตตาปิ ตัสสะ พะหะโวอินทะนามา มะหัพพะลา
วิรุฬโห สะหะ ปุตเตหิสะทา โสตถิง กะโรตุ โน.
แม้บุตรของท้าวเธอก็มีมาก นามว่า อินทะ มีกำลังมาก ขอท้าววิรุฬหกะกับบุตรทั้งหลาย จงประทานความสวัสดี แก่พวกข้าพเจ้า ในกาลทุกเมื่อเถิด
๒๐๕.ปัจฉิมัญจะ ทิสัง ราชาวิรูปักโข ปะสาสะติ
นาคานัญจะ อะธิปะติมะหาราชา ยะสัสสิ โส.
ท้าวมหาราชนามว่า วิรูปักขะ ปกครองอยู่ในทิศปัจฉิมเป็นอธิบดีของพวกนาค ท้าวเธอมีบริวารมาก
๒๐๖.ปุตตาปิ ตัสสะ พะหะโวอินทะนามา มะหัพพะลา
วิรูปักโข สะปุตเตหิสะทา โสตถิง กะโรตุ โน.
แม้บุตรของท้าวเธอก็มีมาก นามว่า อินทะ มีกำลังมากขอท้าววิรูปักขะกับบุตรทั้งหลาย จงประทานความสวัสดี แก่พวกข้าพเจ้า ในกาลทุกเมื่อเถิด
๒๐๗.อุตตะรัญจะ ทิสัง ราชา กุเวโร ตัง ปะสาสะติ
ยักขานัญจะ อะธิปะติมะหาราชา ยะสัสสิ โส.
ท้าวมหาราชนามว่า กุเวระ ปกครองอยู่ในทิศอุดร เป็นอธิบดีของพวกยักษ์ ท้าวเธอมีบริวารมาก
๒๐๘.ปุตตาปิ ตัสสะ พะหะโวอินทะนามา มะหัพพะลา
กุเวโร สะหะ ปุตเตหิสะทา โสตถิง กะโรตุ โน.
แม้บุตรของท้าวเธอก็มีมากนามว่า อินทะ มีกำลังมาก ขอท้าวกุเวระกับบุตรทั้งหลาย จงประทานความสวัสดี แก่พวกข้าพเจ้า ในกาลทุกเมื่อเถิด
๒๐๙.ปุริมัง ทิสัง ธะตะรัฏโฐทักขิเณนะ วิรุฬหะโก
ปัจฉิเมนะ วิรูปักโขกุเวโร อุตตะรัง ทิสัง.
ท้าวธตรัฏฐะ ประจำอยู่ในทิศบูรพา ท้าววิรุฬหกะ ประจำอยู่ในทิศทักษิณ ท้าววิรูปักขะ ประจำอยู่ในทิศปัจฉิม ท้าวกุเวระ ประจำอยู่ในทิศอุดร
๒๑๐.จัตตาโร เต มะหาราชาสะมันตา จะตุโร ทิสา
ทัททัฬหะมานา อัฏฐังสุสะทา โสตถิง กะโรนตุ โน.
ท้าวมหาราชทั้งสี่ ผู้รุ่งเรืองดุจประทีป ประจำอยู่ในทิศทั้งสี่โดยรอบ ขอท้าวเธอจงประทานความสวัสดี แก่พวกข้าพเจ้า ในกาลทุกเมื่อเถิด
๒๑๓.จิตตะเสโน จะ คันธัพโพนะโฬราชา ชะเนสะโภ
วะโร ปัญจะสิโข เจวะติมพะรู สูริยะวัจฉะสา.
เทพคนธรรพ์ ชื่อว่า จิตตะเสนะ ชื่อว่านโฬราชะ ชื่อว่าชเนสภะ ชื่อว่าปัญจสิขะ (ผู้ปรารถนาให้ได้นางสุริยวัจฉสาเทพธิดา) ชื่อว่าติมพรู
ชื่อว่าสุริยวัจฉสาเทพธิดา (ผู้เป็นบุตรีของท้าวติมพรู)
๒๑๔.เอเต จัญเญ จะ ราชาโนคันธัพพา จะ มะหัพพะลา
โมทะมานา สะทา โสตถิงโน กะโรนตุ อะนามะยัง.
ขอพระราชาทั้งหลาย เทพคนธรรพ์เหล่านี้ และเทพเหล่าอื่น ผู้มีกองกำลังมหาศาล บันเทิงอยู่ จงประทานความสวัสดีและความไม่มีโรค แก่พวกข้าพเจ้า
ในกาลทุกเมื่อเถิด (ยังมีต่อ)
(พรหม)
๒๓๖.พฺรัหฺมาโน ปาริสัชชา จะเย จะ พฺรัหฺมะปุโรหิตา
มะหาพฺรัหฺมา จะ สัพเพ เตปะฐะมัชฌานะสัณฐิโน.
พรหมผู้ดำรงอยู่ในปฐมฌานเหล่านี้คือ ปาริสัชชาพรหม ปุโรหิตาพรหม และ มหาพรหมาพรหม.
๒๓๗.เมตตาวิหาริโน สันตาสัมพุทธัสสะ ปะรายะนา
กะโรนตุ โน มะหาโสตถิงเสกขาเสกขะปุถุชชะนา.
ขอพรหมทั้งปวงเหล่านั้น ผู้มีปกติอยู่ด้วยเมตตา ผู้สงบ ผู้มีพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ผู้เป็นทั้งเสกขะ พระอรหันต์ และปุถุชน
จงประทานความสวัสดีอันประเสริฐ แก่พวกข้าพเจ้าเถิด
๒๓๘.ปะริตตาภัปปะมาณาภาพฺรัหฺมา จาภัสสะรา ตะถา
พุทธะปูชายะ นิระตาทุติยัชฌานะสัณฐิโน.
พรหมผู้ดำรงอยู่ในทุติยฌาน ผู้ยินดีในการบูชาพระพุทธเจ้าเหล่านี้คือ ปริตตาภาพรหม อัปปมาณาภาพรหม และ อาภัสสราพรหม
๒๓๙.เมตตาการุณิกา สัพเพสัพพะสัตตะหิเตสิโน
กะโรนตุ โน มะหาสันติงโสตถิมาโรคฺยะมายุวัง.
ขอพรหมทั้งปวง ผู้มีปกติเมตตา กรุณา แสวงหาความเกื้อกูล ให้แก่สัตว์ทั้งปวง จงประทานความสงบอันประเสริฐ ความสวัสดี ความไม่มีโรค และความมีอายุ
แก่พวกข้าพเจ้าเถิด
๒๔๐.ปะริตตะสุภาพฺรัหฺมาโนอัปปะมาณะสุภา จะ เย
สุภะกิณหา จะ พฺรัหฺมาโนตะติยัชฌานะสัณฐิโน.
พรหมผู้ดำรงอยู่ในตติยฌาน เหล่านี้คือ ปริตตสุภาพรหม อัปปมาณสุภาพรหม และ สุภกิณหาพรหม
๒๔๑.ปะภายะ ผะระณา โลเกพุทธะฌานะระตา สะทา
อะหิงสา สัพพะสัตเตสุสะทา สันติง กะโรนตุ โน.
ขอพรหมทั้งหลายเหล่านั้น ผู้แผ่รัศมีไปในโลก ผู้ยินดีในพุทธฌาน ผู้ไม่เบียดเบียนสรรพสัตว์ทั้งปวง จงประทานความสงบ แก่พวกข้าพเจ้า ในกาลทุกเมื่อเถิด
(ยังมีต่อ)
(บุคคลประเภทรวม)
๒๕๒.เวเทเหปะระโคยาเนชัมพุทีเป กุรุมหิ จะ
เทวะยักขะปิสาเจหิสัทธิง วิชชาธะราทะโย.
ขอเหล่าวิทยาธร กับเทวดา ยักษ์ และปีศาจ ในวิเทหะทวีป อปรโคยานะทวีป ชมพูทวีป และอุตตรกุรุทวีป
๒๕๓.อากาสัฏฐา จะ พฺรัหฺมาโนชะลัฏฐา จันตะลิกขะชา
ทวิปะทาทะโย เย สัตตาสะทา โสตถิง กะโรนตุ โน.
อากาสัฏฐเทวดา และพรหม สัตว์ทั้งหลายมีสัตว์ ๒ เท้า เป็นต้น ผู้ดำรงอยู่ในน้ำ ผู้เกิดในอากาศ ขอจงประทานความสวัสดี แก่พวกข้าพเจ้า ในกาลทุกเมื่อเถิด
(ยังมีต่อ)
(อานุภาพแห่งพระรัตนตรัย)
๒๕๔.มาระเสนะวิฆาตัสสะชินัสสะ สุขะฌายิโน
เตโชพะเลนะ มะหะตาสะทา มังคะละมัตถุ โน.
ด้วยพระเดชานุภาพอันยิ่งใหญ่ ของพระชินเจ้า ผู้ทรงขจัดมาร และเสนามาร ผู้เสวยสุขในฌาน ด้วยพลังเดชอันยิ่งใหญ่ ขอมงคลจงมีแก่พวกข้าพระองค์
ในกาลทุกเมื่อเถิด
๒๕๕.นานาคุณะวิจิตตัสสะรูปะกายัสสะ สัตถุโน
สัพพะเทวะมะนุสสานังมาระพันธะวิโมจิโน
เมตตาพะเลนะ มะหะตาสะทา มังคะละมัตถุ โน.
ด้วยอานุภาพแห่งพระเมตตาอันยิ่งใหญ่ ของพระศาสดาผู้ทรงมีพระวรกายอันงามวิจิตรด้วยคุณต่าง ๆ ผู้ทรงปลดเปลื้องเหล่าทวยเทพ และมนุษย์ทั้งปวง
ให้หลุดพ้นจากบ่วงแห่งมาร ขอมงคลจงมีแก่พวกข้าพระองค์ ในกาลทุกเมื่อเถิด
๒๕๖.สัพพัญญุตาทิกายัสสะธัมมะกายัสสะ สัตถุโน
จักขาทยะโคจะรัสสาปิโคจะรัสเสวะ ภูริยา
เตโชพะเลนะ มะหะตาสัพพะมังคะละมัตถุ โน.
ด้วยพระเดชานุภาพอันยิ่งใหญ่ แห่งพระธรรมกาย คือ หมู่ธรรม มีพระสัพพัญญุตญาณเป็นต้น ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย อันไม่ใช่อารมณ์ของจักษุเป็นต้น
แต่เป็นอารมณ์ของปัญญาเท่านั้น ขอสรรพมงคล จงมีแก่พวกข้าพระองค์เถิด
๒๕๗.รูปะกายะสะทิสัสสะนิมมิตัสสะ มะเหสิโน
ธัมมัสสะ วัตตุโน สัคเคเทวานัง สุคะตา ปะติ
เตโชพะเลนะ มะหะตาสะทา มังคะละมัตถุ โน.
ด้วยพระเดชานุภาพอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธปฏิมาที่ทรงเนรมิตขึ้น ให้เหมือนรูปจริง แทนพระพุทธองค์ ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
เมื่อทรงแสดงอภิธรรมแก่เหล่าทวยเทพในชั้นดาวดึงส์ ขอมงคลจงมีแก่พวกข้าพระองค์ ในกาลทุกเมื่อเถิด
๒๕๘.สิกขิตฺวา มานุเส เทเวโมจะยิตฺวา สะเทวะเก
สังขาเร ปะชะหันตัสสะนิพพุตัสสะ มะเหสิโน
มะหันเตนานุภาเวนะสัพพะมังคะละมัตถุ โน.
ด้วยพระอานุภาพอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้า ผู้ทรงฝึกเหล่ามนุษย์และเทวดา ให้หลุดพ้นจากบ่วงมาร ผู้ทรงละสังขารดับขันธ์ปรินิพพาน ขอสรรพมงคล
จงมีแก่พวกข้าพระองค์เถิด
๒๕๙.จะตุราสีติสะหัสสะ-ธัมมักขันธัสสะ เตชะสา
นะวังคะสาสะนัสสาปินะวะโลกุตตะรัสสะ จะ
สัพพะปาปะปะวาเหนะสัพพะมังคะละมัตถุ โน.
ด้วยพระเดชานุภาพของพระธรรม แปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ ด้วยพระเดชานุภาพแห่งนวังคสัตถุศาสน์ และด้วยพระเดชานุภาพแห่งนวโลกุตตรธรรม
อันนำบาปทั้งปวงออกไป ขอสรรพมงคลจงมีแก่พวกข้าพระองค์เถิด
๒๖๐.มะหะโตริยะสังฆัสสะปุญญักเขตตัสสะ ตาทิโน
ปะหีนะสัพพะปาปัสสะสีลาทิกขันธะธาริโน
มะหาเตชานุภาเวนะสัพพะมังคะละมัตถุ โน.
ด้วยพระเดชานุภาพอันยิ่งใหญ่ ของพระอริยสงฆ์ผู้ประเสริฐ ผู้เป็นเนื้อนาบุญ ผู้ไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรม ผู้ละบาปทั้งปวง ผู้ทรงไว้ซึ่งคุณมีศีลเป็นต้น
ขอสรรพมงคลจงมีแก่พวกข้าพเจ้าเถิด
(อานุภาพของเทวดาต่าง ๆ )
๒๖๑.ปาตาเล ภูตะลากาเสเทวะยักขะปิสาจะกา
วิชชาธะรา จะ คันธัพพานาคะกุมภัณฑะรักขะสา
สัพเพสะมานุภาเวนะ สัพพะมังคะละมัตถุ โน3
ด้วยอานุภาพแห่งหมู่เทวดา ยักษ์ ปีศาจ และวิทยาธร คนธรรพ์ นาค กุมภัณฑ์ และรากษส ผู้อาศัยอยู่ในบาดาลก็ดี บนพื้นดินก็ดี ในอากาศก็ดี
ขอสรรพมงคลจงมีแก่พวกข้าพเจ้าเถิด
(อานุภาพของอุปปาตะสันติ )
๒๖๒.อิจเจวะมุปปาตะสันติงโย วะเทยยะ สุเณยยะ วา
วิเชยยะ สัพพะปาปานิวุทธัตตัญจะ ภะวิสสะติ.
ผู้ใดสวด หรือฟังคัมภีร์ อุปปาตะสันติ อันกล่าวแล้วด้วยประการฉะนี้ จะพึงชนะบาปทั้งปวง และจักเจริญด้วยคุณ ๕ ประการคือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ
และปฏิภาณ
๒๖๓.โสตถิกาโม ละเภ โสตถิงสุขะกาโม สุขัง ละเภ
อายุกาโม ละเภยยายุงปุตตะกาโม ละเภ ปุตตัง.
ผู้ใดปรารถนาความสวัสดี พึงได้ความสวัสดี ผู้ปรารถนาความสุข พึงได้ความสุข ผู้ปรารถนาอายุ พึงได้อายุ ผู้ประสงค์บุตร พึงได้บุตร
๒๖๔.นะ ตัสสะ โรคา พาเธนติวาตะปิตตาทิสัมภะวา
อะกาละมะระณัง นัตถินะ เทโว วิสะโมสะเร.
โรคที่เกิดจากลม จากดีเป็นต้น ย่อมไม่เบียดเบียนบุคคลนั้น ความตายในกาลอันไม่สมควร ย่อมไม่มีแก่บุคคลนั้น มิจฉาเทวดาย่อมไม่รังแกต่าง ๆ นา ๆ
๒๖๕.นะ จุปปาตะภะยัง ตัสสะโนปิ ปัตตะภะยัง ตะถา
นัสสันติ ทุนนิมิตตานิปาปะกัมมัฏฐิตานิ จะ
ทีฆะมายุ มะหาโสตถิงอาโรคฺยัญจะ สะทา ภะเว.
เคราะห์ร้ายและภัยย่อมไม่มีแก่เขา นิมิตร้ายและสิ่งที่ตั้งขึ้นเพราะบาปกรรมย่อมพินาศไป ความมีอายุยืน ความสวัสดี อันประเสริฐ
และความไม่มีโรคจะพึงมีแก่เขา ในกาลทุกเมื่อ
๒๖๖.โย สุตฺวาปิ มะหาสันติงสังคามัง ปะวิเส นะโร
วิชะเย เวริโน สัพเพนะ สัตเถหยะภิภูยะเต.
ผู้ใดฟังคัมภีร์อุปปาตะสันติอันประเสริฐแล้ว พึงเข้าไปสู่สมรภูมิ บุคคลนั้นอันศาสตราไม่กล้ำกราย ย่อมชนะข้าศึกทั้งมวล
๒๖๗.สัพพะทา ละภะเต ปีติงวิปัตติง นาวะคาหะติ
โรเคหิ นาภิภูยะเตสะวัตถูหิ วิวัฑฒะเต.
เขาย่อมได้ซึ่งความอิ่มใจในกาลทุกเมื่อ ความวิบัติ ย่อมไม่มากล้ำกราย ย่อมไร้โรคา ย่อมเจริญด้วยทรัพย์ศฤงคาร
๒๖๘.ยัตฺระ เทเส วะโกวะกาพาฬหะกา รักขะสาทะโย
อุปปาตะสันติโฆเสนะสัพเพ ตัตถะ สะมันติ เต.
สัตว์ร้ายน้อยใหญ่ และรากษสเป็นต้น ผู้อยู่ในป่าเขาลำเนาไพรทั้งหลายทั้งปวง ย่อมสงบด้วยเสียงแห่งการสวดคาถาอุปปาตะสันติ
๒๖๙.ยะมุททิสสะ วะเท สันติงสะชีวัญจาปยะชีวิตัง
โส มุจจะเต มะหาทุกขาปัปโปติ สุคะติง สะทา.
บุคคลสวดคัมภีร์อุปปาตะสันติ อุทิศให้ผู้ใดที่มีชีวิตอยู่หรือไม่มีชีวิตอยู่ บุคคลนั้นย่อมพ้นจากมหันตทุกข์ ย่อมเข้าถึงสุคติภพ ในกาลทุกเมื่อ
๒๗๐.เทวัฏฐาเน นะคะเร วานิจจะมุปปาตะสันติยา
ปาละกา เทวะราชาโน เตชะ สิรีวิวัฑฒะนา.
ท้าวเทวราชทั้งหลายผู้ปกปักรักษาเนืองนิจ ในสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ หรือในพระนคร เป็นผู้เจริญด้วยเดชและสิริมงคลด้วยคัมภีร์อุปปาตะสันตินี้
๒๗๑.ปะฐัพฺยาปาทิสัญชาตาอุปปาตา จันตะลิกขะชา
อินทาทิชะนิตุปปาตาปาปะกัมมะสะมุฏฐิตา
สัพพุปปาตา วินัสสันติเตชะสุปปาตะสันติยาติ.
เหตุร้ายอันเกิดจากแผ่นดินไหว และน้ำท่วมเป็นต้น เหตุร้ายที่เกิดจากฟากฟ้า เหตุร้ายอันเกิดจากจันทรุปราคาเป็นต้น เหตุร้ายที่เกิดขึ้นจากบาปกรรม
เหตุร้ายทั้งปวงเหล่านั้นจักพินาศไป ด้วยเดชแห่งอุปปาตะสันติ
อุปปาตะสันติ นิฏฐิตา.
จบอุปปาตะสันติ มนต์สำหรับระงับเหตุร้ายทั้งปวง
|